วันนี้วันแม่ ต้องถามพระอาจารย์อ๊า วันนี้หรือเปล่า จำวันที่ไม่ได้ ไม่รู้ว่าวันนี้วันที่เท่าไร วันแม่ คณะสงฆ์ก็ให้พระทุกวัด จัดเจริญพระพุทธมนต์ หลังจากทำวัตรเย็น ทุกวัด วัดเราตอนเย็นก็จะเจริญพระพุทธมนต์ แต่ว่าพวกเราไม่ได้อยู่แล้ว จะอยู่วัดถึง 4 โมงเย็น ทำวัตรเย็น 4 โมงครึ่ง หลวงพ่อเกิดมา ก็เห็นท่าน 2 องค์นี้ เป็นหลักของบ้านเมืองมาแต่ไหนแต่ไร ในหลวงกับสมเด็จฯ เห็นข่าวของท่านทุกวัน ดูข่าว สร้างคุณประโยชน์ให้บ้านเมืองมากมายตลอดชีวิต จนท่านอายุเยอะทำงานไม่ไหว มันเป็นเวลาที่คนรุ่นหลังต้องสืบทอดปณิธานของท่าน
ช่วงที่ท่านขึ้นมาครองราชย์ มีปัญหาใหญ่ๆ หลายตัว เริ่มแต่สงครามโลก หลวงพ่อเกิดหลังสงครามโลก 10 ปี เรามีบุญ เราไม่ต้องวิ่งลงหลุมหลบภัย แต่บ้านเมืองตอนนั้น ผู้คนยังอดอยากยากจนมาก ผลกระทบมาจากสงคราม คนลำบากมาก แล้วเกิดแตกแยกด้านลัทธิอุดมการณ์ สู้กัน ในหลวงท่านไม่ได้ไปสู้เรื่องอุดมการณ์ ท่านอยู่เหนือการเมือง แต่ท่านต่อสู้กับความยากจนของคน ท่านฉลาด ท่านมองปัญหาได้ทะลุปรุโปร่ง ที่ท่านมองปัญหาได้ดีกว่านักการเมือง กว่าข้าราชการ เพราะท่านอยู่เหนือผลประโยชน์ นักการเมืองมันก็มองแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ผลประโยชน์จากการเลือกตั้ง
ท่านมองปัญหาของบ้านเมือง ถึงรากเหง้าเลย แต่เดิมคนยากคนจนบางคนก็แค่ว่า เอาของไปแจก ท่านไม่ได้มองอย่างนั้น ท่านมองว่าทำอย่างไรเขาจะพึ่งตัวเองได้ จะเลี้ยงตัวเองได้ เขาไม่มีความรู้ ก็ให้ความรู้ เขาไม่มีที่ทำกิน ก็จัดสรรที่ดิน เขาไม่มีน้ำ ก็ทำฝนเทียม ทำเขื่อนทำอะไร สิ่งที่สร้างไว้ ทำให้บ้านเมืองมันเจริญมาถึงวันนี้ได้ ความเป็นอยู่ของผู้คนก็ดีขึ้นๆ เด็กรุ่นหลังมันเกิดมา ในยุคที่พ่อแม่ไม่ลำบากแล้ว มันก็เลยสบาย ไม่รู้หรอกว่าคนรุ่นก่อนต่อสู้ สร้างบ้านสร้างเมืองมา ยากลำบากขนาดไหน ก็มองแบบเด็กๆ ไอ้โน่นดี ไอ้นี่ดี ก็น่าสงสาร เด็กก็โดนหลอกมาทุกยุคทุกสมัย มันเป็นเครื่องมือ
วันแม่เราก็คิดถึงคุณของท่าน ท่านช่วยกันสร้างบ้านสร้างเมือง จนบ้านเมืองเราพัฒนา ตอนนี้ก้าวหน้ามาก ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานี้ ขึ้นมาอยู่ในระดับนำ บางอย่างดีกว่ายุโรป ดีกว่าอเมริกา หลายเรื่องเลย ความสุขสบาย ความเจริญรุ่งเรืองที่มีมาในวันนี้ มันมาจากรากฐาน ความยากลำบากของคนรุ่นก่อนๆ พวกเราชาวพุทธ เราก็ไม่ลืมบุญคุณของผู้ที่มีคุณ เราก็ระลึกถึงท่าน วันนี้เราก็มาทำ มาฟังธรรม แล้วก็ตั้งอกตั้งใจภาวนา น้อมถวายบุญกุศลให้ทั้ง 2 พระองค์
ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี กตเวที เราทำได้เราต้องทำ กตัญญูคือรู้คุณ กตเวทีคือตอบแทนคุณท่าน ตอบแทนคุณท่านด้วยการทำตัวให้ดี เป็นลูกที่ดี เป็นลูกของแผ่นดิน ฉะนั้นเราฟังธรรม ฟังแล้วให้จิตมันเป็นบุญเป็นกุศลขึ้นมา แล้วก็น้อมถวายกุศลกับทั้ง 2 พระองค์ ที่สร้างบ้านสร้างเมืองมาด้วยความยากลำบาก ลำบากจริงๆ เพราะบ้านเมืองตอนนั้นมันอยู่ในจุดที่หายนะ พังพินาศไปหมด ในเวลา 80 ปี ขึ้นมาถึงจุดนี้ ไม่ได้ฟลุก ไม่ได้บังเอิญ ขึ้นมาด้วยการทำงาน ที่ทุ่มเทของคนแต่ละรุ่นที่ผ่านมา
ทางออกจากกองทุกข์
อีกเรื่องหนึ่ง หลวงพ่ออนุโมทนากับทีมงาน ที่ช่วยหลวงพ่อทำงาน เผยแพร่สื่อออกไปมากมาย โดยที่เราไม่ได้รับผลประโยชน์ทางวัตถุ เราทำด้วยใจ ที่อยากตอบแทนบุญคุณของพระพุทธเจ้า ทำด้วยใจกรุณา อยากให้คนอื่นที่ได้ยินได้ฟังธรรมะ สามารถลดความทุกข์ของตัวเองลงได้ สื่อที่ออกไปมีผลมาก หลวงพ่อเห็น เพราะว่าออกไปข้างนอก ไปที่วัดต่างๆ บางทีก็เห็นมีพระเข้ามาหา เห็นหน้าเราก็รู้แล้วว่าดูยูทูปมา เมื่อวานก็มีนักศึกษาชมรมพุทธที่หนึ่ง มาหลายสิบคน เห็นหน้าก็รู้คนไหนเคยดูยูทูป หรือฟังซีดีหลวงพ่อ เห็นแล้วรู้ เพราะหน้าตาของคนปฏิบัติถูก กับหน้าตาของคนปฏิบัติไม่ถูก ไม่เหมือนกัน หน้าตาของคนปฏิบัติ กับหน้าตาของคนไม่ปฏิบัติ ก็ไม่เหมือนกัน
คนปฏิบัติกับคนไม่ปฏิบัติ หน้าตาไม่เหมือนกัน คนปฏิบัติถูกกับปฏิบัติไม่ถูก ก็หน้าตาไม่เหมือนกัน เห็นคนที่ตั้งใจฟังซีดี ดูยูทูป เขามีพัฒนาการ ที่เขารู้สึกได้ด้วยตัวของเขาเอง หลายคนรู้สึกว่า โลกนี้มันอยู่ห่างออกไป แต่เดิมเราคลุกอยู่กับโลก วุ่นวายอยู่กับโลกตลอดเวลา เราไม่เห็นทางออกจากโลก ต้องจมอยู่กับความทุกข์นั้น ก็ตามๆ กันไป มีพฤติกรรมเลียนแบบ เกิดมาคนอื่นเขาเรียนหนังสือ เราก็พยายามเรียนหนังสือ เขาทำมาหากิน เราก็ทำมาหากิน เขามีครอบครัว เราก็มีครอบครัว ก็ชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ไป มันไม่มีทางออกที่ดีกว่านั้น
จนวันหนึ่งได้ยินได้ฟังธรรมะ เรารู้ว่าเรามีทางออกจากกองทุกข์ โลกมันเป็นทุกข์ คนจำนวนมากก็เห็นอยู่ พวกที่มีปัญญาก็สามารถเห็น ว่าโลกนี้มันทุกข์จริง แต่มันไม่รู้วิธีออกจากกองทุกข์ อย่างคนในศาสนาอื่น เขาก็มีความทุกข์ เขารู้ว่าชีวิตมันทุกข์ เขาก็หาทางออกจากกองทุกข์ ด้วยวิธีต่างๆ อย่างเขาเห็นว่าคนมันเบียดเบียนกัน เพราะมันมีตัวตนมาก ยึดถือในตัวตนมาก เขาก็พยายามละความเป็นตัวตน ด้วยการทำความดี ทำสิ่งที่ดีๆ โดยมอบความจงรักภักดีให้พระเจ้า ถือว่าทำดีเป็นเจตนารมณ์ของพระเจ้า พระเจ้าสอนให้เรารักมนุษยชาติ อันนี้ก็คือวิธีที่พยายามลดละเซลฟ์ ลดละอัตตาตัวตน มันก็ดีเหมือนกัน ดีกว่าคนไม่มีศาสนา
หรือบางคนเขาก็เชื่อ เขารู้ว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ รู้ลึกขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง พวกแรกเห็นโลกเป็นทุกข์ แต่ไม่มีทางออก ก็เลยคิดว่าชีวิตนี้มันถูกเทพเจ้าลิขิตมา ฉะนั้นเราพยายามทำดี เพื่อให้เทพเจ้าพอใจ แล้ววันหนึ่งเราได้ไปอยู่กับเทพเจ้า นี้พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งไม่สนใจเทพเจ้า ไม่ใช่มีเฉพาะศาสนาพุทธ ศาสนาอื่นก็มี ไม่สนใจเทพเจ้า คิดว่ามนุษย์ต้องช่วยตัวเองให้ได้ ก็คิด เขาดูออกไปว่าอะไรทำให้เกิดทุกข์ พบว่าตัณหาทำให้เกิดทุกข์ รู้อย่างนี้เหมือนกัน แต่ไม่รู้วิธีละตัณหา ก็ใช้วิธีปฏิเสธตัณหาเอา ทรมานกาย ปฏิเสธตัณหา หรือใช้วิธีหนีโลก นั่งเข้าฌาน หนีโลก หนีจากกองทุกข์ด้วยการหนีโลกไป
พวกปฏิเสธตัณหา มีลัทธิอันนี้เกิดมาก่อนพระพุทธเจ้าอีก ทรมานตัวเอง คล้ายๆ ธรรมชาติของเรา รักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ก็ทำให้มันไม่สุขไม่สบาย ไม่สวยไม่งาม ฉะนั้นจะเอาขี้เถ้า ขี้เถ้าเผาศพมาทาเนื้อทาตัว ให้มันดูสกปรก แล้วจะได้ไม่ยึดถือ หรือทรมาน อดข้าวอดน้ำ บางคนทรมานจนตัวเองตาย ตายด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ ว่าเราได้ต่อสู้กิเลสเข้มแข็ง พระพุทธเจ้าท่านก็รู้ว่าโลกเป็นทุกข์ รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่ที่ท่านเหนือกว่าคนอื่น คือท่านรู้วิธีละตัณหา
ตัณหามันมีรากเหง้ามาจากอะไร อันนั้นตัวความอยาก รากเหง้าของตัณหาคืออวิชชา อวิชชาก็ผลักดันให้เกิดตัณหา ตัณหาผลักดันให้เกิดอุปาทาน อุปาทานก็คือตัณหาที่มีกำลังแรงกล้า ก็กลายเป็นอุปาทาน ที่จริงมันก็คือโลภเจตสิกเหมือนกันกับตัณหา ตัวตัณหานั้นเกิดจากอวิชชา อวิชชาเป็นตัวโมหะ ฉะนั้นในบรรดากิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ตัวโมหะเป็นพ่อเป็นแม่ของกิเลส ตัวโลภะเป็นลูกของกิเลส นี้โลภะเกิดแล้วไม่ได้รับการสนอง ก็เกิดโทสะ โทสะก็เลยเป็นหลานของกิเลส นี่ตระกูลของกิเลส มีโมหะเป็นต้นตอ มีโลภะเกิดขึ้น แล้วก็เลยมีโทสะเกิดขึ้น เรียงเข้าแถวมาเป็นสายโซ่ของกิเลส
พระพุทธเจ้าสอน ท่านสอนให้ละที่ต้นเหตุ อย่างเราอยากละทุกข์ ละที่เหตุของทุกข์คือตัณหา การละตัณหาจะทำอย่างไร เห็นไหม ศาสนาอื่นก็มีละตัณหา แต่ท่านวิเคราะห์ต่อไปอีก เหตุของตัณหานั้นคืออวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ 4 ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักสมุทัย ไม่รู้จักนิโรธ ไม่รู้จักมรรค ไม่รู้กิจคือหน้าที่ต่อทุกข์ ไม่รู้กิจคือหน้าที่ต่อสมุทัย ไม่รู้กิจคือหน้าที่ต่อนิโรธ ไม่รู้กิจคือหน้าที่ต่อมรรค เราไม่รู้สิ่งเหล่านี้ พวกนี้ล่ะเป็นอวิชชา เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามพัฒนาตัวเอง สร้างวิชชาขึ้นมา สิ่งที่จะทำลายอวิชชาคือความไม่รู้ ก็คือความรู้ถูกความเข้าใจถูก คือตัววิชชาหรือตัวสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิคือความรู้ถูกความเข้าใจถูก เราต้องพัฒนาสิ่งนี้ขึ้นมา
เบื้องต้นเราก็ต้องเรียนรู้สัมมาทิฏฐิ ในภาคทฤษฎีเสียก่อน คืออาศัยพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อาศัยคำสอนของพระสาวกที่ดีๆ มีรากฐานก็อยู่ในพระไตรปิฎก มีทั้งคำสอนของพระพุทธเจ้า ของพระสาวก เราอาศัยสิ่งเหล่านี้ บางทีอาศัยแค่นั้น เรายังหาทางปฏิบัติไม่ถูก คนอื่นอาจจะหาถูก แต่หลวงพ่อหาไม่ได้ หลวงพ่อโง่ พระไตรปิฎกอ่าน ไม่ใช่ไม่อ่าน อ่านหลายรอบ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มลงมือปฏิบัติอย่างไร จนมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนให้รู้จักจิตตัวเอง พอเรามีจิตขึ้นมา เราก็จะเห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เกิดที่จิต ทุกข์ อย่างร่างกายมันเป็นทุกข์ ถ้าจิตไม่เข้าไปหยิบไปฉวย จิตก็ไม่ทุกข์ ถ้าจิตมันโง่ไปยึดถือในร่างกาย ร่างกายมันเป็นตัวทุกข์ จิตมันก็ทุกข์ด้วย
หลวงพ่อก็อาศัยแนวทาง ที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนมา ให้เรียนรู้จิตตัวเองก่อน เพราะจิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานของธรรมะทั้งปวง พอเรารู้จักจิตตัวเอง เราก็เริ่มเรียนรู้ทุกข์ได้ชัดเจน สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือรูปนาม คือขันธ์ 5 นั่นเอง ตัวร่างกายก็ดูเหมือนเป็นทุกข์ไหม ดูของจริง ไม่ใช่คิดเอา ตัวเวทนามันเป็นทุกข์ไหม ตัวสังขารมันเป็นทุกข์ไหม ตัวสัญญาทุกข์ไหม ตัวจิตคือตัววิญญาณทุกข์ไหม ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เรียนไป สติระลึกรู้อะไร จะรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม ถ้าสติระลึกรู้ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้อง ปัญญามันถึงจะเกิด เพราะสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา
ฉะนั้นพอจิตเราตั้งมั่นเป็นกลาง สติระลึกรู้กาย มันก็เห็นความจริงของกาย นี่เรียกว่าเรารู้ทุกข์ ความจริงของกายคือความไม่เที่ยง การถูกบีบคั้น การบังคับไม่ได้ ความจริงของเวทนาก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ความจริงของสัญญา ความจำได้หมายรู้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างสัญญา บางทีเราก็จำได้ บางทีก็จำไม่ได้ บางทีนึก เอ๊ะ คนนี้ชื่ออะไร จำไม่ได้ พอเลิกนึกแล้วก็จำได้ มันไม่ได้อยู่ในอำนาจเรา สัญญา สังขารก็เหมือนกัน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตหรือตัววิญญาณที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ตัวอื่นๆ ตัวรูป ตัวเวทนา ตัวสังขาร ตัววิญญาณ ดูง่ายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ตัวสัญญาดูอย่างไรไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หลวงพ่อเคยสงสัย มีวันหนึ่งเลิกงานแล้วนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามา จะกลับมาบ้านที่เมืองนนท์ นั่งเรือสบายกว่านั่งรถ นั่งเรือใจก็นึก เอ๊ะ สัญญามันเป็นอนัตตาอย่างไร สัญญา ก็ได้แค่อนุมานว่า บางทีมันก็จำได้ บางทีมันก็จำไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ พอขึ้นจากเรือมา เดินมา จะมาต่อรถเมล์ เดินมา ระหว่างเดินมายังไม่ถึงป้ายรถเมล์ จิตรวมปึ้บลงไปเลย ดับความรู้สึกนึกคิดทั้งหมดเลย เหลือแต่จิตอันเดียว แล้วพอจิตมันเคลื่อนออกมาหน่อยหนึ่ง มันรู้สึกถึงร่างกาย มีกายแล้ว มีความรู้สึก มีความคิดเกิดขึ้น แต่มันไม่มีสัญญาเกิดขึ้นให้ดู สัญญามันตอบโจทย์ให้ดู ในขณะนั้นเราไม่รู้ว่าเราคือใคร มันไม่มีสัญญากระทั่งว่าเราคือใคร จำไม่ได้ ไม่ใช่สมองเสื่อม แต่จิตมันแสดงให้ดู มันสอนให้ดู
เวลาเราภาวนา เราติดขัดสงสัยอะไร บางทีจิตมันสอนธรรมะให้ดู หลวงพ่อสงสัยว่าสัญญามันเป็นอนัตตาอย่างไร มันก็เลยดับขันธ์ทั้งหมดเลย เหลือแต่จิตดวงเดียว แล้วก็กลับมามีขันธ์ แล้วสัญญามันไม่ทำงาน สัญญาจริงๆ มันทำงาน แต่มันไม่สามารถหมายรู้ได้ ว่าตัวนี้มันคือใคร มันมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร มันจะไปไหน ไม่รู้เลยสักอย่าง ไม่รู้เลยหลวงพ่อไม่ได้ตกใจ เพราะจิตเราฝึกสมาธิชำนิชำนาญแล้ว ทำอะไรไม่ถูกไม่ตกใจ ถ้าตกใจสติแตก หลวงพ่อก็ยืนเฉยๆ ในเมื่อยังไม่รู้ว่าเราจะไปไหน ก็ยังไม่ต้องไป ยืนนิ่งๆ หลบๆ ทางให้คนเขาเดินไปมา แล้วก็ดูไปเรื่อยๆ รู้สึกตัวไปเรื่อยๆ สุดท้ายสัญญามันก็ผุดขึ้นมา ว่าเราเป็นใคร ชื่ออะไร เรากำลังจะไปไหน จะไปอย่างไร มันผุดๆๆๆ ขึ้นมา เราเห็นเลย โอ้ สัญญานี้มันก็เป็นอนัตตาจริงๆ สัญญาไม่เที่ยง เช่น จำได้จำไม่ได้ อันนี้ดูง่าย นี่มันดับไปหมดเลย แล้วพอมันผุดขึ้นมาแล้ว มันไม่แปลอะไรเลย มันไม่หมายรู้อะไรเลย ก็เลยเห็นทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา สังขาร วิญญาณ ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
นอกเหนือจากนิพพาน ล้วนแต่ของเกิดดับทั้งสิ้น
นี่วิธีเรียนของหลวงพ่อ ดูจากของจริง ดูจากของจริงเอา พอดูไปเรื่อยๆ ไม่นานหรอกก็เข้าใจ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นของที่เกิดขึ้น แล้วตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป รูปนี้ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เช่น รูปหายใจออกอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ รูปหายใจเข้าอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ รูปยืนอยู่ชั่วคราวก็ดับ รูปนั่ง รูปนอน เกิดขึ้นชั่วคราวแล้วก็ดับ รูปเคลื่อนไหวอยู่ชั่วคราวก็ดับ รูปหยุดนิ่งอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ความสุขในรูป ในกายเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ความทุกข์ในกายเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ความสุขในใจเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ความทุกข์ในใจเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ความเฉยๆ ในใจเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ความจำได้หมายรู้ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำสิ่งที่กระทบร่างกาย จำธรรมารมณ์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับ
มันมีแต่ของที่เกิดดับ สัญญา กุศลเกิดแล้วก็ดับ โลภ โกรธ หลง เกิดแล้วก็ดับ ความปรุงแต่งที่ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล เกิดแล้วก็ดับ วิญญาณคือจิต จิตที่รู้อารมณ์ทางตาเกิดแล้วก็ดับ จิตที่รู้อารมณ์ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดแล้วก็ดับ พอจิตเราตั้งมั่นเป็นกลางแล้วก็สติระลึกรู้รูป มันก็เห็นความจริงของรูป รูปเป็นของเกิดดับ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่มีสิ่งที่เป็นอมตะในรูป เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นกลาง สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นเวทนาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีสิ่งที่เป็นอมตะ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นกลาง สติระลึกรู้สัญญา ความจำได้หมายรู้ ก็เห็นสัญญาก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มีขึ้นมาแล้วก็ดับ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ
เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ไม่มีตัวมีตน สัญญาไม่มีตัวมีตน เหมือนรูป เวทนา สัญญา ล้วนแต่ไม่มีตัวมีตน สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วทั้งหลาย จิตจะดีหรือจิตจะชั่ว ถ้าจิตเราตั้งมั่นเป็นกลาง กุศลเกิดขึ้น สติระลึกรู้ก็จะเห็น กุศลเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีตัวตนอะไร ถ้าจิตตั้งมั่นเป็นกลางอยู่ อกุศลเกิดขึ้น สติระลึกรู้ อกุศลดับทันที แล้วปัญญาก็เกิด อกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่มีอมตะ ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะ กระทั่งจิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวเป็นผู้ไปดูรูป เป็นผู้ไปฟังเสียง เป็นผู้ไปดมกลิ่น เป็นผู้ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย หรือไปรู้ธรรมารมณ์ทางใจ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งสิ้น กระทั่งจิตผู้รู้เองก็เกิดแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน อมตะไม่มี อมตะมีอันเดียว อมตนครอะไรอย่างนี้ อมตะจริงๆ ไม่มี
ฉะนั้นศาสนาพุทธไม่แสวงหาอมตะแบบนั้น แต่เราแสวงหาอมตธรรม อมตธรรมก็คือพระนิพพาน นิพพานเป็นอมตะ นอกเหนือจากนิพพานไม่อมตะ ล้วนแต่ของเกิดดับทั้งสิ้น กระทั่งอริยมรรคก็เกิดดับ อริยผลก็เกิดดับ มีแต่นิพพานไม่เกิดไม่ดับ เป็นอมตะอย่างเดียว รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีอมตะ มีแต่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ การที่เราฝึกจนจิตเราตั้งมั่น แล้วก็มีสติระลึกรู้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วแต่สติจะระลึกอะไร ไม่ว่าสติจะระลึกอะไร ถ้าระลึกด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ปัญญาก็จะเกิด ก็จะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ไม่มีสิ่งที่เป็นอมตะ ไม่ควรยึดถือ
ไปยึดถือของที่ไม่ยั่งยืน มันไม่ได้ประโยชน์อะไร มันยึดไว้ไม่ได้ อย่างเรายึดถือร่างกายเรานี้ มันไม่มีประโยชน์อะไร เพราะมันยึดไว้ไม่ได้ ถึงเวลามันก็แก่ ถึงเวลามันก็เจ็บ ถึงเวลามันก็ตาย มันยึดไม่ได้ ความสุขทั้งหลายที่เราแสวงหากัน ทุ่มเทเหน็ดเหนื่อยทั้งชีวิต เพื่อหาความสุข ความสุขเองก็เป็นของที่ไม่ยั่งยืน ยึดถือเอาไว้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่เราทุ่มเทเรี่ยวแรงตลอดชีวิต วิ่งหาความสุข เรายังหลงเงา หลงเสร็จแล้ว ไขว่คว้าสิ่งซึ่งมันไม่มีอยู่จริง มีก็มีแบบไม่ยั่งยืน ความสุขที่ยั่งยืนไม่มีในโลก ความสุขที่ยั่งยืนมีอันเดียว คือในพระนิพพาน นอกนั้นไม่มีความสุขที่ยั่งยืนเลย
เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป มีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ตัวนี้ตัวสำคัญ เป็นตัวแก่นเลย ถ้าเราไม่มีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เราเดินปัญญาไม่ได้จริง สติระลึกรู้กาย เช่น เห็นท้องพองท้องยุบ เราก็คิดว่าท้องพองท้องยุบ มันก็ท้องเราอีกล่ะ หรืออย่างมากก็คิดว่านี่ไม่ใช่ท้องเรา แต่เชื่อไหมว่านี่ไม่ใช่ท้องเรา ไม่เชื่อหรอก ไม่เชื่อ จะเชื่อได้จิตต้องทรงอัปปนาสมาธิแล้วไปเห็น ถึงจะเชื่อได้ เวลาที่เกิดอริยมรรค แล้วจิตไปเดินปัญญาในอริยมรรค ทำไมปัญญาที่มันเดินในอริยมรรค มันถึงมีพลังมาก ที่มันมีพลังมาก เพราะมันมีกำลังของอัปปนาสมาธิหนุนหลังอยู่
ปัญญาที่เกิดในสมาธินั้นมีกำลังแก่กล้า ทั้งๆ ที่เรื่องเดิมล่ะ อย่างอยู่ข้างนอกเราเห็นทุกอย่างเกิดดับ แต่มันละกิเลสไม่ได้ แต่พอจิตมันมีกำลังพอ มันรวมเข้าอัปปนาสมาธิ แล้วมันไปเห็นความเกิดดับเท่านั้นเอง มันวางเลย มันรู้เลยว่ายึดไม่ได้ ฉะนั้นตัวสัมมาสมาธิตัวสำคัญ สัมมาสมาธิเบื้องต้นที่เราฝึก มันเป็นขณิกสมาธิก็จริง แต่ถ้าอินทรีย์เราแก่กล้าถึงจุดหนึ่ง มันจะเข้าอัปปนาสมาธิอัตโนมัติ พระอรหันต์ส่วนใหญ่เป็นสุกขวิปัสสกะ ส่วนใหญ่เลยเป็นสุกขวิปัสสกะ คือไม่ได้มีฤทธิ์มีเดช ไม่ได้เข้าฌานมาก่อน อาศัยการเจริญสติเป็นขณะๆ แต่ตอนที่บรรลุพระอรหันต์ จิตเข้าอัปปนาสมาธิ อย่างต่ำที่สุดเข้าปฐมฌาน เข้าได้ถึงฌานที่ 8 1 2 3 4 5 6 7 8 1 2 3 4 เป็นรูปฌาน 5 6 7 8 เป็นอรูปฌาน มีอย่างละ 4
เวลาที่อริยมรรคเกิด จิตจะต้องเข้าฌาน แล้วความรู้ความเห็นที่เกิดในฌานนั้น มีกำลังกล้า แข็งแรงมาก ถึงละกิเลสในส่วนลึกลงได้ ล้างสังโยชน์ ล้างอนุสัยได้ อันนั้นถึงวันหนึ่งพวกเราก็จะไปถึง ถ้าพวกเราพยายามฝึกข้อที่ 1 มีศีล 5 ข้อที่ 2 ทำในรูปแบบ ไม่ละเลย การทำในรูปแบบก็คือ ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไว้ จิตหลงไปจากอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน จิตไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน ฝึกอย่างนี้ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิดอะไร มีสติกำกับไปเรื่อยๆ ตาเห็นรูป จิตเรามีความเปลี่ยนแปลง เรารู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เรารู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด จิตมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เรารู้ทัน เช่น เราคิดถึงเรื่องที่ไม่ดี จิตเราเปลี่ยนแปลง คือเกิดโทสะเราก็รู้ คอยรู้ทัน รู้เรื่อยๆ
การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็คือเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้ว มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นที่จิต ให้รู้ทันที่จิต ไม่ใช่รู้ที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ให้ตัดตรงเข้าที่จิตเลย อันนี้เหมือนที่เณรสอนพระโปฐิละ เคยเล่าหลายทีแล้ว เณรชี้ให้พระโปฐิละดู ว่าในจอมปลวกเก่าๆ นี้มีเหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปขุดรูอยู่ในจอมปลวก แล้วจอมปลวกนี้มีรูอยู่ 6 รู เหี้ยเข้าออกได้ทุกรูเลย ถ้าเราอยากจับเหี้ยตัวนี้ได้ เราให้ปิดเสีย 5 รู แล้วเฝ้าอยู่รูเดียว ปิดอยู่ 5 รูหมายถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย 5 อัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์ก็ช่างมัน เราเฝ้าอยู่ที่จิตดวงเดียว แล้วเราจะจับเหี้ยได้ เราพบว่า แหม มันเหี้ยจริงๆ ที่เราว่าเราดีๆ จริงๆ ไม่ใช่หรอก จริงๆ เราเป็นระดับตัวเงินตัวทองทั้งนั้นล่ะ ฉะนั้นเฝ้าดู
งาน 3 ตัว คือ ถือศีล 5
ทำในรูปแบบ แล้วคอยสังเกตจิตตนเอง
เจริญสติในชีวิตประจำวัน
จำได้ไหมข้อที่ 1 ถือศีล 5 ต้องถือศีล ถ้าไม่ถือศีล เวลาเราเจริญวิปัสสนาแล้วเราจะล้มละลาย เพราะตอนเราเจริญวิปัสสนา เราจะไม่บังคับกดข่มจิต ถ้ากิเลสเกิดแล้วเราไม่มีศีลกั้นไว้ มันทำชั่วได้เต็มที่เลย เพราะเราไม่มีการกดข่มบังคับจิต เพราะฉะนั้นฝึกถือศีล 5 ตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ ทุกวันทำในรูปแบบ เพื่อเพิ่มกำลังของสมาธิ วิธีเพิ่มกำลังสมาธิก็คือรู้ทันจิตไว้ จิตจะมีกำลังขึ้นมา ทำไมจิตมีกำลัง เพราะจิตถ้าเราไม่ฝึก มันจะวิ่งตะลอนๆ ตลอดเวลา วิ่งไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่เคยหยุดพัก จิตที่วิ่งพล่านๆ ไป เหมือนหมาบ้าถูกน้ำร้อน วิ่งไปเรื่อยๆ มันก็หมดแรง ถ้าเรารู้ทัน จิตหนีไปเรารู้ มันก็เลิกหนี มันก็กลับมาตั้งมั่น จิตถลำไปเพ่ง เรารู้ นี่มันทำงานแล้ว เกิดการทำงานแล้ว คือการเพ่ง เรารู้ทัน มันก็เลิกเพ่ง จิตมันก็ตั้งมั่น พอมันตั้งมั่นไปเรื่อยๆ มันก็มีแรงขึ้นมา คล้ายๆ มันได้พัก จิตของคนทั่วไปไม่เคยได้พัก วิ่งพล่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งวันทั้งคืน
เพราะฉะนั้นการที่เรารู้ทัน มันวิ่งพล่านเรารู้ทัน การวิ่งพล่านมันก็ดับ ถ้าจิตวิ่งพล่านไปด้วยอำนาจของโมหะ ชนิดที่ชื่ออุทธัจจะ ฟุ้งซ่านไป พอเรามีสติรู้ทัน จิตไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็ตั้งมั่น จิตไม่ได้ใช้พลังงาน จิตก็สะสมพลังงาน มีเรี่ยวมีแรง มีกำลังขึ้นมา จิตก็จะเด่นดวงขึ้นมา พอจิตมีกำลังแล้ว คราวนี้ถึงเวลาเจริญปัญญาแล้ว เจริญปัญญาทำอย่างไร สติระลึกรู้รูปก็เห็นความจริงของรูป สติระลึกรู้เวทนาก็เห็นความจริงของเวทนา สติระลึกรู้สังขารก็เห็นความจริงของสังขาร สติระลึกรู้จิตก็เห็นความจริงของจิต ความจริงของมันคือไตรลักษณ์ จะรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ล้วนแต่ไตรลักษณ์ทั้งนั้น พอเห็นอย่างนี้ เราจะรู้เลยรูป เวทนา สัญญา สังขาร ยึดไว้ไม่ได้ เป็นของไม่ยั่งยืน ไม่มีอะไรเป็นอมตะเลย
ไปยึดถือของที่ไม่ยั่งยืน มาเป็นตัวเรา มาเป็นของเรา เดี๋ยวก็พังไป ก็ต้องไปหาใหม่ จิตต้องเที่ยวหาที่เกิดไปเรื่อยๆ เพราะว่ารูปนามเก่านี้มันแตกไป เพราะมันไม่ยั่งยืน ฉะนั้นจิตเราก็เลยเที่ยวแสวงหาความเกิดเรื่อยๆ ไป สังสารวัฏก็เลยยาวนาน แต่ถ้าเราเรียนรู้ความจริง เราก็จะเห็นเลย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือที่เรียกว่าโลกนั่นล่ะ เอามาเป็นที่พึ่งที่อาศัยอะไรไม่ได้ เป็นของไม่ยั่งยืน ไม่ใช่ของอมตะ ของที่ไม่อมตะ เอามาเป็นที่พึ่งไม่ได้หรอก เพราะมันแปรปรวน อย่างเรารักผู้หญิงสักคนหนึ่ง ผู้หญิงคนนี้เป็นที่พึ่งทางใจของเรา ถ้าเราขาดคนๆ นี้แล้วชีวิตเราล้มเหลว ไม่มีใครเป็นที่พึ่งให้เราได้ตลอดกาล กระทั่งร่างกายของเรา ก็ไม่ได้เป็นที่พึ่งให้เราได้ตลอดกาล
อย่างตอนนี้เรายังหนุ่มสาวแข็งแรง ร่างกายนี้ทำมาหากินได้ อยากทำอะไรก็ทำได้ พออายุเยอะขึ้นทำไม่ได้แล้ว นอนหายใจแขม่วๆ บางคนถึงขนาดจะพลิกตัวเอง ยังพลิกไม่ได้ ถ้าไม่มีใครมาช่วยพลิกให้ ก็เป็นแผลกดทับติดเชื้อตาย ร่างกายมันเอาเป็นที่พึ่งไม่ได้จริง สุขทุกข์ทั้งหลายก็เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะมันไม่ยั่งยืน กุศลอกุศลทั้งหลาย มันก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะมันไม่ยั่งยืน จิตก็ยังเอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะมันไม่ยั่งยืน แต่การที่เราเห็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป ไม่ใช่ของยั่งยืน ใจมันจะเริ่มเบื่อหน่าย มันเห็นความจริงแล้ว ก็เบื่อหน่ายคลายความยึดถือ พอมันไม่ยึดถือรูปนาม ก็คือไม่ยึดถือโลก เมื่อมันไม่ยึดถือโลก มันก็พ้นโลก คำว่า “พ้นโลก” คือคำว่า “โลกุตตระ”
“โลกุตตระ” คือความเหนือโลก ความพ้นโลก เราจะพ้นโลกได้ ถ้าเรารู้โลกแจ่มแจ้ง คำว่า “โลกะวิทู” ผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เราไม่ได้โลกะวิทูอย่างพระพุทธเจ้า ท่านรู้ละเอียด ของเรารู้อย่างหยาบๆ รู้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่าที่เรารู้ได้ พระพุทธเจ้ารู้รูปทุกชนิด รู้เวทนาทุกชนิด รู้สัญญาทุกชนิด รู้สังขารทุกชนิด รู้จิตทุกชนิด ท่านเป็นสัพพัญญู ของเรารู้เท่าที่รู้ได้ แค่นี้ก็พอแล้ว มันก็วางได้ เพราะมันเห็นทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตเรา เป็นของชั่วคราวหมด จิตก็วาง จิตวางได้ จิตก็ขึ้นไปอยู่เหนือโลก เรียกโลกุตตระ โลกุตตระแล้วหันมองลงดูที่โลก โลกนี้ไม่มีอะไรนอกจากทุกข์ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป จะเห็นโลกอย่างนี้
เพราะฉะนั้นเราตั้งอกตั้งใจฝึกตัวเอง ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็คอยรู้ทันจิตตนเอง อย่าเพ่ง อย่าจ้อง แค่รู้ทันจิต จิตหนีไปคิด รู้ จิตถลำไปเพ่ง รู้ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน เจริญสติในชีวิตประจำวันก็คือ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัส มีใจก็คิดนึกได้ ไม่ใช่ห้ามคิด แต่เมื่อกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว จิตใจเรามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศลให้รู้ เกิดอกุศลให้รู้ หรือจิตไปทำงานทางตาให้รู้ ไปทำงานทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้รู้ รู้เท่าที่รู้ได้ ไม่ต้องรู้เยอะอย่างที่หลวงพ่อบอก เอาเท่าที่เรารู้ได้
นี่ล่ะงาน 3 ตัว ถือศีล 5 ทำในรูปแบบ แล้วคอยสังเกตจิตตนเอง งานที่ 3 คือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ แล้วมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นที่จิตให้รู้ทัน ถ้าทำ 3 ประการนี้ได้ มรรคผลนิพพานไม่อยู่ไกลเราหรอก ไม่ได้อยู่ไกลแล้ว ไม่เกินเอื้อม ขอให้ทำให้ต่อเนื่อง อดทน ฟังธรรมะพอเข้าใจ พอรู้หลักแล้ว สิ่งสำคัญมากคืออดทน เก่งชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ได้กินหรอก เวลาสะสมกิเลส สะสมตั้งนาน เวลาต่อสู้กิเลสจะสู้แป๊บเดียวหรือ มันทำไม่ได้ แต่เวลากิเลสจะเกิด เกิดเร็วมากเลย กุศลพัฒนาขึ้นมายากลำบาก เพราะพวกเรากิเลสเยอะ
คนชั่วทำกุศลได้ยาก คนดีทำกุศลง่ายทำชั่วยาก คนชั่วทำอกุศลง่าย ทำดียาก พวกเราก็ต้องถือว่าเป็นพวกที่ไม่ค่อยดี มันถึงเกิดมาในยุคนี้ เกิดในยุคที่ไม่ได้พบพระพุทธเจ้าพระองค์เป็นๆ เราไม่ได้เจออย่างนั้นแล้ว ได้เจอแต่สาวกปลายแถว สาวกจริงบ้าง สาวกปลอมบ้าง แยกแยะไม่ออก ดูพวกที่เห่อสาวก เห่อ เห่อไปเห่อมาก็พังทลาย บางคนมันเชื่ออะไรแปลกๆ หลวงพ่อเห็น โอ้ มันก็น่าอนาถ บอกว่าจะฟังแต่คำสอนของพระพุทธเจ้า จะฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เอาคำสอนของพระสาวกครั้งพุทธกาล ไม่เอา แต่กลับไปฟังคำสอน ของสาวกในปัจจุบันคนเดียวอย่างนี้ มันวิกลจริตหรือเปล่า มันเป็นพุทธวัจนะหรือเปล่า ที่จริงมันก็คือถ่ายทอด ผ่านปากสาวกรุ่นนี้ออกมานั่นล่ะ ตีความออกมา ภูมิปัญญาของคน มันเป็นขนาดนั้น
ถ้าศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ไปดูในพระไตรปิฎก หลวงพ่อสอนพระของหลวงพ่อตามพระไตรปิฎกเป๊ะเลย บวชเข้ามา ช่วงแรกเลยที่ต้องเรียนคือพระวินัย ในพระไตรปิฎกเริ่มจากพระวินัยปิฎก ต่อไปคือพระสุตตันตปิฎก แล้วลงท้ายด้วยอภิธรรมปิฎก เรียนกับหลวงพ่อเริ่มต้นเรียนพระวินัย ตามพระวินัยปิฎก ถัดจากนั้นเรียนวิธีทำกรรมฐาน อันนั้นล่ะคือพระสูตรทั้งหลาย พระสุตตันตปิฎกนั้นสอนให้เรารู้วิธีปฏิบัติ ไม่ใช่สอนเรื่องดินฟ้าอากาศ เรื่องผีสางเทวดาอะไร ไม่ใช่ วัตถุประสงค์หลักคือสอนการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นอย่างครูบาอาจารย์สอนการปฏิบัติ นั่นคือตัวสูตร ตัวพระสูตรแล้ว
แล้วพอลงมือปฏิบัติ เราเห็นอะไร เราเห็นจิตของตัวเอง เราเห็นเจตสิก เช่น สุขทุกข์ ดีชั่ว เราเห็นรูปคือร่างกาย จิต เจตสิก รูป นั้นล่ะคืออภิธรรม ฉะนั้นที่เรียนที่นี่ครบเลย เริ่มจากเรียนพระวินัย อันนี้ต้องอ่าน ต้องฟัง ต้องได้รับการอบรม เพราะมันมีการตีความคล้ายๆ กฎหมาย เราก็ต้องยึดถือหลักตามคัมภีร์ ตามพระไตรปิฎก ถัดจากนั้นพอเรียนวินัยแล้ว จะต้องเรียนวิธีปฏิบัติ วิธีปฏิบัติก็ถอดออกมาจากพระสูตรนั่นล่ะ บางส่วนก็เป็นคำสอนตรงของพระพุทธเจ้า บางส่วนก็เป็นคำสอนที่ขยายความ ของพระสาวกครั้งพุทธกาล อันนี้อยู่ในพระไตรปิฎก แล้วถัดจากนั้น คำสอนเหล่านั้นเป็นคำสอนของพระอรหันต์ แล้วผ่านการกลั่นกรองของพระอรหันต์ 500 องค์ ถึงรวมอยู่ในพระไตรปิฎก ไม่ใช่เกิดจากการตีความของปุถุชนคนใดคนหนึ่ง
ฉะนั้นเราก็อาศัยคำสอนอย่างนั้น มาดูว่าเราจะลงมือปฏิบัติอย่างไร หลวงพ่ออ่านพระไตรปิฎก อ่านพระสูตร อ่านอะไรก็ยังจับแก่นของการปฏิบัติไม่ได้ ก็อาศัยหลวงปู่ดูลย์มาบอก ให้เรียนรู้เข้ามาที่จิตเราก่อน พอได้จิตของเราตัวเดียว อ่านพระสูตรเข้าใจหมดเลย ธรรมะทั้งหลายยากเย็นแค่ไหน อ่านแล้วก็เข้าใจเลย เพราะธรรมะทั้งหมดมันออกมาจากจิตนี่เอง แล้วเวลาเราปฏิบัติ เราดูกาย ดูรูป ร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่ก็เรื่องของอภิธรรม ดูจิต จิตก็เป็นอภิธรรม เป็นสภาวธรรม เป็นปรมัตถธรรม สิ่งที่เรียกว่าปรมัตถธรรมคือจิต เจตสิก รูป นิพพาน
ที่เราเรียนกันก็คือจิต เจตสิก รูป ก็คือในขันธ์ 5 นั่นเอง เรียนความจริงของมัน แต่เราเรียนอภิธรรม ไม่ได้เรียนจากตำรา เราเรียนจากภาคสนาม เรียนจากของจริง เรียนจากของจริงเลยได้ไหม ได้ ครั้งพุทธกาลฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า คือฟังพระสูตรแล้วก็ลงมือปฏิบัติ ก็ดูจากของจริงเลย ไม่ใช่ไปนั่งเรียนตำราแล้วท่องตำรา ท่องตำราพระพุทธเจ้าท่านจะเรียกโปฐิละ ใบลานเปล่า ฉะนั้นที่เราเรียนกัน เรียนถึงอภิธรรม เราเรียนเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป แล้วถึงจุดหนึ่งจิตก็จะสัมผัสพระนิพพาน ด้วยตัวของตัวเอง
วัดสวนสันติธรรม
12 สิงหาคม 2566