อย่าถนอมรักษากิเลส

พวกเราบางคนคิดเอาง่ายๆ คิดว่าอยู่ๆ ก็จะเจริญสติ จะฝึกสมาธิแล้วจะบรรลุมรรคผลนิพพาน ทำไม่ได้หรอก ขั้นแรกมันก็ต้องคิดที่จะต่อสู้ พยายามลดละกิเลส เจริญกุศล ไม่ใช่ถนอมกิเลสเอาไว้แล้วก็จะมาถามเรื่องการภาวนา ทำอย่างไรจิตจะดี จิตจะสงบ จิตจะเกิดปัญญา มันไร้ความหวัง สิ้นหวังเลย ศีลต้องรักษา ตั้งใจไว้ก่อนเลยว่าการปฏิบัติของเรา เราต้องพยายามลดละอกุศล พยายามเจริญกุศลไป ถ้าเราไม่คิดตรงนี้แล้ว ไม่รู้จะรักษาศีลไปทำไม รู้สึกไม่สำคัญ ถ้าหากมานั่งสมาธิ เดินจงกรม ภาวนา เดี๋ยวก็บรรลุมรรคผลอะไรอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้ มันเพ้อฝันเกิน

พื้นฐานของเราคือเรื่องศีลนั้นต้องมี ศีลเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับกิเลสที่มันชั่วหยาบมากๆ สมาธิเป็นเครื่องมือต่อสู้กิเลสระดับกลางๆ ปัญญาเป็นเครื่องมือต่อสู้กิเลสในชั้นละเอียด คือความไม่รู้ ความโง่ โมหะ ปัญญามันจะต่อสู้ตัวนี้ เอะอะก็จะมาเจริญปัญญา โดยถนอมรักษากิเลสเอาไว้ สิ้นหวัง ฉะนั้นหลายคนไม่ใส่ใจที่จะรักษาศีลให้ดี อย่ามาถามหลวงพ่อว่าจะภาวนาอย่างไร หลวงพ่อก็จะตอบให้ ไปถือศีลก่อน มีพวกที่คิดอย่างนี้ มีทั้งพระทั้งโยมนั่นล่ะ บางทีก็เจ้าเล่ห์แสนกล เป็นพระอยากได้สิ่งโน้นสิ่งนี้ก็ลุยแหลกเลย เล่นเลศ ภาษาพระเรียกเล่นเลศ อำ เพื่อจะให้ได้สิ่งที่ต้องการมา อย่างมีเคสพวกที่มา Zoom กติกาบอกว่าหลวงพ่อตรวจการบ้านให้เฉพาะฆราวาส เรื่องของพระต้องถามกันไม่ใช่ในที่สาธารณะอย่างนี้ ก็ปลอมเป็นฆราวาสมาก็มี ปลอมชื่อมาอะไรอย่างนี้ ตรงนี้มันก็เล่นเลศนั่นล่ะ ต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วก็มุ่งไป ไม่คำนึงถึงวิธีการ แบบนี้ภาวนาไม่ไหวหรอกนะ ภาวนาไม่ขึ้นหรอก

มันต้องซื่อตรง ไม่ซื่อตรงภาวนาไม่ได้ ก่อนที่เราจะไม่ซื่อตรงต่อคนอื่น มันเริ่มตั้งแต่ไม่ซื่อตรงกับตัวเองแล้ว ความคิดมันไม่ถูก ความคิดความเห็นมันผิด การกระทำมันก็เลยผิดไป มันภาวนาไม่ได้ อย่างนี้ภาวนาไม่ได้จริงๆ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องของการลดละกิเลสเลย เป็นการต่อสู้แย่งชิง มันเป็นวิธีการของชาวโลกเขาทำกัน ทำอะไรก็แย่งกันทุกหนทุกแห่ง แค่จะขึ้นรถไฟฟ้าก็แย่งกันขึ้น เข้าแถวเข้าคิวอะไรก็ไม่ค่อยมีกัน มันชินที่จะแย่งชิง ถ้าเอานิสัยอย่างนี้มาใช้กับการฝึกกรรมฐาน ไปไม่รอดหรอก ไม่ซื่อ

ที่จริงธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ ธรรมะไม่ได้อยู่ที่พระพุทธเจ้า ไม่ได้อยู่ในตู้พระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าท่านแค่สอนหนทางปฏิบัติ เพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์ ในเบื้องต้นก็พ้นทุกข์ก่อน พ้นทุกข์ก็คือจิตมันพ้นจากขันธ์ มันไม่ยึดถือขันธ์ สุดท้ายขันธ์มันก็แตกดับไปตามวาระของมัน อันนั้นก็คือการดับสนิทแห่งทุกข์ ปรินิพพานไป พระพุทธเจ้าท่านสอนทางให้ เราอยากดีเราก็ต้องเดินตามทางที่ท่านสอน ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึก การเจริญปัญญาต้องหมั่นซ้อม ฝึกซ้อม ทำบ่อยๆ เจริญปัญญาไม่ใช่นั่งคิดเอา วิธีเจริญปัญญา การทำวิปัสสนากรรมฐานไม่ใช่การคิด

พวกเราเคยชินกับความรู้ทางโลก ความรู้ทางโลกอย่างเราเรียนปริญญานั้น ปริญญานี้ เราก็อ่านเอา ฟังเอา อ่านตำรา ฟังเลกเชอร์ คิดใช้เหตุใช้ผล อันนั้นเป็นวิธีหาความรู้ หาปัญญาทางโลกๆ เป็นปัญญาเกิดจากการอ่านการฟัง เรียกสุตมยปัญญา ปัญญาจากการคิดเอา จินตามยปัญญา ส่วนปัญญาที่พวกเราต้องฝึกขึ้นมานั้นคือ ภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญามันจะมีได้ เรามีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ในขณะเดียวกันต้องมีกรอบ คือสัมมาวายามะ ถ้าไม่มีสัมมาวายามะ ไม่มีความเพียรชอบ คือเพียรลดละกิเลส เพียรเจริญกุศล สัมมาสติไม่มีทางบริบูรณ์ สัมมาสติไม่บริบูรณ์ สัมมาสมาธิก็ไม่บริบูรณ์ สัมมาญาณะ ความหยั่งรู้ที่ถูกต้องก็ไม่มี สัมมาวิมุตติ ความหลุดพ้นก็ไม่มี

 

องค์ธรรมสำคัญ 3 ตัวในการฝึกจิตฝึกใจ

ในขั้นของการฝึกจิตฝึกใจ องค์ธรรมสำคัญ 3 ตัว คือสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ฉะนั้นอย่างเรานั่งสมาธิไม่ใช่นั่งสนองกิเลส เราเจริญสติไม่ได้สนองกิเลส แต่ทำไปเพื่อลดละอกุศล เพื่อเจริญกุศลให้ถึงพร้อม กุศลที่ถึงพร้อมก็ตัวสุดขีดเลยก็ตัวอโมหะ ตัวไม่หลง ตัวหลงเป็นหัวโจกของกิเลส เรียกตัวโมหะเป็นหัวหน้าของกิเลส สิ่งที่ตรงข้ามกับโมหะ คืออโมหะ อโมหะมีชื่ออันหนึ่งก็คือปัญญา ฉะนั้นปัญญากับโมหะมันตรงข้ามกัน

 

สัมมาวายามะ

เราต้องตั้งหลักให้ดีในการจะภาวนา งานที่จะฝึกใจต้องมีสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาวายามะ คือความเพียร ลดละอกุศลที่มีอยู่ให้หมดไป เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรเจริญกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้งอกงามพัฒนาไป อย่างสมมติเราเคยทำกุศลอันหนึ่ง เราเคยมีสติว่องไว สติเป็นตัวกุศลแน่นอน แล้วเราไม่มีความเพียร เราพอใจแล้ว แค่นี้พอใจแล้ว จิตโกรธก็รู้ จิตโลภก็รู้ จิตหลงก็รู้ แค่นี้พอใจ กิเลสนั้นมันละเอียดสติเราไม่พัฒนา เราเห็นแต่ของหยาบๆ กิเลสที่ยังละเอียดอยู่เรามองไม่เห็น อย่างนี้เราก็สู้ได้แต่กิเลสหยาบๆ กิเลสละเอียดเราสู้ไม่ได้ แพ้มัน

ฉะนั้นตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังมีอกุศลอยู่ ยังเพิกเฉยไม่ได้ ยังต้องทำความเพียรต่อไป แล้วกุศลของเรายังไม่ถึงพร้อม เราก็ต้องมีความเพียรต่อไปเพื่อให้กุศลมันถึงพร้อม ให้ศีล ให้สมาธิ ปัญญามันดีขึ้นๆ เคยถือศีลแบบกระพร่องกระแพร่งหรือเล่นเลศ ถือศีลอย่างเล่นเลศ อย่างนั้นไม่ลดละกิเลสแต่มันสนองกิเลส จะทำสมาธิก็ต้องรู้ สมาธิไม่ได้เป็นไปเพื่อทะนุถนอมกิเลส เป็นไปเพื่อลดละกิเลส เป็นเครื่องมือ เจริญสติก็เพื่อลดละกิเลส เพื่อให้กุศลเจริญขึ้น ต้องตั้งหลักให้ดี ไม่ใช่คิดว่าภาวนาเฉยๆ นั่นล่ะ กิเลสไม่ต้องละไม่ต้องลด ตามใจกิเลส ปกป้องกิเลส แล้ววันหนึ่งจะบรรลุมรรคผลไม่มีทางหรอก เข้าขั้นไม่มีหวังเลย

เมื่อก่อนหลวงพ่อตอนเด็กๆ เคยบวช ก็มีพระที่เขาโตกว่า เขาก็สอนเราถือศีลต้องมีปัญญา ฟังแล้วชื่นใจเลย ถือศีลก็ต้องมีปัญญา ถ้าเราไม่มีปัญญาจริง ก็เข้าไปยึดไปถือสิ่งโน้นสิ่งนี้ เรามีปัญญาแล้วเราไม่ยึดอะไรเลย ฉันข้าวตอนเพล ฉันถึงบ่ายโมงก็ไม่เป็นไร เราถือศีลอย่างฉลาด เราไม่ยึดถือ พอฟังมาถึงตรงนี้หลวงพ่อสะดุดแล้ว ไม่เคยได้ยินครูบาอาจารย์สอนอย่างนี้ ดูท่านอัจฉริยะเหลือเกิน สุดท้ายองค์นี้เขาก็สึกไปในเวลาไม่นาน ถ่ายทอดสิ่งที่ผิดที่เพี้ยนออกไป เป็นอกุศล เป็นบาปอย่างร้ายแรงเลย

ฉะนั้นถ้ามาคิดว่าโน่นก็ไม่ยึดนี่ก็ไม่ยึด ทำชั่วได้ เล่นเลศ เล่นเลศมากมาย เคยมีเคยเห็นพระบางองค์หนุ่มๆ มีราคะ เรื่องธรรมชาติ มีราคะขึ้นมาร่างกายมีฮอร์โมนเพศ รู้ว่าถ้าหลั่งอสุจิโดยเนื่องด้วยกาย เช่นใช้มือ ใช้อะไรอย่างนี้ ใช้ขยับเอว ขยับอะไรอย่างนี้ สังฆาทิเสส อาบัติร้ายแรง นี้ก็เล่นเลศไม่ขยับนอนนิ่งๆ ใช้ลมปราณกระตุ้นที่ท้องน้อยแล้วหลั่งอสุจิแล้วบอกไม่ผิด นี่เล่นเลศ ไม่ได้คำนึงว่าศีลหรือวินัย เขามีไว้เพื่อฝึกตัวเราให้เข้มแข็ง ไม่ยอมแพ้กิเลส ไม่ใช่หาทางพลิกแพลงเอาชนะ หลีกเลี่ยง ไม่ใช่เอาชนะ หลีกเลี่ยงพระวินัย หลีกเลี่ยงศีลอะไรอย่างนี้

ฆราวาสก็เยอะสอนกันมี อย่างบอกฆ่าสัตว์ ถ้าฆ่าเล่นบาป ถ้าฆ่ากินไม่บาป เพราะสัตว์นั้นเกิดมาเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่เห็นเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเลย ว่าสัตว์เป็นอาหารของมนุษย์ ฆ่าได้ไม่บาป มันตะแบง เล่นเลศ ไม่ซื่อ ฉะนั้นถ้าโยมเล่นเลศ โยมก็ภาวนาไม่ขึ้น พระเล่นเลศพระก็ภาวนาไม่ขึ้น เล่นเลศคือมีทริคในการเลี่ยง ภาษาโบราณเรียกเล่นเลศ เดี๋ยวนี้คือมันมีทริค มีลูกเล่น พลิ้ว เคยชินอยู่ในทางโลก เคยเลี่ยงกฎหมายเลยไม่โดนจับ ไม่ติดคุก ไม่ขึ้นศาลอะไรอย่างนี้ เลี่ยงได้ อย่างขับรถเกินที่กำหนด เกินความเร็วเกินกำหนด ถ้าไม่มีคนเห็นก็ไม่เป็นไร ทำได้ เลี่ยง อย่างนี้คือการเลี่ยง แต่ธรรมะเลี่ยงไม่ได้ ถ้าอยากดีแล้วเลี่ยงเมื่อไรมันคือการสนองกิเลส มันทำกิเลสซึ่งไม่มีให้มีขึ้นมา กิเลสที่มีแล้วก็มีกำลังแรงขึ้นมา

ในทางโลกเราอาจจะเลี่ยงกฎหมายได้ แต่ในทางธรรมไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ธรรมะยุติธรรมเสมอ ถ้าทำเหตุอย่างนี้ก็จะต้องมีผลอย่างนี้เสมอ เป็นกฎของมัน กฎแห่งกรรมยุติธรรมที่สุด จะมาพลิ้วไปพลิ้วมาใช้ไม่ได้ ไม่ซื่อสัตย์ ฉะนั้นเราต้องตั้งใจถ้าเราอยากดี ให้สมกับที่เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราก็ต้องตั้งใจว่าเราไม่อ่อนแอแพ้กิเลส สังเกตตัวเองไปกิเลสอะไรยังไม่ละ ก็เรียนรู้มันไป ถ้ากิเลสมันยังรุนแรงอยู่ข่มใจไว้ไม่ยอมทำตามใจกิเลส ตรงที่เราข่มใจไม่ยอมทำตามใจกิเลส เป็นลักษณะของการถือศีล

 

“จะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องพ้นกิเลสได้ จะชนะกิเลสได้ก็ต้องอดทน
ไม่เล่นเลศ มีศีลที่ดีงดงามไม่ด่างพร้อย”

 

คนภาวนาเบื้องต้นกิเลสมันแรง สติสมาธิอะไรก็ยังอ่อน สู้ไม่ได้ สู้ไม่ได้ตั้งใจกัดฟันให้เข้มแข็งไว้เลย เราจะไม่ยอมทำผิดศีล ถ้าเรายอมเมื่อไร ยอมครั้งหนึ่งจะมีครั้งที่สองตามมาอย่างรวดเร็วเลย แล้วต่อไปเราจะเกิดอาการที่เรียกว่าหน้าด้าน ถ้าเป็นพระก็เป็นอลัชชีไม่มีความอายแล้ว ทำผิดซ้ำซากจนชิน ฉะนั้นกิเลสกระทั่งเล็กๆ น้อยๆ พยายามรู้ทันเข้าไป จิตใจเรา ยังเอาชนะมันไม่ได้ ก็ข่มใจไว้ไม่ยอมทำตามใจมัน ให้มันเข้มแข็งลงไปมันถึงจะสู้ได้ พระที่ท่านสู้มาก็สู้มาอย่างนี้ทั้งนั้นอดทนเอา

หลวงพ่อเองเคยบวชตอนยังเด็กๆ หนุ่มๆ อยู่ ราคะมันก็รบกวน สบายอยู่ 2 – 3 วันที่บวช พอวันที่สาม วันที่สี่ วันที่ห้าอะไรนี้ไม่มีความสุขเลย ราคะมันรบกวน หลวงพ่อไม่กล้าทำผิด ไม่กล้าสนองกิเลส คิดว่าประเดี๋ยวพ่อ เดี๋ยวแม่เราก็จะต้องมาเยี่ยมอะไรอย่างนี้ เราเป็นพระด่างพร้อย พ่อแม่เรามากราบมาไหว้ เราเป็นลูกอกตัญญู อกตัญญูกับพระพุทธเจ้า แล้วอกตัญญูกับพ่อกับแม่ด้วย ตัวเองสกปรกโสโครกจะหลอกให้คนอื่นมากราบมาไหว้ นี้ข่มนะ ทำอะไรไม่ได้เลยสู้ไม่ไหว อย่างอื่นนั่งสมาธิก็ไม่ลง ทำอะไรก็ไม่ได้ ตอนนั้นยังเจริญปัญญาไม่เป็น ยังไม่ได้เจอหลวงปู่ดูลย์ ทำได้แต่สมาธิ เอาสมาธิเข้าข่มก็ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ช่วงที่กิเลสมันแรงสมาธิเราแตกไปหมด มาตรการสุดท้ายคือต้องไม่ผิดศีล อดทนอย่างยิ่งเลยในที่สุดก็ผ่านมันจนได้

ฉะนั้นกิเลส ถ้าเรายอมตามใจมันหนึ่ง ครั้ง ครั้งที่สองมันจะตามมา แล้วสุดท้ายมันจะกลายเป็นเรื่องปกติที่จะทำผิดศีล ทำตามกิเลส ฉะนั้นอยากดีจริงๆ อยากพ้นทุกข์จริงๆ จะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องพ้นกิเลสได้ จะชนะกิเลสได้ก็ต้องอดทน ไม่เล่นเลศ มีศีลที่ดีงดงามไม่ด่างพร้อย ให้ตัวเองตำหนิตัวเองได้ หรือครูบาอาจารย์ตำหนิได้ หรือเพื่อนสหธรรมิกตำหนิได้ อย่างพวกเราเวลาไปทำผิดศีลมา มองหน้าหลวงพ่อไม่สนิท มองหน้าหลวงพ่อแบบสยองๆ เราเห็นเราก็รู้แล้วท่าทางแบบนี้มันต้องไปทำชั่วมาแน่นอน ใจมันจะไม่องอาจ ไม่กล้าหาญ ถ้ายอมแพ้กิเลสมันจะอ่อนแอ แล้วจะแพ้ครั้งหนึ่ง แล้วต่อไปก็แพ้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งด้าน ด้านกับกิเลส เฉยๆ ถ้าเราเข้มแข็ง อดทน กิเลสรุนแรงแค่ไหนเราก็ไม่ยอมทำผิดศีล อย่างเราโกรธใครสักคนหนึ่ง เราก็ไม่ยอมทำผิดศีล เกลียดแค่ไหน โกรธแค่ไหน มันอยู่ในใจเราห้ามมันไม่ได้ แต่เราอย่าให้ผิดศีล

เมื่อเช้าก็มีโยมมาเล่าให้ฟัง อยู่ที่บ้านมีคนหนึ่งเข้าใกล้แล้วเวียนหัวไปหมดเลย เครียดไปหมด ไม่ชอบเลยจะทำอย่างไรดี ต้องอยู่กับคนที่เราไม่ชอบ ขั้นแรกเลยอย่าผิดศีล อย่าไปด่าเขา อย่าไปแกล้งเขา สร้างเวรสร้างกรรมให้มากกว่าเก่า แล้วพยายามพัฒนาตัวเอง อย่างเราต้องอยู่กับคนที่เราไม่ชอบ ทำอย่างไรได้บ้าง พิจารณาลงไปอย่างหยาบๆ เลย เราต้องรับใช้กรรม ต้องมีวิบากเราถึงมาเจอคนอย่างนี้ ถ้าเราไม่มีอกุศลวิบาก เรามีแต่กุศลวิบาก มีแต่วิบากที่ดีเราก็คงเจอแต่คนดีๆ ไม่เจอคนที่แย่ๆ อย่างนี้ ฉะนั้นการที่เราเจอคนแย่ๆ นั้นเป็นเพราะตัวเราเอง ทำกรรมไม่ดีไว้เราเลยต้องเจออย่างนี้ มันเริ่มไม่โทษคนอื่น แต่ว่ามาดูตัวเอง อย่างนี้ก็จะค่อยๆ ไม่เป็นปฏิปักษ์กับเขา ยิ่งเป็นปฏิปักษ์ต่างคนต่างเกลียดกันเลยคราวนี้ แต่ว่ามันต้องอยู่ด้วยกัน มันกลุ้มใจตายเลย หรือทำอย่างอื่นก็ยังได้อีก

พิจารณาเรื่องกรรมก็อันหนึ่ง พิจารณาลงไปทำไมเขาเป็นอย่างนี้ เขาเป็นอย่างนี้ เขาไม่ดีอย่างนี้ๆ เขาก็น่าสงสารมากพออยู่แล้ว เรามองอย่างบางคนเป็นโรคหวาดระแวง โรคกังวล โรคอะไรอย่างนี้ เราต้องอยู่กับคนอย่างนี้ มันลำบากใจเรา มันกระทบกระทั่งตลอดเลย เขาเครียดตลอดเลย เราก็ดูทำไมเขาเป็นอย่างนี้ อ๋อ ตั้งแต่เด็กๆ ชีวิตเขาไม่มีความมั่นคงเลย มีแต่เรื่องให้กลัว ให้ต้องกังวลอยู่ตลอดเวลาจนมันฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกอย่างนี้ พอเราย้อนไปดูเราเห็นเขาเป็นอย่างนี้ เพราะอย่างนี้นี่เอง ความเมตตาสงสารจะเกิดขึ้นแทนโทสะ

อย่างบางคนจิตเขามัวมากเลย จิตเขาเศร้าหมอง เราเข้าใกล้จิตเราก็ยังไม่ดีพอ เราก็เศร้าหมองไปด้วยอะไรอย่างนี้ เราก็ดู โอ้ จิตเขาเป็นอย่างนี้ เพราะเขาไม่เคยฝึก เขาไม่มีโอกาสได้ฟังธรรม เรามีโอกาสดีกว่าเขาอีก ไปโกรธเขาได้อย่างไรเขาน่าสงสาร พอรู้สึกเมตตาสงสารเกิดขึ้น โทสะมันจะดับทันที มันศัตรูกันระหว่างโทสะกับความเมตตา เมื่อไรมีเมตตาเมื่อนั้นโทสะหายไป พอเราโกรธใครสักคนแล้วใจเราเมตตาขึ้นมา ไม่โกรธแล้ว ค่อยๆ ดูไปดูตัวเองนั่นล่ะแทนที่จะดูคนอื่น แล้วกุศลของเราเจริญ อกุศลของเราก็จะลดลง

 

สัมมาสมาธิ สัมมาสติ

ต้องตั้งอกตั้งใจเราจะไม่ยอมแพ้กิเลส ทุกวันอดทนไว้ วันนี้แพ้ก็ไม่ยอมทำผิดศีล พอเราฝึกจิตฝึกใจของเราได้เข้มแข็งขึ้น จิตมันทรงสมาธิขึ้นมา เมื่อไรจิตมันทรงสมาธิที่ดีขึ้นมา ต้องมีคำว่าที่ดีด้วย สมาธิแบบมิจฉาสมาธิกิเลสไม่กลัว สมาธิของคนมีกิเลสก็มี สมาธิเป็นองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิตทุกชนิดเลย จิตที่มีกิเลสก็มีสมาธิได้ อย่างจะไปดักตีหัวใครสักคน หรือจะไปดักฉุดใครสักคน จิตมีกิเลส แต่มันก็มีความแน่วแน่ มีความมุ่งมั่น จดจ่อที่จะไปทำชั่ว จะไปยิงเขาก็ต้องมีสมาธิ ไม่อย่างนั้นก็ยิงไม่ถูก ฉะนั้นถ้ามีสมาธิแล้วก็มีคำว่าที่ดี คือตัวสัมมาสมาธิ เราต้องฝึกตัวเอง พัฒนาตัวเองขึ้นมา มีสติ มีสัมมาสมาธิ สติเป็นตัวรู้ทัน มีอะไรเกิดขึ้นในจิตในใจคอยรู้ ถ้ารู้ที่จิตที่ใจไม่ได้ ก็รู้ที่กาย

อย่างเราโกรธใครสักคน เราเกลียด ต้องอยู่กับเขา พอเราเกลียดมากเลยพอเห็นหน้า หน้าตาเราก็ออกแล้ว หน้านิ่วคิ้วขมวดขึ้นมา สายตาเราก็มองเขาอย่างเกลียดชัง มันเป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง ยิ่งเกลียดใครก็ยิ่งสนใจคนนั้น ยิ่งเกลียด มากๆก็ยิ่งสนใจมากๆ เลย จ้องทั้งวันเลย เราคอยรู้ทัน ใจเราเกลียดเขารู้ทัน ถ้ารู้ทันมันก็ไม่ล้นออกไปที่กาย ที่วาจา ไม่ผิดศีล ถ้ารู้ไม่ทันก็ผิดศีล

ฝึกทุกวัน ฝึกตัวเอง อย่ายอมแพ้กิเลส สัมมาวายามะจำเป็นมากในการฝึกจิต องค์ธรรมในการฝึกจิตในอริยมรรคมีองค์ 8 มีส่วนของปัญญาอยู่สอง คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ มีความเห็นถูก มีความคิดถูก มีส่วนของศีล คือสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ มีสามเหมือนกัน ในส่วนของการฝึกจิตก็มีสาม มีสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เห็นไหมท่านเอาสัมมาวายามะขึ้นก่อนเลยในการฝึกจิต ฉะนั้นถ้าฝึกจิตไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าจะต้องทำไปเพื่อลดละอกุศล เพื่อเจริญกุศล สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จะสมบูรณ์ไม่ได้

พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า สัมมาวายามะที่ดีที่สมบูรณ์ เจริญให้มากจะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ เมื่อเราเจริญสัมมาสติให้มากจะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ สัมมาวายามะเจริญให้มากก็จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ จะเจริญสติปัฏฐานได้ดีอย่าทิ้งสัมมาวายามะ เป็นตัวสำคัญในการฝึกจิต ตีกรอบไว้เลย ไม่ใช่ทำดีเพื่อหวังผลดี เพื่ออย่างโน้น เพื่ออย่างนี้ ทำเพื่อจะเอา ทำเพื่อจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพื่ออย่างโน้น เพื่ออย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นทำด้วยความโลภ

พยายามเรียนรู้ตัวเองเข้าไป อะไรที่มันเป็นอกุศลก็ละมันเสีย ละยังไม่ได้ก็รักษาศีลอย่าให้มันผิดศีล ถ้ามีสมาธิทรงตัวขึ้นมา สมาธิที่ถูกต้องเกิดเมื่อไรละก็ มันต้องมีสติกำกับอยู่เสมอ ทันทีที่มีสติขึ้นมา อกุศลดับทันที กุศลเจริญทันที องค์ธรรมทั้งหลายมันอิงอาศัยกันอยู่ ฉะนั้นเราทำสัมมาวายามะให้มาก ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำอะไรก็ตาม สังเกตใจไปว่านี้ทำไปเพราะกิเลส หรือทำไปเพราะกุศล สังเกตเอา อย่างนี้สัมมาวายามะของเราก็จะเจริญขึ้น พอเรามีสัมมาวายามะการเจริญสติจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าเราไม่มี จิตเราเต็มไปด้วยกิเลส จะไปเจริญสติมันทำไม่ได้จริงหรอก การเจริญสตินั้น สัมมาสติพระพุทธเจ้าอธิบายด้วยสติปัฏฐาน 4 ฉะนั้นการที่เราเจริญสัมมาวายามะให้มาก ก็จะทำให้การเจริญสติปัฏฐาน 4 นั้นสมบูรณ์ขึ้นมา สัมมาสติที่เราเจริญให้มาก มันจะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ขึ้นมา

เรามีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ พากเพียรไป รู้รูปรู้นามตามความเป็นจริงเรื่อยไป ทีแรกมันก็รู้ด้วยเจือคิด ต่อมาจิตมันมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา สมาธิที่ดีมันเกิดขึ้นแล้ว คราวนี้จิตจะเดินวิปัสสนาอย่างแท้จริงแล้ว ตรงที่จิตยังไม่ได้ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา มันยังไม่ถึงขั้นที่เจริญวิปัสสนาจริงหรอก มันเป็นขั้นเจริญสติ อย่างในสติปัฏฐาน 4 ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เรื่องของการเจริญปัญญาทั้งหมด การเจริญสติปัฏฐาน หรือการทำสัมมาสตินั้นเป็นไปเพื่อ 2 สิ่ง อันหนึ่งเพื่อสติ อันหนึ่งเพื่อปัญญา ฉะนั้นการที่เราเจริญสติปัฏฐาน ดูกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมอะไรนี้ ในเบื้องต้นที่เราจะได้คือสติไม่ใช่ปัญญา พอเรามีสติที่ถูกต้องแล้ว สมาธิที่ถูกต้องมันจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ พอจิตทรงสมาธิถูกต้อง มีสติระลึกรู้รูปนามด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง ปัญญามันจะเกิด เราทำวิปัสสนาได้จริงแล้วคราวนี้ ฉะนั้นถ้าเรายังไม่มีสติที่ถูกต้อง ไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง ปัญญายังไม่มี ยังไม่ได้เจริญวิปัสสนาจริง

อดทนค่อยๆ ฝึกตัวเอง อกุศลอะไรยังไม่ละก็ละเสีย กุศลอะไรยังไม่เจริญก็เจริญเสีย ฝึกไปเรื่อยๆ ตัวสำคัญคือมีสติอ่านใจตัวเองให้ออก กิเลสที่ยังไม่ละมันอยู่ที่ไหน ก็ซ่อนอยู่ในจิตเรานี่ล่ะ มีสติรู้ทันลงไป จิตมีอกุศลอยู่ มีกิเลสอยู่ รู้ทันมัน กุศลมันเจริญขึ้น มันเจริญที่ไหน ไม่ไปเจริญตามภูเขา ตามท้องนา ตามป่าอะไรหรอก มันเจริญที่จิตเรานี่ล่ะ ฉะนั้นเราก็สังเกตจิตสังเกตใจของเราเรื่อยๆ อกุศลที่มีอยู่มันก็จะลดละไป กุศลที่ยังไม่มีมันก็จะมี ที่มีแล้วก็จะเกิดถี่ขึ้นๆ เราสังเกตจิตใจของเราไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อความดีวิเศษอะไรหรอก เพื่อจะรู้ทันอกุศลอะไรมีอยู่ รู้ทัน กุศลอะไรมีอยู่ รู้ทัน กุศลอะไรยังไม่มี รู้ทัน ยังขาดอะไรอยู่ พอเรารู้ทันมันก็ค่อยๆ พัฒนา

การที่เราคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง เพื่อเจริญสัมมาวายามะนั้น มันจะทำให้การเจริญสติของเรา ทำสัมมาสติง่าย เพราะเราหัดรู้จิตรู้ใจของเราอยู่ จิตมีกิเลสเราก็รู้ กิเลสครอบงำจิตเราก็รู้ กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ พอเรารู้ปุ๊บดับปั๊บ เราก็รู้ กุศลยังไม่มี พอสติเกิด เอ้า เมื่อกี้มันหลงนี่ อกุศลที่มีมันดับกุศลมันเกิด มีสติขึ้นมา แต่ก่อนนานๆ จะเกิดสติทีหนึ่ง พอฝึกเข้าๆ สติก็เร็วขึ้นเรื่อยๆ กุศลมันถี่ขึ้นเรื่อยๆ พออย่างนี้สมาธิมันก็จะดีขึ้นด้วย ถัดจากนั้นเราก็มาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ทำง่ายแล้วคราวนี้ เพราะสติเราก็ว่องไว จิตใจเราก็ตั้งมั่น เรามีเครื่องมือในการทำวิปัสสนาแล้ว

 

รู้ทันกิเลสของตัวเอง

ถ้าจะหัดดูจิตๆ หลวงพ่อแนะนำเลยให้รู้ทันกิเลสของตัวเองนั่นล่ะ ยังไม่ต้องรู้ทันกุศลก็ได้หรอกเพราะไม่ค่อยมี กิเลสมีเยอะ ดูของที่มีเยอะๆ นี้ล่ะดูไป อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อโมเมเอง ลองไปอ่านพระสูตรดู อย่างการดูจิตดูใจของเรา เห็นไหมเริ่มต้นท่านว่าอย่างไร “จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้ว่าไม่มีราคะ” มันเริ่มต้นจากจิตมีราคะ เริ่มจากกิเลส “จิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะรู้ว่าไม่มีโทสะ” เห็นไหมเริ่มจากโทสะ เริ่มจากกิเลส “จิตมีโมหะรู้ว่ามีโมหะ จิตไม่มีโมหะรู้ว่าไม่มีโมหะ” ก็เริ่มจากโมหะคือกิเลส ทำไมท่านไม่เริ่มจากกุศล แต่ท่านเริ่มจากกิเลสเพราะพวกเรากิเลสเยอะ กุศลมีไม่มากหรอก นานๆ เกิดที แต่กิเลสนี้เกิดถี่ ภาษาไทยฟังยาก กิเลสเกิดถี่ยิบเลย เกิดเยอะ แต่กุศลนานๆ เกิดทีหนึ่ง

เริ่มปฏิบัติสังเกตจิตใจเราตัวหัวโจกเลย คอยรู้ทันกิเลส ราคะเกิดก็รู้ โทสะเกิดก็รู้ โมหะเกิดก็รู้ ตรงที่เรารู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น สมาธิมันจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ สมาธิที่ดี จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นเป็นขณะๆ ไป ฝึกมากๆ สติก็เร็วขึ้น สมาธิก็ถี่ขึ้น แล้วปัญญามันค่อยเกิดขึ้น ค่อยฝึกอย่างนี้ อย่าตามใจกิเลส ถ้าตามใจกิเลสแล้ว ไม่ว่าจะไปเจริญสติปัฏฐาน ไปนั่งสมาธิ ไปทำวิปัสสนา ไม่ได้เรื่องๆ ไม่สำเร็จหรอก ฉะนั้นถ้าใครก็ตามจะมาถามหลวงพ่อว่าจะปฏิบัติอย่างไร สำรวจตัวเองก่อนจะถาม กิเลสนั้นเราสู้กับมันไหม หรือเรายอมแพ้มัน ถูกมันลากจูงจมูกทั้งวันอย่างนั้น ถ้าแบบนั้นยังไม่ต้องมาถามว่าเจริญสติ เจริญปัญญาอย่างไร มันทำไม่ได้

ขั้นแรกเลยอ่านจิตใจตัวเองไป มีกิเลสอะไรก็รู้เอา อย่าเข้าข้างกิเลส อย่าปกป้องกิเลส อย่าสงวนรักษากิเลส เข้าข้างกิเลสอย่างที่หลวงพ่อเล่าเมื่อกี้ เช่นเล่นเลศต่างๆ มีอุบายในการพลิกพลิ้ว เคยพลิ้วกับทางกฎหมายแล้วสำเร็จ แต่กรรมนี้ไม่มีทางสำเร็จเลยที่จะหนี ถ้าทำเหตุเมื่อไรก็มีผลเมื่อนั้น มีผลตามมา แต่กรรมนั้นจะให้ผลเมื่อไร วิบากนั้นจะให้ผลเมื่อไร มีลำดับของมัน ถ้ากรรมรุนแรงมากขั้นอนันตริยกรรมจะให้ผลทันทีเลย ให้ผลในชีวิตนี้ทันที อย่างตายจากมนุษย์ปุ๊บมีอนันตริยกรรมอยู่ ตายจากมนุษย์ปุ๊บตกนรกทันทีเลย วิบากบางตัวก็ให้ผลถัดจากนั้น คือเกิดมาแล้วก็ตามให้ผล

อย่างเรากุศลให้ผลมา เราเกิดมาเป็นคน อกุศลมีกำลังอ่อนกว่า ไม่สามารถให้ผลให้เราเกิดเป็นสัตว์ในอบายได้ เราเป็นคนแล้ว วิบากของอกุศลมันตามให้ผลเรา เช่นชีวิตเราลำบาก ไปไหนก็มีแต่คนเกลียดอะไรอย่างนี้ ทำงานอะไรก็ไม่สำเร็จอะไรอย่างนี้ เจอก็เจอแต่คนที่เราไม่ชอบ คนที่เราชอบเขา เขาก็ไปชอบคนอื่น อันนี้อกุศลมันให้ผลหลังจากการเกิด มีขั้นมีตอนของมัน บางทีหลายๆ ชาติถึงจะให้ผลอย่างนั้น ถ้าเราไม่รู้เราก็คิดว่าไม่มีผล ถ้าเราภาวนาพอเข้าใจก็เข้าใจขึ้นมาได้

กรรมทั้งหลายมีผลทั้งสิ้น เคยมีเด็กคนหนึ่งซน ข้างบ้านมีต้นตะขบ ค้างคาวมากลางคืน ก็มองค้างคาวทำไมมันเร็วนัก ก็เกิดแค่สงสัยว่าระหว่างค้างคาวกับเราใครจะเร็วกว่ากัน ถือไม้ไว้จ้องตีค้างคาว ตีปุ๊บๆๆ ไม่เคยถูกเลย วันหนึ่งก็พัฒนาอาวุธขึ้นมา ไอ้นี่มันช้าไม้กว่าจะเงื้อ กว่าจะตีช้า หมุนลวดสลิงไว้ หมุนๆๆๆ ที่ติดม่านหน้าต่างแบบโบราณหมุนๆๆ ถอดผ้าม่านออก หมุนรอพอมันมาตีปุ๊บมันไปแล้วไม่โดน ต่อมาก็พัฒนา เห็นไหมมีปัญญาในทางชั่ว พัฒนาต่อต้องตีล่วงหน้า ถ้ามันมาแล้วตีไม่ทันมัน มันเร็วจริงๆ ตีล่วงหน้ามันปุ๊บถูกหลังมันเลย มันตกลงไปที่พื้นแล้วมันไปดิ้นอย่างนี้ โอ้โห ใจสลดสังเวชมากเลย เสียใจอย่างแรงเลย ตอนนั้นเด็กๆ

ต่อมาก็มาภาวนา นายคนนี้เขาก็มาเจอครูบาอาจารย์มาภาวนา นั่งสมาธิอะไรอย่างนี้ เดินจงกรม วันหนึ่งจิตกำลังสบาย นั่งสมาธิสงบ สว่าง อยู่ๆ ได้ยินเสียงเหมือนแส้หวดมา เสียงขวับมาเลย เข้ากลางหลังเลย เหมือนถูกแส้หวดกลางหลังเลย ใจสะท้าน ร่างกายก็สะท้าน ใจนี่สั่นริกๆๆ เลยมันเจ็บมาก แล้วก็นิมิตมันก็เกิดเลย เห็นค้างคาวตัวนั้น ซึ่งลืมมันไปหลายสิบปี ลืมมันไปตั้งยี่สิบปีแล้ว นิมิตมันเกิดขึ้นมา รู้ โอย นี่วิบาก กรรมชั่วมันมีจริงๆ มีให้ผลได้จริงด้วย ทั้งๆ ที่เราลืมไปแล้วแต่กรรมมันไม่ลืมหรอก อย่างเราตายข้ามภพข้ามชาติ เราทำอกุศลไว้มันไม่ลืมเราหรอก กรรมชั่วทั้งหลาย หรือกรรมดีทั้งหลายมันต้องตามเรามาแน่นอน

ถ้าเราภาวนา เรารู้เราเห็นอย่างนี้ เราจะไม่กล้าทำชั่ว เราจะอยากทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อจะได้ไม่ต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะที่น่ากลัวนี้ กระทบกระทั่งกันตลอดเวลา ฉะนั้นตั้งเป้าไว้เลยเราต้องสู้กับกิเลสของเรา ไม่ใช่ตีกับคนอื่น.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
6 พฤศจิกายน 2564