พวกเราเรียนกรรมฐานมา บางคนหลายปีแล้ว ร่วม 10 ปีแล้ว บางคนอาจจะไม่ถึง การเรียนกรรมฐานจริงๆ จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย บางคนฟังนิดเดียวก็ภาวนาเป็นแล้ว บางคนฟังนานหลายปี จับหลักไม่ค่อยจะได้ จุดใหญ่ที่เราจับหลักไม่ได้ มันเหมือนน้ำชาล้นถ้วย เรามีความคิดมีความเห็นของเราว่าการปฏิบัติจะต้องทำอย่างนี้ จะต้องทำอย่างนี้ ที่จริงมันง่ายกว่าที่เราคิด มันง่ายจนกระทั่งเรานึกไม่ถึง เราคิดว่าการปฏิบัติธรรมต้องทำอะไรที่พิเศษมากกว่าคนธรรมดา ที่จริงนักปฏิบัติที่ดีกระทั่งพระอรหันต์คือคนธรรมดา ไม่ใช่ผู้วิเศษอะไรหรอก แต่เป็นคนที่เรียนรู้ตัวเองสำเร็จ
ไม่มีธรรมะอันไหนจะสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว
ถ้าเราอยากเรียนรู้ตัวเองให้ได้ เราก็ต้องคอยรู้เนื้อรู้ตัวไว้ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าความรู้สึกตัวนี่เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าบอกว่าท่านไม่เห็นธรรมะอันไหนจะสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว ที่จะพาให้เราพ้นจากกิเลสพ้นจากทุกข์ได้ ความรู้สึกตัวฟังแล้วก็ง่ายๆ แต่ในโลกมันมีแต่คนหลง สิ่งที่ตรงข้ามกับความรู้สึกตัวก็คือความหลง วันๆ เราลืมตัวเองแทบจะตลอดเวลา ถ้าคนไม่เคยฝึกกรรมฐานนี่ไม่เคยรู้สึกตัวเลย ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ก็เพ้อๆ ฝันๆ ไปเรื่อยๆ จิตมันหลงไปอยู่ในโลกของความคิด
ตรงจิตมันหลงไปอยู่ในโลกของความคิด มันก็เหมือนเราฝันทั้งๆ ที่ตื่น เรียกว่าฝันกลางวันเมื่อเราฝันอยู่เราก็ไม่สามารถเห็นความจริงได้ เพราะความฝันไม่ใช่ความจริง เราก็เลยไม่สามารถเรียนรู้กายเรียนรู้ใจได้ เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามปลุกตัวเองให้ตื่น ร่างกายเราตื่นแล้วล่ะ ก็เหลือแต่จิตใจของเรา อย่าเอาแต่ฝัน ใจที่เอาแต่ฝันคือหลงไปในโลกของความคิด ไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัว พระอาจารย์อ๊าก็ชอบพูดเรื่อยๆ นะว่าต้องฝึกสติ ถ้าเรามีสติที่แท้จริง จิตเราจะหลุดออกจากโลกของความคิดความฝันได้ มาอยู่ในโลกของความรู้ตัว
ทำไมเราต้องฝึกสติ เพราะเราเกิดมาเพราะความหลง เราเกิดมาเพราะอวิชาพาให้เกิด คือความหลงนั่นล่ะพาให้เรามาเกิด เพราะฉะนั้นเราจะต้องมาฝึกตัวเองใหม่ ถ้าเคยชินที่จะหลงก็หลงไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น มันก็เวียนว่ายตายเกิดไม่เลิก การเวียนว่ายตายเกิดไม่จำเป็นว่าจะต้องหมายถึงว่า ตายจากชีวิตนี้แล้วไปเกิดในชาติหน้า ในความเป็นจริงแล้วเราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในใจเรานี่ตลอดเวลาเลย เดี๋ยวใจของเราก็เกิดเป็นคนมีความสุข เวลาใจเรามีความสุขเราก็เหมือนเป็นเทวดา ทั้งๆ ที่ชีวิตจริงของเราก็ยังเป็นมนุษย์อยู่นี่ล่ะ เวลาที่ใจเรามีความทุกข์ ร่างกายเราเป็นมนุษย์ แต่ใจเราก็เป็นสัตว์นรกอยู่ ตกนรก ยังไม่ต้องตายนี่ล่ะ ตกตอนนี้เลย เวลาใจของเราเกิดความโลภ ร่างกายเราเป็นมนุษย์ แต่ใจเราเป็นเปรต อดอยากหิวโหยตลอดเวลา
เราจะเห็นว่าคนบางคนได้ผลประโยชน์มาอย่างนี้ เท่าไรๆ ก็ไม่พอ มันหิวไม่เลิก ชีวิตนี้ดิ้นรนแสวงหาแต่ผลประโยชน์อย่างเดียวเลย บางคนหาผลประโยชน์จนกระทั่งได้เงินได้ทองมา ไม่ได้ใช้ เอาเวลาไปทุ่มเทอยู่กับการแย่งชิงต่อสู้ตลอดชีวิต ชีวิตไม่ได้มีความสุขทั้งๆ ที่มีเงิน นี่เพราะว่าอะไร เพราะใจมันไม่เต็มอิ่ม ใจมันหิวตลอดเวลา ใจที่หิวร่างกายเรายังเป็นมนุษย์อยู่ แต่ใจเราเป็นเปรต หรือบางคนเจ้าความคิดเจ้าความเห็น ยึดถือในความคิดความเห็นอย่างรุนแรง มีทิฏฐิมานะมาก พวกนี้ใจก็เป็นอสุรกาย
นี่การจำแนกสัตว์ เราไม่ได้จำแนกด้วยการที่เกิดมามีร่างกายอย่างนี้เรียกว่าคน เกิดอย่างนี้เป็นหมา ในขณะแต่ละขณะของจิตใจเรานี่ เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ตลอดเวลา แล้วแต่ความปรุงแต่งที่เกิดขึ้น บางทีเราก็ปรุงชั่ว เราปรุงความโลภขึ้นมา ใจเราขณะนั้นก็เป็นใจของเปรต ปรุงของความเซลฟ์จัด ยึดถือความคิดความเห็น อิจฉาริษยาอะไรพวกนี้ เราก็เป็นพวกอสุรกาย ถ้าเราหลง ใจเราหลงเหม่อๆ ลอยๆ ทั้งวัน ตัวเราเป็นมนุษย์ แต่ใจเราเป็นสัตว์เดรัจฉาน สังเกตดูสัตว์มันจะเหม่อๆ ทั้งวัน จะหลงๆ เพลินๆ ทั้งวัน
บางครั้งใจเราก็มีเหตุมีผล เรามีศีลมีธรรม ใจเราก็เป็นมนุษย์ บางครั้งเรามีศีลมีธรรม ใจเราก็มีความสุข อย่างทำบุญใส่บาตรฟังธรรม ใจเราก็มีความสุข ใจเราก็เป็นเทวดา ไม่ต้องรอให้ตายเราเป็นเทวดาตอนนี้เลย บางคนก็นั่งสมาธิจิตรวมสงบ ใจก็เป็นพรหม ฉะนั้นจิตของเรานั่นล่ะเป็นเครื่องจำแนกว่า ขณะนี้เราเกิดอยู่ในภพภูมิอะไร จะเป็นสุคติหรือเป็นทุคติ ก็เกิดจากจิตของเราในขณะนี้ล่ะ มันปรุงดีปรุงชั่วไปเรื่อยๆ ฉะนั้นตัวที่พาเราให้เวียนว่ายตายเกิดก็คือความปรุงแต่งของจิต
ถ้าเราอยากภาวนาให้ดี ไม่ต้องไปนั่งบังคับตัวเองมาก ให้คอยรู้ทันความปรุงแต่งของจิตใจตัวเองไว้ ขณะนี้จิตใจเราโลภขึ้นมา ให้เรารู้ทัน เวลาเราโลภขึ้นมา เราอยากโน้นอยากนี้ ให้เรารู้ทันใจว่าใจกำลังอยากอยู่ จิตที่อยากจะดับเองเมื่อเรารู้ทันมันเสียแล้ว ฉะนั้นเราไม่ต้องไปนั่งแก้ บางคนใจมีความโลภ ก็นั่งทำอย่างไรจะหายโลภ ใจมีความโกรธทำอย่างไรจะหายโกรธ ไม่ต้องทำอะไร รู้ทันว่านี่ขณะนี้จิตปรุงแต่งความโลภ ขณะนี้จิตปรุงแต่งความโกรธ ขณะนี้จิตปรุงแต่งความหลง คอยรู้บ่อยๆ จิตเราจะค่อยพ้นจากความปรุงแต่ง
ขอแค่มีสติรู้ทันจิตใจตัวเองไป อ่านใจตัวเองให้ออก ใจเราโลภขึ้นมาเรารู้ทัน ใจเราโกรธขึ้นมาเรารู้ทัน ใจเราหลงขึ้นมาเรารู้ทัน ใจจมอยู่ในความทุกข์รู้ทันไป รู้เฉยๆ ไม่ต้องแก้ แล้วเราจะเห็นใจที่โลภอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ไม่มีหรอกความโลภถาวร ใจที่โกรธอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ไม่มีความโกรธถาวร ใจที่หลง ตัวนี้ยากหน่อยเพราะคนทั่วไปหลงทั้งวัน ทีนี้พวกเรามาหัดมีสติ ใจเราหลงเรารู้ ใจเราหลงเรารู้นี่ พอต่อไปพอมันหลงปุ๊บ เรารู้โดยไม่ได้เจตนาจะรู้ จิตก็หลุดออกจากโลกของความหลง ความเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว มองกายมองใจตัวเองไม่ออก พอจิตเราหลุดออกจากโลกของความหลง จิตเราก็ตื่นขึ้นมา
ฉะนั้นจิตเราหลงไปอยู่ในโลกของความโลภ ความโกรธ ความหลง นั่นมันยังหลงอยู่กับความปรุงแต่ง มันไม่ตื่น ถ้าเมื่อไรเรามีสติรู้ทันจิตตัวเอง จิตโลภรู้ว่าโลภ จิตที่โลภจะดับ แล้วจิตจะตื่นขึ้นมา จิตโกรธรู้ว่าโกรธ เรารู้ทัน จิตที่โกรธจะดับ จะเกิดจิตที่รู้ตื่นขึ้นมา พยายามฝึกบ่อยๆ รู้ทันความปรุงแต่งของจิตบ่อยๆ แล้วจิตจะตื่นขึ้นมาถี่ขึ้นๆ
ทุกครั้งที่เรารู้ว่าจิตใจของเราเป็นอย่างไร
จิตเราจะตื่นขึ้นโดยอัตโนมัติ
ทีแรกหัดภาวนา ทั้งวันเลยบางทีตื่นครั้งเดียว ตื่นได้แวบเดียวแล้วก็หลงยาวๆ ไป โลภบ้าง โกรธบ้าง หลงบ้าง ฟุ้งซ่าน หดหู่ อะไรต่ออะไรไป พอเราหัดหลายๆ วันเข้า ต่อไปมันจะหลงสั้นลง จิตใจปรุงแต่งอะไรขึ้นมาแวบ เราก็จะรู้ ปรุงแต่งแวบ เราก็จะรู้ ตรงที่เรารู้ทันความปรุงแต่งที่กำลังมีกำลังเป็นนั้นล่ะ จิตเราจะตื่นขึ้นมา จะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พยายามฝึกตัวนี้ให้มาก มีสติอ่านจิตใจตัวเองให้ออก จิตใจโลภให้รู้ ไม่ต้องแก้ จิตใจโกรธให้รู้ ไม่ต้องแก้ไข จิตใจหลงไปฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ ตามรู้ตามเป็นอย่างที่มันเป็น ทุกครั้งที่เรารู้ว่าจิตใจของเราเป็นอย่างไร จิตเราจะตื่นขึ้นโดยอัตโนมัติ
ทีแรกก็นานๆ ตื่นที บางคนหลายๆ วันตื่นทีหนึ่ง ไม่ต้องคนอื่นนะหลวงพ่อล่ะ หลวงพ่อตอนไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรก เราก็พบว่าจิตบางทีก็หลงเข้าไปจับอารมณ์ มันไหลเข้าไปเกาะอารมณ์ ดูอย่างไรก็ไม่หลุด ดูๆๆ อยู่ 7 วัน จิตก็หลุดขึ้นมาเป็นผู้รู้ ตอนนั้นไม่รู้ว่าเพราะอะไร จิตถึงหลุดออกมาจากโลกของความปรุงแต่ง มาเป็นผู้รู้ได้ ดู ไม่รู้เหตุผล แต่อาศัยคอยตามอ่านจิตตัวเองเรื่อยๆ ไป
ทีแรกตั้งอาทิตย์หนึ่ง แล้วหลุดขึ้นมาได้พักเดียว แล้วจิตก็ไหลเข้าไปเกาะกับอารมณ์อีก จมลงไปในอารมณ์ ก็ดูอีก ตามรู้ตามดู คราวนี้ 5 วัน จิตหลุดขึ้นมา หลุดออกมาได้หลายนาทีอยู่ 5 นาที 10 นาที อะไรอย่างนี้ แล้วก็ไหลเข้าไปเกาะกับอารมณ์ หลงไปตามอารมณ์อีก ก็หัดรู้หัดดูตามอ่านจิตตัวเองไปเรื่อยๆ สัก 3 วัน จิตก็หลุดออกมา คราวนี้ตั้งมั่นอยู่ได้นาน ตั้งมั่นได้เป็นชั่วโมง นี่อาศัยที่ค่อยๆ ฝึก อ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ จิตจะค่อยๆ ถอนตัวออกจากความปรุงแต่ง ค่อยตั้งมั่นขึ้นมา
ทีแรกก็ตั้งได้สั้นๆ ใช้เวลามากกว่าจะถอนตัวออกมาได้ ไม่ต้องพยายามถอนมันขึ้นมา หลวงพ่อที่ไปช้าตั้ง 7 วัน 5 วัน 3 วัน อะไรนี่ เพราะพยายามที่จะถอนจิตออกจากความปรุงแต่ง จิตมันไปติดอารมณ์ ฉะนั้นต่อมาพอฝึกชำนิชำนาญขึ้น พอจิตไหลเข้าไปเกาะอารมณ์ปุ๊บ สติรู้ทันเลย รู้ทันว่าจิตกำลังจมลงไปในอารมณ์แล้ว ทันทีที่รู้ทัน จิตก็ดีดตัวผ่างขึ้นมา เป็นจิตที่ตื่นขึ้นมา ไม่ใช่ผู้เคลิ้มฝันอีกต่อไป จิตก็จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว เฮ้ย ตัวนี้เราเคยได้มาตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กๆ นั่งสมาธิ นั่งหายใจเข้าพุทหายใจออกโธนับ 1 หายใจเข้าพุทหายใจออกโธนับ 2 นับไปเรื่อยๆ
แล้วพอจิตเริ่มสงบ การนับเลขหายไป เหลือแต่หายใจเข้าพุทหายใจออกโธ พอจิตสงบมากขึ้น คำบริกรรมพุทโธหายไป เหลือแต่ลมหายใจ พอจิตสงบมากขึ้น ลมหายใจหายไป กลายเป็นแสงสว่าง มีแสงสว่างอยู่ข้างหน้าเราอย่างนี้ แล้วจิตมันไหลเข้าไปอยู่ในแสงสว่าง ต่อมามีสติรู้ทันว่าจิตไหลเข้าไปในแสง จิตก็วางแสง ทวนเข้ามาที่ตัวจิตผู้รู้ จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา อันนี้เป็นวิธีที่เราจะเกิดจิตที่ตื่น จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอีกวิธีหนึ่ง เป็นวิธีที่เกิดจากการทำสมาธิ
แต่สิ่งที่เอามาสอนพวกเราในวันนี้เป็นอีกวิธีหนึ่ง เพราะว่าส่วนใหญ่ของเราในยุคนี้สมาธิสั้น ใจเราวอกแวกๆ ตลอดเวลา จะให้นั่งสมาธิให้จิตรวมจิตสงบสว่างไสวอะไรอย่างนี้ ทำยาก มันไม่ได้เหมาะกับสังคมในปัจจุบันนี้ สังคมทุกวันนี้วุ่นวายตลอดเวลา เราก็เลยต้องมาฝึกอีกวิธีหนึ่งที่จะให้จิตเราตื่นขึ้นมา อาศัยสติคอยรู้ทันเวลาจิตหลงไปอยู่ในความปรุงแต่ง จิตโลภขึ้นมารู้ทัน ถ้ารู้ทันจิตก็จะตื่นขึ้นมา จิตโกรธเรารู้ทัน จิตก็จะตื่นขึ้นมา เราหลงเผลอๆ เพลินๆ เรารู้ทัน จิตก็จะตื่นขึ้นมา นี่เป็นวิธีการ
ทีแรกก็จะตื่นนิดเดียว สั้นๆ แล้วก็หลงยาวๆ ทีนี้พอเราภาวนาเรื่อยๆ เราสังเกตจิตใจตัวเองเรื่อยๆ ไป จิตโกรธก็รู้ จิตโลภก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตฟุ้งซ่านจิตหดหู่ก็รู้ ความหลงจะสั้นลง เคยโกรธยาวๆ โกรธได้เป็นชั่วโมงๆ ก็จะโกรธแวบหนึ่ง เรารู้แล้ว จิตก็จะหลุดออกจากโลกของความโกรธ เกิดจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาแทน เราเคยโลภนานๆ เคลิ้มเพลิดเพลิน อย่างไปดูคอนเสิรต์ดูซีรีส์เพลินเป็นชั่วโมง แล้วหลงไม่รู้ตัว มีความสุขความเพลิดเพลิน ทีนี้ถ้าเราหัดภาวนาบ่อยๆ พอจิตมีความเพลิดเพลินขึ้น มันโลภขึ้นมา มันเผลอ มันเพลิน สติรู้ทัน จิตที่หลงเผลอเพลิน โลกของความปรุงแต่งที่เผลอเพลินก็จะดับ จิตที่รู้ก็จะเกิดขึ้น ฉะนั้นจะรู้ได้เร็วขึ้นๆ
อย่างเราหัดทีแรก อย่างบางคนขี้โมโห ต้องโกรธแรงๆ ถึงจะรู้ พอหัดรู้บ่อยๆ ต่อไปโกรธนิดเดียวก็รู้แล้ว ต่อไปไม่ทันจะโกรธเลย ใจเริ่มขุ่นๆ ใจเริ่มไม่สบายใจนิดเดียวก็เห็นแล้ว จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา เพราะฉะนั้นอาศัยสติ คอยอ่านใจตัวเองเรื่อยๆ ไป แล้วในที่สุดจิตเราจะตั้งมั่นขึ้นมา เด่นดวงขึ้นมา พวกเราหลายคนที่หลวงพ่อสังเกต พวกเราทำได้ อย่างบางคนจิตตั้งมั่นได้ดีเลย หาตัวอยู่ ไม่เจอ ไม่เห็น ตัวเล็กๆ จิตมันจะตั้งมั่น จะสว่างไสว จะรู้เนื้อรู้ตัว
จิตตั้งมั่นได้แล้ว ถึงจะเดินปัญญาได้จริง
ทีแรกก็รู้ตัวได้สั้นๆ พอหัดรู้บ่อยๆ จะรู้ได้ยาวขึ้น ในที่สุดจิตจะตั้งมั่นเด่นดวง เราจะรู้สึกมันมีกำลัง จิตมันจะมีแรง มันจะไม่ใช่จิตกะปลกกะเปลี้ยล้มเหลวกลิ้งไปกลิ้งมา แต่มันเป็นจิตที่มีกำลังตั้งมั่นขึ้นมา นี่ค่อยๆ หัดอ่านจิตอ่านใจตัวเองบ่อยๆ แล้วจิตเราจะมีกำลังตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตเราตั้งมั่นได้แล้ว คราวนี้เราพร้อมที่จะเจริญปัญญาที่แท้จริงแล้ว ถ้าเราไม่มีจิตที่ตั้งมั่น ไม่มีจิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เรายังเดินปัญญาไม่ได้จริง อย่างมากก็คิดเอา คิดว่าธรรมะเป็นอย่างนั้น ธรรมะเป็นอย่างนี้
อย่างนี้พวกเราหลายคนจะเป็นอย่างนั้นล่ะ เราจะนึกเอาว่า การปฏิบัติธรรมเราจะต้องนั่งท่าไหน เราจะต้องเดินท่าไหน เราจะกำหนดลมหายใจอย่างไร จะตั้งจิตไว้ที่ไหน เราจะหลงวุ่นวายอยู่กับความคิดแบบนี้ตลอดเวลา แต่ถ้าเรามีสติรู้ทันอ่านใจตัวเองเรื่อยๆ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา เราไม่ต้องสงสัยว่ามันจะตั้งได้อย่างไร เพราะมันจะตั้งมั่นขึ้นมาเอง เราจงใจให้ตั้งมั่นก็ไม่ได้ด้วย ถ้าเราจงใจทำจิตให้ตั้งมั่น จิตจะแข็งๆ จิตจะแน่นๆ มันจะอึดอัด มันจะไม่สบาย แต่ถ้าเรามีสติรู้ทันจิตใจ อ่านใจตัวเอง มันปรุงดีก็รู้ มันปรุงชั่วก็รู้ มันปรุงสุขก็รู้ มันปรุงทุกข์ก็รู้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ เท่าที่มันเป็น แล้วใจจะตั้งมั่นขึ้นเองโดยเราไม่ได้เจตนา
ตรงที่จิตตั้งมั่นขึ้นโดยไม่ได้เจตนา เป็นจิตที่มีสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิมันเข้มแข็งแล้ว สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา คือถ้าจิตเราตั้งมั่นได้แล้ว เราถึงจะเดินปัญญาได้จริง ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น เราก็ยังหลงอยู่ในโลกของความคิดความฝัน เราเดินปัญญาไม่ได้จริง คิดธรรมะไม่สามารถสู้กิเลสได้ อย่างบางคนจดจำธรรมะได้มากมาย แต่สู้กิเลสไม่ได้ สมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้ายังอยู่ มีพระองค์หนึ่งชื่ออะไร ชื่อจริงชื่ออะไรไม่มีใครรู้แล้วนะองค์นี้ แต่เป็นพระที่แตกฉานมากเลย ได้ยินได้ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ จำได้หมดเลย เรียกว่าทรงจำพระไตรปิฎกได้ รู้ธรรมะมากมาย แต่มันรู้ด้วยการจำเอา เวลาพระองค์นี้เข้าไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะเรียก แกล้งเรียก เรียกให้อาย บอก “โปฐิละ โปฐิละ”
โปฐิละก็คือคัมภีร์ที่ไร้ตัวอักษร หมายถึงคัมภีร์ตัวนี้ก็คือใจของตัวเอง ไร้ตัวอักษรก็คือเป็นใจที่ว่างเปล่า ไม่มีธรรมะจริง ธรรมะอยู่ในหัวสมองคือใช้จำเอาไว้ เรียกบ่อยๆ เจอหน้าทีไรเรียกว่า ใบลานเปล่า ใบลานเปล่า เรียกโปฐิละ โปฐิละ เรื่อยๆ องค์นี้ท่านอาย ท่านเป็นพระที่สอนเก่ง เทศน์เก่ง ลูกศิษย์ลูกหาเยอะ แต่ถูกพระพุทธเจ้าประจานอยู่เรื่อยๆ ว่าเป็นใบลานเปล่า คัมภีร์ในใจ หรือในใจไม่มีธรรมะ พอท่านอายท่านก็เลยหลบออกไป เราจะต้องภาวนาแล้ว จะต้องปฏิบัติแล้ว ฟังอย่างเดียว เรียนอย่างเดียว พระพุทธเจ้ายังติเตียนอยู่
ท่านก็เลยออกไปอยู่วัดป่า เข้าไปหาครูบาอาจารย์สายวัดป่า ไปบอกว่าผมขอเรียนกรรมฐาน อาจารย์ใหญ่วัดป่าก็บอกว่า สอนท่านไม่ได้หรอก ท่านรู้ธรรมะทุกเรื่องเลย ไม่ว่าจะพูดอะไร ท่านรู้หมดแล้วล่ะ ผมไม่มีปัญญาสอนท่านได้ นี่พวกชาล้นถ้วย สอนไม่ไหว มีแต่ความคิดความเห็น ความจำอะไรของเราเอง เกี่ยวกับธรรมะวุ่นวายเต็มหัวสมอง รับธรรมะใหม่ไม่ได้ อาจารย์ใหญ่ก็เลยบอกสอนไม่ได้ ท่านเก่งกว่าผมอีก รู้เยอะกว่าผมอีก พระโปฐิละก็อดทน ก็ไปถามครูบาอาจารย์ที่รองลงมาเรื่อยๆ ไม่มีใครยอมสอน ใครๆ ก็บอกเหมือนกันหมดเลย สอนไม่ไหว สอนไม่ไหว ท่านรู้มากเชื่อถือเชื่อมั่นตัวเองสูง ใครจะไปสอนได้
พวกเราก็อย่าเป็นแบบพระโปฐิละ กูรู้ กูเก่ง กูอย่างโน้น กูอย่างนี้ ถ้ากูเก่งจริง กูไม่ทุกข์แล้ว ถ้ายังทุกข์ได้แสดงว่ายังไม่เก่งจริง ทีนี้พระโปฐิละก็อดทน ถามไปจนถึงเณร เณรเป็นเด็กๆ แต่เณรองค์นี้ภาวนาเก่ง เป็นพระอรหันต์ ถามไปถึงเณร บอกให้เณรช่วยสอนด้วย เณรบอกผมเป็นเณร ท่านเป็นพระ ท่านจะต้องมีความเชื่อผมนะ ผมสั่งอะไรท่านต้องทำตามคำสั่งนะ ถึงจะสอนได้ ถ้าหากสั่งแล้วไม่ทำตามที่สั่ง ผมสอนท่านไม่ได้หรอก
พระโปฐิละบอกเณรสั่งมาเลยจะให้ทำอะไร เณรก็บอกว่าให้ลงไปในลำธารนี้ ให้ลุยลงไป ทั้งๆ ที่พระโปฐิละใส่จีวรทำด้วยผ้าไหมอย่างดี ก็เป็นพระในเมือง แล้วเป็นพระมีชื่อเสียง มีจีวรสวยงามทำด้วยผ้าไหม พอเณรสั่งให้ลุยน้ำก็ลุยจริงๆ นี่ใจกล้านะ ผ้าจะไปเปียกน้ำสกปรกก็ยอม ผ้าจะเสียก็ไม่เป็นไร จะทำตามที่เณรสั่ง ก็เดินลงไปในน้ำ พอเริ่มก้าวลงไป จนกระทั่งชายผ้ากำลังจะถูกน้ำ ยังไม่เปียกน้ำ เณรบอกหยุดก่อน ไม่ต้องเดินแล้ว อันนี้ท่านพิสูจน์ว่า พระโปฐิละจะเชื่อไหม จะเชื่ออาจารย์ไหม อาจารย์สั่งให้ลุยน้ำ ก็ลุยจริงๆ ทีนี้พอเณรสั่งให้พระโปฐิละ บอกหยุดก่อน ยังไม่ต้องลุยแล้ว พอแค่นี้
เณรก็ชี้ให้ดูที่ริมตลิ่ง บอกให้ท่านอาจารย์ดูสิ ริมตลิ่งฝั่งโน้นมันมีจอมปลวก ตัวเล็กๆ มันก่อดิน แล้วมันไปทำรังอยู่ในโพรงดิน เมืองไทยมีเยอะ บอกในจอมปลวกในดินอันนี้ มันเป็นโพรงอยู่ แต่เดิมปลวกมันอยู่ แล้วปลวกนี้ย้ายรังไปแล้ว มันไปอยู่ที่อื่น โพรงนี้ว่าง มันมีตัวเหี้ยตัวตะกวดอะไรอย่างนี้ตัวหนึ่ง เข้าไปอยู่ในโพรงนี้ แล้วมันก็เจาะรูมีทางเข้าออก 6 รู โพรงดินนี้มีรูเข้าออก 6 รู แล้วตัวเหี้ยนี่ก็วิ่งเข้าวิ่งออก เข้ารูนั้นออกรูนี้ ถ้าคนจะจับมัน เณรก็บอกถ้าอยากจะจับเหี้ยตัวนี้ให้ได้จะใช้วิธีไหน บอกท่านอาจารย์ปิด อุดรู 5 รูเสีย เว้นไว้รูเดียว แล้วก็เฝ้าอยู่ที่รูเดียว ไม่ต้องเฝ้า 6 รู ให้เฝ้าอยู่ที่รูเดียวนี่ล่ะ แล้วท่านอาจารย์จะจับเหี้ยตัวนี้ได้ เหี้ยตัวนี้คือความปรุงแต่งนั่นเอง แล้วเณรก็ขยับจะสอนต่อ พระโปฐิละท่านบอกพอแล้วล่ะ ที่อาจารย์เณรสอนมานี่ ท่านเข้าใจวิธีปฏิบัติล่ะ
พวกเราเข้าใจไหม จอมปลวกเนินดินที่มีรูเข้าออก 6 รู ให้ปิด 5 รู เหลือไว้รูเดียวแล้วคอยรู้ตรงนี้ จอมปลวกนั้นก็คือร่างกายเรานี่เอง มีรู 6 รู คือมีทางที่จิตจะเที่ยวไป 6 ช่องทาง คือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหี้ยก็คือจิตซึ่งถูกความปรุงแต่งย้อมวิ่งพล่าน อย่างจิตของเราเห็นไหม เดี๋ยวก็วิ่งไปทางตา ไปดูโน้นดูนี่ เดี๋ยวก็วิ่งไปทางหู ไปฟังโน้นฟังนี่ วิ่งไปทางจมูก ไปดมโน้นดมนี่ วิ่งไปทางลิ้น ไปรู้รสว่านั่นอร่อย นี่ไม่อร่อย อันนี้หวาน อันนี้เค็ม นี่มีรูรั่วทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทางกายก็ร่างกายอย่างนี้ กระทบความเย็นความร้อน ความนุ่มนวลความกระด้าง เวลามันกระทบร่างกาย นี่จิตออกรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
ถ้าเราจะปฏิบัติธรรมโดยเฝ้าไว้ทั้ง 6 ช่อง ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเยอะเกินไป ทำยาก เพราะฉะนั้นให้เฝ้าไว้รูเดียว คือใจ 5 รูนั้นช่างมัน ไม่ต้องไปสนใจมัน ถ้าจิตใจเราไม่ไปวุ่นวายกับมัน มันเหมือนเราไม่สนใจ เราปิดรู 5 รูนั้นแล้ว เราเฝ้าอยู่ที่ใจอันเดียว วิธีเฝ้าอยู่ทีใจอันเดียวทำอย่างไร ในขณะที่ตาเรามองเห็น จิตเราเกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล เกิดอกุศล ขึ้นที่จิต เรามีสติรู้เท่าทันจิตตนเอง นี่เราเฝ้าตัวเหี้ยตัวร้ายมันอยู่ที่จิตเรา กิเลสไม่ได้อยู่ที่ตา กิเลสไม่ได้อยู่ที่หู ไม่ได้อยู่ที่จมูก ไม่ได้อยู่ที่ลิ้น ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่กิเลสอยู่ที่ใจเราที่เดียวนี้เอง
เฝ้าอยู่ที่ใจของเรา
เพราะฉะนั้นเวลาตาหูจมูกลิ้นกายกระทบอารมณ์ ก็สักแต่ว่ากระทบ ช่างมัน มันอยากกระทบก็ห้ามมันไม่ได้นี่ แต่กระทบแล้วใจเราเกิดความเปลี่ยนแปลง เราเฝ้ารู้อยู่ที่ใจของเราอันเดียว ตาเราเห็นรูป จิตใจเรายินดี เรารู้ทัน จิตยินร้าย เรารู้ทัน จิตเกิดสุขเกิดทุกข์ เรารู้ทัน จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง เรารู้ทัน เห็นไหม รู้อยู่ที่เดียว รู้อยู่ที่จิตใจของเรานี่เอง เวลาหูเราได้ยินเสียง อย่างเราได้ยินเสียงคนมาด่าเรานี่ ใจเราโกรธขึ้นมา เราไม่ต้องไปสนใจ เขาจะด่าเรื่องอะไร ช่างเขา เรารู้ทันว่าตอนนี้จิตเรากำลังโกรธ นี่รู้อยู่ที่ใจอันเดียว ไม่ต้องไปวิ่งตามเหี้ยตั้งอีก 5 ตัวนั่นหรอก ตามออกไปมันเห็นคนอื่นเป็นเหี้ยหมด เราเป็นคนดีคนเดียว แต่ถ้าเราเฝ้าอยู่ที่ใจของเรา เราจะเห็นตัวร้ายอยู่ที่นี่ กิเลสอยู่ในใจเรานี่เอง
จมูกเราได้กลิ่น ได้กลิ่นหอมอย่างนี้ ใจเราชอบ รู้ว่าใจเราชอบ ไม่ต้องไปหาว่ากลิ่นนี้กลิ่นอะไร ทำอย่างไรจะได้กลิ่นนี้อีก ไม่ต้องสนใจนะ ให้อ่านเข้าไปที่จิตของเราเลย ได้กลิ่นหอมแล้วใจเราชอบ รู้ทัน ได้กลิ่นเหม็นแล้วใจเราหงุดหงิดรำคาญ รู้ทัน นี่รู้อยู่ที่เดียว รู้อยู่ช่องเดียว คือช่องใจ หัดรู้อย่างนี้เรื่อยๆ ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ก็อ่านที่ใจของเราเอง อย่างเวลาตอนนี้อากาศร้อน อากาศร้อนแล้ว แอร์เสียเสียอีก ความร้อนมากระทบร่างกายเรามากๆ ขึ้น ใจเราหงุดหงิด รู้ทันว่าใจหงุดหงิด หรืออากาศกำลังหนาวจัดอยู่ แล้วลมหนาวเย็นๆ พัดมาอีก หิมะปลิวมาถูกเราอีก ใจเราไม่ชอบ ใจเรารำคาญ ให้รู้ทันว่าใจไม่ชอบ
นี่ทำกรรมฐานมีสติคอยอ่านจิตตัวเองไป ไม่ใช่เรื่องยาก มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ได้กลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัส แต่พอเราสัมผัสไปแล้วกระทบไปแล้ว ใจเราเป็นอย่างไร รู้ทัน ทีนี้ผัสสะบางทีไม่ได้เกิดจากตาหูจมูกลิ้นกายเท่านั้น บางทีมันผุดขึ้นในใจเราโดยตรงก็มี อย่างอยู่ดีๆ เรานั่งเผลอๆ เพลินๆ สบายใจอยู่ อยู่ๆ จิตมันจำหน้าของคนๆ นี้ขึ้นมาได้ นี่สัญญามันจำได้ เราไม่ได้เจตนาจะนึกถึงคนนี้เลย คนๆ นี้เราลืมไปตั้ง 10 ปีแล้ว อยู่ๆ ก็ไปนึกถึงคนนี้ขึ้นมา พอนึกถึงคนนี้ปุ๊บ ก็คิดต่อเลย คนนี้เคยร้ายกับเรา โทสะซึ่งไม่มีก็เกิดมีขึ้นมา พอกระทบความคิดทางใจเกิดขึ้น ว่าคนนี้มันร้ายกับเรา จำได้ขึ้นมาว่ามันร้าย จิตก็ปรุงโทสะขึ้นมา
หรือบางคนเราไม่เจอนานเลย อยู่ๆ จิตก็ดีดหน้าคนนี้ขึ้นมาให้เราเห็น โอ้ย คนนี้ดีกับเราที่สุดเลย รัก เป็นคนที่เรารัก เรานึกถึงปุ๊บ เรามีความสุข เคยอยู่ด้วยกัน เคยสบาย เคยเที่ยวด้วยกัน จิตก็มีความสุขขึ้นมา เรารู้ว่าจิตมีความสุข บางทีนั่งอยู่เฉยๆ จิตก็ดีดหน้าคนที่เรารักขึ้นมา แต่คนนี้ตายแล้ว สมมติพ่อแม่เรา เรารักมากเลย อยู่ๆ จิตก็คิดถึงขึ้นมา พอคิดถึงขึ้นมา เราเสียใจ โธ่ ตายแล้วคิดถึงจังเลย ให้เรามีสติรู้ว่ากำลังคิดถึง เพราะฉะนั้นเวลามีการกระทบอารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกาย มันก็เกิดการทำงานทางใจ ปรุงทางใจ บางทีมีการกระทบอารมณ์ทางใจ โดยเฉพาะการกระทบความจำความคิดอะไรต่างๆ ขึ้นมา มันก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจ ให้เรามีสติรู้ทัน
แล้วต่อไปพอเรารู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก สุขเกิดก็รู้ ทุกข์เกิดก็รู้ กุศลเกิดก็รู้ โลภโกรธหลงเกิดก็รู้ จิตใจฟุ้งซ่านก็รู้ จิตใจหดหู่ก็รู้ เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ ต่อไปปัญญาจะเกิด มันจะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของจิตเป็นของชั่วคราว ความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว กุศลก็ชั่วคราว อกุศลก็ชั่วคราว ความสุขความทุกข์กุศลอกุศล ล้วนแต่เป็นความปรุงแต่งของจิตทั้งนั้นล่ะ ปรุงสุขปรุงทุกข์เขาเรียกเวทนา ปรุงดีปรุงชั่วเขาเรียกสังขาร นี่ก็คือความปรุงแต่งของจิตทั้งหมดนั่นล่ะ ถ้าเรารู้เท่าทันความปรุงแต่ง จิตปรุงสุขเรารู้ ปรุงทุกข์เรารู้ ปรุงดีเรารู้ ปรุงชั่วเรารู้
ต่อไปจิตปรุงอะไรสติรู้ทัน จิตจะไม่ดิ้นรน อย่างความสุขเกิดขึ้น เราก็รู้ ไม่นานมันก็ดับ ความสุขดับไป เราก็รู้ว่าเป็นธรรมดา ชีวิตเรามีความสุขมันก็สุขชั่วคราว ไม่นานมันก็ดับ นี่เราก็รู้สึกมันธรรมดา เวลาความทุกข์เกิดขึ้นเราก็รู้ ความทุกข์มันก็อยู่ชั่วคราว มันมาได้เดี๋ยวมันก็ดับได้ ถึงเราจะไปเกลียดมัน ก็ห้ามมันไม่ได้ มันจะมา มันธรรมดาอย่างนี้ล่ะ มันมาได้เอง มันไปได้เอง ทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งดีและชั่ว อย่างเราไม่เจตนาจะรัก บางทีก็เรารัก ไม่เจตนาจะโลภ บางทีเราก็โลภ ไม่เจตนาจะโกรธ บางทีมันก็โกรธ เจตนารู้สึกตัว อ้าว มันกลับหลง เราจะบังคับมันไม่ได้จริง
เพราะฉะนั้นการที่เราตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิต ทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งดี ทั้งชั่ว อะไรนี่ ตามรู้เรื่อยๆ ต่อไปจิตจะเข้าใจความจริง ความจริงที่ว่าสุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง สุขก็สั่งให้เกิดไม่ได้ รักษาไว้ไม่ได้ ทุกข์ก็ห้ามไม่ได้ อยากสั่งว่าอย่ามา มันก็มา มาแล้วสั่งให้มันไปเร็วๆ ก็สั่งไม่ได้ ตรงที่มันมาแล้วมันไปเรียกว่าอนิจจัง ตรงที่เราไม่มีอำนาจสั่งมันเรียกว่าอนัตตา หรือดีชั่วก็เหมือนกัน จิตที่ดีเกิดขึ้นมันก็อยู่ชั่วคราว รักษาอยากให้ดีตลอดก็ทำไม่ได้
อย่างเราตั้งใจจะปฏิบัติ ต่อไปนี้เราจะภาวนาทุกวัน จะนั่งสมาธิเดินจงกรมทุกวัน พอถึงเวลาปฏิบัติจริง เดี๋ยวก็เบื่อแล้ว ขี้เกียจแล้ว วันนี้นอนก่อนดีกว่า นี่ความดีมันก็ไม่ยั่งยืน ฉะนั้นให้เราอ่านใจตัวเองไปเลย สุขก็ไม่ยั่งยืน ทุกข์ก็ไม่ยั่งยืน ดีชั่วก็ไม่ยั่งยืน ทุกอย่างเป็นของชั่วคราวหมดเลย ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดจิตจะสรุป จิตจะเกิดความรู้รวบยอด ความรู้รวบยอดนั่นล่ะคือเป็นความจริงที่ว่า ทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น ทุกสิ่งที่เกิดมานั้นเราบังคับไม่ได้จริงหรอก ก็คือเห็นไตรลักษณ์นั่นเอง
สิ่งใดเกิดแล้วสิ่งนั้นก็ดับนั่นล่ะคือความจริง
เราปฏิบัติธรรมะ ธรรมะ เราต้องเข้าใจว่าธรรมะคืออะไร ธรรมะคือสัจจะ ธรรมะคือความจริง ธรรมะไม่ใช่อะไรที่พิสดาร ปฏิบัติแล้วไม่แก่ ปฏิบัติแล้วไม่เจ็บ ปฏิบัติแล้วไม่ตาย ปฏิบัติแล้วจะไม่ต้องพลัดพรากจากคนที่ชอบ ปฏิบัติแล้วจะต้องไม่ได้เจอคนที่เกลียด มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอก แต่ปฏิบัติแล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิต จิตมันยอมรับความจริงได้ อย่างพอเราเห็นว่าทุกอย่างมันเกิดดับๆ ต่อไปพอร่างกายเราไม่สบาย เราก็รู้ร่างกายมันก็ของเกิดดับเหมือนกัน มันก็ไม่ได้เป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่ได้แข็งแรงตลอดกาลหรอก
เพราะฉะนั้นการที่จิตเข้าถึงสัจจะเข้าถึงความจริง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมา ความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงที่มันเกิดขึ้นมา ล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่ทนอยู่ไม่ได้ ล้วนแต่บังคับไม่ได้ คือเป็นไตรลักษณ์ การที่เราเห็นความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เรียกว่าเราเห็นความจริง ที่บอกอยากได้ธรรมะ อยากได้ธรรมะ แต่ไม่รู้ว่าธรรมะคืออะไร ธรรมะคือความจริง คือสัจธรรม สัจจะความจริงคืออะไร อะไรเป็นความจริง
สิ่งใดเกิดแล้วสิ่งนั้นก็ดับนั่นล่ะคือความจริง สุขเกิดแล้วก็ดับ ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ กุศลอกุศลเกิดแล้วดับทั้งสิ้น เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ในที่สุดจิตมันก็ปิ๊งขึ้นมา ตรงที่จิตเข้าใจความจริง มันใช้เวลาชั่วขณะเดียว แวบเดียวนี่ มันปิ๊งขึ้นมาในใจ มันรู้เลยว่าทุกสิ่งที่เกิดดับทั้งสิ้น รู้อย่างนี้ ตรงนี้เราจะเป็นพระโสดาบัน เราเข้าถึงความจริงเบื้องต้นแล้ว ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดแล้วดับทั้งสิ้น นี่เป็นความจริงขั้นต้น
การปฏิบัติ ถัดจากนั้นก็ปฏิบัติเหมือนเดิมนั่นล่ะ เราจะค่อยๆ เห็นไปเรื่อยๆ รู้ทันความปรุงแต่งทั้งหลาย จิตเป็นคนรู้คนดู เห็นความปรุงแต่งทั้งหลายเกิดดับๆ ไปเรื่อยๆ ต่อไปปัญญาจะสูงขึ้น แล้วปัญญาจะรู้แจ้งแทงตลอดลงในกาย นี่ปัญญาขั้นกลาง ขั้นต้นจะรู้ว่าทุกอย่างเกิดแล้วดับ ปัญญาขั้นกลางจะรู้ว่าร่างกายนี่มันเกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรแน่นอน มันมีอะไร มันเป็นของเกิดดับแล้วมันมีอะไรอยู่ ร่างกายคือก้อนทุกข์ ร่างกายนี่คือตัวทุกข์ จะเห็นอย่างนี้ ตรงที่มันเห็นว่าร่างกายคือตัวทุกข์ มันจะหมดความยึดถือในกาย นี่คือภูมิจิตภูมิธรรมของพระอนาคามี จิตจะหมดความยึดถือในร่างกาย
เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ ร่างกายจะแก่ ร่างกายจะเจ็บ ร่างกายจะตาย จิตจะไม่หวั่นไหวเลย จิตจะมีแต่ความสงบสุขอยู่ ค่อยภาวนาต่อไปแล้วมันจะเห็น ร่างกายนี่รู้แจ้งแล้วว่าร่างกายเป็นทุกข์ ต่อมาพอเข้ามาถึงตัวจิต แต่เดิมเราเห็นว่าจิตนี่สุขบ้างทุกข์บ้าง แต่เดิมร่างกายเราก็เห็นว่าทุกข์บ้างสุขบ้าง อย่างขณะนี้เราจะเห็นว่าร่างกายเรานี่ทุกข์บ้างสุขบ้าง แต่ตรงที่เป็นพระอนาคามีเราจะเห็น ว่าร่างกายนี่มีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย พอทุกข์น้อยคนก็หลงว่าเป็นความสุข ในความเป็นจริงก็คือทุกข์นั่นล่ะ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
จิตนี้ก็เหมือนกันเราก็จะหลงว่าจิตของเรานี่ เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง แต่ถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ เราจะเห็นจิตสุขก็ไม่ยั่งยืน จิตทุกข์ก็ไม่ยั่งยืน จิตไม่หลงเพลิดเพลินยินดีพอใจในสุขในทุกข์อะไรทั้งสิ้น จิตนี้จริงๆ แล้วเป็นตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เวลาจิตเราทุกข์น้อยๆ คนไม่มีปัญญาก็บอก จิตเรากำลังมีความสุข ที่จริงจิตมันมีความทุกข์ เพราะว่าจิตมันไม่เคยยั่งยืนเลย เราพยายามหาความสุขมาให้กายให้ใจ แต่ความสุขที่มาให้กายให้ใจมันไม่ยั่งยืนเพราะอะไร เพราะกายกับใจมันของไม่ยั่งยืน
เราหาเสื้อผ้าสวยๆ มาให้ร่างกายใส่ หาเครื่องประดับสวยงามมาให้ร่างกายประดับ สุดท้ายร่างกายก็แก่ๆ เคยเห็นคนที่แก่มากๆ ไหม แล้วแต่งตัวสวยงามดูแปลกๆ ด้วย ติดเพชรติดพลอยเต็มตัว ทั้งๆ ที่ตัวเหี่ยวย่นน่าเกลียดมากเลย ทรัพย์สินเงินทองข้างนอกนี่มันปิดบังความจริงไว้ไม่อยู่ จริงๆ คือร่างกายชำรุดทรุดโทรมไปแล้ว
ฉะนั้นเราเฝ้ารู้ลงในกายรู้ลงในใจไปเรื่อย ตรงนี้หมายถึงเรามีสติ อ่านจิตอ่านใจออก แล้วมันจะรู้กายรู้ใจอัตโนมัติ อ่านใจตัวเองได้เท่านั้น ต่อไปมันก็จะรู้ทันร่างกายด้วย อย่างเราคอยรู้จิตใจ เรา สุขทุกข์ดีชั่ว เราคอยรู้ แล้วต่อมาเราก็จะเห็นสุขทุกข์ดีชั่ว บางทีมันผ่านมาทางร่างกาย ตาเห็นรูปเป็นเรื่องของร่างกาย หูได้ยินเสียงเป็นเรื่องของร่างกาย จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส นี้เป็นเรื่องของร่างกายทั้งหมดเลย แต่มันส่งผลเข้ามาที่จิตใจ ทีนี้เรารู้อยู่ที่จิตเรื่อยๆ ต่อไปเราก็รู้กายด้วยอัตโนมัติ เป็นของแถม มันก็จะดูรู้ว่ากายก็เป็นก้อนทุกข์อันหนึ่ง จิตก็ปล่อยวางกาย
ถ้าภาวนาสุดขีดจิตรวมเข้ามาที่จิต แล้วก็เห็นว่าจิตนี้ล่ะคือตัวทุกข์ แล้วมันก็เกิดการปล่อยวางจิตขึ้น พอจิตปล่อยวางจิตได้ นั่นคือที่สุดของทุกข์แล้ว ต่อไปนี้ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในโลกนี้ จิตจะไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงแล้ว ไม่หวั่นไหวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่หวั่นไหวกับความแปรปรวนของโลก ไม่หวั่นไหวหลงตามความปรุงแต่งของจิตอีกต่อไปแล้ว จิตพ้นจากความปรุงแต่ง
ฉะนั้นตัวความปรุงแต่งของจิต ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วนี่ล่ะ มันทำให้จิตเราถูกเหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดชีวิต เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา หาความสุขหาความสงบที่แท้จริงไม่ได้ ถ้าเฝ้ารู้เฝ้าดูจนจิตอยู่เหนือความปรุงแต่งได้ ปล่อยวางจิตได้ จิตจะอยู่เหนือความปรุงแต่งได้ จะไม่มีอะไรมาทำจิตเราให้หวั่นไหวได้อีกต่อไปแล้ว
มีสติอ่านใจตัวเองเรื่อยๆ
แล้วเราจะเข้าใจธรรมะในเวลาไม่นาน
ฉะนั้นเราพยายามฝึกมีสติเอาไว้ คอยรู้กาย คอยรู้ใจไป ถ้ารู้ใจได้รู้ใจไปเลย มีสติอ่านใจตัวเองไป ทีนี้บางคนอ่านใจไม่ออก จริงๆ มันไม่ได้ยากหรอกนะ เวลาถ้าอ่านใจไม่ออกจริงๆ ก็มาดูร่างกายไว้ เดี๋ยวมันมีแรงขึ้นมามันก็ไปดูจิตได้เอง ที่จริงการดูจิตดูใจไม่ใช่เรื่องยาก เราคิดมากเอง เราไม่ได้ดูด้วยตานะ เราดูด้วยความรู้สึก อย่างใจเรามีความสุข เรารู้ไหม ยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้มีความสุข ต้องไปกำหนดจิตอะไรให้พิสดารไหมถึงจะรู้ ไม่ต้องเลย ขณะนี้มีความสุข เราก็รู้ว่ามีความสุข ใจเราทุกข์ เราต้องกำหนดจิตก่อนไหมแล้วไปดู กำหนดเคร่งเครียดแล้วไปดู ทุกข์จริงไม่ทุกข์ ไม่เห็นจะต้องทำอย่างนั้นเลย ใจเราสุขเราก็รู้ธรรมดาๆ ใจเราทุกข์เราก็รู้ไปธรรมดา ใจเราโลภ ใจเราโกรธ เราหลง เราก็คอยรู้ไป
ทีนี้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ เวลามีความสุขมันก็เพลิน เวลามีความทุกข์มันก็หงุดหงิด มันไม่รู้ว่ากำลังสุขกำลังทุกข์ เวลาชอบอะไรขึ้นมา ก็สนใจสิ่งที่เราชอบ ไม่รู้ว่าใจกำลังชอบ เวลาโกรธอะไรขึ้นมา ก็ไปสนใจสิ่งที่ทำให้เราโกรธ หรือคนที่ทำให้เราโกรธ เราไม่สนใจ ไม่ดูว่าจิตกำลังโกรธ เวลาเราหลง เราก็ใจลอยคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไป เราไม่รู้ว่ากำลังใจลอยอยู่ เวลาเราซึมเศร้าคิดคร่ำครวญถึงอดีต คิดคร่ำครวญน้อยเนื้อต่ำใจอะไร เราไม่รู้ว่าใจกำลังหดหู่คร่ำครวญอยู่
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติการอ่านจิตอ่านใจไม่ใช่ยากหรอก อย่ามัวแต่หลงออกไปทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ให้อ่านใจตัวเองให้ออก พอตาเห็นรูป แทนที่จะหลงรูป ก็มารู้ว่าใจเราเป็นอย่างไร หูได้ยินเสียง แทนที่จะหลงเสียง ก็มารู้ว่าใจของเราเป็นอย่างไร มันไม่ใช่เรื่องยากที่จะรู้ หลวงปู่ดูลย์ถึงบอก การปฏิบัติน่ะไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้วต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง คอยอ่านไป
จิตขณะนี้สุขก็รู้ทัน จิตขณะนี้ทุกข์รู้ทัน จิตขณะนี้ดีรู้ทัน จิตขณะนี้ชั่วรู้ทัน สุขทุกข์ดีชั่วมันเกิดจากการกระทบอารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ มันจะกระทบอะไรก็ช่างมันเถอะ แต่กระทบแล้วใจเราเป็นอย่างไร เราคอยรู้ทันตรงนี้ สำคัญตรงนี้ เพราะกิเลสเกิดที่ใจ กุศลเกิดที่ใจ มรรคผลเกิดที่จิตใจของเรานี้ ฉะนั้นคอยเรียนรู้อยู่ที่ใจของเรา มีสติไป นี่ล่ะคือหลักของการปฏิบัติ
ถ้าพวกเราทำได้ เราจะเข้าใจธรรมะในเวลาอันสั้น ธรรมะคือความจริง ความจริงขั้นที่หนึ่งก็คือ ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของเรา อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับทั้งสิ้น ความจริงระดับกลางก็คือ ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีหรอก ร่างกายนี้คือทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ความจริงขั้นสูงก็คือ จิตใจนั่นล่ะมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ตรงที่เห็นทุกข์เรียกว่าเรารู้ทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง กายนี้ทุกข์ ใจนี้ทุกข์ ความยึดถือในกายในใจก็ไม่มี ความอยากให้กายให้ใจเป็นสุข ความอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ก็ไม่มี นี่รู้ทุกข์ก็ละความอยากได้ เรียกรู้ทุกข์แล้วละสมุทัยได้
ทันทีที่เราละความอยากออกจากจิตได้ นิโรธคือภาวะที่พ้นจากความดิ้นรนปรุงแต่ง พ้นจากความอยากคือพระนิพพาน จะปรากฏขึ้นให้เรารับรู้ นิพพานมีอยู่แล้ว แต่ว่าจิตที่ปรุงแต่งทำให้เราไม่เห็นนิพพาน เราก็เที่ยวแสวงหาว่า นิพพานอยู่ทางโน้นเหรอ นิพพานอยู่เมืองไทยเหรอ นิพพานอยู่กับองค์เจ้าแม่กวนอิมไหม หรืออยู่กับพระพุทธเจ้า หรืออยู่กับหลวงพ่อ ไม่ได้อยู่ นิพพานอยู่ทุกหนทุกแห่งอยู่แล้ว ถ้าเมื่อไรใจเราสิ้นความอยาก เราจะเห็นนิพพานเอง
นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหาสิ้นความอยาก มันสิ้นความอยากได้เพราะมันรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง การรู้ทุกข์ก็คือการรู้ความจริงของกายของใจอย่างแจ่มแจ้ง ก็จะละความอยากได้ ทันทีที่จิตหมดความอยาก จิตเข้าถึงความสงบสุข ความสงบสุขนั่นล่ะคือสภาวะของนิพพาน นิพพานมีลักษณะของความสงบสันติ หมดจากความปรุงแต่ง พ้นจากความปรุงแต่ง ส่วนสงบของสมาธินี่เป็นความปรุงแต่งอย่างหนึ่ง นั่งสมาธิเห็นไหม กำหนดลงไป จิตสงบ เป็นความปรุงแต่ง แต่นิพพานนั้นพ้นจากความปรุงแต่ง เป็นความสงบที่ไม่มีอะไรปรุงแต่ง
ฉะนั้นเราอย่าไปวาดภาพธรรมะไว้ยากพิลึกพิลั่น วิเศษวิโสอะไรมากมาย พยายามมีสติอ่านใจตัวเองเรื่อยๆ แล้วเราจะเข้าใจธรรมะในเวลาไม่นาน
คอยอ่านใจตัวเอง ไม่ใช่บังคับใจตัวเอง
ภาวนามีเวลานิดหนึ่ง อย่าทิ้งเปล่าๆ นั่งภาวนาให้หลวงพ่อดูหน่อย การปฏิบัตินั่งท่าไหนก็ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องนั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบ นั่งท่าที่เรากำลังนั่งก็ได้ จุดสำคัญอยู่ที่มีสติต่างหาก
เวลาเราทำกรรมฐาน เราชอบถลำลงไปจ้องๆๆๆ บางทีก็ไปจ้องเห็นอะไรไหวๆ อยู่ ไปจ้อง อันนั้นยังไม่ถูก ตรงที่ถูกก็คือรู้ว่าจิตกำลังไปจ้อง จิตไหลลงไป รู้ทันจิตตัวเอง ถึงจะใช้ได้ ฉะนั้นสังเกตดู ใจเราจะไหลไปเรื่อยๆ ไหลไปทางนี้ ไปดูอันนี้ดีไหม หรือไหลไปทางนี้ ให้รู้ทันว่าจิตมันไหลไป ส่วนมันจะไหลไปรู้อะไรไม่สำคัญหรอก สำคัญที่รู้ว่าจิตมันไหลไป แล้วพอเราคิดถึงการปฏิบัติ เราก็จะเริ่มบังคับตัวเอง ใจก็จะตึงๆ ขึ้นมา
เวลาเราปฏิบัติในรูปแบบจะมีสิ่งที่ผิดอยู่ 2 อัน อันหนึ่งจิตไหลไปแล้วเราไม่รู้ อันหนึ่งไหลไปแล้วไปจมไปแช่ไปนิ่งอยู่กับอารมณ์อันใดอันหนึ่ง อันนั้นคือการเพ่ง ถ้ามันไหลไปแล้วเราไม่รู้เรื่อง เราไม่รู้ตัว ถ้าไหลแล้วไปนิ่งจดจ้องอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ใจจะแน่นๆ ใจจะอึดอัดขึ้นมา อันนั้นสุดโต่งไปข้างบังคับตัวเอง ไม่ดี สุดโต่งไปข้างหลงลืมกายลืมใจ ก็ไม่ดี
หัดอ่านตัวเอง เราหัดอ่านจิตตัวเองให้ได้ เวลาเราทำในรูปแบบ จิตมักจะผิดอยู่ 2 อัน อันหนึ่งไหลสะเปะสะปะ ไปรู้อะไรก็ไม่รู้ อีกอันหนึ่งคือไหลแล้วไปจ้องอะไรนิ่งๆ อยู่ จิตหลงไป เตลิดเปิดเปิงไป รู้ทัน จิตถลำลงไปจ้องอะไรนิ่งๆ อยู่ รู้ทัน ฝึกรู้อย่างนี้
ไปทำเอานะ ไปทำ คอยอ่านใจตัวเอง ไม่ใช่บังคับใจตัวเอง ใจเราจะเปลี่ยนแปลงเวลาตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ เวลาอยู่กับโลกข้างนอกนี่ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ ใจเราเปลี่ยน เวลาเรานั่งสมาธิ เราทำกรรมฐานอะไรอยู่คนเดียวนี่ ความคิดมันมากระทบใจ แล้วใจเราก็ทำงาน เช่น เราคิดว่า เอ๊ ปฏิบัติอย่างไรจะดีนะ ก็เที่ยวหา จิตก็ส่ายไปส่ายมาหา จะดูอะไรดี ให้รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน หรือไปเจออะไรแล้วไปจ้อง รู้ว่าจิตไปหลงไปเพ่งแล้ว คอยอ่านไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นจิตเราทำงานตลอดเวลา จะกระทบอารมณ์ภายนอก หรือกระทบความรู้สึกภายใน จิตก็เปลี่ยนแปลง คอยรู้ทันความเปลี่ยนแปลงของเขาไปเรื่อยๆ เราไม่ต้องไปสนใจรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสภายนอกหรอก ให้คอยรู้ทันความเปลี่ยนแปลงของจิตตัวเอง นี่ล่ะเราจะจับเหี้ยได้ สุดท้ายจิตปรุงอะไรเราก็รู้ ในที่สุดจิตก็พ้นจากความปรุงแต่ง จิตหมดความปรุงแต่ง จิตก็หมดความทุกข์แล้ว ค่อยๆ ฝึกไป
เอาไปทำ แล้วเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองในเวลาอันสั้น ขอให้มีความเจริญในธรรมทุกๆ คน
มูลนิธิเพื่อการเผยแผ่ธรรมะภาคภาษาจีน หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
6 มีนาคม 2567