อยู่ให้เป็นแล้วเย็นสบาย

อยู่กับโลกโลกมันวุ่นวาย แต่อยู่กับธรรมธรรมะไม่วุ่นวาย ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยโลกก็วุ่นวายทั้งนั้น มีแต่เรื่องอึดอัดขัดข้องไม่สมอยาก โลกเป็นอย่างนี้ สมัยพุทธกาลตอนตรัสรู้ใหม่ๆ ลูกเศรษฐีคนหนึ่ง พระยสะ ตอนนั้นยังไม่ได้บวช ยสะที่บ้านรวย รู้สึกชีวิตมันอึดอัดขัดข้องไปหมด เดินออกมาที่ป่าไปเจอพระพุทธเจ้า เดินบ่น “ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ” มันก็คือความรู้สึกอันเดียวกับที่พวกเรารู้สึกกันอยู่ทุกวันนี้ มีแต่เรื่องที่ไม่ได้อย่างใจ ขนาดมีกินมีใช้ ยสะเป็นลูกเศรษฐีมีกินมีใช้ แต่มันก็ยังมีเรื่องที่ให้ไม่สบายใจเกิดขึ้นเสมอ มันธรรมดาของโลก พระพุทธเจ้าท่านได้ยินท่านก็เลยบอกว่า “ที่นี่ไม่ขัดข้อง ที่นี่ไม่วุ่นวาย” ยสะก็เลยเข้าไปฟังธรรม ออกจากความขัดข้องวุ่นวาย คือออกจากโลกมาสู่ธรรม ธรรมะไม่ขัดข้องไม่วุ่นวาย

ทุกวันนี้โลกวุ่นวายมากมาย มีแต่ข่าวที่ทำให้ใจเราวุ่นวายทุกวัน เดี๋ยวเรื่องนั้นเดี๋ยวเรื่องนี้ตลอดเวลา ฉะนั้นใจเราหาความสุขหาความสงบไม่ได้จริง อย่างเราอยากให้การเมืองสงบเรียบร้อย อยากให้นักการเมืองดีเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม อันนี้คือความอยากของเรา ในขณะที่คนมาเล่นการเมือง บางคนก็อาจจะมีอุดมการณ์จะทำเพื่อบ้านเมืองจริงๆ แต่บางคนก็คือการลงทุน เห็นการเมืองคือธุรกิจอันหนึ่ง พอคนที่เราชอบไม่ได้ หรือสิ่งที่เราคาดหวังไม่ได้เป็นอย่างคาดหวัง ใจเราก็กลุ้มใจ กังวลใจ อยากแล้วมันไม่สมอยาก มันก็ทุกข์แล้ว หรือเรื่องทำมาหากินยังลำบากอยู่ ไม่ใช่ทำกิจการได้ทุกอย่างตอนนี้ บางอย่างก็ยังทำไม่ได้ บางอย่างทำได้แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้นานสักแค่ไหน อย่างคราวก่อนนี้ผ่อนคลายมารอบหนึ่ง ตอนที่คนติดโควิดวันละ 200 คน เราผ่อนคลาย ผ่อนคลายทีเดียวมันขึ้นเป็นหมื่นแล้วก็ยังไม่ลงมา ตอนนี้เริ่มลงนิดหน่อยยังไม่ได้ลงมาก

 

อยู่กับโลกให้เป็นแล้วเย็นสบาย ถ้าอยู่ไม่เป็นแล้วร้อน

ถ้าเราอยากให้บ้านเมืองทำมาหากินได้สบาย ไม่มีข้อห้าม ไม่มีข้อจำกัด ความอยากนั้นล่ะทำให้เราทุกข์ เราไม่เข้าใจความจริงของโลก โลกไม่เคยสมอยาก ความอยากของเรายิ่งกว่ามหาสมุทรอีก กว้างใหญ่ไพศาลตอบสนองเท่าไรก็ไม่เต็ม หรือบางทีเราก็อยากให้พระทุกองค์เรียบร้อย อยากให้พระทุกองค์เคารพพระพุทธเจ้า เคารพพระธรรม เคารพพระอริยสงฆ์ เคารพการศึกษาปฏิบัติ อยากให้พระดีทุกองค์ มีพระที่ไม่ตรงสเปกที่เราอยาก เราก็เร่าร้อนใจ ที่จริงพระเหลวไหลมีมาทุกยุค ในสมัยพระพุทธเจ้าก็มีไม่ใช่ไม่มี

ถ้าสมัยพุทธกาลมีแต่พระดีไม่มีพระเหลวไหล ทุกวันนี้ปาติโมกข์คงมีไม่กี่ข้อหรอก เกิดพระเหลวไหลขึ้นมา พระพุทธเจ้าถึงต้องบัญญัติพระวินัยขึ้นมา ฉะนั้นพระเหลวไหลมีมาตลอด บางอย่างก็มีโทษเยอะ บางอย่างมีโทษน้อย ท่านอนุโลมตามกฎหมายด้วยบางเรื่อง อย่างเรื่องลักทรัพย์มีมูลค่า 5 มาสก สมัยก่อนแปลกันว่า 1 บาท ฉะนั้นถ้าพระขโมยเงิน 1 บาทถือว่าปาราชิก 5 มาสกไม่ได้แปลว่า 1 บาท 5 มาสกนั้นก็คือมูลค่าของทองคำ น้ำหนักเท่ากับ 20 เมล็ดข้าวเปลือก เพราะฉะนั้นแต่ละยุคราคามันไม่เท่ากัน ทำไมพระพุทธเจ้ากำหนดไว้ 5 มาสกให้ปาราชิก เพราะกฎหมายของราชคฤห์ตอนนั้น ใครขโมยเกิน 5 มาสกมีโทษประหาร ท่านก็อนุโลมตามกฎหมายบ้านเมือง พระเหลวไหลมีมาตลอด สมัยพุทธกาลก็มีก๊วนมีแกงค์ ยังมีก๊วนพระ 6 คนเรียกฉัพพัคคีย์ เป็นต้นอาบัติมากมาย มีพระอุทายีอยู่องค์หนึ่งไม่ใช่อุทายีที่ดี อุทายีเหลวไหล ชอบทำเรื่องเหลวไหลตลอดเวลา พระท่านก็เรียกองค์นี้ว่าโลฬุทายี

ฉะนั้นเราอย่าตกใจพระเหลวไหลยุคไหนก็มี พระพุทธเจ้ายังอยู่ก็ยังมีเลย เพราะฉะนั้นยุคนี้จะมีก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพียงแต่เราชาวพุทธเราต้องแยกให้ออกว่าอะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง อย่างพระบอกอ้างจะให้คนเข้าวัด ทำอะไรบ้าๆ บอๆ ขึ้นมา ดึงคนเข้าวัดอะไรอย่างนี้ หรือดึงคนเข้าหาธรรมะ ก็ในเมื่อเริ่มต้นผิดแล้วมันก็ไปดึงคนผิดมา มันไม่ได้ดึงคนที่ถูกเข้ามาหรอก อย่างบางวัดเขาเปลี่ยนศาลาการเปรียญของเขาเหมือนดิสโกเธคเลย เปิดเพลงแบบลุกขึ้นเต้นได้มันเลย บอกเพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้าวัด ก็ไปดึงคนซึ่งหลงโลกเข้ามา ไม่ได้สนใจธรรมะหรอก มันก็พลอยทำให้มาตรฐานธรรมะที่มีอยู่เดิมมันเสียไปด้วย หรือพระทำตัวเป็นตลกคาเฟอะไรอย่างนี้ บอกว่าจะดึงคนเข้าหาธรรมะ ก็ดึงคนเหลวไหลเข้ามา คนที่ดีเขาก็ไม่มา

ฉะนั้นเราต้องรู้จักจำแนก เราอย่าไปรู้สึกศาสนานี้เสื่อมเต็มทีแล้ว มีพระไม่ดีเยอะแยะ สมัยพระพุทธเจ้าก็มีพระไม่ดีเยอะแยะ เพราะว่าคนมันมีกิเลส มาบวชบางคนมาบวชเพื่อทำมาหากิน ตั้งแต่พุทธกาลก็มี อดอยากขึ้นมาไม่รู้จะหากินทางไหนออกมาบวช พอมาอิ่มหนำสำราญอ้วนท้วนดีแล้วก็สึก ออกไป ไปอยู่กับลูกกับเมียตัวเอง พออดอยากยากจนขึ้นมา กลับมาบวชอีกก็มี มีอยู่องค์หนึ่งบวชแล้วสึกๆ 7 ครั้ง จนครั้งสุดท้ายท่านถูกพระด้วยกันแซวว่าเมื่อไหร่จะสึก พระชอบถามท่านว่ารอบนี้ทำไมบวชนานยังไม่สึกอีก ท่านละอายใจ คนมีความละอายใจรู้ว่าตัวเองทำผิดก็ปรับปรุงแก้ไข ท่านก็ตั้งอกตั้งใจภาวนา สุดท้ายท่านองค์นี้ก็บรรลุพระอรหันต์ได้ ฉะนั้นคนที่เหลวไหลมาก่อนปรับตัวปรับใจได้ เดินอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องก็ยังพอเอาดีได้

เราเข้าใจโลก โลกมันก็อย่างนี้ล่ะ มันไม่เป็นไปอย่างใจอยาก โลกนี้วุ่นวาย โลกนี้ขัดข้อง ถ้าเราไปขัดข้องอยู่กับโลกด้วย ใจเราก็เศร้าหมอง แต่ถ้าเรารู้ว่าโลกมันเป็นอย่างนี้ ใจเราก็ไม่เศร้าหมอง ธรรมะประจำโลก “มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์” อย่างเราเห็นอะไรไม่ชอบใจก็ทุกข์ในโลก แต่ในทางธรรมไม่ขัดข้อง ไม่วุ่นวาย จิตที่ฝึกดีแล้วมีความสุข จิตที่ฝึกดีแล้ว การฝึกที่ดีนำความสุขมาให้จิตใจ เดินอยู่ในเส้นทางของศีล ของสมาธิ ของปัญญา จะเดินในเส้นทางของศีล ของสมาธิปัญญาได้ อาศัยสติ มีสติให้ถูกต้อง ศีลที่ไม่เคยมีมันก็จะมี ศีลที่มีแล้วมันก็จะงดงามหมดจดมากขึ้นๆ มีสติถูกต้อง สติถูกแล้วสมาธิซึ่งไม่เคยมี มันก็จะมีขึ้นมา แล้วสมาธิที่ดีมันก็จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นไป

 

“ถ้าเราเติบโตพอเราจะรู้ว่าโลกไม่เคยหมดสิ้นจากปัญหาหรอก
เราอยู่กันมันได้โดยไม่บาดเจ็บ อยู่กับมันได้โดยพัฒนาตัวเองได้
อยู่ด้วยความมีสติด้วย มีปัญญา สติกับปัญญาเป็นตัวสำคัญ”

 

ถ้าเรามีสติถูกต้อง เรามีสมาธิถูกต้อง ปัญญาที่ถูกต้องมันก็เกิดขึ้น เส้นทางไปสู่ความสะอาดหมดจด หลวงพ่อเข้าวัดตั้งแต่เด็กๆ ยุคแรกก็เจอพระในเมืองนั่นล่ะ แต่พระสมัยโน้นท่านเรียบร้อย กิริยามารยาทอะไรก็ยังงดงาม หลังๆ ท่านตามโลกกันไปหมด ทิ้งธรรมะไปหาโลกมันก็ดูไม่งดงาม หลวงพ่อยังพอได้เห็นพระดีๆ หลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ 30-40 องค์ ที่เคยเข้าไปกราบ เข้าไปศึกษา เข้าไปฟังธรรม บางองค์ก็ไปฟังธรรมโดยที่เราไม่ได้พูด ไม่ได้ถามอะไรกับท่าน เราไปสังเกตเอาท่านทำอย่างไร ท่านดูบริสุทธิ์หมดจด ดูงดงาม ท่านปฏิบัติอย่างไร ท่านสอนอะไรไปสังเกตเอา แล้วก็มาตรวจสอบตัวเองว่าอะไรที่เราบกพร่องอยู่ ส่วนหนึ่ง ส่วนใหญ่เลยที่ไปหาครูบาอาจารย์ไปสังเกตเอา

นักปฏิบัติไม่มานั่งฟังเลกเชอร์หรอก นักปฏิบัติจริงๆ พวกอยู่ในวัดนี่ ก็ต้องสังเกตเอาว่าครูบาอาจารย์ท่านอยู่อย่างไร มีวิธีประพฤติปฏิบัติอย่างไร สังเกตไปเรื่อยๆ แล้วเราก็ทำตาม อย่างครูบาอาจารย์เราไม่พูดเรื่องโลกๆ องค์ไหนชอบพูดเรื่องโลกๆ เข้าไปหาเจอปุ๊บ คุยแต่เรื่องโลกๆ หลวงพ่อถอยเลย อันนั้นเอาไว้ให้คนที่เขาสนใจเรื่องโลก แต่เราสนใจเรื่องธรรมะเราก็เลือกฟังธรรม เข้าไปหาครูบาอาจารย์ที่ท่านพูดธรรมะ หรือท่านแสดงธรรมะให้เราดู อย่างบางองค์ท่านพูดไม่ได้ บางช่วงท่านพูดไม่ได้แล้ว อย่างหลวงพ่อคำเขียน ตอนจะใกล้มรณภาพท่านพูดไม่ได้ ฉันอาหารอะไรก็ไม่ได้ หายใจก็ไม่ได้ต้องเจาะคอท่านตลอด ท่านก็แสดงธรรมให้เราฟัง เข้าไปนั่งอยู่ด้วย เราก็เห็นความสงบ ความเบิกบาน ธาตุขันธ์ใกล้จะแตกจะดับแล้ว แต่จิตใจของท่านสงบสุข มีความสงบสุข มีความเบิกบาน เราไปดูตัวอย่างที่ดีของนักปฏิบัติ

ฉะนั้นเวลาไปหาครูบาอาจารย์บางทีไม่ได้คุยกับท่าน แต่อาศัยไปดูท่าน ดูงดงาม ครูบาอาจารย์บางองค์งามมากเลย บางองค์กิริยามารยาทท่านโฉ่งฉ่าง อย่างพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงตามหาบัวอย่างนี้ โฉ่งฉ่างๆ กิริยามารยาทมองอย่างชาวโลกมอง ไม่สวย ไม่งาม แต่หลวงพ่อดูท่านงาม คือท่านไม่มีมารยา วาสนาท่านเป็นอย่างนั้นหลุกหลิกๆ อย่างนั้นแต่ท่านงาม ท่านไม่ได้สอพลอ หรือแกล้งแต่งขึ้นมาดรามาขึ้นมาให้มันดูดี อย่างหลวงปู่ดูลย์ท่านก็เคยพูดบอกว่า ตอนนั้นมีคนเอาผ้าห่มผ้านวมมาถวายท่าน เขาอยากมาถวายตั้งแต่หน้าหนาวแต่เขาไม่ว่าง กว่าจะมาได้ถึงฤดูร้อนแล้ว ฤดูร้อนเมืองสุรินทร์ร้อนจัด 40 กว่าองศา เข้าไปถึงถวายผ้าห่มผ้านวม แล้วบอกให้หลวงปู่ห่มหน่อยอยากถ่ายรูป หลวงปู่บอกไม่ต้อง ท่านห่มผ้าธรรมดาก็แย่อยู่แล้ว สุดท้ายท่านก็ไม่ยอม เขาก็ไป อุปัชฌาย์หลวงพ่อเจ้าคุณโพธิ์ เจ้าคุณสมศักดิ์ (พระราชวรคุณ) ไปถามหลวงปู่ ทำไมหลวงปู่ไม่ตามใจเขาหน่อย เขาจะได้มีความสุข เขาบอกว่าใจมันไม่รู้จักพอต่างหาก ถ้าตามใจไปเรื่อยมันก็ไม่รู้จักพอหรอก

ฉะนั้นทำอะไรมันก็ต้องมีเหตุมีผล ท่านไม่ตามใจ ท่านงามอย่างของท่าน ท่านงามแบบธรรมชาติเลย ท่านบอกว่าจะให้ท่านทำตัวให้สวยงาม เรียบร้อยอะไรอย่างนี้ท่านทำได้ ก่อนที่ท่านจะบวชท่านเคยเป็นดาราละครมาแล้ว ดาราละครโบราณไม่ใช่สมัยใหม่ เจ้าเมืองสุรินทร์เขามีละครของเจ้าเมือง ท่านเป็นนางเอกละคร ละครนอกเขาใช้ผู้ชายเล่นหมด ห้ามเอาผู้หญิงเล่น ละครใน คือละครในวังไม่มีผู้ชายเอาผู้หญิงเล่นหมด หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยเป็นนางเอก ท่านบอกให้ท่านแกล้งเรียบร้อย ให้ท่านแกล้งทำท่าทางน่าดูอย่างไรก็ทำได้ แต่ท่านไม่ทำหรอก ท่านเป็นอย่างนี้ เราไปดูท่านก็งามอย่างของท่าน ท่านก็งามแต่ท่านไม่ตามใจคน บางองค์ท่านก็ตามใจโยม โยมอยากได้อะไร อยากทำอะไร ขออะไรให้หมดเลย ท่านก็งามแบบของท่านอีก เราเข้าไปอยู่กับครูอาจารย์ไปเห็นแบบอย่างของแต่ละองค์ๆ ท่านงาม เวลาเข้าไปเรียนเข้าไปดู ยกเว้นมีข้อติดขัดจริงๆ ถึงจะเข้าไปถาม แล้วท่านก็แก้ปัญหาให้ แต่ส่วนใหญ่ก็แค่สังเกตเอา

ฉะนั้นอย่างเราอยู่ในสังคมทุกวันนี้ พระเยอะแยะเราก็หัดดูเอาว่าอันไหนของจริง อันไหนของปลอม ไม่ใช่คนเขาเห่ออะไรก็เห่อตามเขาไป นั่นไม่ใช่ลักษณะของมนุษย์ มนุษย์ผู้มีใจสูงรู้จักใช้เหตุผล ลักษณะเห่อตามๆ กันไป มันลักษณะของฝูงสัตว์ หัวหน้าฝูงมันวิ่งไปทางไหนลูกน้องมันก็วิ่งไปทางนั้น ฉะนั้นแล้วก็เลยอย่าไปตกใจว่า พระไม่ดีเยอะแยะ พระดีไม่มีข่าวต่างหาก ถ้าพระเลวๆ ทั้งหมด ป่านนี้ศาสนาพุทธก็หมดไปแล้ว เราอยู่กับโลกเข้าใจมัน ถ้าเราเข้าใจมันความจริงมันเป็นอย่างนี้ล่ะ เรารู้จักอยู่ อยู่ให้เป็นแล้วเย็นสบาย ถ้าอยู่ไม่เป็นแล้วร้อน ใจร้อนนั่นก็ไม่ดีนี่ก็แย่ ทุกอย่างแย่ไปหมดเลยชีวิตนี้ วันๆ หนึ่งคิดแต่เรื่องแย่ๆ จิตใจเราก็แย่ ถ้าวันๆ เรารู้จักเลือกสรร เสพสิ่งที่มันมีคุณค่าสิ่งที่ดีๆ ใจเราก็จะค่อยๆ ประณีตสงบขึ้นมา อย่างข่าวสารคนให้ความช่วยเหลือกับสังคมอะไรอย่างนี้ เราอ่านข่าวพวกนี้จิตใจเราเจริญ ดีกว่าอ่านข่าวที่ทำให้ใจเราเสื่อม รู้จักเลือกบริโภคบ้างข่าวไหนดูแล้วไม่ดี จิตใจจะเสียเราก็อย่าไปดูมัน

 

โลกไม่เคยว่างจากปัญหา แต่ใจเราว่างจากทุกข์ได้

ค่อยๆ รักษาตัวเองให้ดี ช่วงวิกฤตมันก็ใกล้จะจบแล้ว โควิดอะไรนี่อีกสัก 1 – 2 ปีมันก็จบแล้ว จบแล้วเรื่องอื่นมันก็มาวุ่นวายแทน โลกไม่เคยว่างจากความวุ่นวาย ธรรมชาติของโลกขัดข้องหนอวุ่นวายหนอ หมดเรื่องนี้ก็มีเรื่องโน้น ทุกวันนี้เราก็เห็นอยู่ว่าถัดจากนี้จะเกิดเรื่องอะไรอีก ความหวังว่ามันจะดีตลอด มันจะสงบ มันจะสุข เราจะได้มีเวลามาภาวนา นี่เป็นความหวังของเด็ก ถ้าเราเติบโตพอเราจะรู้โลกไม่เคยหมดสิ้นจากปัญหาหรอก ทำอย่างไรเราจะอยู่กันมันได้โดยไม่บาดเจ็บ อยู่กับมันได้โดยพัฒนาตัวเองได้ อยู่ด้วยความมีสติด้วย มีปัญญา สติกับปัญญานั่นล่ะเป็นตัวสำคัญ ปัญญานั้นก็ตัวสัมปชัญญะ มีสติสัมปชัญญะจะช่วยเราประคับประคองตัวเราในทุกๆ สถานการณ์ แล้วเรารู้เป้าหมายในชีวิตเรา

เป้าหมายหลักในชีวิตเราคือ การยกระดับจิตใจตัวเอง ไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น พ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย รู้หน้าที่แล้วเราก็ลงมือทำ เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายที่ถูกต้องของเรา ส่วนเรื่องโลกๆ นั้นอยู่กับมัน ทำมาหากินไปพึ่งตัวเองให้ได้ เพียงพออาศัยอยู่กับโลก ไม่ให้เป็นภาระของคนอื่น ไม่ให้ตัวเองลำบากเกินไป ไม่ให้คนที่เราต้องดูแลลำบากเกินไป ได้แค่นั้นดีแล้ว งานหลักจริงๆ คืองานพัฒนาใจของเรา คนอื่นเขาจะเป็นอย่างไรเรื่องของเขา หลวงพ่อบอกให้อย่างหนึ่ง ธรรมะไม่เคยสูญหายไปเลยจากโลก เราบอกศาสนาพุทธเสื่อมหมดแล้ว ธรรมะไม่เคยสูญหาย จะมีพระพุทธเจ้าหรือไม่มีพระพุทธเจ้า ธรรมะก็มีอยู่แล้ว ธรรมะคือสัจจะคือความจริง

เพราะฉะนั้นเราอย่าเอาธรรมะ ไปผูกพันไว้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเอาธรรมะแขวนไว้ก่อน ตอนนี้วุ่นวายกับโลกๆ ไปก่อน ปฏิบัติให้ได้ทุกวัน มีสติรู้เท่าทันจิตใจของเราไป ได้ยินข่าวอย่างนี้ ได้อ่านข่าวอย่างนี้ ใจเรากระเพื่อมอย่างนี้ มีสติรู้ทันเข้าไป รู้ทันจิตใจตัวเองบ่อยๆ รู้ไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะอยู่กับโลกโดยที่เราไม่ทุกข์มาก เพราะการที่เรามีสติ ปัญหาของโลกมันคือปัญหา มันไม่ใช่คือความทุกข์ ปัญหาทั้งหลายที่เราประสบมันจะกลายเป็นความทุกข์ มาแผดเผาใจเราได้ ใจเราต้องมีความอยาก มีตัณหา เพราะฉะนั้นตัวปัญหากับตัวความทุกข์มันคนละตัวกัน ในโลกไม่เคยหมดจากปัญหา บางทีปัญหานี้ยังไม่จบปัญหาใหม่ก็มาแล้ว ในขณะเดียวกันในสถานการณ์เดียวกัน มีตั้ง 10 ปัญหาพร้อมๆ กัน วุ่นวายสารพัด อันนี้จบอันโน้นขึ้นต่ออะไรอย่างนี้ จบไปเรื่องหนึ่งมาใหม่ 3 เรื่อง

โลกไม่เคยว่างจากปัญหา แต่ใจเราว่างจากทุกข์ได้ ปัญหากับทุกข์มันคนละตัวกัน ปัญหามันเรื่องของโลก ถ้าเราไม่เข้าไปยึดไปถือไม่มีความอยาก ว่าให้มันไม่มีตัณหา เกิดความอยากจะให้มันสงบให้มันดีตลอดเวลา เราเกิดได้รัฐบาลนี้ถูกใจ รัฐบาลนี้จะเจ๊งแล้วอะไรอย่างนี้ เสียใจเดือดร้อน นี่ปัญหา ปัญหาการเมืองทำให้จิตใจเราเศร้าหมอง ปัญหาสุขภาพอยู่ๆ คนในบ้านเราติดโควิดตั้งหลายคน บางคนแก่หน่อยตายไปแล้ว นี้คือปัญหาไม่ใช่ทุกข์ จะเป็นทุกข์ต่อเมื่อเราอยากให้ทุกคนไม่ติดโควิด อยากให้ทุกคนในบ้านเราแข็งแรงมีความสุข เวลามีความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์ถึงจะเกิดขึ้น แล้วเวลาปัญหาเกิดขึ้นความทุกข์ยังไม่เกิดหรอก ต้องเกิดความอยากเกิดตัณหาเสียก่อน ก็คืออยากให้มันไม่มีปัญหา นั่นล่ะตัวตัณหา ถ้าใจเรายอมรับได้โลกมันเป็นอย่างนี้ กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง ได้มาเสียไปเป็นเรื่องธรรมชาติของโลก ใจยอมรับตรงนี้ได้ ใจไม่ได้มีตัณหาเกิดขึ้นใจก็ไม่ทุกข์ ปัญหาส่วนปัญหาแต่ใจไม่ทุกข์ เราสามารถอยู่กับโลกที่วุ่นวายได้ โดยใจไม่ทุกข์

 

ตัวที่ทำให้ใจเราทุกข์คือตัวตัณหา

ฉะนั้นตัวที่ทำให้ใจเราทุกข์ขึ้นมาทุกครั้งที่โลกมีปัญหาก็คือตัวตัณหา ตัวความอยากนั่นเอง เรามีสติรู้ทันลงไป ใจมันอยากขึ้นมารู้ทัน ความอยากมันก็จะดับชั่วคราวไป ตรงที่ความอยากมันดับความทุกข์มันก็ดับ เดี๋ยวอยากใหม่ทุกข์ใหม่ อยากใหม่ทุกข์ใหม่ จนวันหนึ่งสติปัญญาเราแก่กล้า เรารู้โลกอย่างแจ่มแจ้งเรียก โลกวิทู ผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง โลกทั้งที่เป็นรูปธรรม โลกทั้งที่เป็นนามธรรม มันกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงอย่างนี้ล่ะ สุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว สงบหรือฟุ้งซ่าน นินทาหรือสรรเสริญ มีลาภหรือหมดลาภ มียศแล้วหมดยศอะไรอย่างนี้ ธรรมะที่เป็นคู่ๆๆ ทั้งหลาย เป็นของประจำโลก

ถ้าใจมันเดินปัญญาไปเรื่อย ใจมันฉลาดมันเจริญสติเจริญปัญญาไป อบรมกล่อมเกลาใจมันฉลาด ใจมันเข้าใจโลกเป็นอย่างนี้ กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง ความอยากที่จะให้โลกนี้มันดีตลอด ไม่เกิดขึ้นแล้ว เพราะรู้ว่าโลกนี้มันกระเพื่อม อยากให้มันดีมันก็ดีไม่ได้หรอก อยากให้มันไม่เกิดปัญหาก็ไม่ได้ เวลาปัญหามันจะเกิดมันก็เกิด เพราะฉะนั้นเราแยกให้ออก ระหว่างปัญหากับทุกข์ ปัญหานั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในโลก ก็ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมา อย่างแต่เดิมที่บ้านเราสมัยปู่ย่าตายายเราทำร้านโชห่วย ก็ทำมาได้หากินมาได้ รวยกว่าคนในหมู่บ้าน ร้านโชห่วยบ้านนอกอย่างนี้ สมัยก่อนรวยกว่าคนในหมู่บ้าน ต่อมาธุรกิจมันเปลี่ยน สังคมมันเปลี่ยน เศรษฐกิจมันเปลี่ยน ร้านโชห่วยอยู่ไม่ได้แล้ว สู้ร้านที่มียี่ห้อไม่ได้ มันมาตั้งในหมู่บ้าน ร้านโชห่วยเจ๊งเลย ถ้าเราคิดว่าร้านโชห่วยจะต้องอมตะเราทุกข์ตายเลย กิจการตัวนี้อยู่ไม่ได้แล้ว อยู่ไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยน ทำอย่างไรจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ก็ทุกข์เยอะ

ฉะนั้นถ้าปรับตัวได้ก็อยู่กับโลกพออยู่ได้ ปรับตัวไม่ได้ปัญหามันจะเกิด ถ้าปัญหาเกิดแล้วใจไม่รู้จักธรรมะด้วย มันจะกลายเป็นตัวทุกข์ขึ้นมา อย่างแถวเมืองชลบุรีนี้ล่ะตัวอย่างเห็นง่ายๆ เลย เขาตัดทางด่วนลอยฟ้ามา พอถึงชลบุรีคนเมืองชลฯ ประท้วงไม่ให้ตัดถนนลอยฟ้า ให้ข้ามเมืองชลฯ ไป ต้องลงตรงนี้ล่ะเพื่อเขาจะได้ ชาวบ้านจะได้ลงจากทางด่วนมาเดินริมถนน จะได้มาซื้อของตามตึกแถวอะไรอย่างนี้ ใฝ่ฝันแบบที่ไม่รู้จักพัฒนาการของโลกเลย ถึงจะมีตึกแถวมีร้านค้าอยู่สุดท้ายก็เจ๊งหมด คนเขาเข้าห้างไปหมดแล้ว

ถ้าไม่รู้จักปรับตัว เข้าใจสังคมไม่ได้ ปรับตัวไม่ได้ ปัญหามันรุนแรง มันถึงขั้นจะอดตายเอา จะเรียกร้องให้ใครช่วย ใครจะช่วยใครไหว ฉะนั้นต้องปรับตัวให้ได้ ถ้าปรับตัวไม่ได้ความทุกข์มันเกิด ถึงคนปรับตัวได้ก็ทุกข์ได้ อย่างคนที่ทำธุรกิจเก่งๆ อะไรนี่มันมีปัญหารายวันเกิดขึ้นตลอด บางทีกำไรแค่นี้แล้วอยากกำไรมากกว่านี้อีก มีความอยากเกิดขึ้นแล้ว ถามว่าทุกข์ไหม ทุกข์แน่นอน กำไรปีนี้ 5,000 ล้านแล้ว อยากมากกว่านี้ก็ทุกข์แล้ว ฉะนั้นตัวที่ทำให้เกิดทุกข์ก็คือตัวตัณหา ตัวความอยากของเราเอง ฉะนั้นเราหัดภาวนาไปเรื่อยๆ ถ้าเราเข้าใจธรรมดาของโลกเป็นอย่างนี้ เจริญแล้วเสื่อมในทุกด้าน สุขได้ก็ทุกข์ได้ ดีได้ก็ชั่วได้ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ นี้คือธรรมะประจำโลก คือธรรมดาของโลกเป็นอย่างนี้

ถ้าใจยอมรับว่าโลกต้องเป็นอย่างนี้ ตัณหามันจะไม่เกิด แล้วยิ่งถ้าเราภาวนาได้ประณีตลึกซึ้ง เรารู้ว่ารูปนามกายใจของเรานี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หมดความยึดถือในรูปนามกายใจ คราวนี้เราจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง อันนั้นทุกข์ทางโลก ถ้ามีปัญหาในโลกแล้วเรารู้จักว่าโลกมันเป็นอย่างนั้น มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ ใจก็จะไม่ดิ้นรนไม่อยากมาก อยากนิดๆ หน่อยๆ ก็ทุกข์นิดๆ หน่อยๆ ไป แต่ในทางธรรมถ้าเราอยากพ้นโลก เราเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจไป ให้เข้าใจความจริงของรูปนามกายใจ คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี้ล่ะ

ถ้าเราเรียนรู้อย่างนี้ได้ ตัณหาจะไม่เกิดอีกแล้ว ตัณหามีมากมายก่ายกองนับจำนวนไม่ถ้วน คนโบราณชอบบอกว่า “กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด” อะไรอย่างนี้ แหมตัณหามีตั้งร้อยแปดชนิด เยอะแยะไปหมด ที่จริงแล้วย่อๆ ลงมาก็เหลือนิดเดียว คืออยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ มันก็แค่นั้น อยากรวยคิดว่าถ้ารวยแล้วจะได้ซื้ออะไรก็ได้ ทางร่างกายก็มีความสุข เจ็บป่วยหมอก็รักษาได้อะไรอย่างนี้ เพราะจริงๆ แล้ว ก็คืออยากรวยขึ้นมาก็เพราะว่าอยาก รักกายรักใจ รวยแล้วมีชื่อเสียงคนนับถือ ไปไหนก็มีคนยกย่อง อันนี้เป็นอาหารของใจ ก็เป็นความหิวของใจ

 

ความอยากทั้งหมดย่อลงมาก็คือ
อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์
ถ้าเราภาวนาลงไปเรื่อย กายนี้คือตัวทุกข์ ใจนี้คือตัวทุกข์
เห็นความจริงอย่างนี้ มันจะหมดความอยากอัตโนมัติ

 

เพราะฉะนั้นความอยากทั้งหมดย่อลงมา ก็คืออยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ถ้าเราภาวนาลงไปเรื่อย กายนี้คือตัวทุกข์ ใจนี้คือตัวทุกข์ เห็นความจริงอย่างนี้ มันจะหมดความอยากอัตโนมัติ มันจะอยากให้กายให้ใจเป็นสุขได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นตัวทุกข์ จะอยากให้มันไม่ทุกข์ได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นตัวทุกข์ เรียนให้มันเห็นของจริง อยู่กับโลกก็เรียนธรรมะของโลกให้เข้าใจ ธรรมะของโลกก็คือโลกธรรม เป็นธรรมดาต้องเป็นอย่างนี้ ปัญหามันเกิด

อย่างเราเคยได้รับผลประโยชน์แล้วเสื่อมไป เสื่อมลาภไม่ได้รับผลประโยชน์นี้เป็นปัญหา เคยมียศมีตำแหน่งมีชื่อเสียง แล้ววันหนึ่งเสื่อมไปนี้เป็นปัญหา ถูกนินทาว่าร้ายอะไรนี้เป็นปัญหา มีความสุขอยู่แล้ว เจ็บไข้ได้ป่วยมาอะไร เป็นปัญหา มีทุกข์ สุขแล้วก็ทุกข์เป็นของคู่กัน

ถ้าใจมันยอมรับว่ามันเป็นเรื่องธรรมดามันจะไม่ทุกข์มาก จะเหลือทุกข์น้อยแต่ไม่ถึงขนาดพ้นทุกข์ไปเลยหรอก จะพ้นทุกข์ไปเลยต้องเห็นความจริงลึกกว่านั้น ไม่ใช่แค่เห็นโลกแค่นั้นแต่ต้องเห็นโลกภายใน อันนั้นโลกข้างนอก ก็เห็นว่ามันตกอยู่ใต้โลกธรรม 8 ประการ ส่วนโลกภายในก็คือรูปธรรมนามธรรม กายใจของเรานี้ล่ะเป็นโลก เรียกโลกภายใน ตัวนี้ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ดูลงไปมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เห็นจริงๆ แล้วมันจะไม่ยึดถือในรูปนาม ถ้าไม่ยึดถือในรูปมันจะไม่ทุกข์เพราะรูป ไม่ยึดถือในนาม อย่างไม่ยึดถือจิตใจอะไรอย่างนี้ ก็จะไม่ทุกข์เพราะนาม ไม่ทุกข์เพราะจิตใจ

 

ธรรมะเพื่อพ้นโลก

ทางออกมันมี จะอยู่กับโลกแบบทุกข์น้อยๆ ก็มีทางออกให้ คือเข้าใจมันว่าเป็นโลกธรรม จะพ้นโลกจะฝึกจิตให้มันอยู่เหนือโลกจริงๆ พ้นทุกข์เด็ดขาดจริงๆ ก็มีทางให้ เห็นไหมพระพุทธเจ้าท่านเก่งขนาดนี้ สอนธรรมะเพื่ออยู่กับโลกด้วย สอนธรรมะเพื่อพ้นโลกด้วย คนส่วนหนึ่งอินทรีย์แก่กล้าแล้ว ก็เรียนธรรมะที่จะพ้นจากโลก คือเรียนรู้รูปนามกายใจไป คนซึ่งอินทรีย์ยังอ่อนจะต้องอยู่กับโลก ก็เรียนรู้ธรรมะประจำโลก คือโลกธรรม เรียนไปอย่างนี้แล้วมันจะทุกข์น้อยลง มีปัญหาเกิดขึ้นตลอดเวลาเราจะไม่มีความอยากว่า โลกนี้จะต้องไม่มีปัญหา โลกนี้จะต้องมีแต่สันติภาพ มนุษย์ทุกคนจะต้องมีอิสรภาพ มีเสรีภาพ สารพัดภาพทั้งหลาย ชื่อมันก็บอกแล้วมันเป็นแค่ภาพเท่านั้น มันไม่มีจริง

โลกมีสันติภาพจริงไหม ไม่เคยมี มนุษย์มีเสรีภาพจริงไหม ไม่มีจริง นักปราชญ์โบราณเขาพูดไว้บอก “มนุษย์มีเสรีภาพ แต่ทุกหนทุกแห่งมีพันธนาการ” ไม่มีเสรีภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ เสรีภาพ 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อไร มันก็ไปกระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่นเขา ไม่มีหรอก เพราะฉะนั้นโลกธรรมดาเป็นอย่างนี้ เจริญแล้วเสื่อม สุขแล้วทุกข์ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์เป็นของธรรมดาประจำโลก ถ้าใจยอมรับตรงนี้ได้ใจจะทุกข์น้อย ปัญหาของโลกจะกระทบเข้ามาไม่ถึงใจ มันก็จะเหลือแต่ปัญหาของรูปนามกายใจของตัวเองนั่นล่ะ

ถ้าเรียนเข้ามาตรงนี้เป็นทางพ้นโลก ถ้าจะอยู่กับโลกแบบทุกข์น้อยก็เข้าใจโลก ถ้าอยากพ้นโลกก็เข้าใจโลกภายใน คือรูปนามกายใจของตัวเอง มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูของจริง ไม่ต้องไปคิดเอาว่าเที่ยงไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือเป็นสุข เป็นอนัตตาหรือเป็นอัตตา ไม่ต้องคิดหรอกดูจากของจริง ร่างกายนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง ดูจากของจริง ร่างกายนี้เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวก็หายใจออก ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ยืน เดี๋ยวก็เดิน เดี๋ยวก็นั่ง เดี๋ยวก็นอน ไม่เที่ยง ช่วงหนึ่งเป็นเด็ก ช่วงหนึ่งเป็นวัยรุ่น ช่วงหนึ่งเป็นหนุ่มสาว ช่วงหนึ่งเป็นคนกลางคน ช่วงหนึ่งเป็นคนแก่ ช่วงหนึ่งเป็นคนแก่มาก ร่างกายนี้ไม่เที่ยงหรอก ร่างกายเคยแข็งแรงแล้วเจ็บป่วย ร่างกายไม่เที่ยงหรอก ความจริงมันสอนอยู่แล้ว แต่เรายอมรับความจริงไม่ได้

ฉะนั้นการทำวิปัสสนากรรมฐาน คือการดูความจริง ดูให้เห็นความจริงของกายของรูปนี้ ดูให้เห็นความจริงของจิตใจ จิตใจเที่ยงไหม เราไปทำอะไรมาสักอย่างให้มีความสุข ความสุขอยู่ประเดี๋ยวเดียวก็หายไปแล้ว ความสุขไม่เที่ยง ความทุกข์เที่ยงไหม บางคนบอกว่าอกหักต้องทุกข์ตลอดชีวิตแล้ว นกในหัวใจเคยร้องเพลง โลกเคยเป็นสีชมพู ตอนนี้อกหักแล้ว ชาตินี้นกจะไม่ร้องเพลงอีกต่อไปแล้ว ฟ้าจะไม่เป็นสีชมพูอีกแล้ว ไม่นานเลยนกร้องเพลงอีกแล้ว ในใจนี้คือกระดี๊กระด๊ามีความสุข หาคนอื่นต่อไปอีก

ถ้าเข้าใจจิตใจนี้ไม่เที่ยง ถึงจะทุกข์แสนทุกข์ก็ไม่เที่ยง บางคนลูกตายทุกข์มาก เวลาลูกตายเรานึกไม่ถึง แต่ว่าพอผ่านไปหลายๆ ปี มันไม่เจ็บ ไม่เจ็บเท่าตอนที่มันตายทีแรกแล้ว ใจเรามันยอมรับความจริงได้แล้วว่า เขาตายไปแล้ว ฉะนั้นมันยอมรับ ยอมรับว่ามันเกิดแล้วมันต้องตายขึ้นมานี่มันจะไม่ทุกข์ เรายอมรับไป ตัวกายนี้ ตัวจิตใจนี้ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก่อนจะยอมรับได้ ก็คือดูมันเรื่อยๆ ไป ดูร่างกายนี้มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง มันสุขหรือมันทุกข์ มันบังคับได้หรือบังคับไม่ได้

ดูของจริงไปเรื่อยๆ จิตใจเราก็ดูของจริงไปเรื่อยๆ มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง จิตใจนี้ดูง่ายเลยเรื่องเที่ยงไม่เที่ยง เพราะจิตใจเปลี่ยนตลอดเวลา กระทั่งนั่งฟังธรรมเดี๋ยวก็อยากฟัง เดี๋ยวก็เบื่ออะไรอย่างนี้ เปลี่ยนตลอดเวลาเลย เดี๋ยวก็ขี้เกียจขึ้นมา วันนี้ขยันอยากเดินจงกรมสัก 3 ชั่วโมง เดินไป 10 นาทีขี้เกียจแล้ว ฉะนั้นจิตมันเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นจิตใจนี่แสดงอนิจจังได้เร็วมากเลย ร่างกายแสดงอนิจจังได้ช้ากว่าจิต จิตแสดงอนิจจังได้เร็ว แล้วจิตนี้แสดงอนัตตาง่าย อนัตตาก็คือบังคับไม่ได้ สั่งให้สุขตลอดไม่ได้ ห้ามทุกข์ห้ามไม่ได้ สั่งให้ดีไม่ได้ ห้ามชั่วไม่ได้อะไรอย่างนี้ สั่งให้สงบก็ไม่ได้ ห้ามฟุ้งซ่านก็ไม่ได้

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเลย จิตนี้เราบังคับไม่ได้จริงหรอก แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้ บังคับไม่ได้แต่เราทำเหตุของมัน ค่อยๆ อบรม ค่อยๆ สั่งสอนมันไป จิตมันเหมือนเด็ก เราบังคับเด็กให้เป็นตามที่เราต้องการไม่ได้ แต่เราให้การศึกษากับเด็กได้ เราให้การศึกษาแล้วบางทีเด็กก็ไปในทางที่เราต้องการ แต่บางคนก็ไม่ไปตามที่เราต้องการ อย่างเราให้การศึกษาอย่างดีเลย กะว่ามันจะต้องไปเรียนหมอ หนอย มันไม่ยอมเรียนหมอ ไปเป็นหมอนวดเสียเฉยเลยอย่างนี้ เราบังคับไม่ได้จริง กระทั่งลูกเรา เรายังบังคับไม่ได้จริงเลย จิตเหมือนกับเด็ก จิตเหมือนกับลูกเรา เราสั่งไม่ได้ เราบังคับไม่ได้ เราทำได้แค่ให้โอกาสให้การศึกษาเท่านั้น การให้การศึกษากับจิตก็คือ การเจริญไตรสิกขา ให้การศึกษาเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา นั่นล่ะ

คำว่า สิกขา แปลว่าศึกษา อันนี้เป็นการให้การศึกษากับจิต ศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจจากคนไม่มีศีลให้มีศีล พัฒนาจิตใจที่ฟุ้งซ่านให้มาเป็นจิตใจที่อยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจไม่เคยสงบพัฒนาให้สงบสุข หรือพัฒนาให้เกิดปัญญา ไม่เคยเห็นความจริงของโลก ไม่เคยเห็นความจริงของชีวิตก็ได้เห็น เรียกว่าพัฒนา เรียกว่าศึกษา เรียกว่าไตรสิกขา คือการศึกษา 3 เรื่อง เพื่อจะได้พ้นโลกไป ฉะนั้นเราก็ต้องทำสิ่งเหล่านี้ ค่อยๆ เรียนค่อยๆ รู้ไปฝึกทุกวันๆ ถ้าอยากพ้นโลกก็ดูกายอย่างที่กายเป็น ดูใจอย่างที่ใจเป็นไป มันเข้าใจความจริงของกายก็ไม่ทุกข์เพราะกายแล้ว เพราะไม่ยึดถือ เข้าใจความเป็นจริงของจิตใจก็ไม่ทุกข์เพราะจิตใจ เพราะไม่ยึดถือ เมื่อยึดถือเมื่อไรก็ทุกข์ล่ะ

 

อยู่กับโลกปรับตัวได้ก็ทุกข์น้อยหน่อย ในทางธรรมเห็นความจริงแล้วก็พ้นทุกข์ถาวร

 

ส่วนทางโลกก็ต้องทำความเข้าใจมัน เคยหากินง่าย เคยรวยอะไรอย่างนี้ สุดท้ายอาจจะหากินยาก ไม่ค่อยจะรวยแล้ว ไม่ค่อยจะมีกิน ธรรมดาโลกเป็นอย่างนั้น ค่อยๆ ปรับตัว คนไหนปรับตัวไม่ได้ก็แพ้ไป ถ้าอยู่ทางโลกปรับตัวไม่ได้กิจการเราก็เจ๊งไป มนุษย์ต้องรู้จักปรับตัว สัตว์มันยังปรับตัวเป็นเลย อย่างแมวเกิดในประเทศหนาวขนมันก็ยาว แมวในเมืองไทยก็ขนสั้นๆ หน่อย ขนยาวเกินไปอยู่ไม่สบาย ต้นไม้ก็รู้จักปรับตัว อย่างที่วัดปลูกต้นไม้สารพัดเลย พระอาจารย์อ๊าพาพระปลูกต้นไม้ไว้นานาชนิดเลย หลากหลายมากเลย ปลูกไปช่วงหนึ่งต้นไม้บางอย่างตายไป บางอย่างเจริญงอกงาม ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ต้นไม้ก็ต้องปรับตัว ต้นไม้บางอย่างปรับตัวไม่ได้ เข้ากับดินตรงนี้ไม่ได้ เข้ากับน้ำตรงนี้ไม่ได้ เข้ากับความชื้นอย่างนี้ไม่ได้ มันก็อยู่ไม่ได้ อย่างต้นไม้โยมชอบเอามาถวายในวัดนี้ มาเรื่อยๆ แล้วมันก็ล้มหายตายจากเป็นจำนวนมาก เพราะเราชอบเอาไม้ดอกไม้ประดับอะไรอย่างนี้มาถวาย ในวัดนี้มันเป็นป่า ไม้ดอกไม้ประดับมันไม่ขึ้นในป่าหรอก มันไม่มีแดด มันก็ตายหมด ต้นไม้มันยังต้องปรับตัวเลย

ต้นไม้บางอย่างก็ปรับตัวให้อยู่รอด เพื่อจะอยู่รอดต้องปรับตัว สัตว์ก็ปรับตัว พืชก็ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด มนุษย์ก็ต้องรู้จักปรับตัว ไม่ใช่ร้องแรกแหกกระเชอ อยากให้โลกหยุดนิ่ง นั่นไร้สาระที่สุดเลย อยากให้ทุกอย่างหยุดนิ่ง ก็ต้องปรับตัวให้ได้ ปรับตัวยังไม่ได้เพราะการเรียนรู้ยังไม่พอ หัดเรียนรู้เสียบ้าง ถ้าไม่รู้จักเรียนรู้ว่าโลกเขาไปถึงไหนแล้ว ก็ไม่มีทางปรับตัวหรอก ในทางโลกก็ปรับไปเรื่อยๆ ก็อยู่กับโลก ในทางธรรมเห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นใจอย่างที่ใจเป็น อยู่กับโลกปรับตัวได้ก็ทุกข์น้อยหน่อย ในทางธรรมเห็นความจริงแล้วก็พ้นทุกข์ถาวร.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
11 กันยายน 2564