ช่วงนี้ยังมีคอร์สจีนอยู่ คนจีน 300 กว่าคน จุดอ่อนของคนจีนที่หลวงพ่อเห็นทั่วๆ ไป แต่ไม่ใช่ทุกคน แต่ว่าจำนวนมากเลยชอบคิดเอา ใช้ความคิดเกี่ยวกับธรรมะ ความคิดเชื่อไม่ได้ เพราะเราคิดไปตามอำนาจของกิเลส เรียนธรรมะต้องหลุดออกจากโลกของความคิดให้ได้ มาอยู่ในโลกของความเป็นจริง มาดูของจริง ของจริง เช่น ร่างกายเรานี้ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก สังเกตไปเรื่อยๆ ว่าในความเป็นจริงร่างกายมันเป็นตัวสุขหรือมันเป็นตัวทุกข์ ร่างกายเป็นตัวเราเป็นของเราไหม ดูจากของจริงไม่ใช่คิดเอา
ดูจากของจริงไม่ใช่คิดเอา
ธรรมะที่คิดเอาใช้ไม่ได้ มันก็คิดเข้าข้างตัวเอง อย่างตอนนี้พวกเรานั่งอยู่ก็รู้สึก เห็นร่างกายมันนั่ง อันนี้ช็อตที่หนึ่ง รู้สึกถึงร่างกายที่กำลังนั่งอยู่ แล้วรู้สึกไป อย่าถลำลงไปเพ่ง ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก รู้สึกไป แล้วสังเกตว่าร่างกายที่นั่งอยู่มันถูกรู้ถูกดูอยู่ ถ้าเห็นร่างกายเป็นของที่ถูกรู้ถูกดู มันจะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุอันหนึ่งเท่านั้นเอง ตรงที่เราเห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่เกิดจากการคิด แต่เกิดจากการเห็น
อย่างร่างกายที่หายใจออก ร่างกายที่หายใจเข้า ช็อตที่หนึ่ง รู้ว่าร่างกายหายใจออก รู้ว่าร่างกายหายใจเข้า ทำไป ต่อมาก็จะสังเกตเห็น ร่างกายที่หายใจออกก็ถูกรู้ ร่างกายที่หายใจเข้าก็ถูกรู้ มันเป็นของถูกรู้ถูกดู เป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา หัดดูเรื่อยๆ จนปัญญามันเกิด ปัญญาเป็นความรู้ถูกเข้าใจถูก ไม่ใช่เกิดจากการคิดเอา แต่เกิดจากการเห็นเอา ก็เห็นร่างกายมันหายใจ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายเคลื่อนไหว เห็นร่างกายหยุดนิ่ง เห็นไปเรื่อยๆ มันของถูกรู้ถูกดู ถูกเห็น ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นความรู้สึก รู้สึกเอา
นอกจากร่างกาย บางทีบางคนไม่ชอบดูร่างกาย ไม่ถนัด ก็ดูความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ อันนี้ก็ยังไม่ยากเท่าไร แนะนำให้ดูความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ในใจ ถ้าดูความรู้สึกสุขทุกข์ที่ร่างกายจะเห็นความเปลี่ยนแปลงยาก แต่ดูก็ดูได้ อย่างเรานั่งสมาธิอยู่ นั่งนานๆ ทีแรกร่างกายเราก็สบายๆ พอนั่งไปนานๆ มันมีความเจ็บความปวดเกิดขึ้น ถ้าเราดูเป็น จิตใจเราตั้งมั่นพอ เราจะเห็นว่าร่างกายเป็นอันหนึ่ง ความรู้สึกเจ็บปวดแทรกเข้ามาในร่างกาย ไม่ใช่ร่างกาย เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ความรู้สึกเจ็บปวดก็ไม่ใช่จิต มันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู
คำว่าจิตคือสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู ฉะนั้นเราดูลงไป รู้สึกอยู่กับร่างกาย บางคนก็เห็นร่างกายไม่ใช่เรา บางคนรู้สึกดูตรงนี้มันจืดไป ง่ายเกิน ถ้านั่งไปเรื่อยๆ เห็นความปวดเมื่อยแทรกเข้ามาในร่างกาย แทรกเข้ามาที่ขาอะไรอย่างนี้ ขามันเมื่อย เราก็จะเห็นร่างกายก็อันหนึ่ง ความปวดเมื่อยเป็นอีกอันหนึ่ง ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู ความปวดเมื่อยคือทุกขเวทนาทางกาย มันก็เป็นของถูกรู้ถูกดู
ฉะนั้นเราจะรู้ว่าทุกขเวทนาที่เกิดในร่างกายก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา แล้วไม่ใช่ร่างกาย แล้วก็ไม่ใช่จิตใจ จิตใจเป็นคนเห็นความทุกข์ ความปวดความเมื่อยในร่างกายเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ความปวดเมื่อยไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา สั่งไม่ได้ อย่างเรานั่งอยู่นานๆ สั่งไม่ให้ปวดไม่ให้เมื่อย สั่งไม่ได้ บังคับมันไม่ได้ พอหัดดูบ่อยๆ เราก็จะเริ่มแยกขันธ์ได้มากขึ้นๆ ร่างกายก็ส่วนหนึ่ง ความรู้สึกเจ็บปวดในร่างกายก็ส่วนหนึ่ง ความรู้สึกสุขทุกข์ในจิตใจก็เป็นอีกอันหนึ่ง
อย่างร่างกายเจ็บปวดเป็นอันหนึ่ง ถ้าดูแล้วสมาธิไม่พอ บางทีทนไม่ไหว มันทรมานมาก ใจฟุ้งซ่าน ถ้าใจฟุ้งซ่าน เสียสมาธิไปแล้ว ไม่มีประโยชน์ในการดู การดูนั้นจะกลายเป็นทนดู ทนดูเมื่อไรก็เป็นอัตกิลมถานุโยคเมื่อนั้น แต่ถ้าจิตมันมีกำลัง มันดูร่างกาย เห็นร่างกายเจ็บปวด อันนี้เรียกเป็นการเดินปัญญาแล้ว เห็นร่างกายก็อันหนึ่ง ไม่ใช่เรา ความเจ็บปวดก็เป็นอีกอันหนึ่ง ไม่ใช่เรา เป็นของถูกรู้ถูกดู
หัดภาวนาจนสามารถแยกขันธ์ได้
เมื่อก่อนเคยพาพี่ๆ ตอนนั้นเรียนหลักสูตรสจว. เขาเรียกสจว. สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง ไปเรียน เขาก็ไป พาไปจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ ไปถึงเชียงใหม่ ชวนพี่กลุ่มหนึ่งไป แก่ๆ ทั้งนั้นเลย ขึ้นไปถ้ำผาปล่อง แต่แกก็เก่ง แกเดินขึ้นได้ ทางมันก็ไกล ชัน เดินไปแล้วหลวงปู่สิมท่านให้นั่งขัดสมาธิเพชร ขัดเพชร ไขว้ๆ พระพุทธรูปองค์นี้นั่งขัดราบๆ ซ้อนเฉยๆ ถ้าขัดเพชรจะไขว้ขาไขว้กัน เจ็บ แล้วท่านก็นั่งเทศน์ไป พวกเราก็นั่งขัดสมาธิเพชรฟังท่านเทศน์ พอเจ็บมากๆ แต่ละคนก็เริ่มแอบ ถอดที่ขัด ไม่ขัดแล้ว นั่งราบบ้าง นั่งพับเพียบบ้าง ท่านเทศน์อยู่สักชั่วโมง เหลือคนที่นั่งขัดเพชรอยู่ 2 คน คือหลวงพ่อกับพี่อีกคนหนึ่ง พี่นี่แกอยู่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ชอบเข้าวัดเลยนั่งได้
หลวงปู่ก็ถามเป็นอย่างไร นั่งขัดเพชรแล้วเป็นอย่างไร แกก็บอก “หูย เจ็บมากครับ ทรมานมากเลย” หลวงปู่ก็ถาม “ขามันบอกว่าเจ็บหรือ” แกไม่เข้าใจ หลวงปู่ถาม “ขามันบอกว่าเจ็บหรือ” แกไม่เข้าใจคำถาม แกก็เลยไปบอกหลวงปู่ “ผมเจ็บจริงๆ ครับ ผมไม่ได้แกล้งหลอกหลวงปู่หรอก” หลวงปู่ก็ยิ้มๆ ไม่ว่าอะไร พวกเราฟังออกไหม ขามันอันหนึ่ง ความเจ็บก็อันหนึ่ง ขาไม่ได้บ่น ความเจ็บก็ไม่ได้บ่น เป็นความรู้สึกเฉยๆ ที่เอะอะโวยวายอยู่ข้างในคือจิตเราเอง ค่อยๆ แยกไป
ถ้าเราสามารถแยกได้แล้ว ร่างกายก็อันหนึ่ง ความเจ็บปวดคือทุกขเวทนาหรือสุขเวทนาก็ตามเป็นอีกอันหนึ่ง แล้วความปรุงแต่งของจิต เช่น รู้สึกเจ็บมาก จิตทุรนทุราย ความทุรนทุรายก็เป็นอีกอันหนึ่ง เป็นของถูกรู้ เป็นของถูกดูเหมือนกัน ตัวร่างกาย เขาเรียกตัวรูป ตัวความเจ็บปวดเป็นตัวเวทนา ตัวทุรนทุราย นี่ตัวสังขาร สังขารขันธ์ ตัวที่รู้ที่ดูคือจิต ความทุรนทุรายเกิดขึ้น จิตใจกระสับกระส่าย ที่จริงก็เป็นแค่ของถูกรู้ถูกดูเหมือนกัน เราสั่งมันไม่ได้ เราสั่งจิตว่าอย่าทุรนทุราย สั่งไม่ได้
ค่อยๆ แยก ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นร่างกายไม่ใช่เรา ความสุขทุกข์ไม่ใช่เรา ความปรุงดีปรุงชั่ว อย่างความทุรนทุรายของจิตก็เป็นกิเลสตัวหนึ่ง ก็เป็นความปรุงชั่ว มันก็ไม่ใช่เรา มันปรุงของมันขึ้นมาเอง ถ้าเราจะปรุงได้ตามใจชอบ เราก็สั่งให้จงปรุงแต่ดีๆ ไม่ปรุงชั่ว หรือเวทนา ถ้าเราสั่งมันได้ เราก็บอก จงมีแต่ความสุข อย่ามีความทุกข์ ร่างกายถ้าเราสั่งมันได้ เราก็สั่งจงอย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย เราสั่งไม่ได้สักอย่างหนึ่ง
กระทั่งจิตใจเราเราก็สั่งไม่ได้ จิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็ไปดูรูปทางตา เดี๋ยวก็ไปฟังเสียงทางหู ไปดมกลิ่นทางจมูก ไปลิ้มรสทางลิ้น ไปรู้สัมผัส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวทางร่างกาย ก็ไปคิดนึกทางใจ มันทำงานของมันได้เอง เราสั่งไม่ได้ เลือกไม่ได้ พอเราเห็นความจริงซ้ำๆๆ ไปเรื่อย จิตเองก็ไม่ใช่เรา สั่งไม่ได้
แล้วในความเป็นจริงถ้าเราแยกขันธ์ได้เก่งจริงๆ เราสามารถแยกได้เลยที่ว่าจิตสุข มันยังเป็น 2 อย่างที่ปนกันอยู่ คือความสุขกับจิต จิตทุรนทุราย มันก็มี 2 อย่างปนกันอยู่ คือความทุรนทุรายกับจิต ตัวจิตจริงๆ ไม่ดีไม่ชั่วอะไร เป็นแค่ธรรมชาติรู้เท่านั้นเอง เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ไม่ได้สุข ไม่ได้ทุกข์ ไม่ได้ดี ไม่ได้ชั่วอะไรทั้งสิ้น มันสุข มันทุกข์ มันดี มันชั่ว เพราะสิ่งที่เรียกว่าเจตสิก คือองค์ธรรมที่มาประกอบกับจิต ก็คือพวกเวทนา สัญญา สังขาร เรียกว่าเจตสิก ตัวรูปก็อันหนึ่ง เวทนา สัญญา สังขาร อีก 3 ขันธ์ เรียก เจตสิก วิญญาณ คือตัวจิต นี่คือขันธ์ 5
อย่างพอเราทุรนทุราย รู้สึกจิตทุรนทุราย ดูให้ดี ทุรนทุรายก็เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่จิตหรอก จิตเป็นคนรู้ หรือมีความสุขขึ้นมา ความสุขก็ไม่ใช่จิต ความสุขเป็นของถูกรู้ถูกดู สามารถแยกออกไปได้ ในที่สุดเราก็แยกเอาจิตออกมาได้ จิตไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ดีไม่ชั่วอะไรทั้งสิ้น เป็นกลางๆ มันคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ส่วนรู้อารมณ์แล้วจะสุขหรือจะทุกข์ ก็เพราะเจตสิก คือเวทนาเข้ามาประกอบ รู้อารมณ์แล้วจะดีหรือชั่ว ก็เกิดจากเจตสิกที่เรียกว่าสังขาร สังขารขันธ์เข้ามาประกอบ
เพราะฉะนั้นเวลาโกรธขึ้นมา คนภาวนาไม่เป็น อันนี้แบบไม่เป็นเลย เวลาโกรธจะพุ่งความสนใจไปที่คนที่ทำให้เราโกรธ ถ้าเราหัดภาวนาดีขึ้นมาหน่อยหนึ่ง เราจะเห็นว่าจิตมันโกรธ ถ้าภาวนาดีขึ้นไปอีก เราจะเห็นว่าความโกรธกับจิตมันเกิดร่วมกันก็จริง แต่มันคนละอันกัน ความโกรธไม่ใช่จิต ความโกรธเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งจิตขึ้นมา พอแยกๆๆ เราก็จะพบจิตจริงๆ จิตจริงๆ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีแสง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีตัว ไม่มีตนอะไร มีอยู่ แต่ไม่มีตัวตนอะไร ว่าง
จิตนั้นปรากฏขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยเจตสิกมาประกอบ มันเลยเกิดเป็นจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว จิตก็คือจิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ไม่ได้สุข ไม่ได้ทุกข์ ไม่ได้ดี ไม่ได้ชั่ว มันเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่วเพราะองค์ธรรมที่เข้ามาประกอบจิต องค์ธรรมที่มาประกอบจิตเรียกว่าเจตสิก
พอเราหัดภาวนาเรื่อยๆ เราก็จะสามารถแยกออกมาได้ รูป ร่างกายนี้ส่วนหนึ่ง ความสุขความทุกข์ในกาย ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ในจิตใจ นี่เป็นเวทนา เป็นอีกส่วนหนึ่ง ความจำ ความจำได้ ความหมายรู้ ตัวนี้พูดยากๆ ความจำได้ยังพอง่ายๆ หมายรู้เข้าใจยาก ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์ก็เว้นๆ ไว้ก่อน จำได้ เช่น จำได้ว่าจำสมมติบัญญัติได้ เช่น คนนี้ชื่อนี้ เป็นลูกนายคนนี้ ลูกยัยคนนี้ ถนนหน้าวัดชื่อถนนอะไร ถนนนี้ถ้าเราไปเรื่อยๆ เราจะไปถึงไหน อย่างนี้จำได้ บางทีก็จำในเชิงสัญลักษณ์ ถ้าสีแดง ขับรถอยู่แล้วเห็นไฟแดงก็แปลได้ แปลว่าหยุด เจอสีเขียวก็แปลว่าให้ไปได้ เจอสีเหลือง ให้รีบๆ ไป ลุกลี้ลุกลน ไปตายกันก็ตรงนี้ล่ะ
อันนี้เขาเรียกว่ามันจำได้ เราจำได้ว่านี่สีโน่นสีนี้ แล้วมันก็รู้ว่าแปลว่าอะไร เป็นสัญลักษณ์ นี่เรื่องของสัญญา เข้าใจยาก แล้วสัญญายังมีอีกลักษณะหนึ่งคือความหมายรู้ อย่างพวกเรามีความหมายรู้ผิด เราหมายรู้ว่าร่างกายนี้เป็นตัวเรา ความสุขทุกข์ก็เป็นเราสุขเราทุกข์ กุศลอกุศลก็เป็นเรามีกุศล เรามีอกุศล นี่หมายรู้ผิด หมายรู้ของที่ไม่ใช่เราว่าเรา
การหมายรู้ผิด
การหมายรู้ผิดมี 4 อย่าง หมายรู้ของที่ไม่สวยไม่งามเป็นปฏิกูลอสุภะว่าสวยว่างาม อย่างร่างกายเรานี้ในความเป็นจริงดูไม่ได้เลย ที่มันดูได้เพราะมันถูกผม ขน เล็บ ฟัน หนังมาหลอกตาไว้ ถ้าเราไปเจอนางงามจักรวาลคนหนึ่ง หูย สวยมากเลย แต่โดนน้ำร้อนลวก ตัวด่างๆ หนังลอก รู้สึกสยดสยอง ขยะแขยง ความสวยความงามของคนอยู่ที่เปลือกนิดเดียวเท่านั้นเอง อยู่ที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเท่านั้นเอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันเป็นส่วนของร่างกายที่มองจากภายนอกเห็นได้
ฉะนั้นเวลาพระจะบวช อุปัชฌาย์จะต้องสอนให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พอบวชใหม่ๆ จิตยังมีราคะรุนแรง ให้หัดมองบ้าง คนที่ว่าสวย ผู้หญิงว่าสวย พระมาบวช ใจหวั่นไหว ไม่อยากบวช มันสวยตรงไหน ถ้าผมมันร่วงเป็นหย่อมๆ สวยไหม หรือผมไม่ได้สระเลย เหม็นหึ่งเลย มีเหา มีอะไรอยู่ มันสวยไหม ไม่สวยแล้ว ถ้าฟันหลอสวยไหม ยิ้มทีหนึ่ง โอ้โห้ เหมือนเปิดประตูบ้าน ไม่มีอะไรเลย ข้างในโล่งไปหมด เหมือนบ้านไม่มีบานประตู ดูไม่ได้ ถ้าขนร่วงไปหมดเหมือนหมาขี้เรื้อนอย่างนี้ ไม่สวยไม่งาม ที่เราหมายรู้ผิดเพราะเราถูกผม ขน เล็บ ฟัน หนังมันหลอกเอาไว้ ถ้าไม่มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มาหลอก ความจริงมันก็ปรากฏ ไม่ได้สวยได้งามอะไรหรอก แต่เราหมายรู้ผิด
หมายรู้ผิดมี 4 อัน หมายรู้ของไม่สวยไม่งามว่าสวยว่างาม หมายรู้ของไม่เที่ยงว่าเที่ยง อย่างจิตใจของเราไม่เที่ยง เกิดดับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน แต่เราก็หมายรู้ผิดว่าจิตเราเที่ยง จิตเราเดี๋ยวนี้กับจิตเราชาติก่อนก็คนเดียวกัน จิตเราเดี๋ยวนี้กับจิตชาติหน้ามันก็ยังคนเดียวกัน จิตเราเดี๋ยวนี้กับจิตเมื่อเช้าก็คนเดียวกัน เรารู้สึกว่าเป็นดวงเดียวกัน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วจิตมันไม่เที่ยง เราไปหมายรู้ผิดว่ามันเที่ยง
เราหมายรู้ผิดอันที่สามคือเห็นสิ่งซึ่งมันเป็นทุกข์ว่ามันเป็นสุข อย่างร่างกายเราเต็มไปด้วยความทุกข์ เราก็ไปเห็นว่าไม่ค่อยทุกข์เท่าไร ยังแข็งแรงอยู่อย่างนี้ มีความสุข ถ้าหมายรู้ถูกก็จะเห็น ร่างกายมีแต่ความทุกข์ เพียงแต่บางทีก็ทุกข์มาก บางทีก็ทุกข์น้อย เรียกหมายรู้ถูก
หมายรู้ผิดอันที่สี่ หมายรู้สิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราว่าเป็นตัวเรา ร่างกายไม่ได้เป็นตัวเรา มันเป็นสมบัติของโลก ยืมโลกมาใช้ มันเป็นแค่วัตถุเป็นก้อนธาตุเท่านั้น เราหมายรู้ผิดว่ามันเป็นตัวเราเป็นของเราขึ้นมา ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเกิดขึ้น มันก็เป็นแค่ปรากฏการณ์ ความสุขก็เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง ความทุกข์ก็เป็นปรากฏการณ์ กุศลอกุศลก็เป็นแค่ปรากฏการณ์ เราก็ไปหมายรู้ผิดว่าเราสุขเราทุกข์ อันนี้เราดี อันนี้เราโลภ เราโกรธ เราหลงอะไรขึ้นมา ไปตะครุบทุกสิ่งทุกอย่างมาเป็นตัวเราไปหมด อันนี้เรียกหมายรู้ผิด
สรุปหมายรู้ผิดมี 4 อัน หมายรู้ของที่ไม่งามว่างาม ของไม่เที่ยงว่าเที่ยง ของเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ของไม่ใช่ตัวเราว่าเป็นตัวเรา นี่หมายรู้ผิด ถ้าหมายรู้ถูกก็กลับข้างกัน เห็นของที่ไม่สวยงาม รู้ว่าไม่สวยไม่งาม ร่างกายนี้ไม่ได้สวยงาม สกปรกออก สาวงามลองไม่อาบน้ำ 3 วัน เอาไหม ไม่ไหว เหม็น ร่างกายนี้วิเศษเหลือเกิน สิ่งที่ไหลออกมาจากร่างกายมีอันไหนที่หอมบ้าง อันไหนน่าชื่นชมบ้าง ตั้งแต่ขี้หัวถึงขี้ตีน ขี้เล็บตีน หัวถึงเท้าไม่มีอะไรดีสักอย่างหนึ่งเลย ภาษาไทยเต็มไปด้วยคำว่าขี้ ตั้งแต่ขี้หัว ขี้รังแค จนถึงขี้มือ ขี้ตีน ขี้เล็บอะไรอย่างนี้ เต็มไปด้วยคำว่าขี้ สิ่งที่ออกจากร่างกายมี 2 อัน เหงื่อยังเรียกขี้เหงื่อเลย เหลือแต่ปัสสาวะไม่เรียกว่าขี้ปัสสาวะ เว้นไว้อันเดียวเท่านั้นโดยภาษา แต่ในความเป็นจริงก็คือเป็นของที่ไม่สะอาด
ฉะนั้นจริงๆ ร่างกายเรานี้พระโบราณท่านเปรียบเหมือนถุงหนัง สมัยเราไม่มีการใช้ถุงหนังแล้ว สมัยโบราณมีถุงทำด้วยหนัง ใส่น้ำได้อะไรได้ ใส่ของหอมก็ได้อะไรได้ ท่านชี้ให้ดู ร่างกายเหมือนถุงหนังใบหนึ่ง เป็นถุงหนังที่มีรูรั่วใหญ่ๆ อยู่ 9 รู ไปนับเอาเอง มีรูรั่วเล็กๆ นับไม่ถ้วน มีของโสโครกไหลออกมาเป็นนิจ ท่านสอนให้ดูอย่างนี้ จะได้หายหลงผิดว่ามันสวยมันงาม
แล้วก็หัดทำวิปัสสนา ก็จะเห็นรูปนาม ขันธ์ 5 ล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่เป็นทุกข์ คือถูกบีบคั้นให้แตกสลาย คำว่าทุกข์ตัวนี้แปลว่าการถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ก็เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา สั่งไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย อันนี้เรียกอนัตตา
วิธีถอดถอนความเห็นผิด
เวลาที่เราภาวนา เรามีสติรู้กาย มีสติรู้เวทนา มีสติรู้จิตตสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วทั้งหลาย มีสติรู้เท่าทันจิต แล้วก็หมายรู้ให้ถูกลงไป หัดมองให้ถูกบ้าง เพราะว่ามองผิด มันก็เลยเกิดความหลงผิดว่ามีตัวเรา หัดมองใหม่ ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา เป็นสมบัติของโลก ยืมโลกมาใช้ วันหนึ่งก็ต้องคืนโลกไป หัดหมายรู้ให้ถูก
ทีแรกก็ต้องช่วยมันหมายรู้ คิดพิจารณาลงไป ต่อไปจิตมันหมายรู้เป็นแล้วไม่ต้องคิด ตรงที่คิดพิจารณายังไม่ขึ้นวิปัสสนา แต่เป็นการเดินปัญญาเบื้องต้น เป็นการกระตุ้นให้จิตหัดมองร่างกายจิตใจเป็นไตรลักษณ์ ให้จิตมันหัดมอง อย่างมองร่างกาย เราก็จะเห็นร่างกายมันเป็นของถูกรู้ถูกดูไม่ใช่ตัวเราหรอก สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นเวทนาก็ถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เรา สติระลึกรู้สังขาร ก็รู้อีก สังขารก็ถูกรู้ถูกดู โลภ โกรธ หลงอะไรนี่ถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เราหรอก จนกระทั่งเข้ามาที่จิต เราก็เห็นจิตเองก็เกิดดับตลอดเวลา เดี๋ยวจิตก็เกิดเป็นจิตผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้หลง เป็นจิตผู้หลงก็หลงไปทางตา หลงไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หลงไปคิดนึกทางใจ มีแต่หลงทั้งนั้นเลย จิต เราก็เห็นจิตมันเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไปเรื่อยๆ
ถ้าดูยากก็ดูอยู่ที่ใจอันเดียว เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้หลง เป็นจิตผู้คิด เป็นจิตผู้เพ่ง เพ่งก็คือหลงเพ่ง คิดก็คือหลงคิด ฉะนั้นถ้าเรารู้สึกดูจิตตั้ง 6 ช่องทางยาก ดูมันที่จิตอันเดียว ดูที่ใจเดี๋ยวจิตก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้หลง ดูไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นจิตเป็นผู้รู้ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็กลายเป็นผู้หลง จิตเป็นผู้หลงก็เป็นอนัตตา ห้ามไม่ได้ ไม่อยากหลงสักหน่อย หลงเอง จิตทำงานได้เอง ไม่ใช่เรา
หัดดูในขันธ์ 5 ดูไปเรื่อย ล้วนแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ ไม่ใช่นั่งคิดเอา นั่งคิดเอาว่าร่างกายไม่ใช่เรา คิดเอาแล้วก็อิ่มอกอิ่มใจว่ากูรู้ธรรมะ มันรู้ด้วยการคิด มันยังไม่ได้เห็นของจริง ต้องลงมือปฏิบัติไปจนเห็นของจริง ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นด้วยจิตใจที่แท้จริง มันจะไม่กลับมาหลงผิดอีก อย่างคนไหนเป็นพระโสดาบันแล้ว รู้ความจริงแล้ว ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเราในขันธ์ 5 ไม่มีตัวเราของเราที่ไหนเลย ไม่มี พระโสดาบันภาวนาไปจนจิตมันเห็นความจริงอันนี้แล้ว ความรู้อันนี้ฝังลึกเข้าไปในจิตใจ ตายไปแล้วข้ามภพข้ามชาติไปแล้ว ความรู้อันนี้ก็ไม่หายไป มันฝังลงไปในจิตใจ
แต่ถ้าเป็นความรู้จากการคิด การอ่าน การฟังอะไรอย่างนี้ ไม่ทันจะแก่ก็ลืมหมดแล้ว ส่วนใหญ่ก็คือ อย่างเราท่องอะไรต่ออะไรไว้ ความรู้ เรียนธรรมะ ท่องๆๆ เอาไว้ หรือเรียนอภิธรรม เรียนจูฬตรี จูฬโท จูฬเอกอะไรต่ออะไร จนถึงมหาปัฏฐานอะไร พอสอบ เสือกสอบเสร็จก็ลืมแล้ว มันไม่ฝังใจหรอก แต่อย่างพวกที่เขาเรียนเยอะๆ ความรู้มันไม่ฝังใจ สิ่งที่ฝังใจคือนิสัยชอบเรียน ชาติหน้าก็อยากไปเรียนอีก เรียนแล้วก็จำๆ ไว้ พอแก่แล้วก็ลืม แล้วชาติต่อไปก็ไปเรียนอีก เพราะมันชอบเรียน ส่วนตัวความรู้มันไม่ฝังใจ มันจะฝังใจได้เราต้องพามันเห็น เห็นแล้วเห็นอีกให้มันประจักษ์ชัด จนไม่มีข้อสงสัย
ตามรู้ตามดูกาย ตามรู้เวทนา ตามรู้สังขาร ตามรู้จิตใจของเราไปจนมันรู้แจ้งเห็นจริง โอ้ ไม่มีเรา ที่มีเราเพราะอะไร เพราะมาจากการหมายรู้ผิดๆ หมายรู้ของที่ไม่สวยงามว่าสวยงาม หมายรู้ของไม่เที่ยงว่าเที่ยง หมายรู้ของที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข หมายรู้ของที่ไม่ใช่เราว่าเป็นเรา มันมาจากการหมายรู้ผิด พอหมายรู้ผิด มันก็คิดผิด คิดทีไรมันก็มีเราทุกที คิดไปเรื่อยๆ มีเราอยู่เรื่อยๆ ก็เลยเชื่อผิดว่าตัวเรามีอยู่แน่นแฟ้นจริงจัง ความที่เราหลงผิดว่าเรามีตัวตนๆ กระบวนการของมันมาจากหมายรู้ผิด หมายรู้ผิดก็คิดผิด พอคิดผิดเลยเชื่อผิด กลายเป็นทิฏฐิ ความเชื่อ ความคิดความเห็นก็ฝังลึกลงไปว่าตัวเรามีจริงๆ
วิธีที่จะถอดถอนความเห็นผิดก็คือเห็นถูก เห็นกายอย่างที่กายเป็นสิ กายเป็นอะไรบ้าง กายเป็นของไม่สวยไม่งามจริง กายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความรู้สึกสุข ทุกข์ ดี ชั่ว แล้วก็ตัวจิตเองเป็นอะไรบ้าง เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ในนามธรรม เห็นไหมไม่มีปฏิกูล ไม่มีอสุภะ ปฏิกูลอสุภะเลยไม่จัดอยู่ในไตรลักษณ์ เพราะมีอยู่ในร่างกาย แล้วไม่จริงด้วย อย่างร่างกายเราพอตายแล้ว ศพน่าเกลียดน่ากลัว คนรักแท้ๆ เลย พอตอนจะเผาเขาเปิดโลงให้ดู ไม่อยากดูๆ ขยะแขยง รู้สึกว่าร่างกายมันของสกปรก น่าขยะแขยง แต่พวกมดพวกแมลง อีแร้งอีกาอะไรนี่ สมัยก่อนมันมี เดี๋ยวนี้มันไม่มีแล้วสัตว์พวกนี้ พวกนั้นมันเห็นว่าของวิเศษเลย ซากศพที่เราว่าน่าเกลียด พวกนกกามันเห็นว่าเป็นของดี แย่งกันกิน ทะเลาะกันเจี๊ยวจ๊าวไปหมด ตีกัน แย่งกัน รู้สึกว่าเป็นของวิเศษ
เพราะฉะนั้นตรงปฏิกูลอสุภะมันจะไม่ได้มีจริงหรอก แต่การที่พิจารณาปฏิกูลอสุภะไปมันช่วยข่มราคะได้ มีประโยชน์ ที่อุปัชฌาย์จะสอนพระบวชใหม่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังอะไรนี่ ให้หัดดู ปฏิกูลอสุภะ อย่างถ้าชอบผู้หญิงก็เห็นผู้หญิงมีปฏิกูลอสุภะ ราคะก็สงบ บวชไปก็สบาย ถ้าชอบผู้ชาย ก็เห็นผู้ชายก็เป็นปฏิกูลอสุภะ มาบวชก็สบาย ใจไม่วอกแวก ไม่วุ่นวาย ฉะนั้นเรื่องปฏิกูลอสุภะ ไม่อยู่ในไตรลักษณ์ แล้วจริงๆ ไม่มีจริงหรอก ของที่เราว่าสกปรก แมลงวันมันว่าดี หอม ของที่เราว่าไม่ดี มันว่าดี ไม่เป็นสากล แต่อย่างไฟร้อน เราร้อน สัตว์โดนไฟเข้าไป สัตว์ก็ร้อน คนไทยโดนก็ร้อน คนจีนโดนก็ร้อน ฝรั่งโดนก็ร้อน ความร้อนเลยเป็นของจริง ฉะนั้นตัวสัญญาที่ผิด ตัวปฏิกูลอสุภะ อันนี้เป็นอุบายเอาไว้ข่มราคะเท่านั้นเอง แล้วจริงๆ มันไม่มีหรอก สิ่งที่มันมีจริงก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะฉะนั้นเราเรียนก้าวข้ามภาพลวงตามาสู่ของจริง ดูอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
จิตจะแยกธาตุได้ จิตต้องมีสมาธิมากพอ
มีครั้งหนึ่ง หลวงพ่อเป็นคนที่ไม่ชอบความสกปรกเลย แต่ไหนแต่ไรไม่ชอบอะไรที่สกปรก มีครั้งหนึ่งเข้าไปที่วัดป่าสาละวัน เข้าไปทางด้านหลังวัด เดินตัดไปเข้าไป ถนนนั้นเต็มไปด้วยขี้หมาเกลื่อนไปหมดเลย แทบจะเดินท่าไหนจะไม่เหยียบมันเข้า รู้สึกขยะแขยง เดินไปด้วยใจขยะแขยง จะไปกราบหลวงพ่อพุธ ก็เดิน ทีหลังไม่เอาแล้วไม่เข้าประตูนี้แล้ว ไปเข้าข้างหน้าดีกว่า เดินตรงนี้ก็ต้องระวัง ก้าวซ้ายก็ต้องระวัง ก้าวขวาก็ต้องระวัง ขยะแขยง แล้วมันไปเจอขี้หมาอยู่กองหนึ่ง พวกเราทานข้าวแล้วใช่ไหม ฟังดี เผื่อจะได้อิ่มไปถึงตอนเย็น กองนี้พิเศษกว่ากองอื่น มันเพิ่งถ่ายไว้ใหม่ๆ ยังเปียกๆ อยู่ มีหนอนด้วย สีเขียว สีแดงอะไรไม่รู้ ไปกินอะไรมาก็ไม่รู้ เห็นแล้วสะอิดสะเอียนมากเลย แถมมีแมลงวันหัวเขียว รู้จักไหมแมลงวันหัวเขียว ที่จริงมันเขียวทั้งตัวล่ะ ไม่ได้เขียวแต่หัว แมลงวันสีเขียวตัวโตๆ มันตอม
พอเราเดินเข้าใกล้ มันบินเข้ามาหาเราอีก เกลียดมากเลย ขยะแขยง สะอิดสะเอียนเต็มที เสร็จแล้วอยู่ๆ จิตมันสงบลงปุ๊บ เพราะมันรู้สึกอันตรายมาถึงตัวแล้ว แมลงวันสกปรกบินมาแล้ว จิตมันตื่นตัวรวมปุ๊บลงไป แล้วสติมันหยั่งลงไปที่กองขี้หมา มันหยั่งลงไปปุ๊บแล้วมันก็แยกขี้หมาเลย สี สีก็ส่วนสี กลิ่นก็ส่วนกลิ่น ส่วนที่เป็นน้ำก็เป็นส่วนที่เป็นน้ำ ส่วนที่ตามลมขึ้นมา มันก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง แล้วตัวมันยังอุ่นๆ อยู่ เป็นอีกส่วนหนึ่ง ความอุ่นๆ ของมัน
มันจับแยกขันธ์เลย แยกธาตุเลย ไม่ใช่แยกขันธ์ จิตมันเคยเดินปัญญาชำนิชำนาญแล้ว มันขยะแขยงขี้หมากองนี้ มันกระโดดใส่เลย เอาเรื่องกับมันสิ มันกระโดดเข้าไปใส่กองขี้หมาแล้วมันแยกๆๆ แยกสี แยกกลิ่น รสไม่ได้แยก เพราะเราไม่ได้คิดจะชิม สีเป็นอสุภะไหม สีไม่ใช่อสุภะ กลิ่นเป็นอสุภะไหม กลิ่นก็เป็นสิ่งที่กระทบจมูกเท่านั้นเอง ไม่ได้มีปฏิกูลอสุภะอะไร เราต่างหากบอกนี่กลิ่นไม่ดี จิตเป็นคนบ่นเอง พอจิตตั้งมั่นจริงๆ ไม่บ่น เพราะรู้ว่ากลิ่นก็คือกลิ่น สีก็คือสี ดินก็ดิน น้ำก็คือน้ำ ลมก็คือลม ไฟก็คือไฟ จิตมันเข้าไปแยกขี้หมากองนี้ออกมาเป็นธาตุ
พอธาตุแตกออกไป มันแยก 2 อันซ้อนกัน แยกส่วนที่เป็นรูป ตัวสี ตัวกลิ่นอะไรนี่เป็นตัวรูปแล้วในตัวรูปมันประกอบด้วยตัวธาตุ มันแยกธาตุเข้าไปอีก ถามว่าแล้วน้ำที่ระเหยออกมาเป็นปฏิกูลไหม ขี้หมาเปียกๆ น้ำที่อยู่ในขี้หมาเป็นปฏิกูลไหม น้ำที่เรากินทุกวันนี้อาจจะเป็นน้ำล้างศพอะไรมาแล้วตั้งเยอะแยะ เพราะน้ำมันอยู่กับโลกมาตั้งไม่รู้กี่พันล้านปีแล้ว ก็มีคนอื่นเขากินมาก่อนเราแล้วก็ฉี่ออกมา น้ำนี้มันก็ยังอยู่ แล้วเราก็เอามากินต่อ บางทีก็เป็นซากสัตว์ น้ำเหลือง น้ำหนองอะไร แล้วเราก็มากินได้ รู้สึกไม่สกปรก เพราะฉะนั้นตัวน้ำไม่มีความสกปรก
มันแยกๆๆ สุดท้ายเหลือดิน จิตมันวิจิตรพิสดาร มันดูกองขี้หมา กองขี้หมาแห้งทันทีเลย อันนี้มันไม่ได้แห้งจริงหรอก มันแห้งในความรู้สึกของเรา แห้งเป็นผง ผงก็เป็นดิน แล้วดินสกปรกไหม ดินก็คือดิน พอแยกๆ ขี้หมาไปเลยรู้ ปฏิกูลอสุภะไม่มีจริงหรอก ที่เราเห็นเป็นกองขี้หมาก็เป็นแต่แค่ธาตุเท่านั้นเอง เป็นแค่รูป รูปสี รูปกลิ่น แล้วก็เป็นก้อนธาตุ ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม พอแยกหมด ความรู้สึกขยะแขยงในใจหายไปทันที ดับทันที มันไม่ได้รังเกียจดิน น้ำ ไฟ ลม ก็เดินไปที่กุฏิหลวงพ่อพุธด้วยความสบายอกสบายใจ
หลวงพ่อพุธท่านก็ถาม “ไง นักปฏิบัติ วันนี้ภาวนาเป็นอย่างไร” ก็เล่าถวายท่าน ท่านก็ชอบอกชอบใจ ท่านบอกอย่างนี้สิถึงจะเป็นนักปฏิบัติจริง ท่านเรียกหลวงพ่อว่านักปฏิบัติ เพราะว่าหลวงพ่อไม่ทำอย่างอื่น ปฏิบัติลูกเดียวเลย ไม่ทำอย่างอื่นก็ไม่ใช่ หมายถึงว่าไม่เถลไถล งานการทำ แต่ทำงานแล้วไม่เถลไถลอะไร ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติทุกวันๆ ท่านเลยเรียกหลวงพ่อว่านักปฏิบัติ ท่านบอกว่าถ้าภาวนาได้ แยกธาตุออกไปได้ แต่การที่จิตมันแยกธาตุออกได้ จิตต้องมีสมาธิมากพอ ถ้าไม่มีสมาธิพอ แยกธาตุไม่ออกหรอก
แยกขันธ์ยังง่าย เพราะแยกขันธ์ไม่ยาก ร่างกายมันนั่งอยู่ รู้สึกไหม สุข ทุกข์ มันของถูกรู้ รู้สึกไหม ดี ชั่วเป็นของถูกรู้ รู้สึกไหม จิตเป็นคนรู้รู้สึกไหม ไม่ยากนักหรอก แต่แยกธาตุ ถ้าไม่มีสมาธิมากพอแยกไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราแยกไม่ได้ก็ไม่ต้องแยก กรรมฐานมีเยอะแยะ เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ หลวงพ่อเล่าให้ฟังให้ดูว่าจริงๆ ปฏิกูลอสุภะไม่มีจริงหรอก ของที่มีจริงคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทำวิปัสสนา ดูให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ฉะนั้นเวลาเราทำวิปัสสนา เราดูของจริง เราก็ต้องดูให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเราเห็นร่างกายนั่ง เห็นร่างกายพอง เห็นร่างกายยุบ มันเป็นเราพอง เป็นเรายุบ เป็นเรายืน เป็นเราเดิน เป็นเรานั่ง เป็นเรานอน มันยังหมายรู้ผิดอยู่ ท้องเราพอง ท้องเรายุบ มือเราขยับ เท้าเราขยับอะไรอย่างนี้ มันยังมีเราอยู่ ทำใจให้สงบ ให้ตั้งมั่นขึ้นมา แล้วสติระลึกรู้ลงไปที่ไหน ก็หมายรู้ลงไปว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทีแรกก็ต้องจงใจหมายรู้ ช่วยมันนิดหนึ่ง แต่ถ้าเราเคยเจริญสติเจริญปัญญามาแต่ชาติก่อนๆ แล้ว มันหมายรู้ได้เองอัตโนมัติเลย ไม่ต้องเจตนาหมายรู้หรอก ถ้าของมันเคยเป็น เคยทำมาได้ มันแยกเองเลย หรือถ้าเราเคยได้โสดาบันมาแล้ว เราฟังธรรมะนิดเดียว ธรรมะของเก่ากลับมาทันทีเลย รู้ขึ้นมาด้วยตัวเอง ของอย่างนี้ไม่หาย
ส่วนที่เรียนไว้ ท่องไว้ จำไว้ ประเดี๋ยวเดียวก็หายแล้ว บางทีไม่ทันจะตายมันก็ลืมหมดแล้ว บางคนสอบเสร็จก็ลืมแล้ว บางคนไปลืมในห้องสอบ น่าเจ็บใจหนักเข้าไปอีก ฉะนั้นเชื่อถืออะไรไม่ได้ความรู้จากการอ่าน จากการฟัง จากการคิด แต่มีประโยชน์ ทำให้เรารู้วิธีที่จะปฏิบัติ
พอรู้วิธีปฏิบัติก็มาฝึก ฝึกให้จิตใจตั้งมั่นแล้วก็มีพลัง จิตจะมีพลังได้ถ้าจิตเป็นกลาง ถ้าจิตเป็นกลาง จิตก็ไม่วอกแวกแส่ส่าย จิตสงบ นิ่งสงบ จิตก็เลยตั้งมั่นและเป็นกลาง ถัดจากนั้นพอเรามีจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง อย่าอยู่เฉย สติระลึกรู้กาย ก็เห็นไตรลักษณ์ของกาย ถ้าไม่เห็นก็ช่วยมันหมายรู้ว่าเป็นไตรลักษณ์ ถ้าจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้เวทนา ถ้าเราเคยภาวนามาแล้ว จิตมันก็จะหมายรู้ว่าเวทนาไม่ใช่ตัวเรา ถ้ามันยังไม่ยอมหมายรู้ ก็ช่วยมันนิดหน่อย เวทนานี่ของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เรา
ฝึกมันอย่างนี้ สอนมันไป อีกหน่อยมันหมายรู้เอง ไม่ต้องเจตนาจะหมายรู้ ตรงที่เราเดินวิปัสสนา ตรงนั้นไม่เจตนาจะหมายรู้แล้ว หมายรู้เอง ถ้ายังเจตนาหมายรู้อยู่ ยังเจือความจงใจเจือการคิดอยู่ ยังไม่เป็นวิปัสสนาแท้หรอก ต้องให้มันหมายรู้ได้เอง
ค่อยๆ ฝึก ทีแรกฟังเหมือนยาก แต่ทำไปเรื่อยๆ มันก็ง่าย ทุกเรื่องล่ะ ทำทีแรกมันก็ยาก ทั้งนั้น ทำไปๆ มันก็ง่ายเอง อย่างเรียนหมอ โอ๊ย ทีแรกก็ยาก ตอนนี้นักศึกษาแพทย์เป็นโรคที่ต้องพึ่งทางจิตแพทย์เยอะมากเลย มหาศาลเลย มันเครียดจัด ท่องๆๆ เครียดมากเลย งานก็หนัก อะไรต่ออะไร ยุ่ง เหนื่อย แล้วก็เครียด เรียนก็ยาก พอไปทีแรก ท่องคนเป็นโรคนี้จะต้องรักษาอย่างนี้ๆ ทำยาก หลวงพ่อเคยเจอพวกหมอจบใหม่ๆ คนไข้เป็นอะไร ไปตรวจคนไข้แล้วก็แอบออกไปจากห้อง โทร. หาอาจารย์ ปรึกษาตลอดเลย ปรึกษามันทุกเรื่องเลย เพราะมันยังไม่เก่ง พอรักษาไปนานๆ เก่ง เห็นหน้าก็พอดูออกว่าเป็นโรคอะไร
การปฏิบัติก็เหมือนกัน แรกๆ ก็ยากล่ะ ทำไปๆ มันก็ง่าย อะไรที่มันไม่เคย มันก็ยากทั้งนั้นล่ะ อะไรที่เคยแล้วก็ง่าย อย่างคนอกหักใช่ไหม อกหักครั้งแรกยากมากเลยที่จะทำใจ อกหักครั้งที่ยี่สิบ เฉยๆ ในวัดนี้มีพระอยู่องค์หนึ่ง ยังอยู่กระมัง อกหักบ่อย อกหัก เจ็บ วัน 2 วันหายแล้ว โอ้ ปลงตกเร็ว บอกไม่ได้ปลงตกหรอก ไม่ได้เห็นแจ้งในธรรมะอะไร มันชินๆ
เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก พัฒนาจิต เมื่อวานหลวงพ่อสอนแล้ว พัฒนาจิตให้ตั้งมั่นและเป็นกลาง แล้วพอสติระลึกรู้กาย รู้เวทนา รู้สัญญา สังขาร รู้จิตใจอะไรนี่ ดูความเป็นไตรลักษณ์ของมันไป ถ้ามันไม่ยอมดูไตรลักษณ์ก็ช่วยมัน ช่วยมันคิดพิจารณา อย่างสอนมันไป ดูจิตไม่ยอมเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ก็สอนมันไปเลย จิตเมื่อกี้เป็นผู้รู้ ตอนนี้มันเป็นผู้คิด เราไม่ได้เจตนาจะเป็นผู้คิดเลย เราเจตนาเป็นผู้รู้ แต่มันทำไม่ได้ จิตเป็นอนัตตา สอนอย่างนี้ สอนๆ มันไป แล้ววันหลังไม่ต้องสอน มันดูได้เอง
ถ้ามันดูได้เอง ไม่ต้องหันไปสอนอีก ถ้าสอนอีกจะตกจากวิปัสสนาทันทีเลย แต่ตรงที่มันดูได้เอง มันทำวิปัสสนาตัวจริงแล้ว เราต้องภาวนาเรื่อยๆ แล้วต่อไปเราก็เก่ง ภาวนาไป ใจมันก็ค่อยคลายออกจากโลก คลายออกจากทุกข์
การปฏิบัติต้องลงมือทำ ผิดบ้างถูกบ้างไม่เป็นไร
เมื่อเช้ามีพวกทิดหลายคนเข้ามาหาหลวงพ่อ พวกที่เคยบวชกับหลวงพ่อ ดูแล้วก็ โอ้ ดี แต่ละคนก็ยังขยันทำสม่ำเสมอ เจริญบ้างเสื่อมบ้าง มันเป็นเรื่องปกติ ที่สำคัญคือตั้งอกตั้งใจ ไม่ละเลย ทอดทิ้งการปฏิบัติ แต่ละคนก็ดูดีขึ้นๆ
การปฏิบัติเบื้องต้นมันก็ล้มลุกคลุกคลานทุกคน เหนื่อยยากลำบาก ค่อยฝึกไปก็ค่อยสบายขึ้นๆ เมื่อเช้ายังบอกพวกทิดเลย บอกว่ามันเหมือนเรือล่มกลางทะเล โห คลื่นลมแรง แทบจะเอาตัวไม่รอด แล้วอุตส่าห์พยายามว่ายน้ำ เกาะไม้กระดาน ใกล้ฝั่งเข้ามาคลื่นมันก็อ่อนแรงลง ไม่ดุเดือดเหมือนคลื่นกลางทะเล การภาวนาช่วงแรกมันก็หนักหนาสาหัสทุกคน พอภาวนาค่อยสบายขึ้นๆ พอขึ้นบกได้ สบายแล้ว ไม่โดนคลื่นแล้ว
ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนๆ ท่านบอกเหมือนอยู่ในป่า หลวงพ่อไม่ค่อยยกเรื่องป่า เพราะทุกวันนี้ไม่มีป่า บอกเหมือนเราหลงอยู่ในป่าลึกๆ ทึบไปหมดเลย ไม่มีทางเดิน ก็มีพร้าคอยฟันเถาวัลย์ฟันกิ่งไม้แหวกทางไป จากป่ารกทึบที่ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ก็ต้องทนเอา ฟันๆ ไป ไปเห็นด่านสัตว์ เส้นทาง ถนนของสัตว์เขาเรียกว่าด่านสัตว์ ค่อยพอจะเดินตามได้ หรือเห็นลำห้วยน้ำ ลำห้วยมา พอเดินตามลำห้วยไป น่าจะเจอหมู่บ้านได้ จากที่รกทึบก็ค่อยโล่งขึ้นๆ จากที่หนามเยอะๆ ก็เริ่มเตียน เดินสบายขึ้น
การภาวนาช่วงแรกก็ลำบากทุกคน เพราะเสี้ยนหนามคือกิเลสมันเยอะ พอภาวนากิเลสมันละเอียด มันก็เหมือนหนามเล็กลงๆ หนามสั้นๆ หรือหนามมีไม่มากแล้ว นานๆ มาทีก็สบายขึ้น แรกๆ ก็ต้องลำบากทุกคน เป็นธรรมดา ต้องอดทนเอา ไม่เห็นธรรมะอะไรสำคัญเท่าอดทนเลย เก่งแค่ไหน ถ้าไม่มีความอดทนที่จะภาวนา ไปไม่รอดหรอก เก่งวูบๆ วาบๆ ไม่ได้เรื่องหรอก เดี๋ยวก็เลิกแล้ว ฉะนั้นต้องอดทนจะได้พ้นทุกข์ไป รับรองว่าคุ้มค่า ไม่มีอะไรมีคุณค่าเหนือกว่าธรรมะหรอก
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ เชิญกลับบ้าน ช่วงนี้หลวงพ่องานเยอะ มีการเทศน์ก็เยอะ กิจกรรมพิเศษต่างๆ ก็เยอะ ช่วงปกติแต่ก่อนก็สอนเสาร์อาทิตย์ วันจันทร์ถึงวันศุกร์หลวงก็อยู่พักเงียบๆ อยู่ เดี๋ยวนี้พวกเรามาวัดแน่นทุกวันเลย วันหนึ่งเป็นร้อยๆ บางที สอนทุกวันหลวงพ่อก็ไม่ไหวเหมือนกัน แก่แล้ว ฉะนั้นบางวันก็จะไม่ได้ออกมาให้พวกเราเห็นหน้าหรอก ที่จริงไม่ได้ออกมา พวกเราเห็นหน้าหลวงพ่อไม่เป็นไรหรอก แต่หลวงพ่อเห็นหน้าพวกเราไม่ได้ เห็นแล้วมันสลดสังเวช สงสาร มันอดสอนไม่ได้หรอก เลยต้องหลีกเร้นเป็นระยะๆ เหมือนกัน หลบ
อย่าว่าแต่หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ก็ทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ทำ บางช่วงพระพุทธเจ้าท่านหลีกเร้นตั้ง 3 เดือน หลบ เพราะว่าสู้กับกิเลสของคนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย หนักหนาสาหัสเลย เพราะฉะนั้นบางวันไม่เจอหลวงพ่ออย่าตีโพยตีพาย ภาวนาไป หลวงพ่อบอกวันไหนหลวงพ่อไม่ได้ออกมาก็เปิดซีดี เปิดอะไร เขาเรียกอะไร เปิดจอทีวีอะไรที่หลวงพ่อเทศน์ให้ดู ดูไป
ธรรมะที่หลวงพ่อสอนไม่เก่า อีกสิบปีก็ไม่เก่า อีกร้อยปีก็ไม่เก่าเพราะกิเลสของคนอีกร้อยปีข้างหน้ามันก็เหมือนกิเลสเรานั่นล่ะ เพราะฉะนั้นฟังได้ ฟังไป อยู่ที่บ้านดูยูทูปหลวงพ่อไป แล้วก็ภาวนา แบ่งเวลาไว้ ดูตลอดไม่ดีหรอก ดูแล้วก็ไปภาวนา
การปฏิบัติ ถ้าเราไม่ลงมือทำ ไม่สำเร็จ ต้องลงมือทำ ผิดบ้างถูกบ้างไม่เป็นไร ขนาดหมอภาวนาเก่ง หลวงพ่อให้ช่วยสอน เมื่อเช้าเข้าไป หลวงพ่อให้เรียกเข้าไปคุยด้วย ไม่เจอนานแล้ว ถามว่าเห็นไหมจิตมันปรุงอะไรอยู่ หมอบอกดูไม่ออก บอกดูไม่ออกหรือ ง่ายมากเลย หมอดูจิตคนอื่นได้ ลองดูพระอาจารย์อ๊าสิ ไปดูพระอาจารย์อ๊า แล้วเห็นเลยว่าตัวเองปรุงอะไรอยู่ คือการเรียนรู้ตัวเอง รู้เท่าทันตัวเองเรื่อยๆ ไป แล้วจิตใจเราก็จะพัฒนาสูงขึ้นๆ ไป ถ้าเราดูคนอื่นไม่เป็น ไม่สำคัญ สำคัญดูตัวเอง ดูสิ 3 เดือนนี้กับ 3 เดือนก่อนมีพัฒนาการบ้างไหม ดูอย่างนี้ 6 เดือนก่อนกับเดี๋ยวนี้แตกต่างกันไหม ดูอย่างนี้ไม่ต้องไปเทียบกับคนอื่น เทียบกับตัวเองก็ได้ แล้วเราจะเห็นว่ามีพัฒนาการหรือเปล่า ถ้าไม่มี ต้องมีอะไรที่ผิดพลาดแล้ว
ก็สังเกตเอา สิ่งที่ผิดพลาด ถ้าไม่เผลอไปก็ไปเพ่งเอาไว้ มีเท่านั้นล่ะ ไปสังเกตตัวเองเอา ไปหลงสร้างภพอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง ไปปรุงแต่งอะไรแล้วก็ไปติดอยู่ในความปรุงแต่งอันนั้น มันก็จะคงที่อยู่อย่างนั้นล่ะ ถ้าเรารู้ทันว่านี่เป็นความปรุงแต่ง จิตก็พ้นเลย ง่ายๆ
วัดสวนสันติธรรม
22 ตุลาคม 2566