อย่าใจลอย ใจลอยเป็นศัตรูเบอร์หนึ่งของนักปฏิบัติ ศัตรูเบอร์สองคือพอคิดถึงการปฏิบัติก็นั่งเพ่ง นั่งจ้อง ใจลอยก็ย่อหย่อนไป ลอยไปไหน ลอยไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ลอยไปคิดนึก ลอยไปในกาม ลอยไปหารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย เป็นกามคุณอารมณ์ ลอยไปคิดเรื่องราวต่างๆ เรียกกามธรรม ก็กามเหมือนกัน คิดวนเวียนอยู่ อันนี้ย่อหย่อนไป ไม่ได้ปฏิบัติ ส่วนนักปฏิบัติร้อยละร้อยเพ่งเอา บังคับกายบังคับใจเอา แล้วทำตัวเองลำบาก
ทางสายกลางคือเราต้องมีสติ สติเป็นตัวรู้ทัน แล้วสติที่เราจำเป็นเรียกว่าสติปัฏฐาน สติปัฏฐานต่างกับสติทั่วๆ ไป สติปัฏฐานระลึกรู้รูปนาม รู้รูปรู้นาม แล้วสติทั่วๆ ไป อย่างอยากทำบุญ อยากใส่บาตร เผลอๆ เพลินๆ เพลินไป แต่จิตใจเป็นกุศล ตายไปก็เป็นเทวดาได้ อยากใส่บาตร อยากฟังเทศน์ ก็เป็นบุญ เป็นการทำบุญ ขณะนั้นก็มีสติ อยากฟังเทศน์ แต่เป็นสติธรรมดา เกิดกับกุศลพื้นๆ กุศลธรรมดา เรียกสาธารณกุศล คนไทยยืมศัพท์คำนี้มาใช้ สาธารณกุศล เป็นเรื่องทำทานสงเคราะห์อะไรต่ออะไรไป ก็ถูกเหมือนกัน แต่สติที่สำคัญสำหรับนักปฏิบัติคือสติปัฏฐาน เป็นสติระลึกรู้กาย แล้วก็ไม่ใช่รู้กายเฉยๆ รู้กายในกาย
สุ่มตัวอย่างมาศึกษา
คำว่า “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นศัพท์เฉพาะ “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นการเรียนแบบทำงานวิจัย สุ่มตัวอย่างมา สุ่มตัวอย่างของรูปธรรม สุ่มตัวอย่างของนามธรรมบางอย่างมาเรียนรู้ มันคือเหมือนกับงานวิจัยปัจจุบันนี้ล่ะ สุ่มตัวอย่างมาศึกษา ตัวอย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านเลือกไว้ให้แล้วอยู่ในสติปัฏฐาน ไปดูเอา
เรียนกายในกาย เช่น ถ้าเราเรียนกายบางอย่าง ท่านยกอันแรกเลยคืออานาปานสติบรรพ หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกสั้น รู้ว่าหายใจออกสั้น หายใจเข้าสั้น รู้ว่าหายใจเข้าสั้น เรียนรู้กายที่หายใจ ถ้ารู้กายที่หายใจก็จะเข้าใจกายทั้งหมด รวมทั้งเข้าใจไปถึงจิตที่เป็นคนรู้กายที่หายใจ ธรรมะเข้าใจยาก หลวงปู่มั่นบอกว่า “ธรรมะพอไปอยู่ในจิตปุถุชน กลายเป็นสัทธรรมปฎิรูป” เป็นธรรมะปลอมๆ ดูๆ ก็จริง ดูจากตัวเอง หลวงพ่อภาวนาเราคิดว่าเข้าใจๆ เสร็จแล้วมันก็ไม่ใช่ ที่ว่าเข้าใจไม่ใช่สักที อย่างเราอ่านสติปัฏฐาน “ภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว”
เห็นไหม ท่านให้หายใจออก หายใจออกแล้วก็หายใจเข้า ทำไมให้หายใจออกก่อน จิตมันจะไม่เหมือนกัน ถ้าอยู่ๆ เราหายใจเข้า ลงมือปฏิบัติแล้วหายใจเข้า มันจะเกร็งเลย จะแน่นๆ ถ้าเริ่มต้นหายใจออกไป สมมติในปอดเรามีลมนิดเดียว ก็ออกนิดเดียว ออกเสียหน่อยหนึ่ง ตอนที่หายใจออก จิตมันจะคลายตัวออก ตอนที่หายใจเข้า จิตมันจะรั้งเข้ามา ฉะนั้นเริ่มต้นก็หายใจออก แล้วท่านก็ไม่ได้บอกให้รู้ลมหายใจ ท่านบอกว่า “ภิกษุทั้งหลายให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว” รู้อะไร รู้ว่าหายใจออกยาว ไม่ใช่รู้ลมหายใจ คนละอันกัน ถ้าเรารู้ลมหายใจ แต่ก่อนหลวงพ่อหัดใหม่ๆ หลวงพ่อก็รู้ลมหายใจ ที่เขาหัดกัน เขาก็รู้ลมหายใจกันทั้งนั้น ถ้ารู้ลมแล้วมันจะเป็นอะไร รู้ลมแล้วจะเป็นกสิณลม ได้สติเหมือนกัน แต่จิตมันจะนิ่งๆ ไม่ทำงานต่อ
อย่างถ้าเราดูที่ลมแล้วบอกลมยาว ยาวไปถึงท้อง เราค่อยๆ หายใจ ลมจะค่อยตื้นๆๆ มาอยู่ที่ปลายจมูก นี่เราดูลม พอลมระงับจะกลายเป็นแสง ตัวลมนี้เขาเรียกว่าบริกรรมนิมิต เป็นที่สังเกต หรือใช้ลมแล้วก็พอลมมันระงับ กลายเป็นแสงสว่าง อันนี้เรียกอุคคหนิมิต เสร็จแล้วก็เล่นกับแสงได้ ค่อยๆ ฝึกจนชำนาญ นึกถึงปุ๊บสว่างเลย แล้วแสงนั้นเรากำหนดให้เล็กก็ได้ ให้ใหญ่ก็ได้ เวลากำหนดให้ใหญ่ ทำความรู้สึกเหมือนเราเป็นพระอาทิตย์ เป็นพระจันทร์ ส่องแสงสว่างไปทั่วโลก เวลาให้เล็กทำยาก ให้จิตจดจ่อลงไปที่จุดๆ เดียว มันจะบีมแสงออกมา แล้วแสงอันนั้นจะเข้มมาก เข้มข้นเลย มันเล็กถึงขนาดว่ามันลอดรูเข็มได้ เราฝึก อันนี้เรียกว่าปฏิภาคนิมิต ทำตรงนี้ก็ยากแล้ว แต่ตรงนี้คืออุปจารสมาธิ ยังไม่ถึงฌาน
เพราะฉะนั้นในยุคของเรา จะทำให้ถึงฌานไม่ใช่เรื่องง่าย เราทำฌานไม่ได้ การเจริญปัญญาบางอย่างต้องใช้กำลังสมาธิสูง คือกายานุปัสสนากับเวทนานุปัสสนา อันนี้ต้องใช้กำลังของสมาธิมาก มันเหมาะกับสมถยานิก เหมาะกับคนเล่นฌาน ถ้าเราทำไม่ได้ เราก็ต้องลดระดับลง ยอมลดระดับลง เพราะว่าเราทำไม่ได้ เข้าฌานไม่ได้ คนยุคนี้สมาธิสั้น ให้ไปเข้าฌานทำไม่สำเร็จหรอก 100 คน 1,000 คน จะได้สักคนยังแสนยากเลย ลดระดับลงมา ปรับ เรามาดูที่พระพุทธเจ้าสอนใหม่ “ภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว” รู้อะไร รู้การหายใจ ไม่ใช่รู้ลมหายใจ
อย่างร่างกายเราขณะนี้มันหายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก รู้ไปอย่างนี้เรื่อยๆ ไม่นานจิตก็สงบ แถมบางคนจิตก้าวกระโดดขึ้นไปได้ เห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดู เห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดู มันก้าวเข้าไปสู่การแยกขันธ์เลย โดยที่ไม่ได้ผ่านการทำฌาน เพราะทำฌานไม่ได้ ไม่ต้องฝืน ทำได้ก็ทำ อนุโมทนาด้วย แต่ว่าคนยุคนี้ที่ทำฌานได้มีน้อยจริงๆ นับตัวได้ ไม่มาก แล้วฝึกกันหลายปี อย่างพระที่ท่านเดินสายทำฌาน ฝึกหลายปีกว่าจะทำได้ บางองค์ตั้งหลายปีก็ยังทำไม่ได้ ก็ได้แต่เพ่งจิตแข็งๆ ทื่อๆ ไปอย่างนั้น ทุกข์ทรมาน
หัดใหม่ๆเราดูสิ่งที่เราดูได้
เราทำเท่าที่เราทำได้ เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า เห็นการหายใจ ไม่ใช่เห็นลมหายใจ ตรงนี้ไม่เหมือนกัน ถ้าเห็นลมหายใจมันจะเป็นกสิณลม เห็นการหายใจมันจะเห็นกาย ใครหายใจ กายมันหายใจอยู่ เราก็จะเห็นร่างกายนี้ เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ร่างกายนี้เดี๋ยวก็หายใจออก ร่างกายเดี๋ยวก็หายใจเข้า ร่างกายที่หายใจออกก็ถูกรู้ ร่างกายที่หายใจเข้าก็ถูกรู้ จิตมันเป็นคนรู้คนดู แล้วมันก็จะเห็นร่างกายที่หายใจอยู่ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก เป็นวัตถุธาตุ เหมือนถุง เป็นถุงทำด้วยหนัง เป็นถุงหนัง เดี๋ยวก็พอง เดี๋ยวก็ยุบลงไป ดูตัวแล้ว จะพองๆ ยุบๆ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขาหรอก
มันเหมือนกับโพรง มีเปลือกเป็นหนังหุ้มอยู่รอบๆ ภายในเป็นโพรง ข้างในเต็มไปด้วยของสกปรก อะไรที่ล้นออกมาจากโพรงนี้เรียกขี้หมดเลย ยกเว้นเยี่ยว นอกนั้นขี้หมดเลย ศัพท์ภาษาไทย ตั้งแต่ขี้หัวถึงขี้ตีน นี่ออกมา สมัยพุทธกาลพระอรหันต์ท่านก็พูด ผู้หญิงมาจีบท่าน ท่านบอกว่าท่านไม่สนใจหรอก เพราะว่าท่านมองเห็นผู้หญิงที่ว่าสวยๆ ก็เหมือนถุงหนังใบหนึ่ง มีรูรั่วใหญ่ๆ อยู่ 9 รู ไปนับเอาเอง มีรูรั่วเล็กๆ นับไม่ถ้วน มีของโสโครกไหลชุ่มออกมาเป็นนิจ นี่ดูกายทั้งตัวเลย เห็นมันไม่ใช่เรา มันเป็นของสกปรก เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ มันจะค่อยๆ ปลูกฝังสัญญาที่ถูกต้อง
สัญญาที่ถูกต้องมี 4 อย่าง เห็นของซึ่งเป็นปฏิกูลอสุภะ ว่าเป็นปฏิกูลอสุภะ อย่างกายเรานี้เป็นปฏิกูลอสุภะ ไม่ใช่สวยได้งามอะไรหรอก ไม่ใช่ของสะอาด ผู้หญิงสวยๆ นางงามจักรวาล ไม่อาบน้ำสักเดือนหนึ่ง ไม่มีใครมองแล้ว ทนไม่ไหวแล้ว ไม่อยากเข้าใกล้ หรือสาวงามในหัวเต็มไปด้วยเหา ไม่มีใครเอา ขยะแขยง มีไข่เหาเต็มเลย สัญญาที่ถูกอันแรกก็คือ หมายรู้สิ่งที่เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ ว่าเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ หมายรู้ของไม่เที่ยงว่าเที่ยง หมายรู้ของที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ คำว่าทุกข์ตัวนี้ไม่ใช่ทุกข์ทรมาน ไม่ใช่ทุกขเวทนา ทุกข์ตัวนี้หมายถึง ทุกขลักษณะ ทุกขตา ศัพท์มันเยอะ รวมความก็คือมันเป็นสิ่งซึ่งกำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลาย อย่างเราดูกาย เรารู้สึก กายนี้กำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลาย หายใจออกทีหนึ่ง ก็ตายไปหน่อยหนึ่ง หายใจเข้าอีกหน่อยหนึ่ง ก็ตายไปอีกหน่อยหนึ่ง เดี๋ยวก็แก่ ก็ตายจริงๆ นี่เรียกทุกขตา
หรือความสุข จิตใจเรามีความสุข อย่างงานปีใหม่เคานต์ดาวน์ มีความสุข ความสุขตัวนั้นก็กำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ถ้าความสุขไม่ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย สุขเมื่อคืน เดี๋ยวนี้ก็ต้องยังสุข ปีหน้าก็ยังสุข สุขไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักแตกสลาย ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ มันกำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ทั้งร่างกาย ทั้งความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ขันธ์ 5 นั่นล่ะ มันเป็นทุกขตา คือมันกำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป แล้วการที่ขันธ์ 5 จะมีอยู่ จะเกิดขึ้น จะตั้งอยู่ หรือจะแตกสลายไป เราสั่งไม่ได้ มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน
อย่างเราสั่งร่างกายอย่าแก่ อย่างนี้สั่งไม่ได้ อย่าเจ็บสั่งไม่ได้ อย่าตาย สั่งไม่ได้ สั่งร่างกายว่าจงมีแต่ความสุข สั่งไม่ได้ สั่งว่าร่างกายอย่าทุกข์ สั่งไม่ได้ สั่งจิตใจว่าจงมีแต่ความสุข ก็สั่งไม่ได้ สั่งว่าจิตใจอย่าทุกข์ก็สั่งไม่ได้ พอมีความสุขแล้วสั่งว่าจงสุขไปเรื่อยๆ ก็สั่งไม่ได้ มีความทุกข์แล้วสั่งว่า ความทุกข์จงหายไป ก็สั่งไม่ได้ อันนี้เรียกว่าอนัตตตา อนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เป็นไปตามเหตุของมัน ถ้าเรากระทบอารมณ์ที่พอใจ ก็มีความสุขขึ้นมา พอไม่ได้กระทบอารมณ์อันนั้น เราจะสั่งให้สุขไปเรื่อยๆ สั่งไม่ได้ มันไม่สุขหรอก ไม่อยู่ในอำนาจ
ตัวสังขารความปรุงดีปรุงชั่วก็เหมือนกัน นี่ศัพท์ในทางศาสนาพุทธ บางทีคำหนึ่งอยู่คนละที่กัน มันคนละความหมายกัน อย่างทุกข์ บางทีก็บอกว่าความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ ละเอียดลึกซึ้งลงไปอีกบอกว่าขันธ์ 5 เป็นทุกข์ อยู่คนละบริบท แล้วอธิบายต่างกัน หรือคำว่า “ทุกข์” มีตั้งหลายแบบ ทุกข์ทรมาน ทุกขเวทนา หรือทุกขตา ก็ไม่เหมือนกัน ทุกขตาหมายถึงสภาวะทั้งหลาย ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม รวมทั้งความสุขด้วย ล้วนแต่ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย อยู่ไม่ได้ตลอด
คำว่า “สังขาร” ก็เหมือนกัน สังขารในคำที่มีความหมายกว้าง ก็คือสิ่งซึ่งถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา ก็คือตัวขันธ์ 5 นั่นล่ะเป็นสังขารทั้งหมด
ร่างกายเราก็เป็นสังขาร ปรุงแต่งขึ้นมาด้วยกำลังของกรรม แล้วอยู่ไปช่วงหนึ่ง สุดท้ายก็ต้องแตกสลายด้วยความร้อนบ้าง ความเย็นบ้าง มีอันตรายต่างๆ สังขารมันมีลักษณะที่ว่า มันมีเหตุให้เกิด แล้วสังขารทั้งหมดคือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งทั้งหมด สุดท้ายก็ต้องแตกสลายทั้งหมด ลักษณะทั่วๆ ไป เรียกลักษณะทั่วไปของสังขาร คือสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงถูกบีบคั้น แล้วก็สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา นี่สังขารในมุมกว้าง สังขารที่แคบลงมา ก็คือพวกความรู้สึกที่จิตมันปรุงขึ้น มันปรุงกุศลบ้าง ปรุงอกุศลบ้าง อันนี้เรียกอยู่ในสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้นเวลาเราฟังศัพท์ธรรมะ เราต้องรู้ว่าตอนนี้ฟังเรื่องอะไรอยู่ จะได้ไม่ตีความเพี้ยนไป
ทีนี้อย่างเราดูสังขาร ตอนที่หลวงพ่อหัดดูจิต หลวงพ่อดู 2 อันที่เกิดขึ้นกับจิต คือดูเวทนากับดูสังขารที่เกิดขึ้นกับจิต หลวงปู่ดูลย์บอกให้หลวงพ่อดูจิต หลวงพ่อก็ดู ก็เห็นจิตบางดวงมีความสุข จิตบางดวงมีความทุกข์ จิตบางดวงไม่สุขไม่ทุกข์ เห็นจิตบางดวงเป็นกุศล บางดวงเป็นกุศลที่มีกำลังแรง เกิดอัตโนมัติ เป็นกุศลแล้วเจริญปัญญาได้ บางดวงเป็นกุศล แต่ไม่เจริญปัญญา บางดวงเป็นกุศล แต่ต้องเร้าให้เกิด บางดวงเป็นกุศลที่เกิดเอง บางดวงก็เป็นอกุศล ก็ลักษณะเดียวกัน มีหลากหลาย อกุศลนี่จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง ตัวใหญ่ๆ
ตอนที่หลวงพ่อหัดดู หลวงพ่อดูสุข ทุกข์ เฉยๆ ที่เกิดกับจิต ดูอย่างหนึ่ง แล้วดูจิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศล ดูอีกอย่างหนึ่ง คือดูอยู่ 2 ขันธ์ ก็เห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตเฉยๆ เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตโลภเกิดแล้วดับ จิตโกรธเกิดแล้วดับ จิตหลงเกิดแล้วดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วดับ จิตหดหู่เกิดแล้วดับ เห็นอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วต่อไปสติปัญญามันแข็งแรงขึ้น สมาธิดีขึ้น มันเห็นลึกลงไปอีกทีหนึ่ง เห็นว่าจิตเกิดที่ตา เกิดแล้วก็ดับ เกิดที่หู เกิดแล้วก็ดับ เกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เกิดตรงไหนดับตรงนั้น
ทีแรกยังไม่เห็นถึงตรงนี้ เห็นจิตเดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ ไหลไปทางนี้แล้วมีความสุข ไหลไปทางนี้มีความทุกข์ ไหลไปทางนี้โลภโกรธหลง เห็นจิตเหมือนจิตมีดวงเดียว หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงจับอารมณ์โน้น จับอารมณ์นี้ที ตอนที่หลวงพ่อหัดดูทีแรกดูอย่างนี้ รู้สึกจิตคงที่ เป็นผู้รู้ผู้ดู แล้วก็เห็นมันทำงาน เดี๋ยวมันก็ไปจับเอาความสุข จับเอาความทุกข์ จับเฉยๆ จับกุศล จับโลภโกรธหลง ฟุ้งซ่านหดหู่ ดูๆๆๆ ไปเรื่อย แต่จิตเราตั้งมั่นเป็นคนดูอยู่ ไปถามหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ครับจิตมันอยู่ตรงไหน หลวงปู่บอก จิตไม่มีที่ตั้ง จิตไม่มีที่ตั้งหรอก มันไม่มีที่ตั้ง อันนี้หมายถึง ไม่มีที่ตั้งถาวร จิตไปตั้งอยู่ ไปเกิดอยู่ที่ไหนจิตก็ดับอยู่ที่นั่นเลย จิตไปดูรูป แล้วก็ดับลงที่ตา เกิดที่ตาแล้วก็ดับที่ตา จิตได้ยินเสียง เกิดที่หูแล้วก็ดับที่หู จิตเกิดทางใจ เกิดขึ้นแล้วก็ดับที่ใจ อันนี้มันละเอียดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง
หัดใหม่ๆ พวกเราดูสิ่งที่เราดูได้ หัดดูไปเรื่อยๆ จิตเราสุขเราก็รู้ ขณะนี้จิตมีความสุข ขณะนี้จิตมีความทุกข์ ขณะนี้จิตเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ รู้แค่นี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องรู้อะไรเยอะอย่างที่หลวงพ่อบอกหรอก สไตล์หลวงพ่อมันประเภท เวลาเรียนอะไรนี้เรียนแล้วกัดติดไม่เลิก ถ้ารู้ไม่ทะลุปรุโปร่ง จิตไม่เลิก วนเวียนศึกษาอยู่อย่างนั้นล่ะ พอแจ่มแจ้งแล้วถึงจะวาง ถึงจะยอมปล่อย ถ้ายังไม่แจ่มแจ้ง ไม่ปล่อย ทีนี้บางคนเขาดูนิดเดียวเขาปล่อย ก็ง่าย อันนั้นก็เอาตัวรอดได้ แต่ถ้าจะเรียนเพื่อวันหนึ่งจะทำงานเป็นครู จิตมันจะเรียนเยอะเลย เรียนในแง่มุมต่างๆ ไม่อย่างนั้นรับมือลูกศิษย์ไม่ไหว อันนี้เป็นเรื่องของจิตเอง ไม่ใช่เราตั้งเป้าว่าเราจะทำงานอย่างนี้ จิตมันทำของมันเองล่ะ ฉะนั้นพวกเราไม่ต้องดูเยอะอย่างที่หลวงพ่อดูก็ได้ จิตขณะนี้มีความสุขก็รู้ จิตขณะนี้มีความทุกข์ก็รู้ จิตขณะนี้ไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ แค่นี้ก็พอแล้ว
ในความเป็นจริง จิตทุกดวงต้องประกอบด้วยเวทนาเสมอ เวทนาเป็นองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิตทุกๆ ดวง เวทนามี 3 ชนิดเท่านั้น คือ สุข ทุกข์กับเฉยๆ เป็นอุเบกขา ฉะนั้นจิตบางดวงจะมีความสุข จิตบางดวงมีความทุกข์ จิตบางดวงเฉยๆ ถ้าเราเห็นว่าจิตสุขไม่เที่ยงบังคับไม่ได้ จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยงบังคับไม่ได้ จิตเฉยๆ ไม่เที่ยงบังคับไม่ได้ เห็นแค่นี้จะรู้เลยว่า จิตทั้งหมดบังคับไม่ได้ เพราะจิตทั้งหมดก็มีอยู่แค่นี้ล่ะ คือจิตที่สุข จิตที่ทุกข์ จิตที่ไม่สุขไม่ทุกข์ ดูอย่างนี้ก็ได้ หรืออันนี้เราดูเวทนาทางใจ ทำสติปัฏฐาน อ่านจิตตัวเอง แต่ว่าอ่านผ่านเวทนาทางใจ แค่นี้ก็พอแล้ว ถึงจุดหนึ่งมันจะรู้ว่าจิตทั้งหมด จิตทุกดวง ไม่ว่าจะสุข ทุกข์หรือเฉยๆ เกิดแล้วดับทั้งสิ้น แล้วก็บังคับไม่ได้ แค่นี้พอแล้ว แค่นี้บรรลุมรรคผลได้แล้ว หรือบางคนรู้สึกตัวนี้น้อยไป หรือดูสามัญไม่สะใจ ก็ดูจิตที่เป็นกุศล อกุศล กุศลก็มีหลากหลาย อกุศลก็มีหลากหลาย เยอะแยะ
เรียนแบบวิจัย
อย่างหลวงพ่อเป็นคนขี้โมโห เวลาหลวงพ่อจะดูสังขารขันธ์ ความปรุงของจิตตัวนี้ หลวงพ่อก็จะเห็นความโกรธเกิดบ่อย ทีแรกต้องโกรธแรงๆ ถึงจะเห็น แล้วก็รู้สึกว่าวันหนึ่งโกรธไม่กี่ครั้ง ทีนี้พอดูเป็นแล้วสติไวขึ้นๆ เห็นโกรธได้ทุกวี่ทุกวัน โกรธได้ทั้งวัน มันเป็นความขัดใจ เป็นความขุ่นใจ รู้จักขุ่นใจไหม ขุ่นๆๆ ยังไม่ทันโกรธออกมา แหม มันขุ่นๆ มันกรุ่นๆ ด้วย ภาษาไทยนี่สุดยอดจริงๆ แจกแจงสภาวะได้เยอะจริงๆ มันขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว ทีแรกก็เห็น ต้องโกรธแรงๆ ถึงจะเห็น พอดูโกรธแล้วรู้ โกรธแล้วรู้ เรื่อยๆ ต่อไปจิตมันจำลักษณะของความโกรธได้ มันไม่พอใจ เป็นความไม่พอใจ ไม่พอใจอะไร ไม่พอใจอารมณ์ที่กำลังปรากฏอยู่ อยากจะผลักมันให้กระเด็นไป
อย่างเราไม่ชอบใครสักคนเราโกรธใช่ไหม เห็นหน้ามัน อยากจะเอาเท้ายันให้ไปไกลๆ เลย อย่างนี้โกรธ คือผลักออกไป ถ้ารักก็จะดึงเข้ามา เห็นหมาเห็นแมวน่ารักก็วิ่งเข้าไปหา ไปลูบไปไล้ มันมีอาการ ทีนี้เราเห็นจิตมันโกรธมันจะผลัก ผลัก ทีแรกก็ต้องหยาบๆ ทีนี้พอภาวนาไปเรื่อยๆ วันหนึ่งอยู่ในห้องซึ่งแสงพอดีไม่รบกวน พอเปิดประตูห้องนั้น แสงแดดกระทบเปลือกตา มันปุ๊บนี่เราหลับตาทันที แสงมากระทบ หลวงพ่อเห็นความหงุดหงิดใจ โกรธพระอาทิตย์แล้ว แต่ก่อนเคยโกรธแต่คน โกรธอะไรต่ออะไร นี่โกรธพระอาทิตย์ได้ด้วย ไม่พอใจ เริ่มเห็นละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น ค่อยๆ ฝึกไป ความโลภ ความโกรธ ความหลงอะไรก็เหมือนกัน ทีแรกก็ต้องเห็นตอนหยาบๆ
ในบรรดากิเลสทั้งหลาย โทสะเป็นกิเลสที่หยาบที่สุด ดูง่ายที่สุด ละง่ายที่สุด เพราะมันดูง่าย รู้ง่าย แล้วมันเห็นเลยโทสะเกิดแล้วมันไม่มีความสุข เวลาเราจะโกรธใครสักคนไปดูให้ดี แล้วเราจะไม่อยากโกรธใครหรอก เพราะทันทีที่เราโกรธเขา เขายังไม่ทันรู้เลย ใจเราไม่มีความสุขคนที่หนึ่งเลย ตัวเองไม่มีความสุข เพราะเวลาความโกรธเกิดขึ้น ทุกขเวทนาทางใจเกิดร่วมด้วยทุกทีเลย เวลาโทสะเกิด เพราะฉะนั้นเวลาเราจะโกรธใครสักคน รีบย้อนมาดูเลย นี่มันทุกข์แล้ว ถ้าดูเห็นตัวเองทุกข์มันจะเลิก ขี้เกียจโกรธแล้ว จะโกรธทำไมให้ตัวเองเป็นทุกข์ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกต จะเข้าใจมากขึ้นๆ แล้วก็จะเห็นเลย จิตทั้งวันมี 2 แบบเอง สำหรับคนขี้โมโห คือทั้งวันจิตมี 2 อย่าง จิตโกรธกับจิตที่ไม่ได้โกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่ได้โกรธ
ตอนที่ไม่ได้โกรธอาจจะเป็นกุศลก็ได้ เป็นจิตโลภก็ได้ เป็นจิตหลงเฉยๆ ก็ได้ ไม่โกรธ ค่อยๆ สังเกตไป ทั้งวันจิตมี 2 ชนิด คือจิตที่โกรธกับจิตที่ไม่โกรธ ถ้าเห็นตรงนี้แจ่มแจ้ง เราจะเข้าใจจิตทั้งหมด นี่เรียกว่าจิตในจิต เรียนรู้จิตบางอย่าง ก็คือจิตโกรธกับจิตไม่โกรธ เรียนคู่เดียวนี่ล่ะ ถ้าเราเข้าใจว่า ถ้าจิตโกรธ ไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวเรา จิตไม่โกรธไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา จิตทั้งหมดจะไม่เที่ยง จะไม่ใช่ตัวเรา นี้คือการเรียนแบบทำวิจัย เรียกว่า “ธัมมวิจยะ” เรียนแบบวิจัย ธัมมวิจยะ ทำวิจัย สุ่มตัวอย่าง ตัวอย่างที่สุ่มมานี้ ที่ยกมานี้ก็คือ โกรธกับไม่โกรธ เรียนนิดเดียว
ฉะนั้นธรรมะสำหรับคนคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเรียนเยอะๆ อะไร สภาวะอันใดที่เรารู้ได้ชัด รู้ได้บ่อย เอาอันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา อย่างรู้กาย ดูจิตไม่เป็น ไม่ต้องไปดู ไม่ต้องโหยหา ก็รู้สึกร่างกายไป ร่างกายหายใจออกยาวก็รู้ ร่างกายหายใจเข้ายาวก็รู้ นี่เป็นเซ็ตหนึ่ง ถ้าร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ไม่ใช่เรา ร่างกายทั้งหมดจะไม่ใช่เรา หรือไม่ชอบดูร่างกายหายใจ ก็ดูร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนก็ได้ ทั้งวันอิริยาบถใหญ่ๆ ก็มี ยืน เดิน นั่ง นอนนี่ล่ะ กระโดดโลดเต้นอะไรมีไม่มาก ใครจะกระโดดทั้งวัน ส่วนใหญ่ก็ยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าเราเห็นว่าร่างกายที่ยืน ที่เดิน ที่นั่ง ที่นอนเป็นของไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ถูกความทุกข์บีบคั้น บังคับไม่ได้ไม่ใช่ตัวเรา จะรู้ร่างกายทั้งหมดไม่ใช่ตัวเรา เรียนแค่ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน แล้วจะเข้าใจกายทั้งหมด อย่างนี้ก็ได้
หรือบางคนรู้สึกดูอิริยาบท 4 มันหยาบไป นานๆ จะเคลื่อนไหวทีก็ดูอริยาบทย่อย ร่างกายขยับ เราขยับอยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยก็มือขยับ เท้าขยับ อะไรอย่างนี้ เป็นไปตามความเคยชิน ถ้าร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก ร่างกายหยุดรู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก ร่างกายหยุดรู้สึก นี่เป็นอีกเซ็ตหนึ่ง ถ้าเราเรียนว่าร่างกายที่เคลื่อนไหว ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ร่างกายที่หยุดนิ่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตมันจะปิ๊งขึ้นมา ร่างกายทั้งหมด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่เรียนแบบสุ่มตัวอย่าง คืองานวิจัย ไม่ต้องเรียนทั้งหมดแต่เวลาเข้าใจ เข้าใจทั้งหมด
หลวงพ่อไม่ได้เริ่มจากกาย หลวงพ่อทำอานาปานสติ จนจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ แล้วหลวงพ่อก็ดูจิตใจ เดี๋ยวมันก็สุข เดี๋ยวมันก็ทุกข์ เดี๋ยวมันก็ดี เดี๋ยวมันก็ชั่ว เดี๋ยวมันก็หลงไปทางตา เดี๋ยวมันก็ไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เดี๋ยวก็ไหลไปทำงานทางใจ เห็นเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับไปเรื่อย สุดท้ายถึงจุดหนึ่งจิตมันก็ปิ๊งขึ้นมา จิตทุกดวง ไม่เที่ยง จิตทุกดวงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เรียนจุดเล็กๆ เรียนจุดเล็กๆ นิดเดียว เวลาเข้าใจ เข้าใจทั้งหมดเลย ไปลองทำดู มันไม่ยากเกินไปหรอก
หลวงปู่ดูลย์สอน “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” ไม่ยากอย่างไร อย่างสมมุติเราจะดูจิตโกรธ เราขับรถอยู่ คนมาขับรถปาดหน้าเรา เราโกรธ แต่เวลาเราโกรธสังเกตให้ดี เราจะไปดูคันที่ปาดเรา เรากะเอาคืน เราไม่เห็นว่าจิตกำลังโกรธ เราต่างกับมนุษย์ธรรมดาตรงนี้เอง คนทั่วไปเวลาโกรธมันจะตะลุยออกไป มองสิ่งที่มันโกรธ เวลามันรัก หรือมันโลภ มันอยากได้อะไร จิตมันจะถลำออกไปหาสิ่งที่มันรัก หาสิ่งที่มันอยากได้ เวลามันหลงจิตมันก็เผลอๆ เพลินๆ ลืมเนื้อลืมตัวไป ของเราก็โลภ โกรธ หลง ปกติ คนอื่นเขาโลภเราก็โลภเป็น เขาโกรธเราก็โกรธเป็น เขาหลงเราก็หลงเป็น ไม่ต้องไปห้ามมัน
อย่างคนมาด่าเรา เราโกรธ ก็ไม่ต้องทำเป็นว่าฉันเป็นนักปฏิบัติ ฉันต้องไม่โกรธๆๆ หัวอกจะระเบิดแล้ว ไม่ต้องทำตัวให้มันผิดธรรมชาติขนาดนั้น โกรธก็ได้ โลภก็ได้ หลงก็ได้ เห็นไหมเรียนกับหลวงพ่อ ใจดีๆ จะโกรธก็ได้ จะโลภก็ได้ จะหลงก็ได้ แต่เราต่างกับคนอื่น คนอื่นเวลาโกรธเขาจะไปสนใจสิ่งที่ทำให้ไม่พอใจ เวลาเขารัก เขาโลภ เขาจะไปสนใจในสิ่งที่เขาพอใจ เวลาเขาหลงเขาจะจับอารมณ์ได้ไม่ชัดเจน ของเราเป็นนักปฏิบัติ เวลาโกรธเราไม่สนใจคนที่ทำให้โกรธ แต่เรารู้ว่าจิตกำลังโกรธ เวลารัก เราไม่วิ่งตามไปดูคนอื่นหรอก ไม่ต้องไปดู เห็นสาวงามแล้วใจมันชอบ ไม่ต้องวิ่งไปดู ดูที่ใจก่อน ใจมันมีราคะเกิดขึ้นแล้ว ดูที่ใจ เวลาหลง รู้ทัน อ้าว เมื่อกี้จิตมันหลงไป ใจมันก็จะกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เราก็ยังกระทบอารมณ์เหมือนคนปกติ
นักปฏิบัติไม่ต้องหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์
นักปฏิบัติกระทบอารมณ์เหมือนคนปกติ กระทบแล้วจิตก็ปรุงแต่งเหมือนคนปกติ สิ่งที่ไม่เหมือนคนทั่วๆ ไปก็คือ เราย้อนมาสังเกตตัวเอง ในขณะที่คนทั่วๆ ไปมันออกข้างนอกหมดเลย โกรธใครมันก็ไปดูคนนั้น รักใครมันก็ไปดูคนนั้น ทีนี้เราโกรธปุ๊บ ใจกำลังโกรธรู้ว่าใจกำลังโกรธ ใจรักมันเกิดความรัก รู้ว่าใจกำลังรักขึ้นมา มันหลง รู้ว่าใจกำลังหลงขึ้นมา เราต่างกับคนอื่นตรงนี้นิดเดียว ไม่ได้ต่างเยอะ ไม่ใช่ว่าเฉยๆ ทั้งวัน ให้หลวงพ่ออยู่ทั้งวันก็อยู่ได้ อยู่แบบเขาเรียกอะไร นั่งโง่ๆ ใช่ไหม ศัพท์เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่านั่งโง่ๆ นั่งโง่ๆ ทั้งวัน ที่จริงถึงไม่ต้องไปแกล้งนั่งโง่ๆ ตามป่าตามเขาตามแม่น้ำลำธาร มันก็โง่อยู่แล้วล่ะ ไม่ต้องไปฝึกนั่งโง่ๆ ฝึกรู้สึกตัว อ่านใจตัวเองให้ออก แทนที่จะสนใจแต่ของข้างนอกให้สนใจที่ตัวเอง
อย่างถ้าจิต ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้ว จิตเราเป็นอย่างไรขึ้นมา ดูตัวนี้ ไม่ใช่ดูที่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่ใช่เพลินไปในเรื่องราวที่คิด ย้อนกลับมา รู้เท่าทันตัวเอง แค่นี้เองที่มันต่างกับชาวบ้านเขา มันมีโอปนยิโก น้อมเข้ามาหาตัวเอง ส่วนมีตามันก็เห็นรูป บางครั้งก็เห็นรูปที่ดี เพราะกุศลวิบากให้ผลมา บางครั้งก็เห็นรูปไม่ดี อกุศลวิบากให้ผลมา พอกระทบรูปแล้วเกิดความรู้สึกสุขทุกข์ขึ้นมาก็เกิดได้ เกิดกุศล อกุศลก็ยังเกิดได้ แต่ไม่มัวแต่เพลินดูที่รูป อะไรเกิดขึ้นที่จิตรู้เลย เห็นรูปนี้ปุ๊บมีความสุข รู้ว่ามีความสุขแล้วไม่มัวแต่เพลินดูรูป มีความสุขแล้วราคะเกิดขึ้น รู้ว่ามีราคะเกิดขึ้น ไม่เพลินดูรูป
เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็เหมือนกัน ใช้หลักเดียวกัน กระทบไปตามธรรมชาติ ห้ามไม่ได้ ก็มีตา ไม่ใช่ตาบอด ไม่ต้องหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ ถ้าไม่กระทบอารมณ์ อย่างเราไม่กระทบทางตา นั่งหลับตาทั้งวันแล้วคิดว่าจะบรรลุง่าย ถ้าอย่างนั้นคนตาบอดบรรลุก่อนเราแล้ว เขาไม่เห็นอะไรเลย แล้วถ้าพวกได้ยินเสียงแล้วไม่ดี จิตใจวุ่นวายไม่อยากได้ยินเสียง ถ้าการไม่ได้ยินเสียงแล้วบรรลุเร็ว คนหูหนวกก็บรรลุเร็ว นี่ไม่ใช่ เรามีตาเราก็ดู มีหูเราก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัส มีใจก็คิดนึกไปตามเรื่องของมัน แต่พอกระทบอารมณ์แล้วเกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ให้รู้ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ เกิดกุศลก็รู้ เกิดอกุศลก็รู้ เกิดพอใจก็รู้ เกิดไม่พอใจก็รู้
หัดรู้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เราต่างกับคนทั่วไปแค่นี้เอง ไม่ใช่เป็นนักปฏิบัติทำอะไรก็ต้องไม่เหมือนชาวบ้าน จะตักข้าวกินทีหนึ่ง 10 นาทีข้าวยังไม่ถึงปาก ทรมาน จะเดินแต่ละก้าว จะข้ามถนน มองข้างขวา ไม่มีรถ มองข้างซ้าย ไม่มีรถ เดินแล้วรถทับเลย ไม่ต้องทำพิเรนทร์อย่างนั้น พระสารีบุตรว่องไวออก เห็นหลวงตามหาบัวไหม หลวงตามหาบัวไม่เป็นอย่างนั้น ธรรมชาติของท่านเป็นอย่างไรท่านก็เป็นอย่างนั้น
หลวงตาท่านเคยพูดเลยว่า ถ้าพวกพระ บอกพระเรา ถ้าเลียนแบบจริยวัตรหลวงปู่เทสก์ได้ เลียนกิริยาอาการหลวงปู่เทสก์ได้ จะเป็นพระที่งดงามที่สุดเลย เพราะหลวงปู่เทสก์งดงามที่สุดเลย หลวงตาบอกว่าถ้ามาเลียนแบบท่าน ไม่งาม กิริยาอาการของท่าน งามเฉพาะตัวท่าน เพราะธรรมชาติของท่านเป็นอย่างนี้ ท่านไม่ได้เสแสร้ง แต่ถ้าเสแสร้ง ไม่งาม แล้วมันน่าเกลียดจริง อย่างถ้าแกล้ง ยึกยักๆ เห็นหลวงตากระดุกกระดิกเร็วๆ เลียนแบบ ไม่งามหรอกดูน่าเกลียด เพราะไม่ใช่ธรรมชาติเดิมของเรา เราไม่ได้เสแสร้ง เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เป็นวาสนาไม่ใช่ไปก็อปปี้ของใครได้
เพราะฉะนั้นเราเป็นคนธรรมดานี่ล่ะ มีตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ กระทบแล้วมันสุขก็รู้ มันทุกข์ก็รู้ มันเกิดกุศลก็รู้ เกิดอกุศลก็รู้ จิตยินดีพอใจก็รู้ จิตไม่พอใจก็รู้ หัดรู้ไปอย่างนี้ ดูกายก็เหมือนกัน ดูกายมันทำงานไป อย่างทางกายเวลาอากาศเย็นๆ มากระทบกาย อากาศที่เย็นเป็นโผฏฐัพพะ เป็นสิ่งภายนอกที่มากระทบ ลมเย็นๆ มากระทบปุ๊บ ร่างกายมีความสุข คนทั่วไปเป็นอย่างไร ลมเย็นๆ มากระทบ แหมดีจัง ไม่รู้ว่าร่างกายกำลังมีความสุข ไม่รู้ว่าจิตใจกำลังชอบ มันต่างกันนิดเดียว อย่างเราชอบอากาศเย็น พออากาศเย็นมากระทบใจเราชอบ รู้ว่าชอบ หรือใจเราชอบแต่ร่างกายเราไม่ไหว
บางคนชอบอากาศเย็น แล้วก็น้ำมูกไหลตลอดเวลา ในวัดนี้มี เมื่อก่อนเคยเห็น จำไม่ได้แล้วพระองค์ไหน หนาวแทบตายเลย ใส่อังสะบางๆ ตัวเดียว แล้วขี้มูกก็ไหลๆๆ หนาว ชอบอากาศเย็น ร่างกายชอบไหม ร่างกายไม่ชอบแต่ใจมันชอบ ถ้าเรารู้กายเราก็เห็น ร่างกายแสดงอาการประท้วงแล้ว ร่างกายได้กระทบ ร่างกายมีปฏิกิริยาขึ้นมา เราไม่ได้เจตนาให้ขี้มูกไหล ขี้มูกไหลเอง ร่างกายนี้ไม่เที่ยง ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา
ดู จะดูกาย ดูใจ อะไรก็ดู อย่ามัวแต่ดูรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสภายนอก อย่ามัวแต่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด ให้คอยรู้ ถ้ารู้กายก็คือ ตาเห็นรูป รู้ ตาเป็นคนเห็น ตาเป็นช่องทางที่เห็น หูได้ยินเสียง ไม่ใช่เพลินที่เสียง เสียงกระทบหู จิตเป็นคนรับรู้ รู้อย่างนี้ ยากไหม ไม่ยาก ถ้าหลวงหลวงพ่อบอกว่าอย่าดูรูป อย่าฟังเสียง อย่าดมกลิ่น อย่าลิ้มรส อย่ารู้สัมผัสทางกาย อย่าคิด ยาก เพราะมันเป็นไปไม่ได้ หลวงพ่อไม่ได้บอกอย่างนั้น หลวงพ่อบอกว่าถ้าตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์แล้ว เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ที่กายที่ใจคอยรู้สึกไว้ บางคนรู้สึกที่ใจไม่ได้ ก็รู้สึกกายไปก่อน
อย่างเวลาเราเจอคนที่เราไม่ชอบหน้าเลย มันพูดยั่วกวนประสาทเรา เราโกรธแล้วเราดูไม่ทันว่าจิตกำลังโกรธ เราขยับมือแล้ว จะชกมันแล้ว เราเคยเจริญสติด้วยการรู้กาย เราดูจิตไม่เป็น จิตมันโกรธเราไม่เห็น แต่มือเราเริ่มขยับจะชก เรามีสติรู้การเคลื่อนไหว สติเกิดเอง แทนที่สิ่งที่ส่งออกไปจะเป็นกำปั้น ส่งออกไป เชคแฮนด์ดีกว่า ดีกว่าชกกัน นี่สติ เวลาเรารู้สึกกายบ่อยๆ ถ้าเราดูจิตไม่เป็น พอร่างกายขยับเรารู้เลย จะรู้ตัวขึ้นมา เมื่อกี้หลงแล้ว เมื่อกี้โกรธไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าดูจิตไม่ได้ดูกายไป ถ้าดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ พุทโธ ทำสมถะอะไรก็ทำไป ให้จิตสงบในอารมณ์อันเดียว
ชีวิตที่เรียกว่าไม่ประมาท
วันปีใหม่ แต่ธรรมะนี้เป็นของเก่า ธรรมะเป็นของเก่า เก่ามาก่อนพระพุทธเจ้าอีก พระพุทธเจ้าท่านมาค้นพบ แล้วเอามาสอนพวกเรา สอนมานาน พวกเราก็คงเรียนมานาน หลายพันปีแล้วล่ะ แต่ว่าอินทรีย์เรายังอ่อนเลยตกค้างมาถึงรุ่นนี้ แทนที่จะจบในสมัยพุทธกาล ตกค้างมา 2000 กว่าปีแล้ว แต่ธรรมะยังไม่ได้สูญไป เอาไปทำ เราจะได้ไม่ต้องตกค้างไปถึงพระเมตไตรย รีบๆ จบไปในศาสนานี้ล่ะ บางคนอาจจะทำมรรคผลให้เกิดในชีวิตนี้ บางคนอาจจะได้ในชาติถัดไป บางคนอีกสองสามชาติจะได้ บางคนอีกเจ็ดชาติจะได้ หรือบางคนไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกมนุษย์อีกแล้ว อยู่ที่เราฝึกเอา อันนี้ไม่มีใครทำแทนใครได้ ต้องทำด้วยตัวเอง
ปีใหม่ ธรรมะของเก่า แต่เราต้องเป็นคนใหม่ ไม่เป็นคนเก่าที่เหลวไหล ผัดวันประกันพรุ่ง เอาไว้ก่อนๆ จะปฏิบัติธรรมทีไรเอาไว้ก่อนทุกทีเลย มันไปไม่รอด ปฏิบัติธรรมให้เริ่มเสียแต่เดี๋ยวนี้ ให้เริ่มเดี๋ยวนี้เลย อ่านกายอ่านใจของตัวเองเลย ถ้าบอกฟังหลวงพ่อแล้วเดี๋ยวกลับบ้านไปทำนี่ประมาท วันนี้จะไปถึงบ้านหรือเปล่ายังไม่รู้เลย
เขาบอกวันนี้ไม่ให้พูดอัปมงคล แต่ความตายไม่ใช่เรื่องอัปมงคล ความชั่วถึงจะเป็นเรื่องอัปมงคล ความดีก็เป็นมงคลของเรา ความชั่วทั้งหลายอัปมงคล ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องอัปมงคล คนนี่เชื่ออะไรงมงาย ถ้าวันตรุษจีน วันปีใหม่ วันเกิด ใครพูดว่าใกล้ความตายเข้าไปอีกหน่อยรู้สึกไม่ดีเลย ทั้งๆ ที่นั่นล่ะสัจธรรมล่ะ เราอย่ากลัวความจริง ฉะนั้นเราไม่รู้ ชีวิตเราจะแตกดับวันไหน นี่ผ่านมาได้อีกหนึ่งปีก็เก่งแล้ว ปีที่จะต่อไปนี้จะพ้นหรือเปล่ายังไม่รู้เลย ไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้นอย่าประมาท ธรรมะ เริ่มเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ คือเริ่มรู้สึกตัว มีสติไป เริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ตั้งใจว่าเราจะรักษาศีล 5 แล้วก็มีสติ ดูแลจิตใจของเราให้ดีที่สุด ตามรู้ ตามเห็นไป แล้วชีวิตเราจะมีความสุข
ตอนหลวงพ่อเป็นฆราวาส หลวงพ่อมีทุกอย่างที่ฆราวาสเขามี ที่เขาว่าดีๆ มีความสุข เรามีทุกอย่าง มีความสุขแบบฆราวาส ถ้าทู่ซี้อยู่ ไม่เป็นอธิบดีก็ปลัดกระทรวง เพราะหลวงพ่อโตเร็ว แต่เรารู้ว่ามันไม่ยั่งยืน ไม่ใช่สาระแก่นสารที่แท้จริงหรอก ฉะนั้นหลวงพ่อไม่เลือกเดินแนวทางที่จะอยู่กับโลกตลอดไป หลวงพ่อภาวนาของหลวงพ่อไม่เลิกเลย
ตอนไปภาวนากับหลวงปู่ดูลย์ เข้าใจสิ่งที่ท่านสอนแล้ว แรกๆ ก็อยากบวช แต่เรามีภาระ เราต้องเลี้ยงครอบครัว ต้องดูแลพ่อแม่ ยังไม่พร้อมก็ไม่ได้บวช ทีแรกก็อยากบวช แต่ต่อไปก็วางใจเป็นกลาง บวชก็ได้ ไม่บวชก็ได้ เคยขยับจะถามหลวงปู่ดูลย์ เรารู้อย่างหนึ่ง หลวงปู่ดูลย์รู้อนาคต ท่านรู้อนาคตจริงๆ ถ้ารู้จักท่าน อย่างท่านรู้ว่า ต่อไปลูกศิษย์ท่านจะมาอยู่ที่ชลบุรีตรงนี้ ท่านบอกไว้ก่อนที่หลวงพ่อจะเจอท่านอีก ท่านรู้เยอะ เคยขยับจะถามท่านว่าผมจะได้บวชไหม ไม่ถาม ครูบาอาจารย์สอนกรรมฐานเรา เราไปลดเกรดให้ท่านเป็นหมอดูได้อย่างไร ถ้ามันสมควรมีเหตุปัจจัยสมควรจะบวช มันก็ได้บวชเองล่ะ ไม่ต้องกังวลใจ
เราก็เป็นฆราวาส เราทำหน้าที่ของฆราวาสให้เต็มที่ไป ตั้งใจอย่างนี้ แล้วเราก็ภาวนาของเรา มีชีวิตที่เรียกว่าไม่ประมาท ไม่หลงตามโลกเขา ไม่เคยเคาต์ดาวน์ งานต่างๆ เลี่ยงได้เลี่ยง งานทอดกฐิน ผ้าป่ายังไม่เคยไปเลย อย่าว่าแต่งานแต่งงานเลย เลี่ยงได้ก็เลี่ยง ขึ้นบ้านใหม่ ถึงเราไม่ไปมันก็ขึ้นอยู่แล้วล่ะ มันคงไม่ เราไม่ได้ไปร่วมงานมันไม่ขึ้นบ้านใหม่ ไม่ใช่ ไปไม่ไปก็เหมือนๆ กัน งานเดียวที่หลวงพ่อไป งานศพ เพราะไปแล้วเอาไว้สอนตัวเอง อีกหน่อยเราก็ไปนอนอยู่ข้างในนั้นเหมือนกัน
ใช้ชีวิตของฆราวาส แต่มีวินัยในตัวเอง ภาวนาทุกวันไม่เลิก แล้วพอมาบวชมันก็ภาวนาง่าย เพราะมันฝึกมาเยอะแล้ว ก็ภาวนาต่อง่ายๆ ไม่ยาก ถ้าไม่เคยฝึกมาก่อน เขาเรียกว่าไม่มีปุพเพกตปุญญตา ไม่มีบุญเก่า ก็ยากล่ะ ต้องมาสร้างกันใหม่ เพราะฉะนั้นเริ่มสร้างบุญให้ตัวเองเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ก็ยังดี ทำไป รู้สึกตัวไป อ่านกายอ่านใจของตัวเองไป แล้วชีวิตเราจะได้รับพร ได้รับสิ่งที่ประเสริฐที่สุด อะไรก็ไม่ประเสริฐเท่าธรรมะหรอก “พร” คือ “วร” คือประเสริฐ สิ่งที่ประเสริฐที่สุดคือธรรมะ
ฉะนั้นสิ่งที่หลวงพ่อให้พวกเราคือธรรมะ หลวงพ่อให้สิ่งที่ประเสริฐที่สุดแล้วล่ะ หลวงพ่อไม่ได้หลอกเด็ก ขอให้ทุกคนมีความสุข อย่าเจ็บอย่าไข้ คนให้พรยังเจ็บเลย หลอกๆ กันเล่นๆ ก็ให้กำลังใจ ถามว่าดีไหม ก็ดี สำหรับคนที่อินทรีย์อ่อนๆ คนที่ไม่ได้ภาวนา ให้พรอย่างนั้นก็ดีเหมือนกันมีกำลังใจ แต่ถ้าเราเติบโตอย่างนี้ “พร” คือ “ความประเสริฐ” ต้องทำเอาเอง
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ วันนี้หลวงพ่อเทศน์ต่อกันมาแบบไลฟ์สด วันนี้วันที่สามแล้ว วันนี้เลยขอไม่ Zoom ตรวจการบ้าน หมดแรงแล้วล่ะ ที่จริงสอนทุกวันไม่ได้หยุดเลย บางทีเดือนหนึ่งจะได้หยุดสักวันหนึ่ง ในแต่ละสัปดาห์บางทีหลวงพ่อต้องหนีออกจากวัดไปสักวันหนึ่ง หลบๆ ไป จะได้ไปอยู่เงียบๆ อยู่กับธรรมชาติ อยู่เงียบๆ อยู่ที่วัดโน้นวัดนี้ไม่มีใครรู้จัก สบาย หลังๆ นี้ไม่ได้แล้ว ออกไปที่ไหนคนเขาก็จำได้ แต่มันเป็นกรรมของเราก็รับไป
วัดสวนสันติธรรม
1 มกราคม 2567