จะออกจากวัฏสงสารต้องเด็ดเดี่ยวอดทน

ธรรมะ ฟังเท่าไรๆ มันก็ไม่รู้เรื่องหรอก ฟังแล้วก็ต้องลงมือทดลอง ลงมือปฏิบัติเอา เวลาลงมือปฏิบัติก็ต้องเด็ดเดี่ยว ไม่ใช่วันนี้ทำอย่างนี้ อีกวันจะทำอย่างนี้ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จิตใจโลเล มันไม่ได้ผล เวลาทำกรรมฐาน เราพิจารณาว่าอันนี้เหมาะกับเราแล้ว ก็ทุ่มเททำลงไปไม่หยุด ต่อเนื่อง

อย่างหลวงพ่อไปเรียนอานาปานสติจากท่านพ่อลี ไม่ได้เจตนาเรียน ยังเด็ก พ่อพาไปวัด 7 ขวบเอง ท่านก็สอนหายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับ 1 หายใจเข้าพุทออกโธ นับ 2 ยังเด็กแต่รู้สึกแปลกดี ท่านให้นั่งหายใจ ก็หายใจ ทำ ไม่ได้คาดหวังว่าทำแล้วมันจะเป็นอะไร ท่านก็ไม่ได้บอก ท่านบอกให้ทำอย่างนี้ ไม่บอกผลว่าผลจะมีอย่างไร

ตอนนั้นเด็กๆ ภาวนา หายใจเข้าพุทออกโธ นับ 1 นับ 2 ไปเรื่อย ไม่กี่วันจิตก็รวม ทำไมมันรวมง่าย ตอนเด็กๆ จิตใจเรายังไม่ได้ปนเปื้อนความสกปรกในทางโลก จิตใจไม่มีภาระอะไรด้วย ว่างๆ จากการเรียน จากการเล่น เล่น ไม่ใช่ไม่เล่น ว่างๆ เมื่อไรก็หายใจ บางทีไปฟัง เวลาเรียนหนังสือ นั่งรอครูอะไรนี่ นั่งหายใจ

พอจิตมันรวมครั้งแรก มันว่าง มันสว่าง มันมีความสุข ก็ชอบ จากนั้นก็พยายามหายใจเพื่อจะมาสู่จุดที่มันมีความสุข ปรากฏมันมาไม่ได้ ยิ่งพยายาม ยิ่งล้มเหลว ไม่ได้ผล ก็ทำอยู่นานค่อยจับหลักของการฝึกสมาธิ ค่อยจับหลักได้ ถ้าเรามีโลภเจตนา มีความอยาก อยากปฏิบัติโดยเจือด้วยเจตนาที่จะเอาอันโน้น จะเอาอันนี้ เจตนาจะต้องการความสงบอย่างนี้ ขณะที่จิตมีโลภะ ตลอดสายของการปฏิบัติโลภะก็ยังอยู่

กิเลสมันเป็นสหชาตปัจจัยกับกรรม กิเลสทำให้เกิดการกระทำกรรม แต่ว่าเกิดร่วมกัน อยู่ด้วยกัน ฉะนั้นเราจงใจจะนั่งสมาธิแล้วอยากสงบอย่างนี้ จิตมีแต่กิเลส มีแต่ความอยากผลักดัน ก็เริ่มเข้าไปบังคับจิตจะให้จิตสงบ จิตเป็นของที่บังคับไม่ได้ เพราะจิตเป็นอนัตตา ยิ่งตอนออกรู้ออกเห็นอะไรข้างนอก ทีแรกก็ชอบ พอนั่งก็อยากรู้อยากเห็น อยากดูโน่นอยากดูนี่ ค่อยๆ เรียนจากสิ่งที่ผิดนั่นล่ะ

ตรงที่ออกรู้ออกเห็นนั้นเป็นความสงบตื้นๆ เป็นความสงบที่ไม่ลึกซึ้ง ตอนที่เห็นทีแรก จิตมันรวมลงไปลึกเลย สงบ เงียบ เหลือแต่ความรู้สึกตัวอันเดียว พออยากได้ก็ไม่ได้สักที คราวนี้ก็ซน เที่ยวดูโน่นดูนี่ไปเรื่อย พอภาวนาไปๆ มันทำไม่ได้ ไม่ดีอีก เราสั่งให้จิตสงบไม่ได้ แล้วการที่เราออกรู้ออกเห็นอะไรภายนอกนี่ไม่ดี ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย

มันเหมือนเราเป็นยาจก ยากจนมาก ไปเที่ยวบ้านเศรษฐี เราไปดูสวรรค์อย่างนี้ เหมือนคนจนไปดูบ้านคนรวย ไปดูโต๊ะอาหารของเขาอะไรอย่างนี้ ดูแล้วรู้สึกทุเรศตัวเอง ไปดูสมบัติเขาทำไม แล้วก็กลัวผีด้วย เห็นเทวดาได้ มันก็เห็นผีได้ คราวนี้เลยตั้งอกตั้งใจภาวนา ไม่ให้จิตออกนอก ให้จิตอยู่กับตัวเอง แต่ความอยากสงบนั้นมันยังมีเยอะ นั่งแล้วมันก็ไม่ยอมสงบง่ายๆ กว่าจะจับเคล็ดลับได้ ว่าภาวนาไปอย่าหวังผล อยู่กับกรรมฐานของเราไป แป๊บเดียวก็สงบ

ค่อยๆ ฝึก ต่อไปมันก็ชำนาญมากขึ้นๆ ในการฝึกให้จิตมีสมาธิขึ้นมา เรานึกจะทำความสงบเมื่อไร เราก็ทำได้ หลวงพ่อไม่ได้ฝึกในห้องกรรมฐานอะไรทั้งสิ้น ที่บ้านพี่น้องตั้งเยอะแยะ ไม่มีห้องกรรมฐานหรอก ไปเรียนหนังสือ หรือไปทำงาน ขึ้นรถเมล์ไปก็ฝึก ไม่ทอดทิ้งการฝึกจิตใจตัวเอง

พอฝึกจิตมีสมาธิ นึกอยากสงบก็สงบ เราไม่ได้บังคับจิตให้สงบ แต่เรารู้วิธีเพราะจิตมันชำนาญแล้ว มันรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะสงบ เราอยู่กับอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข อยู่กับอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง จิตสงบ จิตมันเหมือนเด็ก ถ้ามันได้ของที่มันชอบใจแล้ว มันก็ไม่ไปซนที่อื่น เราก็รู้จักหาอารมณ์ที่จิตมันชอบมาให้จิตมันอยู่

อย่างหลวงพ่อชอบอานาปานสติ ทำอานาปานสติ จิตมันก็สบายใจ มันก็ไม่หนีไปเที่ยว ได้ความสงบ เกิดความสงบแล้วไม่ออกรู้ออกเห็นข้างนอก รู้สึกไม่มีประโยชน์อะไร ไปเห็นเทวดา ก็เหมือนยาจกไปดูเศรษฐี แล้วกลัวจะไปเห็นผีเห็นอะไรอีก รู้สึกไม่ดีเลย ไม่มีประโยชน์ ก็ทำความรู้สึกตัว รู้แล้วว่าต้องรู้สึกตัว ตอนนั้นยังไม่มีครูบาอาจารย์สอน ท่านพ่อลีท่านสอนอานาปานสติมาเท่านั้นแต่หลวงพ่อรู้ว่าเราต้องรู้สึกตัว ถ้าเราขาดสติ นั่งสมาธิแล้วเคลิ้มขาดสติ มันออกรู้ออกเห็นอะไรข้างนอก ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษ

พอฝึกไปนานๆ ก็อยากให้จิตมันอยู่กับเนื้อกับตัวตลอด ไม่อยากให้มันออกข้างนอก คราวนี้ก็เริ่มบังคับๆ ตั้งสติอย่างแรงเลย เพื่อควบคุมจิตไม่ให้หนีไปไหน บังคับจิต เพิ่มกำลังของสติมากขึ้นๆๆ ในตำราเขาบอกว่าสติยิ่งเยอะยิ่งดี ที่จริงมันจะดีถ้ามันสมดุลกับอินทรีย์ตัวอื่นๆ มันโดดออกไปตัวเดียว ตัวอื่นตามไม่ทันก็ไม่ดีหรอก

ฉะนั้นหลวงพ่อตั้งสติจนแข็งมากเลย แข็งเป๊ะเลย เวลามองอากาศข้างหน้า มองออกมาเห็นเป็นเม็ดๆๆ เลยรู้ อ๋อ อากาศมันเป็นเม็ดๆ พอทำอย่างนั้น ได้ความเหน็ดเหนื่อยมาก ก็อุตส่าห์ปลอบตัวเอง พระพุทธเจ้าบอก “บุคคลจะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร” โหย เราก็เพียร มีสติแก่กล้ารุนแรงมากเลย เครียด เหนื่อย ลำบาก แต่ทน ลำบาก อึดอัด ก็ทน ทนๆๆ เพื่อหวังว่าวันหนึ่งมันจะดี ที่จริงมันคืออัตตกิลมถานุโยค ตอนที่หายใจแล้วก็เพลิน เที่ยวดูสวรรค์ เที่ยวดูอะไรเพลินๆ มันเป็นกามสุขัลลิกานุโยค

เห็นไหม แค่อานาปานสติยังมีเรื่องสุดโต่งตามใจกิเลสไป อยากรู้อยากเห็น ก็ไปรู้ไปเห็น หรือเป็นอัตตกิลมถานุโยค บังคับกดข่มจิตเอาไว้อย่างรุนแรงด้วยกำลังของสติ ดีที่ไม่เป็นบ้าไป ยังมีบุญรักษาอยู่ เลยไม่ถึงขนาดเครียดจนเป็นบ้า พอฝึกไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามันไม่ใช่ เราก็เพ่งจนกระทั่งจิตเคร่งเครียดไปหมดแล้ว ร่างกายก็อึดอัดไปหมดแล้ว แน่นไปหมดเลย มันก็ไม่ได้ผลอะไร

 

 

เพราะฉะนั้นการที่เราส่งจิตออกนอกเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ ย่อหย่อนเกินไป ตามใจกิเลสก็ไม่ได้ผล การที่มานั่งเพ่ง เพ่งอารมณ์กรรมฐานไปเรื่อยๆ จะให้จิตมันอยู่กับที่ จะควบคุมมันให้ได้ จะบังคับมันให้ได้ มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค มันก็ไม่ใช่ทางสายกลาง แต่ตรงไหนล่ะจะเป็นทางสายกลาง ไม่รู้ ไม่รู้ว่าตรงไหนถึงจะกลาง จะทำอย่างไรก็ไม่รู้ ไม่มีครูบาอาจารย์ตอนนั้น ท่านพ่อลีก็สิ้นไปแล้ว ครูบาอาจารย์อื่นอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ หาครูบาอาจารย์ไม่ได้ตอนนั้น

หาไม่ได้ หลวงพ่อก็เลยพากเพียร มีเวลากลางวัน กินข้าวกลางวัน เข้าห้องสมุด ไปอ่านพระไตรปิฎก อ่านตั้งหลายสิบเล่มอยากรู้ว่าจะเริ่มต้นปฏิบัติต่อไปได้อย่างไร นอกจากทำความสงบอยู่เฉยๆ หาทางที่จะเดินต่อ อ่านพระไตรปิฎก อ่านแล้วอ่านอีก อ่านแล้วก็สงสัย เอ เขาแปลกันมาถูกหรือเปล่า เอาพระไตรปิฎกบาลีมาวาง วางเทียบไป ไล่ไปดูทีละคำๆ ไม่ได้เรียนภาษาบาลีอะไรหรอก แต่ว่าดูมันเป็นร่องรอย เป็นเค้าเอาว่าตัวนี้มันมาจากคำว่าอะไร

ในพระไตรปิฎกมีคำอยู่คำหนึ่งที่หลวงพ่อเห็น อาจจะมีหลายคำ แต่มีอยู่คำหนึ่งที่เป็นคำทับศัพท์ คำว่าพระพุทธเจ้า พุทโธ บาลีว่า พุทโธ เราแปลง่ายๆ ว่าพระพุทธเจ้า คือไม่ได้แปล ก็เลยไม่รู้ว่า พุทโธ คืออะไร พระพุทธเจ้าคืออะไร ไม่รู้ พุทโธก็พุทธะใช่ไหม แล้วท่านเป็นพระ ก็เติมพระเข้าไป ท่านเป็นกษัตริย์ก็เติมเจ้าเข้าไป เลยกลายเป็นพระพุทธเจ้า ไปอ่านๆๆ พระไตรปิฎก หาทางปฏิบัติ ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร

สุดท้ายทำอะไรไม่ถูกแล้ว ไปไม่ถูกแล้ว ได้แต่ความสงบ ตอนนั้นทำสมาธิเป็นแล้วล่ะ จิตสงบ จิตตั้งมั่นเด่นดวง เพราะว่าไม่ย่อหย่อนไป ออกไปรู้เห็นอะไรข้างนอก ไม่เพ่งจนเคร่งเครียดเกินไป อยู่ในทางสายกลางแล้ว ไม่รู้จะไปอย่างไรอีก งานพระไตรปิฎกก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เยอะแยะไปหมดธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน จะสตาร์ตตรงไหน ไม่ถูก ไปไม่ถูก

ก็เลยนั่งสมาธิแล้วก็อธิษฐาน ขอให้ได้เจอครูบาอาจารย์ที่จะสอนเราได้ ขออย่างนี้ ขอให้เจอครูบาอาจารย์ที่จะสอนได้ อธิษฐานแล้วก็นั่งสมาธิไป ถึงจุดหนึ่งก็เห็นนิมิตขึ้นมา เห็นพระผู้เฒ่าผอมๆ ผอมมากๆ เลย องค์เล็กๆ เดินมาหายื่นผลไม้มาให้ลูกหนึ่ง ลูกอะไรก็ไม่รู้กลมๆ คล้ายๆ ลูกส้มแต่มันก็ไม่ใช่ จะว่าแอปเปิล มันก็เล็กไป ยื่นมาให้ลูกหนึ่ง แล้วท่านก็บอกว่า “ผลไม้มันจะเปรี้ยวหรือจะหวาน มันเกิดจากเนื้อในของมัน คนเราจะดีหรือจะชั่ว อยู่ที่จิตของตัวเอง” เป็นคำสอนที่เกิดขึ้นในนิมิต เป็นนิมิต เพราะเราอยากเจอครูบาอาจารย์แล้ว

ต่อมาไม่นานก็ไปอ่านหนังสือ เป็นทำเนียบรุ่นหลวงปู่แหวน เหรียญหลวงปู่แหวน วัดสัมพันธวงศ์ เขาสร้างขึ้นมารุ่นหนึ่ง เขาเลยพิมพ์หนังสือขึ้นมา ในหนังสือนั้นมันมีพื้นที่เหลืออยู่หน่อยหนึ่ง แทนที่เขาจะเอาธรรมะหลวงปู่แหวนมาลง เขาไปเอาธรรมะของพระอีกองค์หนึ่งมาลง บอกว่า “จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ อนึ่งธรรมดาของจิตย่อมส่งออกนอก แต่จิตส่งออกนอกแล้ว กระเพื่อมหวั่นไหว เป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว เป็นทุกข์ จิตส่งออกนอกแล้วมีสติอยู่เป็นมรรค ผลที่จิตส่งออกนอกแล้วมีสติอยู่เป็นนิโรธ” ท่อนที่สามบอกว่า “พระอริยเจ้าทั้งหลาย” หมายถึงพระอรหันต์ “พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตไม่ส่งออกนอก มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์ มีวิหารธรรม จบอริยสัจ”

อ่านตรงนี้แล้วมันสะเทือนเข้าถึงใจเลย ลงท้ายก็ชื่อพระรัตนากรวิสุทธิ์ ไม่รู้หรอกใคร อยู่วัดไหนอะไรอย่างนี้ ไม่รู้เลย พอหาไม่เจอไม่รู้ว่าท่านคือใคร จนมีน้องคนหนึ่ง ผ่านมาช่วงหนึ่งแล้วน้องคนนี้เขาก็มาบอก ไปถามพ่อมาแล้ว พ่อเป็นตำรวจ เคยตระเวนที่โน่นที่นี่มาเยอะหลายจังหวัด พ่อบอกว่า คือหลวงปู่ดูลย์ๆ ถามว่าหลวงปู่ดูลย์เป็นใคร บอกเป็นอาจารย์หลวงปู่ฝั้น เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นรุ่นแรกเลย เป็นอาจารย์ของหลวงปู่ฝั้น

พอได้ยินท้อใจเลย หลวงปู่ฝั้นมรณภาพไปแล้ว เผาไปแล้ว ทีนี้อาจารย์ของหลวงปู่ฝั้นคงไม่อยู่แล้วล่ะ คิดอย่างนั้น จนวันหนึ่งน้องคนเก่านี่ล่ะก็ไปถามพ่อมาอีก พ่อบอกยังอยู่ เลยขึ้นรถไฟไปเรียนกับท่าน เห็นท่าน โอ๊ย เหมือนในนิมิตเลย พระผอมๆ องค์เล็กๆ ผู้เฒ่าเหมือนในนิมิตที่เราอธิษฐานว่าขอให้เจอครูบาอาจารย์ที่จะสอนเราได้ ท่านก็สอนให้นิดเดียวล่ะว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” ท่านให้อ่านจิตตนเอง หลวงพ่อก็พยายามมาอ่านจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ

ทีแรกก็เคยชิน ทำสมาธิให้จิตนิ่ง แล้วก็รักษาจิตให้นิ่งอยู่อย่างนั้น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แต่โง่ๆ อยู่อย่างนั้นล่ะ เพราะฉะนั้นจิตผู้รู้ยังมี 2 แบบ จิตผู้รู้บางดวงประกอบด้วยปัญญา บางดวงไม่เจริญปัญญา แล้วจิตผู้รู้ที่ดีต้องเกิดเอง จิตผู้รู้บางอย่างก็จงใจทำให้เกิด มีหลายแบบ อย่างจิตผู้รู้ที่ดี คือจิตผู้รู้ที่มันอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนาให้เกิด แล้วบางทีมันก็เป็นผู้รู้แล้วเฉยๆ อยู่ อันนั้นเอาไว้พักผ่อน บางทีมันเป็นผู้รู้แล้วมันก็ส่งกระแสของสติออกไประลึกรู้กาย ร่างกายเคลื่อนไหว สติระลึกรู้ จิตใจเคลื่อนไหว สติระลึกรู้ จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็นอยู่ อย่างนี้เป็นผู้รู้ที่ดี

ทีแรกหลวงพ่อก็ไปเคยชินทำสมาธิมาเยอะ ก็ฝึกให้จิตมันเป็นผู้รู้อยู่เฉยๆ แล้วขึ้นไปกราบหลวงปู่ดูลย์ ใช้เวลาไป 3 เดือน จิตเป็นผู้รู้แล้ว ไปรายงานท่าน ท่านบอกทำผิดแล้ว จิตมีธรรมชาติคิด นึก ปรุง แต่ง นี่ไปทำจนไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง เฉยๆ อยู่ รู้ตัวอยู่ แต่เฉยๆ ทำผิดแล้ว ไปทำใหม่ ครูบาอาจารย์แต่ก่อนไม่สอนเยอะ สอนคำ 2 คำ เราต้องอดทนทำกันเป็นปีๆ ส่วนใหญ่ กว่าท่านจะสอนประโยคต่อไปบางทีทำตั้งหลายปี

 

 

หลวงพ่อ สมาธิฝึกมาเยอะแล้ว พอท่านบอกว่าจิตมีธรรมชาติคิด นึก ปรุง แต่ง ไปทำจนไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง อันนี้ผิด หลวงพ่อก็เลยปล่อยให้จิตมันทำงาน จิตใจก็ยังรู้เนื้อรู้ตัว แต่ไม่ได้เพ่งให้จิตนิ่ง ให้จิตมันเป็นธรรมชาติธรรมดา เวลาตากระทบรูป จิตก็เกิดสุขเกิดทุกข์ เราก็รู้ทัน ตากระทบรูป จิตเป็นกุศล อกุศล เราก็รู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตมีความสุขความทุกข์ เราก็รู้ทัน จิตเกิดกุศลอกุศล เราก็รู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส จิตเกิดสุขเกิดทุกข์ รู้ทัน จิตเป็นกุศลอกุศล รู้ทัน

จิตมันทำงานทางใจ มันทำงานทางใจโดยที่ไม่ผ่านการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กายก็ได้ ผุดขึ้นทางใจเอง เช่น เรานั่งอยู่ดีๆ เราไม่ได้เจตนาจะคิดถึงคนๆ หนึ่งเลย อยู่ๆ หน้าคนๆ นั้นมันผุดขึ้นมา สัญญามันเบี่ยงหน้านี้ขึ้นมาให้เราเห็น มันเป็นคนที่เราเคยรู้จัก แต่ไม่เจอนานมากแล้ว ผุดขึ้นมา พอสัญญามันผุดภาพของคนนี้ขึ้นมา สังขารมันก็ปรุงต่อเลย คนๆ นี้เคยคุ้นกับเราอย่างนั้นอย่างนี้ ดีกับเรา ร้ายกับเราถ้าดีกับเรา ใจมันก็คิดถึง อยากเจอ ออกไปทางอยากเจออยากได้ ถ้ามันเป็นศัตรูกับเรา ใจมันก็เกิดโทสะ

เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตมันจะปรุงแต่งสุข ทุกข์ ดี ชั่ว บางครั้งมันต้องไปสตาร์ทจากการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย บางครั้งไม่ต้องไปที่ตา หู จมูก ลิ้น กายหรอก ผุดขึ้นทางใจโดยตรงก็มี เป็นวิถี อภิธรรมเขาเรียก วิถีจิต บางทีก็เริ่มจากตา หู จมูก ลิ้น กาย วิถีบางอันขึ้นที่ใจเลย มันผุดขึ้นมา พวกเราเคยไหม อยู่ๆ ก็ปุ๊บอันนี้ขึ้นมา ไม่ได้คิดถึงเลย อยู่ๆ มันผุดขึ้นมาเอง พอขึ้นมา มีอารมณ์ทางใจขึ้นมา เราก็เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศลขึ้นมา ให้เรามีสติรู้ทันอีก

พอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ ทางใจกระทบอารมณ์ ส่วนมากเป็นอารมณ์ในอดีตผุดขึ้นมา แล้วจิตก็เกิดเป็นจิตที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นจิตที่สุขบ้าง ทุกข์บ้าง หลวงพ่อก็ตามรู้ตามเห็นไป จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง เกิดแล้วดับ ตามรู้ตามเห็นซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ

หลวงพ่อมีนิสัยอย่างหนึ่ง เป็นคนอดทน เวลาเรียนอะไรทนมากเลย อย่างทำอานาปานสติ ครูบาอาจารย์ให้ทำก็ทำ จะได้ผล หรือจะไม่ได้ผลก็ไม่เลิก ทำตลอด พอหลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต ดูไม่เลิกเลย ก็เห็นจิตมันเกิดดับอยู่ทั้งวัน จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดี จิตชั่วเกิดแล้วดับ มีแต่จิตที่เกิดแล้วดับ ไม่เห็นมีจิตที่อมตะ มันเห็นซ้ำๆๆ ไปเรื่อย ใช้เวลาไม่นาน สัก 4 เดือน จิตมันก็รวมลงมา มันก็เข้าใจ จิตจริงๆ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก ตัวเรามันไม่มี เป็นความปรุงแต่งเท่านั้นเอง ขึ้นมา ความสำคัญมั่นหมายผิดๆ ขึ้นมา ก็ค่อยๆ ภาวนา คลำเส้นทางมา

ที่เล่ายาวมานี้เพื่อให้พวกเราได้เข้าใจอย่างหนึ่ง ที่หลวงพ่อมานั่งพูดอยู่แจ้วๆ ทุกวันนี้ ผ่านการฝึกตัวเองมาหนักหนาสาหัส ตั้งแต่ 2502 ฝึกมาเรื่อยๆ ไม่เคยหยุดเลย จะล้มลุกคลุกคลานก็ช่างมันสู้ไม่เลิก ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร หยุดอยู่ที่เดิมก็เอา ดีกว่าถอยหลัง ยังไม่รู้จะทำอะไรก็ทำอานาปานสติ ไม่เลิก ไม่ต้องให้ครูบาอาจารย์มาสั่งครั้งที่สอง ท่านพ่อลีสั่งหลวงพ่อครั้งเดียวให้ไปทำอานาปานสติ หลวงพ่อทำมาตลอด หลวงปู่ดูลย์สั่งครั้งเดียวให้ไปดูจิต หลวงพ่อดูตลอด แล้วก็เกิดความรู้ถูกความเข้าใจถูกเป็นลำดับๆ ไป

แล้วพบว่าโลกมันห่างออกไปๆ อย่างพวกเราภาวนาเราก็จะรู้สึกโลกมันห่างๆ ความทุกข์ที่เคยเกิดอย่างรุนแรงก็เกิดทุกข์ได้นิดหน่อย เดี๋ยวก็หายแล้ว ความทุกข์เคยอยู่นานๆ ก็กลายเป็นทุกข์สั้นๆ แป๊บเดียวก็หายแล้ว มันก็จะเห็นพัฒนาการของตัวเอง เคยถูกกิเลสปู้ยี้ปู้ยำ จูงจมูกเราไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็รู้ทันกิเลสได้เยอะขึ้น เรามีอิสรภาพในตัวเองมากขึ้นๆ มีความสุข มีความสงบ อยู่ด้วยตัวเอง ไม่ต้องอาศัยคนอื่น ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมากขึ้นๆ นี่รู้ด้วยตัวเอง

ยังเคยไปกราบเรียนหลวงปู่ดูลย์เลย บอกผมเห็นกิเลสตัวเอง ส่วนไหนละไปแล้ว ส่วนไหนยังไม่ละอะไรนี่ ผมเห็น ท่านบอกว่ามีปัญญา เป็นคนมีปัญญา เห็นกิเลสตัวเองได้ ฉะนั้นถ้าพวกเราเห็นผี เห็นเทวดา ไม่ใช่พวกมีปัญญา เห็นกิเลสตัวเอง หลวงปู่ท่านบอกว่ามีปัญญาถึงจะเห็น

เพราะฉะนั้นอย่าไปเที่ยวรู้เที่ยวเห็นอะไรออกข้างนอก ไม่มีประโยชน์อะไร จะว่าไม่มีประโยชน์เลยมันก็ไม่เชิง มันก็มีเหมือนกันล่ะ อย่างการที่เราไปเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นผี เห็นเปรต เห็นอสุรกาย เห็นอะไรพวกนี้ เห็นเทพ เห็นพรหม ใจมันก็จะน้อมไปทางเชื่อว่าตายแล้วไม่สูญๆ ถ้าตายแล้วสูญ โอ มันไม่ค่อยภาวนาหรอก มันคิดว่าตายแล้วสูญ มันก็ก่อกรรมทำชั่ว บอกหาความสุขให้ชีวิตให้เต็มที่เลย ไม่กลัวชีวิตหลังความตาย แต่พอเราภาวนา เราเห็น โอ สัตว์ในภพภูมิต่างๆ มีอยู่เยอะแยะ มันก็จะรู้ว่าตายแล้วไม่สูญ

แต่ตรงนี้ก็มีอันตราย ก็จะเกิดมิจฉาทิฏฐิว่าจิตเที่ยง จิตนี้พอเราตาย จิตก็ออกจากร่างไปเกิดในร่างใหม่ ในภพภูมิใหม่ มันคิดว่าจิตเที่ยง เพราะฉะนั้นพวกพรหมพวกอะไร บางทีเป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่เราไหว้กันส่งเดช บางทีเราไปไหว้พวกมิจฉาทิฏฐิเข้า เขามีความเห็นว่าเขาเป็นอมตะ อันนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะอะไร เพราะว่ามันเห็น มันระลึกได้ ตายจากชาตินี้แล้วไปเกิดตรงนี้ๆ ต่อๆๆ เลยคิดว่าจิตนี้เที่ยง ก็ต้องค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ ฝึกกว่าจะหายโง่ กว่าจะเห็นว่าจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตที่เที่ยงไม่มีหรอก มีแต่เกิดแล้วดับๆ ไปเรื่อยๆ ค่อยฝึก ค่อยๆ ฝึกไป รู้สึกตัวไว้

 

 

ที่เล่าให้ฟังเพื่อจะบอกว่าของฟรีไม่มี ของบังเอิญไม่มี คำว่าบังเอิญ คำว่าฟลุก คำว่าโชคดี ไม่มีในสารระบบของชาวพุทธ โชคดี โชคร้าย เคราะห์ดี เคราะห์ร้าย ไม่มี เคราะห์ก็เป็นชื่อของดาว โชคก็เป็นเรื่องของกรรม กรรมดีให้ผล เราก็ไม่รู้ว่านี่เป็นผลของกรรมดี เราก็บอกนี่โชคดี เพราะเรามันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ฉะนั้นโชคไม่มี เคราะห์ไม่มี มีแต่กรรมและผลของกรรม

ฉะนั้นเราจะเห็นอย่างไรเวลาเราภาวนา เราจะเห็นกรรมและผลของกรรมอย่างไร หลวงพ่อก็สังเกตเอาที่จิตเรานี้ล่ะ อย่างช่วงไหน ราคะเราแรง พอราคะดับไปแล้ว จิตมันจะฟุ้งซ่าน โอ้ จิตไม่มีความสุข ฌานเสื่อม สมาธิเสื่อม ราคะเกิดขึ้น เราไปเสพกาม จิตเสื่อม เออ แค่นี้ก็มีผลแล้ว มันจะเห็นอย่างนี้ ทำเหตุอย่างนี้ก็มีผลอย่างนี้ ทำเหตุอย่างนี้ก็มีผลอย่างนี้

เราไปฟังธรรมของครูบาอาจารย์ หรือเราไปภาวนา จิตใจเราแช่มชื่นเบิกบาน หลวงพ่อก็เห็น เอ๊ะ คนอื่นเขาก็ใส่บาตร เราไปวัด เราไม่เคยไปสนใจใส่บาตรเลย ไปภาวนาอย่างเดียว ลองไปใส่บ้าง ใส่แล้วใจมันจืด ใส่ไปอย่างนั้นเฉยๆ ครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง วันนั้นไปอยู่วัดท่าน ท่านให้หลวงพ่อภาวนา วันนั้นเห็นหลวงพ่อลุกมาใส่บาตร พอท่านเดินมาถึง ท่าน โอ้ ปราโมทย์ไปใส่บาตรกับเขาด้วย ทำไม จิตมันก็ตอบท่านไปเลยว่า ผมใส่ไปอย่างนั้นล่ะ เป็นกิริยา มันจืด มันไม่มีรสชาติเลยบุญอย่างนี้

ถามว่ามันดีไหม ดี ทำบุญใส่บาตร กระทั่งให้อาหารสัตว์ ให้อาหารหมาขี้เรื้อนข้างถนน มันบุญทั้งนั้นล่ะ แต่บุญมันก็มีขั้นมีตอนมีระดับของมัน บุญไปหล่อพระ มีไหม ก็มี แต่หลวงพ่อทำบุญอย่างนั้นหลวงพ่อจืด มันจะจืด ต้องภาวนา บุญจากการภาวนาเป็นบุญใหญ่ที่สุดเลย มันทำให้จิตใจคึกคักกระปรี้กระเปร่าได้ ส่วนบุญอื่นๆ มันจืดๆ ตอบท่านหน้าตาเฉยเลย มันหลุดออกไป ไม่ได้เจตนา บอกผมใส่เป็นกิริยาไปอย่างนั้นล่ะ ท่านหัวเราะเสียงดังเลยบอก มันต้องอย่างนี้สิๆ องค์นี้ชื่อหลวงพ่อคืนๆ รู้จัก พวกไปวัดด้วยกันรุ่นโบราณ

มันคล้ายๆ เราเคยกินอาหารชั้นดี แล้วเราไปกินอาหารธรรมดาๆ อาหารใกล้ๆ จะบูดอะไรอย่างนี้ ความประทับอกประทับใจไม่เท่ากัน บุญที่ทำกันมันเป็นบุญเล็กๆ น้อยๆ บางทีก็โฆษณาเสียใหญ่เลย ทอดกฐินนี้บุญใหญ่มหาศาล จะได้เจอพระศรีอริยเมตไตรย อะไรต่ออะไร คงไม่ได้เจอหรอก ไม่ได้เจอ ไม่มีบุญบารมีอะไรนักหนาหรอก

ทอดกฐินมันก็แค่สังฆทาน เป็นกาลทาน ดีไหม ดี หล่อพระพุทธรูป ดีไหม ดี แต่จำไว้อย่างหนึ่ง บุญใดประกอบด้วยสติ บุญใดประกอบด้วยปัญญา อันนั้นถึงจะเป็นบุญใหญ่ บุญใดไม่ประกอบด้วยสติ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นบุญเล็กน้อย ถามว่าดีไหม ดี อย่างคน 2 คนทำบุญอย่างเดียวกัน 2 คนนี้ได้บุญไม่เท่ากัน มันมีหลายเงื่อนไข

อย่างเราเห็นหมาขี้เรื้อนอยู่ข้างถนน มันผอมโซเลย มีลูกเล็กๆ อีก คล้ายๆ คนจน มันลูกเยอะ ส่วนหมาตามบ้านเศรษฐี ล้วนแต่ตอนแล้วทั้งนั้น ไม่มีลูก หมาไม่มีคนเลี้ยงลูกเยอะแยะเลย สงสาร ให้อาหารมัน คนหนึ่งให้อาหารด้วยความรู้สึกสงสาร เมตตา อีกคนหนึ่งให้อาหารแล้วก็อธิษฐาน เกิดชาติไหนก็ขออย่าให้เราอดอยากอย่างนี้เลย ขออย่ามาเกิดเป็นหมาอดอยากอย่างนี้เลย เห็นไหมมีคำว่าขอเกิดขึ้นแล้ว อันนั้นลูกศิษย์ชูชก เอะอะก็ขอๆ ขออย่างนั้น ขออย่างนี้ บางคนทำบุญนิดเดียวขอตั้งชั่วโมงหนึ่ง จะได้อะไร มันได้โลภ ได้ความโลภ

ฉะนั้นบุญใดประกอบด้วยสติประกอบด้วยปัญญา เป็นบุญใหญ่ อย่างเราสงเคราะห์พระ ให้อาหารพระ หรือให้อาหารสัตว์เลี้ยง ให้อาหารสัตว์ไม่มีเจ้าของ หวังว่าเขาจะพ้นจากความทุกข์ หวังว่าเขาจะมีความสุข ใจมันเป็นกุศล เราสังเกตไหม อยากให้เขาดี อยากให้เขามีความสุข ไม่ได้อยากให้เรามีความสุข ไม่ได้เอาเข้าตัว

เพราะฉะนั้นบุญจริงๆ มันจะได้เป็นบุญใหญ่ เป็นกุศลขึ้นมาได้ มันต้องเอาออก ไม่ใช่เอาเข้า ถ้าทำเพื่อเอาเข้า มันเล็กน้อย มีบุญไหม มี แต่มีนิดเดียว เพราะไม่ประกอบด้วยสติปัญญา ไม่เป็นไปเพื่อลดละกิเลส แต่เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส ก็จะได้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร แต่ว่ามีความสุขความสบาย ได้อย่างนั้น ที่จะพ้นจากวัฏฏะนั้นเป็นไปไม่ได้ จะพ้นจากวัฏฏะได้ ก็ต้องอาศัยสติอาศัยปัญญานี่ล่ะเป็นเครื่องมือ

เพราะฉะนั้นก็พยายามยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นๆๆ ไป อดทนๆ ไม่อดทนทำไม่ได้หรอก เส้นทางนี้ มันน่าเบื่อ แต่หลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อไม่เคยรู้สึกเบื่อ คล้ายๆ มันเคยภาวนามาจนเคยชินแล้วล่ะ เป็นเวลาที่นานมากๆ มากๆ เพราะฉะนั้นใจมันคิดแต่เรื่องภาวนา ให้ไปยุ่งกับโลก เบื่อที่สุดเลย ฉะนั้นให้มันเด็ดเดี่ยวๆ อดทน ล้มลุกคลุกคลานไม่เป็นไร ล้มแล้วลุกขึ้นมา เดินต่อ ลงไปคลุกฝุ่น ลุกไม่ไหว เราคลานไป อย่าอยู่กับที่ แล้ววันหนึ่งเราก็จะพ้นจากความทุกข์อันมหาศาล ค่อยทุกข์น้อยลงๆ

ครูบาอาจารย์ท่านเคยเปรียบ มันเหมือนคนหลงป่าแล้วป่านี้มืดทึบเลย ไม่เห็นเดือน ไม่เห็นตะวัน มืด พื้นก็มีแต่ทาก ต้นไม้ก็มีแต่หนาม เดินทางไหนก็หนามทิ่มหนามตำอะไรอย่างนี้ ท่านก็บอก วัฏสงสารมันก็อย่างนั้นล่ะ มันทุกข์ทั้งนั้นเลย หันซ้ายก็ทุกข์ หันขวาก็ทุกข์ แต่มันต้องอดทนค่อยๆ คลำทางออกไป ค่อยๆ ถางทางออกไป จากป่ารกทึบ มีแต่เสี้ยนหนาม มันก็จะเข้าสู่ป่าโปร่งมากขึ้น หนามมันก็อยู่ห่างๆ คราวนี้รู้จักหลบ รู้จักหลีก มีทางให้หลบแล้ว ไม่ใช่หันซ้ายหันขวา โดนหมด ตอนอยู่ในป่าทึบ แล้วต่อมาก็ออกมาที่ชายทุ่งได้ ออกมาที่บ้านที่เมืองได้ ท่านเปรียบเทียบอย่างนี้

ครูบาอาจารย์รุ่นเก่า ท่านเป็นคนบ้านนอก เป็นคนชนบท อยู่ป่าอยู่เขา อยู่ทุ่งนา ฉะนั้นตัวอย่างที่ท่านยก มันจะเป็นเรื่องธรรมชาติอย่างนี้ ของเรายุคนี้ไม่รู้จะเทียบกับอะไร เหมือนเราหลุดเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มันวุ่นวาย อย่างเราจะไปซื้อของอะไรสักหน่อย เข้าไปในห้าง ไปเจอเขาเล่นคอนเสิร์ต คนเอะอะโวยวาย หนวกหู จะถอยออกมาก็ไม่มีที่ให้ถอย หูย ลำบาก กว่าจะแทรกตัวออกมาจากกลุ่มคนที่หลงโลก วุ่นวาย เหงื่อตกเลยกว่าจะออกมาได้ นี่เทียบให้คนในเมืองฟัง ครูบาอาจารย์ท่านเทียบคนหลงป่า คนหลงป่ามันก็ชัดเจนดี

อดทน ฉะนั้นอดทน จำเป็น ต้องอดทนอดกลั้น อย่าตามใจกิเลสตัวเอง ถ้าตามใจกิเลสตัวเอง มันมีแต่ต่ำลงๆ แล้วบางคนมันตามใจกิเลสตัวเอง แต่ว่ามันฉลาด มันแก้ตัวให้กิเลส หาเหตุผลว่าอันนี้ดีๆ อันนี้ต้องทำๆ เถลไถลไปเรื่อยๆ อันนั้นแก้ตัวให้กิเลส ลืมไปว่าชีวิตของคนไม่ได้ยั่งยืนอะไร คนที่อายุถึงร้อยปีมีสักกี่คน แล้วอายุมากๆ ร่างกายเสื่อม สมองเสื่อมอะไรอย่างนี้ มันภาวนาลำบาก ตอนที่ยังแข็งแรง รีบภาวนา เหมือนตอนที่แข็งแรงอยู่ รีบหาทางออกจากป่าให้ได้ ป่านี้ก็คือวัฏสงสารนั่นเอง มีเสี้ยนหนามอยู่รอบตัว ก็คือมีความทุกข์ตลอด หันซ้ายก็ทุกข์ หันขวาก็ทุกข์

เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนาอย่างที่หลวงพ่อบอก สอนเราเรื่อยๆ มีสติ รู้สึกกายรู้สึกใจของเราไป มันก็จะพบสภาวะที่รู้ได้ด้วยตัวเอง มันเหมือนเราอยู่ห่างโลกมากขึ้นๆ เราก็ยังอยู่กับโลกเหมือนเดิม แต่ใจเราห่างออกจากโลกมากขึ้นๆ ความทุกข์ที่เคยรุนแรงก็สั้นๆ ไม่รุนแรง เคยนานก็สั้นลง เคยแรงมันก็เบาลง ใจมันมีอิสรภาพมากขึ้นๆ มีความสุขมีความสงบมากขึ้นๆ ยิ่งภาวนาก็ยิ่งเห็นผลดี ยิ่งเห็นผลดีก็ยิ่งมีกำลังใจภาวนา ก็เลยต้องสู้ ไม่ถอย ไม่ต้องบังคับ ไม่มีใครมาสั่ง สู้เอง เพราะเห็นว่ามันดี มันมีคุณมีประโยชน์

พวกเราถ้ายังไม่เห็นว่าการภาวนามีคุณมีประโยชน์ อดทนไว้ก่อน อาศัยศรัทธา เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกอย่างนี้ควรทำ เราควรทำเสีย อย่างนี้ท่านว่าอย่าทำ เราก็อย่าทำเสีย ทีแรกอาศัยศรัทธาอย่างนี้ก่อน พอมีศรัทธาอย่างนี้ ค่อยๆ ฝึกๆ ไปแล้วเราเห็นผลของการปฏิบัติ ต่อไปศรัทธาของเราก็แน่นแฟ้นมากขึ้นๆ เรารู้เลยพระพุทธเจ้าสอนของจริง ธรรมะเป็นของจริง พระสงฆ์มีจริงแน่นอน เพราะเราฝึกตัวเอง เรารู้เลย ว่าพระสงฆ์มีจริง อดทนทำไป อย่าอ่อนข้อให้กิเลสๆ อย่าตามใจมัน สู้ มันถึงจะเป็นลูกพระพุทธเจ้าได้

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
2 กรกฎาคม 2566