จะเข้าพรรษาแล้ว วันพุธนี้เข้าพรรษา พระในวัดก็เปลี่ยนรุ่น พระชั่วคราวรุ่นที่อยู่มาหลายเดือน ก็จะออกไป พระใหม่ๆ จะเข้ามาแทน หมุนเวียนกันไป แบ่งๆ กันเข้ามาเรียน คนโบราณเวลาบวช เขาเรียกบวชเรียน ไม่ใช่บวชเฉยๆ เวลาถาม ได้บวชเรียนหรือยัง ไม่ได้บวชเรียน ก็ไม่ยกลูกสาวให้ เพราะฉะนั้นการบวช ไม่ใช่บวชเฉยๆ บวชแล้วต้องเรียน เรียนอะไร แรกเริ่มเลยที่อยู่กับพระพุทธเจ้า ยุคสมัยพุทธกาล บวชแล้วเรียนกรรมฐาน ไม่ได้เรียนปริยัติ พอรู้วิธีปฏิบัติแล้ว ท่านก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติ ไม่ได้อยู่รวมกับพระพุทธเจ้าเยอะๆ แยกๆ กันไป แต่ละองค์ พระอรหันตสาวก ท่านก็จะมีลูกศิษย์ลูกหาของท่าน แต่ละองค์มีจริตนิสัยแตกต่างกัน ฉะนั้นคนไหนจริตนิสัยเหมาะกับครูบาอาจารย์องค์ไหน ก็จะไปอยู่กับครูบาอาจารย์องค์นั้น
มีคราวหนึ่งพระพุทธเจ้า ท่านอยู่กับพระที่แวดล้อมท่าน แล้วก็จะชี้ให้ดูว่าพระจำนวนมาก 500 องค์อะไรอย่างนี้ เดินจงกรมตามพระสารีบุตรอยู่ ภิกษุเหล่านี้เป็นพวกปัญญากล้า เพราะฉะนั้นชอบพระสารีบุตร มีปัญญามาก อีกกลุ่มหนึ่งเดินตามพระมหาโมคคัลลานะ พระพุทธเจ้าก็ชี้ให้ภิกษุดูว่า เห็นไหม พวกที่ตามพระมหาโมคคัลลานะ พวกนี้เป็นพวกชอบมีฤทธิ์ พวกหนึ่งเดินตามพระมหากัสสปะ พวกนี้ชอบธุดงค์ พวกที่เดินตามพระอนุรุทธ พวกนี้ชอบมีทิพยจักษุ ทิพยจักษุไม่ใช่ว่าเห็นหวยเห็นอะไร ทิพยจักษุจริงๆ คือเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายนี้ มันตายแล้วมันไปเกิดที่ไหน จะรู้การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ พวกที่ชอบฤทธิ์ทางนี้ก็จะไปตามพระอนุรุทธ ท่านเป็นเอตทัคคะทางด้านนี้ บางคนชอบมีความรู้เยอะๆ ชอบพหูสูตรก็ไปตามพระอานนท์
แล้วถามว่าพวกที่นั่งอยู่กับพระพุทธเจ้านี้ล่ะ ต้องการอะไร พวกนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นพระโพธิสัตว์ อยากเป็นพระพุทธเจ้าก็ตามพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเวลาใครจะเลือกกรรมฐานชนิดไหน ชอบแบบไหน ถ้ามีโอกาสเลือก ก็จะไปเลือกอยู่กับครูบาอาจารย์ที่เก่งด้านนั้น แต่มารุ่นหลัง ครูบาอาจารย์ที่เก่ง ท่านไม่ค่อยมีแล้ว ครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญแต่ละด้าน แต่ละด้านจริง มีไม่มาก ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในกลุ่มไล่เลี่ยกัน ใกล้ๆ กัน มีความแตกต่างกันนิดๆ หน่อยๆ เราไม่ค่อยมีทางเลือก ไม่ค่อยมีทางจะเลือก ฉะนั้นทางที่ดีก็ใช้หลักสมัยพุทธกาล เรียนให้รู้วิธีปฏิบัติแล้วก็ไปปฏิบัติเอา
3 เส้นทางเดิน
บางคนชอบสมาธินำปัญญา ก็เรียนวิธีปฏิบัติแบบสมาธินำปัญญาไป บางคนชอบเจริญปัญญาในฌาน ก็ทำสมาธิกับปัญญาควบกัน รู้วิธีทำจะเจริญปัญญาในฌานได้ นอกจากจะได้ฌานเป็นวสีแล้ว ต้องชำนาญในการดูจิต ดูกายไปทำวิปัสสนาในฌานไม่ได้ อย่างพอเข้าฌานไปจริงๆ บางทีร่างกายหายไปเลย ไม่มีกาย ดูจิตได้ก็เดินวิปัสสนาต่อได้ บางคนต้องใช้ปัญญานำสมาธิ มันมี 3 เส้นทางนี้
ใช้สมาธินำปัญญา คือทำฌานให้ได้ก่อน แล้วออกจากฌานมาโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ คือไปพัฒนาปัญญาที่เกิดจากการเห็น ญาณทัสสนะไม่ใช่ปัญญาจากการคิด แต่เป็นปัญญาจากการเห็น เห็นอะไร เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม แล้วก็เข้าใจความจริง ทีแรกก็เห็น เห็นความมีอยู่ของรูปธรรม เห็นความมีอยู่ของนามธรรม ต่อไปก็เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมทั้งหลาย นามธรรมทั้งหลาย พอเจริญปัญญาไปช่วงหนึ่ง จิตเริ่มฟุ้งซ่าน ก็กลับมาทำสมาธิใหม่ เข้าฌาน ออกจากฌานแล้วก็มาเจริญปัญญาต่อ อันนี้สำหรับคนที่ได้ฌาน ได้ระดับหนึ่ง
ส่วนพวกสมาธิกับปัญญาควบกัน ต้องชำนาญ 2 อย่าง ชำนาญในฌานจนเป็นวสี แล้วก็ชำนาญในการดูจิต เพราะเวลาจะเดินปัญญาในฌาน เราดูความเกิดดับขององค์ฌาน เช่น ปีติเกิดแล้วปีติก็ดับ สุขเกิดแล้วสุขก็ดับ อุเบกขาเกิด อุเบกขาดับ วิตก วิจารเกิด วิตก วิจารก็ดับ จะดูองค์ฌาน มันเป็นนามธรรมล้วนๆ เป็นนามธรรม แต่คนที่ไปเดินปัญญาในฌานได้ ต้องได้ฌานที่ชำนาญจนเป็นวสี มีวสี 4 อย่าง ชำนาญในการเข้าสมาธิ นึกจะเข้าเมื่อไรก็เข้าได้เลย ชำนาญในการทรงอยู่ในสมาธิ อยากทรงอยู่ก็ทรง ชำนาญในการเจริญปัญญาในสมาธิ แล้วก็ชำนาญในการออกจากสมาธิ
ตัวนี้ ข้อสุดท้ายนี้เข้าใจยาก ไม่ชำนาญแล้วออกได้ไหม ออกได้ เข้าฌานไปอย่างไรมันก็ออก แต่ทำไมต้องมีคำว่า “ชำนาญ” ชำนาญนี้ ถึงเวลาสมควรจะออกจากสมาธิก็ออกมา ไม่ได้ไปติดรสของสมาธิอยู่ แล้วก็ติดอารมณ์ของสมาธิ ติดอารมณ์ของฌาน ออกมาอยู่กับโลกข้างนอกนี้ เวลาทรงฌานอยู่ จิตก็อยู่ใน รูปาวจร อรูปาวจร ออกมาข้างนอกนี้ ไม่ได้ทรงอารมณ์ตัวนั้นออกมา จิตอยู่ในกามาวจรได้ เข้าออกๆ ได้ชำนิชำนาญ แล้วก็ชำนาญในการดูจิต ก็จะเห็นสภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นนามธรรม หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเกิดดับไป
ส่วนพวกปัญญานำสมาธิ ตรงนี้ต้องระมัดระวังนิดหนึ่ง บางคนมักง่าย คิดว่าใช้ปัญญานำสมาธิ ไม่ต้องทำสมาธิ ต้องทำ แต่ทำสมาธิเบื้องต้นระดับขณิกสมาธิ ใช้กำลังของขณิกสมาธิ มาเรียนรู้รูปนาม แล้วพอเรียนรู้ไปถึงจุดหนึ่ง จิตมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิโดยอัตโนมัติ เข้าไปเอง แล้วตอนที่เกิดอริยมรรค อริยผล ทุกองค์ จิตอยู่ในอัปปนาสมาธิทุกองค์ทุกท่าน หลวงพ่อดูพวกเรา คนรุ่นนี้ ให้ไปนั่งเข้าฌานมันเข้าไม่ไหว อย่าว่าแต่โยมเลย พระที่เข้าฌานได้ก็เหลือน้อยเต็มที ไม่ค่อยมีหรอก ส่วนมากก็นั่งสมาธิ ก็เคลิ้มง่อกแง่กๆ ไป ไม่ก็นั่งเพ่งจนเคร่งเครียดไป คนรุ่นหลังทำสมาธิไม่ค่อยเป็น เวลาจะทำสมาธิ มันกลายเป็นมิจฉาสมาธิเสียหมดเลย
เมื่อวานก็มีนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งมา ตามพ่อมา พ่อก็เป็นหมอ เคยฝึกกรรมฐานตั้งแต่ 7 ขวบ แล้วฝึกกำหนด ก็คอเคล็ด ปวดคอทั้งวันทั้งคืน ก็อดทน บอก “จะล่วงทุกข์ด้วยความเพียร” มันทุกข์ๆ หลวงพ่อก็บอกว่า “โอ๊ย สมาธิมันผิด มันเป็นมิจฉาสมาธิ กำหนดไปเรื่อยๆ ให้มีสติ ฝึกสติไม่ใช่ฝึกเพ่งให้จิตนิ่งๆ” ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันพฤติกรรมของจิต หรือรู้ทันความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิต รู้ 2 อย่างนี้ อันใดก็ได้ เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำไป จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน ให้รู้ ตัวที่รู้นั้นเรียกว่าสติ สติเป็นตัวไปรู้อารมณ์
ให้ฝึกเอาสติ ไม่ใช่ฝึกบังคับจิตตัวเองจนเครียด เครียดมากๆ ก็ออกมาทางร่างกาย ร่างกายก็เจ็บปวด ให้ทำแป๊บเดียว บอก โอ๊ย ที่เจ็บคอมากี่ปี 22 ปี หาย นี้ดียังไม่เพ่งจนกล้ามเนื้ออักเสบ อย่างนั้นเดินจิตถูกก็ยังไม่หาย ต้องไปรักษาทางกายภาพอีก แล้วเพ่งมากๆ มันเครียด เครียดแล้วก็ เครียดมากๆ มันก็ไม่ดี
คนรุ่นเรานี้เป็นโรคซึมเศร้า โรคอะไรต่ออะไรนี้เยอะมากเลย เยอะจริงๆ คนแต่ก่อนไม่ค่อยเป็นหรอก คนรุ่นนี้มันเต็มไปด้วยความเครียด อยู่ดีกินดีกว่าคนโบราณ แต่เครียดมากเหลือเกิน คนแต่ก่อนอยู่ในครอบครัวใหญ่ มีอะไรก็ยังปรับทุกข์กันได้ คุยกันได้ มีงานก็ช่วยกันทำ ได้ผลผลิตก็เป็นผลผลิตร่วมกัน แบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ มีชีวิตที่ไม่ได้ว้าเหว่ คนรุ่นนี้มีชีวิตที่ว้าเหว่
ตอนหลวงพ่อเกิด คนสัก 20 ล้าน ไม่รู้สึกว้าเหว่ ผู้คนน้อย กลางคืน 2 ทุ่มนี่กรุงเทพฯ เงียบแล้ว เดี๋ยวนี้มีคนจะ 70 ล้านแล้ว พวกเรารู้จักคนตั้งเยอะแยะ กลับเงียบเหงาว้าเหว่ แล้วจะซึมเศร้า กลุ้มใจขึ้นมาก็ไม่รู้จะพูดกับใคร เมื่อก่อนมีพระเยอะ กลุ้มใจก็ไปเล่าให้พระฟัง เดี๋ยวนี้พระก็กลุ้มใจเหมือนกัน จะหาข้าวกินได้อย่างไร บิณฑบาตไม่พอฉันแล้ว จะทำอย่างไรดี พระก็เครียด ที่จริงพระก็มีเรื่องเครียดเยอะแยะเลย ที่โยมนึกไม่ถึง อย่างเวลากามราคะเกิดนี่เครียด ถ้าเป็นพระดี
ถ้าพระไม่ดีมันไม่เครียดหรอก ก็ละเมิดพระวินัยไป ถ้าพระดีนี่เครียดแทบจะเอาหัวโขกข้างฝาเลย มันเครียดจัด อาหารการกิน ของขบฉัน ชอบอย่างนี้ บิณฑบาตทีไรก็ได้อย่างนี้ ได้คนละอย่าง ของชอบไม่เคยได้ฉันเลย ได้ฉันแต่ของไม่ชอบ มันก็เครียด เคยนอนสบาย อากาศร้อนๆ ก็มีพัดลม มีแอร์ เป็นพระนอนเหงื่อท่วมตัว นอนหลับๆ ตื่นๆ เวลาหน้าหนาว เป็นโยมก็ห่มผ้าสบายไป บางคนเปิดแอร์ด้วยห่มผ้าด้วย เปิดแอร์เพราะกลัวร้อน ห่มผ้าเพราะกลัวหนาว ไปพร้อมๆ กัน พอพระหรือ หนาว หนาวก็หนาวจริงๆ ผ้าที่จะใช้อะไรไม่ค่อยจะมีเท่าไรหรอก หนาว อย่างพระนี่เครียดเยอะ
ไม่ใช่เป็นพระนี่เป็นง่ายนะ แค่เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ถ้าไม่เด็ดเดี่ยว ไม่กล้าเสียสละ รักตัวกลัวตาย ไม่ได้กินหรอก เป็นโยมง่ายกว่าเยอะเลย โยมรุ่นนี้ยังเป็นโรคซึมเศร้า โรคเครียดอะไรนี้มากมายเหลือเกิน กลุ้มใจก็ไม่รู้จะไปพูดกับใคร พูดกับนกแก้ว พูดกับหมา พูดกับแมว วันๆ ไม่เจอมนุษย์ คนเยอะแต่ไม่มีคนที่เราพูดด้วยได้ ชีวิตย่ำแย่ ชีวิตแบบนี้มันจะไปนั่งเข้าฌานอะไร มันไม่ใช่เรื่องง่ายหรอก มีแต่เรื่องฟุ้งซ่านทั้งวันเลย กลุ้มใจทั้งวันเลย
ปัญญานำสมาธิ
ก็ต้องมีสัมมาสมาธิในเบื้องต้น
อย่างเราต้องใช้วิธีเอาปัญญานำ ต้องจำ ปัญญามีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด เพราะฉะนั้นถึงเราจะใช้สายปัญญานำสมาธิ ก็หมายถึงว่าเราต้องมีสัมมาสมาธิในเบื้องต้น คือขณิกสมาธิเสียก่อน พอมีขณิกสมาธิเป็นขณะๆ ถี่ยิบขึ้นมา จิตจะมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นเด่นดวงแล้ว คราวนี้มันเดินปัญญาได้แล้ว ก็พิจารณาลงในร่างกาย หรือถนัดพิจารณาเวทนา ก็ดูเวทนาไป ถนัดดูจิตก็ดูจิตไป อันใดอันหนึ่งก็ได้ จะกายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ หรือจะดูธรรมที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศลก็ได้ แล้วแต่ความถนัด
ดูไปไม่นานจิตก็หมดแรง เพราะสมาธิที่ทำมันไม่แข็งแรงเท่าไรหรอก มันเป็นสมาธิแบบอะลุ้มอล่วย ก็ต้องกลับมาทำความสงบใหม่ กลับมาอยู่กับกรรมฐาน แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป อย่าน้อมจิตเข้าหาความสงบ ถ้าน้อมจิตเข้าหาความสงบเมื่อไร มันจะเข้ามิจฉาสมาธิทันทีเลย จะเซื่องซึมไปเลย หรือไม่ก็เครียดไปเลย เพราะฉะนั้นอย่างพวกเรา มันเป็นสายปัญญานำสมาธิ เพราะว่าสภาพสังคม สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเรา มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้แล้ว สังคมทุกวันนี้ ไม่ได้ทำมาหากินด้วยกำลังร่างกายแล้ว มันใช้สมอง ใช้ความคิดไปทำงาน เพราะฉะนั้นจิตใจมันจะฟุ้งซ่านเยอะ ไปให้นั่งสมาธิให้สงบ มันไม่สงบง่ายหรอก
เราก็ทำกรรมฐานในสิ่งที่เราทำได้ คือทำกรรมฐานอันใดอันหนึ่งก็ได้ อะไรก็ได้ที่เราถนัด ยกเว้นอะไรที่ทำให้กิเลสรุนแรง ก็อย่าไปทำ อย่างบอกดูรูปโป๊แล้วก็จิตมีความสุข มีสมาธิ อันนั้นสมาธิออกข้างนอก ไม่ดี ฉะนั้นทำสมาธิเนื่องด้วยกาย เนื่องด้วยใจของตัวเองไว้ เช่น หายใจเข้า หายใจออก เนื่องอยู่ด้วยกาย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง นี่เป็นกรรมฐานที่เนื่องด้วยจิต ดูท้องพอง ดูท้องยุบ เป็นกรรมฐานที่เนื่องด้วยกาย ดูสุขทุกข์ในใจ ดูสุขทุกข์ในกาย นี้เป็นกรรมฐานที่เนื่องด้วยเวทนา เป็นนามธรรม ใช้อันใดอันหนึ่งก็ได้
แต่ถ้าเราชำนาญในฌาน เราใช้จิตนั่นล่ะเป็นวิหารธรรม เดินปัญญาก็ดูเข้าไปที่จิตเลย เข้าฌานไปก็ไปดูจิตเอา ออกจากฌานก็ดูจิตต่อ อย่างนี้ทำได้ แล้วเวลาต้องการพักก็ดูจิต มันมีจิตอยู่ 2 ชนิดที่ใช้ทำสมถะได้ง่าย คือจิตที่เพ่งความว่าง กับจิตที่เพ่งความไม่มีอะไรเลย มันมีจิต 2 ดวง ถ้าเราต้องการทำสมถะ น้อมจิต น้อมเข้าไป แต่ต้องออกเป็น เข้าไปแล้วออกไม่เป็น ไปอยู่หลายชั่วโมง เวลาจะออกก็หายใจให้แรงขึ้น กระตุ้น ต้องมีวสีในการออก เข้าไปแล้วออกยาก
พวกเราส่วนใหญ่หลวงพ่อแนะนำไปทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เคล็ดลับมันอยู่ที่ว่า ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งแล้ว เคล็ดลับอยู่ที่รู้ทันจิตตนเอง เช่น เราหายใจเข้า หายใจออก รู้สึกตัวไปเรื่อยๆ จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน หรือเราบริกรรมพุทโธๆๆ ไป บริกรรมอย่างอื่นก็ได้ อะไรก็ได้ ก.เอ๋ย ก.ไก่ ข.ไข่อยู่ในเล้า ยังได้เลย บริกรรมชื่อแฟนก็ได้ เคยมีพระองค์หนึ่ง หลวงพ่อพุธท่านให้บริกรรมพุทโธ จิตมันพุทโธอยู่ประเดี๋ยวเดียว มันเบื่อ มันแอบไปบริกรรมชื่อแฟนท่าน แล้วก็ตกใจมาถามหลวงพ่อพุธว่าบาปไหม ท่านบอกบริกรรมไปเลย มันเป็นเหยื่อตกปลา ปลามันชอบกินเหยื่อชนิดนี้ ให้มันกินไป ท่านก็เลยไปท่องชื่อแฟนท่านไปเรื่อยๆ ให้จิตรวม เข้าสมาธิได้
รู้ทันจิตตนเอง
ไม่ต้องคิดว่าทำอย่างไรจะถูก
ฉะนั้นเราทำกรรมฐานอะไรก็ได้ ดูท้องพองยุบก็ได้ เคล็ดลับมันอยู่ที่ ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร ต้องคอยรู้ทันจิตตนเอง อย่าเฝ้าอยู่ที่จิต อย่าจ้องจิต ให้จิตมันทำงานขึ้นมาแล้วค่อยรู้เอา เช่น เราหายใจอยู่ หรือเราดูท้องพองยุบอยู่ แล้วจิตมันเครียดขึ้นมา รู้ว่าจิตมันเครียด จิตมันหลงไปคิด รู้ว่าหลงไปคิด ที่มันเครียดเพราะมันเพ่ง เพ่ง เมื่อวานหลวงพ่อก็บอกเด็กนั้น นักศึกษาแพทย์นั้น บอกให้ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วสังเกตจิตใจตนเอง จิตใจเราจะทำสิ่ง 2 สิ่ง คือทำกรรมฐานแล้วก็ทิ้งกรรมฐาน หนีไปคิดเรื่องอื่น นี่ข้อที่ 1 อันที่ 2 เพ่งถลำลงไปจ้องอารมณ์กรรมฐาน แบบเอาเป็นเอาตาย นี่เป็นการผิดพลาดแบบที่ 2 แบบที่หลงไปนั้น จิตตามกิเลสไป เรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยค แบบที่นั่งเพ่งกรรมฐาน ร่างกายก็เจ็บปวด จิตใจก็เคร่งเครียด อันนั้นอัตตกิลมถานุโยค
เด็กนั้นก็ถามหลวงพ่อ แล้วทำอย่างไรถึงจะถูก หลวงพ่อก็บอกตรงไปตรงมา ทำอะไรก็ผิด ให้รู้สิ่งที่ผิด เมื่อไรไม่ผิด เมื่อนั้นถูกเอง เมื่อไรอยากทำให้ถูก เมื่อนั้นอยาก มีความอยาก คือมีตัณหาแล้วมองไม่เห็น การปฏิบัติล้มเหลวแล้ว เรียกว่าไม่มีสติแล้ว สติเป็นตัวรู้ทัน ถ้าตัณหาเกิด แล้วยังไม่รู้เลย ก็เรียกว่าไม่มีสติ ไม่ได้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้นที่ถูกไม่ต้องทำ เพราะไม่มีใครทำได้ ให้รู้ตรงที่ผิด เมื่อไรไม่ผิด เมื่อนั้นถูกเองอัตโนมัติ
เด็กนี้ได้ยินหลวงพ่อบอกอย่างนี้ ฝึกผิดมา 22 ปี จนคอเคล็ด พอบอกไม่ต้องทำ แต่ว่ารู้ทัน คำว่าไม่ต้องทำ ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย ไม่ทำอะไรเลย แล้วบรรลุมรรคผล หมาก็บรรลุไปแล้ว แต่สิ่งที่ทำ คือมีสติคอยรู้เท่าทันจิตใจตนเองไว้ ไม่ทำคือไม่ไปแทรกแซง ไม่บังคับกาย ไม่บังคับจิต ที่เรียกว่าไม่ทำ คือไม่บังคับกาย ไม่บังคับจิต สิ่งที่ทำก็คือมีสติคอยรู้เท่าทันจิตใจตนเองไว้ พอบอกอย่างนี้ จิต จากเด็กที่เพ่งมา 22 ปี มันก็หลุดออกมาเป็นผู้รู้ จิตก็เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา บอกนี่ล่ะคือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้อง พอบอกอย่างนี้ปุ๊บ ก็กลับไปจ้องแล้ว เอ๊ะ อยู่ตรงไหนๆ เพ่งอีกแล้ว บอกเห็นไหม หาอีกแล้ว อยากได้จิตที่อยู่ในทางสายกลาง
จิตที่อยู่ในทางสายกลาง ก็คือจิตผู้รู้นั่นล่ะ อยากได้ อยากได้ไม่ได้ อยากได้จะหาไม่ได้ ไม่เจอหรอก เพราะในขณะนั้นจิตมีโลภะ จิตมีโลภะ จิตไม่มีสติ จิตไม่มีสติ จิตก็ไม่มีสัมมาสมาธิ จิตที่เป็นผู้รู้ มีทั้งสติ มีทั้งสัมมาสมาธิ ฉะนั้นจับหลักให้แม่น ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตนเอง ไม่ต้องคิดว่าทำอย่างไรจะถูก ทำอะไรก็ผิดทั้งนั้น ไม่ต้องทำอะไร ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป จิตหลงไปคิด รู้ทัน จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา จิตถลำไปเพ่ง รู้ทัน มันก็จะคลายการเพ่ง แล้วก็ตั้งมั่นขึ้นมา ทีแรกก็จะตั้งได้ชั่วขณะเดียว แวบเดียว เพราะมันเป็นขณิกสมาธิ ก็ทำอีก อย่าไปอยากได้ เดี๋ยวบางคนพอจิตเป็นผู้รู้ขึ้นมา อุ๊ย อยากเป็นผู้รู้อีก
อยากเป็นผู้รู้ทำอย่างไรมันก็ไม่เป็นหรอก เพราะว่าขณะนั้นตัณหามันเกิด กิเลสมันเกิด สติไม่มี ก็ทำกรรมฐานของเราไปเรื่อยๆ จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไปเพ่ง รู้ทัน ทำตัวนี้ให้เยอะๆ แต่เดิมนานๆ ถึงจะเกิดจิตรู้ขึ้นมาทีหนึ่ง พอฝึกไปเรื่อยๆ จิตรู้ก็เกิดถี่ขึ้นๆ เวลาที่จิตรู้มันเกิดถี่มากๆ ขึ้นมา เราจะมีความรู้สึก จิตใจมันมีเรี่ยวมีแรง มันจะรู้สึกอย่างนี้ จิตมันมีกำลังขึ้นมา ที่หลวงพ่อบอกว่าจิตมีกำลังแล้ว ให้เดินปัญญาได้แล้วอย่างนี้ อันนั้นก็อาศัยการที่เรามีสมาธิเป็นขณะๆๆ แต่มันถี่ๆ จิตหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้อย่างนี้ ต่อไปจิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา
โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ
ให้เกิดปัญญาจากการเห็นความจริง
พอจิตมันตั้งมั่นแล้ว ก็โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ คือให้เกิดปัญญาจากการเห็นความจริง ก็จะเห็นลงไปในกาย สติระลึกรู้กายด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้เวทนา คือสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่เป็นสมาธินั่นเอง สัมมาสมาธิ ก็จะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ เห็นความจริงของเวทนา สติระลึกรู้สังขาร คือกุศลอกุศลทั้งหลายแหล่ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของกุศลอกุศลทั้งหลาย ถ้าจิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้จิต ก็จะเห็นว่าจิตผู้รู้ หรือจิตผู้คิด หรือจิตผู้เพ่ง หรือจิตผู้ไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ตัวนี้มันละเอียด ดูยากหน่อย ก็อย่าเพิ่งไปดูมัน ไม่จำเป็น เดี๋ยวมันก็ดูได้ทีหลัง
เพราะฉะนั้นทำกรรมฐาน แล้วก็จิตหลงไปแล้วรู้ จิตไปเพ่งแล้วรู้ ทำมากๆ จิตจะตั้งมั่นเด่นดวงมีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา พอจิตมีกำลังแล้ว ก็โน้มน้อมจิตไปเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ ถนัดดูรูป ก็เรียนรู้ความจริงของรูปก่อน ถนัดรู้เวทนา ก็เรียนรู้ความจริงของเวทนาก่อน ถนัดรู้จิตที่เป็นกุศลอกุศล ก็เรียนตัวนี้ก่อน อย่างเราขี้โมโห เราก็ดูจิตโกรธ จิตไม่โกรธ จิตโกรธ จิตไม่โกรธ เกิดดับสลับไปเรื่อยๆ อย่างนี้ก็คือการเจริญปัญญา ไม่ยากหรอก พอเราดูไปพักหนึ่ง จิตหมดแรง จิตหมดแรงกลับมาทำกรรมฐานใหม่ หายใจเข้าพุทออกโธ หรือดูท้องพองยุบ หรือขยับมือ อะไรก็ได้ เดินจงกรม อะไรก็ได้ เคล็ดลับอยู่ที่ ทำกรรมฐานแล้วรู้ทันจิตตัวเองให้ได้ แล้วเราจะได้สมาธิที่ดี
ทำไมต้องรู้ทันจิต แล้วถึงได้สมาธิที่ดี ตัวที่มีสมาธิ มันก็คือตัวจิตนั่นล่ะ บทเรียนที่ทำให้จิตมีสมาธิ เรียกว่าจิตตสิกขา ไม่ได้ไปเรียนเรื่องอื่น แต่เรียนเรื่องจิต ฉะนั้นบางคนบอก โอ๊ย ดูจิตไม่ได้ ต้องดูกายก่อน ก็ถูก ถูกระดับหนึ่ง ดูจิตไม่ได้ต้องดูกายก่อน แต่ก่อนจะดูกายได้ ต้องดูจิตเป็น อย่างจิตมันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว มันถึงไปดูกายได้ จะดูเวทนาก็ต้องมีจิตตั้งมั่นไปดูเวทนา จะดูกุศลอกุศล ต้องมีจิตตั้งมั่นไปดูกุศลอกุศล จะดูจิตเกิดดับทางทวารทั้ง 6 ก็ต้องมีจิตที่ตั้งมั่น
ฉะนั้นการฝึกให้จิตตั้งมั่นนั่นล่ะ เป็นบทเรียนชื่อจิตตสิกขา ถ้าเราไม่ฝึกตัวนี้ให้ดี เราจะได้มิจฉาสมาธิ อาการของมิจฉาสมาธิ บางทีก็เห็นโน่นเห็นนี่ไป ระลึกชาติ เห็นเทวดา เห็นผีเห็นสางอะไรต่ออะไร เยอะแยะไปหมด รู้โน่นรู้นี่ รู้อดีต รู้อนาคต รู้ถูกบ้าง รู้ผิดบ้างตามกิเลส ตราบใดที่ยังมีกิเลส สิ่งที่รู้เชื่อไม่ได้เลย เชื่อไม่ได้หรอก กิเลสมันหลอกเอา อย่าไปเชื่อมัน เสียเวลา ฉะนั้นทำสมาธิให้ถูกต้องเสียก่อน ด้วยการเรียนรู้จิตตนเอง เรียกว่ามีจิตตสิกขา เรียนรู้จิตไว้ จิตไหลไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้
หัดรู้อย่างนี้เรื่อยๆ ทำกรรมฐานไป จิตไหลไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้ ในที่สุดจิตจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นเด่นดวง ก็คือจิตมีสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา เห็นไหม เราจะเจริญปัญญาด้วยการดูกายก็ได้ ดูเวทนาก็ได้ ดูจิตก็ได้ เจริญธัมมานุปัสสนาก็ได้ แล้วแต่ความถนัด อะไรก็ได้ แต่หนีไปพ้นสติปัฏฐาน 4 นี้หรอก กระทั่งพระพุทธเจ้า บางคนเรียนปริยัติมาก เลยบอกพวกเราต้องทำวิปัสสนา พระพุทธเจ้าไม่ต้องทำวิปัสสนา พระพุทธเจ้าคิดเอาก็เข้าใจธรรมะ เข้าใจผิดแล้ว พระพุทธเจ้าท่านเจริญธัมมานุปัสสนา แล้วเป็นธัมมานุปัสสนาที่สูงที่สุดเลย คือสัจจบรรพ
ท่านดูปฏิจจสมุปบาท ดูอริยสัจ ไม่ใช่คิด คือท่านเห็น เพราะพระพุทธเจ้าท่านบอกแล้ว สติปัฏฐานเป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น เพราะฉะนั้นที่พระพุทธเจ้าบริสุทธิ์หลุดพ้นมาได้ ก็เพราะทำสติปัฏฐานนั่นล่ะ แต่ท่านทำระดับปรมาจารย์ ท่านลงเข้าไปเจาะเข้าไปที่สัจจบรรพเลย พวกเราดูกายไป ดูเวทนาไป ดูจิตไป แล้ววันหนึ่งข้างหน้า อินทรีย์แก่กล้าแล้ว มันถึงจะขึ้นไปดูอริยสัจได้ ไม่ใช่คิด ถ้าคิดอริยสัจ ล้มเหลวแล้ว หรือคิดธรรมะนี่ ล้มเหลวแล้ว ธรรมะรู้ไม่ได้ด้วยการคิด ถ้าคิดเอาไม่ใช่ญาณทัสสนะ ทัสสนะคือเห็น ญาณทัสสนะคือมีปัญญาที่เกิดจากการเห็นเอา
ฉะนั้นพวกเราต้องมีจิตที่ตั้งมั่น แล้วก็ พอจิตเราตั้งมั่นมีเรี่ยวมีแรงแล้ว อย่าอยู่เฉย ให้เดินปัญญา ถ้าจิตมันตั้งมั่นลึกนิ่งมาก ให้พิจารณากายไปเลย ให้คิดเรื่องกายไปเลย แต่ถ้าจิตมันตั้งมั่น แต่ไม่ได้ลึก ไม่ได้แข็งทื่ออยู่ ให้รู้สึกกาย ไม่เหมือนกัน ให้คิดพิจารณา ตรงนั้นยังไม่ได้เดินปัญญาจริง ตรงนั้นเป็นอุบายเบื้องต้น เพื่อให้จิตไม่ติดเฉย ถ้าจิตเราไม่ได้ติดเฉย รู้สึกลงไป รู้สึก รู้สึกเดี๋ยวนี้เลย รู้สึกเลย มันไม่มีเราตรงไหนเลย อย่างพวกเราหัด บางคนแปรงฟันอยู่ โอ๊ย ตัวนี้ไม่ใช่เรา ถ้าภาวนาชำนาญ มันเห็นไอ้นี่ไม่ใช่เรา โลกทั้งโลกมันก็ไม่ใช่เรา มันเห็นอย่างนั้น มันเห็นไม่ใช่คิด สายที่ใช้ปัญญานำสมาธิ ต้องทำอย่างนี้
กรรมฐานที่เหมาะกับคนเมือง
เบื้องต้นดูจิตให้เกิดสมาธิ
เบื้องปลายดูจิตให้เกิดปัญญา
บางคนเข้าใจผิดว่าปัญญานำสมาธิ คือไปเรียนปริยัติเยอะๆ แล้วสมาธิจะเกิด ไม่เกิดหรอก เกิดก็เกิดมิจฉาสมาธิ หรือบางคนบอก คิดพิจารณาไปเรื่อยๆ คิดๆๆ ไป เดี๋ยวจิตเกิดสมาธิเอง คิดไปเรื่อยๆ มันคิดลงที่กายนี่ จิตมันเคลื่อนออก เพราะฉะนั้นเวลาสมาธิเกิด ก็สมาธิอยู่ข้างนอกอีก ร่างกายที่เราดู สมมติเราไปดูหัวเข่า หัวเข่าเป็นของข้างนอก จิตมันเคลื่อนไปที่หัวเข่า เพราะฉะนั้นไม่ได้ผลหรอก ฉะนั้นต้องฝึกจิตให้ดีก่อน ให้จิตตั้งมั่นจริงๆ ก่อน อันนี้เป็นสายที่พวกเราส่วนใหญ่จะเดินทางนี้ แล้วเป็นแนวทางที่หลวงพ่อพุธท่านบอกหลวงพ่อว่า “ต่อไปคนที่จริตนิสัยอย่างคุณ มันจะมีเยอะ” คือจริตนิสัยแบบไปนั่งสมาธิ เข้าฌานอะไรไม่ค่อยมีแล้ว ต่อไปคนเมือง พวกเรามันคนเมือง กรรมฐานที่เหมาะกับคนเมือง ดูจิตตัวเองไป เบื้องต้นก็ดูจิตให้เกิดสมาธิ เบื้องปลายดูจิตให้เกิดปัญญา
ลูกศิษย์หลวงพ่อที่ใช้สมาธินำปัญญา ก็พอมีบ้าง แต่ที่ใช้ปัญญากับสมาธิควบกัน เมื่อ 2 – 3 วันนี้มาหา มานั่งในศาลาตอนเช้า หลวงพ่อออกจากห้องมา โยมก็มาเยอะหลายสิบอยู่ หลวงพ่อ โอ๊ะ ได้เวลาจัดการแล้ว ทรงสมาธิชำนิชำนาญ จิตนิ่ง แล้วถามภาวนาตอนนี้ดูอะไร ดูความไหวที่กลางอก ดูความไหวที่กลางอกยังไม่ใช่ดูจิต ยังดูไม่ถึงจิต แต่ที่ดูมา มันทำให้จิตมีกำลังแล้วมีสมาธิ แล้วก็มีสติ ต่อไปนี้เดินปัญญาได้แล้ว เดินปัญญาอย่างไร เห็นไหม ผู้รู้ก็ไม่เที่ยง เห็นไหม ผู้รู้ก็ถูกบีบคั้น เห็นไหม ผู้รู้ก็เป็นอนัตตา ใน 3 มุม คือดูตัวผู้รู้ แต่แนะนำให้ดูตัวผู้รู้ ให้เห็นว่ามันเป็นตัวทุกข์ ดูทุกขัง
ทำไมดูผู้รู้เป็นตัวทุกข์ จิตที่ทรงสมาธิมาก จิตมีแต่ความสุข แล้วมันก็ติดในความสุข ถ้าวันใดจิตมันรู้แจ้งแทงตลอด ว่าจิตคือตัวทุกข์ มันก็ปล่อยวางจิต เพราะฉะนั้นพวกสมาธิเยอะๆ ยาแก้พิษติดสมาธิ พิษจากการติดสมาธิ ยาแก้ของมันคือทุกขตา คือตัวทุกข์ มีน้อยที่เดินปัญญากับสมาธิควบกัน มีไม่มาก ก็ต้องชำนาญสมาธิ ชำนาญการดูจิต อันนี้เล่าแถมให้พวกเรารู้ว่า มันมีหลายเส้นทาง แต่เส้นทางที่เราควรเดิน ก็คือเส้นทางที่เราเดินได้ เส้นทางที่เราเดินได้ ก็คือเส้นทางของปัญญานำสมาธิ คนรุ่นนี้เป็นพวกปัญญาชนเยอะ คนใช้ปัญญา แต่การเดินด้วยปัญญา ต้องมีขณิกสมาธิเสียก่อน สมาธิที่เป็นขณะๆ นั่นล่ะ พอมีสมาธิทีละขณะถี่ๆๆ ขึ้นมา จิตก็มีกำลัง รู้ตื่นเบิกบานขึ้นมา
พอจิตมีกำลังแล้วอย่าอยู่เฉย ทิ้งไว้อย่างนั้นเดี๋ยวก็เสื่อม ก่อนจะเสื่อมใช้ประโยชน์มันเสียก่อน เจริญปัญญา สติระลึกรู้กาย ก็เห็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นไตรลักษณ์ของเวทนา สติระลึกรู้จิตที่เป็นกุศลอกุศล ก็เห็นไตรลักษณ์ของกุศลอกุศลไป แล้วพอเดินปัญญาไปไม่นาน จิตหมดแรง ดูจิตไม่รู้เรื่องแล้ว ดูจิตไม่รู้เรื่องกลับมาทำกรรมฐาน กรรมฐานที่เราเคยทำ เคยพุทโธ พุทโธไป เคยหายใจ ก็หายใจไป หรือหายใจเข้าพุท ออกโธ ก็ทำไป ดูท้องพองยุบก็ทำไป เดินจงกรมก็ทำไป ถนัดอะไรก็ทำอันนั้น แล้วก็พัฒนากำลังของตัวผู้รู้ขึ้นมาใหม่ ทำกรรมฐานแล้วรู้ทันจิต จิตจะค่อยๆ มีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา พอตั้งมั่นแล้วก็เดินปัญญา ดูไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ ถนัดอันไหนดูอันนั้น ไม่ต้องเอาอย่างคนอื่น ทางใครทางมัน
เมื่อเช้ามีทิดที่ช่วยงานคนหนึ่ง บอกว่าหลวงพ่อให้พุทโธ เขาก็พุทโธไปเรื่อย แล้วมีช่วงจิตมันฟุ้ง ดูไม่รู้เรื่องแล้ว จะทำอย่างไรดี ก็มันเห็นอะไร ดูจิตไม่รู้เรื่องก็ดูกายไป เขาบอก เอ๊ะ ถ้าเขาถนัดพุทโธ เวลามาดูกาย มันพุทโธด้วยได้ไหม บอกเวลากายเดินพุทโธได้ แต่กายนั่งอยู่ ดูกายไปด้วยพุทโธไปด้วย มันทำยาก มันทำไม่ได้หรอก เพราะจิตมันรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว ดูกายก็ดูไป แต่ถ้าดูกายแล้วไม่มีพุทโธกำกับ ไม่ถนัด ไม่ถนัดไม่ต้องสนใจอะไรหรอก พุทโธอย่างเดียวก็ยังได้เลย หลวงตามหาบัวท่านเคยบอก ท่านพุทโธตั้งแต่ต้นจนจบเลย อย่างเดียวเลย ทำได้ เวลาเดินปัญญาไปแล้ว จิตมันฟุ้งดูอะไรไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ก็ไม่รู้ พุทโธไป เดี๋ยวจิตมีแรงมันก็ต่อได้ กลับมาดูจิตได้ ทางใครทางมัน
อย่างพวกทิดมาทำงานให้หลวงพ่อ หลวงพ่อจะคอยดูแล พวกทีมไลฟ์คุณแม่จะช่วยดูแล แต่ละคนก็ดูพัฒนา ทีมช่วยยกถาด ทีมช่วยอยู่ข้างนอก เมื่อเช้ายังบอกเลยว่า ที่มาช่วยงานตรงนี้ มันไม่ใช่งานของมูลนิธิฯ หรอก มันเป็นงานของวัด เป็นงานของหลวงพ่อ เพียงแต่ทีมมาช่วย งานของมูลนิธิฯ จริงๆ ก็ผลิตสื่อ จัดให้หลวงพ่อไปเทศน์ อันนั้นจะเป็นงานตรงของมูลนิธิฯ ตรงนี้เป็นงานช่วยหลวงพ่อ ตรงนี้มาช่วยกันทำงาน เพราะว่าถ้าไม่มีคนทำนี้ก็วุ่นวาย
เมื่อก่อนนี้ไม่มีคนดูแลตรงนี้ คนมาหน้าวัดตั้งแต่ตี 4 แย่งกันเข้าวัด เพื่อจะเข้าศาลา แทบจะเหยียบกันตาย บางคนเปิดเข้าประตูได้ เอาของขว้างไปก่อน ไปจองที่นั่ง ขว้างกันระเนระนาด โครมครามเลย วุ่นวาย จิตใจมันคิดแต่แก่งแย่งกัน ไม่มีความสงบ เดี๋ยวนี้จัดระบบอย่างนี้ อาศัยอานิสงส์จากโควิด ก็เลยจัดระบบเรียบร้อยขึ้น พวกเราคนไหนไม่ได้เข้าในนี้ หรือว่าไม่สะดวก จะมานั่งฟังข้างนอก ฟังที่บ้านก็ได้ อันนี้เป็นงานที่ทีมมูลนิธิฯ ช่วยหลวงพ่อทำ
ทีมหลวงพ่อมันมี 3 ทีมที่ช่วยหลวงพ่อทำงาน ทีมมูลนิธิฯ ช่วยผลิตสื่อภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ช่วยจัดให้หลวงพ่อไปเทศน์ ทีมที่ 2 ก็มูลนิธิฯ จีน มูลนิธิฯ จีนก็มีหน้าที่ผลิตสื่อฯ ภาษาจีน แล้วเวลาจัดคอร์สจัดอะไร นิมนต์หลวงพ่อไปบ้าง นิมนต์ผู้ช่วยสอนบ้าง อีกทีมหนึ่งก็ทีมไลฟ์ ทำงาน ทำคนเดียวไม่ได้ ทำไม่ได้ ก็อาศัยพวกเรานี้ช่วยหลวงพ่อทำ แล้วผลพวง ผลพลอยได้ ไม่ใช่ผลพลอยได้ ผลได้ ผลที่ได้รับ เห็นแล้วชื่นอกชื่นใจ
เวลานี้คนซึ่งอยู่ไกล ระดับรากหญ้าเลยก็มี หรืออยู่ประเทศโน้นประเทศนี้ อาศัยสื่อต่างๆ ที่ออกไป ภาวนาเป็น เยอะ บางคนเขียนจดหมายมาเล่า หลวงพ่อส่งไปให้พวกพระอ่าน พระ อืม น่าทึ่ง ให้อาจารย์อ๊าอ่าน ภาวนาเก่ง ดูจากสื่อนี่ล่ะ เห็นสภาวธรรมทั้งหลายเกิดดับ เห็นขันธ์มันแยก เห็นอะไรต่ออะไร น่าดู เวลาออกไปข้างนอกเจอญาติโยม เข้ามาหาหลวงพ่อส่งการบ้าน ภาวนาดีๆ นี่เยอะเลย ทั้งๆ ที่ไม่เคยมาวัด ไม่เคยเห็นหน้าหลวงพ่อ แต่ข้อเสียคือไปไหนคนจำได้ จะติดหนวดไปก็ไม่ได้ บางทีเราจะไปพักผ่อน อยากหาเวลาพักบ้าง ไม่ได้พัก ไปไหนคนก็มาถามกรรมฐาน แต่มันสะท้อนว่าสิ่งที่พวกเราช่วยกันทำ มันได้ผล มันมีประโยชน์จริงๆ
ฉะนั้นอนุโมทนากับทีมงานของเราด้วยทุกคน ส่วนพวกเราที่เหลือ เรามาวัดหรือเราฟังธรรม ตั้งหลักให้ถูก มาวัดมาฟังธรรมอย่าเอาแค่บุญ อันนั้นตื้นไป มาเอาธรรมะให้รู้วิธีปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ มาเรียนตัวนี้ให้ได้ เรียนตัวนี้แล้วเราก็กลับบ้านเรา ภาวนาของเรา เหมือนพระสมัยพุทธกาล เข้าไปหาพระพุทธเจ้า ไปฟังธรรม รู้วิธีปฏิบัติแล้ว ท่านก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติ สมัยพุทธกาลก็ไม่มีการจัดคอร์ส ไม่มีหรอก มีแต่ว่าไปอยู่กับครูบาอาจารย์เป็นกลุ่มๆ ไป ไม่มีคอร์สอะไรหรอก
เพราะฉะนั้นเราเรียนธรรมะเพื่ออะไร เพื่อการปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่ออะไร เพื่อความพ้นทุกข์ ตั้งหลักให้ถูก อย่างมาช่วยงานวัด มาช่วยงานหลวงพ่อ ต้องไม่ทิ้งการปฏิบัติ ถ้ามาช่วยงานแล้วการปฏิบัติเสีย ไม่ต้องมาช่วย ช่วยตัวเองให้ดี อันนั้นคืองานหลักในสังสารวัฏของเรา แล้วถ้าเรามีกำลังพอสมควรแล้วก็มาช่วย เพื่อสืบทอดธรรมะออกไป สู่คนรุ่นหลังๆ ต่อไป อันนั้นคือหน้าที่ของชาวพุทธเรา
พวกเราเรียนกรรมฐาน เรียนรู้วิธีปฏิบัติแล้วต้องเอาไปปฏิบัติ งานหลักในชีวิตเราก็คือ การปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ อย่าลืมภารกิจหลักของเรา การทำมาหากิน การทำสังคมสงเคราะห์ การทำความดีอะไรทั้งหลาย เป็นแค่เครื่องอาศัยอยู่กับโลก เป็นแค่เครื่องอาศัยเท่านั้นเอง งานหลักคืองานพัฒนาจิตไปสู่ความพ้นทุกข์ บางครั้งชีวิตเราต้องไปอยู่ในสถานการณ์ ซึ่งมันเหมือนไม่มีทางออก
เมื่อเช้าก็เจอหนุ่มคนหนึ่ง มีปัญหาในครอบครัวในบ้าน กับภรรยา บอกว่าอย่าหนี ถ้าหนีคือหนีออกจากบ้าน ไปหาอะไรทำให้มันหมดเวลาไปวันๆ หนึ่ง การหนีปัญหา การหนีทุกข์ ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา ถ้าเราหนีไม่ได้ เราก็ต้องปรับตัวเองให้ได้ ปรับตัวเอง อย่างเราอยู่กับภรรยาคนนี้ เราไม่ชอบ หรือเราอยู่กับสามีคนนี้ เราไม่ชอบ แต่มันจำเป็นต้องอยู่ จำเป็นต้องอยู่ เราก็ฉวยโอกาสพัฒนาจิตใจของเรา บอกรู้สึกไหม เราสามารถสร้างบารมีได้ตั้งหลายตัว อย่างสัจจบารมี เราเคยตกลงไว้ว่าเราจะดูแลไม่ทอดทิ้งกัน ยากลำบากอย่างไร ไม่ทอดทิ้งกัน มีสัจจะ รักษาคำพูดของเรา มีขันติ ยากลำบาก ก็อดทน ไม่ได้ไปทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง อดทน
มันมีบารมีหลายตัวที่เกิดขึ้น อธิษฐานบารมี ตั้งใจให้มั่น เราจะต้องผ่านความทุกข์อันนี้ให้ได้ เราต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เราไม่ชอบอันนี้ให้ได้ ถ้าเราทำได้ เราจะมีบารมีเพิ่มหลายตัว อย่างทานบารมีก็มี เราอยู่กับคู่ของเราแล้ว เราหงุดหงิดโทสะขึ้น มองเขาด้วยความเข้าใจ ด้วยความเห็นอกเห็นใจ โทสะหาย นี่เป็นทานบารมี บารมี มีตั้งเยอะตั้งแยะ แล้วการที่เราไม่วิ่งหนี เราแก้ปัญหาด้วยสติ ด้วยปัญญา เราได้ปัญญาบารมี ถ้าเราไปดูทศชาติ มีชาติหนึ่ง พระมโหสถใช่ไหม ปัญญาบารมี ลองไปดูเรื่องที่ท่านเจริญปัญญา จะสู้กับกองทัพข้าศึกอย่างไร ไม่ใช่ปัญญาเรื่องวิปัสสนาปัญญาเลย ปัญญาอยู่กับโลกนี่ล่ะ มีปัญหาชีวิตแล้วทำอย่างไร
เพราะฉะนั้นการที่เราอยู่กับปัญหาได้ เรียนรู้มันได้ พัฒนาตัวเองได้ วิเศษที่สุด มีบารมีตั้งเยอะ ถ้าทิ้งไป เสียโอกาส หลวงพ่อยังบอกเลยว่า มันมีช่วงหนึ่งหลวงพ่อทำงานอยู่ หลวงพ่ออยู่กับเจ้านายที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ งานนี่ไม่ค่อยทัน ทำไม่ค่อยสำเร็จหรอก ถึงกำหนดจะต้องส่ง ไม่ค่อยทัน ทั้งๆ ที่ทำดุเดือดหามรุ่งหามค่ำ เพราะว่าไม่มั่นใจตลอดเวลา เราอยู่กับคนอย่างนี้ เราก็หงุดหงิด แล้วเวลาหงุดหงิดเราทำอะไรไม่ได้ คนโบราณ มันไม่ได้มีงานให้เลือกเยอะเหมือนคนยุคนี้ ก็ต้องอดทน
หลวงพ่อพบว่าในช่วงภาวะที่บีบคั้น เป็นช่วงที่ภาวนาดีที่สุด พอเปลี่ยนงานเปลี่ยนสภาพแวดล้อม โอ๊ย แสนจะสบาย เจ้านายก็ดี ลูกน้องก็ดี งานก็ดี เงินก็ดี อะไรๆ ดีหมดเลย การภาวนาหย่อนลงด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นในภาวะที่ยากลำบาก ถ้าวางใจให้เป็น มันคือโอกาสทองของการปฏิบัติ ที่จะสร้างบารมีของเราให้แก่กล้าขึ้น ที่ต้องพูดเพราะพวกเรายุคนี้ เป็นโรคซึมเศร้าเยอะเหลือเกิน
วัดสวนสันติธรรม
29 กรกฎาคม 2566