ช่วงนี้มีคอร์สจีน แต่เป็นคอร์สออนไลน์ มีคนจีนเข้าคอร์สหลายร้อย 300 – 400 คน คนจีนเรียนกรรมฐาน เห็นแล้วก็น่าเห็นใจ คือเขาพูดภาษาไทยไม่ได้ เรียนตรงๆ แบบพวกเราไม่ได้ ฉะนั้นพวกเราดูตัวอย่างไว้ ถ้าพวกเราไม่ช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ วันหนึ่งอาจจะหมดไปจากบ้านเมืองไทย คนที่อยากได้ธรรมะ ต้องไปเรียนจากประเทศอื่น เรียนยาก อย่างเราต้องไปเรียนธรรมะจากเมืองจีน โห ไม่ใช่ง่ายเลย
ประตูของการบรรลุมรรคผล
ฉะนั้นก็รีบภาวนาให้ดี ให้เข้าใจธรรมะ อย่างน้อยปิดอบายได้สักชาติหนึ่งก็ยังดี คนที่ปิดอบายได้ชาติหนึ่ง เขาเรียกเป็นจุลโสดาบัน ไม่ถึงโสดาบัน เป็นจุลโสดาบัน พวกจุลโสดาบันนี้พวกมีปัญญาระดับหนึ่ง คือสามารถเห็นได้ว่า รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายทั้งปวง มันแยกออกจากจิต พูดง่ายๆ ว่าแยกขันธ์ได้ แล้วก็เห็นสภาวะทั้งหลายมันเกิดจากเหตุ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ไม่ใช่เกิดจากพรหมลิขิต หรือเทวดาสั่ง หรือใครบงการ มีความเข้าใจเบื้องต้นอย่างนี้ ก็จะปิดอบายได้ชาติหนึ่ง
ถัดจากนั้นก็จะเริ่มเดินวิปัสสนากรรมฐานจริงๆ แล้ว จะเห็นความเกิดดับของรูปธรรมนามธรรม เห็นทีแรกใจยังไม่ยอมรับ บางคนก็เบื่อ บางคนก็กลัว อย่างภาวนาแล้วเห็นตัวเราไม่มี บางคนกลัว หรือเห็นร่างกายไม่ใช่เรา บางคนกลัว บางคนก็เบื่อ บางคนก็รู้สึกว่ามีแต่ข้อบกพร่อง กายนี้ก็มีแต่ความบกพร่อง ใจก็มีแต่ความบกพร่อง เบื้องต้นเจริญวิปัสสนา มันก็จะผ่านความรู้สึกเหล่านี้ไป
พอเห็นรูปนามขันธ์ 5 กายใจเราเป็นของไม่ดี ใจมันก็อยากจะพ้นไป ตรงที่ใจมันอยากจะพ้นจากรูปนาม มันยังไม่พ้น หาทางทำอย่างไรก็ไม่พ้น ขนาดเข้าฌานหนีไปพรหมโลก มันก็ยังมีรูปมีนาม เข้าอรูปฌานไม่มีรูปก็ยังเหลือนาม ถ้าเป็นพรหมลูกฟัก มีรูปไม่มีนาม ก็ยังเหลือรูปอยู่ ไม่ว่าจะทำอย่างไรๆ มันก็หนีความมีรูปมีนามนี้ไม่ได้ ก็ภาวนาไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งจิตมันรู้ มันหนีไม่ได้ หนีไม่ได้ก็ต้องอยู่กับมัน
แต่อยู่กับมันก็รู้ความจริงของมันไปเรื่อย เห็นทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดจิตมันก็เข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา อย่างมันตามรู้ตามเห็น ความรู้สึกสุขทุกข์ในจิตใจเรา จะเห็นความสุขเกิดแล้วก็ดับ ความทุกข์เกิดแล้วก็ดับ สุขกับทุกข์ก็ไม่น่ายินดีด้วยกันทั้งคู่ คนทั่วไปแสวงหาความสุข ได้ความสุขมาแล้วก็รักษาไว้ไม่ได้ เดี๋ยวมันก็ดับ
คนทั่วไปเกลียดความทุกข์ แต่ห้ามไม่ให้มีความทุกข์ มันก็ห้ามไม่ได้ มันไม่มีอะไรที่ทำได้ ไม่มีอะไรอยู่ในอำนาจบังคับได้ เห็นจนกระทั่งใจมันยอมรับความจริง ทุกสิ่งทุกอย่างนี้อยู่นอกเหนืออำนาจบังคับของเรา ใจก็เข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญาอันยิ่ง ตรงจุดนี้จุดสำคัญ เราจะต้องเดินมาให้ถึงจุดนี้ให้ได้ ในวันหนึ่งข้างหน้า
ถ้าใจเราเป็นกลางต่อความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง อย่างเราเป็นกลาง ร่างกายจะแข็งแรง หรือร่างกายจะแก่เฒ่า เป็นหนุ่มเป็นสาว หรือว่าแก่ หรือว่าเจ็บไข้ ก็เห็นว่ามันเป็นธรรมดา ใจมันก็ไม่ดิ้นรน ดิ้นรนที่จะแข็งแรงตลอด ดิ้นรนจะเป็นหนุ่มสาวตลอด ดิ้นรนจะหนีจากความทุกข์ในกาย ก็ไม่ดิ้นรนแล้ว เพราะมันเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้ง หรือมันเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งของจิตใจ จิตสุขก็ไม่ยั่งยืน แล้วก็บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ จิตทุกข์ก็ไม่ยั่งยืน ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ จิตเป็นกุศลหรือจิตเป็นอกุศล ก็ไม่ยั่งยืน ควบคุมบังคับไม่ได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นมันจะรู้สึกว่า มีสุขหรือมีทุกข์ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล มันก็พอๆ กัน ใจมันก็เป็นกลางเพราะมีปัญญา เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ พอเราเห็นอย่างนี้ จิตก็หมดความปรุงแต่ง จิตก็จะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ เกิดกระบวนการบรรลุมรรคผลขึ้น ฉะนั้นตรงที่เราภาวนา จนจิตเป็นกลางต่อความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง เป็นประตูของการบรรลุมรรคผล บางคนมาถึงตรงนี้แล้ว ใจปรารถนาพุทธภูมิ ก็จะไม่บรรลุมรรคผล
พวกที่ปรารถนาพุทธภูมิ ไม่ต้องกลัวว่าภาวนาเยอะๆ แล้วจะบรรลุ ไม่บรรลุหรอก ความปรารถนาโพธิญาณมันจะขวาง ก็ไม่บรรลุ แล้วอีกพวกหนึ่ง พอเข้ามาถึงความเป็นกลาง เกิดประมาท มันก็เสื่อมไป ก็ต้องเริ่มต้นภาวนากันใหม่ จิตเราจะดำเนินมาในเส้นทางของการเจริญปัญญาอย่างนี้ ก็ต้องมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ธรรมะมากมายมโหฬาร เยอะแยะไปหมด คำสอนวิธีปฏิบัติอะไร มีมากมายเยอะแยะไปหมด แต่หลวงพ่อสรุปลงมาเหลือสั้นๆ นิดเดียว “ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ตรงนี้ครอบคลุมการปฏิบัติที่สำคัญเอาไว้ทั้งหมดแล้ว ส่วนวิธีการ รายละเอียดแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วแต่จริตนิสัย วาสนาบารมีของแต่ละคนไม่เท่ากัน เราจะเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา ปัญญานั้นเป็นปัญญาที่เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ไม่ใช่ปัญญาอย่างอื่น เป็นวิปัสสนาปัญญา ที่จะทำให้เราเข้าถึงมรรคผลได้
วิปัสสนาปัญญา เราจะให้เกิดขึ้นมาได้ สิ่งที่เราต้องทำ คือสมถกรรมฐานและก็วิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐาน เป็นการเตรียมความพร้อมของจิตให้เหมาะสม ให้มีขีดความสามารถที่จะเจริญปัญญา ส่วนวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นวิธีการเจริญปัญญา แล้วผลที่ได้คือจิตเราจะเข้าใจความจริงของรูปของนาม สิ่งที่เรียกว่ารูปนาม บางทีเรียกว่าโลก เข้าใจรูปนาม จะเข้าใจโลก เข้าใจหมู่สัตว์ทั้งหลาย นี่เข้าใจ เรียกเข้าใจโลก เข้าใจรูปนาม
สัตว์ทั้งหลายมันก็มีรูปนาม โลกทั้งหมดมันก็เป็นรูปนาม ถ้าเข้าใจมันก็จะวางโลก หมดความยึดถือในโลก ความพ้นทุกข์ก็อยู่ตรงที่หมดความยึดถือนั่นล่ะ เมื่อวานหลวงพ่อถามคนจีนว่า ถ้าเรามีขนนกอยู่เส้นหนึ่ง กับมีภูเขาอยู่ลูกหนึ่ง อันไหนจะหนักกว่ากัน ภูเขานั้นเราไม่ได้ไปแบก เราไม่หนัก แต่ถ้าเราถือขนนกอยู่ทั้งวัน หนัก เป็นภาระ เพราะฉะนั้นภาระหรือตัวทุกข์ มันอยู่ที่ว่าเราหยิบเอาไว้ ยึดเอาไว้ หรือเราวางได้ ถ้าวางได้มันก็ไม่ทุกข์
ขันธ์ 5 มันเป็นทุกข์ เหมือนขนนก ขันธ์ 5 มันเป็นทุกข์ ถ้าเราไม่หยิบขึ้นมา มันก็ไม่ทุกข์ เหมือนภูเขาทั้งลูก เราไม่หยิบขึ้นมา มันก็ไม่หนัก จิตจะเข้ามาถึงตรงนี้ได้ จิตต้องมีปัญญาอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าถึงบอก “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” ด้วยวิปัสสนาปัญญา ไม่ใช่ปัญญาจากการอ่าน การฟัง หรือการคิดเอาเอง ตัวนี้ ปัญญาตัวนี้เกิดได้ ด้วยการที่เราทำสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน
สมถกรรมฐานเป็นการเตรียมความพร้อมของจิต ที่จะไปเดินปัญญา วิปัสสนากรรมฐาน เป็นวิธีเดินปัญญาของจิต จนกระทั่งเข้าสู่มรรคผล นี้ในประโยคที่หลวงพ่อบอก ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง อันนี้คือวิธีเจริญวิปัสสนา ความเป็นจริงของกายของใจก็คือไตรลักษณ์ ถ้าเราเห็นไตรลักษณ์ของกายของใจได้ เราทำวิปัสสนาอยู่ ถ้าทำไปเรื่อยๆ กำลังของปัญญามากพอ มรรคผลก็จะเกิดขึ้น
แต่มันมีประโยคอีกอันหนึ่ง ที่หลวงพ่อใส่ไว้ตอนท้าย “ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง)” จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางนี้ เป็นผลจากการทำสมถกรรมฐานที่ถูกต้อง มันมีคำอยู่ 2 คำ ว่า “ตั้งมั่น” อันหนึ่ง “เป็นกลาง” อันหนึ่ง แล้วทำอย่างไรเราจะเตรียมความพร้อมของจิต ให้ตั้งมั่นและเป็นกลางได้ วิธีฝึกที่ง่ายๆ ก็ฝึกตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย จะไปอ้อมทำไม ในเมื่อเรารู้ว่ามันเป็นงานของจิต เราก็ตัดเข้ามาที่จิตเลย
ฝึกให้จิตตั้งมั่น
วิธีที่จะให้จิตตั้งมั่น เราไปสั่งจิตไม่ได้ เพราะจิตเป็นอนัตตา ให้เราอาศัยสติ สติเป็นตัวรู้เท่าทัน เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตที่ไม่ตั้งมั่นก็คือ มันคลอนแคลน โคลงเคลง เดี๋ยวก็ไหลไปทางตา เดี๋ยวก็ไหลไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ช่องทางที่มันไหลไปได้มีตั้ง 6 ช่อง เบื้องต้นจะมารู้เท่าทันจิตที่ไหลไปทั้ง 6 ช่องนี้ ยาก เอามันช่องเดียวพอ
ตอนหัดใหม่ๆ นี้ ทำกรรมฐานไปสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเองไว้ ที่หลวงพ่อบอกให้ทำกรรมฐานอันหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเองไว้ ว่าจิตมันหลงไปอย่างไร รู้ทันมันไว้ จับโจรก็จับหัวหน้าโจร จับกบฎก็จับหัวหน้ากบฎ จะจับศัตรู ทำสงครามสมัยโบราณ ระหว่างเมืองกับเมือง ฆ่าแม่ทัพมันตาย กองทัพมันก็แตก เหมือนพระนเรศวรชนะมหาอุปราช ไม่ได้ชนะกองทัพพม่า ชนะหัวโจกมัน กองทัพมันใจฝ่อ ถอยไปหมด เพราะฉะนั้นจะจับโจร ก็จับที่หัวหน้าโจร หัวหน้าโจรไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ที่จิตเรานี้ล่ะ
เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้เท่าทันจิตตัวเอง จิตหลงไป 6 ช่องทาง ดูยาก เอามันช่องเดียวก็พอ หัดทีแรกเอาช่องเดียว คือจิตหลงทางใจ จิตที่หลงทางใจไปทำงานได้หลายอย่าง แต่ตัวสำคัญที่พวกเราจะดูได้ คือจิตหลงไปคิด จิตหลงคิดเกิดทั้งวันเลย เพราะฉะนั้นให้เราทำกรรมฐานอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เราถนัด อะไรก็ได้ ท่อง ก เอ๋ย ก ไก่ ข ไข่อยู่ในเล้า อะไรอย่างนี้ก็ได้ ท่องอะไรสักอย่างหนึ่งก็ได้ จะรู้ลมหายใจก็ได้ ดูท้องพองยุบก็ได้ เหมือนกันหมด จุดสำคัญก็คือให้คอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ จิตมันชอบหนีไปคิด
อย่างถ้าเป็นหลวงพ่อ หลวงพ่อทำอานาปานสติ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พอจิตหนีไปคิด ลืมลมหายใจ ลืมว่าร่างกายกำลังหายใจ ลืมว่าจิตกำลังท่องพุทโธ มันลืมทั้งกาย ลืมทั้งจิต มันหนีไปคิด พอเราหัดหายใจเข้าพุทออกโธบ่อยๆ หรือหัดกรรมฐานอันใดอันหนึ่งไว้บ่อยๆ จิตมันจะหนีไม่นาน หนีไปพักหนึ่งก็จะนึกขึ้นได้ ลืมรู้การหายใจของร่างกายแล้ว ลืมบริกรรมพุทโธแล้ว มัวแต่ไปคิดเรื่องอื่น ไปคิดเรื่องโน้น คิดเรื่องนี้ พอเรารู้ทัน จิตที่หลงคิดก็ดับ จิตที่รู้ตื่นเบิกบาน แล้วก็ตั้งมั่นจะเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นอาศัยการทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันเวลาจิตหลงไปคิด ขั้นแรกเอาอันเดียว เอาจิตหลงคิดอันเดียวก็พอแล้ว มันเป็นจิตที่เกิดบ่อยที่สุด พอจิตหลงคิดแล้ว ทีแรกนานๆ กว่าจะรู้ คนในโลกนั้นก็หลงคิด ตั้งแต่ตื่นจนหลับ วันหนึ่งมันหลงครั้งเดียว เราปฏิบัติ เราก็จะหลงหลายครั้ง หลงไปชั่วโมงหนึ่งแล้วรู้ วันนี้รู้ได้ 1 ครั้งแล้ว ก็หลง 2 ครั้ง หลงอยู่ หลงหนึ่ง เกิดความรู้ขึ้นมา รู้สึกขึ้นมา แล้วความรู้สึกดับก็เกิดหลงตัวที่สอง เพราะฉะนั้นหลงจะมากกว่ารู้อยู่หนึ่ง ถ้าใส่สมการ หลงก็เท่ากับรู้บวกหนึ่ง
ถ้าเราหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้บ่อยๆ ความรู้ตัวของเราจะถี่ขึ้นๆ จิตมันจะตั้งมั่น จิตที่หลงคือจิตที่ไม่ตั้งมั่น มันไหลไป มันอ่อนแอปวกเปียก แล้วมันก็ไหลไป ตรงเรามีสติรู้ทันจิตที่ไหลไป จิตมันตั้งมั่นเอง ไม่ต้องไปสั่งให้มันตั้งหรอก ถ้าจงใจให้ตั้ง เกือบทั้งหมดที่นักปฏิบัติทำ จงใจจะให้จิตตั้งอยู่ ก็เลยแข็งทื่อไปเลย แน่นๆ จงใจให้จิตตั้งมั่นจะแน่นๆ อึดอัดไปเลย ใช้ไม่ได้ จิตที่อึดอัดมันเป็นอกุศลจิต จิตที่เป็นกุศลมันเบา มันนุ่มนวล อ่อนโยน คล่องแคล่ว ว่องไว ไม่หนัก ไม่แน่น ไม่แข็ง ไม่ซึม ไม่ทื่อ
เราไปฝึกทำไมอกุศลจิต หรือบางทีก็ไปฝึกกรรมฐานกัน โอ๊ย ทุกข์ทรมานทั้งร่างกาย ทั้งจิตใจ ทำไมต้องทุกข์ทางกายทางใจ มันเป็นวิบาก อกุศลวิบากให้ผลมา เลยไปเรียนกรรมฐานอะไรที่ทรมานตัวเองขนาดนั้น มันเกิดจากอกุศลให้ผล อกุศลเก่าก็มี อกุศลใหม่ก็มี บางคนไปเรียนกรรมฐานแล้วก็เครียด สติแตกเป็นบ้า ยิ่งขยันมากก็ยิ่งบาดเจ็บมาก อันนี้เป็นอกุศลใหม่ อกุศลเก่าก็ส่งผลให้ไปเรียนกรรมฐานแบบนั้น เราขยันมาก ทรมานตัวเองหนัก สร้างอกุศลใหม่ อกุศลเก่า อกุศลใหม่มาเจอกัน สติแตก ไม่ดี
เพราะฉะนั้นเราหัดภาวนา ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ พอจิตไหลแล้วรู้ ไหลแล้วรู้ ต่อไปจิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเอง โดยที่เราไม่ได้บังคับ ฝึกอย่างนี้ทุกวันๆ พยายามฝึกไว้ มีคำอีกคำหนึ่ง คำว่า “เป็นกลาง” หลวงพ่อสอนบอกว่า “ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” จิตที่เป็นกลางก็คือ จิตที่ไม่หลงยินดียินร้าย
พวกเราเคยรู้สึกไหมว่า เวลาเราภาวนา บางทีเราเครียด เราเครียด จิตอย่างไรก็ไม่สงบ บางทีก็ฟุ้งซ่านแหลกลาญเลย ฟุ้งทั้งวัน ฟุ้งทั้งคืน ภาวนาอย่างไรก็ไม่สงบ ตรงนี้เพราะอะไร เพราะจิตเราไม่เป็นกลาง ถ้าจิตเราเป็นกลาง จิตจะสงบ ถ้าจิตรู้ทันความไม่ตั้งมั่น จิตจะตั้งมั่น เพราะฉะนั้นตรงนี้มันคือสมาธิ 2 ประเภท จิตตั้งมั่นที่เราฝึก ทำกรรมฐานอันหนึ่ง จิตหลงแล้วรู้ เราจะได้จิตตั้งมั่น จิตตัวนี้เอาไว้ทำวิปัสสนากรรมฐานโดยตรงเลย เรียกว่าลักขณูปนิชฌาน
เคล็ดลับในการทำสมถกรรมฐานชนิดสงบ
ถ้าเราต้องการพักผ่อน เราเหนื่อยในการทำกรรมฐานเต็มทีแล้ว หรือว่าตัวผู้รู้ของเราหายไป มีแต่ตัวผู้ฟุ้งซ่าน อันนี้เราต้องทำสมถกรรมฐานอีกแบบหนึ่ง คือทำกรรมฐานชนิดสงบ เคล็ดลับในการทำสมถกรรมฐานชนิดสงบ ให้เราเลือกอารมณ์กรรมฐาน ที่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจ นี้จุดหนึ่ง อันที่ 2 ให้เราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอันนั้น ด้วยจิตที่เป็นกลาง
ฉะนั้นอย่างเราเริ่มต้น สมมติว่าเราหายใจ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตเราฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่าน ไม่ใช่ไปพยายามทำให้จิตสงบ ยิ่งพยายาม ยิ่งล้มเหลว ไม่ต้องพยายาม จิตฟุ้งซ่าน รู้ว่ามันกำลังฟุ้งซ่านอยู่ รู้ลึกลงไปอีกหน่อยหนึ่ง ไม่ชอบเลย ไม่ชอบฟุ้งซ่าน ชอบสงบ อาศัยสติอีกนั่นล่ะ รู้ทันจิตที่ชอบ จิตที่ไม่ชอบสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น
เพราะฉะนั้นเวลาทำสมถกรรมฐานชนิดสงบ เรียกอารัมมณูปนิชฌาน จิตจะสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ไม่ใช่จิตตั้งมั่น แล้วเห็นสภาวะทั้งหลายผ่านมาผ่านไป แสดงไตรลักษณ์ อันนั้นเป็นสมาธิชนิดตั้งมั่น สมาธิสงบ เคล็ดลับของมัน หนึ่งรู้จักเลือกอารมณ์กรรมฐาน อารมณ์กรรมฐานที่เราอยู่ด้วย แล้วเรามีความสุข อย่างหลวงพ่อใช้อานาปานสติ พวกเราเรียนกับหลวงพ่อ แล้วทำอานาปานสติ แล้วไม่มีความสุข ก็ไม่เอา ไปเอาอันอื่นที่ทำแล้วสบาย
ยกตัวอย่างเลย คนที่ใกล้ชิดหลวงพ่อมากที่สุดคนหนึ่งเลย 1 ใน 2 คน คือพระอาจารย์อ๊า พระอาจารย์อ๊ากับคุณแม่ตามหลวงพ่อมาตลอด พระอาจารย์อ๊ารู้ว่าหลวงพ่อทำอานาปานสติ แต่พระอาจารย์อ๊าทำไม่ได้ เพราะเป็นโรคจมูกตัน หายใจไม่ออก ก็หายใจไม่ออกทำอานาปานสติแล้วอึดอัด ไม่สบายใจเลย พระอาจารย์อ๊าก็ไม่เอา พระอาจารย์อ๊าก็ใช้กรรมฐานอื่น ใช้รู้สึกร่างกาย ใช้สัมปชัญญบรรพ ใช้อานาปานสติบรรพไม่ได้ ก็ใช้สัมปชัญญบรรพ
รู้จักเลือกกรรมฐานที่เหมาะกับตัวเอง นี่ข้อที่หนึ่งเลย ต้องรู้จักเลือก ไม่ใช่ตามคนอื่นเขา เขาพองยุบ เราก็พองยุบ พองไปพองมาก็โมโหตัวเอง แล้วเครียด โมโหวิทยากร โมโหอะไรอย่างนี้ ไม่ได้เรื่องหรอก ดูกรรมฐานที่เหมาะกับตัวเอง ไม่มีกรรมฐานสำเร็จรูป ทางใครทางมัน เพราะฉะนั้นเราอยากให้จิตสงบ ก็เลือกทำกรรมฐานที่สบายใจ ที่เราถนัด ที่เราสะดวก แล้วเราก็รู้อารมณ์กรรมฐานนั้น รู้ไปเรื่อยๆ แล้วถ้าหากจิตมันเกิดยินดี ให้รู้ทัน จิตมันเกิดยินร้าย ให้รู้ทัน
สมมติเรานั่งหายใจไป อย่างหลวงพ่อหายใจอย่างนี้ แล้ววันนี้จิตไม่สงบเลย มีไหม หายใจไปแล้ว วันนี้จิตไม่สงบเลย มีนะ เคยได้ยินชื่อหลวงปู่เสาร์ไหม หลวงปู่เสาร์เป็นอาจารย์หลวงปู่มั่น หลวงพ่อพุธเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เสาร์ หลวงพ่อพุธไม่ใช่เรียนกับหลวงปู่มั่น ไปเรียนกับหลวงปู่เสาร์ ตอนนั้นหลวงพ่อพุธเป็นเณร อยู่กับหลวงปู่เสาร์ แล้ววันหนึ่งหลวงปู่เสาร์ ก็บอกหลวงพ่อพุธว่า “เณร วันนี้จิตของข้าไม่สงบเลย”
หลวงพ่อพุธท่านบอก ท่านสงสัยมากเลย พระอรหันต์อะไรจิตไม่สงบเลย วันนั้นจิตท่านไม่สงบ เพราะจิตท่านเดินปัญญา ท่านพิจารณาธรรมะอะไรต่ออะไร สั่งมันได้ไหม มันสั่งไม่ได้ อย่างเรานั่งสมาธิอยู่อย่างนี้ บางครั้งเราคิดว่าจะพัก ไม่เลย จิตออกไปเดินปัญญาเฉยเลยก็มี เพราะฉะนั้นเวลาเราต้องการความสงบ แล้วจิตออกไปเดินปัญญา โอ๊ย โมโหตัวเองแล้ว อะไร อยากพัก ทำไมพิจารณาเกิดดับไม่เลิก เห็นจิตเกิดดับไม่เลิก หงุดหงิดขึ้นมา ไม่ชอบ ให้รู้ทันที่ไม่ชอบ ไม่ชอบที่จิตออกไปเดินปัญญา พอรู้ทัน จิตเป็นกลาง
ถ้าจิตเป็นกลาง จิตจะหมดความดิ้นรน จิตหมดความดิ้นรน จิตสงบทันที ที่จิตไม่สงบเพราะจิตมันดิ้นรน ง่ายๆ แค่นี้เอง เพราะฉะนั้นอย่างหลวงพ่อหายใจ แล้ววันนี้มันอึดอัด ใจมันฟุ้งซ่าน พอใจมันฟุ้งซ่าน เราไม่ชอบ รู้ทันว่าใจไม่ชอบ พอใจเป็นกลาง ใจก็หมดความดิ้นรน ถ้าเราฟุ้งซ่านอยู่ เรารู้ว่าฟุ้งซ่าน แล้วเราก็หงุดหงิด เราก็บังคับใหญ่เลย หาทางบังคับจะให้จิตสงบ ยิ่งบังคับมันก็ยิ่งดื้อ ไม่สงบหรอก ทำอย่างไรก็ไม่สงบ
แต่พอเรารู้ทัน ว่านี่ไม่ชอบเลยที่มันฟุ้งซ่าน ความไม่ชอบดับ การดิ้นรนปรุงแต่งของจิตก็หมด ทันทีที่จิตหมดความดิ้นรนปรุงแต่ง จิตสงบทันทีเลย นี่มันเป็นเคล็ดลับ เป็นเคล็ดวิชา หลวงพ่อเลยไม่ได้สอนพวกเราทำกรรมฐานอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนใหญ่จะสอนหลักวิชาให้ แล้วเอาไปใช้ได้กับทุกกรรมฐาน เพราะฉะนั้นตัวที่สรุปมาให้นี้ สรุปมาจากธรรมะจำนวนมากมายมหาศาล อาศัยทดลอง ลองผิดลองถูกมามากมาย ก็สรุปออกมาเหลือสั้นๆ นิดเดียวเอง
ถ้าเราต้องการให้จิตสงบ เราก็เลือกอารมณ์กรรมฐานที่สบาย มีความสุข แล้วก็รู้อารมณ์กรรมฐานนั้นไป แล้วถ้าจิตมันเกิดเพลิดเพลินพอใจ ชอบในความสุขความสงบ ให้รู้ว่าชอบ ตรงที่มันมีความสุขเกิดขึ้น แล้วเราไปชอบมัน เราไม่รู้ เราก็ติดอยู่ตรงนั้น ไม่เข้าถึงความสงบระดับลึกซึ้ง แต่ถ้ามีความสุขขึ้นมา ใจมันชอบรู้ว่าชอบ ใจก็เลิกชอบ ใจเลิกชอบ ใจเป็นกลาง จิตจะเข้าสู่อุเบกขา เห็นไหม ก้าวจากความสุขขึ้นสู่อุเบกขา กระโดดขึ้นฌานที่ 4 ไปแล้ว จิตมีอุเบกขา
ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องยากนักหรอก อาศัยสติรู้เท่าทันความปรุงแต่งของจิตตัวเองไว้ เพราะฉะนั้นเวลาต้องการความสงบเมื่อไร เราก็มาทำกรรมฐานที่เราสบายใจที่เราคุ้นเคย แล้วทำไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ถ้าไม่สงบแล้วไม่ชอบ ให้รู้ สงบแล้วชอบ ให้รู้ เราจะก้าวไปสู้ความสงบที่ประณีตลึกซึ้งมากขึ้นๆ ในที่สุดจิตจะเข้าสู่ความเป็นกลาง ด้วยกำลังของสมาธิ จิตตรงนี้มันคือจิตในระดับจตุตถฌาน ฌานที่ 4 กับอรูปฌานอีก 4 ชนิด อันนี้จิตมันเป็นอุเบกขา ด้วยกำลังของฌาน นี่เป็นวิธีที่จะทำให้จิตสงบ
วิธีให้จิตสงบก็คือเป็นกลาง ถ้าไม่เป็นกลาง ยินดีกับความสุข ก็จะเกิดความปรุงแต่ง ในการรักษาความสุข ยินร้ายต่อความฟุ้งซ่าน ก็จะเกิดความปรุงแต่ง ในการแก้ไขความฟุ้งซ่าน นั่งแก้จิตไปอย่างนี้ ภาวนาแล้วก็แก้จิตมันทั้งวัน แล้วมันก็ไม่สงบสักที เพราะมัวแต่นั่งแก้ เลิกแก้ไปเลย แล้วรู้อย่างที่มันเป็น แล้วก็ใจไม่เป็นกลาง ยินดียินร้ายขึ้นมา รู้ทันเข้าไป พอใจเป็นกลางปุ๊บ สงบปั๊บเลย ตัวนี้เป็นสมาธิสงบ
ส่วนสมาธิตั้งมั่น สอนอยู่เรื่อยๆ ทำกรรมฐานนั่นล่ะ อันเดิมนั่นล่ะ แต่แทนที่จะสนใจอยู่ที่อารมณ์กรรมฐาน เปลี่ยนมาสนใจรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหนีไปคิดแล้วรู้ จิตหนีไปคิดแล้วรู้ เดี๋ยวจิตจะตั้งมั่นเอง
มีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางแล้ว ต้องเจริญปัญญา
พอเรามีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นเป็นจิตที่เอาไว้เดินปัญญา จิตที่เป็นกลาง จะให้พลัง ให้พลังงาน ทำให้มีเรี่ยวมีแรง เพราะฉะนั้นจิตที่สงบด้วยอารัมมณูปนิชฌาน มีประโยชน์ ทำให้จิตมีกำลัง
ส่วนจิตตั้งมั่นนั้น มีประโยชน์อย่างยิ่ง เอาไว้เจริญปัญญาได้ ถ้าจิตสงบ ไม่เดินปัญญาหรอก จะเฉยๆ อยู่ พอเรามีจิตอย่างนี้แล้ว ทั้งตั้งมั่นและเป็นกลางแล้ว ไม่ได้ตั้งแล้วเป็นกลางอยู่เฉยๆ ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้น เพลิดเพลินมีความสุขอยู่เฉยๆ ไม่ใช่ ที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า ทำสมาธิไป หายใจไป พุทโธไป จนจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง แต่ท่านไม่ได้แจกแจง ว่าทำอย่างไรตั้งมั่น ทำอย่างไรเป็นกลาง ท่านให้ไปทำเอาเอง
ทำอยู่หลายปี ในที่สุดได้จิตตั้งมั่นและเป็นกลาง แล้วก็รักษาจิตแล้วคราวนี้ เพราะว่ากว่าจะได้มานี้ยากเย็นแสนเข็ญ พอได้มาแล้ว โอ๊ย นี่ของวิเศษเลย ก็จับไว้แน่นเลย รักษาจิตเอาไว้ นิ่งๆ สงบอยู่อย่างนั้น ไม่ยอมเดินปัญญา เรียกว่ามีเครื่องมือแล้ว แต่ไม่เอาเครื่องมือไปหาผลประโยชน์ ครูบาอาจารย์ท่านก็จะไล่ให้ออกมาเดินปัญญา เฮ้ย อย่าไปติดสงบอยู่ ให้ออกมาเดินปัญญา ถ้าจิตติดสมาธิลึก ท่านให้ดูกาย
อันนี้ในอภิธรรมก็สอน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมาะกับพวกสมถยานิก คือพวกเล่นฌาน ตำรากับปริยัติ กับปฏิบัติ มันตรงกัน ให้ภาวนาให้เป็นเท่านั้น มันตรงกัน เคยอ่านประวัติหลวงตามหาบัวไหม ตอนที่ท่านเข้าไปหาหลวงปู่มั่นใหม่ๆ หลวงปู่มั่นก็สอนท่านพุทโธ ท่านก็พุทโธๆ ให้จิตสงบ ตอนเช้าเจอหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็ถาม “ไง มหา จิตเป็นอย่างไร” “จิตสงบครับ” หลวงปู่มั่นก็เฉยๆ “อืม ก็ดีแล้ว” อีกวันหนึ่งถาม “สงบครับ” “อืม ก็ดีแล้ว”
พอนานๆ ท่านบอก “อยากเป็นสมาธิฤๅษีหรือ ให้ออกมาเดินปัญญานี่ ออกมาพิจารณาร่างกายไปเลย” อาจารย์มหาบัวท่านเล่า ตอนนั้นบอกว่า พอหลวงปู่มั่นให้ออกมาเดินปัญญา ท่านก็พยายามออกมาดูร่างกายปุ๊บ พอดูร่างกายปุ๊บ จิตกลับเข้าไปสงบอีกแล้ว เพราะมันติดสมาธิ ท่านบอกว่าต้องฝืนในการเดินปัญญานี่ ต้องฝืนมากเลย ทีแรกก็ต้องฝืนมากมายเพื่อให้จิตสงบ พอสงบลึกเกินไป นานไป ก็ต้องฝืนให้มันออกมาเดินปัญญา ออกมาพิจารณาร่างกายอะไรอย่างนี้
ใหม่ๆ ไม่ยอมเลย ออกมาดูกายนิดเดียว หนีกลับเข้าหาความสงบอีกแล้ว พอฝึก พยายามทุกวันๆ ก็เดินปัญญาได้ หลวงปู่มั่นก็ถาม “เป็นอย่างไร ท่านมหา” บอก “เดินปัญญาอยู่ครับ” ทุกวันก็บอกว่าเดินปัญญา สุดท้ายก็โดนดุอีก ก็ทำต้องทำสมาธิด้วย ไม่ใช่เอาแต่เดินปัญญารวดไปเลย แล้วสมาธิไม่พอ มันไปไม่ได้หรอก ถ้าปริยัติเขาจะบอกเลย สมาธิไม่พอ มันจะเป็น เกิดวิปัสสนูปกิเลส
พอเรามีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางแล้ว ต้องเอาออกมาเจริญปัญญา ในพระไตรปิฎกท่านใช้คำนี้ พอจิตถึงอุเบกขาแล้ว จิตเป็นกลาง สงบแล้วก็เป็นกลาง ตั้งมั่นแล้ว ให้โน้มน้อมจิตนี้ไปเพื่อญาณทัสสนะ ญาณทัสสนะ “ญาณ” แปลว่าปัญญา “ทัสสนะ” คือการเห็น เห็นด้วยปัญญา เห็นด้วยปัญญานี้เห็นอะไร ก็เห็นความจริง เบื้องต้นก็คือเห็นความจริง ว่ากายนี้ใจนี้ประกอบด้วยขันธ์ 5 นี่มีญาณแล้ว มีปัญญาแล้ว เห็นความจริงเบื้องต้นแล้ว
กายนี้ใจนี้มันเป็นขันธ์ 5 มารวมกัน มาประชุมกัน ด้วยเหตุ ด้วยปัจจัยต่างๆ แล้วเสร็จแล้วก็จะเห็นด้วยปัญญาต่อไปอีก มันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เห็นมันเกิดดับๆ ไป ต่อมาจิตมันเกิดเบื่อ เกิดกลัว เกิดรู้สึกว่าไม่มีสาระแก่นสาร จิตเกิดความรู้สึกอย่างนี้ ก็เป็นปัญญาที่สูงขึ้นมา อันนี้ ให้รู้ทันเข้าไปอีก จนกระทั่งจิตมันเป็นกลางขึ้นมาอีก อาศัยกำลังของสมาธิมาช่วย จิตก็จะเป็นกลางขึ้นมาได้ด้วย
แล้วก็จะหา จิตมันจะเริ่มดิ้นรน ว่าทำอย่างไรจะหลุดพ้น ทำอย่างไรจะได้มรรคผล ทำอย่างไรจะเจอพระนิพพาน หาทางดิ้นรนอย่างไร มีสติตามรู้ความดิ้นรนปรุงแต่ง แสวงหาของจิตไป ในที่สุดมันก็รู้ทัน หาอย่างไรก็ไม่ได้ ตรงที่หลวงพ่อภาวนา ทุกวันตั้งแต่ตื่นนอน ตั้งแต่เป็นโยม พอตื่นนอนปุ๊บ มันจะคิดเลย วันนี้จะภาวนาแบบไหนดี คิดอย่างนี้ จะทำอย่างไรดี จะปฏิบัติอย่างไรแล้วมันจะดีกว่านี้อีก แสวงหาแล้ว แสวงหาว่าทำอย่างไรจะดี ทำอย่างไรจะได้พ้นไปสักที
พอคิดว่าทำอย่างนี้น่าจะดี แล้วลงมือทำไป ทั้งวันพยายามทำไป บางทีทำ 3 วัน 7 วัน ทำไปเดือนหนึ่ง พบว่าไม่ดีจริง ว่า เอ๊ะ ทำอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ทำอย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ ในที่สุดจิตก็จนมุม ไม่ทำมันแล้ว รู้มันอย่างที่มันเป็น ค่อยๆ รู้ไป ก็เห็นมันเกิดดับไปเรื่อย รู้อย่างที่มันเป็น ในที่สุดปัญญามันก็เกิด เพราะเราไม่เข้าไปหลง ไม่ไปแทรกแซง จิตก็เป็นกลางด้วยปัญญา
เส้นทางที่เราจะต้องเดิน
นี่เป็นเส้นทางที่เราจะต้องเดิน ขั้นแรกก็เตรียมจิตให้พร้อมที่จะเจริญปัญญา จิตที่พร้อมเจริญปัญญา ก็เป็นจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นเป็นจิตที่มีลักขณูปนิชฌาน จิตจะตั้งมั่น วิธีฝึกให้ได้จิตตั้งมั่น ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ จิตหลงไปคิดแล้วรู้ หลงไปคิดแล้วรู้ ที่จริงรู้ทันจิตอย่างอื่นก็ได้ เช่น ขี้โมโห จิตโกรธแล้วรู้ จิตโกรธแล้วรู้ไปเรื่อยๆ จิตก็จะตั้งมั่นได้เหมือนกัน
แต่ส่วนใหญ่เราไม่ได้โกรธบ่อยเท่ากับหลง หลงคิดมันเกิดทั้งวันเลย โกรธนี้นานๆ โกรธที บางคนไม่โกรธเลย บางคนโกรธแล้วก็ไม่อาฆาต ให้จะไปดูจิตที่อาฆาต ไม่มี เราไปดูของไม่มี จะไปเห็นอะไร ฉะนั้นดูแต่ของที่มี ของที่มีคือจิตที่หลงคิด มีแน่นอน หลงทั้งวัน เพราะฉะนั้นทำกรรมฐาน จิตหลงคิดแล้วรู้ หลงคิดแล้วรู้ ในที่สุดจะได้จิตที่ตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นคือจิตที่ไม่หลง ไม่โคลงเคลง ไม่คลอนแคลน ไม่เคลื่อนไปเคลื่อนมา
ส่วนจิตที่เป็นกลาง ตัวนี้จะทำให้จิตมีพลัง เป็นอารัมมณูปนิชฌาน ทำกรรมฐานไป อยู่กับอารมณ์กรรมฐานนั้นไป หงุดหงิด รำคาญ ไม่ยอมสงบสักที รู้ทันว่าไม่ชอบ อยากสงบ ชอบความสงบ รู้ทันว่ากำลังหิวความสงบอยู่ เขาเรียกพวกหิวแสง หลวงพ่อเมื่อก่อนก็หิวแสงเหมือนกัน แต่ไม่ใช่หิวแสงในศัพท์แบบนี้ หลวงพ่อนั่งสมาธิไป พอลมระงับมันกลายเป็นแสง เป็นแสงขึ้นมา หิวแสงคือ นั่งสมาธิทีไรอยากให้มีแสงทุกทีเลย หิวแสง
จิตไม่เป็นกลาง จิตชอบอันนี้ พอจิตชอบ จิตก็ปรุงแต่ง ทำอย่างไรมันจะเกิดแสง หรือถ้ามันฟุ้งซ่าน ทำอย่างไรมันจะไม่ฟุ้งซ่าน มันจะมีคำว่า “ทำ” ขึ้นมาแล้ว ตรงที่ทำขึ้นมานั้น จิตฟุ้งซ่านไปเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ไม่สงบหรอก ถ้าจิตไม่ทำ จิตถึงจะสงบ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ท่านเคยพูดไว้ตัวหนึ่ง บอก “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” หยุดเป็นตัวสำเร็จ หยุดอะไร หยุดความปรุงแต่ง
ฉะนั้นเราหยุด คือหยุดด้วยปัญญา ไม่ใช่หยุดเพราะว่าทำสมาธิ เพ่งให้หยุด อันนั้นใช้ไม่ได้ มีปัญญา จิตไม่ยอมหยุด ดิ้นไปด้วยความยินดี ให้รู้ทัน ดิ้นด้วยความยินร้าย ให้รู้ทัน แล้วจิตจะหยุดเอง พอเราชำนาญขึ้น เรานึกจะทำความสงบเมื่อไรก็ได้ มันมาทันที สงบได้ในเวลาพรึบเดียว ฉะนั้นค่อยๆ ฝึก พอเรามีจิตที่ตั้งมั่น มีจิตที่เป็นกลาง จิตที่เป็นกลางทำให้เกิดกำลัง เรามีจิตตั้งมั่นแล้วไปเดินปัญญารวดไปเลย จิตจะหมดแรง
จิตหมดแรงกลับมาทำความสงบใหม่ นี้จิตมาทำความสงบใหม่ โอ๊ย ไม่ยอมสงบ มาฟุ้งๆ ก็ต้องรู้มันว่าไม่ชอบความฟุ้งซ่าน พอใจเป็นกลางปุ๊บ สงบทันทีเลย นี่ล้วนแต่เป็นเคล็ดวิชา ถ้าเป็นวิชากำลังภายใน นี่เป็นเคล็ดวิชา ไม่ใช่กระบวนท่า กระบวนท่าไม่สำคัญเท่าไรหรอก แต่ว่าเคล็ดของวิชานี้ให้แม่นก็แล้วกัน แล้วไม่ว่าต่อไป ไม่ว่าเราทำกรรมฐานอะไร มันใช้ได้หมด
ถ้าเราต้องการความสงบ ถ้าเราชำนาญจริง เราดูใบไม้ไหวก็สงบแล้ว ดูน้ำไหลก็สงบทันที จะทำอะไรก็ได้ สงบแล้ว คือ พอน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวปุ๊บ สงบทันทีเลย เพราะจิตไม่ยินดียินร้าย ไม่ชอบอันนั้น ไม่เกลียดอันนี้ จิตเป็นกลางปั๊บ สงบเลย เพราะฉะนั้นมันมีเคล็ดวิชา วันนี้สอนแบบไม่ปิดบัง คล้ายๆ สอนสูตรอะไรสักอย่างหนึ่งให้แล้ว รู้ เอาสูตรไปใช้ให้ได้ก็แล้วกัน แล้วตั้งมั่นนิดเดียว รู้ทันความไม่ตั้งมั่น ถ้าต้องการสงบ เป็นกลางไว้
ฉะนั้นหลวงพ่อถึงบอกว่า “มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง)” การรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงคือการเจริญปัญญา สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการเจริญปัญญาคือสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิก็คือสภาวะที่ตั้งมั่นและเป็นกลางนั้นล่ะ นี้ตั้งมั่นมันอันหนึ่ง เป็นกลางอันหนึ่ง ตั้งมั่นเอาไว้เดินปัญญา เป็นกลางนี้เอาไว้ชาร์จพลังให้จิตมีเรี่ยวมีแรง
เพราะฉะนั้นวันไหนเราเหนื่อย โอ๊ย จิตเราฟุ้งซ่านมากเลย ไม่ต้องพยายามทำให้สงบหรอก ทำอย่างไรก็ไม่สงบ ให้รู้ทันเลยนี่กำลังไม่ชอบเลย หรือในนี้ก็มี มีพระบางองค์ส่งการบ้านหลวงพ่อ โอ๊ย วันนี้ทำไมมันมืดไปหมด มันมึนไปหมด มืด จะทำอย่างไรก็ไม่หาย ก็ไปทำมันทำไม ให้รู้ว่ากำลังไม่ชอบความมืดมัวนี้อยู่ พอรู้ว่าไม่ชอบปุ๊บ จิตเป็นกลางปั๊บ หายทันทีเลย เพราะสมาธิมาทันทีเลย จิตเป็นกลางปุ๊บ มีกำลังขึ้นมาทันทีเลย พอมีกำลังขึ้นมา จิตเคลื่อนแล้วรู้ปุ๊บ เกิดตั้งมั่นทันทีเลย
เพราะฉะนั้นวิธีที่จะฝึก ให้จิตตั้งมั่นเป็นกลาง สอนแล้ว ตัวนี้ถ้าเราไม่มี เราไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้จริงหรอก เพราะว่าในตำราก็สอน อภิธรรมสอน “สัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา” นี้ปัญหามันคือ ไม่รู้จักว่าสัมมาสมาธิเป็นอย่างไร นี้แจกแจงให้ฟังแล้วว่าสัมมาสมาธิ คือสภาวะที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ฉะนั้นเอาตัวนี้ไปใช้ เพราะฉะนั้นสมาธิที่ถูกมี 2 อัน อารัมมณูปนิชฌานก็ถูก แต่ต้องมีสติ ลักขณูปนิชฌานก็ถูก ก็ต้องมีสติด้วย
ฝึกอย่างนี้ แล้วการปฏิบัติมันจะไม่ยากเกินไป วันไหนใจฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน อยากสงบรู้ว่าอยาก สงบเลย ง่าย วันนี้จิตมืดไปหมดแล้ว รู้ว่าจิตมืด ไม่ชอบเลย รู้ว่าไม่ชอบ สว่างทันทีเลย ง่ายๆ แค่นี้เอง แล้วก็จิตไหลแล้วรู้ ก็จะตั้งมั่นขึ้นมา พอมีจิตตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงมากพอ ตัวเป็นกลางทำให้จิตมีแรง แล้วก็มีกำลัง แล้วก็ตั้งมั่น เอาไปเดินปัญญา อย่าเฉยๆ อยู่
เดินปัญญาก็คือ พอสติระลึกรู้กาย ไม่ใช่รู้อยู่ที่จิตนิ่งๆ เฉยๆ อย่างนั้น อันนั้นใช้ไม่ได้ ไม่เดินปัญญา สติระลึกรู้กาย จิตตั้งมั่นและเป็นกลาง จะเห็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้เวทนา ถ้าจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง จะเห็นไตรลักษณ์ของเวทนา ถ้าจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกรู้สังขาร ปรุงดีปรุงชั่วทั้งหลาย จิตก็จะตั้งมั่น มันจะเป็นกลาง จะเกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์ขึ้นมา มันจะอันเดียวกัน ในสติปัฏฐานทั้ง 4 ขอให้มีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกอะไร อันนั้นแสดงไตรลักษณ์ทั้งหมด จะแสดงไตรลักษณ์
เราเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ที่หลวงพ่อใช้คำว่า “เห็นตามความเป็นจริง” ความเป็นจริงคือไตรลักษณ์ อสุภกรรมฐานไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ไตรลักษณ์ อสุภะ แต่ทำไปแล้วดีไหม ดี ดีอย่างไร เอาไว้ข่มราคะ ถ้าจิตไม่ฟุ้งไปด้วยกำลังของราคะ จิตก็สงบ ก็เป็นวิธีทำให้สงบอย่างหนึ่ง แต่ว่าไปแก้ทีละตัว มีราคะก็พิจารณาอสุภะ มีโทสะก็เจริญเมตตาอะไรอย่างนี้ มีวิธีเยอะแยะเลย แก่นของมันมีอันเดียว เป็นกลาง เป็นกลางกับทุกอัน สงบทันทีเลย
วันนี้สอนเคล็ดวิชาให้ ก็ไปทำเอาเอง เข้าใจหรือเปล่า ไม่เข้าใจก็ไม่ยาก เดี๋ยวทีมไลฟ์ ทีมอะไร เขาเอาไปลงยูทูปให้ ก็ไปดูแล้วดูอีก ฟังแล้วฟังอีก ธรรมะที่หลวงพ่อเทศน์ ไม่ได้มโนเทศน์ เทศน์ออกมาจากใจจริงๆ เพราะฉะนั้นเราฟังด้วยใจที่เปิด ใจที่รับความรู้ใหม่ๆ ได้ เปิดใจฟัง ฟังแล้วฟังอีก คงไม่โง่ถึงขนาดไม่รู้เรื่องหรอก ฟังไป แล้วเวลาฟังครั้งหนึ่ง เราก็รู้สึกเข้าใจ ฟังครั้งที่สอง เอ้อ มันเข้าใจต่างจากเมื่อกี้หน่อยหนึ่ง ฟังครั้งที่สิบ เข้าใจไม่เหมือนเมื่อกี้แล้ว ความรู้ความเข้าใจ มันจะประณีตลึกซึ้งขึ้นเป็นลำดับๆ พอเข้าใจแจ่มแจ้ง โลกนี้ไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ ก็เห็นตัวนั้นล่ะ ก็จะพ้นทุกข์แล้ว
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ พอสมควรแล้ว
วัดสวนสันติธรรม
21 ตุลาคม 2566