ธรรมะประจำโลก

แต่ละคนมันก็มีปัญหากันทุกคน ชีวิตกับปัญหามันเป็นของคู่กัน บางคนก็ปัญหาพื้นฐานเลย ไม่มีอยู่ ไม่มีกิน สุขภาพไม่ดี ช่วงนี้ก็เลยมีความทุกข์กันเยอะ ลำบาก อดอยากกัน งานการทำได้ไม่เต็มที่ บ้านเมืองก็เงียบ ที่เคยมีคนพลุกพล่านก็เงียบไปหมดแล้ว ทำมาหากินลำบาก เป็นปัญหาที่จรมาเป็นคราวๆ ปัญหาประจำที่ทุกคนต้องเจอ เรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตาย ปัญหาที่มาเป็นคราวๆ อย่างคราวนี้เกิดโรคระบาด ทำมาหากินไม่สะดวก ชีวิตไม่เหมือนเดิม นานๆ มีทีหนึ่งปัญหาแบบนี้ ปัญหาอื่นๆ ก็เป็นความทุกข์ที่จรมาเป็นคราวๆ อย่างอกหักอะไรอย่างนี้ ตกงาน เป็นปัญหาที่เกิดเป็นครั้งคราว

ปัญหาประจำชีวิตนั้น ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นของประจำ ปัญหาอีกส่วนหนึ่งก็ปัญหาที่อยู่ในร่างกายเรา เรื่องของธาตุของขันธ์ แต่ละคนก็เจอปัญหาอันโน้นอันนี้ตลอดชีวิต ไม่เคยว่างจากปัญหาเลย บางทีคนที่เรารักก็ตาย ช่วงนี้มีคนตายเรื่อยๆ ที่มาบอกหลวงพ่อ ได้ยินว่าคนนั้นตายคนนี้ตาย แต่พวกนี้ไม่ได้เป็นโควิดตาย ตายเอง ไม่สบายโรคโน้นโรคนี้ บางคนอายุไม่มาก อายุยังไม่มากเลยก็ตายแล้ว บางคนมีโรคเรื้อรังประจำตัว รักษาไม่หาย หันมองไปรอบๆ ตัว คนในโลกมันเต็มไปด้วยปัญหา มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ปัญหากับความทุกข์มันไม่เหมือนกัน ชีวิตเราไม่เคยว่างเว้นจากปัญหาหรอก อย่างบางคนมีปัญหาไม่มีจะกิน บางคนมีปัญหาไม่รู้จะกินอะไรดี มีให้เลือกเยอะก็เป็นปัญหาอีก ชีวิตกับปัญหามันเป็นของคู่กัน แต่ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ชีวิตมีปัญหาแต่ไม่ทุกข์ สามารถทำได้ สามารถฝึกได้

 

“ปัญหาต่างๆ ที่หมุนเวียนเข้ามาในชีวิตเรา มันเป็นเรื่องของกรรม
มีกรรมอย่างนี้ ก็มีปัญหาอย่างนี้เข้ามา
แต่จิตที่ฝึกดีก็สามารถเผชิญปัญหาโดยที่ไม่ทุกข์ได้”

 

เวลานี้ธรรมะของพระพุทธเจ้าจะมีประโยชน์ที่สุดเลย เพราะคนจำนวนมากชีวิตกำลังมีปัญหาอยู่ ถ้าเราสังเกตให้ดี เวลาปัญหาเกิดขึ้น จะไปเกิดขึ้นในร่างกาย หรือเกิดขึ้นทางความรู้สึกนึกคิดจิตใจอะไรก็ตาม ถ้ามันมีความอยากให้ไม่มีปัญหา ถ้าความอยากเกิดขึ้นเมื่อไร ความทุกข์จะเกิดขึ้นเมื่อนั้น ส่วนปัญหาต่างๆ ที่หมุนเวียนเข้ามาในชีวิตเรา มันเป็นเรื่องของกรรม มีกรรมอย่างนี้ก็มีปัญหาอย่างนี้เข้ามา แต่จิตที่ฝึกดีก็สามารถเผชิญปัญหาโดยที่ไม่ทุกข์ได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าจะช่วยเราตรงนี้ ฉะนั้นอาศัยช่วงเวลาที่ชีวิตกำลังมีปัญหาวิกฤตอยู่ บ้านเมืองกำลังมีวิกฤตเรื่องโควิดอะไรนี่ อาศัยช่วงเวลานี้มาพัฒนาใจของตัวเอง ถ้าเราศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะรู้ ความทุกข์มันเกิดจากความอยาก มีความอยากเมื่อไรก็มีความทุกข์เมื่อนั้น

อย่างชีวิตเราเผชิญปัญหา สมมติเกิดแก่ เกิดเจ็บ เกิดจะตายแล้ว พลัดพรากจากสิ่งที่รัก จากคนที่รัก ต้องเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจ อย่างขณะนี้เราเจอโควิด เป็นสิ่งที่ไม่ชอบใจ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ใจเราไม่อยากได้ อยากให้มันจบเร็วๆ ตรงที่ใจเรามีความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์มันจะมาสู่ใจ ในความเป็นจริงแล้วปัญหาทั้งหลายในโลกนี้ มันกระทบได้แค่ร่างกายเราเท่านั้น แต่มันจะกลายมาเป็นความทุกข์ที่เข้าถึงใจ เพราะเราไม่มีธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครองใจของตัวเอง

 

อยากจะพ้นทุกข์ ต้องพ้นจากตัณหาให้ได้

วิธีการ เรารู้แล้วว่าตัณหา ความอยากทำให้ใจเราเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นอยากจะพ้นทุกข์ก็ต้องพ้นจากตัณหาให้ได้ ตัณหา คือความอยาก อยากอะไร อยากให้มีความสุขที่ยังไม่มี อยากให้มันมีขึ้นมา ความสุขมันมีแล้วก็อยากให้มันอยู่ถาวร อยากให้ความทุกข์ไม่เกิด อยากให้ความทุกข์ที่เกิดแล้วมันดับไป หมดไป สิ้นไปอย่างรวดเร็ว ความอยากมีมากมาย แต่สรุปย่อลงมาเหลือนิดเดียว คืออยากมีความสุข อยากจะไม่ทุกข์ ความอยากห้ามได้ไหม จิตจะอยาก ห้ามไม่ได้ แต่เราสามารถศึกษาให้ลึกซึ้งลงไปได้อีก ความอยากมันเกิดได้เพราะความไม่รู้ ไม่รู้ความจริงของชีวิต ไม่รู้ความจริงของโลก สิ่งที่เรียกว่าโลก ก็คือรูปนาม กายใจเรานี่เอง รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย รวมกันเข้ามาแล้วเรียกว่า โลก โลกก็คือ รูปนาม

เพราะเราไม่รู้ความจริงของรูปธรรม นามธรรม เราก็เกิดความอยาก อยากให้รูปธรรม อยากให้นามธรรม มีแต่ความสุข อยากให้รูปธรรม อยากให้นามธรรม ไม่มีความทุกข์ พอมีความอยากเกิดขึ้น ใจมันจะเครียดขึ้นทันทีเลย เราไปสังเกตดูว่าจริงหรือไม่จริง ง่ายๆ เลย ทุกครั้งที่ใจเรามีความอยากเกิดขึ้น ไปดูสิว่าใจเราสุข หรือใจเราทุกข์ คนที่สติ สมาธิ ปัญญา ไม่พอ ก็จะเห็นว่าเวลามีความอยากเกิดขึ้น ยังไม่ทุกข์ ต้องไม่สมอยากถึงจะทุกข์ ถ้าสมอยากแล้วไม่ทุกข์ อันนี้มองช้าไป ในความเป็นจริงแล้วทันทีที่ใจเราอยาก ใจมันจะเกิดความเครียดขึ้นทันทีเลย มันทุกข์ทันทีที่อยาก จะสมอยาก หรือไม่สมอยากก็ทุกข์

ถ้าสมอยากก็สบายใจไปช่วงหนึ่ง แต่ตอนที่อยากมันทุกข์เรียบร้อยไปแล้ว อย่างซื้อลอตเตอรี่สักใบหนึ่ง ลอตเตอรี่ยังไม่ประกาศออกรางวัล อยากถูก ตรงที่ใจอยากถูกใจก็ทุกข์แล้ว พอถูก เรารู้สึกไม่เห็นจะทุกข์เลย ดีใจมีความสุข ดีใจเดี๋ยวเดียวเอง เดี๋ยวความทุกข์อันอื่นก็เข้ามาแทน ถ้าไม่ถูกก็ย่ำแย่คร่ำครวญ วันที่หวยออก เราสังเกตดูจะมีคนที่ดีใจอยู่สัก 1 – 2 เปอร์เซ็นต์ มีคนที่มาบ่นว่าไม่มีอะไรจะกินเยอะมากเลย เพราะเอาเงินไปซื้อหวยหมดแล้ว เพราะอยาก พออยากแล้วไม่สมอยาก ยิ่งทุกข์ยาวนานเลย ความจริงมันทุกข์ตั้งแต่เริ่มอยาก พอทุกข์ตรงที่เริ่มอยากขึ้นมา แล้วมันสมอยากขึ้นมา มันก็รู้สึกมีความสุขหน่อยหนึ่ง มันเป็นรางวัลที่มารเอามาล่อเรา เวลาเราสนองความอยากได้ มารจะโยนความสุขให้เรานิดๆ หน่อยๆ มันเหมือนคนฝึกหมา เวลาหมาเชื่อฟังคำสั่ง ก็โยนอาหารหมาให้หนึ่งชิ้น หมาก็ดีใจ ดีใจเสร็จแล้วคำสั่งใหม่มันก็มาทันทีเลย

 

ถ้าเป็นเราปฏิบัติ เราก็จะรู้เลยว่า ทันทีที่สนองความอยากเรื่องหนึ่ง ความอยากอันใหม่ก็มาทันทีเลย ตัวตัณหามันเป็นเจ้านายที่ลึกลับ ที่บงการชีวิตของเราตลอดเวลา มันเหมือนคนฝึกหมา หรือฝึกสัตว์ไปเล่นละคร เวลาเราตอบสนองมันได้ มันก็โยนเศษเนื้อมาให้เราชิ้นหนึ่ง แล้วมันก็สั่งงานใหม่ทันทีเลย ให้ไปทำอันนี้ต่อ ถ้าเราไม่ทำตามที่มันสั่ง มันก็ลงโทษ คือเวลาเกิดความอยากขึ้นมาแล้วสนองไม่ได้ รู้สึกทุกข์เยอะเลย อันนี้เป็นทุกข์ที่ตัณหามันลงโทษเรา ตัณหามันเป็นนายทาส เป็นเจ้านายที่ฉลาดแหลมคมที่สุดเลย มันปกครอง มันกดขี่พวกเรา โดยเราไม่รู้ตัว ว่าเราถูกตัณหาปกครอง ถูกตัณหากดขี่ เราไม่รู้สึก เรารู้สึกว่าเราเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครมาสั่งเราได้เลย กูใหญ่ กูแน่ กูหนึ่ง อยู่เสมอเลย ความจริงแล้วถูกตัณหานี้สั่ง สั่งให้ทำโน่น สั่งให้ทำนี่ตลอดเวลา

ความอยากมันมี 6 แบบ อยากเห็นรูป อยากเห็นรูปสวยๆ รูปที่ถูกใจ อยากไม่เห็นรูป อันนี้อยากได้มาบ้าง อยากให้รูปสวยๆ นั้นคงอยู่นานๆ บ้าง อยากให้รูปที่ไม่พอใจ หมดไปสิ้นไปเร็วๆ บ้าง นี่ความอยากชนิดที่หนึ่ง คือความอยากเกี่ยวกับรูป แยกย่อยออกไปได้ 3 แบบ อยากได้รูปอย่างนี้ อยากเห็นรูปอย่างนี้ อยากให้รูปที่ดีคงอยู่นานๆ อยากให้รูปที่ไม่ดีหมดไปสิ้นไป อย่างเราเห็นหน้าคนที่เราเกลียด เห็นศัตรู อยากให้คนนี้มันหมดไปสิ้นไป รูปอย่างนี้ไม่อยากได้

ตัณหาตัวที่สอง คือความอยากในเสียง มันมี 6 ตัว ตัณหา อยากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย ในธรรมารมณ์ที่ถูกอกถูกใจ มันอยากได้ ตอนที่ความอยากมันเกิด มันเกิดตามหลังการกระทบอารมณ์ ตาเห็นรูป เห็นรูปแล้ว โอ้ ไม่ใช่รูปที่เราอยากได้ ก็เกิดอยากให้รูปที่พอใจมันเกิดขึ้น อยากให้เสียงที่พอใจมันเกิดขึ้น อยากให้กลิ่นที่พอใจมันเกิดขึ้น อันนี้เรียกว่า กามตัณหา

พอสิ่งที่พอใจเกิดขึ้นแล้ว อยากให้มันอยู่นานๆ นี่เรียกว่า ภวตัณหา นี้กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่ไม่พอใจ ก็อยากให้มันหมดไปสิ้นไป เวลาเราจะเรียนรู้ถึงความอยาก สังเกตให้ดีความอยากมันอาศัยการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 6 ช่อง แต่ละช่องเกิดความอยากได้ 3 แบบ อยากให้มี อยากให้เป็นอยู่นานๆ อยากให้หมดไปสิ้นไป ก็จะเป็น 3 แต่ละช่องมี 3 รวมแล้วก็มีตัณหา 18 ตัว ที่เราจะเรียนด้วยตัวเอง ทำความรู้จักมันไป ฟังดูว่าเยอะ อย่าตกใจ ถึงมันจะมี 18 ตัว แต่มันก็เกิดทีละตัว ตัวไหนกำลังเกิดอยู่ รู้ทันตัวนั้น ไม่ต้องไปแสวงหาจะเอาตัวโน้น จะเอาตัวนี้ ตาเราเห็นรูป หูเราได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง เราเลือกไม่ได้ กระทบมันก็กระทบทีละช่อง พอกระทบแล้ว เวลาตัณหาเกิด แต่ละช่องมีตัณหาได้ 3 ตัว มันก็เกิดทีละตัว

 

เวลาเราภาวนา วิธีเรียนรู้มันง่ายๆ เรียน 3 ตัวก็พอ
มันอยากได้มา รู้สึก
มันอยากให้คงอยู่ รู้สึก
มันอยากให้หมดไปสิ้นไป รู้สึก
คอยรู้อยู่แค่นี้ก็พอแล้ว

 

เราก็รู้ตัวที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ อย่างเรานั่งอยู่เราคิดถึงสาวสวย ไปดูข่าวเขาประกวดนางงามจักรวาล ประเทศโน้นประเทศนี้ ใจเราคิดถึง นี่เป็นธรรมารมณ์ ใจมันคิด อยากเห็นตัวเป็นๆ อยากเห็นนางงามตัวเป็นๆ อะไรอย่างนี้ ของยังไม่มีอยากให้มี ถ้าเกิดเขามาเยี่ยมเมืองไทย ไปตามดูไปเห็นเขา อยากให้อยู่นานๆ อยากดูนานๆ มาอยู่บ้านเราได้ไหม จะได้ดูทั้งวันเลย อยากให้มันคงอยู่ หรืออยากดูของสวยของงาม ไปเจอของไม่สวยไม่งาม เมื่อไหร่มันจะไปสักที ไม่เห็นมันจะเข้าท่า มันเกิดทีละอย่าง เกิดอยากมี เกิดอยากให้มันเป็นอยู่ เกิดอยากให้มันหมดไป แล้วก็เกิดทีละช่อง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดทีละอย่างเท่านั้น

ฉะนั้นเวลาเราภาวนา วิธีเรียนรู้มันง่ายๆ ไม่ต้องตกใจว่ามีตั้ง 18 ตัว 18 ตัวนี้พูดแบบย่อๆ คนโบราณเขาแยกเอาไว้ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ตั้ง 108 ตัว เราไม่ต้องเรียนเยอะขนาดนั้น เราเรียน 3 ตัวก็พอ มันอยากได้มา รู้สึก มันอยากให้คงอยู่ รู้สึก มันอยากให้หมดไปสิ้นไป รู้สึก คอยรู้อยู่แค่นี้ก็พอแล้ว มันจะอยากได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรืออะไรก็ตามเถอะ แต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้น ตาเห็นรูปปุ๊บ อยากให้รูปนี้หายไปเร็วๆ มันเป็นรูปที่ไม่สวยไม่งาม อย่างเห็นขี้หมา จะเดินถนนเดินดีๆ ที่สวยที่งามอะไรอย่างนี้ อยู่ๆ ไปเจอกองขี้หมา ใจไม่ชอบ เวลาใจเราไม่ชอบ ขี้หมามันหายไปไหม ไม่หาย แต่ใจเราทุกข์โดยเปล่าประโยชน์แล้วเห็นไหม ฉะนั้นเราสังเกตที่ใจของเรา ใจเราอยากได้ เรารู้ทัน ใจเราอยากให้สิ่งนี้คงอยู่ เรารู้ทัน ใจอยากให้สิ่งนี้หายไป เรารู้ทัน

อย่างขณะนี้มีสถานการณ์โควิดระบาด เราไม่ได้อยากได้ เราอยากให้มันหมดไปสิ้นไปต่างหาก ดูยากไหมที่จะรู้ว่าใจเราตอนนี้ อยากให้โรคระบาดนี้มันหมดไปสิ้นไปเสียที ไม่เห็นจะยากเลย ถ้าสนใจที่จะดู คอยรู้อย่างนี้ รู้ปัจจุบันไปเรื่อยๆ ความจริงอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ความจริงไม่อยู่ในความคิดเฉยๆ หรอก ฉะนั้นเราคอยรู้ทัน มีปัจจุบัน อย่างมีโรคระบาด ไปคิดถึงโรคระบาดนี่ใจเราไม่ชอบ ใจเราอยากให้มันหมดไปสิ้นไป นี้เรียกว่า วิภวตัณหา อยากให้มันหมดไป ภพอันนี้ ภพอันนี้ไม่ดี ภพของการติดโควิด บางช่วงเราไปฟังเพลง แหม เพราะจังเลย รู้สึกเพลงนี้สั้นจังเลย ทำไมน่าจะยาวๆ กว่านี้ คอนเสิร์ตนี้น่าจะยาวๆ กว่านี้ อยากให้มันยืดเยื้อ อยากให้มันยาวนาน เรียกว่า ภวตัณหา อยากให้มันคงอยู่นานๆ เป็นภวตัณหา

หรือเราอยากดูคอนเสิร์ต มีข่าวว่าจะมีคอนเสิร์ตเมื่อนั้นเมื่อนี้ มันยังไม่มี อยากให้มันมีเร็วๆ ของที่ยังไม่มีอยากให้มี เรียกว่า กามตัณหา อยากจะได้ฟังอันนี้เร็วๆ ตอนฟังแหมคอนเสิร์ตนี้จัดดี อยากให้มันเล่นยาวๆ พอไปฟังจริงไม่ได้เรื่องเลย อยากให้มันจบเร็วๆ ความอยากมันก็แค่นี้ จะยากอะไรในการที่จะเรียนรู้ตัวเอง พอความอยากอะไรเกิดขึ้น สังเกตเพิ่มอีกนิดเดียว เวลาความอยากเกิดขึ้น มันสุขหรือมันทุกข์ สังเกตตัวเองบ่อยๆ ต่อไปมันจะรู้เลย ความอยากเกิดขึ้นเมื่อไร ความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อนั้น ความอยากนั้นมันเป็นความปรุงแต่งของจิตเราเอง จิตมันปรุงไปด้วยความไม่ฉลาด ด้วยความโง่ หรือตัวอวิชชานั่นเอง

 

ตัณหาหรือตัวความอยากไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

เราไม่รู้ความจริงของโลก ไม่รู้ความจริงของชีวิต ไม่รู้ความจริงของกายของใจ เราก็มีความอยากนานาชนิดเกิดขึ้น พอมีความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์ก็เกิดขึ้น ฉะนั้นเรียนรู้อยู่แค่นี้ล่ะ ซ้ำแล้วซ้ำอีกไปเรื่อยๆ ต่อไปจิตค่อยๆ ฉลาดขึ้น เวลาความอยากเกิดปุ๊บ รู้ปั๊บ จิตก็ไม่ถูกความอยากครอบงำ แป๊บเดียวมันก็ดับไปแล้ว ตัณหาหรือตัวความอยากไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เปลี่ยนสถานะจากพระโพธิสัตว์สิทธัตถะ มาเป็นพระพุทธเจ้า ตรงนั้นสิ่งแรกที่ท่านอุทานขึ้นมา ท่านอุทานทักตัณหา “ตัณหาเป็นนายช่างผู้สร้างเรือน” เรือนนี้ก็คือภพนั่นเอง ตัณหาพาเราสร้างภพ สร้างชาติมาตั้งเนิ่นนาน บอก “เรารู้จักเจ้าแล้ว ต่อไปนี้เจ้าสร้างภพให้เรา สร้างเรือนให้เราอีกไม่ได้แล้ว” ตัณหามันเรื่องใหญ่ ตอนตรัสรู้พระพุทธเจ้าทักทายตัณหาเลย ประเภทบ๊ายบาย ต่อไปนี้แกมาหลอกฉันไม่ได้อีกแล้ว จิตท่านพ้นจากตัณหา จิตท่านก็ถึงพระนิพพาน

ฉะนั้น การที่เราจะคอยรู้ตัณหาที่เกิดขึ้นในจิตในใจของเรา ไม่ใช่เรื่องกระจอกงอกง่อย เพราะตัณหาเป็นเจ้านายที่พระพุทธเจ้าท่านอุทาน “ตัณหาเป็นนายช่างผู้สร้างภพ สร้างเรือน ตอนนี้มันสร้างเรือนใหม่ให้เราไม่ได้แล้ว” เรือนเก่าคือภพที่เคยมีเคยเป็นอยู่ ถูกทำลายไปแล้ว ถูกปล่อยวางไปแล้ว แล้วท่านเข้าถึงความเป็นอิสระจากตัณหา ฉะนั้นพวกเรา ตราบใดที่ยังไม่เป็นอิสระจากตัณหา เราก็ต้องทุกข์ไปก่อน ค่อยๆ สังเกตไป ความอยากเกิดแล้วมันก็ทุกข์ ดูไป ความอยากเป็นความไร้เดียงสาของจิต ไปสังเกตดูสิ่งที่อยากนั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทั้งนั้น ถ้ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้แน่นอนจะไม่อยาก เพราะมันเฉยๆ ไม่จำเป็นต้องอยาก ของที่อยากล้วนแต่เป็นของที่เป็นไปไม่ได้ อยากไม่แก่เป็นได้ไหม เกิดวันหนึ่งก็แก่วันหนึ่ง

อยากไม่เจ็บเป็นได้ไหม อยากไม่ตายเป็นได้ไหม อยากเจอแต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่ดีๆ เป็นได้ไหม อยากให้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่ดีๆ อยู่กับเราตลอดไป เป็นไปได้ไหม มันล้วนแต่ของเป็นไปไม่ได้ อยากให้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ไม่ดี มันจบไปทันทีทันใด อย่างอยากให้โควิดมันหมดไปจากโลกในทันทีทันใด มันเป็นไปได้ไหม มันก็เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นความอยากทั้งหลาย มันเป็นความไร้เดียงสา มันอยากในสิ่งซึ่งไม่มีจริง ถ้าของที่มันมีจริงจะไม่อยาก อย่างสมมติเราไปจีบสาวคนหนึ่งสำเร็จแล้ว แต่งงานมาอยู่ในบ้านเรา เราจะอยากจีบอีกไหม ก็ไม่อยากแล้ว เฉยๆ แล้ว เขาเรียกหมูในอวย เฉยๆ แล้วอยู่กันไปอย่างนั้นล่ะ จนกระทั่งเคยชิน เคยชินถึงขนาดวันนี้ภรรยาไปทำผมใหม่ ยังไม่รู้เลย มองไม่เห็น มันเคยชิน มันก็ไม่มีความอยาก ยอมรับแล้วมันเป็นอย่างนี้ล่ะ

 

ฉะนั้นของที่เราอยากล้วนแต่ของที่มันไม่มี ของที่มันไม่เป็น อยากได้ของที่ไม่มีไม่เป็น มันก็ทุกข์แน่นอน ถ้ามันมีมันเป็นแล้วมันก็ไม่อยาก อย่างเรารู้ความจริงของกาย กายนี้มันมีความจริงว่าอย่างไร กายนี้มันต้องแก่ มันต้องเจ็บ มันต้องตาย นี่ความจริง ถ้าเรารู้ความจริงของร่างกายแล้ว เราก็จะหมดความอยากที่จะให้กายนี้เป็นหนุ่ม เป็นสาวตลอดกาล ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายอะไรอย่างนี้ ความอยากอันนี้ไม่เกิด เราก็ไม่มีความทุกข์ แก่ขึ้นมาก็ไม่ทุกข์ มันไม่ใช่เราแก่ ร่างกายมันแก่ เป็นตามธรรมชาติ เจ็บขึ้นมาก็ไม่ทุกข์ ร่างกายมันเจ็บไม่ใช่เราเจ็บ มันจะตาย ร่างกายมันจะตายไม่ใช่เราตาย เป็นธรรมชาติ มันเป็นของโลกไม่ใช่ของเรา พอใจมันมีความฉลาด มันรู้ความจริงของกาย รู้ความจริงของใจได้ ตัณหามันจะไม่เกิด ที่มันเกิดเพราะว่าเราไม่รู้ความจริง

พอไม่รู้ความจริงเราก็อยากได้สิ่งซึ่งไม่มีจริง อยากสาวตลอด อยากสวยตลอด อยากรวยตลอดอะไรอย่างนี้ คำว่า ตลอดๆ ในโลกนี้ไม่มี ธรรมะประจำโลก เรียกโลกธรรม 8 ประการ มีผลประโยชน์ก็เสื่อมจากผลประโยชน์ โบราณเรียก มีลาภ เสื่อมลาภ ที่จริงคือได้ผลประโยชน์มาก็เสียผลประโยชน์ไปได้ เป็นของประจำกัน มีได้ก็มีเสีย มียศมีตำแหน่งใช่ไหม ถึงวันหนึ่งยศตำแหน่งก็หมดไปสิ้นไป มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีนินทา แล้วก็มีสรรเสริญ เป็นของประจำโลก ในโลกนี้ไม่มีใครหรอกที่ได้รับคำสรรเสริญอย่างเดียว คนที่ไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก ทุกคนถูกหมด ไม่ว่าจะดีแค่ไหน มันก็มีคนนินทาได้ อย่างสมมติว่าเรารักษาศีลอย่างดีเลย เราดูแล้วอย่างนี้ดี รักษาศีล มันก็มีคนนินทาเราจนได้ นี่มันแกล้งรักษา มันเอาหน้า มันหลอกลวงประชาชนทำเป็นถือศีลอะไรอย่างนี้ หาเรื่องว่าจนได้

สมมติเราสวยมาก คนมันก็หาเรื่องติได้ ตาซ้ายโตกว่าตาขวานิดหนึ่งอะไรอย่างนี้ หาเรื่องนินทาจนได้ ดีเกินไปมันก็นินทา เลวมันก็นินทา มันก็เรื่องปกติ คนดีๆ ก็โดนนินทา พระพุทธเจ้ายังโดนนินทาเลย นับประสาอะไรกับเราจะไม่โดน ธรรมะของโลก มีลาภ เสื่อมลาภ หรือได้รับผลประโยชน์กับการเสียผลประโยชน์ เป็นของคู่กัน มียศ มีตำแหน่ง มีหน้าที่การงานที่ดี วันหนึ่งมันก็หมดไปสิ้นไป อย่างเคยเป็นนายกรัฐมนตรี อีกวันหนึ่งอาจจะไม่ได้เป็นนายกฯ แล้ว มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีนินทา ก็มีสรรเสริญ เป็นของคู่กัน มีสุข มีทุกข์ เป็นของคู่กัน เพราะฉะนั้นธรรมะประจำโลก ไม่ใช่ธรรมะเดี่ยวๆ มันมี 2 ด้านที่อยู่คู่กัน มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ เมื่อธรรมชาติของโลก ธรรมะประจำโลกมันเป็นอย่างนี้ เราอยากให้มันไม่เป็นอย่างนี้ มันจะทุกข์ แต่ถ้าเราเข้าใจโลก มันต้องเป็นอย่างนี้ ความอยากมันก็ไม่เกิดขึ้น

 

ธรรมะมีหลายระดับ ธรรมะอยู่กับโลกจะทำให้เราทุกข์น้อย ธรรมะฝ่ายโลกุตตระจะทำให้เราพ้นทุกข์

 

ฉะนั้นถ้าเรารู้ความจริง เราเข้าใจความจริง ถ้าจะอยู่กับโลก ธรรมะประจำโลกก็คือโลกธรรม 8 ข้อ เราเข้าใจโลกธรรม 8 ข้อ ความทุกข์ก็จะหายไปจากใจเราเยอะแยะเลย ถ้าเราจะอยากพ้นทุกข์ อยากจะถึงพระนิพพาน เราก็เข้าใจธรรมะที่ประณีตลึกซึ้งมากกว่าโลกธรรมอีก เราเข้าใจลึกซึ้งลงไปถึงรูปนามขันธ์ 5 นี้ พอเข้าใจความจริงของมัน รูปมันเป็นอย่างไร ความจริงของรูป รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นามมีความจริงไหม มี ความจริงของนามธรรม ก็คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอเรารู้ความจริงได้ ใจเรายอมรับได้ รูปธรรม นามธรรม ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็ไม่ได้อยากให้มันเที่ยง เราก็ไม่ได้อยากให้มันมีแต่ความสุข เราไม่ได้อยากที่จะควบคุมบังคับมันเอาไว้ ตามใจเราได้ตลอดกาล ความอยากก็ไม่เกิด ความทุกข์ก็ไม่เกิด

ถ้าอยู่กับโลกก็เข้าใจโลกธรรม มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ เข้าใจว่าโลกมันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นคนมานินทาว่าร้าย ใส่ร้ายป้ายสีอะไร เราก็ไม่หวั่นไหว เฉยๆ เขามีปากเขาก็พูดไป แต่ถ้าพูดมากนักก็แจ้งความดำเนินคดีไปทางโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารบ้านเมือง เป็นนายกฯเป็นอะไร คนมันหาเรื่องด่าได้ตลอด มีแต่เรื่องว่าตลอด เขาจะไปชมอีกทีตอนหมดตำแหน่งไปแล้ว แล้วมีนายกฯใหม่ที่เลวกว่านี้ อย่างชัดเจน เขาจะคิดถึง โอ๊ย สมัยนายกฯนั้นเขาดีนะอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นโลกนี้เป็นอย่างนี้ พอเราเข้าใจความจริงแล้ว ถูกวิพากษ์วิจารณ์แบบใส่ร้ายป้ายสีอะไร เรื่องธรรมดาของโลก โลกมันเป็นอย่างนี้ ใจก็ไม่กลุ้มใจ ทำมาหากิน หรือทำงานของเราได้อย่างจิตใจมั่นคง ไม่คลอนแคลนหมดกำลังใจ บางคนถูกด่ามากๆ วิจารณ์มากๆ หมดกำลังใจ ท้อแท้ ถ้าเข้าใจโลกเราก็อยู่กับโลกได้ ถ้าเข้าใจถึงรูปธรรม นามธรรมได้ เราก็จะพ้นโลกได้

ธรรมะมันมีตั้ง 2 ระดับ ระดับที่อยู่กับโลก ก็เข้าใจความจริงของโลก คือโลกธรรมทั้งหลาย ถ้าระดับพ้นโลก ก็เข้าใจความจริงของรูปธรรม นามธรรม เข้าใจตัวนี้แล้วก็จะพ้นโลก โลกุตตระ สิ่งที่เรียกว่าเหนือโลก พ้นโลก เรียกโลกุตตระ ไม่ใช่ทุกคนจะไปโลกุตตระในชีวิตนี้ เราต้องสะสม บางคนเขาสะสมมามากพอแล้ว เขาก็ถึงโลกุตตระในชีวิตนี้ ถ้าพวกเราส่วนมากอินทรีย์มันยังอ่อน เรารู้จักโลกให้ดี รู้จักโลก โลกธรรม 8 ประการ ธรรมะประจำโลก ไม่มีใครหนีพ้น เพราะหนีมันไม่พ้นก็อยู่กับมัน ทำความเข้าใจมัน มันเกิดขึ้นก็ไม่หลงยินดี ไม่หลงยินร้าย โลกธรรม 8 มันมี 4 คู่ใช่ไหม มีได้รับผลประโยชน์กับเสียผลประโยชน์นี่คู่กัน ถ้าเราเข้าใจความจริงของมัน ได้ผลประโยชน์มาก ก็ไม่หลงลำพอง สักวันหนึ่งก็เสียได้ ได้ง่ายก็เสียง่าย ยิ่งทุกวันนี้หากินกันแปลกๆ เก็งกำไรตัวโน้นตัวนี้ ซึ่งหลวงพ่อฟังแล้วยังไม่รู้เรื่องเลย พูดเรื่องอะไรก็ไม่รู้ หากินอะไรกันแปลกๆ บิตคอยน์อะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้จักหรอก เก็งเก่งๆ โหได้ๆๆ ถึงคราวเสียนะ ย่ำแย่

อย่างหลวงพ่อรู้จักรุ่นโบราณ รุ่นแชร์ลูกโซ่ แชร์ชม้อยอะไรอย่างนี้ สมัยก่อนดัง คุณชม้อยเขาก็ดัง หลอกคนได้เยอะ ให้ผลตอบแทนเยอะ คนก็มาเล่นๆ นี่มีลาภมาก ลำพอง เงินใช้เยอะแยะ ไม่รู้จักหมดหรอก เดี๋ยวไปซื้อแชร์ต่ออีก พอเสียถึงคราวเสีย โอดครวญทำไมรัฐบาลไม่ดูแล อ้าว ตอนได้เงินไม่เห็นมาบอกรัฐบาลเลย ไม่ยอมเสียภาษีด้วยซ้ำไป พอตอนเสียเงินจะบอกให้รัฐบาลชดใช้อะไรอย่างนี้ ก็เพี้ยนแล้ว พูดเอาแต่ได้ ทุกวันนี้ก็คนอย่างนี้มันก็ยังมีเยอะแยะ เวลาจะเสียภาษีไม่ยอมเสีย เลี่ยงได้ก็เลี่ยง เวลาจะเรียกร้องอะไรบอกนี่ภาษีฉัน ฉันก็ไม่ค่อยเสียเท่าไรหรอก

 

ถ้าเราเข้าใจ โลกมันเป็นอย่างนี้ โลกมันก็ยุ่งของมันอย่างนี้ ถ้าเข้าใจแล้วก็ไม่ทุกข์กับมัน มีผลประโยชน์ก็โอเคช่วงนี้มีผลประโยชน์ อย่าประมาท ต้องมีชีวิตอย่างไม่ประมาท ช่วงนี้สูญเสีย อย่างทำธุรกิจอยู่เปิดอาบอบนวด ตอนนี้ถูกสั่งปิดหมดเลย ไม่ได้อาบอบนวดแล้ว ไม่มีผลประโยชน์ เสียผลประโยชน์ ก็ถือว่ามันธรรมดา เคยได้มันก็ต้องเสียได้ ถ้าเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เราจะสามารถอยู่กับโลกได้โดยที่ทุกข์น้อยๆ แต่ไม่ถึงขนาดไม่ทุกข์เลย ธรรมะประจำโลก ถ้าเราทำได้เราก็จะทุกข์น้อยๆ แต่ถ้าเรารู้ความจริงของรูปธรรม นามธรรม ถึงขีดสุดเราจะไม่ทุกข์เลย ความทุกข์จะอยู่ที่ร่างกายเท่านั้น เข้ามาไม่ถึงจิตใจ ฉะนั้นธรรมะมีหลายระดับ ธรรมะอยู่กับโลกจะทำให้เราทุกข์น้อย ธรรมะฝ่ายโลกุตตระจะทำให้เราพ้นทุกข์

คนส่วนใหญ่ยังต้องอยู่กับโลก ก็เรียนรู้ความจริงของโลกไป 8 ประการ เรียนรู้ไปว่าจริงไม่จริง มีสรรเสริญแล้วมีนินทา เป็นของคู่กัน เป็นธรรมชาติจริงหรือไม่จริง ชีวิตนี้มีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง จริงหรือไม่จริง ลองไปดู มีใครไหมทุกข์ตลอดกาล ไม่มีหรอก อย่างคนหนึ่งสมมติเขาเป็นมะเร็ง มันเจ็บปวดมากเลย เขาบอกเจ็บตลอดเวลา ถ้าสติเขาดีๆ เขาจะเห็นเลย ไม่มีใครเจ็บตลอดเวลาหรอก บางขณะมันก็ไม่ได้คิดถึงความเจ็บปวด มันไปคิดถึงเรื่องอื่นปุ๊บ ความเจ็บปวดทางร่างกายมันไม่รู้สึกเลย ฉะนั้นจริงๆ กระทั่งความเจ็บปวดในร่างกายก็เกิดดับๆๆๆ ตลอดเวลา ใจไม่ชอบ อยากให้มันหมดไปสิ้นไป แต่เหตุของมันยังอยู่ มันก็ยังต้องทุกข์อยู่ ความอยากนั้นก็เลยกลายเป็นเรื่องไร้เดียงสา

ค่อยๆ ฝึก เรียนรู้ความจริงของโลก คือโลกธรรม 8 เราจะอยู่กับโลกแบบทุกข์น้อยๆ เรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ ถึงวันหนึ่งจิตเราจะเข้าสู่โลกุตรธรรม จิตมันจะพ้นทุกข์ ทุกข์มันอยู่ได้แค่ร่างกาย จิตมันไม่ทุกข์ไปด้วยหรอก วันนี้เอาเท่านี้ก็แล้วกัน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
29 พฤษภาคม 2564