วิปัสสนาปัญญา

เมื่อเช้าเจอโยมผู้หญิงคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่าไปฟังธรรมมา ครูบาอาจารย์เทศน์เรื่องไม่มีตัวตน บอกใจมันสะเทือน ร้องไห้ ตรงใจสะเทือนมีหลายแบบ สะเทือนแล้วชนะกิเลส กับสะเทือนเพราะว่ายอมรับไม่ได้ คนจำนวนมากภาวนา หัดไปแล้วก็เริ่มเห็น จะเห็นด้วยตัวเอง หรือได้ยินได้ฟังว่าตัวเราไม่มี ใจมันสะเทือน พวกหนึ่งสะเทือนด้วยธรรมะ คือเห็นจริงว่าตัวเราไม่มีจริงๆ อีกพวกหนึ่งสะเทือนเพราะว่าตกใจ เสียดาย คือรักในตัวในตนมาก พอได้ยินว่าตัวเราไม่มี ก็ตกใจ เสียใจ มีเยอะแบบนี้

ตั้งแต่หลวงพ่อยังไม่บวชก็สอนคนรอบๆ ตัว มีรุ่นน้องคนหนึ่งเขาอยากภาวนา หลวงพ่อก็สอนให้ดูกระดูก ดู คนนั้นเขาต้องดูกระดูก เขาดูอยู่ไม่นาน ไม่กี่วัน ไม่ถึงอาทิตย์ เห็นหัวกะโหลกตัวเอง มันเห็นด้วยใจ ไม่ได้เห็นด้วยตา แล้วใจมันสะเทือนขึ้นมา ไม่เอาแล้ว เลิกปฏิบัติดีกว่า ปฏิบัติแล้วตัวเราไม่มี แล้วใครมันจะไปเสพสุข ลืมไปอย่าง ถ้าเสพสุขได้มันก็ต้องเสพทุกข์ได้

ฉะนั้นบางทีธรรมะมันฝืนความรู้สึกมาก ธรรมะสอนบอกว่าเราไม่มีตัวตน มันฝืนกิเลสอย่างแรง พวกที่อินทรีย์แก่กล้าได้ยินว่าธรรมะไม่มีตัวตน รู้แจ้ง เห็นจริงก็ปล่อยวาง มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไปยึดทำไม พวกอินทรีย์ยังอ่อน ตกใจ รีบไขว่คว้าตัวตน กลัวมันจะหายไป ในสูตรของเว่ยหลางหรือฮวงโป หลวงพ่อจำไม่ได้ มีอยู่บทหนึ่งพูดถึงคนทั่วๆ ไป ถ้าไม่ยึดรูปก็ยึดนาม ต้องยึดอะไรไว้สักอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ยึดเลย กลัวจะร่วงลงไปในความว่าง จะต้องยึดถือ

 

ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเรียนรู้ลงในกายในใจของตัวเอง

ทำอย่างไรมันจะไม่ยึดถือ มันไม่ยึดถือได้ด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้น คือเห็นทุกข์ ถ้าเราเห็นกายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์ มันก็จะไม่ยึดถือ มันก็จะปล่อยวางได้ แต่ถ้าเรายังไม่เห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์ มันยังยึดอยู่ พอได้ยินว่าอย่าไปยึด บางทีทนไม่ไหว เพราะฉะนั้นเราไม่ใช่น้อมจิตเชื่อเอา ฟังธรรมะแล้วก็น้อมใจเชื่อว่าตัวเราไม่มี อันนั้นเชื่อเอาแบบมโนเอา คิดๆ เอา เราต้องมาดูของจริงในกายในใจนี้ ไม่มีทางเลือกอื่นหรอก นอกจากเรียนรู้ลงในกายในใจของตัวเอง จนมันรู้แจ้งเห็นจริงกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา มันเห็น

ถ้ากำลังบารมีมากพอ ศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์ มันจะเกิดอริยมรรคขึ้น ถ้าเราภาวนาดูกายดูใจ เห็นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนั้นเรียกว่าเห็นทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะบังคับไม่ได้ เห็นซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งจิตมันก็ยอมรับความจริง กายมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ยอมรับความจริงได้ก็ถึงจะปล่อยวาง

ยอมรับความจริงในขั้นต้น ก็ยอมรับว่าตัวเราไม่มี ก็ทำลายความเห็นผิดว่ากายนี้ใจนี้คือตัวเราได้ ทำลายตัวนี้ได้ก็เป็นพระโสดาบัน เราก็เจริญสติเจริญปัญญาของเราต่อไป ดูกายดูใจมันทำงาน รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางเรื่อยๆ ไป พอปัญญามันแก่รอบขึ้นก็จะเห็นความจริงที่ประณีตลึกซึ้งขึ้น ร่างกายที่ว่าไม่ใช่ตัวเรา แล้วมันเป็นตัวอะไร มันเป็นตัวทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าเห็นทุกข์

ตรงที่เห็นว่าไม่มีเราในกายในใจนี้ มันแค่เห็นความจริงในเบื้องต้น ยังไม่รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว กายนี้มันทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ในกายนี้นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรตั้งอยู่ ไม่มีอะไรดับไป อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเห็นทุกข์จริงๆ ทุกข์ให้รู้ ทุกข์ให้เห็น แล้วสมุทัยจะถูกละโดยอัตโนมัติ

สิ่งที่เรียกว่าสมุทัยก็คือตัวตัณหา ตัวอยากนั่นล่ะ ถ้าเรายังไม่เห็นความจริงของร่างกายว่ามันเป็นตัวทุกข์ แล้วเราก็รู้สึกว่าร่างกายนี้มันทุกข์บ้างสุขบ้าง เมื่อร่างกายมี 2 ทางเลือก ทุกข์บ้าง สุขบ้าง เราก็จะเลือกอยากได้สุข อยากให้ร่างกายมีความสุข เราก็จะเลือกให้ร่างกายหนีความทุกข์ รักสุข เกลียดทุกข์เกิดขึ้น พอรักสุขเกลียดทุกข์เกิดขึ้น เรียกมันยินดียินร้ายๆ อยู่ จิตใจก็ดิ้นรนปรุงแต่งต่อ

ความดิ้นรนของจิตก็เรียกว่าภพ สร้างภพขึ้นมา แล้วก็สร้างชาติ ชาติคือการที่จิตมันเข้าไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมาเป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นการที่ตะครุบเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมา แล้วสิ่งที่ตามมาคือทุกข์ เพราะในความจริงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็คือตัวทุกข์นั่นล่ะ รูปธรรม นามธรรม

เรามีหน้าที่พาจิตให้เรียนรู้ความจริงของกายของใจไปเรื่อยๆ เบื้องต้นยังเห็นว่ากายไม่ใช่เรา ใจไม่ใช่เรา แต่ความยึดถือนั้นยังอยู่ แค่ละความเห็นผิด เรียกว่าละสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเรา เป็นของเรา เห็น ค่อยภาวนาเรื่อยๆ จะเห็นไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราแล้ว แต่มันยังยึดถืออยู่

มันเหมือนเรายืมรถยนต์ชาวบ้านเขามาขับอย่างนี้ รู้ว่าไม่ใช่ของเรา แต่ยังยึดอยู่ ยังหวง ไม่อยากคืน ไปกู้เงินเขามา เราหวงไม่อยากคืน เราเห็นแล้วร่างกายนี้ จิตใจนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา แต่เราหวงแหน รักใคร่ เพราะรู้สึกว่ามันนำความสุขมาให้ มีร่างกายก็มีความสุขทางกาย มีจิตใจก็มีความสุขทางใจ เรายังหิวความสุขเพราะเราเห็นความจริงไม่พอ

ฉะนั้นทางที่เราจะรอด สามารถปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจได้ ก็คือเห็นทุกข์ ไม่ใช่เห็นว่ามันสุขบ้างทุกข์บ้าง ถ้ายังเห็นว่ามันสุขบ้างทุกข์บ้าง เราก็จะหิวความสุข เราก็จะเกลียดความทุกข์ รักอันหนึ่ง เกลียดอันหนึ่ง รักสิ่งใดก็ยึดมั่นในสิ่งนั้น เกลียดสิ่งใดก็ยึดมั่นในสิ่งนั้น อยากให้มันหมดไปสิ้นไป ฉะนั้นนอกจากการเห็นทุกข์ ไม่มีทางเลือกที่สองหรอก ที่เราจะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ในกายในใจนี้ได้

 

เรียนรู้ความจริงของร่างกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจ

อย่างเราอาจจะได้ยินครูบาอาจารย์ หรือเราอ่านพระไตรปิฎก กายนี้ใจนี้มันว่าง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันไม่เห็นด้วยตัวเอง พระไตรปิฎกมันก็เป็นปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ปัญญาของเรา คำสอนของครูบาอาจารย์ตั้งแต่ยุคพุทธกาลก็มีอยู่ในพระไตรปิฎก ไม่ใช่ปัญญาของเรา แต่เป็นปัญญาของท่านเหล่านั้น มาในยุคนี้พวกเราฟังครูบาอาจารย์สอน มันก็เป็นปัญญาของครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ปัญญาของเรา เพราะฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาปัญญาของตัวเองให้เกิดขึ้นให้ได้

ปัญญาของครูบาอาจารย์ก็เป็นเรื่องของครูบาอาจารย์ จะไปล้างกิเลส ล้างความยึดมั่นถือมั่น ไม่มาล้างกิเลสแทนเราได้ ฉะนั้นเราต้องทำของเราเอง พาจิตให้มันเรียนรู้ความจริงของร่างกาย พาจิตให้มันเรียนรู้ความจริงของจิตใจ ไม่ต้องมโนเอาว่าร่างกายไม่ดีอย่างนั้น จิตใจไม่ดีอย่างนี้ ดูของจริงเข้าไป ถ้าเรายังอาศัยว่าต้องคิดเอา อันนั้นเป็นสมถะ

อย่างจิตใจเราเกิดราคะอย่างนี้ เราก็คิดร่างกายไม่ใช่ของดี เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ ไม่น่ารักใคร่หวงแหน ราคะก็ดับ อันนี้เป็นเรื่องของสมถกรรมฐาน ทีนี้เราดูความจริง สิ่งที่เป็นความจริงเป็นลักษณะร่วมของสิ่งที่ปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม เป็นสังขารเป็นความปรุงแต่ง สิ่งที่เป็นลักษณะร่วมของรูปธรรมนามธรรมทั้งหมด เรียกว่าสามัญลักษณะ คือไตรลักษณ์

ปฏิกูลอสุภะไม่มี ไม่ใช่ลักษณะร่วม บางทีมันก็มีสุภะ บางทีก็มีอสุภะ คือมีความสวยความงาม มีของไม่สวยไม่งาม มีกลิ่นหอม มีกลิ่นเหม็นอะไรอย่างนี้ เราต้องภาวนาจนเห็นว่าจะสุภะหรืออสุภะเกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะหอมหรือจะเหม็น เกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

อย่างหอมเหม็นอะไรนี่ไม่มีสภาวะรองรับ ของของอันหนึ่งคนหนึ่งว่าเหม็น อีกคนหนึ่งว่าหอม อย่างทุเรียน บางคนว่าหอม บางคนว่าเหม็น หอมเหม็นไม่มีสภาวธรรมที่จะรองรับ สิ่งที่สภาวธรรมทั้งหมดตกอยู่ในอำนาจ คือไตรลักษณ์

ฉะนั้นเราอยากดูความจริง ไม่ใช่ไปดูมันหอมหรือมันเหม็น สกปรกหรือสะอาด ให้เราดูไตรลักษณ์ ร่างกายนี้มันเที่ยงไหม ดูไปเรื่อยๆ ถ้าเราดูอย่างละเอียด เรานั่งอยู่อย่างนี้ เรานั่งหายใจอยู่ เราก็จะเห็นรูปที่หายใจออกเกิดแล้วก็ดับ รูปที่หายใจเข้าเกิดแล้วก็ดับ เวลาเราเปลี่ยนอิริยาบถเราก็เห็นรูปยืนเกิดแล้วดับ รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอนเกิดแล้วก็ดับ รูปที่เคลื่อนไหว รูปที่หยุดนิ่ง เกิดแล้วก็ดับ อย่างนี้ รู้สึกไปอย่างนี้

หรือดูรูปที่เคลื่อนไหว รูปที่หายใจ ดูรูปที่เปลี่ยนอิริยาบถอะไรอย่างนี้ ทำไมต้องหายใจเข้า แล้วก็หายใจออก ทำไมหายใจออกแล้วหายใจเข้า มันต้องเปลี่ยนจังหวะการหายใจเพื่อหนีทุกข์ หายใจเข้าอย่างเดียวมันทุกข์ หายใจออกอย่างเดียวมันทุกข์ เพราะฉะนั้นหายใจออกไปแล้วก็ทุกข์ก็เลยต้องรีบหายใจเข้าแก้ทุกข์ของการหายใจออก หายใจออกไปเรื่อยๆ ก็ทุกข์อีก ก็ต้องหายใจเข้าเพื่อแก้ทุกข์ มีแต่เรื่องแก้ทุกข์ทั้งนั้นเลย

ทำไมเราต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะร่างกายมันทุกข์ นั่งนานๆ มันทุกข์ นอนนานๆ มันทุกข์ เดินนานๆ มันทุกข์ ยืนนานๆ มันทุกข์ ถ้าเรามีสติอยู่ในกาย เราก็จะเห็นร่างกายไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวยืน เดิน นั่ง นอน เดี๋ยวเคลื่อนไหว เดี๋ยวหยุดนิ่ง ร่างกายนี้เป็นทุกข์ ที่ต้องเคลื่อนไหวก็เพราะถูกความทุกข์บีบคั้น ไม่สามารถคงที่อยู่ได้ หรือบางคนปัญญาแก่กล้า ก็มองเห็นร่างกายมันเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ เราบังคับมันไม่ได้ สั่งมันไม่ได้ ถ้าสั่งได้ เราก็สั่ง อย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย อย่างนี้เรียกว่าความจริงของกาย มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ฉะนั้นเราอยากเห็นความจริงของกาย เราก็รู้กายอย่างที่กายเป็น ร่างกายมันนั่งอยู่ก็รู้สึกไว้ ถ้าร่างกายนั่งอยู่แล้วใจลอยไปที่อื่น มันก็ไม่สามารถเห็นความจริงของร่างกายได้ เพราะตอนที่เราใจลอยไปที่อื่น อย่าว่าแต่จะเห็นความจริงของกายเลย กระทั่งกายมีอยู่ยังไม่รู้เลย มันจะไปเห็นความจริงของกายได้อย่างไร อย่างเราใจลอย เราไม่รู้เรื่องอะไร ร่างกายมีอยู่ก็เหมือนไม่มี ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว นามธรรมทั้งหลายมีอยู่ก็เหมือนไม่มี ถ้าเราใจลอย หรือตรงข้ามกับใจลอยคือนั่งเพ่งเอาไว้ นั่งจ้อง นั่งเพ่ง มันก็ผิดธรรมชาติธรรมดา

อย่างเรานั่งนิ่งๆ ไม่กระดุกกระดิก แล้วนั่งดูลงในกาย หูย นี่เห็นทุกข์ จิตมันไม่ได้โง่ขนาดนั้นหรอก จิตมันฉลาด มันรู้ว่าที่นั่งแล้วทุกข์ เพราะนั่งนาน เดี๋ยวลุกขึ้นเดินมันก็หายทุกข์แล้ว มันไม่ได้เห็นความจริงว่าร่างกายเป็นทุกข์ มันเห็นว่า โอ้ ไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถนานไปก็ทุกข์ ก็เลยเปลี่ยนอิริยาบถ นั่นหายทุกข์แล้ว เราแก้ได้ เห็นไหม เราแก้ได้ กูเก่งแล้ว รู้จักแก้ไข นั่งนานเป็นทุกข์ ลุกขึ้นเดิน เปลี่ยนอิริยาบถไป แบบนี้ไม่สามารถสู้กิเลสได้ โดนกิเลสหลอกเอาจังๆ เลย กลายเป็นกูเก่ง

หรือบางคนนั่งสมาธิ จิตรวม นั่งทีเดียวยันสว่างเลย นั่งได้ 10 ชั่วโมง แล้วก็อยู่เฉยๆ อย่างนั้น ไม่ได้มีการเจริญปัญญาอะไร ออกจากสมาธิมา จิตมันติดใจในความสุขความสงบของสมาธิ ไม่เห็นว่ามันเป็นราคะ หรือพอติดในความสุขความสงบของสมาธิแล้วออกมากระทบอารมณ์นิดเดียวระเบิดเลย โทสะพุ่งกระฉูดเลย ฉะนั้นไปทำให้นิ่งๆ เฉยๆ อยู่ ไม่ล้างกิเลสหรอก ตกเป็นเครื่องมือของกิเลสอีก

ฉะนั้นตัวที่จะสู้กิเลสล้างกิเลสได้จริงคือตัวปัญญา ตัวความรู้ถูกความเข้าใจถูก พระพุทธเจ้าบอกบุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ปัญญาก็คือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ถึงจะเป็นปัญญาระดับที่สู้กิเลสได้ เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา ถึงจะสู้กิเลสได้จริง วิปัสสนะ แปลว่า การเห็น เห็นอย่างถูกต้อง วิ แปลว่าเห็นแจ้ง แปลว่าแจ่มแจ้ง ปัสสนะ แปลว่าการเห็น เห็นอย่างแจ่มแจ้ง เห็นกายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตใจเป็นไตรลักษณ์ นั่นล่ะเรียกว่าเห็นแจ่มแจ้ง อันนั้นล่ะถึงจะเป็นวิปัสสนา

ถ้าเห็นว่าร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะไม่ใช่วิปัสสนา เพราะว่าบอกแล้วปฏิกูลอสุภะไม่ใช่ของจริง ของอันหนึ่งคนว่าเหม็น อีกคนหนึ่งว่าหอม หรืออุจจาระคนว่าเหม็น แมลงวันว่าหอมอย่างนี้ ไม่ใช่ของจริง แต่ของจริงอย่างไฟร้อน ใครมาโดนไฟเข้าคนนั้นก็ร้อนเหมือนกัน เป็นธาตุ ธาตุไฟ เป็นตัวรูป มีจริง อย่างนี้เรียกว่ามันมีจริง หอม เหม็น สะอาด ไม่สะอาด ไม่มีจริง

เพราะฉะนั้นเราพยายามมาเรียนรู้ความจริงของร่างกาย ของจิตใจเนืองๆ วิธีเรียนรู้ความจริงของกายของใจ หลวงพ่อสอนทุกวันล่ะ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เห็นไหมมีคำว่าด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือด้วยจิตที่มีสัมมาสมาธินั่นเอง ถ้าเราปราศจากสัมมาสมาธิ เราบอกเรามีสติรู้กายรู้ใจ เราก็นี่ความจริง คือเราคิดเรื่องไตรลักษณ์ อันนั้นไม่ใช่ ไตรลักษณ์ไม่ได้เอาไว้คิดเอา แต่เอาไว้เห็นเอา วิปัสสนาต้องเห็นเอา ไม่ใช่คิดเอา เราจะสามารถเห็นกายเห็นใจเป็นไตรลักษณ์ได้ ถ้าจิตเราตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิ ที่หลวงพ่ออบรมพวกเรามากมายเพื่อให้จิตเราตั้งมั่น มันยากแสนยากกว่าคนๆ หนึ่ง จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา

เมื่อก่อนหลวงพ่อไม่รู้ตัวนี้ หลวงพ่อก็รู้สึกการปฏิบัติมันง่ายๆ ครูบาอาจารย์อย่างหลวงปู่ทุย ท่านบอกลูกศิษย์ท่านว่าท่านอ่านหนังสือหลวงพ่อ ฟังซีดีอะไรอย่างนี้ ท่านเห็นด้วยกับหลวงพ่อทุกเรื่องเลย ไม่เห็นด้วยอยู่เรื่องเดียว ท่านว่ามันยาก อาจารย์ปราโมทย์พูดแต่ว่ามันง่ายๆ หลวงพ่อก็มาดูๆ ครูบาอาจารย์ท่านฉลาดแหลมคมกว่าเรา ท่านรู้ถูก ทำไมมันภาวนากันยากหนักหนาพวกเรา มันยากเพราะจิตมันไม่มีคุณภาพจิตมันไม่มีสัมมาสมาธิ เมื่อมันไม่มีสัมมาสมาธิ ไปเจริญปัญญามันกลายเป็นความฟุ้งซ่าน สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา สัมมาสมาธินั้นประกอบด้วยกุศล ต้องเป็น ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิเกิดร่วมกับอกุศล ถ้าสัมมาสมาธิ ต้องเกิดร่วมกับกุศล

ลักษณะของจิตที่เป็นกุศล ตัวสำคัญเลยต้องมีสติๆ ลักษณะของจิตที่เป็นกุศล มีความเบา ถ้าภาวนาแล้วก็แน่นอึดทึด นั่นอกุศล ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลอีกอย่างหนึ่งก็คือมันอ่อนโยนนุ่มนวล ถ้าแข็งกระด้าง ก้าวร้าว ไม่ใช่ อันนั้นอกุศล มีลหุตา มุทุตา ลหุตา เบา มุทุตา นุ่มนวล มีปาคุญญตา คล่องแคล่วว่องไว มีกัมมัญญตา สมควรแก่การงาน คือสามารถเดินปัญญาได้ มีอุชุกตา ซื่อตรงในการรู้สภาวะ รู้อารมณ์ อุชุกตาก็สำคัญ ถ้าจิตเราเป็นกุศลจริง เวลารู้อะไรมันจะรู้ซื่อๆ แต่ถ้ามีกิเลสแทรก มันจะไม่รู้ซื่อๆ แล้ว อย่างมันเห็นความสุข มันก็อยากให้ความสุขอยู่นานๆ พอเห็นความทุกข์ ก็อยากให้ความทุกข์ดับไป นี่ไม่ได้รู้ซื่อๆ แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องหัดรู้ซื่อๆ

ทางหลวงพ่อเทียนท่านพูดเรื่อย ให้รู้ซื่อๆ ไม่ใช่พูดส่งเดช พูดถูกต้องเลย พวกเรารู้แล้วไม่ซื่อ รู้แล้วแทรกแซง อันนั้นเรียกรู้แล้วไม่ซื่อ พอเห็นความทุกข์เกิดขึ้นก็อยากให้ดับ เห็นความสุขเกิดขึ้นก็อยากให้คงอยู่ตลอดไป เห็นกุศลเกิดขึ้นก็อยากให้เกิดบ่อยๆ เห็นอกุศลเกิดขึ้น อยากให้มันไม่เกิด อย่างนี้เรียกว่ารู้แล้วไม่ซื่อ ฉะนั้นต้องพยายามรู้ซื่อๆ จะพยายามอย่างไร จิตมันเป็นอนัตตา ให้รู้เวลามันไม่ซื่อ มันเจ้าเล่ห์แสนกลขึ้นมา ให้รู้ทันมันไป

 

วิธีฝึกให้ได้สัมมาสมาธิ

วิธีที่จะฝึกให้ได้สัมมาสมาธิ อันนี้หลวงพ่อสอนอยู่ประจำ พวกเราต้องทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราถนัดอะไรก็ได้ กรรมฐานตัวนี้จะใช้รูปธรรมก็ได้ ใช้นามธรรมก็ได้เป็นอารมณ์ ฉะนั้นทำไปสักอย่างหนึ่ง หรือจะใช้บัญญัติก็ได้ ท่องพุทโธ ธัมโม สังโฆ อันนี้เป็นอารมณ์บัญญัติ เพราะเราจะทำอะไร เราจะทำสมาธิ สมาธิไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์บัญญัติก็ได้ อารมณ์รูปก็ได้ อารมณ์นามก็ได้ ถ้าเป็นพระอริยะใช้อารมณ์นิพพานก็ได้

อารมณ์มันมี 4 อัน อารมณ์บัญญัติ อารมณ์รูปธรรม อารมณ์นามธรรม อารมณ์นิพพาน สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้เป็นของที่คู่กับจิต จิตแปลว่าผู้รู้ เป็นผู้ไปรู้อารมณ์ อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้

เราก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ต้องทำ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วเราคอยรู้เท่าทันจิตตนเองไว้ เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ล่ะ คนนั่งสมาธิเต็มบ้านเต็มเมือง แต่นั่งแล้วมันกลายเป็นมิจฉาสมาธิหมดเลย เพราะมันทิ้งจิต เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้เอง เช่น นั่งแล้วก็เคลิ้ม นั่งแล้วก็ฝันไป เห็นโน่นเห็นนี่อะไร อันนั้นมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าเรานั่งสมาธิไป นั่งหายใจออก หายใจเข้า รู้สึกไปเรื่อยๆ หรือเราดูท้องพอง ดูท้องยุบ หรือเราบริกรรม พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิอะไรก็ได้สักบทหนึ่ง แล้วเราคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ จิตมันเคลื่อน เรารู้ จิตมันเคลื่อน เรารู้

ตัวนี้สำคัญ บางคนเข้าใจผิดว่า โอ๊ย วิธีนี้ยากเกินไป มีแต่หลวงพ่อปราโมทย์ทำได้ คนอื่นทำไม่ได้ ไม่จริงหรอก หลวงพ่อสอนแล้วพวกเราทำได้เยอะแยะไป เข้าใจเหตุ เข้าใจผล เข้าใจธรรมะขึ้นมา นับจำนวนไม่ถูกเลย เมื่อเช้าออกไปก็เจอคนหนึ่ง จิตตั้งมั่นเด่นดวงเลย เราทำกรรมฐานไป แล้วก็รู้ทันจิตตัวเองไป หายใจไปแล้วก็ เช่น หายใจไป จิตหลงไปคิด รู้ทัน จิตถลำไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน ทำอย่างนี้ล่ะ แล้วสัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ อย่างจิตมันหลงไปแล้วเรารู้ว่ามันหลง จิตหลงก็ดับ จิตไม่หลงก็เกิด

จิตไม่หลงนั่นล่ะคือจิตที่มีสัมมาสมาธิจริงๆ ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ไม่หลง ไม่หลงไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ไม่ใช่อยู่ๆ ก็สั่งให้มันไม่หลง ให้มันหลงไปแล้วรู้ทันว่ามันหลงไป ถ้าพยายามจะไม่หลง ก็คือเพ่ง ก็เพ่งอยู่อย่างนั้นล่ะ อยู่ได้เป็นกัปๆ จนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ไป หลายองค์แล้วยังนั่งเพ่งไม่เลิกอยู่เลย ไม่ได้อะไรขึ้นมา เสียเวลา

เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ เช่น นั่งหายใจไป จิตหลงไปคิดเรื่องอื่น รู้ จิตไปเพ่งลมหายใจ รู้ จิตฟุ้งซ่าน รู้ จิตสงบ รู้ จิตมีความสุข รู้ จิตอึดอัด มีความทุกข์ รู้ รู้ไปเรื่อยๆ ทำกรรมฐานแล้วก็รู้ทันจิตตัวเองไปเรื่อยๆ อันนี้เรียกว่าจิตตสิกขา เราเรียนรู้จิตตนเอง แล้วสิ่งที่ได้คือสัมมาสมาธิ บทเรียนที่ทำให้เราได้สัมมาสมาธิ ชื่อจิตตสิกขา ไม่ใช่ชื่อลมหายใจสิกขาอะไร ไม่ใช่ ไม่ใช่ท้องพองยุบสิกขา มันคือจิตตสิกขา

ฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ต้องทำแล้วก็รู้เท่าทันจิตตนเองไป ที่หลวงพ่อภาวนาแล้วหลวงพ่อบอกมันง่ายๆ แทบไม่ได้ทำอะไรเลย จิตมันทำงานแล้วเราเห็น ที่มันง่ายเพราะหลวงพ่อทำสมาธิมาแต่เด็กแล้ว ทีแรกก็เป็นสมาธิแบบออกนอก เป็นมิจฉาสมาธิ นั่งสมาธิเกิดความสว่างขึ้นมา อยากรู้อยากเห็นอะไรก็ออกรู้ออกเห็นข้างนอก แล้วต่อมาคงบุญเก่ามันเตือนว่าออกไปดูมันก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร ก็เลยไม่ยอมออก ต่อไปพอหายใจ พอจิตมันจะเคลื่อนออก สติรู้ทันจิตที่จะเคลื่อนออก จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา

ฉะนั้นหลวงพ่อเลยได้ตัวรู้มาตั้งแต่เด็ก ได้จิตที่เป็นผู้รู้ มันแสดงตัวชัดเจนเมื่อตอนอายุ 10 ขวบ ภาวนาตั้งแต่ 7 ขวบ แต่เห็นชัดๆ เลยครั้งแรกตอน 10 ขวบ บ้านเป็นตึกแถว ก็ไปเล่นลูกหินอยู่ที่ฟุตบาทหน้าบ้าน กับเด็กข้างบ้านหลายบ้าน มาเล่นด้วยกัน เล่นอยู่แล้วเห็นไฟมันไหม้ ตึกแถวเดียวกัน ห่างออกไป 4-5 ห้อง มันเป็นร้านซ่อมรถยนต์ ซ่อมมอเตอร์ไซค์ ซ่อมอะไรพวกนี้ ไฟมันไหม้ขึ้นมา

พอไฟไหม้ก็ตกใจ ตกใจก็คว้าลูกหิน ไม่ทิ้ง เห็นไหม อย่างน้อยความงกก็ยังอยู่ในสายเลือด ตกใจก็ยังไม่ทิ้งสมบัติ คว้าก็วิ่งเลย จะไปบอกพ่อว่าไฟไหม้ ก้าวที่หนึ่งตกใจ ก้าวที่สองตกใจ พอก้าวที่สาม สติมันเห็นจิตที่ตกใจ จิตก็ดีดผางขึ้นมาเลย เป็นผู้รู้ ความตกใจกระเด็นหายไป จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ไม่ตกใจ แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีครูบาอาจารย์สอน ก็คงพ้นทุกข์พ้นร้อนไปแต่เด็กแล้วล่ะ แต่ไม่มีตอนนั้น

พอไปบอกผู้ใหญ่ คราวนี้เห็นผู้ใหญ่เขาตกใจ เห็นเขาวิ่งไปวิ่งมา ไปช่วยกันดับไฟ ไปช่วยกันขนของอะไรอย่างนี้ เราก็รู้สึกแปลกๆ ความรู้สึกนี้ทำไมแปลกๆ ไม่เคยพบ ไม่เคยเห็น ใจมันนิ่ง มันสบาย มันสงบ ท่ามกลางความวุ่นวายภายนอกมันสงบอยู่ภายใน จิตมันทรงสมาธิขึ้นมา แล้วก็ไปฝึกของเราเรื่อยๆ แต่ว่าไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์อะไรกับมัน เวลาทำสมาธิมันก็จะเข้ามาที่ตรงนี้ เข้ามาอย่างรวดเร็วเลย จนมันชำนาญที่จะเป็นผู้รู้อยู่

เวลาขึ้นไปกราบครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่อย่างหลวงปู่สิม หลวงปู่สิมจะเก่งในด้านรู้วาระจิต เรื่องเจโตปริยญาณเรื่องอะไร โห คมกริบเลย เราคิดอะไร รู้หมดเลย ท่านไม่รู้จักชื่อหลวงพ่อ ท่านเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ เลยกลายเป็นฉายาที่ท่านตั้งให้ ผู้รู้ หลวงพ่อพุธท่านก็ไม่รู้ชื่อหลวงพ่อ ท่านเรียกหลวงพ่อว่านักปฏิบัติ

มีองค์หนึ่งประหลาดที่สุดเลย หลวงปู่บุญจันทร์ หลวงพ่อยังไม่รู้จักท่าน ไปเจอท่าน ผ่านไปหลายปีท่านมรณภาพแล้ว ลูกศิษย์ท่านมาหา บอกหลวงปู่บุญจันทร์สั่งไว้หลายปีแล้วว่าปีนี้ๆ เดือนนี้ ให้ไปหาพระชื่อนี้ๆ พระปราโมทย์อยู่ตรงนี้ๆ ตอนนั้นหลวงพ่อยังไม่บวชที่ท่านบอก เออ แบบนี้ก็มี เห็นไหม เล่าเรื่องนี้เราๆ สนใจ รู้สึกไหม มันน่าฟังกว่าธรรมะ รู้สึกไหม นี่ล่ะมันถึงเวียนว่ายตายเกิดยาว

ต้องฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป จิตหลงไปก็รู้ จิตเพ่งอยู่ก็รู้ จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตโลภ โกรธ หลงก็รู้ จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ ทำกรรมฐานแล้วก็รู้ทันจิตตัวเองไป สุดท้ายจิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ใช้เวลาเดือนหนึ่ง 2 เดือน 3 เดือนอะไรอย่างนี้ เราก็จะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา แต่ต้องทำสม่ำเสมอ เพราะว่าสมาธิเองก็เป็นของเสื่อม ยังเป็นโลกิยธรรมอยู่ สงบได้ อีกหน่อยก็ฟุ้งได้ ฉะนั้นต้องทำให้สม่ำเสมอ อย่ารอจนกระทั่งสมาธิหมดแล้วถึงจะมาเริ่มทำใหม่ อันนั้นจะทำยาก

มันเหมือนเราชาร์จแบตเตอรี่ แบตเตอรี่มันเหลือสัก 20 เปอร์เซ็นต์ก็ชาร์จได้แล้ว ไม่ต้องรอให้เหลือศูนย์ เหลือศูนย์ เดี๋ยวแบตเตอรี่พังเสียก่อน จิตเราก็เหมือนกัน พอเราใช้พลังของจิตในการเจริญปัญญาไปช่วงหนึ่ง อย่ารอจิตฟุ้งซ่าน ถึงเวลาทุกวันแบ่งเวลาไว้เลย ทำสมาธิ มีอารมณ์กรรมฐานอันใดอันหนึ่งที่เราคุ้นเคยแล้วเราก็คอยรู้ทันจิตตนเองไป อย่าจ้อง อย่าเพ่งจิต ไม่บังคับลมหายใจ ไม่บังคับจิต ไม่บังคับร่างกาย ทำกรรมฐานไปสบายๆ

แล้วก็ไม่ได้แกล้งสบาย ได้ยินว่าหลวงพ่อบอกให้ดูสบายๆ ก็แกล้งทำเป็นชิลๆ แบบ เขาเรียกว่าอะไรสำนวนคนเดี๋ยวนี้ ดูแบบโง่ๆ เหมือนจะทำอะไรแบบโง่ๆ โห ภูมิใจเสียอีก ทำอะไรอย่างโง่ๆ คนยุคนี้แปลก ชอบทำอะไรโง่ๆ ไม่ได้แบบนั้น รู้สึกตัวไว้ ไม่ชิลๆ ขนาดนั้น แล้วจิตเราก็จะตื่นขึ้นมา

เมื่อจิตตื่นขึ้นมาแล้ว ต้องรักษาด้วยการปฏิบัติต่อเนื่องทุกวัน อดทนไว้ พอทำเป็นแล้วธรรมะที่สำคัญมากเลย อดทน จำไว้เลย ถ้าไม่อดทนไม่ได้ผลหรอก เก่งขึ้นมาแวบๆ เดี๋ยวก็เบื่อแล้ว ท้อใจแล้ว ยากลำบากเกินไปแล้ว ไม่เอาแล้ว เดี๋ยวมันก็เสื่อมหมด พอเสื่อมแล้วก็มาขยันใหม่ ก็เจริญขึ้นมาอีก แล้วก็ขี้เกียจอีกก็เสื่อมอีก เจริญแล้วเสื่อมเพราะขี้เกียจนี่ใช้ไม่ได้ สักพักหนึ่งก็หมดแรงแล้ว ไม่มีแรงที่จะทำต่อ ยอมแพ้

แต่ถ้าเราปฏิบัติของเราทุกวัน แล้วเราเห็นจิตเจริญแล้วเสื่อมๆ อันนั้นดี คนละแบบกัน ถ้าเราไม่ปฏิบัติแล้วเสื่อม เราปฏิบัติแล้วเจริญ อย่างนี้ไม่ได้เรื่องหรอก แต่ถ้าเราปฏิบัติอยู่ทุกวันๆ สม่ำเสมอ เจริญขึ้นแล้วก็เสื่อมลงๆ อันนี้ดีมากๆ เลย คือการเจริญปัญญา ถ้าเจริญอย่างเดียว มันจะเกิดความเห็นผิดว่ากูเก่งๆ แต่เจริญแล้วเสื่อม จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะดีหรือชั่วเกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปทั้งสิ้น ใจมันจะค่อยฉลาด รู้ว่าบังคับมันไม่ได้ จิตจะมีสมาธิหรือไม่มีสมาธิก็สั่งไม่ได้ จิตจะเกิดปัญญาหรือไม่เกิดปัญญาก็สั่งไม่ได้ จิตจะปล่อยวางหรือไม่ปล่อยวางก็สั่งไม่ได้ จะเกิดมรรคผลหรือเปล่าก็สั่งไม่ได้ทั้งสิ้น ก็ต้องฝึก

เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้จิตตัวเองไป ในที่สุดจิตเราจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เป็นผู้รู้แล้ว พอจิตเราเป็นผู้รู้แล้ว บางคนไปรู้อยู่เฉยๆ อันนี้ใช้ไม่ได้ เหมือนชาร์จแบตเตอรี่เต็มแล้วก็ปล่อยแบตเตอรี่ให้เสื่อมไปเฉยๆ ไม่ได้ใช้งาน อันนี้โง่ ไปชาร์จมันทำอะไร ชาร์จแล้วมันก็ต้องใช้สิ เพราะฉะนั้นเราทำสมาธิ ทำกรรมฐานไป รู้ทันจิตแล้วจิตมีสมาธิเด่นดวงขึ้นมา เราก็ใช้ประโยชน์ เจริญปัญญา

ถ้าจิตมันติดความสุขความสงบ มันไม่ยอมเดินปัญญา อันนี้ออกจากสมาธิแล้วให้น้อมจิตพิจารณา คิดพิจารณาลงไปเลย ถ้าจิตเราติดในสมาธิลึก ออกมาแนะนำให้พิจารณาร่างกาย ทำไมไม่ให้ดูจิต เพราะจิตมันจะเฉยๆ อยู่อย่างนั้นหลายวัน มันจะเงียบๆ เฉยๆ อยู่อย่างนั้นหลายวันเลย อำนาจของฌานส่งผลออกมา ฉะนั้นดูร่างกาย

ร่างกายอย่างไรก็ทุกข์ เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็กระหาย เดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวปวดอึปวดฉี่อะไรนี่ ความจริงมันสะท้อนออกมาได้ชัดเจนในร่างกายนี้ ถ้าจิตมันติดนิ่งติดเฉย น้อมจิตลงมา พิจารณาลงในร่างกายเลย ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พิจารณามันเข้าไป

 

พอจิตเราตั้งมั่น เราก็เจริญปัญญา

พอจิตมันเริ่มคุ้นเคยกับการพิจารณาธรรมะ คือคุ้นเคยที่จะมองร่างกายเป็นไตรลักษณ์ ต่อไปมันมองเองโดยไม่ได้เจตนา ตรงนั้นล่ะคือวิปัสสนา ตรงที่ยังจงใจมองอยู่มันเป็นแค่การซ้อมรบๆ เท่านั้น ยังไม่ใช่รบจริง รบจริงคือทำวิปัสสนา ตรงนั้นไม่ได้จงใจ สติระลึกลงกายปุ๊บ จิตตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ ก็เห็นเลยร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันจะเห็นอย่างนี้

ถ้าบางคนจิตเข้าสมาธิอยู่แล้วก็ไปเดินปัญญาในฌาน อันนี้มีแต่มีไม่มาก ยุคของเราไม่ใช่ยุคของคนเล่นฌาน เพราะเราเป็นยุคของคนสมาธิสั้น สมาธิสั้นก็ต้องใช้ขณิกสมาธิ รู้เป็นขณะๆ ไป ทำกรรมฐานไป จิตเคลื่อนแล้วรู้ จิตถลำไปเพ่งแล้วรู้ นี่ล่ะ แล้วสมาธิมันจะเกิด

พอจิตมันตั้งมั่น ออกมาอยู่กับโลกข้างนอก ตากระทบรูป เราก็เห็นจิตมันเปลี่ยนแปลง เช่น มันเห็นรูปที่สวย จิตเกิดราคะ เห็นหมาบ้าวิ่งมา จิตกลัว ตระกูลจิตกลัวคือตระกูลโทสะ หรือเราเห็นคนนี้รวยกว่าเรา เราอิจฉา อิจฉาก็ตระกูลโทสะ หรือเรานั่งรออะไรสักอย่างหนึ่ง นัดหมายคนไว้แล้วนั่งรอ แล้วเบื่อ เบื่อนี่ตระกูลโทสะ หรือขี้เหนียวก็ตระกูลโทสะ เวลาความรู้สึกขี้เหนียวเกิด ใจไม่มีความสุข มันเป็นตระกูลโทสะ

อ่านไป พอตาเห็นรูป เห็นไหมกิเลสเกิดก็รู้ทัน กุศลเกิดก็รู้ทัน สุขเกิด ทุกข์เกิดก็รู้ทันไป พอหูได้ยินเสียง จิตใจเรามีความเปลี่ยนแปลง สุขบ้างทุกข์บ้าง ดีบ้างชั่วบ้าง มีสติรู้ทันความเปลี่ยนแปลงอันนั้นไป จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส จิตก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เราก็เห็นจิตเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย หรือเราอยู่เฉยๆ เราคิดเรื่องนี้ขึ้นมาจิตก็มีความเปลี่ยนแปลง พอความคิดเกิดจิตก็เปลี่ยนแปลง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้าง ชั่วบ้าง

อันนี้ล่ะการที่เราให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ตามธรรมชาติธรรมดา แล้วเรามีสติรู้ทันอยู่ที่จิต นี่คือสุดยอดของอินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ ไม่ได้สำรวมด้วยการไม่ดูไม่ฟัง ดู ฟัง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส แต่เรารู้เท่าทันจิตตนเองไว้ อย่างนี้เป็นอินทรียสังวร ดีมากอย่างนี้ แล้วตรงนี้ล่ะเป็นหัวใจของการเจริญสติในชีวิตประจำวัน

บางคนบอกว่าเจริญสติในชีวิตประจำวัน หันซ้ายก็รู้ หันขวาก็รู้ โอ๊ย ห่างไกลเหลือเกิน เพราะอะไร มันทิ้งจิต จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นหัวหน้าในธรรมะทั้งปวง หลวงปู่มั่นถึงขนาดบอก ได้จิตก็ได้ธรรมะ ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ เพราะฉะนั้นเราฝึกจิตเราตั้งแต่ในขั้นทำสมาธิ จิตเคลื่อนแล้วรู้ จิตไปเพ่งแล้วรู้ จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา

พอจิตตั้งมั่นแล้วก็เดินปัญญา อาจจะเดินปัญญาในฌานสำหรับคนที่ชำนาญ หรือออกจากฌานมา ถ้าจิตยังติดเฉย ก็ช่วยมันพิจารณาคิดนำร่อง หลวงพ่อพุธท่านใช้คำว่า นำร่องให้จิตมันเดินปัญญา การคิดพิจารณากายเป็นแค่นำร่อง ยังไม่ได้เดินปัญญาจริง คือคิดๆ เอา มันเป็นปัญญาเบื้องต้น เรียกจินตามยปัญญา สู้กิเลสๆ ไม่ได้หรอก ต้องภาวนามยปัญญา ถ้าหากจิตมันไม่ได้ไปติด ออกจากสมาธิมา จิตไม่ได้ติดล็อกเฉยๆ อย่างพวกเราไม่ได้เข้าสมาธิลึก จิตไม่ไปติดล็อกหรอก มันอยู่ได้ไม่นานด้วยซ้ำไป ตรงนั้นเราจะเจริญสติในชีวิตประจำวันได้ การเจริญสติในชีวิตประจำวัน ง่ายๆ ก็คือ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็กระทบรส มีกายกระทบสัมผัส มีใจก็คิดนึก

แต่ตรงนี้แล้วมันต่างกับหมากับแมวอย่างไร ต่างตรงที่ถ้าจิตเราเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น หลังการกระทบให้รู้เท่าทันจิตตนเอง ตาเห็นรูป จิตยินดี รู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตยินร้าย รู้ทัน จมูกได้กลิ่น เกิดชอบ ราคะเกิดแล้ว ลิ้นกระทบรส รสนี้ไม่ถูกใจ โทสะเกิดแล้ว หัดรู้อย่างนี้ กระทบอารมณ์ตามธรรมชาติ แต่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของจิต นี่คือหัวใจของการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เจริญโหลยโท่ย ไม่มีหลัก ไม่มีเกณฑ์อะไรแล้วบอกว่าเจริญสติในชีวิตประจำวัน อันนั้นฟุ้งซ่านอยู่ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ได้จิตก็ไม่ได้เรื่องหรอก

เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกจนกระทั่งจิตเราตั้งมั่น พอจิตเราตั้งมั่น เราก็เจริญปัญญา จะเจริญปัญญาในฌานก็ได้ เจริญปัญญาในชีวิตประจำวันก็ได้ ของพวกเราอย่างเก่งก็คือเจริญในชีวิตประจำวัน วิธีเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันก็คือตาเห็นรูป เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต รู้ทัน หูได้ยินเสียง เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต รู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิตให้รู้ทัน

แล้วต่อไปเราก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับทั้งสิ้น รูปที่เห็นเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปรู้รูป เกิดแล้วก็ดับ จิตที่รู้รูปเสร็จแล้วเกิดสุข จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตไปรู้รูปแล้วมีทุกข์ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตไปรู้รูปแล้วเกิดกุศล กุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตอกุศลก็ดับอีก จะเห็นว่าทุกอย่างดับหมด ทั้งภายในทั้งภายนอก มีแต่ของที่เกิดดับเสมอกัน

ภาวนาถึงจุดหนึ่งจะรู้เลยว่าข้างนอกข้างในเท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ หลวงปู่ดูลย์บอกว่าวันใดที่เธอเห็นจิตกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน อันนั้นจะพ้นทุกข์แล้ว ของเราเป็น 2 สิ่ง อันนั้นถูกรู้ อันนี้ผู้รู้อยู่ อันนี้มันธรรมะสูงขึ้นไป ยังไม่ต้องสนใจ เดี๋ยววันหนึ่งก็เข้าใจ ตอนนี้เอาแค่ว่ามีสติไป

สรุปถือศีล 5 ทุกวันต้องทำในรูปแบบ กรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัดแต่ทำแล้วต้องรู้ทันจิตตนเอง ถัดจากนั้นการเจริญปัญญา สติระลึกรู้กายด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง คือไม่เข้าไปแทรกแซง ก็จะเห็นความจริงของร่างกาย เห็นความจริงของจิตที่เป็นคนไปดูด้วย ค่อยๆ ดูไปทางอายตนะทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไปกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันจะกระทบอะไรก็เรื่องของมัน เราเลือกไม่ได้ ตาจะเห็นรูป หรือหูจะได้ยินเสียง เราเลือกไม่ได้ จิตมันเลือกของมันเองว่าตอนนี้มันจะดูรูป หรือมันจะฟังเสียง จิตมันเลือกของมันเอง

ตัวจิตที่มีหน้าที่เลือกตัวนี้ เรียกปัญจทวาราวัชชนจิต แล้วจิตจะเป็นกุศลหรืออกุศล จะสุขหรือจะทุกข์ เราก็เลือกไม่ได้ มันมีจิตตัวหนึ่งเป็นตัวเลือก ชื่อโวฏฐัพพนจิต หรือมโนทวาราวัชชนจิต มีหลายชื่อ เราไม่ได้เลือก เมื่อเราไม่ได้เลือก ตากระทบรูป หูได้ยินเสียงหรืออะไรก็ตาม ทำสิ่งเดียว รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของจิตตนเองไว้ เคล็ดลับมันอยู่ตรงที่ รู้ทันจิตตนเองนี่ล่ะ ตั้งแต่ในขั้นทำสมาธิจนถึงในขั้นเดินปัญญา ทิ้งจิตไม่ได้ ถ้าทิ้งจิตแล้วก็อ้อมค้อมไปไกลเลยเพื่อวันหนึ่งจะเข้ามาที่จิต

บางคนอ้อมไปไกล ไปพิจารณาโลกธาตุต่างๆ แล้วค่อยๆ บีบวงเข้ามาพิจารณากาย แล้วค่อยมาที่จิตทีหลัง สุดท้ายก็ต้องลงมาตัดที่จิต ไม่ได้ตัดที่กาย เวลาจะล้างกิเลส ตัดลงที่จิตทั้งหมดล่ะ อริยมรรคเกิดที่จิต อริยผลเกิดที่จิต นิพพานรู้ด้วยจิต เพราะฉะนั้นจะชอบดูจิตหรือไม่ชอบดูจิต ก็ต้องดูจิต มิฉะนั้นไปไม่รอดหรอก ไม่เจริญหรอก อ้อมค้อม

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ว่าจะเทศน์สั้นๆ ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะท่านอาจารย์ เห็นไหมเป็นวิธีของคนพาล ตัวเองไม่ดีโทษคนอื่น จำไว้เลย สไตล์ของคนพาล โทษคนอื่นไว้ก่อน ไม่เห็นโทษของตนเอง ฉะนั้นเราอ่านตัวเองให้ออก จะได้เป็นบัณฑิต ไม่ได้เป็นคนพาล

 

 

พวกเราภาวนาทำให้สม่ำเสมอ ทำแล้วหยุดๆ ไม่ได้ผลหรอก ต้องเด็ดเดี่ยว มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงัด คือไม่คลุกคลี ทุกวันต้องคิดถึงการปฏิบัติ เรียกปรารภความเพียร รักษาศีล ฝึกจิตให้ตั้งมั่น เจริญปัญญา ดูความเปลี่ยนแปลงของรูป นาม กาย ใจ สุดท้ายวิมุตติหรือมรรคผลมันก็จะเกิด แล้วก็จะเกิดวิมุตติญาณทัสสนะ รู้ด้วยตัวเองว่ากิเลสอะไรเราล้างแล้ว อะไรยังไม่ล้าง

ธรรมะ 10 ข้อ 5 ข้อแรกเป็นการปรับพื้นฐานสำคัญ พวกมักมากวันๆ มีแต่เรื่องโลภมากอะไรอย่างนี้ ใจฟุ้ง ภาวนาไม่ได้ พวกไม่สันโดษ อยากไม่มีที่สิ้นสุด ขยันทำมาหากินเต็มที่แล้ว ได้ผลตอบแทนแค่นี้ไม่พอใจ ไม่มีความสุข ถ้าเราทำงานเต็มที่แล้ว ได้ผลอย่างนี้ มันสมควรแก่เหตุแล้ว วางใจอย่างนี้ เราก็เรียกสันโดษ

ฝักใฝ่ในความสงัด รู้จักปลีกตัวทางร่างกายก็ปลีกตัว ไม่เฮฮาปาร์ตี้เยอะนัก เท่าที่จำเป็น เรื่องของสมาธิ ปลีกใจออกจากกิเลส ต้องฝึก มิฉะนั้นใจยังพัวพันวุ่นวายอยู่กับกิเลสทั้งวัน ก็หัดรู้จักปลีกตัวออกจากกิเลสบ้าง ตรงไหนที่มันยั่วกิเลส ก็อย่าไปยุ่งกับมัน ห่างๆ มันไว้ นี่คือเรื่องของวิเวก แล้วถ้าจำเป็นต้องยุ่งกับคนอื่น หรือยุ่งกับกิจการอะไรก็ตาม มีสติรักษาจิตไว้ อันนั้นก็ยังพออะลุ้มอล่วยว่าวิเวกอยู่

ไม่คลุกคลี นี่เรื่องใหญ่ ทุกวันคลุกคลีกันทางอินเทอร์เน็ต นั่นก็คลุกคลีแล้ว วุ่นวาย หลวงพ่อถึงบอกว่าถ้าเล่นเพื่อทำมาหากิน เล่นไปเลย ใช้เน็ตทำมาหากินอะไรอย่างนี้ ทำไป มีธุระจำเป็นต้องติดต่อกันเอง ก็ใช้เน็ตไม่เป็นไร อยู่เฉยๆ อย่านั่งเล่นทั้งวัน อันนั้นคลุกคลี

แล้วก็ข้อ 5 ปรารถความเพียร เตือนตัวเองทุกวัน เรายังมีกิเลส เรายังเลิกไม่ได้ เลิกปฏิบัติไม่ได้ เรายังมีความทุกข์ เราเลิกปฏิบัติยังไม่ได้ หลวงพ่อก็มีปรารภความเพียรตั้งแต่เป็นโยม ภาวนาแล้วเราเห็นจิตถูกอะไรอย่างหนึ่งห่อหุ้มอยู่ มันเหมือนจิตมันถูกขังอยู่ในแคปซูลอันหนึ่ง ถูกขัง รู้สึก จิตมันติดคุก ร่างกายเราไม่ติดคุก แต่จิตติดคุก ยอมไม่ได้

ทุกวันภาวนา ตั้งใจไว้เลย ถ้าทำลายคุกอันนี้ไม่ได้ ไม่เลิกหรอก มีความเพียรมากเลยในการที่จะปลดปล่อยจิตให้มันอิสระขึ้นมา รู้ว่าจิตไม่อิสระ จิตตกเป็นทาสของอะไรบางอย่างที่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นจะภาวนาขยันขันแข็ง ไม่เลิกเลย ไม่ต้องมีครูบาอาจารย์สั่ง ก็ปรารภความเพียร ปฏิบัติไม่เลิก

ศีลต้องรักษา ทุกวันทำในรูปแบบ มันคือการฝึกสมาธิ ให้จิตตั้งมั่น แล้วก็เจริญปัญญา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์มีสติรู้เท่าทันจิต 2 อันที่เหลือวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ มันจะตามมาเองทำ 8 ข้อแรกนี้ให้ได้ แล้วมรรคผลไม่เหลือวิสัย ไม่ยากหรอก ถ้าข้อต้นๆ ยังไม่ผ่าน ลำบากแล้ว อินทรีย์ยังอ่อนนัก

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
6 สิงหาคม 2566