นิวรณ์ 5

เกือบจะสิ้นปีแล้ว เป็นเทศกาลให้พรกัน อวยพร ปีกลายก็อวยพร ปีโน้นก็อวยพร มันก็เป็นกำลังใจ ไม่มากกว่านั้น เราอยากได้พร เราต้องทำเอาเอง พรแปลว่าประเสริฐ คำว่า “วร” (วะระ) คำว่า “พระ” ถ้าเราภาวนาจนใจเราเป็นพระ เราได้พรประจำตัวแล้ว พรมันก็หนีไม่พ้นกฏแห่งกรรม ถ้าเราทำชั่ว มันก็คือสาปแช่งตัวเอง ไม่เป็นพรแล้ว ถ้าเราทำดีเราก็ให้พรตัวเอง ดีหรือชั่ว ได้รับพรหรือไม่ได้รับพร อยู่ที่การกระทำของเราเอง คนอื่นช่วยเราไม่ได้ เทวดาก็ช่วยเราไม่ได้

ถ้าเราชั่ว เทวดายิ่งหนีเลย ไม่เข้าใกล้ เทวดาเคยไปทูลพระพุทธเจ้าบอกมนุษย์เหม็น สกปรก เทวดาต้องอยู่ห่าง 1,600 กิโลถึงจะอยู่ได้ ถ้าอยู่ใกล้ๆ ไม่ไหว สกปรก ยกเว้นมนุษย์คนนั้นมีศีล มีศีลที่ดี ศีลหอมเหมือนน้ำหอม กลบกลิ่นที่น่าเกลียดของมนุษย์ได้ เราอยากได้พร อยากให้เทวดารัก ต้องมีศีล ถ้าเราไม่มีศีล ไม่มีใครเขามาช่วยเราหรอก ไปอ้อนวอนเทพ พรหม เทวดาที่ไหนให้ช่วยเรา ก็ไม่มีทาง

ฉะนั้นการถือศีลนั้น คือการให้พรกับตัวเองขั้นหนึ่งแล้ว ตั้งอกตั้งใจ ไม่ต้องถือเยอะหรอก เอา 5 ข้อก็พอแล้ว แล้วที่สำคัญจริงๆ คือ 4 ข้อแรกอยู่ในองค์มรรคเลย ข้อที่ 5 มันไปอยู่ในเรื่องของสัมมาสติ กินเหล้าเมายาสติมันอ่อน เป็นตัวเบียดเบียนสติ ฉะนั้นถือศีล 5 ข้อไว้ ชีวิตก็จะได้รับพร เราได้ให้พรตัวเองด้วย เทวดาเขาก็ชอบ เขาก็ให้พร ให้พรก็ช่วยได้ก็ช่วย แต่ไม่เกินกรรม เทวดามีไหม มี ไม่ใช่ไม่มี ช่ วยเราได้ไหม ช่วยได้แต่ไม่เกินกรรม ฉะนั้นตัวชี้ขาดก็กรรมของเรานั่นล่ะ

 

นิวรณ์คือสิ่งซึ่งขัดขวางคุณงามความดี

ฉะนั้นตั้งอกตั้งใจรักษาศีล 5 เอาไว้ให้ดี เท่ากับเราได้รับพรทุกวันๆ ถัดจากนั้นเราก็ให้พรตัวเองให้สูงขึ้นไปอีก มาอบรมจิตใจของเราให้มันสงบ ให้มันตั้งมั่น ไม่ถูกกิเลสย้อม กิเลสที่เข้ามาย้อมใจเรา ทำให้ใจเราฟุ้งซ่านวุ่นวาย จนกระทั่งเกิดเป็นกิเลสหยาบๆ คือนิวรณ์ 5 ตัว กามฉันทะนิวรณ์ การที่เรารักใคร่ผูกพันติดอกติดใจในกามคุณอารมณ์ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่สัมผัสกาย สิ่งเหล่านี้มันจะทำให้สมาธิของเราเสีย

อย่างเวลาจิตเราถูกกามฉันทะกระตุ้น จิตเราก็จะเริ่มฟุ้งซ่าน หรือเวลาเกิดความรู้สึกพยาบาทขึ้น พยาปาทะ มุ่งร้ายอยากทำลาย อยากฆ่า จิตเราก็ไม่มีสมาธิ ฟุ้งซ่านขึ้นมา หรือเราไม่ได้ฝึกอบรมตัวเอง จิตใจฟุ้งออกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดูไม่ทันเลย เรียกมันฟุ้งซ่าน อันนี้สมาธิมันก็ไม่มี แล้วธรรมชาติของจิตฟุ้งมากๆ แล้วมันจะหงุดหงิด ไม่มีความสุข เรียกรำคาญใจ กุกกุจจะ ฟุ้งซ่านแล้วต่อด้วยรำคาญใจ จิตใจไม่สงบ จิตใจไม่มีความสุข รำคาญ

หรือเราเกิดความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย อันนี้เรียกว่าวิจิกิจฉา วิจิกิจฉาไม่ใช่สงสัยว่า พื้นที่ตรงนี้อยู่กับอำเภออะไร อันนี้ไม่ใช่วิจิกิจฉา ถนนหน้าวัดนี้ ถ้าวิ่งไปต่อเลยวัดไป แล้วจะไปไหน สงสัยอย่างนี้ อันนี้ไม่เรียกว่าวิจิกิจฉา วิจิกิจฉาคือสงสัยพระพุทธเจ้ามีจริงไหม ท่านตรัสรู้จริงไหม ที่ท่านสอนถูกต้องหรือเปล่า ทำตามแล้วพ้นทุกข์ได้จริงไหม พอสงสัยตรงนี้ มันก็สงสัยต่อไปอีก พระสงฆ์มีจริงไหม หรือเป็นอาชีพอันหนึ่ง อาชีพเป็นนักบวช มีอยู่มีกิน สงสัยไปหมด

เห็นข่าวพระทำชั่ว เราแยกไม่ออก เราก็เลยพระทั้งหมดชั่ว คงไม่มีแล้วพระอริยะ นี่สงสัย พวกนี้ ทำ มันบั่นทอนทำให้จิตใจเรา ไม่มุ่งมั่น ไม่เด็ดเดี่ยวที่จะปฏิบัติ กระทั่งพระพุทธเจ้ามีหรือเปล่ายังไม่รู้เลย แล้วจะไปปฏิบัติตามคำสอนของท่านได้อย่างไร สงสัยไปเยอะๆ เลย ทุกเรื่องเลย สุดท้ายก็เลยเชื่อแต่ความคิดความเห็นของตัวเอง จิตใจหาความสงบ หาความตั้งมั่นอะไรไม่ได้เลย

จะนั่งสมาธิก็สงสัยอีก จะใช้กรรมฐานอะไรดีหนอ วันนี้ลองอันนี้ อีกวันลองอีกอันหนึ่ง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ สงสัยไม่เลิกว่าอันไหนมันจะดี จิตไม่สงบสักที สงสัยว่าทำอย่างไรจะถูก ที่ทำอยู่นี้ถูกหรือไม่ถูกอะไรอย่างนี้ สงสัยจุกจิกๆ ในเรื่องของการปฏิบัติ ไม่สามารถที่จะมีสติรู้สภาวะ ที่กำลังมีกำลังเป็นได้ เอาแต่สงสัยไปเรื่อยๆ ใจก็ไม่มีความสงบหรอก สงสัยในเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ใจไม่มีความสุข ไม่มีความสงบ

อีกอันหนึ่งที่เป็นกิเลสระดับกลางๆ ที่ทำให้สมาธิของเราเสีย คือเรื่องสภาวะที่มันเซื่องซึม หดหู่ เซื่องซึม บางครั้งเราอยู่ในบรรยากาศอย่างหนึ่ง อยู่ๆ ใจก็หดหู่เซื่องซึมไปก็ได้ เวลาที่จิตใจหดหู่เซื่องซึม ไม่มีสมาธิหรอก สมาธิมันเสีย เพราะฉะนั้นนิวรณ์เหล่านี้ ถ้ามันเกิดขึ้น สมาธิเราจะไม่มี แต่ถ้าเราพยายามอดทนฝึกให้จิตเรามีสมาธิ ทำกรรมฐานไป รู้จักเลือกอารมณ์ที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข อารมณ์นั้นไม่ยั่วให้เกิดกิเลส เราน้อมจิตให้อยู่ในอารมณ์อันนี้นานๆ ค่อยๆ ไป ทีแรกมันก็ฟุ้งซ่าน แล้วทำทุกวันๆ ต่อไปมันก็สงบลงมา เวลามันสงบมันก็ข่มนิวรณ์ได้ เวลาจิตไม่มีกำลังไม่สงบ ก็ถูกนิวรณ์เข้ามาข่มจิต ก็ยิ่งฟุ้งซ่านมากกว่าเก่าอีก

เพราะฉะนั้นต้องอดทน ในช่วงแรกๆ ของการปฏิบัติ ตั้งใจรักษาศีลไว้แล้วก็อดทน เราจะต้องต่อสู้กับนิวรณ์ 5 ตัว นิวรณ์โดยตัวศัพท์ของมัน ก็หมายถึงสิ่งซึ่งคอยมาขัดขวาง การทำคุณงามความดีทั้งหลาย นั่นละเรียกว่านิวรณ์ ฉะนั้นเวลามีสิ่งมาขัดขวางคุณงามความดีในใจเรา ก็เรียกว่ามีนิวรณ์เกิดขึ้นแล้ว ทีแรกเราก็ยังมีนิวรณ์ทุกคน ก็ต้องอดทนภาวนาทำไปเรื่อยๆ มันคงไม่ชั่วตลอดชาติหรอก อดทนทำไป ให้พรตัวเองทุกวันว่า ตื่นมามันก็ให้พรตัวเองว่าเราจะขยันภาวนา

 

ฝึกฝนอดทนทำ จนจิตใจคุ้นเคยกับความสงบ

ค่อยๆ สอนตัวเองไป แล้วก็ทำกรรมฐานไป แรกๆ ก็ฟุ้งซ่าน ต่อไปก็สงบ พอจิตใจมันคุ้นเคยกับความสงบแล้ว คราวนี้สงบง่าย แต่เดิมสงบยาก เพราะมันคุ้นเคยกับความฟุ้งซ่าน มันฟุ้งมาตั้งแต่เกิด จะมาฝึกให้สงบก็ไม่ง่าย แต่พอเราฝึกจนจิตใจมันคุ้นเคยกับความสงบ คราวนี้ง่ายแล้ว หายใจทีสองทีก็สงบแล้ว เรียกว่ามีวสี ชำนาญ มีความชำนาญเกิดขึ้น วสีไม่ได้เกิดขึ้นเอง เกิดจากการฝึกฝน อดทนทำไปเรื่อยๆ

ถ้าจิตเรามีสมาธิ แค่สมาธิชนิดสงบ จิตใจมีความสุขแล้ว บางทีไม่ได้เจตนาทำสมาธิ ทำอะไรอยู่ปกตินี่ล่ะ อยู่ๆ จิตมันสงบลงไป มีความสุดผุดขึ้นมา หัดใหม่ๆ จะเจอเยอะเลย อยู่ๆ ก็ความสุขก็ผุดขึ้นมา โอ้ อยู่ๆ ก็มีความสุขอะไรอย่างนี้ คือจิตมันมีสมาธิขึ้นมา ก็มีความสุขผุดขึ้นมา แต่พอฝึกไปนานๆ เราก็จะพบว่าความสุขมันก็เป็นของแปลกปลอม เป็นของหยาบ

เพราะฉะนั้นพอภาวนามากๆ ต่อไปมันจะกลายเป็นอุเบกขา อุเบกขานี้สูงกว่าความสุข ความสุขนั้นจิตใจยังกระเพื่อมหวั่นไหวอยู่ อุเบกขา จิตกระเพื่อมหวั่นไหวน้อยลง สบายมากกว่ากัน ฉะนั้นอย่างเราฝึกทุกวันๆ ทำกรรมฐานของเราไป บางทีระหว่างทำกรรมฐาน จิตรวมลงไปมีความสุข มีความสงบ บางทีอยู่กับโลกธรรมดาอย่างนี้ อยู่ๆ มีความสุขผุดขึ้นมา ขึ้นมาได้เอง จิตมันคุ้นเคยกับสมาธิแล้ว

แต่พอฝึกไปนานๆ มันจะเป็นอุเบกขา ไม่ต้องตกใจว่า อุ๊ย แรกๆ ภาวนาทำไมมีความสุขเยอะ ภาวนามาตั้งนานหายไปไหนหมดแล้วความสุข ความสุขมันเป็นของหลอกเด็ก ถ้าเราไปหลงกับมัน เราก็ติดกับมันนั่นล่ะ ไปไม่รอด พระอนาคามีว่าภาวนาเก่งๆ ท่านติดความสุข ความสุขจากความสงบนี่ล่ะ ความสุขของสมาธิ เพลิดเพลิน ไม่อยากยุ่งกับโลก

ถ้ายังอยากอันนี้ ไม่อยากอันนี้ แสดงว่ายังเข้าไม่ถึงที่สุดของทุกข์หรอก ยังยินดีพอใจในฌานสมาบัติ ไม่ชอบที่จะยุ่งเกี่ยวกับคน ยังไม่ใช่หรอก จิตยังมี 2 ทางเลือก ยังไม่ถึงที่สุดหรอก เพราะฉะนั้นตัวความสุข เป็นของที่เราก็ต้องระมัดระวัง ความทุกข์ดูง่ายเพราะเราไม่ชอบ ความทุกข์เกิดไปดูๆ ดูแล้วอยากให้ความทุกข์หายไป มีความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว ไปเห็นแล้วอยากให้หาย อันนี้ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ใจไม่เป็นกลาง

เมื่อวานก็ยังสอนพระในนี้องค์หนึ่ง ไปเช็ดหน้าต่างให้หลวงพ่อ ใจก็ประคองนิ่งๆ ไว้ เพราะว่าทีแรกใจมันฟุ้ง ก็เลยไปประคองไว้ บอกทำอย่างไรมันก็ไม่หาย ท่านเล่า ไม่หาย โอ๊ย บอกไม่หายหรอก การที่จิตไปสร้างภพนิ่งๆ ว่างๆ ขึ้นมาอันหนึ่ง เบื้องหลังของมันคือตัณหา ฉะนั้นไม่ต้องไปละที่ผล ละก็ละที่เหตุ คือละที่ตัณหา ท่านบอกตัวสมุทัย ตัวตัณหาให้ละ ไม่ใช่ละตัวทุกข์ ตัวทุกข์เป็นผล ตัวภพทั้งหลายนั่นมันทุกข์แล้วล่ะ มันเป็นผล เป็นวิบาก ละไม่ได้

เพราะฉะนั้นเราภาวนา จิตมันไปติดนิ่งๆ อะไรอยู่ แล้วเราประคองแก้ไม่ตก ไม่ต้องไปนั่งแก้ สังเกตลงไปเลย ทำไมเราต้องไปประคองเอาไว้อย่างนั้น ไปควบคุมรักษาจิตเอาไว้อย่างนั้น เพราะมันอยากดี มันอยากปฏิบัติ มันอยากดี ให้รู้ตัวนี้ ถ้าเรารู้ทันใจที่อยาก ก็ละ มันละได้เอง เพราะว่ากิเลสมันทนสติไม่ได้ พอเรารู้ว่าตัวนี้คือความอยากปฏิบัติ ความอยากนั้นจะดับอัตโนมัติ อันนี้เรียกว่าการละสมุทัย ละด้วยการที่เราไปรู้เท่าทันมัน ทำลายมันลงไปได้

พอทำลายสมุทัยหมดไปแล้ว ก็ไม่มีความจงใจ ที่จะไปสร้างภพอันใดอันหนึ่งขึ้นมา แล้วเข้าไปนอนนิ่งๆ อยู่ในภพอันนั้น ก็เรียก พอเราละสมุทัยได้ ทุกข์มันก็ดับของมันเอง ไม่ต้องไปดับมัน เพราะฉะนั้นทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ ตัวทุกข์ อย่างเราไปสร้างภพ แล้วเราก็ไปติดอยู่อย่างนั้น มันอึดอัด ไม่มีความสุข ไม่ต้องหาทางแก้ ให้ละที่ตัวสมุทัย

ดูให้ออกอะไรอยู่เบื้องหลัง ที่ทำให้เรามาทำจิตมาสู่จุดที่มันติดล็อกอยู่อย่างนี้ มันต้องมีสิ่งที่อยู่เบื้องหลังคือตัณหา เช่น อยากปฏิบัติ อยากพ้นทุกข์ อยากบรรลุมรรคผลนิพพาน ตัวอยากทั้งหลาย ตัวอยากทั้งหลาย ถ้าเรามีสติรู้มันดับทันทีเลย เพราะฉะนั้นพอเหตุมันดับ ผลมันอยู่ไม่ได้หรอก มันจะอยู่ได้ช่วงหนึ่ง เพราะว่ามันมีวิบาก ก็รับผลไปช่วงหนึ่ง

บางคนสร้างภพแน่นอึดเลย บังคับตัวเอง เครียดจนแน่นมากเลย แล้วพอรู้ทันว่า เอ๊ย นี่เราอยากปฏิบัติ เราบังคับตัวเองมากมาย มันเลิกบังคับ แต่มันยังแน่นอีกช่วง ต้องรับวิบาก เหมือนอย่างร่างกายเรานี้มันเป็นวิบาก เป็นผลจากกรรมในอดีตส่งผลมา ถึงเราไม่ยึดไม่ถือมัน มันก็ยังอยู่อีกช่วงหนึ่ง แล้วถึงเวลามันก็ตาย หมดสภาพของมันไป

ฉะนั้นเวลาภาวนา เราสังเกตไป คอยรู้เท่าทัน รู้เท่าทันจิตใจตัวเอง น้อมจิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ทำไป แล้วถ้าจิตมันหลงไปสร้างภพอะไรขึ้นมา ส่วนใหญ่ก็สร้างทุกคนเวลาปฏิบัติ หรือสร้างภพทั้งหลายขึ้นมา เสียหายไหม ไม่เสียหายมากหรอก เพราะว่าศีล สมาธิ ปัญญา เกิดในภพ แต่ว่าถ้าเรารู้ทันว่านี่เป็นภพอันหนึ่ง เราก็จะพ้นจากภพอันนั้นได้ เป็นปัญญาที่สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คือรู้อริยสัจ รู้ว่ามีตัณหา ก็เลยเกิดภพอันนี้ขึ้นมา

 

จิตที่สงบไม่ใช่ว่าจะตั้งมั่นทุกดวง

เราค่อยๆ ภาวนา เป็นการให้พรตัวเองมากขึ้นๆๆ จิตใจเราก็มีความสุข มีความสงบ แล้วก็เจริญปัญญา พอจิตใจเรามีความสุข มีความสงบ เราก็มาพัฒนาให้พรตัวเองให้สูงขึ้นไปอีก ฝึกให้จิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นสูงกว่าจิตสงบ จิตสงบบางทีไม่ตั้งมั่น แต่จิตตั้งมั่นทุกดวงสงบ ตรงนี้ต้องฟัง ทำความเข้าใจนิดหนึ่ง จิตที่สงบไม่ใช่ว่าจะตั้งมั่นทุกดวง

อย่างเราเพ่งกสิณไฟ เรากำหนดลงไปจนเห็นไฟ จิตสงบอยู่กับไฟ ไฟดับไปกลายเป็นแสง เป็นดวงปฏิภาคนิมิตขึ้นมา จิตสงบอยู่กับปฏิภาคนิมิต อยู่กับอุคคหนิมิต อันนั้นจิตยังไม่ได้ตั้งมั่น จิตไหลไปอยู่ที่ไฟ จิตไหลไปอยู่ที่นิมิต เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตสงบ ไม่แน่ว่าจะตั้งมั่นหรือเปล่า แต่ถ้าเราฝึกจนจิตตั้งมั่น จิตดวงนั้นสงบอยู่ในตัวเอง

วิธีฝึกให้จิตตั้งมั่นสอนอยู่ทุกวี่ทุกวัน บางทีก็ทำได้ บางทีก็ทำไม่ได้พวกเรา ต้องฝึกให้เยอะๆ หน่อย วิธีฝึกให้จิตตั้งมั่น ก็อย่าไปบังคับให้จิตตั้งมั่น จิตไม่ชอบให้ใครบังคับ ให้มีสติรู้ทันเวลาจิตมันไม่ตั้งมั่น จิตที่ไม่ตั้งมั่นก็คือจิตที่มันไหลไป มันหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หลงทางใจส่วนใหญ่หลงไปคิด มันหลงไปดูรูป ในขณะที่หลงไปดูรูป จิตไม่ตั้งมั่นแล้ว จิตไหลออกไปทางตา

หลงไปฟังเสียง จิตไหลออกไปทางหู หลงไปดมกลิ่น จิตไหลออกไปทางจมูก หลงในรสจิตก็ไหลไปที่ลิ้น หลงโผฏฐัพพะ โอ้ วันนี้อากาศเย็นดีจังเลย จิตก็ไหลออกไป ออกข้างนอกไป ถ้าเรามีสติรู้ทันว่าจิตมันไหลไป จิตมันจะตั้งมั่นอัตโนมัติ เพราะจิตที่ไหลไปเป็นจิตที่มีกิเลสชื่ออุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน ฟุ้งโคจร พาให้จิตโคจรไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือโคจรไปทางใจ

อย่างรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นที่โคจรของจิตออกไปข้างนอก ธรรมารมณ์ก็เป็นที่โคจรของจิตเข้ามาข้างใน ถ้าเรารู้ทันจิตมันไหลออกไป รู้ทันจิตมันไหลออกไป รู้ทัน จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมาโดยที่เราไม่ได้เจตนา เพราะตรงที่จิตไหลนั้น จิตฟุ้งซ่าน มีกิเลสคืออุทธัจจะ ทันทีที่สติเกิด รู้ทันว่าจิตฟุ้งซ่าน สติเกิดเมื่อไรกิเลสดับเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นจิตก็ไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาอัตโนมัติ

พูดถึงจิตไหลๆ พวกที่เรียนปริยัติมากๆ ก็จะโวยวาย โอ๊ย จิตไม่มีไหลหรอก จิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับ เกิดที่หูแล้วก็ดับ จิตมีนับจำนวนไม่ถ้วน ไม่ได้มีดวงเดียวไหลไปไหลมา เขาพูดถูก แล้วเราภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง เราก็จะไปเห็นตรงนั้นจริงๆ เขาไม่ได้หลอกหรอก แต่ว่าเวลาที่เราลงมือปฏิบัติ เราดูสิ่งที่เราเห็นได้จริงๆ เราเห็นว่าจิตเรายังมีดวงเดียวนี้ล่ะ วิ่งไปทางตาแล้วก็กลับมา วิ่งไปทางหูแล้วก็กลับมา วิ่งไปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วก็กลับมา

รู้อย่างที่รู้ไปก่อน ไม่อย่างนั้นปัญญาล้ำหน้า แล้วมันจะไม่เห็นสภาวะ จิตเกิดที่ตา แล้วถามตัวเอง ตาเห็นรูปรู้ไม่รู้อะไรอย่างนี้ อันนั้นฟุ้งซ่าน อันนั้นฟุ้งซ่านแล้ว เรียกว่าปัญญามันล้ำหน้าไป ล้ำจนกระทั่งไม่ได้เห็นสภาวะรองรับแล้ว ฉะนั้นเราเห็นสิ่งที่เรารู้ได้เห็นได้ อย่างเราเห็นจิตมันไหลไป เรารู้ พอรู้ปุ๊บจิตที่ไหลมันดับ มันรู้สึก

 

“จิตไม่มีที่อยู่”

ทีแรกยังไม่เป็น ไม่ชำนาญ รู้ว่าจิตหลงไปดูรูป มันก็จะไปดึงจิตคืน ตรงที่ไปดึงจิตคืน จิตจะแน่นๆ ขึ้นมาเลย เดี๋ยวไหลไปทางหูก็ไปดึงคืนมาอีก ก็แน่นๆ อีก พอฝึกไป ต่อไปชำนาญเราจะเห็น จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั้น ทีแรกหลวงพ่อก็เห็น จิตมันวิ่งไปวิ่งมาอย่างนี้ ก็เลยไปถามหลวงปู่ดูลย์ “หลวงปู่ครับ จิตมันอยู่ที่ไหน”

ตอนนั้นภาวนารู้เข้ามาถึงความไหวๆ ในอกแล้ว ก็เห็นกิเลสอะไรก็ผุดขึ้นตรงนี้ๆ แต่คิดว่าจิตมันอยู่กลางหน้าอก แต่เดิมก็คิดว่าจิตมันวิ่งไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอละเอียดขึ้นมารู้สึกจิตมันมาอยู่ที่กลางอกนี้ แล้วก็ไปถามหลวงปู่ดูลย์ เพื่อขอคำยืนยันว่าจิตอยู่ที่กลางอก ถามบอก “หลวงปู่ครับ จิตมันอยู่ที่ไหน” หลวงปู่บอก “จิตไม่มีที่อยู่” คราวนี้ยิ่งงงหนักกว่าเก่าอีก จิตไม่มีที่อยู่จริงๆ ก็คือจิตมันเกิดที่ไหน มันก็ดับที่นั่นล่ะ

ค่อยๆ ฝึกแล้วต่อไปมันจะมาถึงจุดนี้ มันจะรู้เลยจิตไม่ได้มีที่ตั้งถาวรอยู่ที่ไหนหรอก มันเกิดตรงไหน มันก็ดับตรงนั้น แล้วมันก็เกิดจิตอีกดวงหนึ่ง จะตั้งอยู่อีกที่หนึ่ง แล้วตั้งอยู่ที่ใหม่เกิดแล้วก็ดับอีก มันก็ไปเกิดที่อื่นต่อ เดี๋ยวก็ไปเกิดที่ตาแล้วก็ดับ ไปเกิดที่ใจแล้วก็ดับ ไปเกิดที่หูแล้วก็ดับ ไปเกิดที่ใจแล้วก็ดับ ไปเกิดที่จมูกแล้วก็ดับ เกิดที่ใจแล้วก็ดับ กลับมาที่นี่เรื่อยๆ ทีแรกก็ไปดึงให้กลับเข้ามาที่ใจ ต่อไปชำนาญไม่ต้องดึง กระทบปุ๊บพอรู้ทัน จิตเข้ามาที่จิต เข้ามาที่ใจตัวเอง ตั้งมั่นขึ้นเองเลย ค่อยๆ ฝึก

ปริยัติเขาก็ดี เขาก็พูดหลายส่วนนั้นถูกต้อง เราจะแก้ความหลงผิดว่าจิตมีดวงเดียว เวลาเราภาวนา เราก็จะรู้สึกจิตมีดวงเดียว คนทั่วโลกมันก็คิดว่าจิตมีดวงเดียว หมามันก็รู้สึกว่าจิตมันดวงเดียวนี่ล่ะ มันมีตัวเราอยู่ตัวหนึ่ง มีความเป็นอมตถาวร ถ้าคิดมากต่อไปอีก ก็คือตัวเรานี้ตายไปแล้ว ร่างกายตาย จิตดวงนี้ออกจากร่างไปเกิดใหม่ นี่มิจฉาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่จริงจิตเกิดแล้วดับ จิตเกิดที่ไหนดับที่นั้นล่ะ ไม่มีหรอกจิตที่ออกจากร่างนี้ แล้วไปเกิดในร่างใหม่ ในชีวิตใหม่ อันนั้นไม่ใช่ศาสนาพุทธ เพราะว่าภาวนายังไม่ละเอียดพอ ยังเห็นว่าจิตนั้นเกิดดับอยู่ตลอดเวลา

ถ้าเราค่อยภาวนา แล้วก็เกิดความรู้ถูกความเข้าใจถูกมากขึ้นๆ จิตเราตั้งมั่นแล้วเราก็เดินปัญญาไป สติระลึกรู้กายด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง มันก็จะเห็นไตรลักษณ์ของกาย ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ มันก็จะเห็นเวทนาก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตตั้งมั่นอยู่ ระลึกรู้ความจำได้หมายรู้ ระลึกสัญญา ก็จะเห็นสัญญาก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา

ถ้าจิตตั้งมั่นอยู่ แล้วสติระลึกรู้สังขารคือความปรุงแต่ง ปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วของจิต ก็จะเห็นว่าสังขารทั้งหลายตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา แล้วสุดท้ายจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้จิตที่เกิดดับทางทวารทั้ง 6 เราก็จะเห็นจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน เกิดดับเหมือนกัน ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราเหมือนกัน

ถ้าเห็นตัวนี้ได้อย่างถ่องแท้ เป็นพระโสดาบันแล้ว ละความเห็นผิดว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวเราของเรา ไม่มีตัวเรา ถึงจุดนั้น ค่อยๆ ฝึก ถ้าเราภาวนามาถึงตรงนี้ ชีวิตเราจะเต็มไปด้วยความสุข มีทั้งความสุข มีทั้งความสงบอยู่ในตัวเอง จิตรู้ จิตตื่น จิตเบิกบาน โดยที่เราไม่ต้องรักษามัน อย่างถ้าปัญญาเรายังไม่พอ แป๊บเดียวจิตจะไหลลงไปยึดอารมณ์โน้นอารมณ์นี้

แต่ถ้าเราภาวนาจนรู้แจ้งแทงตลอดในกองทุกข์แล้ว โอ้ ขันธ์ 5 ไม่มีอย่างอื่นมีแต่ทุกข์ รู้แจ้งแทงตลอดอย่างนี้ ขันธ์ 5 มันตัวทุกข์ จิตมันวางขันธ์ 5 จิตมันวางแล้ว มันไม่เข้าไปจับอีกแล้ว คราวนี้เราไม่ต้องรักษาจิตแล้ว ที่เราฝึกมาตั้งแต่ต้น เราต้องรักษาจิต มีสติคุ้มครองรักษาจิตไป จนกระทั่งถึงจุดที่จิตมันรู้แจ้งแทงตลอด มันปล่อยวางขันธ์ 5 ได้ ย่อลงมาก็ปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายได้

ฉะนั้นปล่อยตัวนี้ได้ เพราะว่ามันปล่อยจิตได้ ปล่อยวางจิตไม่ยึดถือจิตได้ มันก็ปล่อยขันธ์ 5 เพราะขันธ์ 5 นั้นมันเกิดจากจิต ปล่อยขันธ์ 5 ได้ มันก็ปล่อยโลกทั้งโลกได้ จิตดวงเดียวสร้างขันธ์ 5 ขึ้นมา ในปฏิจสมุปบาทสอนไว้ “วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป” ขันธ์ 5 มันก็คือตัวนามรูปนั่นล่ะ ฉะนั้นถ้ารู้แจ้งแทงตลอด ว่ากระทั่งตัวจิตไม่ใช่ตัวเรา ขันธ์ 5 ที่เป็นผลผลิตของจิต เป็นตัวเราไปไม่ได้ ไม่ใช่คิด แต่ว่ามันรู้เลย รู้ลึกซึ้งลงไป

 

สุปฏิปันโนตัวจริง

ฉะนั้นค่อยฝึก ฝึก ถ้าเราภาวนามาถึงจุดนี้ เห็นว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ 5 ไม่มีเราในขันธ์ 5 ไม่มีเรานอกเหนือจากขันธ์ 5 อีก ไม่มีเราที่ไหนเลย ตรงนั้นล่ะจิตของเราเป็นพระแล้ว เรียกพระโสดาบัน เห็นไหมจิตเราเป็นพระ พระบอกแล้ว พระแปลว่าประเสริฐ วร นั่นล่ะได้รับพรสูงสุดแล้ว ถ้าได้เป็นโสดาบัน พระพุทธเจ้าบอกว่าดีกว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอีก เจ้าจักรพรรดิครองโลกได้ มีทุกสิ่งทุกอย่างมากมาย ท่านบอกว่าเป็นพระโสดาบัน ยังดีกว่าได้สมบัติของจักรพรรดิ

อย่างเราไม่รู้จักจักรพรรดิ ยุคนี้ไม่มี คนที่จะครองโลกได้ อย่างมหาเศรษฐีมีเงินมากเป็นแสนล้าน กินข้าวได้เท่าไรวันหนึ่ง ก็กินข้าวได้แค่นี้ล่ะ มีบ้าน 100 หลัง มันก็อยู่ได้หลังเดียว อยู่ได้ครั้งละหลัง มีเมีย 100 คน มันก็อยู่ได้ทีละคนเท่านั้นล่ะ เพราะฉะนั้นมันไม่มีสาระแก่นสาร ทรัพย์สมบัติอะไรมากมาย มันเอาไว้หลอกๆ ให้คนหลง ให้คนแย่งกัน แต่พอเราภาวนา เรารู้ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ของที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีสาระแก่นสารอะไร ใจเราเข้าถึงความสุขความสงบ มีความสุข

พระพุทธเจ้าท่านก็เคยสอนว่าเป็นกษัตริย์ เป็นจักรพรรดิ์ เป็นอะไร ก็ยังเต็มไปด้วยความหวาดระแวง กลัวถูกปฏิวัติ กลัวถูกลูกจะฆ่าเอาหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ กลัวไปหมด ไม่ได้มีความสุขจริง จะกินอาหารก็ไม่รู้จะโดนยาพิษหรือเปล่า บอกว่ามันไม่ได้มีความสุขจริง ความสุขในโลกมันเจือด้วยความทุกข์เสมอ

เมื่อก่อนหลวงพ่อขึ้นไปกราบหลวงปู่สิมที่ถ้ำผาปล่อง เดี๋ยวนี้ให้ขึ้น ขึ้นไม่ไหวแล้ว ขึ้นเขาไป เมื่อก่อนยังหนุ่มๆ อยู่ก็ขึ้นไหว หลวงปู่ท่านแก่แล้ว ท่านยังขึ้นได้ เพราะว่านั่งเสลี่ยงลูกศิษย์หามขึ้นไป เสลี่ยงหนักๆ หาม มีผู้หญิงคนหนึ่งท่าทางร่ำรวย ที่บ้านผลิตธูปขาย ขายธูป เอาธูปมาถวายหลวงปู่เยอะเลย แล้วบอกว่าด้วยบุญจากการถวายธูปหลวงปู่ ขอพรหลวงปู่ ขอให้รวยๆ ให้รวยมากๆ เลย รวยเยอะๆ เลย

หลวงปู่ก็ยิ้มๆ บอก เออ รวยแล้วทุกข์นะ เขาถามหลวงปู่ มันทุกข์อย่างไรคะ เดี๋ยวโจรมันมาปล้น มันไม่มีความสุข ฉะนั้นบอก ฉะนั้นขอพรเพิ่มอีกข้อหนึ่ง ขอไม่ให้โจรมาปล้น เอารวยแบบโจรไม่ปล้น หลวงปู่ก็เลิกพูดเลย ยิ้มๆ ไป ความสุขของโลกมันเจือทุกข์ มันยังไม่ประเสริฐจริงหรอก ให้พรบอกให้ร่ำรวย ให้ร่ำรวยก็เท่ากับบอกให้มีภาระไปอีกแบบหนึ่ง คนรวยๆ ก็มีภาระ มีเงินเยอะๆ เอาไปลงทุนโน้นลงทุนนี้ บอกสบายแล้วชีวิตนี้ ไม่ต้องทำมาหากิน ให้เงินทำงานแทน ปรากฎว่า เอ้า โดนโกงไปแล้ว

เพราะฉะนั้นสมบัติทางโลก สมบัติผลัดกันชม อย่าไปหลงกับมันมาก ไม่มีก็ไม่ได้ก็ต้องมี มีแล้วก็พอประมาณ แล้วก็พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาคือความรู้ถูกเข้าใจถูก เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมันชั่วคราว ไม่มีอะไรยั่งยืนถาวรหรอก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปทั้งหมด ถ้าใจเราได้ธรรมะ จะเห็นว่าทุกสิ่งเกิดแล้วดับทั้งสิ้น เป็นธรรมะระดับพระโสดาบัน พระโสดาบันเป็นพระแล้ว เป็นฆราวาสแล้วได้โสดาบัน ก็คือเป็นพระ

เพราะในบทสังฆคุณ ท่านบอก “สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติดี ปฏิบัติธรรมะเพื่อออกจากทุกข์” อีกลักษณะของพระสงฆ์ที่ดี แล้วใครบ้างที่เป็นพระสงฆ์ที่ดี คู่แห่งบุรุษ 4 คู่นับเรียงตัวบุรุษได้ 8 บุรุษ บุรุษนี้แปลว่าคน รวมสตรีด้วย 4 คู่คืออะไร โสดาปัตติมรรคบุคคล โสดาปัตติผลบุคคล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล 3 คู่แล้ว อรหัตตมรรค อรหัตตผล นี่คู่ที่ 4 บอกว่ามี 4 คู่ นับเรียงรายละเอียดลงไปได้ 8 นี่ล่ะคือสาวกของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้นท่านไม่ได้บอกว่า ต้องบวชถึงจะเป็นสาวก ถ้าเมื่อไรเราได้เป็นสุปฏิปันโน ได้เป็นพระโสดาบันขึ้นมา นี่เป็นสุปฏิปันโนตัวจริงแล้ว เราเป็นพระในขณะนั้นล่ะ เป็นพระโสดาบัน ไม่ต้องบวชก็ได้ จะบวชก็ได้ ไม่บวชก็ได้ แล้วแต่สถานการณ์ เพราะฉะนั้นความเป็นพระไม่ได้อยู่ที่เครื่องแบบ อย่างหลวงพ่อเป็นพระสมมติ แต่งตัวอย่างนี้สมมติว่าเป็นพระ อย่างโยมหัวดำ นุ่งผ้าถุง นุ่งกางเกง ภาวนาดีๆ ได้โสดาบัน โยมก็เป็นพระแล้ว

เพราะฉะนั้นได้รับพร เป็นพระนั่นก็คือประเสริฐแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ ได้รับพร เพราะฉะนั้นสรุปก็คือพรปีใหม่ เลิกขอเสียทีเถอะ ขออยู่นั่นล่ะ เอะอะก็ขอโน่นขอนี่ ทำเอาเอง พร รักษาศีล ฝึกจิตฝึกใจให้สงบ ฝึกจิตฝึกใจให้รู้เนื้อรู้ตัว เจริญปัญญาให้เห็นความจริงถ่องแท้ของกายของใจ รูปนาม ขันธ์ 5 ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วเราก็เป็นพระ ได้รับพรทุกวันเลย ได้รับพรอยู่ทุกวัน ไม่ต้องขอใคร นี่ล่ะพร

เมื่อ 2-3 วันนี้ก็มี เมื่อวานก็มีบอกปีใหม่แล้ว ขอพรจากหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ให้พร “อย่าทำชั่ว ทำความดี ฝึกจิตฝึกใจไป” เขาก็งง ๆ นิดหน่อย นี่พรหรือ นี่ล่ะพรตัวจริง ส่วน “ขอให้เธอทั้งหลายอยู่เย็นเป็นสุข รวยๆๆ ให้ทุกคนร่ำรวย มีสุขภาพดี” โถ หลวงปู่หลวงตาอะไร สุขภาพยังไม่ดีเลย จะไปขออะไรที่ Innocent อย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าอยากได้พร “อย่าทำความชั่ว ทำความดีเอาไว้ ฝึกจิตฝึกใจของตัวเองจนสะอาดผ่องแผ้ว” นั่นล่ะคือพรสูงสุดของพวกเราชาวพุทธ ฉะนั้นวันนี้เทศน์รับส่งท้ายปีเก่าให้ฟัง ไปสร้างพรให้ตัวเอง

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 ธันวาคม 2566