ความขี้เกียจไม่เคยพาใครให้ได้ดี

เวลาฟังธรรมเป็นเวลาสำคัญ เวลาที่เราเข้าเฝ้าเหมือนเราเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ธรรมะคือศาสดาของพวกเรา ฉะนั้นเราต้องฟังด้วยความเคารพ ฟังไปเล่นมือถือไปอะไรแบบนี้ไม่ไหว คนรุ่นนี้น่ากลัวมากเลย เมื่อวัน 2 วันนี้หลวงพ่อไปธุระข้างนอกเห็นคนขี่มอเตอร์ไซค์ยังเล่นมือถือไปด้วย เล่นไปขี่ไปมันไม่ตายก็บุญนักหนาแล้ว

หลวงพ่อปิดวัดมาตั้งแต่ 16 มีนาคม ตอนโรคระบาดมันกำลังเริ่มแรงปิดมาได้ 4 เดือนครึ่ง แล้วมาเปิดเดือนสิงหาคมนี้ ทีแรกจะเปิดตั้งแต่กรกฏาคม พอดีเป็นอัมพฤกษ์ปากเบี้ยวพูดไม่ชัด ก็เลยเลื่อนมาเดือนหนึ่ง มาเปิดสิงหาคม เริ่มตั้งแต่สัปดาห์ก่อน

พอมาถึงสัปดาห์นี้หลวงพ่อก็ขยายงานต่อไป สัปดาห์นี้ให้พระอาคันตุกะเข้ามาแล้วก็ปรับไปตามสถานการณ์ ให้จองเข้ามาเพื่อจะได้ไม่ต้องวิ่งเข้ามาแย่งกันนั่ง หรือว่ามานั่งก็มานั่งเบียดๆ กันอะไรแบบนี้ ทางราชการเขายังขอความร่วมมือให้เว้นระยะห่างอยู่หลวงพ่อร่วมมือกับเขา เมืองไทยดูแลพลเมืองได้ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่งเลย

ประเทศบางประเทศเขาไม่มีกำลังที่จะดูแลชาวบ้านของเขา บางประเทศก็เป็นเสรีภาพมาก คนมีเสรีภาพที่จะเป็นโรคก็ได้ แพร่เชื้อโรคก็ได้ มันเสรีอะไรก็ไม่รู้ มันอยู่ที่หลักการคิดของแต่ละชาติไม่เหมือนกัน อย่างเมืองไทย เมืองจีน เราถือหลักว่าชีวิตคนสำคัญที่สุด ชีวิตของพลเมืองจะยากดีมีจนอะไรก็สำคัญหมด

ทางอเมริกาทางอะไรนี่เขาไม่ถืออย่างนั้น เขามุ่งเศรษฐกิจสำคัญที่สุด คนจะตายเป็นแสนๆ เลยเขาก็เฉยๆ ถือว่ามีเสรีภาพที่จะตาย แนวทางแก้ปัญหาโรคระบาดนี่มันไม่เหมือนกัน คนไทยที่อยู่ต่างประเทศนะ พยายามกลับมาเมืองไทย อยู่ที่อื่นอยู่ยาก เขาก็ไม่ได้เห็นเรามีความสำคัญอะไรนะ เหมือนหมาตัวหนึ่งเท่านั้น ติดโรคก็ตายไป ของเราเลี้ยงหมายังเลี้ยงดีกว่าอีก หมาไม่สบายยังพาไปหาหมอ แต่ละชาติก็คิดไม่เหมือนกัน ก็แล้วแต่ ทางใครทางมัน

 

เอาเวลามาภาวนาให้ดี แล้วชีวิตเราจะดีขึ้น

ช่วงโควิดระบาดนี่หลวงพ่อก็มีเวลาเยอะขึ้น เพราะอยู่ในวัดไม่ได้ไปไหน ยกเว้นไปโรงพยาบาล หลวงพ่อก็มีเวลาดูแลพระภายในนี้ ฉะนั้นพระรุ่นนี้เช็คเข้ม เช็คเข้มกว่ารุ่นก่อนๆ ยกเว้นพวกเข้าใหม่ต้องฝึก ยังไม่ได้หลัก มีเข้ามาใหม่ 2 องค์ พวกที่เข้ามาก่อนแล้วก็โอเคแล้ว เข้าที่

หลายคนก็ฉวยโอกาสตอนที่มีโรคระบาดช่วงเก็บตัวภาวนา อย่างก็มีพระอาคันตุกะองค์หนึ่งท่านมาเล่าให้ฟัง ท่านก็ภาวนา จิตใจท่านก็ก้าวกระโดดไปอีกขั้นหนึ่ง ก็ดี แต่เดิมนี่เปิดประเทศท่านก็รับนิมนต์เยอะ เวลาภาวนาก็คอยคิดอย่างเดียว จะเอาอะไรไปเทศน์รายการถัดไปไม่ได้ภาวนาจริง หลวงพ่อก็กราบเรียนท่านบอกว่าท่านอาจารย์ขาดสมาธิ ถ้าไม่เพิ่มสมาธิไปต่อไม่ได้ นี้พอมีโควิดระบาดท่านไม่ได้ต้องคิดงานแล้ว ท่านก็นั่งดูจิตดูใจของท่านไปก็ดีขึ้น

ทีนี้โยมก็เหมือนกัน ถ้าหากเอาเวลาที่เราอยู่ตามลำพังมาภาวนา มันก็ต้องดีบ้างล่ะ ถ้าเราเอาเวลาไปวุ่นวายกับคนอื่นตลอดเวลา ไม่มีทางดี บางทีไม่ไปเจอตัวเขาก็เจอกันทางอินเทอร์เน็ต เล่นเฟส เล่นไลน์ อะไรอย่างนี้ ก็คือการคลุกคลี ตราบใดที่ยังคลุกคลีอยู่อย่ามาพูดเรื่องสมาธิเลยไม่มีหรอก

หลวงพ่อถึงบอกพวกเราอย่าเล่นเยอะอินเทอร์เน็ต สมัยก่อนหลวงตามหาบัว กระทั่งมือถือ มือถือมันยังไม่ Smart เหมือนรุ่นนี้ท่านยังว่าเลย ท่านเรียกเทวทัต ถ้าท่านมาเจอรุ่น Smartphone นี่ไม่รู้ท่านจะเรียกว่าอะไรแล้วเรียกเทวทัตไปแล้ว ยิ่งกว่านี้ก็หาคำมากกว่านี้ไม่ได้ ต้องบอกเทวทัตกำลัง 2 ต้องอย่างนั้น เพราะมันขวางการปฏิบัติของเรามากเลย

วันๆ จิตใจจดจ่อกับภายนอก คอยดูว่าเพื่อนเรามันจะเขียนอะไรบ้าง บางทีเขียนอะไรบ้าๆ บอๆ เราก็ต้องไปกด like ให้เขา เผื่อเราเขียนอะไรที่บ้าอย่างเขาบ้าง เขาจะได้มาlike ให้เราบ้าง ไร้สาระ เอาเวลามาภาวนาให้ดีเถอะ แล้วชีวิตเราจะได้ดีขึ้น ไม่ใช่อยู่ตามยถากรรมแบบนี้ มันเหมือนคนไม่มีการศึกษาในธรรม ตั้งแต่เป็นโยมหลวงพ่อมีวินัยในการปฏิบัติเวลาทำงานเราก็ทำไป ตอนไหนที่ไม่ได้ทำงานที่ต้องคิด หลวงพ่อภาวนาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ อะไรก็ทำไปเรื่อย หรือดูจิตดูใจมันทำงานดูตลอดไม่เลิก

การภาวนาของหลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ท่านเลยบอกมันภาวนาได้เร็ว ภาวนาเร็วเพราะเราภาวนาไม่หยุด ไม่ใช่ทำๆ หยุดๆ การภาวนามันเหมือนพายเรือทวนน้ำ พายๆ แล้วก็หยุด น้ำก็คือกิเลสก็พาเรือคือใจของเราถอยหลังมาอีก พอวันหลังมานึกถึงอยากภาวนาอีกก็มาพายเรืออีก พายไปสักพักก็หยุดอีก แล้วก็ถอยหลังอีกพอ หลายๆ รอบเข้า หมดแรงพายแล้วไม่พายแล้วช่างมันแล้ว

นักปฏิบัติก็เป็นแบบนั้น แรกๆ ก็ฟิตจัด ภาวนากะว่าชาตินี้ต้องเอามรรคผลนิพพานให้ได้ บางคนหวังจบเลยบางคนหวังได้โสดาบันก็ยังดี พอภาวนาไปช่วงหนึ่งแล้วขี้เกียจขึ้นมาใจก็ถอยออกมา วันดีคืนดีก็ภาวนาอีก ถ้าถอยขึ้นถอยลงอยู่อย่างนี้มันไม่ได้ผลหรอก กิเลสเอาไปกินหมด แล้วภาวนาอย่างนั้นนะ บางทีกิเลสเพิ่มกว่าเก่า ภาวนาแล้วเรารู้สึกกูดี กูดี ดีกว่าคนอื่นกูเป็นนักภาวนานักปฏิบัติ จริงๆ มันยังไม่ดีหรอก ถ้าดีมันต้องไม่ทุกข์

ถ้าเราอยากเอาจริง ขั้นแรกเราต้องถือศีล 5 เอา 5 ข้อพอไม่ต้องถือศีลมากกว่านั้นหรอก ศีล 5 ก็บรรลุมรรคผลได้แล้ว ถ้าอยากได้สูงกว่านั้นอย่างเราได้โสดาบัน ได้สกทาคามี อะไรพวกนี้ศีล 5 พอแล้ว ถ้าเราอยากได้อนาคามีต้องเขยิบขึ้นไปหน่อย ศีล 8 นี้เหมาะกับคนที่ปฏิบัติเพื่อเป็นพระอนาคามี ศีล 8 รวมทั้งเป็นพระอรหันต์ด้วย

ฉะนั้นขั้นแรกถือศีลไว้ก่อน ไม่ต้องมาขอพระเรารู้จักศีล 5 อยู่แล้ว ถ้าไม่รู้จักก็ไปถาม google ดู มันก็บอกได้ศีล 5 มีอะไร มันเป็นการงดเว้นการทำชั่วทางกายทางวาจา 5 อย่างเท่านั้น นี้เป็นพื้นฐาน ถ้าใจเรามีศีลแล้วใจเราจะมีสมาธิง่าย วิธีจะให้เกิดสมาธินะ ต้องรู้จักสมาธิก่อน

 

ถ้าสมาธิไม่ถูก เรื่องเจริญปัญญาเป็นไปไม่ได้

ที่หลวงพ่อสอนมากมายนี่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสมาธิ เรื่องปัญญามันไม่ยากแล้ว ถ้าสมาธิถูกต้อง การเจริญปัญญาไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ถ้าสมาธิเราไม่ถูกอย่ามาคุยเลยเรื่องเจริญปัญญา เป็นไปไม่ได้

ฉะนั้นเราก็ต้องเรียนเรื่องสมาธิ ที่หลวงพ่อสอนเยอะแยะเลยเรื่องนี้ เพราะอะไรสอนเรื่องสมาธิมาก ทั้งๆ ที่ตอนหลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ท่านไม่สอนสมาธิหลวงพ่อ หลวงพ่อเข้าไปหาครูบาอาจารย์องค์ไหนไม่เคยสอนสมาธิหลวงพ่อ ยกเว้นองค์เดียวคือท่านพ่อลีตอนนั้นหลวงพ่อ 7 ขวบ เจอท่านพ่อลี ท่านสอนเรื่องสมาธิหายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับหนึ่ง หายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับสอง ก็เพราะว่าหลวงพ่อก็ทำมาตลอด

ตอนที่มาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านไม่สอนสมาธิหลวงพ่อแล้ว แต่กับคนอื่นกับพระองค์อื่นท่านสอนเรื่องสมาธิเยอะเลย อย่างบางองค์ อย่างหลวงพ่อคืน หลวงปู่ดูลย์สอนให้พิจารณาผมเส้นเดียว เส้นเดียวนะ 2 เส้นก็ไม่ได้ นี่ความรู้อัศจรรย์ของหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อคืนตอนนั้นเสียใจคนอื่นหลวงปู่ดูลย์สอนอะไรเยอะแยะเลย ของท่านให้ดูผมเส้นเดียว ท่านก็ไม่ดู ท่านมาภาวนาอยู่ที่หินหมากเป้ง ท่านกำหนดจิตเผาร่างกายตัวเอง มันก็ไม่ไหม้ มันแค่เกรียมๆ มันไม่ไหม้ ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ

สุดท้ายกลับมาออกพรรษาแล้ว ไปอยู่ทางโน้นตั้งหลายเดือน ออกพรรษากลับมาบ้านที่สุรินทร์ตอนนั้นยังไม่ได้บวชนะหลวงพ่อคืน กลับมาบ้านแล้วไม่รู้จะภาวนาอย่างไร ถึงเวลาที่จะต้องไปเจอหน้าหลวงปู่ดูลย์แล้ว นึกขึ้นได้หลวงปู่ให้ดูผมเส้นเดียว ท่านก็พิจารณาผมเส้นเดียวผมมีรูปร่างอย่างนี้ มีสีอย่างนี้ มีกลิ่นอย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้นะ พิจาณาอยู่เส้นเดียวเท่านั้นจิตรวมเลยจิตรวมได้สมาธิแล้ว ก็เข้าไปหาหลวงปู่ดูลย์ท่านก็สอนเรื่องปัญญาให้ นี่อย่างนี้ก็มี

บางองค์อย่างหลวงพ่องานหลวงปู่ดูลย์สอนให้ดูกระดูก นี่ก็เป็นสมาธิ เป็นสมถะ ท่านดูกระดูกจนกระทั่งเวลาเดินจงกรม ท่านเห็นกระดูกเดินจงกรมแล้วก็มีกระดูกอีก 4 โครง ข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา เดินล้อมกันไป ไปไหนก็มีกระดูกนี้ไปด้วยไปเรื่อย ใจก็มีสมาธิมีกำลังขึ้นมาข่มกามได้ เข้าไปหาหลวงปู่ หลวงปู่ก็สอนการเจริญปัญญาต่อยอดให้ท่านก็ได้ดีกัน ฉะนั้นหลวงปู่ดูลย์สอนแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนไหนต้องเรียนสมาธิท่านก็สอนสมาธิก่อน บางคนท่านก็ให้พุทโธๆ เอาแล้วคอยรู้ทันจิตที่เป็นผู้ว่าพุทโธ ท่านว่าอย่างนี้ จิตเป็นคนท่องพุทโธ

หลวงพ่อเข้าไปท่านไม่สอนสมาธิเลย สมาธิหลวงพ่อทำได้ตั้งแต่ 7 ขวบแล้วทำมาตลอดแล้ว ฉะนั้นสมาธิมันดี สมาธิดีดูอย่างไรที่ว่าเป็นสมาธิดีพร้อมที่จะปฏิบัติ ไม่ใช่เข้าฌานเก่ง แต่สมาธิที่ดี จิตนั้นมันเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตมันรู้ มันตื่น มันเบิกบาน ไม่ใช่จิตผู้หลง จิตผู้หลับ จิตผู้เคร่งเครียด อย่างพวกเรานั่งภาวนานะเดี๋ยวก็หลงแล้ว เดี๋ยวก็หลับแล้ว เดี๋ยวก็เครียดแล้ว จิตอย่างนั้นไม่มีคุณภาพต้องฝึกอีก

 

วิธีฝึกให้จิตมีคุณภาพ

วิธีฝึกให้จิตมีคุณภาพทำอย่างไร หากรรมฐานสักอย่างหนึ่งอะไรก็ได้ที่ใจเราชอบ เราชอบกรรมฐานอันไหนเอากรรมฐานอันนั้น ชอบพุทโธก็ใช้พุทโธ ชอบหายใจก็ใช้หายใจ ชอบแบบไหนก็เอากรรมฐานอย่างนั้น เราทำกรรมฐานที่เราชอบใจมันจะมีความสุข ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิชนิดสงบใจก็เริ่มสงบ พอใจมันสงบแล้วมันตั้งมั่นอยู่กับตัวเอง แล้วพอมันเคลื่อนมันหนีไปดู หนีไปฟัง หนีไปดมกลิ่น หนีไปลิ้มรส หนีไปรู้สัมผัสทางกาย หนีไปคิดทางใจ เรามีสติคอยรู้ทันตอนที่มันหนี หัดรู้บ่อยๆ เช่นพุทโธๆ อยู่ดีๆ หนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว เราก็รู้ทันตอนนี้หลงลืมพุทโธแล้ว รู้บ่อยๆ ต่อไป พอจิตมันหลงปุ๊บสติจะเกิดอัตโนมัติเลย

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วเวลามันหลงไปเราคอยรู้สึก แล้วต่อไปมันหลง มันจะรู้สึกโดยไม่ต้องเจตนา อย่างหลวงพ่อเทียนสอนขยับมือ สอนขยับมือ มี 14 จังหวะ หลวงพ่อก็เคยเข้าไป แต่ไม่ได้ไปเรียนกับท่านหรอก ไปดูท่านเพราะท่านมีชื่อเสียง ต อนนั้นหลวงพ่อภาวนาเป็นแล้วหลวงพ่อก็ไปดูสำนักโน้นสำนักนี้ หลวงพ่อเทียนขยับหลวงพ่อเทียนทำได้ดี ลูกศิษย์ขยับบางพวกก็เพ่งมือ บางพวกก็เพ่งใจให้นิ่ง บางพวกก็ทำใจเคลิ้มๆ บางพวกก็ใจหนีไปที่อื่นมันใช้ไม่ได้ สติมันไม่ได้อยู่กับการเคลื่อนไหว

ฉะนั้นถ้าเราใช้กรรมฐานเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวจะ 14 จังหวะหรือแค่ 2 จังหวะแค่นี้ยังได้เลย แล้วรู้สึกไป รู้สึกๆ ร่างกายเคลื่อนไหวใจรู้สึก สักพักหนึ่งใจมันเผลอ เผลอแล้วมือยังขยับอยู่นะแต่ใจหนีไปแล้ว ต่อมาเรารู้สึก เฮ้ยหลงไปแล้วนี่ หลงไปแล้วก็อย่าไปดึงจิตคืน เริ่มต้นขยับแล้วรู้สึกเอาใหม่ อย่าไปเอาจิตดวงที่แข็งๆ ทื่อๆ ที่หลง ตัวนั้นโยนทิ้งไปเลย จิตไม่ได้มีดวงเดียวจิตเกิดดับตลอดเวลา จิตดวงนั้นเป็นจิตที่เลวทิ้งมันไปอย่าไปหวงมัน มารู้สึกเอาใหม่รู้สึกๆ เอานะ หายใจก็ได้พุทโธก็ได้ ดูท้องพองยุบก็ได้ขยับมือก็ได้อะไรก็ได้

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แต่ทำด้วยความมีสติ เวลาอะไรเกิดขึ้นคอยรู้ทันไป เช่นนั่งหายใจเข้าพุท หายใจออกโธแล้วแหมมันเคลิ้มจะขาดสติรู้ว่ามันเคลิ้ม แค่นั้นล่ะฝึกเรื่อยๆ ต่อไปพอใจจะเคลิ้มนะสติจะเกิดเอง

อย่างหลวงพ่อไปที่วัดหลวงพ่อเทียน ขยับ 14 จังหวะหลวงพ่อรำคาญ หลวงพ่อเป็นพวกโทสะจริตอะไรที่ซับซ้อนรำคาญ หลวงพ่อทำมือแค่นี้เอง ไม่ทำอย่างนี้ด้วยเมื่อย ขยับแค่นี้เอง ขยับๆ อย่างนี้ นั่งอยู่นะแล้วขยับ นั่งใต้ต้นไม้ท่านจิตรวมปุ๊บลงไปเลย รวมลึกลงไป แล้วก็เห็นความปรุงแต่งมันผุดขึ้นมา

มันเป็นกระแสคล้ายๆ กระแสของความคิด ผุดขึ้นจากความว่าง พอมันผุดขึ้นมานี่ใจมันกระทบมันไปสัมผัสตัวนี้ มันเกิดวิญญาณขึ้นมา ตอนที่ใจมันลงไปนะ ใจมันเข้าภวังค์ แล้วมันเห็นใจมันทำงานขึ้นมา สังขารมันปรุงขึ้นมา สังขารมันปรุงขึ้นมาแล้วนี่วิญญาณก็เกิดขึ้น ความรับรู้ มันรับรู้อะไร มันรับรู้สังขาร ความรับรู้สังขารเกิดขึ้น วิญญาณเกิดขึ้น วิญญาณเกิดขึ้นนี่มันแผ่ขยายความรู้สึกออกไป กระทบเข้าที่รูป รูปก็ปรากฏ กระทบนาม นามก็ปรากฏ มันกระทบนามก่อน กระทบนาม พอกระทบนามแล้วมันขยายความรู้สึกออกไป ขยายความรับรู้ไป กระทบรูป รูปก็ปรากฏ ตอนนี้นามรูปเกิดขึ้นแล้ว อายตนะเกิดขึ้นแล้ว นี่ไปนั่งขยี้นิ้วอยู่แท้ๆ มันเห็นปฏิจจสมุปบาท

จุดสำคัญไม่ได้ไปนั่งสนใจที่นิ้วหรอก สนใจที่มีสติ นี้วันหนึ่งเห็นเพื่อนไม่เจอนาน ไม่เจอกันนาน เดินอยู่คนละฝั่งถนนก็ดีใจ ตอนดีใจนี้ขาดสติ ก้าวเท้าไปเพื่อจะข้ามถนนไปหาเพื่อน พอเท้าเคลื่อนไหวเท่านั้นสติเกิดเลย ทำไมพอเท้าเคลื่อนไหวแล้วสติเกิดได้เอง เพราะหลวงพ่อฝึกขยับอย่างนี้ขยี้นิ้วอย่างนี้ขยี้เบาๆ ไม่ต้องแรงเดี๋ยวนิ้วถลอก ร่างกายเคลื่อนไหวใจเป็นคนรู้สึก พอเท้าก้าวนี่ มันก็คือร่างกายเคลื่อนไหวใจเป็นคนรู้สึก

แต่ความรู้สึกที่เป็นอิสระนี่ตรงไหนเด่นมันรู้ตรงนั้น เท้าที่เคลื่อนไหวเป็นอารมณ์ที่เด่นมากกว่าขยับนิ้วแล้ว ขยับนิ้วขยับยังไม่กี่วันหรอก คราวนี้พอเท้าเคลื่อนไหวมันรู้สึกเองแล้ว พอจะหันซ้ายหันขวามันรู้สึกเองแล้ว นี่ว่าเรียนแล้วได้หลัก ขยับนี้เพื่อจะรู้สึกตัว ตอนนี้จะหันซ้าย หันขวาอะไรรู้สึกได้ตลอด

ฉะนั้นเราต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อย่าขี้เกียจ ความขี้เกียจไม่เคยพาใครให้ดีได้ ความขี้เกียจไม่ช่วยให้ใครได้ดีหรอก กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ กฎแห่งกรรมก็คือถ้าเราทำกรรมฐานทำถูกต้องทำสม่ำเสมอทำมากพอผลมันก็เกิด ทำกรรมฐานแล้วก็ใจหนีไปคิดเรื่องอื่นอะไรแบบนี้ผลเกิดเหมือนกันแต่เกิดฟุ้งซ่าน ไม่ได้เกิดมรรคผลอะไร

 

กรรมฐานเป็นฉากหลังเพื่อจะได้รู้เท่าทันจิตตนเองได้ชัดเจนขึ้น

ฉะนั้นเราไปเลือกดู กรรมฐานอะไรที่เหมาะกับตัวเรา ไปดูกรรมฐานที่เหมาะกับตัวเราเอง พุทโธแล้วสบายใจเอาพุทโธ รู้ลมหายใจแล้วสบายใจก็เอาลมหายใจ ดูท้องพองยุบแล้วสบายใจก็ดูท้องพองยุบไป ขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียนแล้วสบายใจก็ขยับมือไป ดูเวทนาแล้วสบายใจก็ดูเวทนาไป ดูจิตตสังขาร จิตดี จิตชั่วอะไรอย่างนี้ดูแล้วสนุก สบายใจก็ดูไป

ทางใครทางมัน ไม่มีอะไรดีกว่าอะไร กรรมฐานทั้งหลายไม่อะไรดีกว่าอะไรหรอก ถ้าทำถูกก็ถูกเหมือนๆ กัน ถ้าทำผิดก็ผิดเหมือนๆ กัน อย่างเราพุทโธนี่ไม่ใช่เพื่อให้จิตสงบ เราพุทโธเพื่อรู้ทันจิต เช่นพุทโธๆ อยู่จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ว่าจิตหนีไป อย่างนี้เรียกว่าภาวนาเป็น

หายใจก็ไม่ใช่เพื่อให้จิตสงบ หายใจไปพอจิตไหลลงไปอยู่กับลมรู้ทัน จิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน หายใจไปแล้วก็รู้ทันจิต อย่างนี้เรียกว่าภาวนาเป็น ดูท้องพองยุบแล้วจิตไหลลงไปอยู่ที่ท้อง รู้ว่าจิตไหลลงไปที่ท้องแล้ว ดูท้องพองยุบอยู่จิตหนีไปที่อื่นไปคิดเรื่องอื่นแล้ว รู้ว่าจิตหนีไป ดูท้องพองยุบก็เป็นแค่ background ตัวหลักที่เราดูคือตัวจิต

กรรมฐานทั้งหมดเอาจิตเป็นหลัก ตัวกรรมฐานเป็นแค่ background การมี background มันจะช่วยให้เราเห็นความเคลื่อนไหวของจิตได้ชัดเจน อย่างถ้าเราอยู่ในที่มืดตึ๊ดตื๋อเลยมองอะไรไม่เห็น แล้วเราเดินไปนี่เรากะระยะไม่ถูก เดินไปทางไหนทางซ้ายหรือทางขวา ทางไหนไม่รู้เรื่องเลย มันมืดตึ๊ดตื๋อจับอะไรไม่ได้ แต่ถ้ามันมีฉากหลังอย่างนี้ อย่างสมมติหลวงพ่อนั่งอยู่ตรงนี้ พวกเราเห็นหลวงพ่อเคลื่อนไหวไหม ที่เราเห็นหลวงพ่อเคลื่อนไหวเพราะอะไร เพราะตัวหลวงพ่อเทียบกับฉากหลังของหลวงพ่อ มันก็ทำให้เห็นว่าตัวหลวงพ่อเคลื่อนไหว นึกออกไหม? ถ้าข้างหลังเป็นอวกาศ หลวงพ่อขยับอยู่เราไม่รู้ว่าเคลื่อนไหวหรอก

ฉะนั้นไอ้ตัว background นี่มันทำให้ตัวที่เคลื่อนไหวนี่มันชัดเจนขึ้น การภาวนาก็เหมือนกัน กรรมฐานทั้งหลายเป็น background เป็นฉากหลัง ตัวที่เคลื่อนไหวคือตัวจิต เรามีฉากหลังอยู่ พอจิตเคลื่อนไหวมันจะเห็นง่ายนะ

เช่น เราพุทโธๆ อยู่เป็นฉากหลัง จิตหนีไปที่อื่นลืมพุทโธไปแล้ว เอ้าฉากหลังมันเปลี่ยน ตะกี้ฉากหลังคือพุทโธ ตอนนี้ฉากหลังคือโควิดอะไรแบบนี้นี่ไปแล้ว เราจะเห็นเออจิตนี่มันไม่คงที่นะ มันเปลี่ยน หรือเราดูลมหายใจใช่ไหม ดูลมหายใจเป็นฉากหลัง รู้ร่างกายหายใจออก รู้สึกร่างกายหายใจเข้ารู้สึก หายใจไปหายใจไปจิตหนีไป ฉากหลังมันไม่ใช่การหายใจแล้ว ฉากหลังมันเป็นเรื่องอื่นแล้ว เราก็รู้ทันว่าจิตหนีไปแล้ว

หรือทีแรกเรารู้ร่างกายหายใจสบายๆ แล้วจิตถลำลงไปอยู่ที่ลมหายใจ นี่ฉากหลังมันเปลี่ยนแล้ว ลมหายใจเปลี่ยนจากตัวถูกรู้เป็นตัวถูกเพ่งไปแล้ว มันเปลี่ยนอาการของมันไปแล้ว

ฉะนั้นเรามีฉากหลัง มีกรรมฐานเป็นฉากหลังเพื่อจะได้รู้เท่าทันจิตตนเองได้ชัดเจนขึ้น ดูท้องพองยุบไปเป็นฉากหลัง ไม่ใช่ไปเพ่งท้องเพ่งท้องใช้ไม่ได้ ส่วนใหญ่ร้อยละร้อยนะที่หลวงพ่อเห็นนะเล่นพองยุบไปเพ่งท้อง มันจะได้อะไรขึ้นมา

ถ้าเพ่งท้องแล้วรู้ว่าจิตมันเคลื่อนไปที่ท้องนะ ทีแรกจิตอยู่ห่างกะท้องฉากหลังนี้ไปอยู่ไกลๆ นี้ จิตกับฉากหลังมันเข้าไปแนบกัน ฉากหลังมันใหญ่ขึ้นจะใหญ่ขึ้น นี่เรารู้ให้ว่ามันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่แล้วจิตมันถลำไปแล้ว หรือดูท้องพองยุบอยู่จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นลืมท้องพองยุบ ฉากหลังมันเปลี่ยนไปแล้ว

ฉะนั้นเราต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งนะ เพื่อเป็นฉากหลังที่เราจะรู้ทันจิตตนเองได้ดี ถ้าอยู่ในอวกาศไม่มีอะไรเป็นที่สังเกต ดาวอะไรสักดวงก็ไม่เห็นนะสมมติไม่เห็นพระอาทิตย์ ไม่เห็นพระจันทร์ ไปอยู่ตรงรอยต่อที่ไม่เห็นอะไรเลยแสงสว่างไปไม่ถึง เราจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วแค่ไหนเราก็ไม่รู้สึกถึงความเร็ว มันไม่มีฉากหลังให้เห็น

อย่างดาวอยู่ในบนฟ้ามันเคลื่อนที่ไหม ดาวมันเคลื่อนที่ไหม พระจันทร์เคลื่อนที่ไหม เรารู้สึกนะเราไปนั่งอยู่กลางแจ้งนานๆ แล้วรู้สึกว่าพระจันทร์กับดาวเคลื่อนที่ เพราะตอนที่มันเคลื่อนขึ้นมันหนีขอบฟ้าด้านหนึ่งขึ้นมา ตอนมันจะเคลื่อนลงมันวิ่งเข้าหาขอบฟ้าอีกด้านหนึ่ง ตัวขอบฟ้านี้เป็น background นี้ทำให้เห็นว่าดาวมันเคลื่อน แล้วเวลาดาวตก วูบ เราเห็นว่าดาวตกเคลื่อนที่เพราะอะไร เพราะมันวิ่งผ่านดาวอื่นๆ ให้เราเห็น มันมี background

ฉะนั้นเราจะเห็นจิตเคลื่อนไหวได้ดี เราต้องมีอารมณ์กรรมฐานเป็นเครื่องอยู่ซะก่อน นี่พยายามฝึกตัวเองหาอารมณ์กรรมฐานที่พอดีๆ ทำแล้วก็ไม่เผลอเพลิน ทำแล้วก็ไม่เคร่งเครียด อารมณ์ที่สบายๆ ทำไป แล้วพอใจเราเคลื่อนเราจะเห็นใจเราเคลื่อนเราจะเห็น ทุกครั้งที่เห็นว่าจิตเคลื่อนไปจิตผู้รู้จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ตรงนี้เป็นสมาธิอีกชนิดหนึ่งแล้ว เป็นสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น รู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่นแล้วสมาธิที่ตั้งมั่นจะเกิดขึ้นเอง ค่อยๆ ฝึกไป

พอเราได้สมาธิที่ตั้งมั่นแล้วจิตเราเป็นผู้รู้ หลวงพ่อจิตเป็นผู้รู้ตั้งแต่ยังไม่เจอหลวงปู่ดูลย์ เรียนกับหลวงปู่ดูลย์แล้ว ตอนเข้าไปหาหลวงปู่สิมท่านเรียนหลวงพ่อว่าผู้รู้ เพราะท่านเห็นว่าหลวงพ่อไม่ใช่ผู้หลงก็เลยเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องผูกขาดไม่ใช่สิ่งผูกขาด พวกเราก็ทำได้ถ้าทำ บางคนก็ชอบมาขอพรนะขอให้ภาวนาได้เหมือนหลวงพ่อ ก็ภาวนาอย่างหลวงพ่อภาวนามาสิ เดี๋ยวเราก็ได้อย่างที่หลวงพ่อภาวนา อยากได้ภาวนาให้ดีมีความสุขอะไรแบบนี้ก็ลงมือทำ

ถือศีล 5 ไว้ ทุกวันฝึกจิตฝึกใจ ทำกรรมฐานมีรูปแบบอยู่ มีเครื่องอยู่แล้วคอยรู้ทันจิตไป บางทีจิตก็เข้าไปสงบอยู่เฉยๆ บางทีจิตก็เคลื่อนไปเรามีสติรู้จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา ถ้าเรามีอารมณ์กรรมฐานที่สบายใจแล้วรู้ไปสบายใจ เราจะได้สมาธิชนิดสงบ ใจสงบสบายมีความสุข

แต่ถ้าเราทำกรรมฐานแล้วเราเห็นจิตมันเคลื่อนไป หรือเห็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป แล้วเรารู้ทันปั๊บนี่ เราจะได้สมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หลุดออกจากโลกของความคิด ความฝัน โลกของการเพ่งเคร่งเครียด เป็นผู้รู้ไม่ใช่ผู้เพ่ง เป็นผู้ตื่นไม่ใช่ผู้เพ้อฝันเป็น ผู้เบิกบานไม่ใช่ผู้เคร่งเครียด รู้สบายรู้ไปสบายๆ เป็นผู้รู้ไม่ใช่ผู้หลงเป็นผู้ตื่นไม่ใช่ผู้หลับ ไม่ใช่แล้วก็เป็นผู้เบิกบาน ไม่เคร่งเครียด อันนี้เราจะได้ 4 ตัวนี้มา ถ้าเราทำกรรมฐานแล้วรู้สภาวะได้ถูกต้อง

โกรธขึ้นมาแล้วรู้ว่าโกรธ ความโกรธดับได้จิตผู้รู้ โลภขึ้นมาแล้วรู้ว่าโลภ ความโลภดับเราก็จะได้จิตผู้รู้ ความสุขเกิดขึ้นมาเรารู้ว่ามีความสุข ถ้าเป็นความสุขจากอกุศลมันจะดับเกิดจิตผู้รู้ ถ้ามีความสุขอยู่รู้ รู้ว่ามีความสุข แต่ความสุขตัวนั้นเป็นความสุขที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศลไม่จำเป็นต้องดับ แต่ผู้รู้มันจะเกิด เกิดไปมีความสุขไป นี่ค่อยๆ ฝึกไป นี้จิตหลงไปคิดรู้ว่าจิตหลงไปคิด ผู้รู้ก็จะเกิดขึ้น พอมีจิตเป็นผู้รู้แล้วก็ถึงขั้นเจริญปัญญา

การเจริญปัญญาก็คือกายมันเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้นมีใจเป็นคนรู้ เป็นผู้รู้ เห็นร่างกายมันทำงานไปใจเป็นผู้รู้ หรือดูจิตใจมันทำงานไปใจมันเป็นผู้รู้ นี่ล่ะเจริญปัญญา กายกับใจมันแยกออกจากกัน แล้วก็ความรู้สึกกับใจมันแยกออกจากกัน แยกขันธ์ได้ แล้วก็ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูไปก็เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของมัน

 

ไปฝึกเอานะหลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ใช้เวลาไม่เยอะ แล้วไม่มานั่งเซ้าซี้อยู่กับท่านทั้งวันไม่ทำเสียเวลา บางทีเดินทางไปหาครูบาอาจารย์ใช้เวลาเป็นวันๆ ตอนเข้าไปเรียนกับท่าน 15 นาทีเลิกแล้ว ลาแล้วไม่อยู่แล้ว อันนี้ติดนิสัยมาจากหลวงปู่ดูลย์ด้วย

หลวงปู่ดูลย์นะไปอยู่กับท่าน ไปอยู่กับท่านสอนพอเรารู้เรื่องแล้วท่านก็ให้กลับ บอกไป ไปทำเอา เหมือนที่หลวงพ่อเอามาใช้กับพวกเราเชิญ เชิญกลับ หลวงปู่ดูลย์ใช้คำว่าไป ไปทำเอา ไม่มีเชิญแต่ว่าไป ไปทำเอา หลวงพ่อสุภาพนะ ภาษาสมัยใหม่เขาใช้คำว่ากลับบ้าน สาธุชนทั้งหลายไปทำเอาเอง ฉะนั้นสิ่งที่หลวงพ่อสอนให้ละเอียดแล้ว สามารถเอาไปทำได้ถ้าใจคิดจะทำจริง แล้วถ้าทำจริงผลที่ได้นะมันไม่ไกล มรรค ผล นิพพานอะไรไม่ใช่ของเหลือวิสัยที่จะทำได้

ฉะนั้นสิ่งที่หลวงพ่อสอนคือเรื่องการทำสมถะ การทำวิปัสสนา การเจริญสติปัฏฐาน ค่อยๆ ฝึกไป เดี๋ยววันหนึ่งก็เป็น ให้เวลาที่จะเรียนรู้ตัวเองให้มากหน่อย ยุ่งกับคนอื่น ยุ่งกับโลกภายนอกเท่าที่จำเป็น ถ้าทำได้อย่างนี้มรรค ผล นิพพานไม่ใช่เรื่องไกล ถ้าให้เวลากับคนอื่นหมดเลย วุ่นวายอยู่กับโลกข้างนอกตลอดเวลาไม่ได้หรอก อย่างไรก็ไม่ได้ ยุติธรรมมากเลย เอาพอสมควรแก่เวลา

 

คำถาม 1: ฝึกดูร่างกายหายใจ สังเกตเห็นตัวเองมีโทสะบ่อยๆ เห็นจิตคิดทั้งวัน มีเพ่งเป็นระยะๆ ไม่แน่ใจว่าปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ รบกวนหลวงพ่อชี้แนะการปฏิบัติต่อไป หากไม่ค่อยมีโอกาสส่งการบ้านครับ

หลวงพ่อ: ปฏิบัติใช้ได้อยู่นะ แต่สมาธิยังไม่ดีพอ จิตขณะนี้มันกระจายออกไปรู้สึกไหม ฉะนั้นแต่ละวันเราแบ่งเวลาทำกรรมฐาน แล้วจิตเคลื่อนแล้วรู้ เคลื่อนแล้วรู้มันจะตั้งมั่นมากกว่านี้ ตอนนี้จิตมันกระจายเลยไม่ค่อยมีแรง ถ้าเรายังไม่มีแรงสมาธิเราไม่พอ การเจริญปัญญาทำไม่ได้จริง มันจะเห็นสภาวะทั้งหลายเปลี่ยนแปลงแต่ใจมันจะฟุ้งซ่าน อันนั้นถือว่าจิตฟุ้งซ่าน แต่ถ้าเราเห็นสภาวะทั้งหลายเปลี่ยนแปลงแล้วจิตเป็นคนดู จิตตั้งมั่น อันนั้นคือการเจริญปัญญา ของคุณเติมเรื่องฝึกจิตให้ตั้งมั่นลงไป ตอนนี้มันหัดเดินเจริญปัญญามันเห็นสภาวะได้แล้ว ถ้าจิตตั้งมั่นขึ้นมา มันจะไปได้เร็วกว่านี้ ไปทำเอา ใช้ได้นะ

 

คำถาม 2: เดินจงกรมทุกวันระหว่างวันดูร่างกาย หายใจเข้าออก มีฉันทะในการปฏิบัติในรูปแบบเห็นสภาวะบ่อยขึ้นเรื่อยๆ แต่รู้สึกว่ายังไม่เป็นกลาง ติดเพ่ง เวลาปฏิบัติบางทีคิดไปพิจารณาเองว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ขอหลวงพ่อช่วยชี้แนะด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: ที่เล่ามานั้นใช้ได้แล้วนะ อย่างเราเพ่งเราก็รู้ว่าเพ่ง อย่างตอนนี้เพ่ง เพ่งก็รู้ว่าเพ่งไม่ต้องไปหาทางแก้หรอก ดูไปเรื่อยๆ ดูไปใจสบายๆ ที่เพ่งก็เพราะมันโลภอยากดีอยากปฏิบัติ ก็มักจะเพ่ง รู้ทันว่าใจมันโลภ มันเลิกโลภมันก็เลิกเพ่งนะ ค่อยๆ ฝึกไป อย่างตอนนี้ใจฟุ้งซ่าน ใจแอบหนีไปคิดรู้ว่าใจหนีไปคิด ของคุณเห็นสภาวะได้เยอะแล้ว ไปฝึกต่อไป
ฆราวาสมันมีจุดอ่อนเหมือนๆ กันหมดอยู่ข้อหนึ่ง คือสมาธิมันไม่ดี สมาธิยังไม่ค่อยพอ แต่ไม่ใช่ไปนั่งเพ่งจิตให้นิ่งนะ ไปนั่งเพ่งจิตให้นิ่งเป็นมิจฉาสมาธิ จิตมันจะนิ่งสว่างไสวเด่นดวงขึ้นมานี่เราไม่ได้ทำขึ้นมา เราทำเหตุก็คือรู้สภาวะไปเรื่อยๆ แล้วจิตมันก็เด่นดวงขึ้นมา อย่าไปบังคับจิต บังคับแล้วมันจะเครียด ดูเล่นๆ ดูสบายๆ ไป ที่ฝึกอยู่ก็ถือว่าใช้ได้อยู่นะ ไปทำเอา

 

คำถาม 3: ทุกวันทำรูปแบบบริกรรมอิติปิโส เดิน ฟังหลวงพ่อ 3 ชั่วโมง ปกติไม่ดูหนังค่ะ แต่ช่วง 3 อาทิตย์ดูหนัง รู้สึกแย่ และเห็นกิเลสที่รังเกียจตัวเองมากจนทุกข์ทรมานแทบตลอดเวลาที่เผลอ แต่ข้อดีคือความทุกข์นี้ทำให้เห็นจิตตัวเองเร็ว เห็นเส้นดึงกิเลสไม่ปล่อย พอ 8 วันหลังไม่ดูหนังก็มีความสุข แต่เหมือนหลอกๆ หนาๆ ดูไม่ถึงใจเหมือนตอนมีทุกข์ เลยคิดว่าตัวเองบังคับตัวเองไปหรือไม่คะ ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ขอแนวทางในอนาคตด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: อย่าไปซีเรียสมาก ภาวนาให้มันสบายๆ อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไปสบายๆ ไม่บังคับจิต ไม่ได้กดข่มตัวเองมากเกินไป ตั้งกติกากับตัวเองเยอะไปมันจะเหนื่อย ทำกรรมฐานของเราไปเพลินๆ สบายๆ มีสติเรื่อยๆ แล้วก็พอใจเราสงบพอสมควรแล้วก็ออกมากระทบผัสสะ วิธีดูหนังมันก็คือการกระทบผัสสะนั่นล่ะ พอกระทบผัสสะนะใจมันก็ทำงานขึ้นมา

เราเคยฝึกที่รู้ทันใจตัวเอง พอใจมันทำงานเราก็จะเห็นได้ช่วงหนึ่ง แต่ถ้าดูหนังไปเรื่อยๆ ก็ฟุ้งซ่านดูไม่เห็นแล้ว ฉะนั้นไอ้การดูหนังไม่ใช่ว่าดีหรือไม่ดี มันอยู่ที่ว่าเป็นผัสสะที่มากไปไหม ถ้าไม่มีอะไรมากระทบเลยก็ไม่ดี ภาวนาแล้วก็นิ่งๆ เฉยๆ ว่างๆ อยู่อย่างนั้นใช้ไม่ได้หรอก ออกมากระทบโลกข้างนอกบ้าง อย่างกระทบผ่านการดูหนังนี่ว่าใจมันกระเพื่อมขึ้นมา เดี๋ยวมันก็รัก เดี๋ยวมันก็โกรธอะไรแบบนี้ เรามีสติรู้ แต่ขืนนั่งดูตะบี้ตะบันดูทั้งวันทั้งคืนอะไรแบบนี้ อย่างดูซีรีส์ทีเดียวตั้งหลายวันอะไรแบบนี้ อันนั้นไม่ได้กินหรอกฟุ้งซ่านหมดเลย ฉะนั้นจะกระตุ้นด้วยผัสสะขนาดไหนแค่ไหนอะไรแบบนี้ประเมินตัวเอง ประเมินกำลังของเราเอง ไปฝึกต่อไป ดีอยู่ใช้ได้

คำถาม 4: หนูสังเกตว่า ช่วงปีนี้การภาวนาสบายขึ้น หลังจากเข้าคอร์สแล้วจิตรวมไปเลยครั้งนั้น หลังจากนั้นการภาวนาหนูเริ่มสบายขึ้นค่ะ หนูดูไตรลักษณ์แบบเกิดดับแล้วแต่จิตจะดู หนูรู้สึกว่าตัวผู้รู้กับกายแยกจากกันแบบอิสระ คำถามคือหนูสงสัยว่าสติ สมาธิ ปัญญาหนูอัตโนมัติหรือยังคะ และขอหลวงพ่อแนะนำต่อยอดการปฏิบัติด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: มันมีสติ มีสมาธิ มีการเจริญปัญญา แต่พลังมันยังไม่พอ สติเราก็ยังอ่อนหน่อย สมาธิใจก็ยังไม่แน่ว่ามีพลังเยอะ ดูออกไหมตัวนี้ ทำอีกยังทำไม่พอ แล้วใจไม่เข้าฐานดูออกไหม ขณะนี้ใจไม่ถึงฐาน อย่าดึงจิต ปล่อยมันอย่างเมื่อกี้ปล่อยให้มันอยู่อย่างเมื่อกี้ แล้วหายใจซิ หายใจเฉยๆ ไม่บังคับ รู้สึกไหมตรงนี้กับตะกี้ไม่เหมือนกันแล้ว ตรงนี้มันเข้าฐานของมันแล้ว

เพราะฉะนั้นถ้าหากเราบอกเรามีสมาธิแต่ใจมันกว้างๆ ออกไป ลอยๆ ออกไป ไม่ใช่สมาธิจริง ยังใช้ไม่ได้หรอกไม่เกิดปัญญาจริง มันจะไปสบายเพลินๆ ไป ฉะนั้นถ้าใจเราเพลินไปอย่างเมื่อกี้นี้ หายใจเฉยๆ ไม่ดึงจิต หายใจเฉยๆ มันจะเข้ามาเอง พอมันเข้ามาตั้งมั่นอยู่อย่างนี้ มันจะเริ่มเห็นทุกข์แล้ว ไม่ใช่เห็นแต่ความสุขความสบาย

ถ้าภาวนาแล้วเห็นแต่ความสุขความสบายนี่ ภาวนาผิดแน่นอน เพราะจริงๆ ขันธ์ 5 มันทุกข์ มันจะสบายไปไม่ได้หรอก นี้ถ้าใจเราตั้งมั่นถูกต้องแล้ว ภาวนาไปก็เห็นทุกข์ เห็นทุกข์ไปสักพักหนึ่งใจมันหมดแรง มันจะถูกความทุกข์ครอบงำแล้วก็กลับมาทำสมถะของเราใหม่ มาชาร์ตพลังใหม่ ไม่เดินปัญญารวดเดียว เดินปัญญารวดเดียวไม่ได้หรอก ใจมันฟุ้งซ่านมันทนไม่ไหว แล้วพอจิตมีกำลังขึ้นมาแล้วก็ให้มันตั้งมั่นขึ้นมา รู้ว่ามันตั้งมั่นแล้ว ดูกายมันทำงาน ดูใจมันทำงาน เราจะเห็น ของหนูมันจะเห็นกายเป็นตัวทุกข์ได้ง่าย ดูออกใช่ไหม นั่นล่ะตัวทุกข์มันอยู่ตรงนี้ ตัวธรรมะมันก็อยู่ตรงนี้ล่ะ ก็อยู่ที่ตัวทุกข์นั่นล่ะ ฉะนั้นพอใจตั้งมั่นแล้วก็ดูกายเรื่อยๆ ไปปัญญามันจะเกิด

 

คำถาม 5:  ปฏิบัติในรูปแบบทุกวัน วันละประมาณ 45 นาที ระหว่างวันช่วงที่ไม่ได้นั่งโต๊ะทำงานพยายามเจริญสติให้ได้เท่าที่ระลึกได้ ที่ผ่านมาเห็นความหงุดหงิดไม่พอใจเยอะมากค่ะ ขอการบ้านกลับไปทำต่อค่ะ

หลวงพ่อ: ที่ทำอยู่ใช้ได้นะ เราเห็นกิเลส เห็นอะไรนี่ใช้ได้ แต่ทุกวันต้องแบ่งเวลาทำในรูปแบบให้ใจมันมีสมาธิมากๆ หรือสมาธิไม่ได้นั่งสงบ นั่งเคลิ้มนะ หมายถึงให้ใจมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ดูให้ได้ พวกเรานะแพ้หลวงพ่อตรงนี้ หลวงพ่อได้ผู้รู้มาตั้งแต่ก่อนเจอหลวงปู่ดูลย์ ส่วนของเรามาเจอหลวงพ่อแล้วยังไม่ค่อยจะได้ผู้รู้กันเลย มันมีแต่ผู้คิด หรือมีแต่ผู้เพ่ง แล้วพยายามพัฒนาผู้รู้ขึ้นมาให้ได้ก่อน พอใจเรามีผู้รู้ขึ้นมาแล้ว มันจะเห็นธาตุเห็นขันธ์มันทำงาน มันไม่ใช่เรามันเป็นตัวทุกข์มันบังคับไม่ได้ อันนี้ใจสมาธิมันยังไม่พอ รู้สึกไหมสมาธิไม่พอ เออไปทำเพิ่มขึ้น วิธีทำก็คือมีกรรมฐานอันหนึ่งเป็นเครื่องอยู่ จิตไหลแล้วรู้ ไหลแล้วรู้ไปเรื่อยๆ สมาธิมันจะเข้มแข็งขึ้น

 

คำถาม 6: เมื่อมีกิเลสเกิดขึ้น เช่นโทสะ จะมีอาการร้อน และรู้สึกถึงแรงดันที่กลางอก จากนั้นจะรู้สึกถึงอาการทางกายและจิต จะรับรู้อาการทางกายตลอด อย่างนี้ถือว่าเป็นการแทรกแซงหรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ: รู้แล้วก็ไม่เข้าไม่แทรกแซง ไม่เข้าไปเพ่งให้มันหยุดนะ รู้แล้วก็ปล่อย อย่างขณะนี้เป็นอาการที่ยังแทรกแซงจิตอยู่ ขณะนี้เลยรู้เอา ดูออกไหม เราแทรกแซงใช่ไหม เราไปทำให้มันนิ่งเราปล่อยให้มันทำงานไป มันจะดีหรือมันจะเลวก็ช่างมัน แล้วมีสติตามรู้มันไป มันถึงจะเห็นสภาวะตรงตามความเป็นจริง ถ้าเรายังบังคับอยู่มันก็นิ่งๆ ไป กายก็นิ่ง ใจก็นิ่ง ไม่ดี แต่ตรงนี้มันอาจจะเพราะว่าตื่นเต้น มันก็เลยนิ่งกว่าความเป็นจริง บังคับมากกว่าความเป็นจริง ตอนอยู่ข้างนอกที่เล่ามาก็ใช้ได้นะ ไปทำอีกไป แล้วก็แบ่งเวลาทำในรูปแบบ ให้ใจมันมีพลังไปด้วย

คำถาม 7: หนูฝึกภาวนาฟังหลวงพ่อมาประมาณ 1 ปี วันหนึ่งขณะขับรถยนต์อยู่เกิดรู้สึกตัวว่าแท้ที่จริงแล้วเราไม่สามารถบังคับจิตของเราได้เลย มันเป็นทุกอย่างของมันเองว่ามันจะทำอะไร คิดอะไร รู้สึกว่ามันเป็นจิตมันไม่ใช่เรา ส่วนกายขณะนั้นคือเบา ว่าง เหมือนไม่มี สิ่งนี้เกิดขึ้นแค่แป๊บเดียว สักพักก็กลับมารู้สึกว่ามีกายใหม่ จึงอยากทราบว่าจิตเข้าใจมันเอง หรือสมองของหนูมันคิดไปเองคะ

หลวงพ่อ: มันคิดเอาไม่ได้หรอก จิตมันไปรู้เข้า คิดเอามันก็ไม่เข้าใจ อันนั้นจิตมันเป็นไปเอง จิตมันเกิดปัญญาขึ้นมา เห็นไหมว่าตัวจิตมันยังมีเราอยู่ตัวนี้ดูออกไหม เพราะฉะนั้นตัวนั้นยังไม่ใช่ตัวอริยมรรค ถ้าอริยมรรคเกิดขึ้นในจิตมันจะไม่เป็นเราอีกต่อไปแล้ว เวลาเราคิดในใจมีคำว่าเราอยู่ แต่มันสักแต่ว่ามี สักแต่ว่าโวหารว่ามีเรา แต่ความรู้สึกของจิตมันนี่ไม่ได้รู้สึกเลยว่าจิตเป็นตัวเรา ขณะนี้มันยังรู้สึกอยู่ ไปภาวนาอีก ภาวนาถูกแล้ว ภาวนาดีแล้วละ

 

คำถาม 8: ผมเพิ่งเริ่มปฏิบัติ หลวงพ่อช่วยแนะนำการปฏิบัติให้หน่อยได้ไหมครับ

หลวงพ่อ: แนะมาตลอดเลย นิสัยเราเป็นอย่างไรเรารู้ไหม ขี้โลภ หรือขี้โกรธ หรือขี้หลง ดูออกไหม ถ้าดูออกแล้วก็คอยสังเกตไป อย่างสมมติเราขี้โกรธ สมมตินะมันโกรธเราก็รู้ มันหายโกรธเราก็รู้ หรือมันขี้โลภ เจอนี่ก็อยาก อยากสักพักหนึ่งก็เลิกอยากอะไรอย่างนี้ เดี๋ยวก็อยาก เดี๋ยวก็หายอยาก หรือขี้หลง เดี๋ยวก็หลงไป เดี๋ยวก็รู้สึก เดี๋ยวก็หลงไป เดี๋ยวก็รู้สึก ฝึกเยอะๆ สติเราก็จะดีขึ้น สมาธิ ปัญญามันก็จะดีขึ้น ฝึกรู้สภาวะที่เกิดบ่อยๆ รู้ไปแล้วก็เห็นว่ามันอยู่ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน จิตหลง พอเรารู้ปุ๊บว่ามันหลง เดี๋ยวมันก็เกิดจิตรู้ ไม่หลงแล้ว

ไม่รักษานะ จิตรู้เราก็ไม่รักษา เราก็เห็นมันเกิดดับเช่นเดียวกับจิตหลงนั่นล่ะ ตอนนี้จิตหลงไปคิดเราก็รู้ว่าจิตหลงไปคิด ไม่ว่ามัน ไม่ห้ามมัน มันอยากจะคิดเราก็แค่รู้ว่ามันกำลังไปคิด อย่างตอนนี้กำลังหลงไปคิดอีกแล้ว ดูออกใช่ไหม ดูออกก็ใช้ได้แล้ว ดูออกก็ดีแล้ว การที่เราดูสภาวะออกนี่เรียกว่าเรามีสติ เพราะสติเป็นตัวรู้สภาวะ การที่เรามีสติด้วยใจที่เป็นคนดูเรื่อยๆ เรียกว่ามีทั้งสติ มีทั้งสมาธิที่ถูกต้อง ไม่นานปัญญาก็จะเกิด ก็จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตไปรู้เข้า รวมทั้งกระทั่งตัวจิตเองเกิดแล้วก็ดับ เช่นเดียวกันหมดเลย ไม่มีอะไรที่คงที่เลย ของคุณภาวนาใช้ได้นะ ดี

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
8 สิงหาคม 2563