มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง

เวลานั่งสมาธิอย่าไปนั่งให้มันเคลิ้ม นั่งแล้วก็หลับๆ รู้สึกตัวไว้ จะทำอะไรก็คอยรู้สึกตัวไว้ แต่ก่อนหลวงพ่อเรียนกับหลวงพ่อพุธ ท่านสอนดีบอก ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีสติไว้ อย่างเรานั่งอยู่อย่างนี้ มีสติในการนั่ง เคลื่อนไหวอย่างนี้ มีสติ เวลาใจมันคิด มีสติรู้ทันใจตัวเอง ความทุกข์ทั้งหลายทางใจส่วนมากมันก็ตามหลังความคิดมา คิดแล้วก็เดือดร้อนตัวเองบางที ฉะนั้นให้เรามีสติ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกิน จะดื่ม จะทำต่างๆ อย่างกวาดบ้าน ถูบ้าน ขับรถ ทำ พูด คิด มีสติกำกับไว้

 

ถ้าเรามีสติ ดูแลจิตใจตัวเองได้ดี กิเลสไม่ครอบงำจิตใจ การกระทำและคำพูดมันก็ดีไปด้วย

 

ฉะนั้นการที่เราจะเคลื่อนไหวทางร่างกาย มีพฤติกรรมทางกาย มีพฤติกรรมทางวาจา มีพฤติกรรมทางใจ พฤติกรรมทางใจส่วนใหญ่ก็เรื่องคิด มีสติกำกับ การปฏิบัติเราจะทำได้ต่อเนื่องไม่ขาดสายตั้งแต่ตื่นจนหลับ ยกเว้นจำเป็นต้องทำงานที่ต้องคิด อันนั้นจำเป็น เวลาที่เหลือมีพฤติกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ มีสติ คอยรู้เท่าทันไป พฤติกรรมทางร่างกาย มันเกิดขึ้น ร่างกายจะยืน เดิน นั่งนอน จะคู้ จะเหยียด จะเหลียวซ้ายแลขวาอะไร จิตมันสั่ง พฤติกรรมทางวาจา จะพูดดี พูดชั่ว ก็เพราะจิตมันสั่ง จิตมันคิดก่อน ฉะนั้นตัวหัวโจกเลยที่เราจะภาวนาแล้วได้ดีจริงๆ คือมีสติดูแลจิตใจของตัวเองให้ดี ถ้าเรามีสติ ดูแลจิตใจตัวเองได้ดี กิเลสไม่ครอบงำจิตใจ การกระทำและคำพูดมันก็ดีไปด้วย

อย่างบางทีส่วนใหญ่ไปสังเกตดู ความทุกข์มันมาจากความคิดของเราเยอะมากเลย อย่างคนเขาด่าเราประโยคเดียวตั้งหลายปีแล้ว มันยังเจ็บใจไม่หาย มันเจ็บใจขึ้นทุกครั้งที่เราคิด มันมาด่าเราเรื่องนี้ๆ อะไรอย่างนี้ แล้วมันทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำอีก คำด่าของเขามันจบไปตั้งนานแล้ว ใจเรายังเศร้าหมองอยู่ไม่หาย ค่อยๆ เรียนรู้จิตใจของตัวเองให้ดี ถ้าจิตมันดีแล้ว กาย วาจา มันก็ดีไปด้วย ถ้าจิตมันเลว กายวาจา มันก็เลวไปด้วย บางทีกิเลสมันผลักดันใจเรา โทสะผลักดัน ปากเราก็ไปด่าเขา ไปกระแนะกระแหน ประชดประชันอะไรอย่างนี้ วาจามันก็เป็นไปตามที่จิตมันสั่งอีก มันคิดการกระทำ อย่างผู้หญิงก็ไปค้อนเขา ไปตบ ไปตี ไปข่วนเขา ผู้ชายก็ไปชก ไปเตะเขาอะไรอย่างนี้ เพราะกิเลสมันครอบงำจิต

เวลากิเลสครอบงำจิต ไม่เฉพาะโทสะหรอก ราคะก็ครอบงำได้ อย่างราคะครอบงำจิต เวลาไปคุยกับสาว ก็ต้องทำตาหวานๆ พูดจาให้ดูดีอะไรนี่ ปรุงแต่งกายวาจา ให้ประทับใจอะไรนี่ นี่กิเลสมันบงการให้ทำ ฉะนั้นอย่างท่านที่ภาวนาจนกิเลสย้อมจิตใจท่านไม่ได้แล้ว พฤติกรรมทางกาย ทางวาจาของท่านเป็นธรรมชาติล้วนๆ เคยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่แกล้ง ไม่แกล้งทำดีพูดดีอะไร เป็นธรรมชาติอย่างนั้น ฉะนั้นพฤติกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ ตัวสำคัญที่สุดที่เราต้องคอยรู้ก็คือใจของเราเอง

เวลาเรารู้เท่าทันอยู่ที่จิตที่ใจเรา เราจะเจอว่า เดี๋ยวมันก็สุข เดี๋ยวมันก็ทุกข์ เดี๋ยวก็โลภแล้วก็ไม่โลภ โกรธแล้วก็ไม่โกรธ หลงแล้วก็ไม่หลง ฟุ้งซ่านแล้วก็หดหู่ จิตใจมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่คงที่ ตรงที่มันไม่คงที่ มีแล้วไม่มี เรียกอนิจจัง ตรงที่เราบังคับมันไม่ได้ มันเป็นของมันเอง อย่างมันมีความสุขอย่างนี้ เราสั่งให้จิตใจมีความสุข มันสั่งไม่ได้ แต่จิตถ้าเราฝึกไว้ดี เราฝึกดี จิตถึงจะเป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ก็จริง แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้ อย่างเราสั่งให้จิตมีความสุข เราทำไม่ได้ แต่เราฝึกสมาธิให้ชำนาญ เราทำสมาธิไป จิตมันก็มีความสุขของมันเอง มันมีความสุขเพราะเราทำสมาธิ ไม่ใช่มีความสุข เพราะเราสั่งให้มีความสุข คนละเรื่องกัน

ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ เผลอเมื่อไหร่กิเลสก็มาเมื่อนั้น อย่างเราใจลอย มีกายลืมกาย มีใจลืมใจ ใจลอยไป กิเลสมันก็แทรก ตรงที่ใจลอย จิตมีความฟุ้งซ่านเรียบร้อยไปแล้ว มีโมหะเรียบร้อยไปแล้ว มันหลงไปก่อน ใจลอยไปก่อนแล้วก็ไปคิดปรุงแต่ง เกิดโลภ เกิดโกรธอะไรขึ้นมาตามหลังความหลง ตอนที่โกรธ ความหลงก็ยังอยู่ ถ้าเมื่อไหร่ไม่หลง มีสติ มีปัญญาขึ้นมา กิเลสมันดับทันที

 

จิตเป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้

เราค่อยๆ มีสติสังเกตจิตใจตัวเองเรื่อยๆ ไป มันปรุงแต่ง ปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงสุข ปรุงทุกข์ รู้ทันมัน ปรุงชอบ ปรุงไม่ชอบ รู้ทันมันไป ในที่สุดจิตก็เข้าสู่ความเป็นกลาง อย่างจิตเราชอบอย่างนี้ เรามีสติรู้ทันว่ามันชอบ ความชอบจะดับ จิตมันไม่ชอบ เรามีสติรู้ทันว่าจิตมันไม่ชอบ ความไม่ชอบก็ดับ จิตก็เป็นกลาง อยู่ๆ เราไปสั่งให้จิตเป็นกลาง สั่งไม่ได้ บอกแล้วว่าจิตเป็นอนัตตา แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้ เราฝึกมีสติรู้ทันจิตที่ชอบ จิตที่ไม่ชอบเรื่อยๆ ไป ต่อไปพอมันชอบปุ๊บ สติรู้ทันปั๊บ ความชอบดับเอง ความชอบมันดับได้ ไม่ใช่เพราะเราสั่งให้ดับ แต่มันดับเพราะเรามีสติขึ้นมา กิเลสมันดับของมันเอง ไม่ใช่เพราะเราสั่ง นี่จิตเป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้ ฉะนั้นเราฝึกให้ดี ค่อยๆ ฝึกทุกวันๆ มีสติเรียนรู้จิตใจตัวเองไปนั่นล่ะ แล้วมันจะค่อยพัฒนา

เวลาเราต้องการให้จิตพักผ่อน อยู่ๆ สั่งให้จิตมันพักผ่อน มันไม่หยุดหรอก มันก็คิดไปเรื่อยๆ แทนที่เราจะปล่อยให้มันคิดร้อยเรื่องพันเรื่อง ให้มันมาคิดเรื่องเดียว เช่น มาคิดพุทโธๆๆ ไป ไม่ไปคิดเรื่องอื่น พอจิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว เดี๋ยวจิตก็สงบ จิตสงบเพราะมันไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข ไม่ใช่สงบเพราะเราสั่ง ค่อยๆ สังเกตให้ดี จิตเป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้ ฝึกมัน ทำเหตุอย่างนี้ก็จะมีผลอย่างนี้ อย่างเราทำเหตุชั่ว ดูอินเทอร์เน็ต ดูเฟซบุ๊กอะไรอย่างนี้ อ่านข่าวนี้แล้วก็คอมเมนต์ นี่เราฝึกเหตุฟุ้งซ่าน

บางทีก็ราคะแทรก บางทีก็โทสะแทรก อาศัยฟุ้งซ่านเป็นตัวตั้ง คือตัวโมหะ เป็นตัวตั้ง ราคะ โทสะ มันก็เกิด ถ้าเรามีสติคอยดูแลรักษาจิตอยู่ กิเลสเกิดปุ๊บรู้ทัน ถ้ารู้ถูกต้องกิเลสจะดับทันที ถ้ารู้ไม่ถูกต้อง เช่น เห็นกิเลสเกิดขึ้นแล้วอยากให้กิเลสดับ ไม่ชอบกิเลส อันนี้จิตไม่เป็นกลาง จิตยินร้ายกับกิเลส กิเลสไม่ดับหรอก เพราะกิเลสกำลังเกิดก็คือความยินร้าย ตัวโทสะ มันเกิด ถ้าเราอ่านจิตอ่านใจตัวเองได้ชำนิชำนาญ จิตมันมีโทสะ มีขึ้นมา ใจมันไม่ชอบ มันมีโทสะซ้อนอีกตัวหนึ่งแล้ว เรามีสติรู้ทันลงไป ความไม่ชอบดับ จิตก็เป็นกลาง พอจิตเป็นกลางปุ๊บ จิตก็ทรงสมาธิเป็นกลาง มันจะเห็นเลย ตัวโทสะอันนั้นเป็นของที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ แล้วปัญญามันก็เกิด

ค่อยๆ ฝึกเรื่อยๆ ไป มีสติรู้กาย วาจา ใจไป โดยเฉพาะรู้ทันจิตใจตัวเอง ฝึกมากๆ จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ไม่หลงไปตามความยินดียินร้าย พอจิตตั้งมั่น จิตเป็นกลาง ก็เห็นสภาวะทั้งหลายผ่านมาแล้วผ่านไป พฤติกรรมทางร่างกาย ร่างกายเดี๋ยวก็ยืน เดี๋ยวก็เดิน เดี๋ยวก็นั่ง เดี๋ยวก็นอน แต่ละอันๆ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ร่างกายหายใจออกแล้วก็ผ่านไป ก็เกิดร่างกายหายใจเข้า แล้วก็ผ่านไป ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะผ่านไป นามธรรมก็เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไปเหมือนกัน ความสุขเกิดขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป ความทุกข์เกิดขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป ความทุกข์ถาวรไม่มี ความทุกข์ ทุกขเวทนาถาวรไม่มีๆ ก็จะเห็นทุกอย่างมันมาแล้วไปๆ พอเราดูมากๆ จิตเป็นกลาง เป็นกลางเพราะปัญญา เข้าใจความจริงแล้วว่าทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ไม่หลงยินดี ไม่หลงยินร้าย ไม่มีความชอบ ความไม่ชอบเป็นกลาง

 

ผู้ใดเข้าถึงความเป็นกลาง จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

หลวงปู่เทสก์ท่านสอนดีบอก “ผู้ใดเข้าถึงความเป็นกลาง จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง” จิตใจเรามันยังทุกข์อยู่เพราะมันไม่เป็นกลาง มันไม่มีอารมณ์ที่พอใจ มันก็อยากได้อารมณ์ที่พอใจ เรียกว่ามีกามตัณหา มีความอยากได้อารมณ์ที่ชอบใจ ตรงที่อยาก ใจมันดิ้นรน มันทุกข์แล้ว เจอของที่ชอบใจแล้ว ก็อยากให้มันคงอยู่ เรียกว่าภวตัณหา เจออารมณ์ที่ไม่ชอบใจ อยากให้มันหมดไปสิ้นไป เรียกว่าวิภวตัณหา พอเราเจริญสติ เจริญปัญญามากๆ ทีแรกก็เป็นสติ มีสติรู้ทัน กามตัณหาเกิดก็รู้ ภวตัณหาเกิดก็รู้ วิภวตัณหาเกิดก็รู้ มันก็ดับ ตัณหามันเป็นตัวกิเลส เป็นตัวโลภะเกิด เรามีสติรู้เท่านั้น ก็ดับแล้ว มันดับแล้วเดี๋ยวก็เกิดอีก จนกระทั่งเราพัฒนาการภาวนาของเราจนมันมีปัญญา คราวนี้มันไม่ได้ดับด้วยสติแล้ว มันดับด้วยปัญญา

ปัญญาเป็นเครื่องมือในการตัด ในการทำลายล้างกิเลส สติทำลายล้างกิเลสไม่ได้จริง สมาธิทำลายล้างกิเลสไม่ได้จริง โดยเฉพาะสมาธิ มักจะเป็นเครื่องมือของกิเลสได้ง่ายๆ เลย แต่ปัญญาการรู้เท่าทันตามความเป็นจริง จะล้างกิเลสได้เด็ดขาด อย่างเราเห็นเลย ใจเรามีความอยากขึ้นมาทีไร ก็มีความทุกข์ เราก็เห็นต่อไป ความอยากเกิดก็ชั่วคราว ความทุกข์เกิดก็ชั่วคราว ความอยากจะเกิดก็ห้ามไม่ได้ ความทุกข์จะเกิดก็ห้ามไม่ได้ เราค่อยๆ เรียน เราก็เห็นธรรมะไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตก็เป็นกลาง ความสุขเกิดขึ้น จิตมันก็ฉลาด มันรู้ว่าความสุขเป็นของชั่วคราว มาแล้วก็ไป ยึดถือไว้ไม่ได้ ความทุกข์เกิดขึ้น จิตมันฉลาด มันก็รู้ความทุกข์เป็นของชั่วคราว อยู่ชั่วคราวแล้วมันก็หายไป ไปไล่มันอย่างไรมันก็ไม่ไป เชิญให้มันอยู่นานๆ มันก็ไม่อยู่หรอก มันเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยของมัน

พอจิตมันฉลาด มันเห็นว่าความสุขไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตมันจะเป็นกลางขึ้นมา เวลาเกิดความสุข มันเป็นกลางด้วยปัญญา มันรู้ว่าของไม่จีรังยั่งยืนอะไร ไปอยากได้ ได้มาแล้วก็รักษาไว้ไม่ได้ จิตมันก็เลิกหิวความสุข หรือมีความทุกข์เกิดขึ้นมา มีปัญญาเห็นความทุกข์ มันจะมาก็ห้ามมันไม่ได้ มาแล้วไล่มันก็ไม่ไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ นี่เรียกเห็นอนัตตา รู้ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็ดับของมันเอง มันเป็นอนิจจัง พอจิตเวลาเกิดความทุกข์ จิตก็ไม่ทุรนทุราย รู้ว่าของชั่วคราว เวลาเกิดความสุขก็ไม่ทุรนทุรายอยากรักษาเอาไว้ เพราะรู้ว่าเป็นของชั่วคราว เห็นไหมพอจิตมันมีปัญญา มันก็เป็นกลางต่อสุขและทุกข์ ต่อดีและชั่ว สุขและทุกข์ ดีและชั่วเสมอภาคกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ เกิดแล้วก็ดับ เหมือนๆ กัน ถ้าจิตเห็นตรงนี้ จิตจะเป็นกลางด้วยปัญญา ความสุขเกิดก็ไม่หลงดีใจ ความทุกข์เกิดก็ไม่เสียใจ เป็น กลาง ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามที่เราสั่ง

พอจิตเป็นกลางแล้ว จิตก็จะไม่ดิ้นรน ปรุงแต่ง ฉะนั้นตัณหามันจะมาสร้างภพให้เราไม่ได้ มีตัณหา จิตมันไม่เป็นกลางหรอก มันอยากนั้นอยากนี้ไปเรื่อย ทีนี้พอมีปัญญา เห็นเลยทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของชั่วคราว สุขหรือทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดีหรือชั่วก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ พอเห็นอย่างนี้ จิตก็เข้าสู่ความเป็นกลาง เป็นกลางต่อสุขและทุกข์ เป็นกลางต่อดีและชั่ว รู้ว่าทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตามที่เราสั่ง พอจิตเป็นกลาง จิตจะไม่ดิ้นรนต่อ จิตของเราที่ดิ้นรน ก็เพราะว่ามันไม่มีความเป็นกลาง เราค่อยๆ สังเกต ที่เราดิ้นรน เพราะเราชอบอันนี้ เพราะเราเกลียดอันนี้อยู่ตลอดเวลา มันไม่เป็นกลาง มันถึงต้องดิ้น อย่างเราเจ็บป่วย เราไม่พอใจที่มันเจ็บป่วย จิตมันก็ดิ้น ไม่มีความสงบสุข

ถ้าจิตมันเห็นทุกอย่างเสมอกัน จิตก็ไม่ดิ้นรนต่อ จิตก็หยุดการสร้างภพ เพราะฉะนั้นตรงที่จิตเป็นกลางด้วยปัญญาอันยิ่ง มันเป็นประตูของการบรรลุมรรคผล ขณะบรรลุมรรคผลนั้นจิตพ้นจากภพ ภพก็คือการดิ้นรนปรุงแต่งของจิตนั่นเอง จิตจะดิ้นรนปรุงแต่ง ถ้ามันมีความอยากเกิดขึ้น มันก็จะมีการดิ้นรนเกิดขึ้น ความอยากเรียกตัณหาอุปาทาน ความดิ้นรนของจิตเรียกว่าภพ มีภพขึ้นมาก็มีชาติ มีตัวเราของเรา ก็มีทุกข์ขึ้นมา ถ้าเราฉลาด เรารู้เท่าทันสภาวะทั้งหลายเสมอภาคกัน จิตก็ไม่มีตัณหา พอจิตไม่มีตัณหา จิตก็ไม่สร้างภพ เมื่อจิตไม่สร้างภพ จิตจะไปสัมผัสสิ่งที่อยู่เหนือจากภพ สัมผัสพระนิพพาน

 

ได้จิตก็ได้ธรรมะ ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ

เพราะฉะนั้นไม่มีใครสั่งจิตให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ บอกแล้วว่าจิตเป็นอนัตตา แต่จิตฝึกได้ ฝึกจนมันฉลาด เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเสมอภาคกัน จิตก็หมดความอยาก หมดความดิ้นรน หมดความปรุงแต่ง เป็นธรรมชาติที่รู้ สักว่ารู้ล้วนๆ เลย ไม่ใช่สักว่ารู้แต่ปาก มันสักว่ารู้ ก็คือรู้แล้วไม่ปรุงต่อ จิตมันเป็นเอง สั่งให้มันไม่ปรุงไม่ได้หรอก พอมันไม่ปรุง จิตมันก็พ้นจากภพ สัมผัสพระนิพพาน นิพพานเป็นสภาวะที่ไม่ปรุงแต่ง เรียกว่าวิสังขาร นิพพานเป็นสภาวะที่หลุดพ้นจากอาสวกิเลส หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส หลุดพ้นจากความยึดถือในธาตุในขันธ์นี้เรียกว่าวิมุตติ ค่อยๆ เรียน ในที่สุดจิตเราก็เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้

อาศัยมีสติรู้พฤติกรรมของจิตตัวเองเรื่อยๆ ไป เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว รู้ไป จิตไม่เป็นกลาง ยินดียินร้ายขึ้นมา ยินดีต่อความสุข ยินร้ายต่อความทุกข์อะไรอย่างนี้ ยินดีต่อกุศล ยินร้ายกับอกุศลอะไรนี่ รู้ทัน จิตจะเป็นกลางด้วยสติ พอรู้เรื่อยๆ ไป ต่อไปก็เป็นกลางด้วยปัญญา รู้ว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว เสมอภาคกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ มันจะเป็นกลางด้วยปัญญา พอเป็นกลางด้วยปัญญา จิตจะหมดความดิ้นรนปรุงแต่ง จิตจะพ้นจากภพ แล้วสัมผัสพระนิพพาน นิพพานไม่ได้เกิดขึ้นๆ นิพพานเป็นสภาวะที่ไม่เกิด เพราะฉะนั้นนิพพานเป็นสภาวะที่ไม่ดับ สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นดับ

ภาวนา ค่อยๆ ตั้งอกตั้งใจภาวนาของเราไปทุกวันๆ ไม่รีบร้อน แต่ไม่ขี้เกียจ ค่อยๆ เดินทุกวัน เดี๋ยววันหนึ่งเราก็จะเห็นเส้นชัยอยู่ข้างหน้าเรา ตรงที่เรามองเห็นเส้นชัยอยู่ข้างหน้า เราได้โสดาบันแล้ว ตรงที่เราเดินเข้าไปหาเส้นชัยของเราคือพระสกิทาคามี ตรงที่เรากำลังจะถึงเส้นชัยเราคือพระอนาคามี ตรงที่ถึงเส้นชัยแล้วถึงพระนิพพานแล้ว ถึงพระนิพพานแล้วจะรู้เลย นิพพานไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตามาแต่ไหนแต่ไร แต่จิตมันมีตัณหา มันมีภพคือความดิ้นรนก็เลยมองไม่เห็น เหมือนสายตาเราไม่ดี มีแก้วแหวนเงินทองอยู่ข้างหน้าเราก็มองไม่เห็น ค่อยฝึก ในที่สุดก็เจอของดีของวิเศษมีอยู่ต่อหน้าต่อตาแล้ว แต่ที่ผ่านมามองไม่เห็น เพราะกิเลสมันบังไปหมด

มีกิเลส มีตัณหา มีความดิ้นรนของจิตใจ สังเกตดูจิตเราไม่เคยหยุดดิ้นเลย ดิ้นรนตลอดเวลา เดี๋ยวก็อยากดู เดี๋ยวก็อยากฟัง เดี๋ยวอยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้สัมผัสทางร่างกาย อยากได้อารมณ์ทางใจ อยากได้ความสุขอะไรอย่างนี้ อยากได้ความดีอะไรอย่างนี้ เป็นเรื่องอยากทางใจ อยากทีไร จิตก็ดิ้นทุกที ค่อยๆ ดูค่อยๆ สังเกต จิตดิ้นทีไร จิตก็ทุกข์ทุกทีเลย ในที่สุดจิตก็พ้นความปรุงแต่งไป

ถ้าเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อบอก การภาวนาไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรอีกต่อไปแล้ว การภาวนาไม่ใช่พุทโธ ไม่ใช่หายใจ ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้นเลย นั่นเป็นแค่เครื่องมือ ตัวสำคัญคือมีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไปให้ดีเถิด แล้วอย่างอื่นมันดีเอง ครูบาอาจารย์ท่านถึงสอน “ได้จิตก็ได้ธรรมะ ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ” หรอก ฝึกเอา.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
3 ตุลาคม 2464