วิธีดับเหตุของทุกข์

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเต็มไปด้วยเหตุกับผล ทำเหตุอย่างนี้ มีผลอย่างนี้ ทำเหตุดี มีผลดี ทำเหตุชั่วก็มีผลชั่ว ผลชั่วก็เป็นผลของความทุกข์ เวลาเราจะแก้ปัญหาหรือแก้ทุกข์ เราเลยไม่ได้ไปแก้ที่ตัวปัญหาหรือตัวทุกข์ แก้ต้องแก้ที่ต้นเหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นถึงจะดับ ไปแก้ตัวผลไม่ได้ อย่างเราเกิดมามีร่างกายอย่างนี้ ร่างกายนี้เป็นผล เป็นวิบาก เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไป เราจะไปแก้ให้มันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ทำไม่ได้ ถ้าไม่อยากจะแก่ ไม่อยากจะเจ็บ ไม่อยากจะตายก็ต้องไม่เกิด

ถ้าทำเหตุแล้ว ผลมันต้องมี เหมือนอย่างเราซุ่มซ่าม เดินหกล้มหัวแตกอะไรอย่างนี้ หัวมันฟาดพื้นไปแล้ว อยากให้มันไม่แตก มันไม่ได้ ก็ต้องทำเหตุ อย่าซุ่มซ่าม คนส่วนใหญ่ไม่ได้มุ่งที่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่มุ่งไปแก้ที่ตัวปัญหา หรือตัวทุกข์ อย่างภาวนาก็อยากไม่ทุกข์ๆ ทุกข์มันเป็นตัววิบาก แก้ไม่ได้ มันมีศัพท์ธรรมะอยู่กลุ่มหนึ่งชื่อไตรวัฏฏ์ วัฏฏะเริ่มจากกิเลส แล้วก็กรรม แล้วก็วิบาก วิบากเป็นผลจากการกระทำกรรม กรรมเกิดขึ้นเพราะว่ามีอกุศล มีกิเลส พอมีกิเลสก็เลยกระทำกรรม กระทำกรรมแล้วก็มีวิบาก

 

“ศาสนาพุทธจะไม่แก้ที่ผล ผลคือตัววิบาก
การแก้ปัญหาเราจะแก้ที่ต้นเหตุ”

 

อย่างบางคนปากร้าย ใจร้าย ชอบเอาเปรียบ แต่อยากให้คนรัก ถูกคนเขาเกลียด ที่ถูกเกลียดเพราะทำกรรมไม่ดี ไประรานเขา ทำไมไปทำกรรมไม่ดี เพราะมีกิเลส อยากโน้นอยากนี้ มีความโกรธ พอมีกิเลสแล้วก็ไปทำกรรม อย่างไปด่าเขา ไปแกล้งเขา ไปเบียดเบียนเขาอะไรนี่ ก็ได้รับวิบาก เขาเกลียด คนก็ชอบคิดว่าทำอย่างไรเขาจะหายเกลียดเรา คิดจะแก้ที่ความเกลียด ไม่อยากให้เขาเกลียดเรา อยากให้ทุกคนรักเรา แต่ไม่มองต้นเหตุที่ทำให้เขาไม่รัก ไม่มองถึงต้นเหตุที่ทำให้เขาเกลียดอะไรอย่างนี้

ฉะนั้นศาสนาพุทธจะไม่แก้ที่ผล ผลคือตัววิบาก การแก้ปัญหาเราจะแก้ที่ต้นเหตุ พระพุทธเจ้าท่านก็สาวจากผลไปหาเหตุ ผลคือความทุกข์ ท่านดูว่าความทุกข์มันเกิดจากอะไร มีอะไรมีอยู่ ความทุกข์ถึงมีอยู่ ความทุกข์ เช่น ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มีอยู่เพราะมีความเกิด มีชาติ ท่านก็ดูต่อไป ทำไมถึงมีชาติ ทำไมถึงมีความเกิด เพราะว่ามันมีความดิ้นรนของจิต จิตมันดิ้นรน เพราะมันมีความยึด มันยึดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ยึดในเรื่องราวที่คิด ยึดถือในความคิดความเห็น ยึดถือในแบบแผน วิธีปฏิบัติที่งมงาย ยึดถือในความหลงผิด ในความเชื่อถือว่าตัวเรามีจริงๆ เรายึดอยู่ว่าตัวเรามีจริงๆ

ท่านสาวต่อไปอีก ทำไมมันถึงยึด มันยึดเพราะมันมีความอยาก ทำไมมันมีความอยาก เพราะว่ามันมีความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์มายั่ว มีสุข มีทุกข์ มีความไม่สุขไม่ทุกข์มายั่ว พอมีความสุขเกิดขึ้น ก็อยากได้ อยากมี อยากเป็น มีความทุกข์เกิดขึ้น ก็อยากให้มันหมดไป สิ้นไป ฉะนั้นมันก็มาจากตัวเวทนาอีกทีหนึ่ง ตัวอยาก ท่านก็ดูต่อไปอีก ทำไมมันอยาก อยากมันมาจากไหน อยากมันเกิดตอนไหน ความอยากมันเกิดตอนที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันกระทบอารมณ์ กระทบอารมณ์ที่ดีก็ชอบ กระทบอารมณ์ที่ไม่ดีก็ไม่ชอบ ถ้าชอบก็อยากให้มันมีอีก อยากให้มันคงอยู่ ถ้าไม่ชอบก็อยากให้มันหมดไปสิ้นไป ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์

ตัวนี้ตัวแสบ ในโลกนี้มีใครหวาดระแวงเกรงกลัวความสุขบ้าง ไม่มี มีแต่เราหวาดระแวงเกรงกลัวความทุกข์ เพราะฉะนั้นใจเราจะมีความอยากตามมาตลอด เราอยากสุข เราอยากไม่ทุกข์ เพราะเราติดอกติดใจในความสุข เราเกลียดชังในความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนต่อไปอีก ดูลงไปสิ ความสุข ความทุกข์มันเกิดเพราะอะไร มันเกิดตอนไหน ความสุข ความทุกข์อยู่เฉยๆ มันไม่เกิดหรอก มันเกิดเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กายกระทบรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย มันเกิดเมื่อใจกระทบธรรมารมณ์ อย่างใจเรากระทบความคิดอย่างนี้ แล้วมีความสุข คิดอย่างนี้มีความทุกข์ ฉะนั้นสุข ทุกข์ มันก็มาจากผัสสะอีกที อาศัยผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นมา ผัสสะมีได้เพราะเรามีตา มันก็เลยเห็นรูป เพราะมีหู มันก็เลยได้ยินเสียง มีจมูก มีกลิ่น มีลิ้น มีจมูกก็มีกลิ่น มีลิ้นก็มีรส มีร่างกายก็สัมผัสความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความตึง ความไหว มีใจก็สัมผัสความคิดนึกปรุงแต่ง อาศัยผัสสะก็เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา

มีผัสสะก็เพราะว่ามีอายตนะ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถึงกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ได้ กระทบแล้วมันก็เกิดสุข เกิดทุกข์ขึ้นมา เกิดสุข เกิดทุกข์ขึ้นมา ใจก็มีความหิวโหย หิวความสุข อยากให้ความสุขอยู่นานๆ ความสุขหายไปก็อยากให้ความสุขกลับมา ตรงที่ความสุขยังไม่มี อยากให้มันมี เรียกว่ากามตัณหา ตรงที่มันมีแล้ว อยากให้มันอยู่นานๆ เรียกว่าภวตัณหา ตรงที่มันมีแล้ว ไม่ชอบมัน เขาเรียกเกิดวิภวตัณหา นี่กระบวนการของมัน

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรามีขึ้นมาเพราะอะไร เพราะมันมีจิต มันมีจิตที่หยั่งลง อย่างบางทีเราภาวนา จิตรวมลงไปเลย จิตดับลงไปเลย แล้วต่อมาจิตยังเคลื่อนขึ้นมา มันกระทบความรู้สึกก่อนทางใจ มันเกิดนามธรรมขึ้น ปรากฏขึ้นมา แล้วมันขยายความรับรู้ออกไปอีกช็อตหนึ่ง อีกระดับหนึ่ง กระทบไปที่ร่างกาย ร่างกายก็ปรากฏขึ้นมา ฉะนั้นอาศัยวิญญาณก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามมันมาก่อน เวลาเราภาวนา เรารู้เลย จิตเคลื่อนขึ้นมา ยังไม่มีร่างกาย มีความรู้สึกเกิดขึ้นก่อน แล้วพอความรู้สึก มันเหมือนแสงสว่าง มันเหมือนแสงสว่างจุดไฟขึ้นในที่มืด ก็เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ก่อน สิ่งที่อยู่ใกล้ๆ กับจิตใจเราก็คือพวกนามธรรม ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเกิดขึ้นชัดเจนขึ้นมาก่อน พอเราสุมไฟสว่างมากขึ้น ก็เห็นของที่อยู่ห่างขึ้นก็คือร่างกาย

 

 

อันนี้ในตำราเขาไม่ได้พูดไว้หรอก หลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อเห็นอย่างนั้น อาจจะเห็นถูกหรือเห็นผิด ก็ฟังหูไว้หู เราค่อยภาวนาของเราเอาเอง แล้วดูว่าถูกหรือไม่ถูก วิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง ตอนนั้นไปนั่งภาวนาอยู่วัดสนามใน ไปฟังหลวงพ่อเทียน แล้วหลวงพ่อก็มาขยับๆๆ ไป จิตรวม ทุกอย่างหายไปหมดเลย แล้วพอจิตมันปรากฏขึ้น ผุดขึ้นมา มันเหมือนแสงสว่างผุดขึ้น กระทบเข้ากับความรู้สึกนึกคิด แล้วแสงมันก็สว่างมากขึ้นกระทบออกมาถึงร่างกาย ร่างกายก็ปรากฏขึ้น ตัววิญญาณมันทำงานขึ้นมา ตัวจิตมันทำงานขึ้นมา ก็เลยได้รูปได้นามมา ตัวจิตมันทำงานขึ้นมาได้ เพราะความปรุงที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในของจิต คือตัวสังขาร

ท่านก็ดูต่อไป สังขารเป็นความปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง ปรุงความว่างบ้าง แล้วแต่จะปรุง ถ้าปรุงอะไรมันก็เกิดจิตขึ้นมาทั้งนั้น เห็นไหมจิตมันก็เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ไม่ใช่ของอมตะ มีจิตเกิดขึ้น เป็นวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณเกิด ก็เกิดรูป เกิดนาม อาศัยสังขารปรุง ตัวสังขารมันปรุงมาจากอวิชชา มีอวิชชาเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิด ฉะนั้นตราบใดที่ยังมีอวิชชา ยังมีกิเลสอยู่ จิตมันก็ทำงาน ตรงที่จิตทำงานนั้นก็เรียกว่าจิตมันทำกรรม คือตัวสังขารนั่นล่ะ ตัวภพนั่นล่ะ ตัวสังขารก็คือการทำงานของจิต ตัวภพก็คือการทำงานของจิต เกิดจากกิเลส เกิดจากอวิชชา ความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในรูป นาม กาย ใจ จริงๆ ก็คือไม่รู้จักโลก

 

พระพุทธเจ้าสอนวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้เราตัดตรงเข้ามาแก้ที่ต้นเหตุที่แท้จริง คือความไม่รู้อริยสัจหรือตัวอวิชชา
ไม่รู้จักตัวทุกข์ ไม่รู้จักตัวสมุทัย ไม่รู้จักตัวนิโรธ ไม่รู้จักตัวมรรค
ไม่รู้หน้าที่ต่อตัวทุกข์ ไม่รู้หน้าที่ต่อสมุทัย ต่อนิโรธ ต่อมรรค

 

สิ่งที่เรียกว่าโลก ก็มีรูปธรรม นามธรรมเท่านั้นเอง ถ้ารู้จักรูปธรรมทั้งหลาย มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ มีแต่ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามเหตุปัจจัย นามธรรมทั้งหลายมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเห็นอย่างนี้ เรียกทำลายอวิชชาลงไปได้ อวิชชาคือการไม่รู้อริยสัจ ไม่รู้ว่าทุกข์ก็คือตัววิบาก มาจากเหตุ เหตุมีทั้งเหตุฝ่ายดี เหตุฝ่ายชั่ว ก็เป็นเหตุเหมือนกัน มันมาจากความไม่รู้แจ้งแทงตลอดในรูปธรรมนามธรรมนี้ ฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าสอนวิปัสสนากรรมฐาน สอนเพื่อให้เราตัดตรงเข้ามาแก้ที่ต้นเหตุที่แท้จริงเลย คือความไม่รู้อริยสัจหรือตัวอวิชชา ไม่รู้จักตัวทุกข์ ไม่รู้จักตัวสมุทัย ไม่รู้จักตัวนิโรธ ไม่รู้จักตัวมรรค ไม่รู้หน้าที่ต่อตัวทุกข์ ไม่รู้หน้าที่ต่อสมุทัย ต่อนิโรธ ต่อมรรค

เราจะค่อยฝึก ค่อยเรียนลงมาที่รูปธรรมนามธรรมที่ประกอบกันเป็นตัวเรานี้ อย่างจิตใจเรา ร่างกายเราก็ได้ หยาบหน่อยเริ่มแต่ร่างกายก็ได้ พวกเราเคยเห็นไหมว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์ เราเห็นเป็นคราวๆ เวลาเจ็บป่วย หิวโหย เหน็ดเหนื่อย ง่วงเหงาหาวนอน รู้สึกมันทุกข์ เวลามันแข็งแรงดี ไม่รู้สึกว่ามันทุกข์ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เห็นว่าร่างกายนี้คือตัวทุกข์ เราเห็นว่าร่างกายนี้ทุกข์บ้างสุขบ้างต่างหาก ยอมรับไหมตรงนี้ ร่างกายนี้ทุกข์บ้าง สุขบ้าง ร่างกายไม่ใช่ตัวทุกข์ ต้องเจริญวิปัสสนาเต็มเหนี่ยวเลย มีสติระลึกรู้ลงในกาย มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ทรงสัมมาสมาธิอยู่ มันก็จะเห็นเลยร่างกายนี้มีทุกข์อยู่ตลอดเวลา มีกายเมื่อไหร่ มีทุกข์เมื่อนั้น จะเห็นอย่างนี้ไม่ใช่ว่าร่างกายนี้มีทุกข์บ้างสุขบ้าง มันจะเห็นมันทุกข์ล้วนๆ เลย แค่ทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้น

 

เรียนลงมาที่รูปธรรมนามธรรมที่ประกอบกันเป็นตัวเรา

วิธีฝึกให้เห็นร่างกายมันทุกข์ล้วนๆ ๆทำอย่างไรดี ท่านก็สอนหลักไว้แล้ว อย่างสอนอานาปานสติ ทำไมเราต้องหายใจออก เราหายใจออกเพื่อแก้ทุกข์ของการหายใจเข้า ทำไมเราต้องหายใจเข้า ก็เพื่อแก้ทุกข์ของการหายใจออก เพื่อหนีทุกข์ไปเรื่อยๆ เราเปลี่ยนอิริยาบถ อิริยาบถหายใจออก หายใจเข้าอะไรนี่ เราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อหนีความทุกข์ ลองหายใจออกอย่างเดียวสิ ทุกข์ตายเลย ต้องตายจริงๆ หายใจออกแล้ว หายใจเข้าไม่ได้ ตายแน่นอน ร่างกายนี้แตกทันทีเลย หายใจออกไปเรื่อยๆ แล้วไม่ได้หายใจเข้าก็ทุกข์ หายใจเข้าแล้วไม่ได้หายใจออกก็ทุกข์ ฉะนั้นที่หายใจออก หายใจเข้าก็เพื่อแก้ทุกข์

ทำไมเราต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะว่ามันทุกข์ นั่งนานมันทุกข์ เราก็ต้องขยับ ยืนนานมันทุกข์ เราก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เดินนานมันทุกข์ เราก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ นอนนานมันทุกข์ เราก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ อย่างนอนก็นอนพลิกไปพลิกมา นั่งก็นั่งขยับไป ขยับมา หรือเปลี่ยนจากนั่งไปลงนอน ทำไมมันต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะว่าความทุกข์มันบีบคั้น นั่งนานก็ทุกข์ เดินนานก็ทุกข์ ยืนนานก็ทุกข์ นอนนานก็ทุกข์ บางคนบอกนอนไม่ทุกข์หรอก ไปดูคนที่เขาเป็นอัมพาต ลุกขึ้นไม่ได้สิ นอนอยู่ทั้งปีทั้งชาติ นอนจนตัวเน่าหลังเน่า อาทิตย์เดียวก็เน่าแล้ว เกิดแผลกดทับ เกิดอะไรขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราเปลี่ยนอิริยาบถ

อย่างอิริยาบถละเอียดเลยก็คือลมหายใจเรา อันนี้ในตำราเขาก็ไม่ได้เรียกอย่างนั้นหรอก แต่มันก็คือการเปลี่ยนแปลงในร่างกายนี้ล่ะ ขยับในร่างกายนี้ล่ะ ทำไปเพื่อหนีทุกข์ เรามีสติอยู่กับกายเนืองๆ เราจะเห็นเลย กายนี้มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก กายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกอิริยาบถ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป จนมันแจ้งเลย กายนี้มันคือตัวทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย อย่างเราหายใจออกไปจนต้องการหายใจเข้าแล้ว ตอนหายใจเข้าเรารู้สึกมีความสุขหน่อยหนึ่ง หายใจเข้าต่อไปก็ทุกข์แล้ว ฉะนั้นตรงที่ว่าความสุขหน่อยหนึ่ง มันก็คือตอนนั้นความทุกข์มันยังน้อยอยู่ เราก็รู้สึกเป็นสุข พอความทุกข์มันแรงขึ้นเราถึงจะรู้สึกว่ามันทุกข์

ในร่างกายนี้เราหนีความทุกข์ด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการขยับ จิตนี้ก็เหมือนกัน หนีทุกข์ด้วยการขยับเหมือนกัน อย่างเราเห็นรูปนี้ เห็นซ้ำๆ เห็นทีแรกก็มีความสุข เห็นไปเรื่อยๆ เบื่อ เบื่อมันก็เป็นทุกข์ มันอยากไปดูอย่างอื่นแล้ว ไม่อยากดูนี่แล้ว อย่างทีแรก เห็นดอกกุหลาบสวย ดู ชอบใจ ดู ชอบอยู่ได้พักเดียวก็อยากดูอย่างอื่นแล้ว ฟังเพลง เพลงนี้เพลงโปรดฟังแล้วมีความสุข ฟังไปๆ เบื่ออีกแล้ว ต้องเปลี่ยนไปหาอารมณ์อันอื่น การเปลี่ยนอิริยาบถของใจก็คือการเปลี่ยนอารมณ์ อยู่กับอารมณ์นี้นานเบื่อแล้ว เป็นทุกข์แล้ว ก็เปลี่ยนอารมณ์ใหม่ ไปหาอารมณ์อื่นมาทดแทน เพราะฉะนั้นการที่เราเที่ยววิ่งร่อนหาอารมณ์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราจะไม่เห็นหรอกว่า จิตเป็นตัวทุกข์

เหมือนร่างกาย เปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ มองไม่ค่อยเห็นหรอกว่าร่างกายเป็นตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตใจนี้มันเปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ ถ้าอยากดูว่ามันทุกข์หรือไม่ทุกข์ ลองอยู่ในอารมณ์อันเดียว อยู่ไปเรื่อยๆ เช่น ท่องพุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ ทีแรกอาจจะสุข ท่องไปเรื่อยๆ เดี๋ยวใจมันก็ดิ้นแล้ว อยากไปหาอารมณ์อื่นแล้ว มันเบื่อแล้วพุทโธ มันอยากจะไปท่องธัมโม สังโฆแทนอะไรอย่างนี้ เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยเลย หรือจิตใจมีแต่ความแปรปรวน สุขก็สุขประเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็ทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นสั่งให้หายก็ไม่หาย นี่ดูจิตดูใจ มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของบังคับไม่ได้ ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็จะรู้เลยว่า จิตนี้เป็นตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ตอนไหนทุกข์น้อยเราก็ว่าสุข ตอนไหนทุกข์มากเราว่าทุกข์

ภาวนา เราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เรามีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมไปด้วยจิตตั้งมั่น เป็นกลาง ไม่มีอคติ รู้อย่างเป็นกลาง ดูไปเรื่อย สุดท้ายความจริงมันก็ต้องปรากฏ ความจริงไม่หนีไปไหนหรอก ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ความจริงก็คือกายนี้คือตัวทุกข์ ใจนี้คือตัวทุกข์ กายมันตายได้ ใจมันตายได้ แต่ความจริงที่ว่ากายกับใจเป็นตัวทุกข์ไม่ตาย เป็นอมตะ ตัวธรรมะที่ว่ากายกับใจเป็นตัวทุกข์ก็คือ อริยสัจ 4 ข้อแรกเรื่องเลยคือเรื่องทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อีกกี่ร้อยกี่พันองค์ ท่านก็สอนธรรมะอันเดิมนี้ ก็สอนอริยสัจ รูปนามนี้คือตัวทุกข์ ถ้าเรามีความอยาก ทีแรกก็รูปนามมันทุกข์ มันไม่เกี่ยวกับเราหรอก แต่พอเรามีความอยาก มีความยึดขึ้นมา ใจเราทุกข์ไปด้วย เพราะฉะนั้นตัวตัณหา ตัวความอยากนำความทุกข์เข้ามาสู่ใจเรา

ที่จริงโลกมันทุกข์ของโลก กายมันทุกข์ของกาย ใจมันทุกข์ของใจ แต่พอเรามีความอยาก มันกลายเป็นเราทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันเข้าไปยึดโลก เข้าไปยึดรูป ยึดนาม เพราะฉะนั้นการที่เราคอยเรียน คอยรู้กายรู้ใจเรื่อยไป อดทน รู้ทันจิตได้ รู้ไป จิตเป็นหัวหน้า เป็นประธานในธรรมะทั้งปวง จิตของเราก็คือจิตหัวหน้าโจร โจรร้ายคือตัวอวิชชา ไม่ได้อยู่ที่อื่น ตัวอวิชชาอยู่ที่จิตเรานี้เอง เพราะฉะนั้นรังโจรไม่อยู่ที่อื่น รังโจรก็คือจิตเรานี้ เราสังเกตอยู่ที่รังโจร เดี๋ยวเราก็จับตัวหัวหน้าโจรได้ โจรมาอยู่ในบ้านเรา เรามัวแต่ตระเวนหาว่าโจรอยู่ที่ไหน อยู่บ้านคนโน้นหรือ อยู่บ้านคนนี้หรือ หรืออยู่สนามหลวง หรืออยู่ที่โน้นอยู่ที่นี้ โจรอยู่ในหัวใจเรา อวิชชาไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ที่จิตเรานี่เอง ฉะนั้นเรามีสติ เรียนรู้ลงมาในจิตในใจเราได้ รู้มาตรงนี้เลย หัวหน้าโจรมันอยู่ในจิตเรา มันทนสติ ทนปัญญาเราไม่ได้หรอก

พากเพียรสะสมสติสะสมปัญญาเรื่อยไป สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น เพราะฉะนั้นเรามีสติระลึกรู้สภาวะไปเรื่อยๆ แล้วสติจะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ปัญญาเกิดจากความตั้งมั่นของจิต คือเกิดจากสัมมาสมาธิ ฉะนั้นจิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ร่อนเร่หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพลินๆ ไป จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ปัญญาก็เกิด มีสติ มีปัญญานี่ล่ะ จะซักฟอกทำลายล้างกิเลสออกจากใจเราได้

 

รู้จักอริยสัจแล้วจะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง

บางคนบอกพระพุทธเจ้าหรือศาสนาพุทธเป็นพวกมองโลกแง่ร้าย เริ่มต้นก็สอนเรื่องทุกข์แล้ว ที่จริงเป็น Approach ในการแก้ปัญหาทุกอย่างเลย เวลาเรามีปัญหา อย่างสมมติธุรกิจเราทำไมมันเจ๊ง ทำไมมันขาดทุน ธุรกิจเจ๊ง ธุรกิจขาดทุนนั้นล่ะ คือตัวทุกข์ คือตัวผล คือตัวปัญหา เวลาแก้ อยู่ๆ จะให้มันหายขาดทุนทำไม่ได้ ต้องไปดูเหตุที่มันขาดทุน เห็นไหมแก้ก็ต้องแก้ที่สมุทัย ที่เหตุ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอน กระทั่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ หรืองานวิจัย งานวิเคราะห์สมัยใหม่ อยู่ในกรอบที่ท่านสอนเอาไว้ทั้งนั้น ไม่วิเศษเกินที่ท่านสอนไปได้หรอก

เมื่อก่อนหลวงพ่ออยู่สภาความมั่นคงฯ ผู้ใหญ่ที่สอนงานหลวงพ่อ ท่านพูดเลย ท่านสอนบอกว่าไปทำความรู้จักอริยสัจ แล้วจะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่องเลย ถ้าเข้าใจอริยสัจ อย่างเรามีปัญหา โจร ผู้ร้ายเยอะ หรือผู้ก่อการร้ายเยอะ วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่ไปไล่ฆ่าผู้ก่อการร้าย แต่ต้องไปดูเหตุก่อนว่าทำไมมันเกิดผู้ก่อการร้ายขึ้น แล้วไปแก้ที่เหตุ แก้เหตุได้ ผู้ก่อการร้ายก็ไม่มี เพราะฉะนั้นกระทั่งทางโลก หรือจะทำธุรกิจขาดทุน ไปดูทำไมถึงขาดทุน กิจการของเราไม่เคยพัฒนาเลย คนอื่นเขาพัฒนาไปเยอะแล้ว กิจการของเราก็จะตั้งร้านขายอย่างเดียว คนอื่นเขาค้าขายออนไลน์กันหมดแล้วอย่างนี้ ตามโลกไม่ทัน สู้เขาไม่ได้ ฉะนั้นต้องแก้ที่เหตุ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่มีใครต้านทานได้เลย หลักของธรรมะ หลักของอริยสัจ ท่านบอกว่ากงล้อของอริยสัจหมุนไปแล้ว ไม่มีใครต้านทานได้ ในเรื่องทุกข์กับเหตุของทุกข์เป็นเรื่องฝ่ายโลก ตัวนิโรธกับตัวมรรคเป็นเรื่องเหตุกับผล ฝ่ายธรรมในทางโลกเราเห็นชัดแล้ว ว่าทำเหตุก็ต้องมีผล ในทางฝ่ายธรรมะ เราเจริญศีล สมาธิ ปัญญาไป การทำวิปัสสนากรรมฐาน ถือศีล ฝึกจิตให้ตั้งมั่นแล้วเจริญวิปัสสนากรรมฐานไป แล้วสุดท้ายอริยมรรคก็จะเกิด

อริยมรรคเกิดเพราะเรารู้แจ้งเห็นจริงว่ารูป นาม กาย ใจนี้คือตัวทุกข์ พอรู้แจ้งเห็นจริง ความอยากที่จะให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ความอยากให้กายให้ใจเป็นสุข ก็ไม่เกิดอีกแล้ว ความอยากนี่ไร้เดียงสา ไปอยากให้ของที่เป็นทุกข์ มันไม่ทุกข์ มันโง่ แล้วทำได้แค่นั้น คนในโลก มีทุกข์ก็อยากจะไม่ทุกข์ แก่แล้วก็อยากไม่แก่ เจ็บแล้วอยากไม่เจ็บ ตายก็ยังไม่อยากตาย ไม่ได้ไปแก้ที่ตัวต้นเหตุ ฉะนั้นเราต้องสาวลงไปที่ตัวต้นเหตุ พระพุทธเจ้าท่านให้ Guideline ไว้แล้ว เรียนลงมาที่จิตที่ใจนี้ จนกระทั่งเห็นความจริงของอริยสัจ รู้ลงในกายก่อนก็ได้ แต่สุดท้ายก็แตกหักลงที่จิต

ค่อยๆ ฝึกของเราทุกวันๆ ตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ก่อน ถ้าไม่มีศีล 5 ใช้ไม่ได้หรอก ล้มเหลวสิ้นเชิง ไม่มีข้อยกเว้น ทุกคนถ้าศีล 5 ไม่มี ภาวนาไม่ได้จริง จะแน่มาจากไหน ขาดศีล 5 เอาดีไม่ได้หรอก ศีลที่พวกเราเห็นว่าไม่ค่อยสำคัญ ศีลข้อ 4 ทุกวันนี้คนโกหกหลอกลวงมีอยู่ตลอดเวลา ฝรั่งมันเขียนไว้นานแล้ว ฝรั่งมันเข้ามาเมืองไทย มันเขียนจดหมายเหตุเอาไว้ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ฯ สมัยอยุธยาอะไรก็เขียนเอาไว้ว่าคนไทยชอบโกหก พูดจาเชื่อถือไม่ได้ โกหกเก่ง Siamese talk คนโกหก พระพุทธเจ้าบอกว่าที่จะไม่ทำชั่วอย่างอื่นไม่มีหรอก ลองโกหกได้ ทำชั่วอย่างอื่นได้แน่

ฉะนั้นศีลเราต้องรักษา โดยเฉพาะต้องระวังเรื่องมุสาวาท มุสาวาทมันไม่ได้แค่โกหก พูดส่อเสียด พูดให้เขาตีกัน พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ทุกวันนี้การพูดคำหยาบกลายเป็นคำไม่หยาบเป็นปกติไปแล้ว หลวงพ่อตอนก่อนจะโควิดระบาด หลวงพ่อยังออกเทศน์ข้างนอกอะไรอย่างนี้ ไปข้างนอกบางทีไปนั่งฉันข้าวตามปั๊มน้ำมัน ตามอะไรอย่างนี้ ได้ยินเด็กผู้หญิงมันคุยกัน เรานึก อืม โลกมันเปลี่ยน เด็กผู้หญิงยุคนี้คุยกัน มันหยาบช้าสามานย์กว่าสมัยหลวงพ่อเป็นหนุ่มๆ เยอะเลย มันหยาบกว่าผู้ชายยุคก่อนอีก ผู้หญิงยุคนี้ แต่ผู้ชายยุคนี้อ่อนหวานๆ ผู้หญิงนี่กร้าวกระด้างหยาบคาย

พูดคำหยาบก็เป็นมุสาวาท พูดเพ้อ เจ้อก็มุสาวาท พูดเพ้อเจ้อ พูดด้วยนิ้วได้ คีย์เอา หรือต่อไปเอาเครื่องแปะไว้บนหัว คิดแล้วมันก็พิมพ์ออกมาให้เราได้เลย เราไม่ต้องขยับนิ้ว นั่นล่ะยิ่งเพ้อเจ้อหนักใหญ่เลย สังเกตไหม ใจเราคิดตลอดเวลา นี่ธรรมชาติใจเรา เพ้อเจ้อ แต่ถ้าคิดอยู่ในใจ ยังไม่หลุดออกทางปาก หรือยังไม่แสดงออกให้คนอื่นรู้ ก็ยังไม่จัดเป็นมุสาวาท เป็นความฟุ้งซ่านของเราคนเดียว แต่ถ้าแสดงให้คนอื่นรู้เข้าข่ายมุสาวาท อย่างเราเขียนอ่านเฟซบุ๊ก คนเขียนอันนี้เราก็เกิดอารมณ์ เกิดชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง ก็คีย์ไม่ได้พูด แต่เป็นมุสาวาทแล้ว เอาดียากๆ

 

ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย
ดูจิตไม่ได้ดูกายไม่ได้ ทำสมถะไว้
ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกไม่ต้องปฏิบัติ
ไม่มีเวลาหยุดหรอก ทำตลอด
ฝึกให้ได้อย่างนี้ แล้วเราจะเอาดีได้ ไม่ยากเกินไป

 

ฉะนั้นต้องพยายามรักษาศีลไว้ ทุกวันทำในรูปแบบ ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม จิตฟุ้งซ่านก็พาจิตมาอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข จิตสงบดีแล้ว ก็ฝึกให้จิตตั้งมั่นด้วยการรู้ทันเวลาจิตมันเคลื่อน จิตเคลื่อนคือจิตโคลงเคลงไป จิตไม่ตั้งมั่น ฉะนั้นตอนที่ทำในรูปแบบ ถ้าจิตมันฟุ้งซ่าน ทำความสงบ ทำสมถกรรมฐาน ถ้าจิตมันมีกำลังพอสมควรแล้ว แล้วจิตเป็นคนดูอยู่ แล้วมันเคลื่อนไปคิด รู้ทัน มันถลำลงไปเพ่ง รู้ทัน มันเที่ยวส่งออกไป แสวงหาว่าจะดูอะไรดี รู้ทัน แล้วจิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา

ฝึกบ่อยๆ แล้วต่อไปก็อยู่ในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ไป ก็เห็นจิตมันทำงาน เกิดสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้าง ชั่วบ้าง หลงไปทางตาบ้าง หลงไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ้าง เห็นจิตมันทำงานไป แล้วดูจิตทำงานไปสักพักหนึ่งจะดูไม่ออกแล้ว ฟุ้งมาก ดูไม่ออกแล้ว กลับมาดูกาย ครูบาอาจารย์ถึงสอน ดูจิตไม่ได้ ดูกาย ดูกายไปสักพักหนึ่ง ฟุ้งอีกแล้ว สมาธิไม่พอ กลับมาทำสมาธิเลย ฉะนั้นดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูจิตไม่ได้ดูกายไม่ได้ ทำสมถะไว้ ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกไม่ต้องปฏิบัติ การปฏิบัติทำตลอดสายเลย ไม่ดูจิตก็ดูกาย ไม่ดูจิตไม่ดูกายก็ทำสมถะ ฉะนั้นไม่มีเวลาหยุดหรอก ทำตลอด

ฝึกให้ได้อย่างนี้ แล้วเราจะเอาดีได้ ไม่ยากเกินไป แต่ที่ขี้เกียจ 3 วันฝึกทีหนึ่ง ไม่ได้กินหรอก บางคนก็ภูมิใจว่าทุกวันนี้เราเดินจงกรมได้วันละครึ่งชั่วโมง แล้วดีใจว่าเราเป็นนักปฏิบัติแล้ว ก็เป็นเหมือนกัน แต่เป็นนิดหน่อย เป็นวันละครึ่งชั่วโมง ถ้าเรามีสติคือมีการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นมีสติเรื่อยๆ ไป จะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรม หรือจะนั่งรถ จะเดินชอปปิง มีสติ นั่นคือการปฏิบัติ ขาดสติคือการขาดปฏิบัติ มีสติคือมีการปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติอยู่ในชีวิตธรรมดา เรียกปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ครูบาอาจารย์ท่านย้ำว่าตัวนี้สำคัญที่สุด ลำพังนั่งสมาธิ เดินจงกรมอะไรในรูปแบบ จะทำวันละกี่ชั่วโมงเชียว ชีวิตส่วนใหญ่อยู่โลกข้างนอกนี้ ถ้าอยู่ข้างนอก ภาวนาเป็น ก็คือภาวนาทั้งวันเลย ถ้าอยู่ข้างนอก ไม่ภาวนา ฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ ตกค่ำก็ไปนั่งสมาธิครึ่งชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมงอะไรอย่างนี้ สู้กิเลสไม่ไหว ฉะนั้นตรงที่เจริญสติอยู่ในชีวิตประจำวันสำคัญมาก ลำพังนั่งสมาธิ เดินจงกรมวันละเท่านั้นเท่านี้ เวลาที่เหลือหลง มันจะหลงมากกว่ารู้

ฉะนั้น 3 สิ่งนี้เราต้องทำ ถือศีลไว้ ทุกวันฝึกในรูปแบบ ต้องฝึก แล้วการอยู่ในชีวิตจริงของเรา มีสติรู้ทันจิตไว้ เวลาเราอยู่ในชีวิตจริงๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ แต่เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้ว มันสะเทือนเข้ามาที่จิต ตาเห็นรูปอันนี้ ชอบ เห็นรูปอย่างนี้ เกลียด ได้ยินเสียงอย่างนี้ ชอบ ได้ยินเสียงอย่างนี้ เกลียด คิดเรื่องนี้ ชอบ คิดอย่างนี้ เกลียด มันลงมาที่ใจ ลงมาที่จิตเรานี้ล่ะ ยินดียินร้ายขึ้นมา ก็เกิดความอยาก เกิดความยึด เกิดความทุกข์เป็นลำดับๆ ไป

เพราะฉะนั้นอยู่ในชีวิตประจำวัน มีสติรักษาจิตไว้อย่างเดียวล่ะ ไม่ต้องทำอะไรหรอก มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายกระทบสัมผัส มีใจก็กระทบความคิด แต่เมื่อกระทบแล้ว ไม่ว่าจะกระทบทางทวารใด ถ้าจิตเรายินดีพอใจ รู้ทัน จิตเราไม่พอใจ รู้ทัน นี่เรียกว่าเราปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันแล้ว ศีลของเราก็ดี เพราะศีลของเราตัวนี้ไม่ใช่ศีลเป็นข้อๆ แต่เป็นอินทรียสังวรศีล อินทรียสังวรคือการสำรวมอินทรีย์ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่แปลว่ามีตาไม่ดู มีหูไม่ฟัง มีใจไม่คิด แต่เมื่อตาดู หูฟัง ใจคิดแล้ว เกิดอะไรขึ้นในจิตใจ มีสติรู้ทัน นั่นล่ะเรียกว่าการสำรวมอินทรีย์ ศีลของเราก็จะดี สติเราก็จะว่องไวขึ้น ปัญญามันก็จะงอกงามขึ้น

ค่อยๆ ฝึก ทำได้อย่างที่หลวงพ่อบอก ก็จะรู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระสงฆ์มีจริง เหตุของทุกข์มีจริง ถ้ามีเหตุแล้วก็ตัวทุกข์ก็เกิด วิธีดับเหตุของทุกข์มีจริง คือการเจริญวิปัสสนา การมีศีล สมาธิ ปัญญา การเจริญปัญญาก็คือทำวิปัสสนา อยู่ๆ ทำวิปัสสนาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีศีล มีสมาธิด้วย สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว

ถ้าเมื่อไรเราเห็นความจริงว่ากายนี้คือตัวทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตนี้คือตัวทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เมื่อนั้นเราจะพ้นจากทุกข์ มันทำลายอวิชชา.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
5 กันยายน 2564