ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

วันนี้เป็นวันสำคัญของพวกเราชาวพุทธ เป็นวันที่พระรัตนตรัยอุบัติขึ้นอย่างสมบูรณ์ ตอนวิสาขบูชาพระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วท่านใช้เวลาช่วงหนึ่งในการเสวยวิมุตติสุข วิมุตติสุขไม่ใช่ไปเสพสุขอะไรหรอก จิตที่มันเดินทางไกลในสังสารวัฏมานาน ทำงานสำคัญสำเร็จแล้ว จิตมันก็ต้องพักเหมือนกัน ก็พักอยู่ช่วงหนึ่ง ถัดจากนั้นพอได้พักพอสมควรแล้ว ท่านก็พิจารณาธรรมะ พิจารณาธรรมะ อภิธรรม พวกอภิธรรมจะบอกพิจารณาอภิธรรม จริงๆ ก็พิจารณาธรรมะนั่นล่ะ ฉัพพรรณรังสีก็เกิดขึ้น จากการที่ท่านพิจารณาธรรม ถัดจากนั้นท่านก็เริ่มออกเผยแพร่

เป้าหมายแรกคือไปหาปัญจวัคคีย์ เป็นสาวกรุ่นแรก ที่จริงท่านนึกถึงอาฬารดาบส อุทกดาบสก่อน คู่นั้นท่านเคยไปเรียนสมาธิด้วย แต่คู่นั้นตายเสียก่อนแล้ว ท่านก็เลยมุ่งมาที่ปัญจวัคคีย์ ก็ได้มาแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นปฐมเทศนา แล้วก็เกิดปฐมสาวก พระปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรม ฉะนั้นวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญของพวกเราชาวพุทธ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มขับเคลื่อนธรรมะออกไป เรียกว่าธรรมจักร หมุนกงล้อของธรรมะ คือท่านขับเคลื่อนธรรมะออกมาสู่โลกแล้ว

 

ทางสายกลาง

ถ้าพวกเราสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ที่หลวงพ่อสอนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร มันก็อยู่ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั่นล่ะ ถัดจากธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระพุทธเจ้าแสดงอนัตตลักขณสูตร เรื่องขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์ ถ้าเราสังเกตให้ดีที่หลวงพ่อสอนก็มีอยู่แค่นี้ เรื่องของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรอันหนึ่ง กับเรื่องของอนัตตลักขณสูตร 2 อันนี้เพียงพอแล้ว สำหรับคนรุ่นเรา ทำไมหลวงพ่อว่าเพียงพอ คือถ้าเราเข้าใจธรรมะ 2 อันนี้ เราพ้นทุกข์ได้ ก่อนที่หลวงพ่อจะออกสอน เขาก็สอนกรรมฐานกันทั่วๆ ไป ที่ไหนก็สอนเยอะแยะไปหมดเลย มีหลายสาย แต่หลวงพ่อไม่ได้สอนแบบนั้น หลวงพ่อสอนว่าพวกเราอย่าทำผิด 2 เรื่อง ไม่เผลอกับไม่เพ่ง

ยุคแรกๆ คนได้ยินหลวงพ่อพูดเรื่องไม่เผลอไม่เพ่ง หัวเราะเลย กรรมฐานบ้าบออะไรอย่างนั้น ทำไมไม่สอนว่าหายใจอย่างไร นั่งอย่างไร เดินจงกรมอย่างไร ขยับตัวอย่างไร กำหนดอย่างไร ทำไมไม่สอนอย่างนั้น หลวงพ่อก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมไม่สอนอย่างนั้น ทีแรกไม่รู้หรอก รู้แต่ว่าจากการที่เราออกไปดู ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย พบว่าที่เขาทำไม่ได้ ไม่สำเร็จ เพราะว่ามันเผลอ จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวนี้พวกหนึ่ง ล่องลอย คิดไปถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่ชอบใจทั้งหลาย

บางทีก็คิดถึงสิ่งที่ไม่ชอบใจ หรือบางทีก็สนใจในตัวรูป ในตัวเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส นี่มันหลงไปทางทวารทั้ง 6 ด้วยอำนาจของกามคุณอารมณ์มายั่ว หลงไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสิ่งที่สัมผัสร่างกาย หลงไปในเรื่องราวที่คิดนึกทางใจ นี่พวกหนึ่ง จำนวนมากเลย โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ร้อยละร้อยเป็นอย่างนั้น พอไปดูพวกนักปฏิบัติ มันกลับข้างกัน นักปฏิบัติร้อยละร้อย มาทำสิ่งที่เรียกว่าอัตตกิลมถานุโยค บังคับกาย บังคับใจ ทำกายให้ลำบาก ทำจิตใจให้ลำบาก คิดว่านี่ล่ะทุกข์มากๆ เดี๋ยววันหนึ่งจะได้พ้นทุกข์ มันไม่พ้นทุกข์หรอก

อย่างเราไปนั่งสมาธิแล้วปวดหลังปวดไหล่ มันไม่ได้เห็นทุกข์ เพราะมันรู้ว่าปวดเพราะว่านั่งนาน เดี๋ยวขยับเสียก็หาย ทุกข์เป็นสิ่งที่ยังอยู่ในอำนาจบังคับแก้ไขได้ นี่ยังเรียกว่าไม่รู้ทุกข์จริงหรอก ก็เห็นคนซึ่งพากเพียรปฏิบัติ บางคนพิกลพิการทางร่างกาย บางคนพิการทางจิต เครียดจัด ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ ดูๆ โอ๊ย มันภาวนาไม่ถูก มันไม่ได้เดินในทางสายกลาง มันตึงเกินไป มันใช้ไม่ได้ จากประสบการณ์ของตัวเอง เวลาหลวงพ่อสอนเพื่อนๆ ที่เขาอยากปฏิบัติ หลวงพ่อจะสอนเรื่องว่าอย่าเผลอ อย่าเพ่ง ตอนนั้นไม่ได้นึกว่ามันตรงกับธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มาระลึกได้ทีหลัง โอ้ สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอน เราเดินตามรอยท่านมา ก็พูดตามท่าน ยังไม่ได้ไปพิจารณาธรรมะอะไรนักหนาเลย

อาศัยประสบการณ์ เรียกว่าเรียนรู้ภาคสนาม พบในคนที่อยู่ในโลก มันมีแต่คนหลง ในโลกไม่มีคนรู้สึกตัว อันนั้นหลงไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หลงไปในกามคุณอารมณ์ กามธรรม กามคุณอารมณ์ก็รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กามธรรมก็คือการคิดเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คนในโลกมันมีอยู่แค่นั้นเอง น่าสงสาร วิธีคิดอย่างนั้น มันไม่ได้ต่างอะไรกับ ใช้คำอะไรดีให้สุภาพ เอาตรงๆ ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉานนั่นล่ะ เพราะสัตว์เดรัจฉานมันก็สนใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็ถ้ามันคิด มันก็คิดถึงกามคุณอารมณ์

เมื่อก่อนเลี้ยงหมาไว้ตัวหนึ่ง ตอนอยู่สวนโพธิ์ฯ เป็นลูกหมา มันนอน มันยังฝันว่ามันดูดนมเลย มันทำปากจุ๊บๆๆ นี่มันคิด ฝันมันก็คือคิด มันก็คิดเรื่องกาม เรื่องไปกินนม ดู โอ้ มันไม่ได้ปฏิบัติ ในโลกนี้ถึงขาดแคลนพระอริยะ เพราะในโลกนี้มีแต่คนหลง อีกพวกหนึ่งเป็นพวกเข้าวัด ร้อยละร้อย ที่จริงมีเศษนิดหน่อย แต่ไม่มีนัยยะสำคัญ น้อยจนไม่มีนัยยะสำคัญ ที่ปฏิบัติถูก ก็เลยเรียกว่าร้อยละร้อย ลงมือปฏิบัติแล้วบังคับกาย บังคับใจ คิดถึงการปฏิบัติเมื่อไร ก็จะตั้งคำถามทันที จะทำกรรมฐานอะไรดี จะนั่งสมาธิ จะนั่งแบบไหน จะเดินจงกรม จะเดินแบบไหน มีกี่จังหวะอะไรอย่างนี้ มือจะไว้ที่ไหน

 

หัวใจของการปฏิบัติ คือการมีสติ
เพราะมีสติก็มีศีล มีสติก็มีสมาธิ มีสติก็มีปัญญา

แรกๆ หลวงพ่อก็ยังเคยสงสัยว่า เอ๊ะ เดินจงกรมเราก็เดินตามธรรมชาตินี่ล่ะ บางทีก็มือไว้ข้างหน้า ถ้ามือแกว่งไปแกว่งมาแล้วหลงง่าย ก็เอามือไว้อย่างนี้ ก็นึกในใจว่า เดินจงกรมนี่เขาเอามือไปไว้ที่ไหนกัน ครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างไร พอดีตอนนั้นขึ้นไปหินหมากเป้ง หลวงปู่เทสก์ท่านเพิ่งสร้างมณฑปเสร็จ ท่านให้หลวงพ่อไปอยู่ที่ห้องนอนเก่าของท่าน จากห้องนอนของท่านมองลงมา จะเห็นภาพในมณฑปชัดเลย ยิ่งกลางคืน พระจันทร์ส่องอะไรนี้ เห็น ไปหินหมากเป้งก็เหนื่อย นั่งรถไปทั้งคืนแล้ว กลางวันก็ภาวนา กลางคืนจะนอน ก็นอนยังไม่ได้ เห็นหลวงปู่ท่านยังเดินจงกรมอยู่เลย จนห้าทุ่มท่านก็ยังเดิน

พอดูไป อ้าว ท่านนอนเราก็นอนบ้าง ตี 2 ตี 3 มันหนาวจัด ตื่นขึ้นมา โอ๊ย หลวงปู่เดินอีกแล้ว เห็นตะคุ่มๆ อยู่ในมณฑป ผนังเป็นกระจก ไม่ได้มีตาทิพย์มองทะลุอะไรหรอก มองเข้าไปเห็น ก็เห็น เอ๊ะ ท่านเดินจงกรม ใจก็คิด เดินจงกรมจะเอามือไว้ตรงไหนดี เพราะดูท่านก็นิ่งๆ พอคิดว่าเดินจงกรมจะเอามือไว้ที่ไหนดี ท่านเดินอย่างนี้เลย เดิน เราก็ยกมือไหว้ เข้าใจแล้ว ไม่ได้อยู่ที่กระบวนท่าหรอก อยู่ที่จิต เดินด้วยความรู้เนื้อรู้ตัวเมื่อไร มันก็คือเดินจงกรมแล้ว เดินสวยแค่ไหน มีจังหวะแม่นยำแค่ไหน ถ้าไม่มีสติเสียอย่างเดียว ก็ไม่เรียกว่าเดินจงกรม เรียกว่าเดินเรื่อยเปื่อย

พอเข้าใจตรงนี้ มันก็เลยเข้าใจต่อไป นั่งท่าไหนดี ท่าไหนก็ได้ ถ้านั่งด้วยความมีสติ ก็คือการนั่งสมาธิทั้งหมด เมื่อก่อนเห็นหลวงพ่อคูณท่านนั่ง ท่านนั่งยองๆ เราไม่ชิน เราเคยแต่นั่งเก้าอี้ ไปนั่งอย่างท่าน นั่งไม่ได้ ดูสิท่านนั่งยองๆ แล้วท่าน จิตใจท่านเป็นอย่างไร จิตใจท่านดี ก็เลยรู้เลยมันไม่ได้เกี่ยวกับกระบวนท่าหรอก คนรุ่นหลังมันเรียนกรรมฐาน เรียนได้แต่เปลือก เห็นครูบาอาจารย์ เห็นนักปฏิบัตินั่งสมาธิ เดินจงกรมแบบไหน ก็เรียนกิริยาอาการรูปแบบภายนอก แต่ไม่ได้เรียนเข้ามาที่ใจ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้หลักของการปฏิบัติหรอก

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อก็เข้าไป ตอนนั้นยังเป็นโยม ได้ยินว่าหลวงพ่อเทียน วัดสนามใน หลวงพ่อเทียนท่านเป็นพระดี เราก็อยากเห็นท่าน อยากรู้ว่าท่านปฏิบัติอย่างไร เข้าไปที่วัดท่าน ท่านสอนอยู่ใน มันเป็นศาลาเตี้ยๆ เป็นศาลาไม้ยาวๆ แคบๆ เห็นท่านก็สอนให้ขยับมือ ขยับ ก็บรรยายไปขยับไป ก็สังเกตท่าน เอ๊ะ ท่านขยับมือด้วย ท่านพูดด้วย แต่ท่านมีสติ มองไปที่พวกลูกศิษย์ ขยับ พวกหนึ่งคิดท่านี้แล้วต่อไปจะท่าไหน นี่พวกเพิ่งหัดใหม่ นั่งคิดเอา อีกพวกหนึ่งขยับชำนาญแล้ว ขยับได้ด้วยไขสันหลัง ขยับปุ๊บ จิตหนีไปไหนแล้วก็ไม่รู้ นี่อีกพวกหนึ่ง หลงออกไปนอกวัดเลย ทั้งๆ ที่ขยับสวย

อีกพวกหนึ่งขยับด้วยความเคร่งเครียด จะท่าไหนๆ คิดอุตลุด อีกพวกหนึ่งขยับเพ่งใส่มือ มือเคลื่อนไหวนี่เพ่งตลอดเวลา เราก็ดูปุ๊บ วิธีของหลวงพ่อเทียนก็ใช้ได้ ขอให้ทำให้ถูก ขอให้มีสติ แล้วผ่านวันเวลามานาน จนหลวงพ่อบวชแล้ว วันหนึ่งมีโอกาสไปกราบหลวงพ่อคำเขียน ไปเยี่ยมท่าน ท่านเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง อยู่โรงพยาบาลจุฬาฯ ตอนนั้นท่านลุกไม่ได้แล้ว ท่านนอน เข้าไปกราบท่าน ท่านเห็นหลวงพ่อ ท่านก็อุทาน อุทานเสียงดังๆ บอก “ไปได้แล้วๆ มีผู้สืบทอดแล้ว” หลวงพ่อไม่ได้เรียนสายหลวงพ่อเทียน ทำไมหลวงพ่อคำเขียนบอก หลวงพ่อสืบทอดได้แล้ว

แล้วท่านก็พูดว่า “ที่จริงแล้ว หัวใจของการปฏิบัติ คือการมีสตินั่นล่ะ” แล้วท่านเล่าให้ฟังว่า มีคนนิมนต์ท่านไปเทศน์ที่สวนลุมฯ แล้วท่านก็เทศน์เรื่องการเจริญสติ แล้วคนก็หัวเราะว่า ทำไมไม่สอนนั่งสมาธิอย่างไร เดินจงกรมอย่างไร เหมือนที่คนอื่นเขาสอนกัน มาต่อว่าท่าน ท่านเทศน์จบแล้วมาต่อว่า ทำไมท่านไม่สอนเรื่องทำทาน ถือศีล นั่งสมาธิ ท่านมาสอนอะไรแต่เรื่องสติ ท่านเล่ามาถึงตรงนี้ท่านก็หัวเราะ หัวเราะหึๆๆ บอก “เขาก็ถูกของเขาเนอะ เราก็ถูกอย่างของเราเนอะ อาจารย์ปราโมทย์เนอะ” คนละสายกัน

หลวงพ่อไม่ได้เรียนสายหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเรียนสายมาทางวัดป่า ทางหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ก็แหวกแนววัดป่าออกมาอีกทีหนึ่ง ไม่เหมือนกันทีเดียวหรอก แต่ทำไมลงกัน เพราะธรรมะมันเป็นอันเดียวกัน มันไม่มีสายหรอก ถ้าภาวนาถูกต้องแล้ว มันก็เป็นอันเดียวกันหมด หลวงพ่อคำเขียนท่านก็บอกว่า “เขาพูดก็ถูกของเขา เราก็ถูกอย่างของเรานะ อาจารย์ปราโมทย์ เพราะมีสติก็มีศีล มีสติก็มีสมาธิ มีสติก็มีปัญญา”

แล้วหลวงพ่อคำเขียนท่านยังบอกต่อว่า แต่เดิมหลวงพ่อเทียนไม่ได้ทำจังหวะ สอนการเจริญสติแล้วคนมันทำไม่เป็น ทำยาก ไม่เข้าใจ ท่านก็เลยทำจังหวะขึ้นมา เป็นการฝึกเบสิก นี้พอไปติดอยู่ที่จังหวะ ไม่เอาสติ ก็ล้มเหลว ที่พูดอย่างนี้เพราะว่า ฟังหลวงพ่อคำเขียนท่านพูด ถ้าพูดเองเดี๋ยวก็ว่าเราไปดูถูกสายนั้นสายนี้ ไม่ได้ดูถูก สายของท่านก็ดี ไม่ใช่ไม่ดี ขอให้ทำให้มีสติเท่านั้น นี้เกือบร้อยละร้อย อย่างนั่งขยับอย่างนี้ หลงไปที่อื่น อันนี้ตามใจกิเลส เรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยค นั่งแล้วก็เคร่งเครียด บังคับตัวเอง บังคับกาย บังคับใจอยู่ นั่นเรียกว่าอัตตกิลมถานุโยค 2 อันนี้ ที่พวกเราจะต้องฝ่าไปให้ได้ ข้ามไปให้ได้

 

หลักของทางสายกลาง

คนชอบมาถามหลวงพ่อเรื่อยๆ ว่า ภาวนาอย่างไรถึงจะถูก ทำอย่างไรจะถูก หลวงพ่อบอกทำไม่ได้ เอาแค่ว่าไม่ผิด เมื่อไรไม่ผิด เมื่อนั้นถูก คือเมื่อไรไม่หลุดเข้าไปในกามสุขัลลิกานุโยค ย่อหย่อน อัตตกิลมถานุโยค ตึงเครียด ถ้าไม่หลงไป 2 ทางนี้ มันก็เข้าทางสายกลางแล้ว เพราะฉะนั้นที่หลวงพ่อสอนไม่เผลอ ไม่เพ่ง คือหลักของทางสายกลาง เวลานั่งสมาธิ ตอนเด็กๆ หลวงพ่อนั่งไม่ได้คิดนึกอะไรหรอก ท่านพ่อลีสอนให้นั่งหายใจเข้าพุท ออกโธ ก็ทำ แป๊บเดียวก็สงบ พอมันเริ่มสงบ ต่อไปมันก็เริ่มจำได้แล้ว ต้องนั่งอย่างนี้แล้วจะสงบ เห็นไหม ตั้งเป้าไว้ที่สงบแล้ว เริ่มพลาดแล้ว

ปฏิบัติทีแรก ปฏิบัติตามธรรมชาติเลย แป๊บเดียวจิตก็รวมแล้ว พอจำอาการที่จิตรวมได้ จำลักษณะที่จิตรวมได้ ก็น้อมจะสร้างมันขึ้นมาแล้ว อันนี้ผิดแล้ว นั่งอย่างไรมันก็ไม่สงบ นั่งอย่างไรก็ไม่รวม จนกระทั่งวันหนึ่งจับหลักได้ นั่งรู้เนื้อรู้ตัวไป สบายๆ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ระหว่างที่หายใจออก หายใจเข้า จิตฟุ้งซ่าน รู้สึก ไม่ได้ปฏิเสธ เพราะฉะนั้นเวลานั่งทำกรรมฐาน ไม่ต้องไปอยากดี อยากสุข อยากสงบหรอก มันดีก็ได้ ร้ายก็ได้ สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ สงบก็ได้ ฟุ้งซ่านก็ได้ ให้มีสติรู้อย่างที่มันกำลังมีกำลังเป็นนั่นล่ะ แล้วจิตมันสงบเอง

จิตมันไม่สงบ เป็นเพราะกิเลสมันรบกวน มายั่วเย้า ถ้าเรานั่งมีสติอยู่ กิเลสมาหลอกไม่ได้ พอไม่มีกิเลส สมาธิอัตโนมัติมันก็เกิดขึ้น ไม่ต้องไปทำ สิ่งที่ถูกทำไม่ได้ อย่าทำผิด ทำผิดคือทำตามอำนาจกิเลส ทำตามอำนาจกิเลสมี 2 อย่าง อันหนึ่งอยากสนุกสนานเพลิดเพลิน หลงโลกอะไรอย่างนี้ มันก็ย่อหย่อน อันหนึ่งก็คืออยากดี อยากสุข อยากสงบ ก็นั่งบังคับตัวเอง เพราะฉะนั้นเวลาลงมือทำกรรมฐาน ทิ้ง 2 ช่องทางนี้เสีย ทิ้งความใส่ใจสนใจในโลกเสีย อย่างหลวงพ่อเตือนนักหนา อย่าทำตัวเป็นตุ่มรั่ว ธรรมชาติตุ่มไม่ค่อยรั่วหรอก มันแตก พูดว่าตุ่มรั่ว พูดแบบให้เกียรติหรอก จริงๆ ก็คือตุ่มแตกแล้ว ตักน้ำใส่เท่าไรก็ไม่เต็มเสียที พวกตุ่มรั่ว ตุ่มแตก นี่คือพวกหลงโลก กระทั่งหลงงานบุญ งานบุญ เฮฮาปาร์ตี้กันไป อันนั้นหลงโลก

อีกอันหนึ่งก็คือ อย่าเคร่งเครียด บังคับตัวเองเกินไป แค่ไม่ตามใจกิเลส แต่ลงมือปฏิบัติ รู้ไปตามธรรมชาติธรรมดา จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตมีความสุขก็รู้ จิตเฉยๆ ก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ รู้เฉยๆ รู้ไปตามที่มันมีตามที่มันเป็น เราทำกรรมฐานของเราไปเรื่อยๆ แป๊บเดียวก็สงบแล้ว คนที่ได้วสีในการทำสมาธิ ในการทำฌาน ไม่ใช่เพ่งเก่ง แต่รู้จักวางใจให้ถูก วางใจ ไม่หลงไป มีสติอยู่ ไม่เพ่งให้เคร่งเครียด ถ้าเพ่งเคร่งเครียดอยู่ จิตไม่มีความสุข จิตไม่มีความสุขสมาธิไม่เกิด เพราะว่าความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ

ที่หลวงพ่อพูดตรงไปตรงมา พูดแบบไม่อ้อมค้อม อาศัยประสบการณ์จากการเรียนรู้ตัวเองมา อาศัยประสบการณ์จากการสังเกตคนอื่น ตรงที่ออกสังเกตคนอื่น หลวงพ่อมั่นใจตัวเองแล้วว่า ไม่หลงทางแล้ว พึ่งตัวเองได้แล้ว ถึงออกไปดูคนอื่น ก่อนหน้านั้นไม่เอาเลย อยู่ทางสุรินทร์ เขาเล่นอภิญญา เขาเล่นอิทธิฤทธิ์กัน บางพวกก็เล่นคุณไสย คุณไสยมีไม่ใช่ไม่มี มันเป็นพลังงานของจิตล้วนๆ ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรหรอก เห็นเขาเล่นกัน หลวงปู่ก็ห้ามแล้วห้ามอีก บางทีพวกพระพวกเณรก็ชอบเล่น ไปดูจิตคนอื่น ท่านก็ห้าม ไม่ฟังหรอก พอห้ามทีหนึ่งก็หยุดไปแป๊บๆ หนึ่ง พอหลวงปู่ห่างๆ ไปหน่อย ไม่ได้ห้าม เอาอีกแล้ว ด้วยความเคยชิน

ทุกวันนี้หลวงพ่อก็เตือนพวกเราเรื่องนี้ ทำกรรมฐานให้เวลากับการอ่านกายอ่านใจของตัวเอง อย่ามัวแต่ส่งจิตออกนอก กระทั่งผู้ช่วยสอน ถ้าเอาแต่ส่งจิตออกนอก สุดท้ายจะพัฒนาตัวเองไม่ได้เลย เพราะจิตหลงข้างนอกหมด แล้วเข้าฐานไม่ได้แล้ว ฉะนั้นต้องระมัดระวัง คือถ้ายังไม่ถึงขั้นพระอนาคามี สมาธิยังไม่เต็มต้องระวัง ออกไปรู้ออกไปดูอะไร รู้โน่นรู้นี่ รู้อดีต รู้อนาคต รู้ไปรู้มา ไม่รู้กิเลสในปัจจุบันของตัวเอง อันตราย มันพัฒนาไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องพยายาม มาเดินอยู่ในทางสายกลาง ไม่เผลอออกไปดูอะไรข้างนอก เที่ยวไปดูจิตคนอื่น ก็คือหลงออกไปข้างนอก ก็หลุดไปอยู่ในข้างกามสุขัลลิกานุโยค ดูแล้วเพลินดี สนุก แล้วก็บังคับตัวเองเคร่งเครียดอะไรนี่ อยู่ในข้างอัตตกิลมถานุโยค

แล้วทำอย่างไรจะเดินอยู่ในทางสายกลาง ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง มีสติไว้ อย่างหลวงพ่อใช้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หลวงพ่อก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตฟุ้งซ่านหนีไปคิดเรื่องอื่น มีสติรู้ทัน จิตก็ไม่หลงไป จิตอยากรู้สภาวะให้ชัดๆ จิตก็ถลำลงไปจ้อง เช่น จ้องลมหายใจ หรือไปเพ่งจ้องจิต ก็รู้ว่าจิตถลำลงไป ฉะนั้นมีสติรู้เท่าทันจิตตนเองนั่นล่ะ พอมันไม่หลงไปข้างนอก ไม่ถลำมาเพ่งกายเพ่งใจ ก็เรียกว่าไม่ผิดแล้ว มันก็เดินเข้าสู่ทางสายกลางอัตโนมัติ นี่คือวิธีที่จะเข้าสู่ทางสายกลาง

ที่พูดนี่ไม่ได้โมเมพูด พูดด้วยความมั่นใจเต็มร้อยเลย พวกเราต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง มีระเบียบ มีวินัยในตัวเอง ทำกรรมฐาน เอาที่เราถนัด อะไรก็ได้เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นหลวงพ่อไม่ได้ตำหนิว่า ต้องกรรมฐานนั้นไม่ดี กรรมฐานนี้ไม่ดี ขอให้มีสติแล้วใช้ได้หมด จะพุทโธ ถ้าไม่มีสติก็ใช้ไม่ได้ พองยุบ ไม่มีสติก็ใช้ไม่ได้ ไปเพ่งๆ เอา เคร่งเครียดนั้นอัตตกิลมถานุโยค เพ่งท้อง ขยับมือเพ่งมือ นั่นก็อัตตกิลมถานุโยค เพ่งท้องแล้วใจสบาย เผลอเพลินไป อันนั้นกามสุขัลลิกานุโยค

คำว่า “กาม” มันมีหลายนัยยะ อย่างแคบก็คือกามที่พวกเรารู้จัก ความติดใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ติดใจในกามคุณอารมณ์ นี่เป็นกามเบสิกเลย เพราะพวกเราทำไมเป็นเบสิก เพราะพวกเราเป็นสัตว์ที่เกิดในกามาวจร กามชั้นละเอียดก็คือรูปราคะ อรูปราคะ เพราะฉะนั้นอย่างรูปราคะ อรูปราคะ เป็นกามชั้นละเอียด เคยได้ยินคำว่า “กามุปาทาน” ไหม ความยึดมั่นในกาม ไม่ใช่กามคุณอารมณ์ กามนี้ครอบคลุมไปถึง ความติดอกติดใจ หรืออรูปราคะโน่นเลย ครอบคลุม คำว่า กามุปาทาน นี้ คลุมไปถึงพระอนาคามียังมีอยู่เลย ถ้าละได้ก็ถึงจะเป็นพระอรหันต์

เพราะฉะนั้นเราไม่หลง ไม่หลงเพลินไป ถ้าไปนั่งเข้าฌานแล้วเพลิน นี่ติดในกาม แต่เป็นกามชั้นละเอียด แล้วถ้าภาวนาแล้วก็เครียดไปเรื่อยๆ บังคับตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วก็โมโหตัวเองไปเรื่อยๆ อันนั้นตึงไป ฉะนั้นไปทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วมีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง จิตใจเราหลงไป เรารู้ทัน จิตใจเราถลำลงไปเพ่ง ไปจ้อง ไปบังคับควบคุม รู้ทัน แล้วจิตมันจะเดินเข้าทางสายกลาง นี่คือสิ่งแรกที่พระพุทธเจ้าสอนพระปัญจวัคคีย์ ในพระสูตรพูดไม่กี่ประโยคว่า “มีสิ่ง 2 สิ่ง มีธรรม 2 อย่าง ที่บรรพชิตคือผู้ปฏิบัติไม่ควรเสพ คือกามสุขัลลิกานุโยค แล้วก็อัตตกิลมถานุโยค” ท่านพูดสั้นๆ เวลาที่ท่านเทศน์จริง มันอาจจะมีพลความเยอะกว่านี้ แต่ว่าสรุปออกมา grouping ออกมา แล้วก็เลย เพื่อให้ทรงจำได้ง่าย ก็เหลือเท่านี้ ถ้ามีเทปมีอะไร ก็จะได้ยินที่พระพุทธเจ้าเทศน์ มันจะมีบริบทมีอะไรอีกเยอะเลย ในที่พระท่านทรงจำ มันจะเป็นตัวหลักๆ

พอเราเข้าสู่ทางสายกลางได้แล้ว ทำอย่างไร ท่านก็ให้เรียนรู้ สิ่งที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 อันนี้พวกเราเรียนกับหลวงพ่อ ก็จะได้ยินหลวงพ่อพูดเรื่อยๆ เริ่มต้นตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ อะไรเป็นสัมมาทิฏฐิ ความรู้แจ้ง ความรู้จักอริยสัจ 4 นั่นล่ะ แล้วก็สัมมาสังกัปปะ การดำริชอบ อันนี้ที่หลวงพ่อมาสอนพวกเรา ให้คอยรู้ทัน อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา โลภ โกรธ หลง อยู่เบื้องหลังความคิด ความคิดอันนั้นมันก็เป็นมิจฉาสังกัปปะ ถ้ามีความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา มันก็เป็นสัมมาสังกัปปะ

ส่วนเรื่องสัมมาทิฏฐิ ก็เรื่องของอริยสัจ เรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันนี้เป็นทฤษฎีเบสิกเลย จะเรียนธรรมะทั้งหมด มันจะอยู่รวมอยู่ในอริยสัจ 4 ทั้งหมดเลย เข้าใจอริยสัจ 4 คือเข้าใจธรรมะหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาจะปฏิบัติ ท่านสอนสัมมาทิฏฐิ อันนี้สัมมาทิฏฐิภาคปริยัติ เสร็จแล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ ดูแลความคิดของเรา อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด การกระทำ คอยรู้ไปเรื่อยๆ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ก็จะดี การที่เรามีสติคอยสังเกตจิตใจเรา อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด นั่นก็คือการเจริญสติ เป็นสัมมาสติ แล้วสัมมาสติ เมื่อเราทำถูกต้อง ไม่ได้บังคับให้รู้ สติที่ถูกต้องเกิด ไม่ได้เจตนาระลึก มันระลึกได้เอง

สัมมาสติเมื่อทำให้มาก ก็จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ จิตมันจะเข้าฐาน ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา สัมมาสมาธิที่บริบูรณ์ ทำให้มากทำให้เจริญ จะทำให้สัมมาญาณะบริบูรณ์ขึ้นมา สัมมาญาณะคือการรู้ถูก เข้าใจถูก คือวิปัสสนาญาณทั้งหลายนั่นเอง เมื่อสัมมาญาณะบริบูรณ์ สัมมาวิมุติ คือมรรคผลนั้นจะเกิดเอง ไม่มีใครทำให้เกิดได้ ไม่มีใครสั่งจิตให้บรรลุมรรคผลได้ จิตบรรลุมรรคผลของจิตเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญานั้นบริบูรณ์ เมื่อองค์มรรคทั้ง 8 นั้นบริบูรณ์ แล้วตัดสินความรู้กันในชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น นี่คือใจความธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

 

แสงแห่งธรรมะ

เมื่อเช้าตอนเดินมาศาลา พระอาจารย์อ๊าก็พูดกับหลวงพ่อ โอ้ วันนี้วันปฐมเทศนา หลวงพ่อต้องเทศน์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แต่ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่หลวงพ่อเทศน์ ไม่ครบตามพระสูตรสักทีเลย ขาดอยู่ท่อนหนึ่ง จะฟังไหมท่อนนี้ ฟังแล้วฟุ้งซ่าน ระวังนะ พอท่านโกณฑัญญะฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ เสร็จแล้วท่านก็เห็นความจริง “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา” เห็นไหม ทุกอย่างมีเหตุ มีเรื่องเหตุกับผลทั้งนั้นเลย ชาวพุทธเรา ถ้านอกเหตุเหนือผลอะไรนี้ ไม่มีเหตุ ไม่มีผลอะไรอย่างนี้ ใช้ไม่ได้ มันเป็นเรื่องมีเหตุมีผล

ท่านเรียกว่ามีธรรมจักษุ “จักขุง อุทะปาทิ ดวงตาเกิดขึ้นแล้ว” ดวงตานี้ไม่ใช่ตาทิพย์ ไม่ใช่ตาเห็นผี อันนั้นไม่ใช่ “ธรรมจักษุ” “ธรรมจักษุ” คือดวงตาเห็นธรรม คือเห็นด้วยอะไร ด้วยสติด้วยปัญญานั่นล่ะ มี “จักขุง อุทะปาทิ” แล้วก็เกิด “ปัญญา อุทะปาทิ” เห็นความจริงแล้ว เห็นสภาวะ ทีแรกตรงที่เราสามารถเห็นสภาวะได้ เรามีจักษุที่จะเห็นสภาวธรรมแล้ว ถัดจากนั้นเราก็จะเห็น ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป นี่เป็นตัวปัญญา “ปัญญาอุทะปาทิ” ถัดจากนั้นคือ “วิชชา อุทะปาทิ” ท่านรู้อริยสัจ แต่ก็รู้ตามชั้นตามภูมิของพระโสดาบัน พระโสดาบันก็รู้อริยสัจ พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ก็รู้อริยสัจ

ครั้งหนึ่งขึ้นไปกราบ ตอนนั้นหลวงพ่อบวชแล้ว พรรษาแรก ออกพรรษาแล้วขึ้นไปกราบหลวงปู่สุวัจน์ เพราะนึกถึงท่านแล้ว หลวงพ่อคิดว่าท่านคงจะมรณภาพในอีกไม่นาน ขึ้นไปกราบท่าน ท่านก็พูดธรรมะให้ฟัง ท่านบอกว่า “พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ก็เห็นธรรมะสิ่งเดียวกัน แต่ความรู้ความเข้าใจ มันไม่เท่ากัน” ท่านพูดให้ฟังอย่างนี้ ฉะนั้นท่านพระโกณฑัญญะ ท่านก็เห็น มีวิชชา อุทะปาทิ ท่านเห็นอริยสัจ แต่เห็นในระดับของพระโสดาบัน มีจักขุง อุทะปาทิ ดวงตาเกิดขึ้น ญาณะ อุทะปาทิ ญาณหยั่งรู้ เห็นสภาวะแล้ว หยั่งรู้ เกิดขึ้น ตรงนี้เดินวิปัสสนา ตรงปัญญา อุทะปาทินี้ เริ่มตัดแล้ว

ปัญญาเป็นตัวตัด พอมันตัดกระแสของความปรุงแต่ง ก็เกิดวิชชา อุทะปาทิ แจ้งอริยสัจ พอแจ้งอริยสัจแล้ว ถัดจากนั้นเกิดอาโลโก อุทะปาทิ แสงสว่างเกิดขึ้น เวลาจิตมันบรรลุธรรมะ มันก็มีกระบวนการของมัน ก็อยู่ในหลักของอริยสัจนี่ล่ะ อย่างเราภาวนาไปเรื่อย จนถึงจุดที่อริยมรรคจะเกิด จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ แล้วไปเดินปัญญาภายใน มีญาณ มีญาณเห็นความเกิดดับภายใน 2 – 3 ขณะ แล้วก็มีปัญญาตัดกระแสอันนั้นลงไป จิตก็ทวนกระแสเข้ามาหาธาตุรู้ มันทวนกระแสเข้าหาตัวจิตผู้รู้ พอทวนกระแสเข้าถึงจิตผู้รู้ อริยมรรคเกิดขึ้น อริยมรรคเกิดขึ้นก็จะแหวกอาสวะ ที่ห่อหุ้มตัวจิตผู้รู้ออก จิตผู้รู้มันก็จะแตกกระจายสลายออกไป

จิตผู้รู้มันก็เหมือนลูกโป่ง ลูกโป่งมีขอบมีเขต ผิวลูกโป่งที่เป็นยางนั้น คือตัวอาสวะห่อหุ้มลูกโป่งอยู่ พอมันแตก เปลือกหุ้มแตก ตัวผู้รู้สลายตัว ธาตุรู้กระจายเต็มโลก เต็มจักรวาล ไม่มีขอบ ไม่มีเขต ก็สัมผัสพระนิพพาน ขณะนั้นรู้แจ้งในอริยสัจตามชั้นตามภูมิ ก็เป็นวิชชา อุทะปาทิ พอมันแหวกแล้ว 1 ขณะที่แหวก ถัดจากนั้นจิตจะทรงตัวอยู่กับพระนิพพาน 2 – 3 ขณะ แล้วแสงสว่างก็ปรากฎขึ้น 2 – 3 ขณะนั้น ขณะที่ 1 ว่าง ขณะที่ 2 สว่าง ขณะที่ 3 เบิกบาน อันนี้หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า ตรงที่มันเบิกบานขึ้นมา หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียก “จิตยิ้ม” จิตยิ้ม อันนี้ภาษาของท่าน ไม่ได้ตรงปริยัติหรอก

ตรงที่แสงสว่างเกิดขึ้น แสงนั้นไม่มีขอบเขต ครอบโลก ครอบจักรวาล ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เขาบอกว่าพวกภุมมเทวดาเห็นแสงสว่างนี้ ก็ประกาศว่าโกณฑัญญะรู้แล้ว พระโกณฑัญญะรู้แล้ว พวกเทวดาอื่นได้ยิน ก็ตะโกนต่อๆ กันไป จนถึงพรหมโลก วันนั้นเป็นวันที่กระเทือนโลกธาตุอีกครั้งหนึ่ง ก่อนหน้านั้นคือวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เทวดาแสนโกฏิจักรวาลแตกตื่น คราวนี้เทวดาก็ร่าเริง เมื่อแสงสว่างเกิดขึ้นกับพระโกณฑัญญะได้ แสดงว่าธรรมะนี้แผ่ออกมาจากพระพุทธเจ้าแล้ว มาถึงสัตว์โลกแล้ว ต่อไปนี้สัตว์โลกที่มีกิเลสเบาบาง จะได้รับกระแสของธรรมะ ได้รับความสว่าง

ที่หลวงพ่อพูดเรื่อยๆ ว่า ให้เราส่งทอดดวงประทีปนี้ไป ดวงประทีปนี้ไม่ใช่ประทีปอะไรหรอก คือแสงอันนี้เอง ถ้าเราภาวนาจนกระทั่งเข้าถึงตัวนี้ อาโลโก อุทะปาทิ แล้วเราก็ถ่ายทอดธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ออกไป ให้คนอื่นเข้าถึงอันนี้บ้าง นี่คือวิธีเดียวที่จะแทนคุณพระพุทธเจ้า คือแทนคุณพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ธูปเทียนอะไรนี้ อย่างนั้นๆ ล่ะ ถ้าเราได้ปฏิบัติจนเราได้ถึงแสงแห่งธรรมะแล้ว อันนี้ถือว่าเราได้เป็นสาวกที่ดีของพระพุทธเจ้า ถ้าเรายังมาไม่ถึงตรงนี้ เราก็ได้แค่เป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาพระพุทธเจ้า ยังไม่ใช่สาวกที่แท้จริง

เคยสวดไหม “สุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ” พระสงฆ์สาวกคือใคร คือคู่แห่งบุรุษ 4 คู่นับเรียงตัวบุรุษได้ 8 บุรุษ มี 4 คู่ คือคู่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล 4 คู่ นับเรียงแล้วได้ 8 คือบุคคล 8 ประเภท แต่ประเภทที่เป็นมรรค มีอยู่ชั่วขณะเดียวเท่านั้น นอกนั้นก็ตกเข้าไปสู่ส่วนที่เป็นผล ถ้ายังไม่ได้โสดาบัน ยังไม่ใช่สาวกตัวจริง เป็นแค่ผู้เลื่อมใสศรัทธาคำสอนของพระพุทธเจ้า

ศรัทธาของปุถุชน เป็นศรัทธาที่กลับกลอก เชื่อถือยังไม่ได้หรอก ค่อยภาวนาจนกระทั่งเข้าใจธรรมะแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นในจิตในใจเรา ความรักความเคารพแน่นแฟ้นในพระพุทธเจ้านั้น มีเหนือคำพูดคำบรรยาย แค่นึกถึงก็อบอุ่นแล้ว นึกถึงพระพุทธเจ้าจะอบอุ่น เราจะไม่หลงไปมีที่พึ่งอื่น นอกจากพระรัตนตรัย อย่างเทพ พรหม เทวดาอะไร ที่คนจำนวนมากเอาเป็นที่พึ่ง โชคลางที่คนเอาเป็นที่พึ่ง ยังไม่ใช่แก่นแท้ ช่วงที่เรายังไม่มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เราก็อาจจะต้องพึ่งสิ่งโน้นสิ่งนี้ไปก่อน แต่ก็เลือกพึ่ง ไม่ใช่พึ่งส่งเดชไปเรื่อยๆ

อะไรที่ขัดกับเรื่องกฎแห่งกรรมเราไม่เอา เราตั้งใจไว้อย่างนี้ อย่างไปขอโชคขอลาภกับเทวดา ขอให้เฮง เทวดาให้ไม่ได้หรอก แต่ขอแล้วสบายใจ มีเรี่ยวมีแรง ดำรงชีวิตต่อไป ก็มีประโยชน์เหมือนกันในระดับนั้น เทวดาช่วยให้ใครถูกหวยไม่ได้ ช่วยให้ใครรวยไม่ได้ ช่วยให้ใครหายเจ็บป่วยไม่ได้ จะพูดว่าช่วยไม่ได้เลย มันก็ไม่เชิง ช่วยได้เหมือนกัน แต่ไม่เกินกรรมของเราเอง ฉะนั้นตัวชี้ขาดจริงๆ คือกรรมของเราเอง

ฉะนั้นเวลาเราเข้าใจธรรมะ เราจะเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ไม่เชื่อโชคเชื่อลางอะไรอีกต่อไปแล้ว แล้วเราจะมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ผู้อื่นไม่ใช่สรณะ เพราะว่าไม่สามารถพาเราให้พ้นทุกข์ได้ ผู้อื่นที่เป็นที่พึ่งของเราก็แค่ประคับประคองเรา ในขณะที่เดินทางในสังสารวัฏเท่านั้น ผู้ที่จะช่วยเราให้พ้นจากสังสารวัฏ ก็คือพระรัตนตรัยเท่านั้น

ฉะนั้นวันอาสาฬหบูชานี้ เป็นวันที่ยิ่งใหญ่ เป็นวันที่พระรัตนตรัยเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว พวกเราก็เดินตาม วิธีเดินตามก็ลองไปดู ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรสอนอะไร ก็เดินอย่างนั้น ไม่สุดโต่งไป 2 ข้าง ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง คอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ จะได้ไม่สุดโต่งไป 2 ข้าง แล้วก็รู้ว่าชาวพุทธเราเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม เชื่อเรื่องเหตุเรื่องผล ไม่เชื่ออะไรงมงาย รักษาศีล 5 ให้ดี ถ้าศีล 5 เสื่อมก็เสียหาย ฉะนั้นตั้งอกตั้งใจก้าวไปข้างหน้า ไม่หยุด เป็นปุถุชนก็ก้าวไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่โลกุตตรภูมิ ได้โสดาบันแล้วก็ต้องก้าวไปอีก อย่าหยุดอยู่แค่นั้น เป็นพระโสดาบัน แล้วก็เป็นโสดาบัน แล้วก็เป็นโสดาบัน แล้วก็เป็นโสดาบันอยู่แค่นั้น พระพุทธเจ้ายังไม่สรรเสริญหรอก เป็นความดีที่ยังหยุดนิ่งอยู่ ต้องก้าวต่อไป ต้องเดินต่อไปอีก

ฝึกตัวเองให้ดี ที่หลวงพ่อสังเกต อย่างเราภาวนา มันจะมีจุดที่ยากๆ อยู่ 2 – 3 จุด อันแรกเลยทำอย่างไรจิตเราจะตื่นขึ้นมา ตั้งมั่น อยู่ในทางสายกลาง เดินในทางสายกลางได้ อันที่ 2 ระหว่างที่เดินในทางสายกลาง จุดที่ยากมากเลย คือการเห็นกิเลสตัวเอง เพราะธรรมชาติไม่เห็นกิเลสตัวเอง เห็นแต่กิเลสคนอื่น คนโน้นไม่ดีอย่างนี้ คนนี้ไม่ดีอย่างนั้น เราไม่ดีอย่างไร ไม่เห็นหรอก พยายาม Protect กิเลสเอาไว้ตลอด มันก็ไม่ก้าวหน้า ถ้าไม่ Protect กิเลสตัวเอง มันก็ก้าวหน้าได้ เพราะกิเลสนี้จะอ่อนกำลังไปเรื่อยๆ

 

 

เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ คงครบแล้วตามธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อาจารย์อ๊าบอกเทศน์ให้ครบๆ บอก เอ๊ย ท่อนหลังฟังแล้วฟุ้งซ่าน ฟังแล้วฟุ้ง เอาท่อนแรกนั่นล่ะ ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตหลงไปเพ่งก็รู้ แล้วมันจะเดินเข้าทางสายกลางได้ พอเข้าทางสายกลางแล้ว ค่อยๆ สะสมไป จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว เราก็เดินปัญญา เดินปัญญามีญาณหยั่งรู้ ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปธรรม นามธรรมไป สุดท้ายก็เกิดปัญญาเข้าใจความจริง ปัญญาคือรู้ถูก เข้าใจถูก เป็นตัวตัดความหลงผิดลงไป จิตก็ก้าวกระโดดไปเรื่อยๆ

“จักขุง อุทะปาทิ” เมื่อก่อนไปหาหลวงพ่อพุธ ท่านเทศน์เรื่อยเรื่องนี้ จักขุง อุทะปาทิ ญาณะ อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ถ้าหลวงปู่ดูลย์มีแถมอีกอัน “จิตยิ้ม” แสงสว่าง ไม่ใช่สว่างเฉยๆ บางคน บางท่าน สว่างแล้วประกอบด้วยโสมนัส บางท่านสว่างเฉยๆ ประกอบด้วยอุเบกขา เพราะฉะนั้นมันจะมีเวทนา 2 ตัวในขณะนั้น ถ้าไม่เป็นโสมนัสมีความสุข ก็เป็นอุเบกขา พระอริยะบางองค์ จิตประกอบด้วยโสมนัสขึ้นมาด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่เดินปัญญา 2 ขณะ แล้วก็เกิดผล 3 ขณะ ขณะสุดท้ายนั้น มันจะเบิกบานขึ้นมา ขณะที่ 2 มันจะสว่าง ขณะที่ 1 มันจะว่าง

ห้ามฟุ้งซ่าน ทำไปแล้ววันหนึ่งก็เห็นเอง ถ้าเชื่อที่หลวงพ่อพูดก็โง่แล้ว ถ้าไม่เชื่อแล้วไม่ลอง นั่นโง่สุดๆ เลย ฉะนั้นเราลองลงมือปฏิบัติ ถือศีล 5 แล้วทำกรรมฐานไป มีสติ แล้วทำกรรมฐานอะไรก็ได้ แล้วมีสติรู้ทันจิตตัวเองไว้ จิตหลงก็รู้ จิตถลำไปเพ่งก็รู้ แล้วจิตจะเข้าทางสายกลาง ถัดจากนั้นขันธ์มันจะแยก พอจิตเรามีกำลัง ขันธ์มันแยกอัตโนมัติ ง่าย ไม่ยากหรอกที่แยกรูป แยกนาม เรื่องเด็กๆ เลย ไม่เจตนาจะแยกยังแยกเลย ขอให้จิตมีกำลังพอเท่านั้น เพราะฉะนั้นการแยกขันธ์ มันเป็นปัญญาขั้นต้น ก็บอกแล้วว่าสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา กระทั่งปัญญาเบสิกนี้ จิตต้องตั้งมั่น คือจิตมีสมาธิมันถึงจะแยกขันธ์ได้ หลายที่เขาเรียนกรรมฐานกำหนดๆๆ ไม่มีจิตตั้งมั่น เพราะฉะนั้นไม่มีหรอกแยกรูป แยกนาม ไปต่อไม่ได้ก็ตันอยู่แค่นั้น ก็เครียดๆ ไปวันๆ หนึ่ง

เทศน์ยาวเกินไปแล้ว เกินไป 3 นาทีแล้ว วันนี้ไม่มีส่งการบ้านใช่ไหม มิน่า เทศน์อย่างร่าเริง เพราะไม่ต้องห่วงพวกจะส่งการบ้าน ไม่อย่างนั้นจะต้องคอยแบ่ง เมื่อวันอาทิตย์ไปเทศน์ มสธ. คนจีนกลุ่มใหญ่ทั้งพระ ทั้งโยม เขาก็มีคอร์สของเขา เดี๋ยวนี้เขาเริ่มจัดของเขาเองแล้ว ก็ฟังที่หลวงพ่อเทศน์ด้วย แล้วคนไทยก็จัดคอร์สอยู่แถวพัทยา เวลาเทศน์คนในมสธ. ก็เป็นพัน เยอะแยะเลย จะเทศน์ จะแบ่งธรรมะอย่างไรดี แบ่งไม่ถูก แบ่งไม่ถูกก็ช่างมัน เดี๋ยวจิตมันแบ่งเอง ก็เทศน์ตามธรรมชาติของเรา ใครฟังด้วยจิตใจที่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เขาเข้าใจ ใครฟังไปคิดไปก็ไม่รู้เรื่องหรอก เพราะธรรมะคิดเอาไม่ได้

วันนี้วันสำคัญ พวกเราต่อสู้กิเลสไว้ คนอื่นไม่ใช่ศัตรูของเรา กิเลสเป็นศัตรูตัวจริง ตราบใดยังไม่พ้นกิเลส อย่าไว้ใจ อย่าไว้ใจกิเลส ไม่ว่าจะภาวนาได้ถึงขั้นไหนก็ตาม ถ้ายังมีกิเลสเหลืออยู่ อย่าไว้ใจ ต้องสำรวม ต้องระวัง ฝึกตัวเอง ไม่เลิกละ

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
1 สิงหาคม 2566 (ช่วงเช้า)