อุบายฝึกจิตให้สงบ

งานของพวกเราชาวพุทธ ทำทาน ถือศีล ภาวนา ทำไปเพื่อลดละกิเลส เพื่อความดับสนิทของทุกข์ เราจะทำอะไร จะทำเพื่ออะไร ต้องชัดเจน วัตถุประสงค์ของเราเพื่อลดละกิเลส เราจะได้พ้นทุกข์ ฉะนั้นวัตถุประสงค์ใหญ่จริงๆ คือปฏิบัติไปเพื่อให้พ้นทุกข์ จะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องลดละกิเลส จะลดละกิเลสก็มีเครื่องมือ มีทาน มีศีล มีภาวนา เรื่องทานมีโอกาสทำก็ทำ แต่ศีลนั้นมีโอกาสอยู่แล้ว ก็ต้องตั้งใจรักษาไว้

ส่วนงานภาวนา ฟังแล้วดูลึกลับ ที่จริงคือการฝึกจิตตัวเอง งานภาวนาคืองานฝึกจิตตัวเอง ไม่ใช่เรื่องอื่นหรอก การจะฝึกจิตตัวเองหรือการภาวนามี 2 แบบ สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา ก็เป็นการฝึกจิตทั้งคู่ แต่สมถะนั้นฝึกให้จิตมันสงบ วิปัสสนานั้นฝึกให้จิตมันมีปัญญา ให้ได้สมาธิ ให้ได้ปัญญานั่นเอง ก็เป็นเรื่องของการฝึกจิตทั้งสิ้น ถ้าเราละเลยไม่สนใจจิตตนเอง ก็เรียกว่าเราลูบๆ คลำๆ จะทำสมถะก็ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร เห็นเขาทำก็ทำตามเขาไป เจริญวิปัสสนา เห็นเขาทำวิปัสสนาก็ทำตามๆ กันไป ไม่รู้วัตถุประสงค์ ไม่รู้เป้าหมาย

วัตถุประสงค์ของการทำสมถะ คือการฝึกจิตให้สงบ ส่วนวิปัสสนานั้นเป็นการฝึกจิตให้มีปัญญา ให้รู้ถูก ให้เข้าใจถูก ตัวที่จะทำให้เราพ้นทุกข์คือความรู้ถูก ความเข้าใจถูก คือตัวสัมมาทิฏฐินั่นเอง ที่ฝึกกันแทบเป็นแทบตาย สุดท้ายก็ได้สัมมาทิฏฐิ ไม่มีอย่างอื่นหรอก ไม่ได้ฝึกเอาสวรรค์วิมานอะไร สวรรค์ไม่เที่ยง เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ พูดถึงตรงนี้เราก็คงเข้าใจแล้ว ว่าการภาวนาทั้ง 2 อย่างนั้น ทิ้งจิตไม่ได้ เพราะมันคืองานเกี่ยวกับจิตล้วนๆ เลย

 

สมถภาวนา เป็นอุบายฝึกจิตให้สงบมีสมาธิ

การทำสมถกรรมฐาน หรือสมถภาวนา เป็นอุบายฝึกจิตให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้มีเรี่ยวมีแรง เพื่อให้พร้อมสำหรับการเจริญปัญญา การฝึกจิตให้สงบมีสมาธินั้น ถ้าเรารู้ว่ามันคือการฝึกจิต มันจะไม่ยาก วิธีที่จะฝึกมันอยู่ในเรื่องของกรรมฐาน 40 ข้อ อย่างเรื่องอนุสติ 10 เรื่องกสิณ 10 เรื่องอสุภะอะไรพวกนี้ ที่จริงแล้ว 40 อย่างนั้น เป็นแค่การประมวล ประมวลเข้ามาเท่านั้นเอง ในความเป็นจริงแล้ว การทำสมถกรรมฐานมีอารมณ์กรรมฐานนับไม่ถ้วน แต่ในตำรับตำราพยายามย่อๆ Group มัน Grouping เหลือ 40 ข้อ

อย่างสมัยพุทธกาลนั้นมีพระบางองค์ เป็นลูกศิษย์พระสารีบุตร อาชีพก่อนบวชเป็นช่างทอง พระสารีบุตรเห็นว่าเป็นคนหนุ่ม เป็นช่างทอง น่าจะมีราคจริต ท่านก็สอนพระองค์นี้ให้พิจารณาปฏิกูลอสุภะ ทำอสุภกรรมฐาน อันนี้ก็ว่ากันตามสูตรเลย จิตมีราคะมากก็พิจารณาปฏิกูลอสุภะไป จิตมีโทสะมากก็เจริญเมตตาไป จิตมีโมหะก็พิจารณาธรรมะไป หรือทำอานาปานสติไป พระสารีบุตรท่านก็ให้ลูกศิษย์ท่าน พิจารณาร่างกายนั้นเป็นปฏิกูลอสุภะ

พระองค์นี้พิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะ มันขยะแขยงอย่างแรงเลย เห็นแล้วจิตไม่มีความสุข ถ้าจิตไม่มีความสุข จิตก็ไม่มีความสงบ เพราะความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ อย่างเวลาเราชอบเล่นไพ่ สมมติชอบเล่นไพ่ มีความสุขที่เล่นไพ่ เล่นได้โต้รุ่งเลย จะให้ภาวนา 5 นาที 10 นาที จะเป็นจะตาย เพราะมันไม่มีความสุข องค์นี้ทำไม่ไหว ทำไม่ไหวอยากจะสึก พอดีเจอพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็ให้ดอกบัว มีดอกบัวแดง ถ้าเราเคยไปอินเดีย เราจะเห็นเขามีดอกบัว เหมือนบัวสายเรา แต่บัวสายเรา ถ้าสายๆ แล้วหุบหมด ของเขามันบานอยู่ได้นาน ดอกโตกว่าของเราหน่อยหนึ่ง แต่สวย

พระพุทธเจ้าเอาดอกบัวนี้ให้พระองค์นี้ ตำราบอกว่า ถ้ามีราคจริตให้พิจารณาปฏิกูลอสุภะ พระพุทธเจ้ากลับให้ท่านดูของสวย มันลีลาชั้นเชิง มันเยอะ มันไม่ใช่มีแค่กรรมฐาน 40 นั่งดูดอกบัว ไม่เห็นอยู่ในกรรมฐาน 40 เลย นี้องค์นี้ได้ดอกบัวสวยไป พระพุทธเจ้าก็บอกให้เอาไปปักไว้ข้างกุฏิ แล้วก็ไปนั่งดูให้สบายใจ ท่านก็นั่งดูด้วยความสุข ขณะที่มีความสุข จิตมันก็เริ่มสงบ แล้วต่อมาพอมันสายขึ้นแดดส่องลงมา ดอกบัวเริ่มเหี่ยว ท่านเห็นความไม่เที่ยง ท่านก็เข้าใจธรรมะขึ้นมา เห็นไหมว่ามันมีกรรมฐาน มันลีลามันเยอะ ลวดลายมันเยอะ มันไม่ได้มีแค่ตามตำราหรอก

หรืออย่างพระจูฬปันถกะ พี่ชายแต่งบทสรรเสริญพระพุทธคุณให้ ท่านท่องจำไม่ได้ ก็อยากสึก พี่ชายไล่ให้สึก ท่านไม่อยากสึก ท่านร้องไห้เลย ก็จะไปออกนอกวัด ไปเจอพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถามว่า “จะไปไหนแต่เช้าเลย” บอก “พี่ชายไล่ให้สึกแล้ว” เพราะว่าทำกรรมฐานไม่สำเร็จ พระพุทธเจ้าท่านก็ยื่นผ้าขาวให้ ผ้าเช็ดหน้าสีขาว สะอาด ยื่นให้บอก “ไม่ต้องทำอะไรมากหรอก ไม่ต้องไปสวดอะไรหรอก นั่งขยี้ผ้าขาว ลูบไปเรื่อยๆ ลูบผ้าขาว” บริกรรมง่ายๆ “ผ้าเช็ดฝุ่น ย่อมเช็ดฝุ่น ผ้าเช็ดฝุ่น ย่อมเช็ดฝุ่น” บริกรรมอย่างนี้ “ระโชหะระณัง ระชังหะระติ” แค่นั้น

ท่านก็ไปนั่งขยี้ผ้าไปเรื่อยๆ วันนั้นมีเศรษฐีนิมนต์พระทั้งวัดไปฉันข้าว พระก็ไปหมดวัดเลย เหลือองค์นี้อยู่องค์เดียว พระพี่ชายไม่ให้ไปบอกว่าให้สึกแล้ว ไม่นับ ไม่ให้ไปนิมนต์ อยู่วัดก็นั่งอยู่องค์เดียว นั่ง “ระโชหะระณัง ระชังหะระติ” ไปเรื่อย ลูบๆๆ ไป สักพักใหญ่ ดูลงไปที่ผ้า ผ้ามันสกปรกแล้ว เปื้อนมือ เปื้อนขี้มือ เห็นความเป็นอสุภะของร่างกาย แต่ไม่ได้พิจารณาโดยตรงที่ตัวร่างกาย กลับไปดูผ้าที่ร่างกายสัมผัส อย่างพวกเราก็ทำได้ เสื้อผ้าเราตอนเช้าเราใส่มาหอมๆ เย็นๆ กลับบ้าน เหม็นแล้ว นี้ของเราบุญบารมีไม่เท่าพระจูฬปันถกะ เหม็นแล้วเราก็ไปซัก เดี๋ยวหอมใหม่

พระจูฬปันถกะขยี้ไปเรื่อยๆ เห็นเลยร่างกายนี้สกปรกโสโครก ผ้าสะอาด ร่างกายไปสัมผัสเข้า ผ้าก็สกปรก จิตท่านก็รวม ได้สมาธิ พระพุทธเจ้าท่านรู้แล้วว่า จิตของพระจูฬปันถกะมีสมาธิแล้ว มันสลดสังเวช มันรวมเข้ามา ท่านก็แสดงธรรมให้ฟัง แต่แสดงทางไกล เหมือนที่หลวงพ่อเทศน์ตอนนี้ แสดงทางไกล อยู่อเมริกา ก็ฟังได้ แต่หลวงพ่อต้องใช้เทคโนโลยีช่วย พระพุทธเจ้าท่านใช้พลังจิตของท่านถ่ายทอดออกไป ตอนเด็กๆ ก็นึกเป็นไปได้หรือ มาเจอครูบาอาจารย์ มาเข้าฝึกกรรมฐาน เจอครูบาอาจารย์ชั้นดี ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ครูบาอาจารย์รุ่นหลังๆ ที่หลวงพ่อไปเรียนด้วย บางองค์ท่านก็ทำได้

อย่างหลวงปู่เทสก์ คนไปภาวนาที่วัดกลางค่ำกลางคืน ขี้เกียจลงไปนอน ตั้งใจจะนั่งสมาธิโต้รุ่งแล้วลงไปนอน เห็นท่านมายืนถือไม้เท้า มายืนอยู่หน้าประตูห้องเลย ตกใจเลย อย่างนี้ถ่ายทอดกันได้ บางทีครูบาอาจารย์ก็ไปสอนอะไรต่ออะไร อาจารย์ทองอินทร์ ยังเป็นพระหนุ่มอยู่ ออกไปธุดงค์แล้วใจมีราคะขึ้นมา คิดถึง เห็นผู้หญิงสวยๆ ใจมันเกิดราคะ นั่งสมาธิกลางคืน คิดถึงแต่ผู้หญิง ท่านบอกผีมันหลอกท่าน จะเอาตายเลย โทษฐานเป็นพระไม่ดี แทนที่จะคิดพุทโธ ก็มาคิดถึงผู้หญิง บอกช่วงวิกฤติก็เห็นหลวงปู่สิม ท่านลอยมา ผีมันก็หนีไป ท่านก็รีบกลับไปหาหลวงปู่สิม พอเจอหน้าโดนจวกเลย บอก “ออกภาวนา ไปคิดถึงผู้หญิงอย่างนั้น ไม่ได้ ทีหลังจำไว้ ให้คิดถึงพุทโธไว้” พระพุทธเจ้าท่านก็สอนพระจูฬปันถกะทางไกล บรรลุพระอรหันต์

 

คีย์เวิร์ดของสมถกรรมฐาน

เราจะเห็นว่าการทำสมถกรรมฐานนั้น มีอุบายวิธีมากมาย ไม่ใช่แค่กรรมฐาน 40 ข้อหรอก ลูกเล่นมีเยอะแยะไป อย่างบางคนชอบพระจันทร์ นั่งดูพระจันทร์ ถ้าแหงนหน้าดูแล้วมันเมื่อย เมื่อยคอ มาดูในแอ่งน้ำเห็นพระจันทร์ จิตใจมีความสุข จิตก็สงบรวมเลย อย่างนี้ก็มี บางคนชอบระลอกคลื่น ระลอกเล็กๆ รู้จักระลอกน้ำไหม มันไม่ใช่คลื่น มันเล็กๆ มันพลิ้วๆๆ ลมมันพัดพลิ้วๆ เห็นระลอกคลื่น จิตรวม ไม่ได้พุทโธ ไม่ได้หายใจอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการทำสมถกรรมฐาน จะฝึกจิตให้สงบ มันเป็นอุบาย เป็นอุบายที่จะฝึกจิตให้สงบ วิธีการนั้นมากมายมหาศาล ตามตำราเขา Grouping ไว้ เหลือ 40 ข้อ ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด

หลวงพ่อก็ทำไปเรื่อยๆ ตอนฝึก ฝึกไปหลายๆ อย่าง ฝึกอย่างนั้นก็สงบ อย่างนี้ก็สงบ ฝึกๆ ในที่สุดจับหลักได้ สมถกรรมฐานเป็นอุบายฝึกจิตให้สงบ จิตจะสงบได้ต้องน้อมจิต ไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้ ธรรมะที่มากมายมหาศาล ในภาคของสมถะ หลวงพ่อรวบลงมาเหลือแค่นี้เอง “น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง” มันเป็นการน้อมจิตไป อย่างถ้าเรามีความสุขกับการหายใจ ทำอานาปานสติแล้วมีความสุข เราก็หายใจให้จิตจดจ่ออยู่กับการหายใจ แป๊บเดียวก็สงบแล้ว

หรือบางคนชำนาญในแสงสว่าง หลับตาลงก็กำหนดจิต มันก็สว่างขึ้นมาแล้ว มีความสุขอยู่กับแสงสว่าง ก็น้อมจิตไปอยู่กับแสงสว่างอย่างต่อเนื่อง แค่น้อมๆ ไป ไม่ได้บังคับ ถ้าบังคับไม่รอดหรอก อย่างเราจะหายใจจิตมันจะหนี เราบังคับมัน ต้องอยู่กับลมๆ อยู่ด้วยความไม่มีความสุข อยู่อย่างไม่มีความสุข ทำอย่างไรจิตก็ไม่สงบ เคล็ดลับมันอยู่ที่ว่า “ต้องมีความสุข” ใช้จิตใจธรรมดาๆ จิตใจสบายๆ ไปรู้อารมณ์ที่รู้แล้วสบาย แล้วก็รู้ไปแบบสบายๆ มี 3 สบาย ใช้จิตใจธรรมดา จิตใจสบายๆ นี้ ไปรู้อารมณ์ที่รู้แล้วสบาย แล้วก็รู้ไปอย่างสบายๆ ไม่ได้รู้แล้วก็พยายามบังคับจิตให้สงบ ถ้าเราทำ 3 สบายนี้ได้ สงบทันทีเลย ทำเมื่อไรก็ทำได้ ไม่ยากอะไรหรอก ให้มันได้เคล็ดลับตรงนี้ไป

ฉะนั้นกรรมฐาน สมถะจะมี 40 วิธีหรือ 400 วิธี หรือ 4,000 วิธี หลักมันก็อันเดียวกัน น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง จิตอันนั้นต้องเป็นจิตที่สบายๆ จิตที่เป็นธรรมดา ไม่เคร่งเครียด แล้วก็ไม่เลื่อนลอย ไม่เผลอ ไม่เพ่ง นั่นล่ะจิตธรรมดา แล้วก็ไปรู้อารมณ์ที่รู้แล้วสบายใจ อย่างหลวงพ่อตอนเด็กๆ หลวงพ่อก็ชอบดูพระจันทร์ ชอบดูดาว ชอบดูระลอกน้ำ กลางวันก็ดูระลอกน้ำ กลางคืนดูพระจันทร์ บ้านอยู่ริมคลองมันก็ดูได้ง่าย คลองโอ่งอ่าง ในกรุงเทพฯ แท้ๆ เลย นั่งอยู่ริมน้ำนั่งดูสบาย ใจก็สงบ บางทีฟังเสียงนกเสียงกา อยู่ในวัดนกเยอะแยะเลย นกสารพัดชนิดเลย สงบ สบาย จิตใจมันก็สงบ มันไม่ใช่เรื่องยาก

พวกเราทำสมาธิแล้วมันไม่ค่อยยอมสงบ เพราะอะไร ไม่ได้เคล็ดลับ เอะอะก็จะบังคับจิตให้สงบ นั่งหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วก็โมโหเมื่อไรมันจะสงบเสียที ไม่สงบหรอก ดูกรรมฐานที่เหมาะกับตัวเอง รู้อารมณ์อะไรแล้วมีความสุข ก็รู้อย่างนั้น ไม่ต้องเลียนแบบคนอื่น อย่างหลวงพ่อทำมาหลายแบบ แบบเบสิกที่สุดเลย คือหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำแล้วก็สงบ กำหนดความว่างก็สงบ กำหนดอะไรมันก็สงบหมด ขอให้มันทำให้ได้อันหนึ่งก่อน พอมันได้หลักแล้ว มันก็ง่ายไปหมด ไม่ยากหรอก

ส่วนใหญ่ที่ทำ มันทำไม่ได้ เพราะมันเคร่งเครียดไป หรือใช้กรรมฐานที่ไม่เหมาะกับตัวเอง อย่างได้ยินว่าหลวงพ่อใช้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ก็พยายามทำบ้าง ทำแล้วมันไม่ชอบ มันรำคาญ มันก็ไม่สงบ อย่างคราวหนึ่งหลวงพ่อภาวนาผิด จิตหลวงพ่อไปสว่างว่างอยู่ข้างนอก อยู่อย่างนั้นได้เป็นปีเลย มันสว่างอยู่ มีแต่ความสุข แล้วสังเกต ทำไมจิตดวงนี้เที่ยง พระพุทธเจ้าว่าจิตไม่เที่ยง ตรงนี้เที่ยง สว่างคงที่อยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าว่ามันเป็นทุกข์ ทำไมมันสุข พระพุทธเจ้าว่าบังคับไม่ได้ ทำไมเราบังคับได้ ต้องมีอะไรผิด แต่ดูไม่ออกว่ามันผิดตรงไหน

ตอนนั้นก็ดูจิตนั่นล่ะ ก็เห็นโทสะมันผุดขึ้นมาจากกลางอก ก็ดู มันก็เลื่อนออกไป ไปอยู่ข้างนอก โทสะมันดับ จิตก็ว่างอยู่ข้างนอก มองไม่ออก พอดีเจอหลวงตามหาบัว สมัยที่พบท่าน คนยังไม่ได้ไปยุ่งกับท่านมาก เวลาท่านจะฉันข้าว เราเข้าไปถึงตัวท่านได้เลย ไปถึงท่านกำลังควบคุมพระ จัดอาสนะฉันข้าวอยู่ เสียงดัง เข้าไปถึงก็ไปกราบท่าน ท่านหันมามอง บอก “ขอโอกาสครับ” บอก “เดี๋ยวๆ เดี่ยวก่อนเรายังไม่ว่าง” ท่านก็หันไปจัดการพระก่อนให้เรียบร้อย เสร็จแล้วหันมาถามหลวงพ่อ “ว่าอย่างไร มีอะไร” บอก “พ่อแม่ครูอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิต แต่ผมสงสัย ผมสังเกตมันไม่เจริญขึ้น มันมีอะไรผิดพลาด” ท่านฟันฉับเลยว่า “ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรา ตรงนี้สำคัญ เราปฏิบัติมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้”

หลวงพ่อก็กราบท่าน ท่านบอกให้บริกรรม ก็ถอยออกมานั่งพิงลูกกรงในศาลาข้างบนชั้น 2 นั่งพิง ก็ห่างท่านไม่กี่เมตร 2 เมตร พิง แล้วก็พุทโธๆๆ ท่านให้บริกรรม อุ๊ย พุทโธแล้วรำคาญ พุทโธแล้วเหมือนอกจะแตก รำคาญ ก็เลยพิจารณา เอ๊ะ ทำไมท่านจะให้พุทโธ ปกติพุทโธก็คือการทำสมถะ ท่านถนัดอย่างนั้น ท่านก็สอนอย่างที่ท่านถนัด หลวงพ่อก็นึกได้ โอ้ แสดงว่าเราขาดสมถะ เราทิ้งการทำสมาธิ เอะอะก็เจริญปัญญารวดไปเลย ทิ้งสมาธิ ครูบาอาจารย์ให้พุทโธ หลวงพ่อก็ไม่ได้พุทโธ หลวงพ่อก็ทำสมาธิที่ตัวเองถนัด หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจอยู่ไม่นาน จิตรวม รวมลงมา พอถอนออกมา โอ๊ย แทบเขกหัวตัวเองเลย โง่จริงๆ จิตส่งออกนอกไปสว่างว่างอยู่ข้างนอก

ที่หลวงพ่อสอนพวกเราเรื่อยๆ ว่าจิตไม่ถึงฐาน คือจิตมันไปว่างอยู่ข้างนอก ไปสว่างอยู่ข้างนอก มันไม่เข้าที่ พอท่านฉันแล้วหันมามอง แล้วท่านก็ยิ้ม ไม่พูดอะไรแล้ว ก็โอเคแล้วเราแก้ตกแล้ว เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานจะให้จิตสงบ ต้องไปเลือกอารมณ์ที่เราถนัด อารมณ์ที่เราทำแล้วมีความสุข ไม่ต้องเลียนแบบคนอื่น ทางใครทางมัน พอฝึกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ จิตจะค่อยๆ มีกำลัง จิตใจจะมีกำลังขึ้นมา พอจิตมีกำลัง สังเกตให้ดี สังเกตอะไรอีก สังเกตจิต เวลาเราหัดทำใหม่ๆ จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน

พอเราทำกรรมฐานไปเรื่อยๆ ไม่บังคับจิต รู้ไปสบายๆ จิตสงบรู้ว่าสงบ คอยรู้ทันจิตไว้ บอกแล้วว่าทิ้งจิตไม่ได้ เพราะสมถะเป็นอุบายฝึกจิตให้สงบ ฉะนั้นเราต้องคอยรู้ทันจิตไว้ ไม่อย่างนั้นไปรู้หรือว่าจิตสงบ หรือจิตไม่สงบ เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานไป แล้วรู้ทันจิตตัวเองไป กรรมฐานอะไรก็ได้ สมถกรรมฐานไม่เลือกอารมณ์ เอาที่เราชอบ อารมณ์ทั้งหมดมี 4 ชนิด หนึ่งอารมณ์นิพพาน ปุถุชนไม่มี อารมณ์รูปธรรมอย่างการหายใจ การเดินจงกรมอะไรอย่างนี้ เป็นรูปธรรม อารมณ์ที่เป็นนามธรรม แล้วก็อารมณ์บัญญัติ อารมณ์บัญญัติคือ เช่นเราบริกรรมพุทโธๆ คิดพิจารณาปฏิกูลอสุภะ คิดอะไรอย่างนี้ อันนี้เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ คือเรื่องที่คิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเรื่องที่คิดขึ้น แต่ว่าอันไหนก็ได้ ใช้ทำสมถะได้ทั้งหมด

ฉะนั้นอารมณ์ทั้ง 4 ประเภท ใช้ทำสมถะได้ทั้งหมด เราอยากทำตัวไหน ถนัดตัวไหน ก็ทำตัวนั้น แต่แนะนำอย่าเล่นกสิณ เพราะอะไร ส่วนใหญ่ของคนเล่นกสิณ จิตมันออกนอก มันไปสว่างว่างอยู่ข้างนอก หลวงพ่อตอนหัดกับท่านพ่อลีใหม่ๆ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วไปดูลมหายใจ ลมมันมาหยุดตรงนี้แล้วกลายเป็นแสงขึ้นมา ตรงที่เราเห็นลมหายใจคือกสิณลม ตรงที่เห็นลมมันไหลเข้าไปในรูจมูก เห็นรูจมูกคือกสิณช่องว่าง เรียกอากาศกสิณ ตรงที่มันเป็นแสงสว่างขึ้นมา ก็เห็นเป็นกสิณแสง นี่เรื่องกสิณทั้งนั้นเลย

 

นิมิตหรือจิตหลอน

แล้วกสิณนี้ล่ะพาหลงออกข้างนอก ไปเห็นผี เห็นเทวดา เห็นอะไรต่ออะไร ดีว่าหลวงพ่อเป็นคนกลัวผีตั้งแต่เด็กๆ เราไปเห็นเทวดา เราไม่กลัว เกิดนึกถึงว่า เอ๊ะ ถ้าออกไปเจอผีจะทำอย่างไร กลัว ตั้งแต่นั้นพยายามไม่ให้จิตออกข้างนอก พอจิตสว่างแล้วก็รู้สึกตัว ไม่ทิ้งความรู้สึกตัว จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ สุดท้ายจิตมันรวมลงไป มันก็เห็นร่างกายกับจิตมันคนละอันกัน ปีติ สุข กับจิตก็คนละอันกัน แยกๆๆๆ แยกได้ ฉะนั้นไม่แนะนำ ถ้าทำเอง ถ้าดูกสิณเดี๋ยวเพี้ยน เห็นโน่นเห็นนี่ บางทีหูแว่ว กสิณบางทีกสิณลม มันทำเอาหูแว่วก็ได้ กสิณแสงนี้ก็ทำให้ประสาทหลอน เห็นมานั่งๆ อยู่นี่ ไม่รู้ว่าคนจริงหรือว่าไม่ใช่คน นั่งอยู่ด้วยกัน แยกไม่ออก

ฉะนั้นเวลาทำสมถะต้องระมัดระวัง มีสติกำกับจิตใจเอาไว้ อย่าทิ้งจิต ไม่อย่างนั้นจิตหลอน นั่งแล้วแทนที่จะสงบกลับฟุ้งซ่าน ออกรู้โน่น ออกรู้นี่ ไม่มีสาระแก่นสาร มันออกรู้ได้ไหม ออกรู้ได้ หลวงปู่ดูลย์บอกว่า “รู้มันรู้ได้ แต่สิ่งที่ถูกรู้ ไม่แน่หรอก อาจจะจริงหรือปลอมก็ได้ อย่าเชื่อ” ถ้าเราปักใจเชื่อ อย่างเรานั่งสมาธิแล้วเกิดนิมิตเห็นอะไรขึ้นมา เราเชื่อเลยว่าใช่แน่นอน เกิดเราเคยเป็นพระเจ้าแผ่นดินโน้นนี้ จิตมันหลอนเอา ยิ่งถ้าพื้นฐานเรา ใจมันอยากใหญ่ มันจะระลึก ระลึกชาติไปหมดเลย มันก็เพี้ยนๆๆ ออกไปเรื่อย หรือบางทีก็ได้ยินเสียง หูแว่ว หูแว่วบางทีมันมี 2 อย่าง ถ้าจิตมีสมาธิแล้วมันได้ยิน อันนี้เป็นธรรมดา มันได้ยินจริงๆ อีกอันหนึ่งจะเป็นโรคจิตแล้ว หูแว่ว หมอได้ยินว่าหูแว่ว จิตแพทย์จะต้องจัดการทันทีเลย

เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้อย่าไปเล่นกับมันมาก เล่นแล้วเสียหาย ภาวนามันจะไปต่อไม่ได้ มัวแต่หมกมุ่นกับเรื่องนิมิตทั้งหลาย สมถะ ศัตรูร้ายของมันคือนิมิต สมถกรรมฐานนี้ เราทำจิตให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างนี้ แล้วพอสติอ่อนไป นิมิตมันจะเกิด สติไม่ทัน ควบคุมจิตไม่ได้ นิมิตมันจะเกิด มันหลอน เป็นนิมิตจริงก็มี นิมิตไม่จริงก็มี นิมิตที่เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสัมผัส หรือเป็นเรื่องราวทางใจ นิมิตมีตั้ง 6 แบบเลย 6 ช่องทาง 6 อายตนะเลย นิมิตสารพัดเลย

ตอนหลวงพ่อบวชอยู่วัดชลประทานฯ เป็นพระเด็กที่ขยัน ตอนนั้นยังเรียนอยู่ รู้สึกจะเรียนปริญญาโทปีแรก ยังไม่ได้ทำงาน ว่าง ยังไม่ได้สมัครงาน เรียนจบปริญญาตรีแล้วต่อโทเลย เขาให้เรียนไม่ต้องสอบ เพราะคะแนนเยอะ แล้วก็มันมีเวลาก็ไปบวชวัดชลประทานฯ นั่งสมาธิ เดินจงกรมอะไร ทำของเรา นั่งจนเมื่อยไปหมดเลย เมื่อยๆๆ ก็เลยนั่งเหยียดขาออกไป ถอยไปพิงฝากุฏิ เหยียดขาออกไป รู้สึกเมื่อยมากเลย ก็มีนิมิต นิมิตเห็นคนเดินเข้ามาหา มาไหว้ เขาก็นวดให้ พอเขากดลงไปเรารู้สึก โอ้ ลืมตาดูเห็นขาบุ๋มลงไปเป็นรอยนิ้วเลย มันยุบต่อหน้าต่อตาเลย นิมิตมันเป็นได้สารพัดเลย กดไว้ราวๆ 40 วินาที พอปล่อยปุ๊บ ที่เป็นเหน็บชาหายทันทีเลย วันหลังเรานั่งสมาธิเมื่อย เราก็นึกอีกเมื่อไรจะมา โลภแล้วเห็นไหม ไม่มาเลย นิมิตไม่มี

นิมิตมี 2 อย่าง นิมิตจริงกับนิมิตที่จิตหลอน ถ้าสมาธิเราไม่เต็ม มันหลอน สติไม่เต็ม สติอ่อนไปจิตจะหลอน ระลึกโน่นระลึกนี่ รู้โน่นรู้นี่ จริงบ้างไม่จริงบ้าง มีเหตุผลบ้าง ไม่มีเหตุผลบ้าง เวลานิมิตเกิด ให้เราตั้งหลักให้ดี อย่าเพิ่งเชื่อ พิจารณาเหตุผลตามความเป็นจริงก่อน ว่ามีเหตุมีผลไหม บางทีมันเป็นนิมิตทางใจ นิมิตอย่างเขานวดอย่างนี้ เป็นนิมิตทางกาย บางทีกินข้าวอยู่ โอ้ อร่อยจังเลย นิมิตทางลิ้น อาบน้ำอยู่น้ำจากฝักบัวหอมไปหมดเลย นี้นิมิตด้วยกลิ่น นิมิตทางจมูก

นิมิตทางใจก็มีเยอะแยะ อย่างบางทีเราภาวนา ไม่ได้คิดนึกอะไร มันก็เห็นปรากฏการณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้น เป็นการเตือนถึงเหตุการณ์ที่เราจะต้องเจอล่วงหน้า ตอนนี้หลวงพ่อสังเกต ถ้าสมาธิเราไม่ดี จิตไม่ตั้งมั่น สติไม่พอ ตัวนี้มันหลอน คิดว่าจะต้องเจอโน่นเจอนี่ ไม่เจอหรอก แต่ถ้าจิตเราตั้งมั่นจริงๆ ถึงฐานจริงๆ สติดีจริงๆ มันก็แม่นพอสมควร เรื่องรู้อดีต รู้อนาคต เป็นนิมิตทั้งหมด ถ้าจริง อย่างถ้ามีสมาธิพอ ก็จะเป็นอภิญญาไป ถ้าสมาธิไม่พอก็เป็นจิตหลอน อย่างไรเราก็แขวนไว้ก่อน อย่าเพิ่งเชื่อ ดูเหตุดูผลเอา บางอย่างเชื่อไม่ได้

เมื่อสัก 10 ปี 20 ปีก่อน พระองค์นั้นก็ทาย หมอดูคนนี้ก็ทาย น้ำจะท่วมถึงตึก 7 ชั้น นิมิตกัน หลอนๆ กัน ปล่อยข่าวออกมาให้คนแตกตื่น มันเป็นอย่างนั้นเสียที่ไหน เขาบอกวันหนึ่งมันเป็น อ๋อ แน่ล่ะ วันหนึ่งมันคงเป็น แต่มันอาจจะอีกกัปหนึ่ง อีก 1,000 ปี มันไม่มีเหตุผล แล้วเราสังเกตให้ดี หมอดูบางทีบางคนที่เขาเก่งๆ เขาทายอดีตแม่น แต่อนาคตไม่แม่นหรอก ตามตำราจะบอกอนาคตต้องเป็นอย่างนี้ๆ แต่สิ่งที่เหนือกว่าดวงดาวทั้งหลาย ก็คือความเพียรของมนุษย์นี้เอง ความเพียรพยายามของเรา

ถ้าบอกว่าดวงชะตาเราเกิดมาจะต้องจน เราก็ใช้คาถาแก้จนของพระพุทธเจ้า ขยันทำมาหากิน รู้จักเก็บออม รู้จักลงทุน รู้จักคบคน ดำรงชีวิตพอเหมาะพอควรแก่ฐานะ คนทุกวันนี้ที่บอกว่า แหม หนี้เยอะ ประเทศเรามีหนี้ส่วนบุคคล หนี้ครัวเรือนเยอะเหลือเกิน ก็มันบริโภคของที่ไม่จำเป็น ซื้อรถ ซื้ออะไร ไม่ได้จำเป็น ก็เป็นหนี้เยอะ อย่างนี้ แล้วถ้าบอกดวงชะตาจะรวย แล้วทำตัวอย่างนั้นมันก็จน ก็มันขัดกับธรรมะ มีน้อยใช้เยอะ มันก็จนอยู่ดี แล้วทำตัวตามหลักที่พระพุทธเจ้าสอน มีรู้จักทำมาหากิน รู้จักรักษาทรัพย์สินที่มีอยู่ รู้จักเลือกคบคนที่ดี ดำรงชีวิตพอเหมาะพอควรกับฐานะ อย่างนี้ก็อยู่ได้ ถ้าหมอดูทายเราว่าเกิดมาจะต้องจน เพราะฉะนั้นเราก็จนจริงๆ เพราะเราทำตัวให้จน มันก็จน เห็นไหม เพราะทำเอา

ในธรรมบทเคยมีเรื่องหนึ่ง 2 เมืองนี้รบกัน มีฤๅษีตั้งสำนักของฤๅษีอยู่ตรงชายแดน กษัตริย์ 2 เมืองก็มาถามฤๅษี ผลัดกันมาคนละเวลา ว่าเมืองไหนจะชนะ ฤๅษีบอกเดี๋ยวต้องไปถามพระอินทร์ดู ฤๅษีก็ถอดจิตไปเฝ้าพระอินทร์ พระอินทร์บอกเมืองที่หนึ่ง เมือง ก. จะชนะ เมือง A แล้วเมือง B จะแพ้ เมือง ก. พอได้ยินว่าจะชนะ ได้รับพยากรณ์แล้ว คนทายคือพระอินทร์ ย่ามใจไม่ฝึกซ้อมอะไรแล้ว เมือง ข. ได้ยินว่าจะแพ้ ไม่ท้อ ฝึกรบอุตลุดเลย เข้มแข็งมาก รบกันจริงๆ เมืองที่ถูกทายไว้จะชนะ แพ้ เมืองที่ว่าแพ้มันชนะ นี่คำพยากรณ์อนาคต มันคลาดเคลื่อนได้ กษัตริย์เมืองแพ้มันก็ไปว่าฤๅษี หลอนใช่ไหม ว่าเจอพระอินทร์ ฤๅษีก็เจ็บใจไปหาพระอินทร์อีก ว่าทำไมทายผิด พระอินทร์ก็บอกว่า “เทพเจ้าพ่ายแพ้ความเพียรของมนุษย์”

ชาวพุทธเราเป็นอย่างนี้ เราจะไม่ได้ฝากชีวิตไว้กับคำทำนาย ฝากชีวิตไว้กับเทพเจ้า แต่เราฝากชีวิตไว้กับตัวเอง อดีตนั้นทายไปถูก มันก็เท่านั้น ทำอะไรไม่ได้แล้ว ทายอนาคต ถ้าฟังหมอดูเขาทายว่า อนาคตเราไม่ดี เราก็เพิ่มความไม่ประมาทเข้าไป เพิ่มความขยันหมั่นเพียร อดทน ใช้สติ ใช้ปัญญาในการดำรงชีวิต มันจะเปลี่ยนอนาคตเราได้ เพราะมันเปลี่ยนจริงๆ ฉะนั้นสิ่งที่กำหนดอนาคตของเรา ไม่มีใครลิขิต เราลิขิตชีวิตของเราเอง ไหงมันมาออกเรื่องนี้ พูดเรื่องสมาธิ

 

มีสมาธิเป็นที่พักผ่อน
อยู่กับโลกก็สบาย เดินปัญญาก็ทำได้ง่าย

ฉะนั้นหลักของการทำสมาธิ ทำกรรมฐานที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข ดูเอา ทำกรรมฐานที่เราอยู่แล้วมีความสุข อย่างหลวงพ่อ กสิณไฟหลวงพ่อก็เล่น ตอนเด็กจุดเทียน นั่งดูเทียน มันก็สว่าง มันก็เหมือนที่เราทำกสิณลมนั่นล่ะ กสิณ พอเราได้อันหนึ่ง มันก็ได้หมด มันจะง่ายไปหมด หรือถ้าเราจับเคล็ดลับที่หลวงพ่อสอนวันนี้ได้ ถ้าเราจะทำความสงบ น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง น้อมๆ ไปไม่ได้บังคับ น้อมใจ เราก็สงบ ถ้าชำนาญมันก็ปุ๊บสงบเลย ก็ฝึกเอา

พวกเราควรจะฝึก อย่าคิดว่าเป็นฆราวาสไม่ต้องทำ ชีวิตฆราวาสสับสนวุ่นวายมาก เราไม่มีที่พัก คนส่วนใหญ่ เวลามันทำงานเหน็ดเหนื่อย หัวสมองหมุนติ้วๆ ก็พักผ่อนด้วยการไปเที่ยวผับ เที่ยวบาร์ มันไม่ได้พักจริงหรอก มันไปทำตัวเองให้สมองอ่อนล้า แต่เปลี่ยนอารมณ์เท่านั้นเอง พอร่างกายอิดโรยมันก็นอนหลับ นอนหลับ แหม วันนี้ไปเที่ยวบาร์มาแล้วดีจังเลย หลับดี ไม่ใช่ มันหลับเพราะมันเหนื่อยเต็มที จิตมันล้า มันก็หลับ

เพราะฉะนั้นถ้าเรามีสมาธิเป็นที่พักผ่อน เราจะมีกำลัง อยู่กับโลกก็สบาย มีแรงจะมาภาวนาต่อ เดินปัญญาก็ทำได้ง่าย เอาไปใช้ทางโลกได้สารพัดเลย อย่างเราภาวนา บางทีเรารู้อะไรล่วงหน้า เราก็คอยดูว่าจะเป็นจริงไหม ระมัดระวัง สมมติดูว่าจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น มันก็ระมัดระวัง แต่ถ้ามันเป็นกรรมจริงๆ ถึงระวังอย่างไรมันก็เจอ มันแก้ไม่ได้ อันนั้นกรรมมันจะให้ผลแล้ว แต่ถ้ามันไม่ได้รุนแรง กรรมไม่รุนแรง เราก็พัฒนาคุณธรรมต่างๆ ขึ้นมา เปลี่ยนแปลงอนาคตของตัวเองไป มันทำได้ ไม่ใช่ไม่ได้ อย่ายอมจำนน อย่ายอมจำนนต่อชีวิต

เราเป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าเป็นนักสู้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องต่อสู้ อย่ายอมแพ้ อย่าเอาแต่ท้อใจ อย่าเอาแต่คร่ำครวญ โอดครวญโน้น โอดครวญนี้ จิตใจยิ่งย่ำแย่ คนขี้อ้อน จิตใจอ่อนแอ ยิ่งอ้อนได้ทีหนึ่ง ยิ่งอ้อนต่อไปอีก อย่างลูกศิษย์หลวงพ่อจะมาอ้อนหลวงพ่อ ถูกหลวงพ่อดุทุกรายเลย บอก “ไม่เอา ห้ามอ้อน” พวกขี้อ้อนจะทนหลวงพ่อไม่ได้หรอก ก็ต้องไปอ้อนที่วัดอื่น ที่นี่ไม่ต้อนรับพวกขี้อ้อน ที่นี่ต้อนรับคนที่ต่อสู้ ไม่อย่างนั้นชีวิตมันท้อแท้ ป้อแป้ มันจะพัฒนาได้อย่างไร

พวกเราไปหัดทำ ทำสมาธิสักอย่างหนึ่งนั่นล่ะ ไปดูตัวเองเหมาะกับกรรมฐานอะไร แล้วก็น้อมจิตอยู่กับกรรมฐานอันนั้น ที่มีความสุข ใช้ใจที่สบายๆ ไปรู้อารมณ์ที่รู้แล้วสบาย รู้ไปอย่างสบายๆ ไม่นานเราก็สงบ มีความสุข บางทีเรามีเรื่องราวที่ซับซ้อนมาก คิดไม่ออก เวลาเราคิดไม่ออกอย่าไปฝืนคิด ยิ่งฝืนคิดยิ่งไม่รู้เรื่อง มั่วไปหมดเลย ทำสมาธิเสียก่อน แล้วเราจะรู้ทางออกของปัญหานั้นได้ง่ายๆ เลย อันนี้หลวงพ่อพุธท่านเล่าให้ฟัง ลูกศิษย์ท่านคนหนึ่งเป็นสถาปนิก ต้องออกแบบตึกที่ใหญ่มาก ซับซ้อนมาก คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก Requirement ของนายจ้างเยอะมาก

คิดไม่ออกไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ไหว้พระ สวดมนต์ไป นอนหายใจเข้าพุทออกโธแล้วหลับก็ไปเลย พอตื่นขึ้นมาปุ๊บจิตใจมันสดชื่น มันนึกถึงงาน มันเห็นแปลนที่จะต้องทำ มันเห็นออกมาเองเลย งานที่ลึกลับซับซ้อนอะไรมันออกมาเอง ด้วยกำลังของจิตซึ่งมันได้พักผ่อน มีสมาธิ ไม่ได้พักแบบหลับไม่ได้เรื่องได้ราว ก่อนนอนเขาก็หายใจพุทโธๆ ของเขาไป จิตรวมสงบแล้วหลับไป ตื่นขึ้นมาเท่านั้น เรื่องยุ่งยากคิดออกหมดเลย ลองนะ อันนี้หลวงพ่อก็เคยใช้ ใช้บ่อยๆ ด้วย ตั้งแต่เป็นโยมแล้ว งานบางอย่างยาก คิดไม่ออก คิดไม่ออกแขวนไว้ก่อน ทำเรื่องอื่นก่อน แล้วเรื่องที่ยากๆ ไว้ตอนเช้าๆ เดี๋ยวก็คิดออก อันนั้นเรื่องของสมาธิ

ฉะนั้นเราฝึกสมาธิให้ดี หรือบางคนขับรถอยู่ รถคว่ำ จิตมันดีดตัวขึ้นมา ตั้งมั่นเด่นดวงเลย มันเคยฝึกจิตให้มีสมาธิ จิตมันมีสมาธิขึ้นมาเองเลย ควรจะคอหักตายมันก็ไม่เป็นอะไรเท่าไร แค่ถลอกๆ กำลังของสมาธิ เราไม่ได้ระดับครูบาอาจารย์ อย่างหลวงพ่อพุธรถท่านเคยตกเขา รถตู้นี่ล่ะ วิ่งลงไป มันไม่ใช่ตกชันเก้าสิบ มันเอียงมากๆ เอียงเยอะๆ ท่านบอกรถมันพุ่งไปเห็นต้นไม้อยู่ จิตท่านเป็นหนึ่งอยู่ รถมันก็โยกหลบต้นไม้ หลบไปหลบมา จนไปถึงข้างล่างแล้ว ท่านบอกท่านหมดแรง มันไปชนต้นสุดท้าย นี่ก็เรื่องของสมาธิ

เพราะฉะนั้นเราฝึกเอาไว้เถอะ แต่ไม่ได้ฝึกเอาอิทธิฤทธิ์ ฝึกให้จิตใจของเราสงบ ให้จิตใจของเราพักผ่อน มันจะได้มีเรี่ยวมีแรง อยู่กับโลก ก็เอาไว้สู้กับโลกได้ จะปฏิบัติธรรมก็เอาไว้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ค่อยๆ ฝึกไป วันนี้คงพูดได้แต่เรื่องสมถะ มันไม่มีเวลาแล้ว ส่วนวิปัสสนานั้นสอนทุกวันอยู่แล้ว ไปฟัง ดูจากยูทูปเอา

พวกเราที่ช่วยกันทำยูทูป ทำไลฟ์สด ทำ Zoom หลวงพ่ออนุโมทนา หลวงพ่อไปต่างจังหวัด ไปที่โน้นที่นี้ หลวงพ่อเจอคนจำนวนมากเลย เขาภาวนาได้ เขาดู เขาไม่เคยเจอหลวงพ่อ แต่เห็นหน้าปุ๊บเรารู้เลย คนนี้ภาวนา จิตใจมันมีสติรู้เนื้อรู้ตัว เบิกบาน รู้ตื่น เบิกบาน ได้ฟังยูทูป ฟังไปเรื่อยๆๆๆ แต่ไม่ใช่ฟังแล้วก็ไม่ได้ทำ วันๆ ก็ทำแต่เรื่องบาปอกุศล แล้วมาฟังยูทูปหลวงพ่อ ไม่ได้ผลหรอก รักษาศีล 5 ไว้ให้ได้ก่อน แล้วก็ฟัง แล้วก็สังเกตจิตใจของตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วมันก็พัฒนาได้

 

ธรรมะที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มีอยู่

พวกเราวันนี้ยังดูฟุ้งๆ ในห้องนี้ส่วนใหญ่ยังฟุ้งอยู่ อย่าทิ้งการทำในรูปแบบ แต่อย่าทำแล้วเคร่งเครียด แล้วถ้าทำแล้ว เกิดรู้เกิดเห็นอะไรขึ้นมา รู้แล้ววางเสีย อย่ายึดถือ อย่าไปเชื่อมัน จุดสำคัญที่เราจะเรียนคือเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันอื่นไม่ใช่ อย่างไปรู้อดีต รู้อนาคตอะไรนี้ เสียเวลา รู้จิตคนอื่น รู้อะไร เสียเวลา ให้รู้ทุกข์เอาไว้ พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้รู้อย่างอื่น ท่านบอกให้รู้ทุกข์ รู้กายรู้ใจของตัวเองไว้

ที่จริงถ้าฝึกชำนาญ รู้ข้างนอกก็ได้ รูปข้างนอก นามข้างนอก มันก็แสดงไตรลักษณ์ แต่จิตต้องมีกำลังพอ จิตต้องตั้งมั่นจริงๆ ไม่อย่างนั้นไปรู้รูปนามข้างนอกแล้ว จิตไหลออกไปข้างนอก อริยมรรคจะไม่เกิด เพราะอริยมรรคเวลาเกิด เกิดที่จิต ไม่ได้ไปเกิดข้างนอก แต่ถามว่าเห็นรูปนามข้างนอกเป็นไตรลักษณ์ แล้วบรรลุได้ไหม ได้ ถ้าจิตมีกำลังพอ ตั้งมั่น

เพราะฉะนั้นในสติปัฏฐาน ท่านจะพูดถึง รูปในที่ใกล้ รูปในที่ไกล รูปข้างนอก รูปภายใน ภายนอก ถ้าสมาธิพอแล้วใช้ได้หมดเลย มันเหมือนกันหมด แล้วภาวนาถึงจุดหนึ่งเราจะเห็น ทั้งภายใน ทั้งภายนอก เป็นแค่ปรากฏการณ์เท่านั้นเอง ร่างกายนี้ก็เป็นปรากฏการณ์อันเดียวกับโลกข้างนอก เป็นส่วนหนึ่งของโลกนั่นเอง ร่างกายจิตใจเรา ขันธ์ 5 ของเรา กับโลกข้างนอกเสมอกัน เท่าเทียมกัน เป็นแค่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป หาต้นทางไม่เจอ หาปลายทางไม่เจอ สืบเนื่องกันไปเรื่อยๆ

สังสารวัฏหมุนอยู่อย่างนี้ เป็นปรากฏการณ์ สังขารทั้งหลาย ทั้งภายใน ทั้งภายนอก ถึงจุดที่จิตมีกำลังจริงๆ ไม่มีคำว่าภายใน ภายนอกเลย อันนี้เป็นโลก เป็นสังขาร เป็นโลก แล้วจิตที่พ้นโลก มันเป็นอีกอันหนึ่ง จิตที่พ้นโลกเป็นอีกแบบหนึ่ง มันจะเข้าใจ มันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นั่นจิตที่มันสัมผัสกับพระนิพพานเต็มที่แล้ว

จิตของเรามันสัมผัสโลก สัมผัสในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในเรื่องราวทางใจ จิตเราสัมผัสแต่สิ่งเหล่านี้ มันก็รู้สึกโลกมีจริง แต่ถ้าปัญญาแก่รอบ สมาธิสมบูรณ์ มันวางโลกข้างนอก วางกาย วางใจได้ มันก็วางโลกข้างนอกพร้อมๆ กัน มันจะเห็นเป็นแค่ปรากฏการณ์ของรูปธรรม นามธรรม ที่ไหลผ่านไป ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด สังสารวัฏเป็นอย่างนั้น เราไม่ได้ไปยุ่งกับมัน พอจิตมันพ้นออกไปจากสังสารวัฏ มันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ที่แก่ ที่เจ็บ ที่ตาย คือสังขารทั้งหลาย

ค่อยฝึกนะ มันมีอยู่ธรรมะอย่างนี้ ธรรมะที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มีอยู่ เวลาตาย อะไรตาย ขันธ์มันตาย เวลาเจ็บ ขันธ์มันเจ็บ มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนาสุดขีด ในพระไตรปิฎกมี ท่านบอกไว้ อย่างพระอรหันต์ ถ้าไปถามท่านว่า “พระอรหันต์นิพพานแล้วไปไหน” ท่านจะตอบแค่ว่า “รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วดับไป” มันคือปรากฏการณ์ที่ท่านเห็น แล้วทำไมไม่มาพูดเรื่องนี้ เรื่องธาตุรู้ของท่าน เพราะมันไม่ใช่ของท่าน ท่านไม่ได้ยึดถือ ไม่มีเจ้าข้าวเจ้าของอะไร

จิตที่ถึงธรรมแท้แล้ว วางโลกแล้ว จิตนั้นมันทรงธรรมอยู่ มันทรงพระนิพพานอยู่ มีความสุข มีความสงบ เวลาแก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องของขันธ์ มันจะเห็นแค่นั้น ไม่ได้เห็นว่านิพพานแล้วไปไหน ความคิดว่านิพพานแล้วไปไหน มันเกิดจากพวกสัสสตทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ มันคิดว่ามีสิ่งหนึ่งเที่ยงอยู่ พอขันธ์มันแตก ตัวนี้มันไปเกิดใหม่ ในโลกพระนิพพาน นี่ไม่ใช่ชาวพุทธ ไม่ใช่นิพพานพุทธ มันเป็นนิพพานพรหม

ฉะนั้นเราค่อยๆ ภาวนา รู้ทุกข์ไว้ ดูกายดูใจมันไป เห็นไตรลักษณ์ไป ทุกวันถือศีล 5 ไว้ ทุกวันต้องแบ่งเวลาไหว้พระ สวดมนต์ ทำในรูปแบบ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ทำอย่างนี้ให้ได้ แล้ววันหนึ่งก็จะเห็นความจริงของรูป มันก็วางรูป เห็นความจริงของนาม ก็วางนาม เห็นความจริงของจิต มันก็วางจิต มันวางหมด เห็นโลกทั้งโลกเป็นอันเดียวกันหมด เป็นแค่ปรากฏการณ์เท่านั้นเอง ไม่มีใครลิขิต ไม่มีเจ้าข้าวเจ้าของ สัมพันธ์กันไปด้วยเหตุด้วยผลเท่านั้น ตามเหตุปัจจัย

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
14 มกราคม 2566