เห็นความจริงของสภาวธรรม

ตอนนี้มีคอร์สจีน คนจีนรวมกลุ่มกัน 40 กว่าคนรวมอยู่ที่เมืองจีน เมืองจีนเขาไม่ได้ห้าม เขาติดโรคน้อยกว่าเมืองไทยตอนนี้ เมื่อวาน หลวงพ่อไปเทศน์ก็มีรูปเห็นคนจีน หน้าตาเขาก็ดูผ่องใสดี หลายคน ภาวนาดีขึ้น เขาอยู่ไกลหลวงพ่อ แต่เขาก็ฟังธรรมะ เวลาไลฟ์สดเขาก็ฟัง เรามีบริการแปลเป็นภาษาจีนให้เขาฟัง แล้วเขาก็คงปฏิบัติกัน ฟังเฉยๆ มันไม่ได้อะไรขึ้นมา ดูเขาก็พัฒนากัน หลายคนดูพัฒนาขึ้น พวกเราก็ต้องฝึก ถือว่าเป็นคนไทยเรียนง่าย ฟังง่าย รู้เรื่องง่าย ก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง ฟังบ้างไม่ฟังบ้างยังไม่เท่าไหร่ ภาวนาบ้าง ไม่ภาวนาบ้าง ไม่ได้เรื่องเลย กี่ปีๆ มันก็เอาดีไม่ได้ ฟังแล้วไม่ภาวนา

การภาวนาปฏิบัติธรรมนี่มันไม่เหมือนการเรียนปริยัติ เรียนปริยัติ ก็ท่องๆ เอา จำได้ก็ไปสอบได้ เลื่อนชั้น ส่วนการปฏิบัตินั้นคิดเอาไม่ได้ ท่องเอาไม่ได้ จำเอาไม่ได้ ต้องดูเอา ต้องเห็นเอา ต้องเห็นสภาวธรรม สิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรมไม่ใช่เรื่องที่คิดเอา ถ้าเรื่องราวที่คิดไม่มีสภาวะ เขาเรียกเป็นอารมณ์บัญญัติ เรื่องที่คิดๆ ขึ้นมาตกลงกันว่า ตัวนี้เรียกอย่างนี้ๆ อะไรอย่างนี้ คิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ไป อันนั้นเรียกว่า อารมณ์บัญญัติ กระทั่งคิดว่าร่างกายนี้เป็นปฏิกูลอสุภะ ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้ายังเจือด้วยการคิดอยู่ยังไม่ขึ้นวิปัสสนาจริง วิปัสสนาต้องเห็นสภาวะ เห็นสภาวะอย่างเดียวยังไม่เกิดวิปัสสนาญาณ ไม่เกิดปัญญา จะเกิดปัญญาเกิดวิปัสสนาญาณได้ ต้องเห็นความจริง ของสภาวธรรม

 

สภาวธรรมคือรูปธรรมกับนามธรรม

สิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรมก็คือรูปธรรมกับนามธรรมเท่านั้น มี 2 อย่างรูปธรรม นามธรรม สภาวธรรมมีอีกอย่างหนึ่ง คือนิพพาน ปุถุชนไม่เห็น ฉะนั้นยังไม่ต้องสนใจ ถ้าสนใจตัวรูปธรรม ตัวนามธรรม ดูรูปธรรม นามธรรมเรื่อยๆ จนมันเห็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์คือความจริง รูปธรรม นามธรรมเป็นของจริง ส่วนเรื่องราวที่คิดเป็นบัญญัติไม่ใช่ของจริง เราดูของจริง คือดูรูปธรรม ดูนามธรรม แต่ต้องดูจนเห็นความจริง คือไตรลักษณ์ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องการเห็นจริงๆ คือไตรลักษณ์ของรูปธรรม นามธรรม

ทีนี้ตัวรูปธรรมเป็นอย่างไร ตัวรูปธรรมตัวที่ง่ายที่สุด ก็คือตัวร่างกาย เป็นวัตถุ แต่ดูจริงๆ รูปธรรมตัวแท้จริงเลยเรียกว่ามหาภูตรูป คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุทั้ง 4 นี้คือตัวรูปที่แท้จริง นอกนั้นมันก็อาศัย รูปที่แท้จริงนี้ สร้างเป็นรูปอย่างอื่นขึ้นมา อย่างรูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอนอะไรอย่างนี้ มันก็อาศัยก้อนธาตุที่รวมกันขึ้นมาเป็นร่างกาย อาศัยธาตุ 4 ที่รวมกันมาเป็นร่างกายนี้ แล้วยืน เดิน นั่ง นอน รูปยืน เดิน นั่ง นอนยังไม่ใช่รูปที่แท้จริง รูปที่แท้จริง คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม

ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อธิบายได้ 2 นัยยะ นัยยะของพระสูตร กับนัยยะของอภิธรรม นัยยะของพระสูตรสำคัญมาก ส่วนนัยยะของ อภิธรรมนี่เป็นเรื่องของนักวิชาการ คนฟังอภิธรรมแล้วบรรลุมรรคผล จะมีกี่คนนั้นไม่รู้ แต่คนที่ฟังพระสูตรบรรลุมรรคผลนี่มีนับไม่ถ้วน เพราะที่พระพุทธเจ้าท่านพูดออกมา ท่านแสดงท่านสอนออกมา เราไปดูในพระไตรปิฎก สิ่งที่ท่านสอนมันไปรวมอยู่ในพระสูตร กับพระวินัยเป็นหลัก ในอภิธรรมท่านไม่ได้สอนมนุษย์ ท่านสอนเทวดา แล้วพระสารีบุตรท่านก็เอามาขยายความ สอนลูกศิษย์ท่าน คนส่วนใหญ่ ฟังธรรมะในพระสูตรก็บรรลุมรรคผลกัน

เริ่มตั้งแต่พระโกญทัญญะฟังธัมมจักกัปปวัตนสูตร แล้วทั้ง 5 องค์ปัญจวัคคีย์ ตอนบรรลุพระอรหันต์ท่านก็ฟังอนัตตลักขณสูตร สูตรเหล่านี้อยู่ในพระสูตรทั้งนั้น ไม่ได้อยู่ในอภิธรรม ชฎิล 3 พี่น้อง รวมกัน 1,000 องค์ กับลูกศิษย์เป็น 1,000 องค์ฟังอาทิตตปริยยสูตร อันนี้ก็อยู่ในพระสูตร ฉะนั้นอย่าดูถูกพระสูตร ถ้าเรียนอภิธรรม ก็อย่าดูถูกพระสูตร คนฟังพระสูตรบรรลุมรรคผลมานับจำนวนไม่ถ้วน เราจะดูตัวรูปโดยนัยยะของพระสูตร อันไหนที่เป็นธาตุดิน ส่วนที่มันแข็งๆ ดูได้ อย่างผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก นี้เป็นส่วนของธาตุดิน น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำลาย น้ำมูกอะไรอย่างนี้ ก็เป็นธาตุน้ำ

ธาตุดิน ธาตุน้ำ มันเป็นธาตุหลัก มีธาตุอาศัย ธาตุดิน ธาตุน้ำนี่ มีธาตุที่อาศัยแล้วทำงานร่วมกัน คือธาตุไฟ ไฟธาตุทำหน้าที่อะไร ทำหน้าที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ทำหน้าที่ย่อยอาหาร ทำหน้าที่ทำให้ ร่างกายทรุดโทรมแก่เฒ่า อันนี้ธาตุไฟมันเผาเอา ธาตุน้ำพูดแล้ว ธาตุลม มีลม มีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมในกระเพาะ ลมในลำไส้อะไรอย่างนี้ นี่เป็นธาตุตามนัยยะแห่งพระสูตร ถ้าธาตุนัยยะ แห่งอภิธรรมพูดยากเลย พูดไม่ยากนะจริงๆ ท่องๆ เอาก็พูดได้ แต่เห็นยาก อย่างในผมหนึ่งเส้นมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมอยู่ทั้งหมดเลย ไม่ได้ว่าผมคือ ธาตุดินอย่างในพระสูตร นัยยะของพระสูตร ผมหนึ่งเส้นมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม คนที่จะเห็นอย่างนั้นได้มันจะมีสักกี่คน ฉะนั้นอย่าดูถูกพระสูตร ถ้าจะดูร่างกาย ดูไปสิผมไม่ใช่ตัวเรา ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่ใช่ตัวเรา เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร

การดูธาตุ 4 บางคนไม่ถนัด บางคนไม่ชอบ อย่างหลวงพ่อ ไม่ชอบรู้สึกดูธาตุนี่คับแคบ ดูจิตมันวิจิตรพิสดารกว่า อะไรจะวิจิตร พิสดารเท่ากับจิต ไม่มีหรอก ธาตุมันก็อยู่ตรงนี้ล่ะไม่ได้ไปไหน พอตายแล้วก็ทิ้งไว้ในโลกนี้ แต่จิตนั้นมันข้ามภพข้ามชาติ สืบเนื่องไปได้เรื่อยๆ มันมีอะไรที่ประณีตลึกซึ้งมากมาย เรียนแล้วรู้สึก กว้างขวางสนุก อันนี้ก็แล้วแต่จริตนิสัย บางคนดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา จิตใจที่ไปรู้ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่ใช่ตัวเรา ท่านก็ได้ธรรมะกัน หรือดูจนปล่อยวางร่างกาย ร่างกายประชุมกันด้วยธาตุ ดูไปเรื่อยๆ เห็นความไม่มีสาระแก่นสาร จิตก็ปล่อยวาง แล้วจิตที่เป็นคนไปรู้ร่างกาย ก็หาสาระแก่นสารไม่ได้ ก็ปล่อยวาง ปล่อยวางทั้งกาย ปล่อยวางทั้งจิต ท่านก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์กัน อย่างนี้ก็ได้แล้วแต่จริตนิสัย ถนัดอะไรก็เอาอันนั้น

หลวงพ่อไม่ชอบดูกาย แต่พวกเราจะดูกายก็ได้ หลวงพ่อสอน ลูกศิษย์ ดูกายตั้งเยอะแยะเหมือนกัน ที่นี้ดูจิตจะดูอย่างไร ดูจิตไม่ใช่ การคิดเรื่องจิต ไม่ใช่การคาดคะเนว่าตอนนี้จิตเราสุขหรือทุกข์ จิตเราดีหรือร้าย แต่ต้องดูให้เห็นสภาวะ สิ่งที่เป็นจิตนั้นมันไม่เกิด โดยตัวของมันตัวเดียวลำพัง มันจะต้องเกิดร่วมกับสภาวธรรมอีก จำนวนมากเลยที่เกิดร่วมกับจิต จิตนั้นโดยตัวของมันเองเป็นธรรมชาติรู้ จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ส่วนจิตนั้นจะสุข หรือจะทุกข์ จะดี หรือจะชั่ว มันเกิดจากสภาวธรรมอย่างอื่น ที่มาประกอบเข้ากับจิตในแต่ละขณะ แต่ละดวง สิ่งที่ประกอบกับจิตเขาเรียกว่าเจตสิก ฟังแล้วฟังก็ยิ่งยุ่ง มีจิตแล้วยังมีเจตสิกอีก อันนี้เป็นนามธรรม ตัวรูปเป็นรูปธรรม ส่วนตัวนามธรรมก็ประกอบด้วยจิตกับเจตสิก

เจตสิก อย่างความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์นี่เป็นเจตสิก ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต จิตบางดวงมีความสุข จิตบางดวงมีความทุกข์ จิตบางดวงเป็นอุเบกขาไม่สุข ไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้นตัวสุข ตัวทุกข์ ตัวอุเบกขานี่ เป็นสิ่งที่เกิดร่วมกับจิตเรียกว่าเจตสิก แล้วมันทำให้จิตแต่ละดวง หน้าตาไม่เหมือนกัน จิตสุขมันก็แบบหนึ่ง จิตทุกข์มันก็แบบหนึ่ง จิตเฉยๆ ก็แบบหนึ่ง ตัวจิตนั้นโดยตรงนี่เราไม่สามารถดูมันได้ เพราะจิต เป็นธรรมชาติรู้ มันไม่มีร่องรอยอะไรให้เราเห็นเลย มันว่าง จิตนั้นโดยตัวมันเอง มันว่าง มันผ่องใส ประภัสสรโดยตัวของมันเอง แต่มันเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เรารู้ว่า จิตดวงนี้กับจิตดวงนี้เป็น คนละดวงกัน เพราะอาศัยเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต อย่างจิตดวงนี้มีความสุข เพราะว่ามีเจตสิกคือตัวความสุขมาเกิดร่วมกับจิต เกิดร่วมกับตัวรู้อันนี้ แล้วอยู่ชั่วคราว จิตที่มีความสุขมันดับไป อยู่ๆ เราจะเห็นจิตเกิดดับ นี่เห็นไม่ได้ เพราะไม่มีร่องรอยให้เห็น แต่อาศัยการเห็นผ่านเจตสิก

พอความสุขเกิดขึ้น จิตที่สุขก็เกิดขึ้นร่วมด้วย พอความสุขดับไป จิตที่มีความสุขก็ดับไปด้วย เกิดดับพร้อมกับเจตสิก จิตกับเจตสิก เกิดดับพร้อมกัน เพราะฉะนั้นเราจะดูจิต ดูใจเราดูผ่านเจตสิก เราก็จะเห็นว่าจิตดวงนี้ กับจิตดวงนี้เป็นคนละดวงกัน เพราะว่าดวงเมื่อกี้นี้ เป็นจิตมีความสุข ดวงนี้เป็นจิตเฉยๆ เป็นอุเบกขา หรือเมื่อกี้นี้ เป็นจิตมีความทุกข์ ตอนนี้เกิดจิตอีกดวงหนึ่ง จิตที่ทุกข์มันดับไป เพราะความทุกข์มันดับไป มันเกิดจิตที่เป็นอุเบกขา หรือจิตที่มี ความสุขขึ้นมาแทน ฉะนั้นการเห็นสภาวะของจิตและเจตสิก จะทำให้เรา เจริญปัญญาในการดูนามธรรมได้ แต่ก่อนหลวงพ่อก็งงๆ หลวงปู่ดูลย์บอก ให้ดูจิตๆ เราก็งงดูอย่างไร ก็เลยไปทำสมาธิ เสร็จแล้วก็เลยไป จ้องจิตเอาไว้ จับเอาตัวรู้ไว้นิ่งๆ ว่างสว่างเฉยอยู่อย่างนั้น หลวงปู่ดูลย์ท่านเห็น ท่านโขกเอา ท่านว่าที่ทำอยู่ผิดแล้ว จิตมีธรรมชาติ คิดนึกปรุงแต่ง เราไปปรุงแต่งจนมันไม่คิดนึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง มันแต่งอย่างเดียว คือแต่งนิ่งๆ ว่างๆ แล้วเราไม่เห็น เราก็ไม่เห็นจิตมัน เปลี่ยนแปลง จิตมันคงที่อยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นการที่เรา จะไปดูตัวจิตตรงๆ นี่จะไม่เห็นไตรลักษณ์หรอก จิตมันก็จะว่าง สว่างอยู่อย่างนั้น

ตรงนี้บางทีพวกพรหมทั้งหลายเลยเกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิเห็นว่าจิตเที่ยง เพราะจิตของพรหม เกิดจิตชนิดเดียวกันนี่ซ้ำๆๆ กันนี้ยาวนานมาก อย่างจิตมีความสุขมันก็สุขอยู่อย่างนั้น เป็นหมื่นปีแสนปีล้านปี มันก็ทรงอยู่อย่างนั้นเอง พออยู่นานไปๆ พวกพรหมก็เลยเกิดมิจฉาทิฏฐิ ขึ้นมาว่าจิตนี้เที่ยง จิตเป็นอมตะ จิตนี้เที่ยง เลยกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าเรารู้จักการดูจิตที่เกิดดับร่วมกับเจตสิก เราจะเห็นเลยจิตนี้เกิดดับ อยู่ตลอดเวลา จิตไม่เที่ยง จิตทนอยู่ในสภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้นาน เรียกว่าทุกขัง มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย อย่างจิตที่มีความสุขนั้น ก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย อยู่ได้ไม่นาน จิตมีความทุกข์เองก็ถูกบีบคั้น ให้แตกสลายอยู่ไม่นานเหมือนกัน แล้วจิตมันจะมีความสุข หรือจิตจะมีความทุกข์ ความสุขจะเกิดหรือจะดับไปจากจิตไปอะไรนี่ จิตก็เลือกไม่ได้ ตรงนี้เรียกว่าเห็นอนัตตา

เพราะฉะนั้นเราเห็นจิตกับเจตสิกทำงานด้วยกัน เราต้องหัดดู จิตนั้นเราไม่ต้องไปหัดดูมันหรอก หามันไม่เจอ มันไม่มีร่องรอย เราหัดดูสิ่งที่เรียกว่าเจตสิกไว้ให้ดี วิธีดู ไม่ได้เอาตาไปดู เพราะเจตสิก ทั้งหลายเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างให้เราดู แต่มีลีลา มีอาการ มีการแสดงออก

อย่างความรู้สึกต่างๆ ที่ว่าดูจิต ดูเจตสิก ให้รู้ที่ความรู้สึก รู้ด้วยความรู้สึก อย่างมีความรู้สึกสุขเกิดขึ้น เราก็รู้ว่าตอนนี้ มีความรู้สึกสุขเกิดขึ้น มีความรู้สึกทุกข์เกิดขึ้น เราก็รู้ว่ามี ความรู้สึกทุกข์เกิดขึ้น มีสุข มีทุกข์เรารู้ได้อย่างไร รู้ได้ด้วยความรู้สึก เรารู้สึกเอา ตอนนี้รู้สึกสุข ตอนนี้รู้สึกทุกข์ ตอนนี้รู้สึกเฉยๆ นี่รู้ด้วยความรู้สึกเอา นามธรรมมันรู้ด้วยความรู้สึก จิตเป็นคนรู้ จิตเป็นตัวรู้สึก เป็นตัวรู้สึก แล้วก็รู้เจตสิก มีความสุขเกิดขึ้นก็รู้ ความสุขหายไปก็รู้ มีความทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ ความทุกข์หายไปก็รู้ ความเฉยๆ เกิดขึ้นก็รู้ ความเฉยๆ หายไปก็รู้ หัดดู หัดรู้สึกไป ตอนนี้มีความสุขรู้ว่ามีความสุข ตอนนี้มีความทุกข์รู้ว่ามีความทุกข์ ตอนนี้เฉยๆ รู้ว่าเฉยๆ ง่ายๆ แค่นี้ล่ะการหัดดูเจตสิก ดูนามธรรม

เจตสิกไม่ได้มีแค่ตัวสุข ทุกข์ เฉยๆ อันนั้นเป็นเจตสิกกลุ่มหนึ่ง เรียกว่าเวทนา ตัวสัญญานั้นเว้นไว้ก่อน ดูยาก ตัวสังขารมีเยอะ เราดูสังขารมีเยอะแยะเลย สังขารคือความปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงไม่ดี ปรุงไม่ชั่ว สารพัดจะปรุง เอาตัวง่ายๆ เลยอย่างความโกรธนี้เป็นสิ่งที่มีบ่อย ความโกรธ เราไม่ต้องมานั่งถามตัวเองว่า ตอนนี้โกรธหรือไม่โกรธ เราแค่รู้สึกตัวเองว่าตอนนี้กำลังโกรธอยู่ หรือตอนนี้หายโกรธแล้ว คอยรู้อย่างนี้ไป รู้สบายๆ ไม่ต้องคิดเยอะ การจะรู้เจตสิก รู้นามธรรมพวกนี้ ไม่ใช่เรื่องต้องคิดเอา คิดเอาแล้วไม่เจอหรอก ให้รู้สึกเอา ตอนนี้รู้สึกโกรธ รู้ว่านี่กำลังโกรธอยู่ ตอนนี้รู้สึกโลภ รู้สึกรัก รู้สึกมีความใคร่อะไรอย่างนี้ รู้อย่างที่มันเป็น รู้อย่างที่มันกำลังมีอยู่เป็นอยู่ หัดรู้อย่างนี้เรื่อยๆ ไป เราจะรู้จักสภาวธรรมของนามธรรม อย่างสุขเกิดขึ้นเรารู้ ทุกข์เกิดขึ้นเรารู้ รู้บ่อยๆ ต่อไปเราก็จำได้แม่น สุขเกิดปุ๊บ สติรู้ทันนี่สุขเกิดแล้ว ทุกข์เกิดขึ้นสติรู้ทันเลย หรือความโกรธเกิดขึ้น สติก็รู้ทันไว้

 

การหัดดูสภาวะนั้น ใช้ความรู้สึกไปรู้เอา

การหัดดูสภาวะนั้นอย่าเอาตาไปดู แต่ใช้ความรู้สึกไปรู้เอา รู้สึกสบายใจรู้ว่าสบายใจ รู้สึกกลุ้มใจก็รู้ว่ากลุ้มใจ รู้สึกเอา แล้วเราจะได้เห็นว่าความรู้สึกของเราทั้งวัน เปลี่ยนตลอดเวลา ไม่คงที่หรอก ตรงนั้นเราจะขึ้นวิปัสสนาแล้ว ฉะนั้นขั้นแรกสุด เห็นสภาวะให้ได้ สภาวะของนามธรรมนี่เราไม่ได้ดูด้วยตา แต่เราเห็น ด้วยความรู้สึก คือรู้ด้วยใจ ใจเป็นตัวรู้สึก อย่างนั้นเราก็รู้สึกเอา อย่างใจมันโกรธ รู้ว่ามันโกรธ ใจมันไม่โกรธแล้ว รู้ว่ามันไม่โกรธ เห็นว่าโลภมันเกิด เห็นโลภมันดับไป เห็นความฟุ้งซ่านมันเกิด เห็นความฟุ้งซ่านมันดับไป หัดดูสภาวะทั้งหลาย คำว่าดูนี่ยังเคลื่อน จริงๆ ก็คือไปรู้สึกเอา รู้สึกถึงสภาวะทั้งหลาย ที่มันกำลังมีกำลังเป็นอยู่ หรือว่ามันดับไปสดๆ ร้อนๆ ไม่ใช่เรื่องยาก

ตอนแรกๆ หลวงพ่อก็งง เราไปอ่านหนังสืออภิธรรม ตอนนั้นภาวนาใช้ได้แล้ว หลวงปู่ดูลย์รับรองว่าภาวนาถูกต้องแล้ว ไปอ่านอภิธรรมยังงงเลย เขาพูดถึงปรมัตถธรรม เรื่องสภาวธรรม มันเป็นอย่างไรหนอสภาวธรรม แล้ววันหนึ่งไปฟังวิทยุหรือ อะไรก็ไม่รู้จำไม่ได้แล้ว บอกง่ายๆ เลยอย่างความโกรธเป็นสภาวธรรม พอหลวงพ่อได้ยินว่าความโกรธเป็นสภาวธรรมแล้วปิ๊งเลย รู้แล้วว่า สภาวธรรมที่เป็นนามธรรมนั้นมันเป็นอย่างไร มันรู้ได้อย่างไร ความโกรธ ความโลภ ความหลงอะไรนี่มันเป็นสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต เรียกว่าเจตสิก เช่นเดียวกับความสุข ความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ มันก็เกิดร่วมกับจิต สิ่งที่เกิดร่วมกับจิตยังมีอีกนะเยอะแยะเลย รวมแล้วเรียกว่าเจตสิกมี 52 ตัว 52 ตัวนี้เป็นเวทนาเสีย 1 ตัว เวทนานั้นก็คือสุข ทุกข์ เฉยๆ แยกได้ 3 แล้วก็มีสัญญาอีกตัวหนึ่ง รวมเป็น 2 ตัว อีก 50 ตัวเรียกว่าสังขาร

ฉะนั้นเจตสิกส่วนใหญ่คือตัวสังขาร คือตัวความปรุงแต่งของจิตนั่นล่ะ จิตมันปรุงขึ้นมา ปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงไม่ดี ไม่ชั่ว ปรุงกุศล ปรุงได้ทั้งกุศล ปรุงได้ทั้งอกุศล ปรุงได้ทั้งธรรมะที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ปรุงได้ทั้งธรรมะที่เกิดร่วมกับกุศลก็ได้ เกิดร่วมกับอกุศลก็ได้ นี่มันวิจิตร พิสดารมาก เราไม่ต้องรู้จักทั้ง 50 ตัวหรอก บางตัวเราไม่มี อย่างเราเข้าฌานไม่เป็น ยิ่งเข้าอรูปฌานไม่เป็น มันก็ตัดเจตสิกในกลุ่มของอรูปฌานออกไป มีเจตสิกในส่วนของกาม ที่เรารู้จักกันนี่ล่ะ จิตในกลุ่มของกาม เราค่อยๆ สังเกตเอา อย่างจิตโกรธ จิตโลภ จิตหลง จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ จิตมีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีปัญญานี่กลุ่มที่ดี สมาธิอันนี้เป็นเจตสิกที่เกิดได้ทั้งจิตที่ดี ทั้งจิตที่เลว สมาธิเกิดในจิตทุกดวง ดีบ้าง เลวบ้าง คือเกิดร่วมกับเจตสิกที่เลว มันก็ประชุมกันขึ้นมาทำงานให้จิตดวงนั้นมันเลว เวลาที่จิตมีเจตสิก ไม่ได้มีทีละตัว มันมีเจตสิกเกิดร่วมกันตั้งเยอะแยะ ในขณะหนึ่งๆ ในจิตดวงหนึ่งๆ มีเจตสิกเกิดร่วมกันตั้งเยอะแยะ ทำงานด้วยกัน ช่วยกันทำงาน แต่เราไม่ต้องตกใจ เราดูอย่างที่ง่ายๆ

 

“คนที่ฟังพระสูตรบรรลุมรรคผลนี่มีนับไม่ถ้วน เพราะที่พระพุทธเจ้าท่านพูดออกมา ท่านแสดงท่านสอนออกมา
เราไปดูในพระไตรปิฎก สิ่งที่ท่านสอนมันไปรวมอยู่ในพระสูตร กับพระวินัยเป็นหลัก”

 

อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ในพระสูตร ถ้าเรียนอย่างอภิธรรม ปวดหัวตายเลย เอาไว้ท่องสอบอย่างเดียว สู้กิเลสไม่ทันหรอก เราดูอย่างพระสูตรนี้ล่ะ ดูจิตดูอย่างไร พระพุทธเจ้าก็สอนแล้ว “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะ ก็รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ ก็รู้ว่าไม่มีราคะ” ดูง่ายๆ อย่างนี้เอง ไม่ได้ดูยากอะไรหรอก “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะ รู้ว่าไม่มีโทสะ” จิตมีโทสะรู้ได้อย่างไร รู้สึกเอาตอนนี้กำลังโกรธอยู่ รู้สึกเอา ตอนนี้หายโกรธแล้ว รู้สึกเอา รู้ด้วยความรู้สึก ฉะนั้นท่านจะใช้คำว่ารู้ จิตมีราคะก็รู้ว่ามีราคะ ให้รู้เอา ไม่ใช่ให้คิดเอา ฉะนั้นการเจริญปัญญา เรารู้เอา รู้สึกเอา รู้เอา รู้ไปเรื่อยๆ รู้สภาวะไป แล้วต่อไปสภาวะมันจะแสดงไตรลักษณ์ให้เราเห็นเอง

อย่างจิตที่มีความสุขเกิดขึ้น แล้วก็เป็นความสุขที่ประกอบ ด้วยราคะด้วย อย่างนี้เราก็จะเห็นว่าจิตตรงนี้มีราคะ เป็นอกุศล แล้วก็มีความสุขอยู่ เวลาจิตมีราคะบางทีมีความสุขได้ ฉะนั้นเวลา จิตมีความสุข ไม่จำเป็นต้องเป็นกุศล เป็นจิตอกุศลก็ได้ จิตอยากฟังเทศน์ จิตมีศรัทธาอยากฟังธรรม ฟังธรรมด้วยใจที่เบิกบาน นั่นจิตมีความสุข แต่เป็นความสุขที่เป็นกุศล เกิดร่วมกับเจตสิกอื่นๆ ที่เป็นกุศล เช่นมีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีความเพียรอยู่อะไรอย่างนี้ คอยรู้ทัน เราหัดรู้สภาวะไป ไม่ต้องรู้ละเอียดอย่างที่หลวงพ่อบอกนี้หรอก แต่ภาวนาแล้วต่อไป มันรู้ละเอียดเอง จะรู้เลยจิตดวงหนึ่งๆ ประกอบด้วยเจตสิกจำนวนมากเลย แต่ว่าเวลาเรียนในภาคปฏิบัติจริงๆ เอาง่ายๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าสอน “จิตมีราคะ รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้ว่าไม่มีราคะ จิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะรู้ว่าไม่มีโทสะ จิตมีโมหะรู้ว่ามีโมหะ จิตไม่มีโมหะ ไม่หลง ไม่เผลอ ก็รู้ว่าไม่มีโมหะ รู้สึกตัว จิตรู้สึกตัว รู้ว่าจิตรู้สึกตัว จิตหลงไปลืมตัว รู้ว่าจิตหลง”

เวลาหัดดูจริงๆ ก็ดูง่ายๆ อย่างนี้ ไม่ต้องดูว่าขณะนี้มี เจตสิกประกอบด้วยอะไรบ้าง บางตัว จิตบางดวง ขนาดพระสารีบุตรท่าน ยังนับเจตสิกได้ไม่หมดเลย ภูมิปัญญาระดับนั้น อย่างในเนวสัญญานาสัญญายตนะ พระสารีบุตรท่านก็บอกว่า ท่านนับได้ไม่หมดหรอก ต้องอาศัยปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มันละเอียดมาก ท่านนับได้บางอย่าง ฉะนั้นเรายิ่งเทียบกับท่านไม่ได้เลย ขี้ตีนท่านยังเทียบไม่ได้เลย เราไม่ต้องโลภมาก เราเอาเท่าที่ พระพุทธเจ้าสอน เราทำง่ายๆ จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ รู้ว่าหดหู่ ง่ายๆ มี 8 ดวง จิตที่ดูง่ายๆ จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะนี่ 2 แล้ว จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ มี 8 ตัว อีก 8 ตัวที่เหลือเป็นสำหรับพวกที่เขาเล่นฌาน จิตมีอุปจาระ จิตไม่มีอุปจาระ จิตเป็นอัปปนา จิตไม่มีอัปปนาอะไรอย่างนี้ เล่นยากขึ้นไปแล้ว อันนั้นเรายังไม่ต้องเล่น เล่นแต่ของที่เรามีจริงๆ

 

คนรุ่นเรานี้ไม่ค่อยมีฌานอะไรกับใครเขาหรอก เพราะฉะนั้นเราก็ดู 8 ตัวแรก จิต 8 ตัวแรก ค่อยๆ ดูไป รู้ด้วยความรู้สึก จิตโกรธรู้ว่าโกรธ จิตโลภรู้ว่าโลภ จิตหลงรู้ว่าหลง จิตไม่โกรธ รู้ว่าไม่โกรธ จิตตอนนี้ไม่โลภแล้ว เมื่อกี้โลภตอนนี้ไม่โลกแล้ว ดูอย่างนี้ จิตโกรธ เมื่อกี้โกรธ ตอนนี้ไม่โกรธแล้ว ดูอย่างนี้ จิตที่โลภ โกรธ หลง มันจะเกิดไปก่อน แล้วสติก็เกิด ก็เกิดจิตที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงขึ้นมาแทน เกิดเป็นคู่ๆ ไป จิตโกรธเกิดขึ้น พอมีสติรู้ จิตโกรธดับ จิตที่รู้ตัวก็เกิดขึ้นแทน เป็นคู่ๆ ฉะนั้นเวลาเรียนธรรมะ เรียนคู่ๆ เรียนคู่เดียวก็พอแล้ว เรียนคู่ใดคู่หนึ่งที่มันมีบ่อยๆ อย่างบางคน ใจเย็นไม่โกรธเลย ใครด่าก็เฉยๆ ยิ้มหวานๆ ทั้งวัน พวกนี้อย่าทำกรรมฐานด้วยการดูจิตโกรธ มันไม่มีให้ดู ไอ้คนไหนขี้โมโห ก็ดูจิตโกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หงุดหงิด เดี๋ยวก็หงุดหงิด นี่ดูอย่างนั้นไป เดี๋ยวก็จะเห็น

สภาวธรรมก็คือตัวจิตกับตัวความโกรธ เกิดขึ้นด้วยกันแล้วก็ ดับไปด้วยกัน แล้วเกิดสภาวะใหม่ตัวจิตเกิดขึ้น ตัวไม่โกรธ มีสติ อโทสะก็เป็นสภาวะอันหนึ่ง พอมีสติขึ้นมาตัวโทสะก็ดับ เกิดเป็นตัวอโทสะ ขึ้นมาแทน นี่เฝ้ารู้ๆๆ ไปเรื่อยๆ นับพันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง ล้านครั้ง มากน้อยแค่ไหนขึ้นกับอินทรีย์ของเราแก่กล้าแค่ไหน ถ้าอินทรีย์เราแก่กล้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญินทรีย์ ปัญญาแก่กล้า ดูไม่กี่ทีก็เข้าใจแล้ว จิตมันปิ๊งแล้ว มันจะเห็น สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ จะเห็นอย่างนี้นะไม่ใช่เห็นว่าความโลภเกิด ความโลภดับ จะเห็นว่า everything ทุกอย่างที่เกิด แล้วมันก็ดับไป จะเห็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการจะปฏิบัติธรรมนี้ต้องเห็นสภาวะ การเห็นสภาวะรูปธรรม ก็เห็นด้วยตัวรูป ไปรู้รูป รูปจริงๆ ถ้ารูปบางอย่างนี่รู้ด้วยจิต รู้ด้วยใจ อย่างรูปที่เคลื่อนไหว เราหลับตาอยู่ รูปมันเคลื่อนไหวเราก็รู้ นี่เรารู้ด้วยใจ แต่รูปที่เป็นตัวธาตุ 4 จริงๆ ดูยากมาก ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม นี่รู้ด้วยสัมผัส ทางกาย ธาตุน้ำรู้ด้วยใจ อันนี้ในเชิงของอภิธรรม

แต่ถ้าในเชิงของพระสูตร น้ำลายนี่ก็รู้ เรามองเห็นหรือ มันอมอยู่ในปาก เรารู้สึกอยู่ มันรู้สึกได้ คนละนัยยะ คนละแบบกัน ดูเท่าที่เราดูได้ ดูเท่าที่ดูได้ก็คือดูตามนัยยะแห่งพระสูตร คนธรรมดาอย่างพวกเราดูได้ จะไปดูนัยยะแห่งอภิธรรม ดูยาก อย่างที่ว่าเมื่อกี้ผมเส้นเดียวมีดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่ครบ มีสติ มีปัญญา มีสมาธิอะไรมากพอที่จะไปเห็นได้ ฉะนั้นเราเห็นสิ่งที่พระพุทธเจ้า สอนไว้ในพระสูตรนี้พอ คนส่วนใหญ่เขาบรรลุมรรคผลนิพพาน กันก็เพราะพระสูตรนี่ล่ะ แล้วก็ศึกษาเอา พระสูตรบางส่วน พระพุทธเจ้าแสดงโดยตรง บางส่วนพระสาวกฟังมาจากพระพุทธเจ้า บางส่วนพระสาวกแจ่มแจ้งขึ้นมาเอง แล้วในสังคายนาท่านแสดงขึ้นมา พระอรหันต์ทั้งหลายโอเค อย่างในพระไตรปิฎก จะมีธรรมะของพระอรหันต์อะไรนี้เยอะแยะนะ แล้วพระอรหันต์ด้วยกัน ท่านก็รับรองกันไว้ว่านี้ถูกต้องแล้ว คนรุ่นหลังกระทั่งพระโสดาบันก็ไม่เป็น แต่เที่ยวมองว่าพระอรหันต์ผู้นี้เชื่อไม่ได้ในพระไตรปิฎก อันนี้มากไปๆ เกินฐานะที่จะวิจารณ์

 

ฉะนั้นเราศึกษาดู ไม่จำกัดว่าเฉพาะที่พระพุทธเจ้าพูดหรอก ที่พระสาวกท่านสอน ท่านประมวล ท่านรวบรวมกันไว้ดีทั้งนั้น เอาเข้าจริงพระไตรปิฎกทั้งหมด ไม่ใช่คำพูดของพระพุทธเจ้าแล้ว คือสิ่งที่พระสาวกจำกันมา แล้วมาประชุมสังคายนาร่วมกันกำหนดขึ้นมา ฉะนั้นตัวพระไตรปิฎกเอง คือสิ่งที่พระสาวกพัฒนาขึ้นมา จากการฟังพระพุทธเจ้าบ้าง จากการที่ท่านฟังพระสาวกองค์อื่นบ้าง จากการที่ท่านแสดงขึ้นมา แล้วพระด้วยกันโอเคยอมรับ ก็จะมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในพระไตรปิฎก เราค่อยๆ เรียนไป เรียนของง่ายๆ ไม่ต้องเรียนยาก แต่ดูดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ดูลงไปเลยธาตุดินมีอะไร ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ส่วนเยื่อในกระดูกมองไม่เห็นแล้ว ต้องมโนเอาแล้ว อย่างนั้นไม่ต้อง เอาของที่เห็นจริงๆ น้ำในตัวเราเรารู้ไหมมีน้ำอะไร เดี๋ยวก็ฉี่แล้ว เดี๋ยวก็มีน้ำลาย เดี๋ยวก็ฉี่ใช่ไหม มีดบาดก็เลือดออกอะไร นี่ธาตุน้ำ เลือด น้ำเลือด น้ำหนอง ปัสสาวะอะไรนี่ นี่คือธาตุน้ำ

ดูลงไปทำไมเรียกมันเป็นธาตุ ก็มันไม่ใช่คน มันไม่ใช่สัตว์ มันไม่ใช่เรา มีใครเห็นปัสสาวะเป็นตัวเราบ้างไหม ถ้าเห็นแล้ว รีบปรึกษาจิตแพทย์เลยนะ อุจจาระเป็นธาตุอะไร ก็ธาตุดิน ถือว่าแข็งๆ บางคนบอกไม่แข็ง ถ่ายเหลว เรื่องมาก เหลวเดี๋ยวเดียวมันก็แข็งทีหลัง ดูธาตุก็ดูที่เราเห็นได้จริงๆ นี่ล่ะ ดูไป ให้เห็นว่ามันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ใครเห็นผมเป็นตัวเราบ้าง ผมตอนติดอยู่บนหัว รู้สึกตัวเราใช่ไหม พอตัดผมออกมา หรือโกนผมออกมา หรือผมมันร่วงออกมา ไม่เป็นเราแล้ว ไม่มีใครเห็นผมเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขาหรอก ถ้าเห็นก็โรคจิตแล้ว

เห็นไหมธรรมะง่ายอย่างนี้ ใครค้านธรรมะคือพวกโรคจิตนั่นล่ะ ธรรมะมันของทนโท่อย่างนี้ ฟันเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขาไหม ฟัน พอถอนฟันออกมาไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขาแล้ว ดูไป ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ดูไปอย่างนี้ ดูไปเรื่อยๆ ทีแรกก็คิดนำนิดหน่อย ต่อไปมันรู้สึก เห็นไหม สุดท้ายก็ลงมาที่รู้สึก รู้สึกถึงความเป็นธาตุ รู้สึกของความเป็นวัตถุธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม รู้สึกไป รู้ชัดว่ามันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา รู้ด้วยสติ รู้ด้วยปัญญา เราไม่ได้รู้ด้วยร่างกายต่อไปแล้ว อย่างทีแรก เรารู้ธาตุดิน แข็งๆ นี่ธาตุดิน เรารู้ แต่ว่าพอสติปัญญามันเกิดจริงๆ มันรู้ด้วยจิต คือจิตมันเห็นความจริงว่าธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา หรือจิตมันเห็นความจริง มีสติ มีปัญญาเห็นความจริงว่า เจตสิกทั้งหลาย จิตทั้งหลายมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา

อย่างความโกรธนี้ ก็เห็นความโกรธเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็จะไม่เห็นหรอกว่าความโกรธเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขา ค่อยๆ ดูไป จิตที่เกิดร่วมกับความโกรธ มันเกิดขึ้นมาชั่วคราว พอความโกรธมันดับ จิตที่โกรธก็ดับไปด้วย เพราะมันเกิดดับด้วยกัน จิตที่โกรธกับความโกรธ เกิดดับพร้อมกัน จิตที่โลภกับความโลภ ก็เกิดดับพร้อมกัน เฝ้ารู้เฝ้าดูไป อาศัยการดูผ่านเจตสิกที่มันเกิดดับ เจตสิกมันมีลักษณะเฉพาะ ที่หลากหลาย มันจะทำให้เราเห็นว่าแต่ละตัวๆ ไม่เหมือนกัน แต่จิตมันมีสภาวะอันเดียว คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น เราจะมาดูตัวจิต ตรงนี้ก็จิตๆๆ ดูไม่ออกหรอกว่ามันคนละตัวกัน อาศัยเจตสิก

 

ฉะนั้นหัดรู้สภาวะไป แล้วก็จะเห็นตัวสภาวะนั้นล่ะตัวของจริง รู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็จะเห็นความจริงว่าไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขา ฝึกอย่างนี้ให้มากๆ ให้ชำนิชำนาญ อย่างบางทีเราน้อยเนื้อต่ำใจ อกหักรักคุด เสียอกเสียใจอะไรนี่ ถ้าดูให้เป็นเราจะรู้เลย อย่างความน้อยเนื้อต่ำใจ ความเสียอกเสียใจอะไรนี้ ไม่ใช่เราหรอก มันเป็นเจตสิก เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง พอเห็นแล้วมันก็ดับไป จิตก็เป็นกลาง ต่อไปพอความรู้สึกที่เรารู้เท่าทันแล้วเกิดขึ้น จิตก็ไม่ยินดียินร้าย จิตก็เป็นกลาง ฝึกเรื่อยไปในที่สุดจิตก็เข้าสู่ความเป็นกลาง ความสุขเกิดขึ้น จิตก็เป็นกลาง ไม่หลงยินดี ความทุกข์เกิดขึ้น จิตก็เป็นกลาง ไม่หลงยินร้าย กุศลเกิดขึ้นจิตก็เป็นกลาง ไม่หลงยินดี อกุศลเกิดขึ้น โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้น จิตก็เป็นกลางไม่ยินร้าย

จิตที่พ้นจากความยินดียินร้าย มันก็จะไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง มันจะว่าง มันจะเกิดมรรคเกิดผลอะไรก็เกิดกันตอนนั้น จิตมันจะรวม เข้าไปแล้วก็ตัดความรู้ ตัดสินความรู้กัน เวลาตัดสินมันจะตัดสินในฌาน พวกเราเข้าฌานไม่เป็นไม่ต้องตกใจ เราเจริญสติ เจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ดูสภาวะทั้งหลายเกิดดับไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งที่มันพอ จิตมันจะรวม เข้าฌานอัตโนมัติ แล้วอริยมรรคอริยผลจะเกิดขึ้นเอง ไม่มีใครสั่งจิต ให้บรรลุมรรคผลได้ อริยมรรคอริยผลเกิดขึ้นเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญา ของเราอบรมเต็มที่แล้ว ค่อยๆ ฝึกอย่างนี้ทุกวันๆ

อย่างตอนนี้ต้องอยู่บ้าน ต้อง work from home อยู่ที่บ้านเบื่อ อะไรอย่างนี้ อยากออกไปเที่ยว อยากไปเปลี่ยนบรรยากาศ ไปไม่ได้ ไม่สะดวก ใจกลัดกลุ้มอย่างนี้ รู้ทันว่าใจกลัดกลุ้ม เห็นเลยความกลัดกลุ้ม กับใจมันคนละอัน ใจเป็นคนรู้ ความกลัดกลุ้มเป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นร่วมกับใจ พอรู้ทัน จิตที่กลัดกลุ้มก็ดับไป เกิดจิตที่เบิกบานขึ้นแทน ฉะนั้นเวลาที่เรา ต้องเก็บเนื้อเก็บตัว เป็นเวลาที่เป็นโอกาสที่ดีที่จะอยู่กับตัวเอง ที่จะเรียนรู้ตัวเองได้มากๆ แต่บางอย่างมันก็ work from home ไม่ได้ อย่างสัปเหร่ออย่างนี้ คนตายแล้วบอกไม่เป็นไร ตอนนี้กำลัง work from home อยู่ แต่พระทำได้นะ ต่อไปเวลาคนตายนี่เราใช้ tele conference สวดทางไกล อีกหน่อยคงพัฒนาไปสู่จุดนี้ แล้วพอสวดหลายๆ วันเข้า พระก็เริ่มมีลูกเล่น ถ่ายคลิปไว้แล้วก็เปิด ตัวเองก็ไปนอน work from home ฉะนั้นบางอย่างทำได้ บางอย่างทำไม่ได้หรอก ตอนนี้แต่ว่าฉวยโอกาสที่ เราต้องอยู่กับตัวเอง อย่ามัวแต่เบื่อ ไหนๆ ก็ต้องอยู่กับตัวเองแล้ว ก็เรียนรู้ตัวเองให้มากๆ เราจะได้ของดีติดเนื้อติดตัวไป.

 

หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
1 พฤษภาคม 2564