หลวงพ่อไม่ได้มาเทศน์ที่นี่หลายเดือน วันนี้พวกเรามากันเยอะมาก ยังมีคนที่ฟังที่อื่น มีอีกส่วนหนึ่ง ในเมืองไทยก็กำลังมีการจัดคอร์สฝึกกรรมฐาน ทีมงานของหลวงพ่อส่วนหนึ่งก็ไปช่วยที่นั่น ในต่างประเทศตอนนี้ก็มีคนจีน คอร์สจีน อันนี้คนจีนเขาจัดกันเอง ก็มีพระจีนประมาณร้อยองค์กับญาติโยม 40 คน ก็ได้นั่งฟังหลวงพ่อเทศน์พร้อมๆ กับพวกเราที่นี่ เวลาแสดงธรรมแล้วมีกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่ม ก็เทศน์ยากหน่อย เพราะธรรมะจริงๆ มันไม่ใช่มีสคริปต์ หรือมีแบบเรียนที่ตายตัว หลักการปฏิบัตินั้นตายตัว แต่เวลาลงมือปฏิบัติมันเป็นทั้งศาสตร์ เป็นทั้งศิลป์ คนแต่ละคน แต่ละเพศ แต่ละวัย แต่ละกลุ่มอะไรอย่างนี้ มุมที่จะสัมผัสธรรมะได้ก็จะแตกต่างกัน
อย่างคนรุ่นเก่าหน่อยจะมีความอดทนในการเรียนสูง เด็กรุ่นหลังเป็นยุคสมาธิสั้น สั้นมากๆ เลย ความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแวบเดียว เดี๋ยวก็เลิกแล้ว อยากไปทำอย่างอื่นแล้ว จะแตกต่างกับคนรุ่นก่อนๆ หรือคนที่อยู่ในภาคเกษตร เขาจะมีเวลาที่จะทำสมาธิเยอะกว่าพวกเราที่อยู่ในเมือง ฉะนั้นเวลาถ่ายทอดธรรมะ ถ่ายทอดคนแต่ละกลุ่ม มันก็จะต้องแตกต่างกันไป
“ถ้าใครเขาถามเราว่าจะดูอะไรก่อนในการเริ่มลงมือปฏิบัติ
คำตอบคือดูตัวเอง”
อย่างคนจะทำสมถกรรมฐาน กรรมฐานมีตั้ง 40 อย่างในการทำสมถะ ใครควรจะทำอันไหน แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เราดูจากจริตของผู้ปฏิบัติ เป็นราคจริตไหม หรือเป็นโทสจริต หรือเป็นโมหจริต หรือเป็นพวกชอบใช้เหตุผล เป็นพุทธิจริต เป็นสัทธาจริต นี่ไม่ชอบใช้เหตุผล กลับข้างกัน หรือเป็นพวกฟุ้งมากๆ พวกวิตกจริต ฟุ้งซ่าน เราก็ต้องรู้จักเลือกกรรมฐานที่เหมาะกับตัวเราเอง
ฉะนั้นอย่างอยากจะทำสมาธิให้สงบ ขั้นแรกจะดูอะไร ขั้นแรกดูตัวเอง อย่างถ้าเราเป็นพวกโทสจริต กรรมฐานที่จะแก้พวกโทสจริตได้ อย่างเช่นการเจริญเมตตา แทนที่จะไปนั่งหายใจเข้าพุท หายใจออกโธให้สงบ ไม่สงบหรอก มันโมโหง่าย นั่งๆ อยู่ ยุงบินมาตัวเดียว ก็โมโหแล้ว ฉะนั้นก็ต้องดูกรรมฐานที่มันเป็นคู่ปรับกับกิเลสของเรา เรามีโทสะมากก็หัดเจริญเมตตา
หรือเรามีความหลงในร่างกายนี้ ร่างกายเราสวย ร่างกายเรางาม มีราคะมาก รักในรูปมาก เราก็พิจารณา ร่างกายเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ หรือถ้าเราเป็นพวกปัญญามาก พวกนี้ฟุ้ง ฟุ้งซ่านจะทำให้สงบ ก็อาจจะใช้วิธีพิจารณาหัวข้อธรรมะอันใดอันหนึ่ง ไม่พิจารณาเยอะ พิจารณาอันใดอันหนึ่ง อย่างเวลาใจเราฟุ้งซ่าน เรานึกถึงหัวข้อธรรมสักข้อหนึ่งแล้วพิจารณาลงไป ใจก็สงบได้ ถ้าพวกหลงเก่งก็ทำกรรมฐาน ถ้าหลงแบบงมงาย ก็หัดใช้เหตุใช้ผลอะไรให้เยอะขึ้น ถ้าหลงแบบลืมตัวบ่อยๆ อาจจะทำอานาปานสติก็ได้ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก จิตหลงไปคิดแล้วรู้ทันอะไรอย่างนี้ ความฟุ้งซ่าน ความหลงจะลดลง
กรรมฐาน ถ้าใครเขาถามเราว่าจะดูอะไรก่อนในการเริ่มลงมือปฏิบัติ คำตอบคือดูตัวเอง เราเป็นคนชนิดไหน แล้วก็เลือกกรรมฐานที่มันพอเหมาะพอดีกับตัวเรา หรือเวลาเราจะเดินวิปัสสนา เราจะดูอะไรก่อน จะทำวิปัสสนาเราก็ดูตัวเองก่อน เรามีจริตแบบไหน จริตของคนทำสมถะมี 6 จริต ราคจริต โทสจริต โมหจริต พุทธิจริต สัทธาจริต วิตกจริต มี 6
จริตเพื่อการทำวิปัสสนานั้นมี 2 จริต
คือตัณหาจริตกับทิฏฐิจริต
เวลาจะทำวิปัสสนามี 2 จริต เพราะฉะนั้นอย่างบางคนถาม บอกว่าหนูเป็นโทสจริต หนูจะทำวิปัสสนาอย่างไร อันนั้นถามผิดเรื่อง ถ้าโทสจริต อันนั้นเป็นเรื่องของการแก้ ทำให้จิตสงบ ไม่ตกอยู่ในอำนาจโทสะ เป็นเรื่องของสมถะ จริตเพื่อการทำวิปัสสนานั้นมี 2 จริต คือตัณหาจริตกับทิฏฐิจริต ตัณหาจริตคือพวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ทิฏฐิจริตคือพวกช่างคิด ชอบวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ มีอะไรหน่อยหนึ่งก็คิดแล้วคิดอีกอยู่นั่น
คนรุ่นก่อนชีวิตท่านลำบากกัน เป็นชาวไร่ชาวนา หาอยู่หากินไปวันๆ หนึ่ง เจ็บไข้ได้ป่วยก็ทุกข์ทรมาน หมอก็ไม่มี ยาก็ไม่มี สิ่งที่ท่านเหล่านั้น บรรพชนของเราส่วนใหญ่ สิ่งที่ท่านเหล่านั้นปรารถนาคือความสุขในชีวิต เพราะฉะนั้นท่านจะเน้นไปที่ ท่านเป็นพวกตัณหาจริต อยากได้ความสุข อยากได้ความสบาย
ในขณะที่พวกเรายุคนี้มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมแล้ว แต่ก็ยังหาความทุกข์ใส่ตัวเองด้วยการคิดเอา ความช่างคิดของเรานั้นทำให้ชีวิตเราสับสนวุ่นวาย ทั้งไม่สงบด้วย กิเลสเกิดขึ้นมากมายด้วย คนรุ่นนี้จะเป็นพวกที่เรียกว่าทิฏฐิจริต ก็มีส่วนน้อยที่ยังเป็นตัณหาจริตอยู่ อย่างบางคนก็ยังเสริมสวยทั้งวัน รักตัวเองมากเลย พวกนี้ก็เห็นว่าร่างกายนี้เป็นของสวยของงาม ของดี ทรัพย์สินเงินทองเป็นของสำคัญมาก อีกพวกหนึ่งก็ลัทธิอุดมการณ์สำคัญมาก พวกนี้ทิฏฐิจริต
2 จริตนี้เวลาเลือกทำกรรมฐานก็จะต่างกัน พวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม มันติดอกติดใจในร่างกาย ฉะนั้นกรรมฐานที่จะดัดนิสัยโดยตรงของพวกนี้ คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นว่าร่างกายมันสวยงามนักหรือ ให้มีสติรู้ลงในกายเนืองๆ แล้วจะเห็นเลยร่างกายไม่ใช่ของสวยของงามหรอก หรือเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน พวกนี้พวกติดรักสุขรักสบาย
พวกหนึ่งรักสวยรักงามก็ไปดูกาย พวกรักสุขรักสบายก็ดูเวทนา ที่ว่าสุขๆ มันสุขจริงไหม สุขนั้นมันยั่งยืนไหม ไปดูอย่างนี้ ที่รักกายมากก็ไปดูลงไป ร่างกายนี้มันดีอย่างไร มันวิเศษอย่างไร ไม่นานมันก็แก่ ไม่นานมันก็เจ็บ ไม่นานมันก็ตาย เอาไว้ไม่ได้ นี่เป็นกรรมฐาน มันเป็นปฏิปักษ์กับกิเลสโดยตรงเลย
อย่างรักสวยรักงาม ดูกายเข้าไปเถอะ อย่างไรมันก็ไม่สวยไม่งาม อย่างบางคนส่องกระจกแล้วเราสวยๆ รีบส่องตั้งแต่ตื่นนอนสิ ตื่นนอนไปรีบส่องกระจกดู น่าเกลียดมากเลย ไม่สวยไม่งาม เวลากินอาหาร เคี้ยวข้าวเข้าไป แล้วลองนึกถึงอาหารอยู่บนโต๊ะสวยๆ งามๆ พอเข้าปากเราเท่านั้น น่าเกลียดแล้ว ถูกน้ำลายเข้าไปก็กลายเป็นของปฏิกูลแล้ว เอาไปป้อนคนอื่นเขาก็ไม่อยากกินแล้ว
ถ้าเราเป็นพวกรักในร่างกายมาก อุ๊ย ร่างกายเราดีวิเศษ ก็เจริญกายานุปัสสนาลงไป ดูลงไป ในความเป็นจริงมันไม่ได้สวยได้งามหรอก สกปรกโสโครก ไม่สวยไม่งาม เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เพราะฉะนั้นตัวกายานุปัสสนา เหมาะกับพวกที่รักสวยรักงาม เวทนานุปัสสนาก็อยู่ในกลุ่มของตัณหาจริตเหมือนกัน แต่เป็นพวกรักสุขรักสบาย พวกหนึ่งก็จะรักรูปธรรม รักกาย ส่วนเวทนานุปัสสนาตัวนี้ มันรักนามธรรม แต่ว่ามันรักความสุข ติดในความสุข ก็หัดมาดูเวทนา
เวทนามี 2 ส่วน เวทนาในกายกับเวทนาในใจ เวทนาในใจนี้เป็นตัวเสริมการดูกายานุปัสสนา การดูกาย แล้วมันมีเวทนาแทรกอยู่ในกาย มันจะรู้เลยกายไม่ใช่ของดี กายเป็นที่ตั้งของความทุกข์ นั่งอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ ยืนอยู่ก็ทุกข์ หายใจออกก็ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์ อันนี้มันมีเวทนาซ้อนอยู่กับกาย
เพราะฉะนั้นพวกที่รักสุขรักสบาย รักสวยรักงามอะไรนี่ ท่านแนะนำให้ดูกายหรือเวทนา ถ้าดูง่ายๆ ก็ดูกาย มันไม่สวย มันไม่งาม หรือจะดูเวทนา มันไม่สุข มันไม่สบาย ดูอย่างนี้เรื่อยๆ ความติดอกติดใจในรูป ความติดอกติดใจว่าร่างกายเรานี้ดีๆ มีความสุขอะไรอย่างนี้ค่อยๆ ลดลงๆ มันเริ่มเห็นความจริงแล้ว ร่างกายเป็นที่ตั้งของความทุกข์ เต็มไปด้วยความทุกข์ พอเห็นตามความเป็นจริง จิตก็เบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วก็หลุดพ้น ปล่อยวาง ปล่อยวางกายได้
เวทนามันยังมีอีกตัวหนึ่งคือเวทนาทางใจ อย่างใจของเรามีเวทนาเกิดขึ้นตลอดเวลา จิตทุกดวงจะต้องประกอบด้วยเวทนาเสมอ กระทั่งจิตพระอรหันต์ก็ประกอบด้วยเวทนา จิตของเรามีเวทนา 3 อย่าง เวทนาที่มีความสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ มันมีเวทนา 3 ตัวนี้ หมุนเวียนอยู่ในจิตใจของเราตลอดเวลา ตรงนี้ เวทนาตัวนี้ มันจะคาบเกี่ยวเข้าไปที่จิต ถ้าเวทนาทางกายมันคาบเกี่ยวลงมาที่กาย ถ้าดูเวทนาทางใจมันจะโยงเข้าไปที่จิต
อย่างเวลาจิตใจมีความสุข เราก็เห็นใจเราสุขจัง หรือเวลามีความทุกข์เกิดขึ้น เรารู้สึกใจเราทุกข์จัง ถ้าเราภาวนาละเอียดขึ้นไป เราจะเห็นเลย ความสุขเป็นอันหนึ่ง จิตใจเป็นคนรู้ว่าเป็นความสุขเป็นอีกอันหนึ่ง แต่การที่มีจิตใจมีความสุขบ้าง จิตใจมีความทุกข์บ้าง จิตใจเฉยๆ บ้าง มันทำให้เราสามารถเห็นได้ว่าจิตมันไม่เที่ยง เวลาจิตมีความสุข จิตก็อยู่ชั่วคราว เดี๋ยวจิตที่มีความสุขก็ดับ จิตมีความทุกข์อยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับ จิตเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์อยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับ เราจะสามารถดูจิตได้โดยผ่านทางเวทนาทางใจ ผ่านเวทนาทางใจ
ค่อยๆ ดู กรรมฐานมันมีเยอะแยะไปหมด ดู เลือกเอาที่เหมาะกับตัวเรา มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ในการทำวิปัสสนา ถ้าเป็นพวกตัณหาจริต พวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ดูกายหรือเวทนาทางกายไป ถ้าเป็นพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็นอะไรนี่ ก็ดูจิตตานุปัสสนา ดูจิตกับเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน 2 อันนี้เหมาะกับพวกทิฏฐิจริต ฉะนั้นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มันเหมาะกับพวกตัณหาจริต พวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน กับธัมมานุปัสสนา มันเหมาะกับทิฏฐิจริต พวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น
พวกทิฏฐิจริตควรจะดูจิต
เมื่อ 40 ก่อนบ้านเมืองเรายังไม่ได้เป็นแบบนี้ เกษตรยังเป็นภาคสำคัญ คนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ชีวิตลำบากแบบเดียวกับรุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นครูบาอาจารย์อะไรโน่น ฉะนั้นการทำกรรมฐานก่อน 40 ปีนั้นขึ้นไป ส่วนใหญ่ก็จะเน้นการพิจารณาร่างกาย หลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อเข้าไปกราบท่าน ท่านเห็นว่าหลวงพ่อเป็นคนเมือง เป็นคนมีการศึกษา เชื่อเหตุเชื่อผล ไม่เชื่ออะไรที่งมงาย คือเป็นพวกทิฏฐิจริตแล้ว หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนให้หลวงพ่อดูจิตเลย ฉะนั้นมันจะตรงกับตำราที่สอนไว้ พวกทิฏฐิจริตควรจะดูจิต หลวงพ่อก็ดูจิตแล้วก็พบว่าจิตนั้นเกิดดับเปลี่ยนแปลง บางดวงมันก็เกี่ยวข้องกับเวทนาทางใจ ฉะนั้นจิตบางดวงเป็นสุข เกิดแล้วก็ดับ จิตบางดวงเป็นทุกข์ เกิดแล้วก็ดับ จิตบางดวงไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดแล้วก็ดับ
บางทีจิตก็เกิดเนื่องด้วยกุศลอกุศล จิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง ฝ่ายอกุศล เกิดแล้วก็ดับ การที่เราเห็นจิตสุขเป็นอันหนึ่ง เกิดแล้วดับ จิตทุกข์เป็นอันหนึ่ง เกิดแล้วดับ จิตเฉยๆ เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลงเกิดแล้วดับ มันทำให้เราเห็นว่าจิตนั้นเป็นของที่เกิดแล้วก็ดับไป
ตัวจิตไม่มีรูปร่าง ไม่เหมือนร่างกาย ร่างกายเราแตกดับนี้เรามองเห็นง่าย นั่งรถไปถูกรถทับตัวแตกแล้ว ในสำนวนโบราณมี บอกเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ร่างกายมันแตกสลาย ตาย อันนี้ดูง่าย แต่จิตมันไม่มีรูปร่าง เราจะดูจิตเกิดดับ จะไปดูของที่มันไม่มีรูปร่าง มันดูไม่เห็น เพราะฉะนั้นเราดูจิตเกิดดับได้โดยผ่านเวทนา จิตที่สุขเกิดแล้วดับ จิตที่ทุกข์เกิดแล้วดับ เราจะเห็นได้ จิตสุขกับจิตทุกข์มันคนละแบบกัน จิตที่ดี กับจิตที่โลภ กับจิตที่โกรธ กับจิตที่หลงอะไรอย่างนี้ มันคนละแบบกัน
อย่างคนไหนขี้โมโห เราก็หัดดู จิตที่โมโหมันเกิดขึ้น เรารู้ทัน พอเรารู้สักพักหนึ่ง จิตที่โมโหก็ดับ เราก็เห็น เออ จิตที่โกรธมันไม่เที่ยง บางคนมันขี้โลภ มันโลภบ่อย เราก็เอาจิตโลภเป็นหลัก แล้วตัวอื่นเป็นตัวประกอบ อย่างเห็นอะไรก็อยากได้หมดเลย ใจมีความอยากได้ มีราคะเกิดขึ้น มีโลภะเกิดขึ้น รู้ทัน จิตมีโลภะแล้ว พอรู้ทันแล้ว มันจะดับเอง แต่ถ้าจิตยังไม่มีกำลังพอ มีโลภะ แล้วมันมองไม่เห็น มองไม่เห็นว่าจิตมีโลภะ มันอยากได้ อยากได้เมียคนอื่น พอไม่ได้แล้วมันโมโห เพราะฉะนั้นคนที่เอาจิตมีโลภะเป็นพื้นฐาน เป็นวิหารธรรม ไม่ใช่ว่าจะเห็นแต่โลภะ กิเลสอื่นก็เห็นเหมือนกัน
อย่างเวลามีความอยากเกิดขึ้น เรารู้ว่าจิตอยาก จิตหายอยาก ก็รู้ว่าจิตหายอยาก หรือเวลาจิตมันไม่สมอยาก จิตมันหงุดหงิดขึ้นมา จิตโมโหขึ้นมา เราก็รู้ หรือคนไหนขี้โกรธ เราดู จิตเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หายโกรธ พอดูตัวนี้เป็น ต่อไปมันก็ดูจิตชนิดอื่นเป็น ดูจิตโกรธได้ เดี๋ยวมันก็ดูจิตโลภได้ ดูจิตหลงได้ เบื้องต้นให้มันได้สักตัวหนึ่งก่อน พอได้ตัวหนึ่งแล้ว ต่อไปมันก็ได้ทุกตัว
อย่างหลวงพ่อ เริ่มต้นหลวงพ่อดูจิต หลวงพ่อเห็นจิตเกิดดับผ่านโทสะ เพราะหลวงพ่อเป็นพวกขี้โมโห อะไรนิดหนึ่งก็โมโหแล้ว แต่ไม่ได้โมโหตึงตังออกมา เพราะว่าเราถือศีล เราโมโหอยู่ในใจ เวลาด่าก็ด่าในใจ ไม่ออกจากปาก อย่างด่าอยู่ในใจ ยังไม่ผิดศีลข้อมุสาวาท แต่หลุดออกจากปากแล้วข้อมุสาวาทเต็มๆ เพราะฉะนั้นเวลาใจมันโกรธ หลวงพ่อเห็นใจมันโกรธ แล้วเราก็เห็นความโกรธกับใจมันคนละอันกัน ความโกรธมันเป็นอันหนึ่ง จิตใจเป็นอันหนึ่ง แยกๆๆ ออกไปเรื่อย ก็คือสามารถแยกโทสะกับจิตออกจากกันได้ โทสะนั้นอยู่ในสังขารขันธ์ จิตอยู่ในวิญญาณขันธ์ สามารถแยกขันธ์ได้จากการที่ดูโทสะตัวเดียวนั่นล่ะ
พอดูโทสะได้แล้ว ต่อไปเกิดราคะ เกิดยินดีพอใจ มันก็เห็นได้ โอ้ จิตตอนนี้มีความพอใจเกิดขึ้น แล้วฝึกไปเรื่อยๆ ต่อไปเห็นจิตมีโมหะ เดี๋ยวก็หลงๆๆ วันๆ หนึ่ง หลงนับจำนวนไม่ถ้วน ถ้าคนภาวนาไม่เป็น หลงวันละครั้ง คือหลงตั้งแต่ตื่นจนหลับ แต่ยิ่งภาวนาเก่ง หลงวันละหมื่นครั้ง แสนครั้ง หลงแล้วรู้ๆๆ อย่างนี้ตลอดเวลาเลย การที่เราเห็นสภาวะหลงแล้วรู้ๆ ไม่ใช่ไม่ดี บางคนบอกทำอย่างไรจะไม่หลง ไม่ต้องทำ หลงเข้าไปเถอะ แต่หลงแล้วรู้ว่าหลง แล้วต่อไปปัญญามันจะเกิด มันจะรู้ว่าจิตที่รู้ตัวอยู่ ก็ไม่เที่ยง จิตที่หลงก็ไม่เที่ยง จิตที่รู้ตัวอยู่ รักษาเอาไว้ก็ไม่ได้ จิตที่หลงก็ห้ามมันไม่ให้เกิดไม่ได้ อย่างจิตมันจะหลงคิด ห้ามมันไม่ได้
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา”
ตรงที่เราภาวนาจนเราเห็น เออ จิตนี้มันไม่เที่ยง จิตมันเป็นอนัตตาบังคับไม่ได้ ตรงนั้นล่ะคือการทำวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าทำมากเข้าๆ มันก็รู้ความจริง เฮ้ย จิตนี้มันไม่ใช่ตัวเรา พอจิตไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มีอีกต่อไปแล้ว บางคนตัดเข้ามาที่จิตไม่ได้ ก็ไปดูที่กายก่อน กายไม่ใช่เราอะไรอย่างนี้ อย่างพวกเราส่วนใหญ่ตอนนี้ก็สามารถดูได้ร่างกายไม่ใช่เรา แต่จิตยังเป็นเราอยู่ ก็ยังไม่ได้โสดาบัน แต่ถ้าเราสามารถตัดตรงเข้ามาที่จิตได้ เราเห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตเฉยๆ เกิดแล้วดับ จิตที่ดีเกิดแล้วดับ จิตโลภเกิดแล้วดับ จิตโกรธเกิดแล้วดับ จิตหลงเกิดแล้วดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วดับ จิตหดหู่เกิดแล้วดับ ถ้าเห็นๆๆๆ อย่างนี้ สุดท้ายจิตมันสรุปรวบยอด จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ
แล้วมันจะเห็นลึกต่อไปอีกอย่างหนึ่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา คือถ้าเราเห็นว่าจิตนั้นมันเกิดดับได้ โลกข้างนอกนี้มันก็เกิดดับ เพราะโลกข้างนอกนี้ปรากฏขึ้นมาให้เรารับรู้ได้ก็เพราะจิตดวงเดียวนั่นล่ะ ถ้าจิตมันดับไป โลกข้างนอกนี้ก็ดับไปด้วยจากความรับรู้ ถ้ามีจิตขึ้นมาออกมากระทบโลกข้างนอก โลกข้างนอกก็ปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าจิตนั้นมันไม่ใช่เราสักอย่างเดียว โลกข้างนอกก็ไม่ใช่เรา ถ้าจิตมันเป็นของที่เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น โลกข้างนอกก็เป็นของที่เกิดแล้วดับทั้งสิ้นในความรู้สึกของเรา
จริงๆ โลกมันก็อยู่ของมันอย่างนี้ แต่ว่ามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีการขับเคลื่อน มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่โดยจิตของเราเวลาออกไปรับรู้อารมณ์ พอออกไปรู้ โลกก็ปรากฏ พอจิตไม่ออกไปรับรู้ โลกก็หายไป พอเรามาปฏิบัติ เราดูเกิดดับตรงนี้ เราไม่ต้องไปดูโลกจริงๆ โลกจริงๆ ดูยาก ฉะนั้นเวลาดู ดูเข้ามาที่ตัวเอง ดูที่ตัวเอง อย่างพอเราหลับตาใช่ไหม รูปข้างหน้ามีไหม รูปข้างหน้าก็ยังมีอยู่ แต่เราไม่เห็น เราอุดหู เสียงมีอยู่ไหม มี แต่เราไม่ได้ยิน ถ้าจิตดับลงไป จิตตกภวังค์ลงไป ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ก็ยังอยู่อย่างนี้ แต่จิตไม่รับรู้ ฉะนั้นให้เราลงเรียนลงมาที่ศูนย์กลาง ของสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเป็นศูนย์กลางของโลกของจักรวาล คือที่จิตของเรา ถ้าจิตไม่ออกไปรู้โลกข้างนอก โลกข้างนอกก็ไม่ปรากฏ จิตมันเป็นตัวตั้งเลย
ที่หลวงปู่ดูลย์ให้หลวงพ่อดูจิต หลวงพ่อก็หัดดูไป จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตเฉยๆ ก็รู้ จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ก็รู้ไป รู้ไปถึงช่วงหนึ่งปัญญามันสรุปรวบยอดได้ จิตทุกชนิดไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ เมื่อจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับได้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมมารมณ์ภายนอกทั้งหลายก็เกิดแล้วก็ดับไปจากความรับรู้ของเรา เพราะเรารับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมมารมณ์ภายนอก หรือรู้โลกข้างนอกได้ก็เพราะจิตมันออกไปรับรู้
ถ้ากระทั่งตัวจิตเองเกิดแล้วก็ดับ โลกข้างนอกมันก็เกิดแล้วก็ดับในความรับรู้ของเรา ส่วนตัวจริงจะเกิดจะดับหรือเปล่าไม่สำคัญเลย เพราะว่าโลกข้างนอกจะเกิดดับอย่างไร ไม่ได้ทำให้เรามีความทุกข์ แต่ถ้าจิตของเราเข้าไปยึดไปถือเมื่อไร เราก็ทุกข์เมื่อนั้น แต่ถ้าเราเห็นว่าตัวจิตเองก็ยึดถือเอาไว้ไม่ได้ เราปล่อยวางจิตได้ ไม่ยึดถือจิตดวงเดียว แล้วก็ไม่ยึดถือโลกทั้งโลกเลย อะไรจะเกิดขึ้น จิตไม่หวั่นไหวเลย อันนี้การปฏิบัติในขั้นสุดท้ายเลย จะปล่อยวางจิตได้
ถ้าจิตไม่เป็นเราสักอย่างเดียว ของอื่นก็ไม่เป็นเรา
แต่ในขั้นที่หลวงพ่อแนะนำพวกเราตอนนี้ คือหัดดูจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับไป แล้ววันหนึ่งเราจะรู้เลย ตัวจิตเองก็ไม่ใช่ตัวเรา ถ้าเมื่อไรเราเห็นความจริง กระทั่งตัวจิตยังไม่ใช่ตัวเรา นั่นคือพระโสดาบัน ถ้าจิตไม่เป็นเราสักอย่างเดียว ของอื่นก็ไม่เป็นเรา รูป เวทนา สัญญา สังขารก็ไม่เป็นเรา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมมารมณ์ ก็ไม่เป็นเรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่เป็นเรา ฉะนั้นทั้งหมดจะไม่มีตัวเรา อันนั้นเป็นภูมิจิตภูมิธรรมของพระโสดาบัน
ถ้าภาวนาต่อไปจะรู้ไม่มีเรา ที่มีมันคืออะไร ที่มีคือทุกข์ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ คนที่เห็นอย่างนี้ก็คือคนที่บรรลุพระอรหันต์ มีแต่ทุกข์ ไม่มีอย่างอื่น เพราะฉะนั้นที่ท่านสอนอริยสัจ ท่านสอนเข้าเป้าเลย ท่านสอนว่าทุกข์ให้รู้ ไม่ได้ให้หนีทุกข์ ให้รู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือรูปนามนี้เอง รูปนาม กายใจเรานี้เอง เรียนรู้ลงไปจนเห็นว่ามันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
แล้วต่อไปก็รู้ต่อไปลึกซึ้ง ร่างกายที่ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นตัวอะไร มันเป็นตัวทุกข์ จิตใจที่ไม่ใช่ตัวเรามันเป็นตัวอะไร เป็นตัวทุกข์ ถ้าเห็นจุดนี้แล้ว ก็จะพ้นจากโลกแล้ว ถ้าเห็นกายนี้คือตัวทุกข์ ก็จะพ้นจากโลกชนิดที่เราอยู่นี้ จะไปสร้างโลกอีกชนิดหนึ่งอยู่ โลกของพรหม ถ้าเห็นจิตเป็นตัวทุกข์แล้วปล่อยวางจิตได้ ก็จะไม่มีที่ไปเกิดอีกต่อไปแล้ว เพราะเราไม่ได้ยึดตัวจิตเอาไว้
ตัวที่พาเราไปเวียนว่ายตายเกิดก็คือตัวจิตดวงเดียวนั่นล่ะ อาศัยจิตดวงเดียวหยั่งลง ก็เกิดรูปนาม เกิดโลกขึ้นมา สิ่งที่เรียกว่าโลกคือรูปกับนามธรรม เคยได้ยินไหม วิญญาณะ ปัจจะยา นามะรูปัง วิญญาณเป็นปัจจัยของนามรูป จิตดวงเดียวนั่นล่ะ สร้างโลกขึ้นมาทั้งโลก ก็ปล่อยวางจิตทิ้งไปแล้ว ก็เลยไม่มีใครมาสร้างโลกให้เราต่ออีกแล้ว ก็สิ้นสุด สิ้นชาติ สิ้นภพ จบพรหมจรรย์กันตรงนั้น
หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อดูจิต หลวงพ่อก็ดูแบบนี้เรื่อยๆ มา ก็เข้าใจไปตามลำดับๆ ทุกข์น้อยลงไปตามลำดับ ช่วงปี 2527 เข้าไปกราบหลวงพ่อพุธ หลวงพ่อพุธท่านก็สั่งหลวงพ่อ หลวงพ่อพุธท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่มองการณ์ไกล ท่านมองว่าสังคมกำลังเปลี่ยนแล้ว โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ต่อไปท่านบอกหลวงพ่อเลย ต่อไปการปฏิบัติแบบที่คุณทำ ให้เอาไปสอน คนจะเรียนรู้ได้ คนจะเข้าใจได้ ถ้าคุณไม่ไปสอน คนจะเสียโอกาสจำนวนมาก
หลวงพ่อไม่ได้อยู่ๆ ก็หน้าด้านมาสอน ครูบาอาจารย์สั่ง หลวงพ่อพุธท่านสั่งว่าให้ออกไปสอน ตอนนั้นยังเป็นฆราวาสอยู่เลย หลวงพ่อก็หนักใจ ตอนนั้นเรายังเป็นโยมอยู่เลย ไปสอนใครเขาจะเชื่อ หลวงพ่อก็เลยไปเขียนประสบการณ์การปฏิบัติ เขียนส่งไปลงนิตยสาร รู้สึกจะหนังสือโลกทิพย์สมัยก่อน ชอบเล่าประวัติครูบาอาจารย์ ส่งไปลง ไม่ใช้ชื่อจริง ใช้นามปากกา ไม่ให้ที่อยู่ด้วย แล้วก็บอกเขาด้วยว่าค่าเขียน ค่าต้นฉบับ ช่วยเอาไปทำบุญให้ที ไม่รับๆ เพราะฉะนั้นไม่รับผลประโยชน์จากการเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเผยแพร่ คนไปอ่าน ในนั้นหลวงพ่อก็ refer อ้างถึงว่าหลวงพ่อพุธสั่งให้เขียนถึงได้เขียน คนก็ถือหนังสือไปถามหลวงพ่อพุธ คนนี้ใคร อยากเจอ หลวงพ่อพุธท่านบอกว่ามาบ่อยๆ แต่วันนี้ไม่มา ท่านจะบอกอย่างนี้ ท่านก็ไม่บอกหรอกว่าใคร ต่อจากนั้นหลวงพ่อก็ค่อยๆ ถ่ายทอดเรื่องของการดูจิตดูใจ
“แทรกการเรียนรู้จิตลงไปในการทำกรรมฐาน รับรองว่าได้ผลเร็วแน่นอน”
หลวงปู่ดูลย์ท่านก็เคยบอก วันหนึ่งนั่งอยู่กับท่าน ท่านก็ปรารภขึ้น “ต่อไปการดูจิตจะรุ่งเรืองในเมือง” ท่านบอกอย่างนี้ หลวงพ่อก็นึก มันจะรุ่งเรืองอย่างไร ไปที่ไหนมีแต่คนดูกาย อย่างสายท่านพุทธทาสทำอานาปานสติ ก็กาย โกเอนก้าดูกายแล้วต่อกับเวทนา สายหลวงพ่อเทียนก็ขยับมือ มันก็กาย สายวัดป่าพุทโธแล้วก็พิจารณากาย พองยุบ ก็ดูท้องพองท้องยุบ มันก็กาย ไปที่ไหนมันมีแต่กาย ทำไมหลวงปู่ดูลย์บอกว่าต่อไปการดูจิตจะรุ่งเรืองในเมือง มันรุ่งเรืองในเมือง เพราะว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน บอกแล้วมันเหมาะกับพวกตัณหาจริต แต่จิตตานุปัสสนาเหมาะกับพวกทิฏฐิจริต
คนรุ่นเราเป็นพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น แล้วอีกอย่าง เราไม่สามารถไปดูกาย ดูเวทนาได้ดีหรอก เพราะสมาธิเราไม่มี กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน 2 อันนี้ จะทำได้ดีต้องเป็นสมถยานิก ทำฌานๆ แล้วออกจากฌานแล้วมาดูกายและเวทนา ถ้าไม่ทำฌานก่อน มาดูกาย ดูเวทนา เดี๋ยวก็สติแตก มันทุกข์ มันทนไม่ไหว
ส่วนจิตตานุปัสสนากับธัมมานุปัสสนาที่เหมาะกับพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น อันนี้เหมาะกับวิปัสสนายานิก เจริญปัญญาเข้าไปเลย เพราะว่าเราเข้าฌานไม่เป็นคนรุ่นหลังนี้ ลูกศิษย์หลวงพ่อที่เข้าฌานได้มีไม่กี่รายหรอก คนรุ่นนี้เข้าฌานไม่ได้ จะเข้าฌานอย่างไร นั่งสมาธิแป๊บเดียว เดี๋ยวสัญญาณติ๊งมาแล้ว มีข้อความมาแล้ว สติก็แตกอีกแล้ว มันทำไม่ได้
เคยได้ยินไหมว่ายุคเรานี้ เราโทษบอกเด็กสมาธิสั้น เคยได้ยินไหมคำว่าสมาธิสั้น ในเมื่อธรรมชาติของคนรุ่นเราสมาธิสั้น เราก็ทำกรรมฐานด้วยสมาธิสั้น สมาธิสั้นคืออะไร คือขณิกสมาธิ นี่คือสมาธิสั้นๆ เกิดทีละขณะๆ ฉะนั้นหลวงพ่อแนะนำพวกเรา ทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งเบื้องต้น แล้วเราคอยรู้ทันจิตตัวเอง เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ ที่หลวงพ่อภาวนาแล้วผ่านมาได้เร็ว เพราะว่าจับหลักตัวนี้ได้ จับหลักคือจิตที่หลวงปู่ดูลย์สอนนั่นเอง ให้รู้ทันจิตตัวเอง
แต่เดิมไปนั่งสมาธิ ทำอานาปานสติ นั่งแล้วก็สงบสบาย เคลิ้มไปอะไรอย่างนี้ มีแต่ความสุข ก็อยู่อย่างนั้น 22 ปี ไม่มีอะไรขึ้นมา สงบแล้วก็ฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านแล้วก็สงบ พอหลวงปู่ดูลย์บอกให้ไปดูจิต หลวงพ่อก็ดู แล้วตอนเวลานั่งสมาธิ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิด ดูจิตแล้ว จิตหนีไปคิด รู้ว่าจิตหนีไปคิด หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตไหลลงไปจ้องลมหายใจ รู้ว่าจิตถลำลงไปจ้องลมหายใจแล้ว แทรกการเรียนรู้จิตลงไปในการทำกรรมฐาน รับรองว่าได้ผลเร็วแน่นอน
ตัวสำคัญคือสติ ไม่ใช่อยู่ที่กระบวนท่า
ถ้าขยับมือไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เพลินแล้ว ขยับแล้วก็ขยับด้วยไขสันหลัง ดูท้องพองยุบก็ดู ซึมไปเลย ไม่ได้มีสติ ตัวสำคัญคือสติ ไม่ใช่อยู่ที่กระบวนท่าว่าจะใช้กระบวนท่าไหน เดินอย่างไร นั่งอย่างไร หายใจอย่างไร ตัวสำคัญคือสติ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำกรรมฐานอะไร อย่าทิ้งสติ รู้ทันจิตไว้ การที่เรามีสติรู้ทันจิตเรียกว่าจิตตสิกขา แล้วสิ่งที่เราจะได้คือสมาธิที่ถูกต้อง คือได้สัมมาสมาธิขึ้นมา สมาธิเกือบร้อยละ 100 ที่ทำกันอยู่ มันคือมิจฉาสมาธิ มันไม่ใช่สัมมาสมาธิ ไม่ประกอบด้วยสติ นั่งแล้วก็เครียด นั่งแล้วก็เคลิ้ม ถ้านั่งแล้วเครียด นั่งแล้วเคลิ้มแสดงว่าไม่มีสติหรอก ถ้านั่งแล้วรู้สึก ถึงจะมีสติ
เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งจะช่วยให้เราดูจิตของเราได้กระปรี้กระเปร่าขึ้น อยู่ๆ เราจะดูจิตเลย มันฟุ้งมากไป มันยังไม่มีสมาธิขั้นต้น เราก็มาฝึกสมาธิขั้นต้น สมาธิสั้นๆ คือขณิกสมาธิ ขณิกคือสมาธิชั่วขณะ นิดเดียว ฉะนั้นทำกรรมฐานแล้วจิตไหลไปคิดแล้วรู้ จิตถลำไปเพ่งแล้วรู้ ใช้กรรมฐานอะไรก็ได้ แต่ว่าคอยรู้เท่าทันจิตตนเองไว้ พอรู้ไปช่วงหนึ่ง พอจิตมันเคลื่อนปุ๊บ สติเกิดอัตโนมัติ สติอัตโนมัติเกิดปุ๊บ สมาธิอัตโนมัติจะเกิดขึ้น ขึ้นชั่วขณะ หลงอีก รู้อีก หลงอีก รู้อีก หลงอีก รู้อีกไป ทำกรรมฐานแล้วหลงแล้วรู้ๆ ไป ในที่สุดจิตก็จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา บางคนบอกกรรมฐานอย่างนี้ ไม่มีใครทำได้หรอก ขี้โม้ คนเขาทำได้ตั้งเยอะตั้งแยะ ไม่รู้เอง หลงแล้วรู้ๆ ตัวสำคัญเลย
อย่างหลวงพ่อเทียนเองสอนขยับ หลงแล้วก็รู้เอา ครูบาอาจารย์สอนอานาปานสติ หลงแล้วก็รู้เอา เหมือนกันหมด ครูบาอาจารย์ที่ดีๆ ที่หลวงพ่อสำรวจ เข้าไปหา เข้าไปกราบ ท่านสอนลงที่เดียวกันหมด คือสุดท้ายลงที่จิตเหมือนกันหมดเลย กระทั่งสายวัดป่า ครูบาอาจารย์วัดป่า ที่บอกสอนพุทโธพิจารณากาย หลวงพ่อเข้าไปกราบ แต่ละองค์สอนลงที่จิตทั้งนั้นเลย หลวงตามหาบัวยังสอนหลวงพ่อเรื่องดูจิตเลย มันอยู่ที่เราทำ ถ้าเราทำ เราก็ทำได้
แนะนำ ทุกคนอยากได้ดี ไปทำกรรมฐานในรูปแบบสักอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำเพื่อความสุข ความสงบ เพื่อความดีใดๆ ทั้งสิ้น ตั้งหลักให้ดี ทำกรรมฐานไม่ได้มุ่งที่สุข ที่สงบ ที่ดี เช่น เราหายใจไป พุทโธไป หายใจไปอะไรอย่างนี้ สงบก็ได้ ฟุ้งซ่านก็ได้ ไม่ต้องบังคับจิตให้สงบ ถ้าบังคับจิตให้สงบ จิตจะเครียดทันทีเลย จิตถ้าเครียด จิตเป็นจิตอกุศลจิต จิตมีโทสะ
เพราะฉะนั้นเราไม่บังคับจิต เราทำกรรมฐานไป แล้วเรารู้ทันจิต จิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตสงบ รู้ว่าสงบ คอยรู้ทันจิตไว้ จิตหลงไปคิด นี่คือจิตมันฟุ้งซ่าน แล้วเวลาจิตมันสงบก็มีหลายแบบ สงบแบบไปเพ่งซื่อบื้ออยู่ ก็รู้ตรงนี้ไม่ดีแล้ว จิตเป็นอกุศลแล้ว ถ้าจิตอึดอัดขึ้นมาเป็นอกุศลจิตทันที จิตที่อึดอัดเป็นโทสมูลจิต บางคนก็ทน เครียด ภาวนาแล้วก็เครียด มันคือกำลังฝึกตกนรกทั้งเป็น ฉะนั้นอย่าทำให้มันผิด ทำกรรมฐานไปแล้วรู้ทันจิตตัวเองไป
พอเราชำนิชำนาญ หลงแล้วรู้ๆๆ จิตจะค่อยๆ มีกำลัง เหมือนน้ำหยดใส่ตุ่มน้ำทีละหยดๆๆ หยดไม่หยุด เดี๋ยวน้ำก็เต็มตุ่ม อย่าให้ตุ่มรั่ว ตุ่มรั่วก็คือเฮฮาปาร์ตี้ไปเรื่อยๆ ทำกรรมฐานแล้วก็ไม่ทำ ทำแล้วก็เลิกอะไรอย่างนี้ พวกนี้พวกตุ่มรั่ว ใช้ไม่ได้ ถ้าตุ่มไม่รั่ว เราภาวนาของเราทุกวันๆๆ สะสมของเราไป จิตจะค่อยๆ มีกำลังขึ้นมา ตอนที่จิตมีกำลังขึ้นมา เราจะรู้สึกจิตนี้ได้ตื่นขึ้นแล้ว ที่ผ่านมาตื่นเฉพาะกาย จิตไม่เคยตื่น บัดนี้จิตได้ตื่นขึ้นแล้ว พอจิตมันตื่นขึ้นมา มีกำลัง ตั้งมั่นอยู่โดยที่ไม่ได้เจตนา ถ้าพวกเราภาวนาอย่างที่หลวงพ่อบอกช่วงหนึ่ง เดือน 2 เดือน 3 เดือนอะไรนี่จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว
เมื่อจิตตั้งมั่นขึ้นมาได้แล้ว คราวนี้มันถึงขั้นเดินปัญญาแล้ว เราจะเดินปัญญา เราถนัดรู้กาย เราก็ดูกายไป สติระลึกรู้กาย เรามีจิตตั้งมั่นเป็นคนดู เราก็จะเห็นกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตตั้งมั่นอยู่เป็นผู้รู้ผู้ดู สติระลึกรู้เวทนา ก็จะเห็นเวทนาก็ไม่ใช่ตัวเรา จิตตั้งมั่นอยู่สติระลึกรู้กุศลอกุศล ก็เห็นกุศลอกุศล ไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นอยู่ เราก็เห็นจิตเกิดดับ จิตรู้เกิดแล้วก็ดับ จิตคิดเกิดแล้วก็ดับ จิตไปดูรูปเกิดแล้วดับ จิตฟังเสียงเกิดแล้วดับ ทางทวารทั้ง 6 จิตไม่ใช่เรา จะรู้ว่าจิตก็ไม่ใช่เรา
เพราะฉะนั้นภาวนา ต้องทำกรรมฐานในรูปแบบจนกระทั่งจิตเรามีกำลังขึ้นมา แล้วเราก็จะมาเจริญปัญญา คือเรียนรู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรม การเจริญปัญญานั้นทำได้ 2 ช่วง ถ้าช่วงที่จิตเราทรงสมาธิ เรานั่งในรูปแบบทรงสมาธิอยู่ เราก็เจริญปัญญาในสมาธิไปเลย ก็จะเห็น เออ จิตที่ทรงฌานอยู่ องค์ฌานมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ เดี๋ยวมีวิตกวิจาร เดี๋ยวไม่มีวิตกวิจาร เดี๋ยวมีปีติ เดี๋ยวไม่มีปีติ เดี๋ยวมีความสุข เดี๋ยวไม่มีความสุข เดี๋ยวมีอุเบกขา เดี๋ยวไม่มีอุเบกขาอย่างนี้ ถ้าชำนาญในฌาน แล้วชำนาญในการดูจิต ก็จะเจริญปัญญาในฌานได้
ถ้าทำตรงนั้นไม่ได้ นั่งสมาธิอยู่พอจิตถอยออกมา เจริญปัญญา จิตมันทรงสมาธิมากๆ จะนิ่งๆ เฉยๆ ดูจิตก็จะไม่มีอะไรให้ดู ให้ดูกาย เพราะฉะนั้นพวกที่ทรงสมาธิมาก ท่านถึงบอกว่ามันเหมาะกับกายานุปัสสนา ไปดูจิต จิตว่าง ไม่มีอะไรให้ดู เพราะฉะนั้นเวลาทำสมาธิแล้วจิตออกจากสมาธิมา ดูกายเข้าไปเลย แล้วจะเดินต่อได้
ส่วนพวกดูจิต จิตไม่มีสมาธิลึกอะไรกับใครเขา เกิดทีละขณะๆ แล้วก็มีแรงขึ้นมา พอจิตมีแรง ทำในรูปแบบทุกวัน ต่อไปมาอยู่ในชีวิตประจำวัน ตาเห็นรูป จิตเปลี่ยน หูได้ยินเสียง จิตก็เปลี่ยน เช่น ตาเห็นผู้หญิงสวย จิตชอบมีราคะ ตาเห็นหมาบ้าวิ่งมา จิตกลัว มีโทสะ มันจะเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน
“คนยุคนี้ดูจิตไปเลย แต่ต้องทำกรรมฐานอันหนึ่ง ให้จิตมีเครื่องอยู่
ทุกวันต้องทำ ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตนเอง”
การปฏิบัติในชีวิตประจำวันเราใช้อายตนะทั้ง 6 ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจออกกระทบอารมณ์ ฟังดูแล้วเหมือนเยอะ แต่จริงๆ ไม่ยากเลย เรารู้อยู่ที่เดียวคือที่จิต ตากระทบรูป ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดที่จิต หูได้ยินเสียง ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดที่จิตนี่เอง สุข ทุกข์ ดี ชั่ว มันเกิดที่จิต ใจไปคิด ความเปลี่ยนแปลงเกิดที่จิตนี้ สุข ทุกข์ ดี ชั่ว มาที่จิต
เพราะฉะนั้นเราอย่าไปกังวลว่า โอ้ มีตั้ง 6 ช่องทาง แล้วเราจะดูอย่างไรทัน ก็ดูจิตดวงเดียวนั่นล่ะ อันนี้เป็นบทเรียนอยู่ในเรื่องของพระโปฐิละ พระโปฐิละรู้ตำราเยอะ ท่องจำพระไตรปิฎกได้เยอะแยะเลย แต่ภาวนาไม่เป็น พระพุทธเจ้าแซวเรียกโปฐิละว่าใบลานเปล่า คือว่างเปล่ามีแต่คัมภีร์ ที่ไร้ตัวอักษร ไม่ได้เรื่อง เอาไปทำประโยชน์อะไรไม่ได้ เอาไว้เช็ดก้นเท่านั้นล่ะ
โปฐิละก็อาย ท่านก็เลยออกไปที่วัดป่า ไปขอเรียนกรรมฐาน จะได้ไม่เป็นใบลานเปล่าเสียที อาจารย์ใหญ่ก็ไม่สอน บอกสอนท่านไม่ไหว ท่านเก่งเกินไป พระรองๆๆ ลงมา ไม่มีใครยอมสอนสักองค์ ท่านก็ไปถามเณร เณรเล็กที่สุดในวัด ทำไมพระไม่ยอมสอนท่าน พระจะดัดนิสัยท่านก่อน ให้ท่านละพยศ ละทิฏฐิมานะก่อน ท่านก็ละจริงๆ ยอมไปถามกระทั่งเณร อาจารย์ใหญ่ไปถามเณร
เณรบอกว่าจะเรียนต้องเชื่อฟัง ท่านโปฐิละบอกเชื่อ อาจารย์สั่งมาเลย เชื่อ เณรก็บอก อาจารย์เดินลงน้ำเลย ท่านโปฐิละ พระกรุง ใส่จีวรผ้าไหม ผ้าสวยงาม ผ้าราคาแพง เณรสั่งให้ลุยน้ำ ลุยจริงๆ ใจถึงจริงๆ ลงไปลุยน้ำ ก้าวลงไปเรื่อยๆ พอน้ำจะถึงชายจีวร เณรบอกหยุดได้แล้ว จีวรไม่เปียกหรอก เณรให้หยุดก่อน แล้วเณรก็ชี้ให้ดู ข้างๆ ตลิ่งนี้มีจอมปลวกอยู่จอมปลวกหนึ่ง เป็นจอมปลวกเก่าไม่มีปลวกแล้ว เหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปขุดรูอยู่ในจอมปลวกนี้ จอมปลวกนี้มีรูอยู่ 6 รู ถ้าท่านอาจารย์อยากจับเหี้ยตัวนี้ให้ได้ ให้ท่านปิดเสีย 5 รูแล้วเฝ้าอยู่รูเดียว ทีนี้เณรจะพูดต่อ ท่านโปฐิละโบกมือ พอแล้ว เข้าใจแล้ว
ของเราจอมปลวกก็คือร่างกายนี้เอง มีรูอยู่ 6 รูคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปิดเสีย 5 รูคือไม่ต้องไปสนใจมัน สนใจอยู่รูเดียวคือที่จิตของเราเอง ฉะนั้นตาเห็นรูป จิตเราเป็นอย่างไร รู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตเป็นอย่างไร รู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด จิตเราเปลี่ยนแปลงอย่างไร รู้ทัน เกิดสุข รู้ เกิดทุกข์ รู้ เกิดดี รู้ เกิดชั่ว รู้ หัดรู้อย่างนี้เข้าไปเรื่อยๆ บางคนก็ 7 วัน บางคนก็ 7 เดือน บางคนก็ 7 ปีก็ได้ธรรมะ
ถ้าสมัยพุทธกาลก็จะได้พระอรหันต์ หรือพระอนาคามี ถ้ายุคเรา ได้โสดาบันก็บุญแล้วล่ะ อินทรีย์พวกเราอ่อน เราตกรุ่น ให้สำนึกพวกเราเป็นนักเรียนตกรุ่น นักเรียนรุ่นเดียวกับเราที่เขาเรียนเก่ง เขานิพพานไปตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ามาสอนแล้ว ไม่ตกรุ่นมาถึงวันนี้หรอก ฉะนั้นพวกเราอย่าตกรุ่นต่อไป ไปรอพระศรีอาริย์ เกิดตกนรกอยู่ พระศรีอาริย์มาตรัสรู้ ยังไม่รู้เรื่องเลยคราวนี้ เพราะฉะนั้นรีบภาวนาตั้งแต่วันนี้ อย่าให้เสียเวลา
คนยุคนี้ดูจิตไปเลย แต่ต้องทำกรรมฐานอันหนึ่ง ให้จิตมีเครื่องอยู่ ทุกวันต้องทำ ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตนเอง จิตหลงไปก็รู้ จิตถลำไปเพ่งก็รู้ ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วต่อไปจะสามารถดูจิตในชีวิตประจำวันได้ ท่านอาจารย์มั่นสอน บอกว่า “ทำสมาธิมากก็เนิ่นช้า” เห็นไหม ท่านไม่ได้บอกให้ทำเยอะๆ ท่านบอก “ทำสมาธิมาก เนิ่นช้า คิดพิจารณามาก ฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติคือการมีสติในชีวิตประจำวัน” หัวใจอยู่ตรงนี้ ฉะนั้นที่เราฝึกสมาธิ ฝึกอะไรขึ้นมา เพื่อให้มีสติในชีวิตประจำวันให้ได้ ตัวนี้ยากที่สุดเลย
ฉะนั้นถ้าเราตัดตรงเข้ามาเรียนรู้ที่จิตที่ใจของเราได้ โดยการทำกรรมฐานอย่างหนึ่งแล้วเรียนรู้เวลาจิตมันหลง จิตมันเคลื่อน หรือจิตมันมีความรู้สึกขึ้นมาให้มันชำนาญ แล้วต่อไปมาอยู่กับโลกข้างนอก จิตเปลี่ยนแปลงนิดเดียวก็เห็นแล้ว แล้วเราจะเห็นว่า สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ เราก็จะเข้าถึงธรรมะในเวลาอันสั้น ไม่สงสัยหรอกในตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมาพยากรณ์ มันรู้ด้วยตัวเอง ว่ากิเลสอะไรละแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ละ รู้ด้วยตัวเอง
พวกเราฟังแล้วเอาไปทำ ถือศีล 5 ไว้ พื้นฐานเลย เพราะเวลาที่เราเจริญวิปัสสนา เราจะไม่ข่มจิตตัวเอง ไม่บังคับจิตตัวเอง ถ้าเราไม่มีศีล แล้วสติเรายังไม่ไวพอ กิเลสมันจะผลักเราไปทำผิดศีล ที่เราต้องถือศีล เพราะว่ากำลังของจิตเรายังไม่เข้มแข็งพอที่จะอยู่เหนือกิเลส
ถ้าเราภาวนาจนสติ สมาธิเราอัตโนมัติแล้ว ศีลเหลือข้อเดียว คือความเป็นธรรมดา ความเป็นปกติของจิต ตอนนี้จงใจถือศีล 5 ข้อไว้ก่อน เอาเป็นกำแพงกั้นไม่ให้เราก้าวล่วงไป เพราะตอนที่เราเจริญปัญญา เราจะไม่กดข่มจิต เราจะไม่อยากเป็นคนดี ไม่ใช่ว่ามุ่งที่ดี ฉะนั้นเราจะปล่อยให้จิตทำงาน อย่างจิตมีโทสะขึ้นมาอย่างนี้ อยากจะฆ่าคนแล้ว เราก็มีศีลกั้นเอาไว้ ฉะนั้นศีลจำเป็นสำหรับการปฏิบัติที่สูงขึ้นไป บางคนดูถูกว่าศีลไม่สำคัญ
ถัดจากศีลพวกเราต้องมาฝึกจิตให้มีกำลัง ด้วยการทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองสม่ำเสมอ รู้ไปเรื่อยๆ ทำทุกวันๆ มีเวลาเมื่อไร ทำเมื่อนั้น ขึ้นรถไฟฟ้าได้ ก็อย่ามัวแต่ดูมือถือ ก็ทำกรรมฐานของเราไป เก็บเล็กเก็บน้อย 5 นาที 10 นาที เก็บมันไปเรื่อยแล้วเราจะพัฒนาเร็ว ไปทำก่อนนอนที่เดียว มันฟุ้ง หรือไม่ก็หลับไปเลย ถ้ากลางวันเราก็ทำด้วย มีเวลาเมื่อไรเราก็ทำกรรมฐานของเราไป อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป จิตจะได้มีแรง
พอจิตเรามีกำลังแล้ว มาถึงขั้นที่เจริญปัญญาแล้ว เราไม่มีแรง แล้วก็ปล่อยให้แรงหมดไปเฉยๆ เหมือนชาร์จแบตแล้วก็ไม่ได้ใช้อะไร เสียเวลา เสียไฟฟ้า ฉะนั้นเราทำสมาธิ จิตเราตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ต้องเจริญปัญญา สติระลึกรู้กาย ก็เห็นกายไม่ใช่เรา ระลึกรู้เวทนา ระลึกรู้จิต ระลึกรู้อะไร ในกายในใจนี้ ก็เห็นมันไม่มีตัวเราหรอก ดูซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ ดูช่วงหนึ่งจิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านกลับมาทำความสงบใหม่ เราอย่าทิ้งการทำสมถะ ไม่ได้ ถ้าทิ้งการทำสมถะจิตจะไม่มีกำลัง แล้ววิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้นตอนที่เราทำวิปัสสนา
วันนี้หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังเท่านี้ ขอให้ทุกคนมีความสุข มีความเจริญในธรรม มีความพากเพียร เดินตามรอยพระพุทธเจ้าไปให้ได้ ศาสนาเราไม่ได้ยั่งยืนมั่นคงนักหรอก เด็กรุ่นใหม่เขาก็ไม่เอาแล้ว สถาบันอะไรก็ไม่เอา ศาสนาก็ไม่เอา พวกเราที่เรียนรีบปฏิบัติเอาตัวให้รอด มีลูกมีหลาน สอนได้ก็สอน มีเพื่อนเขาสนใจก็สอนเขา บอกเขาว่าวิธีปฏิบัติทำอย่างนี้ๆ ไม่ใช่ตั้งตัวเป็นอาจารย์สอน เดี๋ยวพาเขาหลงทาง ช่วยกันรักษา สืบทอดศาสนาเรา แสงสว่างอันนี้อยู่ที่จิตของเราเท่านั้นล่ะ ถ้าจิตเรามืด โลกก็มืดหมดแล้ว
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช
30 กรกฎาคม 2566