สร้างตัวเองให้เป็นพระ

วันนี้วันอาสาฬหบูชา ก็จัดฟังธรรมเป็นพุทธบูชา เป็นเครื่องระลึกถึงวันสำคัญ เป็นวันแรกของปฐมเทศนา เป็นวันแรกที่เกิดพระอริยสาวกขึ้น ฉะนั้นเป็นวันสำคัญของชาวพุทธที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีครบในวันนี้ ธรรมะกัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้า ท่านสอนนักปฏิบัติ สอนสำหรับนักปฏิบัติ ท่านสอนปัญจวัคคีย์ ท่านเหล่านี้เป็นนักปฏิบัติทั้งหมด

การปฏิบัติท่านเลยเริ่มต้นว่า สิ่งที่ผิด ก่อนจะก้าวไปถึงสิ่งที่ถูก ท่านสอนให้รู้จักสิ่งที่ผิดก่อน สิ่งที่ผิดสำหรับนักปฏิบัติมี 2 อย่าง อันหนึ่งก็คือการย่อหย่อน ตามใจกิเลส อย่างพวกเราถึงจะเป็นพระหรือเป็นฆราวาสก็ตาม ถ้าหากเราอยากปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จริงๆ เราจะดำรงชีวิตแบบตามใจกิเลสไม่ได้ มันไม่ได้ธรรมะ ฉะนั้นจะต้องพยายามฝึกตัวเอง อย่าไปหลงกับโลก โลกไม่มีอะไร โลกหอมหวานในเบื้องต้น แล้วก็เจ็บช้ำขมขื่นในเบื้องปลาย ไม่มีอย่างอื่น ไม่ว่าในโลกจะดีวิเศษแค่ไหน เราได้มา ถึงจุดหนึ่งเราก็เสียไป ไม่มีอะไรยั่งยืนจริง

ทีนี้เวลาเราหลงโลก ก็ตะเกียกตะกายวิ่งหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่สัมผัสกาย หาเรื่องราวทางใจที่สนุกสนาน เพลิดเพลิน ถ้าเรายังเพลิน ยังหลงโลกอย่างนี้ เราไม่ใช่นักปฏิบัติที่แท้จริง ฉะนั้นเราต้องเสียสละ การที่เสียสละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อะไรทั้งหลาย มันคือการสร้างเนกขัมมบารมี การออกจากกาม อย่างถ้าเป็นพระก็ออกจากกามแล้วไม่มีความสุขแล้ว ในเรื่องการหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาสัมผัส ความสุขอย่างนั้นมันเป็นความสุขที่เจือด้วยความเร่าร้อน ได้มาไม่นานก็เสียไป ทีนี้ถ้าเรามีสติ มีปัญญา เรามีความฉลาดจริง เราอย่าไปหลงกับโลก อาศัยอยู่กับโลก ก็อยู่กับมันอย่างรู้เท่าทันมัน

อีกสิ่งหนึ่งที่นักปฏิบัติจะต้องไม่ทำคือ การทำตัวเองให้ลำบาก การกดข่ม บังคับกาย บังคับใจ นี้นักปฏิบัติร้อยละร้อยเริ่มต้นด้วยการบังคับตัวเองทั้งนั้น เหมือนกันหมด เริ่มจากการกดข่มบังคับตัวเอง อย่างเวลาเราคิดถึงการภาวนาเมื่อไร เราก็จะเริ่มบังคับตัวเอง บังคับร่างกาย อย่างคิดถึงอานาปานสติก็เริ่มบังคับการหายใจของตัวเอง จะเดินจงกรมก็เริ่มบังคับท่าทางในการเดิน บังคับไปหมด พอบังคับร่างกายเรียบร้อยแล้วก็เริ่มบังคับใจ ทำใจให้นิ่งๆ ให้ผิดธรรมชาติธรรมดา พอบังคับอย่างนั้น ใจจะเครียด ใจเคร่งเครียด ใจไม่มีความสุข ใจไม่มีความสุขสมาธิไม่เกิด

ทีนี้บางคนฟังถึงตรงนี้จะสงสัย การที่เราตามใจกิเลสมันเกิดความสุขก็น่าจะได้สมาธิสิ ตามใจกิเลสไปมันไม่ยั่งยืนอะไรหรอก มีความสุขประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็ฟุ้งซ่าน แสวงหากาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์อันอื่นต่อไปอีก แสวงหาต่อไปอีก ฉะนั้นการย่อหย่อนไม่ทำให้เกิดสมาธิ เพราะมันฟุ้งซ่าน ในขณะที่การบังคับกดข่มจิตใจตัวเอง บังคับร่างกายตัวเองอยู่ เครียดไปหมด ไม่มีความสุข ก็ไม่เกิดสมาธิเหมือนกัน แต่ถ้าเทียบ 2 อย่างระหว่างการควบคุมตัวเองกับการปล่อยตัวตามกิเลส การควบคุมตัวเองถือว่าดีกว่า การที่เราบังคับควบคุมตัวเองเรามีโอกาสที่จะไปสุคติ แต่ไม่ไปนิพพานหรอก แต่ว่าไปสุคติได้ แต่การตามใจกิเลสไปทุคติ ฉะนั้นระหว่างความผิด 2 ด้าน ตึงไว้ก่อนดีกว่าหย่อน แต่ถ้าตึงก็ได้สุคติ แต่ไม่ได้มรรคผลนิพพานหรอก

พระพุทธเจ้าท่านเริ่มจาก 2 สิ่งนี้ ท่านเริ่มจากว่ามีธรรมะ 2 อย่างที่บรรพชิตไม่ควรเสพ คือผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควรเสพ จริงๆ บรรพชิตท่านหมายถึงตัวปัญจวัคคีย์ ท่านเป็นนักบวช พวกเราส่วนใหญ่ก็เป็นฆราวาส แต่ถ้าเราตั้งใจจะปฏิบัติจริง เราบวชใจของเรา ตั้งใจให้ดี อย่างน้อยเราบวชใจของเราด้วยศีล 5 เราตั้งใจว่าเราจะไม่หลงโลก เราจะพากเพียรภาวนาไปเพื่อวันหนึ่งจะได้ถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น ฆราวาสก็ทำได้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ ในสมัยพุทธกาลฆราวาสได้ธรรมะเยอะแยะไป สมัยนี้มีหรือเปล่าเราตอบไม่ได้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ที่จะพยากรณ์ให้แล้ว เราก็ได้แต่คาดเดา อย่างหลวงพ่อเคยเห็นคลิปอันหนึ่ง จัดลำดับพระอรหันต์ในยุคนี้ เราเห็นแล้วยังขำไม่เลิกเลย เอาอะไรมาจัด เอากิเลสของตัวเองมาจัดลำดับพระอรหันต์หรือ ทำไม่ได้จริงหรอก ก็มั่วๆ เอา ชอบพระองค์ไหนก็ตั้งองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ไป ใช้ไม่ได้ ยุคนี้ไม่มีใครชี้ขาด เอาธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามาชี้ขาด แล้ววิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง เราไปรู้ของคนอื่นไม่ได้หรอก ยกเว้นแต่เราภาวนา เรารู้แล้วว่าเราลดละกิเลสอะไรไปได้เด็ดขาดแล้ว กิเลสที่เราล้างเด็ดขาดแล้วมันจะสะท้อนภูมิจิตภูมิธรรมของเรา แล้วเราจะสามารถรู้คนที่เสมอกับเราหรือต่ำกว่าเราได้ ถ้าสูงกว่าเรา ดูไม่ออก

 

มรรคมีองค์ประกอบ 8 ประการ

ทีนี้ถ้าเราอยากจะพ้นทุกข์ เราก็ไม่ทำ 2 อย่างที่พระพุทธเจ้าห้าม แล้วมาทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนให้ทำ คือการเจริญอริยมรรค อริยมรรคมีหนึ่งเดียว ก็คืออริยมรรค แต่มีองค์ประกอบ 8 ประการ เราชอบเรียกแบบมักง่ายว่า มรรค 8 มรรคนั้นเป็นหนึ่ง แต่มีองค์ประกอบ 8 ประการ พระพุทธเจ้าแสดงอริยมรรคมีองค์ประกอบ 8 ประการให้ปัญจวัคคีย์ฟัง

เริ่มต้นท่านสอนเรื่องสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิคือความรู้ถูกความเห็นถูก เพราะฉะนั้นก่อนที่จะลงมือปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จริงๆ ต้องรู้ถูกเห็นถูกก่อน รู้ทฤษฎีก่อน คำว่า สัมมาทิฏฐิ แปลว่าทฤษฎีที่ถูกต้อง คำว่า ทิฏฐิ เป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตใช้คำว่า ทฤษฎี เราจะใช้ภาษาไทยเราใช้ทั้งคำว่า ทิฏฐิ ทั้งคำว่า ทฤษฎี ตัวสัมมาทิฏฐิ ก็คือทฤษฎีที่ถูกต้อง

ท่านสอนว่าเราต้องรู้ทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ก็คือรูป นาม กาย ใจ ให้รู้ทุกข์ รู้รูป รู้นาม รู้กาย รู้ใจของเรานี้ เมื่อเรารู้ทุกข์แล้วต่อไปจะเห็นความจริงของทุกข์ ว่าตัวรูป นาม กาย ใจ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง มีอยู่เพราะมีเหตุ หมดไปเพราะเหตุมันหมดไป จะเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเราต้องรู้ว่างานที่เราจะต้องทำคืองานรู้ทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร จะละสมุทัยอัตโนมัติ ละสมุทัยเมื่อไรจะแจ้งนิโรธ คือพระนิพพานอัตโนมัติ ในขณะที่แจ้งนิโรธ แจ้งนิพพาน ในขณะที่รู้ทุกข์ ละสมุทัยนั้น อริยมรรคจะเกิดขึ้น เป็นการเจริญมรรค ฉะนั้นกิจทั้ง 4 ของอริยสัจเราสามารถทำให้จบได้ในขณะจิตเดียว ถ้าเมื่อไรรู้ทุกข์ เมื่อนั้นละสมุทัย เมื่อไรละสมุทัย เมื่อนั้นแจ้งนิโรธ เมื่อไรแจ้งนิโรธ เมื่อนั้นเกิดอริยมรรค

ท่านสอนอย่างนี้ ให้รู้ทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ไม่ใช่อกหักรักคุดเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตกงานเป็นทุกข์ คำว่า ทุกข์ในที่นี้ เขาเรียกทุกขสัจ ไม่ใช่ทุกขเวทนา เจ็บป่วยปวดนู่นปวดนี่ อันนั้นทุกขเวทนา ทุกขสัจก็คือสิ่งที่เรียกว่ารูปธรรม นามธรรม ขันธ์ 5 ของเรานี้ เรียกว่าทุกขสัจ ตัวทุกขสัจ ตัวขันธ์ 5 เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมะ หน้าที่ของเราก็ต้องมาเรียนรู้ทุกข์ วิธีเรียนรู้ทุกข์เรียกว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน พอเรารู้แล้วว่าเราจะต้องรู้ทุกข์ คือเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ เราก็พัฒนาตัวเองต่อไป

พอเรารู้ถูกแล้ว เวลาเราคิดเราจะคิดถูก เพราะฉะนั้นสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิเบื้องต้นเนี่ยเป็นสัมมาทิฏฐิในภาคปริยัติ อย่างเราฟังหลวงพ่อเทศน์เนี่ยเป็นสัมมาทิฏฐิในภาคปริยัติ พอเราเรียนรู้ทฤษฎีที่ถูกแล้ว เวลาเราคิดอะไร เรามีสติกำกับใจของเราไว้ คนทั่วไปมันจะเป็นเราคิด ถ้าเราเคยฟังธรรมมาแล้ว มันจะไม่ใช่เราคิด มันจะเป็นขันธ์ 5 มันคิด ตัวนามธรรมมันคิด ตัวใจมันคิด รู้อย่างนี้ว่าใจมันเป็นตัวคิด คอยรู้เท่าทันใจของตัวเองไป

เวลาความคิดเกิดขึ้น มันจะคิดถูก มันจะคิดด้วยความมีสติ ไม่ใช่คิดด้วยราคะ ไม่ใช่คิดด้วยโทสะ ไม่ได้คิดด้วยโมหะ การคิดด้วยราคะ เรียกว่ามีกามวิตก คิดไปด้วยราคะ ถ้าคิดด้วยโทสะ เรียกพยาบาทวิตก ถ้าคิดด้วยโมหะ เรียกว่าวิหิงสาวิตก ฉะนั้นการคิดถูกเรียกว่าสัมมาสังกัปปะ คือคิดโดยไม่มีกิเลสเจือปน ไม่ได้คิดตามอำนาจของราคะ โทสะ โมหะ แต่คิดไปด้วยสติสัมปชัญญะ คอยดูแลรักษาใจเรา

ฉะนั้นเวลาพวกเราจะเริ่มปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่สังเกตใจตัวเอง ใจมันช่างคิด ไม่ห้าม ใจจะคิดก็ให้ใจคิดไป แต่พอใจมันคิดแล้ว มันคิดด้วยราคะ ให้เรารู้ทัน มันคิดด้วยโทสะ ให้เรารู้ทัน มันคิดด้วยโมหะ ความหลงผิด ให้เรารู้ทัน ฉะนั้นเวลาเรา เรามีความเห็นถูก เรามีความคิดถูกแล้ว คำพูดของเรามันจะถูก พอเรามีความเห็นถูก มีความคิดถูก คำพูดของเราก็จะถูก ฉะนั้นพอเรามีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะแล้ว สัมมาวาจาก็จะเกิดขึ้น

แต่เดิมเวลาจะคิด เวลาคิดผิด เวลาเห็นผิด คิดผิด มักจะพูดผิดๆ พูดทีไรก็เป็นกูพูดทุกที แล้วก็พูดเจือด้วยราคะ โทสะ โมหะ ฉะนั้นจุดสำคัญอยู่ที่การดูแลจิตใจของเรา มีสติรู้เท่าทันจิตใจของเรา ถ้าเรามีสติรู้เท่าทันจิตใจของเรา เวลาจิตใจเราหลงผิด เกิดความเห็นผิดขึ้นมาว่ามีตัวเราจริงๆ แล้วรู้ทันมันเข้าไป เวลามันคิดผิดๆ ก็รู้ทันมันเข้าไป แล้วเวลามันจะพูด อยู่ๆ มันพูดไม่ได้ คำพูดมันมาจากความคิดอีกทีหนึ่ง ถ้าความคิดถูก คำพูดก็ถูก ถ้าหากความเห็นก็ถูก ความคิดก็ถูก คำพูดก็ถูก การกระทำของเราก็จะถูก สัมมากัมมันตะก็จะเกิดขึ้น

มันเริ่มมาจากมีสัมมาทิฏฐิ แล้วก็พัฒนามีสติคุ้มครองดูแลจิตไป ก็จะเกิดความคิดถูก มีเห็นถูก คิดถูก คำพูดถูก การกระทำของเราก็จะถูก เพราะการกระทำของเราทางร่างกายนี่จิตเป็นคนสั่งให้ทำ ทีนี้เวลาจิตมันสั่งให้ทำ มันก็เป็นคำพูดในใจของเราขึ้นมา เวลาจิตมันคิด มันเป็นคำพูดในใจ นี้คำพูดในใจเราก็มีสติรู้เท่าทัน อย่าว่าแต่คำพูดที่ออกจากปากเลย คำพูดในใจเรายังถูกต้องเลย การกระทำทั้งหลายมันทำเพราะใจสั่ง มันก็จะกระทำที่ถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้องจะทำไม่ผิดศีล 5 ถ้าทำผิดศีล 5 เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เป็นการกระทำที่เบียดเบียนตัวเอง เบียดเบียนผู้อื่น ฉะนั้นเวลาเราทำผิดศีล มันคือการเบียดเบียนตัวเองเบียดเบียนผู้อื่น ใช้ไม่ได้

ถ้าความเห็นเราถูก ความคิดเราถูก คำพูดเราถูก การกระทำเราถูก สัมมาอาชีวะคือการเลี้ยงชีวิตก็จะถูกไปด้วย มันทำผิดไม่ได้ เลี้ยงชีวิตผิดไม่ได้ อย่างพวกเราบางคนยังทำงาน อย่างสมมติทำบ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาอะไรอย่างนี้ เพราะแต่เดิมเราคิดว่าดี รวย ทีนี้ต่อมาเรารู้ เราได้ฟังธรรม เรารู้อย่างนี้ยังเป็นมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงสัตว์เพื่อให้เขาเอาไปฆ่า พอเรารู้ถูก เราก็มีความเห็นถูกแล้ว ความคิดของเราก็ถูกว่าทำอย่างไรมันจะเลิกได้ ก็ค่อยๆ คิดหาวิธี ในที่สุดการทำมาหากินของเรามันก็สะอาดหมดจดมากขึ้นๆ ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ อาศัยสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้นจากการฟังธรรมะก็รู้ว่าเราจะต้องคอยระแวดระวังไม่ให้กิเลสครอบงำใจเรา ความคิดก็ถูก คำพูดก็ถูก การกระทำก็ถูก การเลี้ยงชีวิตก็ถูก

เรามีพื้นฐานที่ดีสำหรับการปฏิบัติแล้ว ต่อไปสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือความเพียรที่จะลดละกิเลส ความเพียรที่จะเจริญกุศล มันจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะเรารู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดแล้ว เราก็จะไม่อยากทำสิ่งที่ผิด เราอยากทำสิ่งที่ถูก สัมมาวายามะ คือความเพียรชอบก็จะเกิดขึ้น สิ่งที่เรียกว่าสัมมาวายามะ ก็คือความเพียรทำลายอกุศลที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญงอกงามขึ้น ความเพียรอันเนี้มันจะมีอัตโนมัติ ถ้าเราได้สะสมมาตั้งแต่มีความเห็นถูก ความคิดถูก คำพูดถูก การกระทำถูก การเลี้ยงชีวิตถูก แล้วมันจะลดละอกุศลไป มันเจริญกุศลขึ้นมาเรื่อยๆ การที่เราคอยลดละอกุศล คอยเจริญกุศลต้องอาศัยสติ ฉะนั้นเวลาเราอ่านจิตอ่านใจตัวเองบ่อยๆ อกุศลเกิดแล้วรู้ทัน กุศลเกิดแล้วรู้ทัน หัดรู้บ่อยๆ ไป มันจะเป็นการลดละกิเลสโดยอัตโนมัติ เป็นการเจริญกุศลโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นสัมมาวายามะก็จะค่อยๆ พอกพูนขึ้นมา สติของเราก็จะค่อยๆ ดีขึ้น สัมมาวายามะที่สมบูรณ์จะทำให้สัมมาสติสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นกิเลสอะไรเกิดเรารู้ทัน กุศลอะไรเกิดเราก็รู้ทัน สติก็จะสมบูรณ์มากขึ้นๆ ในที่สุดสัมมาสติก็จะสมบูรณ์ ฉะนั้นจิตเราเกิดกุศล เราก็รู้ เกิดอกุศล เราก็รู้ เกิดอะไรขึ้นกับจิตใจ เราก็รู้

การที่เราคอยรู้เท่าทันไปเรื่อยๆ เรียกว่าเราเจริญสัมมาสติอยู่ สัมมาสติที่บริบูรณ์จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ อย่างจิตเราโกรธขึ้นมา เรามีสติรู้ว่าจิตโกรธ ทันทีที่รู้ว่าจิตโกรธ สติเกิดแล้ว ทันทีที่สติเกิด ความโกรธจะดับอัตโนมัติ จิตจะดีดตัวผางตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ จิตจะทรงสมาธิที่ถูกต้องขึ้นโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นถ้าเมื่อไรมีสัมมาสติ เมื่อนั้นก็จะมีสัมมาสมาธิขึ้นมา แต่ถ้าเป็นมิจฉาสติก็ไม่มีสัมมาสมาธิ

พวกที่เรียนอภิธรรม บางทีก็จะบอกว่าสติเป็นธรรมะที่ดี เพราะฉะนั้นไม่มีมิจฉาสติ คำว่ามิจฉาสติ หลวงพ่อไม่ได้พูดเอง ในพระไตรปิฎกมีคำว่ามิจฉาสติ คือสติที่ไม่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ สติที่ไม่ประกอบด้วยสัมมาสมาธิ ฉะนั้นอย่างเรานั่งทำกรรมฐานเพ่งอยู่ที่ท้อง สงบอยู่ที่ท้อง มีสติอยู่ที่ท้อง แต่จิตไม่ได้ตั้งมั่น ไม่ได้มีสัมมาสมาธิขึ้นมา แล้วก็ไม่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ไม่รู้ว่าเราควรจะรู้ทุกข์ กลายเป็นเพ่งทุกข์ ไม่ใช่รู้ทุกข์แต่เพ่งทุกข์ อย่างเราเพ่งท้องหรือเพ่งลมหายใจ ไม่ใช่รู้ลมหายใจ มันคือการเพ่งลมหายใจ ระหว่างรู้กับเพ่งไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นสติที่ไปเพ่ง จิตเป็นกุศล แต่ไม่ใช่กุศลชนิดที่จะพาเราไปบรรลุมรรคผลนิพพาน ฉะนั้นเราอย่าไปเพ่งเอา เราแค่รู้สึกเอา ระลึกรู้ ระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจ ถ้าเพ่งกาย ถ้าเพ่งใจ อันนั้นคืออัตตกิลมถานุโยค คือส่วนที่ตึงเกินไป ฉะนั้นท่านเริ่มต้นมาสอนสิ่งที่หย่อนไป สิ่งที่ตึงไป เพื่อเราจะได้ไม่ไปหลงทำอัตตกิลมถานุโยค บังคับตัวเอง ทำแล้วเครียด

แค่รู้สึก เรามีสติ ระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจ อย่างร่างกายเราขยับอย่างนี้ สติระลึกรู้ ปั๊บ จิตผู้รู้จะเกิดขึ้น สัมมาสมาธิจะมี จิตผู้รู้คือจิตที่ประกอบด้วยสัมมาสมาธิ จิตผู้รู้ไม่ใช่ตัวสัมมาสมาธิ แต่จิตผู้รู้คือ จิตที่ประกอบด้วยสติ ประกอบด้วยสมาธิที่ถูกต้อง เมื่อไรเรารู้สภาวธรรมถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เมื่อนั้นสัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

สภาวธรรมที่เกิดบ่อยที่สุดคือหลง ตัวโมหะ ตัวหลงคิด เกิดบ่อยที่สุด ฉะนั้นส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์ ท่านจะมุ่งมาที่ตัวหลงคิด เช่น ให้เราพุทโธ เป็นการจงใจคิดคำว่าพุทโธ เมื่อเราจงใจคิดคำว่าพุทโธอยู่ แล้วเวลาเราหลง มันจะลืมพุทโธ มันจะไปคิดเรื่องอื่น เราก็จะรู้ได้เร็ว “เอ้า หลงไปคิดเรื่องอื่น ลืมพุทโธแล้วนี่” สติก็จะค่อยๆ เร็วขึ้นๆ ต่อไปพอหลงปุ๊บสติเกิดปั๊บ หลงปุ๊บสติเกิดปั๊บ ทันทีที่สติรู้เท่าทันว่าหลงอยู่ จิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ สัมมาสมาธิจะเกิดขึ้น นี้สติเกิดเป็นขณะ สัมมาสมาธิก็มีเป็นขณะๆ ไป

ค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ ต่อไปมันแก่กล้าขึ้น บางคนเข้าถึงอัปปนาสมาธิได้เลย บางคนก็ได้อุปจารสมาธิ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ก็จะได้ขณิกสมาธิ ได้สมาธิเป็นขณะๆ รู้สึกขึ้นมา รู้เท่าทันสภาวะแล้วก็รู้สึกตัวขึ้นมา อยู่ชั่วขณะ หลงใหม่ หลงใหม่มีสติรู้ สติรู้ปุ๊บ ความรู้สึกตัวที่ตั้งมั่นจิตที่ตั้งมั่นทรงสัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้น

ฉะนั้นตัวสัมมาสมาธิมันจะมีได้มันต้องมีสัมมาสติที่ถูกต้อง สัมมาสติจะมีได้ต้องมีสัมมาวายามะ สัมมาวายามะจะมีได้ก็ต้องมีสัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะจะมีได้ก็ต้องมีสัมมากัมมันตะ สัมมากัมมันตะจะมีได้ก็ต้องมีสัมมาวาจา สัมมาวาจาจะมีได้ก็ต้องมีสัมมาสังกัปปะ การคิดถูก ไม่ได้คิดไปตามอำนาจกิเลส สัมมาสังกัปปะจะมีได้นะ เราต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีทฤษฎีที่ถูกว่าต่อไปนี้เราจะเรียนรู้เท่าทันโดยเฉพาะการรู้เท่าทันจิตใจตนเอง ถ้ามีกิเลสแล้วรู้ทันไป แล้วสุดท้ายสิ่งที่เราได้คือตัวสัมมาสมาธิ

พระพุทธเจ้าท่านสอนบอกสัมมาสมาธิเป็นภาชนะที่รองรับองค์มรรคทั้ง 7 เป็นที่ประชุมขององค์มรรคทั้ง 7 เหมือนเป็นภาชนะเป็นที่รวมเครื่องแกง 7 อย่างอยู่ด้วยกัน ฉะนั้นองค์มรรคทั้ง 7 จะรวมเข้าด้วยกันเมื่อเรามีสัมมาสมาธิ ฉะนั้นสัมมาสมาธิเป็นที่ประชุมขององค์มรรคที่เหลือ คนโบราณเลยสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาเป็นรูปพระนาคปรก พระนาคปรกเป็นพระนั่งสมาธิอยู่ตรงกลาง ข้างบนมีเศียรนาค นาคต้องมี 7 เศียร ก็คือองค์มรรค 7 องค์ ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ นี่คือหัวของนาค 7 หัว แล้วก็สัมมาสมาธิอยู่ตรงกลางเป็นที่รวม นาคมี 7 หัวแต่มีคออันเดียวรวมลงมาที่องค์พระ นี่คือสัญลักษณ์สอนเรื่องอริยมรรคมีองค์ 8 ไม่ใช่วาดปั้นขึ้นมาส่งเดช เขาปั้นด้วยเหตุด้วยผลแล้วภูมิปัญญาของคนรุ่นหลังมันไม่พอ คิดถึงว่าพญานาคมาแผ่พังพานกันพระพุทธเจ้าไม่ให้ถูกฝน พญานาคก็คือองค์มรรคทั้ง 7 นั่นเองกั้นสัมมาสมาธิไม่ให้ถูกรบกวนด้วยกิเลส ฝนก็คือตัวกิเลสที่มารบกวนจิตใจของเราให้กระฉอกไปกระฉอกมา

เมื่อเรามีสัมมาสมาธิที่เกิดขึ้นแล้ว ประกอบด้วยองค์มรรคที่เหลือแล้ว อริยมรรคจะเกิดขึ้น มรรคทั้งหลายที่หลวงพ่อพูดมาตั้งแต่ต้นยังมิใช่อริยมรรค แต่เป็นมรรคเบื้องต้นเรียกว่าบุพภาคมรรค เป็นเบื้องต้นแห่งอริยมรรค เวลาที่อริยมรรคเกิดขึ้น มันเกิดจากการที่เรารู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ แล้วเกิดอริยมรรคขึ้นในขณะจิตเดียว เกิดในขณะจิตเดียวด้วยกำลังของสัมมาสมาธิ

ฉะนั้นบางคนบอกไม่สนใจเรื่องสมาธินี่อาภัพที่สุดเลย ไม่สนใจเรื่องสมาธิมี 2 แบบ แบบหนึ่งไม่ทำสมาธิเลย เอะอะก็จะเจริญปัญญาเลย ไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง เจริญให้ตายไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา อริยมรรคไม่เกิด ได้แต่มิจฉาทิฏฐิว่ากูเก่งๆ อีกพวกหนึ่งทำสมาธิ แต่ไปทำมิจฉาสมาธิ เพ่งจิตให้นิ่งๆ ให้สงบ ให้เคลิ้มๆ ให้เห็นโน่นให้เห็นนี่ มิจฉาสมาธิไม่ทำให้เกิดอริยมรรค ต้องเป็นสัมมาสมาธิเท่านั้นถึงจะทำให้เกิดอริยมรรค เพราะฉะนั้นบางคนไม่เอาสมาธิเลยก็ใช้ไม่ได้ บางคนเอาสมาธิ ฝึกสมาธิแต่ฝึกมิจฉา ฝึกเพ่ง เพ่งๆ ๆ ๆ ไปเรื่อยๆ ก็ใช้อะไรไม่ได้

ตัวสมาธินี่หลวงพ่อเล่นมาแต่เด็กตั้งแต่ 7 ขวบ นี้ฝึกหายใจเข้าหายใจออก พุทโธ แต่แรกหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ นับ 1 หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ นับ 2 นับไปเรื่อยๆ พอจิตมันเริ่มสงบการนับหายไป เหลือแต่หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ พอสงบมากขึ้น พุทโธหายไป เหลือแต่หายใจ พอสงบมากขึ้น ลมหายใจหายไป กลายเป็นแสงสว่าง เป็นนิมิต นิมิตแสงสว่าง ทีนี้เราไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่มีทฤษฎีชี้นำที่ถูก แทนที่เราจะน้อมสมาธิกลับเข้ามาเรียนรู้รูป นาม กาย ใจ ขันธ์ 5 กลับปล่อยใจตามแสงสว่างออกไป ไปเที่ยวสวรรค์ ไปดูเทวดา ไปดูโน่นไปดูนี่ ไม่ได้ดูรูปนาม เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่จะเกิดอริยมรรคเลย เป็นความหลงผิดของจิต ค่อยฝึกไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งสติปัญญามันเตือนหลวงพ่อว่าออกข้างนอก มันน่าจะไม่ถูกหรอก ไปเห็นเทวดา เราก็อยู่กับเทวดาไม่ได้ เห็นวิมาน ก็อยู่กับเขาไม่ได้ เห็นอาหารเทวดาก็กินกับเขาไม่ได้ เห็นดอกไม้ สวนดอกไม้ของเขา ได้แต่ดู ก็ไปเด็ดดอกไม้เขาสักดอกหนึ่ง ก็เด็ดไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้สักอย่างหนึ่ง แล้วมีประโยชน์อะไร มันคล้ายๆ เราไปเที่ยวบ้านเศรษฐี เราไม่ใช่เศรษฐีแต่เราไปเที่ยวบ้านเขา ยิ่งตอกย้ำความอนาถาของตัวเองเข้าไปอีก แล้วก็ยังคิดว่าออกไปแล้วไปเจอเทวดายังไม่กลัว ถ้าไปเจอผีนี่กลัว กลัวว่าใจจะไปเที่ยวนรก

ฉะนั้นหลวงพ่อพยายามเพิ่มสติขึ้น เวลาหายใจพอใจมันสว่างว่าง สว่างแล้ว จะไม่ปล่อยให้ใจเคลิ้ม จะรักษาสติคุ้มครองรักษาจิตอยู่ตลอดสายของการปฏิบัติเลย ในที่สุดมันก็ย้อนลงมาที่กาย เห็นตั้งแต่ผม ผมก็สลายไป เห็นหนังศีรษะ หนังศีรษะสลาย เห็นหัวกะโหลก หัวกะโหลกสลาย เห็นร่างกายทั้งร่างกายเนี่ย เนื้อหนังมังสาอะไรสลายไปหมด เหลือกระดูก ดูกระดูกลงไป กระดูกระเบิดด้วยกำลังของสมาธิ กระดูกระเบิดเป็นก้อนกรวดเล็กๆ อยู่ที่พื้นใสๆ ดูต่อไป ก้อนกรวดที่เกิดจากกระดูกเราสลายต่อไปกลายเป็นคลื่นแสง แสงไม่ใช่ตรงๆ แสงเป็นคลื่น คลื่นของแสงสลายไป สลายกลืนเข้ากับจักรวาล พอร่างกายหายไปหมด เหลือแต่จิตดวงเดียว เพราะสติยังอยู่ สติเราเข้มแข็ง พอกลับมามีร่างกายปุ๊บ หลวงพ่อเห็นแล้วว่ากายกับจิตนี้คนละอันกัน แต่ตอนนั้นมันเด็ก มันบรรยายไม่ถูกหรอก แล้วก็ยังไปหลงคิดว่าคนอื่นเขาก็รู้สึกเหมือนเราเหมือนกัน เห็นว่าร่างกายก็อยู่ส่วนหนึ่ง ใจเป็นคนดูอยู่ส่วนหนึ่ง สุข ทุกข์ ดี ชั่ว อยู่ส่วนหนึ่ง ใจเป็นคนดู ไม่รู้ว่านี่คือการแยกรูปแยกนาม ไม่รู้ เพราะว่าไม่ได้เรียนปริยัติแล้วก็ไม่มีครูบาอาจารย์สอน คลำๆ มาเรื่อยๆ

เริ่มต้นท่านพ่อลี ท่านสอนอานาปานสติให้แล้วหลวงพ่อคลำมา จนกระทั่งแยกผู้รู้ออกมาได้ ไปเจอครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ท่านทรงฤทธิ์ทรงอภิญญา อย่างหลวงปู่สิม เจโตปริยญาณท่านไวที่สุดที่หลวงพ่อเคยเห็นเลย หลวงปู่สิมท่านเห็นหลวงพ่อ ท่านเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ๆ ผู้รู้ทำอย่างนี้ ผู้รู้อย่าทำอย่างนี้ ท่านสอน ท่านไม่รู้จักชื่อ ท่านเลยตั้งฉายาให้เราว่า ผู้รู้ คนก็นึกว่าหลวงพ่อรู้อะไรเยอะแยะ หลวงพ่อไม่ได้รู้อะไรหรอก หลวงพ่อรู้สึกตัว เห็นรูปนามมันทำงานไป

ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าตรงนี้สำคัญ ก็ไม่รู้ว่าสำคัญ ไม่มีใครสอน ปริยัติก็ไม่ได้เรียน คลำไปไม่ได้ คลำไปได้แค่ตัวผู้รู้ จิตทรงสมาธิแล้ว ไปเจอหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนต่อให้ ท่านให้เจริญปัญญาโดยการเห็นจิตมันเกิดดับไป ให้ดูจิต ทีแรกเข้าใจผิด ท่านให้ดูจิต หลวงพ่อไปดูตัวผู้รู้ รักษาตัวผู้รู้ไว้ ก็ไปบอกท่านว่าผมดูจิตได้แล้ว ท่านบอกยังไม่ใช่หรอก อันนั้นแทรกแซงจิต จิตมีหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง เราไปทำซะนิ่งเลย ทำซะนิ่งซะว่าง ทำผิด ไปทำใหม่ พอท่านบอกผิด เราก็เลยสังเกต ทำไมผิด ท่านบอกว่าเราไปแทรกแซง ฉะนั้นต่อไปนี้ไม่แทรกแซง จิตเป็นอย่างไรจะรู้ว่าเป็นอย่างนั้น ดูอยู่ไม่นานก็เข้าใจ ว่าจิตมันก็ไม่ใช่ตัวใช่ตนอะไรของเราหรอก ตัวตนอะไรก็ล้วนแต่ของเกิดแล้วดับทั้งสิ้น พึ่งพาอาศัยอะไรไม่ได้จริงหรอก นี่เรียกว่าเรารู้ทุกข์แล้ว รู้ทุกข์คือรู้ความจริงของขันธ์ 5 ก็ค่อยๆ ฝึกมาเรื่อยๆ ใจมันก็เข้าสู่ความสงบร่มเย็นมาเป็นลำดับๆ

พวกเราฟังแล้วอย่าฟังเปล่าๆ เอาไปปฏิบัติ อ่านจิตอ่านใจตนเองไป มีกิเลสอะไรเกิดขึ้นคอยรู้ทันไป อย่าตามใจ อย่าหลงโลก หรืออย่าบังคับกาย บังคับใจให้นิ่ง ดูกายอย่างที่กายเป็น ดูใจอย่างที่ใจเป็น อย่าหลงโลก แล้วก็ดูกายดูใจอย่างที่มันเป็น ศีล 5 รักษาเอาไว้ ฝึกอย่างนี้ ไปฝึกทุกวันๆ แบ่งเวลาปฏิบัติในรูปแบบไว้ สมาธิมันจะได้เข้มแข็ง ทำในรูปแบบก็อยู่กับเครื่องอยู่ อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ อยู่กับการเคลื่อนไหวร่างกาย อะไรก็ได้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง สมาธิมันจะเพิ่มขึ้น ในที่สุดพอสติระลึกรู้สภาวะปุ๊บ ตัวรู้มันจะดีดขึ้นมาเอง ขันธ์ 5 มันจะแยกอัตโนมัติ

พอขันธ์ 5 มันแยกได้ ก็จะเห็นขันธ์แต่ละขันธ์แสดงไตรลักษณ์ ตัวนั้นคือตัววิปัสสนากรรมฐาน ใช้เวลาไม่นาน ถ้าจิตเราถูก ทรงสมาธิที่ถูกต้องแล้ว การเจริญปัญญาไม่ยาวเท่าไร มรรคผลก็จะเกิด แล้วเราจะรู้ด้วยตัวเราเอง ไม่ต้องให้คนอื่นพยากรณ์ ที่เขาพยากรณ์หลวงพ่อไม่เชื่อหรอก ยังขำแทบตายเลย ทำเนียบพระอรหันต์รุ่นปัจจุบันที่ยังมีชีวิตอยู่ คิดเอาเอง ถ้ารุ่นก่อนๆ ครูบาอาจารย์ท่านบอก รุ่นหลังๆ นี่เริ่มมโนเอาแล้ว มโนเอาเอง

ฉะนั้นเราก็สร้างตัวเองให้เป็นพระ ภาวนาไปจนเป็นพระอริยะขึ้นมา แล้วเรารู้เองว่าเราล้างกิเลสไปแล้ว

หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
5 กรกฎาคม 2563 (วันอาสาฬหบูชา)