ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิด

เรียนธรรมะ เราฟังหรือเราอ่านพอให้รู้วิธีปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ช่วยเราได้แค่นั้น ให้เรารู้วิธีปฏิบัติ ถัดจากนั้นเราก็ต้องลงมือทำด้วยตัวเอง ทำไปแล้วมีปัญหาติดขัดอะไร ก็ถามครูบาอาจารย์ ไม่ใช่นั่งคิดไปเรื่อยๆ ฟังแล้วก็คิดไปๆ หวังว่าวันหนึ่งจะเข้าใจธรรมะ ธรรมะเข้าใจไม่ได้ด้วยการคิดเอาหรอก ต้องลงมือเจริญสติ จุดอ่อนของปัญญาชน จุดอ่อนของกลุ่มคนจีนก็คือคิดมาก

เมื่อก่อนหลวงพ่อมีญาติอยู่กลุ่มหนึ่ง ใช้คำว่าเมื่อก่อน เพราะตอนนี้ตายไปเกือบหมดแล้ว เป็นหมอ เป็นหมอทั้งนั้นเลย หลายคนหลวงพ่อสอนให้รู้สึกตัว ให้ดูกายดูใจ เขาบอกเขายังดูไม่ได้ เขาเป็นหมอ ต้องคิดไว้ก่อน เออ ก็คิดไป ชาตินี้คิด ชาติหน้าก็ไปคิดต่อ ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิดเอา เรียนด้วยการรู้สึก รู้สึกกาย รู้สึกใจ ดูกายหายใจออก หายใจเข้า ก็เห็นร่างกายหายใจออกหายใจเข้า ไม่ใช่เราหายใจออก ไม่ใช่เราหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เราก็เห็นร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน

 

ธรรมะเรียนด้วยการรู้สึกเอา

ถ้าจิตเราตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว เวลาสติระลึกรู้กาย มันก็เห็นร่างกายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เรา แต่ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น เวลารู้สึกถึงกาย จิตกับกายมันจะไปรวมกัน มันจะรู้สึกอันนี้ตัวเราๆ เพราะฉะนั้นภาวะที่จิตตั้งมั่นเป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับการเจริญปัญญา ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น จิตเราก็เป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ระลึกลงในกาย มันก็กายเรา สติรู้ไปที่เวทนา มันก็รู้สึก นี่เราสุข เราทุกข์ กุศลอกุศลเกิดขึ้น มันก็รู้สึกว่าตอนนี้เราเป็นกุศล เรามีอกุศล มันมีเราแทรกเข้ามาตลอด เวลาเห็นรูป มันก็เป็นเราเห็น เวลาได้ยินเสียง มันก็เป็นเราได้ยิน เวลาคิด มันก็เป็นเราคิด

เพราะฉะนั้นจุดสำคัญที่เราจะเห็นว่ามันไม่มีเรา มีแต่สภาวธรรม รูปก็รูป เป็นสภาวธรรม เสียงก็เป็นสภาวธรรม กลิ่น รสเป็นสภาวธรรม ร่างกายเราเป็นสภาวธรรม ความสุข ความทุกข์เป็นสภาวธรรม กุศล โลภ โกรธ หลงเป็นสภาวธรรม จิตเป็นตัวสภาวธรรม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่คิดๆ เอา ต้องสัมผัสได้ สภาวธรรมบางอย่างสัมผัสได้ด้วยร่างกาย อย่างธาตุดินสัมผัสได้ด้วยร่างกาย ธาตุดินคือความอ่อน ความแข็ง

ลองจับมือตัวเองดู รู้สึกไหมมันมีบางจุดก็แข็ง บางจุดก็อ่อน ลองสัมผัสดู ทดลองทำ ลองสัมผัส สัมผัสลงไปอย่างนี้ หลายคนหลับไปเสียแล้ว ไม่รู้ว่าหลวงพ่อบอกให้สัมผัสดู ส่วนที่เรารู้สึกที่เราแตะต้องได้ด้วยมือเรา ตัวนี้มันแข็งบ้างอ่อนบ้าง มันคือธาตุดิน แขนเรามันบอกไหมว่ามันคือตัวเรา มันพูดไหม มันบอกไหมว่ามันคือเรา สัมผัสดู มันเป็นแค่ของแข็งๆ อ่อนๆ เรารู้ด้วยร่างกาย อันนี้สัมผัสด้วยร่างกาย สังเกตไหมในมือเราบางพื้นที่อุ่น อุ่นๆ บางที่เย็นๆ ตัวอุ่น ตัวร้อน ตัวเย็น เรียกว่าธาตุไฟ ความอุ่นมันบอกไหมว่ามันเป็นตัวเรา ลองดูสิ ดูของจริง ส่วนที่อุ่นๆ มันบอกไหมว่านี่คือเรา

ร่างกายเราจะสัมผัสธาตุได้ 3 อย่าง ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม สัมผัส ธาตุดินคือส่วนที่แข็งที่อ่อน มีกระดูกอยู่ แข็งๆ เป็นธาตุดิน กระดูกนี้มันบอกไหมว่ามันคือตัวเรา มันไม่ได้บอก มันไม่ได้บอกๆ ใจเราต่างหากไปหลงคิดเอาเองว่านี่คือตัวเรา ธาตุไฟ ส่วนที่ร้อน ตัวที่เย็น อันนี้เรียกว่าธาตุไฟ ธาตุไฟเยอะก็ร้อน ธาตุไฟน้อยก็รู้สึกเย็น ความเย็นความร้อนมันไม่เคยบอกเลยว่ามันเป็นตัวเรา เพราะฉะนั้นสภาวธรรมบางอย่างรู้ด้วยร่างกาย ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม รู้ด้วยการสัมผัสทางกาย สภาวะบางอย่าง รู้ด้วยตา คือสี คือแสงทั้งหลาย รู้ด้วยตา อันนี้เป็นสภาวธรรมเหมือนกัน ตัวรูปที่ตาเห็นก็เป็นสภาวธรรม เสียงก็เป็นสภาวธรรม เรารับรู้เสียงด้วยหู รับรู้กลิ่นด้วยจมูก รับรู้รสด้วยลิ้น รับรู้ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความตึง ความไหว ด้วยร่างกาย

สภาวธรรมที่เป็นรูปธรรมจำนวนมากมีไม่มาก ถ้าไปเทียบกับนามธรรม บางอันก็รู้ด้วยตา บางอันก็รู้ด้วยหู บางอันรู้ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย รู้ด้วยตามีอันเดียว คือสีที่ตัดกันเป็นรูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ รู้ด้วยหูมีอันเดียวคือเสียง หูไปดมกลิ่นไม่ได้ รู้ด้วยจมูกมีอย่างเดียวคือกลิ่น รู้ด้วยลิ้นมีอย่างเดียวคือรส รู้ด้วยร่างกาย มี 3 อย่าง ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม รวมแล้วได้กี่อย่าง ตา หู จมูก ลิ้น 7 อย่าง สภาวธรรม 7 อย่างนี้รู้ด้วยการสัมผัสทางร่างกาย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย สภาวธรรมที่เหลือ รู้ด้วยใจ อย่างร่างกายเราเคลื่อนไหว เราหลับตา เราไม่ได้เอามือไปจับ ร่างกายเราหันไปหันมาอย่างนี้ เราไม่ต้องเอามือไปจับถึงจะรู้ว่าเคลื่อนไหว เรารู้ด้วยใจ ฉะนั้นรูปจำนวนมากรู้ด้วยใจ นามธรรมทั้งหมดรู้ด้วยใจ นิพพานรู้ด้วยใจ เรื่องราวที่คิด เรียกว่าสมมติบัญญัติ รู้ด้วยใจ

เพราะฉะนั้นใจทำหน้าที่รับรู้อะไรได้เยอะแยะเลย แยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ อันหนึ่งรู้สภาวธรรม คือรูปธรรม นามธรรม แล้วก็มรรคผลนิพพาน อันนี้รู้ด้วยใจ อีกส่วนหนึ่งก็คือสมมติบัญญัติ คือเรื่องราวที่เราคิดขึ้น อันนี้ก็รู้ด้วยใจ แต่เวลาเราทำกรรมฐาน เราจะไม่ไปดูเรื่องราวที่คิด เพราะเราคิดได้ทั้งวันทั้งคืน ไม่มีไตรลักษณ์หรอก มันไปเรื่อยๆ แต่อย่างความสุขที่เกิดขึ้นในใจมีไตรลักษณ์ มันสุขเกิดขึ้นได้ ตั้งอยู่แล้วมันก็ดับได้ ความทุกข์ที่เกิดทางใจ มันมีไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับได้ กุศล อกุศลใช่ไหม เกิดที่จิตใจเราเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป มันมีไตรลักษณ์

มรรคผลก็มีไตรลักษณ์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับเหมือนกัน อยู่ชั่วขณะ อริยมรรคเกิดชั่วขณะ อริยผลก็เกิดทีละขณะๆ 2 – 3 ขณะ นิพพานเป็นสภาวะพิเศษ เป็นสิ่งเดียวที่ไม่เกิดไม่ดับ เราก็สัมผัสพระนิพพานได้ด้วยใจ ไม่ได้ด้วยตา เพราะฉะนั้นอย่างนั่งสมาธิแล้วก็เห็นหรือมองเห็นพระพุทธเจ้าอยู่ในโลกพระนิพพาน อันนั้นไม่ใช่นิพพานแล้ว นิพพานรู้ด้วยใจเป็นธรรมารมณ์ ไม่ใช่รู้ด้วยตา

 

ต้องหัดรู้สภาวธรรมให้ได้

เราจะต้องหัดรู้สภาวธรรมให้ได้ เบื้องต้นหัดรู้สักอย่างหนึ่ง 2 อย่าง รู้สภาวธรรม สภาวธรรมที่รู้ง่ายๆ ร่างกายเรานี้ล่ะ แต่ไม่ต้องแยกละเอียดถึงธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมมันยากนิดหนึ่ง รู้สึกร่างกายลงไป แต่ละส่วนๆ ลองจับผมของตัวเองดู เห็นไหม สัมผัสเส้นผมไป เส้นผมมันบอกไหมว่ามันเป็นตัวเรา เส้นผมไม่เคยบอกเลยว่าเป็นเรา จิตมันไปขี้ตู่ว่าผมเป็นตัวเรา เราลองสัมผัสร่างกายทีละส่วน ๆ ไป เราจะเห็นว่าจริงๆ แล้วมันก็เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา วัตถุที่ประกอบเป็นร่างกาย เราเนรมิตขึ้นมาหรือเปล่า ไม่ใช่ มันก็เป็นวัตถุของโลกนั่นล่ะ

อย่างน้ำที่เรากิน เราบอก อุ๊ย น้ำนี่สะอาดบริสุทธิ์ กินได้ ที่จริงมันอยู่ในโลกนี้มา 4,000 ล้านปีแล้ว หรืออาจจะนานกว่านั้นอีก ก่อนที่มันจะมาเป็นน้ำดื่มให้เรา จนกลายมาเป็นเลือดของเรา มันอาจจะเป็นน้ำเหลือง เป็นน้ำเน่าของชีวิตอื่นของสัตว์อื่นมาก่อนแล้ว มันเป็นสมบัติที่ผลัดกันใช้ ผลัดกันชม ร่างกายเรานี้มันเป็นก้อนธาตุ เราเนรมิตธาตุนี้ขึ้นมาหรือเปล่า ก็เปล่า ร่างกายมันเป็นก้อนธาตุ เรากินมันเข้ามา เรากินอาหารอย่างนั้น กินอาหารอย่างนี้ กินแล้วก็ขับถ่ายไปๆ บางทีหมูก็ไปกินอุจจาระ แล้วเราก็มากินหมูอีก บางทีขับถ่ายไป ต้นไม้ดูดไป แล้วเราก็ไปกินต้นไม้ อย่างเขาปลูกผักอย่างนี้ แล้วเอาอุจจาระไปราดผัก ผักก็งาม ขายได้ราคา น่ากิน เราก็กลับมากินอีก มันก็คือธาตุที่หมุนเวียนผลัดกันใช้ไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่ของเราที่แท้จริง ถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องคืนธาตุทั้งหมดให้โลกไป อันนี้เรียกว่าสมบัติผลัดกันชม ไม่มีอะไร มันไม่มีอะไรที่ว่าเป็นตัวเราเป็นของเราที่แท้จริงเลย มีแต่จิตนั่นล่ะเข้าไปสำคัญมั่นหมายผิดๆ ว่านี่คือตัวเรา นี่คือของเรา

เราเรียนกรรมฐาน ไม่ใช่นั่งคิดเอา เรารู้สึกเอาจริงๆ สัมผัสไปที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไล่ๆๆ ทำไมท่านสอนผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันเป็นร่างกายส่วนที่มองเห็นได้จากภายนอก ถ้าละเอียดลงไปก็แยกแยะ ออกไปได้อีกเป็นเนื้อ เป็นเอ็น เป็นกระดูก เป็นเยื่อในกระดูก เป็นมันสมอง เรียกเยื่อในกะโหลกศีรษะ ในอาการ 32 หลวงพ่อเคยท่องอาการ 32 แล้วไล่ๆ ไล่ๆ ไป โอ๊ย มันหายไปอันหนึ่ง มันไม่มีกระเพาะๆ ก็เหมารวมอยู่ในกลุ่มของลำไส้ก็แล้วกัน ทางเดินอาหาร ก็แปลกดี มันตกกระเพาะไปอันหนึ่ง มีม้าม มีตับ มีอะไรต่ออะไร มีไต มีหัวใจ อาการ 32 แยกไว้ มีไส้ใหญ่ ไส้เล็ก แยก ขาดกระเพาะไปอันเดียว

แต่เราไม่ต้องแยกเข้าไปถึงข้างในก็ได้ เรามองไม่เห็น เราดูของที่เรามองเห็น ผม ขน ขนคิ้ว เป็นเราไหม เล็บเป็นเราหรือเปล่า ฟันเป็นเราหรือเปล่า หนังเป็นเราหรือเปล่า เรียกว่ากรรมฐาน 5 ไม่ต้องเรียนถึง 32 เรียนถึงกรรมฐาน 5 ก่อนก็ได้ เวลาจะบวชพระอุปัชฌาย์จะต้องสอนกรรมฐาน 5 ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ต้องสอนคนที่จะเข้ามาบวช ถ้าอุปัชฌาย์ไม่สอน อุปัชฌาย์อาบัติ มีโทษๆ ทำไมไม่สอนกรรมฐาน 5 มีโทษมาก เพราะการพิจารณากรรมฐาน 5 นั้นอาจจะทำให้ลูกศิษย์ที่มาบวชบรรลุพระอรหันต์ได้ เพราะฉะนั้นถ้าลืมไม่สอนกรรมฐาน 5 ถือว่าบกพร่อง ฉะนั้นกรรมฐาน 5 ตัว ไม่ต้องเรียนถึง 32 ตัว เรียน 5 ตัวนี้ก็พอ เอาใจตลาดเต็มทีแล้ว ย่อลงมาเหลือเล็กนิดเดียว ร่างกายก็เยอะแยะ ย่อยลงมาเป็นอาการ 32 กรุ๊ป แยกออกมาเป็นกลุ่มย่อยๆ ที่น่าเรียน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อันนี้ดูง่าย

ผมของเราเป็นอย่างไร สวยงามไหม สะอาดหรือเปล่า ไม่สระผมหลายๆ วันเป็นอย่างไร เออ เป็นปฏิกูล ไม่สวยไม่งาม ผมของเราเที่ยงไหม ไม่เที่ยง ทีแรกก็สั้นแล้วต่อมาก็ยาว ประมาณเดือนหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็ยาวสักเซนติเมตรหนึ่ง ยาวไปเรื่อยๆ ยาวมากๆ ก็หลุด บางคนหลุดตั้งแต่ยังไม่ทันยาว พอหลุดออกมาแล้วน่าชื่นชมไหมหรือน่ารังเกียจ เราไปร้านอาหาร ไปอยู่ภัตตาคารหรูหรา สั่งอาหารมาแล้วมีเส้นผมอยู่ด้วย ดีใจหรือว่าไม่พอใจ มีผมของคนอื่นไปอยู่ในอาหาร รู้สึกไหมว่าจริงๆ แล้ว ผมเส้นเดียวก็ยังน่ารังเกียจเลย แต่พอมันอยู่บนหัวเราเราทำไม่รู้ไม่ชี้ ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่สวย มันไม่งาม มันเป็นอสุภะ

ผม ขน เล็บ ฟัน หนังนี่ล่ะมันทำให้คนดูดี อย่างผู้หญิงสวย ถามว่ามันสวยที่ไหน ก็สวยที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าผู้หญิงคนนั้นถูกน้ำร้อนลวก หนังลอก ตัวแดงๆ สวยไหม ไม่เอาแล้ว เห็นแล้วสยอง ผู้หญิงสวยแต่ในปากมีฟันอยู่ซี่เดียว นอกนั้นผุไปหมดแล้ว เน่า เหม็นหึ่ง สวยไหม ไม่สวยแล้ว พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังเรื่อยๆ แล้วเราจะรู้ว่าร่างกายเราเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ ไม่สวยไม่งาม น่ารังเกียจ ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง อย่างฟันเรามันไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ผุ เดี๋ยวก็กร่อน เดี๋ยวก็หลุดออกมา รักษาฟันให้ดี อย่างหลวงพ่อรักษาฟันดี ฟันหลวงพ่อไม่บิ่นไม่แตกอะไรอย่างนี้ รักษาดี แต่ว่าหมอฟันเขาบอกว่า ฟันมันเริ่มเหี่ยวย่นเพราะความแก่ เห็นไหม รักษาดีอย่างไรมันก็แก่ เนื้อหนัง เนื้อดูไม่ออก หนังมันหุ้มอยู่ข้างนอก ดูไป ผม ขน เล็บ เล็บเราสวยนักหรือ ถ้าปล่อยไว้ ไม่ดูแลก็สกปรก ถ้าเราตัดเล็บออกมา เอาไปคลุกข้าวกิน กล้ากินไหม ก็ไม่กล้า

 

ถ้าไม่เห็นสภาวธรรม เจริญปัญญาไม่ได้
ถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์ ทำวิปัสสนาไม่ได้

เพราะฉะนั้นการที่เราดูกรรมฐาน 5 เราจะรู้เลยร่างกายนี้เป็นปฏิกูลอสุภะ ตรงนี้ดีอย่างไร เห็นอย่างนี้ เห็นตัวนี้จะข่มราคะได้ อย่างพวกพระหนุ่มๆ มาบวช อุปัชฌาย์สอนกรรมฐาน 5 ให้ พอพิจารณากรรมฐาน 5 ราคะก็สงบลงไป ไม่กำเริบ จิตก็ทรงสมาธิง่าย ถ้าจิตเต็มไปด้วยราคะ สมาธิก็ไม่เกิด สมาธิไม่เกิดเดินปัญญาไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ท่านให้สอนกรรมฐาน 5 อันแรกเลยข่มราคะ อันที่สองมองได้ละเอียดลึกซึ้งขึ้นไป กรรมฐาน 5 เป็นตัวแทนของร่างกายเรานี้ ทุกอย่างไม่เที่ยง ผมก็ไม่เที่ยง เคยดำแล้วเดี๋ยวก็ขาว เล็บก็ไม่เที่ยง งอกออกมา ทีแรกก็สวยๆ พอเล็บยาวๆ มันไม่ตรงแล้ว เล็บยาว มันจะบิดไปบิดมา น่าเกลียดมากเลย ดูไม่ต่างอะไรกับเล็บสัตว์เลย แล้วมันก็ไม่เที่ยง ทีแรกก็สั้นแล้วก็ยาว พอยาวไปเราก็ตัดแล้วก็สั้นอีกแล้ว เลื่อนไปเลื่อนมา แล้วก็เป็นอนัตตา สั่งไม่ได้

อย่างเราสั่งผิวหนังเรา จงมีน้ำมีนวล สวยงามตลอดเวลา สั่งไม่ได้ สั่งผมเราให้สวยงามตลอดเวลา สั่งไม่ได้ สั่งขนให้งาม สั่งไม่ได้ บางคนมีคิ้วดีๆ แล้วไม่ชอบ ไปโกนคิ้วออกแล้วไปสักคิ้วปลอม ก็ไม่เป็นไรอยากสัก มีผู้หญิงคนหนึ่ง เห็นแล้วขำ ไปทำคิ้วปลอมมา แล้วไปบวชชี แม่ชีมีคิ้วก็ดูแปลก คราวนี้ไปสักสีขาว สักสีเนื้อ สักสีเหมือนเนื้อตัวเองเลย ลบสีดำ กลบสีดำไว้ ทีนี้พอมาบวช นานๆ โดนแดด อ้าว ส่วนอื่นดำหมดแล้ว คิ้วยังขาวอยู่อีกแล้ว ดูยุ่งๆ ฉะนั้นอะไรเป็นธรรมชาติของเราอย่าไปยุ่งกับมันมากเลย เอามาเรียนกรรมฐาน ไม่ต้องไปตกแต่งอะไรมากมายนักหรอก แต่งอย่างไรก็กลบความน่าเกลียดไม่ได้หรอก มีผู้หญิงไปชอบพระโมคคัลลานะ พระพุทธเจ้าก็เคยเจอผู้หญิงมาจีบ ท่านบอกท่านไม่เอา เห็นแต่ปฏิกูลอสุภะ ไม่มีราคะ

ค่อยๆ ดูไปร่างกายเรา ทีแรกก็เห็นมันเป็นของไม่สวยไม่งาม เป็นอสุภะ พอกำลังของเราแก่กล้าขึ้นก็เห็นมันไม่เที่ยง มันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ นั่นคือทุกขตา ทุกขัง แล้วมันก็เป็นอนัตตา บังคับมันไม่ได้ ตรงที่เราเห็นกรรมฐาน 5 เป็นปฏิกูลอสุภะ จิตเราสงบ มันเป็นสมถกรรมฐานชนิดหนึ่ง ตรงที่เราเห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั่นเราขึ้นวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนาต้องเห็นไตรลักษณ์ ฉะนั้นเบื้องต้นอาจจะเห็นปฏิกูลอสุภะก็ได้ แล้วก็ยกระดับขึ้นมา จิตเราตั้งมั่น เห็นปฏิกูลอสุภะ ราคะไม่เกิด จิตมีสมาธิขึ้นมา พอมีสมาธิขึ้นมา สติระลึกรู้เส้นผมด้วยจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา เราก็จะเห็นไตรลักษณ์ ถ้าจิตเราตั้งมั่น สติระลึกรู้ขน เล็บ ฟัน หนังก็จะเห็นขน เล็บ ฟัน หนังตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ นี่เราเดินปัญญาได้แล้ว อันนี้เดินปัญญาด้วยการดูกาย

ถ้าเดินปัญญาด้วยการดูจิต เบื้องต้นจิตฟุ้งซ่านมาก ราคะแรง อาจจะพิจารณากรรมฐาน 5 อย่างนี้ล่ะ จิตสงบจากราคะแล้ว เราก็คอยรู้สึก อ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ จิตตอนนี้ไม่มีราคะ ประเดี๋ยวลืมคิดถึงอสุภะ ไปเห็นผู้หญิงสวยๆ ไปคิดถึงสุภะแล้ว ไม่ใช่อสุภะ เห็นแต่ความงาม ราคะที่หายไป ก็เกิดขึ้นมาอีก เออ จิตเมื่อกี้ไม่มีราคะ จิตตอนนี้มีราคะ มันเป็นเอง เราไม่ได้สั่ง นี่คือการเห็นอนัตตา เห็นอนัตตาของจิต จิตมันมีราคะขึ้นได้เอง หรือจิตมันเสียอกเสียใจแฟนทิ้ง สามีทิ้ง จิตเศร้าโศก เราก็ดูไปเรื่อยๆ ความเศร้าโศกมันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็หายไป ไม่มีใครเศร้าตลอดเวลาหรอก

อย่างบางคนเศร้าใจคนที่เรารักตาย ไปงานศพ อยู่ที่วัดร้องห่มร้องไห้ กลับมาบ้านได้ยินเสียงอะไรก๊อกแก๊กๆ เอ้า สงสัยผีแฟนเรากลับมาเยี่ยม คราวนี้ไม่ร้องไห้แล้ว คราวนี้กลัว ใจมันจะเปลี่ยน ใจมันเปลี่ยนแปลงไป เราสั่งไม่ได้ มันจะอยากร้องไห้ มันก็อยากร้องไห้ ห้ามไม่ได้ แป๊บเดียวกลายเป็นกลัว กลัวผีอีกแล้ว จากร้องไห้เปลี่ยนมาเป็นกลัว เราเลือกไม่ได้ เราสั่งไม่ได้ การที่เราเห็นจิตใจเราเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ สั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เรียกว่าเห็นอนัตตา การที่เราเห็นว่าสภาวะทุกสิ่งทุกอย่างในจิตใจเราเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เรียกว่าเห็นอนิจจัง แล้วสภาวะบางอย่างมันอายุยืน อย่างความสุข ความสุขที่เกิดจากกุศลอยู่ยาวๆ ได้ เพราะจิตที่มีกุศล บางทีเกิดซ้ำๆๆ ความสุขที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศลก็เกิดซ้ำๆ ขึ้นมา

อย่างจิตทรงฌานอย่างนี้ มีความสุขอยู่ได้ตั้งนาน จริงๆ ความสุขก็เกิดดับ มันเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต แต่ถ้าเป็นความสุขที่เกิดจากกุศล แล้วเดี๋ยวความสุขเกิดแล้วก็ดับไป กุศลก็ยังเกิดอีกซ้ำอีก ความสุขก็เกิดซ้ำอีก เราจะรู้สึกว่าความสุขอยู่ยาวๆ จริงๆ เกิดดับ แต่เรามองไม่เห็นเอง แล้วเราเห็นว่าจิตที่มีความสุขอยู่ยาวๆ ที่จริงจิตที่มีความสุขก็เกิดดับตลอดเวลา เพียงแต่มันเกิดใหม่ มันเหมือนดวงเดิม มีความสุขเหมือนเดิม พอเราหัดรู้หัดดู เราจะเห็นเลยว่าทุกอย่างเป็นของไม่คงที่ ความสุขที่มีอยู่ ดู ทำใจสบายๆ รู้ไปเรื่อยๆ อย่างใจเรานั่งสมาธิ มีความสุขขึ้นมา ไม่ต้องไปดูว่ามันเกิดดับเป็นขณะหรอก ถ้าคิดจะดูอย่างนั้น จิตหลุดออกจากฌานเลย

ถ้าจิตมันมีความสุขขึ้นมา เรามีสติรู้ไป เราจะเห็นว่าความสุข ค่อยๆ ถูกบ่อนทำลาย ค่อยๆ ถูกบีบคั้นให้สลายตัวไป จิตอาจจะหลุดออกจากฌาน ไม่มีความสุขอย่างในฌานแล้ว หรือจิตเข้าฌานลึกขึ้นไปอีก กลายเป็นอุเบกขา ความสุขกลายเป็นอุเบกขา เออ ความสุขนี้ ก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย อย่างนี้เรียกว่าเห็นทุกขัง เห็นทุกขตา แต่ถ้าเป็นความสุขที่เกิดร่วมกับราคะ แล้วสติเกิด ราคะดับ ความสุขที่เกิดร่วมกับราคะก็ดับทันทีเลย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นความสุขที่เกิดจากกุศลแล้วจิตยังเป็นกุศลอยู่ ก็ยังสุขอยู่ได้ช่วงหนึ่ง อย่างจิตทรงฌาน ออกจากฌานมา จิตยังมีความสุขอยู่ได้หลายวัน แต่เสร็จแล้วก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย

การเรียนกรรมฐานนั้นต้องเห็นสภาวธรรม จะรูปธรรมอย่างที่หลวงพ่อสอนทีแรก หรือเห็นนามธรรม คือความรู้สึกทั้งหลาย ความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์ กุศลอกุศล หรือจิตที่เป็นตัวรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราต้องเห็นสิ่งเหล่านี้แสดงไตรลักษณ์ให้ได้ ถ้าเราไม่สามารถเห็นสภาวธรรม เราเจริญปัญญาไม่ได้ ถ้าเห็นแต่สภาวธรรม จิตไม่ได้ตั้งมั่น ไม่เห็นไตรลักษณ์ เราทำวิปัสสนาไม่ได้

 

เงื่อนไขในการทำวิปัสสนา

เพราะฉะนั้นจะต้องมีเงื่อนไขในการทำวิปัสสนา อันที่หนึ่ง มีสติรู้สภาวธรรมที่กำลังมี กำลังเป็นอยู่ อันที่สอง มีจิตที่ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อันที่สาม เมื่อสติระลึกรู้รูปธรรมหรือนามธรรมแล้ว สัญญาคือความหมายรู้ ความหมายรู้ของจิตเข้าไปหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรมนั้นๆ มีองค์ประกอบอย่างนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็จะข้ามตัวสัญญาไป เพราะฟังแล้วเข้าใจยาก

อย่างเรามีจิตตั้งมั่น เราเห็นมืออย่างนี้ เห็น สติรู้มือ คือจิตตั้งมั่น จิตไม่เดินปัญญา เฉย ถ้าจิตเดินปัญญา มันจะไปหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นผู้รู้ก็ยังมีหลายแบบ จิตที่ตั้งมั่นแล้ว มีทั้งแบบเดินปัญญาได้กับแบบไม่เดินปัญญา แบบเดินปัญญาได้ เขาเรียกญาณสัมปยุต จะประกอบด้วยปัญญาได้ ถ้าไม่เจริญปัญญา ตั้งมั่นนิ่งๆ เฉยๆ อยู่ เรียกญาณวิปยุต ไม่มีปัญญา แล้วจิตตั้งมั่นตัวนี้ต้องเกิดเอง ถึงจะมีกำลังแก่กล้า ถ้าเราบิลด์ให้เกิด พยายามทำให้เกิด แล้วก็ตั้งขึ้นมาได้แป๊บหนึ่ง แล้วบอกว่านี่เป็นจิตตั้งมั่น ไม่ใช่จิตตั้งมั่นที่ดี จิตตั้งมั่นที่ดี ไม่ต้องบิลด์ ให้เกิด

เราหัดฝึกของเราแบบที่หนึ่ง เข้าฌานถึงฌานที่สอง จะได้จิตที่ตั้งมั่นแล้วแข็งแรงมาก ตั้งแต่ฌานที่สองยันฌานที่แปด จะได้ตัวรู้ที่แข็งแรง ถ้าทำไม่ได้ อาศัยสติรู้สภาวธรรมเป็นขณะๆ ทุกครั้งที่สติรู้สภาวธรรม สมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิด เกิดทีละขณะ เป็นขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิเกิดถี่ๆ ถี่ๆ ขึ้น มันจะมีกำลัง ทรงตัวขึ้นมา เหมือนกับเป็นอุปจารสมาธิ มันทรงตัวขึ้นมาได้ อย่างบางคนภาวนา หัดรู้สึกๆ จิตมันทรงตัวขึ้นมาได้ อันนั้นเป็นสภาวะที่เป็นอุปจารสมาธิแล้ว ไม่ใช่เป็นขณะๆ แล้ว มันทรงตัวอยู่ได้ยาวๆ เหมือนจิตอยู่ในฌานแล้วถอยออกจากฌาน ก็ทรงตัวอยู่ได้ยาวๆ อยู่ในอุปจารสมาธิได้อีกช่วงหนึ่ง ถ้าจะฝึกให้ได้ตัวรู้ ด้านหนึ่งก็คือเข้าอัปปนาสมาธิ เข้าฌานตั้งแต่ฌานที่สองขึ้นไป แล้วออกมาที่อุปจารสมาธิ ตรงนี้เอามาทำงานได้ดี

อีกวิธีหนึ่ง อาศัยสติรู้สภาวะทีละขณะๆ จะได้ขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิ พอแก่กล้าขึ้นจะมีกำลังเหมือนอุปจารสมาธิขึ้นมา ก็เอาไว้เดินปัญญา เห็นไหม มันจาก 2 ด้าน 2 ด้านมาลงที่เดียวกันได้ ได้ที่จิตตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันนี้ล่ะ เมื่อมีจิตตั้งตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้สภาวธรรม สภาวธรรม รูปธรรมหรือนามธรรม ถ้าไประลึกรู้เรื่องราวที่คิดเป็นอารมณ์บัญญัติ ไม่มีไตรลักษณ์หรอก คิดมันคิดได้เรื่อยๆ เพ้อเจ้อไปวันๆ เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังหลงอยู่ในโลกของความคิดจะไม่เห็นสภาวธรรม เพราะธรรมชาติของจิตรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว พอจิตไปรู้เรื่องราวที่คิดเสียแล้ว จิตจะรู้สภาวธรรมไม่ได้ แล้วในขณะที่จิตรู้สภาวธรรม จิตจะไปรู้เรื่องที่คิดไม่ได้ จิตมารับรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว เพราะฉะนั้นความคิดปิดบังทำให้เราไม่เห็นสภาวธรรม ฉะนั้นอย่าไปหลงคิดเอา ให้รู้สึกเอา

สภาวธรรมที่เป็นรูปธรรม 7 อย่าง รู้ด้วยกาย รูปที่ตามองเห็น ตา มันก็เป็นกาย เสียงที่หูได้ยิน อย่างที่สอง หูก็เป็นกาย กลิ่นที่จมูกรับรู้ จมูกก็เป็นกาย รสที่ลิ้นรับรู้ ลิ้นมันก็เป็นกาย ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความตึง ความไหว คือธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม รู้ด้วยกาย ที่ให้จับตอนแรก บางคนยังนั่งเพ้อๆ ฝันๆ อยู่ บอกให้จับ ยังไม่จับเลย พูดแล้วก็ยังจิตรวม รวมกับโมหะสิ กินข้าวอิ่มๆ เลยรวมไปเลย ลองสัมผัสดู ไม่มีเรา รู้สึกไป ฉะนั้นรูปธรรม 7 อย่างรู้ด้วยกาย ที่เหลือ รูปธรรมทั้งหมดนามธรรมทั้งหมดรู้ด้วยใจ เรื่องราวที่คิดรู้ด้วยใจ มรรคผลนิพพานรู้ด้วยใจ ฉะนั้นใจเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์กว้างขวางเยอะแยะที่สุดเลย กว้างที่สุดเลย

ใจมันจะเหน็ดเหนื่อยมาก ทำงานหนัก ฉะนั้นทุกวันเราต้องแบ่งเวลาให้ใจได้พักผ่อนบ้าง พักผ่อนอย่างไหนไม่เป็น นั่งไหว้พระไป นั่งสวดมนต์ มองพระพุทธรูป สวดมนต์ คิดถึงพระพุทธเจ้า ใจไม่วอกแวกไปเรื่องอื่น ตอนนี้เป็นเวลาที่เราจะไหว้พระสวดมนต์ เราจะคิดถึงพระพุทธเจ้า ฝึกจนเคยตัวเคยชิน ถึงเวลาใจก็อยากสวดมนต์ หลวงพ่อสวดมนต์วันหนึ่งไม่รู้ว่าเท่าไรเลยทุกวันนี้ ไม่ใช่ไม่สวด หลวงพ่อก็ยังสวดมนต์เยอะแยะเลย สวดรอบใหญ่ๆ วันหนึ่ง 3 – 4 รอบ สวดย่อยๆ นับไม่ถ้วน สวดอะไร พุทโธๆๆ นี่สวดมนต์ สวดอยู่ในใจ สวดพุทโธๆๆ แล้วใจสงบสบาย สติรู้ความสงบความสบาย จิตก็ไม่เข้าไปเสพความสงบสบาย ถ้าจิตเข้าไปติดอีก ก็สร้างภพสร้างชาติต่อไปอีก

ค่อยๆ ฝึกตัวเอง สมาธิสำคัญไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่ต้องทำให้ถูก สมาธิเคลิ้มงอกแงกๆ มันเป็นมิจฉาสมาธิ ทำไปแล้วก็อาจจะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้ นั่งก็เคลิ้ม น้ำลายยืด ตายแล้วไปเป็นงูเหลือมงูหลามอะไรอย่างที่เขาว่า ฉะนั้นพยายามฝึกรู้สภาวะให้ได้ สภาวะที่ไม่เคยหายไปไหนเลยก็ตัวรูปเรานี้ล่ะ ตัวร่างกายเรา ไม่เคยหาย แต่จิตหายเก่ง แวบเดียวหนีไปที่อื่นแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าดูจิตไม่ออก ดูกาย กายมันไม่เคยหนีไปไหน รู้สึกลงในกายไปเรื่อยๆ ไม่ไปเพ่งไปจ้องกาย เพ่งจ้องกาย กายก็ลำบาก มันก็เป็น อัตตกิลมถานุโยค ทำตัวเองให้ลำบาก

สรุปก็คือถ้าเราจะภาวนาอย่าไปคิดเอา ฟังเยอะก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าไรหรอก ฟังเพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติ อ่านเพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติ พอรู้วิธีปฏิบัติแล้วก็ลงมือปฏิบัติ เบื้องต้นทำความสงบเข้ามา ถ้าใจมันไม่สงบ ก็ทำกรรมฐานที่ให้ใจสงบ อย่างการพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังอะไร ใจก็จะได้สมาธิขึ้นมา หรือเก่งกว่านั้นก็พิจารณาอาการ 32 ถ้าเราทรงฌานจริงๆ ถึงจะพิจารณาได้ เพราะข้างในเราไม่เห็น ถ้าใจไม่มีสมาธิพอ มันก็ไม่เห็นอวัยวะข้างใน

แต่ของที่ดูง่าย ของ 5 อย่าง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าดูไปเรื่อยๆ ดูไป ไม่สวยไม่งาม ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไปเรื่อยๆ จิตจะได้สมาธิขึ้นมา แล้วได้สมาธิด้วยการพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันจะเห็นว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ ขันธ์มันจะแยก พอขันธ์แยกได้แล้ว พอสติระลึกรู้ผม มันจะเห็นผมไม่ใช่เรา จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา รูปกับจิตแยกออกจากกัน ก็จะเห็นรูปมันไม่ใช่เรา ผมไม่ใช่เรา ขน เล็บ ฟัน หนังไม่ใช่เรา ค่อยดูไปเรื่อยๆ

แล้วดูไปๆ จิตเกิดปีติ สติระลึกรู้ มีปีติผุดขึ้น เอ้อ ปีติมันเกิดเอง เราสั่งไม่ได้ สั่งให้มีปีติก็ไม่ได้ ปีติก็เป็นอนัตตา ปีติเข้ามาในส่วนนามธรรมแล้ว หรือดูไปๆ มีความสุข ผุดขึ้นมา จิตมีสมาธิแล้ว ดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มีสมาธิแล้ว ความสุขผุดขึ้นมา เราก็เห็นความสุขเมื่อกี้ไม่มี ตอนนี้มี มีแล้วอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ นี่มันไม่เที่ยง มันมาเอง มันไปเอง นี่เป็นอนัตตา

จากการดูกายมันจะค่อยเขยิบ มีกำลังแล้วค่อยเขยิบเข้ามาเห็นส่วนที่เป็นนามธรรมได้ ถ้าคนไหนจิตมีกำลังแล้วก็โดดเข้าไปดูนามธรรมได้เลย อย่างหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อได้ผู้รู้มาตั้งแต่ตอน 10 ขวบแล้ว จิตเป็นผู้รู้ส่วนใหญ่ ผู้หลงมีน้อย ฉะนั้นจิตมันเป็นผู้รู้

 

ค่อยดูจากของจริงจนถึงกิเลส

เจอหลวงปู่ดูลย์ ไปกราบท่าน บอกหลวงปู่ผมอยากปฏิบัติ ท่านหลับตาไปนานเลย สัก 40 นาที ราวๆ นี้ ลืมตาขึ้นมา ท่านก็สอน “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” รู้ด้วยว่าอ่านหนังสือมามากแล้ว หลวงพ่ออ่านพระไตรปิฎกตั้งหลายรอบเพื่อจะหาวิธีปฏิบัติว่าจะลงมืออย่างไร แล้วก็หาไม่เจอ หลวงปู่บอกอ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง หลวงปู่ไม่สอนหลวงพ่อดูกาย จิตหลวงพ่อมันมีแรงอยู่แล้ว เห็นจิตมันทำงานได้ ดูจิตเราจะเห็น 2 อย่าง หนึ่ง ความรู้สึกที่เกิดร่วมกับจิต เรียกว่าเจตสิก สุข ทุกข์ ดี ชั่ว อีกอันหนึ่งเห็นพฤติกรรมของจิต คือจิตไปทำงานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง เห็นพฤติกรรมของมัน เฝ้ารู้เฝ้าดูก็เข้าใจจิต จิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา

ทีนี้บางคนหลวงปู่ดูลย์ก็สอนดูกาย บางคนจิตฟุ้งซ่านมาก ท่านสอนให้ดูผม ผมเส้นเดียวด้วย บางองค์ท่านก็สอนให้ดูกระดูกอะไรอย่างนี้ จนกระทั่งจิตมีสมาธิแล้วก็ค่อยเดินวิปัสสนาเอา เพราะฉะนั้นการปฏิบัติมันเป็นเรื่องเฉพาะตัว ทางใครทางมัน ไม่มีหลักสูตรแน่นอนถาวร มีแต่หลักเกณฑ์ หลักการปฏิบัติ อันนี้ต้องแม่น ส่วนอุบาย วิธี แทคติก กลยุทธ์ ที่เหมาะกับแต่ละคนนั้น ต้องเลือกเอาเอง ทางใครทางมัน ไม่เหมือนกัน

อย่างให้หลวงพ่อไปเริ่มจากกาย หลวงพ่อรู้สึกจืด เคยดูกาย ไม่ใช่ไม่เคย ดูลงไปที่ผม ผมหาย เห็นหนังศีรษะ ดูหนังศีรษะ หนังศีรษะหาย เห็นหัวกะโหลก ดูหัวกะโหลกไป หัวขาดเลย เหลือแต่ตัว ดูตัวลงมา เนื้อหนังหาย หลุดหายหมดเลย เหลือแต่กระดูก ดูกระดูกลงไปอีก ระเบิดเปรี้ยงเลย กลายเป็นก้อนกรวดเล็กๆ เล็กๆ กระจายเต็มพื้น แล้วยังไม่เลิกดู ดูต่อไปอีก จากก้อนกรวด สลายเป็นคลื่นแสง แสงมันเป็นคลื่นด้วย มันเป็นคลื่นแสง สลาย กลืนเข้าคืนจักรวาล ดูแล้ว เฮ้อ แค่นี้หรือดูกาย จืด มันอยู่ที่จริตนิสัย บางคนดูกาย หูย สนุกจังเลย หลวงพ่อไปดูกายแล้วจืดจังเลย คับแคบ มีแค่นี้หรือ ดูไปก็สลายไป มาดูจิต โอ้ มันวิจิตรพิสดาร มีอะไรให้เรียนให้รู้เยอะแยะเลย สนุก

ไม่ใช่ทุกคนต้องดูอย่างหลวงพ่อ ทางใครทางมัน บอกแล้ว ดูจิตยังไม่เห็น ก็ดูกายไป ดูกายก็ไม่ใช่เพ่งกาย ดูกายก็รู้สึกกาย รู้สึกไป ทีแรกรู้สึกถึงความมีอยู่ เช่น รู้สึกถึงความมีอยู่ของจมูกอย่างนี้ รู้สึก รู้สึกสบายๆ ต่อไปเกิดปัญญาขึ้นมา ตัวนี้ว่างๆ มันว่างๆ มันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มันเริ่มเขยิบขึ้นมาสู่ปัญญาเห็นไตรลักษณ์แล้ว เดินทางนี้ก็ได้ ฉะนั้นทางเดินในสติปัฏฐานจะเริ่มจากกาย จากเวทนา จากจิต จากธรรมได้ทั้งหมด

พระพุทธเจ้าท่านทำสมถกรรมฐานด้วยอานาปานสติ ท่านเจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วยธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สัจจบรรพอันสุดท้ายเลย ท่านไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ ไม่ได้บรรลุสัมโพธิญาณเพราะอานาปานสติ อานาปานสติเป็นแค่ตัวชาร์จพลังให้จิตแล้วท่านมาดูปฏิจจสมุปบาท บางคนก็นึกว่าท่านคิดปฏิจจสมุปบาท ถ้าคิดก็ยังใช้ไม่ได้หรอก ท่านเห็นปฏิจจสมุปบาท บุญญาบารมีขนาดนั้นอินทรีย์แก่กล้าขนาดนั้นจะเห็นสภาวธรรมที่เป็นนามธรรม มันจะยากอะไร นักหนา ระดับพระโพธิสัตว์ใหญ่อย่างนั้น ท่านมาดู อะไรมีอยู่ ทุกข์ถึงมีอยู่ ชาติมีอยู่ ทุกข์ถึงมีอยู่

อะไรคือชาติ ชาติคือการได้มาซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลาเราไปหยิบฉวยเอา ตัวสุดท้ายเลยที่จะวางได้คือใจ หยิบฉวยเอาจิตขึ้นมาก่อน แล้วคราวนี้มีชาติแล้วก็มีทุกข์ ทันทีที่หยิบฉวยเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมา ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทันที เพราะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือตัวทุกข์ นี่ท่านเห็นสภาวะ ท่านเห็น แล้วอะไรมีอยู่ ชาติถึงมีอยู่ ภพมีอยู่ ชาติถึงมีอยู่ ทำไมต้องหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ก็เพื่อจะเอาไปทำงาน การทำงานของจิตนั่นล่ะเรียกว่าภพ พอจิตมันจะต้องทำงาน มันก็ต้องมีชาติ หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา นี่ไม่ใช่เรื่องพูดเล่นๆ เลย

ค่อยดูจากของจริงจนถึงกิเลส ตัวร้ายเลยตัวอวิชชา บางท่านดูแค่ถึงอวิชชา ยังไม่พอเลย ดูอะไรเป็นปัจจัยของอวิชชาอีกทีหนึ่ง จิตถึงจะยอม เห็นอาสวะเป็นปัจจัยของอวิชชา อวิชชาเป็นปัจจัยของอาสวะ จิตถึงยอม นี่มือระดับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่ใช่องค์นี้องค์เดียวที่ตรัสรู้ด้วยปฏิจสมุปบาท ทีนี้เราบารมีไม่ถึงขนาดนั้นแค่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นเป็นไตรลักษณ์ได้ก็เก่งแล้วล่ะ ฝึกอันนี้ให้ได้ก่อน ถ้าดูตัวนี้ชำนาญแล้ว มันเห็นจิตใจทำงานได้เอง

สรุปง่ายๆ อีกที คนจีนเรียนธรรมะแล้วชอบคิดเอา อย่าคิดเอา รู้สึกเอา

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
3 มีนาคม 2567