คำสอนหลวงปู่ – อย่าส่งจิตออกนอก

ยุคนี้เรียนธรรมะง่ายนะ เปิดอินเทอร์เน็ตก็เจอแล้ว แต่บางทีอะไรง่ายไปมันก็ไม่ค่อยมีราคา ไม่มีคุณค่า สมัยหลวงพ่อไปเรียนกับครูบาอาจารย์มันไม่ง่าย นั่งรถทัวร์นั่งรถไฟไป ไปต่อรถเข้าหมู่บ้าน บางทีก็เข้าไม่ถึง ไม่ถึงวัด วัดอยู่เกินหมู่บ้านไปอีก อยู่บนเขาอยู่อะไรอย่างนี้ ก็ต้องพยายามไปบางทีไปไม่ทันก็มี มันไม่มีรถจะเข้าหมู่บ้าน มันไม่ยอมวิ่ง ก็เดินเอา บางที่ก็ขึ้นเขาขึ้นไป ต้องเดินขึ้นไป

เราอยากได้ธรรมะก็ต้องเอา ยอม แล้วบางครั้งไปถึงวัดแล้วครูบาอาจารย์ไม่อยู่ ไม่ได้เจอ อย่างไปหาหลวงปู่สิม ขึ้นไปถ้ำผาปล่อง ทางวัดก็บอกว่าหลวงปู่เข้ากรุงเทพฯ เราไปจากกรุงเทพฯ สวนทางกัน บางครั้งไปครูบาอาจารย์ท่านอาพาธ เลยไม่ได้เข้าไปกราบ อุปสรรคมันก็มีอยู่ เราก็ต้องอดทนเอา บางทีก็ไปรอข้ามวันข้ามคืน เพื่อจะได้ส่งการบ้าน หลวงพ่อส่งการบ้านไม่นานหรอก แป๊บเดียว ครูบาอาจารย์หลายๆ องค์ ส่งการบ้านโดยที่เราไม่ต้องพูด ท่านตอบให้เลย เราไม่ต้องพูดหรอก ไม่ต้องถาม

คำถามค่อนข้างเป็นส่วนเกินสำหรับนักปฏิบัติ เริ่มจากฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านก็คิดมาก คิดมากก็สงสัยมาก สงสัยมากก็อยากจะถามมากๆ อะไรอย่างนี้ เป็นวงจรที่เอาดียาก มีอะไรขึ้นมาก็รู้ก็ดูลงไปของตัวเอง จะยากอะไรนักหนา อย่างใจเราเศร้าหมองขึ้นมาก็มีสติรู้ลงไปมันเศร้าหมอง ไม่ต้องไปดิ้นรนว่าทำอย่างไรจะหายเศร้าหมอง ตามรู้ตามดูลงไป บางครั้งมีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้น เราก็รู้ก็ดูไป มันรู้เหตุรู้ผลขึ้นมามันก็หาย ไม่ใช่ไปพยายามทำให้มันดับ สภาวะที่มันไม่ดี ถึงเวลามันรู้เอง พอรู้แล้วมันก็วาง

นักปฏิบัติไม่ถามเยอะ บางทีเจอครูบาอาจารย์ อย่างหลวงปู่สิมพอเห็นหน้าหลวงพ่อท่านก็กวักมือเรียกแล้ว บอกผู้รู้ๆ ออกมาอยู่ข้างนอก กิเลสมันไม่มีอยู่ข้างในหรอก นี่ท่านรู้ทันว่าหลวงพ่อกำลังทำผิดอยู่ เรียนกับหลวงปู่ดูลย์ท่านบอกอย่าส่งจิตออกนอก หลวงพ่อก็เลยดูอยู่ข้างใน ก็เห็นกิเลสมันผุดขึ้นมาจากกลางอก ถ้ากิเลสมันแรงก็ขึ้นมาครอบหัวเรา ราคะมันแรง หน้ามืดขึ้นมา มาครอบหัวเราเลย กิเลสมันแรง กิเลสอ่อนๆ อย่างนี้ก็กระเพื่อมๆ ขึ้นมา เบาๆ

หลวงพ่อก็ดู “เอ๊ะ มันมาจากไหนหนอ ไอ้กิเลสนี้มันหลบอยู่ตรงไหน” หลวงพ่อรอให้มันโผล่ขึ้นมาก่อน พอมันโผล่ขึ้นมา ตอนมีสติรู้ทัน รู้เบาๆ ถ้ารู้แรงมันจะขาดสะบั้นไปซะก่อน แค่รู้แตะๆ มันก็ค่อยๆ หดตัวลงไป แล้วก็มีสติตามระลึกรู้ลงไปเรื่อย มันเข้าไปข้างใน มันลึกลงไป มันเหมือนอย่างหาที่สุดไม่ได้ หลวงพ่อก็เลยตั้งใจว่าถึงไหนถึงกัน จะตามดูให้ได้เลยว่า ตัวกิเลสที่มันผุดขึ้นมานี่มันอยู่ตรงไหน สมมติมันอยู่ในนครบาดาลไหนก็จะตามเข้าไปดู สติมันจ่อลงไป เบาๆ จ่อแรงไม่ได้นะมันขาดหมด ดูลงไปๆ อยู่ๆ มันสลายตัววับไปหายไป เราจะไปตามดูต้นตอของมัน ยังไม่ทันเห็นต้นตอของมันเลย มันดับไปแล้ว หลวงพ่อก็กลับขึ้นมาข้างนอก ถอนจิตขึ้นมา เดี๋ยวความรู้สึกอื่นก็โผล่ขึ้นมา ก็ดูแบบเดียวกันอีก ก็หายไปอีก

เฝ้ารู้เฝ้าดูอยู่อย่างนี้ ไปเจอหน้าหลวงปู่สิมท่านบอกผู้รู้ๆ ออกมาอยู่ข้างนอก ท่านเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ ท่านไม่รู้ชื่อ ท่านบอกผู้รู้ออกมาอยู่ข้างนอก กิเลสไม่ได้อยู่ในนั้นหรอก ตอนนั้นฟังแล้วก็สงสัย หลวงปู่ดูลย์บอกว่าอย่าออกข้างนอก เราเลยเข้าข้างใน หลวงปู่สิมบอกว่าอย่าเข้าไปข้างใน ถ้าอย่างนั้นเราอยู่กลางๆ อยู่กลางๆ ไม่จับอะไรเลยอยู่กลางๆ หลวงปู่เทสก์ท่านก็เคยสอนว่าให้เป็นกลาง

หลวงพ่อก็เลยพยายามฝึกส่งจิตเคลื่อนเข้าไปหาอารมณ์ พอมันเคลื่อนไปจะไปจับอารมณ์เราก็ไม่จับ ทวนกระแสเข้าหาตัวรู้ พอจิตมันจับเข้ากับตัวรู้ สติจะจับเข้ากับตัวรู้ เราไม่จับ ทวนกระแสออกไปหาสิ่งที่ถูกรู้อีก ในที่สุดมันก็ดับลงตรงกลาง ระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ตรงนี้ไม่มีดินน้ำไฟลม ร่างกายไม่มี โลกไม่มี ดินน้ำไฟลมไม่มี พระอาทิตย์พระจันทร์ไม่มี ไม่มีอะไรเลย ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ ดูดี๊ดี เราก็นึกว่าโอ้อย่างนี้คือนิพพาน นี่ทางสายกลาง เล่นอยู่พักหนึ่งก็รู้ว่ามันไม่ใช่หรอก อันนี้เราทำขึ้นมา เราเจตนาทำสภาวะบางอย่างขึ้นมาแล้วคิดว่ามันจะดี รู้ว่าไม่ใช่ รู้ว่ามันเป็นสมาธิชนิดหนึ่งเป็นสมถะ ก็ขึ้นไปกราบหลวงปู่เทสก์แล้วไปรายงานท่าน บอกว่าผมสงสัยว่ามันจะเป็นสมาธิอะไรอย่างนี้ ท่านบอกใช่ มันเป็นสมาธิอย่างหนึ่ง แต่เล่นไว้ ยุคนี้ไม่มีใครเล่นสมาธิ คนที่ชำนาญเรื่องสมาธินั้นไม่ค่อยมีแล้ว ท่านว่าอย่างนี้ พอบอกท่านว่าผมกลัวติด ท่านบอกไม่ต้องกลัวถ้าติดอาตมาจะแก้ให้เอง ท่านบอกอย่างนี้ ท่านสนับสนุนเราก็เล่นใหญ่เลย อยู่อย่างนั้นน่ะ รู้ว่าไม่ใช่ทาง รู้ว่าเป็นเรื่องของสมาธิ แต่ครูบาอาจารย์บอกให้ทำก็ทำ จะช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร ไม่อวดดื้อกับครูบาอาจารย์

วันหนึ่งไปเจออาจารย์บุญจันทร์ วัดถ้ำผาผึ้ง ท่านก็ให้พระมาตามหลวงพ่อไป เราไม่รู้จักท่าน ท่านรู้จักเรา ญาณทัศนะครูบาอาจารย์อัศจรรย์ที่สุดเลย หลวงพ่อจะไปวัดสันติธรรมที่เชียงใหม่ จะไปกราบอาจารย์ทองอินทร์ รู้จักกัน ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่สิม ไปกลางคืน พอไปถึงมีพระมาดักอยู่หน้าวัด มาบอกหลวงพ่อ บอกว่าอาจารย์บุญจันทร์มาจากถ้ำผาผึ้ง ให้ไปหาหน่อย หลวงพ่อก็บอกว่าไม่ไป เราไม่รู้จัก แล้วมันมืดแล้ว สักสองทุ่มกระมัง มันดูไม่ถูกกาลเทศะเลย อยู่ๆ จะไปหาท่าน ค่ำๆ พระนั่นก็ตื๊อ หลวงพ่อก็ไม่เอา ก็ไปคุยอยู่กับอาจารย์ทองอินทร์เป็นชั่วโมง ออกมาท่านยังยืนอยู่เลย ยืนรออยู่หน้ากุฏิอาจารย์ทองอินทร์ บอกให้ไปหาหน่อย หลวงพ่อเกรงใจท่าน โอ้ยท่านนี้ตื๊อสุดยอดเลย ไปก็ไป ให้ท่านพาไป

ไปเจออาจารย์บุญจันทร์ ท่านชี้หน้าเลย “ภาวนาอย่างไร” เล่าให้ท่านฟัง ท่านก็ตะคอกเอา นี่ครูบาอาจารย์ไม่มาสอนนุ่มนวล บางองค์ทั้งดุทั้งด่า ถ้าเราไปโกรธท่าน เราก็เสียผู้เสียคนไปเลย นี่ท่านตะคอกเอา “นิพพานอะไรมีเข้ามีออก” ท่านว่าอย่างนี้ ท่านก็ถาม “แล้วจะภาวนาอย่างไรอีก” ก็เล่าให้ท่านฟังซ้ำ โดนท่านตะคอกครั้งที่สอง จิตมันก็หมดความยึดถือ สมาธิชนิดนี้ไปเลย มันไม่สนใจที่จะเข้าอีกแล้ว

 

ธรรมะทั้งหลายทั้งสิ้นรู้ด้วยจิต

ครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อไปเรียนกับท่าน บางองค์เราก็เจตนาไปหา บางองค์ท่านก็เจตนามาหา ความเมตตาของท่านไม่มีประมาณ ไปเรียนกับท่านแล้วก็เอามาทำ ตรงไหนที่ท่านบอกว่าไม่ถูก เราก็ไม่ทำ ตรงไหนที่ท่านว่าควรทำเราก็ทำ พยายามฝึกตัวเอง ไม่เชื่อกิเลสตัวเอง ไม่เชื่อความคิดเห็นของตัวเอง เชื่อคำสอนของครูบาอาจารย์

แต่จริงๆ หลวงพ่อฟังครูบาอาจารย์ หลวงพ่อก็ตรวจสอบ จริงๆ เคารพ รัก ศรัทธา แต่ที่หนึ่งของครูบาอาจารย์เลยก็คือพระพุทธเจ้า ฉะนั้นถ้าครูบาอาจารย์สอน หลวงพ่อจะดูเลยว่าสอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าสอนไหม ที่ท่านสอนๆ มาก็สอดคล้องทั้งนั้น แต่ว่ามันจะมี trick ในการปฏิบัติ ซึ่งในคัมภีร์ไม่มี

อย่างพระไตรปิฎกหลวงพ่อพยายามอ่านก่อนจะเจอหลวงปู่ดูลย์ สมาธินั้นนั่งมาแต่เด็กๆ แล้ว แต่ยังเจริญปัญญาไม่เป็น พยายามอ่านพระไตรปิฎก อ่านตั้งหลายรอบ ก็จับหลักไม่ได้ว่าจะเริ่มปฏิบัติได้อย่างไร เจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านชี้ลงมาที่จิตเลย พอเราได้จิตเราก็ได้ธรรมะ คือเห็นธรรมะ เพราะธรรมะทั้งหลายส่วนใหญ่มันก็เกิดที่จิต ธรรมะทั้งหลายทั้งหมดทั้งสิ้นรู้ด้วยจิต มีจิตเป็นคนไปรู้เข้า เพราะฉะนั้นจิตมันเลยเป็นเรื่องใหญ่ ได้จิตแล้วได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรม หลวงปู่มั่นท่านก็สอนอย่างนี้

พอเราภาวนา เรามีจิตใจเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานขึ้นมาแล้ว เราก็เห็นธรรมะที่มันปรากฏขึ้น อกุศลธรรมก็เกิดขึ้นที่จิต โลภ โกรธ หลง ทั้งหลายเกิดขึ้นที่จิต อกุศลธรรมมันเกิดขึ้นที่จิตเราก็คอยรู้ไป กุศลธรรมอย่างศีล สมาธิ ปัญญา ศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา อะไรพวกนี้ ก็เกิดที่จิตทั้งนั้น เราก็มีสติรู้ไป

เพราะฉะนั้นเรารู้อยู่ที่จิต มีสติรู้อยู่ที่จิต ใจตั้งมั่นเป็นคนรู้คนดู มีสมาธิที่ถูกต้อง มีสติระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ มันก็เห็น ธรรมะทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สุขหรือทุกข์ ดีหรือหรือชั่ว ผุดขึ้นมาอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป ธรรมะทั้งหลายบังคับไม่ได้ควบคุมไม่ได้ สั่งไม่ได้

อย่างเราสั่งใจเราว่า จงมีความสุข มันสั่งไม่ได้ มันไม่สุขด้วย สั่งใจเราว่าอย่าทุกข์ มันก็จะทุกข์ เราห้ามมันไม่ได้ สั่งว่าจงมีสติตลอดเวลา มันก็ไม่มี จงมีสมาธิ มีความสงบอยู่ มันก็ไม่สงบ เราสั่งมันไม่ได้ นี่เรียนรู้ลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดเรารู้สภาวะทั้งหลายมันก็เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เราค่อยรู้เท่าทันจิตใจของเรา อกุศลเกิดขึ้นเราก็รู้ กุศลเกิดขึ้นเราก็รู้ ความสุขความทุกข์เกิดขึ้นเราก็รู้ แล้วเราก็จะเห็นสภาวะทั้งหลายล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วก็ดับทั้งสิ้น อันนั้นเรียกว่าอนิจจัง สภาวะทั้งหลายมีเหตุมันก็เกิด หมดเหตุมันก็ดับ เราไปบังคับมันไม่ได้ อันนี้คืออนัตตา

หลวงพ่อเฝ้ารู้เฝ้าอยู่ดูอยู่อย่างนี้ มันได้หลักแล้ว คือได้จิต ได้จิตแล้วก็เห็นธรรม เห็นทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรม มันก็หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ในจิตใจของเรานี่เอง เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกไปเรื่อยๆ จิตมันก็ค่อยฉลาดขึ้น สุดท้ายมันก็เข้าใจ

เวลาที่จิตมันเข้าใจ มันเข้าใจในชั่วขณะแวบเดียวเท่านั้น มันเหมือนเราตัดต้นไม้ ฟันโครมๆๆ ฟันอยู่วันหนึ่งแล้วต้นไม้ยังไม่ล้ม ถึงเวลาที่ต้นไม้จะล้ม ฟันฉับสุดท้ายต้นไม้ก็โค่นแล้ว เวลาที่จิตมันจะเข้าใจธรรมะมันเข้าใจในขณะจิตเดียว แต่ก่อนที่มันจะมาถึงขณะจิตนี้ แรมเดือนแรมปีที่เราจะต้องเจริญสติเจริญปัญญา ตามรู้ตามดูจิตใจของเราไป

จิตใจเป็นสุขก็รู้ จิตใจเป็นทุกข์ก็รู้ จิตใจไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ จิตใจเป็นกุศลก็รู้ จิตใจเป็นอกุศลก็รู้ เฝ้ารู้เฝ้าดูอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ไป ถึงจุดหนึ่งปัญญามันทวนกระแสเข้ามาที่จิต มันก็เห็นกระทั่งตัวจิตผู้รู้เองก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นของที่เกิดดับเหมือนกัน เป็นของที่บังคับไม่ได้เหมือนกัน เหมือนกับสุขทุกข์ดีชั่วทั้งหลาย สุขทุกข์ดีชั่วไม่ใช่จิต มันเป็นธรรมะที่เกิดร่วมกับจิต เรียกว่าเจตสิก เราก็จะเห็นสุขทุกข์ดีชั่วนี่เกิดดับหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เพราะมันเข้าใจแล้วมันก็จะทวนๆๆ กระแสเข้ามาหาจิต มันทวนกระแสจริงๆ ทวนเข้ามาถึงตัวจิต ช่วงที่มันวางการรู้สภาวะแล้วทวนเข้ามาหาจิต ตรงนี้ขณะเดียวเท่านั้น แวบเดี๋ยวเท่านั้นเอง เป็นรอยต่อระหว่างโลกียะกับโลกุตตตระ ในชั่วขณะเดียว เรียกว่าโคตรภู พอมันทวนกระแสเข้ามาถึงตัวจิตผู้รู้แล้วนี่ ถ้าศีล สมาธิของเราสมบูรณ์แล้ว อริยมรรคจะเกิดขึ้น มันจะทำลายอาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตใจเราอยู่

จิตใจก็จะเข้าถึงความว่าง ความสว่าง ความเบิกบาน ว่าง สว่าง ว่างนี่ว่างกระทั่งการปรุงแต่งทั้งปวง ว่างกระทั่งความคิด ว่างกระทั่งสมมุติบัญญัติ ว่างจริงๆ แล้วแสงสว่างก็ปรากฏขึ้น ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรท่านบอกว่า “อาโลโก อุทะปาทิ” แสงสว่างเกิดขึ้น เป็นเรื่องจริง ในปริยัตินี่ที่ท่านสอน สอนจริง เราภาวนามาเรื่อยๆ มีสติ เจริญสติปัฏฐานไปเรื่อย ทำวิปัสสนากรรมฐานไปเรื่อย สุดท้ายก็เห็น เข้าใจ เกิดความเข้าใจ ตัวเข้าใจเรียกตัวปัญญา ถ้าเข้าใจในขั้นที่เกิดโลกุตตระก็เป็นโลกุตตระปัญญา สมาธิเป็นโลกุตตระสมาธิในขณะนั้น

 

ปัญญาคือตัวความรู้ถูก ความเข้าใจถูก

เราสะสม ค่อยๆ ภาวนา ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ของเราไป ถึงจุดหนึ่งที่จิตมันรู้แจ้งเห็นจริง มันเกิดปัญญา มันรู้ว่าสภาวะทั้งหลายเกิดแล้วดับทั้งสิ้น หรือมันรู้ว่าสภาวะทั้งหลายมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ มันรู้อย่างนี้ จิตมันจะเข้าในโลกุตตระเอง เพราะฉะนั้นอย่างเวลาในพระสูตรมีเยอะเลย เวลาท่านใดท่านหนึ่งจะบรรลุพระโสดาบัน ท่านก็จะรู้แจ้งขึ้นมาว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ มันจะรู้อย่างนั้น

ฉะนั้นทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น ร่างกายของเราเกิดขึ้นมาถึงจุดหนึ่งก็ดับ จิตใจของเรามีเหตุก็เกิด ถึงจุดหนึ่งก็ดับ ถึงจุดหนึ่งก็ดับไป เฝ้ารู้เฝ้าดูให้จนมันได้ปัญญา ในบรรดาธรรมะทั้งหลาย ในโลกียธรรมทั้งหลาย สิ่งที่เป็นเลิศที่สุดในบรรดาธรรมะทั้งหลายคือตัวปัญญา ปัญญาเป็นเลิศที่สุดในบรรดาธรรมะทั้งหลายในฝ่ายโลกียะ ฉะนั้นเราก็ต้องพยายามสะสมปัญญา ปัญญาคือตัวความรู้ถูก ความเข้าใจถูก

เราจะรู้ถูก เข้าใจถูกได้เราต้องเห็นสภาวธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง ถ้าเราเข้าไปแทรกแซงสภาวะแล้ว มันจะรู้ถูกไม่ได้ มันผิดตั้งแต่ตอนจะรู้แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่หลวงพ่อสอนพวกเรา หัดรู้สภาวะไป สิ่งที่เรียกว่าสภาวะก็คือตัวรูปธรรม ตัวนามธรรมทั้งหลายนั่นล่ะเป็นสภาวธรรม อย่างความสุขก็เป็นสภาวธรรม ความทุกข์ก็เป็นสภาวธรรม โลภ โกรธ หลง ก็เป็นสภาวธรรม สติก็เป็นสภาวธรรม สมาธิ ปัญญา อะไรนี่เป็นสภาวะทั้งนั้น แต่ละตัว โกรธก็เป็นสภาวะ โลภก็เป็นสภาวะ สิ่งเหล่านี้พวกเรามีอยู่แล้ว แล้วพวกเรารู้ก็รู้ได้

อย่างเวลาใจเราโกรธขึ้นมา เรารู้ว่าใจเราโกรธ มันจะไปยากอะไร แต่ทำไมคนทั่วไปไม่บรรลุมรรคผล เพราะเวลาความโกรธมันเกิด มันมัวสนใจสิ่งที่ทำให้เกิดความโกรธ อย่างเราเห็นคนนี้เราเกลียดมันมากเลย เราเกลียดคนไหนมากเราจะสนใจมันมาก ฉะนั้นแทนที่เราจะเห็นว่าจิตกำลังโกรธเราไม่ เห็น เรามัวไปเห็นคนที่ทำให้เราโกรธ

หรือสมมุติเราไปซื้อเสื้อมาตัวหนึ่ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป สวยถูกใจ แพงด้วยมีแบรนด์ด้วย พอซื้อมาถึงที่บ้านเราพบว่ามีรอยขาดอยู่นิดหนึ่ง โมโหตัวเองมากเลยว่าทำไมไม่ดูให้ดี จะเอาไปคืนเอาไปเปลี่ยนก็พูดกับเขาไม่ถูกแล้ว ดีไม่ดีเขาก็บอกว่าเราเป็นคนทำขาด เถียงสู้คนขายไม่ไหว มานั่งเจ็บใจ เวลาเจ็บใจทำอย่างไร ก็จะดูบ่อยๆ เวลาเราหยิบเสื้อตัวนี้มาดู เราก็จะดูไอ้ตรงที่รอยที่ขาด นี่ส่วนที่ดีๆ ทั้งตัวไม่ดูหรอก โทสะมันอยู่ตรงนี้

ฉะนั้นตัวไหนทำให้เรามีโทสะเราก็จะพุ่งความสนใจไปที่นั่น ตัวไหนทำให้เรามีราคะเราก็จะพุ่งความสนใจไปที่นั่น ตัวไหนที่ทำให้เราหลง เราก็จะพุ่งความสนใจไปที่นั่น เราเลยไม่รู้ว่าตอนนี้กำลังโลภ หรือกำลังโกรธ หรือกำลังหลงอยู่ เพราะเรามัวแต่สนใจสิ่งที่ทำให้โลภ สิ่งที่ทำให้โกรธ สิ่งที่ทำให้หลง มัวสนใจของข้างนอก

 

อย่าส่งจิตออกนอก

หลวงปู่ดูลย์ท่านถึงสอนบอกว่า อย่าส่งจิตออกนอก คอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป อย่าส่งจิตออกข้างนอก นี่คำสอนของท่านตรงไปตรงมา แต่สำหรับผู้เรียนมันเป็นคำสอนที่โหดมากๆ เลย ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าไม่แจกแจง สอนแบบกระชับมากเลย สั้น ยิ่งหลวงปู่ดูลย์ขึ้นชื่อลือชาเลยว่าพูดประโยคสองประโยค แต่ครอบคลุมการปฎิบัติไว้มากมายมหาศาลเลย

อย่างท่านบอกอย่าส่งจิตออกนอก จิตที่ออกนอกคือจิตที่มีตัณหา มีตัณหาเป็นตัวผลักดันให้ทะยาน ตัณหาเลยมีคำแปลภาษาไทยว่าทะยานอยาก เป็นความทะยานอยาก ตัวตัณหามันทะยานออกไป ทะยานไปทางไหน ทะยานไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทะยานไปทางตาก็ วิ่งออกไปดู อย่างเราขับรถอยู่นี่ เราเห็นข้างหน้ารถติด รถชนกันอะไรอย่างนี้ ใจมันทะยานไปดู ขับรถนี่เลยชะลอ ทั้งๆ ที่อยู่คนละฝั่งกับรถที่ชน เราอยู่อีกฝั่งหนึ่งไม่ควรจะติด รถก็ติดด้วย เพราะทุกคนถูกตัณหาครอบงำ อยากดู อยากดูรถชนกัน ก็ชะลอๆ ไปเรื่อย ในขณะนั้นใจอยากดู ไม่รู้ว่าอยาก ลืมตัวเองไป ตัวเองชะเง้อดูฝั่งตรงข้าม แทนที่จะดูถนน ความสนใจมันอยู่ที่อื่น จิตมันทะยานออกไป ไปทางตา ไปทางหู อย่างได้ยินใครเขาคุยกันก็สนใจ พยายามจะไปฟัง

ทางจมูก มีกลิ่นอะไรแปลกๆ ก็ไปสนใจดม อย่างตามศูนย์การค้าหลวงพ่อเคยเจอตอนเป็นโยม พวกผู้หญิงก็ไปซื้อน้ำหอม เขาจะเอาไปทาที่หลังมือแล้วก็มาดม ดมแล้วก็ทำหน้าทำตาอย่างโน้นอย่างนี้ พอใจไม่พอใจ บางคนก็ลองลิปสติก ลองส่องกระจกสวยไม่สวยอะไรอย่างนี้ ในขณะนั้นไม่มีสติเลย มันหลง มันหลงไปดู ดูอะไร ดูกระจก เดี๋ยวนี้ผู้ชายก็ทาลิปสติก ผู้ชายก็ทา รักสวยรักงาม กลัวไม่สวยไม่งามบ้างแล้ว

กระทั่งพระ เพิ่งเห็นข่าวไม่กี่วันมานี้ เขาเรียกหลวงเจ๊ปากแดง ไม่เรียกหลวงพี่ เรียกหลวงเจ๊ ถ้ามีสติ ใจไม่หลงไม่ไหลไป มันก็ไม่ทำอะไรน่าเกลียดอย่างนั้นหรอก พยายามมีสติรู้เนื้อรู้ตัว รู้กายรู้ใจอยู่ ไม่ใช่เอาแต่ส่งจิตออกนอก วุ่นวายจะคอยดูรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสในร่างกาย หรือหลงไปคิดนึกในใจ หลงไปเพ่งทางใจ เป็นหลงของใจ

สิ่งที่เราจะได้จากการไม่ส่งจิตออกนอกคือสมาธิที่ถูกต้อง จิตจะทรงตัวเด่นดวงอยู่ อย่างพวกพระนี่บวชมาอยู่กับหลวงพ่อ ใช้เวลาเป็นเดือนๆ ในการฝึกที่จะให้ได้สมาธิที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีสมาธิที่ถูกต้องเจริญปัญญาไม่ได้จริงหรอก หลวงพ่อกล้าพูดเลย ไม่มีสัมมาสมาธิ ปัญญาไม่เกิดหรอก ฝึกกันนาน ขนาดพระ ยังฝึกกันเป็นเดือนๆ เลย บางองค์เป็นปี แต่ละคนต้นทุนมันไม่เท่ากัน ไม่ใช่ต้นทุนมันไม่เท่ากัน ต้นทุนท่านไม่เท่ากัน ไปเรียกพระเป็นมัน เคยปาก อันนี้เป็นความเคยปากเรียกว่าวาสนา

วิธีสอนจนกระทั่งจิตตั้งมั่นที่หลวงปู่ดูลย์บอกว่าอย่าส่งจิตออกนอก วิธีที่เราจะไม่ส่งจิตออกนอก คือมีสติรู้ว่าจิตออกนอก เคล็ดมันอยู่ตรงนี้เอง หลวงปู่ไม่สอน แต่ว่าอาศัยฟังท่านแล้วมาลงมือทำๆๆ พอเรามั่นใจแล้วไปให้ท่านดู ท่านโอเค การที่เราไม่ส่งจิตออกนอกเพราะเรามีสติรู้ทันจิตที่ส่งออกนอก ทันทีที่มีสติรู้ทันจิตที่ออกนอก จิตที่ออกนอกจะดับ จิตรู้จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

เพราะฉะนั้นเวลาเราปฏิบัตินี่อย่าพยายามทำให้ถูก แต่ให้รู้ตรงที่มันผิด อย่างจิตมันหลงออกไปดู รู้ทันว่าอ้าวหลง แล้วลืมตัวเองแล้ว หรือเราหัดพุทโธๆ หัดหายใจอยู่ พอมันหลงแล้วมันจะลืมพุทโธ ลืมลมหายใจ อ้าวมันหลงไปแล้ว อย่างเราพุทโธอยู่นี่เป็นงานในใจของเรา มันหลงไปแล้ว หลงไปคิดเรื่องอื่น นี่หลงทางใจเรารู้ว่าหลงไปคิดละ ลืมพุทโธไป ตัวหลงคิดจะดับ ตัวผู้รู้จะเกิด

เพราะฉะนั้นที่หลวงปู่ดูลย์บอกอย่าส่งจิตออกนอกแล้วเราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง ตรงประโยคหลังนี่หลวงพ่อพูดให้ฟังเอง ท่านสั่งแค่ว่าอย่าส่งจิตออกนอก ถ้าเราไม่ส่งจิตออกนอก เราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง แล้วทำอย่างไรจะไม่ส่งจิตออกนอก หลวงปู่ดูลย์บอกว่าธรรมชาติของจิตย่อมส่งออกนอก เพราะฉะนั้นอย่าไปพยายามทำให้มันไม่ส่งออกนอกเลย แต่ว่าเมื่อมันส่งออกนอกแล้วให้มีสติ

หลวงปู่ก็สอนเหมือนกันอันนี้ จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ อนึ่ง ธรรมชาติของจิตย่อมส่งออกนอก แต่เมื่อจิตส่งออกนอกแล้วมีสติ มีความตั้งมั่นอยู่ อันนี้เป็นมรรค มีผลเป็นความพ้นทุกข์ แต่ถ้าส่งออกนอกแล้วไม่มีสติ ไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง ก็จะเป็นสมุทัย ไปก่อทุกข์ ไปก่อภพ ก่อชาติ ก่อทุกข์ขึ้นมา

เพราะฉะนั้นวิธีปฏิบัติไม่ใช่ไม่คิด ไม่ใช่ไม่คิดไม่นึก หลวงปู่ดูลย์บอกว่าคิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิด เพราะจิตมีธรรมชาติคิด ทีนี้พอมันคิดปุ๊บ จิตเราหลงไปอยู่ในโลกของของความคิด เรามีสติรู้ทัน จิตคิดดับจิตรู้จะเกิด เพราะฉะนั้นท่านบอก คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ที่หยุดคิดได้เพราะรู้ทันจิตที่หยุดคิด นี่คือคำสอนที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนหลวงพ่อไว้ ทีนี้พอจิตเราตั้งมั่นถูกต้องดีแล้ว ท่านก็จะสอนการเจริญปัญญา ท่านสอนประโยคเดียวเหมือนเดิม สอนสมาธิก็สอนประโยคเดียว อย่าส่งจิตออกนอก สอนปัญญาก็สอนประโยคเดียว จงทำญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูป ท่านสอนอย่างนี้

ตอนนี้ก็หมดเวลา พวกเราไปหาฟังเอาในซีดี ใน YouTube ที่หลวงพ่อเทศน์ๆ ไว้ มีทำญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูปทำอย่างไร ไปฟังเอาเองก็แล้วกัน มีให้ฟังเยอะแยะ ต่อไปให้ส่งการบ้าน

 

 

คำถาม 1: ฟังซีดีหลวงพ่อมาประมาณ 4 ปี ตอนนี้เวลาปฏิบัติมันจะจงใจไปดู แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองเพ่งมากไป ขอคำแนะนำหลวงพ่อด้วยครับ

หลวงพ่อ: รู้ว่าเพ่งนะก็ดีแล้ว ไม่ต้องหาทางว่าทำอย่างไรจะไม่เพ่ง ไม่ต้องทำอะไร รู้อย่างที่มันเป็น พอเพ่งไปแล้ว ถ้าเราอยากให้หายเพ่ง อยากให้เลิกเพ่ง เราจะยิ่งดิ้นรนมากกว่าเก่า เพราะฉะนั้นถ้าเพ่งอยู่รู้ว่าเพ่ง อยากจะเลิกเพ่ง รู้ว่าอยาก ดูอย่างนี้ไปเลย แล้วมันก็เลิกไปเอง เพราะการเพ่งเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน ยิ่งดิ้นรนมากจะยิ่งทุกข์มาก ยิ่งดิ้นรนมากก็ยิ่งห่างไกลธรรมะที่ไม่ดิ้นรน ธรรมะที่พ้นความปรุงแต่ง

เพราะฉะนั้นเราจงใจปฏิบัติ เราก็ยิ่งดิ้นรนมากกว่าเก่าอีก รู้สบายๆ เพ่งรู้ว่าเพ่ง ตอนนี้ก็เพ่งน้อยลงแล้วล่ะ รู้สึกหรือเปล่า ก็ดูไปเรื่อยๆไม่ต้องหาทางแก้ ที่จริงการเพ่งมันเกิดจากโลภ อยากดู อยากให้เห็นชัดๆ มันโลภ มันก็เลยเพ่ง ถ้าเราเห็นต้นตอ และเห็นใจที่โลภอยากปฏิบัติ เห็นตรงนี้ ตรงนี้ดับ มันก็เลิกเพ่ง แต่ถ้ามันเพ่งไปแล้ว อย่าไปอยากแก้ ตรงเพ่งแล้วมันอึดอัด มันแน่น นี่มันเป็นตัวทุกข์ ทุกข์เป็นตัววิบาก เป็นผล ตัวผลละไม่ได้

หลวงปู่ดูลย์บอกเหตุต้องละ ผลต้องละใช้ ยอมใช้หนี้มัน ก็ดันไปเพ่งไว้เอง ก็ทุกข์ล่ะ แน่นๆ ดูไปโดยไม่ไปวุ่นวายกับมัน สุดท้ายมันก็ดับ แล้วต่อไปถ้าสติเราเร็วขึ้น พอเราคิดถึงการปฏิบัติปุ๊บ มันอยากปฏิบัติ มันเห็นใจที่อยาก พ่อเห็นใจที่อยาก การเพ่งจะไม่เกิดขึ้น ค่อยๆ ฝึกไป สนุกนะ เอ้าต่อไป

 

คำถาม 2 ดูความกระเพื่อมที่ กลางอกมานานสักพักสังเกตได้ว่าความกระเพื่อมจะกระเพื่อมแบบเดียวกัน กับความไหวที่เป็นไปตามรูป อย่างระลอกคลื่นของน้ำ หรือแบบ เดียวกับใบไม้ที่ไหวไปมา หูได้ยินเสียงจะกระเพื่อมตามเสียงสูงต่ำที่มากระทบ ลักษณะของการกระเพื่อมที่กลางอกเมื่อกระทบผัสสะภายนอกนั้น ลักษณะเดียวกันกับการถ่ายทอดพลังงาน หรือคลื่นจากภายนอกเข้าสู่ภายใน ทำให้เกิดเป็นสังขารเกิดดับ

อยากจะถามหลวงพ่อว่าใจความที่สรุปไป เกิดจากความฟุ้งซ่านในธรรม ปัญญาล้ำหน้า หรือวิปัสสนูปกิเลสหรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ: ฟุ้งซ่าน จิตหนูมันยังฟุ้งอยู่ โมหะมันเยอะ เพราะฉะนั้นหาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ก่อน แล้วคอยรู้ทันเวลาจิตมันหลงไปที่อื่น ไอ้ที่พูดมาน่ะมันถูก แต่มันยังไม่ได้เห็นด้วยใจมันเห็นด้วยสมองอยู่ มันยังเจือการคิดอยู่ เพราะฉะนั้นใจของเรามันยังมัวๆ มีโมหะปนอยู่ เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง พอใจเราเคลื่อนไปที่อื่น ลืมอารมณ์กรรมฐาน เราคอยรู้ทัน พอใจเรามีสมาธิที่ถูก ต้องเด่นดวงขึ้นมาแล้วนี่ เราไม่ต้องคิดนำเลย เราค่อยรู้ค่อยดูไปเดี๋ยวมันก็จะเกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกขึ้น ถ้าไปคิดๆ เอามันก็ฟุ้งไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่ธรรมะหรอก มันเป็นความฟุ้งซ่าน เอ้า ต่อไป

 

คำถาม 3: ช่วงปีใหม่หลวงพ่อให้การบ้าน ดูเวทนา สุข ทุกข์ เฉยๆ โยมภาวนาดีขึ้น เห็นจิตเคลื่อนไหวได้บ้าง เห็นกิเลสได้บ้าง กราบขอคำแนะนำครับ

หลวงพ่อ: ถูกแล้วล่ะนะ แต่ตอนนี้จิตไม่ตั้งมั่น จิตไม่อยู่กับฐาน จิตว่างๆ ออกไปอยู่ข้างนอก รู้สึกหรือเปล่า ลองส่ายหน้าแล้วรู้สึกสิ หลง หลงคิดนะ หายใจ หายใจเข้ารู้สึกตัว หายใจออกรู้สึกตัว สบายๆ หายใจไปสบายๆ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ตรงนี้ใจหนีไปคิดแล้ว รู้ว่าหนีไปคิด หายใจไปสบายๆ จิตต้องการเครื่องอยู่ จิตเราไม่ได้มีกำลังถึงขนาดจะตั้งมันเด่นดวงโดยไม่มีเครื่องอยู่หรอก เพราะฉะนั้นเราอยู่กับลมหายใจไว้ พออยู่กับลมหายใจแล้วจิตมันเคลื่อนไหว จิตมันไปทำงานอะไรนี่ คอยรู้ทันมัน แล้วเราจะได้ก้าวหน้ากว่านี้ สมาธิมันยังไม่พอ ใจมันฟุ้ง มันกระจายตัวออกไป

 

คำถาม 4: ก่อนนอนจะใช้วิธีภาวนาไปด้วย แต่รู้สึกว่าทำให้หลับยาก แปลว่าติดเพ่งหรือตั้งใจมากไปหรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ: ไม่ใช่หรอก บางคนเวลาจะนอน ภาวนาแล้วก็หลับอย่างรวดเร็วเลย บางคนสติดี ยิ่งภาวนาตอนนอน มันจะไม่นอนหรอก ดีไม่ดีสว่างอยู่ข้างใน สว่างจนเช้าเลย มันก็เป็นเรื่องปกติเหมือนกัน ฉะนั้นเวลาถ้าเราต้องการนอนจริงๆ เราต้องคลายความตั้งใจ คลายสติให้มันอ่อนตัวลง หรือทำจิตให้เบาขึ้น กำหนดจิตให้มันลอยขึ้นนิดหนึ่ง ถ้าติดตั้งอยู่กับฐานนี่อย่างไรมันก็ไม่หลับ ทำจิตให้คลายตัว พอจิตคลายตัวแล้ว เราบริกรรมเบาๆ บริกรรมสบายก็จะหลับได้ และคำบริกรรม แต่ละอย่างก็ให้ผลที่ไม่เหมือนกัน บางคนบริกรรมคำนี้แล้วหลับ บางคนบริกรรมคำเดียวกับคนเมื่อกี้ บริกรรมแล้วยิ่งตื่น

ฉะนั้นเราไปดูตัวเราเอง ว่าถ้าต้องการหลับนี่ เราอยู่กับกรรมฐานชนิดไหน อยู่อย่างไรแล้วถึงจะหลับ ก็ดูเอา อย่างถ้าอยู่กับลมหายใจแล้วมันเคลิ้มง่าย ถ้าอยากนอนเราก็ไปอยู่กับลมหายใจ เดี๋ยวก็หลับ ถ้าอยู่กับลมหายใจแล้วจิตสว่างขึ้นมา อย่างนั้นอยู่ได้ทั้งคืนเลยไม่หลับหรอก อยู่ได้ บางทีครูบาอาจารย์ท่านนอนน้อย นอนคืนหนึ่งไม่กี่ชั่วโมงหรอก พอเวลานอนลงไปสักงีบหนึ่ง พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้ว คราวนี้ไม่ค่อยนอนแล้ว ใจมันก็ภาวนาของมันไป ใจมันก็สว่างไสว สบายอยู่อย่างนั้น บางทีก็ต้องทำงาน ใจมันก็ผลิตธรรมะขึ้นมา ถ้าไม่มีอะไรรบกวนให้ต้องผลิตธรรมมะ ใจมันก็สว่างเฉยๆ อยู่ เพราะฉะนั้นเวลาภาวนาแล้วไม่นอนก็ไปสังเกตดู จะปรับอย่างไร แต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก เขาถามแค่นี้รึ คนนี้กลัวนอนไม่หลับเหรอ นักปฏิบัติเขามีแต่กลัวจะนอนหลับ เอ้า ต่อไป

 

คำถาม 5: ภาวนาด้วยการเดินจงกรม มีเครื่องอยู่เป็นพุทโธทุกวัน ที่ภาวนาอยู่นี้มีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า

หลวงพ่อ: ก็ภาวนาไปแหละถูกแล้วล่ะ ทำให้มันสม่ำเสมอไป ใช้ได้นะ ก็พยายามฝึกเข้าทุกวันทุกวัน แล้วการภาวนามันไม่ดีทุกวันหรอก บางวันมันก็เจริญบางวันมันก็เสื่อม เห็นได้ไหมตรงนี้ เดินเหมือนกันทุกวัน บางวันก็ดีบางวันก็ไม่ดี อันนั้นเป็นเรื่องปกติ หน้าที่เราก็คือปฏิบัติไป ดีก็ช่างไม่ดีก็ช่าง อย่าไปอยากดี อยากดีมันจะไม่สงบหรอก ภาวนาไปสบายๆ บางทีจิตก็สงบขึ้นมาสว่างไสว บางทีจิตฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านเราก็รู้เฉยๆ อย่าไปแก้มัน เดี๋ยวมันก็สงบของมันเอง บางทีสงบอยู่เฉยๆ บางทีสงบลงไปหน่อยหนึ่ง จิตไปเดินปัญญา เห็นสภาวธรรมเกิดดับเปลี่ยนแปลง เราก็ไม่ห้ามมัน แต่ถ้าเดินปัญญามากๆ ใจเริ่มฟุ้งซ่าน อันนี้จงใจกลับไปทำสมถะ สลับไปสลับมาอย่างนี้ ระหว่างสมาธิกับปัญญา ทำสมถะกับวิปัสสนา วิปัสสนาไม่ทำเยอะ สมถะทำให้ดี

พอจิตทรงพลังขึ้นมาจริงๆ การเจริญปัญญาจะใช้เวลาไม่มาก ถ้าจิตไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง ไปทำวิปัสสนามันจะไม่เป็นวิปัสสนา มันจะฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นเวลาเราเจริญปัญญากับความฟุ้งซ่านนี่ หลวงพ่อพุธท่านเคยสอน การเจริญปัญญากับความฟุ้งซ่านนี่มันคาบเส้นกันนิดเดียวเอง อันหนึ่งมีสติกับสมาธิที่ถูกต้อง อันหนึ่งไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง ไม่มีสติ ฟุ้งซ่านไป เพราะฉะนั้นเวลาใจมันฟุ้งซ่านเราก็อยู่กับกรรมฐานของเราไป ใจมันสงบแล้ว ตั้งมั่นแล้ว ใจมันทำงาน มันจะคล้ายๆ ใจฟุ้งซ่าน มันจะทำงาน แต่จิตมันจะตั้งมั่นกลายเป็นคนดูอยู่ ตรงนั้นปัญญามันจะเกิด มันจะแตกต่างกันระหว่าง ความฟุ้งซ่านกับปัญญา แต่ตอนทำงานน่ะคล้ายๆ กัน คือมันไม่อยู่นิ่ง

หลวงพ่อพุธท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟังว่าตอนท่านเป็นเณร ท่านอยู่กับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล เป็นอาจารย์หลวงปู่มั่น หลวงพ่อพุธยังเป็นเณร อยู่กับหลวงปู่เสาร์ วันหนึ่งหลวงปู่เสาร์ก็มาบอกหลวงพ่อพุธ เจอหลวงพ่อพุธ เจอเณรพุทธ หลวงปู่เสาร์ท่านก็บอกว่า เณร วันนี้จิตของข้าไม่สงบเลย หลวงพ่อพุธท่านก็เล่าว่าตอนนั้นท่านสงสัยมาก ทำไมจิตไม่สงบ จิตครูบาอาจารย์ระดับนี้ ท่านสะอาดหมดจดไปหมดแล้ว ทำไมยังไม่สงบได้ ท่านบอกว่าภาวนาเป็นแล้วถึงจะเข้าใจ

กระทั่งจิตพระอรหันต์นะมันยังมี 2 ลักษณะ บางอันมันเป็นกุศลอยู่เฉยๆ มันเป็นกิริยา อยู่เฉยๆ ไม่เป็นกุศล เลยกุศลไป บางดวงมีปัญญา เจริญปัญญา บางดวงไม่เจริญปัญญามีความต่าง ฉะนั้นวันนั้นจิตหลวงปู่เสาร์เจริญปัญญา ท่านเลยบอกว่า เณร วันนี้จิตของข้าไม่สงบเลย นี่จิตท่านอาจจะแสดงธรรมอยู่ บางทีจิตมันแสดงธรรม แสดงของมันเอง เวลามีพวกโอปปาติกะมา เทวดามา พรหมมา อะไรอย่างนี้ จิตมันก็แสดงธรรม ฉะนั้นมันจะไม่สงบเฉยๆ อยู่หรอก เวลาไม่มีอะไรทำจิตมันก็สงบเฉยๆ อยู่ ตรงที่สงบเฉยๆ อยู่ไม่มีปัญญา มันก็ยังมี 2 ลักษณะ อันหนึ่งเฉยๆ แต่มีความสุข อีกอันหนึ่งเฉยๆ ก็เฉยจริงๆ แต่ก็ยังมีหลายลักษณะ สนุกนะ ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไป มีอะไรอัศจรรย์มากมายในคำสอนของพระพุทธเจ้า

 

คำถาม 6: กลางปีพรรษา 62 ผมนั่งสมาธิ ก่อนนั่งผมทำเหมือนจิตจะเพ่ง แต่พอคิดว่าจิตจะเพ่ง จิตมันก็ม้วนแล้วก็สว่างขึ้นมา ตอนนั้นก็ยังงงๆ อยู่ จากนั้นปากมันก็ยิ้มจนสุด แล้วทุกอย่างก็เป็นปกติ ระยะเวลาที่เกิดน่าจะประมาณ 20 วินาที

อยากทราบว่ากายยิ้มกับจิตยิ้มของหลวงพ่อเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า หรือว่าของผมเป็นนิมิตทางกายครับ

หลวงพ่อ : พูดยากนะ มันถ่ายทอดไปทั่วโลกเลย สังเกตเอาเองก็แล้วกัน เวลาใจเราเผลอๆ แล้วคิดโน่นคิดนี่ มันรู้สึกไหมว่าจิตนี้คือตัวเรา แค่สังเกตอย่างนี้เอา ดูออกไหมตัวเรามันยังอยู่ เรามันยังอยู่ ค่อยๆ ดูไป ค่อยๆสังเกตไป มันยังเป็นเราอยู่ ฉะนั้นเวลาทำสมาธิบางทีมันก็เบิกบานขึ้นมา สว่าง ที่มันม้วนเข้ามา มันรวมเข้ามา รวมเข้าฐานมัน เห็นมันแหวกออกไหม แล้วเห็นมันสว่างขึ้นไหม เห็นมันเบิกบานขึ้นไหม พอถอยออกมาแล้ว ความเป็นตัวเป็นตนเหลืออยู่ไหม

จุดสำคัญก็คือ การวัดความก้าวหน้าของการปฎิบัติ จุดสำคัญอยู่ที่การตรวจสอบกิเลสตนเอง ถ้าอริยมรรคเกิดครั้งแรกนี่ สักกายทิฏฐิจะถูกทำลายไป สักกายทิฏฐิเป็นความเห็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวเราเป็นของเรา แล้วตัวที่จะแตกหักก็คือตรงที่ตัววิญญาณ ตัวจิต เห็นว่าตัวจิตไม่ใช่เรา ลำพังการเห็นรูปไม่ใช่เรานี่ คนนอกศาสนาพุทธก็เห็น อันนี้พระพุทธเจ้าท่านบอกเอง ปุถุชนที่ไม่ได้สดับนี่สามารถเห็นได้ว่ากายนี้ไม่ใช่เรา แต่มีแต่อริยบุคคลเท่านั้นที่เห็นว่าจิตนี้ไม่ใช่เรา

ฉะนั้นเราลองสังเกต เวลาที่สภาวะแปลกๆ เกิดขึ้น เราสงสัยว่าบรรลุมรรคผลหรือเปล่า ให้เราสำรวจใจของเราใช้เวลานานๆ หลายๆ เดือน อย่างสัก 3 เดือน ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไป ว่ามันมีกิเลสเวลาเผลอๆ มันมีความรู้สึกว่าเรา มีเรา มันโผล่ขึ้นมาไหมมีเราจริงๆ เป็นเราในความรู้สึก คอยวัดดู ถ้ามีอยู่ก็สักกายทิฏฐิยังขาดอยู่ ยังไม่หมดหรอก ยังเหลืออยู่ที่จิต

ตัวต่อไปก็คือความลังเลสงสัยในพระศาสนา ก็ไม่มี ฉะนั้นอย่างเราภาวนาแล้ว เอ๊ะ ใช่ไม่ใช่ๆ ก็คือไม่ใช่ แล้วก็ความงมงายคิดว่าทำอย่างนี้จะดี ทำอย่างนี้จะดี ยังงมงายอยู่ ทำอะไรที่นอกคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างบางคนอยากภาวนาอยากได้มรรคผล แต่ทำสิ่งที่นอกเหนือคำสอนพระพุทธเจ้า ของคุณอาจจะไม่มี แต่บางคนมี อย่างคิดว่าเราต้องแก้กรรม ต้องไปถามหมอดูก่อนว่าใครเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเรา ต้องไปทำพิธีขอขมาเขา ถ้าขอขมาแล้วเราจะภาวนาดี มันภาวนาไม่ดีมาตั้งแต่เริ่มคิดอย่างนี้แล้ว นี่คือสีลัพพตปรามาส ความงมงาย ไม่มีอะไรเกินกว่าการทำสมถะ และวิปัสสนาด้วยปัญญาอันยิ่ง ถ้าเกินกว่านี้ไม่ใช่แล้ว ตัวที่ดูง่ายที่สุด คือตัวยังเหลือเราอยู่ เวลาเราคิดอะไรคิดอะไรเนี่ยมันมีคำว่าเรา แต่คำว่าเรา

ดูให้ดีมันมี 2 อย่าง อันหนึ่งสักแต่ว่าเรียกว่าเราอย่างนั้นเอง เพื่อจะคิดให้รู้เรื่อง เราอย่างโน้นเราอย่างนี้ อีกอันหนึ่ง มันรู้สึกว่าเป็นเราจริงๆ ถ้าสักกายทิฏฐิขาด คำว่าเราจะสักแต่ว่าเป็นโวหาร เป็นคำพูดเท่านั้น แต่ไม่รู้สึกว่ามีเรา ถ้ายังไม่ขาดอยู่ มันยังมีเราจริงๆ ไม่ใช่แค่โวหาร ดูออกไหม พอดูได้หรือยัง อย่างตอนนี้เราไปเพ่งเข้าไป เพ่งไว้จะดูไม่ได้ เราต้องดูตอนใจธรรมดาๆ ตอนเผลอๆ เผลอๆแล้ว เมื่อกี้มันมีเรานี่หว่า ต้องคอยดูอย่างนั้น อย่าไปเพ่งเอาไว้ เอ้า ต่อไป

 

คำถาม 7: ได้ปฏิบัติในรูปแบบทุกๆวัน วันละ 30 นาที พยายามถือศีล 5 ตลอดหนึ่งปี ขณะนี้เห็นตลอดว่าจิตมีโทสะหล่อเลี้ยงใจเสมอ เหมือนเป็นกองไฟ แรงบ้างอ่อนบ้างอยู่กลางใจ เห็นบ้างไม่เห็นบ้าง เห็นจิตเป็นผู้รู้ หลงไปเรื่อยๆ แบบนี้ปฏิบัติอยู่ในทางหรือเปล่าครับ และมีอะไรต้องปรับปรุงอีกไหมครับ

หลวงพ่อ: ปฏิบัติถูกแล้ว แล้วก็ปฏิบัติได้ดี จิตใจก็เริ่มร่มเย็นเป็นสุขแล้ว ดีขึ้นแล้ว แต่ยังดีไม่พอต้องทำอีก ฝึกต่อไปอย่างที่เราฝึกนี่ล่ะ จุดที่ยังขาดคือสมาธิ กำลังของสมาธิยังอ่อนอยู่ เพราะฉะนั้นทุกวันทำในรูปแบบแล้วก็คอยรู้ทันจิตที่เคลื่อน คอยฝึกเรื่อยๆ ต้องมีเครื่องอยู่ของจิต ตัวที่ทำให้เราได้สมาธินะก็คือมีสติ อยู่กับเครื่องอยู่ จะอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจอะไรก็ได้ แล้วพอเขาหนีไปเรารู้ทัน สมาธิมันจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ตอนนี้สมาธิยังอ่อนไปหน่อยหนึ่ง แต่หลักของการปฎิบัติ ดูได้ดีแล้ว แต่กำลังที่ใช้ปฏิบัติยังอ่อนไป

 

คำถาม 8: ช่วงนี้เวลาจิตมีแรง จิตจะไปดูการเกิดดับของนามธรรมต่างๆ ดูความสัมพันธ์ของเหตุและผล ไม่ได้เข้าไปให้ความหมายอะไร รู้แต่ว่านี่คือนามธรรมหนึ่งๆ แต่ระหว่างที่พิจารณาจิตจะทิ้งบริกรรมพุทโธที่เป็นอารมณ์กรรมฐาน สักพักหนึ่งก็หมดแรง แล้วหลงไปอยู่กับความคิดยาวๆ ขอความเมตตาหลวงพ่อแนะนำว่าควรจะปฏิบัติต่อไปอย่างไรครับ

หลวงพ่อ: เวลาเจริญปัญญามันจะใช้พลังของจิตมาก เพราะฉะนั้นเวลาเจริญปัญญาเนี่ยเราจะทิ้งการทำสมาธิไปเลยไม่ได้ ทุกวันแบ่งเวลาไว้ทำสมาธิ คืออยู่กับเครื่องอยู่ของเราไปเรื่อยๆ พอใจเรามีกำลังขึ้นแล้วพอเวลาเราไปเจริญปัญญานี่ มันจะได้เห็นสภาวะถูกต้อง แล้วมันจะไม่ดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่หมดแรงอย่างเร็ว

ภาวนาดีอยู่แล้วล่ะ แต่ใจมันยังฟุ้งอยู่ สมาธิมันยังไม่พอ แต่สมาธินี่ไม่ใช่ทำจนพอ เพราะถึงเราจะทำเต็มที่แล้ว พอไปเราไปเดินปัญญาสักแป๊บเดียว สมาธิมันก็จะเริ่มตก มันคล้ายๆ แบตเตอรี่มือถือ ฉะนั้นเราก็คอยชาร์จไว้บ่อยๆ เราก็เดินปัญญาไปสักพักหนึ่ง พอจิตมันหมดกำลัง มันจะฟุ้งซ่าน พอมันฟุ้งซ่าน เราก็กลับมาทำสมาธิอีก นี่กลับไปกลับมา สมาธิมันยังไม่พอ การที่ดู ดูได้ดีแล้วล่ะ แต่กำลังสมาธิไม่พอ ปัญญาที่แหลมคมจริงๆ มันจะยังไม่เกิดขึ้น ดีนะ

 

 

ที่หลวงพ่อไลฟ์สด มีถ่ายทอดไปหลายประเทศ และมีคนแปล มีภาษาจีน ภาษาอังกฤษ สิ่งที่หลวงพ่อกับทีมงานพยายามทำก็คือสิ่งเหล่านี้ คือพยายามกระจายธรรมะออกไป ออกไปสู่ที่ต่างๆ ทั้งในเมืองไทยทั้งต่างประเทศ หวังว่าวันหนึ่งธรรมะเกิดสะดุดลงที่ใดที่หนึ่ง ที่อื่นยังเหลืออยู่ ก็ยังฟื้นฟูกลับขึ้นมาได้ ไปรับกลับมาได้ ครูบาอาจารย์ท่านก็พูดว่าวันหนึ่งมันก็หมดจากเมืองไทย คงต้องไปเรียนที่อื่น นี่หลวงพ่อได้ยินท่านบอกอย่างนี้ก็เลยพยายามสอน ใช้สื่อใช้อะไร มีทีมงานช่วยกันทำงานช่วยกันแปล วันหนึ่งหมดจากที่นี่ ที่โน่นยังอยู่ เราก็ไปเรียนคืนมา มันเหมือนเราเวียนเทียน เทียนของเราดับ เทียนของคนใกล้ๆ เรายังมี เราก็ไปต่อเทียนคืนมา เสร็จแล้วของเขาดับบ้างก็มาต่อจากของเรา อย่างตอนนี้คนต่างประเทศเขาก็มาเรียนการปฏิบัติ แต่ยังฝรั่งเขาก็ชอบการปฎิบัติ แต่มันจะไปทางสมาธิไปทางทิเบต จะไม่ใช่เรื่องสติปัฏฐานอย่างที่พวกเราเรียนกัน คนละแบบกัน ส่วนมากเขาพอใจแค่สงบ ยกเว้นบางคน เขามีบุญมีบารมีจริงๆ เขาก็ยังรู้สึกว่าสงบอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องเจริญปัญญาด้วย

ฉะนั้นสิ่งที่หลวงพ่อสอนนี่ มีทั้งเรื่องสมาธิ ทั้งเรื่องปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าเราเรียนแล้วเราก็เอาไปทำนะ พากเพียรอดทนเข้า วันหนึ่งเราก็ได้ช่วยกันรักษาสืบทอดพระศาสนา หลวงพ่อก็ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้าได้ ถึงวันหนึ่งก็ไม่อยู่ ลูกศิษย์ลูกหาที่ได้ภาวนา มีกำลังแล้ว ก็ได้ช่วยกันสืบทอดต่อไป เหมือนที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนหลวงพ่อมา ท่านก็ให้หลวงพ่อทำงานต่อไป

อย่างหลวงพ่อพุธท่านสั่งเลย ตั้งแต่พ่อยังไม่ได้บวช หลวงพ่อพุธท่านสั่งเลยว่า ให้คุณไปเผยแพร่ธรรมะ คนที่จริตนิสัยอย่างคุณยังมีอยู่ ถ้าเขาไม่ได้ฟัง เขาจะเสียโอกาส ท่านสั่งอย่างนี้ หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอก แต่ไม่ได้บอกกับหลวงพ่อ ท่านบอกกับลูกศิษย์อีกคนหนึ่ง บอกตั้งแต่ก่อนที่หลวงพ่อจะเจอท่าน หลวงปู่ดูลย์บอกผู้หญิงคนนี้ อยู่แถววัดบุญญราศรี ผู้หญิงคนนี้เขาเป็นคนสุรินทร์ รู้จักหลวงปู่ เข้าไปลาหลวงปู่จะแต่งงานมาอยู่ชลบุรี หลวงปู่ท่านบอก อ๋อ เมืองน้ำเค็ม เขาบอกใช่ อยู่ริมทะเล หลวงปู่ก็บอกว่าต่อไปลูกศิษย์เราจะเอาธรรมะของเราไปเผยแพร่ที่นั่น ท่านบอกอย่างนี้

จริงๆ ครูบาอาจารย์คล้ายๆ ท่านฝึกหลวงพ่อไว้เพื่อทำงานสืบทอด หลวงปู่สิมท่านก่อนก็เคยบอกพระที่อยู่กับท่านว่า โยมคนนี้ที่เพิ่งมาหาท่านที่เพิ่งกลับไป ต่อไปจะเป็นกำลังของพระศาสนา นี่ท่านคิดให้เราทำงานทั้งนั้น ไม่ได้ให้เราเอาตัวรอดคนเดียวหรอก หลวงพ่อก็สืบทอด ครูบาอาจารย์ท่านฝากปณิธานไว้ หลวงพ่อก็ทำงานต่อ

ทีแรกหลวงพ่อพุธสั่งให้เผยแพร่ หลวงพ่อยังงงเลย เราเผยแพร่ได้อย่างไร เราไม่มีเครื่องมืออะไรสักอย่างเลย ไม่มีอะไรเลย เป็นข้าราชการเด็กๆ ตอนนั้น ชั้นผู้น้อย เงินทองอะไรก็ยังไม่มี ครูบาอาจารย์สั่งต้องหาทางทำ หลวงพ่อก็เขียนธรรมะ เขียนประสบการณ์ การปฏิบัติ ส่งไปลงหนังสือโลกทิพย์ เราไม่มีเงินพิมพ์เอง เราก็อาศัยเขาพิมพ์ แต่ตอนนั้นถึงหลวงพ่อพิมพ์ก็ไม่มีคนอ่านหรอก เพราะเขาก็ไม่รู้จัก คนเราดูกันที่ยี่ห้อที่โลโก้ ที่ยังไม่รู้จักเขาไม่เอา นี่ก็ทำงานมาเรื่อยๆ ค่อยๆ ขยายตัวไปเรื่อยๆ คนที่มีบุญบารมีร่วมกันมา มีปณิธานร่วมกันมาก็ค่อยๆเข้ามา ช่วยกันทำงาน ถึงวันนี้มันก็กว้างขวางออกไปเยอะแล้ว

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
วันที่ 2 สิงหาคม 2563