หลวงพ่อพูดเรื่อยๆ ว่า พวกเราต้องเร่งศึกษา ปฏิบัติธรรมะ ศึกษาก็ต้องศึกษาหลักสำคัญทางพระพุทธศาสนา หลักธรรมะสำคัญๆ ต้องรู้จัก ปฏิบัติ ทำทานให้เป็น ถือศีลให้เป็น ภาวนาให้เป็น พูดอยู่เสมอว่าเราจำเป็นต้องศึกษา พระพุทธศาสนาไม่ได้แข็งแรงอย่างที่เรานึกหรอก เป็นสิ่งที่เปราะมาก เราจะเห็นสัทธรรมปฏิรูป ธรรมะปลอม เกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ ไม่เคยขาด ไม่เคยหมด กลุ่มหนึ่งบูมขึ้นมา ช่วงหนึ่งเสื่อมไป ก็มีอันอื่นขึ้นมาแทน ไม่จบไม่สิ้น ปัญหาเพราะว่าชาวพุทธเราไม่เคารพในการศึกษาพระธรรมวินัย บางคนเคารพพระพุทธเจ้าก็เคารพในฐานะเทพเจ้า ในฐานะเทวรูป เคารพพระสงฆ์ในฐานะเป็นพระมีฤทธิ์มีเดช ทำเครื่องรางของขลัง เราจะนับถืออย่างนั้น อันนั้นไม่ใช่การนับถือแบบพุทธเลย
ฉะนั้นจุดเร่งด่วนที่พวกเราต้องมี คือการศึกษาการปฏิบัติ ต้องทำ ไม่อย่างนั้นเราดำรงพระพุทธศาสนาเอาไว้ไม่ได้ คนที่จะทำลายพระพุทธศาสนา บางคนก็ไปมองว่า พวกศาสนาอื่นจะมาทำลาย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านบอกคนที่จะทำลายพระพุทธศาสนาได้ ก็คือพุทธบริษัทนั่นเอง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา คือคนที่จะทำลายพระพุทธศาสนา เพราะไม่ได้ศึกษาธรรมะให้ถ่องแท้ แล้วก็เชื่อ คิดผิดๆ เชื่อผิดๆ แล้วก็พูดผิดๆ ออกไป ถ่ายทอดธรรมะที่ผิดออกไป มันมีโทษรุนแรง คือบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา แต่มันไม่ค่อยมีความผิดอาญา มันผิดทางธรรม
ชาวพุทธแต่ไม่รู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้า
ย่อมไม่ใช่ชาวพุทธหรอก
สมัยไหนๆ ก็มี อย่างยุคหนึ่งก็มีคนยกตัวเอง ขึ้นเป็นต้นธาตุต้นธรรม เหนือกว่าพระพุทธเจ้าอีก กิเลสมนุษย์มันรุนแรง ถึงขนาดนึกว่าตัวเองสูงกว่าพระพุทธเจ้า ตัวเองเป็นต้นธาตุเป็นต้นธรรม สุดท้ายสมเด็จพระญาณสังวรฯ ท่านยังชี้ ต้นธาตุต้นธรรมนี้ปาราชิกแล้ว หมดจากนั้นก็มี พวกเราก็เห่อ เดี๋ยวองค์นั้น เดี๋ยวคนนี้ นักบวชบางคนออกไปบิณฑบาต คนแห่มาใส่บาตรเป็นหมื่นๆ คน ตื่น ตื่นมงคล ตื่นข่าว มันเป็นลักษณะของปุถุชน ขี้ตื่น แห่เข้าไป นี่องค์นี้ดีที่สุดแล้ว สุดท้ายเป็นอย่างไร สุดท้ายก็ไปไม่รอด เยอะแยะเลย มีมาไม่ขาดสาย
ฆราวาสที่ทำให้ศาสนาพิลึกกึกกือไปก็มี มีมาเรื่อยๆ บางคนไปตั้งสำนักใหญ่โต แสดงธรรม บอกหลวงปู่ทวดมาแสดงธรรม สมเด็จโตมาแสดงธรรม มันแสดงเอาเองทั้งนั้น หลวงปู่ทวดท่านจะมาแสดงผ่านร่างทรงทำไม แล้วก็เลยหลงว่าตัวเองยิ่งใหญ่มาก ถึงขนาดให้คนไปบอกสมเด็จพระสังฆราช ให้มากราบตัวเอง เป็นเอามาก คิดว่าตัวเองเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ เพี้ยนไปหมด นี่ฆราวาส เชื่อมจิตอะไรนี่ ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธเลย พระอนาคามีมาเป็นมนุษย์ เกิดมาเกิดใหม่ อนาคามี แปลว่าผู้ไม่กลับมาเกิดอย่างนี้อีกแล้ว เพราะไม่มีการศึกษาก็เชื่อ กราบไหว้กัน
ถ้าหากศึกษาเสียบ้าง จะรู้พระโสดาบันคือผู้ที่เข้ากระแสของพระนิพพาน โสดาบันมี 3 จำพวก ไม่ใช่โสดาบันทุกองค์ต้องเกิด 7 ชาติ บางองค์เกิดอีกชาติเดียว ก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เรียกเอกพีชี อีกบางองค์ พระโสดาบันเกิด 3 ชาติก็บรรลุแล้ว จบเป็นพระอรหันต์ อีกประเภทหนึ่ง ประเภทที่สาม ไม่เกิน 7 ชาติ พูดกันส่วนใหญ่ก็บอก 7 ชาติ 7 ชาติ
พระสกทามีก็กิเลสเบาบาง โอกาสจะกลับมาเกิดในโลกมนุษย์ มีครั้งเดียว ที่เบาบาง อะไรเบาบาง กามเบาบาง ถ้ายังติดกามอยู่ ก็ยังมาเกิดในโลกมนุษย์ได้อีก ถ้าพ้นกามก็ไม่ไปเป็นมนุษย์ ไม่ไปเป็นเทวดา ถ้าเกิดอีกก็ไปเกิดเป็นพรหม พระสกทาคามี ถ้าจะมาเกิด เกิดอีกครั้งหนึ่ง เพราะจิตยังติดกาม กามยังอร่อยอยู่ แต่อร่อยไม่มาก บางทีก็ครึ่งๆ กลางๆ หลงรักผู้หญิง หลงรักแล้วก็แป๊บๆ เดี๋ยวก็เห็นความไม่มีสาระ ใจก็คลายออก ไม่หลงยาว
พระอนาคามีเป็นผู้ที่ไม่กลับมาแล้ว ไม่กลับมาในกามภพ ไม่มีทางมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาอีกต่อไปแล้ว แต่จะเกิดเป็นพรหม มี 5 ชนิด พระอนาคามี พวกหนึ่งมีศรัทธาแก่กล้า พวกหนึ่งมีวิริยะแก่กล้า พวกหนึ่งสติแก่กล้า พวกหนึ่งสมาธิแก่กล้า พวกหนึ่งมีปัญญาแก่กล้า พวกนี้จะขึ้นไป แล้วถ้าได้ฌานที่ 4 ด้วย ท่านเหล่านี้จะขึ้นไปสู่สุทธาวาส มี 5 ชั้น ถ้าไม่ได้ฌานที่ 4 หรือไม่ได้มีอินทรีย์แก่กล้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะเป็นพรหมชั้นรองๆ ลงมา แต่จะไม่ไปเป็นพรหมลูกฟัก พรหมลูกฟักมีแต่ร่างกายไม่มีจิต
ทำไมพระอนาคามีไม่กลับมาในโลก เพราะโลกนี้ไม่มีอะไร มีแต่กาม คือกามคุณอารมณ์ที่หลอกล่อ สัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ในโลกของกาม มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่สัมผัสกายทั้งหลาย พระอนาคามี เห็นถ่องแท้แล้ว รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่น่ายึดถือ ใจท่านเห็นโลกนี้จืดชืด อย่างพวกเราบางคนที่ส่งการบ้าน เห็นโลกนี้จืด ถ้าเห็นโลกจืดถาวร ไม่มีทางมาเกิดในโลกอีกแล้ว ฉะนั้นพระอนาคามีจะไม่กลับมาเกิดในโลกมนุษย์
แล้วพระอรหันต์ยิ่งไปกันใหญ่ พระอรหันต์ไม่มีทางมาเกิดอีก เพราะท่านไม่ตาย เวลาท่านจะนิพพาน จิตท่านดับลงไปเฉยๆ ไม่ได้มีจุติจิตแบบพวกเรา จุติจิตแบบพวกเรา มันจะเหมือนรถบรรทุก บรรทุกเอาวิบากต่างๆ สะสมเอาไว้เยอะแยะ เชื้อเกิดยังไม่หมด พอจุติจิตเกิดแล้วมันก็ดับ เกิดแล้วดับทันทีเลย จะเกิดจิตดวงใหม่ขึ้นในชีวิตใหม่ เรียกปฏิสนธิจิต เป็นรถบรรทุกอีกคันหนึ่ง ถ่ายสัมภาระจากจิตดวงเก่า เอามาสะสมไว้ในภพใหม่ เอามาใช้งานต่อ
พระอรหันต์ไม่มีจิตชนิดนี้ เวลาดับเหมือนไฟดับ ไฟดับแล้วไฟไปไหน ไฟก็ไม่ได้ไปไหน ไฟดับ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ ไม่มีทางเกิดในที่ใดอีกแล้ว เพราะความเกิดทั้งหลายนั้น รากของมันคืออวิชชา ถ้ามีอวิชชาก็มีตัณหา อุปาทาน มีภพ มีชาติ มีทุกข์ต่อไป แล้วท่านทำลายอวิชชาด้วยอรหัตตมรรคไปแล้ว ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ก็ไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ฉะนั้นเป็นไปไม่ได้
กลุ่มเชื่อมจิตหลวงพ่อก็ไม่ได้ว่าอะไรเขา มีคนเขาจัดการเยอะแยะแล้ว แล้วอีกอย่างเขาเป็นฆราวาส ให้ฆราวาสเขาจัดการกัน ไม่ยากอะไร พระวิตถารอะไรออกมาสอนว่า พระอริยะ พระอนาคามีกลับมาเกิดในโลกมนุษย์ได้ พระพุทธเจ้าตอนเป็นพระโพธิสัตว์ บรรลุพระอรหันต์ไปแล้ว แล้วมาเกิดอีก ก็จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่มันเพี้ยนแสนสาหัสเลย แล้วประกาศสัทธรรมอย่างนี้ออกไป มันเป็นอสัทธรรม นึกถึงที่หลวงปู่มั่นบอกเลยว่า “พระสัทธรรมเมื่อเข้าไปประดิษฐานอยู่ในจิตปุถุชน จะกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูปทันทีเลย” มันจะเพี้ยนทันทีเลย มันตีความ เกิดการตีความ ก็พูดหน้าตาเฉยว่า ชาวพุทธในเมืองไทยไม่มีการศึกษาไม่ถ่องแท้ ก็เลยคิดว่าพระอรหันต์นิพพานแล้วจะไม่มาเกิด หรือพระอนาคามีไม่มาเกิดในโลก นี่วิปลาสอย่างรุนแรงเลย
ที่ต้องพูดเยอะหน่อย นี้พระ พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้ภิกษุอยู่เฉยๆ เวลาที่เกิดสัทธรรมปฏิรูปขึ้น จะต้องชี้แจง ต้องแก้ไข นี้เป็นหน้าที่ของสาวก ฉะนั้นก็เลยพูดให้ฟัง อย่าไปมัวเมาหลงเชื่อ ว่าพระพุทธเจ้ากลับมาเกิด ก่อนหน้านี้ที่เนปาลก็มีใช่ไหม พระพุทธเจ้ามาเกิดเป็นบุดดาน้อย บุดดาน้อยไปข่มขืนเขาแล้ว พอเป็นหนุ่มขึ้นมา เพราะว่าไม่ศึกษาให้ดี งมงาย แล้วบอกว่าตัวเองเป็นชาวพุทธๆ ชาวพุทธแต่ไม่รู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมไม่ใช่ชาวพุทธหรอก ฉะนั้นต้องเรียน อย่างน้อยต้องรู้ปริยัติ ในเบื้องต้นต้องรู้ จะได้รู้วิธีปฏิบัติ
อย่างน้อยต้องรู้ปริยัติในเบื้องต้น
จะได้รู้วิธีปฏิบัติ
แต่บางคนเรียนวิธีปฏิบัติ เรียนเยอะแยะเลย แล้วก็ไม่ได้ทำ มี น่าสงสารอยู่อันนี้ อย่างเรียนวิปัสสนากรรมฐาน มีหลักสูตรสอนวิปัสสนา ต้องรู้เรื่องวิปัสสนาภูมิ อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานมีอะไรบ้าง มีรูปนาม มีขันธ์ 5 อายตนะ 6 มีธาตุ 18 มีอินทรีย์ 22 มีปฏิจจสมุปบาท ท่องได้ แต่ไม่เห็นสภาวะ อันนั้นยังใช้ไม่ได้ จำ เป็นนกแก้วนกขุนทองไว้เท่านั้นเอง ถ้าเรารู้แล้ว เราก็ต้องเอามาทำให้ได้ อย่างเรารู้ว่าถ้าทำวิปัสสนา ไม่ได้นั่งพิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะ ปฏิกูลอสุภะไม่ใช่ของจริง ไม่มีสภาวะรองรับ ของจริงคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต้องเห็นตรงนี้ ถ้าพิจารณาปฏิกูลอสุภะก็ข่มราคะได้ เป็นเรื่องของสมถะ เป็นการข่มจิต
ต้องรู้หลักคร่าวๆ แล้วค่อยๆ สังเกตไป ตอนที่หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อครั้งแรก ท่านบอกว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” คีย์เวิร์ดคืออ่านจิตตนเอง หลวงพ่อก็พยายามมาดูจิตใจตัวเอง คำว่า “อ่านจิตตนเอง” ทีแรกก็ยังไม่เข้าใจ ก็งง ท่านให้ดูจิต ให้อ่านจิตตนเอง จิตเป็นอย่างไร ไม่รู้ จิตอยู่ที่ไหน ไม่รู้ จะเอาอะไรไปอ่าน ไม่รู้ จะอ่านอย่างไร ไม่รู้ รวมความแล้วเริ่มจากไม่รู้ ไม่รู้ก็อาศัยความสังเกตเอา
นึกถึงบทสวดมนต์ ในบทสวดมนต์ทำวัตรแปล ตอนยังเรียนหนังสืออยู่ หลวงพ่อเคยไปบวชวัดชลประทานฯ เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปัญญานันทะ ท่านสอนให้สวดมนต์แปล ในบททำวัตรเช้า จะมีสวดมนต์แปลอยู่อันหนึ่งดี บทที่ว่า “รูปูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือรูป เวทะนูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือเวทนา สัญญูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือสัญญา สังขารูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือสังขาร วิญญาณูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือวิญญาณ” ตอนนั้นก็รู้ จิตนั้นคือวิญญาณ
เพราะฉะนั้นจะดูจิต มันก็ต้องแยกเอาขันธ์อื่นออกไปก่อน อาศัยบทสวดมนต์ เป็นบทสวดมนต์ที่ดี สอนธรรมะ หลวงพ่อก็เลยหัดแยกขันธ์ แยกขันธ์ไปเรื่อย ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง เวทนาอยู่ส่วนหนึ่ง สัญญา สังขาร อยู่อีกคนละส่วน จิตใจอยู่อีกส่วนหนึ่ง พอแยกได้แล้วทำอย่างไรต่อ ทีแรกก็เข้าใจผิด คิดว่าดูจิตก็คือ พอแยกเอาจิตออกมาแล้ว จากขันธ์อื่นๆ แล้วก็เลยไปนั่งเฝ้าจิตเอาไว้ นั่งจ้องจิตเอาไว้ คิดว่านี่คือการปฏิบัติ ที่หลวงปู่สอนว่าให้อ่านจิตตนเอง ที่จริงไม่ได้อ่านจิตตนเองเลย ไปนั่งเฝ้าจิตตัวเอง เหมือนอ่านหนังสือกับนั่งเฝ้าหนังสือ มันคนละเรื่องกัน นี้ไม่ได้อ่านหนังสือ แต่ไปนั่งเฝ้าหนังสือ ไปเฝ้าจิต ควบคุมไว้ตลอดเวลา
ไปส่งการบ้านครั้งที่สอง หลวงปู่บอก “ผิดแล้ว ให้ไปอ่านจิตตนเอง ไม่ใช่ให้ไปดัดแปลงจิต จิตมีหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง ไปทำจนไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ไปทำใหม่” ท่านสั่งให้ทำใหม่ ทำอย่างไร ท่านไม่เคยบอกเลย หลวงพ่อก็นึกถึงบทสวดมนต์อีก ในบทเดิมนั่นล่ะ สอนบอกว่า “รูปัง อนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญาณัง อนิจจัง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนิจจา รูปัง อนัตตา รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา” เพราะฉะนั้นเราจะดูจิตดูใจ เราก็ต้องเห็นวิญญาณัง อนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง วิญญาณเป็นอนัตตา ก็คือเฝ้ารู้ความเป็นไตรลักษณ์ของจิตใจ อย่างนี้ถึงจะเรียกอ่านจิต
เห็นไหม อาศัยปริยัติๆ บทสวดมนต์นั้นตัดมาจากพระไตรปิฎก เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า บทสวดมนต์เช้า บทที่ว่านี้ เพราะฉะนั้นดีมากๆ เลย หลวงพ่ออ่านพระไตรปิฎกมามากมาย อ่านหลายเที่ยว ก่อนที่จะเจอหลวงปู่ดูลย์ เพราะฉะนั้นเข้าใจในทางทฤษฎี แต่ไม่รู้จะลงมือปฏิบัติอย่างไร แล้วพอหลวงปู่ให้ดูจิต ก็เลยนึกถึงบทสวดมนต์ ซึ่งก็คือปริยัตินั่นล่ะ ก็ดูรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา ตอนนั้นมีสงสัยเล็กๆ ทำไมมีไม่เที่ยง มีอนัตตา แล้วไม่มีทุกขัง มันหายไปไหน ในความเป็นจริงแล้ว การดูขันธ์ 5 ในขันธ์ 5 มีรูป 1 มีนามธรรม 4 ฉะนั้นขันธ์ 5 เป็นธรรมะที่ท่านเอาไว้สอนพวกที่ถนัดดูนามธรรมมากกว่ารูปธรรม
อายตนะ 6 ก็สอนแล้วมีผลอย่างเดียวกัน แต่ในอายตนะ 6 มีรูป 5 มีนามธรรม 1 ก็เหมาะกับเอาไว้สอน พวกที่ติดรูป ชอบดูรูป ธาตุ 18 มีทั้งรูปธรรม นามธรรม จำนวนมาก สอนพวกที่อยากรู้อยากเห็น อินทรีย์ 22 ส่วนใหญ่เป็นนามธรรม ถ้าภาวนาไปแล้วก็จะเห็นได้ ส่วนปฏิจจสมุปบาท เป็นกระบวนการทำงาน ที่จิตมันสร้างภพ สร้างชาติ สร้างทุกข์ขึ้นมา แล้วก็เป็นกระบวนการที่มันละ ดับภพ ดับชาติ ดับทุกข์ อันนี้ เราไม่ต้องเรียนเยอะขนาดนั้น
พอพูดถึงขันธ์ 5 มีรูป 1 นาม 4 มันเหมาะกับพวกที่ชอบดูนามธรรม พวกชอบดูจิต ดูขันธ์ 5 ไว้ อย่างเราเห็นร่างกายนั่งอยู่ นี่เรารู้รูป แล้วเราเห็นความสุขความทุกข์แทรกอยู่ในกาย แทรกอยู่ในจิต นี่รู้เวทนา เราเห็นความจำได้หมายรู้อยู่ที่จิต นี้ก็เป็นนามธรรม เราเห็นความปรุงดีปรุงชั่ว นี้เป็นนามธรรม เราเห็นจิตเกิดดับทางทวารทั้ง 6 เป็นนามธรรม ฉะนั้นส่วนใหญ่เป็นนามธรรม คนที่ดูนามธรรม ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์มี 3 อัน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การดูนามธรรม ลักษณะที่เด่นชัดจะมี 2 อัน คืออนิจจังกับอนัตตา เพราะฉะนั้นท่านถึงสอนว่า รูปังอนิจจัง แล้วไป รูปังอนัตตา ข้ามไปเลย ท่านสอนเพื่อการปฏิบัติ ไม่ได้สอนความสมบูรณ์แบบในทางปริยัติ
ทำไมเราต้องเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ
ฉะนั้นเราสังเกตดู อย่างเราดูจิตดูใจเรา จะดูให้เห็นทุกขัง ดูยาก แต่ดูเห็นอนิจจัง เออ จิตสุขไม่เที่ยง จิตทุกข์ไม่เที่ยง จิตดีจิตชั่วไม่เที่ยง อันนี้ดูง่าย จิตสุขก็สุขได้เอง จิตทุกข์ก็ทุกข์ได้เอง จิตดีจิตชั่วก็เป็นเอง จิตจะเป็นผู้รู้ก็เป็นได้เอง รักษาไว้ก็ไม่ได้ อันนี้เห็นอนัตตา ส่วนจะเห็นจิตทุกข์ต้องทรงฌาน ต้องทรงฌานถึงจะเห็น ถ้าเป็นอย่างพวกเรานี้ มันจะไม่เห็นจิตทุกข์
คำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนมีหลากหลายมาก แต่ว่าพอเราเรียนจากครูบาอาจารย์ ท่านก็จะเลือกแจกแจง หลวงปู่ดูลย์มีธรรมะตัวนี้ คือสามารถแจกแจง แบ่งธรรมะ คนนี้เรียนอันนี้ คนนี้เรียนอันนี้ นี่คือความเด่นของหลวงปู่ดูลย์ ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ ลูกศิษย์แต่ละคน หลวงปู่สอนไม่เหมือนกัน สอนธรรมะที่เหมาะกับคนนั้น บางคนเรียนกาย บางคนเรียนเวทนา บางคนเรียนจิต บางคนเรียนธรรม ไม่เหมือนกัน
คนที่จำแนกแจกธรรมได้ดีที่สุด คือพระพุทธเจ้า ถึงได้ชื่อว่า “ภะคะวะโต” ท่านเป็นผู้จำแนกแจกธรรม ไม่มีคนไหนทำได้เหมือน สาวกทำได้พอประมาณ ถ้าสมบูรณ์แบบก็อย่างพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้ามีเหตุมีผลทั้งหมดเลย ทำไมเราต้องเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ เพราะถ้าเราเห็นรูปนามกายใจตามความเป็นจริง คือเป็นไตรลักษณ์ เราจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ จิตมันจะจืด มันจะรู้สึกจืดๆ ไม่มีอะไร โลกนี้ แล้วใจมันก็พ้นโลกไป อย่างทีแรกเราอยู่ในกามโลก หรือกามภพ ใจเราก็ติดอกติดใจ ว่ากามนี้ของดีของวิเศษ
เราภาวนาไปเรื่อย เราเห็นที่เรียกว่ากามคุณนั้น เอาเข้าจริงมันคือกามโทษ จิตเราไปรักใคร่ในสิ่งใด เราก็เสียอิสรภาพเพราะสิ่งนั้น เราก็มีความทุกข์เพราะสิ่งนั้น นี่คือโทษของกาม เรารักผู้หญิงสักคน เราก็ต้องเอาใจเขา หรือรักผู้ชายสักคน เราก็ต้องเอาใจเขา เราเสียอิสรภาพไปบางส่วน ต้องไปเอาอกเอาใจเขา แล้วเราก็ต้องตกเป็นเบี้ยล่าง เรารักอะไรมาก เราก็ตกเป็นทาสของสิ่งนั้น อย่างบางคนเลี้ยงแมว รักแมวก็เป็นทาสของแมว รักหมาเป็นทาสของหมา รักเมียก็เป็นทาสของเมีย เราไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ต้องสูญเสียอิสรภาพไป
ฉะนั้นพอเราเจริญปัญญามากเข้าๆ เราจะรู้เลยว่า เราชอบอะไร เรารักอะไร หรือเราเกลียดอะไร เราก็จะทุกข์เพราะสิ่งนั้น พอใจมันฉลาด ใจก็ ไปรักมันทำไม รักแล้วทุกข์ ไปเกลียดมันทำไม เกลียดแล้วทุกข์ เห็นอย่างนี้ คราวนี้จิตมันก็ไม่อยากจะรัก จิตมันก็ไม่อยากจะเกลียด ไม่ต้องอ้อนวอน มันเป็นเอง อย่างพวกเราหลายคนภาวนา ถึงจุดหนึ่งมันจะเห็นโลกนี้จืด โลกนี้ไม่มีอะไร โลกนี้มีแต่ทุกข์ มองลงไปในรอบๆ ตัว ก็เห็นแต่คนทุกข์ มองลงในร่างกายก็เห็นแต่ทุกข์ มองลงในจิตใจตัวเองก็เห็นแต่ทุกข์ ใจมันก็เบื่อหน่ายคลายความยึดถือเป็นลำดับๆ ไป มันจะวางของนอกก่อน ของนอกสุดก็คือโลกข้างนอกนี้ จิตมันวางไปก่อน ถัดมามันถึงจะเข้ามาวางที่จิต มันวางโลกข้างนอก พร้อมๆ กับวางร่างกาย
ส่วนจิตนั้นมันวางทีหลัง เพราะมันเป็นของประณีต ร่างกายเราเห็นง่ายว่าเป็นทุกข์ โลกข้างนอกก็เห็นง่ายว่าเป็นทุกข์ แต่จิตเราเห็นยากว่าเป็นทุกข์ ซึ่งจิตที่อบรมดีแล้วมีความสุข แต่จิตที่อบรมดีแล้วนำความสุขมาให้ อบรมอะไร อบรมศีล มีศีล จิตก็มีความสุข อบรมสมาธิ จิตก็มีความสุข อบรมปัญญา จิตก็มีความสุข เราก็เลยติดความสุข ถ้าเรามีสติมีปัญญาตามรู้ตามเห็น จิตทุกชนิดนั่นล่ะไม่เที่ยง จิตทุกชนิดนั่นล่ะเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นจิตที่มีความสุขมันก็ไม่เที่ยง จิตที่มีความสุขก็เป็นอนัตตา ควบคุมไม่ได้ สั่งไม่ได้ พอเห็นอย่างนี้ จิตมันถึงจะยอมวาง แต่ถ้าเป็นคนที่ทรงฌาน มันจะเห็นจิตเป็นทุกข์ จิตผู้รู้ที่เป็นตัวบรมสุข ถ้าสติ สมาธิ ปัญญามันแก่รอบพอ มันจะพลิกตัวทีเดียว มันจะเห็นว่าจิตผู้รู้นั้นคือตัวบรมทุกข์ ไม่ใช่ตัวทุกข์ธรรมดา เป็นยอดของทุกข์เลย ไม่มีอะไรทุกข์เท่ากับตัวจิตผู้รู้เลย แต่เราต้องอาศัยมันก่อน แล้วถึงจุดตรงนั้นถึงจะวาง
เหมือนอย่างที่หลวงปู่ดูลย์บอก “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” คำว่า “ทำลาย” ไม่ใช่ทำลายจริงๆ หลวงพ่อพุธท่านเคยถามหลวงพ่อว่า “ไปหาหลวงปู่ หลวงปู่สอนอะไร” บอกหลวงปู่บอกว่า “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิอย่างแท้จริง” หลวงพ่อพุธท่านก็กลัวหลวงพ่อหลงทาง ไประเบิดตัวผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นบ้าไปเลย ท่านก็เลยบอกให้ “การทำลายผู้รู้ ทำลายจิต ไม่ใช่ไปทำลายตัวมัน แต่ต้องเห็นมันเป็นไตรลักษณ์” ท่านสอนอย่างนี้
ฝึกตนดีแล้วค่อยฝึกผู้อื่น
หลวงพ่อก็ได้อาศัยคำสอนครูบาอาจารย์ ประคับประคองภาวนามา ล้มลุกคลุกคลานมา รอดมาได้แต่ละครั้งๆ อาศัยตำราบ้าง บางทีก็นึกถึงพระไตรปิฎก นึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์บ้าง สังเกตเอาเองบ้าง มีหลายอย่าง บางทีก็นึกถึง พระไตรปิฎกสอนอย่างนี้ บางที ก็เอ๊ะ ครูบาอาจารย์สอนอย่างนี้ บางทีก็ใช้สังเกตเอา สิ่งที่มีที่เป็นอยู่นี่ มันสอดคล้องกับพระไตรปิฎกไหม
อย่างมีคราวหนึ่งภาวนา จิตติดวิปัสสนูปกิเลสชนิดโอภาส จิตสว่างไสว มีความสุข เหมือนเรานั่งดูพระจันทร์วันเพ็ญ สวยงามร่มเย็น มีความสุขอยู่อย่างนั้น จนวันหนึ่งเฉลียวใจ พระพุทธเจ้าบอกจิตไม่เที่ยง ทำไมจิตเราเที่ยง พระพุทธเจ้าว่าจิตเป็นทุกข์ ทำไมจิตเราเป็นสุข พระพุทธเจ้าว่าจิตเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ทำไมเราบังคับได้ เราต้องผิด ไม่ใช่พระพุทธเจ้าผิด ไม่ใช่พระไตรปิฎกผิด แต่คิดเลย เราต้องผิดตรงไหนสักที่หนึ่งแล้ว
คนรุ่นนี้มันอีโก้แรง เซลฟ์จัด มันภาวนาแล้วมันรู้ไม่เหมือนตำรา ไม่เหมือนพระไตรปิฎก มันก็บอกพระไตรปิฎกผิด มันเหลวไหลอย่างแรงเลย หรือคิดว่าคนอื่นตีความพระไตรปิฎกผิด ก็ตัวเองนั่นล่ะวิปลาสคลาดเคลื่อน ไม่เห็น ตีความขัดกับหลักพื้นฐานทางพระพุทธศาสนาเลย ทฤษฎีที่นิพพานแล้วยังกลับมาเกิดได้ ทฤษฎีของฮินดู กลับไปรวมเข้า ภาวนาปฏิบัติไปจนอาตมัน อัตตาตัวตนของเรา รวมเข้ากับบรมอัตตา รวมเข้ากับปรมาตมัน คือรวมเข้ากับพระเป็นเจ้า แล้วถึงจุดหนึ่งก็ออกมาเกิดได้อีก ออกมา บางทีพระเจ้าก็มอบให้ออกมาทำงาน ไปทำโน้นทำนี้ ฉะนั้นทฤษฎีที่พระพุทธเจ้ามอบหมายให้ทำงานนี้ ทฤษฎีฮินดู คือพระเจ้ามอบหมาย เอาไปปราบยักษ์ตัวนี้ชื่อนี้ อะไรอย่างนี้
ฉะนั้นบางทีไม่ได้เรียนให้ถ่องแท้แล้วคลาดเคลื่อน คลาดเคลื่อนของตัวเอง มีโทษมากเฉพาะตัวเอง พูดเผยแพร่ออกไป พาคนอื่นคลาดเคลื่อน เป็นโทษที่ร้ายแรงมากเลย ร้ายแรงมากเลย ฉะนั้นหลวงพ่อถึงบอกพวกเราว่าอย่าเพิ่งสอน ภาวนาให้ดีก่อน หลวงปู่มั่นบอกว่า “ฝึกตนดีแล้วค่อยฝึกผู้อื่น” มีคนไม่กี่คน 10 กว่าคนได้ ที่หลวงพ่อบอกตอนนี้ให้ช่วยสอนได้ นอกนั้นไม่ได้ให้ช่วยสอน มีแอบมาสอน ถ้าหลวงพ่อเห็นหลวงพ่อก็ไล่ ตัวเองเอาไม่รอดเลย ตัวเองกิเลสท่วมหัว เที่ยวมาสอนคนอื่น บางทีทำเป็นสอนดีๆ ไปหลงรักลูกศิษย์ก็มี ทิ้งเมีย ไปได้ลูกศิษย์เป็นเมีย สอนกรรมฐาน โดยที่ตัวเองไม่ได้มีคุณสมบัติพอ ยังภาวนาไม่พอ สู้กิเลสไม่ได้
เพราะฉะนั้นอย่าไปรีบสอนคนอื่น ให้สอนใจตัวเอง ทุกวันๆ สังเกตใจตัวเอง กิเลสอะไรยังไม่ละ กิเลสอะไรยังเกิดขึ้นได้อีก กิเลสอันไหนละแล้ว กุศลอันไหนเจริญแล้ว กุศลอันไหนยังไม่ได้เจริญ สังเกตตัวเองที่กุศลที่อกุศลนี่ล่ะ เราจะวัดความก้าวหน้าของตัวเอง เราวัดที่กิเลส กิเลสที่มีอยู่ดับไปไหม กิเลสใหม่ไม่ค่อยจะเกิดหรือเปล่า กุศลที่ไม่เคยเกิด ได้เกิดขึ้นไหม ศีลไม่เคยรักษาก็รักษาได้ง่ายขึ้น สมาธิทำไม่เคยได้ก็ทำได้ดีขึ้น ไม่เคยเห็นโลกนี้เป็นไตรลักษณ์ก็เห็นได้มากขึ้น นี่กุศลเราเจริญขึ้น วัดตัวเองว่าที่เราภาวนาอยู่นี้ กิเลสเจริญหรือกุศลเจริญ ก็วัดตรงนี้ ไม่ต้องไปยุ่งกับคนอื่น
จนกระทั่งว่าวันหนึ่งเข้าใจแจ่มแจ้งถ่องแท้แล้ว ก็ค่อยสอนคนอื่น ไม่อย่างนั้นเราจะเอากิเลสตัวเองไปสอนคนอื่น ซึ่งอันตรายทั้งกับตนเองทั้งกับผู้อื่น มันคือการทำลายพระพุทธศาสนา กลายเป็นศาสนาพุทธมีสิ่งที่เน่าในแฝงอยู่ มีของเน่าๆ อยู่ข้างใน ก็ผุพังเปื่อยเน่าไป ฉะนั้นเราจะต้องศึกษา แล้วก็ไม่ต้องรีบร้อนเผยแพร่ อ่านใจตัวเองให้ถ่องแท้ก่อน มีกิเลสอะไรที่ยังไม่ละบ้าง มีกิเลสอะไรที่ยังครอบงำเราได้บ้าง กุศลอะไรที่เรายังไม่ได้ทำบ้าง ที่ทำอยู่นี้กุศลเพิ่มขึ้นไหม เจริญขึ้นไหม อย่างกุศลเจริญขึ้น อย่างบางคนสติเร็วขึ้น ถือว่ากุศลเจริญขึ้น เคยหลงยาวเป็นชั่วโมง เดี๋ยวนี้ใจหลงแวบ รู้สึก นี่เจริญมากเลย ฉะนั้นดูที่ตัวเองนี้
ส่วนใครเขาจะพูดว่าคนนั้นบรรลุ คนนี้บรรลุ พระพุทธเจ้าสอนหลักไว้แล้ว ถ้าใครเขาบอกว่าเขาเป็นพระอรหันต์ ท่านบอกว่าอย่าเพิ่งยอมรับ แล้วก็อย่าไปปฏิเสธ ให้ดูกันนานๆ เขาประพฤติในสิ่งที่พระอริยะประพฤติหรือเปล่า เขาสอนในสิ่งที่พระอริยะสอนหรือเปล่า ให้ไปดูตรงนั้น พออยู่ด้วยใกล้ๆ เราก็จะรู้หรอก อย่างบางคนบอกเป็นพระอนาคามีมาเกิด ยังเต้นแร้งเต้นกา กระโดดโลดเต้น โมโหโทโส ไม่ใช่หรอก มันไม่ใช่ภูมิจิตของพระอนาคามี คนก็เหลือรับประทานจริง หลงเชื่อ
ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า
วันนี้เทศน์ดุเดือดนิดหน่อย ฟังไว้ ศาสนาพุทธของเราถ้าเราไม่ช่วยกันรักษา มันหมดนะ หมดเพราะอะไร เพราะพวกสัทธรรมปฏิรูป มันแทรกเข้ามา จนของจริงเสื่อมสลายไปหมด ฉะนั้นไปฟัง แล้วก็ภาวนา ภาวนาไปช่วงหนึ่ง ลองสังเกตตัวเอง สิ่งที่เรารู้ ที่เราเห็น ที่เราเป็น ที่เราได้มา สอดคล้องกับพระไตรปิฎกไหม สอดคล้องกับคำสอนที่ดีทั้งหลายไหม สังเกตเอา อย่างเราเคยทุศีล เราก็ไม่ทุศีล เราวัดได้ด้วยตัวเอง จิตเราเคยฟุ้งซ่าน บ้ากามทั้งวัน เดี๋ยวนี้ไม่เป็น อย่างนี้เราเห็นพัฒนาการ รู้ด้วยตัวเอง
จิตเราเคยเห็นโลกเป็นโลกอย่างแท้จริง ตอนนี้เราเห็นโลกนี้ว่าง โลกว่าง เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นอะไรต่ออะไร มันจะมอง 2 แบบ อย่างพอมองโลกออกไปอย่างนี้ ถ้ามองแล้วเพื่อจะรู้เฉพาะตัว ก็จะเห็นโลกนี้ว่าง แต่ถ้าจะมองเพื่อสงเคราะห์โลก มองออกไปที่โลก จะไม่เห็นสิ่งอื่นนอกจากความปรุงแต่ง จะเต็มไปด้วยความปรุงแต่ง ไม่มีอย่างอื่นหรอก มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความปรุงแต่ง โลกไม่ได้มีอะไรน่ารัก โลกมีแต่ความปรุงแต่ง มีแต่ของหลอกลวง สิ่งใดมันปรุงแต่งอยู่ สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่
พอใจเห็นใจก็คลาย ไม่เอาแล้วโลกนี้ ของปรุงแต่ง ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ใจก็ทิ้ง ทิ้งเอง ไม่ได้เจตนาจะทิ้ง ใจก็เข้าถึงความสงบสุข พ้นจากอำนาจความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ว่าง จิตก็ว่าง ย้อนมาดูกาย กายก็ว่าง ย้อนไปดูโลก โลกก็ว่าง แต่ตอนที่จะสงเคราะห์โลก ก็ต้องออกมาอีกแบบหนึ่ง อยู่ลำพังก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ หัดภาวนา อันแรกเลยถือศีล 5 ต้องมีศีล 5 ทุกวันต้องทำในรูปแบบ การทำในรูปแบบถือว่า เราเป็นการปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า จะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรม ไม่ใช่เพื่อเอาอะไรเข้าตัวเอง ตั้งใจไว้แค่ว่า เราจะปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าผู้เป็นครูของเรา แล้วการทำในรูปแบบนั้นทำได้ 2 ลักษณะ วันไหนจิตฟุ้งซ่าน ทำในรูปแบบให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตจะได้สงบ มีเรี่ยวมีแรง มีกำลัง มีความสุข วันไหนจิตมีกำลังแล้ว ทำในรูปแบบก็เจริญปัญญาไปเลย เห็นรูปมันนั่ง ใจเป็นคนรู้ เห็นรูปมันหายใจ ใจเป็นคนรู้ เห็นรูปมันเดิน ใจเป็นคนรู้ เดินปัญญามันไปเลย แล้วจะเห็นรูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูมันไป ตอนที่ทำในรูปแบบ ถ้าจิตมีกำลัง ถ้าไม่มีกำลังก็ทำสมถะ ให้จิตได้พักผ่อนในอารมณ์อันเดียว
งานที่หนึ่ง ถือศีล 5 งานที่สอง ทำในรูปแบบ งานที่สาม การเจริญสติปัญญาในชีวิตประจำวัน ตรงนี้สำคัญที่สุด การทำในรูปแบบ เหมือนกับการซ้อมมวยในค่ายซ้อม การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เหมือนการลงสนามชกจริง เหมือนชกจริง อยู่ในค่ายซ้อม ผิดพลาดก็ยังแก้ตัวง่าย เช่น นั่งสมาธิผิดไป เคลิ้มๆ ขาดสติ รู้ทัน มีสติขึ้นมา ก็ยังไม่เท่าไร อยู่ข้างนอก ถ้าทำผิด เกิดความคิดผิด เกิดความเห็นผิด เกิดความเชื่อผิดขึ้นมา แล้วเอาไปบอกต่อ กรรมนี้แสนสาหัส สาหัสหนักๆ เลย คือทำลายพระพุทธศาสนา ทำลายพระธรรมวินัย
การปฏิบัติในชีวิตประจำวันทำอย่างไร เมื่อตาเห็นรูป เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต มีสติรู้ทัน เมื่อหูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต มีสติรู้ทัน เมื่อใจเกิดความคิดนึกปรุงแต่ง เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต ให้มีสติรู้ทัน อย่างเราคิดถึงคนนี้ แล้วอยู่ๆ ก็โกรธขึ้นมา แล้วก็ไม่รู้ทันว่าจิตมันโกรธ
เพราะฉะนั้นเราจะใช้อายตนะ 6 ตัว ในการใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้อายตนะทั้ง 6 ตัวเลย แล้วเราก็ไม่ได้เลือกว่าจะใช้ตัวไหน บางครั้งตาก็เห็นรูป บางครั้งหูก็ได้ยินเสียง บางครั้งจมูกได้กลิ่น บางครั้งลิ้นกระทบรส บางครั้งกายกระทบสัมผัส บางครั้งจิตก็คิด ใจมันคิด เราเลือกไม่ได้ มันทำงานของมันเอง แต่ว่าไม่ว่ามันจะกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ สุดท้ายมันก็รวมเข้ามาที่จิตใจของเรานี่เอง
กระทบอารมณ์แล้วเกิดความสุขให้รู้ทัน กระทบแล้วเกิดความทุกข์ให้รู้ทัน กระทบแล้วเกิดกุศลให้รู้ทัน กระทบแล้วโลภ โกรธ หลง ให้รู้ทัน รู้ทันอย่างนี้เรื่อยๆ ไป แล้วศีล สมาธิ ปัญญา ของเราจะบริบูรณ์มากขึ้นๆ สุดท้ายวิมุตติก็เกิดขึ้น บรรลุมรรคผลได้ ไม่ต้องให้ใครเขามาจิ้มหน้าผาก เพื่อจะบรรลุ อันนั้นไม่มีทางบรรลุหรอก เพราะว่าไม่ฉลาดตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว
ลงมือเสียแต่วันนี้
ก่อนจะหมดโอกาสที่จะภาวนาเอาดี
เดี๋ยวนี้หลวงพ่อชักจะแก่ไปเยอะแล้ว เมื่อก่อนเทศน์ต่อกันได้ตั้ง 3 ชั่วโมง เทศน์ได้เฉยๆ เดี๋ยวนี้ชั่วโมงหนึ่งก็เริ่มเหนื่อย ไปหาหลวงปู่ทอง คนก็ไปรออยู่ที่วัดสัก 30 ได้ หลวงปู่อายุตั้ง 94 แล้ว เหนื่อย ก็ให้ลูกศิษย์โทร.มาถาม อาจารย์ปราโมทย์อยู่ที่ไหนแล้ว เมื่อไหร่จะมาสักที จะได้เอาพวกนี้ออกไป ดูครูบาอาจารย์ท่านก็แก่ เหนื่อย แก่ ฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ ต่อไปก็จะลำบาก หลวงพ่อเข้าไปเรียนกับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์อายุเยอะๆ 80 – 90 ปี ตอนที่เข้าไปเรียน ใจมันก็เตือนตัวเองเรื่อยๆ ครูบาอาจารย์อายุมากแล้ว เราจะต้องไม่เป็นภาระของท่าน ต้องขยันภาวนา รีบภาวนา ผิดถูกอะไร จะได้ถามท่านได้ จะมัวขี้เกียจขี้คร้าน ถ้าสิ้นครูบาอาจารย์ไป เราจะไปถามใคร ก็ลำบาก ถามไป ไปเจอเอาคนที่มันไม่รู้จริง มันพาเราออกนอกลู่นอกทาง ลำบาก
ฉะนั้นรีบลงมือเสียแต่วันนี้ ก่อนจะหมดโอกาสที่จะภาวนาเอาดี ตอนนี้ยังมีโอกาสอยู่ ศาสนาพุทธยังดำรงอยู่ สิ่งที่เป็นตัวพระพุทธศาสนาคือธรรมวินัย ธรรมะกับพระวินัยยังดำรงอยู่ รักษาเอาไว้ สืบทอดเอาไว้
หลวงพ่อภาวนา ภาวนาจนคิดว่าพอใจแล้ว หลวงพ่อย้อนไปอ่านอภิธรรมด้วยซ้ำไป พระสูตร พระวินัย พระสูตร อ่านมาตั้งแต่เป็นโยม แล้วมาภาวนา พระสูตรจะสอนวิธีปฏิบัติ สอนวิธีฝึกจิตตัวเอง ฉะนั้นบางคนเรียกพระสูตร ว่าเป็นส่วนของสมาธิ ส่วนของการพัฒนาจิต ส่วนอภิธรรมเป็นส่วนของปัญญา วินัยเป็นส่วนของศีล เห็นไหมศีล สมาธิ ปัญญา แล้วตรงที่เราลงมือปฏิบัติ มันส่วนของสมาธิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ตัวนี้เราต้องลงมือ มีศีลเป็นพื้นฐานไว้ แล้วสิ่งที่ได้มาคือตัวปัญญา ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก พอเราภาวนา เรารู้เราเห็นอะไร ทดสอบกลับเข้าไป สิ่งที่รู้ที่เห็นเข้ากันได้กับคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือเข้ากันไม่ได้ ต้องสังเกตเอา
ส่วนอภิธรรมนั้น มันมีทั้งส่วนที่ดี กับส่วนที่เป็นปรัชญาเฉยๆ ส่วนที่ดีคือส่วนของเรื่องจิตเรื่องใจอะไรพวกนี้ ละเอียดยิบเลย แล้วถูกต้องดีงาม ส่วนอื่นๆ บางทีเป็นเรื่องของโลกๆ เอาไว้ต่อสู้กับลัทธิ ศาสนา ความเชื่อในยุคโน้น เมื่อ 1,000 กว่าปีก่อน อย่างคิดว่าโลกมีความหนา ชั้นดินหนาเท่านี้ ชั้นหินหนาเท่านี้ ใต้ชั้นหินลงไปเป็นชั้นน้ำ ใต้ชั้นน้ำเป็นชั้นลม อันนั้นมันเป็นอภิปรัชญา ที่พวกนักปราชญ์คิดขึ้นมา โลกมันจะมีกี่ชั้น มันไม่ได้เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ มันเกินขอบออกไปแล้ว แต่ก็จำเป็นในยุคนั้น เอาไว้สู้กับศาสนา ลัทธิแปลกๆ อันอื่น คนอินทรีย์มันอ่อน มันอยากได้คำตอบที่มันอยากได้ พระรุ่นโน้นก็เลยไปสร้างอะไรขึ้นมา เพื่อจะตอบโจทย์พวกนี้ แต่มันเกินขอบเขตของการรู้ทุกข์ ละสมุทัยไป
ถ้าเข้าใจการปฏิบัติ เราจะรู้เลยว่า ปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวธ สอดคล้องเป็นอันเดียวกัน ไม่ได้มีตรงไหนที่ขัดแย้งกันเลย ระหว่างปริยัติซึ่งสอนแนวทางปฏิบัติ ระหว่างปฏิบัติ สอนแนวทางของการพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา สอนสมถะ วิปัสสนา ในส่วนของปัญญา สอนลงไปในรายละเอียด ซึ่งเอาไว้ทดสอบ ว่าธรรมะที่เรารู้ ที่เราเข้าใจนั้น ถูกต้องหรือเปล่า
อภิธรรม คือคำอธิบายธรรมะ ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น อภิธรรม คือคำอธิบายธรรมะ เหมือนอภิวินัย คือคำอธิบายพระวินัย เพราะฉะนั้นส่วนที่ดีๆ ก็รู้จักเอามาใช้ รักษาเอาไว้ ส่วนซึ่งมันแปลกๆ ออกไป ก็ปล่อยเอาไว้อย่างนั้น ไม่ต้องไปลบออก ถ้าลบออกเดี๋ยวไปลบเอาที่ดีๆ ออกไปด้วย ปล่อยไว้ก่อน เดี๋ยวผู้มีปัญญาเขาก็ไปรู้จักเลือกเฟ้นเอาเอง เทศน์ให้ฟังขนาดนี้ สู้กับมิจฉาทิฏฐิ เหนื่อยจังเลย
วัดสวนสันติธรรม
29 มิถุนายน 2567