เราเป็นชาวพุทธไม่ได้เป็นโดยการเกิด พ่อแม่เราเป็นพุทธ เราจะต้องเป็นพุทธ ไม่ได้เป็นพุทธในทะเบียนบ้าน เดี๋ยวนี้ทะเบียนบ้านมีศาสนาหรือเปล่าไม่รู้ มีไหม เมื่อก่อนมี ไม่ได้เป็นพุทธเพราะว่าเข้าวัด ตอนนี้คนเข้าวัดเยอะ ไม่ใช่ไม่มี แต่ไม่ได้เข้าไปในฐานะชาวพุทธ ส่วนใหญ่เข้าไปแสวงหาโชคลาภ ไม่ได้ตรงวัตถุประสงค์อะไรของการเข้าวัด
อะไรที่จะทำให้เราเป็นชาวพุทธที่แท้จริง เราต้องมีสัมมาทิฏฐิให้ได้ อย่างน้อยที่สุดต้องเป็นสัมมาทิฏฐิในภาคปริยัติ ถ้าเรายังไม่ได้สัมมาทิฏฐิในภาคปฏิบัติ ภาคปริยัติ เราก็ต้องรู้หลักคำสอน สำคัญๆ ของพระพุทธเจ้า สิ่งที่เป็นแก่นแท้เป็นหัวใจคำสอน คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ตรงนี้เป็นหัวใจของคำสอนของพระพุทธเจ้า อันนี้พระพุทธเจ้าท่านพูดไว้เอง มีคนถามท่านว่าอะไรเป็นแก่นของคำสอนของท่าน ที่มีเทศน์ไว้เยอะแยะ อะไรเป็นแก่นสารสาระจริงๆ ท่านบอกว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่น เราก็จะพ้นจากความทุกข์ เราทุกข์เพราะเรายึดมั่นถือมั่น
พระปุณณมันตานีบุตร
สังเกตดูคนที่บอกเป็นชาวพุทธ มีการปฏิบัติตัวทำพิธีกรรมทำอะไรต่างๆ สังเกตเอา เป็นไปเพื่อลดละความยึดมั่นถือมั่น หรือเป็นไปเพื่อความยึดมั่นถือมั่น จะเอาไว้หรือจะลด อย่างคนจำนวนมากแห่เข้าไปตามวัด เขาลือกัน วัดนี้มีพระอรหันต์ มีครูบาอาจารย์ มีฤทธิ์มีเดชอะไร คนเข้าไปเป็นพันๆ ในแต่ละวัน มีกี่คนที่อยากได้ธรรมะ ส่วนมากก็ไปขอวัตถุมงคล ไปเช่าวัตถุมงคล ไปขอพรให้พระประทานพรให้ ขอพระภิกษุบ้าง ขอพระพุทธรูปบ้าง ขอเทวรูปบ้าง อันนี้เป็นไปเพื่อจะเอา ไม่ได้เป็นไปเพื่อจะไม่ยึดถือ
บางคนเข้าไปหาครูบาอาจารย์ พยายามทำตัวให้เด่นให้ครูบาอาจารย์สนใจ เข้าไปถวายเงินทีหนึ่งเป็นล้านๆ เลย เผื่อท่านจะสนใจ ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น ท่านก็เฉยๆ ถ้าไปเจอคนที่เขายังยึดมั่นถือมั่น เขาก็โอ๋เรา ประจบประแจง คนนี้รวย คนนี้มีตำแหน่งใหญ่ เขาก็ประจบประแจง ฉะนั้นเวลาไม่ว่าเราจะทำอะไร เราสังเกตตัวเอง เราทำเพื่อพอกพูนกิเลสหรือทำเพื่อลดละกิเลส อย่างเราถือศีล ไม่ได้ถือส่งเดช การถือศีลที่ถูกต้องจริงๆ ต้องเป็นไปเพื่อลดละกิเลส
มีธรรมะอยู่บทหนึ่งมีองค์ 7 ประการ คือวิสุทธิ 7 วิสุทธิ 7 เป็นคำสอนดั้งเดิมอยู่ในพระไตรปิฎก แต่คนไม่ค่อยเรียน คนไปเรียนคำสอนรุ่นหลังลงมาเรื่องญาณ 16 โสฬสญาณ รู้สึกมันเยอะดีล่ะกระมัง ในความเป็นจริง วิสุทธิ 7 เป็นธรรมะที่น่าฟังมาก ธรรมะบทนี้เกิดจากการสนทนาธรรม ระหว่างท่านพระสารีบุตรกับพระปุณณมันตานีบุตร
พระสารีบุตรเราก็รู้จักอยู่แล้วล่ะ เป็นอัครสาวกที่มีปัญญามาก อธิบายอริยสัจได้เหมือนๆ พระพุทธเจ้า พระปุณณมันตานีบุตร พวกเราไม่ค่อยรู้จัก ท่านเป็นชาวกบิลพัสดุ์ เป็นคนที่สอนพระอานนท์ให้ได้โสดาบัน พระอานนท์ไม่ได้โสดาบันจากพระพุทธเจ้า แต่ได้ฟังธรรมของพระปุณณมันตานีบุตร ได้โสดาบัน พระปุณณมันตานีบุตรท่านจะสอนลูกศิษย์ท่านเสมอ รวมทั้งตัวท่านเองก็ปฏิบัติธรรมะอยู่หมวดหนึ่งเสมอ เรียกว่ากถาวัตถุ 10 ข้อ มีความมักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงบ ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร นี่ 5 แล้ว มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีวิมุตติ มีวิมุตติญาณทัสสนะ อีก 5 เป็น 10 ข้อ
ครั้งหนึ่งมีพระจากกบิลพัสดุ์มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ถามบอกว่าตอนนี้ในชาติภูมิ ชาติภูมิคือแดนเกิด ก็คือทางกบิลพัสดุ์ ในชาติภูมิของพระพุทธเจ้ามีใครสอนกถาวัตถุ 10 บ้าง แล้วมีใครปฏิบัติบ้าง พวกพระก็ยกย่องพระปุณณมันตานีบุตรว่าท่านปฏิบัติกถาวัตถุ 10 ข้อ แล้วก็สอนลูกศิษย์ลูกหาในเรื่องกถาวัตถุ 10 ข้อ พระพุทธเจ้าได้ยินก็ยกย่องสรรเสริญพระปุณณมันตานีบุตร พระสารีบุตรท่านนั่งอยู่ด้วยในที่นั้น
ท่านก็รู้สึกพระปุณณมันตานีบุตรน่าสนใจ อยากเจอ ท่านก็เลยสั่งลูกศิษย์ท่านให้คอยดูไว้ ถ้าเมื่อไรพระปุณณมันตานีบุตรมาเฝ้าพระพุทธเจ้าให้รีบไปบอกพระสารีบุตร ท่านอยากเจอ ก็รอ นานเท่าไรตำราไม่ได้บอก วันหนึ่งพระปุณณมันตานีบุตรมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็สนทนาธรรมเป็นที่ร่าเริงใจ พระปุณณมันตานีบุตรก็ร่าเริง พระพุทธเจ้าก็ร่าเริง อันนี้เป็นเรื่องปกติ อย่างเวลาเราภาวนา เราไปส่งการบ้านครูบาอาจารย์ ถ้าธรรมะนั้นเรามาจากการภาวนาจริงๆ มันสนุก มันร่าเริง ฟังแล้วสนุก ไม่ใช่ฟังแล้วต้องคิดตามเคร่งเครียด ไม่ใช่
พอท่านคุยกันพอสมควร พระปุณณมันตานีบุตรก็กราบทูลลาออกไปพักกลางวัน เมืองแขกมันร้อน กลางวันพระก็จะไปหาต้นไม้ เอาเสื่อไปปูใต้ต้นไม้ พระปุณณมันตานีบุตรก็เอาเสื่อวางบนศีรษะแล้วก็ไป กันแดดได้ด้วย เดินไป ลูกศิษย์พระสารีบุตรไปบอกพระสารีบุตร พระสารีบุตรรีบคว้าเสื่อเดินตามไป ไปนั่งอยู่ต้นไม้ใกล้ๆ กัน ไม่พูดอะไรกัน ตกบ่ายตกเย็นอากาศผ่อนคลาย พระก็หายเหนื่อยด้วย พระต้องตื่นมาแต่เช้ามืด ทุกองค์ทำกิจกรรมมากมาย ตอนบ่ายบางทีท่านก็พัก พักของท่านก็คือเรียกว่าทิวาวิหาร ทิวาวิหารไม่ได้แปลว่านอนพัก แปลว่าอยู่ตอนกลางวัน ท่านก็นั่งสมาธิอะไรของท่านไป พักผ่อน ไม่ยุ่งกับใคร
พอตกเย็นพระปุณณมันตานีบุตรก็เริ่มเคลื่อนไหว พระสารีบุตรก็เข้าไปหา พระสารีบุตรก็ตั้งคำถาม บอกที่ท่านมาบวช ท่านปรารถนาที่จะมีศีลวิสุทธิหรือเปล่า ศีลวิสุทธิ คือมีศีลที่บริสุทธิ์ ศีลที่บริสุทธิ์ไม่ใช่แปลว่าศีลอย่างที่เราคิด ศีลวิสุทธิคือศีลที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ไม่ใช่ศีลเพื่อจะเอาบุญ ถือศีลแล้วจะได้เกิดมารูปร่างสวยงามอะไรอย่างนี้ อันนั้นถือเพื่อจะเอา แต่ศีลวิสุทธิ ถือศีลเพื่อเป็นบาทเป็นฐานที่จะพัฒนาตัวเองไปสู่ความพ้นทุกข์ ไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น พระสารีบุตรถามพระปุณณมันตานีบุตรว่าที่ท่านบวช ท่านต้องการศีลวิสุทธิหรือ ท่านบอกไม่ใช่ ตอบว่าไม่ใช่
พระสารีบุตรท่านก็ถามต่อ ถ้าอย่างนั้นท่านต้องการทิฏฐิวิสุทธิหรือ ทิฏฐิคือทฤษฎี ความคิดความเห็นที่ถูกต้องอะไรพวกนี้ ต้องการทิฏฐิวิสุทธิหรือ ท่านบอกไม่ใช่ ต้องการจิตตวิสุทธิหรือ จิตตวิสุทธิคือจิตที่ทรงฌาน เข้ามาบวช ทีแรกก็ถามว่าอยากมีศีลอันบริสุทธิ์หรือ ไม่ใช่ มาบวช อยากมีความคิดความเห็นที่ถูกต้องหรือ เพื่อบริสุทธิ์หรือ ไม่ใช่ อยากมีจิตที่บริสุทธิ์ คือจิตทรงฌานหรือเปล่า พระปุณณมันตานีบุตรบอกไม่ใช่
วิสุทธิ 7 เป็นคำสอนดั้งเดิมอยู่ในพระไตรปิฎก
มันมี 7 ศีลวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ มีอันหนึ่งเรียกกังขาวิตรณวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ไปหาอ่านเอาเองก็แล้วกัน จำได้แต่ชื่อบาลี คือพอมีจิตที่วิสุทธิ์แล้ว ก้าวต่อไปก็ต้องแยกธาตุแยกขันธ์ ก็จะเห็นรูปแต่ละรูปมีเหตุให้เกิด นามแต่ละนามมีเหตุให้เกิด จะเห็น ก็จะหมดความสงสัย รูปธรรมนามธรรมไม่ได้เกิดลอยๆ มีเหตุให้เกิด บอกปฏิบัติมาเพื่อจะแยกรูปแยกนามนี้ใช่ไหม พระปุณณมันตานีบุตร ไม่ใช่
ปฏิบัติเพื่อจะรู้ว่าอะไรเป็นทางอะไรไม่ใช่ทาง เรียกมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือเปล่า บอกไม่ใช่ๆ ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะรู้เส้นทางว่าอะไรเป็นมรรคอะไรไม่ใช่มรรค ถ้าอย่างนั้นปฏิบัติเพื่อเจริญปัญญา ให้เกิดปัญญาเห็นถูกต้องมีญาณทัสสนวิสุทธิใช่ไหม ก็ไม่ใช่อีก ปฏิบัติเพื่อจะให้รู้ว่าตรัสรู้แล้วถึงที่สุดแล้วเป็นอย่างไร วิมุตติญาณทัสสนวิสุทธิใช่หรือเปล่า พระปุณณมันตานีบุตรบอกก็ไม่ใช่
พระสารีบุตรท่านเก่งมาก คำว่าวิสุทธิ 7 พระสารีบุตรท่านพูดขึ้นมา เอามาถามพระปุณณมันตานีบุตร หาเรื่องสนทนาธรรมกัน ท่านปฏิบัติธรรมมาบวชเพื่อศีลวิสุทธิใช่ไหม เพื่อทิฏฐิวิสุทธิใช่ไหม เพื่อจิตตวิสุทธิใช่ไหม เพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิใช่ไหม เพื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิใช่ไหม มรรคกับอมรรค เขาเรียก มัคคา มัคคะ อันนี้เป็นทาง อันนี้ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ เพื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิใช่ไหม เพื่อเดินในปฏิปทา ไปสู่ความบริสุทธิ์ ให้เกิดปัญญาที่บริสุทธิ์ใช่ไหม ไม่ใช่ เพื่อญาณทัสสนะที่บริสุทธิ์หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ๆ รวมแล้วก็คือ ทั้ง 7 ข้อนี้ ธรรมะทั้ง 7 ประการที่เป็นเส้นทางไปสู่ความบริสุทธิ์ พระปุณณมันตานีบุตรบอกว่าท่านไม่ได้ปฏิบัติเพื่อสิ่งเหล่านี้
พระสารีบุตรบอก นั่นก็ไม่ใช่ นี่ก็ไม่ใช่ นั่นก็ไม่เอา นี่ก็ไม่เอา แล้วท่านปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร ท่านบอกท่านปฏิบัติธรรมเพื่ออนุปาทิเสสนิพพาน ไม่มีเชื้อเหลือ นิพพานชนิดที่ไม่มีเชื้อเหลือ ไม่มีขันธ์เหลือ พระสารีบุตรก็เก่ง ซักต่อ อ้าว แล้วจะไปสู่พระนิพพาน อยู่นอกเส้นทางของวิสุทธิ 7 หรือ ก็บอกไม่ใช่อีก เอ๊ะ เดินวิสุทธิ 7 ทีละข้อก็ว่าไม่ใช่ นอกจากวิสุทธิ 7 ก็ไม่ใช่ ถ้ามีเส้นทางที่นอกจากวิสุทธิ 7 ปุถุชนมันก็เป็นพระอรหันต์กันหมด มันต้องเส้นทางนี้ล่ะ แต่ท่านเดินทางนี้ เดินไปโดยไม่ได้ยึดติด
มีศีลก็ไม่ได้ยึดศีล มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้องก็ไม่ได้ยึดทฤษฎี มีสมาธิที่ถูกต้องก็ไม่ได้ยึดสมาธิ มีปัญญาขั้นต้น แยกรูปนามได้ มองเห็นว่ารูปแต่ละรูป นามแต่ละนามมีเหตุอะไรให้เกิดขึ้นมา นี่ก็เป็นทางผ่าน แล้วต่อไปก็คือรู้ว่าอะไรเป็นทางอะไรไม่ใช่ทาง ตรงทางแล้วก็ไม่ใช่ทาง คือเริ่มวิปัสสนาแล้ว ก็จะเห็นสภาวธรรมมันเกิดดับๆ แล้วพอผ่านไปจุดหนึ่ง กำลังของจิตตกลง สมาธิตก เดินปัญญาวิปัสสนาไปแล้วสมาธิมันตก มันจะพลิกไปเป็นวิปัสสนูปกิเลส พอเพิ่มกำลังสมาธิ ผ่านวิปัสสนูปกิเลสได้ก็เลยรู้ได้ เกิดปัญญารู้แล้วอะไรเป็นทางอะไรไม่ใช่ทาง
ในเส้นทาง มีทั้งศีล มีทั้งสติ ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ถึงจะเดินไปได้ ถ้าเดินไปแล้ว สมาธิไม่พอ ไม่ใช่ทางแล้ว จิตจะเกิดวิปัสสนูปกิเลส ไม่ต้องกลัว นักปฏิบัติเจอทุกคน หลวงพ่อก็เจอตั้งหลายตัว หลวงพ่อเคยเจอวิปัสสนูปกิเลส มีสติกล้าแข็งมาก สติแรงเกินไป ตั้งสติแรงไป นึกว่าดี มีปัญญามากไป รอบรู้แตกฉานเยอะแยะไปหมดเลย นึกว่าดี มีจิตเข้าไปอยู่ในความว่าง ความสว่าง ความไม่มีอะไรเลย อยู่กับแสงสว่าง ก็นึกว่าดี สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะของวิปัสสนูปกิเลส มีทั้งหมด 10 แบบ ที่หลวงพ่อเจอ 3 แบบหลักๆ
ถ้าเราผ่านวิปัสสนูปกิเลสแล้ว ก็เรียกว่าเราได้มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิแล้ว ต่อไปเราก็เดินวิปัสสนาต่อไป เรียกว่าปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ มีปฏิปทา มีการกระทำแล้ว ทำอะไร ทำวิปัสสนา แล้วต่อไปก็เกิดญาณทัสสนวิสุทธิ เกิดมรรคเกิดผลอะไรขึ้นมา ก็รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นแล้ว อะไรละแล้ว อะไรยังไม่ละ
เส้นทางเหล่านี้ คนที่จะปฏิบัติให้ถึงพระนิพพานก็อย่าไปยึดถือในศีล อย่าไปยึดถือทฤษฎีชี้นำ ตำรับตำราทั้งหลาย อย่าไปยึดถือสมาธิ อย่าไปยึดถือการคิดแยกธาตุแยกขันธ์แล้วยังคิดอยู่ หาเหตุหาผลอะไรต่ออะไรไป อย่าไปติดอยู่ตรงที่เห็นเกิดดับแล้วพอใจอยู่แค่นั้น อย่าไปดีใจตรงที่ผ่านวิปัสสนูปกิเลสได้แล้วก็อิ่มอกอิ่มใจ ไม่ไปต่อ แล้วก็ต้องเดินปฏิปทา เดินในเส้นทางนี้ไม่ยอมหยุด ถึงเวลาเจริญปัญญาก็เจริญปัญญา ถึงเวลาควรทำสมถะก็ทำสมถะ เดินไปในปฏิปทาที่ถูกต้อง มีสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริงปล่อยวางได้ วิสุทธิ 7 เป็นทางไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น แต่เราอย่ายึดตัวทาง มิฉะนั้นเราจะไปไม่รอด ไปไม่ถึงฝั่ง
พระสารีบุตรบอกว่าที่ท่านพระปุณณมันตานีบุตรพูดมา นั่นก็ไม่เอานี่ก็ไม่เอา แล้วก็บอกไม่มีทางอื่นที่จะบรรลุมรรคผล ก็มีแต่วิสุทธิ 7 นี่ล่ะ แต่วิสุทธิ 7 ท่านก็ไม่เอา จะเอาอย่างไรกันแน่ พระปุณณมันตานีบุตรท่านก็เลยบอกว่าจะเปรียบเทียบให้ฟัง พระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ที่สาวัตถี แล้วได้เมืองสาเกตมาอีกเมืองหนึ่ง เป็นเมืองใหญ่เศรษฐกิจดี แกต้องปกครองเมืองใหญ่ๆ 2 เมืองซึ่งตั้งอยู่ห่างกัน ฉะนั้นเวลามีราชการด่วน พระเจ้าปเสนทิโกศลจะเดินทางจากสาวัตถีไปสาเกต จะนั่งรถม้าคันเดียวไป ม้าวิ่งไม่ไหว เขาก็เลยมีสถานีรายทาง 7 สถานีทั้งหมด
ตั้งแต่สถานีที่หนึ่งคือจากสาวัตถีไปที่สอง สาม สี่ สถานีที่เจ็ดก็ถึงเมืองสาเกต บอกเวลานั่งรถม้า ก็วิ่งไปเต็มที่เลย วิ่งเร็วๆ เต็มเหนี่ยว พอไปถึงสถานีที่สองม้ามันเหนื่อยแล้ว เปลี่ยนรถ ขึ้นรถอีกคันหนึ่ง ม้าอีกฝูง อีกคู่หนึ่ง วิ่งต่อไปอีก เป็นรถ 7 ผลัด เดินทางไปด้วยรถ 7 ผลัด ในที่สุดก็ถึงเมืองสาเกต ถ้าคนที่เมืองสาเกตถามพระเจ้าโกศลว่าพระองค์เสด็จมาด้วยรถม้าคันสุดท้ายนี้หรือ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาได้เพราะอาศัยรถทั้ง 7 ผลัด คืออาศัยวิสุทธิ 7 นั่นเอง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ถึงที่สุดแห่งทุกข์เพราะญาณทัสสนวิสุทธิ ไม่ใช่แค่นั้น
ธรรมะอันนี้อยู่ในพระสูตรชื่อรถวินีตสูตร ลองไปหาอ่านเอา ลองอ่านพระสูตรดูบ้าง พระไตรปิฎกเวลาที่หลวงพ่ออ่าน อ่านพระสูตร จะร่าเริงใจมากเลย แล้วก็เกิดกำลัง ได้สมาธิๆ แล้วก็มีกำลังลงมือปฏิบัติได้กระฉับกระเฉง ฉะนั้นช่วงที่หลวงพ่อไม่ได้ไปหาครูบาอาจารย์ บางทีเราภาวนาไปแล้วใจเราแห้งแล้ง เดินปัญญามากๆ ใจมันแห้งแล้ง ก็ไปอ่านพระไตรปิฎก อ่านพระสูตรนี่ล่ะวิเศษที่สุดเลย อภิธรรมไม่ต้องไปอ่าน อ่านไม่รู้เรื่องหรอก ต้องไปเรียนฎีกา คัมภีร์ชั้นหลังก่อนถึงจะไปอ่านอภิธรรมได้
คุณงามความดีทั้งหลายที่เราทำมา
เป็นไปเพื่อส่งทอดเราไปสู่นิพพาน
เราก็จะรู้คุณงามความดีทั้งหลายที่เราทำมา เป็นไปเพื่อส่งทอดเราไปสู่นิพพาน ถ้าเรายึดคุณงามความดีอันนั้นเอาไว้อย่างเหนี่ยวแน่น เราก็ไปนิพพานไม่ได้ อย่างยึดศีลอย่างเหนี่ยวแน่นก็คือขึ้นรถม้าคั้นที่หนึ่งแล้วไม่ยอมลงเลย จะตะบี้ตะบันวิ่งไปทีเดียว ถือศีลอย่างเข้มงวด เครียดไปหมดเลย ไม่ได้เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แล้ว ถือเพราะงมงาย ถือเพราะว่าอยากเด่นอยากดัง ถือศีลแล้วเอาไปคุยอวดคนได้ อันนี้ไม่ใช่ศีลวิสุทธิ ศีลอย่างนี้เป็นศีลที่สะสมกิเลส
ทิฏฐิวิสุทธิ เราเรียนธรรมะเรียนทฤษฎี ก็คือเรียนปริยัตินั่นล่ะ ทิฏฐิเป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตคือคำว่าทฤษฎี คำเดียวกัน ทิฏฐิวิสุทธิคือมีทฤษฎีที่ถูก ก็เรียนปริยัติ ปริยัติที่ต้องเรียน ถ้าเป็นอย่างสายวัดป่า เขาไม่มานั่งเรียน แต่อาศัยฟังครูบาอาจารย์นั่นคือปริยัติ หลวงพ่อเอาทั้ง 2 ทาง ตำราหลวงพ่อก็อ่าน ฟังครูบาอาจารย์ก็ฟัง เรียนทฤษฎีทั้งจากตำราทั้งจากครูบาอาจารย์ บางครั้งงง ทำไมครูบาอาจารย์สอนไม่เหมือนตำรา ไม่เหมือนพระพุทธเจ้า
หลวงพ่อเคยภาวนาถึงจุดหนึ่ง เราจะเห็นที่กลางอกเรามันไหวตัวยิบยับๆ หมุน ไหวไปหมุนไป มันทุกข์ ตัวนี้ทุกข์ แต่ตัวนี้มันถูกรู้ ตัวนี้มันยังไม่ใช่จิตหรอก แล้วเราควรจะดูไหน ดูตัวไหน ตำรา พระพุทธเจ้าบอกให้รู้ทุกข์ เราก็น่าจะรู้ตัวนี้ เอ๊ะ ทำไมหลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต จิตมันเป็นคนดู 2 ตัวนี้ที่ถูกมันดูตัวไหน สงสัยขึ้นมาๆ ไม่คิดสักนิดเลยว่าพระไตรปิฎกผิด เราศึกษาพระไตรปิฎกยังไม่ถ่องแท้ เรายังไม่เข้าใจ เอ๊ะ แล้วหลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต หลวงปู่ดูลย์ผิดหรือเปล่า
เราสังเกตหลวงปู่ดูลย์ ดูท่านงดงามไปหมดเลย เป็นพระที่งาม งามแบบปอนๆ หลวงปู่ดูลย์ไม่ได้งามแบบหรูหรา อย่างถ้าหลวงปู่เทสก์งามแบบพระราชาเลย ทุกสิ่งทุกอย่างงดงาม แต่หลวงปู่ดูลย์จะเป็นพระปอนๆ จีวรขาดๆ ปะเอาไว้แล้ว ปะแล้วปะอีกอะไรอย่างนี้ แต่ท่านงาม เรารู้สึกด้วยใจว่าท่านงาม ท่านก็ไม่น่าจะสอนผิดหรอก เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎกไม่ผิด หลวงปู่ดูลย์ไม่ผิด ที่ผิดคือเรา เรายังเข้าไม่ถึงคำสอนอันนี้ที่แท้จริง
ถ้ายึดทฤษฎีก็จะเริ่มชี้หน้าเลย หลวงปู่ดูลย์ผิด ถ้าเชื่อพระไตรปิฎก แต่ถ้าเชื่ออาจารย์ ทฤษฎีของอาจารย์ พระไตรปิฎกผิด เออ หลวงพ่อไม่ได้เป็นแบบนั้น หลวงพ่อคิดว่าเราบกพร่องตรงไหน เรายังไม่เข้าใจตรงไหน ค่อยภาวนาไปเรื่อย เวลาภาวนาก็คอยตรวจสอบตัวเอง เดินอยู่หลักของสมถวิปัสสนาไหม เดินอยู่ในหลักของสติปัฏฐานไหม ภาวนาแล้วสงบอย่างเดียวหรือภาวนาแล้วเห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม สังเกต
แล้วก็สังเกตจิตใจของเราเอง จิตใจเราค่อยๆ คลายตัวออกจากโลก เคยคลุกเต็มร้อยอยู่กับโลก คล้ายๆ เคยเห็นหมากัดกันไหม หมาหลายๆ ตัวรุมกัดกันใหญ่ มั่วขบวนหมากัดกัน จิต ถ้าเราเข้าไปตะลุมบอนด้วย มันก็เหมือนหมาอีกตัวหนึ่ง จิต เราค่อยๆ ฝึก เราห่างโลกออกมา เราเห็นหมากัดกัน เราเป็นคนดู หมามันกัดกันที่ไหน กัดในใจเรา กุศลกับอกุศลทะเลาะกันอุตลุดเลย ระหว่างดีกับชั่วมันทะเลาะกันอยู่ในใจเรานี้ ใจเราเป็นคนดู ดูหมามันกัดกันอยู่ในใจเรานี้
เห็นตัวนี้ทุกข์ ตัวที่อยู่ในกลางอกนี้ทุกข์ๆ แล้วสติมันเร็ว สติมันแข็งแรง มันเห็นทั้งวันมันเห็นทั้งคืน นอนหลับอยู่ ร่างกายหลับ จิตยังเห็นตัวนี้ทำงานอยู่เลย มันทุกข์มาก ไม่รู้จะทำอย่างไร พอดีเจอหลวงพ่อพุธ ไปนั่งถามท่าน ท่านก็พยายามแก้ให้เป็นชั่วโมงเลย แก้ไม่ตก เขียนจดหมายไปถามท่านอาจารย์มหาบัว ท่านก็ตอบมาให้ ก็เหมือนที่หลวงพ่อพุธบอกอีก ก็แก้ไม่ตก โหย ดูมันปรุงทั้งวันทั้งคืน เหนื่อยมากเลย ทุกข์มากเลย เห็นทุกข์ นึกว่าทนไปเรื่อยๆ แล้วคือรู้ทุกข์ มันไม่ใช่หรอก
วันหนึ่งหลวงพ่อเหนื่อยมากแล้ว เห็นตัวนี้อยู่กลางอกเป็นเดือนเลย ตอนนั้นไปรอรถเมล์ ระหว่างรอรถเมล์จะไปทำงาน นึกขึ้นได้ โอ๊ย เหนื่อยเหลือเกินวันนี้ ขอพักสักหน่อยเถอะ คิดพักก็คือหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตมันต้องการพักอยู่แล้ว ไม่ได้เก่งอะไรหรอก เราเดินปัญญามาจนจิตมันล้าเต็มที่แล้ว หายใจไม่กี่ทีจิตรวมเลย ร่างกายนี้หายไป โลกทั้งโลกก็หายไป เหลือแต่จิตดวงเดียวสว่างไสว พอจิตถอยออกจากสมาธิมา ยังยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์เลย มันใช้เวลาไม่นาน ถอยออกมาปุ๊บ ใจเย็นฉ่ำเลย เห็นสภาวะกลางอกไหวยิบยับๆ แต่ใจที่ไปรู้เย็นฉ่ำ มีความสุขในการไปเห็นสภาวะ โอ๊ย เราโง่จริงๆ เราเจริญปัญญารวดไปเลย เราทิ้งสมถะ สมถะทิ้งไม่ได้ ถ้าทิ้งไปแล้ว ปัญญาก็ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้น เหมือนมีมีดทื่อๆ แล้วไปฟันต้นไม้ ฟันไม่ขาด แต่ถ้ามีดเราคม ฟันฉับๆๆ เดี๋ยวต้นไม้ก็ขาดแล้ว
ก็ค่อยภาวนามาตามลำดับเรื่อยๆ มา แล้วก็เห็นร่างกายนี้มันทุกข์ แล้วก็ใจมันก็ห่างร่างกายออกไป โลกข้างนอกมันทุกข์ ใจมันก็ห่างโลกข้างนอกออกไป ห่างกายออกไป ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายก็ห่างๆ ออกไป ใจก็เด่นดวงอยู่ ใจนี้มีแต่ความสุข จิตผู้รู้เต็มไปด้วยความสุข ก็ภาวนาเรื่อยๆ ต่อไปปัญญามันแก่รอบ เห็นจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ จิตมันยังอยู่ในขันธ์ จิตมันเป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ 5 มันก็ยังเป็นตัวทุกข์อยู่ เห็นตัวนี้ก็ โอ้ พระพุทธเจ้าสอนให้รู้ทุกข์ ทุกข์ไม่ได้มีอยู่แค่นี้ ตัวจิตเองก็คือตัวทุกข์ ฉะนั้นที่หลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิตก็คือดูทุกข์ เพียงแต่การดูจิตตัวทุกข์ตัวนี้เป็นทุกข์ตัวสุดท้าย เป็นทุกข์ตัวสุดท้ายที่เราจะเรียนรู้
ทุกข์ของร่างกาย ทุกข์ของเวทนา ทุกข์ของสัญญา ของสังขาร ปรุงดีปรุงชั่ว ทุกข์ของวิญญาณคือจิตที่เกิดดับทางทวารทั้ง 6 อันนี้ยังหยาบๆ ทุกข์ของจิตผู้รู้ประณีต ถ้าเห็นตัวนี้ก็จะปล่อยวางตัวผู้รู้ได้ ปล่อยวางตัวผู้รู้ไป เราก็รู้ โอ้ หลวงปู่ดูลย์ก็สอนถูก พระพุทธเจ้าก็สอนถูก ฉะนั้นเวลาเรียนตำรา เรียนแล้วฟังหูไว้หูก่อน ยิ่งตำรา ถ้าเป็นตำราชั้นหลัง ต้องฟังหูไว้สัก 2 หูเลยยิ่งดี แล้วทดสอบด้วยการปฏิบัติเอา
ตอนก่อนที่หลวงพ่อจะไปบวช พระอุปัชฌาย์ให้หลวงพ่อไปอยู่ที่เมืองกาญจน์ อยู่กับหลวงปู่สุจินต์ ทีนี้หลวงปู่สุจินต์ไม่ค่อยอยู่วัดหรอก ไปโน่นไปนี่ตลอด ส่วนใหญ่เราก็เลยต้องอยู่คนเดียว อุปัชฌาย์ให้มาอยู่ ไม่ได้ไปแอบบวชปุ๊บแล้วหนีไปอยู่คนเดียว อันนั้นผิดพระวินัย อันนี้หลวงปู่สุจินต์ท่านก็แวะเข้ามาดูเป็นระยะ ส่วนใหญ่หลวงพ่อก็ภาวนาของหลวงพ่อไป ก็ทำของเราไปเรื่อยๆ ใจมันก็ค่อยๆ เห็นโลกไม่มีสาระๆ ศีล สมาธิ ปัญญาอะไรนี่ วิสุทธิ 7 มันก็อยู่ในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญานั่นล่ะ ศีลวิสุทธิอันนี้เรื่องของศีล ทิฏฐิวิสุทธิเป็นปัญญาขั้นต้น ญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นปัญญาขั้นปลาย
ทิฏฐิวิสุทธิ ปัญญาจากทฤษฎี เรียนเอาจากปริยัติ ญาณทัสสนวิสุทธิ วิมุตติญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นผลจากการปฏิบัติ จิตตวิสุทธิเป็นเรื่องของสมาธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ นี่คือการเจริญวิปัสสนา สุดท้ายก็เกิดญาณทัสสนะที่ถูก เกิดมรรคเกิดผล เกิดมรรคญาณผลญาณ วิมุตติญาณทัสสนวิสุทธิ จิตมันย้อนเข้ามาทำปัจจเวก ตรวจสอบจิตใจตัวเอง กิเลสอะไรละแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ละ อยู่ในเส้นทางของวิสุทธิ 7
ปฏิบัติธรรมเพื่อเพื่อวางเพื่อละ ถึงจะได้
ถ้าเราทำจิตตวิสุทธิ เราทำสมาธิได้ จิตทรงสมาธิอยู่แล้วเรายินดีพอใจ อันนี้ไม่ใช่จิตตวิสุทธิแล้ว เพราะว่าสมาธิตัวนี้ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์แล้ว แต่เป็นไปเพื่อเอา เข้าฌานได้แล้วจะเอา เอาอะไร เอาพรหมโลก ไปเป็นพระพรหม ถือศีลเพื่อจะเอา เอาอะไร เอาหน้าเอาตา เอาความภูมิใจว่ากูมีศีลดีกว่าคนอื่น อย่างนี้ไม่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ ทิฎฐิวิสุทธิ เรียนทฤษฎี เรียนเพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติถึงจะเป็นทิฏฐิวิสุทธิ ถ้าเรียนเพื่อจะแค่สอบได้ ยังไม่ใช่ทิฏฐิวิสุทธิหรอก เรียนเพื่อสิ่งอื่น เรียนเก่งๆ มีชื่อเสียงมีอะไรอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ทิฏฐิวิสุทธิ นั่งสมาธิเก่ง แต่พอใจในการนั่งสมาธิ ก็ไม่ใช่จิตตวิสุทธิ ต้องเดินไปเรื่อยๆ อย่ายอมอยู่กับที่
หลวงพ่อเคยช่วงหนึ่งจิตมันเหนื่อย มันเหนื่อยมากเลย จิตมันไม่ยอมเดินต่อ มันอยากอยู่นิ่งๆ ไม่อยากคิดอยากนึกอะไร พอดีไปเจอครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง คือหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ คนนึกว่าเป็นพระนักสร้างวัตถุมงคล ที่จริงพระภาวนาเก่ง หลวงปู่คำพันธ์ ไม่ได้ถามอะไร ไปนั่งใกล้ๆ ท่านก็บอก เวลาเราเดินทางไกลในทะเลทรายแห้งแล้งกันดาร เราจะไปหาแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ พูดแบบลอยๆ อย่างนี้ บอกเราจะไปหาแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ทีนี้เราไปเจอต้นไม้ใหญ่ มีบ่อน้ำเล็กๆ อยู่ มีต้นไม้ใหญ่ร่มเย็น เราเดินทางมากลางทะเลทรายเหนื่อย มาเจอตรงนี้เราก็เลยหยุดพัก พอเราพักแล้วเราก็ไม่ยอมไปต่อ ไม่เดินต่อแล้ว เมื่อไรมันจะไปถึงแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์
ท่านพูดแค่นี้ มองหน้าหลวงพ่อแล้วก็พูดเลย เราลงกราบ เราเข้าใจที่ท่านบอก กระทั่งการที่จิตเราไปหยุดพักนานๆ ไม่ยอมเจริญปัญญาต่อ ก็เหมือนคนเดินทางในทะเลทรายแล้วไปเจอโอเอซิส ก็พอใจแค่นั้นแล้ว เลยไปไม่ถึงแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ก็คือพระนิพพาน นี่คำเปรียบเทียบทั้งหมดเลย ท่านสอนโดยการเปรียบเทียบ
เพราะฉะนั้นเราปฏิบัติธรรม เราไม่ยึดศีล ไม่ยึดตำรา ไม่ยึดสมาธิ แล้วลงมือปฏิบัติ ก็ไม่ยึดว่ากูเก่งอย่างโน้นกูรู้อย่างนี้ กูได้ญาณชั้นนั้นได้ญาณชั้นนี้ คิดอย่างนี้ไปไม่รอดหรอก คิดจะเอา เมื่อไรจะได้สังขารุเปกขาญาณเสียที ทำมาตั้งนานแล้ว รับรองไม่ได้ ถ้าปฏิบัติธรรมเพื่อจะเอา ไม่ได้หรอก แต่ทำเพื่อวางเพื่อละถึงจะได้ เพราะฉะนั้นเราก็อย่าไปยึดติดในคุณงามความดีเหล่านี้ที่เล่าให้ฟัง 7 ประการนี้ ไม่ใช่เอาไว้ยึดถือ แต่มันเป็นทางผ่านที่มีประโยชน์
อย่างทิฏฐิวิสุทธิ การเรียนปริยัติมีประโยชน์ไหม มี แต่ถ้าเรียนไว้เพื่อจะเอาไว้สอบ ไม่ใช่ทิฏฐิวิสุทธิ เรียนเพื่อรู้วิธีที่จะเดินต่อ ถึงจะใช่ เพราะฉะนั้นเราอย่าละเลย ตรวจสอบตัวเองเป็นระยะๆ ไป ที่เราปฏิบัติธรรมอยู่เราทำเพื่อจะเอา หรือเราทำเพื่อจะละ เพื่อจะไม่ยึดถือ แก่นทำคำสอนจริงๆ เพื่อไม่ยึดถือ ไม่ใช่เพื่อจะเอาอะไร อย่างบางคน ถ้าอ่านพระไตรปิฎกแล้วก็หลงๆ พูดมากก็ไม่ดี หลงตัดตอนพระไตรปิฎก จะเอาเฉพาะตรงนี้ ตรงนี้ไม่เอา ตรงนี้ไม่ใช่พุทธวจนะอะไรอย่างนี้ หลง อันนี้ก็คือกอดคัมภีร์ไว้แล้ว กอดคัมภีร์ไว้ ไม่รู้หรอกว่าคัมภีร์นั้น เป็นแผนที่ที่จะให้เราเดินทาง นอนกอดแผนที่อยู่แล้วก็ภูมิใจอยู่ แค่นั้นไปไม่รอดหรอก
อันนี้สำหรับพวกเราที่เราเป็นนักปฏิบัติ เรารู้เส้นทางที่จะไป สำหรับชาวบ้านน่าสงสารมากเลย มืดบอด เกิดมากับความมืดบอด ดำรงชีวิตอยู่กับความมืดบอด ตายไปกับความมืดบอด อย่างหวังพึ่งสิ่งภายนอกตลอดเวลา ไปไหว้ต้นไม้ ไปไหว้ผี ไหว้เทวดา ไหว้พญานาคอะไรอย่างนี้ เห่อกันจังพญานาคมีช่วงหนึ่ง เดี๋ยวนี้ก็เริ่มลดลงแล้ว ช่วงนี้เป็นยุคท้าวเวสสุวรรณอีกแล้ว ล้วนแต่ทำไป เพื่อจะเอา เอาโชคเอาลาภ ไปหาพระ ไม่สบาย รดน้ำมนต์ จะได้หายเจ็บหายป่วย หลวงปู่หลวงตารดน้ำมนต์ให้ แล้วตัวท่านป่วยเพราะท่านงอมอยู่แล้ว
หลวงพ่อเคยไปกราบครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านภาวนาเก่ง หลวงปู่คร่ำๆ วัดวังหว้าที่ระยอง อยู่ระยอง อยู่เมืองแกลง ทางเมืองแกลงเคยเข้าไปหลายรอบ ตั้งแต่ยังไม่บวช ไปเข้าใกล้ท่าน เราก็มีความสุขแล้ว ใจท่านสะอาดหมดจด เราเข้าใกล้เรามีความสุข ถ้าเราเข้าใกล้พระหิวโหย เราร้อน เข้าใกล้ เดี๋ยวจะเรี่ยไรอะไรเราก็ไม่รู้ เจอพระนักเรี่ยไร หลวงพ่อหนีเลย ไม่เอา ทำไมต้องการทรัพย์สินเงินทองเยอะเหลือเกิน ไม่รู้จักจบ หลวงพ่อไม่ค่อยชอบทำบุญตามวัด บางทีทำแล้วมันวุ่นวาย หลวงพ่อก็ไปทำบุญให้โรงพยาบาล ปีนี้ก็ทำไปหลายล้านแล้ว ได้เงินที่พวกเราให้ๆ มา หลวงพ่อให้โรงพยาบาล
เข้าไปหาหลวงปู่คร่ำ ท่านอายุตั้ง 100 คนยังจะให้ท่านรดน้ำมนต์ อย่างนี้ไม่ใช่ไม่เหนื่อย คนอายุ 100 ปีพรมอย่างนี้ เห็นที่วัดเขาเลยติดปั๊มไว้ พอโยมมาเขาก็เปิดปั๊ม แล้วก็พ่นน้ำฟู่ๆ แล้วท่านก็ถืออีกด้านหนึ่งไว้เฉยๆ ถือนิดเดียว ให้มันพ่นๆๆ คนก็ได้ประโยชน์แล้ว สบายใจ คนส่วนใหญ่เข้าวัดด้วยสิ่งเหล่านี้ ได้แค่สบายใจชั่วครั้งชั่วคราว แล้วบางทีก็กลุ้มใจต่อไป ไปเจอเขารีดเขาไถอะไรอย่างนี้ ให้เขาไปแล้ว กลับบ้านกลุ้มใจไม่มีจะกิน ฉะนั้นเราอย่าไปหลงๆ
เราภาวนาเพื่อลดละกิเลส ลดละความเห็นแก่ตัว คนส่วนใหญ่เขาไม่ได้เรียนธรรมะ เขาเข้าวัดเขาทำบุญเพื่อหวังผลตอบแทน เขาก็ได้บุญเล็กน้อยตามสมควรแค่นั้น ตามสมควรกับสิ่งที่เขาทำ ส่วนพวกเราทำ บุญของเราเป็นกุศล เราทำทาน รักษาศีล เราภาวนาเพื่อลดละ อันนี้เป็นกุศล มันสูงกว่ากันเยอะเลย การทำคุณงามความดีใดๆ ถ้าประกอบด้วยสติประกอบด้วยปัญญา อันนั้นเป็นบุญใหญ่มากเลย ถ้าทำไปโดยประกอบด้วยความโลภ ไม่ค่อยได้อะไรเท่าไร ทำล้านหนึ่งได้สลึงหนึ่งอะไรอย่างนี้ ไม่เหมือนทำด้วยใจที่เสียสละ ทำสลึงหนึ่งได้บุญล้านหนึ่งอะไรอย่างนี้ อยู่ที่ใจเรา
ทุกวันนี้ คนก็ไปหวังพึ่งอะไรบ้าๆ บอๆ แทนที่จะเรียนธรรมะเรียนกรรมฐาน ไปให้เด็กมันจิ้มหัวให้ เฮ้อ จิ้มอย่างไรมันก็ไม่หายโง่หรอก น่าสงสารๆ ไปทั้งหมด สัตว์โลกน่าสงสาร ไม่ได้น่าเกลียดชังหรอก เขาไม่รู้ เขาทำผิดเพราะเขาไม่รู้ ถ้าเขารู้ว่าสิ่งที่กระทำนั้นมีผลเป็นอย่างไร คนก็จะไม่ทำชั่วหรอก ฉะนั้นใจของเราอย่าไปเป็นศัตรูกับใคร มองเขาด้วยความรู้สึกเมตตาสงสาร เมื่อก่อนเราก็โง่อย่างเขาล่ะ แต่เรามีบุญเราได้ฟังธรรมะ เราได้ปฏิบัติลดละกิเลส เมื่อก่อนเราก็เหมือนเขาล่ะ เราถึงเวียนว่ายตายเกิดมานานแสนนาน ฉะนั้นตอนนี้เราผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ก้าวมาสู่จุดที่เริ่มเดินขึ้นที่สูงมาแล้ว ก็เดินไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก
เหนื่อยก็พัก หมายถึงตอนไหนไม่มีกำลังจะเจริญปัญญาก็ทำสมถะ นั่นล่ะเหนื่อยก็พัก พักไม่ใช่แปลว่าไม่ปฏิบัติ เวลาเราเจริญปัญญาเหนื่อยแล้วเราก็ทำสมถะ เหนื่อยก็พัก มีแรงแล้วก็เดินต่อไป เดินขึ้นไปให้ถึงยอดเขา ตอนจะขึ้นยอดเขาเราก็คิดบนยอดเขามีอะไรหนอ ก็พยายามเดิน อยากขึ้นยอดเขา พอขึ้นยอดเขาแล้วมองไปรอบทิศทาง ว่างๆ แล้วว่างนั้นมันบรมสุข “นิพพานัง ปรมัง สุญญัง” นิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” นิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสภาวะที่จิตใจเราพ้นความอยาก พ้นการดิ้นรน พ้นความเสียดแทง พ้นความยึดถือ ถ้าใจเราเป็นอิสระ เหมือนขึ้นยอดเขาได้ เป็นอิสระ วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ฟังรู้เรื่องหรือเปล่าก็ไม่รู้ เคล็ดลับในการที่จะฟังหลวงพ่อให้รู้เรื่อง นั่งสมาธิไปฟังไปแล้วรู้เรื่อง ไม่ใช่เชื่อมจิต นั่งสมาธิแล้วก็ฟัง เรียนกับครูบาอาจารย์ก็เรียนอย่างนั้น สมัยก่อน เราไม่ต้องทำอะไรหรอก เราก็ไปนั่งสมาธิของเรา แล้วท่านก็สอนไป ธรรมะตรงไหนมันพอดีกับใจเรา เรากำลังติดข้องอยู่ในเรื่องนั้น ใจเราก็จะ Alert ขึ้นมา ตื่นตัวขึ้นมารับรู้
เวลาครูบาอาจารย์เทศน์ คนเยอะๆ อย่างนี้ ท่านก็หว่านๆ ของเรามันเป็นจุดเล็กๆ ที่เรายังขาดอยู่ เราก็นั่งสมาธิของเราไป พอธรรมะมันตรงกับใจเราตรงนี้ ใจเราจะตื่นตัวขึ้นมาฟัง ไม่ได้เชื่อมจิต ไม่มีใครมาเชื่อมใครได้หรอก อันนั้นนิยาย คล้ายๆ กำลังภายใน เชื่อมพลัง
วัดสวนสันติธรรม
12 พฤษภาคม 2567