สิ้นปีแล้ว ปี 2566 หมดแล้ว เดี๋ยวปี 2567 ก็หมดอีก เรื่องของโลก เทศกาลต่างๆ ก็กำหนดมาจากสภาพดินฟ้าอากาศ
ถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่าร่างกายเรากับโลกข้างนอกมันเป็นอันเดียวกัน ค่อยๆ หัดสังเกต รู้สึกตัวไป ลองหัดดูง่ายๆ ก็ได้ ดูลมหายใจของตัวเองแล้วรู้สึก ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกอะไรนี่ มันไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ มันเป็นวัตถุ ไม่มีกิเลส มันว่างๆ ไม่มีตัวตน ไม่มีเจ้าของ ถ้าดูตรงนี้เห็นก็ย้อนมาดูจิตใจของตัวเอง หรือดูร่างกายของเราเอง เราจะรู้สึกว่าร่างกายเรามันมีน้ำหนักของความเป็นตัวตน จิตใจมันก็มีน้ำหนักของความเป็นตัวตน ความปรุงแต่งของจิตเรานี้ล่ะมันทำให้เราแยกตัวเองออกจากธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ ถ้าจิตพ้นจากความปรุงแต่ง จิตกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่มันก็เสมอกัน ร่างกายกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่มันก็เสมอกัน
จิตกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่เสมอกัน
ในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องพระสารีบุตร เคยมีพระไปฟ้องพระพุทธเจ้า ถูกพระสารีบุตรตี ที่จริงท่านไม่ได้ตี ท่านจะเดินทางไกล พวกพระก็มาเข้าแถวส่งท่านที่หน้าวัด ท่านก็ทักทายพระองค์นั้นองค์นี้มา ทีนี้มีองค์หนึ่งท่านไม่ได้ทัก เดินผ่านไป เขาโกรธไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่าพระสารีบุตรตีท่าน ที่แท้ก็คือพระสารีบุตรท่านเป็นคนคล่องแคล่วว่องไว ธรรมชาติท่าน จิตใจท่านอะไรนี่ ที่ท่านบอกท่านเคยเป็นลิง จะดูไม่เรียบร้อย หลุกหลิกๆ คล่องแคล่วว่องไว ไม่ได้เดินช้าๆ เดินอะไร อย่างเดินไปเจอท้องร่อง พระอื่นอาจจะค่อยๆ หาไม้มาพาด ท่านไม่เอา ท่านกระโดดทีเดียวข้ามเลย จริตนิสัยท่านอย่างนั้น
ตอนที่ท่านหมุนตัวไปหมุนตัวมา ชายผ้าสังฆาฏิไปโดนพระนั่นเข้า แล้วนั่นก็เอาไปฟ้องว่าถูกตี พระพุทธเจ้าท่านรู้พระสารีบุตรไม่มีทางตีใครหรอก ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เลยให้ไปตามพระสารีบุตรมา เพื่อจะให้พระสารีบุตรบันลือสีหนาท ประกาศธรรมะในองค์ของท่าน พระสารีบุตรมา พระพุทธเจ้าก็ถามว่าไปตีเขาจริงหรือ ท่านบอกท่านไม่ได้ตี จิตของท่านไม่เคยประทุษร้ายอะไรใคร จิตของท่านเหมือนแผ่นดิน แผ่นดินมันไม่มียินดีไม่มียินร้าย มันว่าง จิตท่านเหมือนน้ำ น้ำมันก็ไม่มีความยินดียินร้ายอะไร จิตท่านเหมือนลม จิตท่านเหมือนไฟ ดิน น้ำ ไฟ ลมที่มันประกอบกันเป็นโลก โดยตัวของมันเองไม่มีความยินดียินร้ายอะไร ไม่มีเจ้าเข้าเจ้าของ ไม่ได้มีตัวมีตน ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์
จิตของท่านเป็นกลางเหมือนแผ่นดิน อย่างแผ่นดินคนเอาน้ำหอมไปโรยใส่ แผ่นดินก็ไม่ยินดี เอาของเหม็นไปสาดใส่ แผ่นดินก็ไม่ยินร้าย จิตท่านก็พ้นจากความยินดียินร้ายแล้ว ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้ น้ำ เราเอาของหอมๆ ไปโรย น้ำมันก็ไม่ได้ยินดี เอาของเหม็นไปสาดใส่ น้ำมันก็ไม่ยินร้าย จิตท่านก็พ้นจากความยินดียินร้ายเหมือนน้ำ ลมพัดผ่านสิ่งที่ดีที่หอม ลมก็ไม่ได้ยินดี ลมพัดผ่านสิ่งที่เหม็น ผ่านซากศพอะไร ลมก็ไม่ได้ยินร้าย จิตของท่านก็เหมือนลม กระทบผัสสะอะไรก็ไม่ได้ยินดีไม่ได้ยินร้าย แล้วก็ไฟจะเผาไม้หอม หรือจะเผาซากศพ ไฟก็ไม่มีความยินดียินร้าย ก็ทำหน้าที่ของไฟไป
จิตของท่านก็เหมือนกัน ไม่มีความยินดียินร้าย ดิน น้ำ ไฟ ลม ต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองโดยความไม่ยินดียินร้าย จิตของท่านก็ทำหน้าที่ของจิต คือรู้โดยไม่มีความยินดียินร้ายอะไรแทรกเข้ามา จิตที่บริสุทธิ์แล้วเป็นอย่างนั้น แต่จิตที่ไม่บริสุทธิ์มันกระทบอารมณ์แล้วมันจะปรุงแต่ง มันจะปรุงความเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา มันแยกตัวเองออกจากธรรมชาติ ที่จริงมันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เวลารู้สึกลงในร่างกาย มันก็แยกร่างกายออกจากธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ มันมีตัวมีตนขึ้นมา
ถ้าเราภาวนา เราเรียนรู้ความจริงของร่างกายของจิตใจสม่ำเสมอไป จนหมดความเห็นผิด ล้างอวิชชาได้ ก็จะรู้ร่างกายเราก็เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม บรรจุอยู่ในอากาศธาตุ จิตมันก็เป็นธาตุ เป็นธาตุรู้เรียกว่าวิญญาณธาตุ ธาตุทั้งหลายมันเป็นกลาง มันไม่ความยินดียินร้ายอะไร ธาตุทั้งหลายไม่ใช่คน สัตว์ เรา เขา ฉะนั้นถ้าเราภาวนา เราคอยสังเกตไป เวลาจิตเราหลงไปตามความปรุงแต่ง เราจะแยกตัวเองออกจากธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ นี่คือเรา อันนั้นไม่ใช่เรา มันจะแยกออกเป็น 2 ส่วน มีเรา มีเขา มีเรา มีไม่ใช่เรา เพราะว่าจิตมันหลงความปรุงแต่ง
ถ้าจิตไม่มีความโง่ ไม่มีอวิชชา ไม่หลงความปรุงแต่ง จิตกับโลกที่แวดล้อมอยู่ก็เป็นอันเดียวกัน เป็นธาตุ ร่างกายนี้ก็ไม่ได้แยกตัวออกจากโลก มันจะรู้สึก ร่างกายมันก็สมบัติของโลกนั่นล่ะ เป็นธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ยืมโลกมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว อาศัยกำลังของกรรมเหนี่ยวนำเอาธาตุนี้มาประชุมกัน ก็เกิดเป็นตัว เรารู้สึกเป็นตัวเราๆ ค่อยภาวนา ค่อยเห็นความจริงของร่างกาย เห็นความจริงของจิตใจไปเรื่อยๆ เมื่อไรจิตพ้นจากความปรุงแต่ง รู้เท่าทันความเป็นจริง ร่างกายนี้ก็เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม บรรจุอยู่ในช่องว่างคือ สเปซ คืออากาศธาตุ จิตก็เป็นแค่ธาตุ แต่เป็นธาตุรู้ เรียกวิญญาณธาตุ ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มันจะกลืนเป็นอันเดียวกับธรรมชาติ
เพราะฉะนั้นอย่างบางคนพอตายแล้ว บอกขอน้อมส่งไปสู่ธรรมชาติอะไรอย่างนี้ ไม่ต้องส่ง เพราะมันอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้ายังรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ธรรมชาติ พอตายแล้วก็คืนสู่ธรรมชาติ นี่ยังไม่เข้าใจธรรมะ ที่จริงร่างกายจิตใจเรามันเป็นธรรมชาติอยู่แล้วล่ะ ทีนี้ความโง่ มันก็เลยมาแบ่งแยก ร่างกายนี้ของเรา ตัวเราของเรา จิตใจนี้ตัวเราของเรา สิ่งที่พ้นร่างกายออกไปก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นของคนอื่น หรือเป็นของโลกไป ถ้าโง่หนักกว่านั้น เห็นกายเห็นใจเป็นตัวเรา ถ้าโง่มากกว่านั้นก็คือ เห็นของที่แวดล้อมอยู่ก็เป็นของเราอีก ถ้าโง่มากๆ ก็คิดว่าโลกทั้งโลก จักรวาลทั้งหมดเป็นของเรา อยากเป็นเจ้าโลกอะไรอย่างนี้
หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยสอน ท่านสอนดี หลวงปู่ดูลย์ ท่านบอก “วันใดที่ภาวนาจนเห็นว่ากายใจของเรานี้กับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน วันนั้นเราจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงแล้ว” คือจะบรรลุพระอรหันต์แล้ว เราเห็นร่างกายจิตใจของเรากับโลกข้างนอกเป็นอันเดียวกัน เสมอกัน เสมอกันอย่างไร เสมอกันด้วยความเป็นธาตุ เสมอกัน ไม่มีการแบ่งแยก นี่ตัวกู นี่ของกูอะไรอย่างนี้ ไม่แยก หลวงปู่ดูลย์ท่านสอน แต่ท่านสอนสั้นๆ ประโยคเดียว “วันใดที่เห็นว่าร่างกายจิตใจนี้เป็นอันเดียวกับสิ่งที่แวดล้อมอยู่ วันนั้นจะพ้นจากทุกข์แล้ว” เห็นอย่างนั้นได้ก็คือล้างอวิชชาได้แล้ว ละความยึดถือว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเรา เป็นของเราได้แล้ว ค่อยภาวนาไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งก็รู้แจ้งเห็นจริง เข้าใจ
ตัวตนไม่มีมาตั้งแต่แรก
มีแต่ความหลงผิดว่ามีตัวมีตน
ลองสังเกตสิ ลมหายใจเรา ตอนนี้ใจเราสงบพอสมควรแล้ว สังเกตสิ ลมหายใจมันบอกไหมว่ามันเป็นตัวเรา สังเกตตรงนี้แล้วลองสังเกตต่อไป ร่างกายที่มันนั่งอยู่นี้ ร่างกายที่มันหายใจอยู่นี้ มันบอกไหมว่ามันเป็นตัวเรา บอกไหม มันไม่ได้บอก แต่เราคิดเอาเอง ร่างกายมันไม่เคยบอกว่ามันเป็นตัวเรา เราไปคิดเอาเองว่าวัตถุก้อนนี้คือตัวเรา นี่มโนเอาเอง คิดเอาเองทั้งนั้น แล้วดูลงไป ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ที่มันเกิดขึ้นในร่างกาย หรือที่มันเกิดขึ้นในจิตใจ มันบอกไหมว่ามันเป็นตัวเรา อย่างสมมติตอนนี้ใจเรามีความสุข ลองดูสิ ความสุขมันบอกไหมว่ามันเป็นตัวเรา หรือใจเรากำลังทุกข์ ดูลงไปสิ ความทุกข์บอกไหมว่ามันเป็นตัวเรา
ความจำได้หมายรู้มันก็ไม่ได้บอก อย่างความจำมันก็ไม่เคยบอกว่ามันเป็นตัวเรา ความปรุงดีปรุงชั่ว อย่างความโลภ ความโกรธ ความหลง เวลาความโกรธเกิดขึ้น ลองสังเกตดูสิ ความโกรธมันบอกไหมว่ามันเป็นตัวเรา ความโลภเกิดขึ้น ดูสิ ความโลภมันบอกไหมว่ามันเป็นตัวเรา เห็นไหม มันไม่มี มันมีแต่การที่เราหมายรู้ผิด คิดผิดแล้วก็เชื่อผิดว่าเป็นตัวเรา ในความเป็นจริง ตัวเราไม่มีมาแต่แรกแล้ว ฉะนั้นเราภาวนาไม่ใช่เพื่อละความมีตัวตน เพราะตัวตนไม่มีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว มีแต่ความหลงผิดว่ามีตัวมีตน
ครั้งหนึ่งหลวงพ่อไปอบรมหลักสูตรสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง ตอนนั้นเขาเลือกข้าราชการชั้นพิเศษแล้วไปอบรม ส่วนใหญ่คนที่เข้าไปอบรมก็พวกใกล้เกษียณ แก่ๆ หลวงพ่อไปแต่เด็ก อายุยังไม่มาก 20 ปลาย หรือสัก 30 ต้น 30 ต้นๆ วันหนึ่งไปเชียงใหม่ หลวงพ่อก็พาพวกพี่ๆ เขาที่เรียนด้วยกันขึ้นไปถ้ำผาปล่อง ไปกราบหลวงปู่สิม หลวงปู่สิมท่านก็ให้นั่งขัดสมาธิเพชร ขัดเป็นไหม ขัดสมาธิเพชร เจ็บ ถ้าไม่เคยนั่ง แข้งขาจะหักเอา คนแก่ไม่แนะนำให้ฝึก ถ้าไม่เคยนั่งแล้วตอนอายุเยอะๆ ไปนั่ง เดี๋ยวกระดูกหักไป
หลวงปู่สิม ท่านนั่งมาแต่หนุ่ม ท่านนั่งได้ ท่านนั่งแล้วท่านจะชี้ให้ดูพระพุทธรูป พระพุทธรูปเชียงแสนจะนั่งขัดสมาธิเพชร อย่างพระสุโขทัย พระอะไรหลังๆ จะนั่งสมาธิราบ นั่งขัดเพชร ไขว้กัน ให้ทุกคนนั่งแล้วท่านก็เทศน์ พอท่านเทศน์ไปเรื่อยๆ คนที่ทนไม่ไหวก็แอบเอาออก ขัดราบบ้าง นั่งพับเพียบบ้าง ท่านเทศน์อยู่ร่วมชั่วโมง แล้วท่านก็หยุด ตอนนั้นเหลือที่นั่งได้ตลอด 2 คน หลวงพ่อกับพี่อีกคนหนึ่ง อยู่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พี่นี้แกเข้าวัดมาตลอด ลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่หลายองค์ นั่งได้ 2 คน
หลวงปู่ก็ยิ้มๆ ถามว่าเป็นอย่างไร นั่งสมาธิแล้วเป็นอย่างไร ท่านคงจะถามว่านั่งแล้วจิตใจเป็นอย่างไร จะชวนคุย ที่จริงท่านรู้หมด หลวงปู่สิมเป็นพระที่เจโตปริยญาณเก่งมากๆ เลย เราคิดอะไรในใจก็รู้หมด มีพี่อีกคนหนึ่งเขาไปนั่งด้วยกันวันนั้น แกอายุเยอะแล้ว แกฟังหลวงปู่เทศน์ หลวงปู่สอน หลวงปู่สิมท่านเทศน์ แล้วแกก็นึกว่า โอ้ เสียดาย หลวงปู่เทศน์ดีจังเลย เสียดายลูกสาวอยู่อเมริกาไม่ได้ฟัง ลูกสาวไปเรียนอยู่อเมริกา หลวงปู่หยุดเลย หันมามองหน้าแล้วบอก “เหลวไหล ตัวฟังเทศน์อยู่ถ้ำผาปล่อง มัวแต่ไปห่วงลูกที่อเมริกา” แกเกือบช็อค แกตกใจ ยืนขึ้นมา ยืดตัวขึ้นมา จะช็อคเอา หลวงปู่จิตใจท่านว่องไวมาก
ทีนี้ท่านก็ถามเป็นอย่างไร นั่งสมาธิแล้วเป็นอย่างไร ท่านถามเพื่อจะให้รายงานว่ารู้เห็นอย่างไร เพราะท่านรู้ไส้รู้พุงเราหมด มีอะไรท่านรู้หมด พี่นั่นแกก็บอก “โหย เมื่อยขามากเลยครับ ปวดขาเลย ปวดมากเลย” หลวงปู่ก็ยิ้มๆ แล้วก็ถาม “ขามันบอกว่าปวดหรือ” เมื่อกี้ฟังที่หลวงพ่อเทศน์ช่วงต้นๆ แล้วฟังตรงนี้ออกไหม ขามันบอกหรือว่ามันปวด ขามันไม่ได้บอก ขามันเป็นวัตถุ มันเป็นก้อนธาตุ จิตเราต่างหากที่มันไปยึดว่านี่ตัวเราของเรา ก็เลยโวยวาย ขาไม่ได้โวยวาย แต่จิตมันโวยวาย โอ๊ย ขาปวด จะเป็นจะตายแล้ว
หลวงปู่ถาม “ขามันบอกว่ามันปวดหรือ” แกฟังแล้วแกไม่เข้าใจว่าหลวงปู่สอนธรรมะว่าขาไม่ใช่ตัวเราของเราหรอก ขาเป็นวัตถุ ขาไม่เคยบ่นเลย แกไปตอบหลวงปู่ “ปวดจริงๆ ครับ ผมไม่หลอกหลวงปู่หรอก มันปวดจริงๆ” หลวงปู่ไม่ว่าอะไร หลวงปู่ยิ้มๆ แล้วคุยเรื่องอื่นไป หลวงพ่อฟังแล้วหลวงพ่อก็เก็ต ท่านสอนให้เราเห็นร่างกายนี้มันเป็นวัตถุ มันเป็นธรรมชาติ เหมือนกับดิน น้ำ ไฟ ลมข้างนอกนั่นล่ะ มันไม่เคยบ่นหรอกว่ามันเป็นตัวเราของเรา เราไปบ่น พอร่างกายแก่ก็กูแก่ ร่างกายเจ็บก็กูเจ็บ ร่างกายจะตาย ก็กูจะตายอะไรอย่างนี้ เพราะว่าจิตมันมองไม่ออกว่าร่างกายนี้มันเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุที่มาประชุมกันด้วยอำนาจของกรรม
กรรมที่ทำให้ร่างกายเรามารวมกันอย่างนี้ ธาตุมารวมกันแล้วเป็นร่างกายอย่างนี้ขึ้นมา เรียกว่าชนกกรรม ชนกที่แปลว่าพ่อ กรรมที่ทำให้เราเกิด เราได้ชีวิตได้อัตภาพร่างกายอย่างนี้ ชนกกรรมดีก็ได้รูปร่างดีหน่อย สวยหน่อย ชนกกรรมไม่ดีก็อาจจะพิกลพิการมาแต่เกิด ที่จริงมันเป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ มันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ของเรา อันนี้เป็นการมอง เจริญปัญญา ดูธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศธาตุ อากาศธาตุคือสเปซ คือช่องว่าง ถ้าไม่มีช่องว่าง ดิน น้ำ ไฟ ลมก็ไม่มีที่ตั้ง อยู่ไม่ได้ แล้วก็ธาตุตัวที่หกคือวิญญาณธาตุ คือจิตใจเรานี้เอง จริงๆ ก็เป็นธาตุ ไม่ใช่ตัวตน บุคคล สัตว์ เรา เขาอะไรหรอก
ความหลงผิดว่าร่างกายนี้คือตัวเรา ความหลงผิดว่าจิตใจนี้คือตัวเรา พอร่างกายแก่ก็เราแก่ พอร่างกายเจ็บก็เราเจ็บ พอร่างกายตายก็เราตาย พอจิตใจไม่มีความสุข เราพลัดพรากจากคนที่รักก็รู้สึกเราพลัดพราก ต้องเจอกับคนที่เราไม่รัก เกลียดขี้หน้า เจอเรื่อยๆ ก็เป็นเราเจอกับเขา อันนี้เป็นเรื่องของจิตใจมันปรุงขึ้นมาทั้งหมดทั้งสิ้น ถ้าเดินปัญญาอย่างนี้ก็ดี ทำได้ก็ดี แต่ต้องอาศัยกำลังของสมาธิมากหน่อย ถ้าจิตใจวอกแวกๆ ดูยากหน่อย
เมื่อวานก็มีพระไปเช็ดกระจกหน้าต่างหลวงพ่อแล้วจิตฟุ้งซ่าน พอจิตฟุ้งซ่านแล้วก็ดูอย่างไรก็ไม่ลง ทำกรรมฐานอะไรก็ไม่ลง หลวงพ่อบอกลองดูลมหายใจสิ ลมหายใจ เห็นไหม มันไม่เคยบ่น มันไม่เคยว่า มันไม่บอกว่ามันเป็นตัวเรา มันว่าง ดูไป ลมหายใจก็ว่าง พอเห็นลมหายใจเป็นความว่างแล้วก็สังเกตต่อไป ร่างกายนี้มันก็ว่าง ว่างก็เหมือนลมหายใจนั่นล่ะ โลกข้างนอกมันก็ว่าง ที่มันไม่ว่างเพราะอะไร เพราะความปรุงแต่งของจิต จิตมันหลงปรุงแต่ง ธรรมชาติเดิมนั้นมันว่างอยู่แล้ว เราก็ไปปรุงแต่งว่านี่เป็นตัวเรา นี่เป็นของเรา
ธรรมชาติเดิมนั้นว่าง แต่ความปรุงแต่งปิดบังความว่างเอาไว้
เวลาเราจะภาวนา เราก็นั่งปรุงแต่งไป ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด เวลาภาวนาจะอยากปฏิบัติก็จะไปสร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา ภพก็คือความปรุงแต่ง ไปแต่งจิตให้มันนิ่งๆ ทื่อๆ อะไร หรือบังคับกาย บังคับใจ นั่นคือความปรุงแต่งทั้งหมดเลย ถ้าตราบใดที่เรายังหลงอยู่ในโลกของความปรุงแต่ง เราจะไม่เห็นความว่างของธาตุทั้ง 6 จะไม่เห็นความว่างของร่างกายซึ่งประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตั้งอยู่ในช่องว่าง คืออากาศธาตุ เราจะไม่เห็นว่าจิตใจมันก็เป็นธาตุ เป็นธาตุรู้ เพราะความปรุงแต่งนั้นเป็นเครื่องพะรุงพะรังออกมาปิดบังความว่างเอาไว้
อย่างอากาศ จักรวาลนี้มันว่าง เมฆมันลอยมา เราก็รู้สึกฟ้ามันมืด วันนี้ฟ้ามันทึบ ฟ้าไม่ได้มืด ฟ้าไม่ได้ทึบ ฟ้าก็เป็นอย่างนั้นล่ะ แต่เมฆมันมาบัง จิตนี้ก็เหมือนกัน โดยตัวมันมันว่างอยู่แล้ว แต่เมฆหมอก คือความคิดนึกปรุงแต่งเข้ามาบดบังญาณทัสสนะของเราเลยเห็นผิดไป เห็นผิด ความปรุงแต่งก็เลยปิดบังความว่างเอาไว้ ปิดบังตัวจริง
ค่อยๆ ภาวนา ถ้าเรารู้ไม่ทันความปรุงแต่ง เมื่อวานที่หลวงพ่อสอนพระ รู้ไม่ทันว่าจิตปรุงแต่ง ลองรู้ลมหายใจดู เห็นไหม ลมหายใจไม่เคยมีความคิดว่ามันคือตัวเราของเราเลย ลมหายใจมันว่าง อะไรที่ไม่ว่าง จิตเราต่างหากที่ไม่ว่าง ลมหายใจมันว่างอยู่แล้ว ตรงนี้ดูออกไหมว่าลมหายใจมันว่าง มันไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่คน สัตว์ เรา เขา จิตของเราต่างหากที่ไปปรุงแต่งว่านี่เป็นตัวเรา นี่เป็นของเราขึ้นมา ฉะนั้นถ้าเรามองความปรุงแต่งไม่ออก เพราะมันปรุงจนมั่วไปหมด ลองทำจิตให้สบายๆ รู้ลมหายใจ แล้วเห็นลมหายใจที่เรารู้ เราไม่ได้ปรุง ที่เรารู้ ลมหายใจไม่ใช่ตัวตนอะไร ลมหายใจนี้ว่าง พอเราเห็นลมหายใจว่าง มันก็จะสังเกตเห็น ที่ไม่ว่างคือจิต จิตต่างหากที่ไม่ว่าง
อันนี้ในคัมภีร์ของเซนก็มี ท่านเว่ยหล่าง ท่านเว่ยหล่างได้ยินพระ 2 องค์เขาเถียงกัน พระก็เถียงกัน มันมีธง ธงอยู่ในวัดแล้วลมมันพัด พวกพระก็เถียงกัน องค์หนึ่งก็บอกว่าธงมันไหว อีกองค์หนึ่งว่าลมมันไหว อันไหนถูก ธงมันไหว ก็เห็นอยู่ว่ามันไหวๆ อยู่ อีกองค์หนึ่งบอกว่าลมมันไหว มันก็ถูกอีก ถ้าลมมันไม่พัด ธงมันก็ไม่ไหว เถียงกันแล้วตกลงกันไม่ได้
ท่านเว่ยหล่างบอกว่าถ้าอย่างนั้นขอตัดสินให้แทนได้ไหม ขอเสนอความเห็น ที่เถียงกันว่าลมไหวหรือธงไหวยังเข้าใจผิดอยู่ ที่กำลังไหวอยู่จริงๆ คือจิตของท่านต่างหากล่ะ จิตที่หลงความปรุงแต่ง ที่จริงลมมันก็เป็นลมอยู่อย่างนั้นล่ะ ลมมันจะพัดไปพัดมา มันก็ไม่บอกสักหน่อยว่ามันพัดไปพัดมา มันไม่บอกสักหน่อยว่ามันไหว ธงมันก็เป็นวัตถุ เป็นธาตุดินอะไรอย่างนี้ ธงมันก็ไม่เคยบอกเลยว่ามันไหว คนมองต่างหากล่ะไปว่าธงไหว ไปว่าลมไหว ทำไมว่าอย่างนั้น ก็เพราะจิตนั่นล่ะมันหลง จิตมันไหว จิตมันหลงความปรุงแต่ง
เพราะฉะนั้นในความเป็นจริงแล้ว โลกทั้งโลกหรือร่างกายจิตใจของเรานั้นมันว่างอยู่แล้ว แต่ความไม่รู้ของเรา ไม่รู้ความเป็นจริงว่าทุกอย่างมันว่างเปล่า ไม่ใช่ตัวเราของเรา จิตก็เลยเกิดความปรุงแต่งขึ้นมา ฉะนั้นพอจิตมันมีความปรุงแต่ง อย่างเรารู้ลมหายใจ ลมมันว่างอย่างนี้ พอจิตมันปรุงแต่ง มันก็แยกตัวเองออกจากโลกข้างนอกแล้ว มันปรุงขึ้นมา มันก็มีตัวมีตนขึ้นมา พอมีเราขึ้นมา มันก็มีเขาขึ้นมา พอมีของเรา มันก็มีของเขาขึ้นมา เราแยกออกมา เพราะความไม่รู้ของเราเอง ความไม่ฉลาด ไม่เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริง
เราภาวนา ไม่ใช่ละความเป็นตัวตน เพราะตัวตนไม่มี เรียนรู้ให้เห็นความจริงของร่างกาย ร่างกายเป็นแค่วัตถุ เป็นสิ่งของ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เราเป็นคนขี้ตู่เอา จิตที่โง่ไปตู่เอาว่าร่างกายประกอบด้วยดิน น้ำ ไฟ ลมบรรจุอยู่ในช่องว่าง คือตัวเรา คือของเรา จิตก็เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์คิดนึกปรุงแต่งไปตามธรรมชาติ ความไม่รู้ก็ทำให้เราขี้ตู่ว่านี่คือจิตใจของเรา ฉะนั้นเราหัดเรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจไปเรื่อยๆ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง พอรู้ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ ถึงวันหนึ่งจิตก็เข้าใจขึ้นมา ร่างกายมันเป็นแค่วัตถุ มันว่าง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์
อันนี้ดูยังไม่ยาก หัดใหม่ๆ ก็เห็นแล้วร่างกายไม่ใช่เรา แต่เห็นได้ประเดี๋ยวประด๋าว ประเดี๋ยวก็กลับมาเป็นเราอีกแล้ว ต่อเมื่อเป็นพระโสดาบันถึงจะฟันขาดเลยว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ขาดตรงนั้น จิตใจก็ไม่ใช่ตัวเรา พระโสดาบันก็จะเห็นจิตใจไม่ใช่เรา มีคนภาวนาดูจิตดูใจ จิตรวมลงไป จิตอุทานขึ้นมาว่า เอ๊ะ จิตไม่ใช่เรานี่ จิตมันถ่ายทอดธรรมะให้ฟัง จิตไม่ใช่เรา ความเป็นเราเกิดจากความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งเกิดจากความไม่รู้ ความโง่ของเราเอง พอดูกายดูใจให้เห็นมันเป็นแค่ธาตุแค่ขันธ์เท่านั้นเอง พอเห็นความจริงตรงนี้ก็รู้ความจริงแล้ว ร่างกายไม่ใช่เรา จิตใจก็ไม่ใช่เรา เป็นแค่ธรรมชาติ เป็นแค่ธาตุของโลก เห็นตรงนี้ก็เป็นพระโสดาบัน
แล้วต่อไปก็มองละเอียดลึกซึ้ง ถึงแม้มันจะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา แต่มันก็ยังรัก ยังหวงแหน ถึงมันจะรู้ว่าจิตใจไม่ใช่ตัวเรา แต่มันก็ยังรัก ยังหวงแหน ยังยึดถืออยู่ ก็ต้องภาวนาต่อไป พอกิเลสเบาบางลงไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งปัญญารู้แจ้งแทงตลอดลงในร่างกาย แต่เดิมเราเห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ พอปัญญารู้แจ้งแทงตลอดลงไป มันไม่ใช่เราแล้วมันเป็นอะไร มันเป็นก้อนทุกข์ ร่างกายนี้มันเป็นทุกข์ มันเป็นตัวทุกข์ ตรงนี้เรียกว่าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว
ทันทีที่รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง รู้ว่าร่างกายเป็นทุกข์แจ่มแจ้ง จิตก็วางกายเลย หมดตัณหา หมดความอยาก พอหมดความอยากก็หมดอุปาทาน หมดความยึดถือ หมดการหยิบฉวยเอาร่างกายมาเป็นตัวเราเป็นของเรา อันนี้เรียกว่าไม่มีชาติในร่างกายนี้ ไม่เกิดในตัววัตถุธาตุอีกต่อไปแล้ว ถ้ายังจะเกิดอีก ก็เกิดเพราะนามธรรม ไปเกิดในพรหมโลก ไม่เกิดในโลกกามาวจรอย่างนี้แล้ว เพราะจิตไม่ติดธาตุแล้ว ที่เราไม่พ้นกามาวจร เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิของสิ่งที่เรียกว่ากามาวจร คือจิตยังร่อนเร่แสวงหาอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายอย่างเพลิดเพลินอยู่
อย่างเทวดายังอยู่ในกามาวจร มนุษย์อย่างพวกเรานี่อยู่ในกามาวจร เปรตอยู่ในกามาวจร อสุรกายอยู่ในกามาวจร สัตว์นรกก็อยู่ในกามาวจร สัตว์เดรัจฉานก็อยู่ในกามาวจร ทำไมมันไม่พ้นจากกามาวจรภูมินี้ เพราะมันยังติด ติดในรสอร่อยของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมนี้เอง ถ้าสติปัญญารู้แจ้งแทงตลอดลงในก้อนธาตุนี้แล้วว่ามันเป็นก้อนทุกข์ ไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก พอเห็นอย่างนี้จิตมันก็หมดความยึดถือ เมื่อมันไม่ยึดถือ มันก็ไม่ไปดิ้นรนที่จะหยิบฉวยเอาไว้อีก แล้วมันก็วาง มันวางลงไป ไม่มีชาติในร่างกายนี้ ไม่มีชาติ มันก็จะเหลืออยู่ในนามธรรม ก็ไปเป็นพรหม
มีวิชชาเมื่อรู้แจ่มแจ้งว่าขันธ์ 5 คือทุกข์
ภูมิจิตภูมิธรรมที่รู้แจ้งแทงตลอดจนวางร่างกายได้ เพราะรู้ว่าร่างกายคือก้อนทุกข์ คือภูมิจิตภูมิธรรมของพระอนาคามี จิตจะพ้นจากกาม ถ้าตายไปก็ขึ้นสู่พรหมโลกเลยอัตโนมัติ ไปเป็นรูปพรหม หรืออรูปพรหมก็แล้วแต่ แล้วแต่กำลังของฌานชนิดไหน ถ้าเห็นแจ่มแจ้ง ถ้ารู้ไม่แจ่มแจ้งก็วางได้ชั่วคราวเดี๋ยวก็ยึดอีก อย่างพวกเรา แค่ความเห็น เห็นว่ากายไม่ใช่เรา ประเดี๋ยวก็เป็นเราอีกแล้ว มันวางไม่เด็ดขาด วางความเห็นผิดไม่เด็ดขาด ความยึดถือก็เหมือนกัน ตอนนี้ไม่ยึดถือกายแล้ว ประเดี๋ยวก็ยึดอีก อันนี้ยังไม่เด็ดขาด
จะเด็ดขาดด้วยอำนาจของอนาคามิมรรค อนาคามิมรรค ทำให้เราทำลาย ความยึดถือในกายนี้ได้เด็ดขาด เมื่อไม่ยึดในกาย ก็ไม่หลงเพลิดเพลินพอใจ ไม่หลงขุ่นข้องขัดเคือง ในร่างกาย ไม่หลงยินดี ไม่หลงยินร้าย ก็ขาดจากกามและปฏิฆะ ภูมิจิตภูมิธรรมของพระอนาคามีเป็นอย่างนั้น แล้วก็ขึ้นสู่พรหมโลก ก็ไปเป็นพรหม มีรูปบ้างไม่มีรูปบ้าง ทำไมต้องไปเป็นพรหมอีก เพราะยังยึดจิตอยู่ ไม่ยึดกายแล้ว แต่ยังยึดจิตอยู่ ถ้าเราภาวนา ไม่ต้องรอไปเป็นพรหมหรอก เราภาวนาในชีวิตนี้ พอเราปล่อยวางกายได้แล้ว เราก็เรียนรู้เข้ามาที่จิต ถึงจุดหนึ่งมันจะรู้แจ้งแทงตลอด จิตนี้คือก้อนทุกข์ จิตคือตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวดีอะไรเลย แต่เดิมเห็นแค่ว่าจิตไม่ใช่เรา อันนั้นเป็นภูมิธรรมพระโสดาบัน
แต่ตรงที่เห็นรู้แจ้งแทงตลอด จิตคือก้อนทุกข์ จะเกิดอริยมรรคอริยผล ในขั้นสุดท้ายแล้ว เกิดอรหัตตมรรคอรหัตตผลขึ้น เพราะรู้แจ้งแทงตลอดในกองทุกข์แล้ว ทุกข์อยู่ที่ไหน ก็อยู่ในขันธ์ 5 อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 นั่นล่ะคือตัวทุกข์ อุปาทานขันธ์ก็คือขันธ์ที่เรามีนี่ล่ะ เรียกอุปาทานขันธ์ สิ่งที่พ้นจากอุปาทานขันธ์ก็คือขันธ์ที่มันอยู่ในโลกุตตระ ขันธ์ในโลกุตตระ อันนั้นไม่ใช่อุปาทานขันธ์ ขันธ์อย่างที่พวกเรามีเป็นอุปาทานขันธ์ เป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่น มันคือก้อนทุกข์ จิตใจนี้ก็อยู่ในอุปาทานขันธ์ เป็นวิญญาณขันธ์ ก็อยู่ในกองทุกข์เหมือนกัน
ถ้าเรารู้แจ่มแจ้งว่าขันธ์ 5 คือทุกข์ นั่นล่ะเรามีวิชชา เราทำลายอวิชชาได้แล้ว ทันทีที่รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็เป็นอันถูกละ ความอยากจะให้กายให้ใจเป็นสุขไม่เกิดขึ้น ความอยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไรก็ละสมุทัยเมื่อนั้น ละสมุทัยเมื่อไร คือหมดตัณหาเมื่อไรก็แจ้งนิโรธเลย เห็นพระนิพพาน ไม่ใช่ทำนิพพานให้เกิด นิพพานไม่เกิด นิพพานเลยไม่ดับ เราแค่ไปเห็นแจ้งนิพพานซึ่งมีอยู่แล้ว แล้วตรงที่เราไปเห็นแจ้งนั่นล่ะเกิดอริยมรรคขึ้น รู้ทุกข์ก็เป็นอันละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรค
หรือถ้าเราเห็นเข้ามาที่จิตที่ใจ เมื่อวานใครได้ฟังไหม หลวงพ่อสอนให้รู้ทันตรงที่ตัณหา ตรงที่สมุทัย เห็นร่างกายเคลื่อนไหวไป ร่างกายไม่สบาย ร่างกายไม่บ่น ใจมันไม่ชอบ ใจมันอยากให้ร่างกายดีอะไรอย่างนี้ ถ้ารู้ตรงนี้ก็จะเห็นจิตใจมันปรุงแต่งขึ้นมาด้วยอำนาจของตัณหาอุปาทาน มันปรุงแต่งด้วยอำนาจของตัณหาอุปาทาน มันก็เลยเกิดการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป นาม ขันธ์ 5 ขึ้นมา แล้วมันก็เลยทุกข์ ถ้าสติปัญญาหยั่งลงไปก็เห็น ยึดทีไรก็ทุกข์ทุกทีเลย
จิตไม่ยึด เรียกละสมุทัยได้ เป็นกลาง มีความเป็นกลางเกิดขึ้น ถ้าละสมุทัยได้เมื่อไรก็เป็นอันว่ารู้ทุกข์ แจ้งนิโรธ เจริญมรรค ธรรมะมันประณีตลึกซึ้ง ในอริยสัจ 4 มีกิจอยู่ 4 ข้อ ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้งมรรคทำให้เจริญ ไม่ว่าเราทำกิจตัวไหนสำเร็จ อีก 3 ตัวสำเร็จพร้อมกัน แต่ส่วนใหญ่ที่ทำได้ระดับสาวกอย่างพวกเราก็คือรู้ทุกข์ จนกระทั่งมันละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรคได้ ถ้าภูมิปัญญาสูงขึ้นไป เราก็จะเห็น ถ้าเราละตัณหาได้ ละสมุทัยได้ มันก็คือเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว
อย่างเราเห็นจิตมันปรุง มีตัณหามันปรุงขึ้นมา แล้วมันมองลงไป ร่างกายจิตใจ จริงๆ แล้วตัวจริงของมัน มันว่าง แต่ว่ามันถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลาเลย มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ธาตุต่างๆ เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาไหม เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เหมือนลมพัดธงไหว หรือลมไหว มันก็ไหวของมัน ไม่เกี่ยวกับเรา จิตไม่ได้ไหวไปด้วย ฉะนั้นธาตุก็หมุนเวียนเกิดดับ พระอรหันต์ถึงได้แก่ ได้เจ็บ ได้ตาย เหมือนที่พวกเราเป็น จิตของท่านต่างหากที่ไม่ไหว ไม่หวั่นไหว
เจริญสัมมาสติให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์
ค่อยๆ ภาวนาแล้วมันจะประณีตลึกซึ้ง ละเอียดละออมากขึ้นๆ ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการฟัง ฟังแล้วเอาไปคิด ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิด เพราะว่าปุถุชนพอฟังธรรมะเราจะเกิดการตีความธรรมะทันทีเลย ตีความเข้าข้างตัวเอง อยากเชื่ออะไรก็ตีความไปอย่างนั้น แล้วเวลาคิดพิจารณาธรรมะก็จะคิดเข้าข้างตัวเองอีก จุดที่ไม่ได้เข้าข้างตัวเอง ไม่มี bias ไม่มีอคติ คือรู้ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตใจอย่างที่จิตใจเป็น ไม่มีอคติ ตัวนั้นเราถึงจะเข้าใจธรรมะได้
ธรรมะที่หลวงพ่อมาเล่าให้พวกเราฟัง หลวงพ่อเรียนมาจากหลวงปู่ดูลย์ แต่หลวงพ่อเรียนมาประโยคเดียว ท่านสอนบอกว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” อันนี้เป็น intro สิ่งที่ท่านสอนก็คือ “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” เรื่องที่เล่าให้พวกเราฟังก็มาจากการอ่านจิตตนเอง แล้วก็ตรวจสอบทบทวนด้วยปริยัติ หรือตรวจสอบอยู่กับครูบาอาจารย์
ที่เอามาพูดวันหนึ่งพวกเราก็จะได้รู้ได้เห็นหรอก ภาวนาไม่เลิกก็แล้วกัน มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางไป จิตจะตั้งมั่นถ้ามีสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตจะเป็นกลางเมื่อมีสติรู้ทันความไม่เป็นกลาง แล้วจิตก็จะตั้งมั่นและเป็นกลาง อาศัยกำลังสติก็จะเกิดสมาธิ จิตที่มีสมาธิกับจิตตั้งมั่นแล้วมันก็เป็นกลาง ถ้าเรามีสติรู้ทันจิตที่ไม่เป็นกลาง ความไม่เป็นกลางก็ดับ จิตก็เป็นกลาง จิตไม่ตั้งมั่นคือจิตไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเรารู้ทัน จิตก็ไม่ไหล จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา
พระพุทธเจ้าถึงสอน สัมมาสติ สัมมาสติเป็นสติปัฏฐาน สติรู้กายรู้ใจ ไม่ใช่สติอื่นๆ ถ้าเราเจริญสัมมาสติให้มาก เจริญให้มาก ทำเนืองๆ จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ เห็นไหม ท่านไม่ได้บอกว่าหายใจอย่างนั้นอย่างนี้ กำหนดอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านบอกว่าถ้าสัมมาสติเมื่อเจริญให้มาก เมื่อทำให้มากแล้ว จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์
อ่านพระไตรปิฎก ใครๆ ก็อ่าน แต่พอถึงลงมือปฏิบัติ ก็ไปพยายามทำสัมมาสมาธิให้เกิดขึ้น กำหนดจิตอย่างนั้น บังคับจิตอย่างนี้ เดินท่านั้น นั่งท่านี้ ไม่ได้รู้หรอกว่าสัมมาสมาธิจริงๆ เกิดจากสติที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นอย่างเราภาวนา จิตเราไม่เป็นกลาง เราเมื่อยอย่างนี้ จิตเราหงุดหงิด หรือจิตเราไม่สงบ เรารำคาญ ให้รู้ ไม่ใช่ไปทำให้มันสงบ จิตไม่สงบ รู้ว่ามันไม่สงบ ไม่สงบก็เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา เรามีหน้าที่รู้ แล้วมันสงบเอง จิตไม่ตั้งมั่น ก็ไม่ต้องไปบังคับให้ตั้ง ถ้าบังคับให้ตั้ง มันจะแน่นๆ ไม่ต้องบังคับ ให้รู้ มีสติรู้ว่าตอนนี้จิตไม่ตั้งมั่น ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตจะตั้งมั่นเอง
เพราะฉะนั้นสัมมาสมาธิมันก็มาจากอาศัยการเจริญสัมมาสติให้มาก มันได้สัมมาสมาธิอัตโนมัติ พอจิตเราตั้งมั่นและเป็นกลางแล้ว สัมมาญาณะคือการเจริญปัญญา ก็จะเกิดขึ้น คือทำวิปัสสนาญาณได้ จะเห็นความจริงของรูปนามกายใจว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สุดท้ายสัมมาญาณะ พอทำให้มาก เจริญให้มาก สัมมาวิมุตติก็เกิดขึ้น เกิดอริยมรรคอริยผล ไม่มีใครสั่งให้จิตเกิดมรรคผลได้ จิตเกิดเอง เมื่อปัญญาของเราแก่รอบ พระพุทธเจ้าบอกว่าบุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ตัวนี้ต่างหาก เพราะฉะนั้นเราเจริญสติให้มาก มีสติรู้กาย มีสติรู้จิตใจอย่างที่มันเป็นให้มากๆ พอรู้แจ้งเห็นจริงเมื่อไร สมาธิก็จะเกิด ปัญญาก็จะเกิด วิมุตติก็จะเกิด
สิ้นปีแล้ว อะไรที่ชั่วๆ ก็ให้สิ้นไป อะไรดีๆ อะไรที่ยังไม่ทำก็ทำเสีย นี่ล่ะพรที่แท้จริงล่ะ แล้วชีวิตเรามันจะประเสริฐขึ้นเรื่อยๆ อะไรที่ชั่วๆ เลิกเสีย อะไรที่ดีๆ ที่ยังไม่ได้ทำก็ทำเสีย แล้วชีวิตเราจะประเสริฐ ชีวิตเราจะดี ส่วนพรที่ขออย่างโน้นขออย่างนี้ คำว่าขอ ไม่มีนะ อย่าขี้ขอ มีแต่ต้องทำเอา ให้พรแค่นี้ล่ะ
วัดสวนสันติธรรม
31 ธันวาคม 2566