รู้สึกตัวไว้ ถ้าเรารู้สึกตัวไม่ได้ เราปฏิบัติธรรมไม่ได้จริง บางคนคิดว่าการปฏิบัติคือการนั่งสมาธิ คือการเดินจงกรมเท่านั้น อันนั้นเป็นรูปแบบของการปฏิบัติ จุดสำคัญของการปฏิบัติอยู่ที่ความรู้เนื้อรู้ตัว มีสติไหม ถ้านั่งสมาธิแล้วก็เคลิ้มๆ หรือเคร่งเครียด ไม่ได้รู้สึกตัว ก็ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติ เดินจงกรมกลับไปกลับมา บางทีก็ใจลอย บางทีก็บังคับตัวเองเคร่งเครียด อันนั้นถึงจะเดินทั้งคืนก็ไม่เรียกว่าการปฏิบัติ การปฏิบัติอยู่ที่เราต้องรู้เนื้อรู้ตัวให้ได้
อย่างขณะนี้เรานั่งอยู่ เราเห็นร่างกายนั่ง เราเห็นด้วยความรู้สึก ไม่ได้เห็นด้วยตา อย่างตอนนี้ทุกคนนั่งอยู่ รู้สึกไหมร่างกายกำลังนั่ง ร่างกายพนมมือ ร่างกายพยักหน้า รู้สึกด้วยใจธรรมดา อย่างของโยมบังคับตัวเองมากไป ใจมันจะตึง เราต้องรู้ด้วยจิตใจธรรมดา
ธรรมะเป็นความจริงเป็นธรรมดา เราอยากเข้าใจธรรมะเราก็อย่าทำตัวให้ผิดธรรมดา พระพุทธเจ้าก็สอนธรรมะที่ธรรมดา การปฏิบัตินี่ท่านสอนอยู่ในหลักของสติปัฏฐาน
ท่านบอกดูกรภิกษุทั้งหลาย เริ่มต้นสอนให้เธอนั่งขัดสมาธิ ทำไมต้องนั่งขัดสมาธิ เพราะคนยุคโน้นที่อินเดียเขาไม่ได้นั่งเก้าอี้ เขานั่งพื้น ฉะนั้นนั่งพื้นถ้านั่งพับเพียบมันก็เมื่อย ท่านก็เลยบอกให้นั่งขัดสมาธิ ให้คู้บัลลังก์ ภาษาโบราณคู้บัลลังก์คือคู้ขาเข้ามานั่งซ้อนกันเหมือนพระพุทธรูป ตั้งกายตรง ตรงไม่ต้องตรงแบบเครียด คือไม่นั่งเอียงไปเอียงมา อย่างนี้สติไม่ดี นั่งตัวตรงๆ ตรงธรรมดาไม่ต้องตรงแบบทหารตัวตรงเป๊ะ อันนั้นเมื่อย ตรงอย่างที่เราตรง บางคนก็แก่แล้ว หลังงอหน่อยหนึ่ง ก็ตามธรรมชาติ ให้นั่งขัดสมาธิ ให้ตั้งตัวตรงๆ อย่ามัวแต่เอียงซ้ายเอียงขวา เดี๋ยวก็ล้มลงไปนอน มีสติอยู่เฉพาะหน้า
ทีนี้คนไทยคำว่า “เฉพาะหน้า” บางคนไปแปลพิลึก ให้มีสติอยู่แค่นี้ ที่หน้า อันนี้ไม่ใช่นะ มีสติเฉพาะหน้าคือรู้อยู่กับปัจจุบัน รู้อะไรอยู่กับปัจจุบัน หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ ท่านไม่ได้บอกเลยนะว่าให้ทำใจให้เคร่งเครียด แล้วไม่ได้บอกให้นั่งหลับตาด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลายให้เธอคู้บัลลังก์ คู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาวรู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้า ยาวรู้ว่าหายใจเข้ายาว ไม่มีคำว่าหลับตา สังเกตไหมพระพุทธรูปมีแต่ลืมตา ไม่มีหลับตา ขนาดพระนอนยังลืมตาเลย
ทำไมลืมตา พระพุทธรูปที่ทำลืมตานี่เป็นสัญลักษณ์ของความตื่น ไม่ใช่หลับ สัญลักษณ์ของความตื่นคือความรู้เนื้อรู้ตัว แล้วท่านก็บอกง่ายๆ หายใจออกยาวรู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาวรู้ว่าหายใจเข้ายาว ท่านไม่ได้สอนว่าทำใจให้แข็งๆ ทื่อๆ ไว้ก่อน แล้วค่อยเห็นร่างกายหายใจ นี่ใจแข็งๆ ทื่อๆ อย่างนี้ อันนี้เป็นส่วนเกินที่พวกเราคิดกันขึ้นเอง
จุดสำคัญคือความรู้เนื้อรู้ตัว รู้อยู่กับปัจจุบัน เรียกรู้เฉพาะหน้า รู้กับปัจจุบัน ตอนนี้เราก็แค่รู้ ร่างกายหายใจออกเราก็รู้ ร่างกายหายใจเข้าเราก็รู้ รู้ด้วยใจธรรมดา เพราะท่านไม่ได้สั่งว่าทำใจให้เคร่งเครียดก่อน ทำใจตึงๆ ให้ใช้ใจธรรมดา แล้วก็ไปเรียนรู้ธรรมดาของร่างกาย ธรรมดาของร่างกายคือไม่คงที่หรอก หายใจออกแล้วก็ต้องหายใจเข้า หายใจเข้าแล้วก็ต้องหายใจออก ทำงานไป เราก็จะเริ่มเห็นร่างกายมันทำงานไป มันไม่ใช่เรา ร่างกายมันเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง เคลื่อนไหวไป ใจเราเป็นแค่คนเห็น เราจะไปทำคนเห็นให้แข็งทื่อ ต้องธรรมดา
เรารู้ความเป็นธรรมดาของร่างกายด้วยจิตใจธรรมดา เรารู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจด้วยจิตใจธรรมดา อย่างถ้าเราจะดูสติปัฏฐานเรื่องเวทนา เมื่อกี้พูดเรื่องร่างกายแล้ว ร่างกายเราก็เห็นร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ร่างกายยืนเดินนั่งนอน ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง เห็นไป เห็นด้วยใจธรรมดา แล้วมันจะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นของถูกรู้ถูกดู
อันที่ 2 คือเวทนานุปัสสนาเป็นอีกหมวดหนึ่งในสติปัฏฐาน ดูความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์มันมี 2 ที่ อยู่ที่ร่างกายอันหนึ่ง อยู่ที่ใจอันหนึ่ง อย่างบางคนร่างกายสบายแข็งแรง ร่างกายสบายมีความสุข แต่กลุ้มใจ ใจไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นความสุขความทุกข์นี่มันมีที่กายอันหนึ่งที่ใจอันหนึ่ง คนละอันกัน ความสุขความทุกข์ในกายเราจะดูได้ดีถ้าจิตเราทรงสมาธิมากๆ ไม่อย่างนั้นสติเราจะแตก อย่างเราอยากดูความทุกข์ของร่างกาย บางที่เขาก็ให้วิธีนั่งนิ่งๆ เลย หลายๆ ชั่วโมง ไม่ให้กระดุกกระดิกเลย มันจะปวดทรมานอย่างยิ่งเลย
อันนี้ถ้าจิตไม่มีสมาธิ จิตจะฟุ้งซ่านไปเลย ทุรนทุรายไปเลย ฉะนั้นการดูความรู้สึกสุขทุกข์ของกายนี่ จะทำได้ดีถ้าจิตเรามีสมาธิพอ ถ้าจิตเรามีสมาธิพอเราจะเห็นว่าร่างกายก็อันหนึ่ง ความรู้สึกสุขทุกข์ในร่างกายก็อีกอันหนึ่ง จิตเป็นคนรู้ก็เป็นอีกอันหนึ่ง แล้วแต่ละอันบังคับมันไม่ได้ เราสั่งให้มีแต่ความสุขก็ไม่ได้ ห้ามไม่ให้มีความทุกข์ก็ไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าเราเจริญปัญญาด้วยการดูเวทนา
ทีนี้เวทนาทางใจดูง่าย สังเกตดูใจของเราทุกคนทุกขณะ ไม่สุขก็ทุกข์ บางทีก็เฉยๆ มี 3 แบบ มีความสุข มีความทุกข์ มีความเฉยๆ ถ้าใจเราสุขให้รู้ทัน ถ้าใจเราทุกข์ให้รู้ทัน ใจเราเฉยๆ ก็ให้รู้ทัน รู้อย่างที่มันเป็น รู้ไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะเห็น ใจเราจะสุขหรือทุกข์หรือเฉยๆ เราสั่งไม่ได้ ถ้าสั่งได้ทุกคนก็สั่งให้ใจมีความสุข แต่ว่าจริงๆ มันสั่งไม่ได้ แล้วความสุขเกิดขึ้นเราจะสั่งให้มันอยู่นานๆ ก็สั่งไม่ได้ นี่ค่อยดูไป ความทุกข์เกิดขึ้นเราจะห้ามมันก็ห้ามไม่ได้ ความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว เราสั่งให้หายเร็วๆ ก็ไม่หาย
ความทุกข์ในใจดูง่าย ความสุขทุกข์ในใจเวทนาทางใจดูง่ายๆ เพราะจิตทุกดวงจะต้องมีเวทนาเกิดขึ้นเสมอ ไม่สุขก็ทุกข์ ไม่อย่างนั้นก็เฉยๆ มี 3 แบบ ขณะนี้ใจเราสุขรู้ทัน ใจเราทุกข์รู้ทัน ใจเราเฉยๆ รู้ทัน แล้วเราจะเห็นทุกอย่างไม่เที่ยง สุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง เฉยก็ไม่เที่ยง ดูไปเรื่อยๆ อันนี้เรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
สติปัฏฐานอันที่ 3 ชื่อว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราจะดูจิตใจของตัวเอง เดี๋ยวก็เป็นกุศล เดี๋ยวก็เป็นอกุศล เดี๋ยวเฉยๆ ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล เฝ้ารู้ไป เราไม่ได้ไปบังคับใจนะ เหมือนอย่างเราไม่บังคับใจว่าจงมีแต่ความสุข จงอย่าทุกข์ เราบังคับไม่ได้ อันนั้นส่วนของเวทนา ส่วนของจิตตานุปัสสนานี่ จิตเราจะเป็นกุศลหรืออกุศล เราก็บังคับไม่ได้
อย่างเราเห็นหน้าคนหนึ่ง เราตั้งใจว่าจะไม่โกรธ พอเห็นหน้าจริงๆ มันก็โกรธ เพราะเราห้ามมันไม่ได้ ฉะนั้นใจมีความโกรธขึ้นมา ท่านสอนง่ายๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะรู้ว่าไม่มีราคะ เห็นไหม คำพูดนี้ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีอะไรที่พิสดาร จิตเรามีราคะเราก็รู้ จิตไม่มีราคะเราก็รู้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะรู้ว่าไม่มีโทสะ ไม่เห็นจะมีอะไรยุ่งยากเลย ของง่ายๆ ธรรมะเป็นของง่ายๆ เรียบง่าย เปิดเผยตรงไปตรงมา กิเลสของเราทำให้เราคิดว่าธรรมะพิสดารผิดธรรมชาติธรรมดา
ตอนที่หลวงพ่อภาวนา หลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต หลวงพ่อเห็นจิต 2 อย่าง มันภาวนามันเห็น เดี๋ยวจิตก็สุข เดี๋ยวจิตก็ทุกข์ เดี๋ยวจิตก็เฉยๆ เดี๋ยวจิตก็เป็นกุศล เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง เห็นจิตมันหมุนอย่างนี้ทั้งวัน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ หมุนเวียนอย่างนี้ตลอด ดูไม่นาน ใจมันก็เข้าใจ จิตนี้มันทำงานได้เอง มันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ของเรา
การภาวนาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรเลย ให้จิตใจอยู่ที่ตัวเอง รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ถ้าเราใจลอย หลงไปคิดโน้นคิดนี้ ใจมีความสุขก็ไม่รู้ ใจมีความทุกข์ก็ไม่รู้ ใจเป็นกุศลก็ไม่รู้ ใจโลภโกรธหลงก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลยที่เกี่ยวกับกายกับใจตัวเอง ฉะนั้นเวลาที่ใจเราหลงไปคิดโน้นคิดนี้ ในขณะนั้นไม่ได้ปฏิบัติ อีกอันหนึ่งก็คือในขณะที่ใจเราเข้าไปเพ่งไปจ้องไปบังคับควบคุมกายควบคุมใจ ขณะนั้นก็ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา บังคับตัวเองอยู่
ฉะนั้นการที่เราจะปฏิบัติธรรมมีศัตรูสำคัญ 2 ตัว อันหนึ่งคือลืมตัวเอง อีกอันหนึ่งคือบังคับตัวเอง จะทำอะไรก็ อย่างจะเดินจงกรมต้องเดินตัวแข็งๆ เดินค่อยๆ เดิน เดิน เรื่องมาก มีคนมาถามหลวงพ่อว่าเดินจงกรมจะเดินอย่างไร หลวงพ่อก็บอกง่ายๆ พ่อแม่สอนให้เดินอย่างไรก็เดินอย่างนั้นล่ะ ไม่ต้องเดินแบบวงโยธวาทิต เดินจึ้งๆๆ นะ เดินเหมือนมนุษย์ธรรมดา เดินอย่างที่เราเคยเดิน
ฉะนั้นอย่างบางคนเดินจงกรมแล้วก็ใจแข็งเครียด อันนั้นยังไม่ได้ปฏิบัติ ตึงเกินไป เดินจงกรมนะ แหม่ เดินสวยเลย แต่ใจหนีไปที่อื่น ลืมตัวเอง อันนี้หย่อนเกินไป นั่งสมาธิก็เหมือนกัน นั่งแล้วตัวตรงสวยงามดูดี แต่ใจหนีกลับบ้านไปแล้ว หนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว อันนี้หย่อนเกินไป หรือนั่งสมาธิแล้วก็พยายามบังคับตัวเอง บังคับลมหายใจ บังคับร่างกาย บังคับจิตใจ จะให้มันนิ่ง อันนี้ตึงเกินไป
ฉะนั้นศัตรูมี 2 อัน ไม่หย่อนก็ตึง หย่อนไปนี่ภาษาพระเรียกว่า ”กามสุขัลลิกานุโยค” ตึงนี่เรียก “อัตตกิลมถานุโยค” ทำตัวเองให้ลำบาก ทางสายกลางคือรู้อย่างที่กายมันเป็น รู้อย่างที่ใจมันเป็นไป นี่เป็นหลักของการปฏิบัติ เอาไปทำเอา มันไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากมาย ง่ายๆ อย่างนี้ เพราะฉะนั้นเวลาธรรมชาติของคนจะคิดว่าธรรมะนี่ลึกลับ ลึก ต้องมีอะไรที่พิสดาร พอได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า บรรลุโสดาบันแล้วอุทานทุกคนนะ โอ้ แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า เหมือนของที่คว่ำอยู่พระพุทธเจ้าเปิดให้หงาย
มันยากหรือหยิบถ้วยใบหนึ่งพลิกขึ้นมานี่ ของง่ายๆ ของธรรมดา เหมือนพระพุทธเจ้าจุดไฟขึ้นท่ามกลางความมืด คนซึ่งไม่ได้ตาบอดก็เริ่มมองเห็น นี่เป็นเรื่องธรรมดา พอมีแสงสว่างมันก็มองเห็น ไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ เพราะฉะนั้นธรรมะเป็นเรื่องธรรมดาที่สุดเลย แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า เหมือนเปิดของที่คว่ำอยู่ให้หงาย เหมือนพระองค์จุดไฟในความมืด โดยหวังว่าคนซึ่งมีตาปกติจะมองเห็น ธรรมะมันง่ายๆ ตรงไปตรงมาอย่างนี้ เราก็ไปวาดภาพอะไรฟุ้งซ่านมากมายเยอะแยะไปหมด เสียเวลา
วัดสวนสันติธรรม
15 พฤษภาคม 2567