ปฏิบัติบูชา

การที่เรามาเวียนเทียน มันไม่ใช่แค่ประเพณีเลื่อนลอย ที่จริงก็คือการปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า การปฏิบัติบูชานั้น ไม่ใช่อยู่ที่กิริยาอาการภายนอก ที่สำคัญคือใจเราเคารพรักบูชาพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม พระอริยสงฆ์จริงแค่ไหน รูปแบบภายนอกใครๆ มันก็เดินได้ ถือดอกไม้ธูปเทียนเดินๆ ไป ก็บอกว่าเวียนเทียน แต่พวกเราเป็นนักปฏิบัติ เราไม่ได้เวียนเทียนโดยใช้แค่ดอกไม้ธูปเทียน อันนั้นมันเป็นอามิสบูชา มีก็ได้ ไม่มีก็ไม่สำคัญ

การปฏิบัติบูชาก็คือ พยายามฝึกจิตของเราให้ดี จิตเราระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไว้ อย่างเราเวียนเทียน 3 รอบ บางคนก็รอบที่ 1 ก็คิดถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า รอบ 2 ก็คิดถึงพระบริสุทธิคุณ พระกรุณาธิคุณ มี 3 อัน 3 รอบ หรือบางคนเวียน 3 รอบก็คิดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แต่ไม่ว่าเราจะคิดถึงพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ ในความเป็นจริงแล้ว พระรัตนตรัยก็เป็นหนึ่งเดียวกัน ให้ใจของเราผูกพันอยู่กับพระ ทุกก้าวที่เดิน ก็เดินด้วยจิตใจที่ระลึกถึงพระเอาไว้ นั่นล่ะเป็นการปฏิบัติ ไม่ใช่กราบไหว้วัตถุ

อย่างพระพุทธรูปไม่ใช่พระพุทธเจ้า เป็นแค่สัญลักษณ์ให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจริงๆ ก็คือองค์ธรรม ธรรมะนั่นเอง ฉะนั้นเวลาเราเวียนเทียน ทุกก้าวที่เดิน เดินด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ได้เดินตามใจกิเลส ก็เรียกว่าเราเดินไป ก็ขัดเกลาตัวเองให้สะอาด ให้หมดจดมากขึ้นๆ ไม่ได้เดินเอาเฮง ไม่ได้เดินเอาสวยอะไร เดินระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไป ใจเราจะค่อยๆ สะอาด

ในเบื้องต้นการระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันจะได้สมาธิขึ้นมา แล้วในสมาธิมีเรื่องของอนุสสติ พุทธานุสสติ คิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า คิดถึงคุณ คุณของพระพุทธเจ้า พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระกรุณาธิคุณ คิดถึงคุณของท่าน คุณงามความดี คิดถึงพระสงฆ์ก็เหมือนกัน พระสงฆ์ก็คิดถึงคุณงามความดี ไม่ใช่คิดถึงพระเป็นองค์ๆ หรอก พระสงฆ์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เชื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติขัดเกลาตัวเองเพื่อออกจากทุกข์

เราสวดๆ กัน “สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ”
“อุชุปะฏิบันโน” ปฏิบัติตรงทาง ไม่เถลไถล ปฏิบัติ เถลไถล เช่น ปฏิบัติเอาเฮง เอาฤทธิ์เอาเดชอะไรอย่างนี้ เรียกปฏิบัติเถลไถล ไม่ใช่อุชุปฏิปันโน แล้ว
“ญายะปะฏิปันโน” ปฏิบัติเพื่อออกจากกองทุกข์ ฉะนั้นถ้าเราอยากเป็นพระสงฆ์ เราปฏิบัติไม่ได้มุ่งที่จะออกจากกองทุกข์ โอ๊ย ยังห่างไกล ถ้าปฏิบัติเอาสิ่งอื่น ห่างไกล
“สามีจิปะฏิปันโน” ปฏิบัติธรรมสมควร แล้วฝึกไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเราก็เข้าถึงความเป็นพระสงฆ์ จะห่มจีวรหรือจะนุ่งกระโปรง นุ่งกางเกง ไม่มีนัยยะ นั่นเป็นแค่ผิว เป็นแค่เปลือก ที่สำคัญคือจิตเราเป็นพระสงฆ์ได้ ทุกเพศ ทุกวัย อยู่ที่เราฝึกตัวเอง

อย่างคุณของพระธรรม “สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม” ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน
“สันทิฏฐิโก” เป็นของที่เห็นตามได้
“อะกาลิโก” ไม่จำกัดเวลา คือเป็นสัจธรรม อย่างไรก็ไม่จำกัดเวลา เป็นของยั่งยืน จะมีพระพุทธเจ้าหรือไม่มีพระพุทธเจ้า ธรรมะนั้นก็ยังดำรงอยู่
“เอหิปัสสิโก” เป็นธรรมะที่ท้าพิสูจน์ ไม่ได้บอกให้คนเชื่อ แต่บอกมาลองพิสูจน์ดู
วิธีพิสูจน์ก็คือ “โอปะนะยิโก” น้อมเข้ามาหาตัวเอง น้อมเข้ามาที่ตัวเอง ก็คือน้อมเข้าที่กายที่ใจของเรานี่ล่ะ พอเราน้อมมาเรียนรู้ ความจริงของกายของใจ สุดท้ายเราก็จะเข้าใจด้วยตัวของเราเอง ไม่มีใครช่วยเราให้เข้าใจธรรมะได้หรอก นอกจากตัวเราเอง

เราระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ระลึกแบบนี้ แล้วเราจะเห็นในการระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของการฝึกจิตฝึกใจตัวเองทั้งนั้น ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ระลึกถึง โอ้ ท่านยากลำบากกว่าจะตรัสรู้ได้ แต่ท่านเก่ง ท่านมีปัญญาตรัสรู้ เราที่เป็นสาวก ไม่ได้มีปัญญาแม้แต่เศษเสี้ยวของท่าน อาศัยปัญญาของท่านนำทางให้เรา แล้วท่านไม่ใช่เอาตัวรอดคนเดียว ท่านเข้าใจแล้ว ท่านก็ยังอุตส่าห์มาบอกเรา มาเตือนเรา มาสอนเราว่าอันนี้ควรทำ อันนี้ไม่ควรทำ

นี่เส้นทางที่พระพุทธเจ้าค้นคว้ามาได้ ด้วยความยากลำบาก แล้วอุตส่าห์มาสอนเรา ตอนที่ท่านค้นคว้าธรรมะ มันก็ยากลำบาก ตอนที่ท่านจะประดิษฐานพระศาสนาเอาไว้ก็ลำบาก ท่านเหน็ดเหนื่อย ต้องต่อสู้มากมายกับพวกมิจฉาทิฏฐิ ท่านไม่ได้สู้กับคนอื่น ท่านสู้กับมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย เพราะธรรมะของท่านคือตัวสัมมาทิฏฐิ เราก็ระลึก เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า ตั้งใจไว้ว่าเดินไปก็ปฏิญญากับตัวเองไว้ อะไรที่ท่านห้าม เราจะไม่ทำ อะไรที่บอกให้ทำ เราจะทำ สอนตัวเองไปเรื่อยๆ จิตใจมันจะได้ไม่นอกลู่นอกทาง

 

 

เมื่อเช้ายังเล่าให้พระฟัง บอกหลวงพ่อตั้งแต่บวช หลวงพ่อไม่เคยเหิมเกริม ว่าเราเป็นพระที่ลูกศิษย์เยอะอะไร ไม่ได้สนใจอย่างนั้นเลย จะฉันข้าว นอกจากพิจารณาอาหารแล้ว ก็ยังพิจารณาอีกชั้นหนึ่งลงไป อาหารบิณฑบาตทั้งหมด อาหารที่อยู่ในบาตรเราที่เขาใส่มา เขาไม่ได้ให้เพราะเคารพเรา สอนตัวเองอย่างนี้เลย เขาใส่บาตรให้เรา ทั้งๆ ที่เราเป็นใครก็ไม่รู้ เราเดินๆ ไปเขาเห็นเราอยู่ในเครื่องแบบของพระพุทธเจ้า เขาก็เลยให้ทาน ได้อาหารมาเลี้ยงชีวิต นี่คุณของพระพุทธเจ้า

อย่างพ่อแม่เรามีคุณกับเรา เลี้ยงเรา อย่างมากก็เลี้ยงหลาน พระพุทธเจ้าเลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน เลี้ยงเหลน สืบเนื่องมาตั้ง 2,000 – 3,000 ปีแล้วยังอยู่เลย พระสงฆ์ก็ยังได้ฉันข้าว เพราะว่าเป็นลูกหลานของพระพุทธเจ้า คุณอย่างนี้ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคอะไรพวกนี้ เราได้มาก็เพราะพระพุทธเจ้า หลวงพ่อสอนตัวเองอย่างนี้เรื่อยๆ จะไม่ยอมปล่อยจิตใจให้อหังการ ว่ากูเก่งอะไรอย่างนี้ อันนั้นมันกิเลส ถ้าคิดอย่างนั้นว่ากูเก่ง กูเหนือคนอื่น มันเป็นมานะ ไม่มีวันพ้นจากกองทุกข์ได้หรอก ก็เวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ

เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เราก็พยายามมาฝึกตัวเอง ขัดเกลาตัวเอง อบรมสั่งสอนตัวเอง แล้วใจมันก็ค่อยสะอาดขึ้น สะอาดขึ้น พอใจมันสะอาด มันก็มองคนอื่น มองสัตว์อื่น ในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์กันมาก่อน มองด้วยความเมตตาสงสาร ไม่ได้มองว่ากูเหนือกว่าเลย ไม่มีรู้สึกอย่างนั้นเลย ถ้าเรารู้สึกว่าเราเหนือคนอื่น เรายังแพ้กิเลสอยู่ นี่ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า แล้วเราก็ต้องทำ อะไรที่ท่านห้าม อย่างกิเลสทั้งหลายต้องลดต้องละไป สิ่งที่ท่านให้ทำก็คือกุศล ต้องเจริญขึ้นไปให้เรื่อย ทั้งอโลภะ ไม่โลภ อโทสะ ไม่โกรธ อโมหะ ไม่หลง อโมหะนั่นล่ะตัวปัญญา ไม่หลง รู้ผิดชอบชั่วดี

ฝึกตัวเอง แล้วเราจะรู้ ยิ่งเราฝึกฝนตัวเองเท่าไรๆ โลกมันอยู่ห่างออกไป ห่างออกไป แต่เดิมเราจมอยู่กับโลก เหมือนหนอนจมอยู่ในกองอุจจาระ พอเรามาฝึกจิตฝึกใจ เดินตามรอยของพระพุทธเจ้า ใจเราค่อยสะอาดหมดจดออกมา ห่างโลกมากขึ้นๆ เห็นโลกมันอยู่ต่างหาก จิตกับโลกมันแยกออกจากกัน ไม่หลง ค่อยๆ ฝึก สุดท้ายมันก็คืนจิตให้โลกไปอีกชั้นหนึ่ง อันนั้นขั้นสุดท้ายแล้ว ตอนนี้ฝึกให้จิตกับโลก มันแยกออกจากกันก็แล้วกัน ส่วนขั้นสุดท้ายนั้นค่อยฝึกเอา ค่อยพัฒนา เราจะคืนจิตให้โลก มันไม่ได้ว่าไปรัก ไปหวงแหนว่า จิตนี้เป็นของดีของวิเศษอะไรหรอก มันเป็นสมบัติของโลก

ธรรมะ ถ้าเรียนแล้วไม่เอาไปทำ ไม่เอาไปเรียนรู้ตัวเอง ไม่เกิดประโยชน์เท่าไรหรอก ดีไม่ดีมีโทษ อย่างเราเรียนธรรมะมากๆ แล้วมันก็เกิดอหังการ โอ๊ย กูรู้เยอะ กูรู้ๆ ยุคนี้เขาชอบกูรู มีกูรู้ รู้สารพัดจะรู้ แต่ไม่รู้ทันกิเลสตัวเอง ก็ยังใช้ไม่ได้ เมื่อเช้าหลวงพ่อจำไม่ได้ หลวงพ่อสอนใครสักกลุ่มหนึ่งหรือคนหนึ่ง บอกการปฏิบัติในขั้นต้น ยากที่จิตจะตื่นขึ้นมา เมื่อจิตตื่นขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ยากนั้นก็คือ การอ่านจิตตัวเองให้ออก ว่ามีกิเลสอะไรซ่อนเร้นอยู่ ดูกิเลสตัวเองนี่ยากที่สุดเลย เพราะว่ากิเลสละเอียด หน้าตามันเหมือนกุศล

กิเลสชั้นละเอียด อย่างความฟุ้งซ่านในธรรมะ เราคิดว่านี่ล่ะ เราเจริญปัญญา ที่จริงมันคือความฟุ้งซ่านในธรรมะ เป็นอุทธัจจะ สังโยชน์ หรือมีมานะเทียบเขา เทียบเรา มานะชั้นต่ำก็คิดว่า เราเหนือกว่าคนอื่น มานะกลางๆ หน่อย ก็รู้สึกว่าเรากับคนอื่นพอๆ กัน มานะที่ประณีตหน่อย ดูแล้วนึกว่าไม่มีมานะ ก็คือ แหม เรานี่เมื่อไรมันจะสะอาดหมดจดเหมือนครูบาอาจารย์เสียที เมื่อก่อนหลวงพ่อไปกราบครูบาอาจารย์ เห็นครูบาอาจารย์ โอ๊ย แต่ละองค์ ไม่ว่าจะแก่เฒ่าแค่ไหน แต่ท่านดูสะอาดทุกองค์ ไม่ใช่ว่าร่างกายสะอาด ร่างกายท่านก็เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะเหมือนเรา แต่จิตของท่านสะอาด จิตท่านผ่องใส เราก็นึก โอ้ เมื่อไรเราจะได้อย่างท่าน มีท่าน มีเราขึ้นมาแล้ว

มานะอย่างนี้ไม่ใช่ว่ากูดี กูเก่ง มานะแบบ โอ้ เมื่อไรกูจะได้ดีอย่างท่านเสียที ดูแล้วเหมือนไม่ใช่กิเลส เหมือนความนอบน้อมถ่อมตนเสียอีก เวลาฟุ้งซ่านในธรรมะ แล้วก็รู้สึกว่านี่เจริญปัญญา เวลามีมานะก็รู้สึกว่านี่นอบน้อมถ่อมตน มีรูปราคะ อรูปราคะ มีราคะอยู่แท้ๆ ไม่คิดว่าเราไม่หลงโลกแล้ว ไม่ยุ่งกับโลก เราพอใจในความสุขความสงบของรูปฌาน ในอรูปฌาน มีฌานที่เพ่งรูป กับฌานที่เพ่งอรูป ยินดีพอใจ วันๆ ไม่ยุ่งอะไรกับใคร เข้าถ้ำ หรือเข้าบ้านปิดประตูอยู่คนเดียว บอกไม่มีกิเลส เพราะไม่ยุ่งอะไรกับใครเลย เปล่า ทำไมต้องมามุดหัวอยู่ในกุฏิอย่างเดียว หรืออยู่ในถ้ำอย่างเดียว หรืออยู่ในห้องอย่างเดียว ก็เพราะรู้สึกมันสบาย มันสงบ มันสบาย นี่กิเลส มันติดในฌานสมาบัติ ในสมาธิอะไรอย่างนี้

ส่วนตัวอวิชชา กิเลสชั้นสุดยอดเลย ตัวนี้ดูยากที่สุด ดูยาก ต้องฝึกกันนาน กว่าจะเห็นความจริงว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป จะเห็นถึงระดับนี้ อย่างเราก็เห็นร่างกายเราเป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง ไม่ได้เห็นว่าร่างกายคือตัวทุกข์ จิตใจนี้เราก็เห็นว่า จิตใจเป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง เราไม่ได้เห็นว่าจิตคือตัวทุกข์ ภาวนาก็มัวแต่สู้กับกิเลสที่โน้นที่นี้ พอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ กิเลสผุดขึ้นมา แหม รู้เท่าทัน สู้กิเลสได้ แต่กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในใจ ไม่เคยรู้เลยว่ามันอยู่ ไม่เคยเห็นว่ามีศัตรูร้าย ซ่อนอยู่ในใจของเราเอง เราก็คิดว่ากิเลสมันมาจากข้างนอก

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันกระทบอารมณ์แล้ว กิเลสมันก็เลยเกิด ที่จริงแล้วกิเลสมันซ่อนอยู่ในจิตใจของเรานี้ ตัวหัวหน้ากิเลสคือตัวอวิชชา เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนา เราก็ต้องต่อสู้กับกิเลส เบื้องต้นก็สู้กิเลสหยาบๆ กิเลสโลภ โกรธ หลงอะไรเกิดขึ้น คอยรู้ทันไป ถ้ารู้ไม่ทันโลภ โกรธ หลงก็ครอบงำเรา เราก็ทำชั่วทางกาย ทางวาจา หรือทางจิตใจ กิเลสอย่างกลางส่วนมากมันจะอยู่ทางใจ กิเลสอย่างละเอียดคือความไม่รู้ของเรา ดูกิเลสหยาบๆ มันดูง่าย โดยเฉพาะการดูกิเลสคนอื่น ง่ายที่สุดเลย อย่างเราเห็นคนหนึ่งขี้โมโห อุ๊ย ดูง่าย เออ ไอ้นี่ขี้โมโห ยายคนนี้ขี้โมโห หรือยายคนนี้ขี้งก ดูง่าย กิเลสตัวเองต่างหากที่ดูยาก เพราะกิเลสมีตั้งหลายชั้น กิเลสหยาบ กิเลสกลาง กิเลสละเอียด

กิเลสหยาบๆ ก็โลภะ โทสะ โมหะ กิเลสอย่างกลางก็พวกนิวรณ์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นตัวผลักดันให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ กิเลสอย่างละเอียดที่สุดเลย คือตัวอนุสัยกิเลส อนุสัยกิเลสไม่มีร่องรอยเลย ไม่มีรูปร่าง ไม่มีร่องรอยเลย มันซ่อนตัวอยู่ในสันดานของเรา มี 7 ตัว ไปถามกูเกิลดู อนุสัยมี 7 ตัว เป็นกิเลสชั้นละเอียดที่สุด ตัวที่จะทำลายอนุสัยได้คืออริยมรรค ฉะนั้นกิเลสมีหลายระดับ ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไป ถ้ากิเลสหยาบๆ ก็ยังรู้ไม่ทัน ก็ไม่ต้องไปพูดถึงกิเลสอย่างกลาง อย่างละเอียดหรอก พยายามฝึกตัวเองไป ศัตรูอยู่ตรงนี้ คนอื่นไม่ใช่ศัตรูเรา

 

 

เราจะพัฒนาจิตใจได้ จิตใจก็ต้องมีสมาธิมากพอ การที่เราเดินจงกรม คิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จิตใจมันจะอบอุ่นขึ้นมา มีเรี่ยวมีแรง ได้สมาธิขึ้นมา ฉะนั้นการคิดถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรียกพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สิ่งที่ได้ก็คือสมาธิ จิตใจเราจะสงบร่มเย็น มีเรี่ยวมีแรง แล้วก็เดินตามพระพุทธเจ้า เดินตามพระพุทธเจ้าก็คือฝึกจิตฝึกใจของตัวเอง งานฝึกจิตฝึกใจมี 2 งาน ทำสมถะกับวิปัสสนา ตัวคิดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นเรื่องของสมถะเบื้องต้น ถัดจากสมถะที่จิตสงบแล้ว ต้อง upgrade ให้จิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว ก็พัฒนาต่อไปให้เกิดปัญญา

ฉะนั้นตรงที่คิดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จิตมีปีติ มีความสุข มีสมาธิเกิดขึ้น แล้วถ้าเราพัฒนาต่อไป เราคอยสังเกตจิตใจเรา มีสติกำกับอยู่ที่จิตเรื่อยๆ ไป ต่อไปจิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา อย่างที่หลวงพ่อเคยทำ หลวงพ่อทำอานาปานสติแล้วรู้ทันจิต ไม่ได้ทำเพื่อสงบ เพื่อสุข เพื่อดีอะไรทั้งสิ้น ทำอานาปานสติ หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก พอจิตมันหลงไป รู้ทันว่าจิตหลง จิตไปเพ่งลมหายใจ รู้ว่าจิตเพ่ง จิตก็เลยไม่เผลอ จิตก็เลยไม่เพ่ง จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ในทางสายกลาง

พอจิตเราอยู่ในทางสายกลางได้ เราก็เดินปัญญา แยกธาตุ แยกขันธ์ เห็นร่างกายกับจิตคนละอัน เห็นเวทนากับจิต เป็นคนละอัน เห็นสัญญา สังขาร กับจิตเป็นคนละอัน เห็นจิตเกิดดับทางทวารทั้ง 6 หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป อันนั้นขั้นเจริญปัญญา พอเจริญปัญญาไปช่วงหนึ่ง จิตเหนื่อย จิตหมดแรง ก็กลับมาทำสมถะ ทำสมาธิชนิดสงบ ทำสมาธิชนิดสงบ ถ้าอย่างหลวงพ่อทำ หลวงพ่อก็หายใจเอา จิตก็สงบ สว่าง สบาย จิตก็ได้เรี่ยวได้แรง

แต่ถ้าเราทำสมาธิอย่างที่ว่านี้ไม่ได้ เราคิดถึงพระพุทธเจ้าบ่อยๆ คิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงธรรมะที่ท่านสอน คิดถึงพระสงฆ์ ตัวอย่างพระสงฆ์ เช่น พระโกณฑัญญะ พระสารีบุตร พระโมคคัลลา พระมหากัสสปะ แต่ละองค์ๆ ท่านก็มีคุณงามความดีแตกต่างกันไป องค์นี้ท่านดีทางนี้ องค์นี้ท่านดีทางนี้ แต่ทุกๆ องค์ดีเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือความบริสุทธิ์เหมือนกันหมด เสมอกัน แล้วเสมอกับพระพุทธเจ้าด้วย ความบริสุทธิ์ของพระอรหันตสาวก พอเราคิดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จิตมันก็มีแรงขึ้นมา

อย่างหลวงพ่อตอนภาวนาอยู่ หลวงพ่อคิดถึงหลวงปู่ดูลย์ คิดถึงวันหนึ่งไม่รู้ว่ากี่ครั้ง นับไม่ถูกเลย มองเห็นอย่างนี้ ใจเป็นอย่างนี้ คิดถึงหลวงปู่ดูลย์ เออ ถ้าเราจิตใจเป็นอย่างนี้ หลวงปู่จะชมว่าทำถูก ถ้าใจเราอย่างนี้หลวงปู่จะตำหนิ หรือเราคิดอย่างนี้หลวงปู่จะชม คิดอย่างนี้หลวงปู่จะตำหนิ ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำ เหมือนมีหลวงปู่มาเฝ้าอยู่ทั้งวันเลย นั่นล่ะจิตที่มีสมาธิ เหมือนเราเชื่อมต่อ ไม่ได้ไปเชื่อมแบบเชื่อมญาณอะไรอย่างนั้นหรอก อันนั้นของเด็กเล่น อันนี้เชื่อมอย่างนี้ ใจเราผูกพันแน่นแฟ้นอยู่กับครูบาอาจารย์ ระลึกถึงท่านเรื่อยๆ ไม่กล้าทำชั่ว ขี้เกียจขึ้นมาก็ไม่ได้แล้ว เหมือนครูบาอาจารย์มองอยู่ นี่สังฆานุสสติ อย่างนี้ไม่ใช่นั่งสังโฆๆๆ นั่นมันนกแก้วนกขุนทอง มันก็ร้องได้

ฉะนั้นเราเวลาคิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงคุณของท่านให้ได้ คิดถึงพระธรรม พระสงฆ์ คิดถึงให้ได้ เวลาเราคิดอย่างนี้ เราพูดอย่างนี้ เราทำอย่างนี้ ถ้าคิดถึง เราจะรู้สึกอย่างนี้พระพุทธเจ้าตำหนิ อย่างนี้พระพุทธเจ้าไม่ตำหนิ ในพระไตรปิฎกมีพวกพระภาวนา แล้วท่านก็บอกว่า เออ ท่านดูแล้วที่ท่านปฏิบัติอยู่ ตัวท่านก็ตำหนิตัวเองไม่ได้ เพื่อนสหธรรมิก คือเพื่อนพระด้วยกัน ก็ตำหนิท่านไม่ได้ ศีลของท่านดี พระพุทธเจ้าก็ไม่ตำหนิท่าน ศีลท่านบริสุทธิ์มาก ท่านก็บอก ไม่มีใครตำหนิได้เลย ตั้งแต่ตัวท่านเอง

ถ้าเรายังเห็นข้อด้อย จุดด่างอะไรของตัวเอง ก็พยายามฝึกเข้า หนีจากสิ่งสกปรก อย่าไปภูมิใจกับมัน พวกโง่ๆ มันก็ภูมิใจกับความสกปรกของตัวเอง รู้สึกกูเก่งๆ อะไรอย่างนี้ มันไปไหนไม่รอดหรอก พยายามฝึกจากที่มืดไปสู่ที่สว่าง จากที่สกปรกไปสู่ที่สะอาด จากที่รกรุงรังไปสู่ที่ว่าง ที่โล่ง ฝึกตัวเองทุกวันๆ เวลาเดินจงกรมก็ตั้งใจว่า เราจะเดินตามพระพุทธเจ้า เดินตามพระธรรม เดินตามพระอริยสงฆ์ทั้งหลายไป รอยเท้าของท่านยังอยู่ อย่ารอจนวันที่รอยเท้าท่านหายไป อยากเดินก็ไม่รู้จะเดินอย่างไรแล้ว

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
1 สิงหาคม 2566 (ช่วงบ่าย)