วางอุเบกขากับลูกศิษย์

คนจีนน่ารักมาก มาลำบาก มาตั้งไกล อุตส่าห์พากเพียรมาเรียน หลวงพ่อสังเกตอย่าง คนจีนมาเรียนมีความตั้งใจสูง คือถ้าไม่ตั้งใจคงไม่มา คนไทยบางทีรู้สึกง่าย เรียนง่ายๆ มาเรียนเมื่อไรก็ได้ เปิด YouTube ฟังเมื่อไรก็ได้ ฉะนั้นความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นที่จะศึกษาบางทีก็สู้คนจีนไม่ได้

ธรรมะนั้นหลวงพ่อสอนทุกคนเสมอกัน สอนเหมือนๆ กัน เท่าเทียมกัน ไม่ได้แบ่งแยกว่าคนนี้สอนพิเศษ สอนในหลักการปฏิบัติเหมือนๆ กัน ทีนี้หน้าที่ของเราแต่ละคน คือทำให้ได้ ทำให้จริง หลวงพ่อมาตั้งแต่เด็ก หลวงพ่อเรียนจากครูบาอาจารย์ ตั้งแต่ 7 ขวบ ไม่เคยต้องให้ท่านสั่งครั้งที่สอง มาอยู่กับหลวงปู่ดูลย์ เรียนกับท่านตอนอายุ 29 เรียนสมาธิกับท่านพ่อลีตั้งแต่ 7 ขวบ 22 ปี ทำสมาธิทุกวันไม่เลิกหรอก สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง เพราะว่าครูบาอาจารย์บอกให้ทำก็ทำ

พอมาเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ท่านให้ดูจิต หลวงพ่อดูทุกวัน มีเวลาเมื่อไร ว่างตอนไหน ดูทันทีเลย ไม่ต้องให้ครูบาอาจารย์มาสั่งแล้วสั่งอีก แล้วหลวงพ่อก็สำรวจตัวเอง อะไรที่จะทำให้เราปฏิบัติไม่ได้ อย่างความคลุกคลีวุ่นวายกับโลกกับคนอื่นโดยไม่จำเป็น หลวงพ่อเว้นหมด ทำงานแล้วกลับบ้าน ไม่ไปเที่ยวเฮฮาเหมือนคนอื่นเขา ทำงานก็เก็บวันลาไว้ ถึงเวลาถึงปี ก็ลาไปภาวนาอยู่กับครูบาอาจารย์ วันลาไม่ได้หมดไปกับการท่องเที่ยว วันลานั้นหมดไปกับการปฏิบัติ หลวงพ่อดำรงตัวแบบนี้ มักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร ทำสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้นเราทำจริงจัง แล้วมีครูบาอาจารย์บอกทางให้เราทำถูกทาง เราก็พัฒนาเร็ว

ครูบาอาจารย์นั้นเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ทุกองค์ล่ะ คือก่อนที่ท่านจะสบาย ท่านลำบากหนักหนาสาหัสมาแล้วทุกองค์ ฉะนั้นท่านจะมีธรรมชาติ เห็นอกเห็นใจ อยากให้ลูกศิษย์ได้ดี อยากให้ทุกคนทุกข์น้อยๆ ให้ชีวิตมีความสุขประสบความสำเร็จ ครูบาอาจารย์ทุกองค์ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาจะมีความรู้สึกอย่างเดียวกัน มองลูกศิษย์ลูกหา มองทุกคน มองกระทั่งสัตว์เดรัจฉาน ด้วยความเมตตาสงสาร อันนี้เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง เพราะใจที่ไม่มีโทสะ จะเปลี่ยนเป็นเมตตาอัตโนมัติ

บางทีครูบาอาจารย์เห็นพวกเราปฏิบัติย่อหย่อนหรือว่ามีจุดอ่อนตรงไหน ก็พยายามชี้ พยายามบอก พยายามเตือน อย่างหลวงพ่อเตือนพวกเราเรื่องการเป็นตุ่มรั่ว เป็นถังน้ำที่รั่ว ถึงเวลาก็ไปภาวนาเติมน้ำลงไปในถัง ประเดี๋ยวเดียวถังก็รั่ว น้ำก็ไปหมดอีกแล้ว อีกวันหนึ่งก็มาทำอีกแล้ว แล้วก็เสื่อมไปอีก ครูบาอาจารย์ก็เตือน อย่าทำตัวเป็นตุ่มรั่ว อยากได้ของดี ใจต้องเข้มแข็ง ต้องกล้าเสียสละของไม่ดีออกไป ถ้าอยากได้ของดีแต่ว่าสงวนรักษาของไม่ดีเอาไว้ ไปไม่รอด

ไม่ได้พูดตามทฤษฎี พูดจากการปฏิบัติมาเลย ถ้าเราตามใจกิเลส กิเลสมันก็ใหญ่ ยิ่งสู้ยากขึ้นทุกที เพราะกิเลสมันโตเร็ว เมื่อวานยังคุยกับพวกพระอยู่เลย หรือคุยกับโยม จำไม่ได้ สงสัยจะโยม บอกเวลาเราปฏิบัติธรรม กว่าจะค่อยๆ ดีขึ้น เหมือนเราปลูกต้นไม้ ปลูกตั้งปีหนึ่งโตขึ้นมาศอกหนึ่ง เวลาตัดต้นไม้แป๊บเดียว ต้นไม้อายุ 100 ปี ตัด 10 นาที

การที่เราจะยกระดับจิตใจตัวเอง มันยาก ต้องอดทน ต้องพากเพียรต่อเนื่อง แต่การจะทำลายคุณงามความดีในจิตของเรา ใช้เวลานิดเดียว การที่เราไม่มักน้อย ไม่สันโดษ ชอบคลุกคลี ไม่ปรารภความเพียร เรารู้สึกไม่เห็นอันตรายเท่าไรเลย บางทีเราไปวุ่นวายกิจกรรมรู้สึกเป็นบุญด้วยซ้ำไป ไปทำบุญ ทำอะไร แต่มันก็คือความคลุกคลี ไปด้วยใจที่วุ่นวาย กรรมฐานมันก็เสื่อม

หลวงพ่อบอกให้ว่า ที่หลวงพ่อเห็นมา คนเรามีแรงต่อสู้ช่วงหนึ่งเท่านั้นเอง พอเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม ผ่านไปช่วงหนึ่ง หมดกำลัง ก็ยอมปล่อยให้มันเสื่อมไป เหมือนเราจะว่ายน้ำข้ามแม่น้ำ ว่ายไปได้นิดหนึ่ง เหนื่อย ก็ว่ายกลับเข้าฝั่ง หายเหนื่อยแล้วลงไปว่ายใหม่ เดี๋ยวก็ว่ายเข้าฝั่งอีกแล้ว สุดท้ายก็เลิกว่าย ไม่มีกำลังใจจะว่ายน้ำ อย่าว่าแต่โยมเลย พระก็เหมือนกัน พระตั้งอกตั้งใจภาวนา มาบวชใหม่ๆ บวชแล้วก็เถลไถลบ้าง อะไรบ้าง เจริญแล้วเสื่อมไปเรื่อย พอหลายๆ พรรษา ก็ขี้เกียจปฏิบัติแล้ว ไม่ทำ

ที่ผ่านมา หลวงพ่อก็มองพวกเรา ด้วยความเมตตาสงสาร ไม่อยากให้ทุกข์นาน พยายามจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรา บางคนก็รู้สึก หลวงพ่อจู้จี้เหลือเกิน บีบคั้นบังคับมากเหลือเกิน จะให้ทำอย่างโน้น จะไม่ให้ทำอย่างนี้ เบื่อ เบื่อหน่าย อยากจะตามใจกิเลส

ที่จริงความรู้สึกอย่างนี้มันมีมาตั้งแต่พุทธกาลแล้วล่ะ ตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระมหากัสสปะ ท่านก็พาลูกศิษย์ท่านรีบเดินทาง จะมางานศพพระพุทธเจ้า จะเผาศพ 7 วันจะเผาศพ ท่านรีบเดินทางทั้งวันทั้งคืนมากัน พวกพระส่วนใหญ่ก็เศร้าโศกว่า พระพุทธเจ้าไม่อยู่แล้ว ต่อไปใครจะสอนเรา ก็มีพระองค์หนึ่ง พระแก่ๆ จำชื่อแกไม่ได้แล้ว สุภัททะ หรืออะไรนี่ล่ะ จำไม่ได้ แกก็ปลอบเพื่อนพระด้วยกัน บอกว่าอย่าเสียใจเลย ควรจะดีใจ พระสมณโคดมปรินิพพานไปแล้ว ต่อไปนี้ไม่มีใครจ้ำจี้จ้ำไชเราแล้ว ไม่มาคอยบอกว่าอย่าทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ทำให้พวกเราลำบาก

พระมหากัสสปะท่านได้ยิน ท่านสลดสังเวชมาก คนอย่างนี้ก็มีด้วย อยู่กับครูบาอาจารย์ที่เลิศที่สุด ก็ยังรู้สึกน่าเบื่อ น่ารำคาญ จู้จี้จุกจิก รู้สึกกับพระพุทธเจ้าอย่างนั้น ท่านก็เลยรู้สึกว่าพระศาสนาคงไม่ยั่งยืนหรอก พอเผาศพพระพุทธเจ้าเสร็จ ท่านก็เลยประชุมพระอรหันต์ เราต้องรีบทำสังคายนา สรุปธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน จัดหมวดหมู่ให้คนเรียนได้ง่ายๆ ไม่อย่างนั้นต่อไปเละแน่

 

 

ที่หลวงพ่อพยายามสอนพวกเรา ไม่ใช่เพื่อตัวหลวงพ่อ แต่หลวงพ่อสงสาร เห็นอกเห็นใจ เราก็เคยทุกข์ เคยลำบากมาก่อนในการปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าสบาย อดทนมากเลยในการฝึกตัวเอง บางครั้งใจก็อยากไปเที่ยวกับเพื่อน ไม่เอา เขามีงานอะไรบางทีก็อยากไป อยากสนุก อยากเฮฮา เหมือนคนอื่น แต่ก็ไม่ไป แทบจะเรียกว่างานเดียวที่ไปคืองานศพ งานศพไปแล้วไม่ฟุ้งซ่าน ทีนี้เคี่ยวเข็ญพวกเราเยอะๆ บางคนก็เบื่อ บางคนก็รำคาญ ไม่ได้ทำอะไรตามใจชอบ

เมื่อคืนหลวงพ่อก็ภาวนา ก็นอน ก็ได้ยินเสียงครูบาอาจารย์ ท่านมาบอกให้อุเบกขา เราหามทุกคนไปนิพพานไม่ได้หรอก สอนให้แล้วก็แล้วกัน ทำก็เจริญ ไม่ทำก็ไม่เจริญ ท่านสั่งหลวงพ่อบอกว่า ให้อุเบกขาได้แล้ว เราไปแบกทุกคนไปนิพพาน ทำไม่ได้หรอก ทีนี้ครูบาอาจารย์สั่งแล้ว หลวงพ่อก็ทำ ต่อไปนี้จะไม่จ้ำจี้จ้ำไชอีกต่อไปแล้ว ถ้าสอนก็สอนรวมๆ อย่างนี้ จะไม่ไปไล่กวดขันทีละคนแล้ว เอาตัวเองให้รอดก็แล้วกัน จะฟังพระธรรม หรือจะฟังกิเลส ตัดสินเอาเอง เลือกทางเอาเอง ไม่มีใครทำกรรมฐานแทนใครได้หรอก

อย่างหลวงพ่อพยายามบอก ให้มักน้อย ให้สันโดษ อย่าคลุกคลี ให้ปรารภความเพียร ให้รักษาศีล ให้ฝึกสมาธิ ให้เจริญปัญญา สอนเส้นทางที่เราจะเดิน ไม่ได้สอนแบบกางตำราสอน สอนมาจากประสบการณ์ อย่าว่าแต่โยมเลย พระแค่ไม่มักน้อยก็เอาตัวไม่รอดแล้ว สู้กิเลสไม่ได้

หลวงพ่อสอนพระของหลวงพ่ออยู่เสมอเลย ว่าเวลาคนเขามาปวารณา ว่าจะให้โน้นให้นี้ ต้องดูก่อนจำเป็นไหม ไม่จำเป็นไม่เอา ถ้าเขาปวารณาให้มาก ก็เอาน้อยเท่าที่จำเป็น อย่างเขาจะให้ข้าว 10 จาน เอาจานเดียว เอาไปทำไม 10 จาน บางที่ บางองค์ ใครปวารณา เรียกตลอดเวลาเลย เอาโน้นเอานี้ จนกระทั่งโยมไม่ไหว

เมื่อก่อนมีพี่คนหนึ่ง ผู้หญิง แกรวย แกมีรถเบนซ์ แล้วก็มีรถโตโยต้าอีกคัน มีรถหลายคัน แกไปเลื่อมใสพระองค์หนึ่ง แกก็ปวารณาว่าท่านจะไปธุระที่ไหน ให้บอก จะจัดรถพร้อมคนขับมาให้ ไปทุกวันเลย ไปทุกวันแกก็ไม่ว่า เสร็จแล้วพระนั้นใจกำเริบ บอกทำไมเอารถญี่ปุ่นมาให้ใช้ มีรถเบนซ์ ทำไมไม่เอารถเบนซ์มาให้ ตัวเองก็เขาเป็นนักธุรกิจน่ะ จะให้เขาขี่รถธรรมดาๆ ไปทำธุรกิจก็ลำบาก นี่ไม่มักน้อย ไม่สันโดษ โลภมาก จากโยมที่เขาเคยศรัทธา เขาก็เสื่อมศรัทธา คนที่รู้ที่เห็นที่เขาไม่ศรัทธามาก่อน เขายิ่งไม่ศรัทธาใหญ่เลย

การที่พระไม่ทำที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านบอกว่าทำให้คนที่มีศรัทธาอยู่แล้วเสื่อมศรัทธา ทำให้คนที่ไม่ศรัทธาก็ยิ่งไม่ศรัทธาใหญ่ ก็เลยไม่สนใจศึกษาธรรมะ ฆราวาสก็เหมือนกัน พวกเราปฏิบัติธรรม พวกเราเคยเจอไหมปัญหานี้ เวลาเราจะไปทำไม่ดี สมมุติเราจะไปกินเหล้า พอคนเห็นเขาก็ว่าแล้ว “โอ๊ย ปฏิบัติธรรมอย่างไร กินเหล้า” หรือเราบางคนขี้เราโมโห ปฏิบัติธรรมแล้วก็ยังโมโห ห้ามไม่ได้ คนก็จะด่าเอา “โอ๊ย เข้าวัดอย่างไร ยังขี้โมโหอีก” คนเขามองไม่ได้เสียเฉพาะตัวเรา เวลาเราบกพร่อง พาดพิงเสียไปถึงพระศาสนาด้วย

หลวงพ่อถึงเตือนพระของหลวงพ่อ เราเป็นหน้าเป็นตา เป็นตัวแทนของพระศาสนา คนเขามองมา เจอพระไม่ดีเขาก็บอกศาสนาไม่ดี คือเขาไม่ได้มีปัญญาแยกแยะ พวกเราก็เหมือนกัน เรียนกับหลวงพ่อ พอเราไปทำอะไรไม่ดี คนเขาไม่ได้ด่าแค่ตัวเรา เขาด่าว่า “ลูกศิษย์อาจารย์ปราโมทย์ทำไมเป็นอย่างนี้” เขาด่าอย่างนี้

แต่มันเรื่องธรรมดา เรื่องคนชมคนด่า หลวงพ่อไม่ได้สนใจหรอก ในโลกไม่มีใครที่ถูกด่า ถูกชมอย่างเดียว ทุกคนถูกนินทาว่าร้ายเป็นเรื่องปกติ แต่ที่สงสารคือพวกเราเองล่ะ มันจะภาวนายาก แล้วคนมองหลวงพ่อเสียหายไม่เป็นไรหรอก หลวงพ่อไม่ได้กระเทือนอะไร อีกไม่กี่ปีเราก็ไม่อยู่แล้ว แต่คนเขามองพระศาสนา ในทางไม่ดี อันนี้เรื่องใหญ่ “โอ๊ย คนเข้าวัดปฏิบัติธรรม ความประพฤติไม่ดี ศาสนาพุทธน่ะไม่ดีหรอก” ฉะนั้นชาวพุทธเรา เวลาเสียไม่ได้เสียเฉพาะตัว เสียไปถึงพระศาสนาด้วย ตัวนี้ต้องระวัง

 

 

ปกติก็ไม่อยากเทศน์อย่างนี้หรอก แต่ว่าครูบาอาจารย์ท่านเตือนหลวงพ่อว่าให้ปล่อยพวกเราแล้ว ให้อุเบกขา ใครจะดี ใครจะเลว สอนให้แล้ว ทำเอาเอง อยากเฮฮาปาร์ตี้อะไรก็เอาตามใจ พอผ่านวันผ่านเวลาไปเราจะพบความแตกต่าง คนที่ภาวนา กับคนที่ไม่ได้ปฏิบัติ ผ่านไปช่วงหนึ่ง เริ่มต้นเหมือนๆ กัน นิสัยใจคอเสมอกัน คนหนึ่งภาวนาไม่เลิก อีกคนหนึ่งไม่ภาวนา ผ่านไปไม่กี่ปี ความแตกต่างเกิดขึ้นชัดเจน

อย่างหลวงพ่อภาวนามาตลอด ตอนภาวนาพวกเพื่อนๆ ก็หัวเราะ เห็นคนปฏิบัติธรรมเป็นคนประหลาด หัวเราะ เราก็ไม่ว่าอะไร หัวเราะก็หัวเราะไป ชวนหลวงพ่อไปกินเหล้า “โอ๊ย กินไม่ได้ เราแพ้” บอกอย่างนี้ ตอบเขา “กินไม่ได้ แพ้” มันก็นึกว่าเราแพ้ทางร่างกาย เปล่า เรากลัวแพ้กิเลส ขืนไปกินเราแพ้

พอเราประพฤติอย่างนี้สม่ำเสมอ ศีลเรารักษา สมาธิเราฝึก เรียนความจริงของโลก ของกาย ของใจ ของรูปนาม ตอนนี้ไปดูพวกเพื่อนๆ ที่โตมาด้วยกัน ก็เป็นตาแก่ ยายแก่ หงำเหงอะ ไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัว บางคนก็จมอยู่กับความเศร้าโศก บางคนก็จมอยู่กับอดีต บางคนคิดถึงอดีต โอ้ มีความสุข ก็เพ้อๆ ฝันๆ ถึงความสุขที่ผ่านไปแล้ว บางคนก็ โอ๊ะ อนาคตเรามีแต่แย่ลงๆ จิตใจหดหู่ ซึมเศร้า บางคนอยู่กับปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ปัจจุบันแบบธรรมะ อยู่กับปัจจุบัน คือวันนี้ลูกหลานจะมาเยี่ยมไหม ไม่มาก็คับแค้นใจ พอมาปุ๊บ ด่าเลย มันก็เลยเข็ด มาเมื่อไรก็โดนด่า มาเมื่อไรก็โดนด่า ก็เลยไม่อยากมา

นี่ล่ะคนไม่ภาวนา คิดไปอดีตก็ทุกข์ คิดไปอนาคตก็ทุกข์ อยู่กับปัจจุบันก็ทุกข์ ไม่เหมือนคนปฏิบัติ หลวงพ่อยังคุยกับคุณแม่เลย ทำไมเรามีความสุขมหาศาล เราไม่ได้มีอะไรมากมายทางวัตถุ มีกุฏิอยู่หลังหนึ่ง เสื้อผ้าเราก็มีอยู่ชุดเดียว กินข้าวก็กินอย่างนี้ ทำไมเรามีความสุขมหาศาล มันเป็นความสงบสุข สงบสุข จิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้ พวกเราก็พยายามฝึกตัวเองเข้า จะได้มีความสุข

เมื่อก่อนหลวงพ่อ ตอนภาวนาใหม่ๆ ใจมันก็ยังอยากไปสนุกกับโลกเขา เวลาเข้าไปกราบครูบาอาจารย์ เห็นครูบาอาจารย์ผู้แก่ผู้เฒ่า ทำไมท่านแก่อย่างนั้น ดูท่านมีความสุข ทำไมท่านสว่าง ทำไมท่านผ่องใส ฉะนั้นเราต้องเอาอย่างท่าน ไม่ได้ขอเป็นอย่างท่าน เราสนใจว่าท่านทำอย่างไร แล้วท่านถึงมีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุขได้ขนาดนั้น เราก็รู้ว่าท่านรักษาศีล ท่านฝึกจิตของท่าน แล้วท่านมีสติ ในชีวิตประจำวันมีสติตลอดเวลา ท่านก็ได้สิ่งที่สมควรกับท่าน ท่านก็ไม่ได้ปิดบังเส้นทางที่ท่านเดินมา ท่านก็พยายามบอก พยายามสอน คนส่วนน้อยที่เดินตาม

สมัยพุทธกาลก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าสอนธรรมะ คนส่วนน้อยที่เดินตามพระพุทธเจ้า ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นทฤษฎีเดียรถีย์อะไรนี้ อ้อนวอนให้เทวดาช่วยอะไรต่ออะไร ยุคนี้ก็ไปไหว้พญานาค ขอโชคขอลาภ น่าสงสาร ไม่ได้เชื่อเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม คิดแต่จะร้องขอ บวงสรวงสังเวยเทวดาให้ช่วยโน้นช่วยนี้ ไม่ได้ช่วยตัวเอง ชีวิตน่าสงสารอยู่กับความไม่มีเหตุผล

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
14 กรกฎาคม 2566