การปฏิบัติธรรมคือการลงทุนกับชีวิต

พวกเราตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมคือการลงทุนให้กับชีวิตตัวเอง อยู่กับโลกเราก็ลงทุนทำมาหากินทำธุรกิจ หวังว่าจะมีอยู่มีกินจะมีความสุข แต่ความสุขในโลกมันไม่ยั่งยืน อย่างพวกเราหาทรัพย์สมบัติหาอะไรไว้มากมาย ในเวลาไม่กี่สิบปีมันก็ต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไป ชีวิตของคนเรามันเหมือนฝัน เหมือนเราหลับเราฝันอยู่ เมื่อตื่นขึ้นมาทุกอย่างในความฝันมันก็หายไปหมด ชีวิตเรามันเหมือนฝันอยู่ เรารู้สึกเวลาฝันทุกอย่างมันจริงจังไปหมด พอตื่นขึ้นมามันก็ไม่มีอะไรเหลือ ชีวิตเรานี้ก็เหมือนกำลังฝันอยู่ทั้งๆ ที่ตื่นอยู่ เราคิดว่าทุกอย่างมันมีจริง เราสัมผัสได้เรารู้สึกได้ แต่ไม่นานทุกอย่างก็ผ่านไป หายไปหมด เพราะฉะนั้นทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียงเกียรติยศ หน้าที่การงาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้มาจากการพากเพียรทำงานมา สุดท้ายมันก็ว่างเปล่า 

หลวงพ่อเรียนที่จุฬาฯ มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย รุ่นเดียวกันเขาก็อยากใหญ่อยากโต ได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นอธิบดี เป็นปลัดกระทรวง เป็นเอกอัครราชทูตอะไรอย่างนี้ พอมาถึงวันนี้กลายเป็นคนเกษียณแล้ว ว่างเปล่า ทุกอย่างที่เคยมี เคยได้ เคยเป็น มันเป็นอดีตไปหมดแล้ว บางคนมาบอกหลวงพ่อว่าเสียดายไม่ได้ทำแบบหลวงพ่อ หลวงพ่ออยู่กับโลกทำงานทำมาหากิน ทำหน้าที่เลี้ยงพ่อ เลี้ยงแม่ เลี้ยงครอบครัว พอหมดภาระเรื่องพ่อเรื่องแม่ หลวงพ่อก็ออกมาบวช มาหาสิ่งที่เป็นสาระแก่นสารให้กับชีวิต อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ก็อยู่ด้วยความสุข ชีวิตมีแต่ความสุข ความสงบ มองไปที่คนอื่นก็เป็นแค่ตาแก่ยายแก่ ซึ่งว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย 

ฉะนั้นธรรมะนี้ให้ประโยชน์ ให้ความสุขกับเรามากที่สุด ก็เป็นความยั่งยืนในชีวิตเรา ธรรมะถ้าเราลงมือปฏิบัติแล้วอยู่กับเราตลอดชีวิต ตายไปไปเกิดอีกเราก็ภาวนาง่าย มันจะไม่ยากเท่ากับหัดตอนแรก การภาวนาเราสะสมไว้ ชาตินี้บางคนรู้สึกยากหน่อย แต่ถ้าเคยปฏิบัติมาชาติต่อๆ ไปมันง่าย บางคนชาตินี้ทำง่าย เพราะในอดีตเคยปฏิบัติมาแล้ว เคยลำบากมาแล้ว ของฟรีไม่มี ของบังเอิญไม่มี มีแต่ว่าเราต้องทำ อันนี้คือกฎแห่งกรรม พอเราลงมือทำลงมือปฏิบัติ ทำทาน รักษาศีล ฝึกสมาธิ เจริญปัญญาให้เห็นความจริงของรูปนามกายใจ แล้วจะเข้าใจความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างด้วย เมื่อเราเข้าใจความจริงของกาย เราจะไม่ทุกข์เพราะกาย ถ้าเราเข้าใจความจริงของจิตใจ เราจะไม่ทุกข์เพราะจิตใจอีกต่อไป 

 

การปฏิบัติธรรม

การที่ภาวนา เราทำทานก็เพื่อลดละความเห็นแก่ตัว คนเห็นแก่ตัวปฏิบัติยาก เราถือศีลเพื่อฝึกตัวเองไม่ตามใจกิเลส กิเลสจะชอบชวนให้เราผิดศีลแต่เราไม่เอา เราตั้งใจรักษาศีล มีคุณค่าคือสามารถฝึกใจไม่ให้ยอมแพ้กิเลส ทำให้ใจเราเข้มแข็งขึ้น คนจะถือศีลได้ใจต้องเข้มแข็ง การที่เราฝึกสมาธิเป็นการเตรียมความพร้อมให้จิตใจ เพื่อจะเจริญปัญญา ฉะนั้นการทำสมาธิเราก็ทำจิตใจให้มันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา เราจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ทุกสิ่งทุกอย่างคือร่างกาย ทุกสิ่งทุกอย่างในความรู้สึกนึกคิดของเรา มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปโดยจิตเป็นแค่คนรู้คนดู ไม่หลงเข้าไปแทรกแซง ฉะนั้นสมาธิจะเป็นการฝึกเพื่อเตรียมจิตใจของเรา ให้พร้อมสำหรับการเจริญปัญญา สำหรับการเจริญปัญญาคืออะไร การเจริญปัญญาคือการเรียนรู้ความจริงของกายของใจ ทำไมเราต้องมาเรียนรู้ความจริงของกายของใจ การปฏิบัติธรรมนั้นเรามุ่งไปสู่ความพ้นทุกข์ ความทุกข์มันอยู่ที่กาย ความทุกข์มันอยู่ที่ใจ ความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่อื่น ความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ภูเขา ไม่ได้อยู่ที่ต้นไม้ ไม่ได้อยู่ที่ตึก ความทุกข์อยู่ที่กายกับความทุกข์อยู่ที่ใจเท่านั้น 

การเรียนกรรมฐาน เราเจริญปัญญาด้วยการเรียนรู้ความจริงของกายของใจ เราจะรู้ความจริงของกายของใจได้ จิตเราต้องตั้งมั่นมีสมาธิเป็นคนรู้คนดู พอเราดูกายดูใจทำงานไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตใจเราเหน็ดเหนื่อย ทำภาวนามากๆ มันเหนื่อย เราก็กลับมาทำสมาธิใหม่ จิตใจก็ได้พักผ่อน เวลาทำสมาธิเราไม่ห่วงเรื่องเจริญปัญญา ไม่ต้องสนใจรูปนามกายใจที่มันเกิดมันดับอะไรหรอก เราทำความรู้สึกตัวอยู่เฉยๆ อยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเราไป อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ หรือจะดูท้องพองยุบ จะขยับมือ ทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง พยายามมารู้สึกอยู่ โดยเฉพาะการรู้สึกอยู่ในใจของเรา กับการรู้สึกอยู่ในร่างกายของเรา แล้วก็นิ่งๆ สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตเราจะได้พักผ่อน ไม่อย่างนั้นจิตเราจะทำงานตลอดเวลา จิตที่ทำงานเดี๋ยวก็วิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปคิด 

ทุกครั้งที่วิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปคิด หรือไปทำกรรมฐาน จิตใช้พลังงานทั้งหมด พอใช้พลังงานจนมันเหนื่อยแล้ว เราก็มาชาร์จเหมือนเราชาร์จแบตเตอรี่มือถือ เราก็มาทำความสงบให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว อย่างเช่นหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่ห่วงเรื่องเจริญปัญญา พอจิตมันได้พักผ่อนอยู่ในอารมณ์อันเดียวมันจะไม่ค่อยใช้พลังงาน เราสังเกตดูจิตเราใช้พลังงานตลอดเวลา อย่างเราคิดเราก็ใช้พลังงาน เราจะปฏิบัติธรรมเราก็ใช้พลังงานของจิต ฉะนั้นเรามาอยู่กับอารมณ์อันเดียว เราสังเกตดูจุดไหนที่จิตใช้พลังงานน้อยๆ เราอยู่ตรงจุดนั้น เช่นเราหายใจเข้าพุท เราหายใจออกโธ เราไม่ได้วิ่งพล่านไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ จิตเราก็ไม่ได้ใช้พลังงาน จิตก็จะเริ่มสะสมพลังงานขึ้นมา เหมือนเราชาร์จแบตเตอรี่ พอเราชาร์จแบตเตอรี่เราเต็มแล้ว จิตเรามีความสุข มีความสงบ มีความตั้งมั่นแล้ว เราก็เอาแบตเตอรี่อันนี้ คือเอาจิตดวงนี้ไปเจริญปัญญา เอาไปทำงานเหมือนเราชาร์จแบตเตอรี่มือถือแล้ว เราก็เอามือถือไปใช้ได้ ถ้าเราใช้มือถือไม่ชาร์จแบตเตอรี่เลย เดี๋ยวก็ใช้ไม่ได้

การเจริญปัญญาถ้าทิ้งสมาธิ ไม่รู้จักพักผ่อนสะสมพลังของจิต จิตก็จะหมดแรง เจริญปัญญาไม่ได้จริง อันนี้เรื่องของการเจริญสมาธิ ทีนี้พูดถึงการเจริญปัญญา เราจะทำอย่างไรให้เกิดปัญญา เงื่อนไขแรกเลยจิตเราต้องเป็นคนดูให้ได้ ถ้าจิตเราเป็นผู้กระทำ เป็นผู้แสดง เป็นผู้คิดนึกปรุงแต่ง จิตมันจะทำงาน มันจะวุ่นวาย แล้วมันจะแทรกแซงทุกสิ่งที่มันไปรู้ เราจะต้องสามารถรู้สภาวะทั้งหลายโดยที่จิตเป็นกลาง จิตไม่เข้าไปแทรกแซงสภาวะ จิตเป็นกลางได้เราก็ต้องฝึกให้จิตตั้งมั่น ฝึกสมาธิให้ดี ฉะนั้นหลวงพ่อจะย้ำมากเลย พวกเราต้องฝึกสมาธิให้ถูก ฝึกสมาธิให้ดี ฝึกสมาธิให้พอ สมาธิที่ถูกต้องประกอบด้วยสติ ถ้านั่งแล้วก็เคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัวไม่ใช่สมาธิที่ดี มันเป็นมิจฉาสมาธิ 

เพราะฉะนั้นเราจะต้องฝึกสมาธิที่มันมีสติ หายใจออกหายใจเข้าด้วยความมีสติ ไม่ใช่หายใจออกหายใจเข้าด้วยใจเคลิ้มๆ พอเราหายใจออก หายใจเข้าด้วยความมีสติ พอจิตเราหนีไปคิดปุ๊บเราจะรู้ทัน จิตมันทำงานอะไรขึ้นมามันจะรู้ทัน แล้วพอทันทีที่รู้ทันว่าจิตอย่างจิตหลงไปคิด ทันทีที่เรารู้ทันจิตคิดจะดับ จิตรู้จะเกิด จิตรู้นั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นในการที่จะสร้างขึ้นมา ถ้าเมื่อไรเรารู้ทันจิตที่หลง จิตที่หลงก็จะดับ มันจะเกิดจิตที่รู้ขึ้นแทน เพราะฉะนั้นอย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป จิตหลงไปอยู่ที่ลมหายใจ เรามีสติรู้ทันจิตเราก็จะตั้งมั่นเป็นผู้รู้ขึ้นมา เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตเราหลงไปคิด เรารู้ทันว่าจิตหลงไปคิด จิตหลงคิดก็ดับ จิตก็จะตั้งมั่นเป็นผู้รู้ขึ้นมา คอยรู้ทันการทำงานของจิตใจตัวเองเรื่อยๆ ไป แล้วจิตมันจะเป็นผู้รู้ไม่ใช่ผู้แสดง ไม่ใช่ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ผู้ไปดู ผู้ไปฟัง ผู้ไปดมกลิ่น ผู้ไปลิ้มรส ผู้ไปรู้สัมผัสทางกาย ผู้หลงออกไปดูโลกข้างนอก

 

ฝึกให้ได้ผู้รู้

เราต้องค่อยๆ ฝึก ทำกรรมฐานเสียอย่างหนึ่งไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบเฉยๆ แต่ทำไปด้วยความมีสติ หายใจออก หายใจเข้าไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ให้ใจลอย ไม่ให้เคลิบเคลิ้ม ใจลอยก็คือหลงไปคิดเรื่องอื่น เคลิบเคลิ้มก็คือนั่งไปแล้วก็เพลินๆ เคลิ้มๆ ลืมตัวเอง อย่างนั้นไม่ดี เราจะต้องนั่งสมาธิด้วยความมีสติ หายใจไปเราเห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดู เราท่องพุทโธไปเราเห็นว่าใจมันเป็นคนท่องพุทโธ พุทโธเป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู ใจเป็นคนรู้พุทโธ ไม่ว่าเราจะทำกรรมฐานอะไรเรามีใจเป็นผู้ทำกรรมฐาน ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วเราจะได้ตัวผู้รู้ที่แข็งแรง 

อย่างที่อาจารย์ชอบสอนว่าจิตหลงไปคิดแล้วรู้ ชอบสอนหลงรู้ๆ อะไรนี่ พอจิตมันหลงไปคิดเรารู้ทัน จิตหลงก็ดับ จิตรู้ก็เกิด เราต้องฝึกทุกวันๆ จนกระทั่งจิตรู้ของเราเข้มแข็ง เราสามารถรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ได้โดยไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องจงใจ เรารู้ตัวอยู่โดยธรรมชาติเลย พอเรามีจิตที่เป็นคนรู้แล้วเราจะเห็น ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู อย่างขณะนี้เรานั่งอยู่ เราจะรู้สึกลงไปร่างกายมันนั่ง จิตเป็นคนดู ร่างกายมันหายใจ จิตเป็นคนดู ใช่ไหม จะมีจิตเป็นคนดู ตรงนี้เราจะเริ่มการเจริญปัญญาแล้ว การเจริญปัญญาขั้นต้นสุดเลย ต่ำสุดเลยก็คือสามารถแยกได้ว่าอะไรเป็นผู้รู้ อะไรเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ร่างกายเป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ ความรู้สึกสุขทุกข์เป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ โลภ โกรธ หลง ถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ 

ในทุกๆ เรื่องทุกๆ สถานการณ์จะมีจิตเป็นคนรู้ อย่างเราโกรธขึ้นมาคนที่ไม่เคยฝึก มันจะรู้สึกว่าเราโกรธ หรืออย่างคนแย่กว่านั้นโกรธแล้วไม่รู้หรอก มัวแต่สนใจคนที่ทำให้เราโกรธ อันนี้คือคนที่ไม่ได้ปฏิบัติ ถ้าคนปฏิบัตินิดหน่อยเวลาโกรธขึ้นมา มันจะเห็นมันกำลังโกรธอยู่ แล้วถ้าเราภาวนาเก่งขึ้นเราจะเห็นว่า ความโกรธกับจิตเป็นคนละอันกัน จิตไม่เคยโกรธเลย จิตเป็นคนรู้ว่าตอนนี้กำลังโกรธ เราค่อยๆ แยกๆ เข้าไป เรียกว่าแยกขันธ์ แยกขันธ์คือแยกกายออกเป็นส่วนหนึ่ง แยกความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ออกไปส่วนหนึ่ง แยกกุศลแยกอกุศลออกไปเป็นอีกคนละส่วนๆ ความโลภก็ส่วนหนึ่ง ความโกรธก็ส่วนหนึ่ง ความหลงก็ส่วนหนึ่ง มันเป็นคนละอันกัน ความโลภกับความโกรธก็คนละอัน ความสุขกับความทุกข์ก็คนละอัน แต่ทุกๆ อันนั้นเป็นของถูกรู้ถูกดู 

ร่างกายก็ไม่ใช่ความสุขความทุกข์ ร่างกายเป็นอีกอันหนึ่ง ร่างกายไม่ใช่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ร่างกายไม่เคยโลภ ไม่เคยโกรธ ไม่เคยหลง เพราะร่างกายเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นวัตถุ วัตถุโกรธไม่เป็น อย่างต้นไม้โกรธไม่เป็น ก้อนหินโกรธไม่เป็น ร่างกายเรานี้พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจะรู้สึกมันเหมือนต้นไม้ต้นหนึ่งเอง ต้นไม้ต้นนี้โกรธไม่เป็น แต่ต้นไม้นี้แก่ได้ ผุพังได้ ตายได้ แต่มันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ของเรา เราจะค่อยๆ ฝึกจิตมันตั้งมั่นขึ้นมา เป็นคนรู้คนดูแล้วมันจะเห็นเลย เวลาเราสติรู้ลงในร่างกาย มันจะเห็นร่างกายเป็นของถูกรู้ ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายมันก็เหมือนต้นไม้ต้นหนึ่งเท่านั้นเอง อยู่ได้ชั่วคราวไม่นานก็ตายไป ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์เกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ มันก็จะเห็นความรู้สึกสุขทุกข์ไม่ใช่ตัวเราเป็นของถูกรู้ถูกดู เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ไม่ใช่จิตด้วย จิตเป็นแค่คนรู้ เพราะฉะนั้นเวลาความสุขเกิดขึ้น มันไม่ใช่จิตสุข มันไม่ใช่เราสุข มันจะแค่ความสุขมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับไป 

ถ้าภาวนามาไม่ถึงตรงนี้ เวลาไม่มีความสุขก็อยากได้ความสุข เวลามีความสุขแล้วก็อยากให้ความสุขอยู่นานๆ เวลาความสุขดับไปก็เสียดาย แต่ถ้าเราเป็นคนดูจริงๆ เราจะเห็นความสุขมันมาแล้วมันก็ไป มันมาทำหน้าที่ของความสุข ให้ร่างกาย ให้จิตใจมีความสุขชั่วครั้งชั่วคราว แล้วมันก็หมดหน้าที่มันก็ดับไป ความทุกข์ก็เหมือนกันมันก็ผ่านมาชั่วคราว แล้วมันก็ดับไป กุศลอกุศลทั้งหลายมันก็เหมือนกัน ความโกรธมันก็ทำหน้าที่ของความโกรธ มากระตุ้นให้เราบ้าคลั่ง ความโลภมันก็มาทำหน้าที่ของความโลภ มากระตุ้นให้เราอยากโน้นอยากนี้ ความหลงมันก็ทำหน้าที่ของความหลง ทำให้เราลืมกายลืมใจของตัวเอง กิเลสมันก็ทำหน้าที่ของมัน ไม่ต้องไปเกลียดมัน มันทำหน้าที่ของมัน แต่มันเป็นหน้าที่ฝ่ายชั่วของมัน คนชั่วก็ทำหน้าที่ฝ่ายชั่ว คนดีก็ทำหน้าที่ฝ่ายดี ต่างคนต่างทำหน้าที่ไป แต่ใจเราเป็นคนกลาง ใจที่เป็นผู้รู้ผู้ดูมันเป็นกลาง 

เพราะฉะนั้นเวลาความสุขเกิดขึ้นใจไม่หลงยินดี ใจฉลาด ใจรู้ว่าความสุขอยู่ชั่วคราวไม่นานก็หายไป เพราะฉะนั้นมันหายไป ใจก็ไม่เสียอกเสียใจอะไรใจเป็นกลาง เวลาความทุกข์เกิดขึ้นใจเป็นผู้รู้ผู้ดู ใจเป็นกลาง ใจก็ไม่ทุรนทุรายเกลียดชังความทุกข์ เป็นกลางกับความทุกข์ ความทุกข์ทำหน้าที่ของมันพอสมควรแล้วมันก็ดับไป ใจเราก็ยังมีความสุขอยู่อย่างนั้น เป็นอิสระไม่ถูกปนเปื้อน ไม่ถูกย้อมด้วยความสุข ด้วยความทุกข์ ด้วยความดี ด้วยความชั่ว สุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว เสมอกันหมดด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น จิตเราไม่เป็นกลาง สุขมันดีกว่าทุกข์ ดีมันก็ดีกว่าชั่ว พอมันมี 2 อย่างที่ไม่เสมอกัน จิตมันก็เริ่มอยาก มันก็อยากได้ความสุข อยากให้พ้นจากความทุกข์ อยากได้ความดี อยากให้พ้นจากความชั่ว ถ้าจิตไม่มีความเป็นกลาง จิตจะมีความอยากเกิดขึ้นทันทีเลย 

 

ฝึกจนเห็นความจริง

ถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ จนเราเห็นความจริง สุขเกิดแล้วดับ ทุกข์เกิดแล้วดับ ดีเกิดแล้วดับ ชั่วเกิดแล้วดับ จิตเราเป็นคนดูที่เสมอกันในทุกๆ สถานการณ์ จิตก็จะไม่มีความอยากเกิดขึ้น เมื่อจิตเราไม่มีความอยากจิตจะไม่มีความทุกข์ อันนี้เป็นกฎของธรรมะเลย ท่านถึงบอกว่า ตัวความอยากหรือตัวตัณหาเป็นสมุทัย เป็นตัวที่ทำให้จิตมีความทุกข์ ที่จิตมีความอยากได้เพราะจิตไม่เป็นกลาง จิตชอบอย่างหนึ่ง จิตเกลียดอย่างหนึ่ง อย่างชอบความสุขเกลียดความทุกข์ ชอบความดีเกลียดความชั่ว ทั้งๆ ที่ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่วนั้น มันเป็นอนัตตาเราสั่งมันไม่ได้ เราสั่งจิตเราให้มีแต่ความสุขไม่ได้ เราห้ามจิตว่าอย่ามีความทุกข์ไม่ได้ เราสั่งจิตว่าจงมีความดีตลอดสั่งไม่ได้ สั่งจิตว่าอย่าชั่วเราก็สั่งไม่ได้ ถ้าเรามีสติมีปัญญาเรียนรู้ลงมาเห็นความจริง สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ล้วนแต่บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วผ่านไป จิตจะเป็นกลาง

เพราะฉะนั้นเรามีจิตตั้งมั่น ด้วยการรู้ทันเวลาจิตมันไม่ตั้งมั่นคือมันไหลไป จิตก็ตั้งมั่น แล้วเราก็ดูสภาวะทั้งหลายไปจนกระทั่งเราเห็นความจริง สุขมาแล้วก็ดับ ทุกข์มาแล้วก็ดับ ดีมาแล้วก็ดับ ชั่วมาแล้วก็ดับ จิตก็จะเป็นกลาง พอจิตเป็นกลางเพราะจิตเห็นความจริง จิตตั้งมั่นเพราะจิตรู้ทันความไม่ตั้งมั่น คือการที่จิตไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไหลไปอดีต ไหลไปอนาคต ไหลไปทางสิ่งโน้นสิ่งนี้ ตรงที่เรารู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา จิตจะตั้งมั่น แล้วตรงที่เราเห็นบ่อยๆ ว่าทุกอย่างที่ผ่านมาให้จิตรู้ เกิดแล้วก็ดับไม่ใช่ตัวจิต สุขไม่ใช่จิตเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ดับ ทุกข์ก็ไม่ใช่จิตเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ดับ กุศลก็ไม่ใช่จิตเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ดับ โลภ โกรธ หลงไม่ใช่จิตเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ดับ เราจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างนี้ ในที่สุดจิตมันจะเป็นกลาง เวลาสุขเกิดจิตก็ไม่ดีใจ จิตก็เป็นกลาง ก็เสพความสุขไปแต่ว่าเป็นกลาง ความสุขหมดกำลังมันก็ดับไป เราก็ไม่เสียดายไม่คร่ำครวญ 

อย่างบางคนชีวิตมีความสุข อย่างเรามีแฟนดีๆ แล้วอยู่ๆ แฟนเราเปลี่ยนใจไปรักคนอื่น เรามีความทุกข์ แต่ถ้าเราภาวนาเก่งๆ เราจะรู้เลยว่าความสุขมันจบไปแล้ว มันทำหน้าที่ของมันเสร็จแล้ว ต่อไปนี้ความสุขไม่มี จิตก็ยังเป็นกลาง จิตไม่ได้หิวความสุขเพราะว่ามันฉลาด มันรู้ว่าความสุขก็ชั่วคราว เวลามีความทุกข์ก็เหมือนกันไม่เสียใจ บางคนไม่สบายใจ สมมติว่าลูกตายไป ลูกเราเป็นที่รักของเรา ลูกตาย เราทุกข์มากเลย คนทั่วไปไม่ได้ปฏิบัติ ทุกข์กินไม่ได้นอนไม่หลับ แทบจะตายตามลูกไปเลย แต่คนที่ภาวนามันจะเห็นเลย ตอนนี้ความทุกข์มันทำหน้าที่ของมันอยู่ มันผ่านเข้ามาทำหน้าที่ของความทุกข์ คือมาบีบคั้นใจเรา พอเราเห็นด้วยความเป็นกลางไม่เกลียดมัน ในที่สุดความทุกข์มันก็ดับ ไม่มีอะไรที่เกิดแล้วไม่ดับ ทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น เราจะเรียนให้เห็นตรงนี้ มีปัญญาแก่กล้าแล้วเราจะเห็นว่าสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ ตรงนั้นล่ะเราจะได้ดวงตาเห็นธรรม ได้เป็นพระโสดาบัน

การที่จิตจะยอมรับความจริงได้ว่า สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นดับ เราต้องดูทุกอย่างที่ผ่านมาแล้วก็ดับไป ผ่านมาแล้วก็ดับไป ดูด้วยใจที่เป็นกลาง ทีแรกไม่เป็นกลางไม่เป็นไรดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายความจริงก็สอนจนกระทั่งจิตเป็นกลางของมันเอง จิตไม่โง่ตลอดไปหรอก ถ้ามันได้เห็นความจริงว่าทุกอย่างที่ผ่านมา เกิดแล้วดับๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก วันหนึ่งจิตก็ฉลาด มันจะรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น ถ้าเราเห็นตรงนี้ เรารู้ตรงนี้แล้วเราจะได้เป็นพระโสดาบัน เราอย่าวาดภาพพระโสดาบันเป็นมนุษย์ประหลาด เป็นมนุษย์วิเศษ พระโสดาบันก็มนุษย์อย่างพวกเรานี่ล่ะ เคยมีกิเลสอย่างพวกเรา เคยจมอยู่ในความทุกข์แบบพวกเรา เคยหลงโลกแบบพวกเรา แต่อาศัยการฝึกจิตฝึกใจตัวเอง ทำทานเพื่อลดละความเห็นแก่ตัว รักษาศีลเพื่อฝึกใจไม่ให้ตามใจกิเลส ฝึกสมาธิให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู หรือตอนเหน็ดเหนื่อยก็ฝึกสมาธิให้จิตมีเรี่ยวมีแรง 

มี 2 วัตถุประสงค์ สมาธิฝึกให้จิตมีกำลัง กับฝึกให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู พอเรามีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้วก็เจริญปัญญา เจริญปัญญาไม่ใช่เพื่อความฉลาดรอบรู้ เราเจริญปัญญาเพื่อให้จิตมันเห็นความจริง เพื่อให้จิตยอมรับความจริง ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเราอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป ไม่ว่าสิ่งนั้นจะสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว ทุกอย่างจะเกิดแล้วก็ดับ ถ้าจิตเห็นตรงนี้จิตก็หมดความอยากมันก็เป็นกลาง จิตไม่เห็นความจริงตรงนี้จิตก็ยังอยากอยู่ พอจิตอยากอยู่จิตก็ดิ้นรนทุรนทุราย แสวงหาความสุขหลีกหนีความทุกข์ แสวงหาความดีหลีกหนีความชั่ว จิตยังทำงานอยู่ จิตยังดิ้นรน จิตยังทำงาน จิตยังเหน็ดเหนื่อยอยู่ ถ้าเราฝึกจนมันเป็นกลาง เพราะว่ามันรู้ความจริงว่าทุกอย่างในชีวิตเราเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ถาวร จิตจะเป็นกลาง ก็จะเห็นทุกอย่างมาแล้วไป มาแล้วก็ไป ความอยากไม่มีหรอก ถ้าจิตไม่มีความอยากจิตก็ไม่มีความดิ้นรน จิตไม่มีความดิ้นรนจิตก็ไม่มีความทุกข์ ความทุกข์ทั้งหลายไปสังเกตให้ดีมันเกิดจากความอยาก พอใจเราอยากใจเราก็ดิ้น พอใจเราดิ้นใจเราก็มีความทุกข์ขึ้นมา มีภาระขึ้นมา 

 

ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา

ฉะนั้นเราฝึกอย่างนี้ตามที่หลวงพ่อบอกให้เรา อย่างเราทำทานเรามีส่วนเกินมาก เราก็เฉลี่ยไปให้คนที่ไม่มีอะไรอย่างนี้ ช่วยเหลือสงเคราะห์มนุษย์และสัตว์อื่นๆ เขาก็อยากได้ความสุข เรามีมากเกิน อย่างบางคนมีเสื้อผ้าเยอะ มีเสื้อผ้าเป็น 100 ชุดเลยบางคน เก็บเอาไว้อย่างนั้นไม่ได้มีเวลาใช้หรอก ใช้วันหนึ่งได้กี่ชุดกัน หรือมีเงินมากซื้อข้าวซื้ออาหารได้เยอะแยะ มันก็กินได้แค่นั้นกินได้ชั่วอิ่มหนึ่งเท่านั้นเอง จะกินให้เกินที่อิ่มมันก็กินไม่ได้ ฉะนั้นมีแค่พอประกันว่ามีหลักประกันในชีวิตข้างหน้า สะสมทรัพย์สมบัติไว้พออยู่พอกินได้ ส่วนเกินอย่างเสื้อผ้าเรามีเยอะเกิน เราก็ให้กับคนที่ไม่มีอะไรอย่างนี้ เราได้ทำประโยชน์ มันเป็นการฝึกลดละความเห็นแก่ตัว เราให้ทานนี้เพื่อลดละความเห็นแก่ตัว บางคนให้ทานผิด ให้ทานโดยหวังว่าจะรวย จะอย่างโน้นจะอย่างนี้ อันนั้นให้ทานผิดวัตถุประสงค์ของพระพุทธเจ้า

รักษาศีลก็เหมือนกัน ไม่ได้รักษาเพื่อจะดีจะเด่นกว่าคนอื่น แต่รักษาเพื่อจะข่มใจตัวเอง ฝึกใจตัวเองไม่ให้ตามใจกิเลส แค่นั้นล่ะสำคัญกว่า ฝึกสมาธิก็ไม่ใช่เพื่อมีฤทธิ์มีเดช มีหูทิพย์ตาทิพย์ รู้วาระจิตคนอื่น รู้ชาติหน้า รู้ชาติก่อน สิ่งเหล่านั้นเป็นผลพลอยได้เท่านั้นเอง ของสำคัญของการฝึกสมาธิ ก็คือฝึกจิตให้มันพร้อมที่จะเจริญปัญญา จิตที่พร้อมจะเจริญปัญญาก็ต้องมีเรี่ยวมีแรง มีกำลัง เกิดจากการทำความสงบแล้วก็มีความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เกิดจากการที่เรารู้ทันจิตที่มันไหลไป จิตมันไม่ตั้งมั่น สมาธิเราฝึกเพื่อให้จิตมีกำลัง แล้วให้จิตตั้งมั่นเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อมีฤทธิ์มีเดช แต่เพื่อที่จะเอาไปเจริญปัญญา 

เราเจริญปัญญาไม่ใช่เพื่อความฉลาดรอบรู้ แต่เจริญปัญญาเพื่อให้เห็นความจริงของกาย แล้วก็หมดความยึดถือในกาย หมดความอยากในกาย พอหมดอยากมันก็หมดยึด หมดความดิ้นรน พอเห็นความจริงของจิตใจ มันก็หมดความอยาก หมดความยึด หมดความดิ้นรนของใจ จิตของเราก็จะเป็นอิสระ ต่อไปร่างกายเราแก่ จิตเราเป็นอิสระไอ้ที่แก่นั้นคือกาย ไม่ใช่เราแก่ มันเจ็บร่างกายมันเจ็บ ไม่ใช่เราเจ็บ มันตายร่างกายมันตายไม่ใช่เราตาย ฝึกจนกระทั่งมันเห็นความจริงอย่างนี้ มันจะไม่ทุกข์เพราะร่างกาย ร่างกายแก่ ร่างกายเจ็บ ร่างกายตาย เป็นเรื่องของกาย แต่จิตมันอยู่ต่างหาก จิตไม่ทุกข์เพราะกาย

ถ้าเราฝึกจิตของเรา เราจะเห็นว่าความรู้สึกทั้งหลาย ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว จะสุขหรือทุกข์มาแล้วก็ไป ฉะนั้นจิตก็จะหมดความอยาก จิตที่ฝึกไม่ดีมันจะมีแต่ความอยาก อยากมีความสุข อยากไม่มีความทุกข์ อยากมีความดี อยากไม่มีความชั่ว เต็มไปด้วยความอยาก อย่างอยากมีความสุขก็อยากทำให้ต้องดิ้นรนไปดูหนังฟังเพลง ไปคุยกับคน ไปหาเงินเยอะๆ ไปแต่งตัวให้สวยๆ มีภาระอะไรตั้งเยอะตั้งแยะขึ้นมา เพราะว่าอยากเท่านั้นเอง อยากให้ร่างกายมีความสุข อยากให้ร่างกายไม่ทุกข์ ใจนั่นล่ะทุกข์เสียก่อนแล้ว อยากให้จิตใจมีความสุข อยากให้จิตใจไม่ทุกข์ แค่อยากจิตใจก็ทุกข์เสียแล้ว 

ฉะนั้นเราไปฝึกจนกระทั่งจิตใจฉลาด มันจะเห็นว่าทุกอย่างที่จิตใจเราไปรู้นี้เป็นของชั่วคราว ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปทั้งหมดทั้งสิ้น ชีวิตเราที่ผ่านมาแล้วมันก็หมดไปสิ้นไป พอถึงพรุ่งนี้ วันนี้ก็หมดไปสิ้นไป ชีวิตเราก็หมดไปสิ้นไปตลอดเวลา เราเห็นไปเรื่อยๆ ใจเราจะเป็นกลาง เวลาอารมณ์ไม่ดีมากระทบใจ ใจก็ไม่เสียใจ รู้ว่าเดี๋ยวมันก็ไปแล้ว มันไม่ใช่จิตใจเรา จิตใจเราเป็นแค่คนรู้ จิตใจเราไม่หลงตามสุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลาย จิตหมดความอยาก หมดความอยากจะให้มีความสุข หมดความอยากจะให้ไม่ทุกข์ หมดความอยากที่จะให้ดีตลอดเวลา หมดความอยากที่จะไม่ชั่วเลย ไม่ให้กิเลสเกิดเลย จิตมันไม่มีความอยากจิตจะไม่มีความทุกข์

ค่อยๆ ฝึกไป นี้เป็นธรรมะในเบื้องต้นหรอก ธรรมะขั้นสูงยังมีอีก ขั้นสูงกว่านั้นยังมีอีกเดี๋ยวเราค่อยๆ เรียนไป ตอนนี้เอาแค่นี้ก่อน สูงกว่านี้ก็คือเราจะเห็นว่าตัวจิตนั้นจะมีความอยาก หรือไม่มีความอยาก จะมีความยึด หรือไม่มีความยึด จิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ผู้รู้นั่นล่ะที่เราสร้างขึ้นมาด้วยความยากลำบาก คือตัวทุกข์ที่ลึกซึ้งที่สุดในสังสารวัฏ แต่เราอย่าเพิ่งไปสนใจตรงนี้ สนใจตรงนี้มันคล้ายๆ เราชกมวยข้ามรุ่น เราต้องชกมวย ฟลายเวท หรือชกมวยในหมู่บ้านเราก่อนอย่าเพิ่งขึ้นเวทีใหญ่ อยู่ๆ ไปขึ้นเวทีโลกเลย ไปชกกับแชมป์โลกเราตายคาที่เลย ฉะนั้นเราก็ชกเท่าที่เราชกได้อยู่ 

กรรมฐานที่เราทำได้ตอนนี้ไม่ใช่ทำลายตัวจิตผู้รู้ ถ้าขืนทำลายตรงนี้เราบ้าทันทีเลย ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ขอให้มีจิตผู้รู้ก่อนเป็นเครื่องอาศัย จิตผู้รู้เหมือนเรือ เรายังอยู่กลางทะเลต้องอาศัยเรือก่อน เอาไว้พ้นจากทะเล คือพ้นจากวัฏสงสารแล้ว เราก็ค่อยปล่อยวางผู้รู้ ค่อยทิ้งเรือเมื่อขึ้นบก ตอนนี้อาศัยผู้รู้ไปก่อน แล้วเดี๋ยวต่อสู้ข้ามห้วงกิเลสได้ ค่อยๆ ฝึกตัวเองไป ตอนนี้ฝึกแค่ที่หลวงพ่อบอกนี่ล่ะ อะไรที่เป็นเครื่องพะรุงพะรังในชีวิตเรา ลดลงได้ก็ลดลง 

ศีลพยายามรักษาให้ดีที่สุดเท่าที่รักษาได้ ถ้าพลาดพลั้งผิดศีลอย่ามัวนั่งเสียใจกับอดีต ถ้าพลาดพลั้งผิดศีลไปแล้ว เราตั้งใจว่าเราไม่ทำอีก อย่างบางคนเคยไปทำแท้ง หรือเคยให้เมียไปทำแท้งอย่างนี้มันผิดศีล แต่มันเป็นอดีตเราแก้ไขไม่ได้แล้ว เราก็แค่ตั้งใจว่าไม่ทำอีก ต่อไปนี้เราเป็นคนมีศีลแล้ว เมื่อก่อนเราไม่มีศีล แต่เดี๋ยวนี้เรามีศีลแล้ว เราตั้งใจไม่ทำผิดอีก เมื่อก่อนเราเคยโกงคนอื่น เราตั้งใจว่าต่อไปนี้เราไม่โกงใครแล้ว อดีตมันแก้ไขไม่ได้ เอาปัจจุบันให้ดี รักษาศีลอยู่กับปัจจุบันนี้ แล้วก็ทุกวันแบ่งเวลาปฏิบัติในรูปแบบไป หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ทำไป แล้วก็คอยรู้ทันจิตใจตัวเอง จิตสงบลงไป ถ้าต้องการพักผ่อนก็ให้จิตสงบเฉยๆ 

ถ้าต้องการฝึกให้จิตตั้งมั่น พอจิตมันเลื่อนมันไหลเข้าไปที่ลมหายใจ เรารู้ทันจิตก็ตั้งมั่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พอจิตหนีไปคิดเรารู้ทันจิตก็ตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นแล้วเราก็มาแยกขันธ์ เราเห็นว่าร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายที่หายใจถูกรู้ถูกดู ร่างกายไม่ใช่จิต ต่อไปก็จะเห็นร่างกายมันแก่ มันเจ็บ มันตาย ไม่ใช่จิต มันแก่ มันเจ็บ มันตาย จิตเป็นคนรู้ นี่เดินปัญญา ถึงวันหนึ่งเราก็เป็นกลางต่อร่างกาย เราจะไม่ทุกข์เพราะร่างกาย เราดูจิตดูใจของเรา เห็นความสุข ทุกข์ ดี ชั่ว เกิดขึ้น จิตเราเป็นกลางเราก็จะเห็นทุกอย่างเกิดแล้วดับ ในที่สุดจิตเราก็เป็นกลางตั้งมั่นขึ้นมา เป็นกลางขึ้นมา หมดความอยาก ไม่อยากให้สุข ไม่อยากให้พ้นทุกข์ ไม่อยากดี ไม่อยากให้ไม่ชั่ว ไม่มีความอยากอะไรเกิดขึ้น จิตไม่ต้องดิ้นรนอีกต่อไป จิตก็เป็นอิสระมีความสุข

 

เมื่อไรสิ้นตัณหาสิ้นความอยาก เราจะพบความสุขที่เหนือโลก คือพระนิพพาน
จะพ้นตัณหาได้เพราะทำอย่างที่หลวงพ่อบอกนี่ล่ะ
มีทาน มีศีล มีสมาธิ เจริญปัญญา
เดี๋ยววันหนึ่งก็ถึงพระนิพพาน

 

ฝึกตรงนี้ก่อน ทำเท่านี้ให้ได้ก่อน แล้วก็ค่อยมาเรียนเพิ่มเติมทีหลัง แค่นี้ก็ใช้เวลาแล้ว อยู่ที่ตัวเราแล้ว บางคนใช้เวลาไม่มาก บางคนก็ใช้เยอะ หลวงพ่อใช้เวลา 7 เดือน แต่ว่าก็อยู่ในกลุ่มที่ทำได้เร็ว เพราะหลวงพ่อฝึกสมาธิจนจิตเป็นผู้รู้มาได้ตั้งแต่เด็กๆ เลย ตอน 10 ขวบหลวงพ่อก็จิตเป็นผู้รู้ขึ้นมาได้แล้ว ตอนนี้จิตของเราเป็นผู้รู้บ้างผู้หลงบ้าง ก็ฝึกให้ดี ฉะนั้นทาน ศีล สมาธิ ปัญญา ค่อยๆ สะสมไป ถึงวันหนึ่งเราจะได้รับรางวัลใหญ่ของชีวิตได้รับ Jackpot แจ็คพอต คือได้รับพระนิพพาน นิพพานไม่มีเจ้าของเป็นสมบัติกลาง คนไหนที่จิตสิ้นตัณหา สิ้นความอยากได้ จะเห็นพระนิพพาน นิพพานนั้นมีความสุขที่สุดเลย ความสุขในโลกที่เราเคยรู้สึกนั้นเป็นความสุขเล็กน้อย เป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน แต่ความสุขของพระนิพพานยั่งยืน 

ค่อยๆ ฝึก ทิ้งของที่มีประโยชน์น้อยเพื่อวันหนึ่งจะพบของที่มีประโยชน์มาก ของที่มีประโยชน์น้อยก็คือเรื่องโลกๆ ความสนใจวุ่นวายอยู่กับโลกมีประโยชน์ให้ความสุขเราได้นิดๆ หน่อยๆ แต่ก็ให้ความทุกข์เราได้เยอะแยะ เราทิ้งสิ่งเหล่านี้เราก็ภาวนาของเราทุกวัน วิธีทิ้งไม่ใช่ยกสมบัติให้คนอื่น ยกเมียให้คนอื่น ไม่ใช่ขนาดนั้น ภาวนาของเราทุกวันๆ อย่างที่หลวงพ่อบอก จิตมันทิ้งเอง เราก็ยังอยู่กับเมียเราแต่จิตเราฉลาด ถ้าเมียเราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย หรือเมียเราต้องนอกใจ จิตเราไม่หวั่นไหว หรือเราไม่ใช่เอาลูกไปทิ้ง คำว่าทิ้ง คำว่าปล่อยวาง ไม่ใช่ทิ้งหน้าที่ของเรา เราก็เลี้ยงลูกของเราไป แต่ลูกเกิดรถชนตายขึ้นมาอย่างนี้ ใจเราไม่สะเทือน คล้ายๆ เราได้ทำหน้าที่ของเราดีที่สุดแล้ว เลี้ยงลูกเรามาได้ 10 ขวบแล้ว รถทับตายไป เราได้ทำหน้าที่ของเราดีที่สุดแล้วได้แค่นี้ จิตไม่เศร้าหมอง 

ในโลกมันมีสุขกับทุกข์เจือปนกันอยู่ อะไรที่ให้ความสุขเราได้สิ่งนั้นให้ความทุกข์เราได้ โลกเป็นอย่างนี้ เงินทองให้ความสุขเราได้ ก็ให้ความทุกข์เราได้ มีเงินมากกลุ้มใจไม่รู้จะเอาเงินไปไว้ที่ไหน เดี๋ยวผู้ร้ายมาเอาไป เดี๋ยวถูกเก็บภาษีเยอะเกินอะไรอย่างนี้ มีอะไรก็ทุกข์ ฉะนั้นความสุขในโลกเป็นความสุขที่เจือด้วยความทุกข์ ความสุขที่เหนือโลก ค่อยๆ ฝึกไป เมื่อไรสิ้นตัณหาสิ้นความอยาก เราจะพบความสุขที่เหนือโลกคือพระนิพพาน จะพ้นตัณหาได้เพราะทำอย่างที่หลวงพ่อบอกนี่ล่ะ มีทาน มีศีล มีสมาธิ เจริญปัญญา เดี๋ยววันหนึ่งก็ถึงพระนิพพาน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
27 สิงหาคม 2564