ขันธ์ทั้ง 5 ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ถ้าเราฝึกจิตตั้งมั่นดีแล้ว ก็ต้องเจริญปัญญา วิธีเจริญปัญญาก็คืออาศัยสติไประลึกรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ของจิตใจ แล้วเวลาระลึกรู้ จิตตั้งมั่นเป็นกลาง จิตตั้งมั่นเป็นกลางเกิดจากการฝึกสมาธิ ให้จิตมีเรี่ยวมีแรง มีสมาธิอยู่เฉยๆ ก็ไม่เกิดปัญญา มีสติแต่สมาธิไม่ถูกต้อง ก็ไม่เกิดปัญญา เราต้องฝึกกันหนัก

อย่างพระมาเรียนกับหลวงพ่อ งานแรกที่เรียนนั้นคือเรื่องพระวินัย เรื่องศีลต้องรักษา วินัยพระไม่ได้มีแค่ 227 มีวินัยนอกปาฏิโมกข์ พวกอภิสมาจาร มีข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ อีก ก็เรียน จะได้ทำได้ถูก ถ้าทำไม่ถูกจิตเศร้าหมอง อย่างฆราวาสก็ง่ายหน่อย แค่ศีล 5 ก็ใช้ได้แล้ว แล้วก็ต้องมาฝึก งานขั้นที่สอง ก็มาเรียนกับหลวงพ่อ ฝึกสมาธิให้มีสมาธิที่ถูกต้อง จิตตั้งมั่น ก็ฝึกได้หลายแบบ บางองค์ก็หายใจจนกระทั่งลมหายใจระงับกลายเป็นแสง มันเกิดปีติ เกิดความสุข แล้วจิตมันเห็นว่าจิตไหลไปที่แสง จิตก็วางแสง ละวิตกวิจาร มีปีติ มีความสุข จิตเป็นหนึ่ง เป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา จะเห็นปีติ มันถูกรู้ถูกดูเกิดดับ ความสุขก็ถูกรู้ถูกดู มันเกิดดับได้ ถ้าดูอย่างนี้ได้ มันก็เดินปัญญาต่อไปในนี้เลย ในสมาธิ

ส่วนใหญ่ทำไม่ค่อยได้ ยุคนี้หาคนทำสมาธิทำได้น้อย ไม่ค่อยมี ทำฌานไม่ค่อยมี ก็ใช้วิธีที่ง่ายขึ้น อาศัยสติไประลึกรู้สภาวะ ระลึกรู้อารมณ์กรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็พอมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในจิตใจ สติก็ระลึกรู้ความเปลี่ยนแปลงนั้นอีก อย่างทีแรกหายใจออก หายใจเข้า มีสติไว้ แล้วพอเกิดความเปลี่ยนแปลง คือจิตทีแรกรู้ลมหายใจ จิตหนีไปที่อื่น มีสติรู้ว่าจิตหนีไป ตรงมีสติรู้ว่าจิตหนีไป จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา มีสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา

 

การเจริญปัญญา

พอเรามีสมาธิแล้วแค่นี้ไม่พอ ทีแรกเราฝึกสติจนเกิดสมาธิ มีสมาธิแล้วต้องฝึกเจริญปัญญา เป็นงานอีกแบบหนึ่ง การเจริญปัญญาเราใช้วิธีน้อมจิตไปรู้ไตรลักษณ์ ต้องเห็นไตรลักษณ์ แต่ไม่ได้ไปแต่งจิต คือแทนที่จิตจะทรงตัวนิ่งเฉยอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะปล่อยให้จิตนิ่งๆ ทรงตัวอยู่เฉยๆ เราก็ต้องหัดสังเกต ตรงที่จิตมันทรงตัวขึ้นมา มันจะแยกขันธ์ได้ มันจะเห็นเลยว่าร่างกายกับจิตนั้นเป็นคนละอันกัน ความสุขความทุกข์กับจิตก็เป็นคนละอันกัน กุศลอกุศลกับจิตก็เป็นคนละอันกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่มีสมาธิ ไม่มีจิตที่ตั้งมั่น มันจะแยกขันธ์ไม่ได้ แยกขันธ์ไม่ได้ก็คือยังไม่ได้เจริญปัญญา

การเจริญปัญญาขั้นแรกเลยคือการแยกขันธ์ แยกรูปแยกนาม เราแยกรูปแยกนามได้ ต้องมีสมาธิที่ถูกต้อง มีจิตตั้งมั่น ในตำราถึงบอกว่า สมาธิที่ถูกต้องเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ฉะนั้นรู้ตัวอยู่เฉยๆ ไม่แยกรูปแยกนามอะไรอย่างนี้ ใช้ไม่ได้ บางคนรู้ตัว สงบนิ่งอยู่ จิตไม่เกิดปัญญา มรรคผลไม่เกิดหรอก ต้องแยกรูปแยกนามให้ออก เราเห็นร่างกายหายใจ จิตเป็นคนรู้ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนรู้ เห็นร่างกายเคลื่อนไหว เห็นร่างกายหยุดนิ่ง จิตเป็นคนรู้ เห็นความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย จิตเป็นคนรู้ เห็นความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ จิตเป็นคนรู้ เห็นกุศลเกิดขึ้นในจิตใจ จิตเป็นคนรู้ เห็นอกุศลเกิดขึ้นในจิตใจ เช่น โลภ โกรธ หลงเกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้

ฉะนั้นพอจิตตั้งมั่นแล้ว ค่อยๆ ดูลงไป มันจะมีผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้เรียกว่า อารมณ์ ผู้รู้เรียกว่า ตัวจิต จิตคือตัวผู้รู้ พอมันแยกออกจากกันได้ มันจะเห็นว่าร่างกาย มันถูกรู้ ตรงนี้ปัญญามันจะเกิดได้ มันจะเห็นไตรลักษณ์ได้ มันจะเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ร่างกายที่หายใจออกก็ไม่เที่ยง หายใจออกชั่วคราว แล้วก็ต้องหายใจเข้า หายใจเข้าชั่วคราวแล้วก็หายใจออก มันแสดงไตรลักษณ์ให้เราดูแล้ว แสดงความไม่เที่ยง ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในอิริยาบถใดๆ นานๆ ไปก็ทนอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้น นั่งนานๆ ร่างกายก็ถูกบีบคั้น มีความทุกข์ ร่างกายทนอยู่ไม่ได้ ตรงที่มันถูกบีบคั้น เรียกว่ามันเห็นทุกขัง ตรงที่เห็นว่ามันเกิดดับ ตรงนั้นมันเห็นอนิจจัง แล้วก็เห็นว่าถูกบีบคั้นอยู่ นี่คือเห็นทุกขัง หรือดูไปร่างกายที่ถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อันนี้เป็นการเห็นร่างกายในมุมของอนัตตา

นามธรรมเราก็ดูแบบเดียวกัน อย่างความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย เราจะเห็นทีแรก นั่งใหม่ๆ ร่างกายยังไม่ปวดไม่เมื่อย แล้วก็เปลี่ยนไป เกิดความปวดความเมื่อยแทรกเข้ามาในร่างกาย เราก็จะเห็นร่างกายกับความปวดเมื่อย มันคนละอันกัน คนละขันธ์กัน ร่างกายก็ส่วนหนึ่ง ความปวดเมื่อยมันมาทีหลัง มันแทรกเข้ามา เป็นคนละอันกัน ตัวความปวดเมื่อยนี้ เราไม่ได้เจตนาให้เกิด มันเกิดได้เอง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ ปวดเมื่อยขึ้นมา หรือเป็นเหน็บชาขึ้นมา สั่งให้หายก็ไม่หาย อันนี้เราเห็นอนัตตา เฝ้ารู้เฝ้าดูไป หรือเรานั่งสมาธิอยู่ร่างกายเราสบาย มีความสุขอยู่ เรารู้ว่าร่างกายเราสบาย ร่างกายมีความสุข พอนั่งนานๆ ไป ความสุขถูกบีบคั้นให้สลายไป นั่งนานๆ ความสุขหาย เกิดความทุกข์ขึ้นมาแทนที่ เราก็จะเห็นความสุขก็เป็นของถูกบีบคั้นให้สลายไป นี่คือเห็นทุกขัง

อย่างทีแรกมีความสุข แล้วความสุขดับไป อันนี้เรียกว่าเห็นอนิจจัง มีความสุขขึ้นมาแล้ว ความสุขค่อยๆ ถูกบีบคั้น ค่อยลดลงๆๆ ในที่สุดก็สลายไป อย่างนี้เรียกเห็นทุกข์ มันถูกบีบคั้น เราจะเห็นอีก แล้วแต่จิตมันจะเห็น จะเห็นในมุมของอนิจจังก็ได้ ทุกขังก็ได้ หรือบางทีจิตมันเห็นอนัตตา มันเห็นว่าร่างกายจะสุขหรือร่างกายจะทุกข์ เราสั่งไม่ได้ๆ เราควบคุมไม่ได้ ตรงที่มันไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเรา นี่เรียกว่าเราเห็นอนัตตา

วิธีปฏิบัติ ค่อยๆ ฝึกอย่างนี้ ทีแรกก็ฝึกให้จิตมันตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา ก่อนอื่นต่ำสุดเลย รักษาศีล รักษาศีลแล้วก็มาฝึกจิตให้มันตั้งมั่น เป็นผู้รู้ผู้ดูให้ได้ มีวิธีฝึกหลายอย่าง ที่บอกแล้วเมื่อกี้ใช้วิธีเข้าฌานที่ถูกต้องเอาก็ได้ ถ้าฌานเป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ได้ ไม่ได้ตัวรู้ มีสติกำกับไว้ถึงจะเกิดตัวรู้ขึ้นมาได้ อีกอันหนึ่งก็คือทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วจิตมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เราคอยรู้ทัน อันนั้นเราก็จะได้สมาธิขึ้นมา

พอใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวมากพอแล้ว เราก็เจริญปัญญา ค่อยๆ ดูไป ขันธ์แต่ละขันธ์ๆ มันคนละอันกัน ร่างกายส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนรู้ส่วนหนึ่ง ความสุขความทุกข์ส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนรู้ส่วนหนึ่ง กุศล อกุศล เป็นอีกส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนรู้อีกส่วนหนึ่ง จะต้องมีจิตที่เป็นคนรู้อยู่ถึงจะแยกขันธ์ได้ ไม่อย่างนั้นแยกไม่ได้จริงหรอก ขี้โม้ไปอย่างนั้น แยกไม่ออก

พอจิตตั้งมั่นแล้วก็จะเห็น มันจะมีสภาวะ 2 อัน คือ จิตที่เป็นคนรู้ กับ สิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ มีศัพท์เทคนิค เรียกว่าอารมณ์ อารมณ์นั้นจะเป็นรูปธรรมก็ได้ อย่างร่างกายเป็นนามธรรมก็ได้ เช่น ความสุข ความทุกข์ พอเราแยกออกแล้ว เราค่อยๆ ดู ค่อยๆ รู้เนืองๆ ไป สุดท้ายเราก็จะเห็นร่างกายก็แสดงไตรลักษณ์ สุขทุกข์ก็แสดงไตรลักษณ์ ตรงนั้นเราเจริญปัญญาในขั้นวิปัสสนาแล้ว ตรงแยกรูปแยกนามได้ เป็นปัญญาขั้นต้นยังไม่ถึงระดับวิปัสสนา ตรงที่เห็นไตรลักษณ์ เช่น เห็นสุขทุกข์ มันเกิดดับ เห็นร่างกายมันเกิดดับ หายใจออกแล้วก็หายใจเข้าอะไรอย่างนี้ อันนั้นมันเริ่มวิปัสสนา ขั้นต้นๆ ก็ต้องฝึกเอา

หรือถ้าเราถนัดดูจิตตสังขาร จิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศลอะไรอย่างนี้ เราก็จะเห็นว่ากุศล ก็เป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ กุศลไม่ใช่จิต เป็นอีกสิ่งหนึ่ง เรียกเป็นอีกขันธ์หนึ่ง เป็นอีกส่วนหนึ่ง คำว่า ขันธ์ ภาษาบาลี ถ้าแปลภาษาไทยก็คือส่วน สิ่งที่ประกอบเป็นตัวเราก็มี 5 ส่วน เลยเรียกว่ามีขันธ์ 5 หนึ่งในขันธ์ 5 นั้นคือจิต เรียกว่าวิญญาณขันธ์ ส่วนของรูป ส่วนของร่างกายอะไรพวกนี้ เป็นขันธ์ อันหนึ่ง เรียกว่ารูปขันธ์ อีก 3 ขันธ์ที่เหลือ อีก 3 ส่วนคือส่วนของความสุข ความทุกข์ ความจำได้หมายรู้ ความปรุงดีปรุงชั่ว มันก็เป็นอีก 3 ขันธ์ พอเราแยกขันธ์ได้แล้ว สติระลึกลงไป จิตตั้งมั่นเป็นคนดู มันจะเห็นไตรลักษณ์

เมื่อกี้พูดไปแล้ว เรื่องดูกายกับเวทนา เวทนายังมีอีก เวทนาไม่ได้เกิดเฉพาะในร่างกาย แต่มันมีเวทนาทางใจ พวกที่เข้าฌานไม่ได้ หลวงพ่อแนะนำให้ดูเวทนาทางใจ ดูเวทนาทางกาย มันทนไม่ไหว อย่างมีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านนั่งสมาธิทีละ 10 ชั่วโมง พอนั่งสมาธิ 10 ชั่วโมงจิตมันเข้าฌานไป ไม่รู้สึกอะไรหรอก สบาย ตอนเช้าออกจากสมาธิมา แหม สบาย มีครูบาอาจารย์ไปเตือนท่านว่าอย่างนี้ยังไม่เจริญปัญญาเลย ให้นั่ง 10 ชั่วโมงอย่างเดิมนี่ล่ะ แต่ไม่ให้เข้าฌาน ให้นั่งดูเวทนาไป ท่านบอกว่ามันทรมานมาก อย่างเรานั่งแล้วรู้สึกตัวอยู่ เห็นเวทนาทางกาย มันบีบคั้น ร่างกายแทบจะแตกเลย ร้อนไปหมดทั้งตัวเลย ทรมานมาก ท่านนั่งได้เพราะท่านชำนิชำนาญในเรื่องสมาธิ จิตมีกำลังมาก ถ้าจิตเราไม่มีกำลังมาก เราไปดูเวทนาทางกาย มันทนไม่ไหว สติมันจะแตก ถ้าทนได้ก็ดี แต่ส่วนใหญ่มันทนไม่ได้

 

ดูเวทนาในใจเรา

มันมีเวทนาที่ดูง่าย คือเวทนาทางใจ เราก็ดูไปเวทนาในใจเรา ใจเรามีเวทนา 3 อย่าง มีอยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่มีจิตก็จะต้องมีเวทนาเกิดขึ้นเสมอในจิตใจนี้ ไม่มีความสุข ก็มีความทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็เฉยๆ เราค่อยๆ สังเกตไป มีความสุขเกิดขึ้นในใจเราก็รู้ เราก็เห็นความสุขที่เกิดขึ้น ไม่ใช่จิตหรอก เป็นสิ่งที่จิตไปรู้ไปเห็นเข้า ความทุกข์เกิดขึ้นในใจ เราก็มีสติระลึกรู้ จิตเป็นคนดู ก็จะเห็นความสุขมันก็ไม่ใช่ของตัวเรา เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่จิต บางครั้งจิตก็เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็ดูไป ความรู้สึกเฉยๆ ก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นของถูกรู้ถูกดูอีก แยกออกไป ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ไม่ใช่จิต เป็นอารมณ์ เป็นสิ่งที่จิตรู้

เวลาเราจะภาวนาเราก็สังเกตเอา จิตขณะนี้สุข เราก็รู้ จิตขณะนี้ทุกข์ เราก็รู้ จิตขณะนี้ไม่สุขไม่ทุกข์ เราก็รู้ ฝึกแค่นี้ยังได้เลย ทำมรรคผลให้เกิดได้ ไม่ใช่ไม่ได้ ง่ายๆ แค่นี้ล่ะ กรรมฐานจริงๆ ไม่ใช่เรื่องลึกลับยากเย็นอะไรนักหนาหรอก ที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้มากมาย เพราะจริตนิสัยของคนมันแตกต่างกันมาก ถ้าเราไม่ได้ฌาน กรรมฐานที่ง่ายๆ สังเกตจิตใจเราไป จิตใจสุขเราก็รู้ จิตใจทุกข์ก็รู้จิตใจเฉยๆ ก็รู้ รู้มัน 3 อย่างนี้ล่ะ ไม่ต้องรู้อะไรเยอะแยะหรอก ถ้าดูตัวสังขาร มันมีเยอะ มีตั้ง 50 ตัว แต่ตัวเวทนามีตัวเดียวนี้ล่ะ ไม่สุขก็ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็เฉยๆ ฉะนั้นดูของที่ดูง่ายๆ ดูเวทนาในใจของเรานี้ล่ะ เวทนาทางกายดูยาก บอกแล้วต้องนั่งสมาธิให้ดี ไม่อย่างนั้นทนดูไม่ได้ สติแตก

ดูเวทนาในใจเรา ใจเรามีความสุขก็รู้ ใจเรามีความทุกข์ก็รู้ ใจเราไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ ตรงนี้เราจะเห็นว่าความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ในใจเป็นคนละอันกับจิต จิตเป็นคนรู้คนดู นี่เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ เป็นปัญญาในเบื้องต้น จะเขยิบขึ้นสู่วิปัสสนา เราก็จะเห็น จิตจะสุขหรือจิตจะทุกข์ เราเลือกไม่ได้ หรือจิตจะเฉยๆ เราก็สั่งไม่ได้ ถ้าสั่งได้ ทุกคนคงสั่งให้จิตมีแต่ความสุขกันหมดแล้วล่ะ มันสั่งไม่ได้ บางทีความทุกข์มันก็เกิดขึ้นมาได้ ไม่ได้เจตนาให้เกิด มันก็ผุดขึ้นมาได้ ตรงนี้ตรงที่เห็นว่าเราบังคับมันไม่ได้ เรียกว่าเราเห็นอนัตตา

พอมีความสุขเกิดขึ้น เรามีสติรู้ เราจะเห็นว่าความสุขในใจเรา มันจะค่อยๆ เฟดไป ค่อยๆ สลายตัวไป โอ มันถูกบีบคั้น มันทรงอยู่ไม่ได้ กำลังถูกบีบคั้นให้หมดไปสิ้นไป เรียกว่าเราเห็นทุกขัง เห็นทุกขตา หรือบางทีจิตใจเรามีความทุกข์อยู่ เรารู้อยู่มันมีความทุกข์ พอรู้แล้วมันดับวับเลยก็มี ถ้าเป็นความทุกข์ที่เกิดจากจิตที่มีโทสะ สติรู้ทันปั๊บจะดับทันทีเลย ตัวสุขกับตัวทุกข์ไม่เหมือนกัน ตัวสุขอาจจะเกิดจากจิตที่เป็นกุศล เราไปรู้แล้วยังไม่ดับง่ายๆ ก็มี

อย่างจิตทรงฌาน รู้ว่ามีความสุขก็อยู่ได้นานๆ ถอยออกจากสมาธิแล้วยังมีความสุขอยู่เป็นวันๆ ได้ แต่ถ้าเป็นความสุขที่เกิดจากอกุศล เกิดจากราคะ ทันทีที่เรารู้ว่าจิตมีความสุข มันจะดับเลย เพราะราคะดับ ความสุขที่เกิดจากราคะก็ดับไปด้วย อันนี้เราจะเห็นมันเกิดแล้วมันก็ดับ สุขเกิดแล้วก็ดับ ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ เฉยๆ เกิดแล้วก็ดับ ถ้าเรามองในมุมของการเกิดแล้วดับๆ เรียกมองในมุมของอนิจจัง เพราะฉะนั้นดูเวทนาในใจ ดูอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ ถ้าดูได้อย่างนี้ เรียกขึ้นวิปัสสนาได้

ดูจิตดูใจยังมีอีกขันธ์หนึ่ง คือสังขารขันธ์ สังขารขันธ์คือความปรุงของจิต มีทั้งปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่ว กลางๆ ก็มี องค์ธรรมบางตัว สิ่งที่ปรุงแต่งบางตัว เกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลก็ได้ อย่างองค์ธรรมบางอย่าง เช่น เอกัคคตา เกิดกับอกุศลก็ได้ เพราะจิตทุกดวงต้องมีเอกัคคตา ตัวมนสิการเกิดกับจิตทุกดวงได้ ตัวสมาธิคือตัวเอกัคคตา เกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ สิ่งเหล่านี้มันเกิดร่วมกับจิตเสมอ พวกนี้เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วโดยตัวของมันเอง แล้วแต่ว่ามันไปเข้าคู่กับความปรุงแต่งฝ่ายดีหรือความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว

 

ดูสังขาร

พูดอย่างนี้ลงรายละเอียดมากไป ก็ทำให้รู้สึกว่าภาวนายาก ถ้าเอาให้ง่ายเลย เราดูจากของที่เรามี ความปรุงแต่งที่เรามี ความปรุงแต่งที่เรามีส่วนใหญ่ก็คืออกุศลนั่นล่ะ ไม่ใช่กุศลหรอก นานๆ กุศลจะเกิดสักทีหนึ่ง อกุศลนั้นเกิดบ่อย เพราะฉะนั้นเริ่มต้น พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราดูสังขาร จิตตสังขาร จากสิ่งที่เรามีบ่อยๆ คนไหน ขี้โลภ ใจเต็มไปด้วยความอยาก อยากโน้นอยากนี้ไปเรื่อย ท่านก็สอนให้ดู “ภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ” พอรู้แล้วมันก็ไม่มีราคะ ราคะมันดับทันทีที่มันมีสติรู้ “จิตไม่มีราคะก็รู้ว่าไม่มีราคะ” มันก็จะเห็นจิตนั้นเกิดดับ จิตมีราคะเกิดขึ้น มีสติรู้ทันปั๊บ จิตมีราคะดับทันที กลายเป็นจิตที่ไม่มีราคะ

คนไหนขี้โกรธ โกรธบ่อย หงุดหงิดเก่ง ท่านก็สอน “ดูกรพระภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะให้รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะให้รู้ว่าไม่มีโทสะ” เห็นไหมท่านไม่ได้เริ่มจากว่า ภิกษุทั้งหลาย จิตไม่มีราคะรู้ว่าไม่มีราคะ จิตมีราคะก็รู้ว่ามีราคะ ไม่ได้สอนอย่างนั้น สอนจากกิเลส ท่านไม่ได้สอน ภิกษุทั้งหลาย จิตไม่มีโทสะ รู้ว่าไม่มีโทสะ จิตมีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ เห็นไหมท่านไม่ได้สอน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านสอน สมบูรณ์ที่สุดแล้ว เราเวลาภาวนา เราค่อยๆ สังเกตไป ถ้ากลับหัวกลับหาง ไม่ถูกหรอก

ฉะนั้นอย่างจิตของพวกเรา บางคนราคะแรง เจออะไรก็อยากไปหมดเลย เราก็ดูจิตใจของเรา จิตมีราคะ เราก็รู้ ดูไปแล้วมันดับไป เราก็รู้ คนไหนขี้โกรธ เราก็ดู จิตมีโทสะ เราก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ มีอีกตัวหนึ่งที่ดูยากมาก จิตมีโมหะกับจิตไม่มีโมหะ จิตมีโมหะก็คือจิตมันฟุ้งซ่าน หรือมันเซื่องซึม มันจับอารมณ์อะไรได้ไม่ชัดเจน อันนี้มันดูยาก เอาตัวที่ดูง่าย ราคะ โทสะดูง่าย โมหะเป็นกิเลสที่ดูยากที่สุด ยาก ฉะนั้นดูของที่ง่ายๆ ไม่ต้องพิถีพิถันอะไรที่ลึกลับซับซ้อนหรอก ดูจากของที่มีจริงๆ จิตมีราคะก็รู้ จิตไม่มีราคะก็รู้ เราจะเห็นราคะกับจิตเป็นคนละอันกัน อันนี้เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ ราคะเป็นสังขารขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ นี่แยกขันธ์ได้

พอแยกขันธ์ได้แล้ว เรารู้เนืองๆ ไป เราก็จะเห็น จิตที่มีราคะ มันอยู่ชั่วคราว พอเรามีสติรู้ทันเท่านั้น มันดับเลย ตรงที่เห็นมันเกิดแล้วมันก็ดับไป สิ้นไป เรียกว่าเห็นอนิจจัง จิตที่มีราคะ ทั้งจิตทั้งราคะ มันเกิดด้วยกัน แล้วมันก็ดับไปด้วยกัน ทันทีที่เกิดสติ จิตที่มีราคะก็ดับ ตัวราคะก็ดับ เกิดจิตชนิดใหม่ คือจิตที่เป็นกุศล กุศลก็เกิดพร้อมๆ กับจิตที่เป็นกุศล เกิดด้วยกัน ดับด้วยกัน เราจะเห็นจิตมีราคะเกิดแล้วก็ดับ จิตมีโทสะเกิดแล้วก็ดับ ถ้าเห็นอย่างนี้ คือเห็นอนิจจัง ตัวทุกขัง มันดูยาก

เพราะว่าทันทีที่เรามีสติ มันดับเองเลย กิเลสมันดับ จิตที่มีกิเลสมันดับ เกิดเป็นจิตที่ไม่มีกิเลส เช่น จิตเรามีราคะ เรามีสติรู้ทัน จิตที่มีราคะ จิตที่มีราคะก็ดับ เกิดจิตที่ไม่มีราคะ จิตที่ไม่มีราคะ เรามีสติรู้ มันไม่จำเป็นต้องดับ จิตที่ไม่มีราคะ มันอาจจะเป็นจิตที่เป็นกุศลก็ได้ หรือเป็นจิตที่เป็นอกุศลก็ได้ เช่น มันกลายเป็นจิตที่มีโทสะ หรือเป็นจิตมีโมหะขึ้นมา ถ้าเป็นจิตอกุศล เรามีสติรู้ทันเท่านั้น มันจะดับอัตโนมัติเลย แต่ถ้ามันมีราคะ เรารู้ ราคะดับ จิตเกิดปีติ เกิดความสุขขึ้นมา ปีติสุขเกิดขึ้น เราไปดู ไม่จำเป็นต้องดับทันที มันไม่ใช่จิตอกุศล ที่จริงมันก็เกิดดับนั่นล่ะ แต่ว่ามันเกิดดับต่อกันถี่ยิบเลย เกิดยาวๆ เรารู้สึกว่ามันยาว ที่จริงก็เป็นขณะๆ เหมือนกันนั่นล่ะ

ฉะนั้นเราก็รู้ไป เราก็จะเห็น อย่างภาวนา เราเห็นว่าจิตไม่มีราคะ จิตสว่างไสว สงบ สบาย หรือจิตไม่มีโทสะ สงบ สบาย สว่าง เฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างนี้ แล้วเราจะค่อยๆ เห็นว่ามันเริ่มมัวๆ ไป จากที่เคยสว่างไสว ดูจิตใจสบาย เริ่มมัวๆ เริ่มหมองๆ เริ่มไม่สบาย อันนี้มันกำลังถูกบีบคั้น ให้หมดไปสิ้นไป อันนี้เรียกว่าเราเห็นทุกขัง เห็นทุกขตา หรือเราภาวนา เราจะเห็นเราตั้งใจจะไม่โกรธ พอเห็นหน้าคนนี้ ตั้งใจไม่โกรธ มันก็โกรธ มันบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เรียกว่าเห็นอนัตตา หรือตั้งใจ เราไปเที่ยวเดินห้าง อยากไปรับอากาศเย็นๆ ไม่ได้คิดจะซื้ออะไรเลย ตั้งใจว่าจะไม่โลภ ก็ไปเห็นข้าวของเข้า มันโลภแล้ว ตรงที่ความโลภมันเกิดใช่ไหม เราไม่ได้เจตนาให้โลภเลย เราตั้งใจจะไม่โลภแท้ๆ มันก็เกิดได้ ความโลภ ตรงนี้เรียกว่าเห็นอนัตตา

 

ดูจิต

เฝ้ารู้เฝ้าดูสังขารทั้งหลาย ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งเฉยๆ กลางๆ อะไรนี่ ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่คือการเจริญปัญญาๆ เราดูร่างกายไปแล้ว ตัวรูป เราก็ดูไปแล้ว เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตัวเจตสิกคือความสุข ความทุกข์ ตัวความจำได้หมายรู้ ตัวกุศลอกุศลอะไรนี่ มันก็เป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อีกตัวหนึ่งคือตัวจิต จิตก็อยู่ในขันธ์ 5 อยู่ในขันธ์ที่เรียกว่าวิญญาณขันธ์ วิญญาณก็เป็นความรับรู้ ความรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกวิญญาณ

ถ้าสติเราดี สมาธิเราพอ เราก็จะเห็นเลย จิตที่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ประเดี๋ยวหนึ่งก็หนีไปคิด พอเรารู้ทันว่าจิตหนีไปคิด จิตที่หนีไปคิดก็ดับ เกิดจิตรู้ขึ้นมา สักพักหนึ่ง จิตก็วิ่งไปดูอีกแล้ว ไปดูรูป ไปมองโน่นมองนี่ เราก็มีสติรู้ จิตที่หลงไปดูก็ดับ เกิดจิตผู้รู้ขึ้นมาอีก เดี๋ยวได้ยินเสียงอะไรแว่วๆ แหม ถูกใจ จิตใจก็ไหลไปฟังเสียง ไหลไปทางหู ไปฟังเสียง พอเรามีสติรู้ว่าจิตเราหลงไปทางหูแล้ว จิตที่หลงไปทางหูก็ดับ เกิดจิตผู้รู้ทางใจขึ้นมาอีก เราจะเห็นตัวจิตเองเกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง 6

อันนี้เราต้องฝึกดูจิตจนชำนิชำนาญเราถึงจะเห็น ทีแรกยังดูไม่เห็นก็ไม่เป็นไร ดูจิตสุข จิตทุกข์ จิตเฉยๆ ดูจิตโลภ จิตโกรธ จิตหลงอะไร ดูแค่นี้ง่ายๆ พอดูชำนาญแล้วเราจะเห็นเลย จิตมันเกิดดับ เดี๋ยวเกิดที่ตาแล้วก็ดับ เกิดที่หู แล้วก็ดับ เกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น ตรงที่เราเห็นมันเกิดแล้วมันดับ เรียกว่าเราเห็นอนิจจัง อันนี้จิตมันทรงตัวอยู่ทางใจอย่างนี้ เรารู้ทรงตัวอยู่ เราก็ค่อยๆ เห็น โมหะมันแทรกเข้ามา มันเริ่มซึมๆ

อย่างภาวนาอยู่ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ในที่สุดตัวจิตผู้รู้ก็ค่อยๆ เสื่อมๆ ลงไป ถูกบีบคั้นให้แตกสลายด้วยอำนาจโมหะอย่างนี้ เราก็จะเห็น โอ้ จิตมันก็ถูกบีบคั้น จิตผู้รู้ที่ว่าดีวิเศษก็ยังถูกบีบคั้นอยู่ ตรงเห็นความถูกบีบคั้นนี้ คือเห็นทุกขตา เห็นทุกขัง เราก็เห็น จิตจะไปดู จิตจะไปฟัง จิตจะไปคิด เราไม่ได้สั่ง จิตมันทำงานของมันเอง ตรงที่เราเห็นว่าเราสั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ จิตมันทำงานเอง ฉะนั้นจิตไม่ใช่ตัวเราหรอก จิตเป็นอนัตตา อย่างนี้เราก็จะเห็นไตรลักษณ์ของจิต

เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนา เบื้องต้นถนัดดูกาย เราก็ดูกาย ถนัดดูเวทนา เราก็ดูเวทนา ดูกาย เราก็เห็นกายกับจิตเป็นคนละอัน ดูเบื้องต้น ต่อไปก็เห็นร่างกายนี้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ถนัดดูเวทนาทางกาย เราก็ดูไป เราก็เห็นไตรลักษณ์ ถนัดดูเวทนาทางใจก็ดูไป แล้วสุดท้ายก็เห็นว่ามันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ กุศล อกุศลทั้งหลาย ดูไปก็เห็นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อีก สุดท้ายตัวจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตจะดูหรือจิตจะฟัง หรือจิตจะคิดอะไร สั่งไม่ได้หรอก จิตไปดูรูป ก็ดูได้ทีละขณะจิตเดียว ไปฟังเสียงก็ฟังได้ทีละขณะ ดมกลิ่น ลิ้มรสอะไรอย่างนี้ มันทีละขณะๆ ไป

แต่จิตที่ทำงานทางใจ บางทีเกิดดับสืบเนื่องกันยาว อย่างจิตทรงสมาธิอย่างนี้ องค์ฌานก็เกิดดับสืบเนื่องกันไป จิตก็ทรงตัวอยู่ในฌานอันนั้นนานๆ แต่ถ้าจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดแป๊บเดียวก็ดับหมดแล้ว จิตที่เกิดทางใจยืดเยื้อยาวนานได้ อย่างเวลาจิตเราโกรธอย่างนี้ บางทีโกรธข้ามวันข้ามคืน เพราะความโกรธมันเกิดดับต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ฉะนั้นอารมณ์ทางใจบางทีดูแล้ว ยาว

 

 

ค่อยๆ ฝึก สุดท้ายเราก็เห็นขันธ์ 5 ทั้งหมดนั่นล่ะตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เวลาฝึกจริงไม่ต้องดูทั้งขันธ์ 5 ดูอันใดอันหนึ่งพอแล้ว ดูอันใดอันหนึ่งพอเห็นแจ้งก็ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ทั้งสิ้น บางท่านดูกาย ก็ถึงพระอรหันต์ได้ ตัวอย่างเช่น ท่านพระอานนท์ ในพระไตรปิฎกบอก ท่านพระอานนท์ ยังราตรีสุดท้าย ก่อนวันที่จะไปร่วมสังคายนา ผู้เข้าร่วมสังคายนา คุณสมบัติคือต้องเป็นพระอรหันต์ พระอานนท์ยังไม่ได้พระอรหันต์ ตำราชอบบอกว่าท่านได้โสดาบัน หลวงพ่อก็ไม่แน่ใจหรอกว่าท่านจะหยุดอยู่แค่โสดาบันหลายสิบปี ท่านอาจจะเขยิบขึ้นมา แต่เขาไม่ได้พูดถึง แต่คืนสุดท้ายท่านดูกายเป็นหลัก พระไตรปิฎกบอกว่า “พระอานนท์ยังราตรีสุดท้าย ให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติเป็นส่วนมาก”

กายคตาสติตัวนี้ ไม่ได้แปลว่ากายคตาสติ แยกผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกในอาการ 32 อันนั้นเป็นเรื่องของสมถะ กายคตาสติตัวนี้ หมายถึงเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่เขาก็ไม่ได้บอก ตำราไม่ได้บอกว่า ท่านเจริญกายานุปัสสนาในบรรพไหน จะดูกาย หรือดูลมหายใจหรือดูอิริยาบถอะไรอย่างนี้ หรือดูธาตุ เป็นธาตุอะไรอย่างนี้ ตำราไม่ได้บอกไว้ บอกแค่ว่า คืนสุดท้ายท่านเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรลุพระอรหันต์ ท่านพระสารีบุตร ท่านเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรลุพระอรหันต์ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรลุพระอรหันต์ ฉะนั้นแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน

อย่างพระพุทธเจ้าบุญบารมีท่านเยอะ ท่านเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรลุพระอรหันต์ ฉะนั้นสติปัฏฐาน 4 อันใดอันหนึ่งก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมดอย่างที่หลวงพ่อเล่าให้ฟังหรอก แต่จริตนิสัยหลวงพ่อ เวลาเรียนมันจะต้องเรียนให้เยอะๆ เรียนให้หมด มันเป็นอย่างนั้น พวกเราไม่จำเป็นอันเดียวก็พอแล้ว ดูกายหรือดูเวทนา หรือดูจิตตสังขารอะไรแค่นี้ก็พอ ไม่ต้องรู้ทั้งหมด จริตนิสัยของบางคน มันต้องการความรู้เยอะๆ ห้ามมันไม่ได้หรอก

การปฏิบัติไม่ใช่ฝึกรู้ตัวอยู่เฉยๆ รู้ตัวอยู่เฉยๆ ใช้ไม่ได้ๆ ต้องมาเจริญปัญญา เจริญปัญญาขั้นแรกก็คือแยกรูปนาม แยกรูปนามได้ดูเนืองๆ ไปก็ค่อยเห็นไตรลักษณ์ขึ้นมา จะเห็นไตรลักษณ์ได้ เรียกทำวิปัสสนา สุดท้ายทำให้มากพอ มรรคผลมันก็เกิด วิปัสสนากรรมฐาน ตัวนี้ทำให้เราเกิดปัญญา พระพุทธเจ้าท่านก็บอก “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” ฉะนั้นถ้าเราไม่ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานอะไรอย่างนี้ ไม่บรรลุหรอก.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
7 พฤศจิกายน 2564