ทำกรรมฐานที่เราทำได้

ตอนนี้เรื่องโรคระบาดในเมืองไทยเราก็ดีขึ้น ราชการทางหมอเขาก็ผ่อนปรนเยอะขึ้น เราก็ระวังตัวเอง โรคภัยไข้เจ็บนั้นมันกระทบร่างกาย และตัวร่างกายเรานี่เวลาเจ็บป่วยมาก ก็เป็นมาร

เวลาร่างกายมันเจ็บป่วยเรียก ขันธมาร เจ็บป่วยมากๆ ก็ตายเรียก มัจจุมาร สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องกีดขวางความเจริญก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าท่านถึงเตือนว่าความเพียรต้องเร่งทำเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้วันนี้ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ได้ เราไม่รู้ว่ามารจะขัดขวางเราเมื่อไหร่

 

ความเพียรต้องทำตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้

อย่างเราภาวนาของเราอยู่ เกิดโรคระบาดขึ้นมา ปุบปับตายไปไม่ได้ภาวนา เสียประโยชน์ไปชาติหนึ่ง เพราะความประมาทของเราเอง แต่ถ้าเราใช้ชีวิตของเราด้วยความมีสติทุกวันๆ สะสมคุณงามความดีของเราไป ชีวิตเราไม่ขาดทุน ฉะนั้นเราพยายามอย่าขี้เกียจ

มารมีส่วนทางกายกับทางใจ มารทางกายเป็นขันธมาร ส่วนใหญ่ก็มุ่งมาที่ร่างกายนี้ ถ้าพูดตามตำราก็ขันธ์ 5 มัจจุมารความตายตัดรอน ฉะนั้นความดีต้องทำตั้งแต่ตอนนี้

ส่วนมารทางใจมีกิเลสมาร เราสะสมกิเลสของเรามาเอง บางคนขี้โลภ บางคนขี้โกรธ บางคนขี้หลง สะสมของเรามา เวลามีกิเลส มันก็จะปรุงแต่ง พอใจมันดิ้นรนปรุงแต่งเรียก อภิสังขารมาร ตัวนี้ตัวร้ายเลย ปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง พาเราไปเกิดในภพภูมิต่างๆ ซึ่งมันมาจากกิเลส อภิสังขารมารก็เลยทำงานได้ ช่วยกัน

มีมารอีกตัวหนึ่งเรียก เทวปุตตมาร พวกจิตริษยา จิตขี้อิจฉา เห็นใครดีก็คอยแกล้ง บางทีก็แกล้งทางกาย แกล้งด้วยวาจา ปล่อยข่าว แกล้งทางใจ อันนี้สำหรับคนมีพลังจิต มันก็แกล้งกันทางใจได้ อย่างกระตุ้น พวกเรามันมีกิเลสอยู่แล้ว พวกมารขี้อิจฉามันก็กระตุ้นกิเลสของเราให้รุนแรงขึ้น

อย่างเราเป็นพระภาวนาก็กระตุ้นราคะ หรือเราอยู่ในหมู่คณะกระตุ้นโทสะเรา มันทำได้คล้ายๆ การสะกดจิตนั่นเอง ทีนี้พอถูกกระตุ้น ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตมันก็รุนแรงขึ้น ตัวอภิสังขารมารทำงานได้เต็มที่ขึ้น ถ้าเราดูให้ดีนักปฏิบัติหลายคนก็แพ้ตรงนี้เอง แพ้มาร บางคนภาวนากำลังจะดีแล้วปุบปับตายไป หรือเจ็บป่วยก็ถูกมารขัดขวาง

มาร มีมารภายในมารภายนอก มารภายนอกก็ตัวเทวปุตตมาร มารภายในก็ขันธ์ของเราเอง ความตายของเราเอง กิเลสของเราเอง ความดิ้นรนปรุงแต่งของเราเอง อย่างพระมาบวช บางทีขันธ์มันเบียดเบียน เจ็บป่วยที่นี่ก็มี ไม่สบายมากก็ต้องสึกออกไป อยู่วัดไม่ไหว อันนี้มีหลายองค์แล้ว เคยเป็น ถูกขันธมารมันเล่นงานเอา ส่วนมากก็เป็นเรื่องของกิเลสมารกับอภิสังขารมาร ความปรุงของตัวเองนั่นล่ะ เช่นปรุงราคะ เห็นโยมมาวัดดูเขามีความสุข ปลื้มอกปลื้มใจ อยากไปอยู่อย่างโลกๆ บ้าง อย่างนี้ก็มี บางทีก็ปรุงโทสะกับเพื่อนพระด้วยกัน บางทีเขาไม่ได้ทำอะไรเลย อยู่ๆ ก็โกรธเขา บางวัดถึงขนาดพระลุกขึ้นชกกัน วัดเรายังดีไม่มีถึงขนาดนั้น

นี่เรียกว่าเราแพ้กิเลส แพ้กิเลสก็ภาวนาต่อไปไม่ไหว อยู่ไม่ไหว ถ้าเป็นพระก็บอกผ้าเหลืองมันร้อนอยู่ไม่ไหวแล้ว เราก็ต้องตั้งอกตั้งใจนะว่าชีวิตเราไม่ได้ยืนยาว จะแตกดับเมื่อไหร่ไม่รู้ ความเพียรต้องทำซะตั้งแต่วันนี้ ต้องทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ อย่าผัดเด็ดขาด เราคอยผัดเอาไว้แก่ๆ แล้วค่อยทำ บางคนไม่ทันแก่มันก็ตายไปก่อน ฉะนั้นได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐแล้ว รีบเดินตามเส้นทางของท่าน

 

ทุกวันต้องตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้นะถ้าเป็นโยม เป็นพระก็รักษาศีล 5 ไว้ แล้วก็รักษาพระวินัย รักษาข้อวัตรทั้งหลายให้ดีที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นไปเพื่อความมีสติสัมปชัญญะ อย่างวินัยของพระควบคุมเข้มงวด ทำอะไรก็ถ้าขาดสติก็เสียหายได้ตลอดเวลา แค่เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ สรงน้ำ ขาดสติก็ไปยืนฉี่แล้ว ก็อาบัติ จะพาดผ้ากับราวตากผ้า ถ้าพาดไม่เป็นก็พาดคร่อมเข้าไป ก็อาบัติแล้ว พาดผ้าต้องสอดจากข้างหลังออกมาข้างหน้า กันผ้ามันถูกเสี้ยน ถูกหนามอะไรแบบนี้ข่วนขาด

ท่านสอนละเอียดมาก จะยืน เดิน นั่ง นอน จะกินอะไรนี่ ท่านสอนหมด ให้เรามีสติ ถ้าเรามีสติแล้วเราก็ปฏิบัติได้ไม่ด่างพร้อย อย่างบวชใหม่ๆ บางทีก็ลืมตัว ยืนฉันน้ำ ดื่มน้ำ ถ้าสติมันไม่ทัน ไม่มีสมณสัญญาว่าตอนนี้เราเป็นพระแล้ว ก็ขาดสติไป ก็ต้องฝึก

ทุกวันต้องตั้งใจ ตั้งใจไว้ก่อน รักษาศีลไป ทุกวันต้องแบ่งเวลาไว้ภาวนาในรูปแบบ ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด อย่างหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อทำสมถะด้วยอานาปานสติ หลวงพ่อเจริญวิปัสสนาด้วยจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นหลัก แต่หลวงพ่อสอนลูกศิษย์บางองค์หลวงพ่อก็ไม่ได้ให้ทำอานาปานสติ หรือให้หายใจแล้วบริกรรมกำกับเข้าไว้ด้วย

อานาปานสติแท้ๆ ทำยาก ละเอียด บางองค์หลวงพ่อให้ดูกายไปเลย ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน นี้บางคนได้ยินหลวงพ่อสอนบอกให้ดูกาย แล้วเกิดความสงสัยบอกกายานุปัสสนานี่เคยได้ยิน หลวงพ่อก็เคยพูดกายานุปัสสนาเหมาะกับสมถยานิก นี้เรายังไม่ได้เข้าฌานแล้วจะมาดูกายได้ยังไง เข้าฌานแล้วมาดูกายเพื่อให้เกิดปัญญา แต่การดูกายดูเข้าไปตรงๆ กับกาย อย่างกายคตาสติ ดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ทำให้ได้สมาธิ คนละส่วนกัน

ถ้าดูกายเพื่อให้ได้สมาธิ ไม่ใช่ว่าเข้าฌานแล้วก็มาดูกาย เพราะเรายังเข้าฌานไม่เป็น เราก็ดูกายไปเลย อย่างขณะนี้ร่างกายมันนั่ง ก็รู้ว่าร่างกายมันนั่งอยู่ ร่างกายมันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ร่างกายมันหายใจ ก็รู้สึกมันไป คอยรู้สึกอยู่ที่กายเรื่อยๆ จิตมันจะค่อยมีกำลังขึ้น สงบตั้งมั่นมีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา

ฉะนั้นบางองค์บางคนหลวงพ่อให้ดูกาย ก็อย่าไปเสียใจว่าทำไมหลวงพ่อไม่ให้ดูจิต จะดูจิตได้ก็ต้องมีกำลังของสมาธิมากพอ อาศัยสมาธิเบื้องต้นนั้นล่ะเป็นขณะๆ ไป ทีนี้ถ้าสมาธิเรายังไม่มีเลย ใจเราฟุ้งซ่านอะไรอย่างนี้มันดูจิตไม่ได้ จิตเป็นของละเอียด ถ้าสติเราไม่ดีพอ สมาธิเราไม่ดีพอเราดูจิตไม่ถูกหรอก หาไม่เจอ

 

ทำกรรมฐานที่เราทำได้

ฉะนั้นถ้าเราดูจิตไม่ได้ เบื้องต้นดูกายไปก่อน อย่ารังเกียจกาย อย่างดูผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็ได้ ดูร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนก็ได้ ดูร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้าก็ได้ คอยรู้สึกมันไปเรื่อย รู้สึกๆ อยู่ในร่างกาย แค่รู้สึกอย่าไปเพ่งจ้อง ถ้าเพ่งจ้องใช้ไม่ได้ แค่รู้สึก ร่างกายขยับรู้สึก ทำอะไรก็คอยรู้สึกไป

อย่างบางสายก็ดูท้องพอง ท้องยุบ ก็เห็นร่างกายขยับ แต่ถ้าทำผิด จิตก็ถลำลงไปอยู่ที่ท้อง เพ่งท้อง อันนั้นใช้ไม่ได้แล้ว สติเราถลำลงไป จิตมันไม่ตั้งมั่น หรือขยับมือ แล้วจิตก็คอยคิดขยับท่านี่แล้วเดี๋ยวจะไปท่าไหน อันนั้นหลง ฟุ้งซ่านแล้ว หรือขยับสวย แต่ขยับด้วยไขสันหลัง จิตใจหนีไปที่อื่นแล้ว อย่างนั้นใช้ไม่ได้ ที่เราฝึกกรรมฐานเราฝึกจิตใจของเรา ไม่ใช่ฝึกร่างกาย ไม่ใช่ฝึกเดินสวย นั่งสวย ขยับสวย เราจะฝึกให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว

ฉะนั้นทำกรรมฐานที่เราทำได้ บางองค์เริ่มจากหายใจ ชอบอยากหายใจ ทำลมหายใจ รู้ลมหายใจไป สักพักเดียวหลง แสดงว่าการรู้ลมหายใจนั้นเป็นอารมณ์ที่ละเอียดเกินไปสำหรับเรา ก็เพิ่มอารมณ์ให้หยาบขึ้น เช่นหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรแบบนี้ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธแล้วยังหลงอีก หายใจเพิ่มอีก หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 2 นับไปเรื่อยๆ นี้ กระทั่งหายใจใจก็หลงตลอด อันนี้ไม่ไหวแล้วละเอียดเกินไป หายใจแล้วบริกรรมด้วยยังหลงอีก ก็ทำกรรมฐานที่หยาบขึ้น ร่างกายเป็นกรรมฐานที่หยาบ ถึงเราหลง เราก็ยังมีร่างกายอยู่ แต่ไม่เหมือนจิต ถ้าจิตหลงนี่ หาจิตไม่เจอแล้ว แต่กายไม่เคยหายไปไหน ฉะนั้นถ้าสติสมาธิเรายังอ่อนมากๆ ดูจิตดูใจไม่รู้เรื่อง ดูแล้วมันหลงมันเคลิ้ม ดูกาย นี่ฝึกอย่างนี้ไป

พอเราดูกายไปช่วงหนึ่ง จิตจะเริ่มทรงพลังขึ้นมา บางคนสามารถเข้าไปเห็นจิตได้เลย ก็ไปเจริญปัญญาด้วยการดูจิต คนละส่วน เจริญปัญญากับการทำสมถะ ทำสมาธิ บางท่านเจริญปัญญาด้วยการดูกายต่อไปเลย อย่างเดิมร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน คอยรู้สึก ร่างกายหายใจคอยรู้สึก พอฝึกจนจิตมันตั้งมั่นขึ้นมาจริงๆ มันเห็นเลยร่างกายที่หายใจ ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายที่เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง อะไรพวกนี้ เป็นของถูกรู้ ถูกดู จิตเป็นผู้รู้ ผู้ดู ก็มันเห็นความจริงของร่างกาย ร่างกายมันเคลื่อนไหวเพราะถูกความทุกข์บีบคั้น ถูกความทุกข์บีบคั้นแล้วเคลื่อนไหวหนีความทุกข์ไปเรื่อยๆ

เมื่อร่างกายเต็มไปด้วยตัวทุกข์ ไม่ใช่ของดี หรือเห็นร่างกายนี้ของถูกรู้ มันเป็นของถูกรู้ถูกดู มันไม่ใช่ตัวเราของเรา อย่างนี้เดินปัญญาแล้ว เคยได้ยินได้อ่านประวัติครูบาอาจารย์บางองค์ท่านดูกายตั้งแต่ต้นเลย ดูกายมา แล้วก็มาเจริญปัญญา ดูกายมาเรื่อยๆ จนถึงจุดสุดท้ายนี่ท่านเห็นกายนี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ เลย มันทุกข์มาก เหมือนภูเขาทั้งลูกลงมาขยี้ทับลงมา บดลงมา ไม่ได้ทับเฉยๆ นะบดด้วย เห็นอย่างนี้สุดขีดเลย จิตมันก็ระเบิดเปรี้ยงออกมา ปล่อยวางทั้งกาย ปล่อยวางทั้งจิต ปล่อยไปหมดเลย ปล่อยขันธ์ 5 ได้

บางท่านเริ่มต้นจากดูกาย ทำสมาธิอย่างทำอานาปานสติอะไรแบบนี้ เสร็จแล้วท่านต่อเข้าเวทนา หรือต่อเข้าจิตเลยก็ทำได้ สุดท้ายท่านก็เห็นจิตนั้นมันเป็นตัวบรมทุกข์ ตัวจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั้น มันทุกข์แสนสาหัส ทุกข์เหมือนภูเขาทั้งลูกลงมาขยี้ มาบด มาเบียด มาโม่ เหมือนเรือโม่นั้น ในที่สุดตัวจิตผู้รู้ มันก็สลายตัว สลายตัวไป ปล่อยวางจิตที่เดียว ก็ปล่อยวางขันธ์ 5 ทั้งหมด ปล่อยวางโลกทั้งหมด ปล่อยที่จิตตัวเดียว ละที่จิต รู้ที่จิต ละที่จิต ปล่อยโลกทั้งโลกเลย นี้หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนไว้

ฉะนั้นการปฏิบัติ ทางใครทางมันเลียนแบบกันไม่ได้ ต้องดูตัวเอง อย่างบางคนทำสมาธิโดยใช้นามธรรม ใช้นามธรรมทำสมาธิก็ทำได้ อย่างนั่งภาวนาอยู่ ทีแรกอาจจะพุทโธ อาจจะอะไรอยู่ แล้วก็เห็นความว่างๆ ช่องว่าง ช่องว่างนี้เป็นสิ่งที่จิตไปเห็นเข้า แล้วก็ดูลงไปในช่องว่าง จิตจับลงไปในช่องว่าง อันนี้ก็เรียกว่า อากาสานัญจายตนะ ใช้ช่องว่างเป็นอารมณ์ นี้พอดูช่องว่างไปก็อยากเห็น ต่อมาก็เห็นอีก จิตที่ไปดูช่องว่างนี่มันยังเคลื่อนอยู่ เคลื่อนไปอยู่ในช่องว่างก็วางช่องว่าง ย้อนเข้ามาดูจิตที่เป็นคนรู้ จิตที่เป็นคนรู้ก็กลายเป็นของถูกรู้ เกิดจิตผู้รู้ดวงใหม่ขึ้นมา ก็ดูจิตผู้รู้ดวงใหม่ มันก็เกิดจิตผู้รู้ใหม่ขึ้นมา ซ้อนไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าตัวจิตนี้ ตัววิญญาณนี้เป็นอนันต์ ไม่มีที่สุด ตัวนี้เรียกว่า วิญญาณัญจายตนะ ถ้าดูอารมณ์คือความว่าง จิตมันว่างโดยตัวของมัน มันว่างๆ เราไปดูอารมณ์มัน ก็เป็นอรูปที่ 1 ถ้าวางอารมณ์ย้อนมาดูตัวจิตก็เป็นอรูปที่ 2

 

ต่อมาภาวนาแล้วจะเห็นอีก การมาดูจิต ดูใจ ดูตัวรู้ยังเป็นภาระ จิตมันก็หยุดการดูตัวรู้ ไม่ดูทั้งอารมณ์ ไม่ดูทั้งจิต อะไรก็ไม่เอา อารมณ์ก็ไม่เอา จิตก็ไม่เอา อันนี้เป็นอรูปที่ 3 ชื่อ อากิญจัญญายตนะ อยู่ในอรูปที่ 3 แล้วนี่มันละเอียดมาก สติมันจะค่อยๆ อ่อนลงไป สัญญาค่อยๆ อ่อนตัวลงไป แต่สติไม่ขาด สัญญาไม่ขาดทั้งหมด แต่มันอ่อนจนเหมือนไม่รู้สึก รู้สึกเหมือนไม่รู้สึก ตัวนั้นมันจะเข้าไปสู่สมาธิที่สงบลึกที่สุดชื่อ เนวสัญญานาสัญญายตนะ อันนี้เป็นเรื่องของสมถะทั้งหมดเลย

ทีนี้ถ้าเราทำอานาปานสติ แล้วเราจบลงที่อานาปานสติ เราได้รูปฌาน ถ้าเราดูกาย ทำกายคตาสติเราก็ได้รูปฌาน ถ้าเข้าอรูปก็อย่างที่หลวงพ่อเล่า นี้ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องเข้าอรูป ถ้าเราถนัดทางกายก็ไปแค่รูปก็พอแล้ว ดูแค่รูป จิตเป็นหนึ่ง จิตสงบจริงๆ ตัวรู้มันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเอง แล้วไม่ต้องรักษา มันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน มันตั้งมั่น ฉะนั้นอย่างเราคอยรู้สึกกาย รู้สึกกายรู้สึกไปเรื่อยๆ ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายหายใจรู้สึก รู้สึกไปเรื่อยๆ จิตมันจะค่อยๆ มีกำลังขึ้นมา สุดท้ายมันก็ตั้งมั่นเด่นดวงเป็นตัวจิตผู้รู้ขึ้นมา อย่างนี้ก็ได้ จิตผู้รู้ทำได้เยอะแยะวิธีการ

อย่างเราดูจิตดูใจ เรารู้ว่าจิตเคลื่อน จิตหยุดเคลื่อนปุ๊บจิตผู้รู้ก็เกิด มันมีวิธีมากมายที่จะทำได้ แล้วมันก็ได้สิ่งเดียวกันนั่นล่ะ ได้จิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา จิตตั้งมั่นแล้วก็ไปขั้นของการเจริญปัญญา เจริญปัญญาด้วยการดูกายต่อก็ได้ แต่คราวนี้ไม่ใช่เห็นกาย แต่เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกาย นี่คือการเจริญปัญญา เห็นไม่ใช่การคิด ถ้าการคิดยังเป็นสมถะอยู่ อย่างคิดว่าร่างกายนี้ไม่สวย ไม่งาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอะไรแบบนี้ อันนี้เป็นสมถะ คิดไปเรื่อยๆ แล้วจิตสงบ คิดว่าร่างกายนี้ต่อไปก็ตาย คิดไปเรื่อยๆ จิตก็สงบ

แต่ถ้าวิปัสสนานี่มันจะเห็นร่างกายนี้มันมีแต่ความทุกข์บีบคั้น ร่างกายนี้ไม่คงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวก็ยืน เดิน นั่ง นอน ทำไมต้องเปลี่ยนลมหายใจ ทำไมต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะมันทุกข์ เห็นอย่างนี้ ต้องเห็นเอาไม่ใช่คิดเอา ถึงจะเป็นวิปัสสนา ฉะนั้นดูกายก็ทำวิปัสสนาได้ ดูจิตก็เหมือนกัน ถ้าเราไปดูจิตว่างๆ นิ่งๆ อยู่เป็นสมถะ ถ้าเราเห็นขบวนการทำงานของจิตใจ เดี๋ยวก็ปรุงสุข เดี๋ยวก็ปรุงทุกข์ เดี๋ยวก็ปรุงดี เดี๋ยวก็ปรุงชั่ว ล้วนแต่ของไม่เที่ยง อันนี้เราเจริญปัญญาทำวิปัสสนา เราเห็นว่าจิตมันปรุงดีก็ปรุงได้เอง ปรุงชั่วมันก็ปรุงได้เอง มันเป็นของมันเอง

ฉะนั้นเราเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก สติปัญญามันแก่กล้าขึ้นมา มันก็จะรู้ว่าจิตใจนี้ไม่ใช่เรา อย่างดูกาย ก็จะเห็นกายนี้มันไม่ใช่เรา แล้วถ้าดูไปเรื่อยๆ ต่อไปจะเห็นจิต ดูกายสุดท้ายก็เห็นจิต ก็จะเห็นกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู เวลาวางไม่ว่าจะดูกายหรือดูจิตมา เวลาวางก็วางหมด วางขันธ์ 5 ทั้งหมด ฉะนั้นการปฏิบัติมันกว้างขวางหลากหลายสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนี่

 

เราอย่าไปคิดว่าอย่างนี้ดีที่สุดๆ อย่างหลวงพ่อเจริญปัญญาด้วยจิตตานุปัสสนา เจริญอยู่ช่วงหนึ่งหลวงพ่อก็พบว่า การดูจิตดูใจ ทำให้เป็นสมถะก็ได้ เป็นวิปัสสนาก็ได้ ก็เหมือนการดูกาย ทำให้เป็นสมถะก็ได้ ทำให้เป็นวิปัสสนาก็ได้ ถ้าเราเห็นตัวสภาวะ อย่างสภาวะของร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน อะไรอย่างนี้ เห็นสภาวะของจิตใจ สุข ทุกข์ ดี ชั่วหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เห็นตัวสภาวะ หรือเห็นจิตจ้องดูตัวผู้รู้อยู่ อันนั้นเป็นสมถะ

ถ้าเราเห็นไตรลักษณ์ของกาย เห็นไตรลักษณ์ของจิต จึงจะเป็นวิปัสสนา แต่เวลาเราทำวิปัสสนาแล้ว ไม่ใช่ทำวิปัสสนาตลอด เป็นไปไม่ได้ การทำวิปัสสนานี่มันใช้พลังของจิตมาก สักพักเดียว สักครู่เดียวสมาธิเราตก ใจเราเริ่มฟุ้งซ่าน การที่จิตจะเป็นผู้รู้ ผู้เห็น มันจะกลายเป็นผู้นึก ผู้คิด ผู้ปรุง ผู้แต่ง

ฉะนั้นจิตก็ต้องกลับมาทำสมถะ กลับมาอยู่กับกาย มาดูกาย อย่าไปเพ่งกาย แค่รู้สึกกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย รู้สึกว่าร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกว่าร่างกายหายใจ แค่รู้สึก ดูจิตก็อย่าไปเพ่งจิต แค่รู้สึก จิตสุขก็รู้สึก จิตทุกข์ก็รู้สึก จิตดี จิตชั่วก็รู้สึก คอยรู้สึกเรื่อยๆ จิตก็จะสงบลงมา คอยรู้สึกในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จิตที่เคยดิ้นรนก็จะเริ่มเชื่องเริ่มสงบเข้าที่

พยายามฝึกตัวเองทำให้ได้ทุกวันๆ อย่าประมาท อย่าละเลย อย่าผัดวันประกันพรุ่ง พยายามพากเพียรทำเข้า

 

วันนี้สิ่งที่หลวงพ่อสอนมันครอบคลุมการปฏิบัติไว้เยอะเลย ทั้งสายกาย ทั้งสายจิต ทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา ใครถนัดทางไหนเอาไปปฏิบัติดู อย่างได้ยินว่าหลวงพ่อทำอานาปานสติ อยากทำอานาปานสติ บางคนทำไม่ได้ มันละเอียดเกินไป ก็ใช้กรรมฐานที่มันหยาบขึ้นมา ดูกายไปอะไรไป ดูจิต จิตมันหนีไปเที่ยวได้ ดูกาย กายหนีไปไหนไม่ได้ ดูง่าย ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ท่านดูกายเอาด้วยซ้ำไป ที่ท่านได้ดิบได้ดีมาเป็นครูบาอาจารย์พวกเรา ส่วนใหญ่ท่านมาทางกาย พวกที่ท่านถนัดทางจิต ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่รุ่นก่อนขึ้นไปอีกก็สอนให้ท่านดูจิต

อย่างหลวงปู่ดูลย์ก็ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภาวนาก็เข้าใจธรรมะเบื้องต้นแล้ว หลวงปู่มั่นสอนให้หลวงปู่ดูลย์ดูจิตเลย สอนบอกให้ไปดูตัวนี้เลยว่า “สัพเพ สังขารา สัพสัญญา อนิจจา” สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลายไม่เที่ยง “สัพเพ สังขารา สัพสัญญา อนัตตา” สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน หลวงปู่ดูลย์ท่านไปดูตรงนี้อยู่ไม่นาน ท่านก็รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจแห่งจิต รู้ว่าจิตมันมีตัณหาเป็นเหตุ ตัวจิตที่มันส่งออกนอกมันมีตัณหา ตัณหาคือความทะยานอยาก ทะยานไป หาอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

การที่มีสติรู้เท่าทันอยู่ เจริญมรรคอยู่ เจริญมรรคอยู่ ศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์ขึ้นมา จิตก็เข้าถึงนิโรธ คือความพ้นทุกข์ ท่านเห็นสิ่งเหล่านี้ในเวลาอันสั้น ท่านดูจิตเอา ทีนี้พวกเราได้ยินประวัติตรงนี้ก็อยากดูจิตจะได้เร็วๆ กำลังเราไม่พอเราดูไม่ได้

อย่างหลวงพ่อทำสมาธิ หลวงพ่อได้ตัวรู้มาตั้งแต่เด็ก เจอหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนให้ดูจิตเลย ท่านไม่มาพูดเรื่องพุทโธอะไรไม่เอาเลย แต่ลูกศิษย์บางคนท่านสอนให้พุทโธ ลูกศิษย์บางองค์ท่านสอนให้ดูผม บางองค์ท่านสอนให้ดูกระดูก อันนี้เป็นเรื่องของสมถะทั้งนั้นเลย ลูกศิษย์ท่านที่ดูกายเยอะนะ ไม่ใช่ไม่มี ลูกศิษย์ที่ท่านสอนตรงเข้าที่จิตเลยมีไม่มากหรอก ต้องมีสมาธิใช้ได้แล้วถึงจะเห็นจิตใจได้ ไม่ฉะนั้นจะหลงไปอยู่ในความคิด ไม่สามารถเห็นจิตเห็นใจตนเองได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
13 มิถุนายน 2563