ถ้าทิ้งรูปแบบ จิตจะไม่มีแรง

ช่วงนี้มีลูกศิษย์วัดเราก็ตายหลายคน ไม่ได้เป็นโควิด เป็นโรคโน้นโรคนี้ พวกญาติๆ ก็พยายามมาถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง บางคนก็บอกให้แผ่ส่วนบุญให้ด้วยอะไรอย่างนี้ ที่จริงคนเราตายแล้วจะดีไม่ดีนี่มันต้องฝึกมาตั้งแต่ก่อนตาย ถ้าฝึกให้จิตมันคุ้นเคยที่จะมีสติ จิตที่ผ่องใสสุคติก็เป็นที่หวังได้ จิตเศร้าหมองทุคติก็เป็นที่หวังได้ อันนี้ภาษาสมัยรัชกาลที่ 5 ถ้าพูดภาษายุคนี้ก็คือถ้าจิตเราผ่องใส เราก็ประเมินได้ มีโอกาสที่จะไปสุคติสูง ถ้าจิตเศร้าหมองก็ประเมินได้ว่ามีโอกาสไปทุคติสูง นี่ภาษามันเปลี่ยน ฟังแล้วก็เหมือนๆ เข้าใจ แปลไม่ออก

โดยตัวของจิตเองมันเป็นกลางๆ จิตมันเป็นธรรมชาติที่เป็นกลางๆ เข้าได้ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว คล้ายๆ สมาธิอย่างนี้ เป็นธรรมะที่เป็นกลางๆ เกิดร่วมกับจิตที่ดีก็ได้ จิตที่ชั่วก็ได้ ตัวจิตมันไม่ดีไม่ชั่วโดยตัวของมันเอง แต่ถ้ามันเศร้าหมองก็หมายถึงว่ามันถูกอกุศลเข้ามาครอบงำ ฉะนั้นตัวที่จะทำให้เราไปสุคติหรือทุคติก็คือตัวกุศล อกุศลนั่นเอง ถ้าจิตประกอบด้วยอกุศล ในขณะที่ตายก็ไปทุคติแน่นอน ประเมินได้

เราก็พยายามฝึกตัวเอง รู้เท่าทันไป อกุศลก็ไม่ใช่จิต มันเป็นสิ่งที่เกิดร่วมกับจิตเท่านั้นเอง ตัวมันไม่ใช่จิต กุศลมันก็ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต จิตโดยตัวของมันเองมันสว่างผ่องใส จิตที่มันว่ามันเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วโดยตัวมันเอง มันสว่าง มันผ่องใส แต่มันเศร้าหมองเพราะกิเลส หรือมันสว่างไสวมากขึ้นเพราะกุศล เวลากุศลเข้ามาเกิดร่วมในจิต เราภาวนา เราจะรู้สึกว่าจิตเราเบา จิตเราจะโปร่ง จิตเราจะเบา จิตมันจะลอยตัวขึ้น ถ้าอกุศลเข้ามาครอบงำจิต เราจะเห็นว่าจิตมันหนัก มันก็ต่ำลงๆ ฉะนั้นถ้าจิตเราเป็นกุศล จิตก็จะลอยขึ้น จิตเป็นอกุศล จิตก็จะหล่นลงไป หล่นมากๆ ลงไปถึงนรก

ถ้าจิตเป็นกุศล มันเบา มันโปร่ง ก็อยู่ในภูมิสุคติ ก็เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม ก็สูงขึ้นเป็นลำดับๆ ไป จิตของพรหมก็โปร่งเบา ของเราว่าเราดีๆ แล้ว เทียบกับจิตพรหมนี่จิตพรหมเขาละเอียดกว่า เขาเบากว่า เขาเลยขึ้นสูงกว่า สูงนี่ไม่ใช่มิติของโลก 3 มิติ หรือ 4 มิติ ไม่ใช่สูงก็คือตั้งขึ้นไปทางนี้ หรือนรกอยู่ใต้ดินอะไรอย่างนี้ มันเป็นมิติของจิต มันเป็นความรู้สึก ใจมันโปร่ง โล่ง เบา มันก็เหมือนลอยฟ่องขึ้นไป ถ้าใจมีกิเลส มันก็เหมือนกับตกลงไป จมลงไปในความมืดมัว เราค่อยๆ เรียนรู้จิตใจตัวเองไป จิตที่ดีก็ลอยขึ้น จิตที่ชั่วก็ตกต่ำลง

 

คอยเฝ้ารู้เฝ้าดูเรียนรู้ความจริงของจิตใจให้มากๆ
แล้วจิตมันค่อยๆ ฉลาดขึ้น
มันก็ค่อยๆ คลายออกๆ ไม่ยึดทั้งดี ไม่ยึดทั้งชั่ว
จิตมันเป็นอิสระขึ้นมา
เป็นอิสระจากความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง

 

ฝึกมากๆ คอยรู้เท่าทันจิตตัวเองให้ดี ในที่สุดเราก็จะสามารถแยกแยะเอาจิต กับสิ่งที่ดีและชั่วที่ประกอบจิตออกจากกันได้ เราก็จะเห็นว่าสภาวะทั้งหลายนั้นที่มันมาปรุงแต่งจิตทั้งดีทั้งชั่ว ผ่านเข้ามาอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป ทั้งดีและชั่วก็เสมอกัน เกิดแล้วก็ดับๆ อย่างนั้น พอจิตเห็นความจริงมันก็จะรู้เลยว่าจะเป็นเทวดา หรือเป็นพรหม จะเป็นมนุษย์อะไรนี้ที่ว่าเป็นสุคติ มันก็ยังไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ อย่างเป็นพรหมมันก็มีเวลาตาย มีเวลาเสื่อม เป็นเทวดาก็ยังมีเวลาตาย มีเวลาเสื่อม ฉะนั้นก็ยังไว้วางใจไม่ได้ จิตที่มันมีบุญหล่อเลี้ยง มีความสุขก็จริง โปร่ง โล่ง เบา สบาย แต่ก็ยังประมาทไว้วางใจไม่ได้เพราะมันเสื่อมได้อีก

เราคอยเฝ้ารู้เฝ้าดูเรียนรู้ความจริงของจิตใจให้มากๆ แล้วจิตมันค่อยๆ ฉลาดขึ้น มันก็ค่อยๆ คลายออกๆ ไม่ยึดทั้งดี ไม่ยึดทั้งชั่ว จิตมันเป็นอิสระขึ้นมา เป็นอิสระจากความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ความปรุงแต่งทั้ง 3 ชนิด ความปรุงบาปอกุศล ความปรุงกุศล ความปรุงความดี แล้วก็พยายามจะไม่ปรุง ความปรุงแต่งที่จะไม่ปรุง ไม่ว่าความปรุงแต่งชนิดไหนมาเกิดร่วมกับจิต มันก็ทำให้จิตมีภาระขึ้นมาทั้งสิ้น มีความทุกข์ขึ้นมาทั้งสิ้น ก็เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ ไป หลายวัน หลายเดือน หลายปี ฝึกไป ถึงวันหนึ่งจิตมันก็จะพัฒนาขึ้นไปอยู่ในสภาวะที่เหนือดีเหนือชั่ว แต่ตัวนี้ต้องฝึกกันนาน ต้องค่อยๆ ฝึกไป

เบื้องต้นมันก็ชั่วน้อยลง ดีเยอะขึ้น อย่างเราหัดภาวนา ดูจิตดูใจไป เราก็จะเห็นเลย อกุศลทั้งหลายเกิดแล้วดับ กุศลทั้งหลายเกิดแล้วก็ดับ จิตทั้งหลายจะจิตดีหรือจิตชั่วเกิดแล้วก็ดับเหมือนๆ กันทั้งหมดทั้งสิ้น ในที่สุดก็เห็นว่าสภาวะทั้งหมดเกิดแล้วดับทั้งหมดเลย เราจะรู้ความจริงว่าไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนของเราที่แท้จริงเลย ไม่มีอะไรที่อมตะ ไม่มีอะไรที่ถาวร ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไป ทั้งดีและชั่ว ทั้งสุขและทุกข์ ทั้งหยาบและละเอียด เหมือนๆ กันหมด

ตัวจิตเองมันก็ดี มันก็ชั่ว มันก็หยาบ มันก็ละเอียด มันสุข มันทุกข์ ก็ตามสิ่งที่มาปรุงแต่งมัน ฉะนั้นจิตกับสิ่งที่ปรุงแต่งจิต มันเกิดร่วมกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน อย่างจิตที่โกรธกับความโกรธมันก็เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มันทำงานอยู่อย่างนี้ จะเห็นว่าไม่มีตรงไหนที่มันมีตัวเราสักที่เดียวเลย ฝึกทุกวันๆ แล้ววันหนึ่งก็เห็นอย่างนี้ จะสบาย ก็ค่อยดีขึ้นๆ ไกลความทุกข์ออกไปเรื่อยๆ อย่างท่านพุทธทาส ท่านแปลคำว่า อะระหะโต พระอรหันต์ ท่านแปลดีนะ ท่านแปลว่า ผู้ไกลจากกิเลส มันไกลจากกิเลส กิเลสส่วนกิเลส ไม่เกี่ยวข้องอะไรกัน กิเลสก็หลุดไป กิเลสมันก็ของโลก

 

 

จุดสำคัญเบื้องต้นคือรู้สึกตัวๆ ไว้ พอเรารู้สึกตัว จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว สภาวะจะสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่วเกิดขึ้นกับจิตใจ เราก็จะเห็น ตัวที่ทำให้เราเห็นว่ามีสภาวะอะไรกำลังปรากฏอยู่เรียกว่า สติ แล้วจิตที่มันฝึกจนตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูเรียกว่า จิตมันมีสมาธิ คือมีความตั้งมั่น อาศัยสติรู้สภาวะที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่ตั้งมั่นและก็เป็นกลาง ปัญญาจะเกิด ปัญญาคือการเห็นความจริง อยู่ๆ เราไปสั่งให้ปัญญาเกิดไม่ได้หรอก ปัญญาจะเกิดได้ต้องมีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด สัมมาสมาธิคือสภาวะแห่งความตั้งมั่นของจิต สมาธิอยู่ๆ มันก็ไม่เกิดหรอก ถ้าเรามีสติขึ้นมา สมาธิ สัมมาสติเกิด สัมมาสมาธิก็เกิด

ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ดูทุกวันๆ ค่อยฝึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งก็รู้ วันหนึ่งก็เข้าใจ มีโยมคนหนึ่งเขียนจดหมายมาเล่าให้หลวงพ่อฟัง ไม่ได้เขียนมาถามแต่เขียนมาเล่า บอกว่าเป็นการแสดงความกตเวที โยมนี้ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ อยู่ไกล อาศัยฟัง YouTube เขาฝากขอบคุณมูลนิธิฯ กับทีมงานที่ทำ YouTube อะไรนี่ให้เขาดู เขาก็บอกว่าทีแรกก็ฝึกภาวนา มันก็ไม่เคยได้ดีหรอก ไม่เคยสงบหรอก อาศัยฟัง YouTube รู้สภาวะไปเรื่อยๆ นั่งสมาธิอยู่แล้วก็รู้สภาวะ ไม่ได้บังคับจิต จิตมันก็รวมลงไป สงบลงไป ก็ภาวนาทุกวันๆ ก็ดีขึ้นๆ แล้ววันหนึ่งก็เห็นเหมือนกับอะไรอย่างหนึ่งมันคว่ำลงไป มันพลิก มันคว่ำตัวลงไป จิตมันก็เกิดปีติ เกิดความสุขอย่างมหาศาลขึ้นมา น้ำหูน้ำตาร่วงเลย คิดถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เลย ความเคารพแน่นแฟ้นในพระรัตนตรัย นี่เขาเล่าให้ฟัง ฟังก็ดีหรอก อ่านจดหมายเขาก็จิตใจเราก็สบาย เขาภาวนา เขาไม่เคยเจอหลวงพ่อ อาศัยทีมงานทั้งหลายช่วยกันทำ YouTube คนเขาได้รับประโยชน์ ได้รับความสุข มี เขาก็มีความเคารพแน่นแฟ้นในพระรัตนตรัยขึ้นมา

พวกเราก็เหมือนกัน ต้องอาศัยที่ช่วยตัวเอง มานั่งอยู่กับหลวงพ่อทุกวันๆ ไม่ใช่ว่าจะได้ธรรมะ เห็นหลวงพ่อก็เห็นแค่วัตถุธาตุ เราต้องภาวนา ใจของเราเป็นพระ เราถึงจะเห็นพระ ถ้าใจเราเป็นมาร ใจเราก็ไม่เห็นพระหรอก ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งไกลความทุกข์ไปเรื่อยๆ อาสวกิเลสที่มันเคยห่อหุ้มจิตใจ มันค่อยๆ สลายตัวไป ถูกทำลายไป สังโยชน์มันเป็นกิเลสที่ผูกมัดจิตเราไว้ในภพ ตัวสังโยชน์ก็ถูกอริยมรรคทำลายได้

ตัวอาสวกิเลสก็เป็นกิเลสที่มันแทรกซึมอยู่ในจิตในใจเรา อย่างมีกามาสวะ มีความติดอกติดใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสอย่างนี้ อย่างนักปฏิบัติเราเกือบทั้งหมดที่ไปไม่รอดก็เพราะแพ้กามนี้ล่ะ กิเลสที่หมักดองในสันดานคือกาม กิเลสที่หมักดองในสันดานคือทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย กามาสวะ ทิฏฐาสวะ แล้วมีภวาสวะ ติดในภพ จิตมันเข้าไปติดในภพ มันชอบสร้างภพ ไม่สร้างภพมันอยู่ไม่ได้ มันต้องมีภพอยู่ มันรู้สึกอย่างนั้น ถ้าพ้นจากภพแล้วมันเป็นความว่าง ก็จะหวาดกลัว กลัวว่าถ้าจิตไปอยู่ในความว่าง แล้วเราจะหล่นลงไปสู่ความไม่มีอะไร กลัวจะตกเหมือนตกเหวอะไรอย่างนี้ คิดว่าความว่างเหมือนเหว

เพราะฉะนั้นจิตมันจะสร้างภพ มีตัณหาเป็นทรัพยากร มันก็สร้างภพโน้นภพนี้ขึ้นมา แล้วจิตมันก็ติดอยู่ในภพ สังเกตดูที่เราภาวนานี่เราภาวนาอยู่ในภพทั้งนั้น แต่มองไม่ออกว่ามันเป็นภพ มันก็ติดนาน ภพอันไหนที่เรารู้จักแล้วเราก็ไม่ติด ฉะนั้นเวลาจิตมันติดอยู่ในภพ มันนึกว่าดี รู้สึกตรงนี้อบอุ่นปลอดภัย มีที่พึ่งที่อาศัย เราเป็นนักปฏิบัติ เราต้องมีภพที่ดีๆ เอาไว้อยู่อะไรอย่างนี้ จริงๆ มันก็คืออาสวะตัวหนึ่ง อาสวะอีกตัวหนึ่งคืออวิชชา ความประหลาดระหว่างอวิชชากับอาสวะนี่มันเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน อวิชชามีอยู่ อาสวะก็มีอยู่ อาสวะมีอยู่ อวิชชาก็มีอยู่ เวลามันดับ มันก็ดับไปพร้อมๆ กัน

 

จุดหมายอันเดียวกัน เดินได้หลายทาง

เราก็ค่อยฝึกทุกวันๆ ที่หลวงพ่อเล่าให้ฟังนี่คล้ายๆ เอาแผนที่มาให้เราดูว่าจะไปเอธิโอเปียนี่ไปทางนี้ๆ เรารู้ว่าเราจะไปไหน ทางนั้นอยู่ตรงไหนอะไรอย่างนี้ เราก็เดินไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถึง อย่างเอธิโอเปียนี้อยู่ทางทิศไหนของเมืองไทย อยู่ตะวันออกหรือตะวันตก ไปทางตะวันตกก็เจอ ไปทางตะวันออกเรื่อยๆ ก็เจอ ฉะนั้นจุดหมายอันเดียวกัน มันเดินได้หลายทาง แล้วแต่ใครถนัดจะไปแบบไหน จะไปด้วยเครื่องมืออะไร ฉะนั้นการที่เราจะไปให้ถึงพระนิพพาน ต่างคนต่างก็มีทางเฉพาะตัวเอง ถ้าเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ใช่ไหม เราก็อาจจะไปด้วยเครื่องบิน ขี่มอเตอร์ไซค์ไป ขี่รถยนต์ไป หรือขี่จักรยานไป หรือเดินไป หรือลงเรือไปอะไรอย่างนี้ ขอให้มันถูกทิศทาง แล้วแต่ละวันๆ เข้าใกล้จุดหมายของเราเข้าไปเรื่อยๆ คือลดละกิเลสไปได้เรื่อยๆ ส่วนวิธีการ ทางใครทางมัน

อย่างบางคนต้องทำสมาธิก่อนให้จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งจริงๆ สงบ มีเรี่ยวมีแรง ถอยออกจากสมาธิแล้วมาดูกาย มาดูเวทนา นี่ก็สายหนึ่ง อีกพวกหนึ่งทำสมาธิไม่ได้ก็รู้สึกไป รู้สึกจนกระทั่งเกิดสมาธิชั่วขณะเรียกขณิกสมาธิ มีสมาธิทีละขณะๆ ไปดูกาย ดูเวทนาไม่เหมาะ เพราะสมาธิชั่วขณะนี้มันสั้นเกินไป ตัวกาย ตัวเวทนาเวลามันมีอยู่มันใช้เวลา ตัวรูปอายุมันยืนกว่าตัวจิต อายุมันยืนกว่านามธรรม ฉะนั้นสมาธิทีละขณะๆ ไปดูรูปมันดูลำบาก เราก็ดูนามธรรมที่มันเกิดร่วมกับจิต สุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลาย มันก็เกิดทีละขณะ มันเกิดพร้อมกับจิต มันดับพร้อมกับจิตอย่างที่ว่าแล้ว นี่คือเส้นทางของผู้ที่ใช้ปัญญานำสมาธิ ดูไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งจิตมันก็รวมเข้าอัปปนาสมาธิเองเหมือนกัน ก็ไม่ค่อยมีของเล่นหรอก มีแต่ความพ้นทุกข์ พ้นทุกข์ได้ก็ดีหนักหนาแล้ว

ในตำราอภิธรรมเขาสอนกันบอกพระพุทธศาสนานี้มีอายุ 5,000 ปี พันปีแรกยังมีพระอรหันต์ปฏิสัมภิทา พันปีที่สอง มีพระอรหันต์ไม่ได้ปฏิสัมภิทา ของเราตอนนี้เป็นพันปีที่สามใช่ไหม 2,500 กว่าๆ บอกยุคนี้มีแต่พระอนาคามี พันปีที่สี่มีแต่พระสกทาคามี พันปีที่ห้าสูงสุดก็ได้แค่โสดาบันอะไรอย่างนี้ อันนี้ตำราชั้นหลังเขาก็ว่ากันอย่างนั้น อ่านแล้วก็ท้อแท้ใจไหม ถึงสมมติว่าตำรานี้จริงก็ไม่ควรท้อแท้ใจ ตำราเขายังบอกตอนนี้ทำพระอนาคามีได้อยู่ ที่จริงได้โสดาบันแล้ววันหนึ่งอย่างไรก็ต้องนิพพาน โสดาบันมันคล้ายๆ เราเป็นเรือที่เครื่องมันดับแล้วแต่เรือนี้มันตกอยู่กลางร่องน้ำ น้ำกำลังพัดพาไปออกสู่ทะเล วันหนึ่งต้องออกทะเลได้แน่นอน จิตที่มันได้ธรรมะ ได้โสดาบันแล้ว วันหนึ่งมันก็ไหลออกไปสู่พระนิพพาน ตำราพวกนี้เราก็ไม่ต้องไปเถียงกับเขา เราภาวนาของเรา มีกิเลสของเราแค่ไหนเราก็รู้เอา เราก็ไม่ต้องไปนั่งเถียงอันโน้นถูกอันนี้ผิดอะไรอย่างนี้ เถียงไปเถียงมาไม่ได้ภาวนาเสียที พยายามเอาเวลาซึ่งมันเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด เวลาหมดไปสิ้นไป ชีวิตเรานี้หมดไปสิ้นไปทุกทีแล้ว เอาเวลาที่เหลือมาเรียนรู้ตัวเองให้ดี

ทำไมคนสมัยพุทธกาลเขาบรรลุมรรคผลนิพพานกันได้ ธรรมะก็อันเดียวกัน ทำไมเราจะทำไม่ได้ มันอยู่ที่เราจะทำหรือเปล่า ทำจริงหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ ก็ฝึกทุกวันๆ ไป ไม่ต้องสนใจว่าจะได้อะไรแค่ไหน แค่ฝึกจิตฝึกใจของเราทุกวัน อย่างต่ำที่สุดก็คือสุคติ ถ้าจิตเราโปร่งเบาสบาย อย่างเราภาวนาทุกวัน จิตเราสบาย สงบ สะอาด สว่าง ดีขึ้นๆ ก็เรียกว่าเราใกล้ๆ พระนิพพานเข้าไปเต็มที ฝึกทุกวันๆ ถึงเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ไม่ต้องตะเกียกตะกาย ยิ่งตะเกียกตะกาย ยิ่งไม่ได้ ยิ่งทำไม่ได้

 

การทำในรูปแบบ ขั้นต่ำสุดที่เราจะได้
คือได้สมาธิเอาไว้เดินปัญญา
สูงกว่านั้นก็คือ เราเดินปัญญาอยู่ในสมาธิก็สามารถทำได้

 

แต่ละวันแต่ละเวลาอย่าทิ้งเปล่าๆ มีสติไป จะรู้กายจะรู้ใจอะไรก็แล้วแต่ความถนัด ทุกวันทำในรูปแบบ ถ้าไม่ทำจิตจะไม่ค่อยมีแรง หลวงพ่อพูดออกมาเต็มปากเลยว่าถ้าเราทิ้งการทำในรูปแบบจิตจะไม่มีแรง ทำไมพูดเต็มปาก เพราะว่าตอนที่หลวงพ่อเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่ออาศัยกำลังของสมาธิที่เคยทำแล้วก็มาภาวนา กำลังมันเข้มแข็ง ภาวนาอยู่ได้ประมาณ 2 ปีเท่านั้น สมาธิมันไม่พอ กำลังของจิตมันไม่พอ ทีนี้พอเราเพิ่มกำลังของสมาธิขึ้น จิตมันก็เดินต่อไปได้พัฒนาได้ แต่ว่าบางคนพอเจริญปัญญาแล้วมาทิ้งสมาธิ ทิ้งสมาธิไปเลย ฉะนั้นกลับมาทำความสงบไว้ ทิ้งสมาธิไปไม่ได้อะไร จะเดินแต่ปัญญา ไม่พอ

ไม่มีอะไรทำก็นั่งหายใจไป รู้สึกตัวไป อย่านั่งเฉยๆ อย่านั่งใจลอย อย่าน้อมใจให้ซึม ให้ใจมันตื่น ใจมันรู้สึกตัว อย่าไปทำมันให้ซึมๆ คิดว่าดี จิตซึมไม่ดีหรอก จิตมันมีโมหะ ให้มันรู้สึกๆ ไว้ บางคนกินข้าวเลยหลับไปเลยเช้าๆ เวลาเราทำในรูปแบบเรานั่งสมาธิหรืออะไรอยู่นี่เราไม่ทิ้งสติ อย่างเรานั่งอยู่นี่จิตมันส่ายไปส่ายมา บางทีมันก็เที่ยวแสวงหาว่าจะไปดูอะไรดี จิตมันส่ายเราก็รู้ว่าส่าย จิตเที่ยวแสวงหา รู้ว่ามันแสวงหา พอมันไปเจออะไรบางอย่างที่มันแปลกๆ หรือน่าสนใจ จิตก็กระโจนลงไปจับเลย จิตก็ลงไปเพ่งไปแช่อยู่อย่างนั้น เราก็มีสติรู้ลงไปว่าตอนนี้จิตมันลงไปจมไปแช่อยู่แล้ว

เวลานั่งทำในรูปแบบ เราไม่แกล้งน้อมจิตให้ซึม เรารู้ตัว รู้สึกตัวไป เห็นร่างกายมันนั่ง เห็นร่างกายมันหายใจ ใจเรารู้สึกๆ ไป แล้วเสร็จแล้วพอจิตใจมันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอย่างไร เราคอยเห็นเอา ไม่ได้บังคับว่าห้ามเคลื่อน แต่เคลื่อนแล้วรู้ นี่ฝึกไปแล้วจิตมันค่อยๆ สงบลงมา อย่างแค่เราอยากสงบแล้วพยายามทำให้จิตสงบ แค่นั้นจิตก็ฟุ้งซ่านแล้ว จิตดิ้นรน จิตทำงานแล้ว ถ้าเราต้องการให้จิตสงบ นั่งไป รู้สึกไป นั่งไป รู้สึกไปสบายๆ จิตมันเป็นอย่างไร มันทำอะไรขึ้นมา รู้สึกไป ถึงจุดหนึ่งจิตมันจะรวมเข้าไปเองสงบลงไปเอง ไม่ได้บังคับให้สงบ ไม่ได้บังคับให้รวม มันเป็นเอง แล้วก็พอมันสงบลงไป รวมลงไปแล้ว เกิดอะไรขึ้นอีก รู้อีก

เพราะฉะนั้นเวลาเราทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานอะไรสักอย่างแล้วจิตมันดิ้นไปดิ้นมา หรือเราพยายามจะบังคับจิตหรืออะไรอย่างนี้ รู้ พอจิตมันสงบแล้ว สบาย สงบ รู้ ตื่น เบิกบานอยู่ เราก็นั่งดูต่อไปอีก เราก็จะเห็นจิตมันก็ยังทำงานอยู่ เดี๋ยวก็มีปีติเกิดขึ้น เดี๋ยวปีติก็ดับไป เดี๋ยวความสุขเกิดขึ้น เดี๋ยวความสุขก็ดับไป นี่เฝ้ารู้เฝ้าดูซ้ำแล้วซ้ำอีก บางคนเลยสามารถไปเจริญปัญญาอยู่ในสมาธิได้ ฉะนั้นการทำในรูปแบบจำเป็น ทำให้จิตมีกำลัง ถ้าจิตไม่มีกำลัง มันเหมือนมีดทื่อๆ เอามีดทื่อๆ ไปฟันต้นไม้ป๊อกๆๆ ไม่ได้เรื่อง ต้นไม้ไม่สะเทือน แต่จิตมันมีสมาธิ มันมีกำลัง มันเหมือนมีดที่ลับไว้คมแล้ว เหมือนพร้าอะไรอย่างนี้ ฟันฉับเดียว ฟันอะไรก็ขาดสะบั้นเข้าไปตรงนั้น อีกหน่อยมันจะไปฟันอาสวกิเลส ฟันขาด อาสวะที่มันห่อหุ้มจิตอยู่ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ

หลวงพ่อเคยสงสัย เอ๊ะ อวิชชามันก็เป็นปัจจัยของอาสวะ อาสวะก็เป็นปัจจัยของอวิชชา เวลาทำลายจะทำลายอย่างไร มันทำลายไปด้วยกันด้วยการรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ถ้าเรายังไม่ถึงตรงนี้เราก็ทำของเราทุกวัน ถือศีล 5 ไว้ ทำในรูปแบบไป ตอนเริ่มทำในรูปแบบ จิตมันพยายามจะดิ้นรนอยากให้สงบอะไรนี่ รู้ทันมันเข้าไป หรือจิตมันเที่ยวส่ายอยู่ข้างในว่าจะไปดูอะไรดี รู้ทันมันเข้าไป แล้วก็จิตมันจะน้อมไปหาความสงบโดยการทำตัวเองให้ซึมๆ อะไรอย่างนี้ รู้ทันมันเข้าไป ในที่สุดจิตมันก็รวมสงบ สว่างขึ้นมา มันเป็นเอง

ตรงนั้นบางคนก็สว่างนิ่งเฉยอยู่ ไม่เดินปัญญาข้างใน พอออกจากสมาธิตรงนั้นมาแล้วดูกายเข้าไปเลย ดูกาย ดูเวทนาทางกายอะไรอย่างนี้ ดูเข้าไปเลย นี่เดินปัญญาต่อ บางคนพอจิตรวมเข้าไปข้างในแล้ว มันไปเห็นสภาวะข้างใน มันทำงานได้อีก ก่อนที่จิตจะรวมเราก็เห็นสภาวะที่มันทำงาน นี้พอเห็นแล้วมันก็รวมลงไป พอรวมลงไปแล้วมันก็มีการทำงานขึ้นมาอีกข้างใน แต่จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ จะเห็นสภาวะทั้งหลายภายในเกิดแล้วก็ดับ เช่น บางทีจิตมันเคลื่อนเข้าไปจับแสงสว่างหรือไปจับความว่างอะไรอย่างนี้ เห็นจิตมันเคลื่อนเข้าไปเคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่าง เคล้าเคลียอยู่กับความว่าง พอรู้ทัน อาการที่จิตเคลื่อนเข้าไปเคล้าเคลียกับแสงสว่างกับความว่างอะไรก็ดับ วิตกวิจารมันดับแล้ว จิตมีปีติเกิดขึ้น เราก็เห็นมีปีติเกิดขึ้นแล้วปีติก็ดับไปอีก มีความสุขเกิดขึ้น ความสุขก็ดับไปอีก เป็นอุเบกขา เป็นอุเบกขาอยู่ช่วงหนึ่ง อุเบกขาก็ดับ อาจจะเกิดปีติเกิดความสุขอะไรขึ้นมาอีกนี่ มันก็วนๆ อยู่อย่างนี้ มันเดินปัญญาอยู่ในสมาธิ

เพราะฉะนั้นเวลาเราทำในรูปแบบนี่ทำได้หลายอย่าง อันแรกเลยทำให้จิตสงบ พอจิตสงบแล้ว ถอนออกมาจิตมันถอนเอง ไม่ต้องไปถอนมันออกมา ถ้าเราจงใจถอนออกมา เราปวดหัวเลย มันอยากนั่งสมาธิ ให้มันนั่งไปเถอะ พอมันถอยออกมาแล้ว เราดูกาย ดูเวทนาไปเลย ให้เห็นมันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ดูไปเรื่อยๆ บางคนพอจิตมันรวมเข้าสมาธิแล้ว มันไปเดินปัญญาในสมาธิ เราก็ไม่ต้องไปดิ้นรนค้นคว้า ไม่ต้องไปช่วยมันคิด ไม่ต้องอยากฉลาด อยากรอบรู้อะไร แล้วจิตมันก็เดินเอง มันก็เห็นสภาวธรรมเกิดดับอยู่ภายใน บางทีก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เห็นสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป มันไม่มีสัญญาเข้าไปหมายว่าอันนี้คืออันนี้ๆ อันนี้เรียกว่าวิตกวิจาร ไม่มีคำพูดพวกนี้เลย สัญญามันแค่หมายรู้ไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ มันไม่หมายรู้สมมติบัญญัติ ว่าอันนี้คืออันนี้ๆ

เพราะฉะนั้นการทำในรูปแบบที่พวกเราต้องทำ ขั้นต่ำสุดที่เราจะได้คือได้สมาธิเอาไว้เดินปัญญา สูงกว่านั้นก็คือเราเดินปัญญาอยู่ในสมาธิก็สามารถทำได้ ฉะนั้นถือศีล 5 ทุกวันแบ่งเวลาทำในรูปแบบไว้ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน การเจริญสติในชีวิตประจำวันทำอย่างไร มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัส มีใจมันก็คิดนึก อันนี้เป็นธรรมชาติที่ห้ามไม่ได้ แต่ห้ามไม่ได้แล้วพอตาเห็นรูปมันยินดียินร้ายให้รู้ทันความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้น จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัสเกิดความยินดียินร้าย ให้มีสติรู้ทันความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้น ใจกระทบธรรมารมณ์เกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา ก็ให้มีสติรู้ทันความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้น อย่างจิตมันสงบ ความสงบสงัดของจิตอะไรนี่มันก็เป็นธรรมารมณ์ รู้ด้วยใจ พอจิตมันสงบแล้วเราก็ติดอกติดใจ พอใจในความสงบ อาลัยอาวรณ์อะไรอย่างนี้ หิวโหยความสงบ เรียกว่าเราหลงรักความสงบเข้าแล้ว เรายินดีกับมันเข้าแล้ว ให้มีสติรู้ทัน

 

ฝึกในการถือศีล
ฝึกในการทำในรูปแบบ
ฝึกในการเจริญสติอยู่ในชีวิตประจำวัน
ถ้าพวกเราทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราก็จะเจริญในธรรมได้
ถ้าขาดตกบกพร่องอันใดอันหนึ่ง ไม่มีทางเจริญเลย

 

ฉะนั้นเวลาเราอยู่ในโลกข้างนอก อยู่ในชีวิตประจำวันเราไม่ได้ทำอะไรมากมาย เพราะมันมีอายตนะตั้ง 6 ตัว งานของเรามีอันเดียวคือจิตยินดียินร้ายต่อสภาวะใดๆ จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็ตาม ถ้าจิตยินดียินร้ายขึ้นมา มีสติรู้ทันลงไป เวลาฝึกในชีวิตประจำวัน รู้ทันจิตตัวเอง ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ รู้ทัน ยินร้ายก็รู้ทัน ตัวนี้เรียกว่าการสำรวมอินทรีย์ ศีลตัวนี้จะเกิดขึ้นเอง ตัวนี้คือศีลชั้นสูงเรียกว่าอินทรียสังวรศีล

เวลากระทบอารมณ์แล้วจิตเรายินดียินร้าย รู้ทัน จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลาง สงบสุข มีทั้งศีล มีทั้งสมาธิเกิดขึ้น แล้วมันเป็นการสะสมแต้ม สะสมปัญญาเรื่อยๆ ไป ถึงจุดหนึ่งปัญญามันก็เกิด มันเกิดความรู้ถูก เกิดความเข้าใจถูก ปัญญาไม่ใช่เรื่องที่เราคิด เรื่องที่เราคิดมันไม่ใช่ปัญญา ถึงจะคิดธรรมะก็ไม่ใช่ปัญญา เขาก็เรียกปัญญาเหมือนกัน เรียกจินตามยปัญญา แต่ปัญญาที่เราต้องพัฒนาให้เกิดมรรคผลเป็นภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เหนือการคิด เป็นปัญญาที่เกิดจากการเห็น

พอเราฝึกในรูปแบบ เราฝึกให้ดีเถอะ จิตมันตั้งมั่นแล้ว พอออกมาอยู่กับโลกข้างนอก พอกระทบอารมณ์แล้ว จิตเกิดยินดียินร้าย รู้ทัน เราไม่ได้รู้ที่ 6 ช่องทาง เรารู้อยู่ช่องทางเดียวคือรู้อยู่ที่จิตอันเดียวนี่เอง นี่การภาวนามันจะทำได้ ถ้าบอกว่าตาเห็นรูป กำหนดลงไปที่ตา หูได้ยินเสียง กำหนดลงที่หูอะไรอย่างนี้ ไม่ทันกินหรอก เพราะการกระทบอารมณ์นั้นเกิดรวดเร็วมากเลย เกิดทางตาก็ชั่วขณะจิตเดียว แล้วจะไปกำหนดอะไรทัน ตรงที่กำหนดนี่จิตฟุ้งซ่านเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นเราไม่ต้องไปควบคุมการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เมื่อมันกระทบแล้ว มันยินดีให้รู้ทัน มันยินร้ายแล้วให้รู้ทัน อินทรียสังวรศีลจะเกิดขึ้น มันเป็นการสำรวมอินทรีย์

สำรวมอินทรีย์ไม่ใช่ว่ามีตาก็ไม่ดู มีหูก็ไม่ฟัง มีใจก็ไม่คิด ไม่ใช่ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีใจก็คิด แต่พอกระทบอารมณ์แล้วยินดีให้รู้ทัน ยินร้ายให้รู้ทัน อย่างนี้เรียกว่าเราสำรวมอินทรีย์ เราได้ศีล เรียกว่าอินทรียสังวรศีล แล้วการที่เราสำรวมอินทรีย์ จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน กระเพื่อมไปกระเพื่อมมา สมาธิมันก็จะเกิด เกิดอยู่ทั้งๆ ที่ลืมตานี่ล่ะ จิตก็มีสมาธิอยู่ มันเป็นคนละสมาธิกับตอนที่เข้าฌาน คนละแบบกัน อันนั้นเป็นสมาธิ อยู่อย่างนี้ก็มีสมาธิอยู่ แล้วต่อไปปัญญามันก็เกิด

ปัญญาบางทีก็เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมา เวลาเกิดความรู้ความเข้าใจ เราก็มีปีติ มีความสุข อิ่มเอิบอะไรขึ้นชั่วครู่ ไม่เกิน 7 วัน แล้วเวลามรรคผลเกิดก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นปัญญาในขั้นอริยมรรค มันล้างกิเลส ล้างสังโยชน์อะไรนี่ จิตใจก็มีความสุขมหาศาล มีความสุขอย่างมหาศาลเกิดขึ้น ครูบาอาจารย์ท่านเคยเล่าให้ฟัง ตอนที่ท่านปล่อยวางจิตได้ ท่านมีความสุขอยู่ตั้งปีกว่าๆ ท่านบอกอย่างนี้แล้วเสร็จแล้วท่านบอก “แล้วจิตเราก็เป็นอุเบกขา เราก็อยู่อย่างนี้แหละ ไม่มี ไม่เป็นอะไร” ท่านว่าอย่างนี้

ที่ท่านผ่านมาตรงนี้ได้ ท่านก็ผ่านการฝึก 3 อย่างนั้นเอง ฝึกในการถือศีล ฝึกในการทำในรูปแบบ ฝึกในการเจริญสติอยู่ในชีวิตประจำวัน ถ้าพวกเราทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราก็จะเจริญในธรรมได้ ถ้าขาดตกบกพร่องอันใดอันหนึ่ง ไม่มีทางเจริญเลย ไม่มีทางเลย ถ้าเราทิ้งการทำในรูปแบบบอกจะเจริญสติในชีวิตประจำวัน หลายคนมาบอกหลวงพ่อว่า “หนูไม่ทำในรูปแบบ หนูเจริญสติในชีวิตประจำวัน” หลวงพ่อเห็นหลวงพ่อก็ปลงสังเวช แน่สักแค่ไหน จิตไม่ได้มีสมาธิอะไรเลยแล้วบอกเจริญสติ เจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน มันทำไม่ได้ มันฟุ้งซ่านอยู่อย่างนั้น มันจะทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นการทำในรูปแบบสำคัญ ต้องทำ ถ้าไม่ทำนี่โอกาสพัฒนายาก ถ้าเราไม่ทำในรูปแบบ จิตจะไม่มีกำลังในการเจริญสติเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน

เราฝึกตัวเองทุกวันๆ จิตเราค่อยใสค่อยสว่าง ค่อยโปร่ง ค่อยเบาขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนของกิเลสที่ลดลง กิเลสนั่นละทำให้จิตมืด จิตบอด จิตหนัก พอเราเจริญสติเจริญปัญญาเรื่อยๆ ไป จิตค่อยโปร่ง ค่อยเบา ค่อยคลายออกๆ จิตก็เหมือนมันลอยขึ้นๆ เหนือโลก ไม่จมอยู่ในโลก ตัวโลกก็ตัวภพนั่นล่ะ จิตก็จมอยู่ในภพชนิดโน้นชนิดนี้ไปเรื่อย อาศัยฝึกเอา

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 พฤษภาคม 2564