สู่ความหลุดพ้นด้วยโพชฌงค์ 7

วันนี้วิสาขบูชาเราก็รู้อยู่แล้ว สำคัญอย่างไรก็รู้อยู่แล้ว ถ้าจะว่าไปธรรมะอะไรๆ ก็รู้กันอยู่แล้ว เรียนกันมาเยอะแล้ว เหลือแต่ภาวนาปฏิบัติเอา

วันนี้เป็นวันที่เตือนพวกเราให้คิดถึงพระพุทธเจ้า วันที่ท่านเกิดมาในโลกนี้ ในทางร่างกายวันเกิดของท่าน เป็นวันตรัสรู้ ตรัสรู้นี่ท่านเข้าถึงพระนิพพานชนิดหนึ่ง นิพพานมี 2 อย่าง ตอนที่ท่านบรรลุพระอรหันต์ ธาตุขันธ์ของท่านยังอยู่ เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน แล้ววันที่ท่านตาย ปรินิพพาน ก็เข้าถึงสภาวะนิพพาน ที่ไม่มีขันธ์เหลืออยู่ เรียก อนุปาทิเสสนิพพาน

หลวงพ่อเห็นพระคติธรรมของสมเด็จพระสังฆราชฯ ที่ออกมาเมื่อ 1 – 2 วันนี้ น่าฟังมาก พวกเราคงอ่านกันแล้ว ถ้ายังไม่อ่านก็ไปอ่านเสีย ท่านพูดถึงพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะเกิด บอกพอเกิดปุ๊บก็เดินไป 7 ก้าว แล้วก็ประกาศความห้าวหาญ นี่เป็นชาติสุดท้ายของท่านแล้ว

หลวงพ่อเคยบอกพวกเราเรื่อยๆ ว่า เวลาอ่านเรื่องเหล่านี้ ต้องมองให้ทะลุเข้าไปเห็นธรรมะให้ได้ มีไหมเด็กที่เกิดปุ๊บเดินได้ปั๊บ ไม่มีหรอก กระดูกยังอ่อน กล้ามเนื้อก็ยังไม่แข็งแรงเดินไม่ได้หรอก การเดิน 7 ก้าว สมเด็จพระสังฆราชฯ ท่านอธิบายว่าหมายถึงโพชฌงค์ 7 มีโพชฌงค์ 7 ก็จะก้าวไปสู่ความตรัสรู้ บรรลุพระอรหันต์ โพชฌงค์ 7 ท่านก็ระบุด้วยให้เริ่มจากสติ สติสัมโพชฌงค์ ฉะนั้นธรรมะที่ท่านสอน ท่านอธิบายน่าฟังสมเหตุสมผล แต่ในส่วนของร่างกายท่าน เด็กเดินไม่ได้หรอก แต่ในด้านจิตใจนี้ไม่แน่

หลวงพ่อเคยเจอคนๆ หนึ่ง เขาจำได้ตั้งแต่เขาอยู่ในท้อง บอกตอนอยู่ในท้องรู้สึกอึดอัด อยู่ในที่แคบๆ จิตใจมันก็ฝ่อเลย ไม่ซ่า ตอนที่คลอดออกมาก็จำได้ พอเห็นแสงสว่างแวบแรกนี่ตกใจกลัว ร้องเลย พอพยาบาลเขาดูแลทำความสะอาด เอาผ้ามาห่มให้คลุมให้ รู้สึกปลอดภัย รู้สึกมั่นคงขึ้นมา รู้สึกมานะอัตตาก็เกิดขึ้น รู้สึกนี่ล่ะกู นี่ล่ะตัวกู

คนที่ไม่ได้มีบารมีอย่างเจ้าชายสิทธัตถะ ระลึกได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง ในตำราเขาบอก เจ้าชายสิทธัตถะตอนยังเป็นสันดุสิต (เทพบุตร) อยู่ เทวดาลงมาจุติ จุติอยู่ในครรภ์นี้ด้วยความรู้สึกตัว ฟังแล้วเป็นนิยายเลย แต่ก็มีคนทำได้จริงๆ คนยุคเรานี่ล่ะ เขาระลึกได้ ไม่ใช่หลวงพ่อนะ หลวงพ่อระลึกไม่ได้หรอก เรื่องเมื่อวานยังระลึกไม่ค่อยจะได้เลย อย่าว่าแต่ตอนอยู่ในท้องเลย จิตซึ่งฝึกอบรมมามาก สติสัมปชัญญะแข็งแรง ระลึกได้ เพราะฉะนั้นตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะเกิดขึ้นมา การที่จิตท่านจะอุทานว่า นี่เป็นชาติสุดท้ายอะไรนี่ ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร ส่วนเรื่องเดินอะไรนี่ สมเด็จพระสังฆราชฯ ท่านอธิบายไว้น่าฟังแล้ว การเดินไปสู่ความหลุดพ้น เดินในเส้นทางของโพชฌงค์ 7

 

โพชฌงค์ 7

โพชฌงค์ 7 เริ่มตั้งแต่สติสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์ คืออะไร คือสติที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น ไม่ใช่สติเพื่ออยู่กับโลก คนในโลกบอกกินเหล้าขาดสติ ฉะนั้นไม่กินเหล้าแสดงว่ามีสติอย่างนี้ สติอย่างโลกๆ ไม่ใช่สติเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นอะไรหรอก เป็นเครื่องมืออยู่กับโลก อย่างเรามีสติ มีสมาธิในการทำงาน แล้วก็อยู่กับโลก สติที่จะหลุดจากโลก พ้นจากโลก คือสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน คือสติระลึกรู้กาย ระลึกรู้จิตใจของตัวเอง ที่พระสังฆราชฯ ท่านเขียนไว้น่าฟังอยู่ ท่านให้รู้พวกความปรุงแต่งของจิต ท่านบอกให้มีสติรู้ความปรุงแต่งของจิต กับความคิดนึกทั้งหลายอะไรนี่ ให้มีสติรู้ตัวนี้ ท่านเจาะเข้ามาที่จิตเลย ท่านไม่ได้พูดเรื่องกาย เท่าที่หลวงพ่ออ่าน แต่จุดสำคัญเลยคืองานของจิต

ฉะนั้นเรามีสติ เรารู้เท่าทันความปรุงแต่งของจิตไป หรือจิตมันคิดนึกปรุงแต่งอะไร มีสติรู้ ความปรุงแต่งของจิตมี 3 อย่าง คือปรุงฝ่ายชั่ว ปรุงบาปอกุศล ปรุงที่เป็นกุศล สภาวะที่เป็นกุศล และก็ปรุงแต่งความว่าง คิดว่าถ้าไม่ต้องกระทบอารมณ์ มันจะดีมีความสุข ก็หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ ปรุงแต่งการไม่กระทบอารมณ์ ก็คือการเข้าอรูปฌานนั่นเอง ฝึกเข้าอรูปฌาน ก็เป็นความปรุงแต่งชนิดที่ 3 เรียกว่าอะไร ปุญญาภิสังขาร ปรุงดี อปุญญาภิสังขาร อันนี้เรียก อเนญชาภิสังขาร ความปรุงแต่ง 3 ชนิดนี้ มันเวียนอยู่ในจิตใจของเราตลอดเวลา ให้เรามีสติรู้เท่าทันความปรุงแต่ง 3 ชนิดนี้ในใจเรา จิตมันปรุงสภาวะที่เป็นบุญเป็นกุศลอะไรขึ้นมา มีสติรู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันมันก็จะเกิดความยินดียินร้าย ที่มันปรุงดี เราก็ยินดีพอใจ จิตเราเป็นบุญ บางทีจิตเราปรุงขึ้นมา เราถือศีลได้ดีเลย เราไม่ขาดสติ เราไปทำผิดศีลอะไรนี้ เสร็จแล้วก็รู้ไม่ทันจิตใจตัวเอง

รักษาศีลได้ดี ก็เกิดมานะอัตตาลำพองขึ้นมา กูเหนือคนอื่น อย่างนี้เรียกว่ายังภาวนาไม่เป็น ถ้าจะภาวนาเป็น จิตมันปรุงดีขึ้นมารู้ว่าปรุงดี จิตมันยินดีพอใจที่มันปรุงดี รู้ว่ายินดีพอใจ หรืออปุญญาภิสังขารเกิดขึ้น จิตมันปรุงสิ่งซึ่งไม่เป็นบุญขึ้นมา ให้เรามีสติรู้ทัน ตอนนี้มันปรุงโลภ ปรุงโกรธ ปรุงหลง ปรุงฟุ้งซ่าน ปรุงหดหู่อะไรขึ้นมา มีสติรู้ทันเข้าไป แล้วพอเราเห็นจิตมันปรุงอกุศล พวกเราพวกเข้าวัดนี่ พอเห็นจิตปรุงอกุศล มันไม่พอใจ ไม่ชอบเลย จิตไม่เป็นกลางแล้ว จิตไม่ชอบรู้ว่าไม่ชอบ รู้เข้าไปอีก รู้ความปรุงแต่งที่เกิดขึ้น แล้วก็รู้ปฏิกิริยาของจิตที่ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้างนี่ล่ะ รู้เข้าไปเรื่อยๆ แล้วการที่เราคอยรู้ความปรุงแต่งพวกนี้ ต่อไปปัญญามันจะเกิดเองล่ะ จะเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทั้งดีทั้งชั่ว

ส่วนอเนญชาภิสังขาร พยายามจะไม่ปรุง พยายามไม่ปรุงนี้ตามตำราอธิบายไว้ด้วยอรูปฌาน แต่ถ้าเราเข้าอรูปฌานไม่เป็น เราสังเกตให้ดี ตรงที่เราภาวนาแล้วเราพยายามจะไม่ให้จิตปรุงแต่งนั้น พยายามให้จิตนิ่ง จิตว่างนั้น อันนี้ก็อนุโลมเข้าไปอยู่ในอเนญชาภิสังขาร พยายามปรุงไม่ให้มันคิดนึกปรุงแต่ง ให้มันหยุดนิ่ง ให้มันว่างๆ นี่ก็ความปรุงแต่ง ปรุงว่างๆ ปรุงนิ่งๆ ปรุงความไม่มีอะไร ส่วนใหญ่พวกที่ทำอย่างนี้ก็คือ พวกนักปฏิบัติ คนที่ไม่ได้ปฏิบัติก็มีแต่ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งฝ่ายที่เป็นบุญ ปรุงแต่งฝ่ายที่ไม่เป็นบุญ นี้คนทั่วๆ ไป นักปฏิบัติก็พยายามปรุงชนิดที่สามให้มันเหนือชาวบ้านเขา คือพยายามจะไม่ปรุง

วิธีไม่ปรุงก็คือ หลีกเลี่ยงการกระทบผัสสะ ไม่รับรู้อะไรข้างนอก ถ้าหลีกเลี่ยงเก่งจริงๆ จนกระทั่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มีเลย มันดับไป อันนั้นเข้าอรูปฌาน หนีความปรุงแต่งไป ไปปรุงแต่งสภาวะที่ละเอียดขึ้นมาแทน ท่านสอนบอกว่าให้เรามีสติ รู้เท่าทันความปรุงแต่งของจิตไป ความปรุงแต่งก็มี 3 แบบนี้ คนทั่วไปก็มี 2 แบบ ปรุงบุญ ปรุงไม่เป็นบุญ ของเรานักปฏิบัติมันก็มีปรุงว่างๆ อีกตัวหนึ่ง ตัวนี้ก็รู้ทันเข้าไป อย่างพอเริ่มนั่งสมาธิก็น้อมใจให้ว่างๆ อะไรอย่างนี้ นี้กำลังปรุงอยู่ พอเรารู้เท่าทัน รู้ไปเรื่อยๆ อย่าขี้เกียจ มีเป้าหมายที่ชัดเจน จิตมันปรุงบุญบ้าง ปรุงบาปบ้าง เราจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน พยายามมีสติ พยายามสังเกต พยายามเรียนรู้ไป

ทันทีที่เรามีสติรู้เท่าทันจิตใจของเรา บาปอกุศลที่มีอยู่มันจะดับ บาปอกุศลใหม่มันก็ไม่มี ค่อยๆ เรียนไป กุศลที่ยังไม่มีก็มี กุศลที่มีแล้วก็เจริญขึ้น ฉะนั้นให้เรามีสติ รู้เท่าทันความปรุงแต่งของจิตไป ตัวนี้เรียกว่า ธัมมวิจยะ เราเรียนรู้ธรรมะที่เกิดขึ้นในจิตใจของตัวเอง เป็นโพชฌงค์ตัวที่สอง พอเราสามารถคอยรู้ความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในจิตในใจของเราได้เนืองๆ ไป บาปอกุศลที่มีมันจะลดลง ดับไป มันจะไม่เกิดอีกในขณะที่มีสติ กุศลที่ยังไม่เกิดก็จะเกิด กุศลที่เกิดแล้วก็จะเกิดมากขึ้นๆ รู้อย่างนี้เรื่อยๆ ตัวนี้เรียกว่าเรามี วิริยะ

โพชฌงค์ 7 เขาเดินกันอย่างนี้ เริ่มจากมีสติ รู้เท่าทันความปรุงแต่งของจิตใจไป การที่เราพากเพียรรู้เท่าทันความปรุงแต่งของจิตใจนั้น เป็นการที่เราให้ปัญญากับจิต พาจิตมันเรียนรู้ความจริง ก็จะเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อกุศลก็จะดับ กุศลก็จะงอกงาม ศีล สมาธิ ปัญญาก็จะดี

เห็นครั้งเดียว 2 ครั้งไม่พอ ต้องเห็นบ่อยๆ เห็นเรื่อยๆ ไป มีความเพียรคอยรู้ คอยดูเรื่อยๆ ไป จิตมันจะเกิดปีติขึ้นมา ปีตินี้เป็นความสุขที่ไม่เจือด้วยอามิส พูดภาษาพระคือมันเป็นความลิงโลดของใจ ที่ไม่ได้เกิดจากการที่จิตไปกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย ตัวรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลายเรียกว่าอามิส ปีติ เป็นความลิงโลดของใจที่ไม่เจือด้วยอามิส มันเกิดปีติขึ้นมา เป็นธรรมปีติอะไรอย่างนี้ บางทีน้ำหูน้ำตาท่วม ก็ไม่ห้ามมันหรอก บางทีจิตใจมันต่อด้วยความสุขมหาศาลเลย มีความสุขเกิดขึ้น ถัดจากปีติไป ปีติมันยังส่ายๆ ยังลิงโลด รู้ทันมันเข้าไปอีก มันก็คือความปรุงแต่งฝ่ายดีอันหนึ่ง ปีติในธรรมะ ก็เป็นความปรุงแต่งฝ่ายดี

พอเรารู้ทันปีติมันก็ค่อยๆ สงบระงับลง เรียกว่า ปัทสัทธิ จิตมันค่อยๆ สงบระงับความหวือหวา มันคล้ายๆ เราไปทำอะไรอย่างหนึ่งที่ยากๆ ทำได้จิตใจก็จะมีปีติหวือหวาอยู่ช่วงหนึ่ง อย่างเราชอบสาวคนหนึ่งมากเลย เราไปจีบเขา พอเขาโอเคยอมคบกับเราแล้ว ยอมชอบ ยอมคบ จิตมันก็มีปีติ เราก็ดูปีติไปเรื่อย ในที่สุดมันก็ค่อยๆ สงบลง ค่อยๆ สงบระงับ เรียกว่า ปัทสัทธิ แล้วสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิตจะเกิดขึ้น ถ้าจิตยังปีติ ยังโคลงเคลงอยู่ ความตั้งมั่นยังไม่มีหรอก เพราะมันยังแกว่ง ถ้ามีความสุขเกิดขึ้นเรารู้ทันเข้าไปอีก ถ้ายังยินดีพอใจเพลิดเพลินในความสุขนั้น จิตก็ยังไม่ตั้งมั่น ฉะนั้นตรงที่ตั้งมั่นคือตัวสมาธิ ตั้งมั่นอย่างเดียวไม่พอ เราก็มีสติรู้กาย รู้ใจ รู้ความปรุงแต่งอะไรทั้งหลายทั้งปวงไป ยินดีรู้ทัน ยินร้ายรู้ทัน ในที่สุดจิตก็เข้าถึงความเป็นกลาง คืออุเบกขา

 

 

ที่หลวงพ่อสอนพวกเราเรื่อยๆ มีประโยคอยู่ประโยคหนึ่ง ลูกศิษย์หลวงพ่อควรจะจำได้ “ให้พวกเรามีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” จิตที่ตั้งมั่นก็คือจิตที่มีสมาธิสัมโพชฌงค์ จิตที่เป็นกลางคือจิตที่มีอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เริ่มต้นจากให้มีสติ คือตัวสติสัมโพชฌงค์ เป็นสติปัฏฐาน คือสติที่รู้กายรู้ใจ ตรงที่เราตามรู้กายรู้ใจตามที่มันเป็น เรียกว่า ธัมมวิจยะ แล้วก็พากเพียรดูไปเรื่อยๆ ก็มีวิริยะ มันจะเกิดปีติ เกิดปัทสัทธิ สุดท้ายมันก็ลงมาที่สมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต แล้วก็เป็นกลาง ฉะนั้น

หลวงพ่อถึงสรุป ต้อง “มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ประโยคนี้มันครอบคลุมทั้งหัวทั้งท้าย ตลอดสายของตัวโพชฌงค์นั่นเอง พอจิตเราเข้าถึงความตั้งมั่นและก็เป็นกลางได้ ปัญญาที่เป็นโลกุตตระถึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น จิตยังโคลงเคลงๆ ปัญญาระดับโลกุตตระจะไม่เกิดขึ้น พอจิตตั้งมั่นอย่างเดียวก็ยังไม่พอ ตั้งมั่นแล้วต้องเป็นกลางด้วย ถ้าตั้งมั่นและเป็นกลางได้วิมุตติก็จะเกิดขึ้น มรรคผลถึงจะเกิดขึ้น

เส้นทางเดินที่เจ้าชายสิทธัตถะเดินโชว์ 7 ก้าว ก็คือตัวโพชฌงค์นี่เอง คนโบราณท่านเอามาแต่งให้ดูตื่นเต้น น่าเลื่อมใส จะมีเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์อะไรมากมายเลย ถ้าเราอ่านพุทธประวัติจริงๆ จะพบว่า ท่านไม่ได้มีการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อะไรมากมาย มีไหม มี แต่ว่าไม่ได้เอามาใช้พร่ำเพรื่ออะไรอย่างนั้นหรอก อย่างตอนเช้าๆ เช้ามืดอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านเริ่มแผ่ญาณทัสสนะของท่านออกไป ว่าวันนี้ท่านควรจะไปโปรดใคร หรือโปรดกลุ่มไหน ไปถึงแล้วท่านจะสอนธรรมะอะไร ถ้าสอนธรรมะนี้แล้วผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร เป็นความสามารถของท่านแผ่ออกไป แล้วก็สำรวจเลยวันนี้ควรจะสอนใคร เวลาคนไหนที่มันคู่ควรจะได้รับธรรมะในขณะนั้น ก็จะโผล่หน้าขึ้นมาให้ท่านเห็น แล้วรู้ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหนอะไรอย่างนี้ เวลาควรจะสอน สอนอย่างไร

อันนี้เป็นความสามารถของท่าน แต่ท่านก็ไม่ได้ใช้อิทธิปาฏิหาริย์อะไรพร่ำเพรื่อ ท่านใช้เพื่อประโยชน์ในการสั่งสอนสัตว์โลก ไม่ได้ใช้เพื่ออวดให้คนมาเคารพนับถือ มีหลายอย่าง อย่างบางทีท่านก็แผ่พระรัศมีออกไปให้คนเห็น คนที่ท่านต้องการโปรด อย่างพระวักกลิ กำลังจะโดดภูเขาแล้ว ขึ้นเขาไปจะโดดเขาตายแล้ว ท่านก็ฉายพระรัศมีไป ถ้าเดี๋ยวนี้ก็เรียกคล้ายๆ ระบบ 5G คือไปปรากฏตัวขึ้นต่อหน้าเลย แล้วแสดงธรรมให้ฟัง ท่านทำเพื่อสิ่งเหล่านี้ ถามว่าอิทธิปาฏิหาริย์มีไหม มี มันเป็นเรื่องพลังงานของจิต แต่ท่านก็ไม่ได้ใช้พร่ำเพรื่อ ไม่ได้ใช้เพื่อตัวเอง สังเกตไหมตอนที่ท่านอาพาธหนัก ใกล้จะนิพพานแล้ว ท่านยังเดิน จะเดินไปกุสินารา จะไปนิพพานที่กุสินารา ทำไมต้องไปนิพพานที่กุสินารา เพราะยังมีงานอีกชิ้นหนึ่งที่เหลืออยู่ ท่านจะต้องไปโปรดสุภัททะ คืองานของท่านยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นท่านก็เดินไป ไม่ใช่เหาะไป ถามว่าเหาะมีไหม ทำไมจะไม่มี

ที่หลวงพ่อทราบมา ครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านก็เหาะได้ แต่ท่านไม่มาเหาะเล่นให้เราดูหรอก อย่างหลวงปู่ดูลย์ บางทีท่านก็ลอยตัวขึ้นมา เดินไปมีน้ำอยู่ท่านไม่เหยียบน้ำ ท่านลอยเหนือน้ำไปไม่เหยียบ ครูบาอาจารย์หลายองค์เป็นอย่างนั้น ท่านไม่ได้มาทำเพื่ออะไร หลอกลวงอะไรประชาชนอะไรอย่างนี้ กระทั่งวาระสุดท้ายพระพุทธเจ้ายังยอมทรมานร่างกาย เดินไป เพื่อจะไปโปรดสุภัททะ แล้วกุสินาราเป็นสถานที่ที่เหมาะที่จะปรินิพพาน เป็นเมืองเล็กๆ ถ้าไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ สงครามจะต้องเกิดขึ้น ความเมตตากรุณาของท่าน จนถึงวาระสุดท้าย วันสุดท้ายของชีวิตก็ยังยอมลำบาก ด้วยความเมตตากรุณาเดิน ทั้งๆ ที่ถ่ายเป็นเลือด ร่างกายทรุดโทรมอิดโรย อายุตั้ง 80 ปีแล้ว แล้วอีกจุดหนึ่งที่ท่านต้องไปกุสินารา เพราะว่าที่นั้นจะมีพราหมณ์คนหนึ่ง เป็นที่เคารพของกษัตริย์หลายๆ เมือง คือโทณพราหมณ์ จะได้มาแบ่งพระธาตุ จะได้ไม่ต้องรบกัน

ฉะนั้นท่านทำอะไรทุกอย่าง ท่านพิจารณารอบคอบ ทำไปด้วยความเมตตากรุณา จนวาระสุดท้ายของชีวิตเลย ชีวิตท่านงดงาม พวกเราศึกษาพุทธประวัติก็มองให้ออก มองให้ทะลุนิทานเข้าไปถึงตัวธรรมะ อย่างการเดิน 7 ก้าวของเด็กแรกเกิด เป็นนิทานยุคหนึ่ง คนโบราณชอบแบบนั้น ฟังเรื่องอย่างนี้แล้วก็ปลื้ม เกิดเลื่อมใสศาสนาพุทธ แต่ยุคนี้ไม่ปลื้มแล้ว ฟังแล้วไม่เชื่อ ไม่เชื่อมองให้ทะลุเข้าไป ว่าเขาซ่อนธรรมะอะไรเอาไว้ คนโบราณไม่ใช่โง่ คนโบราณแฝงธรรมะลงไปในทุกสิ่งทุกอย่าง กระทั่งสัปเหร่อ สัปเหร่อในเมืองไทย เวลาคนตายเขาจะมัดตราสัง มัดตราสังเอาผ้ามาห่อ แล้วก็เชือกมัดคอ มัดมือ ให้มือพนมไว้ ใส่ดอกไม้ธูปเทียน คนก็มโนเลยนี่จะให้ผีเอาดอกไม้ธูปเทียน ไปไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ ชาวบ้านก็คิดอย่างนั้น แล้วเชือกอีกเปลาะหนึ่งก็มัดที่เท้า

ที่จริงเป็นธรรมะทั้งหมดเลย อะไรที่เป็นบ่วงผูกคอพวกเรา คือลูก ลูกเป็นบ่วงผูกคอเรา อย่างพ่อแม่มีของอร่อยกิน กินไม่ลงคล้ายๆ ถูกรัดคอไว้ ต้องให้ลูกได้กินก่อนอะไรอย่างนี้ มันก็ผูกพัน ทำให้ปล่อยวางออกจากโลกไม่ได้ มัดมือ หมายถึงแฟนเรา คู่สมรสเรา คนที่ยังโสดก็มีอิสระทำอะไรก็ได้เต็มที่ พอมีคู่แล้วก็ไม่อิสระแล้ว คล้ายๆ ทำอะไรก็เหมือนคนถูกมัดมือไว้แล้ว ส่วนที่มัดเท้า หมายถึงทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัติมันมัดเท้าไว้ เราจะไปไหนเราก็ห่วงสมบัติ ไปไม่ได้ ต้องเฝ้าสมบัติไปเรื่อยๆ มันเป็นคำสอน เป็นธรรมะที่ซ่อนอยู่ ถ้าเรารู้จักมอง เราก็จะเจอ

 

 

วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา เราก็รู้พระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระโพธิสัตว์ชาติสุดท้ายแล้ว เป็นวันเกิดของท่าน เป็นวันที่ท่านตรัสรู้ ตรัสรู้นี่บรรลุนิพพาน ถึงพระนิพพานชนิดที่ยังมีขันธ์เหลืออยู่ เป็นนิพพานของกิเลส กิเลสตายหมดเลย จนถึงวันสุดท้าย ไปนิพพานที่กุสินารา ไปตายที่กุสินารา อันนั้นนิพพานขันธ์ นิพพานเลยมี 2 อัน นิพพานกิเลส กับนิพพานขันธ์ นิพพานกิเลส ก็คือจิตมันพ้นจากอาสวะทั้งหลายที่ห่อหุ้มจิตอยู่ จิตเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น เพราะว่าไม่ยึดถือในขันธ์ ในรูป ในนาม ขันธ์ 5 นี้ พอจิตมันไม่ยึดถือ จิตมันก็พ้นจากขันธ์ กิเลสมันอยู่ในขันธ์ทั้งนั้น กิเลสไม่อยู่ข้างนอกหรอก วางขันธ์ได้ จิตพ้นจากขันธ์ ก็พ้นจากความปรุงแต่งของกิเลสทั้งหลายได้ ส่วนนิพพานอันสุดท้าย วันสุดท้ายของท่าน เรียกนิพพานขันธ์ เป็นวันที่ธาตุขันธ์ของท่านแตกดับ ก็เหมือนพวกเราตายนั่นล่ะ แต่พวกเราตายแล้วกิเลสเรายังไม่นิพพาน ตายแล้วเราก็เวียนเกิดต่อไปเรื่อยๆ บางคนบอกว่าไม่มีหรอกตายแล้วเกิด เออ ว่าไม่มีก็ช่างเถอะ แต่คนที่เขามีหูมีตาเขารู้ว่ามันมี

อย่างมีโยมคนหนึ่ง นั่งรถทัวร์อยู่ เห็นผ่านไปในป่า รถทัวร์มันผ่านเข้าไปในป่าทางเหนือ จะขึ้นเชียงรายมีป่าอยู่ เห็นเปรต เปรตพระ ตัวสูง สูงมากๆ เลย ลักษณะผ่องใส หมดจดงดงามมากเลย เป็นเปรตที่งามมาก นุ่งห่มจีวรก็งดงามเลื่อมพรายแวววาวไปหมดเลย แต่เป็นเปรต ทำไมเป็นเปรตแล้วดูดี เปรตพระท่านธุดงค์ไปแล้วหลงป่า ตลอดเวลาของท่าน ท่านรักษาศีลอย่างดี ฝึกจิตฝึกใจอย่างดี ฉะนั้นรูปกายของท่านออกมาถึงงาม เป็นเปรตก็เป็นเปรตที่งาม แต่ขณะจิตสุดท้ายที่ตาย จิตใจท่านทุรนทุรายหิวข้าว หลงป่ามาจนอดข้าวตาย ตายไปด้วยความหิวโหย พยายามเดิน พยายามหาทางออกจากป่า แต่ออกไม่ได้ ออกมาไม่ได้ตายเลย ก็เป็นเปรตเพราะจิตมีโลภะในขณะสุดท้ายนั้น แต่บุญที่ทำมา ศีลที่ดีทำให้ท่านได้รูปที่งาม เป็นเปรตที่งดงาม งดงามกว่าพวกเราเยอะเลย ถ้าคนไม่เคยเห็นก็บอกไม่มี คนเคยเห็นมันก็บอกว่ามี นี้พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า โอปปาติกะ มี เราจะเชื่อพระพุทธเจ้า หรือเราจะเชื่อคนอื่นก็แล้วแต่เรา ถ้ามีบุญเราก็เชื่อคนที่ควรเชื่อ ถ้ามีบาปให้ผลเราก็ไปเชื่อคนที่ไม่ควรเชื่อ ก็จะหลงไป

เราพยายามฝึกตัวเองเข้าไป ทุกวันๆ มีสติ รู้เท่าทันความปรุงแต่งของจิตใจ รู้ให้บ่อยๆ ขยันดู นานๆ ดูทีไม่ได้ ขยันดูเรื่อยๆ ไป จนกระทั่งมีปีติ มีปัทสัทธิ มีสมาธิ มีอุเบกขา มีจิตตั้งมั่น และเป็นกลาง เห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สุดท้ายปัญญาก็เกิดวิมุตติก็เกิด พอวิมุตติเกิดเราก็จะเข้าใจอะไรต่ออะไรได้อีกเยอะ แต่อย่างเรื่องเวียนว่ายตายเกิดอะไรนี่ ไม่ต้องวิมุตติหรอก พวกฝ่ายโลกียะได้ทิพยจักษุ ได้จุตูปปาตญาณ รู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดที่ไหน พวกระลึกชาติได้ บุพเพนิวาสานุสติญาณ พวกนี้ก็จะเชื่อทั้งๆ ที่ยังเป็นปุถุชน

ถ้าเราภาวนา ถึงเราไม่มีฤทธิ์มีเดช เราไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ ไม่เป็นไร เราเห็นว่าถ้าเมื่อไรจิตเรามีความอยาก เมื่อนั้นจิตเรามีความทุกข์ เมื่อไรจิตไม่อยาก จิตก็ไม่ทุกข์ ภาวนาแทบเป็นแทบตาย ไม่มีฤทธิ์มีเดชอะไรกับใครเขา เห็นอยู่แค่นี้ เห็นแค่นี้ก็พ้นทุกข์ได้แล้ว พอเราพ้นทุกข์ไปแล้ว เราก็จะรู้เลยว่า โอ้ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนอัศจรรย์จริงๆ สามารถทำคนสกปรกโสมมอย่างเรา ให้สะอาดหมดจดขึ้นมาได้ สามารถทำคนที่จมอยู่ในกองทุกข์ ให้พ้นจากความทุกข์ได้

ใจมันก็มีศรัทธาเลื่อมใสขึ้นมา ก็จะเชื่อว่า โอ้ พระพุทธเจ้าท่านเก่งขนาดนี้ สิ่งที่ท่านสอนต้องไม่ผิดหรอก อย่างท่านบอกโอปปาติกะมี มันก็ต้องมี ถ้าไม่เห็นด้วยตัวเอง อาศัยผลของการปฏิบัติจนลดละกิเลสได้ มันก็จะศรัทธาพระพุทธเจ้าขึ้นมาเอง พวกเราต้องระมัดระวังอย่างหนึ่ง ศรัทธาของปุถุชน เป็นศรัทธาที่คลอนแคลน เพราะฉะนั้นบางทีเราศรัทธาๆ ขณะจิตสุดท้ายเกิดปรามาสขึ้นมานิดเดียว ไปทุคติ

ฉะนั้นพยายามฝึกจิตฝึกใจ มีสติเอาไว้ รู้ทันความปรุงแต่งเอาไว้ ที่เราไปปรามาสพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อะไรนี่ ก็คือความปรุงแต่งทั้งหมดเลย อย่างบางคนมันก็ปรามาส ศาสนาพุทธไม่มีความหมายอะไรหรอก หลอกลวง ไม่มีความจริงอะไรอย่างนี้ ถ้ามาเจอหลวงพ่อ หลวงพ่อจะถามว่าถ้าเวลาเอ็งมีความอยาก เอ็งมีความทุกข์ไหม หรือเอ็งมีความสุข มันไม่มีทางดิ้นเลย อย่างไรๆ มันก็แพ้อริยสัจ พวกมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านถึงพูดว่า “พอกงล้อของอริยสัจหมุนไปแล้ว ไม่มีใครต้านทานได้” ไม่มีใครต้านทานได้ เพราะมันเป็นความจริงแท้ อย่างไรก็จริง ความจริงอย่างไรก็จริง เมื่อไรก็จริง แล้วไม่มีข้อโต้แย้ง เถียงไม่ออกหรอก

 

เราได้ยินธรรมะของท่านแล้ว เราก็พยายามฝึกตัวเอง
เดินตามรอยของท่านไป รอยของท่านก็คือตัวโพชฌงค์ 7

 

เราค่อยภาวนา แล้วเราจะเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธเจ้า ท่านเกิดมามีเลือด มีเนื้อ มีร่างกายเหมือนพวกเรานี่เอง แต่คุณงามความดีของท่านมาก ท่านเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นด้วยตัวเอง ปัญญาของท่านมาก เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นแล้ว ก็ไม่ได้เอาตัวรอด ยังมีความกรุณาเห็นพวกเรามีความทุกข์ ท่านก็อดทนพากเพียรสอนพวกเรา การสอนธรรมะไม่ใช่เรื่องง่าย มันเหมือนเข็นควายขึ้นภูเขา อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อพูด ครูบาอาจารย์ท่านเคยพูด โอย สอนนี่มันยากจริงนะ เหมือนเข็นควายขึ้นภูเขา โบราณบอกเข็นครกขึ้นภูเขาใช่ไหม ครกตำข้าวเข็นขึ้นเขาไม่ใช่ง่าย แต่เข็นควายขึ้นเขายากกว่าอีก เพราะครกถ้าเราระวังดีๆ ก็ไม่กลิ้งมาทับเราหรอก แต่ควายนี่แว้งเราได้ตลอดเลย พระพุทธเจ้าท่านกรุณามาก ท่านอุตส่าห์ต้อนควายดุๆ ทั้งหลายให้มันดีขึ้นมาได้ ที่ไม่ดีท่านก็ปล่อย ช่วยไม่ไหวท่านก็ปล่อยเหมือนกัน ด้วยความกรุณาของท่าน ที่ท่านไม่สอนบางคนเป็นความกรุณา ไม่ใช่ว่าโกรธเคือง ว่ามันดื้อรั้นเหลือเกินไม่สอนมันหรอก เกลียดขี้หน้ามันอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ สอนไม่ได้ท่านก็ไม่ไปยุ่งกับเขา ไปยุ่งกับเขาเดี๋ยวเขาบาปมากขึ้น นอกจากไม่ได้บุญแล้ว ยังได้บาปอีก

ความดีของท่าน พวกเราก็ต้องเอาเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะพวกผู้ช่วยสอนทั้งหลาย สอนธรรมะ สอนคนที่ควรสอน ไม่ใช่สอนพร่ำเพรื่อ อย่างเห็นหน้าใครก็เที่ยวโวยวายสอนเขาไปทั่วๆ อันนั้นไม่ใช่แล้ว นั่นเร่าร้อนผิดธรรมชาติแล้ว เป็นวิปัสสนูปกิเลสอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็เป็นพวกหลอกลวงไปแล้ว เจอหน้าใครก็บอก จิตเป็นอย่างนี้ๆๆ หรือบอกว่าแม่เธอตายแล้วไปอยู่ตรงนี้ๆ ต้องมาทำบุญกับฉัน เดี๋ยวฉันจะเอาอาหารนี้ไปให้แม่ของเธอ เอาข้าวของนี้ไปให้แม่ของเธอ นี้มันหลอก มันหลอกกิน เพราะฉะนั้นเวลาจะสอนคน สอนคนที่ควรสอน คนที่ไม่ควรสอนก็ปล่อยเขาไป เดี๋ยววันหนึ่งข้างหน้า เขาก็พัฒนาขึ้น บางคนก็พัฒนาได้

 

เราภาวนาแล้วเราจะรู้จักคุณของพระพุทธเจ้า เราจะรักพระพุทธเจ้า ไม่ใช่รักแบบเราเป็นเจ้าของ แต่เรารักในน้ำใจของท่าน ชื่นชมในความสามารถของท่าน แล้วก็เห็นแบบอย่างที่ท่านทำ ท่านดำรงชีวิตเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของคนทั่วไป สัตว์โลกจำนวนมาก จนถึงวันนิพพาน จะตายแล้วยังคิดถึงประโยชน์ คิดถึงความสุขของคนที่ควรจะได้รับ อย่างคิดถึงสุภัททะอะไรอย่างนี้ คิดจะทำอย่างไรจะไม่เกิดสงคราม คิดเพื่อสัตว์โลกทั้งหมดเลย เรายังไม่ได้อย่างท่านหรอก แต่เราได้ยินธรรมะของท่านแล้ว เราก็พยายามฝึกตัวเอง เดินตามรอยของท่านไป รอยของท่านก็คือตัวโพชฌงค์ 7 เริ่มต้นก็คือมีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง พอรู้ได้มากๆ แล้วต่อไปมันก็เข้าถึงจิตตั้งมั่นและก็เป็นกลาง จิตตั้งมั่น เรียกมีสมาธิสัมโพชฌงค์ มีความเป็นกลาง เรียกอุเบกขาสัมโพชฌงค์

สังเกตให้ดีในโพชฌงค์ 7 เริ่มจากสติ ลงท้ายด้วยอุเบกขา ความเป็นกลาง เวลาเราดูในสติปัฏฐาน 4 ลองไปอ่านดู ลงท้ายของการเจริญสติปัฏฐาน ท่านบอก “ถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้” ถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้ ก็คือเป็นกลางเป็นอุเบกขานั่นล่ะ ฉะนั้นที่เราภาวนา เจริญสติ เจริญปัญญา จนกระทั่งในที่สุดเราเป็นกลางกับโลก โลกก็เป็นโลกอยู่อย่างนั้น แต่ใจเราไม่เกี่ยวกับโลก ก็พ้นทุกข์ไป เวลาที่เหลือภาวนา อยู่บ้านก็ภาวนาไป ทุกก้าวที่เดิน รู้สึกตัว ร่างกายขยับเขยื้อน รู้สึกตัว ร่างกายหายใจ รู้สึกตัว คอยรู้สึกไป รู้สึกร่างกายนี้ขยับไปขยับมา รู้สึกไว้ ร่างกาย ดูง่ายๆ คอยรู้สึกเอา

ถือว่าวันนี้เราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า ไม่ต้องไปเวียนเทียนตามวัดหรอก พระก็กลัวโควิดเหมือนกัน หลายวัดยิ่งในกรุงเทพฯ บางวัดท่านประกาศห้ามโยมเข้าวัดเลย ห้ามคน พระก็ไม่ให้ออกจากวัด เรื่องพระไม่ให้ออกจากวัด วัดหลวงพ่อมีโควิด หรือไม่มีโควิด ก็ไม่ให้พระไปไหนอยู่แล้ว ให้พระภาวนา ถ้าพระไปเดี๋ยวฟุ้งซ่าน แต่ยุคนี้ถ้าไปแล้วเสี่ยง ติดเชื้อโรคเข้ามาแพร่กับพวกพระด้วยกัน ญาติโยมมาหาอะไรอย่างนี้ เอาเชื้อโรคมาด้วย ไม่ได้มาตัวเปล่า มือถือดอกไม้ธูปเทียนมา เอาเชื้อโรคติดจมูกมาด้วย ก็ต้องระมัดระวังเอา ทางที่ดีภาวนาอยู่ที่บ้าน สละเวลาวันนี้คืนนี้ถวายพระพุทธเจ้าไป ปฏิบัติบูชาไป ทำอะไรไม่ได้ นึกถึงพระพุทธเจ้าไปเรื่อยๆ พุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ อย่าให้ลืมพุทโธ แค่นี้ก็ดีถมเถไปแล้ว ไปทำเอา จะได้ของดี

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 พฤษภาคม 2564