ถนัดอะไรก็เอาอันนั้นก่อน

ช่วงนี้หลวงพ่อเห็น พวกเราหลายคนภาวนาดีขึ้น จิตใจมีกำลัง สติอัตโนมัติมันเกิด สมาธิอัตโนมัติมันเกิด ที่มันเป็นอย่างนี้ได้ เพราะว่าทำสม่ำเสมอ จุดอ่อนของนักปฏิบัติ จะเป็นพระหรือเป็นโยมก็ตาม ถ้าทำไม่สม่ำเสมอ กำลังของสมาธิมันจะไม่มี สติก็จะไม่ว่องไว ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติทุกวันๆ ไม่ละเลย ไม่ใช่ทำบ้างไม่ทำบ้าง ทำบ้างไม่ทำบ้างไม่มีผลอะไร ใช้ไม่ได้ เจริญแล้วก็เสื่อมไปอย่างรวดเร็วเลย

แต่ถ้าเราทำทุกวัน มีวินัยในตัวเอง แบ่งเวลาไว้ ตื่นให้เร็วขึ้นนิดหนึ่งมาภาวนา ก่อนนอนภาวนา มีเวลากลางวันช่วงไหนก็ภาวนา มีสติไปเรื่อยๆ ช่วงไหนมีเวลาเยอะหน่อย ก็ทำสมาธิ ทำในรูปแบบ ให้จิตใจมันเคล้าเคลียอยู่กับการปฏิบัติ ถ้าจิตใจเคล้าเคลียอยู่กับโลก มันก็ได้โลก เวียนว่ายตายเกิดไป ถ้าจิตใจเคล้าเคลียอยู่กับการปฏิบัติ อยู่กับธรรมะ ใจมันก็ค่อยสงบสุขขึ้นมา มีความสุข

 

จุดสำคัญอยู่ที่สติ ไม่ใช่กระบวนท่า

การปฏิบัติไม่ได้นำความทุกข์มาให้เราเลย โลกมันทุกข์ แต่เราเจริญสติเจริญสมาธิไปเรื่อยๆ จิตใจมีความสงบ มีความสุข “สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี” พระพุทธเจ้าบอกอย่างนี้เลย โลกมีแต่วุ่นวาย เรายังต้องอยู่กับโลก มันจำเป็นเล่นตามบทไป มีบทของนายจ้างก็เล่นไป มีบทลูกจ้างก็เล่น บทพ่อ บทแม่ บทลูก บทครูบาอาจารย์ บทลูกศิษย์ มีบทบาทอะไรก็เล่นไป แต่ว่าที่สำคัญ อย่าละเลยการปฏิบัติ ชีวิตมันจะร่มเย็น

หลวงพ่อทำตั้งแต่เป็นโยม ทำไม่ท้อถอยเลย กี่ปีๆ ก็ไม่เลิก ตั้งแต่ 7 ขวบก็ทำมาตลอด ทำอะไรไม่ได้ก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำสมาธิไป พอเจริญปัญญาเป็น ก็เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ เห็นมันทำงานไป มันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ การที่เราเห็นกายเคลื่อนไหวบ่อยๆ เห็นจิตใจเคลื่อนไหวบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ จิตจำอาการที่เคลื่อนไหวได้ ต่อไปพอเคลื่อนไหวปุ๊บสติจะเกิดเอง จะฝึกใช้กายเป็นวิหารธรรมก็ได้ ใช้จิตเป็นวิหารธรรมก็ได้ แล้วมันก็ลงมาที่เดียวกัน

หลวงพ่อ ตอนปฏิบัติเจริญปัญญา หลวงพ่อใช้จิตเป็นวิหารธรรม เห็นจิตเกิดดับเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย พอตาเห็นรูปจิตก็เปลี่ยน หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด จิตมันก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ พอฝึกอย่างนี้ ต่อไปพอจิตมันขยับตัวนิดเดียว มันเห็นเองเลย สติเกิดเอง อย่างนี้เรียกว่ามีสติอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนาจะรู้ มันรู้ขึ้นมาเอง

พอฝึกอย่างนี้ชำนิชำนาญ สติเกิดว่องไวแล้ว หลวงพ่อออกไปดูครูบาอาจารย์สายอื่นๆ เข้าไปดูที่วัดสนามใน หลวงพ่อเทียนยุคนั้นมีชื่อเสียง ไปดูหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียนท่านก็สอนๆ ลูกศิษย์ท่าน เราก็ดูท่านสอน ตัวท่านดี ไม่หลง ไม่เผลอ ไม่ขาดสติ สอนตามหน้าที่ ร่างกายมันก็ทำงานของมันไป ความรู้เนื้อรู้ตัวของท่านก็มีอยู่ แล้วท่านก็สอนลูกศิษย์ท่านให้ขยับมือทำจังหวะ หลวงพ่อก็ไปนั่งดู ดูประเดี๋ยวเดียวก็เข้าใจแล้ว ขยับ มันไม่ได้มีอะไรยากหรอก รวมแล้ว 14 จังหวะ 2 มือ ข้างละ 7 จังหวะ

แล้วก็สังเกตไป คนขยับ พวกหนึ่งก็ไปนั่งคิดว่า ท่านี้แล้วต่อไปจะท่าไหน พวกหนึ่งก็นั่งเพ่งใส่มือ อีกพวกหนึ่งใจลอยออกนอกวัดไปเลย แต่ดูอย่างนี้มันก็ใช้ไม่ได้ ขยับ แต่ว่ามันไม่ได้สติขึ้นมา ตอนหลังมาเจอหลวงพ่อคำเขียน หลวงพ่อคำเขียนท่านก็พูดว่า หลวงพ่อเทียนยุคแรกๆ ไม่ได้สอนเรื่อง 14 จังหวะ สอนเรื่องสติ คนส่วนมากมันทำไม่ได้ ท่านก็เลยไปคิดเรื่อง 14 จังหวะขึ้นมา เป็นเครื่องผูกให้ใจมันไม่วอกแวก แต่มันก็ผูกไม่อยู่ บางพวกขยับจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น ใจมันหนีไปแล้ว หรือขยับแล้วก็คิดว่าท่านี้แล้วจะไปท่าไหน ใจมันก็หลงแล้ว หรือขยับแล้วจิตมันไปจ่ออยู่ในมือ เพ่งนิ่งๆ อยู่ นี่ก็หลง หลงเพ่ง

หลงคิด หลงเผลอ หลงเพ่ง อย่างนี้ก็ยังไม่ได้สติขึ้นมา แต่ไปดูวิธีของท่าน เออ วิธีนี้ดี ใช้ได้ รู้สึก หลวงพ่อก็ออกมานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ ในวัดท่าน มาขยับบ้าง ขยับ 14 จังหวะ ขยับไปขยับมา มันไม่ถูกจริต หลวงพ่อเป็นพวกใจร้อน พวกโทสจริต กระบวนท่าที่มากมาย รำคาญ พอรำคาญแล้วก็เลยลดจากสิบสี่ เหลือแค่นี้เอง เหลือสอง กำแบๆ ไปเรื่อย รู้สึกๆๆ เพราะตอนที่ไปดูท่าน เรารู้แล้วว่าที่ท่านสอน 14 จังหวะ เพื่อให้เรามีสติ อย่างเราขยับอย่างนี้ จิตมันไหลไปที่มือ รู้ทันสติก็เกิด จิตหนีไปคิดสติก็เกิด จิตไปเพ่งสติก็เกิด อ๋อ ท่านสอนเรื่องสตินี่เอง ออกมากำแบๆ รู้สึกเรื่อยๆ เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว ใจเป็นคนรู้สึก ก็ทำอยู่สักพักหนึ่ง เย็นๆ ก็กลับบ้าน

หลังจากนั้นว่างๆ ก็ขยับแล้วรู้สึก ขยับแล้วรู้สึก ขยับอย่างนี้เมื่อย ยังเมื่อยอีกเหลือแค่นี้ เหลือนิดเดียวแค่นี้ แค่นี้เอง บางทีนั่งเก้าอี้เหมือนเดินจงกรม นิ้วเคลื่อนไหวก็รู้สึก มันอยู่ที่หัวใจของการปฏิบัติ ตัวสติ ไม่ใช่กระบวนท่า กระบวนท่าไม่สำคัญหรอก ใครถนัดท่าไหนก็เอาท่านั้น จุดสำคัญอยู่ที่สติ พอขยับอยู่ไม่กี่วัน วันหนึ่งเห็นเพื่อน เพื่อนเก่าแก่ไม่เจอนาน มันเดินอยู่คนละฝั่งถนน เขาไม่เห็นเรา เราเห็นเขา ก็ดีใจ ตรงที่ดีใจนี้ขาดสติ ไม่รู้ว่าดีใจ ก็หันซ้ายหันขวา ไม่มีรถ เท้าเคลื่อนไปจะก้าวข้ามถนน พอเท้าเคลื่อนปุ๊บสติเกิดอัตโนมัติเลย เลย อ๋อ เข้าใจแล้ว

ไม่ว่าเราจะฝึก หัดรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตจนสติเกิด หรือรู้ความเปลี่ยนแปลงของกาย ความเคลื่อนไหวของกาย จนสติเกิด มันก็อันเดียวกัน คือสติก็สติอันเดียวกัน จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเป็นสมาธิ ก็อันเดียวกัน มันไม่มีสายไหนดีกว่าสายไหนหรอก แล้วแต่ว่าความถนัด เราถนัดอะไรเราก็เอาอันนั้น แต่ถ้าทำถูกหลัก มันจะมาลงที่เดียวกัน ฉะนั้นในสติปัฏฐาน 4 จะเริ่มจากการรู้กาย หรือรู้เวทนา หรือรู้จิต สุดท้ายมันก็ลงมาที่เดียวกัน ลงมาที่จิต ที่ธรรม ธรรมะ ลงมาอันเดียวกัน

สุดท้ายสูงสุดเลย ก็คือรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ 4 ก็รู้อย่างเดียวกัน รสชาติก็อันเดียวกัน ผลที่เกิดขึ้นมันก็อันเดียวกัน มันเหมือนเรากินข้าว เรากินอาหารภาคกลาง อาหารจีน อาหารฝรั่ง อาหารญี่ปุ่น อาหารอีสาน อาหารเหนือ อาหารใต้อะไรก็ตาม สุดท้ายมันก็มาที่เดียวกัน คือมันอิ่ม ลงมาที่ความอิ่มเหมือนกัน เวลาอิ่มจากการกินข้าวเหนียวกับอิ่มจากการกินข้าวเจ้ามันก็อิ่มล่ะ จะอิ่มจากการกินอาหารฝรั่ง หรืออาหารไทย ก็อิ่มเหมือนกัน

 

เลือกดูกรรมฐานที่เหมาะกับเรา
อันไหนทำแล้วสติเกิดบ่อย อันนั้นเป็นเครื่องอยู่ของเรา

ฉะนั้นเวลาเราภาวนา เราก็เลือกดูกรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา เราทำแล้วสติเกิดบ่อย เราเอาอันนั้นเป็นเครื่องอยู่ของเรา เป็นวิหารธรรม อย่างหลวงพ่อฝึกมาแต่แรก ทีแรกฝึกอานาปานสติ แต่ว่ามันไม่ได้สติหรอก มันได้แต่สมาธิ สมาธิแบบออกนอกด้วย รู้โน่นรู้นี่ออกข้างนอกไป มาเจอหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนให้ดูจิต ท่านไม่สอนหลวงพ่อดูกาย เพราะท่านรู้ว่าหลวงพ่อไม่เหมาะ เรามีจริตนิสัยเรียกว่าพวกทิฏฐิจริต พวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น ที่จะยอมเชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ยอมเลย แต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่เด็ก อย่างพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เตี่ย มีเตี่ย เตี่ยก็เป็นคนขวางโลก ไม่ค่อยเชื่อหรอกเรื่องเจ้าเรื่องอะไร แต่ถึงตรุษจีน ถึงสารทจีน ไหว้เจ้า ที่ไหว้เจ้าก็เพราะว่าบรรพบุรุษทำมา ทำไปด้วยความกตัญญู ไม่ได้ทำเพราะเคารพเจ้า ไม่ได้เชื่อเลยว่าเจ้ามีอยู่ หลวงพ่อก็ยิ่งไม่เชื่อใหญ่ ไม่เชื่อ ตอนหลังภาวนาแล้วถึงรู้ มันก็มี แต่ไม่ใช่สรณะ ไม่ใช่ที่พึ่งที่จะพาให้เราพ้นทุกข์ได้ แล้วเราก็ไม่ได้ไปดูถูกเขา ใครจะนับถืออะไรก็เรื่องของเขา

หลวงพ่อเป็นคนที่ไม่เชื่อเลย คำว่า “ศรัทธา” มีน้อยมากๆ เลย ส่วนใหญ่จะต้องใช้เหตุใช้ผลตลอด อะไรที่ฟังแล้วไม่มีเหตุผล ไม่เชื่อไว้ก่อน แต่ไม่เชื่อเราก็ไม่ว่า ไม่เถียงหรอก ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตเอา จะได้ไม่ต้องทะเลาะกับใคร มาฝึกกับหลวงปู่ดูลย์ แล้วเห็นจิตมันเคลื่อนๆ ท่านสอนให้ดูจิต เพราะหลวงพ่อเป็นพวกทิฏฐิจริต ศรัทธาน้อย เป็นพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น พวกใช้ปัญญาเยอะ ท่านก็สอนให้ดูจิตที่มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ให้ดูกายแล้วมันจืด มันเบื่อ มันรู้สึกคับแคบ เหมือนปลาตัวใหญ่อยู่ในตู้เล็กๆ ตู้ปลาเล็กๆ อยู่แล้วอึดอัด

วันที่บวช ออกมาจากโบสถ์ โอ๊ย ลูบสังฆาฏิ ตอนนั้นมีสังฆาฏิพาด มันมีความรู้สึกเหมือนเราหลุดลงเป็นปลาในตู้ หลุดออกมาแม่น้ำ ออกมาทะเลแล้ว ใจมันไม่ศรัทธาอะไรง่าย ก็ไม่เชื่ออะไรทั้งสิ้น ต้องเห็น ต้องรู้ ต้องเห็นด้วยตัวเองถึงจะยอมเชื่อ หลวงปู่ท่านสอนให้ดูจิตใจ เห็นจิตมันเปลี่ยนได้ทั้งวัน เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย มันไม่เที่ยง มันเห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นอนัตตา สุขมันก็เกิดขึ้นเอง เกิดแล้วก็รักษาเอาไว้ไม่ได้ ทุกข์ก็ห้ามมันไม่ให้เกิดไม่ได้ เกิดแล้วไล่มันก็ไม่ไป กุศลทั้งหลายสั่งให้เกิดก็ไม่ได้ อย่างสั่งให้สติเกิด ก็ไม่ได้ อกุศลทั้งหลายเราก็ห้ามมันไม่ได้ สั่งว่าอย่าโกรธ ก็ห้ามไม่ได้ อันนี้เรียกว่าเห็นอนัตตา

ตรงที่เราดูจิตดูใจ ไตรลักษณ์ที่จะเด่น สามัญลักษณะที่เด่นคืออนิจจลักษณะ เห็นอนิจจัง เห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตเกิดขึ้นตลอดเวลา แล้วก็อนัตตลักขณะ เห็นความเป็นอนัตตาของมัน ส่วนทุกขลักขณะไม่ค่อยเห็นหรอก ถ้าดูจิตดูใจ จิตมันไม่ค่อยทุกข์ให้ดู ยิ่งเราทรงสมาธิอยู่จิตมีความสุข ฉะนั้นดูให้เห็นว่าจิตเป็นทุกข์ ดูยาก จนภาวนาไปเยอะๆ ถึงจะแจ้งขึ้นมา จิตนั้นล่ะตัวทุกข์

หลวงพ่อเริ่มมาจากการดูจิตใจ เพราะว่าจริตนิสัย เป็นพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น พวกทิฏฐิจริต พวกไม่ยอมเชื่ออะไรง่าย อีกพวกหนึ่งเรียกพวกตัณหาจริต พวกรักสุข รักสบาย รักสวยรักงาม พวกนี้ให้ดูจิต เบื่อ มันไม่มีอะไรให้ดู มันเป็นนามธรรม ไม่เห็นมันจะสวย มันจะงามตรงไหนเลย ท่านก็สอนมาให้ดูพวกทิฏฐิจริต พวกรักสุข รักสบาย รักสวยรักงาม ให้ดูร่างกายเข้าไปเลย ให้เจริญกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนาทางกาย ดูไป เพราะว่าอย่างเรามีสติรู้สึกกาย ร่างกายเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ก็จะเห็น ร่างกายที่มันทำงานอยู่นี้ มันเคลื่อนไหวเพราะอะไร เพราะมันหนีทุกข์ มันจะเห็นทุกข์เลย กายนี้มันจะมีลักษณะของทุกข์ ให้เราเห็นได้เด่นชัด

เรานั่งอยู่แล้วทำไมเราต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ที่เปลี่ยนอิริยาบถก็เพื่อหนีทุกข์ ทำไมหายใจเข้าแล้วต้องหายใจออก ก็เพื่อหนีทุกข์ ทำไมหายใจออกแล้วต้องหายใจเข้า ก็เพื่อหนีทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีสติรู้สึกอยู่ในร่างกายนี้ เราจะเห็นว่ากายนี้ไม่มีอะไรดีเลย มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย เห็นทุกขลักษณะชัด มีแต่ทุกข์ มันบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา นั่งอยู่ก็ถูกบีบคั้นให้ต้องลุกขึ้นยืน หรือลงไปนอน เดินนานๆ ก็ถูกบีบคั้นให้ลงไปนั่ง เมื่อยแล้วก็นั่ง ถูกบีบคั้นตลอดเวลา เวลาหิวขึ้นมา ก็ถูกบีบคั้นให้หาอะไรกิน อิ่มเกินไปก็อึดอัด ก็ถูกบีบคั้นอีกแล้ว ลำบาก ร่างกายอึดอัด ขับถ่ายมากไปก็ทุกข์อีกแล้ว ไม่ยอมขับถ่ายก็ทุกข์อีกแล้ว

มีสติรู้สึกอยู่ในกายเรื่อยๆ มันจะเห็นทุกข์ อันนี้จะเห็นว่าร่างกายไม่ได้มีของดี มีแต่เรื่องทุกข์ แล้วร่างกายก็เป็นอนัตตา ร่างกายนี้มันเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกตลอดเวลา เช่น กินอาหารแล้วก็ขับถ่าย ดื่มน้ำแล้วก็ไปปัสสาวะ หรือเป็นเหงื่อ เป็นน้ำลายอะไรออกไป มันจะเห็นธาตุมันหมุนไป หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก ธาตุมันหมุนไป ร่างกายไม่ได้เป็นอะไรหรอก ร่างกายเป็นธาตุ เป็นก้อนธาตุ ร่างกายเป็นก้อนทุกข์

เวลาเรามีสติ รู้สึกอยู่ที่กายเรื่อยๆ พอสติระลึกรู้กาย แล้วจิตมันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นคนรู้คนดู ปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นร่างกาย มันเป็นก้อนทุกข์ ร่างกายมันเป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา พอเห็นแจ่มแจ้งมันก็วาง วาง ก็ไปภาวนาต่อกันที่จิต นี้บางท่านเดินกายชำนิชำนาญมาก พอวางกายปุ๊บ มองจิตปั๊บ เลยขาดเลย ขาดสะบั้นอย่างรวดเร็วเลย

บางคนพวกทิฏฐิจริต จะไปดูกาย มันก็จะเอาแต่คิดมาก ไม่ได้รู้สึกกายหรอกมีแต่คิด ฉะนั้นดูจิตเอา จิตใจนี้ไม่ได้เป็นไปตามอำนาจของความคิดเลย มันแสดงให้เราเห็น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มีแต่ความไม่เที่ยง มีแต่ของบังคับไม่ได้ เสร็จแล้วจิตมันก็วาง อาการที่จิตมันพิจารณากาย แล้วมันเข้าใจอะไรแล้ววางลงไป จิตก็ทรงสมาธินิ่งๆ ว่างๆ อยู่ พิจารณาจิตแล้วมันเห็นความจริงของจิต มันวางลงไป จิตก็ทรงตัวสมาธินิ่งๆ ว่างๆ อยู่ เหมือนกันเลย ไม่ได้แตกต่างกัน

 

 

เพราะฉะนั้นฝึกนะ ดูตัวเอง ถ้าเราเป็นพวกคิดมาก พวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น ดูความเปลี่ยนแปลงของจิตไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปแทรกแซง ไม่ต้องบังคับ กฎของการดูจิต 3 ข้อ ข้อที่หนึ่ง ให้ความรู้สึกทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วค่อยรู้ หรือจิตมันทำงานขึ้นมาก่อนแล้วค่อยรู้ อย่าไปดักดู ไม่ต้องไปรอดูว่าไหนจิตจะสุข หรือจะทุกข์ จะดี จะชั่ว ไหนๆ เฝ้าเอาไว้ อันนี้ไม่ถูกหลัก ก็ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นมา หรือให้การกระทำของจิตเกิดขึ้นมาแล้วค่อยรู้เอา

เวลาดูจิตเราดูได้ 2 อย่าง เราดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิต เช่น จิตดวงนี้สุข จิตดวงนี้ทุกข์ จิตดวงนี้เฉยๆ จิตดวงนี้เป็นกุศล จิตดวงนี้โลภ จิตดวงนี้โกรธ จิตดวงนี้หลง อันนี้เป็นความรู้สึก สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ที่เกิดกับจิต ทำให้เห็นว่า จิตนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกอันหนึ่งที่เราดูจิตๆ เราดูพฤติกรรมของจิต เดี๋ยวจิตก็ไปดูรูป เดี๋ยวก็ไปฟังเสียง เดี๋ยวไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ ไปเพ่งทางใจ ดูอย่างนี้ก็ได้ พอดูๆๆๆ ไปก็แจ้งขึ้นมา จิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ให้ดูกายก็แบบเดียวกัน เหมือนกัน

แต่ดูจิตข้อที่ 1 ให้ความรู้สึก หรือให้พฤติกรรมของจิตเกิดขึ้นแล้วค่อยรู้เอา อย่าไปดักดู ข้อ 2 ระหว่างดูจิต อย่างเราเห็นจิตมันสุข หรือเห็นจิตมันทุกข์ เห็นจิตมันดี จิตมันชั่ว เห็นจิตมันหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดูแบบคนวงนอก ไม่ต้องเข้าไปคลุกกับมัน ดูอยู่ห่างๆ ดูแบบไม่มีส่วนได้เสียอยู่ห่างๆ แล้วกฎข้อที่ 3 ก็คือถ้าดูแล้วมันยินดีให้รู้ทัน ยินร้ายให้รู้ทัน อย่างมีความสุขขึ้นมา เรามีสติ ความสุขมันเกิดขึ้นก่อน เรามีสติรู้ว่ามีความสุข ระหว่างที่รู้ความสุข จิตไม่จมลงไปในความสุข นี่คือกฎข้อ 2

กฏข้อที่ 1 มีความสุขเกิดขึ้น แล้วเรารู้ว่ามีความสุข นี่ข้อที่ 1 ระหว่างที่เห็นจิตมีความสุข จิตไม่ถลำลงไปจมอยู่กับความสุข นี่คือข้อที่ 2 ดูแบบห่างๆ ไม่เข้าไปคลุกวงใน ถ้ามันเข้าไปจมอยู่กับความสุข แล้วมันยินดีพอใจให้รู้ทัน มันรู้สึกไม่พอใจแล้ว เอ๊ะ ไม่ดีแล้ว จิตจมไปในความสุข ไม่ชอบใจขึ้นมา ให้รู้ทันว่าไม่ชอบ รู้ทันตัวชอบ ตัวไม่ชอบ จิตจะเป็นกลาง จิตจะถอนตัวออกมาเป็นกลาง ฉะนั้นกฎของการดูจิต อันที่ 1 ให้ความรู้สึก หรือให้พฤติกรรมของจิตเกิดขึ้นเสียก่อนแล้วค่อยรู้ไป อันที่ 2 ระหว่างที่รู้อย่าจมลงไป อย่าถลำลงไปเพ่ง อันที่ 3 รู้ด้วยความเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้าย ถ้ายินดีให้รู้ทัน ยินร้ายให้รู้ทัน แล้วมันจะเป็นกลางเอง ถ้าการดูจิตจะดูอยู่ในหลัก 3 ข้อนี้ ถ้าเราปฏิบัติถูกหลัก เราก็จะเห็นไตรลักษณ์ของจิตเกิดดับตลอดเวลา แล้วจะเห็นเลยมันไม่ใช่เราหรอก

 

ปัจจุบันสันตติ กับปัจจุบันขณะ

เวลาดูกายจะต่างกับการดูจิต ดูจิตให้ความรู้สึกหรือให้พฤติกรรมของจิต เกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ แต่การดูกาย ดูกายในขณะนี้เลย ไม่ใช่กายที่เกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ทีหลัง ไม่ใช่ รู้กายในขณะนี้เลย มันจะแตกต่างกัน ฉะนั้นดูจิตเราจะตามดู เรียกว่าปัจจุบันสันตติ สืบต่อกับปัจจุบัน โกรธขึ้นมาปุ๊บ รู้ว่าโกรธ ขณะที่ความโกรธเกิดขึ้น ยังไม่มีสติ ขณะที่รู้ว่าโกรธ มีสติ คนละขณะกัน

แต่ขณะที่ดูกาย เราดูเป็นปัจจุบันขณะ ขณะนี้กำลังยกมือ ขณะนี้กำลังอ้าปากพูดอยู่ ขณะนี้กำลังหันซ้ายหันขวา พยักหน้า ขณะนี้กำลังนั่ง กำลังยืน กำลังเดิน กำลังนอน กำลังพลิกซ้ายพลิกขวา เวลาดูจิต ดูจิตที่สืบเนื่องกับสภาวะที่เกิด แล้วก็มีสติรู้ เรียกว่าเป็นปัจจุบันสันตติ ต่อเนื่อง ต่อเนื่องกับปัจจุบัน แต่ดูกายเป็นปัจจุบันขณะ ขณะนี้กำลังยกมือ เติมคำว่า “กำลัง” ก็ได้ ถ้าดูจิตก็ใส่คำว่า “แล้ว” โกรธแล้ว โลภแล้ว โกรธไปแล้ว โลภไปแล้ว แล้วมีสติรู้ ถ้าดูกาย กำลังยกมือ กำลังกำมือ กำลังแบมือ ขณะนี้เลย Now เดี๋ยวนี้

ฉะนั้นดูกายกับดูจิตจะต่างกัน แต่ว่าเป็นปัจจุบันทั้งคู่ อันหนึ่งเรียกว่าปัจจุบันสันตติ คือสืบเนื่องกับปัจจุบัน อันนั้นคือปัจจุบันขณะ คือขณะนี้กำลัง กำลังมีอยู่ กำลังเป็นอยู่ กำลังเคลื่อนไหว แล้วก็กฎข้อที่ 2 ของการดูกาย ข้อ 1 ต่างกัน ข้อ 2 เหมือนกัน ดูแบบคนวงนอก ไม่มีส่วนได้เสีย ขยับไปขยับมาจิตไม่ลงไปเพ่งกาย แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย นี่กฎข้อที่ 2 แล้วอันที่ 3 ก็เหมือนกัน ถ้าดูกายแล้วเกิดยินดียินร้ายอะไรขึ้นมา ก็รู้ทันเอา ฉะนั้นความต่างจะอยู่ที่ข้อแรก วิธีดู จะไม่เหมือนกัน

เราถนัดอะไร เราเอาอันนั้น อย่างหลวงพ่อเริ่มต้นมาดูจิต เดี๋ยวนี้ดูจิตดูกายมันก็อันเดียวกัน ก็เหมือนกัน เราจะเห็นร่างกายที่มันหันไปหันมา จิตมันเป็นคนสั่ง ฉะนั้นถ้าเราดูจิตชำนิชำนาญ ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน จิตมันสั่ง มันเป็นอย่างนั้น ฝึกไปเรื่อยๆ มันก็จะเห็นความจริง ร่างกายมันก็ไม่ใช่เรา มันเป็นตัวทุกข์ มันเป็นก้อนธาตุ จิตมันก็ไม่ใช่เรา มันเป็นของไม่เที่ยง เป็นของบังคับไม่ได้ เฝ้ารู้เฝ้าดู อย่างนี้เรียกว่าเรารู้ทุกข์ รู้ความจริงแล้ว พอรู้ความจริงจิตจะค่อยปล่อยวาง “เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น” มันเป็นสภาวะอย่างนี้

เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกทุกวัน มีสติรู้สึกกายรู้สึกใจ แล้วแต่เราถนัด ถนัดอะไรก็เอาอันนั้นก่อน แต่สุดท้ายก็รู้ทั้งกายทั้งใจ อย่างคนดูจิตต่อไปมันก็เห็น ร่างกายมันเคลื่อนไหวเพราะจิตสั่ง มันก็รู้ไปที่กายด้วย บางคนเริ่มจากการดูกาย ฝึกไปเรื่อยๆ ต่อไปก็รู้ กายเคลื่อนไหวก็เพราะจิตสั่งอีกล่ะ ไม่ใช่มีแต่กายอย่างเดียว ไม่มีจิต ถ้ามีแต่กายอย่างเดียว ไม่มีจิต มันก็เป็นศพเท่านั้นเอง ที่มันกระดุกกระดิกได้ มันทำงานได้ เพราะมันยังมีจิตสั่งอยู่ จิตควบคุมอยู่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเริ่มต้นจะดูจากกาย หรือดูจากจิต สุดท้ายก็เข้าใจทั้งหมดเหมือนกัน รู้อันเดียวก่อน สุดท้ายก็รู้ทั้งหมด

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ ไม่ต้องมานั่งเถียงกันหรอก สายไหนดีกว่าสายไหน ถ้าถูกหลักแล้วก็ดีหมด ถ้าผิดหลักก็ไม่ดีหรอก อย่างบางคนไปดูจุดเทียน ดูเห็นโน่นเห็นนี่ เห็นอดีต เห็นอนาคต ดีไหม ก็ดีแบบโลกๆ ไม่ได้ดีกับธรรมะเท่าไรหรอก อย่างเล่นกสิณไฟ หลวงพ่อก็เคยเล่น จุดเทียนไว้แล้วดู สุดท้ายมันก็ได้ปฏิภาคขึ้นมา เห็นเป็นดวง หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น เล็กก็ได้ ใหญ่ก็ได้ เล่นไปๆ ไม่เห็นมีสาระเลย หลวงพ่อลองเปลี่ยนใหม่ ดูไฟ ดูไฟแล้วก็พอมันจับภาพไฟ ติดอยู่ในใจเรา น้อมเอาไฟเข้ามาข้างใน เผาตัวเองเลย เผาๆๆๆ ร่างกายนี้ กลายเป็นขี้เถ้าไปเลย กายสลายไปหมด เหลือแต่จิตอันเดียว ก็เข้ามาที่จิตอีกแล้ว

 

จะเดินทางจิตมา หรือเดินทางกายมา
สุดท้ายก็ไปที่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นอันเดียวกัน

ฉะนั้นไม่ว่าเริ่มต้น เราจะดูกาย หรือดูเวทนา หรือดูจิต สุดท้ายมันก็ลงมาที่จิตทั้งหมด ลงที่เดียวกันหมด ไม่ต้องเถียงกัน เพียงแต่บางคนลัดเข้ามาที่จิตเลย บางคนอ้อมไปทางกายก่อน ไปทางเวทนาก่อน ไปได้ไหม ไปได้ แล้วก็ครูบาอาจารย์รุ่นก่อน รุ่นครูบาอาจารย์ของหลวงพ่ออีกที เกือบทั้งหมดท่านดูกาย ท่านไม่ได้ดูจิตหรอก มีหลวงปู่ดูลย์ท่านมาดูจิต แล้วท่านก็ไม่ได้คิดการดูจิตขึ้นเองด้วย หลวงปู่มั่นสอนท่าน ในขณะที่หลวงปู่มั่นสอนลูกศิษย์อื่นๆ สอนพุทโธพิจารณากาย พอมาสอนหลวงปู่ดูลย์ เบื้องต้นก็พุทโธพิจารณากาย ทำไปนิดเดียว หลวงปู่มั่นก็สอนธรรมะอีกขั้นหนึ่งให้ บอก “สัพเพ สังขารา สัพพะสัญญา อนิจจา สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลายไม่เที่ยง” “สัพเพ สังขารา สัพพะสัญญา อนัตตา สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลายเป็นอนัตตา” นี่คือเรื่องดูจิตทั้งนั้นเลย สัญญา เวทนา สังขาร อยู่ในกลุ่มของจิตใจทั้งนั้น

ฉะนั้นเราจะเริ่มอย่างไรก็ได้ สุดท้ายก็ไปที่เดียวกัน หลวงปู่ดูลย์ท่านก็เคยสอนบอกว่า แต่หลวงพ่อจำประโยคท่านไม่ได้ ท่านบอกมันเป็นรสชาติอันเดียวกัน ไม่ว่าจะเดินมาทางไหน สุดท้ายมันก็ลงไปที่เดียวกัน เหมือนกัน เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นอันเดียวกัน จะเดินทางจิตมา หรือเดินทางกายมา สุดท้ายแล้วมันก็เห็นโลกมันแค่ปรากฏการณ์เท่านั้นเอง รูปนามทั้งหลายเป็นแค่ปรากฏการณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หาเงื่อนต้น หาเงื่อนปลายไม่เจอ ไม่รู้มาจากไหน เกิดดับสืบเนื่องกันมาเรื่อยๆ จะไปสิ้นสุดที่ไหนก็ไม่รู้

อย่างพวกเรา ถ้าเรียนวิทยาศาสตร์ น้ำที่เรากินแต่ละหยด เป็นน้ำโบราณ เมื่อก่อนมันก็อยู่ในจักรวาล แล้วมันถูกโลกนี้ดูดลงมาอยู่ที่นี่ ก่อนที่มันจะมาอยู่กับเรา มันไปอยู่ที่ไหนมาก็ไม่รู้ มันไปเป็นส่วนประกอบในร่างกายของใครมา เราก็ไม่รู้ แล้วน้ำมาอยู่ในโลกนี้ เราได้ดื่ม ได้กิน ได้อาบ ก่อนที่เราจะมาดื่มมากิน คนอื่นเขาอาจจะฉี่ออกมาก็ได้ มันหมุนอย่างนี้ มันหาที่สิ้นสุดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสังสารวัฏยาวไกล ไม่มีที่สิ้นสุด มีแต่รูปนาม ธาตุขันธ์อะไรพวกนี้ มันเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ เกิดดับไปเรื่อยๆ

จิตที่เข้าใจตรงนี้เรียกว่าล้างอวิชชาได้ รู้ความจริง โลกไม่มีอะไร สังสารวัฏไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ ทุกข์คืออะไร ทุกข์คือของที่มันไม่ทนอยู่ มันไม่เที่ยง มันทนอยู่ไม่ได้ มันบังคับไม่ได้ มันเป็นไปตามกระบวนการของมัน ตามเหตุปัจจัยของมัน เลื่อนไหลไปเรื่อยๆ พอเห็นอย่างนี้ใจมันคลายออก มันวางออก มันเห็นทุกอย่างว่างเปล่า ทั้งโลก ทั้งจักรวาล ทั้งกาย ทั้งใจนี้ ว่างเปล่า ไม่ใช่ของเรา คืนหมดเลย คราวนี้ความทุกข์ไม่มีที่ตั้งแล้ว ปกติความทุกข์มันตั้งอยู่ที่กายที่ใจ มันคืนกายให้โลก มันคืนใจให้โลกไป ไม่ไปหยิบไปฉวยมา ไม่ไปเข้าไปปรุงแต่ง

ตรงที่จิตมันล้างอวิชชาไป มันเห็น มันว่างเปล่า สังสารวัฏ หรือโลกธาตุ หรือจักรวาล หรือขันธ์ 5 ภายใน ภายนอกอะไร เสมอกันไปหมด เป็นของเกิดดับเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ใจมันเห็น แล้วมันก็มีธาตุอันหนึ่งเกิดขึ้น ธาตุมันปรากฏขึ้น ธาตุรู้ วิญญาณธาตุ หรือธรรมธาตุ มีอยู่ อันนี้มันไม่เข้าไปข้องแวะกับโลก ไม่เข้าไปข้องแวะกับสังสารวัฏ ไม่หลงเข้าไปในปรากฏการณ์ทั้งหลาย มันอยู่ต่างหาก แต่ว่าไม่ได้กำหนดเอาไว้ ถ้าเราภาวนา แล้วเราเห็นโลกราบไปหมด แล้วเรากำหนดตัวรู้ขึ้นมา อันนี้ยังปรุงแต่งอยู่

ฉะนั้นขั้นสุดท้าย ไม่ได้ปรุง ไม่ได้จับเอาตัวรู้ไว้ด้วย ไม่ได้จับเอาธาตุรู้ไว้ด้วย ถ้ายังไปสำคัญมั่นหมายอยู่ ก็คล้ายๆ นิพพาน ไม่ใช่ของจริง ฝึกนะ เบื้องต้นมาทางไหนก็ได้ แล้วแต่ถนัด แต่สุดท้ายมันก็ลงไปที่เดียวกัน ลงไปที่การปล่อย ปล่อยวาง ก็พ้นทุกข์ ทุกข์อยู่ที่ขันธ์ ขันธ์อย่างไรก็ทุกข์ แต่ธาตุรู้มันพ้นจากขันธ์แล้ว มันไม่ทุกข์ด้วย แล้วก็ไม่ได้ไปกำหนด สำคัญมั่นหมายตัวธาตุรู้ ถ้ายังไปกำหนดตัวรู้ธาตุรู้อยู่ หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกว่าเป็นผีใหญ่ เป็นพรหม จะไปสุทธาวาส ไปพรหมโลก ไม่ใช่อนาคามีทุกองค์ไปสุทธาวาส เป็นพรหมได้ทุกชั้น ยกเว้นพรหมลูกฟักเท่านั้น นอกนั้นเป็นได้หมด

ไม่ยากหรอก หลวงพ่อเล่าๆ ให้ฟัง เหมือนที่หลวงปู่ดูลย์เคยเล่าให้หลวงพ่อฟังนั่นล่ะ แล้วก็ใช้เวลาถัดจากนี้ไป 10 ปี 20 ปี 30 ปี หรือตลอดชีวิตเรา เพื่อจะเรียนรู้จนเราเข้าใจอริยสัจ เข้าใจโลก เข้าใจขันธ์ เข้าใจโลก เข้าใจจักรวาล อันเดียวกันหมด เห็นมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งหมด จิตมันก็คลายออก พอมันเห็นแจ้งตัวนี้ มันก็เรียกว่า มันล้างอวิชชาได้แล้ว มันรู้ความจริงแล้ว สังขารก็ไม่เกิด ความปรุงแต่งของจิตจะไม่เกิดอีก เมื่อความปรุงแต่งของจิตไม่เกิด ความทุกข์ก็ไม่เกิด

ตราบใดที่จิตยังปรุงแต่งอยู่ จิตก็ยังทุกข์อยู่ ตราบใดที่ยังทำลายอวิชชาไม่ได้ ไม่รู้แจ้งแทงตลอดในรูปนาม ขันธ์ 5 มันก็ยังปรุงอยู่ อย่างพวกเรามันก็ปรุง ถ้าช่วงไหนขยันภาวนา มันก็ปรุงดี แล้วใจมันก็นึก เมื่อไรมันจะพ้นเสียที เมื่อไรมันจะเข้าใจเสียที มันก็เต็มไปด้วยความอยาก ปรุงแล้วก็อยาก อยากแล้วก็ยึด ยึดแล้วก็ทุกข์ ขบวนการ กระทั่งอยากดีก็ทุกข์ อยากชั่วไม่ต้องพูดถึง ทุกข์แน่นอน เมื่อไรพ้นความปรุงแต่งได้ก็พ้นทุกข์ ที่พ้นความปรุงแต่งได้ ก็พ้นจากอวิชชา ไม่รู้แจ้งในรูปนามขันธ์ 5 ในโลกธาตุ ในจักรวาล ในสังขารทั้งหลาย สังขารคือความปรุงแต่งทั้งหลาย ไม่แจ้งตรงนี้ก็ไม่พ้น

มีธรรมะอันหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า “อะวิชชายะเตววะ อะเสสะวิราคะนิโรธา สังขาระนิโรโธ ความดับของอวิชชา ดับแบบไม่มีเศษเสี้ยวเหลือของการยึดถือของราคะ” ไม่มี ดับสนิทตรงนี้ ความปรุงแต่งทั้งหลายก็ดับสนิท ถ้าอาสวะดับ อวิชชาก็ดับ อวิชชาดับ อาสวะก็ดับ อวิชชาดับ สังขารก็ดับ ไม่ยากหรอก แต่มันประณีต ดูจากของจริง ค่อยๆ ดูของจริงไป สิ่งที่เรียกว่าของจริงนั้น ก็คือรูปนามของเรานี้ล่ะ

 

ไม่เหลือวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาจะทำได้

ฉะนั้นมีสติรู้สึกกาย มีสติรู้สึกใจไปเรื่อยๆ อย่าละเลย ดูให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย ยกเว้นเวลาทำงานที่ต้องคิด เวลาที่เหลือตั้งแต่ตื่นจนหลับ เห็นกายมันทำงาน เห็นใจมันทำงาน จะเห็นอันไหนก่อนก็ได้แล้วแต่ถนัด แต่ดูให้ได้ทั้งวัน แล้วดูสิมันจะโง่เง่าเต่าตุ่น จนถึงขนาดเอาดีไม่ได้เชียวหรือ มันเป็นไปไม่ได้หรอก ธรรมะอันนี้ มันไม่ใช่ธรรมะที่เกินวิสัย ที่มนุษย์ธรรมดาอย่างพวกเราจะทำได้

ขอให้พวกเราลงมือทำเท่านั้น ให้สม่ำเสมอไป ทุกวันถือศีล 5 ตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ ตื่นนอนมาก็ตั้งใจรักษาศีล 5 ก่อนจะกินข้าวกลางวันก็ตั้งใจรักษาศีล 5 ก่อนจะนอนก็ตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ วันหนึ่งคิดถึงศีลหลายๆ รอบก็ได้ ตั้งใจรักษา ทุกวันแบ่งเวลาทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด จะดูกายหรือดูจิตก็ได้ แล้วคอยรู้ทันความเปลี่ยนแปลงของจิตใจ สมาธิของเราก็จะเพิ่มขึ้น จิตมันจะมีกำลัง ทำต่อเนื่องไป จิตมันจะมีแรงขึ้นมา ตรงนี้ถ้าคนไม่เคยสัมผัสสภาวะที่จิตมีกำลัง พูดอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง ก็ไปทำในรูปแบบอยู่ช่วงหนึ่ง ทำถูกด้วย จิตมันจะมีกำลังขึ้นมา

พอจิตมันมีกำลังแล้วก็เจริญปัญญาไป อันแรกแยกขันธ์ไป กายส่วนกาย เวทนาส่วนเวทนา สังขารส่วนสังขาร สังขารก็คือกุศล อกุศลทั้งหลาย จิตส่วนจิต ค่อยๆ แยกไป ทีแรกแยกได้ 2 อันก็พอ ไม่ต้องแยกทั้ง 5 อันหรอก ขันธ์ 5 แยก 2 อัน เช่น ถ้าเราถนัดมาทางกาย เราก็เห็นกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนรู้ ถ้าเราเดินมาทางเวทนา เราก็เห็นเวทนาเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตเป็นคนรู้ ถ้าเราเดินมาทางจิตตานุปัสสนา เราก็เห็นกุศล อกุศลทั้งหลายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตเป็นคนรู้ แล้วสุดท้ายมันก็เข้าไปที่ธัมมานุปัสสนา ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งกุศล ทั้งอกุศล ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งนั้น

แล้วก็รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาท ในอริยสัจ 4 ก็เป็นขั้นเป็นตอน ของความรู้ความเข้าใจไป แล้วจุดจบของเราอยู่ตรงที่รู้อริยสัจ รู้อริยสัจก็รู้ทุกข์นั่นล่ะ เห็นขันธ์ 5 เป็นทุกข์ ไม่ใช่คิดแต่เห็น มันถึงจะวาง พอวางแล้ว คราวนี้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของขันธ์ 5 ของโลก ของจักรวาล เป็นแค่ปรากฏการณ์ เหมือนความฝันที่ไหลเรื่อยไป ไปเรื่อยๆ ไม่เกี่ยวข้อง เวลาคนในโลกแก่ เจ็บ ตาย ก็เป็นเราแก่ เราเจ็บ เราตาย อันนี้ไม่ใช่ พอใจมันพ้นจากสังสารวัฏออกมาแล้ว มันก็เห็นขันธ์มันแตก ขันธ์มันดับ ไม่มีอะไรที่จะต้องสำคัญมั่นหมายมากกว่านั้นแล้ว ถ้ายังสำคัญมั่นหมายกว่านั้นอีก ก็จะไปพรหมโลกแล้ว ไปสำคัญมั่นหมายเอาตัวจิตเข้า

ฝึกนะ วันหนึ่งก็ได้ดีเอง รักษาศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวันไว้ ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวรู้สึกไว้ แล้ววันหนึ่งเราจะได้ลิ้มรสของธรรมะ รสอะไรไม่อร่อยเท่ารสธรรมะเลย รสอื่นๆ ดีวิเศษแค่ไหน กินไปเรื่อยๆ สัมผัสไปเรื่อยๆ ก็เบื่อ ไม่มีรสอะไรวิเศษนักหนาหรอก แต่รสของธรรมะ ชนะ ชนะรสทุกอย่างเลย มันอิ่ม มันเต็ม มันมีความสุข มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง แล้วทุกคนมีโอกาสที่จะเข้าถึงสภาวะอันนี้ ขอเพียงเราไม่ท้อถอย ให้เราอดทน มีวินัยในตัวเอง ตั้งใจรักษาศีล 5 ทุกวันต้องมีวินัยปฏิบัติในรูปแบบ ทำกรรมฐานที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ แล้วมันจะเดินปัญญาได้

เวลาเดินปัญญา บางคนก็ดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูอะไรก่อนก็ได้ สุดท้ายลงที่เดียวกัน จะรู้ว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ มันก็วาง แล้วสิ่งที่เกิด สิ่งที่ดับ ก็ไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ ตรงนี้ถึงจะวาง เป็นขั้นเป็นตอนของมัน วางได้ก็เห็นโลกทั้งโลก รวมทั้งกายทั้งใจนี้เป็นแค่ปรากฏการณ์ ไม่มีคำพูดต่อไป ไม่มีหรอกนะว่านิพพานแล้วไปอยู่ที่ไหน ถ้ายังคิดว่ามีที่อยู่ ก็จะไปพรหมโลกนั่นล่ะ เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ยากไปนิดหนึ่ง แต่เรียนเอาไว้ก่อน เดี๋ยวนี้มันมีระบบอัดเสียง มีเยอะแยะ ยูทูปมันก็อยู่ได้นาน

เราภาวนาไปเรื่อยๆ 10 ปี 20 ปีข้างหน้า อาจจะเห็นอย่างที่หลวงพ่อบอกนี้ หลวงพ่อก็ใช้เวลามากมาย อดทนมากเลย ในการฝึกตัวเอง ครูบาอาจารย์ท่านก็บอกไว้ก่อน เราคลำทางไป ที่พูดให้เราฟังนี้ ก็คือสิ่งที่หลวงปู่ดูลย์ท่านก็สอนมา แต่ท่านไม่ได้สอนละเอียดอย่างที่หลวงพ่อสอนพวกเรานี้ ท่านสอนหลวงพ่ออยู่ในประโยคเดียวเท่านั้น ที่จริงถ้าคลุมทั้งหมดของหลวงปู่ดูลย์ อันแรกเลยท่านสอน “อย่าส่งจิตออกนอก” จิตเราก็ไม่ออกนอก จิตเราตั้งมั่น นี่คือสมาธิ “จงทำญาณเห็นจิต ให้เหมือนตาเห็นรูป” นี่คือการเจริญปัญญา

แล้วจุดสุดท้ายท่านบอกว่า “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” นี่อยู่ในขั้นที่ปล่อยวางจิตไป แล้วอันสุดท้ายอันที่ 4 ที่ท่านสอน คืออาการที่ว่าปล่อยวางจิตแล้วมันเป็นอย่างไร บอก “ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง” เห็นไหม หยุดความปรุงแต่ง “หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง”

ท่านสอนไว้ 4 อัน ที่เป็นหลักจริงๆ เริ่มตั้งแต่สมถะ จนถึงภาวะแห่งนิพพาน จิตที่สัมผัสพระนิพพานเป็นอย่างไร “ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง” ไม่สำคัญมั่นหมาย ไม่กำหนด ไม่อะไรทั้งสิ้น มันถึงจะสะอาดหมดจดจริง ไม่มีกิจต้องทำ หลวงปู่ท่านสอนสั้นๆ หรอก หลวงพ่อก็คลำๆ เอา งูๆ ปลาๆ มา ตอนนี้เป็นปลาตัวโตหน่อย ก็บอกพวกปลาตัวเล็ก ลูกปลาทั้งหลาย จะถูกตัวอะไรเอาไปกินเสียก่อน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
21 มกราคม 2566