รู้เข้ามาที่กายที่ใจของเรา

รู้สึกตัวเอาไว้ ความรู้สึกตัวมันเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ ถ้ารู้สึกตัวไม่เป็น ก็ภาวนาไม่เจริญ มันเป็นเรื่องแปลก เราอยู่กับร่างกาย อยู่กับจิตใจของเรามาแต่ไหนแต่ไร แต่คนในโลกไม่ได้เรียนรู้ร่างกายจิตใจของตัวเอง ลืมไปหมดแล้ว มัวสนใจแต่สิ่งอื่น ของข้างนอก

สนใจรูปมากกว่าสนใจลูกตาตัวเอง สนใจเสียงมากกว่าสนใจหู สนใจกลิ่นมากกว่าสนใจจมูก สนใจรสชาติมากกว่าสนใจลิ้น สนใจสิ่งที่มาสัมผัสร่างกายมากกว่าจะสนใจร่างกาย สนใจเรื่องราวที่คิด นึก ปรุง แต่ง ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายมากกว่าจะสนใจจิตใจตัวเอง

อายตนะแปลว่าเครื่องเชื่อมต่อ เชื่อมต่อจิตใจของเราเข้ากับโลกข้างนอก อายตนะมี 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของข้างนอกก็มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่สัมผัสร่างกาย เช่น ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความตึง ความไหว สิ่งเหล่านี้กระทบร่างกาย เรียกว่าโผฏฐัพพะกับธรรมารมณ์

ธรรมารมณ์ก็มีตั้งแต่เรื่องราวที่เราคิด รูปธรรมจำนวนมาก นามธรรมทั้งหมดแล้วก็นิพพาน ทั้งหมดนี้เป็นธรรมารมณ์ คือของที่รู้ด้วยใจ มีตั้งแต่สมมติบัญญัติ มีรูปบางอย่าง นามทั้งหมด ก็นิพพาน อันนี้เป็นธรรมารมณ์ รู้ด้วยใจ

 

ถ้ารู้สึกตัวไม่เป็น ก็ภาวนาไม่เจริญ

เรามีธรรมชาติที่จะออกนอก คือเราจะสนใจรูปที่มองเห็น สนใจเสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่ได้สัมผัส รสที่ได้สัมผัสและสิ่งที่มากระทบร่างกาย เราจะสนใจไปที่เรื่องราวที่คิดๆ ไม่สนใจอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราไม่สนใจ มัวแต่สนใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็เรื่องราวที่คิด ธรรมารมณ์ที่สนใจคือเรื่องที่คิดนั่นล่ะ ส่วนธรรมารมณ์ที่เป็นรูปธรรมนามธรรม ที่เป็นตัวของเรา ไม่สนใจ

นิพพาน สนใจแต่ไม่รู้จัก วาดภาพนิพพานกันต่างๆ นานา นิพพานไม่ได้มีรูปธรรมนามธรรม ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก หลวงปู่ดูลย์ท่านเปรียบเทียบ คนไม่ได้สัมผัสพระนิพพานด้วยตัวเองไม่มีทางเข้าใจ เหมือนปลาอยู่ในน้ำ เป็นเพื่อนกับเต่า เต่าอยู่บนบกก็ได้ อยู่ในน้ำก็ได้ เต่ามาเที่ยวบนบก กลับไปก็เล่าให้ปลาฟังว่าบนบกมันสนุกอย่างนั้นอย่างนี้ มันดีอย่างนั้นอย่างนี้

ปลามันก็ถามเลยว่าบนบกมีคลื่นแรงไหม บนบกน้ำมันเย็นไหม บนบกสาหร่ายเยอะไหม มันก็ถามไปจากสิ่งที่มันมีข้อมูลเดิม พวกเราเหมือนกัน เวลาคิดถึงพระนิพพาน ก็คิดด้วยข้อมูลเดิม ต้องมีอะไรบางอย่างอยู่ ต้องมีร่างกาย มีจิตใจนี้ มันก็เหมือนปลาที่คิดเรื่องบนบก เพราะฉะนั้นอย่ามาเสียเวลาคิด คิดอย่างไรก็ไม่รู้จักหรอกพระนิพพาน

หัดภาวนาไปตามลำดับ ตามขั้น ตามตอน วันหนึ่งก็จะเห็นเอง เราจะเห็นพระนิพพานครั้งแรกตอนที่ได้โสดาปัตติมรรค เกิดโสดาปัตติมรรคจะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ตามด้วยโสดาปัตติผล ก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ ฉะนั้นเราไม่ต้องไปคิดถึง ไม่ต้องไปจิตนาการว่านิพพานเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็จะไม่ผิดกับปลา ที่จินตนาการว่าบนบกมีสาหร่ายไหม มีคลื่นไหม คิดไปในกรอบประสบการณ์แคบๆ ของเราเอง

ฉะนั้นเปิดใจให้กว้างในการเรียนธรรมะ ความรู้เดิมๆ วางมันไป เพื่อจะได้เปิดใจมาเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อย่างบางคนภาวนา มีความรู้เดิมๆ ต้องนั่งสมาธินานๆ เดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ ต้องเริ่มอย่างนี้ ก็ทำกันนานหนักหนา หลายปี สิบปี ยี่สิบปีก็กระเถิบออกมา ก้าวไปข้างหน้าได้นิดๆ หน่อยๆ ทำความสงบแล้วก็ฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านแล้วก็มาทำความสงบ เราติดข้อมูลเดิม ติดความเชื่อเดิมๆ ว่าเราต้องนั่งสมาธิ ต้องเดินจงกรม

ที่จริงแล้ว การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม มันเป็นรูปแบบของการปฏิบัติ จำเป็นไหม จำเป็น แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้นคือสติ ตรงนี้พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนสติปัฏฐาน แล้วท่านก็ย้ำเลยว่าตราบใดที่ยังมีการเจริญสติปัฏฐาน โลกก็ยังมีพระอริยะอยู่ ถ้าไม่มีการเจริญสติปัฏฐาน ไปนั่งสมาธิให้ตาย เดินจงกรมให้ตาย มันก็ไม่ได้ธรรมะ แต่ถ้าอยากได้ธรรมะ แล้วไม่นั่งสมาธิ ไม่เดินจงกรม ได้ไหม ได้แต่ยากแสนเข็ญ ยากมาก

การทำในรูปแบบมันเป็นเครื่องช่วย จุดสำคัญคือเราต้องทำด้วยความมีสติต่างหากล่ะ ครูบาอาจารย์ท่านก็สอน หลวงปู่มั่นสอน “มีสติคือมีความเพียร ขาดสติก็คือขาดความเพียร” ขาดการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นเราจะนั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมอะไร ต้องมีสติ ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนเข้ามาตรงหลักการอันนี้ ก็อุตส่าห์นั่ง อุตส่าห์เดิน ทรมานผ่านไปเป็นสิบปี ยี่สิบปีอะไรอย่างนี้

บางท่านบุญวาสนาพอก็ได้มรรคได้ผลขึ้นมา ส่วนใหญ่มันก็ไม่ได้ เหน็ดเหนื่อย ลำบาก ผ่านไปหลายๆ ปีก็ท้อแท้ใจ ไม่เห็นพัฒนาการเลย ก็เลิก รู้สึกศาสนาพุทธไม่ดีจริง ปฏิบัติแล้วไม่เห็นจะพ้นทุกข์เลย ยิ่งปฏิบัติยิ่งทุกข์

อย่างร่างกายเราเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างนี้ มันก็ทุกข์นิดๆ หน่อยๆ มาลงมือปฏิบัติ นั่งสมาธินานๆ เดินจงกรมนานๆ ยิ่งทุกข์กว่าเก่าอีก จิตใจเคยกระเจิดกระเจิง ร่อนเร่ทั้งวัน สุขบ้าง ทุกข์บ้าง มาลงมือปฏิบัติแบบผิดๆ เพ่งเอาก็เคร่งเครียด บางทีเป็นบ้าไปเลย เครียด อันนั้น อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็ลืมความเชื่อเก่าๆ ไปบ้าง แล้วลองมาเรียนเรื่องของการเจริญสติให้ดี

 

เดินจงกรม นั่งสมาธิ เพื่อพัฒนาสติและสัมมาสมาธิ

การนั่งสมาธิ สมมติว่านั่งทำอานาปานสติ นั่งหายใจออก หายใจเข้า แล้วก็น้อมจิตให้นิ่งๆ ว่างๆ ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า ทางของพระพุทธเจ้าก็คือหายใจด้วยความมีสติ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก หรือเดินจงกรม เดิน อิริยาบถเดิน ไม่ใช่เดิน เอาสุข เอาสงบ เอาดี เอาความเก่งกว่าคนอื่น ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราเดินเพื่อฝึกสติ เดินด้วยความรู้สึกตัว ร่างกายเดินไปก็รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่งก็รู้สึก รู้สึกไปเรื่อยๆ

เราไม่ได้เดินจงกรมเพื่อนับเวลาว่าจะเดินเท่านั้นชั่วโมง เท่านี้ชั่วโมง เราไม่ได้เดินจงกรมเพื่อเอาระยะทางว่าจะเดินหนึ่งพันรอบ เดินกลับไปกลับมาหนึ่งพันครั้ง หนึ่งหมื่นครั้ง เราไม่ได้เอาตรงนั้น สิ่งที่เราจะเอาก็คือเราจะฝึกสติตัวเอง เวลาเราเดินไป ใจเราลอย ใจเราหนีไปคิด เรารู้ทันว่าจิตหนีไปแล้ว หลงไปแล้ว ลืมตัวเอง ขาดสติไปแล้ว พอเรารู้ทันว่าจิตมันหลงไปคิด จิตมันก็รู้สึกตัวขึ้นมา มีสติปุ๊บ จิตก็อยู่กับเนื้อกับตัว ขึ้นมา นั่นก็คือตัวสัมมาสมาธิ สภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว มีสติที่ถูกต้องเมื่อไรก็จะมีสมาธิที่ถูกต้องเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นเราจับหลักของการปฏิบัติให้แม่นๆ

มีคนจำนวนมาก เมื่อวานทางมูลนิธิฯ เขาส่งมาให้ดู มีคนเอาวิทยุธรรมะที่มูลนิธิฯ ทำ ซื้อไปเยอะๆ เอาไปแจกพระ แจกแม่ชี ก็มีฟีดแบคที่ดี บอกปฏิบัติมาหลายสิบปีเลย มันก็ได้แค่นั้นพอมาฟังหลวงพ่อพูด มันเป็นเรื่องเจริญสติเรื่องอะไร จิตใจมันก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว ธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าทำถูกจะไม่เนิ่นช้า เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่ไม่เนิ่นช้า ถ้าเนิ่นช้า แสดงว่าต้องมีอะไรพลาดแล้ว อันแรกเลย ปฏิบัติไม่ถูก อันที่สอง ปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง ทำแล้วก็หยุดๆ พวกตุ่มรั่ว ที่หลวงพ่อเรียก พวกตุ่มรั่ว

พอเขารู้จักการเจริญสติ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกินอาหาร จะขับถ่าย จะทำอะไร ก็รู้สึกกาย รู้สึกใจไปเรื่อยๆ สติก็ไวขึ้นๆ พอสติมันเกิด สมาธิที่แท้จริงมันก็เกิด เพราะสัมมาสติที่ทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์

ฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาสัมมาสติให้ได้ด้วยการทำสติปัฏฐานนั่นล่ะ มิฉะนั้นเราจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ คนอื่นเขาก็เดินจงกรม เขานั่งสมาธิ แต่เขาเดินเพื่อความสุข เพื่อความสงบ เพื่อความดี เราจะเดินจงกรม จะนั่งสมาธิ เพื่อพัฒนาสติและสัมมาสมาธิ

อย่างเราเดินไปแล้วใจลอย รู้ทันว่าใจลอย เดินไปแล้วใจถลำลงไปเพ่งอยู่ที่เท้า รู้ว่าเพ่งเท้า เดินจงกรมแล้วเพ่งร่างกายทั้งร่างกาย เหมือนกับจิตอยู่ข้างบนแล้วมองลงมาเห็นร่างกายทั้งร่างกาย รู้ว่าเพ่งร่างกาย รู้ทัน รู้ทันอะไร รู้ทันพฤติกรรมของจิต จิตมีพฤติกรรมหลงไปคิด รู้ทัน จิตมีพฤติกรรมหลงไปเพ่ง รู้ทัน

ทำกรรมฐานไป นั่งสมาธิเดินจงกรม จุดสำคัญเลยที่จะพัฒนาหรือเปล่า คือเราเห็นพฤติกรรมของจิตไหม ถ้าไม่เห็นพฤติกรรมของจิต ก็ดูของที่หยาบขึ้นมา ดูความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นกับจิต เช่น เรานั่งสมาธิอยู่ นั่งไปๆ อูย ขี้เกียจแล้ว อยากนอนแล้ว เรามีสติรู้ว่าความขี้เกียจเกิดขึ้น ความท้อแท้เกิดขึ้น รู้ว่าอยากจะนอน รู้ทันความรู้สึกของตัวเอง อย่างนี้ก็ใช้ได้

แล้วถ้าจะให้ละเอียด ให้ไวกว่านั้นก็คือเห็นพฤติกรรมของจิต เรานั่งสมาธิอยู่ สมมุติบางคนนั่งสมาธิ จิตไหลไปคิด รู้ว่าจิตไหลไปคิด อย่างนี้ใช้ได้ ตัวที่รู้ว่าจิตไหลไปคิด เรียกว่าสติ สติเกิดจากอะไร สติเกิดจากถิรสัญญา การที่จิตจำสภาวะได้แม่น จิตจำสภาวะได้แม่น เพราะจิตเห็นสภาวะ นั้นบ่อยๆ

อย่างเราทำสมาธิอยู่อย่างนี้ แล้วจิตหนีไปคิด เรารู้ ทีแรกหนีไปคิดตั้งนานถึงจะรู้ ต่อมามันหนีไปคิดอีก รู้ หนีไปคิดแล้วก็รู้ มันจะรู้ได้เร็วขึ้นๆๆ ในที่สุดจิตมันจำสภาวะที่หนีไปคิดได้ ทันทีที่จิตหนีคิดปุ๊บ สติเกิดปั๊บเลย จิตที่หนีคิดก็ดับทันที จิตที่รู้ ตื่น เบิกบาน ทรงสัมมาสมาธิ ทรงสติก็เกิดขึ้นทันที มีทั้งสติ มีทั้งสมาธิ ฉะนั้นจิตเราก็ตั้งมั่นเด่นดวงอยู่โดยไม่ต้องรักษา พัฒนาอย่างนี้ถึงจะใช้ได้

หรือเราเดินจงกรมอยู่ เดินจงกรมส่วนใหญ่ก็ลืมตาเดิน บางทีเดินๆ อยู่ดีๆ เห็นอะไรแวบๆ ทางหางตา จิตก็กระฉอกวิ่งไปดู หันหน้าไปดู จิตก็วิ่งไปดู ตัวอะไรมา อ๋อ หมา หมาวิ่งมาอะไรอย่างนี้ ตรงนี้หลงไปเรียบร้อยแล้ว ให้เรารู้พฤติกรรมของจิต

อย่างเราเดินจงกรมอยู่ จิตเกิดเห็นอะไรแวบๆ อยากดู รู้ว่าอยากดู หันไปดู เห็นร่างกายหันไป อย่างนี้เรียกว่าเรามีสติอยู่ อยากดูก็รู้ หันไปดูก็รู้ ตรงอยากดู รู้นามธรรม ตรงเห็นร่างกายมันหันไปดู รู้รูปธรรม อันนั้นเรียกเรามีสติอยู่ ถ้าเห็นอะไรแวบๆ หันไปดู โห หมา เอ๊ะ หมาบ้านไหนหลุดเข้ามาในบ้านเรา นี่ขาดสติยาว แต่ถ้ารู้ว่า จิตมันวิ่งไปดูรูปอย่างนี้ อันนี้เรียกว่าเรามีสติ

สติเป็นอนัตตา สั่งให้เกิดไม่ได้ แต่ฝึกได้ โดยการหัดรู้สภาวะเนืองๆ ฉะนั้นในสติปัฏฐานจะมีคำว่า รู้เนืองๆ รู้บ่อยๆ รู้ถี่ๆ นั่นล่ะ ภาษาโบราณบอก รู้เนืองๆ คนเดี๋ยวนี้ไม่รู้จัก รู้เนืองๆ รู้จักแหนมเนือง รู้อย่างนั้น ไม่รู้จัก รู้เนืองๆ รู้บ่อยๆ รู้ถี่ๆ รู้ให้เยอะๆ ถ้าภาษารุ่นเรา

เราเดินจงกรมอยู่ จิตวิ่งไปทางตา รู้ทัน หรือเรานั่งสมาธิอยู่ ได้ยินเสียงแปลกปลอม จิตมันสนใจ มันวิ่งไปทางหู เสียงอะไร ตั้งอกตั้งใจฟัง ขโมยมางัดบ้านหรือเปล่า ก็รู้ว่าจิตวิ่งไปที่หูแล้ว จิตไปเกิดที่หู จิตมันไหลไป ก็ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีเท่านี้ล่ะ ถ้าไม่ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เพ่งเอาไว้ เพ่งรูปธรรม เพ่งนามธรรม เพ่งความว่าง

เพ่งรูปธรรม เช่น เพ่งดิน เพ่งน้ำ เพ่งลม เพ่งไฟ ก็จะไปแนวกสิณ บางทีเพ่งกระดูก ดูร่างกายก็เพ่งร่างกาย ได้อะไร ก็ได้สมาธิชนิดสงบ หรือบางทีก็ได้อิทธิฤทธิ์ไป เรื่องเพ่งร่างกาย หลวงพ่อก็เพ่งมาแต่เด็ก ทำอานาปานสติทีแรก ก็ทำไม่เป็นก็ไปเพ่ง พอลมหายใจระงับเป็นแสงสว่าง ก็ไปเพ่งแสงสว่าง ก็ออกรู้ออกเห็นอะไร เวลาบางทีก็เคยเล่นกสิณ จุดเทียนขึ้นมาแล้วก็นั่ง ลืมตาบ้าง หลับตาบ้าง ดูภาพของเทียนจนภาพมันติดตา

ตรงที่เราดูเทียนจริงๆ เรียกว่า บริกรรมนิมิต ตอนที่ภาพมันติดตา ลืมตา หลับตาก็เห็น เขาเรียกอุคคหนิมิต แล้วต่อไปภาพนั้นมันติดอยู่ในใจ เป็นปฏิภาคนิมิต ถ้าเราชำนาญ เราจะนึกถึงไฟ ไม่ต้องไปจุดเทียน กำหนดจิต เพราะจิตมันชำนาญ แล้วกำหนดมาก็เห็นไฟ เอาไว้ทำอะไร เอาไว้เล่น มี… เล่าดีไม่ดี

บางคราวนั่งรถทัวร์ไป ขึ้นไปศรีเชียงใหม่ ไปกราบหลวงปู่เทสก์ มันผ่านไปในพื้นที่บางที่ มันมีรถมาคว่ำ คนตาย ผีมาอยู่ตรงนั้นเยอะแยะเลย อันนี้เป็นนิมิต จริงหรือเปล่าไม่รู้หรอก ไม่ยืนยัน ต้องบอกแบบนี้ไว้ก่อน พอผีมันเห็นรถมา ที่จริงมันเห็นรัศมีของนักปฏิบัติ ไปกันหลายคน จิตใจที่เราฝึกปฏิบัติธรรม มันสว่าง สว่างไสว เวลาพวกเราภาวนาดีๆ รู้สึกไหมมันสว่าง แสงสว่างนี้มันแผ่ออกไป พวกโอปปาติกะ พวกผี พวกเทวดาก็จะเห็น

อย่างพวกเรามืดๆ ไม่ต้องกลัวผีหลอกหรอก ผีไม่เห็น ถ้าเราภาวนา คนก็บอกมีบุญ ผีเลยมาหา ไม่ใช่ มันมองเห็น มีรัศมีออกไป ผีพวกนี้มันคะนอง มันกินเหล้าเมาตาย มันเห็น มันดีใจ มันกระโดดขึ้นมาบนรถเต็มไปหมดเลย ขึ้นมาแล้ว ไม่เรียบร้อย ขย่มรถใหญ่เลย บางตัวก็พยายามไป โผล่หน้าให้คนขับเห็น ถ้าคนขับมันเคลิ้มเมื่อไรก็จะเห็น ตรงที่ครึ่งหลับครึ่งตื่น มันจะเห็น เผื่อรถจะคว่ำ เตือนดีๆ ไม่ฟัง ก็ไล่มัน ไล่ไม่ฟัง ก็ต้องใช้กำหนดจิตผลักให้มันกระเด็นลงไปจากรถ มันกระเด็นแล้วมันยังวิ่งตามมาอีก เราก็ต้องกำหนด เป็นนิมิตๆ เป็นไฟ ขวางทางไว้ ก็ห่างๆๆ ออกไป

 

เรียนรู้กายเรียนรู้ใจของตัวเองให้มาก
ยุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอกเท่าที่จำเป็น

นี่พวกเรื่องของสมาธิ ทำอะไรได้แปลกๆ จริงหรือเปล่า หลวงพ่อไม่สนใจเลย ไม่ใช่สาระสำคัญเลย เรื่องนิมิตทั้งหลาย นิมิตจริง นิมิตปลอมก็คือนิมิตนั่นล่ะ ไม่ใช่สาระแก่นสาร เห็นเทวดา สู้เห็นกิเลสตัวเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องสนใจของข้างนอก ไม่ต้องสนใจรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ข้างนอก สักว่ารู้ สักว่าเห็นไป แต่พอกระทบแล้ว ร่างกายเราเป็นอย่างไร จิตใจเราเป็นอย่างไร ให้รู้ตรงนี้ รู้เข้ามาที่กายที่ใจของเรา

เรื่องสมาธิถ้าฝึกออกไปทางกสิณ ทำอะไรได้สารพัด ทำอะไรได้แปลกๆ แต่มันจะทำให้เกิดอหังการ กูเก่ง กูเหนือกว่าคนอื่น ตัวนี้อันตรายสำหรับผู้ปฏิบัติ กระทั่งการออกรู้ออกเห็นจิตใจของคนอื่นอันตรายมากๆ

หลวงปู่ดูลย์ท่านห้ามแล้วห้ามอีก แต่ก็มีพระมีเณรแอบเล่น เณรบางองค์ กลางคืน แทนที่จะนั่งสมาธิของตัวเอง ก็ไปนั่งดู พระในวัดนี้ 50 – 60 องค์ ทำอะไรกันบ้าง รู้ ไปรู้เขาหมดเลย เช้าขึ้นมาก็รีบไปว่าเขา หลวงปู่เตือนแล้วเตือนอีกว่าอย่าทำอย่างนั้น เดี๋ยวจะภาวนาไม่ได้ หลวงปู่ห้ามก็หยุดไปพักหนึ่ง เดี๋ยวก็เอาอีก พอสิ้นหลวงปู่ ไม่มีคนห้าม ก็เล่นสนุก สุดท้ายก็บ้า เป็นบ้า

คนที่ไปดูจิตคนอื่นทั้งๆ ที่ตัวเองยังมาไม่ถึงจิตตนเอง สุดท้ายมันจะดูจิตตนเองไม่ได้ ฉะนั้นอย่าเที่ยวไปดู นี่เตือนด้วยคำที่หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยเตือนพวกพระพวกเณร ท่านไม่ได้เตือนหลวงพ่อ เพราะหลวงพ่อไม่เล่น ไม่เคยห้ามอะไรหลวงพ่อสักเรื่องเลย ไม่ห้าม เพราะรู้หลวงพ่อไม่สน หลวงพ่ออยากจะพ้นทุกข์อย่างเดียว ไปเรียนกับท่านทำอย่างไรจะพ้นทุกข์ได้ ปฏิบัติอย่างไร ที่ทำอยู่ถูกหรือไม่ถูก ผิดหรือไม่ผิด จิตใครจะเป็นอย่างไร หลวงพ่อไม่ได้สนใจเลย

อย่างเรื่องผีสางนางไม้อะไรตอนเป็นโยม ยังสนุก ยังไปดู ไปอะไร ตั้งแต่วันที่บวช ทิ้งหมดเลย ไม่เอาเลย มันไม่ใช่ทางที่พระพุทธเจ้าท่านบอกให้เราทำ มันทางฟุ้งซ่านออกนอก ฉะนั้นอย่าดีใจ อุ๊ย เราเห็นเทวดา เราเห็นโน่น เราเห็นนี่ ให้ตระหนักถึงภัยที่กำลังจะเกิดขึ้น พอเราเห็นโน่นเห็นนี่ ต่อไปใจมันลำพอง กูเก่งๆ แล้วมันจะไม่ย้อนดูจิตตนเองอีกต่อไป ดูคนอื่นแล้วสนุก ดูตัวเองไม่สนุก เหมือนดูหนัง สนุก ดูเครื่องฉายหนัง ไม่สนุก ไม่ชอบดู ไปไกลๆ ดูออกข้างนอกไป ไม่ย้อนมาดูตัวเอง

ดูกายดูใจก็เหมือนมาเรียนรู้ที่เครื่องฉายหนังนี้ ดูคนอื่นก็เหมือนเราดูหนัง สนุก ถ้าดูหนังเสียเพลินแล้ว ไม่ย้อนมาดูกายดูใจอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าทำ นี่เตือนแล้ว ไม่ใช่ไม่เตือน การรู้การเห็นจิตคนอื่นง่ายที่สุดเลย การรู้เห็นจิตตนเองยากที่สุดเลย แล้วถ้าไปเห็นจิตคนอื่นแล้ว ที่ยากที่สุดเลย คือการจะกลับมาเห็นจิตตนเอง เพราะฉะนั้นอย่าเล่น ไม่ดีเลย

พวกเราบางคนมาเรียนกับหลวงพ่อ ก็เล่น อยากรู้อยากเห็นจิตคนโน้นคนนี้ ทั้งพระทั้งโยม แล้วก็ไปปักหลักคอยทักจิตคนนั้นอย่างนี้ จิตคนนี้อย่างนั้น ให้เขาเลื่อมใส เลื่อมใสแล้วก็ได้ขอเงินเขา มี ขอโน่นขอนี่อะไร ไม่ใช่เส้นทางที่ครูบาอาจารย์พาเดินมา ท่านพาเราเดินไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น ไม่ใช่สู่การพัวพันวุ่นวายอยู่กับโลก

ธรรมชาติของจิตใจมันสนใจของข้างนอก มันสนใจโลก สนใจรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สนใจเรื่องราวที่คิด เห็นไหมหลวงพ่อแยก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พอถึงธรรมารมณ์ หลวงพ่อย่นลงมาเหลือแค่ ตัดออกมาส่วนเดียว สนใจเรื่องที่คิดเพราะธรรมารมณ์ รูปธรรม นามธรรม ถ้าเราคอยรู้ มันเป็นเส้นทางของอริยมรรค

ฉะนั้นคนทั่วไปมันสนใจรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่สัมผัสร่างกาย แล้วก็สนใจเรื่องราวที่คิด มันก็เลยไม่สนใจสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราไม่สนใจ น่าสงสาร อยากมีความสุข แต่แสวงหาความทุกข์ใส่ตัวเอง มันน่าสงสารมากๆ พูดถึงแล้ว สลดสังเวชเลย เห็นผู้คนมากมายที่อยากพ้นทุกข์ แต่กำลังแสวงหาความทุกข์ใส่ตัวเอง ไม่ยอมลดละตัณหา สนองตัณหาไปเรื่อยๆ รักสุข รักสบาย รักความสนุกสนานเพลิดเพลินอะไร เที่ยวแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แสวงหาเรื่องราวที่จะสนองความอยาก สังสารวัฏก็เลยยาวไกล ไม่มีที่สิ้นสุดเลย

 

ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม

เพราะฉะนั้นต้องตั้งใจให้เด็ดเดี่ยว ต่อไปนี้จะเรียนรู้กายเรียนรู้ใจของตัวเองให้มาก ยุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอกเท่าที่จำเป็น ถ้ามัวแต่ยุ่งกับโลกข้างนอก ก็คือตุ่มรั่วนั่นล่ะ น้ำไม่เต็มเสียที จิตไม่มีพลังหรอก ถ้าจิตไม่มีพลัง คือจิตไม่ทรงสมาธิจริงๆ ความรับรู้ ความรู้ มันจะไม่แจ่มชัด

เมื่อเช้าเจอหมอ ยังบอกหมอเลย “สมาธิสำคัญนะ” เวลาจิตทรงสมาธิแล้วมันมีสิ่งรู้มา สิ่งที่ถูกรู้มากระทบ ความรับรู้นั้นจะชัดเจน จะชัดเจนมหาศาลเลย มากกว่าจิตปกติอย่างนี้ จิตปกติอย่างนี้ รับรู้อะไร มันจะรู้ได้นิดหน่อย แต่จิตที่ทรงสมาธิ เวลารับรู้อะไร จะรับรู้ได้แจ่มชัดมากเลย

อย่างพวกเรารู้สึกกาย โอ้ กายนี้ทุกข์ ใจนี้ทุกข์ ทำไมมันไม่ตัด เพราะกำลังมันไม่พอ มันรู้ทุกข์ กายนี้เป็นทุกข์ ใจนี้เป็นทุกข์ กายนี้ไม่ใช่เรา ใจนี้ไม่ใช่เรา โอ๊ย ภาวนานิดๆ หน่อยๆ ก็รู้สึกอย่างนั้น แต่ถามนิดหนึ่ง ทำไมมันไม่ตัด ทำไมอริยมรรคไม่เกิด เพราะกำลังของสมาธิมันไม่มี เวลาจิตมันทรงสมาธิจริงๆ กระทั่งความทุกข์เล็กๆ ผ่านเข้ามา มันยังเห็นชัดเลย โหย นี่มันทุกข์แสนสาหัส

ไม่เฉพาะอย่างข้างนอกเราต้องกระทบอารมณ์ที่ไม่ดีถึงจะทุกข์ พอจิตเราสงบลงไปจริงๆ แค่มีการไหวของจิตนิดเดียวเท่านั้น โห้ ทุกข์ การที่จิตต้องรับรู้อารมณ์ตลอดเวลา จิตต้องทำงานหนัก แสนสาหัส จิตทุกข์จริงๆ มันเห็นละเอียดขนาดนั้น เพราะฉะนั้นกระทั่งทุกข์เล็กๆ น้อยๆ ที่ผุดขึ้นมาให้จิตรับรู้ จิตยังแจ่มแจ้งลงไปว่านี่ทุกข์

ในขณะที่เราอยู่กับโลกข้างนอก จิตเรียกว่ากามาวจรจิต จิตที่ร่อนเร่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฟุ้งๆ ไป ไม่มีกำลัง ไม่สบาย ป่วยหนักเป็นมะเร็งอะไรอย่างนี้ อุ๊ย ทุกข์ๆๆ พอหายแล้วก็ไม่ทุกข์อีกแล้ว เมื่อก่อนก็มีเรื่องเล่าตลกๆ ว่าผู้หญิงออกลูก สมัยโบราณออกลูกยาก ตายเยอะ แบบแม่นาคพระโขนง ตอนออกลูกก็เจ็บ ด่าผัวใหญ่เลย เสือกมาทำให้กูท้อง ทีหลังไม่เอาแล้ว ไม่ยุ่งด้วยแล้ว เดี๋ยวปีหน้าก็ร้องแบบนี้อีกแล้ว เพราะมันลืมทุกข์ มันทุกข์ไม่แจ่มแจ้ง

แต่ถ้าจิตมันทรงสมาธิจริงๆ กระทั่งทุกข์เล็กๆ ยังรู้สึกมันแสนสาหัส จิตฟุ้งขึ้นมานิดเดียวก็ทุกข์มาก อย่าว่าแต่จิตฟุ้งเลย จิตขึ้นรับอารมณ์ จิตต้องทำงานขึ้นมาก็ยังรู้สึกว่าเป็นภาระเลย จิตที่คิด มันก็เป็นภาระ จิตที่ดู จิตที่ฟัง จิตที่ได้กลิ่น จิตที่ลิ้มรส จิตที่รู้สัมผัสทางกาย จิตที่คิดนึกทางใจ เป็นภาระทั้งสิ้นเลย แล้วถ้าเราภาวนาจนละเอียดๆๆ เข้าไปอีก เราจะพบว่าจิตที่ทรงฌานก็เป็นทุกข์ อันนี้พวกเราวันหนึ่งข้างหน้า ถ้าเราไม่เลิกปฏิบัติ ไม่เป็นตุ่มรั่ว วันหนึ่งเราจะได้เห็น

อย่างภาวนา จิตที่มีอารมณ์ดี เป็นสุข อย่างเป็นเทวดา สัมผัสแต่อารมณ์ที่ดี แต่เราเคยภาวนามาเราเห็น จิตกระทบอารมณ์นิดหนึ่งก็ทุกข์แล้ว เทวดายังทุกข์อยู่แสนสาหัส ไม่ได้อยากเป็นเทวดา ถ้าเราอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า เราก็เห็นจิตที่สงบ ได้รูปฌาน ได้อรูปฌาน มีความสุข แต่ถ้าเราภาวนา จิตเราละเอียดพอ สมาธิเราดี เราก็เจริญปัญญาได้ชัดเจน มันจะเห็นรูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี มันคือความปรุงแต่งขั้นละเอียด ความปรุงแต่งเกิดขึ้นเมื่อไร ความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อนั้นเลย

พอมันเห็นถึงตรงนี้ มันจะรู้เลยว่าไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ทุกข์ทั้งสิ้น เกิดเป็นมนุษย์ก็ทุกข์ เกิดเป็นเทวดาก็ทุกข์ เกิดเป็นรูปพรหม อรูปพรหมก็ทุกข์ ความเกิด เกิดขึ้นทีไร ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที มันไม่มีที่ที่ปลอดภัยที่จะให้จิตหยั่งลง ไปเกิดแล้วมีความสุข ในสังสารวัฏนี้ไม่มีที่ที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง พอเห็นอย่างนี้ มันรู้ โอ้ นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป เรียกว่าเรารู้ทุกข์แล้ว

คำว่าทุกข์ให้รู้ ละเอียดลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่อกหักรักคุดเป็นทุกข์ ให้รู้ ตื้น แรกๆ ดูแค่นั้นไม่เป็นไรหรอก แล้วค่อยดูไปละเอียดๆ จนกระทั่งเราเห็นมีจิตยังมีทุกข์เลย จิตขึ้นสนองรับอารมณ์ก็เป็นทุกข์ จิตไปทรงอยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ในภพในภูมิอันวิเศษวิโสอย่างไร ก็ทุกข์ มีจิตก็มีทุกข์ เพราะฉะนั้นมันไม่มีหรอก จะไปเกิดตรงไหนแล้วมีความสุข ไปเกิดที่ไหนมันก็มีจิตไปเกิด ก็จิตมันเป็นตัวทุกข์ แล้วมันจะไปเกิดที่ไหนได้ นี่เรียกว่าเรารู้ทุกข์

สิ่งเหล่านี้มีอยู่ ธรรมะอย่างนี้มีอยู่ ปกติครูบาอาจารย์ไม่ค่อยสอนพวกเรา แต่หลวงพ่อพยายามบอกพวกเราไว้ก่อนที่มันจะสูญหายไปหมด ทุกวันนี้ครูบาอาจารย์ร่อยหรอเต็มทีแล้ว คนที่เข้าใจถ่องแท้จริงๆ มีนับจำนวน นับนิ้ว นับนิ้วมือ ฉะนั้นอย่างน้อยเราทรงจำไว้ๆ แล้วภาวนาไปเรื่อยๆ เดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ อย่ายอมหยุด อย่าย่ำอยู่กับที่ อย่านอนเล่นอยู่กับที่ๆ บางทีหลวงพ่อก็เคยเป็นเมื่อก่อนนี้

ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ฝึกไป เดี๋ยววันหนึ่งก็จะเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อเอามาบอกเรา ไม่มโน ไม่ได้มโนเอา เรียนมาๆ ทั้งนั้นจากการปฏิบัติ เมื่อไรเห็นจิตเป็นตัวทุกข์ เมื่อนั้นจะรู้เลย ไม่มีภพใดที่วิเศษวิโสที่ไปอยู่แล้วไม่ทุกข์ ไปเป็นพรหม มันก็มีจิตใช่ไหม ก็จิตเป็นตัวทุกข์ มันก็ทุกข์แบบพรหม ฉะนั้นถ้าเราภาวนาถึงจุดหนึ่ง เราจะเห็นจิตนี้คือตัวทุกข์ จะไม่มีที่เกิดอีกต่อไปแล้ว มันพ้นเวียนว่ายตายเกิดไป มันจะรู้ว่าที่สุดของทุกข์ มันอยู่ตรงนี้ ที่สุดของทุกข์ มันก็กลายเป็นธรรม

ค่อยเรียนไป ค่อยฝึกไป เมื่อกี้หลวงพ่อบอกตั้งแต่เริ่มต้น ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ อย่าลืมเนื้อลืมตัว คอยรู้สึกตัวไว้ อะไรที่จะยั่วยวนให้เราลืมตัวเอง เพลาๆ เสียบ้าง กิจกรรมงานบุญ งานกุศลอะไร มันเป็นตัวหลอกล่อคนดีอย่างพวกเรา นี่ยกย่องว่าพวกเราเป็นคนดี เราก็เลยบ้าบุญ กิจกรรมบุญ กิจกรรมกุศลอะไร โอ๊ย หัวปักหัวปำ บางคนก็เที่ยวไปแจกซองกฐิน ซองผ้าป่า แจกแล้วคนเขาก็ด่าเอาบ้างอะไรบ้าง ก็โมโหอีก ไม่ฉลาดเลย ไม่ฉลาด ที่วัดหลวงพ่อเลยไม่มีซอง ไม่เคยแจกซองผ้าป่ากฐินอะไร ไม่มีทั้งนั้น อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่เป็นไร อนุโมทนาเฉยๆ ก็ได้บุญแล้ว ไม่ต้องเสียเงิน

จุดสำคัญที่หลวงพ่ออยากเห็นก็คือลูกศิษย์ปฏิบัติ นั่นคือสิ่งที่อยากเห็น อยากเห็นพวกเราปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม เรารู้ เข้าใจมากขึ้นๆ ความทุกข์มันก็ลดลงๆ แล้ววันหนึ่งใครเขามาถามเราก็บอกเขาได้ ทำอย่างไรจะพ้นทุกข์ อ๋อ ให้รู้ทุกข์สิ รู้ไปเรื่อยๆ จนเห็นความจริงของทุกข์ คือรูปนามกายใจ แล้วมันจะละสมุทัย คือละตัณหา ละความอยากได้อัตโนมัติ สิ้นตัณหาเมื่อไรก็สิ้นทุกข์เมื่อนั้นล่ะ บอกเขา แต่ว่าเราเห็น เราต้องเห็นก่อน

 

เรียนรู้ตัวเอง

มีคนมาเล่าให้ฟัง มีพระมาเรียนที่นี่ล่ะ พระอาคันตุกะ มาเรียนแล้วก็มาบอกหลวงพ่อว่าตอนนี้เป็นเจ้าอาวาส ญาติโยมมาที่วัด ถ้าเขาถามธรรมะแล้วบอกได้ไหม หลวงพ่อ เขาถาม เรารู้อย่างไร เรารู้แค่ไหน เราบอกแค่นั้น อย่าบอกเกิน บอกเกินมันคือหลอกลวงเขา เพราะฉะนั้นเรารู้ ญาติโยมมา เขาอยากได้ธรรมะ เราบอกไปรู้จักทำทาน รักษาศีล นี่ก็ธรรมะทั้งหมดล่ะ รู้จักไหว้พระสวดมนต์ สอนเขาอย่างนี้ไม่ผิดหรอก

ถ้าอุตริถึงขนาดจิตของเธอเป็นอย่างนั้น จิตของเธอเป็นอย่างนี้ หายนะแล้วๆ แล้วมาถามหลวงพ่อว่าสอนได้ไหม หลวงพ่อสอนบอก สอนที่เรารู้ เท่าระดับที่เรารู้ สอนในเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องไหว้พระสวดมนต์อย่างนี้ สอนไปเถอะ เกิดจะมาเที่ยวไปประกาศว่าหลวงพ่อมอบหมายให้ช่วยสอนได้แล้ว คนละโลก คนละเรื่องเลย

คนที่จะช่วยสอนได้ อย่างน้อยต้องเอาตัวรอด ไม่ใช่คนซึ่งยังไม่รู้เรื่องอะไร แต่อย่างคนเขามาถามพวกเราว่าเริ่มต้นปฏิบัติธรรมจะทำอะไรดี เราบอกไปถือศีล รักษาศีลไว้ให้ดี อย่างนี้พวกเราบอกได้ เราอย่าไปบอกว่า โอ้ จิตเป็นอย่างนั้น จิตเป็นอย่างนี้ มันหลอกเขา ที่สำคัญ มันไม่ได้รู้ด้วยจิต แต่มันรู้ด้วยตา ส่วนใหญ่เลย ที่เที่ยวว่ารู้จิตคนโน้น รู้จิตคนนี้ ใช้ดูเอา ดูหน้าดูตาอะไรอย่างนั้นไป ไม่ใช่ ไม่ใช่เจโตปริยญาณ

เจโตปริยญาณ กำหนดรู้จิตผู้อื่นด้วยจิตของตน ไม่ใช่รู้ด้วยตาของตน บางทีไปดูเอาแล้วก็บอก ทายอย่างโน้นอย่างนี้ ให้เขาเลื่อมใส ให้เขาจ่ายเงิน อย่างเมื่อก่อนเอาเขาไปเลี้ยง จนกระทั่งเลี้ยงเขาไม่ไหว เขาทายบอกจิตอย่างนั้นอย่างนี้ ใครเขามาทายจิตเราอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าสนใจ ไม่มีประโยชน์ ประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อเราเห็นจิตของตนเอง ไม่ใช่คนอื่นมาบอกจิตของเรา

แต่อย่างครูบาอาจารย์ เราทำผิด ท่านบอก ตรงนี้ไม่ถูก อันนั้นท่านเห็นจริงๆ แล้ว อย่างครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อเรียนด้วยแต่ละองค์ชั้นเลิศเลย มีอยู่ช่วงหลวงพ่อภาวนาผิด หลวงพ่ออยากรู้ว่ากิเลสมันเกิดตรงไหน เห็นมันผุดขึ้นจากกลางอก หลวงพ่อส่งจิตเข้าไปค้นคว้าหาอยู่ภายใน พอดีขึ้นไปถ้ำผาปล่อง เจอหลวงปู่สิม ท่านเดินออกมาจากกุฏิท่าน มาที่ปากถ้ำ

พอท่านเห็น กราบท่านเสร็จ พอเงยหน้าท่านบอกเลย ผู้รู้ๆ ออกมาอยู่ข้างนอกนี้ จิตไม่ได้อยู่ข้างในนั้นหรอก ท่านแจ่มแจ้งจริง ไม่ต้องมาดูโน่นดูนี่อะไร ท่านรู้ด้วยจิตของท่าน ครูบาอาจารย์แบบนั้นยุคนี้ไม่ค่อยเห็นแล้ว ไม่ค่อยเห็น ฉะนั้นพยายามอย่าเชื่อคนอื่น ให้เชื่อสติปัญญาของตัวเอง เรียนรู้ตัวเองไป มีจุดอ่อนอะไร

อย่างเมื่อวานมีเด็กส่งการบ้าน คนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี คนนั้นมาว่าเรา คนนี้มาว่าเรา บอก โอ๊ย เราเป็นนักปฏิบัติ ใครเขาว่าก็ช่างเขา เราดูตัวเองว่าเรามีข้อบกพร่องให้เขาว่าไหม ถึงจะดี คือดูตัวเอง ไม่ไปดูคนอื่นเขา เขาว่าอย่างโน้น เขาว่าอย่างนี้ ไม่มีใครไม่โดนว่า ไม่มีใครในโลกนี้พ้นจากการนินทา เป็นเรื่องปกติ แต่วิญญูชน เตือนตนด้วยตนเอง เห็นจุดบกพร่องของตัวเอง แล้วจะได้พัฒนาตัวเองขึ้น

ไปเรียนรู้อย่างนี้ แล้วชีวิตมันจะได้ก้าวหน้า ธรรมะมันจะได้ดีขึ้นๆ ทุกข์มันจะน้อยลง แล้ววันหนึ่งจะเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อพูด เข้าใจเมื่อไร จะรู้ว่าที่หลวงพ่อพูดตรงไปตรงมาทั้งสิ้นเลย ไม่มีอะไรเคลือบแฝง โมเม มโนเอาไม่มีหรอก อยู่ที่ว่าพวกเราจะภาวนาไปได้แค่ไหนเท่านั้นเอง

วันนี้เทศน์ให้ฟังพอสมควรแล้ว 2 วันนี้ รู้สึกเทศน์ดุเดือดไปหน่อยหรือเปล่า ยากไปไหม คนที่รู้เรื่องแล้วก็บอกว่าไม่ยาก คนที่รู้เรื่องนิดหน่อยบอกว่ายาก คนที่ไม่รู้เรื่องเลยบอกไม่ยาก

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
9 กรกฎาคม 2566