เดินทางสายกลางมันก็เข้าใจยากจริง หลวงพ่อนั่งดูพวกเรามันขาดๆ เกินๆ อยู่ตลอดเวลา บางทีก็หย่อนไป บางทีก็ตึงไป แต่มันก็ไม่แปลกที่มันจะเข้าถึงได้ยาก เจ้าชายสิทธัตถะกว่าจะเจอทางสายกลาง ออกมาเป็นนักบวชอยู่ตั้งหลายปี ตึงไปบ้าง หย่อนไปบ้าง จนท่านเจอทางสายกลาง พอเดินในทางสายกลางไม่นาน ท่านก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา
ฉะนั้นทางสายกลาง ถ้าเราเดินได้ เราพบแล้ว ตั้งอกตั้งใจเดินไป ใช้เวลาไม่มาก ทีนี้ส่วนใหญ่ให้เดินในทางสายกลาง มันทนไม่ได้ มันแฉลบออกข้างทางตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องหลงโลก หลงกันเหลือเกิน ที่คราวก่อนหลวงพ่อเทศน์เรื่องตุ่มรั่ว มันอาการของนักปฏิบัติ รุ่นเรานี่เป็นพวกตุ่มรั่วเยอะมากเลย ถึงเวลาก็มาภาวนา พอจิตจะดีขึ้นมา ก็ซนวุ่นวายเรื่องโน้นเรื่องนี้ไป ยกเว้นเรื่องทำมาหากิน มันจำเป็น แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องต้องทำมาหากิน เรื่องดูแลพ่อแม่ ดูแลครอบครัว อย่าไปเสียเวลานาน ทางสายกลางกว่าจะค้นพบได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ยากมาก
หลวงพ่อยังรู้สึกว่ามันยากที่สุดเลย กว่าคนคนหนึ่งจะเดินเข้าสู่ทางสายกลางได้ พอเดินเข้ามาเจอแล้ว ยังเถลไถลออกข้างทางอีก โอ้ น่าเสียดายมากเลย อะไรที่จะทำให้เนิ่นช้า ก็ทิ้งมันไปเสียบ้าง บางทีมันก็มีข้ออ้าง ให้เราเถลไถลแล้ว ไปทำกิจกรรมนั้นกิจกรรมนี้เป็นบุญเป็นประโยชน์ ที่จริงมันก็เป็นวิธีเถลไถลแบบหนึ่งให้ดูดีหน่อย คนในโลกเขาเถลไถล ด้วยการไปกินเหล้ากินยากัน เที่ยวซุกซน ของพวกเรานักปฏิบัติ เราเถลไถลด้วยการไปเที่ยววัด เข้าวัดนั้น ออกวัดนี้ มีกิจกรรมงานบุญอะไรต่ออะไร อันนี้ในสายตาหลวงพ่อมันคือเถลไถล
กว่าจะเจอทางสายกลาง ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะมีคนบอกเราเรื่องทางสายกลาง ไม่ใช่เจอได้ง่าย ในสังสารวัฏที่ยาวนาน ช่วงเวลาที่มีคนรู้จักทางสายกลางสั้นนิดเดียว เสร็จแล้วก็ทุกคนก็ลืม ที่ลืมก็เพราะเราหลงโลกกัน ฉะนั้นเวลาที่เราจะภาวนา เรามาเรียนรู้ทางสายกลางให้ดี สภาวะที่ไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไป สภาวะที่หย่อนเกินไป ใจมันหลงโลก ถ้าหลงโลกแบบคนทั่วๆ ไป ไปหลงร้องรำทำเพลง กินเหล้าเมายา ถ้าหลงโลกแบบนักปฏิบัติก็หลงบุญ งานบุญอะไรอย่างนี้ โอ้ เยอะมาก ไปทีหนึ่งก็เหนื่อย การภาวนากำลังจะดีๆ ก็เสื่อม เริ่มนับหนึ่งใหม่ นี้ย่อหย่อนไป ตึงเกินไปก็เป็นอีกด้านหนึ่ง บังคับกาย บังคับใจมาก อยากดีก็บังคับเอาๆ
ทางสายกลางจริงไม่ย่อหย่อนไป หลงไป เผลอไป เพลินไป ไม่เคร่งเครียด ตึงเกินไป ทางสายกลาง รู้สึกเอา รู้สึกกายอย่างที่กายเป็น รู้สึกจิตใจอย่างที่จิตใจเป็น แค่รู้สึกเอา ถ้าลืมกายลืมใจก็เรียกว่าหย่อนไป ถ้าเพ่งกายเพ่งใจก็ตึงไป แค่รู้สึกกายรู้สึกใจ นั่นล่ะทางสายกลางของเรา ฉะนั้นเราต้องมาฝึกตัวเอง ที่จะเดินเข้าสู่ทางสายกลาง ทำกรรมฐานในรูปแบบก็ต้องทำ ทำแล้วก็สังเกตจิตตนเอง ทำแล้วมันหย่อนไปไหม หย่อนไป เช่นเรานั่งหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตสงบ รู้เนื้อรู้ตัว อันนี้เข้าทางสายกลางได้
นั่งสมาธิแล้วเห็นโน่นเห็นนี่ เห็นเทวดา เห็นพรหม เห็นผี เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระโมคคัลลาพระสารีบุตร ทำไมแต่ละคนเห็นแล้ว หน้าตาไม่เหมือนกันสักคน แต่ละองค์ที่ไปเห็น หรือเห็นพระจุฬามณี คนนั้นก็เห็น คนนี้ก็เห็น แต่จุฬามณีแต่ละองค์ ไม่เห็นจะเหมือนกันสักองค์เลย ที่บรรยายกันออกมา อันนั้นจิตมันย่อหย่อนไป จิตมันหลง นั่งภาวนาแท้ๆ ก็ยังหลงอยู่ แล้วถ้านั่งแล้วก็อึดอัด เคร่งเครียด อันนั้นตึงเกินไป พวกเราร้อยละร้อยไม่ตึงก็หย่อน
เห็นด้วยใจ รู้ด้วยใจ
เข้าสู่ทางสายกลางครั้งแรกๆ เข้าได้แวบเดียว เดี๋ยวก็ตึงไป เดี๋ยวก็หย่อนไปอีกแล้ว ทำอย่างไรจิตเราจะเดินมั่นคง อยู่ในทางสายกลาง อาศัยสติ ทำกรรมฐานไป อาศัยสติรู้เท่าทันจิตตนเองไป จิตมันหลงอารมณ์ มันหย่อนไป จิตมันเข้าไปแทรกแซง ควบคุมบังคับอารมณ์ มันตึงไป ทำกรรมฐานไป แล้วก็คอยรู้ทันจิตตนเองให้มันมากๆ ทำให้มากๆ ทำให้สม่ำเสมอ ที่ท่านบอกว่าทำให้มาก เจริญให้มาก ทำสิ่งที่ถูก มีสติรู้กายอย่างที่กายเป็น มีสติรู้จิตใจอย่างที่จิตใจเป็น ทำให้มาก เจริญให้มาก พอรู้ตามความเป็นจริง ก็เบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วหลุดพ้น
ในโลกไม่มีคนรู้สึกตัว ในโลกมีแต่คนหลง พอเราอยากปฏิบัติธรรม เราก็มานั่งเพ่งนั่งจ้อง มันหลงไปอีกด้านหนึ่ง อันหนึ่งหลงตามใจกิเลส อันหนึ่งหลงต่อต้านกิเลส บังคับตัวเอง เคร่งเครียด ทำอย่างไรจะไม่หลง สิ่งที่ตรงข้ามกับหลงคือรู้ เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐาน ต้องพัฒนาการรู้ของเราขึ้นมาให้ว่องไว แรกๆ หัดภาวนา หายใจเข้าพุทออกโธ นี้ตัวอย่าง ทำกรรมฐานอื่นๆ ก็ได้ จะดูท้องพองยุบก็ได้ ขยับมือก็ได้ อะไรก็ได้เหมือนกันหมด ขออย่างเดียว ทำกรรมฐานแล้วรู้เท่าทันจิตตนเองไว้ มันหย่อนไปก็เพราะจิตมันหลง มันตึงไปก็เพราะจิตมันโลภ มันอยากดี หรือภาวนาแล้วมันอึดอัด ก็เพราะจิตมันมีโทสะ
เพราะฉะนั้นเราจะเดินเข้าทางสายกลาง สังเกต ทำกรรมฐานไปแล้วก็คอยรู้ทันจิตใจตนเองไป จิตใจมันตามกิเลสไป มันก็ฟุ้งซ่าน ย่อหย่อนไป เห็นโน่นเห็นนี่ หลวงพ่อฟังแล้วเอียนมากเลย เห็นเทวดา เห็นอดีต เห็นอนาคต เอียนเหลือเกิน ทำไมไม่เห็นปัจจุบัน ไม่เห็นสภาวะรูปธรรมนามธรรมในปัจจุบัน อันนี้ของสำคัญ ของดีของวิเศษ คนก็ไม่ค่อยอยากได้ อยากมีฤทธิ์มีเดชเหนือคนอื่น มันกิเลสทั้งนั้นเลย ฉะนั้นต้องทำ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง มีเวลาเมื่อไรทำเมื่อนั้น
หลวงพ่อรอรถเมล์ หลวงพ่อก็ทำ หลวงพ่อโหนรถเมล์ หลวงพ่อก็ทำ ตั้งแต่เป็นโยม มันทำอยู่ตลอด หลวงพ่อใช้อานาปานสติ หายใจไปเรื่อย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป แล้วจิตมันหลงไปคิด รู้ทัน จิตมันจมลงไปที่ลมหายใจ รู้ทัน นี้มันไปเพ่งแล้ว ถ้ามันจมลงไปอยู่กับลม มันจะแน่นขึ้นมา อึดอัด ถ้าหลงไปมันก็เผลอๆ เพลินๆ ไป ต้องทำ ทำให้สม่ำเสมอ ทำกรรมฐานไปแล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไป จิตย่อหย่อนก็คือจิตหลงตามกิเลส จิตตึงเครียดมันก็ตามกิเลสเหมือนกัน พยายามจะบังคับ ควบคุม แทรกแซง มันจะอึดอัดขึ้นมา
ตรงที่หลงแล้วเรารู้ หลงไปคิดก็รู้ หลงไปเพ่งก็รู้ ตรงที่รู้ว่าหลงนั่นล่ะ รู้มันจะเกิด เพราะหลงกับรู้เป็นสิ่งตรงข้ามกัน เมื่อไรไม่หลงเมื่อนั้นก็รู้ เมื่อไรรู้เมื่อนั้นไม่หลง มันกลับข้างกันอย่างนี้ ฉะนั้นทำกรรมฐาน ถ้าจิตหลงไปคิดก็รู้ จิตหลงไปเพ่งก็รู้ ทุกครั้งที่รู้ว่าหลง รู้มันก็จะเกิดขึ้นแทนหลง รู้นั้นคือทางสายกลาง ฉะนั้นในสติปัฏฐานไปดูให้ดี มีงานเดียวที่เราจะทำในสติปัฏฐาน 4 คือรู้ คือเห็น ท่านใช้คำว่า “เห็น” เห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นเวทนาอย่างที่เวทนาเป็น เห็นจิตอย่างที่จิตเป็น เห็นรูปธรรมนามธรรม กุศล อกุศลทั้งหลาย อย่างที่มันเป็น นี่รู้ มันมีแต่คำว่า “เห็น” คำว่า “รู้” คำว่า “เห็น”
ตำราเขาใช้คำว่า “เห็น” แต่ว่าหลวงพ่อพูดคำว่า “เห็น” พวกเราจะเอาตาไปเห็น ที่จริงเราเห็นด้วยใจ เห็นด้วยใจคือรู้ด้วยใจนั่นเอง ความสุขเกิด รู้ด้วยใจ ความทุกข์เกิด รู้ด้วยใจ กุศลอกุศลเกิด รู้ด้วยใจ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ร่างกายหายใจออก หายใจเข้า รู้ด้วยใจ หลวงพ่อเลยชอบใช้คำว่า “รู้” แต่ถ้าตำราเขาจะใช้คำว่า “เห็น” ความหมายเดียวกัน แต่คำว่าเห็นของเรา มันมักจะมี Object สิ่งที่ถูกเห็น มันจะให้ความสนใจกับของที่ถูกเห็น
แต่ไม่ว่าสภาวะอะไรเกิดก็แค่รู้ สักว่ารู้ บางทีเขาก็ใช้คำควบกัน สักว่ารู้ สักว่าเห็น ก็อันเดียวกัน ตรงสักว่ารู้ว่าเห็น ไม่ใช่ง่าย แค่รู้ยังยากเลย แล้วจะรู้แบบสักว่ารู้ว่าเห็น เป็นอีกสเต็ปหนึ่งเลย ตอนนี้รู้ให้เป็นก่อน อย่าเอาแต่หลง วิธีที่จะเกิดรู้ ก็อาศัยสติรู้ทันเวลามันหลง ทำกรรมฐานไปจิตหลงไปคิดรู้ทัน จิตหลงไปเพ่งรู้ทัน พอรู้ทัน จิตหลงหรือสภาวะหลงก็ดับ ก็เกิดจิตรู้หรือสภาวะรู้ขึ้นมา ทีแรกเกิดแวบเดียว รู้แวบเดียวก็หลงอีกยาว
ตอนหลวงพ่อไปหัดจากหลวงปู่ดูลย์ วันแรกที่ไปเรียนกับท่าน มานั่งรถไฟกลับมาโคราช นั่งแยกไป จิตอยู่ที่ไหน ท่านให้ดูจิต จิตอยู่ในกาย อยู่ในส่วนไหนของกาย ไม่ได้อยู่ส่วนไหนของกาย กำหนดลงไปตรงไหน จิตก็อยู่ตรงนั้น หรือจิตอยู่ในเวทนา เวทนาเป็นจิตหรือเปล่า เวทนาก็ไม่ใช่จิต สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วเป็นจิตหรือเปล่า ก็ไม่ใช่จิต ในที่สุดก็ปิ๊งขึ้นมา จิตก็คือตัวรู้นั่นเอง รู้อะไร สติระลึกรู้รูป จิตก็เป็นคนรู้ สติรู้นาม รู้สุข รู้ทุกข์ รู้ดี รู้ชั่ว จิตก็เป็นคนรู้ ได้จิตรู้ขึ้นมา แล้วจิตรู้นี้ทรงตัวอยู่แวบเดียว ก็กลายเป็นจิตคิดอีกแล้ว
ตอนนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็พยายามรู้ไปเรื่อย พยายามแยกธาตุแยกขันธ์ไปเรื่อย ผ่านไป 7 วัน อ้าว เกิดจิตรู้ขึ้นมา 2 – 3 นาที ตัวเลขหลวงพ่อจำได้ไม่แม่นแล้ว มันหลายสิบปีมาแล้ว ครั้งแรกที่จิตรู้มันเกิด มันเกิดชั่วขณะแวบเดียวเท่านั้นเอง ก็กลายเป็นจิตหลง หลงคิด หลงเพ่ง หลงแสวงหา พอภาวนาไปเรื่อยๆ อาทิตย์หนึ่ง อ้าว หลุดออกมาอีกแล้ว เป็นจิตรู้ได้อีกแล้ว อยู่ได้ไม่กี่นาทีหรอก จิตก็เข้าไปรวมกับอารมณ์ กลายเป็นจิตหลงอีกแล้ว ก็อดทน พยายามรู้ พยายามดู พยายามแยกไป นี่จิต นี่อารมณ์ พยายามดูเรื่อยๆ ไป ตอนนั้นยังไม่รู้หลักจริงๆ
ถ้ารู้หลักแล้วก็ง่ายๆ ตอนนั้น เอ๊ะ ทำอย่างไรจะเกิดจิตรู้ คิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเกิดจิตรู้ มันถึงใช้เวลาเยอะ ทำอย่างนี้หรือจะเกิดรู้ไหม ไม่เกิด ทำอย่างนี้จะรู้ไหม ไม่รู้ ตรงที่พยายามทำ พยายามทำนั้นไม่รู้ ตรงที่หมดความพยายามในขณะใด ขณะนั้นรู้ขึ้นมาเลย มันรู้โดยไม่ได้เจตนาจะรู้ แต่คนทั่วไปนั้น มันไม่มีทางรู้หรอก ถึงไม่เจตนารู้ มันก็ไม่รู้ เจตนารู้มันยังไม่รู้เลย เพราะมันมีแต่จิตหลง ฉะนั้นเราทำกรรมฐานไป จิตหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ ต่อไปมันจะหลงสั้นๆ รู้มันก็จะถี่ยาวขึ้นมา เกิดถี่ยิบขึ้นมา
ครั้งแรกตั้ง 7 วัน ถึงแยกออกมาเป็นผู้รู้ได้อีกทีหนึ่ง ต่อมาอีก 5 วันก็แยกได้อีกที ช่วงเวลาที่จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ก็ยาวขึ้นๆ ช่วงเวลาที่หลงก็สั้นลงๆ ต่อมา 3 วันก็ได้รู้มาแล้ว วันหนึ่งได้รู้มาแล้ว จนกระทั่งมันถี่ยิบขึ้นมา จิตเคลื่อนปุ๊บรู้ปั๊บเลย จิตรู้ก็เกิดทันทีเลย ค่อยๆ ฝึก แต่เราอย่าทำอย่างที่หลวงพ่อบอกได้ อย่าเป็นตุ่มรั่ว กิจกรรมเยอะไม่ได้เรื่องหรอก คนหลงโลกมันก็กิจกรรมทางโลก พวกเข้าวัดก็กิจกรรมบุญทั้งหลาย ทอดกฐินต้องทอด 9 วัด ต้องไปหมด ไม่มีกฐินก็ทอดผ้าป่า ทำโน่นทำนี่วุ่นวายตลอดเวลา กิจกรรมแต่ละครั้งที่ทำ มันไม่ได้ทำคนเดียว แล้วรวมกลุ่มกันไปทำ ก็สนุกด้วยกัน เพลิน ไปสังเกตให้ดีเถอะ งานบุญๆ พอทำผ่านไปแล้ว ฟุ้งซ่านอีกพักใหญ่เลย
คนจะออกจากสังสารวัฏ ต้องพัฒนากุศลให้ได้
เพราะฉะนั้นอะไรไม่จำเป็น เลี่ยงเสีย เราต้องการของที่สูงกว่าบุญ บุญเป็นที่พึ่งอาศัยสำหรับคนเดินทางไกลในสังสารวัฏ แต่คนจะออกจากสังสารวัฏ ต้องพัฒนากุศลให้ได้ ในโอวาทปาติโมกข์มีคำนี้ชัด “สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง ไม่ทำบาปทั้งปวง ไม่ทำบาปไม่ทำกรรมชั่วทั้งปวง” “กุสะลัสสูปะสัมปะทา ทำกุศลให้ถึงพร้อม” ไม่ได้ทำบุญให้ถึงพร้อม
บุญกับกุศลไม่เหมือนกันหรอก บุญส่งให้เราอยู่ในโลกอย่างมีความสุข บุญเป็นชื่อของความสุข กุศลเป็นกำลังให้เราพ้นทุกข์ คนละแบบกัน ถ้าดีที่สุดก็มีทั้งบุญ มีทั้งกุศล หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยสอน “บุญทั้งหลายมีโอกาสทำก็ทำ ผ่านไปแล้วอยู่เฉยๆ ดีกว่า” ไม่ต้องทุรนทุรายจะทำบุญ ก็เสียกุศล คือใจแทนที่จิตจะสงบ กลายเป็นจิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านเป็นจิตที่มีโมหะ เรียกมีอุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นยกระดับตัวเอง ไหนๆ เรามาพบพระพุทธศาสนาแล้ว อย่าเอาแค่บุญ บุญนั้นถึงไม่มีพระพุทธเจ้า ก็มีอยู่แล้ว ทำได้อยู่แล้ว
ศาสนาอื่นก็มีการทำบุญ อย่างมุสลิม ถึงปีเขามีสิ่งที่เรียกว่าซะกาต ซะกาตก็คือคนซึ่งมีกำลัง มีเงินทอง ก็ต้องแบ่งส่วนหนึ่งให้กับสังคม จะได้เอาไปช่วยคนยากคนจน คนลำบาก อะไรต่ออะไร นั่นเป็นบุญไหม เป็น นั่นก็บุญ ซะกาตของเขาก็คือทาน ทำทาน ฝึกเสียสละ ฝึกอะไร ถามว่าดีไหม ดีมากๆ พวกเราอย่าหยุดตัวเองอยู่แค่บุญ ไม่พอ หรืออย่างศาสนาคริสต์ วันอาทิตย์เขาก็ไปเข้าโบสถ์ ไปร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า ในขณะที่ร้องเพลงคิดถึงพระเจ้านั้น มันได้อะไร มันได้บุญ ในขณะนั้นจิตใจไม่ได้ทำชั่วอะไร ใจจดจ่ออยู่กับพระเจ้า ใจก็มีสงบ
ร้องเพลงคิดถึงพระเจ้าไป ได้อะไร ได้สมาธิ ได้สมาธิเป็นบุญไหม เป็น แต่สมาธิอันนั้นก็ยังเป็นสมาธินั่นล่ะ มันยังไม่ถึงขั้นสัมมาสมาธิ เราก็ไม่ได้ว่าคนอื่นเขาไม่ดี เขาก็ดี ดีอย่างของเขา แต่ชาวพุทธเรามีดีอย่างของเรา คือดีของเราไม่ได้หยุดอยู่แค่บุญ ต้องอัปเกรดขึ้นเป็นกุศลให้ได้ “สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง ไม่ทำบาปทั้งปวง” บาปทางใจก็คิดไม่ดี บาปทางวาจา พูดไม่ดี บาปทางร่างกาย กระทำไม่ดี “กุสะลัสสูปะสัมปะทา ทำกุศลให้ถึงพร้อม” สิ่งที่เรียกว่ากุศลคืออะไร คือความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ตัวกุศลเรียกว่าอโลภะ อโทสะ อโมหะ
โลภะ โทสะ โมหะ เป็นตัวอกุศล สิ่งที่เรียกว่ากุศลประกอบด้วยอะไร ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง แล้วจิตใจขณะนั้นเป็นอย่างไร จิตใจขณะนั้นรู้ตื่นและก็เบิกบาน ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เราจะต้องพัฒนาตัวเอง อย่าหยุดอยู่ที่บุญ มาฝึกจิตฝึกใจของเรา ทำอย่างไรจิตจะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ทำไม่ได้เพราะจิตเป็นอนัตตา แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้ จิตเป็นธรรมชาติที่สั่งไม่ได้ แต่ฝึกมันได้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วมีสติคอยรู้ทัน มีจิตตั้งมั่นเป็นคนรู้คนดู จิตหลงไปแล้วรู้ หลงแล้วรู้อย่างนี้ จิตมันจะตั้งมั่นมีกำลังขึ้นมา
ถัดจากนั้นเราก็ทำกรรมฐานของเราไป จิตอยากเห็นเทวดา รู้ว่าโลภ จิตอยากเห็นหวย รู้ว่าโลภ จิตไม่พอใจ เฮ้อ จิตฟุ้งซ่านจัง โมโห อันนั้นจิตโกรธ ทันทีที่รู้ว่าจิตโกรธ จิตโกรธก็ดับ ก็เกิดจิตไม่โกรธ อโลภะ อโทสะ ก็เกิด จิตหลงยังมีอยู่ เรารู้ทัน จิตหลงก็ดับ ก็กลายเป็นจิตอโมหะ เพราะฉะนั้นอโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่เป็นตัวกุศล เกิดด้วยกำลังของสติและสมาธิที่ถูกต้อง จิตเราต้องอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วมีสติระลึกรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิต จิตมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เมื่อมันมีผัสสะมากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 6 ช่องทาง
แต่ตอนหัดใหม่ขอแนะนำ ให้ลดช่องทางที่กระทบอารมณ์ลง นั่นคือการทำในรูปแบบ อย่างเรานั่งสมาธิอยู่ในบ้านเรา ในห้องนอนเรา บางบ้านรวยก็มีห้องพระ เรานั่งสมาธิอยู่ ขณะที่เราทำสมาธิ ขณะที่เราเดินจงกรมในบ้านเรา มันไม่มีอะไรแปลกๆ ให้ดู บางทีนั่งสมาธิหลับตาเสียด้วยซ้ำไป ก็ไม่เห็น ก็ลดการกระทบอารมณ์ไปทางตาลงไป ในขณะที่เราอยู่ในบ้านเรา ไม่มีเสียงแปลกปลอม จิตก็ไม่ได้สนใจฟังเสียง มีหูก็เหมือนไม่มี มันก็ลดอายตนะหูลงไป อยู่ในบ้านเรามีแต่กลิ่นซ้ำๆ ไม่มีกลิ่นแปลกๆ จิตไม่ Alert ขึ้นมา มีกลิ่นก็เหมือนไม่มีกลิ่น จิตไม่สนใจ มันก็คือการตัดอายตนะจมูกออกไปอีกอันหนึ่ง
ในขณะที่เราภาวนา เราก็ไม่ได้กินอะไร ลิ้นของเรากระทบน้ำลายอยู่ น้ำลายมีรสไหม มี แต่เราชิน เราก็เลยไม่ได้กลิ่น เหมือนตัวเรามีกลิ่นทุกคน แต่เราชิน เรารู้สึกตัวเราไม่ค่อยเหม็น ตัวคนอื่นนิดเดียวก็เหม็นแล้ว เพราะเราชิน เรานั่งภาวนา รูปมันก็เป็นรูปเดิมๆ ไม่มีอะไรน่าสนใจ เสียงก็เสียงเดิมๆ ไม่มีอะไรน่าสนใจ กลิ่นเดิมๆ ไม่น่าสนใจ ลิ้นกระทบแต่น้ำลายตัวเอง ก็ไม่น่าสนใจ เลยรู้สึกไม่มีรส น้ำลายก็มีรส แต่เราชินก็เลยไม่มีรส
ฉะนั้นเวลาทำในรูปแบบ เราตัดอายตนะทิ้งไป 4 ตัว ตา หู จมูก ลิ้น เวลาเราเดินจงกรม เรานั่งสมาธิ ใครเป็นคนเดิน ใครเป็นคนนั่ง กายมันเดิน กายเป็นคนนั่ง มีอายตนะคือกาย ใครเป็นคนรู้ ใจเป็นคนรู้ ฉะนั้นมีใจ เหลืออายตนะ 2 คือกายกับใจ พอมีกายมีใจ เราก็ภาวนาของเราไป หายใจเข้าพุทออกโธ ตัวที่หายใจคือกาย จิตเป็นคนรู้ หายใจไปๆ จิตหลงไปคิดเรื่องอื่น เราเห็นชัดแล้ว เอ้า นั่งสมาธิดีๆ หนีไปคิดแล้ว เราก็รู้ โอ้ จิตหนีไปแล้ว จิตฟุ้งซ่านไปแล้ว แล้วกลับมานั่งหายใจพุทโธต่อไป
ทำกรรมฐานต่อไป ทำไปๆ จิตถลำลงไปเพ่ง รู้ว่าจิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจ ดูท้องพองยุบก็ไปเพ่งท้อง ขยับมือก็เพ่งมือ เดินจงกรมไปเพ่งเท้า บางคนเพ่งทั้งตัว นั่งอยู่ก็เพ่งร่างกายทั้งร่างกาย อาการเพ่งคือจิตมันถลำลงไปจับ จับตะครุบเอาไว้ ไม่เหมือนรู้ รู้ ต่างคนต่างอยู่ อย่างหลวงพ่อเห็นกระติกน้ำนี้ มันต่างคนต่างอยู่ ใจเราอยู่นี่ กระติกมันอยู่โน่น แต่ถ้าจิตมันตะครุบ มันกระโดดเข้าไปจับกระติกน้ำนี้ อุ๊ย ของกู ใครจะมาเอาไม่ได้ ใครอย่ามาแตะ
การทำในรูปแบบ คือการซ้อมรบ
การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในชีวิตจริง คือการลงสนามรบ
เวลาเราทำกรรมฐานในรูปแบบ เราจะลดอายตนะลงไปได้ 4 ช่อง เหลือแต่กายกับใจ คราวนี้พอมันมีน้อย มันก็ดูง่าย จิตเราหลงไปคิดเรารู้ จิตหลงลงไปในกายเรารู้ เช่น หลงไปที่ลมหายใจ นี่หลงเข้าไปในกาย หลงไปดูท้องพองยุบ นี่หลงไปอยู่ที่ท้อง ก็เป็นหลงไปในกาย เดินจงกรมแล้วเพ่งเท้า นี้ก็หลงอยู่ที่กาย ไม่เพ่งกายก็หลงไปคิด ฝึกตัวนี้ให้บ่อยๆ ทุกวันพยายามทำเข้า มีเวลาเมื่อไรก็ทำ 5 นาทีก็ทำ 10 นาทีก็ทำ วันๆ หนึ่งทำให้บ่อยๆ ไม่จำเป็นต้องรอไปทำตอนก่อนนอน ก่อนนอนก็ควรจะทำ แต่ว่ากลางวันนี้มีเวลาเมื่อไรทำเมื่อนั้น
หลวงพ่อก็ฝึกอย่างนี้ หายใจไปจิตหนีแล้วรู้ จิตไปเพ่งแล้วรู้ อยู่ในชีวิตประจำวันมี 6 อายตนะ ตอนทำกรรมฐานอยู่เหลือ 2 อายตนะ เพราะฉะนั้นจะเห็นจิตได้ง่าย เพราะมีสิ่งเร้าอยู่ 2 ช่องทางเอง ไม่หลงไปคิดก็หลงไปเพ่ง ดูง่ายๆ อย่างนี้ พอเราชำนาญเห็นจิตขยับๆๆ เราเห็นแล้วจิตหลงไปคิด รู้ จิตไปเพ่ง รู้ ต่อไปเราก็ลงสนามรบ การลงสนามรบไม่เหมือนการซ้อมรบ การทำในรูปแบบคือการซ้อมรบ การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในชีวิตจริง คือการลงสนามรบ
เวลาเราอยู่ในสนามรบใช่ไหม ศัตรูจะมาทางไหนก็ไม่รู้ บางทีก็มาทางตา อย่างนั่งรถเมล์ไปเห็นผู้หญิงสวย หรือบางบ้านเขาจัดดอกไม้ไว้สวยๆ หน้าบ้าน หรือนั่งรถไปแล้วมีหมาสวยๆ มาวิ่งอยู่ หน้าตาน่ารัก มีแมวน่ารัก นี่ตาเรามองเห็น พอตามองเห็น ใจก็กระโดดใส่หมาใส่แมว ถ้าเกิดรถคว่ำตายตอนนั้น ก็ไปเกิดเป็นหมาเป็นแมว แต่ว่านี่เราเห็นเพราะเราเคยฝึกแล้ว จิตขยับนิดหนึ่งเราเห็น ขยับนิดหนึ่ง จิตกระโจนไปดูรูป เราเห็น หรือได้ยินเสียงแปลกๆ อย่างเรานั่งเพลินๆ มีแตรรถแปร้นขึ้นมาใกล้ๆ เรา ตกใจ จิตกระฉอกไปหา เราเห็นเลยจิตพุ่งไปตามสิ่งเร้าคือเสียง หรือบางทีก็มีกลิ่น มีรส มีสัมผัส เยอะแยะ
เมื่อก่อนหลวงพ่อขึ้นรถเมล์ รับราชการใหม่ๆ ไม่ได้มีเงินซื้อรถยนต์หรอก บางทีเราก็เห็นอะไรที่ขำๆ เคยเห็นผู้หญิงคนหนึ่งเขานั่งคู่กัน รถเมล์สมัยก่อนมันนั่งเก้าอี้ 2 คน คนที่อยู่ริมหน้าต่างผมแกยาวเชียว ลมก็พัดสะบัดไปมา มันก็ไปปัดหน้าของคนที่นั่งติดกัน คนนี้เขาทาลิปสติกมาแดงเลย พอปัดไปปัดมาแกมีหนวดแดงเต็มไปหมดเลย แกไม่รู้หรอก แกก็ยังรู้สึกแกสวยอยู่ เราเห็นเราก็ขำ เห็นไหม ขำ ตาเห็นรูปใจก็ขำขึ้นมาอย่างนี้ เราก็รู้ ตาเห็นรูป จิตใจเราเปลี่ยนแปลง คอยรู้ หูได้ยินเสียง จิตใจเราเปลี่ยนแปลง คอยรู้ อย่างเดินๆ อยู่ได้ยินเสียงหมามากระโชกใส่ ฮู่ อย่างนี้ ตกใจ รู้ว่าตกใจ
ตาเห็นรูป จิตก็เปลี่ยน มีสติรู้ หูได้ยินเสียง จิตก็เปลี่ยน มีสติรู้ จมูกได้กลิ่น จิตก็เปลี่ยน มีสติรู้ ลิ้นกระทบรส จิตก็เปลี่ยน อย่างไปกินข้าวรสนี้ถูกใจ รสนี้กินแล้วรำคาญ หงุดหงิด แค่กินข้าวแต่ละคำ จิตยังไม่เคยเหมือนกันเลย ไปสังเกตดู กระทั่งกินของชอบ แล้วของอันนั้นอร่อยมาก ลองไปหากินดู ของที่เราว่าอร่อยๆ คำที่หนึ่งจะรู้รสว่าอร่อยหรือเปล่าไม่รู้ ตะลีตะลานกิน กินสักช่วงหนึ่งแล้วรู้ โอ๊ย อันนี้อร่อย กินไปเรื่อยๆ ความรู้สึกอร่อยจะลดลงเรื่อยๆ แปลผันกลับข้างกับการกินของเรา สมมติว่าชอบกินทุเรียน ชอบกิน กินเม็ดแรกอร่อย กินไปลูกหนึ่ง ไม่อร่อยแล้ว ได้กลิ่นทุเรียนอยากจะอ้วกแล้ว ความรู้สึกมันเปลี่ยน
เพราะฉะนั้นจิตใจเรา เปลี่ยนแปลงกลับกลอกตลอดเวลา ตามการกระทบอารมณ์ เวลาเราอยู่ในสนามรบจริง ก็คืออยู่ในชีวิตประจำวัน ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง กระทบทีเดียว ทีละช่อง แต่มาได้ 6 ช่อง ถ้าเราเคยฝึกชำนิชำนาญจากการทำในรูปแบบ จิตไหลไปคิด รู้ จิตไปเพ่ง รู้ ต่อมามากระทบ 6 ช่อง เราสามารถรู้ได้ บางคนบอกว่า เอ๊ะ มันกระทบตั้ง 6 ข่องทางจะรู้ได้อย่างไร เดี๋ยวกระทบทางตา นี่รูป กระทบทางหู นี่เสียงหรือ อย่างนั้นไม่ฉลาดหรอก จิตมันก็พุ่งออกไปที่ตา ที่หู วุ่นวายไปหมด อย่างนั้นภาวนาไม่เป็นหรอก
แต่ถ้าจิตเราตั้งมั่น เราจะเห็นเลย จิตที่รู้สึกตัวดับ เกิดจิตที่ไปดูรูป พอมีสติรู้ จิตที่ไปดูรูปดับ เกิดจิตที่รู้ตัวขึ้นมา จะเห็นว่าจิตมันเกิดดับ หมุนเวียนอยู่ทางอายตนะทั้ง 6 นั่นล่ะ เพราะฉะนั้นค่อยๆ ฝึก ไปทำในรูปแบบ ทีนี้ถ้าเราขยันทำในรูปแบบ อย่าทำตัวเป็นตุ่มรั่ว ที่มันหายนะ มันไปไม่รอดก็เพราะเรื่องนี้ล่ะ อุตส่าห์ฟังธรรม อุตส่าห์ปฏิบัติ ถึงเวลาก็ซน เดี๋ยวก็ไปงานบุญที่นั้น งานบุญที่นี้ บุญตลอด ไม่ถึงกุศลสักที ถึงกุศลได้ก็ต้องละกิเลสได้ ทำบุญแล้วก็เพลินๆ หลงบุญ น่าเสียดาย เสียดายอะไร เสียดายโอกาสที่ได้พบพระพุทธศาสนา บุญนั้นศาสนาอื่นเขาก็มี แต่กุศลนั้นอยู่ในพระพุทธศาสนา สามารถละโลภ โกรธ หลงได้ นั่นล่ะตัวกุศล
อาศัยกำลังของสติและสมาธิคอยรู้ทัน จิตโลภรู้ทันด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง จิตโลภก็ดับ เกิดจิตรู้ที่เป็นกุศล โกรธขึ้นมา สติระลึกรู้ความโกรธ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง ความโกรธนั้นก็ดับ เกิดจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาแทน จิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นแทน คือทันทีที่มีสติ ทันทีที่มีสมาธิที่ถูกต้อง อันนั้นจิตเป็นกุศลเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องดิ้นรนสร้างกุศลขึ้นมาหรอก ตรงที่มีสติไปรู้ทันอกุศล อกุศลดับในขณะใด ดับไปพร้อมๆ กับที่สติเกิด แล้วพร้อมๆ กับที่สติเกิดนั้น ขณะที่อกุศลดับ กุศลเกิดเรียบร้อยแล้ว มันไวขนาดนั้น ค่อยๆ พัฒนาไป
หลวงพ่ออยากเห็นพวกเราภาวนา เพื่อวันหนึ่งพวกเราจะทุกข์น้อยลงๆ พอพวกเราเข้าใจการปฏิบัติที่ถ่องแท้แล้ว เราก็มีหน้าที่ส่งทอดแสงสว่างนี้ ให้กับคนที่ยังไม่รู้ไม่เห็น เผื่อเขาจะได้ทุกข์น้อยลง ทุกข์สั้นลง นี่คือการสืบทอดพระพุทธศาสนา อย่าเถลไถล รวมกลุ่มกันแล้วก็เถลไถล พากันเสีย เป็นตุ่มดีๆ อย่าเป็นตุ่มรั่ว ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ วันละกี่ครั้งก็ได้ มีเวลา 5 นาทีก็ทำ 10 นาทีก็ทำ เวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ มีสติรู้เท่าทันจิตตนเองไป
เราจะเข้าถึงมรรคผลในเวลาอันสั้น เพราะว่ากุศลมันเกิด ขณะที่เรามีสติอกุศลดับ กุศลเกิด ทำกุศลให้ถึงพร้อม สุดท้ายจิตมันก็ผ่องแผ้ว ถ้ากุศลก็ทำ บุญก็ทำ บาปก็ทำ มันไม่ผ่องแผ้วเสียที ถึงวันหนึ่งมันหมดกำลังที่จะทำ อันแรกเลย หมดกำลังใจ อย่าว่าแต่โยมเลย พระก็เหมือนกัน บวชใหม่ๆ โอ๊ย Active ขยันภาวนาหามรุ่งหามค่ำ พอหลายพรรษาเข้าก็เริ่มเฉื่อย เริ่มแฉะ เพราะอะไร เพราะว่าภาวนาแล้วมันไม่เห็นผล ถ้าเห็นผลแล้วมันไม่เฉื่อย
หลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ไม่เคยเฉื่อย ท้อมีไหม มี มีท้อแต่ไม่เลิก ไม่ยอมเลิกหรอก พอภาวนาดูกายดูจิตมันทำงานไปเรื่อยๆ มันสนุก ของไม่เคยเห็นได้เห็น ของไม่เคยรู้ได้รู้ ของไม่เคยเข้าใจ ได้เข้าใจ เราอยู่กับตัวเองมาตั้งแต่เกิด แต่เราไม่รู้จักตัวเอง มันน่าสลดใจไหม เกิดมาเราก็มีตัวเรานี่ล่ะ แต่เราไม่รู้จักมัน เหมือนที่ทุกคนไม่เคยเห็นหน้าตัวเอง เราเห็นหน้าคนอื่น แต่เราไม่เห็นหน้าตัวเอง เราได้แต่ดูเงาหน้าในกระจก หลวงพ่อเคยสังเกตว่าเราเห็นหน้าตัวเองไหม พบว่าเห็นแต่จมูก เพราะจมูกเราโด่งหน่อย ถ้าจมูกแบนๆ มองไม่เห็น
ตัวเรามีอยู่ กายนี้ จิตนี้มีอยู่ แต่เราไม่เห็นมัน ฉะนั้นอย่ามัวแต่เตลิดออกไปไกล เรียนรู้ทวนกระแสเข้ามา รู้ลงในกาย รู้ลงในใจตัวเอง โอปะนะยิโก น้อมเข้ามาหาตัวเอง มาเรียนรู้ เดี๋ยววันหนึ่งก็รู้ถูก เข้าใจถูก กายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือทุกข์ มันก็วาง ถ้ามันรู้ทุกข์แล้วมันก็วาง ไม่ต้องไปทำอะไร ไม่ต้องพยายามวาง จิตมันวางเอง ก็มันรู้แล้วว่าทุกข์ เรื่องอะไรมันจะไปหยิบไว้ เมื่อก่อนเขาชอบเปรียบเทียบ ว่าขันธ์ 5 เราเหมือนถ่านไฟแดงๆ ถ่านไฟนี้สีมันสวยใช่ไหม ถ่านติดไฟสีสวยๆ เด็กไร้เดียงสาเห็นถ่านไฟสวยๆ ก็หยิบ พอไปหยิบแล้วไฟลวกมือ ไฟไหม้มือแล้ว ตั้งแต่นั้นเรียกให้หยิบถ่านแดงๆ ไม่หยิบแล้ว
จิตนี้ก็เหมือนกัน จิตนี้มันหยิบขันธ์เอาไว้ รู้สึกว่าดี สวยงาม ดีงาม แต่สติปัญญาแก่กล้า แล้วขันธ์นี้คือตัวทุกข์ คราวนี้จ้างให้ก็ไม่หยิบแล้ว ไม่ต้องพยายามที่จะไม่หยิบ มันไม่หยิบเอง เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ชาติสิ้นแล้ว ชาติก็คือการที่จิตหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่น สิ้นแล้ว
พรหมจรรย์คือการประพฤติปฏิบัติธรรมจบแล้ว เรียนหนังสือจบแล้ว จบลงที่ไหน จบลงที่จิตมันหลุดพ้นแล้ว มันพ้นแล้ว มันไม่มีงานที่จะต้องทำต่อ เพื่อจะให้จิตหลุดพ้นอะไรอย่างนี้ ไม่ต้องทำแล้ว หลุดแล้วหลุดเลย ฉะนั้นชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว มันรู้สึกอย่างนั้น นั่นล่ะที่สุดของทุกข์ ถ้าเราภาวนาแล้วถึงจุดนี้ เราจะสิ้นสงสัย มันมีคำอยู่คำ ครูบาอาจารย์ท่านชอบพูดกันว่า “สิ้นสงสัย” องค์นี้สิ้นสงสัย องค์นี้สิ้นสงสัย สิ้นสงสัยเพราะอะไร เพราะแจ้งแล้ว แจ่มแจ้งแล้ว ที่สุดของทุกข์มันอยู่ตรงไหน
ที่สุดของทุกข์มันอยู่ตรงธรรมนั้นเอง ธรรมะ สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ตัวนี้มันเป็นธรรมะเหนือโลก เหนือขันธ์ เหนือวัฏสงสาร ไม่อย่างนั้นยังไม่มีจุดสิ้นสุด ก็ยังเวียนว่ายไปเรื่อยๆ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด แค่เข้าใกล้ แล้วปุถุชนอย่างพวกเรา มันจะเห็นไหม ไม่เห็นหรอก ต้องฝึกตัวเองให้มาก อย่าวุ่นวายเถลไถล ที่น่าห่วงเลยก็คือพวกเราชอบเถลไถล ตั้งใจภาวนาเอาจริงเอาจัง ยังไม่ค่อยจะรอดเลย แล้วเถลไถล แล้วมันจะรอดหรือ มันไปไม่รอดหรอก นี่ล่ะกฎแห่งกรรม ใครทำคนนั้นก็ได้ ไม่ทำก็ไม่ได้ หรือทำในทางที่ไม่ดีมันก็ไม่ได้
วัดสวนสันติธรรม
8 กรกฎาคม 2566