กฎของการปฏิบัติ

ธรรมะมันเหมือนเส้นผมบังภูเขา บางทีรู้สึกมันยากจัง จริงๆ มันแค่เส้นผมบังภูเขาจริงๆ ภาษาไทย ถ้าพูดให้รู้เรื่องอย่างนิ้วตั้งติดลูกตา มองอะไรไม่เห็น ทั้งๆ มันนิดเดียวเอง เห็นคนปฏิบัติตั้งมากมาย เมื่อก่อนไปเรียนที่สุรินทร์ ช่วงที่หลวงปู่ดูลย์มรณภาพแล้ว พวกพระที่ท่านรักดี ท่านก็พยายามภาวนากัน พวกรักดีน้อยหน่อยก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง พวกไม่รักดีก็ไม่ทำ

พระที่รักดีก็มี สมัยโน้น พยายามปฏิบัติ มีอยู่องค์หนึ่ง ท่านเป็นคู่ชกกับหลวงพ่อ คู่ชกในทางดี ไม่ใช่เป็นศัตรูกัน ท่านชอบหลวงพ่อมากเลย เจอหลวงพ่อ โอ้ ดีใจ บางทีเจอแล้วก็ชวนนั่งสมาธิประจันหน้ากัน แล้วก็ส่งจิตไปอย่างโน้น ส่งจิตไปอย่างนี้ เราก็ต้องคอยหลบคอยหลีก ท่านว่าท่านสนุก เรารู้สึกเล่นอะไร ไม่เห็นจะสนุกเลย อายุท่านเยอะแล้ว แต่ว่าท่านชอบเล่น

 

การปรุงแต่งจิตไม่ใช่การปฏิบัติ

วิธีปฏิบัติของท่าน แทนที่ท่านจะเดินอยู่ในหลักของการรู้ทุกข์ ละสมุทัย ท่านกลับพยายามแต่งจิต ไม่ต้องไปรู้ทุกข์อะไรหรอก ไม่ต้องรู้กายรู้ใจ ฝึกจิตให้มันนิ่งให้มันว่าง มีอยู่คราวท่านภาวนาจิตท่านว่าง พอไปเจอหลวงพ่อขึ้นไปสุรินทร์ ไปเจอท่าน ท่านบอกตอนตี 3 ให้ดูจิตท่าน จิตท่านหลุดพ้นแล้ว หลวงพ่อยังถามท่าน ทำไมต้องหลุดพ้นตอนตี 3 ตี 1 ไม่หลุดหรือ บอกท่านว่ามันไม่ใช่หรอก ถ้ามันพ้นจริง มันไม่ใช่ว่า พ้นเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้ชั่วโมง แต่ละวัน พ้นแล้วก็คือพ้น

ท่านก็ไปภาวนาใหม่ องค์นี้ตอนนั้นหลวงพ่อไม่ได้บวช ท่านเป็นพระ ท่านใจเด็ดจริงๆ ท่านก็ให้ลูกศิษย์โทรศัพท์มาบอกหลวงพ่อ ท่านผิดแล้ว ท่านไปดูแล้ว เออ ท่านผิด ท่านก็หาทางทำใหม่ ส่งจิตไปดู จิตหลวงปู่มั่นเป็นอย่างไร จิตหลวงปู่ดูลย์เป็นอย่างไร จิตหลวงตามหาบัวเป็นอย่างไร แล้วท่านก็ทำจิตของท่านให้เหมือนเลย แล้วแต่งจิตจนเหมือน พอเจอกัน ท่านก็บอกว่าท่านพ้นแล้ว วิธีพ้นก็คือทำจิตให้เหมือน

หลวงพ่อบอกมันไม่น่าจะใช่กระมัง ทำไมต้องไปเลียนแบบจิตคนอื่น พอไปพยายามทำให้เหมือน มันก็กลายเป็นจิตที่เรียกว่าอากิญจัญญายตนะ มันคล้าย เพราะในสภาวะนั้นไม่มีความคิด ไม่มีเวลา ไม่มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ กลางวัน กลางคืนอะไร ไม่มีทั้งนั้น มีแต่ความว่าง เมื่อจิตทรงอยู่ในความว่าง หลวงพ่อบอกท่านว่าไม่ใช่หรอก มันคล้ายๆ แต่ไม่ใช่ ท่านบอกใช่ ท่านมั่นใจ

หลวงพ่อเลยบอกท่านบอกว่า เคยได้ยินชื่อดาบส 2 องค์นี้ไหม ชื่ออาฬารดาบสกับอุทดาบส ท่านบอก เออ ไม่เคยได้ยิน บอกหลวงพ่อลองไปดูจิตดาบส 2 องค์นี้ จิตเป็นอย่างไร “ผมอยากรู้จังจิตดาบส 2 องค์นี้เป็นอย่างไร” ท่านบอก “เดี๋ยวคืนนี้จะนั่งสมาธิแล้วจะดู” พอเช้าขึ้นมาเจอกัน ท่านบอก “เราผิดแล้วล่ะ” ดาบส 2 องค์นั้นจิตว่าง สว่าง แต่มันส่งออกไปไกล ส่งออก ท่านบอกไปไกลมากเลย อีกกี่พระพุทธเจ้าจะได้กลับมาก็ไม่รู้

เพราะฉะนั้นการภาวนานี้ ไม่ใช่การนั่งแต่งจิตตัวเองให้เหมือนพระอรหันต์ การแต่งจิตไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติเลย มันทำด้วยโลภะ ทำด้วยความโลภ อยากดี อยากหลุดพ้น อยากบรรลุมรรคผล แล้วก็ไปแต่งจิตให้นิ่งๆ ว่างๆ ขึ้นมา ตรงนี้หลวงพ่อกล้าพูดเต็มปาก เพราะหลวงพ่อเคยทำผิดมาแล้ว ไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรก 6 กุมภาพันธ์ 2525 ท่านบอกให้ดูจิต หลวงพ่อก็ไปแต่งจิต ฝึกให้จิตว่างๆ สบายๆ แหม ดูดีจังเลย 3 เดือนแล้วขึ้นไปกราบหลวงปู่ดูลย์ บอกว่า “ผมดูจิตได้แล้ว จิตมันเป็นธรรมชาติคิดนึกปรุงแต่งวุ่นวาย แต่ผมสามารถทำให้มันนิ่งๆ ว่างๆ ได้แล้ว” ท่านบอก “ทำผิดแล้ว ให้ไปดูจิต ไม่ใช่ให้ไปแต่งจิต ไปทำใหม่” ท่านว่าอย่างนี้

หลวงพ่อเลยจับหลักได้ว่า ถ้าเรายังไปปรุงแต่งจิตให้วิเศษแค่ไหน มันก็ยังเป็นของเก๊อยู่ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะภาวนา อย่ามัวแต่นั่งปรุงแต่งจิต ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็นไป มันก็จะอยู่ในหลักของคำว่ารู้ทุกข์ ละสมุทัย สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5 คือรูปนาม คือกายคือใจของเรานี้ล่ะ เราต้องรู้มัน ไม่ใช่ทิ้งมัน แล้วไปอยู่ในความว่าง

เวลาที่เราจะรู้กายรู้ใจ เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ มีสติเห็นร่างกายนี้ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วก็มีปัญญาเห็นว่าร่างกายและก็จิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สติเป็นตัวรู้สภาวะ สภาวะคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นต้องเดินให้ถูกหลัก

 

กฎของการปฏิบัติ

คำว่า “ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” นี่เป็นกฎของการปฏิบัติ เป็นแม่บทใหญ่อยู่ในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ข้อคือทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดขึ้น ถ้าเราละสมุทัยได้ เราก็จะรู้ทุกข์ แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรค พวกเรามันยังไม่เคยเห็นอริยมรรค คนที่เห็นอริยมรรค ก็คือพระโสดาปัตติมรรคขึ้นไป ปุถุชนยังไม่เคยเห็นอริยมรรค

เพราะฉะนั้นเราจะไปเห็นอริยมรรค เอาเป็นเครื่องอยู่ อยู่ไม่ได้ เพราะไม่เคยเห็น เราจะเอานิพพานมาเดินปัญญาก็เดินไม่ได้ เพราะเราไม่เคยเห็น ไม่ใช่ไม่มี นิพพานมีอยู่แล้ว แต่เราไม่เห็น เราเข้าไม่ถึง เพราะฉะนั้นจุดสำคัญที่เราจะปฏิบัติ คือการรู้ทุกข์ ละสมุทัย การรู้ทุกข์ รู้ด้วยเครื่องมือสำคัญ 2 อัน รู้ด้วยสติกับรู้ด้วยปัญญา

รู้ด้วยสติก็คือ รู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ รู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของร่างกายของจิตใจ รู้อะไร รู้รูปรู้นาม รู้กายรู้ใจ สติเป็นตัวรู้ เครื่องมือสำคัญอีกตัวหนึ่งคือปัญญา เข้าใจความเป็นจริงของรูปธรรมนามธรรม ของกายของใจ ความจริงของรูปธรรม นามธรรม ของกายของใจ คือไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ สติเป็นตัวเห็นสภาวธรรม เราจะต้องมีเครื่องมือ 2 ตัวนี้ เราถึงจะรู้ทุกข์ได้ รู้ด้วยสติ อันนี้เป็นขั้นต้น รู้ด้วยปัญญานี้เป็นขั้นปลาย

เพราะฉะนั้นในสติปัฏฐาน 4 สติปัฏฐาน 4 ในเบื้องต้นทำไปเพื่อความมีสติ แล้วเราจะได้เห็นสภาวะ แต่ก็เพราะเห็นสภาวะเนืองๆ ถึงได้เกิดสติ เพราะมีสติแล้วก็จะรู้ทันสภาวะ อะไรเกิดขึ้นแวบหนึ่งก็เห็นเลย ทีแรกก็ต้องหัดรู้สภาวะเนืองๆ ไป รู้บ้าง หลงบ้าง จนจิตมันจำสภาวะได้แม่น พอสภาวะอะไรเกิด สติเกิดเองเลย อย่างนั้นถึงจะใช้ได้

พอสติรู้ทัน สติปัฏฐานเบื้องต้นฝึกให้เรามีสติ มีสติแล้วจะต้องเห็นไตรลักษณ์ให้ได้ การจะเห็นไตรลักษณ์ได้ มีเครื่องมือสำคัญอยู่ 2 ตัว ตัวหนึ่งคือสัมมาสมาธิ คือสภาวะที่ตั้งมั่น จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็น อีกตัวหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้ แต่คนทั้งหลายไม่ค่อยรู้จัก ก็คือสัญญาที่ถูกต้อง ถ้าจิตตั้งมั่นอยู่ แต่ไม่มีสัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ ปัญญาก็ไม่เกิดหรอก มันจะตั้งอยู่เฉยๆ นิ่งๆ

เพราะฉะนั้นตัวจิตผู้รู้ยังมี 2 อัน จิตผู้รู้บางตัวไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่เดินปัญญา รู้อยู่เฉยๆ เรียกว่าญาณวิปปยุต จิตผู้รู้บางตัวเดินปัญญาได้ ที่มันเดินปัญญาได้ เพราะสติระลึกรู้รูป สัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของรูป จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็น สุดท้ายก็เกิดปัญญารู้ความจริง สัญญากับปัญญาไม่ใช่ศัตรูกัน เรามักจะได้ยินครูบาอาจารย์พูดว่า สัญญากับปัญญาเป็นศัตรูกัน อันนี้ท่านเล่น Wording เท่านั้นเอง

สัญญาที่เป็นศัตรูกับการเจริญปัญญา คือสัญญาผิดๆ สัญญาวิปลาส สัญญาที่ถูกคือการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เวลาสติระลึกรู้กาย จิตมันก็หัดมองลงไปในกาย ในมุมของไตรลักษณ์ สติระลึกรู้จิตใจ จิตก็มองจิตใจในมุมของความเป็นไตรลักษณ์ สัญญาตัวนี้เป็นมุมมองของจิต พอมันหัดมองอย่างนี้ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น ไม่มี Bias ไม่เข้าไปคลุกวงใน ตะลุมบอนกับรูปกับนาม มันก็จะเห็นความจริงคือไตรลักษณ์ได้

เพราะฉะนั้นเราจะต้องพยายามพัฒนา รู้ทุกข์ให้ได้ ถ้าการปฏิบัติทิ้งหลักของการรู้ทุกข์ ก็ล้มเหลวแล้ว อย่างที่หลวงพ่อเล่าตัวอย่างว่าท่านปฏิบัติ แล้วท่านพยายามทำจิตให้ว่าง อันนั้นคือการหนีทุกข์ ไม่ใช่รู้ทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าหากเราภาวนา แล้วเราไปแต่งจิตเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ อันนั้นคือการหนีทุกข์ ไม่ใช่การรู้ทุกข์ ต้องจับหลักให้แม่น ถ้าทิ้งหลักของอริยสัจ 4 ซึ่งเป็นแม่บทใหญ่ ในคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะล้มเหลวทันทีเลย เราจะพลาดจากทางคืออริยมรรค

เพราะฉะนั้นทุกข์ให้รู้ไว้ รู้ทุกข์ เบื้องต้นรู้ด้วยสติ รู้ว่าร่างกายมีอยู่ ร่างกายกำลังเคลื่อนไหวอยู่ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็น สัญญาไปหมายรู้โดยไม่เจตนา มันคล้ายๆ เป็นมุมมองของจิต จิตมันรู้จักมอง มันมองร่างกายนี้ มันไม่ได้มองว่านี่คือร่างกาย แต่มันมองทะลุลงไป ว่ามันมีไตรลักษณ์อยู่ จิตใจก็เหมือนกัน เราไม่ได้ไปจ้องตัวจิตเอาไว้เฉยๆ ถ้าจ้องตัวจิตอยู่เฉยๆ มีสติ ถ้ามีสติแล้วไปจ้อง จะได้สมาธิชนิดสงบ เรียกอารัมมณูปนิชฌาน มันจะไปนิ่งอยู่กับอารมณ์อันเดียว แต่ถ้าสัญญาเข้าไปหมายรู้จิตว่าเป็นไตรลักษณ์ เดี๋ยวจิตมันก็จะเกิดปัญญา มันหัดมองแล้ว มันเป็นการหัดมองของจิต เป็นมุมมองของจิต เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ ต่อไปปัญญาคือความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ว่ากายนี้จิตนี้เป็นไตรลักษณ์ก็จะเกิดขึ้น ปัญญาไม่ใช่ความฉลาด ปัญญาคือการรู้ถูก การเข้าใจถูก พวกฉลาด พวก Genius อาจจะไม่เข้าใจธรรมะเลยก็ได้ คนละเรื่องกัน

เพราะฉะนั้นถ้าเราจะภาวนา อยากได้หลัก ได้แก่นสารสาระ ในคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ อย่าทิ้งหลักของการรู้ทุกข์ ละสมุทัย ส่วนแจ้งนิโรธ เจริญมรรคนั้น จะเป็นสิ่งที่ตามมา ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร ละสมุทัยเมื่อนั้น ละสมุทัยคือละตัณหาได้เด็ดขาดเมื่อไร นิโรธคือนิพพานก็จะปรากฏขึ้นตอนนั้นเลย แล้วในขณะนั้นอริยมรรคเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นถ้าเราเรียนที่โน่นที่นี่ เขาก็บอกกำหนดจิตอย่างนั้น กำหนดจิตอย่างนี้แล้วดี ให้สังเกตให้ดีว่า เขาทิ้งหลักการรู้ทุกข์ละสมุทัยหรือเปล่า ถ้าทิ้งหลักแม่บทตัวนี้ล้มเหลวแน่นอน หลวงพ่อกล้าพูดเลย เพราะว่าอะไร มันเก่งกว่าพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้าบอกทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นี่หนีทุกข์ไปสร้างโลกที่ว่างๆ อยู่ จินตนาการอะไรขึ้นมา แล้วจิตก็ว่างๆ สบาย เผลอๆ เพลินๆ อยู่ พระองค์ที่หลวงพ่อพูดถึง ท่านเก่ง แล้วท่านไม่ได้หยุดนิ่ง ในการค้นคว้าพิจารณา สุดท้ายท่านก็เอาตัวรอดได้ ท่านก็ภาวนาเก่ง

บางคนอ้างว่าเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ก็มี เวลาปฏิบัติก็ทำจิตว่างๆ เวลาสอนก็สอนให้ทำจิตให้ว่าง ไม่คิดไม่นึกอะไร ความคิดเกิดก็ปัดทิ้ง ปัดทิ้งไป มันไม่ใช่การรู้ทุกข์แล้ว มันเป็นการหนีทุกข์ สุดท้ายก็ล้มเหลว เพราะฉะนั้นเราอย่าทิ้งหลักสำคัญ ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ 2 ตัวนี้เหมือนมี 2 งาน แต่ 2 งานนี้สัมพันธ์กัน ถ้าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร สมุทัยถูกละอัตโนมัตินี้ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่ง ถ้าเราละสมุทัยได้ เราก็จะรู้ทุกข์ได้

ถ้าเรามีสมุทัยอยู่ มีตัณหาอยู่ เรารู้ทุกข์ไม่ได้ รู้ทุกข์แล้วละสมุทัยเป็นอย่างไร อย่างพอเราเห็นร่างกาย เห็นจิตใจของเรา ทีแรกเราไม่ได้เห็นด้วยปัญญา ว่ามันเป็นไตรลักษณ์ เราก็คิดว่าร่างกายคือตัวเรา จิตใจคือตัวเรา แล้วเราก็เห็นว่าในร่างกายนี้ บางทีก็มีความทุกข์ บางทีก็มีความสุข ในจิตใจนี้บางทีก็มีความทุกข์ บางทีก็มีความสุข เราเห็นอย่างนี้เรียกว่าเห็นผิด

 

รู้ทุกข์

ถ้าเราจะรู้ทุกข์จริงๆ เราก็จะคอยดูไป ร่างกายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ไม่มีทุกข์ ปุถุชนทั้งหลายจะเห็นว่า ร่างกายนี้มีทุกข์บ้างมีสุขบ้าง เมื่อมี 2 ทางเลือกก็จะวิ่งพล่าน ที่จะทำให้ร่างกายมีความสุข วิ่งพล่านที่จะทำให้ร่างกายไม่ทุกข์ แต่ถ้าปัญญาแก่รอบจริง จะรู้ว่าร่างกายนี้คือก้อนทุกข์ มีทุกข์มาก มีทุกข์น้อย พอทุกข์น้อยเราก็ว่ามันสุข คนทั่วไปว่ามันสุข พอมันทุกข์มากก็ว่าเราเจ็บป่วย

ถ้าเราภาวนาตามรู้ตามเห็นร่างกายเนืองๆ เราจะรู้ร่างกายมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เมื่อเราเห็นทุกข์ เราจะรู้เลยว่ามันไม่น่าเอาไว้เลย ไม่น่ารัก ไม่น่าหวงแหน ไม่น่ายึดถือ จิตก็ปล่อยวางกายได้ เห็นไหม ละความอยากได้ หมดความอยาก หมดความยึดในร่างกายได้ พอเราเห็นว่าร่างกายนี้จริงๆ คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ตัณหาคือความอยากโง่ๆ มันก็จะไม่เกิดขึ้น จริงๆ ตัณหาโง่ทั้งหมด คือความอยากที่ไร้เดียงสา

เราอยากอะไรในร่างกายนี้ เราอยากให้ร่างกายไม่ทุกข์ เราอยากให้ร่างกายมีสุข มันเป็นความอยากที่ไร้เดียงสาเพราะอะไร เพราะในความจริงร่างกายคือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เราก็ไปอยากให้ของที่เป็นทุกข์มันไม่ทุกข์ เราไปอยาก อยากให้มันไม่ทุกข์ อยากให้มันมีความสุข มันมีความสุขได้จริงหรือในร่างกายนี้ หิวก็ทุกข์ อิ่มก็ทุกข์ กระหายน้ำก็ทุกข์ กินน้ำเยอะไปก็จุกอีก นั่งอยู่ก็ทุกข์ ยืนอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์

ถ้าสติเราไว ๆ เราจะพบว่า หายใจออกก็ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์ ใครเคยเห็นว่าการหายใจเป็นภาระบ้างมีไหม ลองยกมือให้หลวงพ่อดูสิ ใครเคยรู้สึกว่าการที่ต้องหายใจก็เป็นภาระ ยกสูงๆ หน่อย มีไหม มีหลายคน ดี ภาระก็คือตัวทุกข์นั่นล่ะ ตื่นนอนต้องล้างหน้า ต้องอาบน้ำ แปรงฟัน รู้สึกเป็นภาระไหม ต้องไปอึ ต้องไปฉี่ เป็นภาระไหม ต้องหาข้าวกินเป็นภาระไหม ต้องหวีผมให้สวยๆ ผมหงอกก็ต้องไปย้อม ผมไม่มีก็ต้องไปปลูกผม เป็นภาระ

ตั้งแต่หัวถึงเท้า มีแต่ภาระทั้งนั้นเลย มันสุขตรงไหน คิดดูบนผมเรา เฉพาะแค่ผม มีกิจกรรมต้องทำอะไรบ้าง เป็นภาระไหม จนถึงเท้า เล็บเท้า มีภาระไหม เฝ้ารู้ลงไปในกาย เราจะเห็นกายนี้มีแต่ภาระ ภาระนั่นล่ะคือทุกข “ภาราหะเว ปัญจขันธา” ขันธ์ทั้ง 5 เป็นภาระคือเป็นทุกข์นั่นล่ะ ถ้าเรามีสติรู้ลงในกาย มีปัญญาเห็น มันก้อนทุกข์ชัดๆ เลย เมื่อมันแจ่มแจ้งว่ากายนี้เป็นก้อนทุกข์ ความอยากให้กายเป็นสุขจะไม่เกิดขึ้น เพราะมันเป็นเรื่องไร้เดียงสา

เมื่อเรารู้ความจริง ว่ากายนี้เป็นก้อนทุกข์ ความอยากให้กายเป็นสุขก็ไม่เกิด ความอยากให้กายไม่ทุกข์ก็ไม่เกิด ความอยากอย่างนั้นเป็นความไร้เดียงสา ทำไมว่าไร้เดียงสา ความอยากของเรานั้นเกิดจากความโง่ ความไร้เดียงสาคือตัวอวิชชา ตัวไม่รู้ ไม่รู้ความจริงว่ากายนี้คือตัวทุกข์ เราก็เลยอยากให้มันมีความสุข อยากให้มันไม่ทุกข์ ถ้าเราภาวนา เราดูเข้ามาที่จิตอีก จิตนี้คนทั่วไปก็เห็นว่า จิตใจของเราเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง

แต่ถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ เราจะเห็นว่าจิตนั้นคือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย พวกเราคนไหนเคยเห็นบ้าง ว่าจิตที่ทำงานทั้งวันทั้งคืนมันทุกข์ ใครเห็นยกมือให้ดูหน่อย มี 1 2 3 4 โห คนจีนรู้หมดเลย ให้มันรู้จริงเถอะ ถ้ารู้จริงเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว มันรู้ได้เป็นคราวๆ รู้ได้เป็นคราวๆ ก็ยังดีกว่าไม่รู้เลย ที่จริงแล้วกายเป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่มีทุกข์บ้างสุขบ้าง จิตนี้มันเป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวทุกข์บ้างสุขบ้าง

ถ้าจิตของเราตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกายบ่อยๆ ก็จะเข้าใจ กายนี้คือตัวทุกข์ แล้วก็ปล่อยวางได้ ถ้าจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้จิตใจ รู้นามธรรมที่เกิดขึ้น สัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ มันก็จะเกิดปัญญาเข้าใจความจริง ก็จะปล่อยวางจิตใจได้ รู้ว่ามันคือตัวทุกข์

เพราะฉะนั้นถ้ารู้ทุกข์เมื่อไร ต่อไปมันจะหมดความอยากที่ไร้เดียงสา เพราะความอยากไร้เดียงสาทั้งนั้นล่ะ มันเป็นของที่ไม่มีทางสมหวังหรอก อยากให้กายเป็นสุข เป็นหนุ่มเป็นสาวตลอดไป เป็นไปไม่ได้ อยากให้แข็งแรงตลอดไป เป็นไปไม่ได้ อยากให้ร่างกายนี้ไม่ตาย ก็เป็นไปไม่ได้ อยากให้จิตสัมผัสแต่อารมณ์ที่มีความสุข ไม่ต้องสัมผัสอารมณ์ที่มีความทุกข์ ก็เป็นไปไม่ได้ อยากให้จิตปรุงแต่กุศล ไม่ปรุงอกุศล ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะจิตมันเป็นอนัตตา มันเคยชินที่จะปรุงอะไร มันก็ปรุง เราสั่งมันไม่ได้

 

ถ้ารู้ทุกข์ยังไม่แจ่มแจ้ง คอยรู้สมุทัยไว้

ถ้าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง กายนี้คือตัวทุกข์ ความอยากที่จะให้กายให้ใจ เรารู้ความจริงแจ่มแจ้งแล้ว กายนี้ใจนี้คือตัวทุกข์ ความอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ก็จะไม่เกิด เพราะความอยากนั้นไร้เดียงสา ความอยากให้กายให้ใจเป็นสุขก็จะไม่เกิด เพราะความอยากอันนั้นไร้เดียงสา เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไรรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยคือความอยากจะถูกละอัตโนมัติ อัตโนมัติ ละเองเราไม่ต้องละ

เวลาที่เราภาวนา เรารู้ทุกข์ยังไม่แจ่มแจ้ง มันมีวิธีดูอีกอันหนึ่ง ถ้ารู้ทุกข์ยังไม่แจ่มแจ้ง คอยรู้สมุทัยไว้ เวลาเราอยากปฏิบัติขึ้นมา ให้รู้ว่าอยาก ถ้าอยากปฏิบัติแล้วไม่รู้ว่าอยาก เราจะไปสร้างโลกๆ หนึ่ง สร้างภพขึ้นมา ภพของนักปฏิบัติ เช่น เราทำใจให้นิ่งๆ น้อมใจให้ว่างๆ เพราะไม่รู้ทันตัณหา ไม่รู้ทันสมุทัย ไม่รู้ทันความอยากของตัวเอง อยากพ้นทุกข์ ไม่เห็นว่าอยากพ้นทุกข์ ก็เลยไปแต่งจิตให้ว่างๆ ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง อันนี้ไม่ได้อยู่ในหลักของการรู้ทุกข์ ละสมุทัยเลย ไม่ละเลยสมุทัย แต่มีสมุทัยคือมีตัณหาที่จะหนีทุกข์

นักปฏิบัติ พูดแบบเกรงใจ ก็เกือบทั้งหมด ล้วนแต่อยากหนีทุกข์ทั้งนั้น มีสมุทัย มีความอยากที่จะหนีทุกข์ ไม่ใช่ละความอยากแล้วก็รู้ทุกข์ มันกลับหัวกลับหางกับหลักของอริยสัจ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะภาวนา สมมติเราจะเดินจงกรม เราเดินแล้วเราก็อยากได้ให้จิตเห็นแจ้ง ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตใจไม่ใช่ตัวเรา อยากบรรลุมรรคผล อันนี้คืออยากทั้งหมด มีตัณหาทั้งหมด ในขณะที่ยังมีตัณหาอยู่จะรู้ทุกข์ไม่ได้เพราะตัณหานั้นพาให้เราหนีทุกข์

เพราะฉะนั้นเราจะไม่รู้ทุกข์หรอก เราลงมือนั่งสมาธิ ใจเราฟุ้งซ่าน เราไม่ชอบ เราอยากให้สงบ เรามีตัณหาแล้ว เราก็พยายามแต่งจิตให้สงบ อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ มุ่งไปที่ความสงบ การมุ่งไปที่ความสงบ ก็ยังไม่ใช่การรู้ทุกข์ มันคือการหนีทุกข์ แต่ถามว่ามีประโยชน์ไหม มีประโยชน์มากๆ เลย ถ้าเราไม่ทำสมาธิเลย จิตมันจะไม่มีกำลัง

เมื่อเช้ามีทิดคนหนึ่งมาส่งการบ้านหลวงพ่อ จิตนี้แข็งแรงดี เขาบอกว่า เขาไปนั่งเพ่งจิตอยู่ เพ่งอารมณ์นิ่งๆ อยู่อย่างนี้ เขารู้ว่าเพ่ง แต่ว่ามันก็เพ่ง พอทำในรูปแบบทีไรมันเพ่งทุกทีเลย แล้วพอรู้ทัน เขาก็ปล่อย พอปล่อยแล้ว จิตตรงนี้เขาเป็นจิตรู้ จิตตื่น จิตเบิกบาน เขารู้เลยว่าจิตของเขามาตรงนี้ได้ เพราะเขาไม่เพ่ง มาถามหลวงพ่อว่า เขาควรจะเลิกทำในรูปแบบไหม เพราะทำในรูปแบบแล้วมันเพ่ง

หลวงพ่อบอกไม่ได้ ต้องทำ เพ่งก็เพ่ง เพ่งไว้ก่อน การที่เขานั่งเพ่งอยู่เป็นเดือน มันทำให้จิตมีแรง แล้วพอหมดเจตนาที่จะเพ่ง หมดความโลภ หมดตัณหาที่จะเพ่ง จิตนั้นมีกำลัง มันจะทรงตัวขึ้น โดยไม่ได้ต้องประคองรักษาไว้ แล้วมันจะเดินปัญญาได้ เพราะฉะนั้นการทำสมถะจำเป็นมากๆ ไม่ใช่ไม่ดี แต่เรารู้ว่าตอนที่ทำสมถะนั้น ยังไม่ได้เดินปัญญา คนละเรื่องกัน ที่หลวงพ่อบอกให้รู้ทุกข์ ละสมุทัย เป็นเรื่องของการเดินปัญญา

แต่ถ้าเราจะทำสมถะให้จิตมีกำลัง เพ่งก่อนก็ไม่เป็นไร แต่อย่าเพ่งแรงจนกระทั่งเหน็ดเหนื่อยเกินไป เพ่งพอดีๆ เพ่งพองาม พอสบาย ไม่ให้จิตมันหลงไป จิตมันธรรมชาติมันหลงเก่ง ก็เพ่งมันไว้หน่อยหนึ่ง มันจะได้ไม่หนี พอมันอยู่กับที่แล้ว ทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ต้องเจตนา ปล่อย ตรงนี้ก็เป็นศิลปะ จะต้องฝึกไปช่วงหนึ่ง นึกจะเพ่งก็ได้ นึกจะปล่อยก็ได้ ตรงที่จะเดินปัญญา ปล่อย ไม่เพ่งเอาไว้ แล้วก็จะเห็นจิตมันทำงานได้ เห็นสภาวะทั้งหลายเกิดดับ แต่จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่

เพราะฉะนั้นการทำสมถะไม่ใช่เรื่องเสียหาย เป็นเรื่องจำเป็น ต้องทำ ไม่ใช่ไม่ทำ แต่ถ้าเจริญปัญญา อย่าทิ้งหลักของการรู้ทุกข์ ละสมุทัย ต้องรู้กายรู้ใจของเราไป รู้อย่างไร เบื้องต้นรู้ถึงความมีอยู่ของมัน รู้ถึงความเคลื่อนไหวของมัน อันนี้เรามีสติรู้ ต่อไปก็มีปัญญารู้ คือเห็นว่ากายนี้ใจนี้มันเป็นไตรลักษณ์ แล้วเวลาเราลงมือปฏิบัติ ถ้าเราอยากทำความสงบ แล้วใจไม่สงบ ให้รู้ตัณหา

เราอยากสงบ เราไม่อยากฟุ้งซ่าน มีตัณหาอยู่ ให้รู้ลงไปตรงนี้ก่อน พอจิตหมดความอยาก ก็ทำกรรมฐานของเราไป สงบหรือไม่สงบเรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของกาย เป็นเรื่องของจิต เพราะฉะนั้นเวลาจะทำความสงบ อย่าทำด้วยตัณหานำหน้า แต่เราทำเพราะสมควรจะทำ

ฉะนั้นถ้านั่งสมาธิแล้วอยากสงบ รับรองไม่สงบหรอก แต่ถ้านั่งสมาธิ เพราะขณะนี้สมควรพักผ่อน ให้จิตได้พัก ไม่ใช่อยากพัก แต่ขณะนี้สมควรจะพักแล้ว เราก็ทำสมถะไป สงบหรือไม่สงบ ก็เรื่องของจิต ไม่มีความอยากสงบ ไม่มีความอยากหายฟุ้งซ่าน จิตจะสงบอย่างรวดเร็ว ถ้าจิตมีความอยาก จิตจะถูกผลักให้วิ่งต่อไปเรื่อยๆ เวลาเรานั่งสมาธิ แล้วเราเครียด เราเหนื่อย เราเกร็งไปทั้งตัว เพราะจิตมันถูกผลักดันให้ทำงานมากขึ้นๆ ในการบังคับตัวเองจะให้สงบ

 

ฝึกหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์

เวลาเราเจริญปัญญา ก็อย่าให้ตัณหามันนำ ตัณหานำก็คืออยากรู้ความเป็นไตรลักษณ์เร็วๆ พอจะมาดูกาย อยากรู้ว่ามันเป็นไตรลักษณ์เร็วๆ ก็คิดเอาเองว่ามันเป็นไตรลักษณ์ อันนั้นไม่ใช่การเจริญปัญญาจริง มันยังคิดเอา ในทางตำราเขาเรียกว่าจินตามยปัญญา ยกให้เป็นปัญญาเหมือนกัน คิดเอา แต่พวกเราความคิดของเรามันเจือด้วยกิเลส คิดเอามันเชื่อไม่ได้

ถ้าระดับพระพุทธเจ้าคิด พระอรหันต์คิด ไม่มีกิเลสเจือ อันนั้นความคิดนั้นเพียวๆ จริงๆ สะอาดหมดจดจริงๆ ไม่มีกิเลสแทรก แต่พวกเรา ความคิดของเรา มันยังมีกิเลสแทรกอยู่ เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อความคิดมาก เชื่อความคิดก็คือเชื่อกิเลสตัวเองนั่นล่ะ ให้รู้เอาๆ เราภาวนาอยากบรรลุมรรคผล อยากเห็นไตรลักษณ์ รู้ทันว่าอยาก เราจะเห็นไตรลักษณ์ได้ สัญญาต้องเข้าไปหมาย กายนี้เป็นไตรลักษณ์ จิตนี้เป็นไตรลักษณ์

ถ้าสัญญาไม่เกิดขึ้น ไม่เข้าไปหมายก็ฝึกมันเข้า เหมือนที่ครูบาอาจารย์สายวัดป่าท่านเข้าสมาธิลึก ฝึกกันหลายปี เข้าสมาธิจะนิ่งเลย ออกจากสมาธิจิตมันก็ยังนิ่งอยู่ มันไม่เดินปัญญา ท่านก็หมายรู้ร่างกาย คือการพิจารณากายนั่นล่ะ ที่ท่านเรียกว่าพิจารณากาย คือพยายามหมายรู้ร่างกายว่าเป็นไตรลักษณ์ ร่างกายนอกเหนือจากอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว เวลาพิจารณาลงไป สิ่งแรกที่เห็นได้ง่ายคืออสุภะ ปฏิกูลอสุภะ

เพราะฉะนั้นเวลาพิจารณากาย เราหมายรู้ได้ 4 อย่าง หมายรู้ความไม่สวยไม่งาม ไม่สะอาดของมัน หมายรู้ความไม่เที่ยง หมายรู้ความเป็นทุกข์ คือถูกบีบคั้น หมายรู้ความเป็นอนัตตา มันเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นธาตุที่ไหลเข้าไหลออกไป เวลาหมายรู้กาย หมายรู้ได้ 4 มุม เวลาถ้าเราหมายรู้นามธรรม นามธรรมไม่มีปฏิกูลอสุภะ มันไม่มีตัวที่มาเน่า ตัวที่จะเหม็นให้เรา ก็เลยเหลือ 3 ตัว เหลืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ฉะนั้นหมายรู้ลงไป ถ้าจิตมันนิ่งไม่ยอมเดินปัญญา พามันพิจารณาลงไปในร่างกาย มันเป็นของไม่สวยไม่งาม ข้างในเต็มไปด้วยของสกปรก มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มาพอกปิดบังความโสโครกภายในไว้ แล้วก็ปิดไม่มิด มีผมที่สวยงาม ไม่นานผมก็เหม็นสาบ มันปิดความสกปรกไม่มิด ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็มีแต่ของสกปรกทั้งนั้น ลองไม่แปรงฟันสัก 3 วัน ไม่มีใครเข้าใกล้แล้ว ทนไม่ไหว พิจารณาให้เห็นความเป็นปฏิกูลในร่างกาย นี่ก็เป็นความจริงของกาย หมายรู้อย่างนี้เรียกหมายรู้ถูก แล้วสูงขึ้นไปก็คือ หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เฝ้ารู้ไปเรื่อยๆ อย่างร่างกายไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวยืน เดี๋ยวเดิน เดี๋ยวนั่ง เดี๋ยวนอน เดี๋ยวเคลื่อนไหว เดี๋ยวหยุดนิ่ง อันนี้แสดงอนิจจัง แล้วทำไมมันต้องหายใจออก ต้องหายใจเข้า ทำไมมันต้องยืน เดิน นั่ง นอน เพราะมันถูกความทุกข์บีบคั้น มันถูกบีบคั้นเรียกว่าเห็นทุกขตา แล้วมันเห็นร่างกายเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ อันนั้นเห็นอนัตตา

ถ้าดูจิตดูใจ ดูไป จิตเราไม่เที่ยง เปลี่ยนตลอดเวลา เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย นี้ไม่เที่ยง อีกมุมหนึ่งที่ดูง่ายคืออนัตตา เราบังคับไม่ได้ สั่งจิตไม่ได้ จงมีแต่ความสุข สั่งไม่ได้ อย่าทุกข์ สั่งไม่ได้ จงมีแต่ข้อดี มีแต่ความดี สั่งไม่ได้ ห้ามชั่ว สั่งไม่ได้ นี่เรียกเห็นอนัตตา ส่วนการเห็นทุกขตา ความเป็นทุกข์ของจิต ส่วนใหญ่ต้องทรงฌาน จิตที่ทรงฌานอยู่มีความสุข หรือมีอุเบกขา แล้วถ้าสติปัญญาพอ ก็จะเห็นจิตที่ว่าสุขๆ จริงๆ มันทุกข์ มันจะเห็น

พูดง่ายๆ สมถะก็จำเป็น ต้องฝึกทุกวัน ทำกรรมฐานในรูปแบบ ทำทุกวัน สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ทำไปเถอะ นานๆ ไปมันก็ดีเอง อย่าไปนั่งแล้วเห็นโน่นเห็นนี่ก็แล้วกัน อันนั้นยิ่งฟุ้งซ่านหนักกว่าเก่า นั่งแล้วพยายามรู้สึกตัวไป มีความรู้สึกตัว หายใจออกมีความรู้สึกตัว หายใจเข้าอะไรอย่างนี้ รู้สึกไป มีความรู้สึกตัว ก้าวไป เดินไป เน้นความรู้สึกตัวไว้ เราจะได้เกิดสมาธิที่ดี ฉะนั้นในเวลาเจริญปัญญา อย่าทิ้งหลักรู้ทุกข์ ละสมุทัย ไม่ใช่มีสมุทัย คือมีแต่ตัณหาที่จะหนีทุกข์ ละทุกข์ ทุกข์ให้รู้ ไม่ได้เอาไว้ละ

ถ้าเราจับหลักเหล่านี้ได้แม่น ขอแนะนำ เดี๋ยวทีมงาน เขาก็จะเอาไปขึ้นเฟซบุ๊ก ขึ้นยูทูป ถ้ายังไม่เข้าใจที่หลวงพ่อบอก ไปฟังซ้ำอีก ฟังหลายๆ รอบก็ได้ ไม่มีใครห้าม ไม่ได้เก็บสตางค์ ฟังไปเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วถ้าเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อบอก มันจะไม่เดินออกนอกทาง ปัญหาที่ไปทำจิตให้ว่าง ไม่คิด ไม่นึก แล้วก็บอกบรรลุพระอรหันต์อะไรอย่างนี้ จะไม่เกิดขึ้นหรอก อันนั้นหนีทุกข์ มีตัณหา หนีทุกข์ ไม่ใช่รู้ทุกข์แล้วละตัณหา

จับหลักให้แม่นๆ ถ้าหลักเราแม่นแล้ว เราจะเดินไม่ผิด ถ้าหลักไม่แม่น เดี๋ยวเราก็จะคิดอีก เอ๊ะ ทำอย่างไรแล้วจะดี ทำอย่างไรแล้วจะดี ทุกวันคิดแต่เรื่องว่าทำอย่างไรแล้วจะดี ตอบให้เลย ทำอะไรก็ไม่ดีหรอก เพราะมันทำด้วยตัณหา มันทำแล้วสนองกิเลสไปเรื่อยๆ

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
9 มีนาคม 2567