เรียนเข้ามาให้ถึงจิต

เจริญพรทุกคน ได้ข่าวว่าเป็นทีมที่เคยเข้าคอร์สกันแล้ว หลวงพ่อจะได้ไม่ต้องสอนพื้นฐานมากเกินไป สรุปย่อๆ ก่อน การปฏิบัติมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนาจิตใจของเราให้มีความพร้อมที่จะเจริญปัญญา การพัฒนาจิตใจให้พร้อมจะเจริญปัญญา เราจะต้องพัฒนาสิ่ง 2 สิ่ง อันหนึ่งคือพัฒนาสติจนมันอัตโนมัติ อีกอันคือพัฒนาสมาธิให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน อันนี้เป็นการเตรียมความพร้อมของจิต ถ้าจิตไม่มีสติกับไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง จะไม่สามารถเจริญปัญญาได้ ถ้าเจริญปัญญาไม่ได้ ก็ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งปวงไม่ได้ ตราบใดที่ยังปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ความทุกข์ก็ยังจะมีอยู่ในใจของเรา นี่คือภาพรวมย่อๆ

มีงาน 2 งาน งานหนึ่งพัฒนาจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญปัญญา ด้วยการพัฒนาสติและสัมมาสมาธิ ถัดจากนั้นก็เป็นงานเจริญปัญญา เราใช้จิตซึ่งมีสติมีสัมมาสมาธิแล้ว ไปเรียนรู้ความจริงของกาย ไปเรียนรู้ความจริงของจิตใจ ถ้าเราเรียนรู้ความจริงของกายได้ จิตจะปล่อยวางกาย ถ้าเราเรียนรู้ความจริงของจิตใจได้ จิตก็จะปล่อยวางจิต เมื่อจิตปล่อยวางกายปล่อยวางจิต จิตก็ไม่มีภาระ ไม่มีสิ่งที่ต้องยึดถือ อย่างถ้าเราไม่มีสติไม่มีสมาธิ เราจะไม่สามารถเห็นความจริงของกาย ไม่สามารถเห็นความจริงของจิตใจได้

 

วิธีที่เราจะเกิดสติ

วิธีที่เราจะเกิดสติ อันนี้เป็นหลักเบื้องต้นเลยพวกเราจะต้องฝึก จุดสำคัญที่หลวงพ่อพบ นักปฏิบัติทั้งหลายที่ไปไม่รอดก็คือไม่มีจิตที่มีคุณภาพเพียงพอ ส่วนใหญ่ก็คือไม่มีสติ แล้วก็ไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง จิตเราหลงไปอยู่ในโลกของความคิดความเห็นทั้งวัน ไม่สามารถรู้สึกกายรู้สึกใจ ฉะนั้นเราจะต้องมาพัฒนาจิตใจให้พร้อมที่จะเจริญปัญญาเสียก่อน

วิธีปฏิบัติที่จะทำให้เราเกิดสติคือหลักที่พระพุทธเจ้าสอนเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ในเบื้องต้นสติปัฏฐานนั้นมี 2 ส่วน เบื้องต้นทำให้เกิดสติเกิดสมาธิที่ถูกต้อง เบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา วิธีการเราก็ต้องคอยรู้เท่าทัน จิตเราชอบหนีไป หนีไปอยู่ในโลกของความคิดแทบจะตลอดเวลา ตื่นนอนมาก็คิดแล้ว คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ คิดทั้งวันคิดจนถึงเวลาหลับ หลับแล้วจิตก็ยังฝันต่อ ความฝันก็คือความคิดในขณะที่นอนหลับนั่นล่ะ ฉะนั้นจิตเราหลงอยู่ในโลกของความคิดตลอดเวลา เราจะต้องพยายามพัฒนาจิตของเราให้หลุดออกจากโลกของความคิด มาอยู่ในโลกของความรู้สึกตัวให้ได้

วิธีการก็คือทำกรรมฐานอันใดอันหนึ่งเสียก่อน จะรู้กายก็ได้ รู้เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ก็ได้ จะรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจก็ได้ เบื้องต้นอันใดอันหนึ่งก็ได้เท่าที่เราถนัด ถ้าเราถนัดรู้สึกกายเราก็รู้สึกกายไป ด้วยความคอยมีความรู้เท่าทันจิตของตนเองไว้ อย่างเรารู้สึกกายรู้สึกได้หลายแบบ รู้สึกร่างกายหายใจออก รู้สึกร่างกายหายใจเข้า เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า รู้สึกไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปเวลาเราหายใจไป หายใจไป จิตมันหลง หลงไปอยู่ในโลกของความคิด ไหลไปคิด ให้เรารู้ทันว่า อ้าว ลืมการหายใจแล้ว หนีไปคิดเสียแล้ว ถ้าเรารู้อย่างนี้ได้ จิตที่หลงไปคิดจะดับ จะเกิดจิตที่รู้ตื่นเบิกบานตั้งมั่นขึ้นมา

เพราะฉะนั้นการที่เราคอยฝึกทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ที่เราถนัด ถนัดพองยุบใช้พองยุบ ถนัดทำจังหวะอย่างหลวงพ่อเทียนก็ทำจังหวะไป ถนัดอานาปานสติก็ทำ ถนัดการใช้บริกรรม เช่น พุทโธ ธัมโม สังโฆ สัมมาอะระหัง นะมะพะทะ อยากบริกรรมอะไรก็ได้ เหมือนกันหมด

เพราะฉะนั้นเบื้องต้นทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง แล้วถ้าจิตของเราหนีไปจากอารมณ์กรรมฐานนั้น ทีแรกจะหนีนาน กว่าเราจะรู้ว่า อ้าว มันหลงไปแล้วนี่ แต่ต่อไปพอมันหลงแล้วเรารู้ หลงแล้วรู้ ต่อไปจะหลงสั้นลงๆ แล้วรู้ตัวได้เร็วขึ้นๆ อย่างคนในโลกไม่เคยฝึกเจริญสติ เขาหลงตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งหลับ วันหนึ่งหลงครั้งเดียว คือหลงตั้งแต่ตื่นจนหลับ ทีนี้เรามาหัดภาวนาไป ทำกรรมฐานไป แล้วถ้าจิตเราหลงไปอยู่ในโลกของความคิด ลืมอารมณ์กรรมฐาน เราคอยรู้ทัน ทีแรกก็ใช้เวลานานกว่าจะรู้ ต่อไปพอหัดบ่อยๆ จะรู้ได้เร็วขึ้นๆ หลงก็จะสั้นลงๆ

เพราะฉะนั้นคนซึ่งไม่ปฏิบัติเขาหลงวันละครั้งตั้งแต่ตื่นจนหลับ แต่คนที่ปฏิบัติจะหลงถี่ยิบเลย หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ ไปเรื่อยๆ การที่จิตหลงแล้วเรารู้ จิตหลงแล้วเรารู้ เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก จิตจะจำสภาวะของความหลงได้ ถ้าจิตจำสภาวะของความหลงได้เมื่อไร สติจะเกิดเอง หลงปุ๊บ รู้สึกขึ้นมาเลยนี่หลงแล้ว ที่จริงแล้วคำว่าสติๆ เป็นตัวรู้เท่าทันกายรู้เท่าทันจิตใจของเรา

 

ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง

หัดในเบื้องต้น ที่หลวงพ่อพูดอันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่ง ทำกรรมฐานไปแล้วจิตหลงไปคิดแล้วรู้ทัน จิตไหลไปถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานก็รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันจิตที่หลงไปหรือจิตที่ถลำลงไปเพ่ง เรียกว่าเรามีสติ สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจของเรา พอสติเกิดบ่อยๆๆ ต่อไปสติก็จะยิ่งเร็วขึ้นๆ เพราะจิตจำสภาวะหลงได้

ทีนี้บางคนไม่ถนัดหลง บางคนขี้โมโห เราก็ดูสภาวะที่ขี้โมโหก็ได้ จิตมันโกรธ เราโกรธทั้งวันเลย เจอเรื่องนี้ก็โกรธ เจอเรื่องนี้ก็โกรธ หงุดหงิดใจตลอดเวลา เราก็หัดดูจิตใจของเรา ทำกรรมฐานด้วยการดูจิตใจของตัวเอง จิตใจโกรธขึ้นมาก็รู้ จิตใจไม่โกรธก็รู้ ตรงที่จิตใจไม่โกรธมีหลายแบบ แบบหนึ่งก็คือหลงไปคิดเรื่องอื่น อย่างเราโกรธคนๆ นี้ แล้วพอเราไปคิดถึงอีกคนหนึ่ง คนนี้เราไม่ได้เกลียดแต่เราชอบเขาอย่างนี้ ความโกรธก็หายไป อันนั้นก็ดับ กลายเป็นความรักขึ้นมาแทน

หัดรู้จิตใจของเรา ถ้าขี้โมโหก็ดูจิตโกรธบ่อยๆ เราก็จะเห็นเดี๋ยวก็จิตโกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ ตอนที่ไม่โกรธอาจจะเป็นจิตโลภก็ได้ เป็นจิตหลงเผลอๆ เพลินๆ ไปก็ได้ หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานก็ได้ อย่างทันทีที่เรารู้ว่าจิตโกรธ จิตโกรธจะดับ แล้วถ้าเราฝึกให้ดี ทันทีที่จิตโกรธดับ จิตรู้ก็จะเกิดขึ้นมา แบบเดียวกันที่เรารู้ว่าจิตหลงไป ทำกรรมฐานแล้วจิตหลงแล้วเรารู้ จิตหลงจะดับ จิตรู้ก็จะเกิดขึ้นมาแทน

ฉะนั้นจิตจะเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน คือตั้งมั่นมีสมาธิที่ถูกต้องได้ เราหัดรู้สภาวะบ่อยๆ สิ่งที่เรียกว่าสภาวะก็คือกายกับใจของเรา สิ่งที่ปิดบังไม่ให้เราเห็นสภาวะคือความคิด จิตหลงไปอยู่ในความคิดเมื่อไร ก็ไม่สามารถเห็นกายเห็นใจตัวเองได้ มีกายก็ลืมร่างกาย มีจิตใจก็ลืมจิตใจ

ฉะนั้นเราทำกรรมฐาน ทำไปเรื่อยๆ อันใดอันหนึ่งก็ได้ ถนัดรู้ลมหายใจก็รู้ไป ถนัดรู้ท้องพองยุบก็รู้ไป ถนัดทำจังหวะก็ทำไป ถนัดเดินจงกรมก็เดินไป หรือถนัดอ่านจิตใจตัวเองก็อ่านไป จิตโลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตหลงก็รู้ แล้วผลที่ได้จะเหมือนกัน คือเราจะได้จิตที่รู้ตื่นเบิกบานตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ด้วยกำลังของสติที่รู้เท่าทัน

รู้เท่าทันอะไร อย่างเราทำอานาปานสติ จิตหลงไปคิดรู้ทัน สติรู้ทันจิตที่หลงไปคิด จิตถลำไปเพ่งลมหายใจรู้ทัน สติรู้ว่าตอนนี้จิตหลงไปเพ่งแล้ว จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตหลงไปเพ่งก็รู้ หรือถ้าเราขี้โมโห เราก็ดูจิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้ เราขี้โลภ เราก็รู้ จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ อันใดอันหนึ่งก็ได้ การที่เรารู้บ่อยๆ นั้น จะทำให้สติของเราเร็วขึ้นเรื่อยๆ เดิมเคยหลงยาวๆ หลงทั้งวัน ก็หลงสั้นๆ อาจจะชั่วโมงหนึ่งแล้วก็รู้สึกตัวได้ ฝึกไปเรื่อยๆ 5 นาทีแล้วก็รู้สึกตัวได้แล้วว่าหลง 1 นาทีรู้สึกตัวได้แล้ว ต่อไปชั่วขณะเดียวเท่านั้นจิตไหลแวบ สติเกิดเลย รู้ทันว่าจิตไหล สติเป็นตัวรู้ทันไง พอจิตเราไหลแวบ สติรู้ทัน จิตที่ไหลไปจะดับ จิตที่รู้ตื่นเบิกบานคือจิตที่ทรงสัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นทันที

วิธีที่หลวงพ่อสอนนี่เป็นวิธีที่รวบรัด ถ้าเราฝึกอย่างที่หลวงพ่อบอก ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ เราจะได้ทั้งสติ เราจะได้ทั้งสมาธิ ไม่ใช่ต้องฝึกทีละอย่างๆ หรอก ฝึกทีเดียวได้ทั้ง 2 อย่างเลย เพราะฉะนั้นทำตรงนี้ให้ดี ทำกรรมฐานไป ทำทุกวัน มีเวลาเมื่อไรก็ทำ

สมัยที่หลวงพ่อหัด หลวงพ่อใช้อานาปานสติบวกกับพุทโธ หายใจเข้าพุทหายใจออกโธ หลวงพ่อฝึกของหลวงพ่ออยู่อย่างนี้ ทีแรกก็ฝึกแล้วยังไม่ได้หลัก ฝึกแล้วพอจิตเริ่มสงบ พุทโธหายไปเหลือแต่ลมหายใจ พอจิตสงบมากขึ้น ลมหายใจหายไปกลายเป็นแสงสว่าง คราวนี้เราไปดูที่แสงสว่าง อยากรู้อยากเห็นอะไร มันรู้มันเห็นได้หมด

อันนี้ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเอาไปพัฒนาสติปัญญาในระดับสูงต่อไป ได้แต่ความสนุกเพลิดเพลิน รู้โน้นรู้นี่ ใครคิดอะไรก็รู้ จิตใจของใครเป็นอย่างไรก็รู้ ชาติก่อนเป็นอย่างไร ชาติหน้าเป็นอย่างไร เที่ยวรู้สิ่งเหล่านี้ รู้ถึงนรก รู้ถึงสวรรค์ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์เพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ได้มีประโยชน์เลย มันหลอกให้เราหลงมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นเราพยายามฝึกให้จิตใจอยู่กับตัวเอง ไม่หลงไม่เผลอไป พยายามรู้สึกๆ ไว้ ทำกรรมฐาน ตอนนั้นหลวงพ่อทำอานาปานสติ แล้วหลวงพ่อก็เริ่มรู้ทัน ถ้าจิตเราไหลเข้าไปอยู่ในแสงสว่าง มันออกรู้ออกเห็นอะไร อยากรู้อะไรมันรู้ไปหมด มันไม่ใช่เส้นทางเพื่อความพ้นทุกข์หรอก ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าไม่ใช่เส้นทางเพื่อความพ้นทุกข์ แต่รู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ ออกไปรู้โน้นรู้นี่ ไม่เห็นจะมีประโยชน์ตรงไหนเลย

คราวนี้ก็เลยฝึกใหม่ ทำกรรมฐานหายใจเข้าพุทออกโธไป พอจิตเริ่มสงบพุทโธก็หาย ไม่ต้องบริกรรมแล้วเหลือแต่ลม พอจิตสงบมากขึ้น ลมหายใจหายกลายเป็นแสง คราวนี้พอจิตจะเคลื่อนเข้าไปที่แสง หลวงพ่อรู้ทัน เฮ้ย จิตจะไหลเข้าไปแล้ว ถูกดูดเข้าไปในแสงแล้ว ตรงที่เรารู้ทันจิตที่เคลื่อนไป จิตก็เลยไม่เคลื่อน จิตเลยตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ทีนี้พอจิตตั้งมั่นขึ้นมา ก็แค่สักว่ารู้ว่าเห็นแสงสว่างด้วยจิตที่ตั้งมั่น เฝ้ารู้เฝ้าดู จิตไม่จมลงไปที่แสง ในที่สุดจิตก็มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งเกิดขึ้น ถัดจากนั้นจิตก็วางแสง ทวนกระแสเข้ามาหาจิต จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงยิ่งขึ้นไปอีก

 

จิตที่มีคุณภาพ

ค่อยๆ ฝึก จนกระทั่งจิตเป็นผู้รู้ ทั้งวันฝึกไปเรื่อยๆ แต่ตอนนั้น หลวงพ่อยังเดินปัญญาไม่เป็น แต่หลวงพ่อพัฒนาเครื่องมือที่จะใช้เดินปัญญาสำเร็จแล้ว ตอนนั้นอายุ 10 ขวบเท่านั้นเอง วันหนึ่งไฟไหม้ใกล้ๆ บ้าน พอเห็นไฟไหม้ใกล้ๆ บ้านก็ตกใจ ก็ลุกขึ้นวิ่งไปจะไปบอกพ่อ ก้าวที่ 1 ยังตกใจ ก้าวที่ 2 ยังตกใจ ก้าวที่ 3 เห็นจิตจมลงไปในความตกใจ เห็นจิตจมอยู่กับความตกใจ จิตก็ดีดตัวผางออกมา ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา คราวนี้ไม่มีความตกใจ ไม่มีความกลัวใดๆ ทั้งสิ้น ก็เดินไปบอกผู้ใหญ่ว่าไฟไหม้ใกล้ๆ บ้าน แล้วก็เห็นคนอื่นเขาตกใจ เราไม่ตกใจ เราเป็นแค่คนเห็น เป็นแค่คนรู้คนดู

จิตชนิดนี้ล่ะที่พวกเราควรจะพัฒนาขึ้นมาให้ได้ ถ้าพวกเราพัฒนาจิตของเราให้มีคุณภาพระดับนี้ มรรคผลนิพพานอะไรไม่ไกลหรอก การเจริญปัญญาจะใช้เวลาสั้นนิดเดียว ทีนี้บางคนบอกฝึกวิปัสสนา 10 ปี 20 ปี ไม่สำเร็จ เพราะจิตไม่มีคุณภาพ เอาจิตที่ฟุ้งซ่านบ้าง เอาจิตที่เคร่งเครียดบ้าง ไปเจริญปัญญาเรียนรู้ความจริงของร่างกายของจิตใจ จิตไม่มีคุณภาพ ปัญญาไม่เกิด เพราะปัญญาไม่ได้เกิดจากการไปคิดเอา ไม่ได้เกิดจากการอ่านเอา ไม่ได้เกิดจากการฟังเอา ปัญญาสิ่งที่ทำให้ปัญญาเกิดคือสัมมาสมาธิ

ถ้าจิตเราตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวอยู่นี่ พอสติระลึกรู้ร่างกาย จะเห็นทันทีร่างกายเป็นของถูกรู้ ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้ความรู้สึกสุขทุกข์ในร่างกาย จะเห็นว่าความรู้สึกสุขทุกข์ในร่างกายก็เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นมีสัมมาสมาธิอยู่ แล้วความโลภความโกรธความหลงอะไรเกิดขึ้น สติระลึกรู้ จิตก็ยังตั้งมั่น จิตไม่ถูกโลภโกรธหลงอะไรครอบงำ จะเห็นเลยความโลภความโกรธความหลงทั้งหลายเป็นของถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา

ค่อยภาวนาเรื่อยๆ ไป ต่อไปเราก็จะเห็นกระทั่งตัวจิต ตัวจิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็กลายเป็นผู้คิด เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวกลายเป็นผู้ไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางร่างกาย หลงไปอยู่ในโลกของความคิด หลงไปเพ่งอารมณ์ จิตไหลไปหลงไปตลอดเวลา ถ้าเราเคยฝึกกรรมฐานอย่างวิธีที่หลวงพ่อบอก ทำกรรมฐานแล้วรู้ทันจิตที่หลง ต่อไปเราจะเห็นอย่างรวบรัดเลย เราจะเห็นจิตหลงทั้งวัน เดี๋ยวหลงดู เดี๋ยวหลงฟัง เดี๋ยวหลงดมกลิ่น หลงลิ้มรส หลงรู้สัมผัสทางกาย หลงคิดนึกทางใจ หลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน จิตบางทีก็หลงไปในอดีต บางทีก็หลงไปอนาคต

พอเรารู้บ่อยๆ จิตจะไม่หลง จิตจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา แล้วจะเห็นสติระลึกรู้สิ่งใดก็ตาม ถ้าระลึกรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นละก็ จะเห็นว่าทุกสิ่งเป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายก็ถูกรู้ถูกดู เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ในกาย เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ในใจก็เป็นของถูกรู้ถูกดู กุศลอกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาในจิตใจเราก็เป็นของถูกรู้ถูกดู ตัวจิตเองก็เป็นของถูกรู้ถูกดู ก็มีความไม่เที่ยงเช่นเดียวกับสภาวะอันอื่นๆ นั่นเอง

อย่างร่างกายเราไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ จิตใจเราก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็เฉยๆ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง จิตใจเราก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หลงไปดูรูป เดี๋ยวไปฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ หรือไปเพ่งอารมณ์ต่างๆ จิตใจเองก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วจิตจะดีหรือจิตจะเลว จิตจะสุขหรือจิตจะทุกข์ จิตจะไปดูรูป จะไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสที่กาย หรือหลงไปอยู่ในโลกทางความคิดก็ตาม มันเป็นของมันเอง เราไม่ได้เจตนา อย่างเราเจตนาจะท่องหนังสือ เราจะไปสอบ ท่องหนังสือ ตั้งใจจะท่องหนังสือ พักเดียวจิตหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว เราห้ามไม่ได้ ฉะนั้นจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ นี่คือการเจริญปัญญา

 

ทางอ้อม

เพราะฉะนั้นถ้าหากเราภาวนาเบื้องต้น หัดมารู้ให้ถึงจิตถึงใจตัวเองแล้ว พอถึงขั้นเจริญปัญญาจะสั้นนิดเดียวเลย จะใช้เวลาไม่มาก แต่ถ้าเราเดินอ้อมค้อมไปทางอื่น จะใช้เวลามหาศาล อย่างเส้นทางที่อ้อมค้อมในการฝึกจิต อันแรกฝึกจิตให้สงบให้มีสมถะนี่ มีวิธีตั้งเยอะแยะ วิธีที่หลวงพ่อบอกพวกเรานี่จะตัดตรงเข้าที่จิตเลย คือทำกรรมฐานอะไรก็ได้ นี่มาถึงจุดที่ว่าอะไรก็ได้ ขอให้รู้ทันจิตตัวเองเท่านั้นเอง ทีนี้บางที่บางคนเขาไม่ได้ฝึกอย่างนี้ อย่างเขาฝึกเพ่งไฟ จุดเทียนขึ้นมาเล่มหนึ่ง แล้วก็นั่งดูไฟไปเรื่อยๆ พอจิตหนีไปที่อื่นรู้ทัน ก็กลับมาอยู่ที่ไฟอีก คอยจ้องอยู่ที่ไฟ จนกระทั่งหลับตาก็เห็นไฟ ลืมตาก็เห็นไฟ หลับตาก็เห็นไฟ ภาพมันติดตา

ทีแรกมองจนกระทั่งมันติดตา คราวนี้เราหลับตาเราก็เห็น ทีนี้นึกถึงเมื่อไรเราก็จะเห็นไฟ อันนี้เรียกว่ามันติดใจแล้ว ทีนี้จะไปเดินปัญญาจะทำอย่างไร ไม่ใช่ง่ายนะ การที่เราไปดูไฟ จิตไหลไปอยู่ที่ไฟ จิตไม่ได้ย้อนมาที่ตัวเอง การจะเดินปัญญาก็ต้องมีกลวิธีอะไรมากมาย เพื่อจะให้จิตที่หลงอยู่กับกสิณไฟกลับมาที่ตัวเอง ต้องใช้วิธีอีกเยอะแยะเลย ยกตัวอย่างถ้าเราเล่นกสิณไฟ หลวงพ่อก็เคยเล่น แต่หลวงพ่อภาวนาเป็นแล้ว หลวงพ่อก็เลยเล่นสารพัด อยากรู้ว่าอันนี้ทำได้ไหม อันนี้ทำได้ไหม ก็พบว่าก็ได้เหมือนกัน แต่มันอ้อม

อย่างเราดูกสิณไฟ เราจุดไฟมาอันหนึ่ง เราก็นั่งดู ถ้ายุคนี้เราไม่ต้องจุดไฟก็ได้ ใช้หลอดไฟ เปิดหลอดไฟที่แสงไม่จ้าเกินไป ถ้าจ้าไปเดี๋ยวสายตาเราเสีย เปิดหลอดไฟเล็กๆ สักดวง แล้วก็นั่งดูไป หลับตาบ้าง ลืมตาบ้าง ทำใจสบายๆ ไม่คิดถึงสิ่งอื่น คิดถึงแต่แสงไฟอันนี้ ให้จดจ่ออยู่อย่างนี้ ในที่สุดจิตจะรวมลงไป มันจำแสงได้แล้วมันรวมลงไป แล้วแสงนี้จะกว้างขวางใหญ่โต สว่างว่างอย่างนั้นล่ะ ไม่รู้จะเดินปัญญาต่ออย่างไร

วิธีที่จะเดินปัญญาก็คือวางแสง ทวนเข้าหาตัวเอง อย่างถ้าเรากำหนดจนกระทั่งไฟลุกขึ้นมา เราก็แทนที่จะไปดูไฟข้างนอก เราน้อมกลับเข้ามาที่ร่างกายของเรา ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านกำหนดจิต ใช้กสิณไฟเหมือนกับเผาตัวเองเลย เผาร่างกายตัวเองจนกระทั่งร่างกายสลายไป เหลือแต่จิตดวงเดียวเข้ามาที่จิตแล้ว กว่าจะทำกสิณได้ หลับตาแล้วให้เห็นไฟได้ตลอด ใช้เวลาเป็นปีๆ แล้วถัดจากนั้นจะเอาไฟนั้นมาเผาตัวเอง ใช้เวลาอีกเป็นปีๆ อ้อมค้อมมากเลย เพื่ออะไร เพื่อวันหนึ่งจะวางกาย แล้วก็เข้ามาที่จิตได้ ใช้เวลาเยอะ

เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะรวบรัดในการภาวนา เราก็ฝึกง่ายๆ ทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง นี่เป็นวิทยายุทธขั้นสุดยอดเลย อะไรๆ ก็เป็นกรรมฐานได้หมด ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ แต่รู้ทันจิตตัวเองไว้ นี่เป็นระดับที่เรียกว่า ถ้าเป็นหนังกำลังภายในบอกกระบี่อยู่ที่ใจแล้ว เรียนเข้ามาให้ถึงจิตใจตัวเอง กระบวนท่าทั้งหลายไม่สำคัญ สำคัญที่จิตตัวเอง อย่างเรารำกระบี่ ท่านั้นท่านี้อะไรอย่างนี้ ก็แค่รูปแบบแค่เปลือก เหมือนกับการทำกรรมฐาน บางคนก็คิดว่าพุทโธดี หายใจดี พองยุบดี อันนั้นคือกระบวนท่าทั้งหมด เดินจงกรมแบบไหนถึงจะถูก นี่คือกระบวนท่า แต่ตัวสำคัญคือจิตของเราต่างหากล่ะ พอภาวนาเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจจริงๆ ค่อยๆ ฝึกไป ทำทุกวันๆ

 

ยิ่งดิ้นรน ยิ่งฟุ้งซ่าน

หลวงพ่อสมัยก่อนทุกวันตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่ 7 ขวบ ทุกวันจะต้องนั่งสมาธิ ไหว้พระสวดมนต์แล้วก็นั่งสมาธินั่งหายใจไป จิตฟุ้งซ่านบ้าง บางวันก็ฟุ้งซ่าน บางวันก็สงบ นั่งทีแรกนั่งไม่เป็น ก็นั่งจะให้สงบอย่างเดียวเลย ไม่ชอบฟุ้งซ่าน ชอบสงบ ฉะนั้นนั่งหายใจไป พอจิตฟุ้งซ่านก็รำคาญ พยายามบังคับจิตจะให้สงบ ทำอยู่นานเลยกว่าจิตจะสงบ ต่อมานี่พอชำนาญขึ้น เรานั่งหายใจไป วันนี้จิตเราฟุ้งซ่านไม่ต้องไปอยากสงบ จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน รู้ด้วยความเป็นกลาง มันจะสงบของมันเอง ยิ่งถ้าจิตฟุ้งซ่านแล้วเราไม่ชอบ เรายิ่งดิ้น การดิ้นรนนั่นล่ะจะทำให้จิตยิ่งฟุ้งซ่านมากขึ้น

ฉะนั้นบางคนบอกนั่งสมาธิตั้งนานไม่เคยสงบเลย อันนี้เพราะว่าอยากสงบ จะไม่มีทางสงบหรอก เพราะฉะนั้นถ้าทำกรรมฐานนะทำไปด้วยจิตใจปกติ ใช้จิตใจธรรมดาๆ นี่ล่ะ สงบก็ได้ ฟุ้งซ่านก็ได้ ถ้าจิตใจสงบก็หายใจไปด้วยจิตใจสงบ ถ้าฟุ้งซ่านไปก็หายใจไปก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน ทำไปเรื่อยๆ พอเราไม่ได้ไปอยากดี อยากสุข อยากสงบ ความอยากไม่มี ใจไม่ดิ้น เมื่อใจไม่ดิ้น ใจก็สงบเองล่ะ เคล็ดลับมันอยู่ง่ายๆ แค่นี้เอง

ที่จิตใจเราไม่สงบเพราะว่าจิตใจเราดิ้นรนปรุงแต่งมาก ถ้าเราไม่ไปดิ้นรนปรุงแต่ง ทำกรรมฐานไปแล้วจิตใจเราเป็นอย่างไร รู้อย่างนั้นล่ะ ไม่ต้องไปดิ้นรน อย่างหายใจไปแล้วจิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน พอใจไม่ดิ้นรน พักเดียวใจเข้าสู่ความสงบทันทีเลย นี่คนที่อยากฝึกให้จิตสงบ ถ้ารู้เคล็ดลับตัวนี้แล้วสงบอย่างรวดเร็วเลย นี่หลวงพ่อทำให้ดูนะใช้เวลาไม่ถึง 5 วินาที ค่อยๆ ฝึก ทีแรกอาจจะใช้เวลาชั่วโมงหนึ่ง ถ้าใจเราเป็นกลางเมื่อไร สงบทันที เคล็ดลับอยู่ตรงนี้ล่ะ

ถ้าใจเราเป็นกลาง สงบทันทีเลย เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานเช่นหายใจเข้าพุธหายใจออกโธ จิตฟุ้งซ่านแล้วไม่ชอบเลย รู้ว่าไม่ชอบ จิตก็จะเป็นกลาง เป็นกลางปุ๊บสงบปั๊บ บางคนทำกรรมฐานแล้วก็จิตมืดเชียว จิตมัวไปหมดเลย หาทางแก้ไข ใครเคยเป็นไหม นั่งไปแล้วมันมืดเชียว มัวไม่รู้เรื่องเลย ก็หาทางแก้ไข ยิ่งหาทางแก้ไข ก็ยิ่งมืดหนักกว่าเก่าอีก ไม่ต้องแก้ไข หลวงพ่อยังสอนพระที่วัดเลย มีครูบาบางองค์บอกนั่งสมาธิแล้วจิตมืด แก้อย่างไรก็ไม่ตก ก็ไปแก้ทำไม ไม่ต้องแก้ พอจิตนั่งสมาธิไป จิตมืดมัวหรือฟุ้งซ่านหรือไม่ดีอะไรก็ตามเถอะ ให้รู้ว่าใจเราไม่ชอบ รู้เข้ามาที่ตัวนี้ ตัวที่ชอบกับตัวที่ไม่ชอบ ชอบจิตเราก็ไม่เป็นกลาง มันไปหลงยินดี ไม่ชอบจิตก็ยินร้าย

เพราะฉะนั้นถ้าเราทำกรรมฐานไปเราต้องการความสงบ เคล็ดลับมีนิดเดียงเอง ทำกรรมฐานไปสบายๆ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่พอสงบแล้วเราชอบ ให้รู้ทัน หรือเราไม่สงบแล้วอยากสงบ ให้รู้ทัน ใจเกลียดความฟุ้งซ่านนี่ใจไม่เป็นกลาง ใจอยากสงบนี่ใจไม่เป็นกลาง พอรู้ทันตัวนี้ ใจจะสงบอัตโนมัติในเวลาพริบตาหนึ่งเอง พักเดียวก็สงบแล้ว ขอให้ใจเป็นกลางเท่านั้นล่ะ สงบเอง ไม่ต้องไปทำอะไรวุ่นวายเลย ฉะนั้นพวกเรามีปัญหาไหม ทำสมาธิแล้วจิตไม่เคยสงบเลย ถ้าเข้าใจหลักที่หลวงพ่อสอนอันนี้ เราจะสงบง่ายๆ เลย

ฉะนั้นเวลาเราทำกรรมฐาน จิตเราไม่สงบ รู้ว่าไม่สงบ ไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ แล้ววันไหนมันสงบแล้วชอบ ให้รู้ว่าชอบอีกนะ ถ้าชอบแล้วไม่รู้ ก็จะติดในความสงบติดสมาธิ ไปต่อไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นตัวที่คอยรู้ทันจิตใจเราชอบอันนี้ไม่ชอบอันนี้ รู้ทันเรื่อยๆ ไป แล้วจิตจะสงบ นี่เป็นวิธีให้จิตสงบ

ส่วนวิธีให้จิตตั้งมั่นก็คือ คอยรู้ทันเวลาจิตไหลไป ถ้าจิตไหลไปคิดรู้ทัน ทำกรรมฐานแล้วจิตไหลไปคิดรู้ทัน อันนี้จิตจะตั้งมั่น

พอเรามีสติมีสมาธิชนิดสงบ มีสมาธิชนิดตั้งมั่น จิตเราจะเพียบพร้อมที่จะเจริญปัญญา หลวงพ่อภาวนาเห็นจิตได้จิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ได้มาแต่เด็ก ก็ฝึกอยู่จนถึงอายุ 29 ไปต่อไม่เป็น มีจิตที่ตั้งมั่นมีจิตที่สงบ บอกแล้วนะจิตตั้งมั่นนี่ อาศัยที่เรารู้ทันเวลาจิตไหลไปจิตไม่ตั้งมั่น ส่วนจิตสงบ ถ้าจิตเราเป็นกลาง ไม่หลงยินดี ไม่หลงยินร้าย สงบเองเลย ง่ายๆ

ถ้าจับหลักตัวนี้ได้แล้ว การภาวนาเตรียมจิตใจของเราให้พร้อมที่จะเจริญปัญญา ง่ายเลย นี่จิตหลวงพ่อพร้อมจะเจริญปัญญาตั้งแต่ 10 ขวบ แต่ไม่เป็น เพราะเราไม่รู้วิธีที่จะเจริญปัญญา ตอนนั้นยังเด็กไม่รู้จะไปหาครูบาอาจารย์ที่ไหน ผู้ใหญ่เขาก็ไม่ได้พาไป สมัยโน้นครูบาอาจารย์ส่วนมากอยู่ทางภาคอีสาน จากกรุงเทพไปภาคอีสานไม่ใช่ง่าย ภาคอีสานสมัยโน้นแห้งแล้งกันดาร ถนนหนทางอะไรก็ไม่ดี ครูบาอาจารย์ก็ชอบอยู่ตามป่าตามเขา ไปหานี่ ยาก สำหรับเด็กนี่แทบไม่มีหวังเลย จนกระทั่งโตขึ้นมาหลวงพ่อก็พยายามหาว่า เราจะเจริญปัญญาได้อย่างไร เราฝึกสมาธิได้เต็มแล้ว เราจะเจริญปัญญาแล้วไม่รู้วิธี ไปนั่งอ่านพระไตรปิฎกก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ในพระไตรปิฎกก็เต็มไปด้วยธรรมะมากมาย ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร

จนวันหนึ่งมาเจอหลวงปู่ดูลย์เข้า หลวงปู่ดูลย์นะเวลาเข้าไปหาท่าน ไม่ใช่อยู่ๆ ท่านก็เทศน์ อย่างหลวงพ่อเข้าไปถึง ไปกราบท่านบอกหลวงปู่ผมอยากปฏิบัติ หลวงปู่ยังไม่สอน นั่งสมาธิของท่านไปเงียบๆ เกินครึ่งชั่วโมง แล้วท่านก็ลืมตาขึ้นมา แล้วท่านถึงจะสอน อันนี้ท่านคล้ายๆ สอบประวัติเราว่า เราเคยทำกรรมฐานอะไรมา ทำอะไรได้แค่ไหนอะไรอย่างนี้ เสร็จแล้วท่านก็สอนเลยว่า ‘การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง’ ท่านสอนอย่างนี้

หลวงพ่อก็มาหัดอ่านจิตตนเองไปเรื่อยๆ จิตใจเราเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทั้งวัน เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ในที่สุดใช้เวลาไม่นานไม่กี่เดือน ก็เข้าใจจิต จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตเป็นแค่ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ก็เข้าใจความจริงเป็นลำดับๆ ใช้เวลาไม่มาก พวกพระเคยถามหลวงพ่อว่าภาวนาอย่างไรทำได้เร็ว หลวงพ่อบอกหลวงพ่อภาวนาทั้งวันล่ะ ทำทั้งวัน

 

ภาวนาทั้งวันทำอย่างไร

ทำอย่างไร ทำทั้งวัน เรามีสติ มีจิตที่มีสมาธิอยู่ทั้งวัน แล้วก็มีสติ จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก มีความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว อะไรเกิดขึ้นรู้สึกไปเรื่อยๆ นี่ตั้งแต่ตื่นมา ตอนตื่นนอนเห็นจิตขึ้นจากภวังค์ จิตเวลาหลับเหมือนหลับอยู่ในความว่างเปล่า แล้วค่อยผุดขึ้นมาตอนที่จะตื่น ผุดๆๆ ขึ้นมา แล้วรับรู้ถึงความมีอยู่ของความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย แล้วถัดจากนั้นจะขยายความรู้สึกออกไปกระทบออกไป ก็จะพบว่ามีร่างกายกำลังนอนอยู่ท่านี้ ท่านี้อะไรอย่างนี้ จิตจะเห็น นี่ฝึกมีสติอยู่ จะไป ตื่นมาก็ไปเข้าส้วมเข้าห้องน้ำก่อนจะไปทำงาน วันนี้ขับถ่ายสบายมีความสุข รู้ว่ามีความสุข วันนี้ขับถ่ายลำบากหงุดหงิดใจ รู้ว่าหงุดหงิด นี่ภาวนานะ นี่คือการปฏิบัติทั้งหมดเลย

อาบน้ำ สมัยโบราณไม่ได้มีเครื่องทำน้ำร้อนน้ำอุ่นอะไรหรอก อาบน้ำในตุ่ม เป็นตุ่มดิน ตุ่มดินเผา น้ำเวลาหน้าร้อน เย็นดี ถ้าหน้าหนาว น้ำเย็นเจี๊ยบเลย เวลาเราจะอาบน้ำ ถ้าเป็นหน้าร้อนใช่ไหม เห็นน้ำเห็นตุ่มน้ำเท่านั้นล่ะ ใจมันดีใจแล้ว จะได้อาบน้ำเย็นๆ แล้วสบายใจ พอหน้าหนาวเราเห็นว่าจะต้องอาบน้ำในตุ่มนี้ สยองเลย ใจมันกลัว นี่เรารู้ทันใจที่กลัวขึ้นมา นี่คือการปฏิบัติ นี่เจริญสติเจริญปัญญาแล้ว ฉะนั้นการเจริญสติปัญญามันอยู่ในชีวิตธรรมดาของเรานี่เองล่ะ ไม่ใช่มีอะไรที่พิสดารหรอก ขออย่างเดียวให้จิตเราตั้งมั่น ให้จิตเราเป็นกลางคือไม่ยินดีไม่ยินร้าย ถ้าจิตเราไม่ยินดียินร้ายจิตก็จะสงบ ถ้าจิตเราตั้งมั่นจิตก็พร้อมที่จะเจริญปัญญา คือจะเห็นทุกอย่างผ่านมาผ่านไปได้

นี่ตั้งแต่ตื่นนอน แค่จะอาบน้ำ แค่จะอึ ก็อ่านจิตอ่านใจตัวเองได้ทั้งนั้น พออาบน้ำเสร็จ อย่างถ้าเราหน้าหนาวเราอาบน้ำเย็น ขันแรกนะน้ำขันแรกตอนนั้นไม่ได้ใช้ฝักบัว ใช้ขันน้ำตัก อาบ ขันแรกน่ากลัวที่สุดเลย ขันต่อมานี่ความน่ากลัวจะค่อยๆ ลดลง พอขันท้ายๆ เริ่มดีใจละ ไม่กลัวแล้ว ร่างกายเริ่มชินกับความเย็นแล้ว ไม่ค่อยกลัว เริ่มดีใจว่าเดี๋ยวจะเลิกแล้ว พออาบน้ำเสร็จเช็ดตัว ตัวจะอุ่น ตอนนี้มีความสุขแล้ว นี่อ่านใจตัวเองอย่างนี้เลย เห็นตุ่มน้ำใจกลัวก็รู้ อาบน้ำไปแต่ละขันๆ ความรู้สึกเปลี่ยนแปลงก็รู้ เช็ดตัวเสร็จตัวอุ่นสบายมีความสุขแล้ว รู้ว่ามีความสุขอีก แล้วก็ไปแต่งตัว จะแต่งชุดไหนดีอะไรอย่างนี้ คิดๆๆ พอรู้ อ้าว หลงไปคิดแล้ว เอาชุดไหนก็ได้ อย่างไรก็ใช้ได้ทั้งนั้น ก็แต่งตัวไป

ไปทำงาน ขึ้นรถเมล์ ทำงานทีแรกเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย เงินเดือนน้อย ยังขึ้นรถเมล์อยู่ รถเมล์เมืองไทยสมัยก่อนคนแน่นมากเลย ไปยืนรอที่ป้ายรถเมล์ มีคนอีกเยอะแยะเลยที่ป้ายรถเมล์ รู้สึกไม่สบายใจ กลัวจะขึ้นรถไม่ได้ เขาไม่เข้าแถว เขาวิ่งแย่งกัน ใจกังวลรู้ว่ากังวล ขึ้นรถเมล์ได้ ดีใจรู้ว่าดีใจ นี่การปฏิบัติทั้งหมดเลย

ไปถึงที่ทำงานยังมีเวลาเหลือ ยังไม่ได้เวลาเข้าทำงาน มีเวลาเดินเล่นนิดหน่อย เดินดูต้นไม้ เดินดูอะไร ดูนก มีความสุขรู้ว่ามีความสุข ถึงเวลาก็ทำงาน ทำงานใช้ความคิด ตรงนี้ไม่ต้องปฏิบัติ ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานไป ทำไปช่วงหนึ่งใจเบื่อ งานชิ้นนี้น่าเบื่อ รู้ว่าเบื่อ งานชิ้นนี้เสร็จแล้ว ดีใจ ใกล้จะเสร็จก็ดีใจแล้ว พองานเสร็จก็ดีใจ เอางานไปส่งหัวหน้า หัวหน้าขอแก้อีกแล้ว หงุดหงิดอีกแล้ว อ่านใจตัวเองอย่างนี้ทั้งวันเลย นี่ล่ะคือการปฏิบัติ การปฏิบัติในขั้นของการเดินปัญญาไม่ใช่แค่นั่งอยู่ในห้องพระ นั่งอยู่ในบ้านเงียบๆ ไม่ยุ่งอะไรกับโลก ไม่ยุ่งอะไรกับใคร

ฉะนั้นหลวงพ่อเลยไม่ได้แนะนำพวกเราให้หนีไปอยู่ในถ้ำ หนีไปอยู่ในป่าคนเดียวเงียบๆ อย่างนั้นดีสำหรับการฝึกสมาธิ แต่ไม่ได้ดีสำหรับการเจริญปัญญา ถ้าอยากเจริญปัญญาออกมากระทบอารมณ์ ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด แล้วมันจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่ใจเรา

อย่างตาเห็นตุ่มน้ำเย็น ใจกลัว เกิดความกลัวขึ้นมา เรารู้ทัน หัวหน้าแก้งาน ใจโกรธ รู้ว่าโกรธ หงุดหงิด นี่คือการปฏิบัติในชีวิตจริงๆ การปฏิบัติถ้าเราเก่งเฉพาะตอนทำในรูปแบบ แต่ปฏิบัติในชีวิตจริงๆ ไม่เป็น ยังอ่อนหัด เพราะอะไร เพราะชีวิตส่วนใหญ่เราอยู่ข้างนอกนี่ ชีวิตส่วนใหญ่เราไม่ได้นั่งสมาธิไม่ได้เข้าฌานอยู่นี่ ส่วนใหญ่เราอยู่ข้างนอก เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกเจริญปัญญาอยู่ข้างนอกนี่ให้ได้

 

เรียนเข้ามาให้ถึงจิตตั้งแต่จุดเริ่มต้น

วิธีเจริญปัญญาตอนที่อยู่กับโลกข้างนอกนี่ คือเวลาที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นที่จิต ให้รู้ทันไว้ ทีนี้เราเคยฝึกกรรมฐานมาตั้งแต่เบื้องต้นใช่ไหม หายใจเข้าพุทออกโธ จิตหนีไปคิดรู้ทัน เราฝึกที่จะรู้ทันจิตตัวเองมาตั้งแต่เริ่มแล้ว เพราะฉะนั้นพอมาถึงขั้นเจริญปัญญานี่ การจะรู้ทันจิตตัวเองไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว แต่ถ้าเราทำกรรมฐานอย่างอื่นที่ยังเข้ามาไม่ถึงจิต จะมาเดินปัญญานี่อ้อมมากเลย อย่างบางคนทำความสงบ จิตสงบเงียบเลย แล้วพอถึงขั้นเจริญปัญญาต้องมีลูกเล่นอะไรมากมาย เช่นพอออกจากสมาธิต้องมาคิดพิจารณาร่างกาย เห็นร่างกายเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ คิดๆๆ อยู่นานเลยกว่าจิตจะยอมเดินปัญญาได้ แล้วตรงนั้นยังเป็นการเดินปัญญาอยู่ในรูปแบบ พอจะออกมาอยู่ในชีวิตจริงก็ล้มเหลวอีก ต้องฝึกอีก ฝึกที่จะว่าตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์แล้ว เราจะรู้เท่าทันจิตตนเอง ต้องมาเริ่มฝึกอีก

เพราะฉะนั้นถึงแนะนำพวกเราถ้าเรียนกับหลวงพ่อ เรียนเข้ามาให้ถึงจิตเลยตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเลย ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง จิตหลงไปคิดรู้ทัน จิตหลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานรู้ทัน ทำกรรมฐานไปขี้เกียจขึ้นมารู้ทัน ทำกรรมฐานแล้วรู้สึกมีความสุขรู้ทัน นี่คอยรู้ทันจิตตัวเองเรื่อยๆ ไป ถ้าต้องการความสงบ เวลามีความสุขก็อย่าไปเพลินมาก รู้ยินดีพอใจมัน จิตเราจะประณีตจะสงบยิ่งกว่าเก่าอีก เวลาที่เราภาวนาจิตสงบนี่จะเป็นระดับของฌาน ในเบื้องต้นจิตจะมีปีติมีความสุข แล้วเราภาวนาไป เราเห็นจิตมีปีติ ปีติดับ จิตมีแต่ความสุข ดูไปอีก ความสุขดับ จิตเป็นอุเบกขา

จิตที่เป็นอุเบกขาคือเป็นกลาง เป็นจิตที่สงบสูง ระดับสูงกว่าจิตที่มีความสุข จิตที่มีความสุข จิตยังหวือหวาอยู่ ยิ่งถ้าจิตมีปีติเช่น ขนลุกขนพอง น้ำตาไหล ตัวโยกตัวโคลงตัวลอยอะไรอย่างนี้ อันนี้เป็นภาระวุ่นวายของจิต ฉะนั้นเวลาเราภาวนา จิตมีความสุขแล้วเรายินดีพอใจ เราจะติดอยู่ในความสุขนั้นนานๆ แต่ถ้าจิตเราทำความสงบมา แล้วจิตเรามีความสุขขึ้นมา ให้รู้ทันไปว่ากำลังมีความสุข ชอบรู้ว่าชอบ ทันทีที่รู้ว่าจิตมีความสุข แล้วมันชอบในความสุข จิตจะเป็นกลาง อันนี้เราจะเต็มภูมิของสมาธิเลย เพราะภูมิของสมาธิ ตรงที่จิตเป็นอุเบกขา จิตต้องเป็นอุเบกขา

ถ้าจิตยังมีปีติมีความสุขอะไรนี้ เป็นสมาธิขั้นต้นเท่านั้นเอง แต่ถ้าจิตเป็นอุเบกขาคือเป็นกลาง ตั้งมั่นเด่นดวงเป็นกลาง ไม่หลงไปในความยินดี ไม่หลงในความยินร้าย นั่นคือจิตที่มีสมาธิเต็มที่แล้ว ถ้าเราทำได้ขนาดนั้นเวลาเรามาเจริญปัญญา ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ จะเห็นจิตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เราจะใช้เวลาในการเจริญปัญญานี่ไม่มากหรอก ไม่ต้องมีกระบวนการอุบายอะไรมากมาย เพื่อจะกระตุ้นจิตให้ติดสมาธิเฉยๆ ให้มาเดินปัญญา โอ้ย เรื่องมาก กว่าจะยอมเจริญปัญญา

สรุปนะสรุปที่หลวงพ่อสอนพวกเรา หรือที่ต่อไปผู้ช่วยสอนทั้งหลายเขาจะสอน จะอยู่ในหลักที่หลวงพ่อบอกนี่ล่ะ คือถ้าเราตัดตรงเข้ามาที่จิตได้ก็เข้ามาที่จิตเลย แต่บางคนเข้าที่จิตตรงๆ ไม่ได้ ก็รู้สึกร่างกายไปก่อน เดินอ้อมหน่อยดีกว่าไม่เดิน แล้วขั้นต้นฝึกให้จิตพร้อมที่จะเจริญปัญญา ด้วยการทำกรรมฐานซักอย่างหนึ่ง จิตไหลไปแล้วรู้ จิตถลำไปเพ่งแล้วรู้ ตรงที่รู้บ่อยๆ สติจะเกิดเร็วขึ้นๆ ทีแรกไหลไปคิดตั้งชั่วโมงถึงจะรู้ ต่อไปไหล 5 นาทีก็รู้แล้ว นี่สติเราเร็วขึ้นแล้ว ต่อไปไหลปุ๊บรู้ปั๊บ นี่สติเร็วใช้ได้เลย

ทุกครั้งที่เรามีสติรู้ทันจิตที่ไหลไป จิตจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา จิตจะไม่ไหลแล้ว ตั้งทรงตัวขึ้นมา คราวนี้เราจะได้ทั้งสติได้ทั้งสัมมาสมาธิ แต่ถ้าถึงเวลาที่เราเดินปัญญาไปแล้วจิตเราเหนื่อย เราก็ทำความสงบ ทำสมาธิชนิดสงบ ทำกรรมฐานไปด้วยจิตที่เป็นกลางๆ จิตวันนี้ฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน ไม่ชอบรู้ว่าไม่ชอบ จิตจะสงบ

พอจำได้ไหมวิธีให้จิตสงบ ทำกรรมฐานไปแล้วเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นที่จิตใจ ให้รู้ด้วยความเป็นกลางไว้ ยินดีก็รู้ยินร้ายก็รู้ ชอบก็รู้ไม่ชอบก็รู้ไป พอจิตเป็นกลางมันสงบอัตโนมัติเลย แล้วถ้าจะให้จิตตั้งมั่น เราก็ใช้วิธีรู้ทันจิตที่มันหลงไปไหลไป หลงไปคิดก็รู้ หลงไปเพ่งก็รู้ จิตก็จะตั้งมั่นอัตโนมัติ ฉะนั้นจิตจะสงบอัตโนมัติถ้าจิตเป็นกลาง จิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติถ้าสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น ถัดจากนั้นเราก็เจริญปัญญาไป

 

วิธีเจริญปัญญาที่ลัดสั้นที่สุด

วิธีเจริญปัญญาที่หลวงพ่อสอนจะลัดสั้นที่สุดเลย คือการเจริญสติในชีวิตประจำวันนี้ล่ะ ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ให้มันกระทบไป แต่พอกระทบแล้ว จิตใจเราเกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ให้รู้ทัน แล้วเราจะเห็นเลย จิตเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย สุดท้ายปัญญาเกิด จะเห็นจิตไม่ใช่เรา สั่งให้ดีก็ไม่ได้ ห้ามชั่วก็ไม่ได้ สั่งให้สุขก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ จิตไม่ใช่เรา สั่งให้รู้สึกตัวก็ไม่ได้ อ้าว เดี๋ยวหลงไปแล้ว ห้ามหลงก็ไม่ได้ ก็มันจะหลง นี่มันไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นตรงนี้ได้ เห็นจิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราได้ เราจะเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันไม่ใช่นั่งสมาธิเก่ง พระโสดาบันคือผู้ที่จิตเกิดปัญญาถ่องแท้แล้วว่ากระทั่งตัวจิตก็ไม่ใช่ตัวเรา

ในบรรดาขันธ์ 5 นั้นนะ ขันธ์ 5 นะคนทั่วไปที่เขาไม่เคยปฏิบัติ เขาจะรู้สึกตัวนี้ทั้งตัวคือตัวเรา แต่พอเรามาหัดภาวนา พอจิตเราตั้งมั่น รู้สึกเลยร่างกายเป็นของถูกรู้ ตรงนี้พวกเราส่วนใหญ่จะเห็นแล้ว ร่างกายเป็นของถูกรู้ ร่างกายจะไม่ใช่ตัวเราแล้ว เห็นละเอียดต่อไปอีก ความสุขทุกข์ก็เป็นของถูกรู้ ความสุขทุกข์ก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นของถูกรู้ เหมือนแก้วน้ำนี้ถูกรู้ ไม่มีใครเห็นแก้วน้ำเป็นตัวเรา เป็นของถูกรู้ กุศลอกุศลทั้งหลายก็เป็นของถูกรู้ แล้วลงท้ายเราดูจิตของเราชำนาญ เราก็เห็นจิตมันก็ถูกรู้เหมือนกัน มันก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับสภาวธรรมอย่างอื่นเหมือนกัน ไม่เที่ยงเหมือนกัน

จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง จิตโลภก็ไม่เที่ยง จิตโกรธก็ไม่เที่ยง จิตอย่างไหนๆ จะดีหรือชั่ว จะสุขหรือทุกข์ ไม่เที่ยงทั้งนั้นล่ะ ดูซ้ำๆๆ เราก็รู้อีกอย่าง เราบังคับไม่ได้ สั่งจิตให้ดีก็ไม่ได้ ห้ามจิตชั่วก็ไม่ได้ สั่งจิตจงมีแต่ความสุขก็สั่งไม่ได้ สั่งจิตว่าอย่าทุกข์ก็สั่งไม่ได้ ตรงที่เราเห็นว่าจิตเป็นของสั่งไม่ได้เรียกว่าเห็นอนัตตา ตรงเห็นว่าจิตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเรียกว่าเห็นอนิจจัง

ในขันธ์ 5 เรา ก็อยู่ในกฎของไตรลักษณ์เหมือนกัน ร่างกายก็ไม่เที่ยง หายใจออกแล้วก็หายใจเข้า หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก ยืนแล้วก็เดินแล้วก็นั่งแล้วนอนอะไรอย่างนี้ ก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน ไม่เที่ยงเหมือนกัน ไม่ใช่ตัวเรา สั่งไม่ได้ สั่งว่าอย่าแก่ไม่ได้ สั่งว่าไม่เจ็บอย่าเจ็บไม่ได้ สั่งว่าอย่าตายก็ไม่ได้ ไม่มีอะไรที่สั่งได้ อันนั้นเรียกว่าเห็นอนัตตา

การที่เราภาวนา ถ้าเราตัดตรงเข้าถึงจิตได้ ถ้าจิตไม่ใช่เราแล้ว ขันธ์ 5 อื่นๆ ไม่เป็นเราหรอก มันเป็นของถูกรู้ถูกดูที่จิตไปรู้ไปดูเท่านั้นเอง กระทั่งตัวต้นเหตุ ตัวจิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูเองยังมิใช่ตัวเราเลย ของที่จิตไปรู้จะเป็นเราไปได้อย่างไร

ฉะนั้นถ้าเราภาวนา อ่านจิตตัวเองให้บ่อยๆ นี้คือเส้นทางปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด ปรมาจารย์ใหญ่ของกรรมฐานวัดป่าคือหลวงปู่มั่น ท่านบอกการดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด ทีนี้คนรุ่นหลังๆ ทำไม่ได้ ไม่รู้วิธีที่จะทำ หลวงพ่อทำได้เพราะหลวงพ่อฝึกจิตให้ตั้งมั่น แล้วหลวงพ่อไปเจอหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนวิธีให้ ถ้าลำพังไม่มีครูบาอาจารย์มาบอก เราดูจิตไม่เป็น แล้วก็มาเดินปัญญาแบบนี้ไม่ได้ ก็ต้องทำความสงบดูกายดูอะไรไป กว่าจะขุดคุ้ยร่างกายทะลุเข้ามาจนถึงจิตใจ ใช้เวลาหลายปี

เพราะฉะนั้นไปทำกรรมฐานนะ ทุกคนต้องไปฝึก ฟังอย่างเดียวไม่รู้เรื่องหรอก ต้องเอาไปฝึกเอา ทำกรรมฐานที่เราถนัด อะไรก็ได้ แล้วตอนระหว่างทำกรรมฐาน มันฟุ้งซ่านก็อย่าไปโกรธมัน รู้ว่าไม่ชอบ มันสงบ มันสบาย วันนี้นั่งสมาธิอากาศสบาย ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป รู้สึกเพลิดเพลินสบาย รู้ว่ายินดีพอใจ รู้ว่าชอบ รู้ตรงที่ชอบ ตรงที่ไม่ชอบ จิตจะเป็นกลาง เป็นกลางเมื่อไรก็สมาธิเกิดเมื่อนั้นล่ะ ตั้งมั่นทันทีเลย

จำได้ไหม อันนี้ทำให้สงบนะคือรู้อารมณ์กรรมฐาน แล้วจิตเราเป็นกลางมันจะสงบ แล้วถ้าจะให้จิตตั้งมั่น ทำกรรมฐาน แล้วถ้าจิตหลงไปไหลไปรู้ทัน จิตจะสงบ จิตจะตั้งมั่น แล้วก็มาเจริญปัญญา ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต ให้รู้ทัน เราจะเห็นจิตเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก เราจะรู้เลยจิตไม่เที่ยง จิตเป็นของบังคับไม่ได้ ตรงนี้เราเจริญปัญญาตัดตรงเข้ามาถึงจิต

ถ้าจิตไม่ใช่เรา ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นเราอีกต่อไปแล้ว แล้วการปฏิบัติที่สูงกว่านั้นก็คือขั้นที่จะเจริญมรรคที่สูงขึ้นไป ถึงจุดที่จะได้พระอนาคามี มันดูย้อนมาที่ร่างกายเลย ร่างกายนี้เรารู้มาแต่เริ่มต้นแล้ว ร่างกายไม่ใช่เรา แล้วมันเป็นอะไร มันรู้แจ้งเห็นจริง ร่างกายคือตัวทุกข์ ร่างกายมีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย พอเห็นอย่างนี้จิตปล่อยวางกายเลย ไม่ยึดถือแล้ว กายไม่ใช่ของดี กายมีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ทุกข์มากก็ไม่ดี ทุกข์น้อยก็ไม่ดี จิตมันวางกาย อันนี้เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี

แล้วขั้นสุดท้ายนี่เราจะเข้ามาถึงจิต เราจะเห็นว่าจิตเองก็ตกอยู่ใต้กฎอันนี้เหมือนกัน เราเห็น มาแต่เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นโสดาบันแล้วว่าจิตไม่ใช่เรา แต่ถึงจุดนี้เราจะเห็นเลยจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ จิตนั้นเป็นตัวทุกข์ บางทีก็ทุกข์มากบางทีก็ทุกข์น้อย จิตไม่ใช่ของดี จิตไม่ใช่ของวิเศษ จิตเป็นตัวทุกข์เป็นภาระ

 

จิตเป็นตัวทุกข์เป็นภาระ

หลวงพ่อจะยกตัวอย่างให้เราดูแบบง่ายๆ แต่ยังไม่ถึงระดับที่หลวงพ่อบอก พวกเราเคยเห็นไหมเวลาตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ มันเกิดความสั่นสะเทือนขึ้นที่กลางอก อันนี้ใครเคยเห็นบ้างไหม เห็นตรงนี้นะ ใจมันไหวมันสะเทือนขึ้นมา สะเทือนนี่สุขหรือทุกข์ สะเทือนนี่ทุกข์นะ เหมือนอยู่ๆ เราโดนจับเขย่าตัว เขย่าๆ เบาๆ นี่รู้สึกแหม่นี่ดี เหมือนคนนวด คนมานวดเรา เราสบายๆ ถ้านวดทั้งวันนวดทั้งคืน มันสุขไหม ไม่ไหวเหมือนกัน ถูกนวดทั้งวัน นวดสบายๆ หลายๆ ชั่วโมงก็ไม่ไหวเหมือนกัน

จิตใจก็เหมือนกันที่รู้สึกว่าสุขๆ มันสุขหลายๆ ชั่วโมงก็ไม่ไหวเหมือนกัน ใจมันสะเทือนๆ ทุกครั้งที่มีการกระทบทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทางใจคือความคิด ทุกครั้งที่จิตไปกระทบอารมณ์ จะเกิดความสั่นสะเทือนขึ้นในจิตใจของเรา สั่นสะเทือนขึ้นที่ในกลางอกของเรา ถ้าเราเฝ้ารู้เฝ้าดู เห็นไหวๆๆ ทั้งวันทั้งคืน ทีแรกก็รู้สึกไม่เป็นไร ถ้าดูไปเรื่อยๆ เราจะรู้มันทุกข์จริงๆ

จิตนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษเลย เป็นตัวทุกข์จริงๆ พอเห็นอย่างนี้ใจจะค่อยคลายๆ ออก แล้วถึงจุดสุดท้ายจะเข้ามาที่จิตจริงๆ จะเห็นว่าตัวจิตผู้รู้คือตัวทุกข์โดยตัวของมันเอง จะกระทบอารมณ์หรือจะไม่กระทบอารมณ์ ตัวจิตผู้รู้ก็คือตัวทุกข์ ถ้าเราเห็นอย่างนี้ได้แล้วก็ นั่นล่ะจะบรรลุพระอรหันต์ในขณะนั้นล่ะ จิตจะปล่อยวางจิตได้ ถ้าจิตไม่ปล่อยวาง จิตยึดอะไรเราก็จะทุกข์เพราะสิ่งนั้น ยึดครอบครัวเราก็ทุกข์เพราะครอบครัว ยึดร่างกายก็ทุกข์เพราะร่างกาย ยึดโน้นยึดนี่ ยึดอะไรก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้นล่ะ

แต่ถ้าเราภาวนาจนกระทั่งเห็นว่าทุกสิ่งไม่ได้น่ายึดเลย ทุกสิ่งมีแต่ทุกข์มีแต่โทษ ยึดทีไรก็ทุกข์ทุกที จิตจะค่อยคลายยึดถือออกไป จิตก็สบาย อย่างระหว่างขนนกกับภูเขาอย่างนี้ เราก็เห็นว่าภูเขาหนักใช่ไหม ขนนกเบา แต่ถ้าภูเขามันก็ตั้งของมันอยู่อย่างนั้น เราไม่ไปยุ่งกับมัน เราถือขนนกไว้ สมมติอันนี้เป็นขนนก ถือไว้ทั้งวัน เป็นภาระไหม มันทุกข์นะ

ไม่ว่าจะยึดของวิเศษแค่ไหน ยึดของดีแค่ไหน ก็คือทุกข์นั่นล่ะ พอมันรู้แจ้งเห็นจริง ยึดเอาไว้แล้วก็ทุกข์ ก็โยนทิ้งเลย มันทิ้งของมันเอง แล้วทันทีที่อริยมรรคเกิด มันสลัดทิ้งรูปธรรมนามธรรมไปเลย ฉะนั้นเราค่อยๆ ฝึก เริ่มต้นทำอย่างที่หลวงพ่อสอนนั่นล่ะ แล้ววันหนึ่งเราจะก้าวกระโดดพัฒนาขึ้นมา จนถึงจุดสุดท้ายนี่ล่ะ จะเห็นความจริง จิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ไม่ใช่จิตที่สั่นสะเทือนคือทุกข์นะ จิตนั่นล่ะคือทุกข์ มันลึกซึ้งขนาดนั้น มันถึงจะปล่อยวางได้

ไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นธรรม ต้องเห็นทุกข์ถึงจะเห็นธรรม ถึงจะเข้าถึงธรรมะที่แท้จริงได้ ทุกข์อยู่ที่กายรู้สึกกายไป ทุกข์อยู่ที่จิตใจรู้สึกจิตใจไป รู้สึกด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง แล้ววันหนึ่งมันจะปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจได้ ถ้าปล่อยวางความยึดถือจิตใจได้ ที่สุดของทุกข์อยู่ตรงนั่นล่ะ

วันนี้เทศน์ให้ฟังอาจจะยากนิดหนึ่ง แต่ขอแนะนำไปฟังแล้วฟังอีก ฟังหลายๆ ที พวกเราไม่ใช่คนโง่หรอก ค่อยๆ ฟังไปแล้วเราเข้าใจ เราก็รู้วิธีที่จะเดินไปเรื่อยๆ ที่สอนให้วันนี้เป็นหลักสูตรตั้งแต่ต้นทางจนถึงที่สุดเลย ตั้งแต่อนุบาลจนจบปริญญาเอกเลย ที่สอนให้วันนี้ เราไปฟังแล้วฟังอีก แล้วก็ลงมือดูของจริงทำของจริง จิตฟุ้งซ่านก็ทำความสงบมา จิตสงบแล้วก็ฝึกให้ตั้งมั่น ตั้งมั่นแล้วก็พามันไปเดินปัญญา เดินปัญญาแล้วสุดท้ายมรรคผลก็เกิด นี่คือเส้นทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลายเดินมา วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้นะ

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
20 ตุลาคม 2566