การภาวนามีหลากหลาย จริตนิสัยคน พื้นฐานดั้งเดิมมันไม่เหมือนกันแต่ละคน วิธีปฏิบัติของแต่ละคนจะใช้อารมณ์กรรมฐานอะไร จะใช้วิธีแบบไหน ก็แล้วแต่ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่จําเป็นต้องเลียนแบบกัน อย่างเวลาเราจะทำสมถกรรมฐาน ในตําราเขาก็สอนให้ดูจริตของตัวเอง เป็นราคจริต โทสจริต โมหจริต ศรัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต ดู มีจริต 6 อย่าง อันนี้เป็นแค่ไกด์ไลน์ ไม่ใช่ต้องตายตัว ถ้าเรายึดตําราตายตัวเกินไป บางทีภาวนาไม่ได้ อย่างคนมีราคจริตอย่างนี้ ถ้าจะทำสมถกรรมฐานให้ใจสงบ ท่านสอนพิจารณาปฏิกูลอสุภะ บอกเป็นธรรมะที่เป็นคู่ปรับกัน อย่างขี้โมโหก็เจริญเมตตา เป็นธรรมะตรงข้ามกัน อันนี้เป็นเรื่องของความน่าจะเป็น ไม่ใช่คําตอบสุดท้าย
รู้ว่ากรรมฐานอะไรเหมาะกับเรา เรียกว่าสัมปชัญญะ
สมัยพุทธกาลก็มีนายช่างทองคนหนึ่ง เป็นหนุ่มรูปร่างดี หน้าตาดี ฐานะดี อาชีพทางบ้านทำทองคํา ทำเครื่องประดับ ออกมาบวช ไปอยู่ในสํานักพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรก็สอนให้ดูปฏิกูลอสุภะ เพราะว่าจริตเป็นอย่างนั้น อันนี้ตรงกับตําราเป๊ะเลย ตํารารุ่นหลังก็พูดอย่างนั้น องค์นี้พอท่านไปพิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะ จิตท่านรับไม่ได้ ทนไม่ไหว ฟุ้ง จนกระทั่งพยายามเท่าไรๆ จิตก็ไม่รวม ไม่สงบ เลยอยากสึก
พอดีไปเจอพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าแทนที่จะบอกให้พิจารณาปฏิกูลอสุภะ ท่านยื่นดอกบัวให้ ถ้าเคยไปอินเดีย จะรู้มันมีบัวที่เขาใช้ไหว้พระ บัวสายนั่นล่ะ แต่บัวสายของแขกเขามันบานอยู่นาน ของเราพอแดดออก บัวก็หุบหมดแล้ว เหี่ยว พระพุทธเจ้าท่านก็ให้ ได้ดอกบัวมา ไปบิณฑบาตเอาดอกบัวยื่นให้ บอกเอาไปปักที่ดินที่ทรายข้างกุฏิ แล้วก็นั่งดูไป บริกรรมไป ว่าสีแดงๆ แหม บัวมันสวย องค์นี้ท่านก็ไปเอาดอกบัวปักทรายแล้วก็นั่งดูไปเรื่อย บริกรรมสีแดงๆ ใจชอบ ใจมีความสุข พอใจมีความสุข ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ องค์นี้ดูปฏิกูลอสุภะแล้วขยะแขยง จิตไม่มีความสุข ดูแล้วจิตไม่รวม พอมาดูดอกบัวสวยๆ มีความสุข จิตสบายจิตรวม
แล้วท่านก็นั่งดูไปเรื่อยๆ พอแดดมันแรงขึ้นๆ ดอกบัวมันปักอยู่บนทราย ไม่มีน้ำ มันก็เริ่มเหี่ยว ท่านก็เห็นมันไม่เที่ยงของสวยของงามมันไม่ยั่งยืนอะไร ในที่สุดท่านก็เข้าถึงธรรมะ เห็นไหมไม่ได้เข้าถึงธรรมะเพราะไปดูดอกบัวแดง แต่ท่านเข้าถึงธรรมะเพราะเจริญวิปัสสนาคือเห็นไตรลักษณ์ รูปที่สวยที่งาม สุดท้ายก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ท่านก็เลยบรรลุธรรม
ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังเพราะว่า ถ้าเรายึดตํารามากเกินไปบางทีภาวนายาก แต่ถ้าไม่ยึดตําราเลยก็สะเปะสะปะ ฉะนั้นเราศึกษาปริยัติเพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติ แล้วมาสังเกตตัวเอง อันไหนถึงจะเหมาะกับเรา ตรงที่รู้ว่ากรรมฐานอะไรเหมาะกับเราเรียกว่าสัมปชัญญะ เป็นปัญญา สิ่งที่มีคุณค่ามาก คือสติกับสัมปชัญญะ เป็นธรรมะที่มีอุปการะมาก ฉะนั้นถ้าเราจับหลักของการภาวนาให้แม่นๆ ถ้าเราต้องการทำสมถะ ถ้าดูอะไรไม่เป็น ลองดูจริตของตัวเอง ลองทำตามตําราดู ถ้าไม่ได้ผลก็พิจารณาให้ดีว่าเราทำกรรมฐานอะไร ถ้าจะทำสมถะ ทำกรรมฐานอะไรแล้วใจมันมีความสุข สมถกรรมฐานมันทำให้ใจสุข มีความสุข ใจมันสงบมุ่งหมายไปที่ความสงบของจิตใจ
ฉะนั้นใจมันสงบก็คือใจมันไม่ฟุ้งซ่าน ใจที่ฟุ้งซ่านคือใจที่วิ่งไปจับอารมณ์โน้นทีจับอารมณ์นี้ที เดี๋ยวก็ไปดูรูป เดี๋ยวก็ฟังเสียง เดี๋ยวดมกลิ่น เดี๋ยวลิ้มรส เดี๋ยวไปรู้สัมผัสที่กาย เดี๋ยวก็ไปคิดที่ใจ ใจมันฟุ้ง เพราะมันหาความสุขไม่ได้ มันเที่ยวร่อนเร่ไปเรื่อย เหมือนหมาขี้เรื้อน อยู่ตรงนี้ไม่มีความสุข ก็วิ่งไปอยู่อีกที่หนึ่ง ก็ไม่มีความสุข ก็วิ่งต่อไปอีก ถ้าเราเข้าใจกลไกของจิตตรงนี้ เราก็จะสามารถทำความสงบได้ไม่ยากเกินไป เลือกอารมณ์กรรมฐานที่เราไปอยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วเราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้น พอใจมันมีความสุขใจมันก็ไม่ดิ้นรนแสวงหาอารมณ์โน้นอารมณ์นี้ไปเรื่อยๆ ใจก็แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ก็มีความสุข
ฉะนั้นหัดเลือก ไม่จําเป็นต้องเอาอย่างกันแต่มีปัญญาวิเคราะห์ตัวเอง อะไรที่เหมาะกับเรา ปัญญาที่วิเคราะห์ตัวเองออก ตัวนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ พอเรารู้ว่าเราควรจะทำกรรมฐานอันนี้ ทำแล้วมีความสุข จิตจะสงบ เราก็มีสติระลึกรู้อารมณ์กรรมฐานอันนั้นเนืองๆ แล้วจิตมันสบายใจ อยู่กับอารมณ์อันนี้สบายใจ มันก็ไม่ร่อนเร่ ใจมันก็สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว นี่เป็นเคล็ดลับของการทำสมถกรรมฐาน กว่าหลวงพ่อจะเจอเคล็ดลับหลวงพ่อก็ใช้เวลาภาวนา เคล็ดลับของการทำความสงบ
เคล็ดลับของการฝึกให้จิตตั้งมั่น เคล็ดลับของการเจริญปัญญา มันมีหลักของมันทั้งนั้น ส่วนรายละเอียดแต่ละคนใช้อารมณ์ที่แตกต่างกัน ใช้วิธีที่แตกต่างกัน อย่างการเจริญปัญญาบางคนก็ทำสมาธิ เข้าอัปปนาสมาธิก่อน ออกจากสมาธิแล้วมาดูร่างกายอะไรอย่างนี้ เห็นไตรลักษณ์ของร่างกาย บางคนนั่งสมาธิแล้วก็เห็นนามธรรมทำงานอยู่ในองค์ฌานนั่นล่ะ นี่ก็เดินปัญญาในฌาน เดินปัญญากับสมาธิควบกัน อย่างแรกก็คือทำสมาธิ ออกจากสมาธิแล้วมาเจริญปัญญา
มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
อีกแบบหนึ่งเป็นแบบที่ยุคนี้ทำได้ การเจริญปัญญาคือใช้ปัญญานําสมาธิ อยู่ๆ จะไปนั่งเข้าฌาน เข้ายาก คนรุ่นนี้เป็นรุ่นสมาธิสั้น ใจวอกแวกๆ เราก็ต้องดูตัวเองว่าเราเหมาะกับวิธีการอันไหน แล้วค่อยไปลงรายละเอียดว่าวิธีการนั้นจะทำอย่างไร แต่ทุกวิธีการมีเคล็ดลับ มีหลักอันเดียวกันหมด ถ้าจะทำวิปัสสนากรรมฐาน หลักของมันก็คือมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ทำไมเวลาพูดต้องเว้นวรรคไปเรื่อยๆ เพราะมันคนละอันกัน มีอะไร มีสติ สติรู้อะไร สติเป็นตัวระลึกเป็นตัวระลึกรู้ ระลึกรู้อะไร รู้กายรู้ใจ ถ้าพูดแบบปริยัติก็คือระลึกรู้รูปนาม ยุคนี้บอกให้รู้รูปรู้นาม ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เอาดีกว่า ยากเกินไป ฉะนั้นบางทีถ่ายทอดธรรมะ ต้องพูดภาษาที่มนุษย์รู้เรื่อง ไม่ใช่พูดแบบนักวิชาการ มีแต่ศัพท์เทคนิคแล้วก็งง ใจวอกแวกหนักกว่าเก่าอีก
ให้มีสติ มีอะไร มีสติ แล้วทำอย่างไรถึงจะมีสติ แต่ละอันๆ มันจะมีเหตุมีผล สติก็เป็นอนัตตาสั่งให้เกิดไม่ได้ แต่สติมีเหตุใกล้ก็คือการที่จิตจําสภาวะได้แม่น อย่างมันจําสภาวะความโกรธได้แม่น พอโกรธปุ๊บ สติจะเกิดเอง ระลึกได้เอง จิตจะจำสภาวะได้แม่น ถ้าเห็นสภาวะนั้นเนืองๆ ฉะนั้นในสติปัฏฐาน จะมีคําว่าเนืองๆ คือดูบ่อยๆ ไม่ใช่ตลอดเวลา เนืองๆ ไม่ใช่ว่านั่งเพ่งนั่งจ้อง รู้เนืองๆ รู้บ่อยๆ รู้กายในกายเนืองๆ รู้เวทนาในเวทนาเนืองๆ รู้จิตในจิตเนืองๆ รู้ธรรมในธรรมเนืองๆ การรู้เนืองๆ นั่นล่ะทำให้จิตจำสภาวะที่ถูกรู้ได้แม่นยํา แล้วต่อไปพอสภาวะนั้นเกิดสติเกิดเอง
เห็นไหมมีสติ แค่คําเดียว ก็จะมีรายละเอียดมีเทคนิคมากมาย อยู่ๆ ไปสั่งให้จิตเกิดสติ ไม่เกิดหรอก มันเกิดแต่โลภะเกิดแต่ความโลภ มีสติแล้วทำอะไร สติระลึกรู้ สติทำหน้าที่ระลึกรู้ ไม่ใช่เข้าไปวุ่นวายบังคับกายบังคับใจ แต่ทำหน้าที่ระลึกรู้ รู้อะไร รู้กายรู้ใจ ไม่ใช่รู้ดินฟ้าอากาศ รู้อะไรวุ่นวายข้างนอก ไม่ใช่รู้เรื่องราวที่คิด แต่ว่ารู้กายรู้ใจ แนะนําให้รู้กายรู้ใจตนเอง ที่จริงจะดูรูปนามข้างนอกกับข้างใน ถ้าภาวนาเป็นก็เหมือนกันล่ะ มันก็แสดงไตรลักษณ์ แต่ดูข้างนอกมันเสี่ยง เดี๋ยวไปหลง เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์จะสอนให้น้อมกลับเข้ามา โอปนยิโก น้อมกลับเข้ามาภายในนี้ มาดูกายดูใจของตัวเอง
คอยรู้ รู้รูปนาม คือรู้รูปอย่างที่รูปมันเป็น รู้นามอย่างที่นามมันเป็น ก็คือรู้กายอย่างที่กายมันกําลังเป็นอยู่ รู้ใจอย่างที่ใจมันเป็นอยู่ อย่างขณะนี้ร่างกายนั่งอยู่ รู้ว่ามันนั่งอยู่ ร่ายกายหายใจอยู่ รู้ว่าหายใจอยู่ ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ รู้ว่าเคลื่อนไหว อย่างเวลาเรานั่งนิ่งๆ เห็นไหม ร่างกายก็ยังเคลื่อนไหว ท้องมันเคลื่อนไหว หรือบางทีก็เห็นหัวใจเต้นตุ้บๆๆ ไป คอยระลึกรู้ ระลึกรู้กาย กายเป็นอย่างไร ก็รู้ว่าเป็นอย่างนั้น
หรือจิตใจ ระลึกรู้จิตใจ จิตใจเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ระลึกรู้แล้วก็หลงยินดีหลงยินร้าย ให้รู้ทัน พอรู้ทัน ยินดียินร้ายดับ ใจก็เป็นกลาง แล้วก่อนที่จะมารู้ได้ ต้องฝึกจิตใจให้ตั้งมั่น ฉะนั้นที่หลวงพ่อบอกว่าให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง นี่คือคีย์เวิร์ดของการทำวิปัสสนา (ที่เราจะรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้ ก็ด้วยมีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง มีสัมมาสมาธินั่นเอง) แทนที่หลวงพ่อบอกต้องมีสัมมาสมาธิอะไรอย่างนี้ ฟังแล้วก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร สัมมาสมาธิก็คือความตั้งมั่นของจิต มีคําว่าความตั้งมั่นของจิต
เมื่อกี้พูดไปอันหนึ่ง เรื่องทำจิตให้สงบ เคล็ดลับอยู่ที่การเลือกอารมณ์ที่มีความสุข ไม่อยู่กับอารมณ์นั้นแล้วแกว่งไปแกว่งมา ทำให้จิตสงบ ส่วนจิตจะตั้งมั่น เกิดจากการที่เรามีสตินั่นล่ะ คอยรู้ทันจิตใจของตนเอง ตรงที่มีสติคอยรู้ทันจิตใจตนเองเลยเรียกว่าอธิจิตตสิกขา บทเรียน 3 บท ในศาสนาพุทธเรามีบทเรียน 3 บท คืออธิศีลสิกขา ทำอย่างไรจะมีศีล อธิจิตตสิกขา ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น แล้วก็อธิปัญญาสิกขา ทำอย่างไรจะเจริญปัญญาได้ นี่บทเรียนที่พวกเราชาวพุทธจะต้องเรียน ต้องเรียน ไม่เรียนไม่มีทางที่จะบรรลุมรรคผลอะไร ไปนั่งสมาธิเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ นั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืนอะไรอย่างนี้ แต่ว่าไม่มีหลัก มันก็แค่การทรมานตัวเอง เป็นอัตตกิลมถานุโยค
อย่างถ้าเรานั่งสมาธิเราเดินจมกรมแต่เราไม่มีสติกํากับ อันนั้นคืออัตตกิลมถานุโยค ไม่มีประโยชน์อะไร ทำตัวเองให้เหนื่อยไปเปล่าๆ จุดสำคัญมีสติรู้กายมีสติรู้ใจไว้ถึงจะได้ดี ตรงที่จะเกิดจิตตั้งมั่นมีสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ กว่าหลวงพ่อจะเจอเคล็ดลับก็ภาวนาใช้เวลา เคล็ดลับของการทำให้จิตสงบให้จิตได้พักผ่อน คือการน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง
เคล็ดลับของการฝึกให้จิตตั้งมั่น
เคล็ดลับของการฝึกให้จิตตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิ คือมีจิตที่ตั้งมั่น เคล็ดลับก็คือมีสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น รู้ทันความไม่ตั้งมั่น ทันทีที่เรารู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตที่ไม่ตั้งมั่นจะดับ จะเกิดจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาทันทีโดยที่เราไม่ได้ทำอะไร เกิดเอง มันมีทริกที่ถ้าเราภาวนาช่างสังเกต มีโยนิโสมนสิการ แล้วก็จับหลักได้ เวลาเราต้องการทำความสงบ ใช้เวลาแวบเดียว มันก็สงบแล้ว
เวลาจะออกจากความสงบ ก็อย่าไปดึงจิตออกมา กระทบอารมณ์ที่แรงขึ้น เช่น หายใจให้แรงขึ้น มันก็ถอยออกมา เวลาจะทำจิตให้ตั้งมั่น ไปสั่งจิตให้ตั้งมั่นไม่ได้ จิตเป็นอนัตตา ให้คอยรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตที่ไม่ตั้งมั่นก็คือจิตที่หลง หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปคิดอะไรนี่ โดยเฉพาะหลงคิดเกิดบ่อย เช่น เราท่องพุทโธๆ ตอนที่เราจงใจท่องพุทโธ เราไม่ได้หลงคิดพุทโธ เราเจตนาคิดพุทโธ พุทโธๆ ไป เดี๋ยวก็ไปคิดเรื่องอื่น เราก็มีสติ รู้ว่าจิตหลงไปคิดแล้ว หลงไปคิดเรื่องอื่น จิตที่หลงคิดมันจะดับ ทันทีที่จิตหลงดับ จิตรู้ก็จะเกิดขึ้น
มันเป็นเหรียญ 2 ด้าน เหมือนด้านหัวด้านก้อย ไม่ออกหัวก็ออกก้อย ไม่ออกก้อยก็ออกหัว ไม่รู้ก็หลง ไม่หลงก็รู้ก็แค่นั้นล่ะ เคล็ดลับมันไม่ได้ยากอะไร แต่ต้องหัดดูสภาวะ ดูให้ได้ จิตหลงคิดแล้วรู้อะไรอย่างนี้ แล้วถ้าสังเกตให้ดี จิตโกรธขึ้นมาอย่างนี้ รู้ว่าจิตกําลังโกรธอยู่ จิตที่โกรธดับ จิตรู้ก็เกิดได้ เพราะตอนโกรธมันหลงโกรธ เวลาเกิดราคะ เกิดความใคร่ มีสติรู้ว่าจิตมีราคะมีความใคร่ จิตที่มีราคะมันก็จะดับ จิตรู้ก็จะเกิด ตรงที่จิตมีราคะ มันต้องมีจิตหลงประกอบด้วยเสมอ เวลาจิตของเราจะโกรธหรือจิตของเราจะโลภ จะต้องมีจิตหลงเจืออยู่ด้วยเสมอ ฉะนั้นอกุศลทั้งหมดจะต้องประกอบด้วยโมหะเสมอ
เพราะฉะนั้นถ้าเราคอยรู้ทันจิตหลง ต่อไปไม่ว่าจิตจะโลภจิตจะโกรธอะไร พอเรารู้ทันปุ๊บ จิตที่โลภมันดับ จิตหลงที่เกิดร่วมกับจิตโลภก็ดับไปพร้อมๆ กัน จิตรู้ก็เกิดขึ้น เวลาจิตโกรธมันเกิด เรามีสติรู้ทัน จิตโกรธมันก็ดับ จิตที่หลงโกรธมันก็ดับไปพร้อมๆ กัน ความหลงโกรธกับความโกรธเกิดพร้อมกันแล้วก็ดับพร้อมกัน ความรักกับหลงรักเกิดพร้อมกันแล้วก็ดับพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้นจุดสําคัญที่จิตจะเป็นผู้รู้ขึ้นมาได้ รู้ ตื่น เบิกบาน พร้อมที่จะเจริญปัญญาได้ ต้องเป็นจิตที่ข้ามโมหะ คือความหลงได้ แต่จิตมันเคยหลงมันก็จะหลงตามความเคยชิน เราก็ต้องฝึกตัวเอง ทำกรรมฐานไปแล้วจิตหลงไปที่อื่น รู้ทัน จิตหลงไปเพ่งจ้องอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน
ตรงที่เรารู้ทันจิตที่หลงๆ จิตหลงจะดับ จิตรู้จะเกิดขึ้น จิตหลงเป็นโมหะ จิตที่ไม่หลงเรียกอโมหะ มีโลภะกับอโลภะ มีโทสะกับอโทสะ มีโมหะกับอโมหะ อโมหะ ความไม่หลง เป็นชื่อชื่อหนึ่ง เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของปัญญา เพราะฉะนั้นจิตผู้รู้ที่มันไม่หลงเป็นจิตที่มีปัญญา พร้อมที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพราะมันเป็นอโมหะ ฉะนั้นที่หลวงพ่อจ้ำจี้จำไชพวกเราว่าต้องมีจิตผู้รู้ ถ้าเราไม่มีจิตผู้รู้ มีแต่จิตผู้หลง มีแต่จิตผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง แล้วจะไปเจริญปัญญาได้อย่างไร จิตขณะนั้นมีโมหะ ไม่มีปัญญา
แต่ถ้าเรามีสติรู้จิตหลง เรารู้ จิตหลง เรารู้ หลงไปดู รู้ทัน หลงไปฟัง รู้ทัน หลงไปคิด รู้ทัน หลงไปรัก รู้ทัน หลงไปโกรธรู้ทัน หลงไปฟุ้งซ่าน รู้ทัน หลงไปหดหู่ รู้ทัน ตรงที่รู้ทันหลงไปทางทวารทั้ง 6 หลงไปในอารมณ์ต่างๆ จิตหลง ตัวหลงมันจะดับ โมหะดับตัวเดียว ราคะโทสะดับด้วยทันทีเลย มันเกิดด้วยกัน ราคะก็เกิดร่วมกับโมหะ โทสะก็เกิดร่วมกับโมหะ เพราะฉะนั้นทันทีที่เรารู้ว่าจิตหลง จิตหลงดับ ขณะนั้นโมหะก็ดับไปด้วย จิตรู้ก็เกิดขึ้น
หลักมันมีอย่างนี้ล่ะ แต่กว่าจะจับหลักได้ก็ใช้เวลาเป็นปีๆ หลายปี ค่อยๆ สังเกต หลวงพ่อเรียนจากของจริง เรียนจากในจิตใจของเราเองนี่ล่ะ ตอนนั้นเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ เรียนอยู่ปีกว่าๆ ท่านก็มรณภาพ แต่ท่านก็เคยสอนไว้บอกว่า ธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ออกมาจากจิตทั้งนั้น แต่เป็นจิตที่บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย ประมวลขึ้นมาเป็นพระไตรปิฎก ฉะนั้นเราเรียนรู้จิตใจตัวเองเรื่อยๆ เราก็เห็นสิ่งต่างๆ ที่เล่าให้ฟังนี่ล่ะ
ถ้าต้องการทำความสงบ เคล็ดลับอยู่ที่น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ตัวอะไรเป็นตัวหลัก อารมณ์ที่มีความสุขเป็นตัวหลัก ถ้าอยากให้จิตตั้งมั่น ให้รู้ทันจิต มีสติรู้ทันจิตตัวเอง ไม่ใช่รู้ทันอารมณ์ แต่รู้ทันจิตตนเอง
เริ่มภาวนาจากของหยาบที่เราทำได้
แล้วค่อยพัฒนาขึ้นไปสู่ความละเอียด
เมื่อวันศุกร์ก็เจอผู้หญิงคนหนึ่งขยันภาวนาอยู่ แต่ว่าพื้นเดิมมันเป็นพวกฟุ้งซ่าน ฟุ้งอย่างรุนแรง ฟุ้งอย่างหาตัวจับยาก ชอบทำกิจกรรมอะไรต่ออะไรวุ่นวายมาก กับพวกงานบุญทั้งหลายเรียกว่าบ้าบุญ หลวงพ่อเจอแล้วสงสาร โขกเอาๆ ตอนหลังก็หันมาภาวนา ก็พัฒนาขึ้นมาเป็นลําดับๆ จนกระทั่งเห็นความไหว ความปรุง สังขารที่ปรุงอยู่กลางอกมันปรุงๆๆ เดี๋ยวมันก็แปลออกมาเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นกุศล เป็นอกุศลขึ้นมา เห็นตัวนี้ เห็นอยู่ เออ บอกดีแล้วๆ ไปดูต่อ หลวงพ่อก็ให้ดูอยู่อย่างนั้นล่ะ เห็นมันไหวๆ ตาเห็นรูป จิตนี้ก็ไหว หูได้ยินเสียง ตรงนี้ก็ไหว จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กาย กระทบสัมผัสใจกระทบความคิด ตัวนี้ก็ไหว ให้รู้ๆๆ อยู่อย่างนี้
เมื่อวันศุกร์ หลวงพ่อเห็นจิตมันมีกําลังพอแล้ว ก็ถามเขาว่าเขาภาวนาอย่างไร เขาบอกเขาเห็นตัวนี้ที่กลางอกนี่ หลวงพ่อบอกไปดูมันทำไม นั่นไม่ใช่จิต จิตคือคนที่ถลําลงไปดูมัน ให้รู้ทันว่ามันถลําลงไปดู แกยังไม่เข้าใจ ยังงงๆ ไปเลย ไปถามพระอาจารย์อ๊า มันเป็นอย่างไร ทำไมหลวงพ่อช่วงหนึ่งสอนอย่างนี้ วันนี้มาสอนอีกอย่างหนึ่ง หลวงพ่อก็เลยบอกพระอาจารย์อ๊า ถ้ามันเรียนประถมแล้วก็ไม่ยอมเรียนแบบเรียนของมัธยม มันก็ได้แค่ประถมอยู่อย่างนั้นล่ะ หรือเรียนมัธยม ไม่เอาแบบเรียนที่สูงขึ้นไป มันก็อยู่แค่นั้น
สังเกตตัวนี้ ทีแรกเรานึกว่ามันคือจิต ตัวที่กลางอกเรานี้เพราะเวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์เมื่อไร ตัวนี้ไหวทุกทีเลย เราก็คิดว่าจิตมันไหว แต่พอภาวนาไปเรื่อย พอจิตมันมีกําลังพอ สติว่องไวพอ สมาธิแข็งแรงพอแล้วจะรู้นี่ไม่ใช่จิต นี่คือความปรุง คือสังขาร ความปรุงทั้งหลาย ปรุงนามธรรมทั้งหลาย ปรุงเวทนา สัญญา สังขาร มันปรุงออกมาจากตัวนี้ทั้งนั้น ภาพรวมเขาเรียกว่าสังขาร แปลว่าความปรุงแต่ง ไม่ใช่สังขารขันธ์ สังขารขันธ์ ปรุงดีปรุงชั่วปรุงไม่ดีไม่ชั่ว อันนี้สังขารเป็นคําใหญ่ คําในบริบทของสิ่งที่ปรุงแต่ง เป็นคําที่กว้างกว่าสังขารขันธ์
สังขารมันทำงานอยู่ สังขารนั้นคือภพ คือวัฏฏะนั่นเอง หมุนอยู่กลางอกนั้นติ้วๆๆ ทั้งวันทั้งคืน มีผัสสะกระตุ้นเข้ามา มันก็หมุนทำงาน ไหวยิบยับๆ ขึ้นมา ถ้าเราไปดูมันแล้วเรานึกว่าเราดูจิต เปล่า ยังไม่เห็นจิตเลย ยังมาไม่ถึงจิต แต่นี้ไปหลงสังขารอยู่ แต่ทีแรกให้หลงมันไปก่อน ไม่เป็นไร อยู่ๆ จะดูเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเองดู มันดูไม่ถึงหรอก ไม่มีกําลังพอ ทีแรกเราก็ดูสังขารก่อน ถ้าเรายังดูสังขารละเอียด ตัวที่ไหวในอกเรามันเป็นสังขารละเอียด สังขารหยาบเราก็ดูไป ใจเราสุข เราก็รู้ ใจเราทุกข์ เราก็รู้ ใจเราเป็นกุศลก็รู้ ใจโลภ โกรธ หลง ก็รู้ ดูอย่างนี้ จะเห็น
พอดูไปนานๆ มันจะรวมลงมาที่กลางอก เราก็จะเห็นความไหวของมัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ จะกระทบอารมณ์ดีหรืออารมณ์เลว มันก็ไหว ไหวๆๆ แล้วเราเห็น เห็นจิต เห็นต้องเห็นให้ถึงจิต จิตนี้มันไหลลงไปที่กลางอกแล้วมันก็ไปจมไปแช่อยู่อย่างนั้น เราก็นึกว่าเราดูจิต ยังดูไม่ถึงจิต อันนั้นหลงอยู่กับอาการของจิต จิตมันเป็นคนดูต่างหาก พอพูดถึงคำว่าจิตเป็นคนดู พวกเราก็จะพยายามไปดูตัวดู อยู่ๆ ไปดูตัวดูโดยตรงไม่ได้อันตรายที่สุดเลย เสียเวลา หลวงพ่อเคยพลาด ไปดูตัวผู้ดูเข้า แก้กันเป็นปีเลย ไปติดสมาธิชนิดหนึ่ง ไปดูจิต ก็เกิดจิตซ้อนจิตไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นก่อนที่เราจะเข้ามาถึงจิตนั้น อย่ารีบร้อนเข้ามาดูตัวผู้ดู จิตมันต้องย้อนมาเห็นเอง ถ้าจงใจไปดูมัน จะกลายเป็นสมถะอีกชนิดหนึ่ง กลายเป็นอรูปฌาน ชื่อวิญญาณัญจายตนะ เห็นจิตซ้อนจิตไปเรื่อยๆ ตัวนี้เป็นตัวรู้ พอเราไปรู้มันปุ๊บ มันกลายเป็นตัวถูกรู้ มีตัวรู้อันใหม่เกิด เราไปรู้ตัวรู้อันใหม่ตัวที่สองก็เกิดตัวรู้ที่สามขึ้นมา ซ้อนๆๆ ไม่มีที่สิ้นสุด วิญญาณเป็นอนันต์ เพราะฉะนั้นอย่าจงใจไปดูตัวผู้รู้ ให้ดูไปตามลำดับ ถ้าดูอะไรไม่ได้ดูกายไว้ ถ้าดูกายได้แล้วพอจิตมีกําลังขึ้นมา เราก็มาดูเวทนาได้ เราเห็นจิตเดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ ดูไปเรื่อย แล้วก็เห็นเดี๋ยวจิตก็โลภ โกรธ หลง เดี๋ยวจิตก็เป็นกุศล ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงอะไร เห็นอย่างนี้ไป มันจะรู้ว่านี่คือจิตโลภ นี่จิตโกรธ นี่จิตหลง อันนี้ความโลภ อันนี้ความโกรธ อันนี้ความหลง นี้ความสุข นี้ความทุกข์ มีหลากหลาย มีหลายชื่อ มีหลายตัวมากมาย
พอดูละเอียดเข้าไปมันจะเหลือตัวเดียว มันจะรวมลงมาที่กลางอก ไหวๆ อยู่ในอกนี่ล่ะ ตัวที่ไหวๆ อยู่ในอก ไม่รู้ว่าคืออะไร ไม่รู้ว่ามันคือสุขหรือทุกข์ ไม่รู้ว่ามันดีหรือชั่ว เห็นไหมมันละเอียดเข้าไป จนถึงจุดที่รู้แต่ไม่รู้ว่ารู้อะไร อย่างหัดทีแรกก็ต้องรู้ว่ารู้อะไร ตอนนี้จิตโลภแล้ว ตอนนี้จิตโกรธแล้ว ตอนนี้จิตหลงแล้ว ตอนนี้ฟุ้งซ่าน ตอนนี้หดหู่ ตอนนี้มีความสุข ตอนนี้มีความทุกข์อะไรอย่างนี้ หัดดูอย่างนี้ไป ดูของที่ยังมีชื่อหลากหลาย มีสุขมีทุกข์ มีดีมีชั่ว อย่างโน้นอย่างนี้เยอะแยะ หัดดูอย่างนี้ไปก่อน
แล้วต่อไปพอสติสมาธิของเราเข้มแข็งขึ้น มันจะดูสภาวะที่มันปรุงขึ้นกลางอก ไม่มีชื่อ เราเห็นแค่สิ่งบางสิ่งไหวๆ ขึ้นมา แล้วถ้าเรามีสติรู้ มันก็ดับไป เกิดแล้วดับๆ อยู่อย่างนี้ รู้แต่ไม่รู้ว่ารู้อะไรมันละเอียดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง แล้วค่อยภาวนาจนจิตมันมีกําลังจริงๆ มันจะเห็นว่าตรงนี้คือความปรุงแต่ง จิตมันไปรู้ความปรุงแต่งเข้า ตัวจิตไม่มีเรา ไม่ใช่เรา จิตนั้นโดยตัวมันเองไม่มีเราอยู่แล้ว ไม่ใช่ภาวนาเพื่อละความเป็นตัวเรา จิตไม่มีเราอยู่แล้วแต่ไหนแต่ไร แต่เพราะถูกความปรุงแต่งมันครอบงํา มันก็เลยคิดว่ามีเราขึ้นมา
เมื่อวัน 2 วันนี้ก็มีพระองค์หนึ่งมาส่งการบ้าน พระในนี้ล่ะ บอกว่าภาวนาอยู่ รู้สึกสบายๆ ธรรมดาๆ อย่างนี้ล่ะ แล้วเกิดเห็นแวบหนึ่งจิตไม่ใช่เรา จิตไม่มีตัวเรา ต้องเห็นเอง อยู่ๆ ไปนั่งดูจิตเป็นตัวเรา พอไปนั่งดู จะกลายเป็นคิดเอา ฟุ้งซ่าน สมาธิจะหลุดเลย ฟุ้งซ่านทันทีเลย ถ้าจงใจไปดูหรือถ้าจงใจไม่ไปมองว่าเป็นเรา จงใจไปมองจิต จิตจะพลิกเข้าไปอรูปฌาน จิตมันจะพลิกแพลง เพราะฉะนั้นภาวนาก็เริ่มจากของหยาบที่เราทำได้ แล้วค่อยพัฒนาขึ้นไปสู่ความละเอียดเป็นขั้นเป็นตอนไป ของที่หยาบที่สุดก็คือร่างกาย ถ้าจิตเรายังไม่มีแรงพอ ดูกายไป
ถ้าสติสมาธิเราไม่พอ เรารู้สึกร่างกายไป
เมื่อเช้ายังบอกพวกทิดเก่า พวกที่เคยบวชกับหลวงพ่อ บอกหลวงปู่ดูลย์เป็นครูบาอาจารย์ที่เก่งมาก ไม่เคยมีองค์ไหนที่หลวงพ่อเห็นเหมือนเลย ท่านสอนคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วส่วนใหญ่ที่ท่านสอน ดูกายไม่ใช่ดูจิต คนที่ท่านให้ดูจิตมีไม่กี่คนหรอก ฉะนั้นส่วนใหญ่ก็เริ่มมาจากกาย บางคนท่านให้เริ่มจากพุทโธด้วยซ้ำไป เริ่มจากดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นั่นเป็นสมถะ ฉะนั้นไม่ใช่หลวงปู่ดูลย์เจอหน้าใครก็บอกให้ดูจิต ไม่ใช่ ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์เลยมีหลากหลาย ฉะนั้นไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องดูจิตอย่างที่หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อ เราดูสิ่งที่เราดูได้
ถ้าจิตเราไม่มีกําลังของสติมากพอ ไม่ว่องไวพอ ไม่มีกําลังของสมาธิ หรือไม่มีจิตที่ตั้งมั่นพอ ดูกายไป ไม่เสียหลายหรอก ดูเข้าไป ดูอย่างไร ไม่ใช่ไปนั่งดู ที่ว่าดูกายนั้น รู้ด้วยความรู้สึกเอา รู้ด้วยความรู้สึก ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด รู้สึก ดูมันไปอย่างนี้ ดูเรื่อยๆ ต่อไปก็เห็น กายมันถูกรู้ จิตกับกายมันคนละอัน มันจะแยกขันธ์ได้แล้วก็ดูสิ่งที่ละเอียดเข้าไปเป็นลําดับ ดูเวทนา ดูสัญญา สังขาร ดูจิตเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ค่อยๆ ประณีตขึ้นไปเป็นลําดับ
ทีแรกก็มีชื่อ อันนี้ชื่อนี้ๆ อันนี้ชื่อราคะ อันนี้ชื่อโทสะ อันนี้ชื่อโมหะ อันนี้ชื่อความสุข อันนี้ชื่อความทุกข์ อันนี้ชื่ออุเบกขาอะไรอย่างนี้ พอละเอียดเข้าจริงๆ ไม่มีชื่อแล้ว เห็นแต่ว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นสิ่งนั้นดับไป ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตรงที่พระโกณฑัญญะจะได้โสดาบัน ท่านเห็นว่า ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ แปลว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา ทำไมท่านใช้คําว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะจริงๆ การปฏิบัติพอถึงขั้นละเอียดไม่รู้หรอกว่าอะไรเกิดอะไรดับ เห็นแต่ว่าสิ่งบางสิ่งเกิดแล้วสิ่งนั้นก็ดับ จะดับ เกิดดับๆ ไป ไม่มีชื่อ ถ้ายังมีชื่ออยู่ก็ยังมีสมมติบัญญัติอยู่ ยังคิดอยู่ ตรงที่เกิดอริยมรรคอริยผล ไม่คิดแล้ว เลิกคิดแล้ว จิตพ้นจากความคิดไป เข้าไปเห็นธาตุรู้
ค่อยๆ ฝึก เอาที่เราทำได้ เพราะฉะนั้นอย่างถ้าจิตเรายังหยาบอยู่ สติเรายังหยาบ มันดูของหยาบคือร่างกาย ดูกายก็เกิดข้อถกเถียงอีก เห็นไหมคนเรามันชอบเถียงมันก็เถียง บอกดูร่างกายหายใจออกหายใจเข้าไม่ได้ ดูร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนไม่ได้ เพราะร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่หยุดนิ่งอะไรพวกนี้ เป็นวิญญัติรูป ไม่ใช่รูปแท้ รูปแท้ก็ต้องดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศอะไรอย่างนี้ สเปซ ต้องเห็นรูปแท้ อันนั้นเป็นคําอธิบายเชิงอภิธรรม
ในพระสูตร พระพุทธเจ้าไม่มาสอนหรอกว่ารูปแท้รูปไม่แท้ดูในสติปัฏฐานสูตร เห็นไหม “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดํารงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาวรู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว” สอนให้รู้การหายใจเห็นร่างกายหายใจ “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย เมื่อยืนอยู่ รู้ชัดว่ายืนอยู่ เมื่อเดินอยู่ รู้ชัดว่าเดินอยู่ เมื่อนั่งอยู่ รู้ชัดว่านั่งอยู่ เมื่อนอนอยู่ก็รู้ชัดว่านอนอยู่” ก็ให้ดูรูปมันยืน เดิน นั่ง นอน พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ไปสอนแบบอภิธรรมหรอก อันนั้นท่านเอาไว้สอนเทวดา ส่วนที่สอนมนุษย์ สอนตามนัยยะแห่งพระสูตร แล้วที่บรรลุพระอรหันต์กันมากมาย ก็บรรลุโดยนัยแห่งพระสูตร ไม่ได้นัยแห่งอภิธรรม
เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกังวลหรอก เฮ้ย ดูร่างกายหายใจออกหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนไม่ใช่รูปแท้ รูปแท้รูปไม่แท้มันเป็นตําราชั้นหลังแล้วล่ะ สมัยพุทธกาลท่านสอนให้รู้สิ่งที่รู้ได้ สิ่งที่รู้ได้ก็คือรูปหายใจออก รูปหายใจเข้า ท่านไม่ได้ใช้อย่างนั้นด้วยซ้ำ ท่านให้คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดํารงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว ยืนอยู่ก็รู้ชัดว่ายืนอยู่ เดินอยู่ก็รู้ชัดว่าเดินอยู่ นอนอยู่ก็รู้ชัดว่านอนอยู่ เคลื่อนไหวก็รู้ ก็รู้สึก หยุดนิ่งก็รู้สึก มีแต่คําว่ารู้ๆๆ รู้อะไร รู้ร่างกายเหล่านี้ล่ะ ไม่ต้องวุ่นวาย อันนั้นรูปแท้รูปไม่แท้ เอาอย่างที่พระพุทธเจ้าสอนนี่ล่ะปลอดภัยที่สุดแล้ว มนุษย์ธรรมดาทำได้
ส่วนอภิธรรมพระพุทธเจ้าไม่ได้เอามาสอนมนุษย์ ท่านเอาไว้สอนพวกเทวดา ไปแสดงบนดาวดึงส์ สอนอภิธรรม ทำไมสอนเทวดาละเอียดขนาดนั้น เทวดาไม่ได้มีรูปแบบพวกเรา เค้ามีกายทิพย์ จะไปสอน เทวดาทั้งหลายจงดูร่างกายมีปฏิกูลอสุภะ เทวดาบอกไม่มีไม่เห็น ฉะนั้นเวลาสอนท่านจําแนกจะสอนใคร สอนอย่างไรอะไรนี่ ไม่ใช่เอะอะก็จะต้องใช้คําสอนอย่างนี้อย่างเดียว ไม่ใช่
จุดหมายปลายทางคือความพ้นทุกข์อันเดียวกัน
เพราะฉะนั้นถ้าสติสมาธิเราไม่พอ เรารู้สึกร่างกายไป ร่ายกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก บางคนไม่ถนัด อย่างพระอาจารย์อ๊า อย่างหลวงพ่อหายใจออกหายใจเข้า ทำได้ พระอาจารย์อ๊าเป็นโรคจมูกตัน หายใจไม่ค่อยออก พระอาจารย์อ๊าก็ใช้ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก มันก็ไปได้ ก็ลงที่เดียวกันได้ ก็มีความรู้สึก เห็นรูปมันถูกรู้ถูกดู รูปไม่ใช่ตัวเรา แล้วก็เข้ามาที่นามธรรม เพราะฉะนั้นถ้าดูอะไรไม่ได้ ก็ดูกายไปก่อน ถ้าดูกายก็ไม่ได้ ก็ทำสมถะ น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ทำอะไรไม่ถูก ทำสมถะไว้ก่อน แล้วถ้ามีแรงขึ้นมาหน่อยหนึ่งก็ดูกายไป พอมีกําลังมากขึ้น มันก็มาดูนามธรรมทั้งหลายที่มันเกิดร่วมกับจิตได้
ความปรุงแต่งตั้งแต่หยาบๆ ปรุงสุขปรุงทุกข์ ปรุงดีปรุงชั่ว มีชื่อเรียก พอละเอียดขึ้นไป ก็ถึงความปรุงแต่งที่ไม่มีชื่อเรียก ไหวๆๆ ขึ้นมา แล้วสุดท้ายมันจะเข้ามาเห็นจิตเอง มันรู้ทันนี่ของถูกรู้ถูกดู จิตมันก็วาง ก็เข้ามาที่จิต ก็จะเห็นจิตไม่มีตัวตนอะไร ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ก็จะเข้าใจธรรมะ จะได้ธรรมะขั้นต้น
แล้วภาวนาต่อไปเรื่อยๆ ใจมันก็สูงขึ้นประณีตขึ้นไปตามลําดับ ต่อไปมันก็เห็น เวลาจิตอยาก จิตยึด จิตทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ จิตอยากอะไร อยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่กระทบสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย อยากทีไรทุกข์ทุกทีเลย เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร ตัวตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร แต่มีความอยาก มีเข้าไปยึดถือ ยึดอะไร ยึดรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยึดอะไร ยึดตา หู จมูก ลิ้น กาย ยึดทีไรทุกข์ทุกทีเลย
ยึดตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็อยากสัมผัสอารมณ์ภายนอก อยากสัมผัสอารมณ์ภายใน ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้น ก็จะเห็นร่างกายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ แล้วจิตถ้ามีความอยาก มีความยึด จิตก็จะมีความทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ จะเห็นอย่างนี้ ก็ได้ธรรมะขั้นที่สาม แล้วภาวนาต่อไปจิตที่ว่าถ้าไม่อยาก ไม่ยึดแล้วมันไม่ทุกข์ มันไม่จริงหรอก ภาวนาจนสุดขีดเลยเราจะรู้ มีจิตก็มีทุกข์แล้ว เพราะจิตตัวนี้อยู่ในอุปาทานขันธ์ เป็นอุปาทานขันธ์
กระทั่งตัวจิตผู้รู้ๆ ที่เราสร้างขึ้นมาด้วยความยากลําบาก เป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ตั้งมั่นขึ้นมา มีปัญญาโดยไม่ได้เจตนา เป็นของดีของวิเศษ มันก็หนีไม่พ้นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ถ้าเห็นถึงจุดนี้ได้ มันจะวาง มันจะวางจิตลงไปอีกที ที่สุดของทุกข์ก็อยู่ตรงนั้นล่ะ วางขันธ์ได้สิ้นเชิง จิตถัดจากนั้นจะแปรสภาพไป มันจะเป็นจิตที่ไม่สร้างภพ
จิตของเรามันสร้างภพตลอดเวลา มีความอยาก เกิดความจงใจที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วเกิดการกระทำงานทางใจขึ้นมา อันนั้นเรียกว่าภพ พอมีการกระทำงานทางใจขึ้นมา จิตจะหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา โดยเฉพาะการหยิบฉวยจิตขึ้นมา อันนั้นเรียกว่าชาติ แล้วทันทีที่หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ทุกข์ก็เกิดเรียบร้อยแล้ว เพราะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจคือตัวทุกข์ กระทั่งจิตผู้รู้ก็คือตัวทุกข์ ไม่ได้พ้นจากตัวทุกข์ แต่เราต้องอาศัยมันก่อน เพราะว่าศีล สมาธิ ปัญญาเกิดในภพ แต่เป็นภพที่เรามีจิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดู มันจะพัฒนาปัญญาได้
เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี่ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อจะเอา ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะเอาศีล เพื่อจะเอาสมาธิ เพื่อจะเอาสติปัญญา ไม่ได้ปฏิบัติเพื่ออะไรทั้งสิ้นเลย เพื่อเห็นความจริงแล้ววาง ปล่อยวางได้ จิตเข้าถึงความเป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ ไม่เจือปนด้วยโลภะ ด้วยอวิชชา ตัณหาอุปาทานอีกแล้ว เป็นอิสระ นี่เป็นเส้นทาง ค่อยๆ เรียนแล้วค่อยๆ สังเกตของจริงไป ที่หลวงพ่อบอกนี่หลวงพ่อบอกเหมือนบอกแผนที่ทั้งฉบับ เวลาเราจะเดินจริงๆ สังเกตด้วยตัวเองไป
ค่อยๆ ภาวนา อย่ารีบร้อนอย่างถ้าหลวงพ่อบอกว่าจะไปเชียงใหม่ ออกไปข้างหน้านี้ก็ได้ ไปทางนี้ก่อนก็ได้ ไปทางนี้ก็ได้ๆ อะไรอย่างนี้ แล้วถนนทีหลังค่อยๆ ไปได้ทุกทิศทาง บางคนมันไม่ชอบทางลัด มันชอบอ้อมๆ ก็ให้มันอ้อมไป แต่ละคนจะเดินทิศทางไม่เหมือนกัน เหมือนการขึ้นภูเขา บางคนชอบขึ้นง่ายๆ นั่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไป บางคนนั่งรถขึ้นไป บางคนไต่ขึ้นไป บางคนไต่อย่างเดียวไม่พอ ต้องโหนเชือกขึ้นไป แล้วแต่จริตนิสัยชอบแบบไหน ก็ไปแบบนั้นล่ะ จุดหมายปลายทางคือความพ้นทุกข์อันเดียวกัน
ไปสํารวจตัวเองว่าเราควรจะภาวนาแค่ไหน ตอนนี้ควรจะทำความสงบ หรือควรจะฝึกความตั้งมั่น หรือควรเจริญปัญญา ดูตัวเอง สํารวจใจ วันไหนฟุ้งซ่านมากทำความสงบ วันไหนจิตมีกําลังพอ รู้ทันจิตที่ไหลไปมา จิตก็ตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นแล้วก็เจริญปัญญา จะเจริญด้วยการดูกาย ดูเวทนา หรือดูจิต ดูธรรมก็ได้ แล้วแต่จริตนิสัย
จะเจริญปัญญาในสมาธิก็ได้ เข้าสมาธิแล้วออกมาเจริญปัญญาก็ได้ เจริญปัญญาด้วยจิตที่ตั้งมั่น แล้วมันเกิดอัปปนาสมาธิเข้าฌานทีหลัง ลีลาแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่มีกรรมฐานอะไรดีกว่ากรรมฐานอะไร แต่เราต้องมีปัญญามีสัมปชัญญะรู้ว่ากรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา ไปดูตัวเอง ช่วยตัวเอง สํารวจตัวเอง
วัดสวนสันติธรรม
23 มิถุนายน 2567