ฟังจิตตัวเองให้ดี

มีบางคนคอมเมนต์ว่าเดี๋ยวนี้หลวงพ่อพูดช้าลง ที่พูดช้าลงเพราะว่าต้องเอาเวลามาหายใจเพิ่มขึ้น มันปิดจมูกอยู่ พูดเร็วหายใจไม่ทัน เราเคยหายใจสบายๆ ถึงวันหนึ่งต้องมาปิดจมูกอยู่ เคยไปไหนมาไหนอิสระ วันนี้ไม่อิสระ เมื่อก่อนเจอใครก็ได้ เดี๋ยวนี้เจอใครก็ไม่ได้ อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปหมด ไม่มีใครคิดไว้ก่อน ไม่ได้นึกถึงว่าวันหนึ่ง เราต้องมาใช้ชีวิตกันแบบนี้ ชีวิตแบบนี้ก็คงอยู่อีกไม่น้อยหรอก ไม่เร็วนักหรอก เพราะเชื้อโรคมันก็กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ฉะนั้นการระวังป้องกันตัวเองก็ยังสำคัญ เป็นความรับผิดชอบ ต่อตัวเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม

เมื่อชีวิตเราต้องมาอยู่ในวิถีใหม่นี่ เรายอมรับไม่ได้เรา ก็จะมีความทุกข์ ถ้ารู้จักวางใจให้ดี เราก็ไม่ทุกข์ ตอนนี้หายใจผ่านหน้ากากก็ยังดีกว่าไม่ได้หายใจ พยายามอยู่กับสิ่งที่มันมีมันเป็น อยู่กับมันอย่างฉลาดจะได้ไม่ทุกข์ อย่างช่วงนี้ ส่วนใหญ่ก็อยู่บ้านกัน อยู่กับบ้านเราก็มีธรรมะเป็นเพื่อนของเรา ก็อยู่ได้ รู้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง แล้วฉวยโอกาส ที่เราว่างๆ นี้ ลงมือปฏิบัติให้มันต่อเนื่อง

อย่างบางคนกลุ้มใจ ก็น่าเห็นใจ มันไม่ค่อยจะมี จะกินอะไรอย่างนี้ ลำบาก ก็ต้องหาทางทำมาหากินไป แต่ถ้าเรามีธรรมะ ความยากลำบากที่เกิดขึ้นมันก็แค่ผัสสะอันหนึ่ง หากินยากขึ้นก็มีสติ มีปัญญา มีจิตใจสงบสบายหน่อย ก็ค่อยๆ คิดหาทางออกที่ดีให้กับชีวิต ปัญหานั้นอย่างไรก็มีอยู่ จะไล่มันมันก็ไม่ไป แต่ว่าถ้าเราวางใจอยู่กับมัน ยอมรับความจริงว่า มันต้องเป็นอย่างนี้ อยู่กับมันด้วยสติด้วยปัญญา จะสามารถประคองชีวิตเราให้ผ่านวิกฤตไปได้ โควิดมันจะอยู่สักกี่ปี ถึงก็ไม่เร็ววันนี้พรุ่งนี้อะไรอย่างนี้ อยู่กับเราอีกช่วงหนึ่ง ถ้าเราทำใจ ไม่ได้ เราก็ทุกข์ตลอดเวลา ทำใจได้ ยอมรับสิ่งที่มีที่เป็นได้ ก็ไม่ทุกข์

 

ถ้าไม่มีโอกาสพบครูบาอาจารย์ สังเกตตัวเองเอา ทางที่ดีสังเกตตัวเองดีที่สุด
ครูบาอาจารย์ที่เราพบ ไม่แน่ว่ารู้จริง เราอาจจะเจอของเก๊ของปลอม คิดว่ารู้อะไรอย่างนี้ พาเราเตลิดเปิดเปิงไปเลยก็ได้
แต่กิเลสเรานี่ถ้าเรามีสติมีปัญญาจริงๆ สอดส่องดูแลจิตใจตัวเองดีจริง กิเลสมันหลอกเราไม่ได้หรอก

 

ตอนนี้เราควรจะภาวนา การปฏิบัติมันก็มี 2 อันเท่านั้น สมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน ก็ต้องฉลาด รู้ว่า สมถกรรมฐานทำไปเพื่ออะไร สมถกรรมฐานทำไปเพื่อให้จิตตั้งมั่น อยู่กับเนื้อกับตัวแล้วก็มีเรี่ยวมีแรง ตรงจิตมีเรี่ยวมีแรง วิธีฝึก ฝึกให้จิตมันสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตที่มันไม่มีเรี่ยวมีแรงเพราะมันทำงานมากเกินไป มันวิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปดมกลิ่น วิ่งไปลิ้มรส วิ่งไปรู้สัมผัสทางกาย วิ่งไปคิดนึกทางใจ ทำงานมากไป มันก็หมดเรี่ยวหมดแรง

วิธีที่จะทำให้จิตมีกำลังขึ้นมาก็คือ ทำให้จิตมันไม่วิ่งพล่านๆ ไป หาอารมณ์กรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่จิตเราชอบ มันชอบพุทโธ เราก็เอาพุทโธ ชอบหายใจ เราก็หายใจ ชอบหายใจบวกกับพุทโธ เราก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ชอบรู้อิริยาบถก็รู้สึกไป ชอบมีสัมปชัญญะ รู้ความเคลื่อนไหวของกาย รู้ความหยุดนิ่ง ของกาย ก็รู้ไป ดูตัวเองทำกรรมฐานอะไรแล้วจิตใจมีความสุข ฝึกไปเรื่อยๆ

อย่างในวัดนี้ หลวงพ่อสอนแต่ละองค์ก็ไม่เหมือนกัน พระบางองค์ก็ดูร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึกๆ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึกไป บางองค์ก็ให้ดูกระดูกดูอะไร ดูกายนั่นล่ะ แต่ละคนมันมีกรรมฐานเฉพาะของตัวเอง ทางใครทางมัน แต่การที่เราเอาจิตไปสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง จิตได้พักผ่อน ถ้าจิตได้พักผ่อนจิตก็มีกำลัง ถ้าจิตร่อนเร่ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจตลอดเวลา จิตก็หมดแรงเปลืองพลัง ให้จิตมาอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตก็จะมีพลังขึ้นมา พอจิตมีแรง แล้วเราก็พัฒนาจิตใจของเราต่อไป

 

ผู้เผลอ ผู้รู้ ผู้เพ่ง

พยายามมาฝึกให้จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้ สงบอย่างเดียวก็ดีเหมือนกัน ดีกว่าฟุ้งซ่าน แต่ตั้งมั่นมันดีขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง จิตตั้งมั่นคือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้อง จิตมันจะ ถอนตัวออกจากปรากฏการณ์ทั้งหลายขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู เป็นผู้เห็น เห็นอะไร อย่างทีแรกเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เห็นร่างกาย หายใจ พอจิตมันตั้งมั่น มันจะเห็นเลย ร่างกายที่หายใจนี่ เป็นของถูกรู้ถูกดู มันมีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา แล้วมันพัฒนาขึ้นไป ไม่ใช่จิตสงบอย่างเดียว แต่จิตยกระดับตัวเอง ไม่สงบซื่อบื้อ ยกระดับตัวเองขึ้นมาสู่การเจริญปัญญา

การเจริญปัญญาขั้นแรกสุดเลย คือการแยกธาตุแยกขันธ์ วิธีที่จะทำให้จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นผู้รู้ผู้ดูได้ มี 2 วิธี วิธีที่หนึ่ง ทำฌาน ถ้าเราทำไม่ได้ เราก็ใช้วิธีที่สอง คืออาศัยสติ คอยรู้ทันพฤติกรรมของจิต จิตมันวิ่งไปวิ่งมา มันวิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปคิดอะไรอย่างนี้ พอเรารู้ทันพฤติกรรมของมัน มันก็แอบ ทำงานไม่ได้ มันก็จะกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว อย่างเรารู้ทัน ว่าจิตแอบไปคิด จิตคิดจะดับ จิตรู้จะเกิด มันเป็นอัตโนมัติขึ้นมา

อย่างเราขยับมืออย่างนี้ ถ้าเราเผลอๆ ขยับไปแล้วใจลอย เผลอๆ ไป สบาย สงบสบาย เพ่งมือ ใจไม่หนีไปจากมือเลย เป็นสมาธิชนิดแรก คือจิตไม่เที่ยวไปหลายๆ ที่จิตไม่จรจัด จรไปที่เดียว อยู่ในอารมณ์อันเดียว จะได้ความสงบ จิตจะมีกำลัง ถ้าเราเห็นว่าขยับๆ บางทีจิตก็หนีไปคิดเรื่องอื่น บางทีจิตก็ไหลเข้าไปจ้อง ไปเพ่งใส่มือ ตรงที่เรารู้ทันพฤติกรรม ของจิต มันหนีไปคิด เราก็รู้ มันหนีไปเพ่ง เราก็รู้ จิตผู้รู้มันจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นลักษณะของจิตผู้รู้นี่มันไม่เผลอ เผลอคือหลงไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ลืมตัวเอง แล้วมันก็ไม่เพ่ง

คนไหนเรียนกับหลวงพ่อมาตั้งแต่อยู่สวนโพธิ์ จะได้ยินเรื่อย หลวงพ่อจะพูดถึงเรื่องสภาวะที่ไม่เผลอกับไม่เพ่ง ตอนนั้นคนยังหัวเราะ พวกนักกรรมฐานบางคน หลวงพ่อสอนอะไร นอกรีตนอกรอย ทำไมไม่สอนพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ เพราะพุทโธ ไปเรื่อยๆ มันก็ได้สมาธิชนิดแรก พอเรารู้ทัน จิตเผลอเรารู้ จิตเพ่งเรารู้ เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่น พอมีสมาธิชนิดตั้งมั่นขึ้นมา การแยกธาตุแยกขันธ์จะเป็นไปได้ ถ้าเราไม่มีสมาธิชนิดตั้งมั่น เราไม่สามารถแยกธาตุแยกขันธ์ได้ อย่างเราเห็นร่างกายขยับ จิตมันไปรวมเข้ากับร่างกาย กลายเป็นเรากำลังเคลื่อนไหว แต่ถ้าจิตมันตั่งมั่น มันเห็นร่างกาย มันก็อันหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้ก็อันหนึ่ง อย่างนี้เรียกว่ามันแยกธาตุแยกขันธ์ได้

หลวงตามหาบัวท่านพูดบอกว่า “ถ้าแยกธาตุแยกขันธ์ไม่ได้ อย่ามาคุยอวดเรานะว่าเจริญปัญญา” ตรงที่ท่านพูดนี่ ท่านพูดมาจากการปฏิบัติของท่าน ตรงกับปริยัติเปี๊ยบเลย ในภาคปริยัตินั้น ปัญญาขั้นต้นเรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณ มีปัญญาแยกรูปนามได้ รูปเคลื่อนไหว นามคือจิตเป็นคนรู้ พอเราแยกรูปแยกนามได้แล้ว ต่อไปเราก็จะเห็นความจริง รูปที่เคลื่อนไหวนี่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา มันของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เรา จิตที่เป็นคนไปรู้รูป มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ไม่ใช่ตัวเราเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นขยับมืออย่างนี้ ถ้าจิตถูกอาจจะได้โสดาบัน ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะสามารถเห็นได้ ไม่มีเราตรงไหนเลย รูปธรรมก็ไม่ใช่เรา นามธรรมก็ไม่ใช่เรา จะเห็นอย่างนี้ได้ ก็ต้องเห็นแล้วเห็นอีก ขึ้นกับความแก่อ่อนของอินทรีย์เรา ถ้าปัญญินทรีย์ ปัญญาของเราแก่กล้า เห็นไม่กี่ทีจิตก็เข้าใจแล้ว รูปไม่ใช่เรา นามคือจิตนี้ก็ไม่ใช่เรา

ทำไมขยับอย่างนี้แล้วมาเห็นรูปไม่ใช่เรา มันก็ไม่แปลก ใช่ไหม รูปที่เคลื่อนอยู่อย่างนี้มันเป็นวัตถุ มันถูกรู้ถูกดู ไม่เห็นจะเป็นเราตรงไหนเลย แต่ขยับอย่างนี้แล้วเห็นได้ อย่างไรว่าจิตไม่เป็นเรา อย่างตอนที่เราขยับๆๆ อย่างนี้ บางทีจิตก็หนีไปคิดเรื่องอื่น บางทีจิตก็หนีไปเพ่งใส่มือ บางทีจิตก็เกิดสภาวะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา อย่างจิตหนีไป ขยับๆ จิตหนีไปคิด รู้ทันว่าจิตหนีไปคิด จิตรู้ก็เกิด ขยับไปๆ จิตไหลเข้าไปอยู่ในมือ ไปเพ่ง รู้ทันว่าจิตไหลเข้าไปอยู่ที่มือ จิตที่ไหลก็ดับ เกิดจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ขึ้นมา

เราก็จะเห็นจิตนี้ทั้งวันเลยเดี๋ยวก็เป็นผู้หลงคิด เป็นผู้หลง เป็นผู้เผลอ เดี๋ยวก็เป็นผู้เพ่ง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ ทั้งวันจิตมี 3 แบบ เป็นผู้เผลอ เป็นผู้เพ่ง เป็นผู้รู้ แล้วมันบังคับไม่ได้ จะให้รู้ตลอด มันก็ไม่ใช่ จะให้เผลอตลอด คนทั่วๆ ไปมันเผลอตลอด แต่พวกเรานักปฏิบัติ พอมันเผลอๆ เรารู้ขึ้นมาใช่ไหม ถึงจุดหนึ่งจะสั่งให้จิตเผลอยังทำไม่ได้เลย เราจะรู้เลยว่าสั่งจิตให้เผลอไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตจะรู้ก็รู้ของจิตเอง จิตจะคิด จิตก็คิดของจิตเอง จิตจะเผลอก็เผลอของจิตเอง จิตจะเพ่ง อันนี้จงใจเพ่งได้

เพราะฉะนั้นตรงที่เราจงใจไปเพ่งได้สงบได้อะไรอย่างนี้ แต่ดีไม่ดีจะได้มิจฉาทิฏฐิมาด้วย รู้สึกว่าจิตเป็นอัตตา เราบังคับมันได้ แต่อย่างจิตมันหนีไปคิดอย่างนี้ เราเห็นว่าเราห้ามมันไม่ได้ พอคิดแล้วรู้ทัน เกิดเป็นจิตผู้รู้ขึ้นมา เราก็รักษาผู้รู้ไว้ไม่ได้ ยกเว้นแต่ไปเพ่ง ถ้าเพ่งมากๆ ติดในสมาธิ ส่วนใหญ่ก็จะได้ มิจฉาทิฏฐิแถมมาว่าจิตนี้เที่ยง จิตเป็นของบังคับได้ มันสวนทางกับที่พระพุทธเจ้าสอน ตัวจิตเองก็ไม่เที่ยง ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้ แต่เราฝึก ไปฝึกมา จิตเที่ยงคงที่อยู่ทั้งวันทั้งคืน แสดงว่าผิดแน่นอน

หลวงพ่อก็เคยผิดอย่างนี้ จิตมันไปอยู่ในความว่าง พอจิตมันอยู่ในความว่าง มีความสุข ความสงบ มีอุเบกขา สบาย กิเลสอะไรก็ไม่ผ่านเข้ามา อยู่อย่างนี้ตั้งนานเป็นปี ก็เริ่มสังเกต พระพุทธเจ้าว่าจิตไม่เที่ยง ทำไมจิตดวงนี้เที่ยง ไม่เปลี่ยนแปลงเลย เป็นผู้รู้อยู่อย่างนั้น แล้วก็ว่างอยู่กับความว่างสว่าง พระพุทธเจ้าบอกจิตเป็นทุกข์ ตัวนี้ไม่เห็นจะทุกข์ตรงไหนเลย ตัวนี้เป็นสุข บอกจิตเป็นอนัตตาบังคับไม่ได้ ก็เราบังคับได้ เพราะรู้ว่าสิ่งที่กำลังมีกำลังเป็นมันขัดแย้ง กับคำสอนของพระพุทธเจ้า หลวงพ่อไม่คิดว่าพระพุทธเจ้าสอนผิด หรือพระไตรปิฎกผิด สิ่งที่คิดทันทีเลยก็คือเราภาวนาผิดตรงไหน

เพราะฉะนั้นภาวนาผิดก็ได้ความเห็นผิดมาด้วย โดยเฉพาะ เรื่องการเพ่ง พวกฤๅษี พวกพรหม พวกอะไรนี่บางทีเป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่างพรหมบางองค์เขาเกิดมานานมากเลย เห็นจักรวาลอุบัติขึ้นมา เห็นจักรวาลแตกทำลายไปอะไรนี่ อยู่มานานมากเลย ตัวเองไม่ตายสักที ไม่แก่สักที ก็เลยคิดว่าตัวเองเป็นอมตะ ได้มิจฉาทิฏฐิมา เพราะฉะนั้น มิจฉาทิฏฐิจำนวนมาก เกิดจากพวกเข้าฌานนี่ล่ะ แล้วก็แยกแยะไม่ออก

อย่างบางคนมันเข้าฌาน จิตดับ พอจิตดับก็เป็นพรหมลูกฟัก พอจิตอุบัติขึ้น มันระลึกไม่ได้ว่าก่อนที่จิตจะดับนั้น ก็เคยมีจิตที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมาแล้ว มันระลึกได้แค่ว่า เอ๊ย ก่อนหน้านี้ มันไม่มีอะไรเลย อยู่ๆ ก็มีตัวเองผุดขึ้นมา ตัวเองเป็นสยัมภู ผุดขึ้นมาเอง ไม่มีใครทำให้เกิด เพราะฉะนั้นตัวเองนี่ล่ะเป็น ต้นกำเนิดของจักรวาล ทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วสิ่งทั้งหลายเมื่อมัน จะเกิดมันก็เกิดเอง ไม่มีเหตุ เกิดโดยไม่มีเหตุ นี่ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เกิดจากพวกที่ภาวนาแล้ว ไปติดในเรื่องของสมาธิชนิดต่างๆ นั่นเอง เราก็สังเกตเอา จิตจะต้องตั้งมั่นเป็นคนรู้คนดู แล้วจะเห็นว่าจิตที่เป็นคนรู้คนดูนั้น เดี๋ยวก็เผลอ เดี๋ยวก็เพ่ง ตรงเพ่งก็รู้ว่าจิตเพ่ง ถ้าไม่รู้ว่าจิตเพ่ง มันจะไปติดสมาธิแล้ว ดีไม่ดีก็เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างที่บอก

 

 

นี่อยู่บ้านเวลาที่จะยุ่งกับคนอื่นมีน้อยลง เวลาที่จะอยู่กับ ตัวเองมีมากขึ้น เอาเวลามาภาวนา ทำอะไรไม่ได้สวดมนต์ ไปเรื่อยๆ ก็ยังดี สวดมนต์ยาวๆ ไม่ชอบ สวดแค่พุทโธ ธัมโม สังโฆ แค่นี้ก็ดีถมไปแล้ว ให้ใจมันอยู่ในอารมณ์อันเดียวก็ได้ความสงบ แล้วต่อไปก็คอยสังเกต มันสงบแล้วเดี๋ยวมันก็เคลื่อนไป สงบแล้ว มันก็เคลื่อนไป รู้ตรงนี้มันจะได้จิตตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นแล้ว มันก็ถึงขั้นในการเจริญปัญญา คือเห็นว่า สภาวธรรมมี 2 ชนิดอยู่ คู่กันเสมอ คือจิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูกับอารมณ์ อารมณ์แปลว่า สิ่งที่ถูกรู้ถูกดู จิตกับอารมณ์เป็นของคู่กัน

อารมณ์ตัวนี้เป็นศัพท์เฉพาะแปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ ตัว object จิตเป็นตัวรู้ เป็นตัว subject อารมณ์ไม่ใช่ emotion ไม่ใช่อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์ใคร่ อารมณ์แปลว่าทุกอย่างที่ถูกรู้ เราจะเห็นว่ามันมีจิตกับมีอารมณ์เกิดร่วมกัน ดับร่วมกัน เฝ้ารู้เฝ้าดู เรื่อยๆ ไป ก็จะเห็นจิตที่สุขเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ดี จิตที่ชั่วเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ เฝ้ารู้เฝ้าดู ไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็เกิด ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนแต่ดับทั้งสิ้น ปัญญาตรงที่เห็นว่าสิ่งใดเกิดสิ่งนั้น ก็มีความดับเป็นธรรมดา นั้นเป็นปัญญาของพระโสดาบัน พวกเราอย่าวาดภาพพระโสดาบันให้เป็นยอดมนุษย์

สมัยพุทธกาลเขาฟังธรรมของพระพุทธเจ้า เขาไม่คิดมาก ทำไมไม่คิดมาก เพราะเป็นของที่ไม่เคยฟัง ไม่เคยรู้ ไม่เคยได้ยิน พอได้ยินทีแรก มันสะเทือนเข้าถึงจิตถึงใจเลย บางทีก็ล้าง กิเลสไปได้ เออ ตัวไม่มีจริงๆ อย่างมีผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นลูกของช่างทอผ้า เขาถือด้ายไปเอาไปให้พ่อ ถือแล้วก็ผ่านมา รู้สึกวันนี้มาเร็ว ยังไม่อยากเข้าบ้าน ผ่านหน้าวัดเห็นคน เขาไปฟังธรรม เข้าไปฟัง ก็ฟังใจมันก็เข้าถึงธรรมะขึ้นมา เข้าใจประณีตลึกซึ้งขึ้นมา พระพุทธเจ้าท่านก็รอผู้หญิงคนนี้อยู่ พอผู้หญิงคนนี้มาท่านถึงเริ่มเทศน์ มิฉะนั้นท่านก็ยังไม่เทศน์ ท่านนั่งเฉยๆ พระอานนท์ก็บอกให้เทศน์ได้แล้ว โยมมาเยอะแล้ว ท่านก็บอก “เดี๋ยวยังๆ มาไม่ครบ” พอผู้หญิงคนนี้มา หายเหนื่อย ท่านเทศน์

เทศน์เสร็จแล้วท่านก็ถามผู้หญิงคนนี้ เด็กผู้หญิง เด็กสาวๆ ว่า “เธอมาจากไหน” ผู้หญิงคนนี้ตอบว่า “ไม่ทราบ” “เธอจะไปไหน” “ไม่ทราบ” ชาวบ้านได้ยิน โหย นังคนนี้เหลวไหลที่สุดเลย พระพุทธเจ้าพูดด้วยแล้วทำมาพูดเล่น ท่านถามว่ามาจากไหน ก็ไม่ทราบ จะไปไหนก็ไม่ทราบ จะเป็นอย่างไร จะทำอะไร ไม่รู้เลยสักอย่าง มันไม่มี มันไม่มีตัว ไม่มีตน อดีตมาจากไหน ก็ไม่รู้ใช่ไหม ชาติก่อนเป็นใครที่ไหน เขาก็ไม่รู้ เขาก็พูดตรงๆ อย่างพระพุทธเจ้าถามว่า “เมื่อก่อนเธอมาจากไหน” “ไม่ทราบ” เพราะชาติก่อนมาจากไหนเขาไม่ทราบ เธอจะไปไหนก็ไม่ทราบ แล้วฟังธรรมไปเรื่อยๆ คนนี้เขาก็ได้พระโสดาบัน

อนาถบิณฑิกะอะไรอย่างนี้ นางวิสาขาอะไรอย่างนี้ เขาก็ได้กันง่ายๆ บางคนได้ยินคนอื่นสรรเสริญพระพุทธเจ้า จิตก็ได้โสดาบัน ยังไม่รู้จักคำว่ารูปนามอะไรเลย ไม่รู้จักคำว่า วิปัสสนาเลย เพราะจิตของเขามันได้ยินธรรมะซึ่งมันสดใหม่ ในขณะที่พวกเรานี่ จิตของพวกเรามันเหมือนเชื้อโรคดื้อยา เกิดมาเราก็ได้ยินธรรมะแล้วในเมืองไทย ได้ยินพระเทศน์ ได้ยินคนโน้นสอนคนนี้สอน เราได้ยินอยู่แล้ว มันได้ยินจน จิตมันดื้อด้าน มันดื้อยาไปแล้ว เพราะฉะนั้นมันต้องอดทนหน่อย เชื้อมันดื้อยาก็ต้องอดทนให้ยานานๆ หน่อย ภาวนานานๆ ไป เดี๋ยววันหนึ่งจิตมันมีกำลังพอ มันก็ตัดสินความรู้ ได้มรรค ได้ผลขึ้นมา

 

 

อย่างเราได้ยินมาตลอดใช่ไหม พวกเราภาวนา รูปไม่เที่ยง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตาอะไรอย่างนี้ คนอื่นเขาฟังแค่นี้ สมัยโบราณ สมัยพุทธกาล เขาไม่เคยฟังธรรม เขาฟังแล้ว เขาปิ๊งขึ้นมาเยอะแยะเลย แต่บางคนมันก็ไม่ปิ๊ง ก็แล้วแต่แต่ละคน เราได้ยินมาตั้งนานแล้ว ยิ่งพวกเคยบวชเคยอะไร ทำวัตรเช้า มีบทพวกนี้อยู่เลย ฟังแล้วก็เฉยๆ จิตมันดื้อ จิตมันด้านกับธรรมะไป จิตมันดื้อ จิตมันด้านก็คล้ายๆ เชื้อโรคดื้อยา ต้องให้ยานานๆ หน่อย ให้ยาประเดี๋ยวประด๋าว แป๊บเดียวเชื้อโรคตายหมดอะไรอย่างนี้ มันไม่ตายแล้ว มันดื้อก็ต้องให้ยาที่แรงขึ้น ยาที่นานขึ้น

อย่างบางคนได้ยาแรง บางคนง่ายๆ ครูบาอาจารย์ สอนพุทโธๆ ไป เขาก็พุทโธ เขาไม่คิดมาก พุทโธๆ ไป จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วดูธาตุดูขันธ์ มันทำงานไป เห็นมันไม่ใช่เรา เขาง่ายๆ บางคนก็ต้องยากกว่านั้น จิตใจมันลำพองนักหรือ ท่านก็มีอุบายพวกธุดงควัตรต่างๆ เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสอย่างแรงๆ อยากกินก็กินตามความจำเป็น ไม่เอาความสุขจากการนั่งการนอนอะไรอย่างนี้

บางองค์ก็เดินๆๆ ครูบาอาจารย์ท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟัง หลวงพ่อพุธท่านเคยเล่าให้ฟังว่า พระองค์หนึ่งท่านตั้งใจ จะเดินจงกรม ท่านเดินจนเท้าแตก เท้าแตกแล้วท่านเดิน ไม่ไหวแล้ว ท่านก็คลาน คลานจนมือแตก เข่าแตก สุดท้ายนอน ลุกไม่ขึ้นแล้ว ตอนนอนนี่นอนพลิกซ้าย นอนพลิกขวา ท่านวางใจว่าท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ ขยับๆๆ อย่างนี้ ท่านภาวนาเอาดีของท่านจนได้ ฉะนั้นเชื้อมันดื้อก็ต้องใช้ยาที่แรง

ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านก็อดนอนผ่อนอาหาร แต่ต้องดูธาตุขันธ์ของตัวเอง อย่างหลวงพ่อเคยเจอครูบาอาจารย์ ทางอีสานเหนือองค์หนึ่ง เคยเข้าไปกราบท่าน ท่านก็บอกว่า ท่านอดข้าวเก่งแต่อดนอนไม่ได้ หลวงปู่ฝั้นอดนอนได้ แต่อดข้าวแล้วภาวนาไม่ดี จิตใจไม่สงบอะไรอย่างนี้ แต่ละองค์ๆ ไม่เหมือนกัน อย่างท่านบอกว่าท่านอดข้าวได้ทีหนึ่งตั้งหลายๆ วัน จิตใจสว่างไสว ภาวนาดี แต่อดนอนแล้วจะมึนไป 3 วัน อดนอน วันหนึ่งต้องนอนชดเชย 3 วัน มิฉะนั้นมันจะเบลอๆ ไป

ท่านพวกนี้ท่านใช้ยาแรง เราก็ดูตัวเอง อยู่บ้านแล้วก็สบาย นั่งฟังเทศน์ยังไม่นั่งเลย บางคนมันนอนฟัง มีเขียนจดหมาย มาสารภาพว่านอนฟัง โบราณเขาสอน อย่านอนฟังเทศน์ เดี๋ยวไปเกิดเป็นงูหลาม จริงหรือเปล่าไม่รู้ เขาหลอกไม่ให้นอนฟัง นอนฟังแล้วจิตใจมันอ่อนแอ ลุกขึ้นมา ครูบาอาจารย์นั่งเทศน์อยู่ เรานอนนี่ถ้าครูบาอาจารย์เห็น ครูบาอาจารย์เทศน์ไม่ได้ อาบัตินะ พระนั่งอยู่ ไปเทศน์ให้คนที่ไม่ป่วยแล้วนอนอยู่นี่เทศน์ไม่ได้ พระยืนอยู่ ไปเทศน์ให้คนที่นั่งอยู่ โดยที่เขาไม่ได้ป่วยอะไร อย่างนี้ก็ทำไม่ได้ มีหลายอย่างเรื่องของพระ

 

เรียนรู้ตัวเองด้วยตัวเอง

ฟังธรรมะแล้วให้ใจมันห้าวหาญ อย่าขี้เกียจ ลุกขึ้นมา ลุกขึ้นมานั่งฟัง ขี้เกียจตั้งแต่เริ่มต้น มันจะเอาดีได้อย่างไร อยู่บ้านอย่าขี้เกียจ อยู่บ้านพยายามต่อสู้กิเลสของตัวเอง ตั้งใจว่าเราจะเรียนรู้ตัวเอง ไม่ใช่ตั้งใจว่าจะเอามรรคผลนิพพาน ถ้าตั้งใจจะเอามรรคผลนิพพานจะไม่ได้หรอก จิตมันโลภ แต่ตั้งใจว่าเราจะเรียนรู้ตัวเองไป เราจะเห็นเลยร่างกายมันหายใจ จิตเป็นคนดูอยู่ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนดูอยู่ จิตใจสุข จิตใจทุกข์ จิตใจก็เป็นคนรู้คนดูอยู่ จิตใจโลภ โกรธ หลงอะไรนี่ จิตใจก็เป็นคนรู้คนดูอยู่ ค่อยสังเกตไปเรื่อย สุดท้ายมันก็เห็น ทั้งร่างกาย ทั้งจิตใจเต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา

ทุกวันๆ ฝึกตัวเองเข้า เดี๋ยววันหนึ่งก็ได้ดี อยู่ๆ มันไม่ได้ดีหรอก ทุกอย่างอยู่ที่กรรม ถ้าเราทำกรรมดี เราขยันภาวนา แล้วก็ภาวนาถูกต้อง ต้องถูกต้องก่อน แล้วถึงจะขยัน ภาวนาผิดแล้วขยันนี่เละเทะเลย บางคนมาเล่า บอกว่าเรียนอยู่กับครูบาอาจารย์สายอื่น ไม่ใช่สายกรรมฐานวัดป่าหรอก แล้วตัวเองฟุ้งๆๆ ไปถามอาจารย์ว่าทำไมมันฟุ้งนัก อาจารย์บอกว่าไม่ต้องคิดมากหรอก กำหนดลงไปเลย มันมีสว่าง ขึ้นมาก็รู้หนอๆ อะไรไป ยังมีหน้ามาถามหลวงพ่ออีกว่าจะทำอย่างไร หลวงพ่อก็บอกว่าไปรู้เอา อาจารย์ก็บอกถูกแล้ว มีอะไรก็รู้เอา ก็ถูกแล้ว ถ้าอาจารย์บอกให้แก้ อย่างโน้นแก้อย่างนี้ อันนั้นไม่ถูกหรอก อาจารย์บอกให้รู้เอาก็ถูกแล้ว มันเป็นอย่างไรก็รู้เอา

ฝึกรู้ๆ ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมันรู้จริง รู้ไปเรื่อย เดี๋ยวมันก็รู้จริง รู้จริงมันก็วาง วางได้มันก็ไม่ทุกข์ วางไม่ได้มันก็ทุกข์ ก็แค่นั้นเอง ยุติธรรมที่สุดแล้ว ใครก็ช่วยใครไม่ได้ ต้องเรียนรู้ตัวเองด้วยตัวเอง เรียนรู้ตัวเองด้วยตัวเอง อย่างเข้าใจตัวเองแจ่มแจ้งแล้ว มันจะเข้าใจเลยตัวเราไม่มี กายนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก กายเป็นสมบัติของโลก จิตนี้ก็ไม่ใช่ตัวเราหรอก มันเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้เหมือนๆ กับกายนั่นล่ะ

อย่างจิตมีเหตุอะไร มีตา มีประสาทตา มีรูป มีแสงสว่าง มีความใส่ใจกระทบกันปั๊บ ผัสสะก็เกิด ผัสสะเกิด วิญญาณก็เกิด เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็เกิดด้วยกัน ล้วนแต่มีเหตุทั้งหมด จิตก็มีเหตุ อย่างตาเห็นรูป จิตก็เกิด หูได้ยินเสียง จิตก็เกิด จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด จิตก็เกิด ฉะนั้นจิตมันก็เป็นสังขารชนิดหนึ่ง เป็นสังขารธรรม สังขตธรรม มันเกิดจากเหตุ สิ่งใดเกิดจากเหตุ แล้วเหตุดับ สิ่งนั้นก็ดับ เพราะฉะนั้นจิตเองก็เกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่เห็นมีตัวเราที่เที่ยงแท้ถาวรตรงไหนเลย

ค่อยๆ ภาวนา ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เห็นไป พอเห็นตามความเป็นจริงก็เบื่อหน่าย เบื่ออะไร เบื่อกายนี้ เบื่อจิตนี้ ไม่ใช่ของดี ของน่ารัก น่าหวงแหนอีกต่อไปแล้ว มันเป็นตัวทุกข์ เป็นของไม่เที่ยง เป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่สมบัติของเราที่แท้จริง พอเห็นตามความเป็นจริงก็เบื่อหน่าย คลายความยึดถือ พอจิตไม่ยึดถือ จิตก็หลุดพ้น หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ที่มันหมักดองในสันดานอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอวิชชา ความไม่รู้ความจริงของรูปนาม จะเห็นว่ารูปนามนี่เป็นตัวเรา ของเรา ไม่เห็นว่าจริงๆ แล้วมันเป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราของเรา มันเป็นตัวทุกข์ ถ้าเห็นว่ามันเป็นตัวทุกข์ ความอยากที่จะให้มัน พ้นจากความเป็นตัวทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น ความอยากที่จะให้มันกลายเป็นตัวสุขก็ไม่เกิดขึ้น ความอยากใดๆ ก็ไม่เกิดขึ้น

พอเห็นตามความเป็นจริงของรูปนามก็ล้างอวิชชาได้ ตัณหาก็ดับไปในทันทีนั้นเลย ทันทีที่รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยคือตัณหา จะดับในขณะนั้น ในขณะเดียวกันที่รู้ทุกข์นั่นล่ะ แล้วขณะที่ตัณหาดับนั้น นิพพานหรือนิโรธ คือสภาวะที่สิ้นตัณหาก็เกิดขึ้นในขณะนั้น อริยมรรคก็เกิดขึ้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น การรู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรค เจริญมรรค ขึ้นมาก็เกิดขึ้นในขณะจิตเดียวกัน

ทั้งหมดนี้ก็อาศัยจุดตั้งต้น จิตไม่มีเรี่ยวมีแรง ทำความสงบขึ้นมา จิตมีเรี่ยวแรงพอสมควรแล้ว ฝึกให้จิตตั้งมั่นโดยการรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่นไปเรื่อยๆ จิตที่ไหลไปคิด เผลอไป จิตที่เพ่งอยู่อะไรนี่ รู้ทันไปเรื่อยๆ แล้วบางทีจิตก็ไปสร้างภพขึ้นมาสักภพหนึ่ง แล้วก็ไปแช่อยู่ในภพอันนั้นอันนี้ พวกนักปฏิบัติฝีมือดีจะไปติดตายอยู่ตรงนี้เยอะเลย

 

เวลาพวกเราขยันภาวนานี่สังเกตให้ดี จิตมันเข้าไปติดภพอะไรสักอย่างหนึ่งอยู่
ยิ่งมันไปนิ่งๆ ว่างๆ คงที่อยู่อย่างนั้น ติดภพแน่นอน สังเกตเอาแล้วจะรู้
เราเป็นนักปฏิบัติ เราก็สร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา
ภพนิ่งๆ ภพว่างๆ ภพสงบ ภพสุข สร้างขึ้นมาแล้วก็ค้างอยู่ตรงนั้นนานๆ
ถ้าไปค้างอยู่ตรงนี้ต้องรู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันก็ติดอยู่ตรงนั้นล่ะ กี่ภพกี่ชาติ อีกนานเลย ติดอยู่อย่างนั้น

 

ครั้งหนึ่งหลวงปู่ดูลย์ท่านยังอยู่ หลวงพ่อไปนั่งอยู่กับท่าน นั่งอยู่หลวงปู่ต้องไม่พูด พูดมากไม่ได้ฟังธรรมะ ท่านก็ปล่อย ให้เราพูด บางคนไปเทศน์ให้หลวงปู่ดูลย์ฟัง เทศน์ตั้งหลายชั่วโมง ท่านก็ฟังเฉยๆ ฟัง กลายเป็นแทนที่เข้าหาท่านจะได้ประโยชน์ เปล่า ไปโม้ เล่าธรรมะให้ท่านฟังเป็นฉากๆ เลย บางคนไปสอน ธรรมะท่านก็มี อุปัชฌาย์หลวงพ่อท่านเคยเล่าให้ฟัง หลวงปู่ดูลย์ ท่านไม่สบาย นอนอยู่โรงพยาบาลก็มีพระมาเยี่ยม พระมาถึงก็มา ปลอบหลวงปู่บอก “หลวงปู่ทำใจดีๆ ไว้ ร่างกายมันก็เป็นอย่างนี้ล่ะ เดี๋ยวมันก็ทุกข์ เดี๋ยวมันก็สุข หลวงปู่อย่ายึดถือ ถ้าไม่ยึดถือก็มีความสุข” หลวงปู่ปกติหน้าเฉย วันนั้นหัวเราะก๊ากเลย หลวงปู่หัวเราะอย่างร่าเริงมากเลย ท่านได้ฟังธรรมเสียร่าเริงเลย เราฟังเรายังร่าเริงตามเลย ไปเทศน์ให้ท่านฟัง

หลวงพ่อนั่งอยู่กับหลวงปู่วันนั้น เราก็เงียบๆ แล้วท่าน พิจารณาธรรมะแล้วท่านก็บอก “เออ เราพิจารณาแล้ว นักปฏิบัติส่วนใหญ่ ไปจบลงตรงเป็นผีใหญ่” ผีใหญ่คือ ไปเป็นพรหม ภาวนาแล้วจิตมันไปหลงสร้างภพที่ละเอียดขึ้นมาแล้วก็ไปติดอยู่ในภพอันนั้น ผ่านไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาพวกเราขยันภาวนานี่สังเกตให้ดี จิตมันเข้าไปติดภพอะไรสักอย่างหนึ่งอยู่ ยิ่งมันไปนิ่งๆ ว่างๆ คงที่อยู่อย่างนั้น ติดภพแน่นอน สังเกตเอาแล้วจะรู้ เราเป็นนักปฏิบัติ เราก็สร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา ภพนิ่งๆ ภพว่างๆ ภพสงบ ภพสุขอะไรอย่างนี้ สร้างขึ้นมาแล้วก็ค้างอยู่ตรงนั้น นานๆ ถ้าไปค้างอยู่ตรงนี้ต้องรู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันก็ติดอยู่ตรงนั้นล่ะกี่ภพกี่ชาติ อีกนานเลย ติดอยู่อย่างนั้น บางท่านชาติเดียว ไปติดตรงนี้ชาติเดียว แต่ชาติเดียวนี่เป็นหมื่นกัปเลย ไปเกิดเป็นพรหมอยู่ยาวนาน

 

 

ฉะนั้นเวลาเราภาวนา อยู่บ้านภาวนา สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ เราอยู่ห่างครูบาอาจารย์ เราไม่มีกัลยาณมิตร เราใช้ โยนิโสมนสิการให้มาก สังเกตให้มาก สิ่งที่มีสิ่งที่เป็นอยู่นี่ มันสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าไหม สอดคล้องกับที่ครูบาอาจารย์แนะนำมาไหม อย่างภาวนาแล้วจิตนิ่งติดว่างอะไรนี่ ให้ไปรู้ทันเลยว่าเราผิดตรงไหน ค่อยๆ สังเกตเอา ถ้าสังเกต ไม่ออก ดูไม่ออกทำอย่างไร ถ้าเข้าฌานได้ เข้าฌานไป แล้วตอนที่จิตถอนออกจากฌาน สังเกตเลยว่าพอถอนออก จากฌานแล้วมันคิดถึงการปฏิบัติปุ๊บ มันจะสร้างภพตรงนี้เลย

ถ้าเข้าฌานก็ไม่เป็นจะทำอย่างไร นอนเอา ไปนอน พอตื่นนี่ตอนที่ตื่นแล้วคิดถึงการปฏิบัติปุ๊บ จิตจะสร้างภพของ นักปฏิบัติทันทีเลย นี่สังเกต เพราะฉะนั้นตอนที่ออกจากฌาน กับตอนที่ตื่นนอนนี่เป็นนาทีทองของการปฏิบัติเลย จะตรวจสอบ ตัวเองได้เลยว่าตอนนี้มันไปหลงความปรุงแต่งอะไรอยู่ เพราะทันทีที่มันคิดว่าจะปฏิบัติ มันจะสร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมาทันทีเลย ตอนที่นอนอยู่นี่มันลืมภพของนักปฏิบัติไป หรือตอนเข้าฌานนี่ มันทิ้งทุกอย่างไปหมด ตอนมันถอยออกมาจากสมาธิ ตอนที่มันขึ้นมาจากภวังค์ มันไม่มีมารยา จิตใจมันเป็นธรรมชาติ ธรรมดา แต่พอเราคิดถึงการปฏิบัติ จิตใจเราก็มีมารยาขึ้นมาแล้ว

เป็นนักปฏิบัติ จิตต้องเครียด ต้องขรึม ต้องนิ่ง ต้องอย่างโน้น ต้องอย่างนี้ จิตห้ามเป็นอย่างนั้น ห้ามเป็นอย่างนี้ ทั้งต้องทั้งห้าม จิตก็เครียดสิ เราก็ค้างอยู่อย่างนั้นนานๆ ไม่มีใครแก้ให้ก็ติดอยู่อย่างนั้นไปทั้งชาติ ตายไปก็ไปสู่ภพภูมิที่พอดีกับจิตตรงนั้น เพราะฉะนั้นเราอยู่ลำพังอยู่ที่บ้าน เราใช้สังเกตเอา ถ้าตรงไหน สภาวะอะไรที่มันเที่ยง มันเป็นสุข มันเป็นอัตตา บังคับได้อะไรอย่างนี้ ต้องมีที่ผิด สังเกตว่ามันผิดตรงไหน สังเกตยังไม่ออก ตอนตื่นนอนนี่สังเกตเลยว่าคิดถึงการปฏิบัติปุ๊บเลยจิตมันจะสร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา พอเรารู้ทันแล้ว เราก็จะไม่ติดมัน เราก็จะผ่านความยากลำบากตัวนี้ไปได้

ฝึกทุกวันๆ แล้วถ้าฝึกแล้ว สติที่ไม่ค่อยมี มันมีมากขึ้น จิตที่ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับเนื้อกับตัวได้มากขึ้น จิตซึ่งมัน ไม่เคยเห็นรูปนามมันแยกออกจากกัน ไม่เคยเห็นรูปนามแสดง ไตรลักษณ์ แล้วเห็นมากขึ้น ถ้าสติ สมาธิ ปัญญาเราดีขึ้น แสดงว่าการปฏิบัติเรามาถูกทางแล้ว ถ้าถูกทางแล้วทำอย่างไร ถูกทางแล้วก็ทำอีก ทำบ่อยๆ ทำเนืองๆ ฝึกไปเรื่อย

พอภาวนาไปๆ บางทีจิตมันพลิกไปเป็นสมาธิ มันก็เกิดนิมิต เกิดอะไรขึ้นมา อย่าหลงตามดูออกไปข้างนอก อย่าหลงตามรู้ ตามเห็นออกนอก ให้รู้ทันว่าตอนนี้อย่างเห็นเทวดาโผล่ขึ้นมา แหม ถือดอกไม้ธูปเทียนมาเลย เรานั่งภาวนาอยู่บ้านเรานี้ เทวดาถือดอกไม้ธูปเทียนมาอนุโมทนาสาธุ แหม เสียงสะเทือนสะท้านทั่วโลกธาตุ จริงๆ ถูกกิเลสหลอกเลย มันฉายหนังให้ดู อย่าไปเชื่อง่ายๆ พวกที่ภาวนาไปไม่รอดเพราะไปติดนิมิตเยอะแยะเลย อันนี้เป็นเพราะเป็นผลของสมาธิ บางพวกก็ ติดวิปัสสนูปกิเลส ไปติดในความว่าง ติดในสติปัญญาที่เฉียบแหลม ว่องไว เอาไว้สำหรับยึด สำหรับติดทั้งหมดเลยก็สังเกตตัวเอง ไปติดอะไรก็รู้เอา สังเกตเอามันก็ จะช่วยตัวเองออกมาได้

 

ฟังจิตตัวเองให้ดี แต่ไม่ใช่เชื่อกิเลส

ทุกวันๆ ฝึก แล้วเกิดวันหนึ่งจิตรวมลงไป เราเห็นกระบวนการ เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ภายในจิตใจ ถอยออกมา เอ วูบลงไป เมื่อกี้นี้ได้โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีแล้วล่ะกระมัง บางคน หนักข้อเลย วูบ นั่งจริงๆ หลับ สัปหงกวูบ 1 ที โสดาบัน นั่งอีก วูบ สกิทาคามีแล้วอะไรอย่างนี้ วุบๆ 4 ที โอ เป็นพระอรหันต์แล้ว ดูตรงไหน ถ้าสมมติว่าเราภาวนาแล้วเราคิดว่าเราได้มรรคได้ผล ดูตรงที่กิเลส สังเกตก่อนทีแรก ตอนที่เราจะตัดสินกิเลสตัวเอง ขณะนั้นจิตติดอยู่ในสมาธิหรือเปล่า ตัวนี้สำคัญ ถ้าจิตมันทรงสมาธิอยู่ ดูกิเลสอย่างไรมันก็ไม่มีให้เห็นหรอก ดูไม่ออกหรอก จิตที่จะสังเกตกิเลสได้คือจิตของมนุษย์ธรรมดา จิตของคนปกติที่ภาวนาไม่เป็นนั่นล่ะ

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราภาวนาแล้วเกิดอะไรแปลกๆ ขึ้น อย่าเพิ่งดีใจ ถ้าเกิดสงสัยว่ามันคืออะไร รู้ว่าสงสัยไป ถ้าเกิด ไม่สงสัย หูย นี่ล่ะมรรคผลชัวร์ อย่าเพิ่งชัวร์ ค่อยสังเกตไปนานๆ ไปว่ากิเลสมันจะเกิดขึ้นอีกไหม ถ้าได้โสดาบันนี่มันไม่ควร จะมีกระทั่งเงา ไม่ควรจะมีกระทั่งเงาของความเป็นตัวตน ไม่ใช่เงาของคน เป็นเงาของจิตที่รู้สึกว่าจิตนี้คือตัวเรา ถ้าได้โสดาบันจริงๆ มันจะไม่มีเหลือเลย ความรู้สึกว่ามีเรา อยู่นี่มันจะขาดสะบั้นไปเลย เป็นสมุจเฉท ไม่กลับมามีเราอีกแล้ว ถ้ายังมีเราอยู่ก็ไม่ใช่ แต่ถ้าทำจิตอย่างนี้ ทำจิตนิ่งๆ อย่างนี้แล้วมาดูไม่มีเราๆ

เคยมีพระมาหาหลวงพ่อบอกว่า “ผมได้ธรรมะแล้ว” ไปเรียน สำนักอะไรมาก็ไม่รู้ เขาบอกว่าได้โสดาบันมาแล้วก็เชื่อเลย ว่าตัวเองได้โสดาบัน จิตไปค้างๆ ไว้อย่างนี้ หลวงพ่อบอกว่า “เห็นความเป็นตัวเราไหม” ไม่เห็น “ไม่มีครับ” ไม่บอกว่าไม่เห็น บอกเลย “ไม่มีแล้วครับ” บอกตรงนี้ไม่มีหรอก ถ้าหลุดจากตรงนี้ มันจะมีไหม โมโหเลย โกรธหลวงพ่อเลย หายไปหลายปีเลย ถ้าจิตเราไปทรงสมาธิอยู่ เราวัดกิเลสไม่ได้ สมาธิมันข่มกิเลส ไม่ให้แสดงตัว

เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนา แล้วรู้สึกน่าจะได้มรรคผลแล้ว ลองนึกถึงจิตใจสมัยที่ยังภาวนาไม่เป็น จิตของคนธรรมดา มันเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วค่อยสังเกตสิ มันมีความรู้สึกเป็นเราอยู่ไหม หรือมัน ยังมีความติดใจในกามคุณไหม มีความขัดเคืองในกามคุณอารมณ์ ไหมอะไรอย่างนี้ มันจะวัดได้ว่าภูมิจิตภูมิธรรมมันอยู่ระดับไหน ถ้ายังมีเราอยู่ ยังไม่ได้โสดาบันหรอก ยังมีความติดอกติดใจ มีความพยาบาทขัดเคือง รำคาญในกามคุณอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอะไรพวกนี้อยู่ ยังไม่ใช่พระอนาคามีหรอก

สังเกตเอา แต่มันมีตัวที่ดูยากอย่างหนึ่งคือตัวขันธ์ ตัวขันธ์ กับจิตนี่มันคนละอันกันเลย จิตที่มันหลุดออกไปแล้ว ไม่ใช่จิตอย่างพวกเรา จิตอย่างพวกเรามันอยู่ในขันธ์ จิตกับขันธ์ พอเราภาวนาสุดขีดไปแล้ว จิตมันเป็นกิริยาไปอย่างนั้นเอง ขันธ์มันทำงานของมัน ตามเรื่องตามราวของมัน ตามความเคยชินของมันไป ตรงนั้นก็ไปหาครูบาอาจารย์ช่วยสังเกตให้ ถ้าสงสัยค่อยไปเรียนเอา แต่ขั้นต้นๆ อยู่บ้านนี่ล่ะ สังเกตกิเลสเอา แต่ต้องสังเกตตอนที่จิตไม่ได้ทรงสมาธิอยู่ ถ้าจิตทรงสมาธิ อยู่จะไม่มีกิเลสให้เห็นหรอก มันจะนิ่งๆ

 

ใช้สติใช้ปัญญาสอดส่องจิตใจตัวเอง
จะได้ไม่ถูกกิเลสหลอกว่าได้ธรรมะขั้นนั้นขั้นนี้ แค่นี้ช่วยตัวเองได้อยู่
หลวงพ่อภาวนามาหลวงพ่อใช้โยนิโสมนสิการมาก

 

เพราะฉะนั้นอยู่บ้านในช่วงโควิดก็เอาเวลามาภาวนา ทำจิตใจให้มันมีเรี่ยวมีแรง ทำจิตใจให้มันตั้งมั่น ถอนตัวขึ้นจากปรากฏการณ์ทั้งหลายขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู เห็นปรากฏการณ์ทั้งหลายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง แล้วถ้าเกิดอะไรขึ้นมาก็สังเกตเอา บางอย่างเกิดเพราะสมาธิ ทำสมาธิอยู่แล้วเกิดนิมิต บางทีเจริญวิปัสสนาอยู่แล้วสมาธิตก สมาธิไม่พอเกิด วิปัสสนูปกิเลส เรื่องของสมาธิมันสำคัญ ทำสมาธิไม่ดีพอก็เกิดนิมิต ทำวิปัสสนาอยู่แล้วสมาธิไม่พอ มันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลส ฉะนั้นหลวงพ่อถึงจ้ำจี้จ้ำไชเรื่องสมาธิมาตั้งแต่แรกเลย สมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นมีเรี่ยวมีแรง ไม่เผลอ ไม่เพ่งนี่ต้องฝึก อยู่ดีๆ ไม่เกิดหรอก

ถ้าเราภาวนารู้สึกทำมาถูกต้องเรื่อยๆ เห็นสภาวะเกิดดับ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย จิตรวมลงไป รู้สึกว่าเกิดมรรคผล ถ้าไม่มีโอกาสพบครูบาอาจารย์ สังเกตตัวเองเอา ทางที่ดี สังเกตตัวเองดีที่สุด ครูบาอาจารย์ที่เราพบ ไม่แน่ว่ารู้จริง เราอาจจะเจอของเก๊ของปลอม คิดว่ารู้อะไรอย่างนี้ พาเราเตลิด เปิดเปิงไปเลยก็ได้ แต่กิเลสเรานี่ถ้าเรามีสติมีปัญญาจริงๆ สอดส่องดูแลจิตใจตัวเองดีจริง กิเลสมันหลอกเราไม่ได้หรอก วันหนึ่งเราก็รู้ทันมันว่าติดตัวนี้อยู่ๆ พอรู้ว่าติดตัวไหนแล้วก็จะพ้นจากการติดอันนั้น ติดอยู่เพราะไม่รู้ ถ้ารู้แล้วไม่ติด

ค่อยๆ ฝึกไป ทำอย่างนี้เราก็จะช่วยตัวเองได้ ไม่ต้องฟังคนอื่นมาก ฟังจิตตัวเองให้ดี แต่ไม่ใช่เชื่อกิเลส กิเลสหลอกเราว่าได้ธรรมะขั้นนั้นขั้นนี้อะไรอย่างนี้ อันนี้ต้องตรวจสอบด้วยการสังเกตกิเลสเอา ถ้าได้โสดาบันแล้วก็ไม่ควรจะมีสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สีลัพพตปรามาส การถือศีลบำเพ็ญพรตแบบงมงาย ไร้เหตุไร้ผล อันนี้จะต้องไม่มี ถ้าเป็นพระอนาคามีก็ต้องละกามและปฏิฆะได้ ค่อยสังเกตเอา

อยู่บ้านเราไม่ต้องไปวุ่นวายกับใครหรอก ใช้สติใช้ปัญญาสอดส่องจิตใจตัวเอง จะได้ไม่ถูกกิเลสหลอกว่าได้ธรรมะขั้นนั้นขั้นนี้ แค่นี้ช่วยตัวเองได้อยู่ หลวงพ่อภาวนามาหลวงพ่อใช้โยนิโสมนสิการมาก ที่ต้องอาศัยครูบาอาจารย์จริงๆ นี่ทั้งหมด 7 ครั้ง 7 เรื่องเองที่เคยถึงขนาดต้องถามครูบาอาจารย์ นอกนั้นใช้โยนิโสมนสิการสังเกตเอา แล้วก็รู้เหตุรู้ผล รู้ผิดชอบชั่วดีแล้ว เวลามีโอกาสพบครูบาอาจารย์ก็ไปเล่าให้ท่านฟัง

บางทีบางองค์ท่านหัวเราะเลยว่า เออ ฉลาด ไม่ถูกกิเลส หลอกอะไรอย่างนี้ เพราะเราไม่เชื่อง่าย หลวงพ่อไม่ใช่คนเชื่อง่าย เราสังเกตเอา ดูเหตุดูผลเอา ดูความสอดคล้องกับคำสอน ของพระพุทธเจ้าอะไรอย่างนี้ดูตัวนี้ ขนาดหลวงปู่ดูลย์ท่านสอน หลวงพ่อ มีอยู่วันหนึ่งท่านทดลองหลวงพ่อ ท่านถามว่า “เชื่อไหม” หลวงพ่อก็กราบเรียนท่านตามความรู้สึกที่แท้จริง ไม่ตอแหล หลอกลวง ท่านถามว่า “เชื่อไหม” บอกท่าน “ผมยังไม่เห็นครับ” ผมยังไม่เห็น ใจมันยังไม่เชื่อหรอก “แต่ผมจะไปปฏิบัติต่อ” แล้วท่านก็ขำเลย “อือ ใช้ได้” นี่ช่วยตัวเองมาเป็นหลักเลยในการภาวนา

ภาวนามันอยู่บ้านนี่ล่ะ อยู่บนถนนนี่ล่ะ นั่งรถไปทำงาน โหนรถเมล์ไปทำงานก็ภาวนา ไม่ได้โหนไปโมโหไป ทำอะไร ไม่ได้ โมโห ด่า ด่าใครไม่ได้ก็ด่ารัฐบาล รัฐบาล มันไม่เถียงไง ด่าทุกวันๆ ไม่ด่าอยู่คนเดียว อย่างตัวเองไม่มีวินัย ไปติดโควิดก็ด่ารัฐบาลอีก โอ้ เหลวไหลจริงๆ ฉะนั้นเราไม่โทษคนอื่น ไม่โทษสิ่งอื่น เรียนรู้กิเลสตัวเองอยู่บ้าน สบายดี.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 พฤษภาคม 2564