ดูพวกเราทั้งที่อยู่ในห้อง ที่อยู่ข้างนอก ที่ Zoom มันก็มีลักษณะร่วมกัน คือเราหลงความปรุงแต่ง เรามองไม่ออกว่าใจเราปรุงแต่งตลอดเวลา ปรุงในลักษณะต่างๆ อยากดีก็ปรุงความสงบขึ้นมา น้อมใจให้นิ่ง น้อมใจให้สงบ เวลาไม่ได้เจตนาจะปฏิบัติก็ปรุงชั่ว ฟุ้งๆ ไป มันเป็นเรื่องของความปรุงแต่งทั้งหมด เพราะเราหลงอยู่ในความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งของจิตนั่นก็คือตัวภพนั่นเอง เราติดอยู่ในภพ มันก็ยากพอสมควร กว่าคนๆ หนึ่งจะหลุดออกจากภพได้ ก็ต้องอดทนมาก พยายามภาวนาเข้า เรียนรู้ทันความปรุงแต่งที่กำลังมีกำลังเป็น
เบื้องต้นก็รู้ความปรุงแต่งบางอย่างเท่าที่เรารู้ได้
เบื้องต้นก็รู้ความปรุงแต่งบางอย่างเท่าที่เรารู้ได้ เท่าที่เราถนัด อย่างคนไหนขี้โมโห จิตมันก็ชอบปรุง เดี๋ยวก็โกรธ หายโกรธประเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็โกรธอีกแล้ว ความโกรธก็เป็นความปรุงแต่งอย่างหนึ่ง อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าสังขารขันธ์ บางคนขี้โลภ เจออะไรก็ชอบไปหมด อยากได้ อยากได้ อยากมี อยากเป็น นี่พวกขี้โลภ ความโลภก็เป็นความปรุงแต่งอีกอย่างหนึ่ง ถ้าคนไหนขี้โลภ เราก็เรียนรู้ความโลภ ความอยากโน้นอยากนี้ ชอบนั้นชอบนี้ หัดสังเกตเวลาความปรุงแต่งเกิดขึ้นในใจเรา
อย่างตอนหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อเป็นคนขี้โมโห เป็นคนใจร้อน เพราะฉะนั้นใจมันจะหงุดหงิดเร็ว กระทบอารมณ์แล้วก็หงุดหงิดๆ หลวงพ่อก็เห็นความโกรธเกิดขึ้น รู้ว่ามีความโกรธ นี่เรารู้สภาวธรรมแล้ว คนทั่วไปที่เขาไม่เคยฝึก เวลาความโกรธเกิดขึ้น เขาจะไปดูสิ่งที่ทำให้โกรธ อย่างคนขับรถปาดหน้าเรา เราภาวนา เราเห็นความโกรธเกิดขึ้นในใจ ในขณะที่คนที่ไม่ได้ปฏิบัติ มันปรุงแต่งฝ่ายชั่ว พอถูกปาดหน้า โทสะขึ้น ไม่เห็น เห็นอะไร เห็นคนที่ปาดหน้าเรา เห็นของที่ข้างนอก เห็นอารมณ์ที่มายั่วให้จิตมีกิเลส แต่ไม่เห็นกิเลสที่กำลังเกิดขึ้นกับจิต ความต่างมันอยู่นิดเดียวเท่านี้ล่ะ
ทีแรกหลวงพ่อก็เห็น โอ๊ะ ความโกรธเป็นอย่างนี้เอง พอเห็นได้ตัวหนึ่ง ต่อไปก็เห็นสภาวะตัวอื่นๆ ไม่ยากแล้ว ยากคือตัวแรกนั่นล่ะ เคยเห็นตัวหนึ่ง ต่อไปก็จะเห็นตัวอื่นๆ ได้ง่าย คล้ายๆ เราทำกสิณ สมมติเราทำกสิณไฟสำเร็จแล้ว ไฟกลายเป็นแสงสว่าง เป็นดวงสว่าง กำหนดให้ดวงนั้นเล็กเท่าปลายเข็มก็ได้ ให้ใหญ่เต็มท้องฟ้าก็ได้ ทำกสิณไฟสำเร็จ ไปทำกสิณอย่างอื่นอีก 9 ชนิด มันก็สำเร็จง่าย
การดูสภาวะก็เหมือนกัน หัดรู้สภาวะที่เรามีเราเป็นบ่อยๆ อย่างหลวงพ่อขี้โมโห หลวงพ่อก็ดูความโกรธ ความโกรธเกิดแล้วรู้ เกิดแล้วรู้ พอจิตจำความโกรธได้ พอความโกรธเกิดปุ๊บ ต่อไปสติเกิดเอง รู้ทัน เออ จิตเมื่อกี้ไม่โกรธ จิตตรงนี้โกรธ ความโกรธเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้าในจิต จิตแต่เดิมมันเป็นประภัสสร เป็นสิ่งประภัสสร ผ่องใส สว่าง พอมีความโกรธแทรกเข้ามา จิตก็ขุ่นมัว อึดอัด เศร้าหมอง พอเราเห็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิตได้ เรียกว่าเห็นสภาวะแล้ว ของความโกรธ เราก็รู้ว่านี่เป็นตัวที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงจิต จากจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตประภัสสร กลายเป็นจิตที่ถูกความโกรธครอบงำ
ค่อยๆ เห็นไป ทีแรกเห็นจิตมันโกรธ ทีแรกเห็นความโกรธเกิดขึ้น แล้วเห็นว่าความโกรธกับจิต มันคนละอันกัน ความโกรธเป็นความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นกับจิต ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ เราต้องหัดเห็นสภาวธรรมอย่างนี้ ความโกรธเป็นสภาวธรรม เรื่องที่ทำให้โกรธ อันนั้นไม่ใช่สภาวธรรม อย่างคนขับรถปาดหน้าเราแล้วเราโกรธ ความโกรธในใจเราเป็นสภาวธรรม เป็นนามธรรม ส่วนคนที่มาขับรถปาดหน้าเรา มันไม่ใช่สภาวะ เราก็นึกแช่งนึกด่ามัน เราฟุ้งซ่านไป แต่ที่จริงมันก็มีสภาวะ อย่างเวลาเราเห็นเขาขับรถปาดหน้าเรา สภาวะตรงนั้นคืออะไร คือรูป คือสิ่งที่ตาเรามองเห็น
ถ้าเราเห็นขับรถอยู่ คนมาขับปาดหน้า เราเห็นแค่ว่าเป็นรูปที่เคลื่อนผ่านหน้าเราไป อย่างนี้ใช้ได้ เห็นสภาวะ เห็นรูป เพียงแต่มันเป็นของอยู่ข้างนอก ข้างนอกข้างใน ถ้าภาวนาชำนาญแล้ว ใช้ได้เหมือนกันหมด แต่ไม่ชำนาญ ขอแนะนำให้ดูสภาวะภายใน ดูสภาวะภายนอก ล่อแหลมกับกิเลส อย่างเห็นรูปคนขับรถปาดหน้า แป๊บเดียวโมโหแล้ว พยายามจะไปปาดคืน โกรธแล้วไม่เห็นว่าโกรธ
แต่ถ้าเราเห็นสภาวธรรมภายใน มันไม่ค่อยปรุงต่อ จบง่าย หรือตาเรามองเห็นผู้หญิงสวย ผู้หญิงสวย รูปที่เป็นรูปร่างผู้หญิง อันนั้นเป็นสภาวธรรม เป็นรูป คือเป็นแสง เป็นสีที่ตัดกันเป็นรูปร่าง มีโค้งมีเว้า ส่วนความรู้สึกว่าผู้หญิงสวย เป็นบัญญัติ เป็นเรื่องที่เราคิดเอาเอง คนนี้เราบอกหุ่นดี หุ่นนางแบบ เราว่าสวย อีกคนหนึ่งเขาชอบผู้หญิงยุควิกตอเรีย ไม่อ้วนไม่สวย เพราะฉะนั้นความสวยไม่ใช่ของจริง เป็นเรื่องสมมติเรื่องบัญญัติ แต่รูปที่ตามองเห็นนั่นของจริง เป็นสภาวธรรม แต่ถ้าเราไปดูผู้หญิงสวย โอกาสที่เราจะลืมเนื้อลืมตัว มันสูง ฉะนั้นครูบาอาจารย์ก็จะไม่ค่อยแนะนำ ให้ดูออกไปภายนอก
ถ้าดูในสติปัฏฐานจะมีคำว่าธรรมภายใน ธรรมภายนอก แล้วดูแล้วเห็นไตรลักษณ์ได้เหมือนกัน ฉะนั้นรูป เสียง กลิ่น รส ความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหว อะไรที่มาสัมผัสร่างกาย ตัวนี้เป็นสภาวธรรมทั้งหมด แต่อย่างมีอะไรนิ่มๆ มาสัมผัสเรา ความรู้สึกนิ่มๆ ที่มาสัมผัสเป็นสภาวธรรม หันลงไปดูหมาขี้เรื้อนมาสัมผัส อันนี้เป็นสมมติบัญญัติแล้ว หมาขี้เรื้อนนี้สมมติบัญญัติแล้ว เพราะฉะนั้นสภาวธรรมนั้น เราต้องค่อยๆ หัดเรียน หัดรู้ แยกมันออกจากสมมติบัญญัติให้ได้ แรกๆ ขอแนะนำให้เรียนสภาวธรรมภายใน ภายนอกมันจะวุ่นวาย ดูยากนิดหนึ่ง อย่างใจเราโกรธขึ้นมา ให้รู้ว่าโกรธ ไม่ใช่รู้ว่าโกรธเรื่องอะไร ไม่ใช่รู้ว่าใครทำให้โกรธ รู้ว่าโกรธเรื่องอะไรเป็นสมมติบัญญัติ รู้ว่าใครทำให้โกรธ อันนี้ก็สมมติบัญญัติ ให้รู้ความโกรธที่เกิดขึ้น
เวลาเราเกิดความรัก เกิดความชอบ มองเห็นโฆษณา ยังไม่ทันเห็นของจริงเลย โฆษณารถไฟฟ้ารุ่นใหม่ แหม ดี ขับได้ทีหนึ่ง 1,000 กิโลเมตร ชาร์จทีหนึ่งอยู่ได้ 1,000 กิโลเมตร ใจมันก็ตื่นเต้น คนทั่วไปใจมันก็จะไปอยู่ที่รถอยู่ที่โฆษณา คิดใหญ่เลยจะซื้อดีไม่ดี วุ่นวาย แต่ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ เราเห็นสภาวะ คือความโลภเกิดขึ้นในใจ อยากได้รู้ว่าอยากได้ การภาวนา ถ้าเราไม่เห็นสภาวะ ไม่มีทางทำวิปัสสนาได้เลย สูงสุดทำได้แค่สมถกรรมฐาน
วิปัสสนากรรมฐาน
ต้องเห็นสิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรม
วิปัสสนากรรมฐาน ต้องเห็นสิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรม คือรูปธรรมนามธรรม รูปธรรม อย่างร่างกายเรานี้เป็นรูปธรรมภายใน รูปธรรมข้างนอกก็คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่มากระทบร่างกาย อันนี้เป็นรูปธรรมภายนอก เรียนรู้รูปธรรมภายในเป็นหลักไว้ รู้รูปธรรมภายนอกหลงง่าย
นามธรรม ก็คือความรู้สึกนึกคิด ความรับรู้ ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์เป็นนามธรรม เรียกว่าเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดที่กายก็ได้ เกิดที่ใจก็ได้ อย่างเวลาเรานั่งอยู่ เราปวดเมื่อย นั่งนานๆ มันเมื่อย อันนี้เป็นทุกขเวทนาทางกาย ถ้าเราปวดเมื่อย เราก็เห็น โอ้เวทนาทางกายเกิดขึ้นแล้ว ปวดเมื่อย พอความปวดเมื่อยเกิดขึ้น ก็อยากขยับตัว ความอยากจะขยับตัว ก็เป็นนามธรรมอีกตัวหนึ่ง เป็นสภาวธรรมอีกตัวหนึ่ง
ถ้าเรามีสติ เราตามรู้เห็นสภาวธรรม เกิดดับสืบเนื่องกันไปเรื่อยๆ แล้วสภาวธรรมทุกตัวเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ไม่มีสภาวธรรมที่เกิดแล้วไม่ดับ ยกเว้นตัวเดียว สภาวธรรมที่ไม่เกิดแล้วก็ไม่ดับ คือนิพพาน สภาวธรรมนอกนั้นเกิดดับทั้งสิ้น กระทั่งมรรคจิต ผลจิต จิตที่บรรลุอริยมรรค จิตที่บรรลุ อริยผล เกิดแล้วยังดับเลย ฉะนั้นโลกุตตระยังมี 2 ส่วน ส่วนที่เกิดดับกับส่วนที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่เกิดไม่ดับมีแต่พระนิพพาน แต่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เกิดแล้วดับทั้งสิ้น เป็นสภาวธรรม อันนั้นเป็นส่วนของโลกุตตระ ซึ่งเรายังไม่มี เราดูสภาวธรรมที่เรามี ตัวไหนมีบ่อยๆ ดูตัวนั้นเป็นหลัก
อย่างหลวงพ่อขี้โมโห หลวงพ่อดูตัวโกรธเป็นหลัก พบว่าทั้งวันเดี๋ยวจิตก็โกรธ เดี๋ยวจิตก็ไม่โกรธ ส่วนมันจะโกรธเรื่องอะไร อันนั้นเป็นสมมติบัญญัติแล้ว ไม่สำคัญ มันจะโกรธว่าอากาศร้อน หรือมันโกรธว่าคนนี้พูดเสียงดัง หรือโกรธเพราะเราจะนอนแล้วหมาเห่า ข้างบ้านหมามันมาเห่า หนวกหู หงุดหงิด หรือเราจะนอนผีมาขอส่วนบุญ ไม่ยอมให้เรานอน ใจเราหงุดหงิด
พูดถึงผี สนใจไหม เห็นไหมเปลี่ยนโทนเสียงแล้ว มี ไม่ใช่ไม่มี เราไม่มีปัญญาเห็นเอง ถ้าพัฒนาเครื่องมือขึ้นมาแล้วก็จะเห็นได้ พัฒนาจิตของเราให้มันมีสมาธิจริงๆ แล้วถ้ามันอยากรู้อยากเห็น มันรู้เห็นได้ ใหม่ๆ เวลารู้เวลาเห็นอะไรพวกนี้ คุมตัวเองไม่อยู่ มันออกรู้ออกเห็นอะไร คุมไม่ได้ ฝึกจนแก่กล้าแล้วคุมได้ จะเห็นก็ได้ ไม่อยากเห็นก็ได้ ผีเป็นสภาวะไหม มีสภาวะไหม ผีมันก็มีรูปมีนาม มันก็เป็นรูปนามภายนอก ส่วนผีตัวนี้ชื่อแม่นาคพระโขนง อันนี้สมมติบัญญัติแล้ว
ฉะนั้นสมมติถ้าเราเห็นผี เราเห็นด้วยใจ มันมีรูปเกิดขึ้น มันเป็นรูปทิพย์เกิดขึ้น เราเห็นรูปมัน มันแลบลิ้นปลิ้นตา อันนี้เป็นรูปคือสิ่งที่ใจเราเห็น เป็นธัมมารมณ์ ใจเราไปเห็นเข้า ผีมันไม่มีรูปธรรมแบบมนุษย์ ไม่มีกายหยาบ มันก็เป็นธัมมารมณ์ที่เรารู้ด้วยใจ บางตัวมันแรงเยอะ มันก็อาจจะสร้างรูปขึ้นมา ให้เห็นเป็นรูปหยาบได้เหมือนกัน แต่ไม่สำคัญ ตัวสำคัญคือหัดรู้สภาวะให้ได้ อย่างหลวงพ่อแต่ก่อนเห็นผี ตอนเด็กๆ กลัว โตขึ้นไม่กลัวเพราะเห็นบ่อย เฉยๆ เห็นจนไม่อยากจะเห็น เพราะฉะนั้นเวลาเห็นผี จิตเรากลัวรู้ว่ากลัว เห็นผี ผีเป็นแค่อารมณ์ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ตัวที่เราจะดูสภาวธรรม ก็คือตัวกลัว ตัวกลัวอยู่ในกลุ่มโทสะ
หัดรู้สภาวธรรม โดยเฉพาะสภาวธรรมในจิตใจเราเกิดทั้งวัน ตาเห็นรูป เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล เกิดอกุศล ให้มีสติรู้ตรงสุข ทุกข์ ดี ชั่วนี้ สุขทุกข์ก็เป็นนามธรรม เป็นสภาวธรรม ดีชั่วก็เป็นนามธรรม เป็นสภาวธรรม การที่เราเห็นสภาวธรรมเรื่อยๆ สติเรารู้เท่าทันสภาวธรรมอันนี้ เกิดขึ้นเรารู้ สภาวธรรมอันนี้เกิดขึ้นเรารู้ หัดรู้เรื่อยๆ ไป สติจะเป็นตัวรู้ว่ามีสภาวธรรมอะไรเกิดขึ้น สภาวธรรมอันนั้นอาจจะเป็นตัวรูปก็ได้ เป็นนามธรรมก็ได้
อย่างในสติปัฏฐาน 4 พูดถึงสภาวธรรมไว้จำนวนมาก อย่างรูปที่หายใจออก รูปที่หายใจเข้า รูปที่ยืน รูปที่เดิน รูปที่นั่ง รูปที่นอน รูปที่คู้ รูปที่เหยียด ตัวรูปนี้เป็นตัวสภาวธรรม ส่วนรูปนี้จะชื่อนาย ก. นาย ข. ชื่อนางสาวโน้น นางสาวนี้ อันนั้นสมมติบัญญัติ หัดดูให้เห็นสภาวะจริงๆ ในสติปัฏฐานสอนตัวรูปเอาไว้เยอะแยะเลย
ในจิตตานุปัสสนา จิตมีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ รู้อะไร รู้ว่ามีโทสะ ฟังให้ดี จิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ รู้ แล้วเราจะเห็นว่าโทสะกับจิต เป็นองค์ธรรมคนละอย่าง เป็นสภาวะคนละอย่าง โทสะเป็นสังขารขันธ์ อยู่ในสังขารขันธ์ ความปรุงชั่ว จิตอยู่ในวิญญาณขันธ์ เป็นสภาวธรรมอีกตัวหนึ่ง ฉะนั้นจิตกับโทสะเป็นคนละอันกัน จิตมีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ เห็นจิตก็อันหนึ่ง โทสะก็อันหนึ่ง อย่างนี้ ค่อยๆ เห็นไป จิตมีราคะ รู้ว่าจิตมีราคะ เราก็เห็นราคะก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง
ค่อยๆ ดู แล้วในจิตตานุปัสสนามีองค์ธรรม 8 คู่ ที่พวกเราเรียนกัน ที่หลวงพ่อสอน ส่วนใหญ่จะอยู่ใน 4 คู่แรก เพราะพวกเรามี จิตมีราคะกับจิตไม่มีราคะนี่คู่หนึ่ง จิตมีโทสะกับไม่มีโทสะนี่คู่หนึ่ง จิตมีโมหะกับไม่มีโมหะนี่อีกคู่หนึ่ง จิตฟุ้งซ่านกับจิตหดหู่นี่อีกคู่หนึ่ง สูงขึ้นไปมันก็เป็นจิตของคนทรงฌาน หรือจิตที่เดินสำหรับคนได้มรรคได้ผล อย่างตัวสุดท้ายจิตหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว จิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น จิตหลุดพ้นมันมี 2 อัน หลุดพ้นชั่วคราว กับหลุดพ้นถาวร จิตหลุดพ้นชั่วคราว ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้นชั่วคราว แล้วกลับมาไม่หลุดพ้นอีกแล้ว ก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น
นี่เป็นเรื่องของสภาวธรรมทั้งหมดเลย ตั้งแต่อย่างหยาบ โมโหโทโสอะไรนี้ จนถึงอย่างละเอียดเลย จิตหลุดพ้น จิตไม่หลุดพ้น หลวงพ่อตอนเป็นโยมเคยเห็นสภาวะนี้ ไม่ได้เจตนาจะเห็น ก็ภาวนาไปเรื่อยๆ ดูจิตดูใจ ดูความเปลี่ยนแปลงไป ช่วงไหนจิตไม่มีแรงก็ดูกาย ช่วงไหนไม่รู้จะทำอะไร ทำอะไรไม่ถูกก็ทำอานาปานสติ หายใจไป จิตมีกำลังก็กลับมาดูได้อีก ฝึกอย่างนี้มาเป็นลำดับๆ
อยู่มาวันหนึ่งเราพบสภาวะที่ประหลาด จิตมันปล่อยวางจิต พอมันวางจิตลงไปแล้ว แล้วเดี๋ยวเดียวมันก็หยิบขึ้นมาอีก ตรงนี้มันก็จะอยู่ในจิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าหลุดพ้น จิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น แต่หลุดพ้นตัวนี้ หลุดพ้นชั่วคราว ไม่ใช่หลุดพ้นถาวร ตัวนิโรธ ตัวนิโรธมันมีตั้งหลายแบบ นี้สงสัยว่า เอ๊ะ ทำอย่างไรมันจะหลุดตลอด หาทางทำ ก็หลุดบ้างไม่หลุดบ้างอยู่อย่างนั้น ไม่เข้าใจว่าทำไมมันหลุด ทำไมมันไม่หลุด อยู่มาวันหนึ่ง ภาวนาไป ตอนเช้าจิตมันเกิดปล่อยวางจิตได้ แล้วก็ดีใจ จะรีบเอาสภาวะนี้ไปให้หลวงปู่สุวัจน์ดู บ้านหลวงพ่ออยู่เมืองนนท์ ตอนนั้นหลวงปู่สุวัจน์มาอยู่ปากเกร็ด อยู่ที่สวนทิพย์ ที่หลวงปู่บุญฤทธ์ไปอยู่ตอนหลังนี้
พอขึ้นรถ ไปกับคุณแม่ชี ขึ้นรถออกจากบ้าน จิตที่มันปล่อยวางจิต มันหยิบจิตขึ้นมาอีก เรา เฮ้ย หยิบขึ้นมาอีกแล้ว ก็หาทางทำให้มันปล่อย พยายามจะให้มันปล่อย มันก็ไม่ปล่อย จนกระทั่งรถมาเข้าปากซอย ที่จะเข้าไปหาหลวงปู่ซอยวัดกู้ จิตมันหมดปัญญาแล้ว มันรู้สึกทำอย่างไรมันก็ไม่ปล่อย เราสั่งมันไม่ได้ ก็ถอนใจ เฮ้อ จิตมันเป็นอนัตตา เราสั่งให้มันหลุดพ้นไม่ได้ สั่งให้มันวางไม่ได้ พอมองว่ามันเป็นอนัตตา จิตมันก็วางจิตเลย พอมันวางจิตลงไปก็ดีใจ เดี๋ยวจะเอาตัวนี้ไปถามหลวงปู่สุวัจน์ ว่าภาวนาถึงตรงนี้แล้ว จะทำอย่างไรต่อ ให้มันไม่หยิบขึ้นมาอีก ก็ไปนั่งลุ้นว่ามันจะหยิบหรือเปล่า มันก็ยังไม่หยิบ
ไปนั่งรอในห้อง หลวงปู่ท่านพักอยู่ห้องข้างใน สักพักหนึ่งพระก็เข็นรถออกมา ท่านเป็นอัมพาต รถคว่ำแล้วเป็นอัมพาต ท่านเข็น เข็นท่านออกมา เราก็กราบกัน แล้วท่านก็ยิ้มไปยิ้มมา แล้วท่านก็พูดบอก “เวลาเราภาวนา บางทีจิตก็ปล่อยวางจิต เมื่อจิตปล่อยวางจิตแล้ว จิตก็ยังหยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่ยอมวาง จนเห็นไตรลักษณ์แล้วมันถึงจะวาง” ท่านพูดเองเลย ยังไม่ได้ถามเลย หลวงพ่อถึงรู้อย่างหนึ่ง เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ ไม่ต้องถามมากหรอก อะไรสมควรบอก เดี๋ยวท่านก็บอกเอง เราก็ภาวนาของเราไปเถอะ อยู่กับครูบาอาจารย์ เจอสภาวะอย่างนี้ประจำเลย ไม่ต้องถาม ถามมากก็คิดมาก
พอท่านบอกว่า “เวลาเราภาวนา บางทีจิตก็ปล่อยวางจิต ปล่อยวางแล้วก็หยิบขึ้นมาอีก แล้วทำอย่างไรก็ไม่วาง พอเห็นไตรลักษณ์แล้วมันก็วาง” ท่านก็หันมายิ้มให้ทีหนึ่ง หลวงพ่อก็ยกมือไหว้ท่าน เข้าใจแล้ว เข้าใจว่าอย่างไร เข้าใจว่าเราต้องเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ ตอนนั้นมันคล้ายๆ จังหวะมันให้ ไปเห็นจิตเป็นอนัตตาแล้วมันก็วาง หลวงปู่ท่านมาสรุปว่า ต้องเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ถึงจะวางได้ ถ้าวางได้เด็ดขาดก็สบายแล้ว เพราะจิตมันคือก้อนทุกข์ เป็นตัวทุกข์ที่แสนสาหัสที่สุดเลย
หลวงพ่อเคยได้ยินว่า ในโลกความทุกข์ที่รุนแรงที่สุด ก็คือผู้หญิงไปออกลูก ออกตามธรรมชาติ เดี๋ยวนี้ออกลูกไม่ลำบากแล้ว เจ็บมากปวดมากหมอก็ฉีดยา หลับไปออกลูกมาแล้ว เลยไม่ได้เห็นตอนลูกเกิด เลยไม่รู้ว่ามันลูกใครแน่ สมัยก่อนต้องออกมาจริงๆ บอก โอ๊ย เป็นความเจ็บปวดแสนสาหัส หลวงพ่อไม่เคยออกลูก ก็เลยไม่รู้มันเจ็บแค่ไหน แต่ว่าเคยเห็นจิต ตัวจิตมันทุกข์จริงๆ ทุกข์ ทุกข์เหมือนจะตายเลย แสนสาหัสเหมือนกัน
เราค่อยๆ เรียน ทีแรกเราก็รู้สภาวะหยาบๆ เช่น ต้องโกรธแรงๆ แล้วถึงจะรู้ ต่อมาหงุดหงิดเล็กๆ เราก็เห็น พอเห็นได้ตัวหนึ่ง ต่อไปเราก็เห็นสภาวะอันอื่นด้วย สิ่งที่ตรงข้ามกับโกรธก็คือโลภ สภาวะโกรธ มันเป็นสภาวะที่เราอยากผลักอารมณ์ที่เราไม่ชอบใจ ให้กระเด็นออกไป ถ้าโกรธน้อยๆ ก็ผลักด้วยมือ ถ้าโกรธแรงก็อยากผลักด้วยเท้า เพราะมันยาวกว่ามือ เวลาโกรธรู้สึกไหม อยากผลักหน้ามันออกไป ฉะนั้นสภาวะโกรธ มันมีลักษณะที่เราจะผลักอารมณ์ออกไป
สภาวะโลภ สภาวะรัก มีลักษณะที่เราจะดึงอารมณ์เข้าหาตัว เวลาเรารักหมารักแมว รู้สึกไหมอยากอุ้ม ในนี้ก็มีพระจิตใจอ่อนโยน เห็นแมวก็ไปอุ้มแมว ก่อนจะอุ้มแมว ท่านไปอุ้มหมามาก่อน กลิ่นหมายังติดตัวอยู่ พอไปอุ้มแมว แมวตกใจ คิดว่าหมามางาบเข้าไปแล้ว แมวเลยข่วนท่านตาเหวอะไปเลย หนังตา อยากรู้ว่าองค์ไหนก็สังเกตเอาก็แล้วกัน รักกับโกรธ อย่างเรารักแมว เราก็อยากหยิบมาอุ้ม เราเกลียดหมาขี้เรื้อน เราก็อยากผลักออกไป อาการของสภาวะของกิเลส กิเลสไม่ได้มีแต่ชื่อ สภาวธรรมแต่ละอย่างๆ ไม่ได้มีแค่ชื่อ มันมีลักษณะเฉพาะตัว
ลักษณะ 2 ประการของสภาวธรรมทั้งหลาย
สภาวธรรม 72 ตัว แต่ละตัวมีลักษณะเฉพาะตัวทั้งนั้น ความโลภมีลักษณะอย่างนี้ ความโกรธมีลักษณะอย่างนี้ ความสุขมีลักษณะอย่างนี้ ความทุกข์มีลักษณะอย่างนี้ รูปมีลักษณะอย่างนี้ จิตใจมีลักษณะอย่างนี้ เพราะฉะนั้นสภาวธรรมทั้งหลาย มีลักษณะเฉพาะตัว ตรงที่เราเห็นลักษณะเฉพาะตัวของสภาวธรรมได้ เราก็จะเห็นว่า สภาวธรรมแต่ละตัวๆ เกิดแล้วดับได้ เพราะสภาวะที่อยากดึงอารมณ์เข้ามาอย่างนี้ มันอยู่ชั่วคราว แล้วมันก็ไม่ได้อยากดึงแล้ว มันอยากไปผลักอย่างอื่นต่อแล้ว เราเห็นสภาวะ แล้วเราจะเห็นว่าสภาวะแต่ละตัวนั้น มันไม่คงที่ ไม่เที่ยง สภาวะอย่างหนึ่งเกิดขึ้น อยู่ชั่วคราวแล้วหายไป
เพราะฉะนั้นการเห็นสภาวธรรม ก็คือเห็นลักษณะเฉพาะตัวของสภาวะแต่ละตัวๆ ซึ่งไม่เหมือนกัน อย่างความรักกับความเกลียด เป็นสภาวธรรมทั้งคู่ แต่มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน ธาตุไฟกับธาตุลมเป็นสภาวธรรมทั้งคู่ แต่มีลักษณะไม่เหมือนกัน ธาตุลมมีลักษณะเคลื่อนไหว ธาตุไฟมีลักษณะร้อนเย็น ธาตุลมมันทำให้ตึง ทำให้ไหว อย่างถ้าลมอยู่ในท้องเราเยอะๆ ท้องเราตึง ถ้าลมออกไปได้ ลมเคลื่อนไหวไป ลมระบายออกไป ท้องเราก็ไม่ตึง ฉะนั้นธาตุลมเป็นความตึง เป็นความไหว ธาตุไฟเป็นความร้อนความเย็น ที่จริงความเย็นไม่มีหรอก มันก็คือร้อนน้อยๆ ก็รู้สึกเย็นๆ ก็ร้อนมากร้อนน้อย ถ้าเราเห็น เราก็เห็นธาตุลมกับธาตุไฟ มีสภาวะคนละอย่าง มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นสภาวธรรมแต่ละตัว มันจะมีลักษณะเฉพาะตัว ที่ทำให้เราสามารถแยกได้ว่า มันเป็นคนละตัวกับสภาวะอันอื่น เราเห็นตัวนี้ ลักษณะเฉพาะตัวเรียกว่า ลักษณะพิเศษ ลักษณะพิเศษของความโกรธเป็นอย่างนี้ ลักษณะพิเศษของความโลภเป็นอย่างนี้ ลักษณะพิเศษของความสุข ของความทุกข์ เป็นอย่างนี้ ลักษณะพิเศษของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นอย่างนี้ๆ ลักษณะพิเศษของจิตเป็นอย่างนี้
ลักษณะพิเศษของจิตก็คือ เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ธาตุไฟไม่รู้อารมณ์ ธาตุน้ำไม่รู้อารมณ์ ความสุขไม่รู้อารมณ์ ความทุกข์ไม่รู้อารมณ์ ฉะนั้นตัวที่รู้อารมณ์จริงๆ คือตัวจิต แต่จิตมันทำงาน มันต้องทำร่วมกับองค์ธรรมอีกกลุ่มหนึ่ง เรียกว่าเจตสิก รู้อารมณ์อันเดียวกัน เกิดร่วมกัน ดับร่วมกัน เรียนละเอียดไปเดี๋ยวจะยุ่ง เอาเป็นว่าหัดรู้สภาวะไว้
เบื้องต้นรู้สภาวะที่เรามีบ่อยๆ หัดดูไป อย่างของหลวงพ่อขี้โมโห ตัวแรกที่เห็นก็คือโทสะ เดี๋ยวจิตโกรธ เดี๋ยวจิตไม่โกรธ จิตโกรธก็มีลักษณะเฉพาะของมัน จิตไม่โกรธก็มีลักษณะเฉพาะของมัน เราก็จะเห็น จิตดวงหนึ่งไม่ใช่จิตอีกดวงหนึ่ง ความสุขก็ไม่ใช่ความทุกข์ ธาตุดินก็ไม่ใช่ธาตุน้ำ สภาวะแต่ละตัวแยกๆๆ กัน แล้วทุกตัวมีลักษณะร่วมกันคือไตรลักษณ์
ลักษณะเฉพาะ เรียกว่าลักษณะพิเศษ ภาษาบาลีเรียกว่า วิเศษลักษณะ ลักษณะเลยมี 2 อัน วิเศษลักษณะ ลักษณะเฉพาะตัว อีกอันหนึ่งคือสามัญลักษณะ ลักษณะร่วม เวลาเราภาวนา เราเห็นสภาวะแต่ละตัวเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อันนั้นเพราะเราเห็นวิเศษลักษณะ ลักษณะเฉพาะตัว อย่างความโกรธมีลักษณะเฉพาะตัว เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ ความโลภก็มีลักษณะเฉพาะตัว เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ
พอเห็นทุกๆ ตัวเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไป สุดท้ายจิตมันมีปัญญารู้แจ้งแทงตลอด ว่าทุกตัวมีสิ่งที่ร่วมกันคือไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นไตรลักษณ์ เลยชื่อว่าสามัญลักษณะ เป็นลักษณะทั่วไป ลักษณะร่วมของสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวง ยกเว้นนิพพาน บอกแล้วนิพพานไม่มีเกิดมีดับ สภาวะอื่นที่เหลืออยู่นั้น มีเกิดมีดับทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการที่เราเห็นสภาวะแต่ละตัวๆ เกิดดับได้ เพราะแต่ละตัวไม่เหมือนกัน
เมื่อเช้าก็มีทิดคนหนึ่งมาส่งการบ้าน หลวงพ่อก็สอนเขาว่า ที่เราต้องมีตัวรู้เพราะอะไร เพราะตลอดชีวิตเรามันมีแต่ตัวหลง หลงๆๆๆๆๆ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เราจะไม่มีทางรู้จักตัวหลงเลย เราไม่มีทางเห็นตัวหลงเกิดดับเลย เพราะมันมีอยู่ตลอดเวลาที่รู้สึกเลย พอเราฝึกให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ขึ้นมาแล้ว ตัวรู้มันจะตัดตัวหลงให้ขาดลง จิตหลงแล้วก็รู้ แล้วก็หลง แล้วก็รู้ แล้วมันจะพบว่า จิตหลงทั้งหมดเกิดแล้วก็ดับ จิตรู้ทั้งหมดเกิดแล้วก็ดับ เราไม่ได้ฝึกเอาจิตรู้ แต่ต้องฝึกให้มีจิตรู้ เพื่อจะได้เห็นว่าสภาวะทั้งหลายมันเกิดดับ
ถ้าเราไม่มีจิตรู้ เรามองไม่เห็นหรอก โดยเฉพาะจิตหลง ดูอย่างไรก็ดูไม่ออก เพราะมันหลงมาตั้งแต่เกิด หลงไปจนวันตาย ตายแล้วก็หลงต่อ แล้วก็ไปเกิดอีก เพราะฉะนั้นที่เราต้องพัฒนาจิตรู้ขึ้นมา เพื่อตัดตอนจิตหลงให้ขาดออก เราก็จะพบว่าจิตหลงก็มีลักษณะเฉพาะตัว คือจับอารมณ์ได้ไม่ชัดเจน จิตรู้ก็มีลักษณะเฉพาะตัว มันรู้ มันตื่น มันเบิกบาน มันซื่อตรง มันเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา แล้วจิตรู้ที่ดี ไม่ได้เจตนาให้เกิด เรียกอสังขาริกัง
ฉะนั้นเราต้องฝึกให้มีจิตรู้ขึ้นมา แล้วเราจะได้เห็นสภาวธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลง เกิดแล้วดับ ถ้ามีจิตรู้อยู่ ความโลภเกิด เราก็จะเห็นความโลภเกิด ความโลภดับ แล้วจิตก็รู้ มีความโกรธเกิด เรามีจิตรู้ มีความโกรธเกิด ขณะที่โกรธจิตรู้ดับ เกิดจิตโกรธ พอจิตโกรธเกิดขึ้น สติรู้ทันว่ามีจิตโกรธ จิตโกรธดับ จิตรู้เกิด รู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น มีสติรู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น แล้วจิตรู้จะเกิด
พอมีจิตรู้มาคั่น จิตโกรธแล้วก็มีจิตรู้ จิตโลภแล้วก็มีจิตรู้ จิตไปดูรูปแล้วก็มีจิตรู้ จิตไปฟังเสียงแล้วก็มีจิตรู้ มีจิตรู้มาคั่นๆๆๆ เราจะพบว่า จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ ถึงจุดหนึ่งจิตมันสรุปด้วยตัวเอง จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ ฉะนั้นตรงที่ท่านบรรลุมรรคผล ท่านไม่ได้รู้ หรอกว่าจิตโกรธเกิดแล้วดับ จิตโลภเกิดแล้วดับ แต่ท่านรู้ว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ นี่คือสามัญลักษณะ ลักษณะร่วมของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดก็คือดับ
เพราะฉะนั้นตรงที่จะบรรลุมรรคผล ตรงที่จะปล่อยวางได้ ถึงต้องเห็นสามัญลักษณะ ลักษณะร่วมคือไตรลักษณ์ แต่ก่อนที่จะเห็นไตรลักษณ์ได้ ก็ต้องเห็นลักษณะแต่ละตัวๆ จะเห็นว่าสภาวะแต่ละตัวเกิดแล้วดับ สภาวะแต่ละตัวเกิดแล้วดับ เห็นซ้ำๆๆ ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง ล้านครั้ง แล้วแต่ความดื้อของจิต บางคนเห็น 2 – 3 ที จิตเข้าใจแล้ว ยอมรับความจริงแล้ว เออ ทุกอย่างเกิดแล้วดับ เป็นพระโสดาบัน บางคนดูตั้งล้านครั้งแล้วถึงจะเห็น เพราะจิตมันสะสมปัญญามาน้อยหน่อย
เพราะฉะนั้นลักษณะ 2 ประการนี้ ทำความรู้จักไว้ สภาวธรรมทั้งหลายมีลักษณะ 2 ประการ คือลักษณะเฉพาะตัว ทำให้ตัวมันแตกต่างกับสภาวะอันอื่น ทำให้เราเห็นได้ว่า ตอนนี้ตัวนี้เกิด ตอนนี้ตัวนี้ดับ มันจะเห็นได้ อีกอันหนึ่งคือลักษณะร่วมคือไตรลักษณ์ อันนั้นเป็นปัญญารวบยอดแล้ว เกิดจากการเห็นแต่ละตัวๆ เกิดดับ สุดท้ายจิตมันสรุป จิตสรุปไม่ใช่เราสรุป ถ้าให้เราสรุป เราสรุปกันตอนนี้เลยว่า สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นดับ แล้วเราก็เป็นปุถุชนเหมือนเดิม ต้องให้จิตมันสรุปเอง ถ้าไปคิดนำ มันก็ไม่ได้เรื่องหรอก
ร่องรอยธรรม
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ว่าจะเทศน์ง่ายๆ เทศน์ไปเทศน์มาก็ยากทุกทีเลย ยากไปไหม ถามประชามติ ใครว่ายากยกมือขึ้น 1 2 3 4 5 เริ่มมีคนยกก็เริ่มยกตาม ถ้ามันยากมาก ต่อไปจะได้เลิกเทศน์ ให้อาจารย์อ๊า ให้คุณแม่มาเทศน์ จะได้ง่ายๆ หน่อย ยากๆ ก็ต้องเรียน เรียนแต่ง่ายๆ เรียนเอาไว้ก่อน ตอนนี้ยังไม่เห็นไม่เป็นไร แต่วันข้างหน้าได้ใช้แน่ ถ้าภาวนาไม่เลิก แล้วมันจะเดินต่อได้ เหมือนหลวงพ่อ
หลวงพ่อเข้าไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ท่านอายุเยอะแล้ว 95 ปีแล้ว เรียนกับท่านปีกว่าๆ ท่านก็มรณภาพแล้ว ก่อนท่านมรณภาพ ไปหาท่านครั้งสุดท้าย 36 วันก่อนท่านมรณภาพ ท่านก็ให้แผนที่ไว้ฉบับหนึ่ง ท่านเห็นหลวงพ่อมีจิตผู้รู้ที่เข้มแข็งมากอยู่แล้ว หลวงปู่สิมเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ จิตหลวงพ่อเป็นผู้รู้ ไม่ใช่ผู้หลง หลวงปู่ดูลย์ก็เห็นหลวงพ่อมีจิตผู้รู้แล้ว ท่านก็สอนต่อบอกว่า “จำไว้นะ พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เข้าใจไหม” “ไม่เข้าใจครับ แต่จะจำไว้” ท่านบอก “เออ จำไว้นะ” ต้องใช้เวลาในการที่จะย่อยธรรมะ ที่ครูบาอาจารย์ทิ้งไว้ให้เรา ธรรมะบางอันเราย่อยได้ใน 1 เดือน 2 เดือน ธรรมะบางข้อย่อยด้วย 1 ปี 2 ปี บางข้อสิบๆ ปีกว่าจะย่อยได้
เพราะฉะนั้นธรรมะที่หลวงพ่อบอกๆ ไว้ มันไม่ได้หายไปกับสายลม มันก็จะมีการบันทึกเอาไว้ เราภาวนาไปเรื่อยๆ วันหนึ่งข้างหน้ามันก็จะได้ใช้ประโยชน์หรอก ถ้าไม่มีคนบอกมันเดินยากมาก ขนาดภาวนาจนถึงรู้แล้ว ร้อยละร้อยก็รักษาตัวรู้ หลวงปู่ดูลย์ท่านถึงบอกว่า “นักปฏิบัติเกือบทั้งหมด ที่ว่าภาวนาดีเป็นผีใหญ่” เป็นผีใหญ่คือเป็นพรหม ทำไมยังเป็นพรหมอยู่ ปล่อยวางตัวรู้ไม่ได้ ไปรักษาตัวรู้เอาไว้ จิตผู้รู้เด่นดวงอยู่ได้เป็นกัปๆ เลย
ท่านถึงทิ้งร่อยรอยไว้ให้ เราเป็นลูกศิษย์ เราเดินตาม ค่อยๆ คลำไป ค่อยๆ เรียนรู้ไป บางครั้งก็งง เอ๊ะ ทำไมหลวงปู่ดูลย์สอนขัดแย้งกับพระพุทธเจ้า เคยงง หลวงปู่ดูลย์บอกว่า “จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ” ทำไมไม่เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าสอนว่า “อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์ ตัณหาเป็นตัวสมุทัย นิโรธคือนิพพาน แล้วมรรคก็คืออริยมรรคมีองค์ 8 ประการ”
หลวงปู่ดูลย์กลับบอกว่า “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค” ทำไมไม่เหมือนกัน พระไตรปิฎกไม่ผิดแน่ หรือหลวงปู่ดูลย์สอนผิด เห็นไหม หลวงพ่อเทิดทูนพระไตรปิฎก ไม่คิดว่าพระไตรปิฎกผิด หรือหลวงปู่ดูลย์สอนผิด ไม่ใช่ ครูบาอาจารย์ที่เราเห็นแล้วว่า สะอาดหมดจดขนาดนี้ ทรงภูมิ ทรงปัญญาขนาดนี้ ไม่สอนผิดหรอก อะไรหนอที่เราไม่เข้าใจ เห็นไหม ความไม่ดีอยู่ที่ตัวเรา ไม่สงสัยในพระไตรปิฎก ไม่ลังเลกับครูบาอาจารย์ เราบกพร่องตรงไหน เราถึงไม่เห็นธรรมตามท่าน ค่อยภาวนามานาน
จนวันหนึ่งถึงจะเข้าใจ ที่หลวงปู่ดูลย์พูด “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค” ท่านพูดแบบออมไว้ ไม่อย่างนั้นคนมันจะมาว่าท่าน แค่นั้นยังมีคนจะมาโจทย์อาบัติท่านเลย ถ้าพูดเต็มภูมิก็คือ “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอรหัตตมรรค” จิตเป็นตัวทุกข์ไหม อยู่ในขันธ์ 5 ไหม อยู่ แต่ท่านย่อยลงมาถึงจุดสุดท้ายแล้ว คำสอนของท่านนี้ เพราะฉะนั้นไม่ได้ขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 มันก็มีจิตอยู่ด้วย ตรงนี้ท่านสอนมาว่า “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค” มรรคของพระพุทธเจ้ามีองค์ 8 นี่มีอันเดียว “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง”
ภาวนาแล้วก็เลยเข้าใจ โอ๊ย ที่ทุกข์ก็จิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ แต่มันเป็นคำสอนขั้นสุดท้าย ไม่ใช่คำสอนในขั้นต้น ท่านทิ้งร่องรอยไว้ให้เราเดินตาม “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย” จิตส่งออกนอกคืออะไร จิตมีตัณหา มีความทะยาน อันนี้ตรงพระไตรปิฎก จิตมีสมุทัย ส่งออกนอกไปแล้วมีผลเป็นอะไร มีผลเป็นทุกข์แน่นอน แต่ตรงที่ “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค” ทำไมไม่มีองค์ 8 ก็ถ้าจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง มรรคมีองค์ 8 มีครบแล้ว ตัวจิตนั่นล่ะตัวทุกข์ การที่เราเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เราก็รู้ว่าจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตไม่ใช่ของดีของวิเศษ จิตคือตัวทุกข์
ถ้าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง เราก็หมดความยึดถือจิต พอหมดความยึดถือจิต จิตเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะยึดถือ มันละเอียดที่สุด ยึดถือกายนี้ปล่อยก่อน มายึดถือจิตนี่อันสุดท้ายเลย จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งแล้ว โอ้ นี่มันคือตัวทุกข์ มันทิ้ง มันทิ้งขันธ์ตัวสุดท้าย ที่ละยากที่สุดคือจิตผู้รู้ เพราะจิตผู้รู้มันเป็นของดีของวิเศษ พอภาวนาไปถึงเข้าใจ หลวงปู่สอนไว้ตรงเป๊ะเลย แล้วก็ตรงพระไตรปิฎกด้วย ที่ไม่เข้าใจคือเราต่างหาก เพราะเรามันโง่ เรายังภาวนาไม่ถึง
ถ้าภาวนาไปเรื่อยๆ เราก็เข้าใจแล้ว ถ้าจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เราจะพูดชั่วไหม จะมีมิจฉาวาจาไหม เราจะทำชั่ว มีมิจฉากัมมันตะไหม เราจะหากินชั่วๆ มีมิจฉาอาชีวะไหม ถ้าจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ไม่มีหรอก ถ้าจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นสัมมาวายามะอยู่ในตัว เป็นสัมมาสติ เป็นสัมมาสมาธิอยู่ในตัวแล้ว เพราะฉะนั้นจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ที่ท่านบอกเป็นมรรค มีองค์มรรคทั้ง 8 ครบเลย แล้วก็ทำหน้าที่ของมรรค ทำหน้าที่สังหารสังโยชน์เบื้องสูง 5 ตัว จิตก็หลุดพ้น จิตก็หลุดพ้นถาวรแล้วคราวนี้ ไม่ใช่หลุดชั่วคราว หลุดแล้วหยิบๆ เรียนเอาไว้ ฟังเอาไว้ ที่บอกให้ฟังเอาไว้ บอกให้ทรงจำไว้ บอกให้บันทึกไว้ เพราะต่อไปมันไม่มีใครเขาสอนหรอก ไม่มีใครเขาบอกกันหรอก
ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ ท่านก็จะสอนให้พุทโธ ให้ทำสมาธิให้อะไร ให้รักษาศีล ให้ทำทาน ท่านบอกฆราวาสมันทำได้แค่นั้น ให้มันทำทาน ให้ถือศีล แค่นี้มันยังทำไม่ค่อยจะได้เลย ที่จริงแล้วฆราวาสที่อินทรีย์แก่กล้ายังมีอยู่ ถ้าไม่ได้ฟังธรรมอย่างนี้ก็จะเสียโอกาส เหมือนที่หลวงพ่อพุธท่านบอกหลวงพ่อ “คุณไปทำงานเผยแพร่ ต่อไปคนจริตนิสัยอย่างคุณคือคนเมือง มันจะมีเยอะ ถ้าเขาไม่ได้ฟังสิ่งที่คุณภาวนา เขาไม่ได้ฟัง เขาจะเสียโอกาส” หลวงพ่อพุธสั่งอย่างนี้ หลวงพ่อถึงได้ต้องออกมาสอนอยู่ทุกวันๆ นี้ เพราะครูบาอาจารย์สั่ง ลักษณะของผู้ปฏิบัติก็คือ คำพูดของครูบาอาจารย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราต้องทำ
แต่ก็มีบางเรื่องหลวงพ่อไม่ทำ มีเหมือนกัน ตอนบวชใหม่ๆ มีโยมมาบอกว่า ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ บอกให้เชียร์นักการเมืองคนหนึ่ง คนนี้ดี หลวงพ่อบอก หลวงพ่ออยากภาวนา ยังไม่อยากยุ่งการเมือง ขืนเรายุ่งการเมือง เราไปไม่รอด กิเลสเราท่วมหัว ต่อมาเขาก็มาชวนใหม่ นักการเมืองนั้นไม่ดีแล้ว ครูบาอาจารย์ไม่ชอบแล้ว ให้ช่วยกันต่อต้าน หลวงพ่อขอไม่ต่อต้าน หลวงพ่อรู้สึกเราเป็นพระ เราจะลดละกิเลส เราสู้กิเลสตัวเอง เราไม่ได้มีหน้าที่ไปเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ปลีกตัวไม่เอาด้วยเรื่องการเมือง
หรืออย่างบางคนชอบมาชวน จะชวนให้เสกโน้นเสกนี่ บางที่เขาก็นิมนต์ไปเสกพระ หรือพวกเราบางทีก็จะมา ให้หลวงพ่อเสกโน้นเสกนี้ หลวงพ่อบอกสงวนหลวงพ่อไว้ดีกว่า เอาหลวงพ่อไว้สอนกรรมฐานดีกว่า พระที่ท่านเก่งๆ ท่านเสกได้มีเยอะแยะไป แต่พระสอนกรรมฐานไม่ค่อยมี พระเป็นไลฟ์โคชมี แต่พระสอนกรรมฐานจริงๆ ไม่ค่อยมีหรอก เพราะฉะนั้นแยกให้ออก บางอย่างที่หลวงพ่อไม่ทำ ไม่คล้อยตาม ไม่ร่วมมือด้วย มันมีเหตุผล เพื่ออะไร เพื่องานรักษาสืบทอดธรรมะนี้จะได้ดำรงอยู่
วัดสวนสันติธรรม
2 มีนาคม 2567