สมบัติ 4 – วิบัติ 4

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ดูแปลก ปกติวันเสาร์พวกเรามานั่งข้างในนี้ จะฟุ้งซ่าน นี่นั่งกันเรียบร้อย การปฏิบัติไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ มีเวลาเมื่อไรก็ปฏิบัติตอนนั้น ไม่ใช่ต้องรอก่อนนอนแล้วปฏิบัติ ไม่เลือกสถานที่ เพราะว่าการปฏิบัติจริงๆ คือการที่เรามีสติรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ อยู่ตรงไหนก็ต้องมีสติ มีสติเมื่อไรก็ถือว่ามีการปฏิบัติเมื่อนั้น ขาดสติเมื่อไร กระทั่งนั่งสมาธิ เดินจงกรมอยู่ แต่ไม่มีสติ ก็คือไม่ได้ปฏิบัติ

ฉะนั้นการปฏิบัติไม่จำกัดด้วยเวลา ไม่จำกัดด้วยสถานที่ ไม่มีข้ออ้าง ถ้าเรายังคิดว่าการปฏิบัติต้องทำตอนนี้ ตอนนี้ไม่ต้องทำ อันนี้เรายังอ่อนอยู่ อินทรีย์ยังอ่อนอยู่ หรือต้องไปนั่งสมาธิเฉพาะในห้องพระ หรือปฏิบัติตอนอยู่วัด ถ้าคิดอย่างนั้นก็ลำบากแล้ว โอกาสจะได้มรรคผลในชีวิตนี้ ยาก การปฏิบัติต้องทำตั้งแต่ตื่นจนหลับ ยกเว้นเวลาทำงานที่ต้องใช้ความคิด ถ้าเราตื่นขึ้นมา แล้วยังไม่ต้องคิดเรื่องงาน ก็มีสติรู้สึกกายรู้สึกใจไป ถ้าฝึกให้ชำนิชำนาญ เราจะรู้สึกตัวได้ตั้งแต่ตื่น

 

สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร เราก็ภาวนาได้

ที่หลวงพ่อฝึก ฝึกตัวเอง ตื่นนอนเห็นจิตมันเคลื่อนขึ้นมาจากภวังค์ กระทบความรู้สึกทั้งหลาย นามธรรมก็เกิดขึ้นมา ขยายความรู้สึกออกไป เหมือนเปิดสวิตช์อันที่ 2 ความรู้สึกมันแผ่ออกไปกระทบร่างกาย ร่างกายก็ปรากฏขึ้นมา ถ้าอย่างเราเวลาอยู่ในภวังค์ กายเราก็นอนอยู่อย่างนี้ หรือกายเรานั่งสมาธิอยู่ จิตมันตกภวังค์ มันก็ไม่รู้สึกว่าร่างกายมีอยู่ ความรู้สึกนึกคิดอะไร มันก็ไม่มี

แต่ถ้าเราฝึกให้ดี เวลามันเกิดฝันขึ้นมา ถ้าฝันเฉยๆ จิตก็อาจจะเฉยๆ คล้ายๆ อะไรที่เลื่อนผ่านไปเบาๆ ไม่มีอะไรน่าสนใจ ถ้าเกิดฝันแล้วเกิดกิเลสรุนแรง เช่น ฝันเห็นผี ใจมันกลัว ถ้าเราฝึกของเราชำนิชำนาญ ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ สติอัตโนมัติมันเกิด มันกลัวในฝัน สติก็เกิด ระลึกรู้ได้นี่ฝันแล้ว ก็จะเห็นความฝันนั้น ก็คือความคิดนั่นเอง ความคิดเวลานอนหลับเรียกว่าฝัน

ฉะนั้นพยายามฝึก ฝึกตัวเอง อย่าเกี่ยง อย่าอ้างโน่นอ้างนี่ มีธรรมะอยู่หมวดหนึ่ง ที่ว่ากฎแห่งกรรมมันจะทำงานได้ดีไม่ดี เรื่องของสมบัติ 4 ข้อ และก็วิบัติ 4 ข้อ อย่างคติวิบัติ พวกเราทั้งหมด เกิดในภูมิมนุษย์ ก็ถือว่าเป็นสุคติ อันนี้แบบภาพกว้างๆ ถ้าแบ่งให้ซอยย่อยออกมา อย่างถ้าเราได้อยู่ในสถานการณ์ ในสภาพแวดล้อมที่ดี หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ก็มีผลกับการปฏิบัติ สำหรับคนซึ่งยังอินทรีย์อ่อนอยู่

พอสิ่งแวดล้อมไม่ดี อย่างวัดนี้มาอยู่ทีแรก รอบๆ นี้ไม่มีบ้านคน กลางคืนเงียบสงัดเลย ถนนข้างหน้าวัดก็ไม่มีรถวิ่ง เพราะรถวิ่งไม่ได้ มันไม่มีสะพานที่จะข้ามไปทางบ้านบึง ฉะนั้นกลางคืนสงัดมากเลย เราก็ โอ้ ตรงนี้ดี เป็นสภาพแวดล้อมที่ดี อยู่มาๆ ถนนก็ดีขึ้น รถวิ่งทั้งคืนเลย เสียงตึงตังโครมคราม หมู่บ้านกระจายรอบวัดตอนนี้ บางวันก็ร้องคาราโอเกะ บางวันก็จัดงานอะไรต่ออะไร สิ่งแวดล้อมไม่ค่อยดีแล้ว คนที่อินทรีย์อ่อน พอสิ่งแวดล้อมอย่างนี้ไม่ดี ใจก็วอกแวก

แต่ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ สิ่งแวดล้อมอย่างนี้ เราก็ภาวนาได้ ปฏิบัติได้ อย่างเสียงมันดังหนวกหู ใจรำคาญรู้ว่ารำคาญ เพราะฉะนั้นในสถานการณ์อันหนึ่ง สำหรับคนหนึ่ง มันเป็นคติวิบัติ สำหรับอีกคนหนึ่งซึ่งภาวนาเป็น มันก็สามารถพลิกให้เป็นคติสมบัติได้ เป็นสภาพแวดล้อมที่ดี คนที่แวดล้อมเราอยู่ ถ้าเรายังเกี่ยงว่าคนที่ล้อมรอบตัวเรา ต้องมีศีลมีธรรมต้องอะไรทั้งหมด อันนี้ก็เรื่องลำบาก ยุคนี้คนมีศีลมีธรรมมันลดลง คนไม่ค่อยดีเต็มไปหมดทุกหนทุกแห่ง

เราจะมาเลือกว่า เราต้องอยู่ในแวดวงของคนดีเท่านั้น เราถึงจะภาวนาได้ อันนั้นอ่อนไป เราอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่ดี เราก็ต้องภาวนาให้ได้ เวลาที่หลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อจะไม่เกี่ยง สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร เราก็ภาวนาได้ อย่างพระ พระจะมาอ้างร้อนไป หนาวไป หิวไป อิ่มไป อ้างไม่ได้ ถ้าจะภาวนาจริง ก็รู้สึกกายรู้สึกใจ มีสติไปตลอดเวลา

ฉะนั้นอย่างพวกเรา ถ้าเรามีสติปัญญาจริงๆ ขณะนี้เราก็มีคติสมบัติ อันแรกเราได้เกิดเป็นมนุษย์ อันที่ 2 เรายังอยู่ในสภาพแวดล้อม ที่เราสามารถภาวนาได้ เรามีอุปธิสมบัติ คือสภาพร่างกายเราแข็งแรง ยังมีสุขภาพที่พอไปได้ เวลาพระเจอกัน ท่านไม่มานั่งถามกันหรอกว่าสบายดีหรือ ถามอันนั้นแสดงว่าไม่เข้าใจชีวิต แต่จะถามกันว่าท่านยังทนอยู่ได้หรือ สภาพร่างกายของท่านตอนนี้ ยังพอทนได้อยู่หรือ

ทำไมไม่ถามว่าสบายดีหรือ เพราะคนมีสติมีปัญญาจะรู้ ร่างกายมันทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทุกข์มาก ทุกข์น้อย เพราะฉะนั้นไม่มาถามว่าสบายดีหรือ แสดงว่ายังห่างไกล ไม่เข้าใจความจริงของชีวิต แต่ถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ เราเห็นร่างกายมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ฉะนั้นเวลาเจอกันพระจะถามกัน ยังทุกข์พอทนอยู่หรือ คือขันธ์ยังไม่ถึงขนาดจะแตกจะดับใช่ไหม

อย่างพวกเราก็ถือว่า เรามีอุปธิสมบัติ เรายังสามารถมีเรี่ยวมีแรง นั่งรถมาฟังธรรมได้ ยังมีแรงที่จะนั่งสมาธิ เดินจงกรมได้ ร่างกายอย่างนี้ยังใช้ได้ เรียกมีอุปธิที่ดี อีกอันหนึ่งเขาเรียกกาลสมบัติ หรือกาลวิบัติ คือเวลา ช่วงเวลา อย่างบางช่วงบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ภาวนาดี ภาวนาง่าย ส่วนใหญ่ก็สอนกันอย่างนั้น ว่าเกิดในบ้านยุคที่บ้านเมืองดี สงบเรียบร้อย ก็มีกาลสมบัติ เกิดในยุคที่บ้านเมืองวุ่นวาย เป็นกาลวิบัติ

ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติจริง เราไม่เลือก เราไม่เลือกหรอก เวลาบ้านเมืองดี ถามว่าคนปฏิบัติเยอะไหม ไม่เยอะหรอก เวลาบ้านเมืองสงบสบาย คนก็หลงเพลิน คนไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ว่าจะมีสมบัติที่ดีแค่ไหน มันก็ไม่ได้ใช้สมบัติที่ดีนี้ให้เกิดประโยชน์ นี้ของเรา สมมติว่าเราอยู่ในสภาพ ที่เป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยดี แต่เราก็สามารถภาวนาได้ ภาวนาได้

ทำมาหากินลำบาก แทนที่จะนั่งกลุ้มใจ วันหนึ่งๆ เอาเวลาไปกลุ้มใจเสีย 80 เปอร์เซนต์ เวลาทำงาน เวลาคิดแก้ไขปัญหาเหลือ 10 เปอร์เซนต์ 20 เปอร์เซนต์ อย่างนี้เรียกกาลวิบัติ ทำลายเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ฉะนั้นในเวลาที่มันไม่สบาย มันวุ่นวาย เราก็ภาวนา เราภาวนาของเราไป เพราะฉะนั้นถึงจะเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองดี สังคมรอบตัวเราดี หรือสังคมรอบตัวเรา บ้านเมืองไม่ดี ถ้าเราภาวนาเป็น เราก็ภาวนาได้

อย่างบางคนในบ้านเกิดปัญหา ทะเลาะวิวาทกัน พ่อแม่ตีกัน ถ้าลูกไม่ได้ภาวนา โอ้ ตรงนี้ไม่ดีแล้ว เป็นช่วงเวลาของชีวิตที่ย่ำแย่แล้ว แต่ถ้าภาวนาเป็น ก็จะสามารถภาวนาได้ ท่ามกลางช่วงเวลาวิกฤติของชีวิต เพราะฉะนั้นเราก็สามารถพลิก ช่วงเวลาที่ไม่ดีของคนอื่น มาเป็นช่วงเวลาที่ดีของเราได้ เอามาปฏิบัติได้

 

ถ้าเราฝึกตัวเองแล้ว เราก็จะได้สมบัติที่ดีทั้งหมด

สมบัติอีกอันหนึ่งเรียกว่าปโยคะ ปโยคสมบัติหรือปโยควิบัติ มีความเพียรพยายาม มุ่งมั่นจะทำในสิ่งที่ดีแค่ไหน เพราะฉะนั้นตัวนี้เป็นตัวที่พวกเราขาดเยอะ อย่างคติสมบัติของเรามี เราเป็นมนุษย์ อุปธิสมบัติของเรามี ร่างกายเรายังแข็งแรง เวลาของเรายังมี ยังไม่ตาย ยังมีเวลาเหลืออยู่ มันอยู่ที่ปโยคสมบัติของเรามีไหม มีความเพียรไหม มีความพากเพียรที่จะภาวนาไหม

ถ้าเรามีความเพียรที่จะภาวนา ตัวอื่นๆ สำคัญน้อย อย่างเราเกิดพิการ เป็นผู้ป่วยติดเตียง ถ้าเราภาวนาไม่เป็น โอ๊ย เรารู้สึกตรงนี้แย่แล้ว เป็นช่วงชีวิตที่ย่ำแย่ เป็นช่วงที่ร่างกายย่ำแย่ สิ่งแวดล้อมก็ดูแย่ไปหมดเลย นอนนิ่งๆ เซื่องซึมอยู่ แต่คนซึ่งฝึกภาวนามาดีแล้ว กระทั่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงก็ภาวนาได้ อยู่ตรงไหนก็ภาวนาได้ ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่

เมื่อก่อนหลวงพ่อรู้จักคุณป้าคนหนึ่ง คนนั้นแกชื่อป้าตุ๊ ป้าตุ๊เป็นลูกศิษย์รุ่นเก่าแก่ของหลวงปู่เทสก์ แกก็อยู่อุปัฏฐากหลวงปู่ ตั้งแต่อยู่เมืองจันทบุรี ลงไปอยู่ท้ายเหมือง พังงา ขึ้นมาอยู่หินหมากเป้ง ที่หนองคาย แกก็ตามหลวงปู่ไปเรื่อยๆ แกเป็นแม่ค้าทำขนม ทำขนมขาย มีเวลาแล้วก็ขึ้นไปอุปัฏฐาก ตามครูบาอาจารย์ภาวนาไปเรื่อยๆ

พอแกอายุเยอะขึ้น แกก็เป็นเบาหวาน ก็เริ่มตัดนิ้วเท้า ตัดไปทีละนิ้วๆ เวลาคนไปเยี่ยม ก็จะบอก โถ ป้าเจ็บมากไหม ลำบากมากไหม แกบอกแกสบาย ตอนนี้แกไม่มีนิ้วเท้า แกสบาย ไม่ต้องดูแล ไม่ต้องตัดเล็บแล้ว สบาย นี่คนภาวนา ในช่วงที่คนอื่นเขารู้สึกแย่ แกก็ยังภาวนาของแกได้ แกป่วยหนักใกล้จะตายแล้ว แกมีรูปหลวงปู่เทสก์ตั้งไว้หัวนอน ตั้งไว้หัวเตียง แกเคลื่อนไหวอะไรไม่ค่อยได้

แต่ตอนแกจะตาย ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็นตอนที่จะตาย เข้าไปเห็นศพแก แกตายแล้ว แกเอารูปหลวงปู่เทสก์มากอดไว้ได้ ไม่รู้ไปหยิบมาได้อย่างไร ภาวนา นักต่อสู้จริงๆ ไม่เลือกเลย กระทั่งอุปธิวิบัติแล้ว ร่างกายย่ำแย่แล้ว อะไรๆ ดูไม่ดีสำหรับคนอื่น แต่คนที่ภาวนาเป็น มันมีสมบัติในตัวเอง สามารถสร้างสมบัติที่ดีงามในตัวเองได้ ไม่ต้องเลือก อยู่ตรงไหนถึงจะภาวนาได้

เพราะฉะนั้นเราฝึกตัวเองแล้วเราก็จะได้สมบัติที่ดีทั้งหมดเลย เราจะมีคติสมบัติ ในสถานการณ์แวดล้อมที่ย่ำแย่ เราก็ยังภาวนาได้ อันนั้นกลายเป็นคติสมบัติ หลวงพ่อก็เคยผ่านอย่างนี้มา เคยทำงานกับหัวหน้าซึ่งเครียดมากเลย ทำงานไม่ค่อยได้ผล ทำไม่ค่อยทัน เพราะแก้แล้วแก้อีก ในภาวะนั้นถ้าเทียบโดยทั่วๆ ไป เราอยู่ในสภาพแวดล้อม อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดีเลย แต่เป็นช่วงเวลาที่ภาวนาดี พอเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดี เรายิ่งขยันภาวนา เห็นจิตใจกระทบกระทั่งอารมณ์ตลอดเวลา

ต่อมาย้ายที่ทำงาน งานเราก็เลือกเอาเอง นายเราก็เลือก รายได้ก็ดีกว่าเป็นข้าราชการหลายเท่าเลย อะไรๆ ก็ดูดีหมดเลย ถ้ามองไปแบบคนไม่ได้ภาวนา ตรงนี้เรามีคติที่ดีขึ้น แต่สำหรับการปฏิบัติ หลวงพ่อกลับรู้สึกว่ามันย่อหย่อนลงไป มันสบาย ฉะนั้นสบายเกินไป ไม่แน่ว่าจะดีสำหรับนักปฏิบัติ ฉะนั้นนักปฏิบัติไม่เลือก อยู่ในสถานการณ์ที่สบาย ก็ต้องไม่หลงระเริงไป อยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก ก็ต้องต่อสู้ไม่ย่อมแพ้ ไม่เอามาเป็นข้ออ้าง เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย นอน

หลวงพ่อไปนอนโรงพยาบาลตั้งหลายเดือน เมื่อปี 2559 เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ไปให้คีโม ตามดิวของเขาต้องให้ทุก 28 วัน แล้วจะให้อยู่ 5 วันติดกัน เสียบสายไว้อย่างนั้น 5 วัน ไม่ได้เอาออก จะทำอะไรก็ยากลำบากหมด จะนอนก็ลำบาก มีสายระโยงระยาง จะพลิกซ้ายพลิกขวาอะไรนี้ ลำบากไปหมด ต้องมีสติอยู่ตลอด

บางคนไม่มีสติ พลิกไปพลิกมา หลุดเลย ก็วุ่นวาย นอนก็นอนไม่สบาย กินก็กินไม่ลง จะเข้าห้องน้ำยังลำบากเลย ต้องลากเสา มีเสาแขวนยา แขวนน้ำเกลือ ลากไปด้วย ในภาวะนั้นร่างกายลำบาก แต่จิตใจไม่ลำบากหรอก เพราะร่างกายเราป่วยแต่ใจเราไม่ป่วย ใจเราก็อยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธของเราไป

คนมาถาม พยาบาลชอบมาถามว่า “หลวงพ่ออยู่โรงพยาบาลนานๆ เบื่อไหม” บอก “ไม่เบื่อ เบื่อเป็นโทสะ” เขาฟังไม่รู้เรื่อง บอกว่าเบื่อเป็นโทสะ แต่ไม่เป็นไร ฉะนั้นการภาวนาบางทีในสภาวะที่ย่ำแย่ ถ้าเราภาวนาเป็น ในขณะนั้นเป็นเวลานาทีทองเลย อย่างเราเห็นร่างกายมันเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน เราก็ภาวนาได้ เราเห็นขันธ์มันแยก ร่างกายส่วนร่างกาย ความเจ็บปวดส่วนความเจ็บปวด จิตส่วนจิต ค่อยดูไป กลายเป็นเวลาที่เราภาวนาได้เยอะ

เพราะฉะนั้นเรื่องสมบัติ แล้วกับเรื่องวิบัติมันไม่ได้เป็นเรื่องตายตัว ในสถานการณ์อันหนึ่ง สำหรับคนหนึ่งเป็นสมบัติ สำหรับอีกคนหนึ่งเป็นวิบัติได้ อย่างเวลาร่างกายเจ็บป่วย คนภาวนาไม่เก่ง ไม่ได้ภาวนามาพอสมควร จิตใจระส่ำระสาย ฟุ้งซ่าน ถ้าตายไปก็ไปทุคติ มีทุคติเป็นที่ไป เพราะจิตเศร้าหมอง แต่ถ้าเราภาวนาให้ดี ร่างกายเจ็บป่วย เราภาวนาให้ดีๆ จิตใจเราดี ถ้าร่างกายจะแตกจะดับ จิตที่ดีไปสู่สุคติได้

เพราะฉะนั้นเราจะไม่อ้างว่าตอนนี้เป็นช่วงคติวิบัติ บ้านเมืองวุ่นวาย หรือเป็นช่วงกาลวิบัติ คนชั่วร้ายมีอำนาจเยอะแยะ พวกสัทธรรมปฏิรูปมีกำลังเข้มแข็ง หรือช่วงนี้ แหม ร่างกายเราไม่ค่อยแข็งแรง ไม่มีข้ออ้างสักเรื่องหนึ่ง ตัวสำคัญคือความเพียรของเรา ปโยคสมบัติ ทำให้มาก เจริญให้มาก ทำสติ ทำสติให้มาก เจริญให้มาก แล้วคราวนี้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ชนิดใด จะอยู่ในสภาพแวดล้อมชนิดใด ร่างกายเราจะเป็นอย่างไร เราสามารถภาวนาได้

 

ฝึกให้มีศีล ฝึกให้จิตมีกำลังตั้งมั่น

เพราะฉะนั้นพยายามฝึกตัวเองให้ดี จะได้ไม่มีข้ออ้าง ตอนนี้ทำไม่ได้เพราะอย่างนั้น ตอนนี้ทำไม่ได้เพราะอย่างนี้ คนไม่ภาวนาข้ออ้างเยอะ ถ้าคนภาวนาเป็น ไม่รู้จะอ้างทำไม แล้วทุกอย่างก็เป็นอย่างนี้ล่ะ ฝึกตัวเอง ฝึกอะไร ฝึกให้เรามีศีล ฝึกให้จิตของเรามีกำลังตั้งมั่น มี 2 อย่าง ฝึกให้มีกำลังกับตั้งมั่น แล้วก็ฝึกเจริญปัญญา นี่คืองานที่พวกเราจะต้องทำ

เราจะสามารถพัฒนาศีล พัฒนาสมาธิที่ถูกต้อง พัฒนาปัญญาได้ ต้องมีสติ รู้เนื้อรู้ตัวไว้ รู้สึกกายรู้สึกใจ ถ้าเราคอยรู้สึกตัวไว้ รู้สึกกายรู้สึกใจไว้ ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะเพิ่มขึ้น อย่างรู้สึกจิตใจของเรา จิตใจเราโกรธขึ้นมา เราเห็นจิตใจมันโกรธ อยากทำร้ายคนอื่น อยากด่าคนอื่น อยากเบียดเบียนคนอื่น เราเห็น เรารู้ทัน เราก็ไม่ไปทำร้ายเขา ไม่ไปเบียดเบียนเขา นี่ศีลมันเกิดแล้ว หรือเราดูจิตใจไม่ออก เราคอยรู้สึกร่างกาย ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก

เราโกรธขึ้นมา เราดูใจไม่ออกว่าโกรธ เราขยับมือจะชกหน้าเขาแล้ว ขยับแล้ว เราเคยฝึกร่างกายเคลื่อนไหวแล้วรู้สึก พอขยับมือปุ๊บ สติเกิดแล้ว รู้ว่าจะไปทำร้ายเขาแล้ว ก็เปลี่ยนจากจะชกเขา ยื่นมือขอเช็กแฮนด์ พลิกสถานการณ์จากความรุนแรง มาเป็นการสร้างมิตรภาพ ยื่นมือไป เขาจะเช็กแฮนด์ด้วยหรือเปล่า เรื่องของเขาแล้วคราวนี้ แต่เราไม่ผิดศีลแล้ว ฉะนั้นรู้สึกกายก็ทำให้ไม่ผิดศีล รู้สึกใจก็ทำให้ไม่ผิดศีลได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องดูจิตเท่านั้น รู้สึกกายไปเรื่อยๆ เวลาจะทำผิดศีล มันทำผิดศีลด้วยร่างกาย

ฉะนั้นเราคอยรู้ร่างกาย จะชกเขา จะตีเขา จะขโมยเขา จะเป็นชู้กับเขา คอยรู้ทันไว้ มันก็ไม่ไปทำผิดศีล เพราะฉะนั้นการที่เรารู้ทัน หรือเรามีสติ จะทำให้ศีลของเราสมบูรณ์ขึ้น เห็นไหม การมีสติเป็นเรื่องใหญ่ขนาดไหน ถ้าเรามีศีล สิ่งที่ตามมาคือเราจะมีสุคติ เราจะมีโภคสมบัติ แล้วเราก็จะเข้าใกล้พระนิพพาน อย่างเวลาพระสวด “สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา สีเลนะ นิพพุติง ยันติ” “นิพพุติง ยันติ” ก็นิพพาน

เพราะฉะนั้นรักษาศีล วิธีรักษาศีลที่ดี ไม่ใช่มานั่งท่องศีลเป็นข้อๆ เรามีสติรู้สึกกาย รู้สึกใจของเราไว้ ถ้าเรามีสติรู้สึกกายรู้สึกใจ สมาธิมันก็เกิด อย่างหลวงพ่อเวลาจะทำสมาธิ หลวงพ่อก็เห็นร่างกายหายใจ เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า เห็นด้วยใจปกติ เห็นด้วยใจธรรมดา ไม่ใช่เห็นด้วยจิตใจที่อยากสงบ ใจที่อยากสงบคือใจที่มีโลภะ ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล ฉะนั้นการปฏิบัติไปด้วยอำนาจของอกุศล ตลอดสายของการปฏิบัติ อกุศลก็ยังครอบงำอยู่

เพราะฉะนั้นเราปฏิบัติ อย่างสมมติเราหายใจไป เรารู้สึกไป ตรงนี้มันทำความสงบง่าย ถ้าเราชอบการหายใจ บางคนหายใจไม่ค่อยออก ก็ใช้กรรมฐานอย่างอื่น เอาที่สบายใจ ที่ถนัด ที่ทำแล้วสบาย เราก็น้อมจิตไปอยู่กับอารมณ์ที่มีความสบาย แต่ไม่ใช่อารมณ์ที่เผลอเพลิน อย่างเล่นไพ่แล้วสบายอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ มันเผลอเพลิน เวลาเล่นไพ่ เดี๋ยวจิตก็ฟูขึ้น แฟบลง

เราใช้อารมณ์ที่จิตใจมันค่อนข้างเสถียรหน่อย อย่างเราคิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงพระธรรม คิดถึงพระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ คิดถึงคนดี คิดถึงทานที่เราได้ทำแล้ว คิดถึงศีลที่เราเคยรักษามาดีแล้ว คิดถึงความสงบ ความสงบมันก็มีหลายระดับ อย่างบางทีเราภาวนายังไม่เก่ง แต่เราเข้าไปบางสถานที่ ไปนั่งอยู่บางที่ ใจมันสงบ ใจมันสบาย เวลาเราจะภาวนา เราอยากให้ใจสงบ เราก็นึกถึงตรงนั้น

อย่างหลวงพ่อบ้านเกิดอยู่ริมคลอง คลองรอบกรุง คลองโอ่งอ่าง บ้านอยู่ริมคลอง เวลาเย็นๆ ก็ไปนั่งดูที่ริมคลอง เห็นระลอกน้ำพริ้วๆ ระลอก เวลาลมมันพัดน้ำมันพริ้ว ดูแล้วมีความสุข ใจมันก็สงบ นี้เวลามาภาวนา บางครั้งไม่ได้ใช้ลมหายใจหรอก ใช้วิธีทางลัด ทำใจเหมือนเราไปนั่งอยู่ริมน้ำ เห็นระลอกพริ้วๆ ใจก็มีความสุขเลย พอใจมีความสุข สมาธิเกิดเลย เห็นไหม ถ้าเราจับหลักของการทำสมาธิได้ มันจะไม่ใช่เรื่องยากเลย

อย่างบางคนชอบทะเล เวลาอยากทำสมาธิชนิดสงบ ก็นึกถึงภาพทะเล แต่อย่าเอาตอนเกิดสึนามินะ เอาตอนทะเลธรรมดา มีคลื่นกระทบฝั่ง เหมือนได้ยินเสียง เหมือนได้สัมผัสอากาศริมทะเล อันนี้เป็นการปรุงแต่งทั้งหมด แต่เป็นเรื่องของสมถะ เรื่องของการทำจิตให้สงบ วิธีการมันทำได้เยอะแยะ ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ คือการน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง อารมณ์นั้นไม่ยั่วกิเลส แบบนั้นถึงจะใช้ได้

แต่บางคนพวกลามก ชอบไปชายหาด ไปดูสาวๆ แต่งตัวโป๊ๆ แล้วเวลาจะทำสมาธิ หลับตาแล้วไปคิดถึงภาพอย่างนั้น ไม่สงบหรอก ฉะนั้นในสถานที่เดียวกัน คนหนึ่งไปนั่งเพื่อจะไปดูภาพโป๊ๆ อีกคนหนึ่งไปนั่งสัมผัสบรรยากาศ เวลาเอามานั่งสมาธิก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเราก็รู้จักฉลาด ถ้าอยากให้จิตใจสงบ เราก็มีสติระลึกรู้อยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง จิตมันก็จะสงบเอง ไม่ต้องบังคับให้สงบ สงบได้เอง

นี่เล่าให้เป็นตัวอย่าง แต่ปกติหลวงพ่อก็ใช้อานาปานสติ หายใจเอา แต่ว่าไม่ใช่ว่าทุกคนต้องทำอย่างนี้ การจะทำสมถกรรมฐาน ไม่เลือกอารมณ์ เยอะแยะไปหมด ทำอะไร อารมณ์อะไรก็ได้ ที่มันไม่ยั่วกิเลส แล้วเราอยู่ แล้วเรามีความสุข ใช้ได้ทั้งนั้น บางคนไปงานศพ บางคนไม่ใช่ใคร หลวงพ่อล่ะ เวลาไปงานศพ เราเห็นคนอื่นเขาไปแล้ว เขาก็ไปสังสรรค์ คุยกันจ้อกแจ้กๆ

เราไปเราก็ไปพิจารณา คนที่นอนอยู่ในโลง เมื่อก่อนมันก็เคลื่อนไหวได้แบบเรา กระโดดโลดเต้นได้อย่างเรา ดีใจ เสียใจได้เหมือนที่เราเป็นตอนนี้ ตอนนี้ไม่มีอะไรเหลือแล้ว ไปนอนแบมืออยู่เฉยๆ แล้ว ไม่มีอะไรติดตัว อีกหน่อยเราก็ต้องเป็นอย่างนี้ หนีไม่พ้นเหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่ามรณสติ พิจารณาลงไป เมื่อก่อนกลางวัน เวลาไปทำงาน บางวันก็ไปนั่งอยู่ที่เก็บศพ เป็นช่องๆ ที่วัดมี เขาเก็บไว้เป็นช่องๆ เราไปเดินดู ดู

บางทีก็ไปเดินตามกำแพงวัด ตามผนัง ก็จะมีรูป รูปถ่าย ชาตะ มรณะ ชื่อแซ่อะไรนี้ มี ก็ไปเดินดู โอ้ คนนี้เคยใหญ่ เคยเป็นรัฐมนตรี คนนี้เคยอย่างโน้น คนนี้เคยอย่างนี้ ตอนนี้เขาเอากระดูกมาใส่ไว้ในที่แคบๆ นี้เอง ไปเดินดู ดูแล้วใจก็รู้สึก อีกหน่อยเราก็ต้องเป็นอย่างนี้ นี่เรื่องของสมถ กรรมฐาน ถ้ารู้วิธีแล้วมันง่าย ทำ ใช้อารมณ์อะไร ใช้ได้ทั้งนั้นเลย รู้จักพลิกแพลงเอา นี่เป็นตัวอย่าง

 

ถ้าจะให้เกิดสมาธิชนิดตั้งมั่น อย่าไปบังคับให้จิตตั้งมั่น

ถ้าจะให้เกิดสมาธิชนิดตั้งมั่น ก็อย่าไปบังคับให้จิตตั้งมั่น จิตเป็นเด็กดื้อ ไม่ชอบให้ใครบังคับ แต่ชอบให้คนเอาใจ ฉะนั้นจิตเราอย่าไปบังคับมันมาก บังคับมันแล้วมันโมโห แต่เราคอยรู้ทันมัน เราเป็นผู้ใหญ่ที่ฉลาด เด็กมันจะซน ไม่ใช่ห้ามตลอดเวลา ห้ามโน่น ห้ามนี่ คล้ายๆ พวกที่จะทำสมาธิ คอยห้ามจิตตลอดเวลา เฮ้ย อย่าคิด อย่าคิดเรื่องนี้ ไม่เอา สั่งโน่นสั่งนี่ตลอดเวลา เหมือนเราเลี้ยงเด็กในระบบที่โหดร้าย ถือไม้เรียวเฝ้าตลอดเวลา เด็กไม่มีความสุข

ให้เราแค่แอบชำเลืองๆ ให้เด็กมันทำงาน มันจะอยากทำอะไร ก็ให้มันทำไป อย่าไปตกน้ำตาย อย่าไปรถทับตายก็พอแล้ว ถ้ามันจะไปตกน้ำตาย ไปรถทับตาย ก็คือมันจะไปทำผิดศีล ถ้าจิตใจเรามันจะทำอะไร ก็เรื่องของมัน มันจะคิดไม่ดีก็ไม่เป็นไร สมมติมันคิดไม่ดี อยู่ๆ มันคิดนินทาครูบาอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องแปลก จิตมันวิจิตรพิสดาร มันหาเรื่องชวนเราลงนรกเรื่อยๆ ไป นี้มันเกิดคิดไม่ดีขึ้นมา เรารู้ทันว่าจิตหลงคิด ไม่ใช่รู้ว่าจิตคิดไม่ดี รู้ว่าจิตคิด ไม่เหมือนกัน

รู้ว่าจิตคิดเรื่องนี้ รู้ว่าจิตคิดเรื่องนี้ ยังใช้ไม่ได้ ที่สำคัญคือรู้ว่าจิตคิด ไม่ใช่รู้ว่าจิตคิดเรื่องอะไร ทันทีที่เรารู้ว่าจิตหลงไปคิด จิตที่หลงไปคิดจะดับ จิตรู้จะเกิดขึ้น นี้เราได้สมาธิชนิดตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว หรือจิตเราเห็นดอกไม้สวย ใจเราวิ่งไปอยู่ที่ดอกไม้ จ้อง สวยจังๆ สติระลึกรู้ว่าจิตไหลไปอยู่ที่ดอกไม้แล้ว คือรู้ว่าจิตไหลออกไปดู ส่วนจะดูอะไร อันนี้ไม่สำคัญ สมมติเราไปดูดอกไม้แล้ว จิตเราไหลไปอยู่ที่ดอกไม้ เรารู้ว่าจิตไหล รู้ว่าจิตไหลไปดู จิตที่ไหลไปดูจะดับ จิตผู้รู้จะเกิด จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา

เวลาเราได้ยินเสียง สมมติได้ยินเสียงไก่ร้อง ไก่ขัน ใจเราวิ่งไปที่ไก่ เสียงมันดี ที่วัดนี้นกเยอะ เสียงนกร้องทั้งวันเลย กระจุ๋งกระจิ๋ง ร้องกันเยอะแยะเลย บางตัวร้องเพราะ บางตัวร้องไม่เพราะ ถ้าเราเพลิน เรามาอยู่วัดแล้วเพลิน จิตไหลไปฟังเสียงก็เพลินไป ตายไปก็ไปเกิดเป็นนก แต่ถ้าจิตเราไหลไปฟังเสียง เรารู้ว่าจิตเราไหลไปฟังเสียง จิตที่หลงไปฟังเสียง ไหลไปฟังเสียงจะดับ จิตผู้รู้จะเกิดขึ้นแทน

ตัวจิตผู้รู้ คือจิตซึ่งตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิพร้อมที่จะเจริญปัญญา ส่วนจิตที่สงบเฉยๆ อยู่ในอารมณ์อันเดียวนั้น จะทำให้ได้กำลัง มีแรง มีกำลัง ส่วนจิตที่ตั้งมั่นจะเอาไว้เดินปัญญา เพราะฉะนั้นสมาธิเลยมี 2 ชนิด อันหนึ่งเรียกว่าอารัมมณูปนิชฌาน จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว แล้วจะได้กำลัง อีกอันหนึ่งเรียกลักขณูปนิชฌาน จิตซึ่งมีความพร้อมที่จะดูไตรลักษณ์ พร้อมที่จะเดินปัญญา

เราต้องอาศัยสติ อาศัยสติ ทีแรกก็อาศัยสติ น้อมไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ไม่วอกแวกไปที่อื่น เราได้สมาธิชนิดสงบ ถ้าเรา จิตเราไหลไปไหลมา เรามีสติรู้ว่าจิตไหลไปไหลมา จิตที่ไหลไปไหลมาดับ ก็จะเกิดจิตตั้งมั่นขึ้นมา ก็อาศัยกำลังของสตินั่นเอง ศีลก็อาศัยสติ สมาธิก็อาศัยสติทำให้เกิดขึ้น การเจริญปัญญายิ่งทิ้งสติไม่ได้ ทิ้งสติเมื่อไรปัญญาก็หายไปเมื่อนั้นเลย เพราะสติเป็นองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับกุศลทุกดวง กับจิตที่เป็นกุศลทุกดวง

เพราะฉะนั้นสติเป็นองค์ธรรม ที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศลทุกดวง เมื่อไรขาดสติ เมื่อนั้นจิตไม่ใช่เป็นกุศลแล้ว อาจจะเป็นจิตวิบากเฉยๆ ไม่ดีไม่ชั่ว หรือเป็นจิตชั่วในขณะที่ไม่มีสติ ในขณะที่เราเดินปัญญาต้องมีสติ มีสติไปทำอะไร มีสติระลึกรู้กาย มีสติระลึกรู้ใจ คือรู้รูปรู้นามไป แต่เรารู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่น จิตมันตั้งมั่นอยู่ ระลึก สติระลึกลงในรูป หลวงพ่ออยากใช้คำว่า “ระลึก” สติระลึกลงในรูป อย่างขณะนี้พวกเราระลึกลงในรูป เห็นไหม รูปคือร่างกายเรา ตอนนี้มันนั่งอยู่ รูปคือร่างกายเรา ตอนนี้มันหายใจอยู่ เราระลึกลงไป ไม่ใช่ไปเพ่งไปจ้อง ถ้าไปเพ่งไปจ้อง ก็เป็นสมถะชนิดเพ่งๆ จ้องๆ ก็ได้สงบบ้าง ไม่สงบบ้าง ฉะนั้นถ้าเราเดินปัญญา สติระลึกรู้กาย ใช้คำว่า “ระลึกรู้” ตัวนี้ถูกเป๊ะเลย

หรือสติระลึกรู้จิตใจ จิตใจตอนนี้สุข จิตใจตอนนี้ทุกข์ จิตใจตอนนี้ดี จิตใจตอนนี้โลภ โกรธ หลง สติระลึกรู้ แต่รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่น จิตที่ทรงสัมมาสมาธิ ตั้งมั่นอยู่ ไม่ไหลไปรู้ ไม่ไหลไปรู้ ไม่จมลงไปในสิ่งที่ถูกรู้ รู้อยู่ห่างๆ รู้แบบคนวงนอก ถ้ารู้กาย ก็เหมือนเราเห็นกายคนอื่น เห็นร่างกายของตัวเองนั่งอยู่ ก็รู้สึกเหมือนเห็นร่างกายของคนอื่น เหมือนๆ กันหมด ระลึกรู้จิตใจ มันโกรธขึ้นมา เหมือนเห็นคนอื่นโกรธ

คอยรู้กาย คอยรู้ใจ ถนัดรู้อะไรก็รู้อันนั้นล่ะ แต่ถ้ากำลังเราพอ ครูบาอาจารย์จะแนะให้รู้เข้ามาที่จิตเลย เพราะจิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานในธรรมะทั้งปวง กุศลเกิดที่จิต อกุศลเกิดที่จิต มรรคผลก็เกิดที่จิต ฉะนั้นถ้าตัดตรงเข้ามารู้ที่จิตได้ ก็จะเห็นธรรมะทันทีเลย เห็นธรรมะคือเห็นอะไร เห็นกุศลธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับ เห็นอกุศลธรรมเกิดแล้วก็ดับ เห็นธรรมะแสดงอยู่ที่จิต กุศลอกุศลไม่ไปแสดงที่อื่น แสดงอยู่ที่จิต มรรคผลก็เกิดที่จิต ไม่เกิดที่อื่นหรอก

ฉะนั้นถ้าเรารู้เข้ามาที่จิตได้ เราก็รู้ไป แต่ถ้ารู้ไม่ได้ ก็รู้กาย รู้กายไป อย่างขณะนี้เราก็เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ รู้สึกว่าร่างกายกำลังนั่งอยู่ ไม่ได้ไปจ้องมัน รู้สึกว่าร่างกายนั่ง รู้สึกว่าร่างกายหายใจออก รู้สึกว่าร่างกายหายใจเข้า คอยรู้สึกไป ยากไหมที่จะรู้สึก ไม่ยากอะไรเลย แต่ถ้ารู้สึกไม่เป็น จะไปเพ่งไปจ้อง อันนี้ยากแล้ว เป็นงานที่เหนื่อย เป็นงานที่ลำบาก

 

วิปัสสนากรรมฐาน

เพราะฉะนั้นพยายามรู้สึก รู้สึก ร่างกายหายใจออก รู้สึก รู้สึกด้วยใจธรรมดา ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก รู้สึกด้วยใจธรรมดา ร่างกายสุข ร่างกายทุกข์ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึกไป แล้วดูจิตดูใจก็รู้สึกเอา ตอนนี้จิตใจมีความสุข รู้เอา รู้สึกเอา จิตใจทุกข์ ก็รู้สึกเอา จิตใจดี จิตใจชั่ว ก็รู้สึกเอา

เพราะฉะนั้นเรามีสติ ที่หลวงพ่อสรุปออกมา คือมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง นั่นล่ะคือคำว่าวิปัสสนากรรมฐาน ทำแบบนี้ วิปัสสนาไม่ใช่นั่งคิดเอา “ปัสสนะ” แปลว่าการเห็น ไม่ใช่คิด ไม่ใช่วิตก ไม่ใช่การตรึก ต้องเห็นเอา รู้สึกเอา เห็นด้วยอะไร เห็นด้วยญาณทัสสนะ เห็นด้วยปัญญา เราเห็นด้วยปัญญาว่า เออ ร่างกายมันหายใจอยู่ ร่างกายมันนั่ง มันนอนอยู่

สติระลึกลงไป แล้วเรามีปัญญา เราเห็นว่าร่างกายมันทำงานไป มันเป็นของถูกรู้ถูกดู อย่างนี้เรียกว่าเราเห็นด้วยปัญญา คือสามารถแยกได้ ร่างกายมันก็แค่ของถูกรู้ มันไม่ใช่เราหรอก เพราะฉะนั้นเวลาเรารู้กาย ถ้าเรารู้ทื่อๆ เข้าไปที่ตัวกาย เป็นการเพ่งกาย จะได้สมาธิชนิดสงบ แต่ถ้าเรามีสติระลึกรู้กาย ที่กำลังเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตตั้งมั่นเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดูอยู่ มันก็จะเกิดปัญญา เกิดญาณทัสสนะ ญาณทัสสนะเป็นปัญญา เป็นการเห็นอย่างมีปัญญา

เราเห็นอย่างมีปัญญา ไม่ใช่เห็นซื่อบื้อ เห็นโต๊ะเป็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้เป็นเก้าอี้ เห็นพัดลมเป็นพัดลม อันนี้ไม่ต้องภาวนาก็เห็น แล้วเห็นโต๊ะอย่างมีปัญญา ก็เห็น มันก็แค่รูปที่มองเห็นเท่านั้นเอง เห็นพัดลม มันก็แค่รูปที่มองเห็น เห็นอย่างมีปัญญา มันจะเห็นความเป็นรูปธรรมนามธรรมของมันไป แล้วก็เห็นรูปธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นามธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ปัญญามันยกระดับ ยกระดับ ทีแรกเห็นว่ามันมีสภาวะของมันอยู่ แต่มันเป็นแค่ของถูกรู้ถูกดูหรอก

เก้าอี้ คน หมา ต้นไม้ มันเป็นอะไร มันมีลักษณะร่วมกันอันหนึ่ง มันเป็นรูปธรรมที่เราไปเห็นเข้า เป็นตัวรูปเหมือนกัน มันคืออะไร คือสี สี สีที่ตัดกันเป็นรูปร่างอย่างนี้ เรียกว่าเก้าอี้ สีที่ตัดกันอย่างนี้เรียกว่าคน สีที่ตัดกันเป็นรูปร่างอย่างนี้ เรียกว่าหมา เพราะฉะนั้นที่เรียกว่าเก้าอี้ เรียกว่าคน ที่เรียกว่าหมา อันนี้คือสัญญาทั้งสิ้น เป็นการหมายลงไป จำได้หมายรู้ ตกลงกันในทางสังคมว่า ตัวนี้เรียกว่าเก้าอี้นะ

ค่อยๆ ฝึก ไม่ได้ยากหรอก ธรรมะจริงๆ เป็นของเปิดเผย ตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรลึกลับ เพราะฉะนั้นถ้าใครทำอะไรลึกลับ เอานิ้วจิ้มตรงโน้นจิ้มตรงนี้ ดูแล้วเป็นมนุษย์พิเศษ ไม่ใช่ศาสนาพุทธหรอก ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของเราเอง ไม่มีใครช่วยเรา ดูที่ภาวนาเป็นไหม มีสติ มีสติรู้กายรู้ใจก็เกิดศีล มีสติรู้กายรู้ใจอย่างถูกต้อง ก็เกิดสมาธิ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ก็เกิดปัญญา ก็คืออาศัยสติ ทั้งการพัฒนาศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ อย่าเสียเวลาเปล่าๆ ชีวิตล่วงไป หมดไป สิ้นไปทุกทีๆ คนที่เรารู้จักก็ล้มหายตายจากไป คนหน้าตาใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ มันเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวันๆ ฉะนั้นเราไม่รู้ว่า เวลาของเราในชีวิตนี้เหลือเท่าไร รีบภาวนาให้เต็มที่เสีย อย่างน้อยถ้าเกิดไม่ได้มรรคผล ให้มันได้นิสัย นิสัยคือความเคยชิน ให้มันเคยชินที่จะหัดปฏิบัติ

ถ้าเราเคยชินที่จะมีสติ แล้วชาตินี้เราไม่ได้มรรคผล ชาติหน้าสติเกิดง่าย ถ้าเราเคยชินที่จะมีศีล ต่อไปการรักษาศีลก็เป็นเรื่องง่าย ถ้าเราเคยชินที่จะมีสมาธิ ต่อไปการทำสมาธิก็เป็นเรื่องง่าย ถ้าเคยชินที่จะแยกรูปนาม แล้วเห็นรูปนามเป็นไตรลักษณ์ เคยชินที่เจริญปัญญา ต่อไปการเจริญปัญญาก็เป็นเรื่องง่าย คนที่เขาทำมาง่ายๆ เพราะเขายากมาแล้ว มันไม่มีใครวิเศษวิโสอะไรมาก่อน อาศัยอดทน เดินตามร่องรอยที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ให้

หลักสำคัญคือเรื่องของสติปัฏฐานนี่ล่ะ ตราบใดที่ยังมีการเจริญสติปัฏฐาน อริยบุคคลก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าไม่มีการเจริญสติปัฏฐาน ทำอย่างไรก็ไม่เกิดพระอริยะขึ้นมาหรอก จะให้เทวดามาช่วย นิมนต์พระพุทธเจ้าแสนโกฏิจักรวาลมาช่วย ช่วยไม่ได้ ถ้าช่วยได้ท่านช่วยไปนานแล้ว แต่ว่าเราต้องช่วยตัวเอง ไม่มีอะไรเกินกว่ากฎของกรรม ไม่มีอะไรเกินกว่ากฎของกรรม ทำเหตุอย่างไร ก็ต้องได้ผลอย่างนั้น ทำเหตุขี้เกียจ ก็ได้ผลอย่างคนขี้เกียจ ทำเหตุแบบผู้ตั้งอกตั้งใจเรียนรู้ตัวเองไป ก็ได้ผลไปอีกแบบหนึ่ง ยุติธรรม เพราะฉะนั้นนี่คือความยุติธรรมที่แท้จริง ใครทำใครได้ เทศน์ให้ฟังพอสมควรแล้ว วันนี้เทศน์ดุเดือดไปหรือเปล่า

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 พฤษภาคม 2567