อย่ามัวแต่รอถามครูบาอาจารย์

การภาวนาเราใช้โยนิโสมนสิการให้มาก เราจะถามน้อยลง พึ่งตัวเองได้เยอะขึ้น โยนิโสมนสิการก็คือดูลงไปว่า สิ่งที่เราทำอยู่มันถูกมันตรงสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไหม สิ่งที่ครูบาอาจารย์สอนหรือเปล่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ที่ครูบาอาจารย์สอน มีลักษณะอันหนึ่งก็คือ การปฏิบัตินั้นเป็นไปเพื่อล้างกิเลสที่กำลังมีอยู่ เพื่อปิดกั้นกิเลสใหม่ไม่ให้เกิด เพื่อทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพื่อทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญ เพราะฉะนั้นอย่างเราภาวนา เราก็สังเกตตัวเองไป ที่ภาวนาอยู่กุศลเจริญ หรืออกุศลเจริญ สังเกตไป เราจะค่อยๆ คลำทางไปได้ด้วยตัวเราเอง

หลวงพ่อก็เป็นคนกรุงเทพฯ รับราชการ วันลามีไม่มากหรอก เก็บวันลาไว้ สักประมาณ 3 เดือน ขึ้นไปกราบครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ทีหนึ่ง ทุกเดือนก็ไปกราบหลวงพ่อพุธที่โคราชทีหนึ่ง เวลาส่วนใหญ่ที่เหลือ อยู่ของเราเอง อยู่ไกลครูบาอาจารย์ อย่างเก่งก็เขียนจดหมายไปถาม บางองค์ท่านตอบให้ อย่างหลวงตามหาบัวถ้าเราเขียนไปหาท่านจะตอบ บางองค์ท่านเขียนหนังสือไม่ไหวแล้ว ถามไปบางทีท่านก็ให้ลูกศิษย์บอกมา บอกแทนมา เราไม่ได้อยู่กับครูบาอาจารย์ สิ่งที่ช่วยเราได้คือความช่างสังเกตของเราว่าสิ่งที่เราทำอยู่กุศลเจริญหรืออกุศลเจริญ ใช้วิธีสังเกตอย่างนี้

 

สำรวจตัวเอง

อย่างมีคราวหนึ่งหลวงพ่อดูสภาวะ เห็นกิเลสมันผุดขึ้นมา จิตมันถลำลงไปดูตัวกิเลส แล้วกิเลสมันไม่ดับ ทำไมมันไม่ดับ เพราะจิตเรา สติ สมาธิ ปัญญา มันไม่ถูกต้องแล้ว มันถลำลงไปดูแล้ว ฉะนั้นโทสะผุดขึ้นมา มันไม่ดับ เราดูมันไปเรื่อย มันหนี มันเคลื่อนๆ ออกไปอยู่ข้างนอก หลวงพ่อจดจ่อกับตัวโทสะ มันเคลื่อน เราไม่เห็น เราเห็นแต่ตัวมัน แล้วมันก็ดับไป จิตเลยไปค้างอยู่ข้างนอก อยู่ตรงนั้นมีแต่ความสุข มีความสงบ อยู่ได้เป็นปีเลย จิตใจมีแต่ความสุข ความสงบ แล้วหลวงพ่อก็เริ่มสังเกต ทำไมตัวนี้เที่ยง จิตตัวนี้ทำไมมันเที่ยง มันมีความสุขคงที่อยู่อย่างนี้ จิตตัวนี้ทำไมมีแต่ความสุข ทั้งเที่ยง ทั้งมีความสุข เบิกบาน สงบ สบาย แล้วเราบังคับได้ เราสร้างขึ้นมาได้ จิตดวงนี้ พอตื่นนอน เรากำหนดลงไปปุ๊บ มันก็ไปอยู่ตรงนี้เลย พระพุทธเจ้ากับ ครูบาอาจารย์สอนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่จิตเราทำไมมันเป็นนิจจัง สุขัง อัตตาไปแล้ว มันผิดจากที่ครูบาอาจารย์สอน ที่พระพุทธเจ้าสอน

หลวงพ่อสังเกต แล้วสังเกตอีกอย่างหนึ่ง จิตอยู่ตรงนี้ ไม่มีอะไรเจริญขึ้นเลย เหมือนกิเลสไม่เกิด แต่ว่าคงที่อยู่อย่างนั้นเป็นปี ไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีความเปลี่ยนแปลง สังเกตเห็น นี่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ เราสังเกตเห็น ที่เราปฏิบัติอยู่นี้ไม่มีกิเลสจะให้ลดให้ละ กุศลก็ไม่เจริญขึ้น เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่สัมมาวายามะแล้วที่เราภาวนาอยู่ ไม่ใช่ความเพียรชอบแล้ว ต้องเป็นความเพียรผิดแล้ว เป็นมิจฉาวายามะแล้ว แต่ผิดตรงไหน ตอนนั้นยังดูไม่ออก

พอดีเจอหลวงตามหาบัว ท่านก็บอกให้ ปัญหาที่หลวงพ่อเป็นตอนนั้นก็คือปัญหาที่พวกเราเป็นตอนนี้ จิตไม่เข้าฐาน ตรงที่หลวงพ่อเป็นเมื่อก่อนก็คือสิ่งที่พวกเราเป็นทุกวันนี้ล่ะ จิตไม่เข้าฐาน ตอนนั้นหลวงตาท่านบอกหลวงพ่อว่า “ต้องเชื่อเรานะ ตรงนี้สำคัญนะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” หลวงพ่อก็ไปบริกรรม นั่งอยู่ข้างหลังท่านนี่ล่ะ พอท่านบอกเราก็ลงมือทำเลย บริกรรม พุทโธๆ ไป อึดอัด จิตไม่ชอบ หลวงพ่อก็เลยเปลี่ยนมาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ กรรมฐานที่เราคุ้นเคย พุทโธอย่างเดียว ไม่คุ้นเคย ทำกรรมฐานที่เราคุ้นเคย จิตรวม มีสมาธิ รวมเข้าฐาน แทบเขกหัวตัวเองเลยว่าเสียเวลาไปเป็นปี จิตไม่เข้าฐาน ที่หลวงพ่อมาเข้มงวดกับพวกเรามากว่าจิตต้องตั้งมั่น จิตต้องถึงฐานจริงๆ มิฉะนั้นเราเดินปัญญาไม่ได้จริงหรอก เราก็ค้างลอยเติ่งอยู่อย่างนั้น เหมือนว่าวติดลมบน ก็ลอยอยู่นิ่งๆ ไม่ตก อยู่อย่างนั้น ไม่เห็นความเจริญแล้วเสื่อมอะไรทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นการภาวนาอาศัยความสังเกต ถ้าเราไม่ได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ หรือจับสลากส่งการบ้านไม่ได้ ใช้ความสังเกตอยู่ ที่ทำอยู่มันถูกมันตรงตามหลักที่พระพุทธเจ้าบอกไหม อย่างท่านสอนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราเห็นนิจจัง สุขัง อัตตา ท่านสอนให้เรารู้กายรู้ใจ เจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานมีแต่เรื่องรู้กายรู้ใจนั่นล่ะ เราไปรู้นิมิตต่างๆ อะไรอย่างนี้ ผิดแล้ว ไปเห็นผี เห็นเทวดา เห็นอะไรอย่างนี้ อันนั้นออกนอกไป ไม่ถูกแล้ว เราดูสิ่งที่ท่านสอน แล้วเราไม่ได้ทำตามอย่างนี้ แสดงว่าเราผิด ท่านให้ โอปนยิโก ให้น้อมเข้ามาหาตัวเอง น้อมกลับเข้ามา ถ้าใจออกไป ไม่ถูก แล้วตรงที่ใจน้อมเข้ามา แค่น้อมๆ หายใจไป รู้สึกตัวไปว่าจิตออกนอก จิตมันก็น้อมกลับเข้ามาเอง ไม่ใช่บังคับมัน ไปดึงมันกลับเข้ามา ก็ตึงเกินไป

หลวงพ่อใช้การค่อยๆ สังเกต คลำเส้นทางนี้เดินมา เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ช่วยตัวเอง ที่ต้องพึ่งครูบาอาจารย์ทั้งหมด 7 ครั้งเท่านั้นเอง พึ่งครูบาอาจารย์ 6 องค์ ด้วยปัญหากรรมฐาน 7 ครั้ง นอกนั้นคลำมาด้วยตัวเองทั้งนั้นเลย เพราะว่าปัญหาในการทำกรรมฐานเกิดทั้งวัน ไม่ใช่เกิดวันละครั้ง เดี๋ยวก็เกิดๆๆ เกิดทั้งวัน รอบันทึกจดเอาไว้แล้วไปถามครูบาอาจารย์ก็ไม่ได้เรื่อง ไม่มีของจริง เพราะฉะนั้นใช้ความสังเกต ใช้โยนิโสมนสิการให้มาก ที่ทำอยู่ถูกตรงที่พระพุทธเจ้า ที่ครูบาอาจารย์สอนไหม ทำไปแล้ว กุศลเจริญไหม อกุศลลดลงไหม ถ้าคงที่ก็ผิดแล้ว อกุศลก็ไม่ได้ละ กุศลก็ไม่ได้เจริญนี่ผิดแล้ว ฉะนั้นค่อยๆ ดู ค่อยๆ สำรวจตัวเอง

ทุกวันๆ สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ ช่วยตัวเอง แล้วเวลามีปัญหาติดขัดจริงๆ เรานึกถึงครูบาอาจารย์ นึกถึงพระพุทธเจ้า เราภาวนาของเราไปเถอะ เดี๋ยวเราก็ได้คำตอบ เป็นเรื่องอัศจรรย์ เรื่องของจิต หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยสอนหลวงพ่อว่า ธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ออกไปจากจิตที่บริสุทธิ์นี่เอง จิตเรายังไม่บริสุทธิ์ก็ได้ธรรมะบางส่วนออกมาที่พอเหมาะพอควรกับจิตใจของเรา เวลาเราภาวนา บางทีเราอยู่ห่างครูบาอาจารย์ ไม่มีโอกาสจะไปหาท่าน เรานึกถึงท่าน แล้วเราก็ตั้งหน้าตั้งตาภาวนาของเราไป ไม่ใช่ดิ้นรนแสวงหาคำตอบมากมาย ยิ่งดิ้นรน ยิ่งแสวงหาคำตอบ ยิ่งไม่เจออะไรเลย ยิ่งฟุ้งซ่าน เราภาวนาของเราไป หายใจเข้าพุทออกโธอะไรไป แล้วจิตใจเราสงบ จิตใจเราตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว เดี๋ยวปัญญามันจะเกิด ถ้ามีสมาธิแล้วปัญญามันจะเกิด จะเกิดรู้ถูกเข้าใจถูกขึ้นมา

 

ยิ่งดิ้นรน ยิ่งแสวงหาคำตอบ ยิ่งไม่เจออะไรเลย ยิ่งฟุ้งซ่าน
เราภาวนาของเราไป จิตใจเราสงบ จิตใจเราตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว เดี๋ยวปัญญามันจะเกิด

 

เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนาแล้วเกิดข้อสงสัยขึ้นมา ไม่ต้องไปคิดมาก แขวนข้อสงสัยไว้ แล้วภาวนาของเราไปเรื่อยๆ มันจะรู้สักวันหนึ่ง ก็ช่างมัน จะนานเท่าไหร่ก็ช่างมัน หลวงพ่อใช้วิธีนั้น ตรงไหนที่เรายังไม่เข้าใจ ตรงนี้ยังไม่เข้าใจ แขวนไว้ก่อน ตามใจมัน เราก็ภาวนาของเราไป ถึงจุดหนึ่งมันก็เข้าใจขึ้นมา ตรงที่จิตมันทรงสมาธิขึ้นมา ปัญญามันจะเกิด ฉะนั้นการภาวนาไม่ใช่การมานั่งถามครูบาอาจารย์ตลอดเวลา แต่ปฏิบัติไป ถ้าจิตมันมีสติ จิตมันมีสมาธิ แล้วปัญญามันเกิด มันตอบปัญหาได้เอง

แล้วตรงที่จิตมันตอบปัญหาให้เรา บางทีมีนิมิตประกอบ แต่บางทีไม่มีนิมิตประกอบ คือเราเข้าใจขึ้นเลย เกิดความเข้าใจปุ๊บขึ้นมา อ๋อ อย่างนี้เอง บางทีมีนิมิตมาประกอบ เราเห็นพระพุทธเจ้า เห็นครูบาอาจารย์เหาะมา มาสอนเราอย่างนั้นอย่างนี้ เหมือนอย่างในประวัติครูบาอาจารย์ที่มีเรื่องพระพุทธเจ้ามาแสดงธรรมให้ฟัง ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านตรงนี้มา หลวงพ่อก็รู้จักตั้งหลายองค์ ที่จริงแล้วมันก็คือการที่จิตมันแสดงธรรมขึ้นมา มีนิมิตมาประกอบให้ดูจริงจังขึ้น

 

ธรรมะถ่ายทอดจากจิตสู่จิต

มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง พวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้จัก ท่านสิ้นไปเร็ว อายุ 60 นิดๆ เอง มรณภาพไป ชื่อหลวงพ่อกิม หลวงพ่อกิมนี่ภาษาเขมร ไม่ใช่กิมภาษาจีน ไม่ได้แปลว่า ทอง แต่แปลว่าอะไร หลวงพ่อก็ไม่รู้เหมือนกัน ท่านเคยเล่าให้ฟัง ตอนที่ท่านภาวนาแล้วจิตท่านพ้นกิเลส ท่านก็เห็นพระพุทธเจ้าลอยอยู่ในอากาศ แล้วแสดงธรรมให้ท่านฟังตลอด 7 วัน แสดงธรรมอยู่ 7 วัน หลวงพ่อฟังท่านเล่าตรงนี้ หลวงพ่อตื่นเต้นมากเลย รีบถามท่านเลย “พระพุทธเจ้าสอนหลวงพ่อว่าอย่างไรบ้าง” แหม เราอยากรู้ เรื่องของคนอื่นอยากรู้ๆ เรื่องของตัวเองรู้น้อย หลวงพ่อกิมท่านก็บอกว่า พระพุทธเจ้าแสดงธรรม นานๆ พูดออกมาคำหนึ่ง แต่กระแสของธรรมะเข้ามาสู่ใจท่านเป็นจำนวนมหาศาลเลย มันเหมือนการส่งข้อมูล ส่ง Data ขนาดใหญ่ แล้วย่อลงมา ส่งปุ๊บเดียว พอตอนคลี่ออกมา ความรู้มหาศาลเลย

แล้วเรารู้ไหมพระพุทธเจ้าพูดว่าอะไร ถ้ามีคำพูดก็ไม่ใช่สิ ฉะนั้นธรรมะถ่ายทอดเข้าไปสู่จิตของท่าน แสดงให้ท่านรู้แจ้งขึ้นมา องค์นี้เก่งๆ เสียดายๆ ท่านอายุไม่มาก เพราะฉะนั้นธรรมะจริงๆ มันถ่ายทอดจากจิต ไม่ใช่จิตของใครหรอก จิตของเรานั่นล่ะ จิตของเราสมควรแก่ธรรมะระดับไหน ธรรมะก็ถ่ายทอดมาสู่ใจเราในระดับนั้น ถ้าเราอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ก็ถ่ายทอดธรรมะที่พอดีกับใจเราให้ ถ้าเราอยู่ลำพังของเราเอง เราภาวนาไปจิตเรานั้นล่ะจะถ่ายทอดธรรมะออกมาให้ แต่จิตเราต้องมีสติ ต้องมีสมาธิที่ถูก ถ้าหลงนิมิต ดีไม่ดีบอกพระพุทธเจ้ามาสอนให้เราฟัง ว่า ถ้าเราภาวนาแล้ว เราจะพบนิจจัง สุขัง อัตตาอะไรอย่างนี้ นี่มารมันหลอกเอาแล้ว มันขัดมันแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าใจเราถูก ภาวนาถูก เวลาเรามีข้อสงสัยในธรรมะ เราแขวนไว้ แล้วเราภาวนาไป พอสมควร เวลาพอสมควร แล้วจิตมันจะคลี่ออกมาเอง ถ่ายทอดธรรมะตัวนั้นให้เราเข้าใจขึ้นมาด้วยตัวเราเองได้ นี่ล่ะธรรมะที่ถ่ายทอดจากจิตสู่จิต จากจิตของครูบาอาจารย์มาสู่จิตของพวกเรา จากจิตของเราเองก็มี ขอให้จิตมันทรงสติ ทรงสมาธิที่ถูกต้อง

ตรงที่ธรรมะถ่ายทอดออกมา ก็คือตัวปัญญา ปัญญานั้นจริงๆ ไม่ต้องไปร้องขอจากคนอื่น สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ฉะนั้นถ้าจิตเราถูกต้องจริง มีสัมมาสมาธิสงบ ตั้งมั่นจริง รู้ ตื่น เบิกบานจริง เวลาจิตมันสงสัยอะไรแล้วมันจะถ่ายทอดคำตอบออกมา อันนี้ไม่เฉพาะในทางธรรม กระทั่งปัญหาในทางโลก มันก็คลี่ให้เราดูได้ อย่างเวลาเรามีปัญหาคิดอะไรไม่ออก เรามีงานที่ยุ่งยากซับซ้อนมาก เราคิดไม่ออก คิดไม่ออกอย่าฝืนคิด คิดไม่ออก ทำใจสบายภาวนาของเราไปเถอะ พอจิตมันสงบแล้ว มันจะวกกลับไปพิจารณาปัญหาอันนั้นเอง แล้วมันจะได้คำตอบ แล้วคำตอบอันนั้นเป็นคำตอบที่ดี แต่ถ้าจิตเรามีกิเลส ไม่สงบจริง อันนั้นคำตอบลวง ถูกหลอก ถูกกิเลสหลอก

เพราะฉะนั้นการที่หลวงพ่อสอนพวกเราให้ฝึกจิตฝึกใจให้มันอยู่กับเนื้อกับตัว ให้จิตตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เอาไว้ใช้ในทางธรรมก็ได้ เอาไว้ใช้ในทางโลกก็ได้ หลวงพ่อพุธท่านเคยเล่าให้ฟัง มีสถาปนิกคนหนึ่งไปรับจ้างออกแบบอาคารขนาดใหญ่ ซึ่งซับซ้อนมาก คิดไม่ตก ไม่รู้จะทำอย่างไรคิดอย่างไรก็คิดไม่ออก แกก็ไปนอน พอตื่นขึ้นมาปุ๊บ ใจมันพักมาพอสมควรแล้ว มันเห็นภาพว่าจะทำอย่างไร รู้เลยว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

 

เรื่องของจิตของใจมีประโยชน์มาก ค่อยๆ ฝึกตัวเองให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไป
ใช้แก้ปัญหาทางโลกก็ทำได้ดี ปัญหาทางธรรมก็ใช้ได้ พัฒนาได้

 

เวลาหลวงพ่อมีปัญหา ตอนเป็นโยม มีปัญหาอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อไม่ต้องตกอกตกใจ ที่จริงทุกคำถามมีคำตอบทั้งสิ้น เราอย่าตกใจ บางทีเราคิดเรื่องนี้ไม่ออก เคยรู้สึกไหม อย่างตอนตื่นนอนใหม่ๆ เช้าๆ สมองแจ่มใส บางทีเรื่องที่คิดค้างเอาไว้ตอนก่อนนอน คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก ตอนตื่นนอน จิตใจผ่องใส สมองผ่องใส ปุ๊บเดียวออกมาแล้ว มันออกมาเองเลย สำหรับคนที่ทำสมาธิได้ ไม่ต้องรอไปนอน จิตรวมเข้าสมาธิ มันก็เหมือนได้พักแล้ว ได้นอน ตอนที่มันถอยออกมา จิตมันยังติด ยังข้อง ยังสนใจในปัญหาข้อใดอยู่ จิตมันจะวกกลับไปพิจารณาอันนั้นเอง ได้คำตอบทันทีเลย เพราะฉะนั้นเรื่องของจิตของใจมีประโยชน์มาก ค่อยๆ ฝึกตัวเองให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไป ใช้แก้ปัญหาทางโลกก็ทำได้ดี ปัญหาทางธรรมก็ใช้ได้ พัฒนาได้

หลวงพ่อทำงาน หลวงพ่อทำงานได้เร็วๆ ทำงานได้ประณีต อย่างเมื่อก่อนไม่มีคอมพิวเตอร์ ยุคที่หลวงพ่อทำงาน อ่านแฟ้มเป็นตั้งๆ เอกสารจำนวนมาก เราดูพรืด อ่านหนังสือ มันก็อ่านเร็วกว่าชาวบ้านเขา อ่านแล้วจับประเด็น ก็จับประเด็นได้เร็วกว่าชาวบ้านเขา บางคนอ่านต้องทวนไปทวนมา จับประเด็นไม่ถูก จิตเรามีสมาธิ จับประเด็นเร็ว แป๊บเดียวเข้าใจแล้ว ตอนที่จะสรุปถ่ายทอดออกมา หลวงพ่อคีย์เลย สมัยนั้นใช้พิมพ์ดีด พิมพ์ออกมาได้เลย ตอนหลังมีคอมพิวเตอร์ก็คีย์เข้าคอมพิวเตอร์ไปเลย ทำไมมันทำงานได้ดีเพราะมีสมาธิ สมาธิมันจะจัดระเบียบความคิดของเรา ให้มันเป็นระเบียบ ไม่ฟุ้งซ่าน เลอะเทอะ มันใช้ทางโลกก็ได้ ใช้ทางธรรมก็ได้ ที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรามาก สมาธิต้องถูก เพราะประสบการณ์สอนหลวงพ่อมา

ฉะนั้นเราพยายามฝึกตัวเอง แบ่งเวลาไว้ทุกวันๆ เลย ไม่ต้องมัธยัสถ์ว่าวันละครึ่งชั่วโมงหรอก วันละกี่ชั่วโมงก็ได้ถ้ามีเวลา หรือเราเดิน ทุกก้าวที่เดิน รู้สึกตัว นั่นคือการปฏิบัติ นั่งอยู่ รู้สึกตัว นอนอยู่ รู้สึกตัว พยายามฝึกเรื่อยๆ แล้วชีวิตเราจะดีขึ้น ใช้โยนิโสมนสิการให้เยอะๆ จะได้ไม่ต้องกลุ้มใจว่าไม่ได้ถามหลวงพ่อ.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
12 กันยายน 2564