ทาน ศีล ภาวนา

เราไม่ได้เจอกันที่นี่ราวๆ 3 ปีแล้วตั้งแต่มีโควิด แต่ 3 ปีนี้หลวงพ่อก็ไม่ได้หยุดทำงาน ช่วงที่สาธารณสุขเขาเข้มงวดไม่ได้เปิดให้คนเข้าวัด หลวงพ่อก็ใช้ระบบไลฟ์สด ก็ทำซีดี ทำจัด Zoom จัดอะไร ที่ได้ผลมากก็เรื่องยูทูป เวลาออกไปต่างจังหวัด ไปที่ต่างๆ ได้เจอคนซึ่งไม่เคยเจอ ไม่เคยเห็นหน้ากัน เขาฟังยูทูป เขาภาวนาเป็น สามารถตื่นขึ้นมา แยกธาตุแยกขันธ์ได้

ภาวะแห่งความตื่นเป็นเรื่องแปลก ครั้งแรกที่จิตเราตื่นขึ้นมาจริงๆ มันจะรู้สึกเลยว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมา มันตื่นแต่กาย แต่จิตไม่เคยตื่นเลย จิตเราหลับ จิตเราฝันตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืน ตอนตื่นเราก็ไปหลง เข้าไปอยู่ในโลกของความคิด มันก็คือฝันกลางวัน เวลาหลับก็ไปฝันต่อ จิตมันไม่เคยตื่น มันตื่นแต่ร่างกาย จิตมันฟุ้งฝันไปเรื่อยๆ ในโลกน้อยคนที่จิตตื่นขึ้นมา

 

วิธีฝึกสมาธิในยุคสมาธิสั้น

สมัยครูบาอาจารย์ท่านก็สอนให้บริกรรมพุทโธ บางทีก็ให้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ในที่สุดจิตรวม จิตเข้าฌาน พอเข้าถึงปฐมฌาน จิตมีวิตก มีวิจาร มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งอยู่ ตัววิตกส่วนใหญ่ก็ไปตรึกอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ส่วนมากก็จะเป็นปฏิภาคนิมิต

ถ้าเข้าระดับฌาน เป็นแสงสว่าง จิตมีวิจาร คือเคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่างโดยไม่เจตนา มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง ถึงตรงนี้จิตผู้รู้ ผู้ตื่นยังไม่มีเลย จนกระทั่งผู้ปฏิบัติสังเกตเห็นว่าตอนนี้จิตมันไหลไปอยู่ที่แสงสว่าง พอรู้ว่าจิตมันไหลไปที่แสงสว่าง อาการที่จิตเคลื่อนไปที่แสงก็ดับ ก็ละวิตกวิจารได้ จิตมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง เข้ามาสู่ฌานที่สอง

ในฌานที่สอง ในพระไตรปิฎกจะพูดถึงคำๆ หนึ่ง คำว่า เอโกทิภาวะ ภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง มันคือจิตซึ่งมันตั้งมั่นเป็นหนึ่งนั่นเอง เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา ทำไมมันเกิดจิตผู้รู้ขึ้นในฌานที่สอง เพราะในฌานที่หนึ่ง จิตยังส่งออกนอกอยู่ ส่งออกไปดูแสง ไปดูอารมณ์กรรมฐานอยู่ พอมันวางได้ มันทวนกระแสเข้ามาหาตัวเอง จิตก็ตื่น ตั้งมั่นขึ้นมา

ฉะนั้นถ้าเดินในแนวของฌาน ฌานที่สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด จะมีตัวรู้ขึ้นมา แต่ถ้าไม่ใช่เดินแนวของพระพุทธเจ้า ถึงฌานที่แปดยังไม่มีตัวรู้เลย อย่างจิตเข้าอรูปฌาน จิตก็ไปอยู่ในความว่าง ส่งไปอยู่ในความว่าง ความว่างมันของถูกรู้ มันไม่ใช่จิตผู้รู้ บางทีก็มาเพ่งอยู่ที่ตัวจิต บางทีก็ปล่อยทั้งจิตทั้งความว่าง ก็วนเวียนอยู่แค่นั้น มันไม่มีจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา

พอเราภาวนาทำถูกหลักถูกเกณฑ์ จิตเราเข้าฌานที่ถูกต้องได้ ฌานก็มี 2 อัน ฌานของพระพุทธเจ้าก็อันหนึ่ง ฌานของฤๅษีก็อันหนึ่ง ฌานของฤๅษีคือสงบไปเฉยๆ แต่ฌานของพระพุทธเจ้า จิตตั้งมั่น มันพูดให้พวกเราฟังยุคนี้ มันเข้าใจยาก เพราะพวกเรายุคนี้เป็นยุคสมาธิสั้น สมาธิชนิดตั้งมั่นอยู่ได้เป็นวันหลายๆ วันอะไร มันทำไม่เป็น ทำยาก

ในสังคมของคนสมาธิสั้น เราก็ยังทิ้งสมาธิไม่ได้ เราก็ต้องใช้สมาธิที่คนสมาธิสั้นทำได้ ก็คือสมาธิชนิดที่เรียกว่าขณิกสมาธิ เราไม่ต้องเข้าฌาน เพราะว่าเรายุคนี้คนที่เข้าฌานได้ มีนับตัวได้เลยน้อยเต็มที ลูกศิษย์หลวงพ่อที่เข้าฌานจนเป็นวสีจริงๆ มีอยู่ไม่กี่คน ส่วนใหญ่ก็อย่างพวกเราทำสมาธิไม่ได้เท่าไรหรอก ใจมันก็ฟุ้งๆ สิ่งยั่วยุมันเยอะ แค่มือถือก็ดึงดูดจิตเราออกไปข้างนอกเสียหมดแล้ววันๆ หนึ่ง

เราได้ยินว่าคนยุคนี้สมาธิสั้น ฉะนั้นเราก็มาฝึกสมาธิชนิดสั้นบ้าง สมาธิที่สั้นๆ เรียกว่าขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ ถ้ายาวกว่านั้นก็เป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิถึงในขั้นฌาน ในยุคเรานี้ ทำลำบากนิดหนึ่ง ไม่เหมือนยุคครูบาอาจารย์ ยุคครูบาอาจารย์ท่านเป็นชาวไร่ชาวนา ถึงหน้านาก็ไปทำนา เหนื่อยยาก ลำบากมาก แล้วชีวิตก็ไม่มีอะไรให้บริโภคมากหรอก ความเป็นอยู่ก็ค่อนข้างแร้นแค้น คนสมัยโน้น เพราะฉะนั้นกามสุขไม่ค่อยมีหรอก ชีวิตท่านท่านเห็นว่ามันมีแต่ความเหนื่อยยากลำบาก พอท่านรู้วิธีนั่งสมาธิ นั่งแล้วมีความสุข ท่านนั่งกันอุตลุดเลย ทำกันหนักหนาสาหัส ก็ได้ฌาน ได้สมาบัติอะไรกัน บางองค์ก็ได้อภิญญาอะไรไป

ของเรามันอยู่ในยุควอกแวก จิตใจเราฟุ้งตลอดวัน ข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับในแต่ละวันมากมายมหาศาล ข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่ตอนนี้มีมากเกินกว่าที่เราจะเข้าไปรับได้ในแต่ละวัน ข้อมูลมันมหาศาลจริงๆ ยิ่งถ้าใจเราสนใจแต่ของข้างนอก ไม่สนใจที่จะพัฒนาตัวเอง เวลามันก็หมดไปกับการรับข้อมูลภายนอก พอรับข้อมูลภายนอกไปแล้ว มันก็ไม่มีเวลาที่จะมาเรียนรู้ตัวเอง

 

ธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์

ฉะนั้นเราตั้งใจให้เด็ดเดี่ยว ยังมีโอกาสอยู่ เพราะว่าพระพุทธศาสนายังไม่ได้สูญไป ในยุคที่พระพุทธศาสนาสูญไป เราจะรู้สึกวังเวง มันไม่ใช่ว่าเราชั่วเราอะไร อย่างพวกเราถ้าเคยภาวนาปฏิบัติธรรม ถือศีลอะไรมา แล้วระลึกชาติไป ในชาติที่เราไม่พบพระพุทธเจ้า ไม่พบพระพุทธศาสนา จิตใจมันวังเวง มันไม่มีที่พึ่งที่อาศัย แต่ว่าถามว่าไปทำชั่วไหม มันไม่ชั่วอะไร ก็ทำดีอย่างโลกๆ ไป ทีนี้พวกเรายังมีโอกาส ศาสนาพุทธยังไม่ได้สูญไปในขณะนี้ เราก็พยายามมาเรียนธรรมะให้ดี

การเรียนธรรมะนั้น ต้องรู้ก่อนว่าเรียนไปเพื่ออะไร เราเรียนไปเพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์ อันนี้คือเป้าหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าทำอย่างไรจะไม่เจ็บไข้ ถ้าเจ็บไข้โรคนี้แล้ว ทำอย่างไรจะหาย ไม่ได้ตอบโจทย์อย่างนั้น ศาสนาพุทธมุ่งมาตอบโจทย์สำคัญอันเดียวเลยว่า ทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ เพราะชีวิตเรามีความทุกข์มากมาย

ทุกวันนี้ที่ดิ้นรนทำมาหากินอยากรวยอะไร ก็คิดว่าถ้ารวยแล้วมีความสุข ไม่ทุกข์อะไรอย่างนี้ พยายามไปออกกำลังกาย หวังว่าแข็งแรงแล้ว จะไม่ทุกข์อะไรอย่างนี้ แต่ในที่สุดไม่ว่ารวยแค่ไหนมันก็ทุกข์อีกแล้ว ร่างกายแข็งแรงแค่ไหน บางทีก็มีเรื่องกระทบจิตใจ จิตใจก็ทุกข์ได้อีก ฉะนั้นการแสวงหาความสุขของชาวโลก มันไม่ยั่งยืนอะไรหรอก ความสุขในโลกมันชั่วคราวทั้งหมดเลย พวกเรามีสติมีปัญญา เรามาแสวงหาความพ้นทุกข์ดีกว่าที่จะแสวงหาความสุข

ถ้าเราเข้าถึงสภาวะที่พ้นทุกข์ เราจะพบความสุขที่มหาศาล เพราะมันไม่ทุกข์ มันไม่ทุกข์ มันเป็นบรมสุข นิพพานเป็นบรมสุขในขณะนั้น เพราะฉะนั้นเราพยายามตั้งหลักให้ดี ที่เราปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพื่อความสุข ความสงบ ความดีอะไรเลย เราเรียนรู้ทุกข์จนกระทั่งเราพ้นทุกข์ นี่คือเป้าหมายใหญ่ของเรา

เราจะพ้นทุกข์ได้ สิ่งที่ทำให้เรามีความทุกข์คือกิเลสตัณหาทั้งหลายนั่นล่ะ ตราบใดที่ยังมีกิเลสมีตัณหาอยู่ จิตใจก็ดิ้นรนปรุงแต่งไม่เลิก จิตใจก็ทุกข์ไม่เลิกนั่นล่ะ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรู้วิธีที่จะลดละกิเลสตัณหาทั้งหลาย พระพุทธเจ้าก็สอนวิธีการไว้ให้ อย่างเราเป็นฆราวาส พระพุทธเจ้าสอนเครื่องมือในการต่อสู้กิเลสเอาไว้ ให้เรารู้จักทำทาน ให้รู้จักรักษาศีล ให้รู้จักภาวนา ถ้าเป็นนักบวช ท่านก็เน้นมาที่ให้มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา

 

การฝึกจิตใจ

ที่จริงสมาธิ ปัญญา มันก็รวมอยู่กับคำว่าภาวนานั่นล่ะ แต่ว่าของฆราวาสท่านมุ่งมาที่ สอนเบื้องต้นมาที่ การทำทานด้วย เพราะอะไร เพราะในโลกนี้ คนมันหิวไม่เลิก รวยเท่าไรๆ ก็ยังอยากไม่เลิก อยากรวยมากขึ้นๆๆ ไม่รู้ว่าจะรวยไปทำอะไร เพราะรวยแค่ไหนก็กินข้าวได้แค่นั้นล่ะ เสื้อผ้ามีพันชุดก็ใส่ได้ทีละชุดอย่างนี้ล่ะ มีบ้านหลายหลังมันก็อยู่ได้ทีละหลังนั่นล่ะ ฉะนั้นที่อยากได้กันเยอะๆ เยอะๆ มันไม่ได้ตอบโจทย์ของชีวิตจริง

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านสอนเรา ให้รู้จักทำทาน หมายถึงแบ่งปันส่วนที่เกิน ให้ส่วนที่เกินไปกับคนที่เขาจำเป็นกว่าเรา อย่างเรามีเสื้อผ้าเยอะ ช่วงนี้ฤดูหนาว คนที่เขาขาดแคลน เขาจำเป็นที่จะต้องใช้เสื้อผ้าอันนี้มากกว่าเรา พวกเราไม่จำเป็นเท่าไร มีมากอะไรอย่างนี้ ท่านสอนให้รู้จักให้ทานเพื่อลดละความเห็นแก่ตัว

คนเราถ้ารู้จักให้ จิตใจมันจะเต็มมันจะอิ่ม มันมีความสุข คนที่อยากได้ของคนอื่น อยากได้โน่น อยากได้นี่ จิตใจขาดแคลนตลอดเวลา กะพร่องกะแพร่ง ไม่มีความสุขหรอก เพราะฉะนั้นที่พระพุทธเจ้าสอนให้ทำทานก็เพื่อให้ใจของเรามันอิ่มมันเต็มเสียที ไม่ได้หิวโกโรโกโส เหมือนหมาจรจัดไปเรื่อยๆ หาอะไรคุ้ยขยะกินไปวันๆ จิตที่รู้จักให้มีความสุข แล้วมันจะอิ่ม มันจะเต็ม

อันนั้นก็เป็นวิธีเบื้องต้นในการลดละกิเลส ลดละความเห็นแก่ตัว แล้วก็ฝึกให้ได้ธรรมะ คือความเมตตากรุณา ได้ทั้งศีล ได้ทั้งธรรม ได้คุณงามความดีหลายอย่างเกิดขึ้น แต่อย่างถ้าเราทำทานไม่เป็น เราไม่มีเงินไม่มีทอง จะไปกู้เงินมาทำ สร้างความทุกข์ให้ตัวเอง ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้หาความทุกข์มาใส่ตัวเอง มีบ้านก็เอาบ้านไปยกให้วัดอะไรอย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ให้รู้ขอบเขต รู้หน้าที่ รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร แค่ไหน

แล้วในความเป็นจริง การทำทานไม่ใช่การจ่ายสตางค์ การทำทาน การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อต่างๆ มันอยู่ในกลุ่มของทานเยอะแยะเลย อย่างเรามีความรู้ เราอยู่มหาวิทยาลัย ชาวบ้านไม่มีความรู้ ทำอะไรไม่สำเร็จ จะทำมาหากิน ทำไม่ค่อยได้ผลอะไรอย่างนี้ เรามีความรู้ดี เราอยู่มหาวิทยาลัย เราให้ความรู้เขา นี่ก็คือทาน ฉะนั้นทานไม่ใช่เรื่องต้องเสียเงินตลอดไปหรอก

หรืออย่างเราโกรธใครสักคน เรายกโทษให้เขา ไม่จองเวรเขา นี่ก็เป็นทานชนิดหนึ่ง เรียกว่าอภัยทาน อภัยทานต้องฝึกตัวเองไม่ให้ผูกใจเจ็บ ไม่ให้หลงตามโทสะ ส่วนวัตถุทานแจกออกไป ก็เพื่อไม่ให้ยึดถือข้าวของเกินจำเป็นอะไรอย่างนี้ นี่เป็นการฝึกจิตใจในขั้นเบื้องต้น ทำทาน

 

“ถ้าเราหัดภาวนาเรื่อยๆ เราจะรู้ว่าการรักษาศีลก็ดีมากๆ การทำทานดีมากๆ
แต่ที่จะดีเลิศๆ เลย การรักษาจิตของตัวเองไว้ให้ได้”

 

การฝึกจิตใจที่สูงขึ้นมาคือการรักษาศีล หลวงพ่อแนะนำ พวกเราควรจะถือศีล 5 ให้ได้ ศีล 5 จำเป็นสำหรับความเป็นมนุษย์ ถ้าเรามีความสามารถพิเศษ เราจะรู้เลย สัตว์ในอบายภูมิมากมาย ที่ไปสู่อบายภูมิเพราะไม่มีศีล ถ้าเรามีศีลอยู่ โอกาสที่จะไปสู่อบายภูมิมันน้อยลง ถามว่ามีไหม มี แต่มันลดลง บางคนถือศีลดี ทำทานรักษาศีล ภาวนาดี แต่ขณะที่ตาย ตายด้วยจิตที่ไม่ค่อยดี ก็ไปทุคติได้ แต่ว่าไปอยู่ในทุคติภูมิไม่นาน เดี๋ยวบุญกุศลที่เคยสะสมมันก็มาเตือนจิตใจ หลุดออกจากตรงนั้นได้

เคยมีพระท่านเล่าให้ฟัง ท่านไปในป่า ท่านเห็นเปรต เปรตพระ พระเป็นเปรต รูปร่างงดงามผ่องใส แต่ว่าเป็นเปรต แผ่ส่วนบุญไปให้ก็ไม่รับ รับไม่ได้ ไม่ใช่เปรตทุกชนิดที่จะรับส่วนบุญได้ มันมีเปรตบางชนิดเท่านั้นที่มันใกล้เคียงกับมนุษย์พอรับได้ เปรตอื่นๆ รับไม่ได้ นี่ก็เห็นเปรตพระอยู่ในป่า ก็แผ่ส่วนบุญไปให้ ไม่รู้เรื่องเลย

ก็พิจารณาดูว่า เอ๊ะ ทำไมท่านผ่องใสงดงามอย่างนี้ มีรูปงามอย่างนี้เพราะศีลท่านดี นี่ขนาดศีลดียังไปเกิดเป็นเปรตได้เลย แล้วท่านออกธุดงค์ไปในป่า แล้วหลงป่า เวลาหลงป่าก็พยายามเดินจะหาทางออกจากป่า แล้วหิวด้วย ไม่มีอะไรจะกินไม่มีฉัน ในที่สุดก็ตายในป่า ขณะที่ตาย ใจมันหมกมุ่นแต่ว่าจะต้องออกไปจากตรงนี้ จะต้องไปหาอาหารมาฉันอะไรอย่างนี้

ใจที่ข้องนิดเดียวกับกิเลสนิดเดียว แต่มันเป็นกิเลสที่เกิดในขณะจิตสุดท้ายนั้น เป็นมรณาสันนกรรม ก็พาไปสู่ภพภูมิใหม่เลย เป็นเปรตทันทีเลย แต่อยู่ไม่นาน บุญกุศลที่สะสมมา มันก็เตือนใจระลึกขึ้นได้ ก็พ้นจากสภาวะอันนั้นไป

เพราะฉะนั้นถ้าเราหัดภาวนาเรื่อยๆ เราจะรู้ว่าการรักษาศีลก็ดีมากๆ การทำทานดีมากๆ แต่ที่จะดีเลิศๆ เลย การรักษาจิตของตัวเองไว้ให้ได้ ถ้าเรารักษาจิตของเราได้คือจะดีมาก การรักษาจิตของเรามันมีงาน 2 งาน อันนั้นเรียกว่าภาวนา 2 งาน งานที่หนึ่งเรียกว่าสมถภาวนา งานที่สองเรียกว่าวิปัสสนาภาวนา การฝึกจิตจริงๆ มันมี 2 แบบ อันหนึ่งฝึกจิตให้สงบ อันหนึ่งฝึกจิตให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ถูกความเข้าใจถูกเกี่ยวกับชีวิตเรานี้ล่ะ พอเรารู้ถูกเข้าใจถูก จิตจะปล่อยวาง

เพราะฉะนั้นทาน ศีล มาถึงภาวนา ภาวนาเป็นงานของจิตทั้งสิ้นเลย เป็นเรื่องทางจิตใจ ไม่เกี่ยวกับคนอื่นแล้ว ทำทานบางทีต้องไปเกี่ยวข้องกับคนอื่น รักษาศีลอะไรอย่างนี้ บางทีใจมันจะวอกแวก อยากไปชกคนอื่น ก็รักษาศีลก็ไม่ไปชก แต่เรื่องภาวนา เป็นเรื่องงานของเราโดยตรง เป็นงานพัฒนาจิตโดยตรง มี 2 งาน งานหนึ่งเป็นการพัฒนาจิตให้สงบและตั้งมั่น งานที่สองเป็นการฝึกจิตให้ฉลาดรอบรู้ เข้าใจความจริงของโลก ของชีวิต

พระพุทธเจ้าท่านบอก “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” เพราะฉะนั้นมันต้องผ่านงานที่สองถึงจะเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ถ้าลำพังมีแต่แค่งานที่หนึ่ง ทำสมาธิเพื่อความสุขความสงบ ยังไม่บรรลุมรรคผลหรอก ยังไม่พ้นทุกข์หรอก แค่มีความสุขชั่วครั้งชั่วคราวตอนทำสมาธิ

 

การพัฒนาจิตให้สงบและตั้งมั่น

การทำสมาธิเพื่อความสงบ หลวงพ่อเพิ่งเทศน์ไปเมื่อวานนี้ แนะนำว่าลองไปฟังรีรันในยูทูปในอะไรอย่างนี้ มี ลองไปฟังดู เมื่อวานนี้หลวงพ่อพูดเรื่องนี้เรื่องเดียวเลย เรื่องของการฝึกสมาธิ ย่อๆ ก็คืออารมณ์กรรมฐานของสมาธิ กว้างขวาง อะไรก็ได้ที่ใช้ทำสมาธิ ทำความสงบ อารมณ์ของมันมี 4 ชนิด หนึ่ง อารมณ์บัญญัติ คือเรื่องรูป เรื่องที่เราคิดขึ้นมา อย่างเราคิดพิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ คิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อะไรอย่างนี้ เรื่องที่คิดๆ เอาก็เป็นอารมณ์บัญญัติ ทำสมาธิ ทำความสงบได้ แต่ทำวิปัสสนาไม่ได้

อารมณ์ที่สองคืออารมณ์รูปธรรม อย่างเราหายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึกอย่างนี้ จิตก็สงบได้ หรือเราเดินจงกรมไป ยกเท้า ย่างเท้าอะไรทำไป จิตก็สงบได้ ไม่ใช่รูปธรรม อารมณ์อันหนึ่งเป็นนามธรรม เช่น เรากำหนดจิตลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตก็ว่าง อยู่ในความว่าง ไม่มีรูป บางทีก็ดูลงไป เพ่งลงไปในจิต จิตก็สงบ ว่าง อะไรอย่างนี้ นั่นก็เป็นเพ่งนามธรรม ก็ใช้เป็นอารมณ์ของสมถะได้

อารมณ์ของสมถะอันที่สี่คือนิพพาน แต่คนที่จะใช้นิพพานทำสมถะได้ มีเฉพาะพระอริยบุคคล พวกเราไม่เคยเห็นนิพพาน ฉะนั้นเราเอานิพพานมาทำสมถะไม่ได้ ได้แต่คิดถึงนิพพาน ถ้าคิดถึงนิพพานก็เป็นแค่อารมณ์บัญญัติ เป็นเรื่องที่คิด เรียกว่าอุปสมานุสติ คิดๆ เอา ไม่ใช่เห็นสภาวะ

อารมณ์ของสมถะ นับไม่ถ้วน แต่ในตำรา grouping ออกมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน 40 ที่จริงมีเยอะแยะเลย อะไรก็ได้ แต่เคล็ดลับมันมีนิดเดียว อารมณ์อันนั้น เราต้องไปอยู่กับอารมณ์อันนั้น แล้วอารมณ์นั้นต้องเป็นอารมณ์ที่มีความสุข ถ้าเราอยู่กับอารมณ์ที่มีความสุข เอาจิตใจที่สบายๆ จิตใจที่ปกติ ไม่ได้เดือดร้อนวุ่นวาย ไปรู้อารมณ์ที่มีความสุข รู้ไปสบายๆ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ไม่ได้ดิ้นรนอยากสงบ

เคล็ดลับก็คืออันแรกรู้จักเลือกอารมณ์กรรมฐาน เราต้องดูตัวเอง เราอยู่กับอารมณ์ชนิดไหนแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอันนั้นล่ะ แล้วก็วิธีที่จะอยู่กับอารมณ์ที่มีความสุข อันแรกเลย จิตใจของเรา ใช้ใจปกติ ถ้าเอาใจที่เคร่งเครียดไปทำกรรมฐาน มันไม่ได้เรื่องหรอก จิตมันไม่สงบหรอก เพราะฉะนั้นเราใช้ใจที่ปกติไปรู้อารมณ์ที่เรารู้แล้วมีความสุข รู้ไปสบายๆ รู้อย่างต่อเนื่องไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ไม่นาน จิตจะสงบทันทีเลย

พวกเราหลายคนชอบบ่นว่านั่งสมาธิแล้วไม่เคยสงบ เพราะนั่งไม่เป็น อันแรกไม่รู้จักเลือกอารมณ์กรรมฐานที่เหมาะกับตัวเอง อันที่สองไปบีบไปเค้นจิตอยากให้จิตสงบ จิตก็ยิ่งเหน็ดเหนื่อยวุ่นวาย จิตก็ยิ่งไม่สงบ มันมีทริคของมัน มีเคล็ดลับของมัน หลวงพ่อทำสมาธิอยู่ตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ 7 ขวบ ก่อนจะเจอหลวงปู่ดูลย์ทำสมาธิอยู่ 22 ปี ถึงได้จับเคล็ดลับของมันขึ้นมาได้เยอะแยะ นี่เอามาบอกให้ฟรีๆ เป็น Know-how ที่บอกให้เลย ไม่ได้เก็บสตางค์ด้วย ถ้าไปเปิดคอร์ส คอร์สละแสนก็มีคนมาเรียน แต่ไม่เอา ให้ฟรี ฉะนั้นได้ไปแล้ว เอาไปทำเอา

สังเกตตัวเอง เราอยู่กับอารมณ์ชนิดไหน แล้วมีความสุข แต่เล่นไพ่แล้วมีความสุขไม่เอา ต้องอารมณ์ที่ไม่ยั่วให้เกิดกิเลส อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เด็ก หลวงพ่อหายใจเข้าพุท หายใจออกโธแล้วมีความสุข หลวงพ่อก็ใช้หายใจเข้าพุทออกโธ แล้วเวลาหายใจเข้าพุทออกโธ เราใช้จิตใจที่ธรรมดาไปรู้การหายใจนี้ ไม่ได้ไปเริ่มต้นก็บังคับจิตให้เคร่งเครียด ไปจ้องเอาๆ อย่างไรก็ไม่สงบ ถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ เรื่องการทำความสงบก็จะไม่ใช่ของยากอีกต่อไป ง่าย ต้องการพักผ่อนเมื่อไรเราก็ทำได้

หลวงปู่เทสก์ท่านเคยสอนไว้อันหนึ่ง วิธีทำสมาธิแบบลัดสั้น คนในเมืองก็ทำได้ คืออย่างเรากำลังคิดอะไรที่ แหม มันเดือดร้อนวุ่นวายมาก จิตใจทุรนทุรายเต็มทีเลย ท่านบอกให้หายใจเข้าไปให้เต็มที่เลย แล้วกลั้นใจไว้ ลองทำสิ หายใจเข้าไปแล้วกลั้นใจไว้ รู้สึกไหมมันมีความนิ่งๆ เกิดขึ้น ท่านบอกว่าให้เราพักจิตไว้ตรงที่มันนิ่งๆ นี้ ชั่วคราวนี่ล่ะ ชั่วกลั้นลมหายใจนี้ล่ะ ถ้าหัดตรงนี้ได้ เวลาเรามีอะไรฉุกเฉินวุ่นวาย เคร่งเครียดอะไรขึ้นมา หายใจทีเดียว แล้วก็กลั้นใจไว้ แล้วก็จับความรู้สึกนิ่งๆ เอาไว้ แค่นี้ก็ได้สมาธิชนิดสงบแล้ว

ลองไปทำดู บางทีขับรถไป รถติด หงุดหงิด แทนที่จะหงุดหงิด ก็ไม่ต้องหลับตา หายใจเข้าไปให้เต็มที่ แล้วก็กลั้นลมหายใจ แล้วก็สังเกตจิตใจที่มันนิ่งๆ ถ้ารู้จักทำอย่างนี้ได้ เราก็จะได้พักผ่อน คนอื่นเขาเคร่งเครียดอยู่ในถนน เราได้พักผ่อนอยู่ในถนน อย่าให้หลับก็แล้วกัน

เพราะฉะนั้นสมาธิมีประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกก็ใช้ได้สารพัดเลย เหมือนอย่างเวลาเจ็บป่วยอย่างนี้ ร่างกายเราไม่สบาย ถ้าจิตใจเราเศร้าหมองไปด้วย รักษายาก บางทีป่วยนิดเดียว เป็นมะเร็งขั้นที่หนึ่ง ใจฝ่อ ยังไม่ทันไรก็ตายแล้ว แต่ถ้าจิตใจเราฝึกเอาไว้ดี มีสมาธิอยู่ บางทีเราช่วยตัวเองได้เยอะเลย

อย่างเวลาหมอเขาจะฉีดยาเรา บางทีจะเจาะตรงนั้น ผ่าตรงนี้อะไรนี่ เราไม่ได้สลบทุกครั้ง ทำอย่างไรดี สมมติว่าเขาจะแทงเข็มเข้าไปที่หน้าอกเรา ยังรู้สึกตัว มันเจ็บ เจ็บเยอะๆ เลย ลองใช้วิธีของหลวงปู่เทสก์เอา (หายใจเข้า) กลั้นใจไว้ แล้วตอนที่เขาแทงแล้วเรากลั้นใจอยู่ ไม่ค่อยเจ็บหรอก ลองไปทดลองดู เรื่องของสมาธิเอาไปใช้ได้เยอะเลย เวลาเราทำฟัน มันหวาดเสียวใช่ไหม หมอมาทำอะไรโครมครามอยู่ในปากเรา มันเจ็บด้วย เราก็กลั้นใจ ทำสมาธิเสีย ไม่สนใจตรงที่เจ็บ ความเจ็บมันก็ลดลง ก็ช่วยตัวเองได้

เรื่องของสมาธิเอามาใช้ในทางโลกได้เยอะแยะเลย หรือบางทีขับรถไป รถคว่ำ ขณะที่รถคว่ำ จิตดีดผางออกมา ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มีสมาธิขึ้นมาทันทีเลย เห็นรถกำลังหมุนๆ อยู่ ร่างกายก็พลิกไปท่าไหนๆ เห็นเป็นช็อตๆ เลย จิตมันมีสมาธิ เห็นร่างกายพลิกเป็นช็อตๆๆ หัวกำลังจะโขกฝาผนังรถแล้ว ก็หลบเสียหน่อยหนึ่งอะไรอย่างนี้ แทนที่จะเจ็บมากก็เลยเจ็บน้อยหน่อย แต่ถ้าพอรถคว่ำก็กรี๊ดๆ ดีไม่ดีตายไปเลย

สมาธิช่วยเราได้เยอะกระทั่งเรื่องโลกๆ บางคนคิดโปรเจกต์งาน คิดเท่าไรก็คิดไม่ออก ยิ่งคิดยิ่งเครียด คิดแล้วงงไปหมดเลย ตัดสินใจไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งไปคิดมัน อันไหนมันยุ่งยากก็แขวนมันไว้ก่อน มาทำใจให้สงบก่อน จะกลั้นลมหายใจสักหน่อยหนึ่ง พักนิดๆ หน่อยๆ หรือจะทำสมาธิจริงๆ เลยก็ได้ ถ้าทำสมาธิจริงๆ ไม่เป็น มีวิธี เคล็ดลับอีกแล้ว ตอนเราจะนอน อย่านอนกลุ้มใจว่าคิดงานไม่ตก คิดแก้ปัญหาไม่ตก ถ้ากลุ้มใจ แล้วไม่ได้เรื่อง นอนพุทโธไปเรื่อยๆ นอนพุทโธๆๆ ไปจนหลับไปกับพุทโธเลย แล้วตอนที่ตื่นขึ้นมา พอจิตมันคิดถึงงานอันนั้น มันจะรู้ทางออกเรียบร้อยเลย มันเป็นกลไกที่อัศจรรย์ หลวงพ่อก็เคยทดลอง ครูบาอาจารย์ก็เคยเล่าอย่างนี้ เคยบอก

เพราะฉะนั้นเวลาที่เรามีปัญหาชีวิตที่ยุ่งยากมากๆ คิดไม่ตก อย่าเพิ่งไปคิด ทำใจให้สงบก่อน ถ้าเข้าฌานได้ก็เข้าฌาน ออกจากฌานมาก็คิดออก ถ้าเข้าฌานไม่เป็นก็ไปนอนเอา แต่ตอนนอนก็นอนพุทโธไป พุทโธๆ จนหลับไป ตื่นขึ้นมาจิตใจมันก็ได้พักผ่อน ก็แช่มชื่นขึ้นมาบ้าง คล้ายๆ เข้าฌานมา คล้ายๆ พออาศัยได้ แล้วก็พอคิดถึงปัญหาอันนั้นปุ๊บ มันจะรู้ทางออกเลย รู้ว่าควรจะทำอะไร เมื่อไร มันรู้หมด จะช่วยเราได้เยอะ

 

จุดสำคัญที่พวกเราจะต้องฝึกให้ได้
คือฝึกให้จิตมีสมาธิที่ถูกต้อง

เพราะฉะนั้นเรื่องสมาธิก็สำคัญ แต่ที่สำคัญที่สุดคือเราทำสมาธิเพื่อให้จิตใจตั้งมั่น อยู่กับเนื้อกับตัวเรา คนในโลก เมื่อกี้บอกแล้ว คนในโลกมันหลงตลอดเวลา หาคนที่ตื่นขึ้นมาได้ยากมาก ฉะนั้นเรามาปลุกใจให้ตื่น จะปลุกใจให้ตื่นโดยการเข้าฌานถึงฌานที่สองแล้วตื่น ทำยาก

ฉะนั้นหลวงพ่อก็ไปค้นคว้ามีวิธีที่ง่ายๆ ที่จริงไม่ใช่วิธีหลวงพ่อหรอก พระพุทธเจ้าท่านก็สอนเอาไว้ ให้เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเองไว้ ถนัดพุทโธ เราก็พุทโธไป แล้วจิตไหลไปคิด เรารู้ ถนัดเล่นลมหายใจก็หายใจไป หายใจไปแล้วจิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหนีไปคิดก็รู้อะไรอย่างนี้ คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ ทันทีที่เรารู้ทันจิตตัวเอง จิตจะตั้งมั่นขึ้นทันทีเลย ปกติจิตจะหนีตลอดเวลา หลงไปทางโน้นทางนี้ตลอดเวลา แต่พอเรามีสติรู้ทันเท่านั้น จิตที่ฟุ้งซ่านมันจะดับทันที มันจะเกิดจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาทันที

อย่างเวลาครูบาอาจารย์ชอบสอนให้ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตหลงไปคิด ให้รู้ ทำไมมาเน้นที่จิตหลงไปคิด เพราะจิตเราคิดทั้งวัน ถามว่าทำอย่างอื่นได้ไหม ได้ เช่น จิตเราโกรธ เรารู้ว่าโกรธ ในขณะที่จิตโกรธ เรารู้ว่าโกรธ จิตก็ตั้งมั่น ตั้งมั่นเหมือนกัน ฉะนั้นอย่างในสติปัฏฐาน 4 จิตมีราคะ รู้ว่ามีราคะ จิตก็ตั้งมั่น จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ จิตก็ตั้งมั่น จิตมีโมหะ คือมันฟุ้งซ่าน รู้ว่ามันฟุ้งซ่าน มันหนีไปคิดแล้ว รู้ทัน มันก็ตั้งมั่น

เราคอยรู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะของจิตใจ มันไปยากที่ไหน จิตใจเรามีความสุข รู้ได้ไหม จิตใจเรามีความทุกข์ รู้ได้ไหม ไม่เห็นจะยากเลย จิตใจจะสุข จิตใจจะทุกข์ ไม่เห็นจะยากเลย จิตใจเฉยๆ ยากไหม ไม่ยาก จิตใจโลภ อยากได้แล้ว อยากได้มือถือใหม่ ไอโฟน ไอแพด อยากได้ รายได้มีน้อย แต่ว่าอยากได้เยอะ ไปคิดต่อ จะไปกู้ใครเขา จะไปสร้างหนี้นอกระบบ ใจยิ่งฟุ้งไปเรื่อยๆ

ต่อไปเวลาใจมันอยากได้อะไร รู้ทันใจที่อยากไว้ก่อน ความอยากมันดับ มันจะเหลือเหตุผลแล้วว่าควรจะหามาไหม ควรจะซื้อไหม ควรจะเป็นหนี้ไหม เพราะฉะนั้นเราจะดำรงชีวิตด้วยเหตุผล อาศัยสติคอยรู้ทันจิตตัวเองนั่นล่ะ แล้วก็ต้องฝึกซ้อม ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทุกวันควรจะทำ อย่างหลวงพ่อก็ใช้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอย่างนี้ เมื่อจิตหนีไปคิด ก็รู้ จิตไปเพ่งลมหายใจก็รู้ รู้ทันจิตไปเรื่อยๆ ตรงที่เรารู้ทันจิตนั่นล่ะ จิตจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา จิตมันไม่กล้าหนี

ถ้าเราไม่ดูแลรักษาจิตให้ดี ไม่มีสติคุ้มครองจิต จิตจะหนีอุตลุดเลย หนีไปร้อยเรื่องพันเรื่องในเวลาชั่วโมงหนึ่ง หนีอุตลุดเลย แต่เรามีสติรักษาจิตไป ทำกรรมฐานไป แล้วสติรักษาจิตก็คือทำกรรมฐานไปแล้วจิตมันหนีไป รู้ทันมัน มันหนีไปคิด รู้ทัน มันหนีไปดู รู้ทัน

อย่างบางคนเดินจงกรม เดินไปนิดเดียว เดี๋ยวก็วกกลับมาดูมือถือแล้ว ดูสิ มีใครส่งข้อความมาไหม ยังไม่มี วางไว้ เอ้า ไปเดินต่อ เดินอีกเที่ยวหนึ่ง กลับมามาดูอีกแล้ว ไม่ได้เรื่องอย่างนี้ ให้มันเด็ดเดี่ยวลงไป เวลาภาวนาคอยรู้ทันใจของเรา ที่มาคว้ามือถือเรื่อยๆ ใจมันโลภ ใจมันอยากดูอย่างนี้ ฉะนั้นเดินจงกรมอยู่ ใจมันอยากดูมือถือ รู้ทัน อย่างนี้เรียกว่าเราปฏิบัติอยู่

ถ้าเราฝึกบ่อยๆ จิตเราจะตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัว ตื่น ภาวะแห่งความตื่นหายาก ในโลกมีแต่คนหลับ มีแต่คนหลง ผู้รู้ผู้ตื่นมีน้อยเต็มที มีอยู่ในศาสนาพุทธนี้ล่ะ แต่ว่ายุคนี้ไม่ยากแล้ว มันมียูทูปอะไร ออกไปเยอะแยะ หลวงพ่อไปต่างจังหวัด ไปที่โน่นที่นี่ เห็นญาติโยม เขาไม่เคยเจอหลวงพ่อ แต่เขาฟังยูทูป เขาดู ฟังซีดี ดูยูทูปอะไรอย่างนี้ จิตตื่นขึ้นมา จิตตื่นได้ แยกขันธ์ได้ สามารถทำได้

ฉะนั้นเราพยายามฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตมันไปทำอะไร รู้ทันมัน จิตมันรู้สึกอะไร รู้ทันมันไป มีสติรักษาจิตด้วยวิธีนี้ ในที่สุดจิตก็จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นเด่นดวงมีกำลัง ต้องมีกำลังพอด้วย ทำช่วงหนึ่งจิตมันจะมีแรง มันจะตั้งมั่นโดยที่ไม่เจตนาตั้งแล้ว มันมีแรง ตรงนั้นก็ต้องเจริญปัญญา

 

วิธีเจริญปัญา

วิธีเจริญปัญญาอันแรกเลย แยกขันธ์ให้ออก แยกขันธ์ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่การถอดจิตออกจากร่าง อันนั้นไม่ใช่ศาสนาพุทธแล้ว ถอดจิตออกจากร่าง พวกเราขณะนี้ฟังหลวงพ่อ จิตมีสมาธิพอสมควรแล้ว แค่ฟังหลวงพ่อนี่ล่ะ จิตพวกเราส่วนใหญ่มีสมาธิแล้ว รู้สึกไหมร่างกายกำลังนั่งอยู่ รู้สึกไหม รู้สึกไหมร่างกายกำลังนั่งอยู่ รู้สึกไหมร่างกายพยักหน้า รู้สึกไหมร่างกายนี้มันถูกรู้อยู่ มันเป็นสิ่งที่ถูกรู้อยู่ ร่างกายนี้หายใจออก รู้สึกไหม ร่างกายหายใจเข้า รู้สึกไหม ร่างกายนี้ถูกรู้อยู่ รู้สึกไหม

ลองขยับมือสิ อย่าคิดเอา ใช้จิตที่ตั้งมั่นอย่างนี้แล้วรู้สึกไป รู้สึกร่างกายไป มันจะรู้สึกทันทีนี่ไม่ใช่ตัวเรา มันเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่เคลื่อนไหวได้เท่านั้นเอง คิดมากไป มันอย่างไรๆ ไม่ได้ มันต้องรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่น ไม่ใช่คิดเอา

การแยกขันธ์เป็นปัญญาขั้นที่หนึ่ง เรียกนามรูปปริจเฉทญาณ แยกรูปธรรม รูปมันนั่งอยู่ รูปมันหายใจอยู่ รูปมันเคลื่อนไหวอยู่ ใครเป็นคนรู้ จิตเป็นคนรู้ นี่แยกรูปนามได้ นี่คือปัญญาขั้นที่หนึ่ง แล้วถัดจากนั้นก็จะเห็นรูปธรรมทั้งหลายตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ นามธรรมทั้งหลายตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เห็น ไม่ใช่คิด ถึงจะเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาแปลว่าเห็นแจ้ง เห็นจริง เห็นถูกต้อง คือเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม

ฉะนั้นจุดสำคัญที่พวกเราจะต้องฝึกให้ได้คือฝึกให้จิตมีสมาธิที่ถูกต้อง ให้จิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นแล้วแยกขันธ์ไป ร่างกายมันเคลื่อนไหว ร่างกายมันถูกรู้ มือมันเคยบอกไหมว่ามือนี้คือเรา ลองถามมันสิ มันเคยบอกไหมว่ามันคือเรา จิตมันคิดเอาเอง ร่างกายไม่เคยบอกเลยว่าร่างกายคือตัวเรา จิตมันโง่เอง ไปคิดเอาเองว่าร่างกายเป็นตัวเรา ร่างกายเป็นสมบัติของโลก เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ พอจิตมันมีกำลังพอ มันจะเห็นความจริงของร่างกาย ร่างกายไม่เที่ยง ร่างกายเป็นทุกข์ ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าจิตเรามีสมาธิ เราสามารถเห็นได้ทันที ไม่ใช่เรื่องยากเลย

ทุกคนลองยิ้มหวานสิ ยิ้ม เพราะตอนนี้เริ่มเคร่งเครียดเกินไปแล้ว พอถึงบทปฏิบัติแล้วเริ่มเครียดเลย ยิ้มหวานๆ รู้สึกไหมร่างกายยิ้ม ยากไหมที่จะรู้ว่าร่างกายกำลังยิ้มอยู่ ลองแลบลิ้นสิ ลองแลบลิ้น ยากไหมที่จะรู้ว่าร่างกายกำลังแลบลิ้น ไม่เห็นยากตรงไหนเลย มันรู้ด้วยความรู้สึกอย่างนี้ เพราะฉะนั้นร่างกายหายใจอยู่ก็รู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนก็รู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่งก็รู้

ฝึกมากๆ ทำมากๆ ไป ต่อไปปัญญามันก็แก่กล้า มันก็จะเห็นไตรลักษณ์ได้ ร่างกายก็แสดงไตรลักษณ์ จิตใจก็แสดงไตรลักษณ์ ตรงนั้นล่ะเราขึ้นวิปัสสนาที่แท้จริงแล้ว ปัญญามีหลายขั้นตอน ปัญญาขั้นต้น แยกรูปแยกนามได้ ยังไม่ถึงวิปัสสนา ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาต้องเห็นไตรลักษณ์ แล้วมันยังมีอีกปัญญาหนึ่ง โลกุตตรปัญญา มันรู้แจ้งอริยสัจ รู้อริยสัจ

 

วิปัสสนาที่แท้จริง

รู้สึกไหมร่างกายนั่งอยู่ หรือว่าจิตแอบไปคิด เห็นไหมร่างกายนั่ง เห็นไหมร่างกายหายใจ รู้สึกไป ลองๆ ลองทดลอง เห็นร่างกายมันนั่ง เห็นร่างกายหายใจ รู้ไปสบายๆ แล้วพอจิตมันหนีไปคิด รู้ว่าจิตหนีไปคิด แล้วจิตที่ตั้งมั่นจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ นี่ล่ะคือขณิกสมาธิแล้ว สมาธิทีละขณะ มันเหมาะกับคนยุคเราที่เป็นโรคสมาธิสั้น ไม่มีสมาธิชนิดไหนสั้นกว่าขณิกสมาธิแล้ว แล้วอย่าดูถูกขณิกสมาธิ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมา ท่านที่บรรลุพระอรหันต์ส่วนมากก็มาด้วยขณิกสมาธิ ก็เจริญสติไป อย่างจิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ ก็เห็นจิตมันเกิดดับได้ เห็นสุขทุกข์เกิดดับได้ เห็นความดีความชั่วในจิตใจเกิดดับได้อะไรอย่างนี้ เห็นร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็หายใจออก หายใจเข้า เดี๋ยวยืน เดิน นั่ง นอนอะไร เห็นอยู่อย่างนี้

จนกระทั่งรู้แจ้งในความจริง ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นสมบัติของโลก ยังมีร่างกายอยู่ ก็มีที่ตั้งของความทุกข์อยู่ แล้วจิตใจนี้ก็เป็นสมบัติของโลกเหมือนกัน ถ้าภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง มันคืนจิตให้โลก มันจะถึงจุดที่คืนจิตให้โลกได้ด้วย ตรงนั้นล่ะจิตปล่อยวางจิต จิตปล่อยวางจิตได้ มันก็คือคืนจิตให้โลกล่ะ แล้วถึงจุดนั้นความรู้สึกนึกคิดมันจะเปลี่ยนหมดเลย

อย่างเราเห็นนั่งกันอยู่เยอะๆ เราไม่ได้ภาวนา เราก็เห็นคนนั่ง มีคนนั่งเยอะแยะ ถ้าเราภาวนาเราก็เห็นรูปธรรมทั้งหลายมันมารวมกันอยู่ตรงนี้ มาตั้งอยู่เป็นกลุ่มๆ ตั้งๆ อยู่ อันนี้ยังเจือการคิด ยังไม่ใช่วิปัสสนาจริง รูปมันนั่ง จิตมันรู้ อันนี้มันยังไม่ขึ้นวิปัสสนา ถ้ามันรู้สึกตัวนี้ไม่ใช่เรา ตัวนี้ก็ไม่ใช่เราๆ มันรู้สึกเอา มันเห็นเอา อย่างนี้ใช้ได้ ก็เริ่มพัฒนาแล้ว

พอภาวนาเต็มที่ แล้วจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลก นับตั้งแต่ตัวเราออกไปจนถึงเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลาย สัตว์โลกทั้งหลาย ดินฟ้าอากาศทั้งหลาย จักรวาลทั้งหลาย เป็นแค่สิ่งที่ปรุงแต่งเกิดขึ้น เรียกว่าสังขารทั้งหมดเลย ขันธ์ 5 เป็นสังขาร เป็นตัวสังขาร เป็นสิ่งที่ปรุงแต่ง เรียกสังขตธรรม โลกทั้งโลกก็เป็นสังขตธรรม จักรวาลทั้งจักรวาลก็เป็นสังขตธรรม คือเป็นธรรมะที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป

เวลาเราภาวนาจนจิตมันวางจิต มันถอดถอนออกจากโลก มันเห็นกระแสของโลกไหลไปเรื่อยๆ เป็นปรากฏการณ์ของรูปธรรมนามธรรม ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรามีเขาหรอก เป็นแค่ปรากฏการณ์ของรูปธรรมนามธรรม ที่ไหลเลื่อนไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด จุดตั้งต้นอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จุดสิ้นสุดอยู่ที่ไหน ก็ไม่รู้ โลกเป็นอย่างนั้น โลกไม่ปรากฏจุดตั้งต้น โลกไม่มีที่สิ้นสุด จักรวาลก็เป็นอย่างนั้น

แต่จิตซึ่งมันพ้นจากโลกแล้ว มันคือจุดที่สิ้นสุดแล้ว จิตดวงนั้นเราจะรู้สึกเลยว่า มันไม่มีที่จะไปต่อแล้ว เพราะมันไม่เกาะเกี่ยวกับโลกอีกต่อไปแล้ว มันพ้นจากโลกเด็ดขาด เมื่อจิตที่มันพ้นจากโลกเด็ดขาด มันก็พ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ตัวที่แก่ ตัวที่เจ็บ ที่ตาย มันเป็นตัวโลก คือร่างกายเราอย่างนี้ มันพ้นจากความเศร้าโศกเสียใจ ตัวที่เศร้าโศกเสียใจมันคือตัวจิต มันก็เป็นสมบัติของโลกซึ่งปล่อยวางได้ไปแล้ว มันวางได้ มันปล่อยวางได้

ถึงจุดหนึ่ง เราจะรู้เลยว่าโลกนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไหลเรื่อยไป ไม่สิ้นสุด แต่ถ้าใจเราวางโลกได้ ใจเราเข้าถึงธรรม หลวงปู่เทสก์ท่านบอก “สิ้นโลกเหลือธรรม” ที่จริงคำว่าสิ้นโลก โลกมันไม่สิ้นหรอก แต่เราสิ้นอาลัยผูกพันรักใคร่กับโลกแล้ว จิตมันหลุดออกจากโลกแล้ว แล้วสิ่งที่เหลืออยู่คือธรรม ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านก็เรียกตัวนี้ว่าธรรมธาตุ มันเป็นธาตุชนิดหนึ่ง แล้วธาตุนี้ อารมณ์ของมันคือพระนิพพาน

เพราะฉะนั้นอย่างถามว่าพระอรหันต์ตายแล้วไปเกิดที่ไหน เป็นอย่างไร อันนั้นเป็นความคิดของคนที่ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ เป็นสัสสตทิฏฐิ ยังมีตัวเราอยู่ ฉะนั้นพระอรหันต์ยังเป็นตัวเราอยู่ ตายไปก็ไปเกิดที่อื่นอีก แต่ความจริงๆ ไม่ใช่เป็นอย่างนั้นหรอก ถ้าเราไปถามพระอรหันต์ว่านิพพานแล้วท่านไปที่ไหน ท่านจะตอบนิดเดียวเอง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วดับไป สิ่งอื่นไม่ต้องพูดแล้ว ถ้าพูดมากกว่านี้ก็คือความปรุงแต่ง ตรงนี้ที่ว่าสิ้นโลกแล้วเหลือธรรมจริงๆ

ธรรมะของพระพุทธเจ้าอัศจรรย์มาก เมื่อก่อนภาวนา หลวงพ่อไม่เข้าใจอะไร เอ๊ะ ภาวนาไปได้ดีอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วมันก็ยังไม่เห็นพ้นความแก่ ความเจ็บ ความตายเลย ครูบาอาจารย์ก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย พระพุทธเจ้าก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย แล้วทำไมบอกว่าพ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็ตีความกันว่า อ๋อ ไม่ต้องไปเกิดอีก ก็เลยไม่ต้องไปแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตายอีก

ที่จริงไม่ใช่ มันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายตั้งแต่ตอนนี้เลย ตอนที่จิตมันหลุดพ้นแล้ว เพราะที่แก่ ที่เจ็บ ที่ตาย เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของขันธ์ เมื่อมันวางขันธ์ได้แล้ว มันก็ไม่มีอะไรต้องพูดต่อไปแล้ว ความพ้นทุกข์มันก็อยู่ตรงนั้น ธรรมนั่นล่ะทรงธรรมอยู่ ธรรมนั้นล่ะทรงพระนิพพานอยู่

 

ถ้าเรามีสัมมาสติ มีสติถูกต้อง มีสมาธิถูกต้อง สัมมาญาณะคือปัญญาที่ถูกต้องก็จะเกิด

 

ค่อยๆ ฝึก ที่หลวงพ่อเทศน์บางทีก็ตื้นบ้างลึกบ้าง ส่วนใหญ่ทุกครั้งที่เทศน์ก็จะเป็นตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะว่าพวกเราที่มาเรียนมันเหมือนนักเรียนหลายชั้นรวมกันอยู่ ฉะนั้นบางทีก็ต้องสอนเบื้องต้น บางทีก็สอนท่ามกลาง เรื่องของสมาธิ บางทีก็สอนระดับเจริญปัญญา สูงขึ้นไปก็เป็นเรื่องของโลกุตตรธรรม นักเรียนหลายชั้นมาอยู่ห้องเดียวกัน ก็ต้องเรียนอย่างนี้ล่ะ ไม่รู้จะสอนอย่างไร

ค่อยๆ ก้าวไป ทุกคนก้าวไปวันละก้าว 2 ก้าว ไม่ต้องรีบวิ่งหรอก ไม่ต้องรีบวิ่งไปนิพพาน ก้าวไปไม่หยุดยั้ง เหนื่อยก็พัก แต่การพักพักอยู่กับสมาธิ พักอยู่กับลมหายใจอยู่กับพุทโธ ไม่ใช่นอนกลิ้งไปกลิ้งมา ไม่ใช่ไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์บอกพักผ่อน อันนั้นทำให้กิเลสแรงขึ้น นักปฏิบัติพักก็คือการทำสมาธิ ทำสมาธิอะไรยุ่งยากไม่เป็น ไหว้พระสวดมนต์ไปก็ได้สมาธิแล้ว ทำอะไรไม่ได้จริงๆ หายใจเข้าไปแล้วก็กลั้นใจไว้ อย่างน้อยก็ได้สมาธิชั่วขณะหนึ่ง ค่อยๆ เก็บแต้มไปเรื่อยๆ

ถ้าสังเกตให้ดีหลวงพ่อจะสอนมากๆ เรื่องสติกับเรื่องสมาธิ สติกับสมาธิเรื่องสำคัญ ในอริยมรรคมีองค์ 8 องค์ที่เจ็ดคือสัมมาสติ องค์ที่แปดคือสัมมาสมาธิ ถ้าเรามีสัมมาสติ มีสติถูกต้อง มีสมาธิถูกต้อง สัมมาญาณะคือปัญญาที่ถูกต้องก็จะเกิด ความหยั่งรู้ที่ถูกต้องจะเกิด สุดท้ายสัมมาวิมุตติ คือมรรคผลก็จะเกิด

เพราะฉะนั้นที่จ้ำจี้จ้ำไชพวกเรามาก มีสติไว้ อย่าเอาแต่หลงลืมตัว ให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ อะไรเกิดขึ้นในจิตใจคอยรู้ สติเป็นตัวรู้ จิตใจตั้งมั่นอยู่ เป็นตัวมีสมาธิ ไม่หลงลืมตัวเอง ให้จิตใจตั้งมั่นอยู่ อะไรเกิดขึ้นในกาย มีสติรู้ อะไรเกิดขึ้นในจิต มีสติรู้ อย่างนี้ปัญญามันจะเกิด

ปัญญาที่เกิดมันจะเริ่มแต่แยกรูปแยกนามได้แล้วเกิดวิปัสสนาปัญญา เห็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม สุดท้ายเกิดโลกุตตรปัญญา รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ เส้นทางเดินที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเดินมา ท่านก็เดินกันอย่างนี้ อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่ออวดอุตริเอามาสอนหรอก ครูบาอาจารย์สอนหลวงพ่อมาอย่างนี้

บางทีบางคนก็บอกหลวงพ่อสอนธรรมะลึกเกินไป ฆราวาสสอนให้ทำทานถือศีลก็พอแล้ว ไม่พอหรอก เพราะฆราวาสที่อินทรีย์แก่กล้าก็มี อินทรีย์ไม่ใช่อ่อนทุกคน ฉะนั้นตอนหลวงพ่อสอนใหม่ๆ หลวงพ่อพุธท่านสั่งให้หลวงพ่อออกสอน หลวงพ่อก็สอนตามที่ครูบาอาจารย์สอนหลวงพ่อมา ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านก็ห่วง สอนอะไรละเอียดอย่างนี้ น่ากลัว เดี๋ยวคนมันว่าอวดอุตริ ไม่ได้อวด เราสอนกรรมฐาน ไม่ได้หวังลาภสักการะอะไร ครูบาอาจารย์สอนมาอย่างนี้ ก็สอนต่อให้ จะหวงเอาไว้ทำอะไร เพราะคนซึ่งมีปัญญามันมีอยู่

ถ้าฆราวาสเรียนได้ทำทานถือศีล ครูบาอาจารย์ไม่สอนหลวงพ่อเรื่องสมาธิกับปัญญาขนาดนี้หรอก นี่ท่านสอนถึงขนาด ครั้งสุดท้ายที่เจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนเลยว่า “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” ท่านสอนถึงขนาดนี้ ท่านไม่ได้มากั๊กเอาไว้หรอก อันนี้สำหรับคนซึ่งพร้อมแล้ว ถ้ายังไม่พร้อมท่านก็ไม่สอน สอนแล้วไม่มีประโยชน์ก็ไม่สอน

พวกเรามาเรียนกันเยอะ บางคนอินทรีย์แก่กล้า ถ้าหลวงพ่อสอนแต่ทำทานถือศีล ธรรมะมันก็จืดสำหรับพวกเรา บางคนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติอยู่ สมาธิผิด หลวงพ่อก็สอนเรื่องสมาธิเยอะหน่อย ก็สอนตามคนฟังนั่นล่ะ แล้วบางส่วนสมาธิดีแล้ว หลวงพ่อก็สอนเรื่องเจริญปัญญาให้ ก็ตามชั้นตามภูมิ หวังว่าทุกคนจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย

อย่างน้อยมานั่งฟังเกือบชั่วโมงหนึ่ง เราก็ได้ประโยชน์อย่างหนึ่ง เราไม่พูดมาก เราไม่มีโทษทางวาจา เราไม่ผิดศีลข้อ 4 ตอนนี้ รู้สึกไหม เราไม่ได้ตบได้ตีกับใคร ไม่ได้ตียุง ตีแมลงวัน เรามีศีลข้อ 1 ไหม ขณะนี้ขโมยอะไรของใครหรือเปล่า ไม่ได้ขโมย ปลิ้นปล้อนหลอกลวงใครหรือเปล่า ไม่ได้ทำ กินเหล้าไหม ไม่ได้กิน มานั่งฟังหลวงพ่อ ขั้นต่ำสุดตอนนี้ได้ศีลแล้ว แค่รักษาให้สืบเนื่องกันไปเท่านั้นเอง

แล้วที่เมื่อกี้ทดสอบให้ฟัง พวกเรานั่งฟังหลวงพ่อ พวกเราเกิดสมาธิ ศีลเราก็ได้ สมาธิเราก็มี หลวงพ่อเขยิบไปให้เราเจริญปัญญา ให้ดูสิ ร่างกายมันถูกรู้ ส่วนหนึ่งทำได้ ส่วนหนึ่งทำไม่ได้ คนที่ทำได้แล้ว ก็ไปทำให้มาก คนที่ยังไม่ทำ ทำไม่ได้ก็ฝึกต่อไป สอนครบเลย ให้มีสติรักษาจิตไว้ แล้วเราก็มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา วันหนึ่งก็ถึงวิมุตติ ความหลุดพ้น อย่างน้อยก็อนุโมทนาพวกเราได้แล้วว่า 1 ชั่วโมงนี้เราไม่ผิดศีล เรานั่งฟังธรรมด้วยจิตใจที่สงบ เราได้สมาธิ

 

 

ขอให้พวกเรารักษาความดีที่เรามีแล้วและก็ละความไม่ดีที่เรามีอยู่ ความดีที่เรามีแล้ววันนี้ที่หลวงพ่อยกตัวอย่างให้ดู เรามีศีลแล้ว เรามีมาตั้งชั่วโมงหนึ่งแล้ว เรารักษาต่อไปสิให้ได้ 2 ชั่วโมง 3 ชั่วโมง ค่อยๆ รักษาไป วิธีจะรักษาศีลให้ดีก็มีสติรักษาจิตตัวเองไว้นั่นล่ะ จิตใจเราสุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ ดีก็รู้ ชั่วก็รู้ ศีลจะมาเอง แล้วสมาธิก็จะมาเอง มาง่ายๆ เลย สมาธิ

อย่างถ้าจิตใจเราโลภ อยากจิตสงบอย่างนี้ นี่ใจมันโลภแล้ว สติรู้ทันว่าใจมันโลภ ความโลภดับ ใจเป็นกลาง เราก็ทำสมาธิด้วยใจเป็นกลางไป เดี๋ยวก็สงบ แล้วใจเราฟุ้งซ่าน ไหลไปไหลมา เรามีสติรู้ ใจมันก็ตั้งมั่น อย่างมันไหลไปคิด เรารู้ว่ามันไหลไปคิด ใจมันก็ตั้งมั่น

ค่อยๆ ฝึกอย่างนี้ แล้วต่อไปสมาธิมันแก่กล้าขึ้น ใจเราจะเด่นขึ้นมา หลวงพ่อไม่อยากใช้คำว่าเด่นดวง เดี๋ยวเราจะไปวาดภาพว่ามันเป็นดวงๆ สว่างๆ ไม่ใช่ มันเป็นความรู้สึกที่มันเฟิร์ม มันมั่นคงขึ้นในตัวเอง จะรู้สึกอย่างนั้น

แล้วคราวนี้เราก็ต้องเดินปัญญาต่อ แยกกายแยกใจ แยกความรู้สึกนึกคิดต่างๆ กับจิตออกจากกัน แยกร่างกายกับจิต แยกสุขทุกข์ออกจากจิต แยกดีชั่วออกจากจิต แล้วก็เห็นจิตเองก็เกิดดับ จิตเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวก็ดูรูป เดี๋ยวก็ฟังเสียง เดี๋ยวดมกลิ่น เดี๋ยวลิ้มรส เดี๋ยวรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวคิดนึกทางใจ รู้รวดไปเลย

รู้ไปช่วงหนึ่ง เหนื่อยแล้ว กลับมาทำสมาธิใหม่ ทำสลับกันไป อย่าเดินปัญญารวดเดียว ถ้าเดินปัญญารวดเดียวไปไม่รอด กำลังไม่พอ ยิ่งพวกเราไม่ได้ทรงฌานมาก่อน กำลังสมาธิเราสั้น เพราะฉะนั้นเราดูเป็นขณะไป ขณะนี้จิตใจเรามีกำลัง เราก็ดู เดินปัญญา ขณะนี้หมดแรง กลับมาไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิไป ความดี เราเริ่มต้นมาแล้ววันนี้ ขอให้งอกงามต่อไป ให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ รักษาศีลสะดวกง่ายขึ้น ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น ให้เห็นความจริงของโลก ของชีวิตมากขึ้น ค่อยๆ ทำ

ตอนนี้อยากชวนพวกเราส่งความปรารถนาดีไปให้องค์ภาท่านหน่อย อันนี้ก็เป็นบุญอย่างหนึ่งของเรา เป็นบุญจากการแผ่เมตตาแผ่อะไรไป สักนาทีเดียวก็พอแล้ว ขอให้จิตเราปรารถนาดีจริงๆ นี่ก็เป็นวิธีฝึกสมาธิอีกแบบหนึ่ง

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
15 มกราคม 2566