จิตใจเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เวลาเราภาวนา เราก็สังเกตจิตใจของเราไป เราจะพบว่าจิตใจของเราแต่ละวันไม่เหมือนกันหรอก บางวันสงบ บางวันฟุ้งซ่าน บางวันกิเลสแรง บางวันกิเลสไม่แรง สังเกตไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ รู้ไป สมมติเมื่อวานหงุดหงิดทั้งวัน วันนี้ซึมๆ ไม่หงุดหงิด แต่ซึมๆ อะไรอย่างนี้ อีกวันหนึ่งเปลี่ยนจากซึม มีความสุขอะไรอย่างนี้

แต่ละวันจิตใจของเราไม่เคยเหมือนกันเลย แล้วเราก็บังคับไม่ได้ เขาสอนธรรมะเรา สอนความไม่เที่ยงให้เราเห็น วันนี้เป็นอย่างนี้ๆ มีแต่ความไม่เที่ยง แล้วก็เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ สั่งให้ดีก็ไม่ได้ ห้ามชั่วก็ไม่ได้ สั่งให้สุขก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ ค่อยๆ สังเกต แต่ละวันจิตเราไม่เหมือนกัน พอเราดูตรงนี้ออก เราก็มาสังเกตให้ละเอียดขึ้นไป ในวันเดียวกัน แต่ละช่วงเวลา จิตใจเราก็ไม่เหมือนกัน ตอนเช้า จิตใจเราแบบหนึ่ง ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนเย็น ตอนค่ำ ตอนดึก วันเดียวกันแท้ๆ จิตใจเราก็ไม่ค่อยเหมือนกันแล้ว เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

 

ค่อยๆ ปฏิบัติ ทำสม่ำเสมอไป ทีแรกรู้หยาบๆ
พอดูได้ละเอียด เราจะเห็นจิตใจเราเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

อย่างคนทำงาน จะต้องรีบไปตอกบัตรตอนเช้าอะไรอย่างนี้ จิตใจมันจะเลิ่กลั่กๆ ไม่ค่อยสงบ ไปถึงที่ทำงานทันเวลา จิตใจรู้สึกสบายผ่อนคลาย เริ่มทำงาน ทำงานเจอเพื่อนร่วมงาน หรือเจอลูกค้ากวนประสาท หงุดหงิดแล้ว จากที่สบายใจก็เปลี่ยนเป็นหงุดหงิดใจ ถึงเวลาจะกินข้าว งานยังไม่เสร็จเลย รีบ ไม่ได้กินข้าวอะไรอย่างนี้ ความรู้สึกมันก็เป็นแบบหนึ่ง ตั้งแต่เช้า ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ในวันเดียวกัน แต่ละช่วงเวลา จิตใจเราไม่เหมือนกัน

อย่างหลวงพ่อตอนรับราชการ ตอนนั้นงานมันเลิก 4 โมงครึ่ง ถ้าทำงานทันไม่ต้องทำนอกเวลา พอราวๆ 4 โมง งานยังไม่ทันเสร็จเลย แต่ว่าเสร็จทันแน่ 4 ครึ่ง แหม จิตใจมันเริ่มสบายใจ จิตใจเริ่มมีสมาธิ สงบ สบาย มีความสุข เราลองสังเกตตัวเอง เราจะมีช่วงเวลาในแต่ละวัน มันจะมีช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย เป็นช่วงเวลาที่ภาวนาง่าย

อย่างหลวงพ่อสังเกตตัวเอง ช่วงบ่ายๆ บ่าย 3 บ่าย 4 อะไรนี่ จิตจะมีกำลัง ตั้งแต่ตอนทำงานแล้วล่ะ จิตใจมันเริ่มมีความสุข ถ้างานไม่เร่งด่วน ถ้ามีงานเร่งด่วน จิตมันก็หมกมุ่นกับการทำงาน วุ่นวาย แต่ถ้าจิตมันไม่ได้มีภาระอะไรมาก มันผ่อนคลาย รู้เนื้อรู้ตัวได้โดยที่ไม่ได้เจตนา เวลาที่ภาวนาได้อะไรดีๆ สำหรับหลวงพ่อมันจะเป็นช่วงบ่ายๆ ช่วงบ่ายๆ ช่วงเย็นๆ ไม่เย็นมาก ช่วงบ่ายๆ เป็นช่วงที่การภาวนากระปรี้กระเปร่า แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนต้องดึกๆ จิตใจถึงจะพร้อมที่จะภาวนา บางคนต้องตื่นเช้าจิตใจพร้อมตอนเช้า

เราสังเกตตัวเอง เริ่มสังเกตหยาบๆ หัดสังเกตว่าแต่ละวันจิตใจเราไม่เหมือนกัน ต่อมาเราก็สังเกตได้ละเอียดขึ้น ในวันเดียวกัน แต่ละช่วงเวลา จิตใจเราไม่เหมือนกัน แล้วช่วงเวลาไหนที่จิตใจเรามีกำลัง พร้อมที่จะเจริญสติเจริญปัญญา พยายามสงวนเวลาช่วงนั้นไปภาวนาให้หนักๆ ช่วงนั้น ถ้าทำได้ เพราะถ้างานติดพันมันก็ทำไม่ได้

พอเราภาวนาไปเรื่อยๆ ต่อไปเราดูได้ละเอียดขึ้นอีก อย่างตอนเช้า เราบอกว่าจิตใจเรากังวล กลัวจะไปทำงานไม่ทันอะไรอย่างนี้ ถ้าสังเกตให้ดี ในช่วงเช้าจิตใจเราไม่ได้กังวลตลอดเวลา มันกังวลตอนที่คิดถึงว่าจะเดินทางไปทำงานทันหรือเปล่า ถ้าตอนนั้นจิตมันไปคิดเรื่องอื่น มันก็ลืมความกังวล ฉะนั้นในแต่ละช่วงเวลา จิตใจเราก็เปลี่ยนแปลงไปตั้งหลายแบบ

อย่างตอนค่ำ จิตใจเราก็เปลี่ยนแปลงไปตั้งเยอะตั้งแยะ อย่างตอนค่ำๆ เราไหว้พระสวดมนต์ จิตใจเรายังฟุ้งซ่านอยู่ สวดมนต์ไปเรื่อยๆ จิตมันก็สงบ ช่วงค่ำๆ บางทีจิตก็ฟุ้ง บางทีจิตก็สงบ บางทีจิตก็มีราคะอะไรขึ้นมา เราจะเห็นในช่วงเวลาเดียวกันจิตก็เปลี่ยนแปลงเสมอ มันเปลี่ยนแปลงไปตามความคิด

อย่างเราคิดกังวลเรื่องจะไปทำงานทันไหมอะไรอย่างนี้ จิตมันก็กังวลขึ้นมา มันคิดอย่างสบายใจ เช้าวันศุกร์อย่างนี้ ความรู้สึกเราไม่เหมือนเช้าวันจันทร์ เช้าวันอังคาร เช้าวันจันทร์ เช้าวันอังคารกับวันพุธจิตก็ไม่เหมือนกัน ในเวลาเช้าๆ ด้วยกัน อย่างเช้าวันพุธ จะรู้สึกเบื่อๆ เช้าวันพฤหัสบดี จิตใจเริ่มกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาแล้ว เช้าวันศุกร์ แหม กระดี้กระด๊าแล้ว ไปสังเกตตัวเอง แต่ละช่วงเวลาจิตใจเราไม่เหมือนกัน แล้วคนละวัน ช่วงเวลาเดียวกัน จิตใจก็ไม่เหมือนกัน

พอดูไปชำนิชำนาญ เราจะเห็นเลย จิตใจเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เวลาเรามองเห็นรูป เห็นผู้หญิงสวยๆ เดินมาอย่างนี้ จิตมันไปมอง มันไปรู้เห็น มันพิจารณา รู้ผู้หญิงคนนี้สวยๆ ถูกสเป็กอะไรอย่างนี้ ราคะมันก็เกิด มองเห็นผู้หญิงสวยคนเดิมล่ะ แต่เดิมเป็นแฟนเรา ตอนนี้ไปเป็นแฟนคนอื่น คนเดิม หน้าตาก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไร ก็ยังเหมือนเดิม แต่พอเราคิดได้ โห มันไปชอบคนอื่นแล้ว นึกว่าจะยอมเป็นแฟนเรา กลายเป็นแฟนเพื่อนของเรา จิตกลายเป็นมีโทสะขึ้นมา รู้สึก

ทั้งๆ ที่เห็นรูปอย่างเดิม รูปผู้หญิงคนเดิม แต่ความคิดมันไม่เหมือนเดิมแล้ว สัญญามันเข้าไปหมายรู้ว่าตรงนี้จำได้ มันจำได้ ไม่ใช่หมายรู้ มันจำได้ว่าเลิกกับเราแล้ว ไปชอบเพื่อนเราแทน โทสะมันก็ขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาตาเห็นรูป ใจมันคิดพิจารณา แล้วมันก็เกิดราคะบ้าง เกิดโทสะบ้าง เกิดหลงบ้าง เกิดสุขบ้าง เกิดทุกข์บ้าง มันตามหลังความคิดมาอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นตัวความปรุงแต่งในจิตในใจเรา จะปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว มันตามหลังความคิดมา

เราค่อยๆ ปฏิบัติ ทำสม่ำเสมอไป เราก็เห็นได้ประณีตขึ้น ทีแรกรู้หยาบๆ แต่ละวันจิตเราไม่เหมือนกัน ในวันเดียวกัน เช้า สาย บ่าย เย็น ไม่เหมือนกัน นึกถึงวันก่อนช่วงเวลาเดียวกัน แต่ละวัน จิตใจก็ไม่เหมือนกัน พอดูได้ละเอียด เราจะเห็นจิตใจเราเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ในช่วงเวลาเช้าๆ จิตก็เปลี่ยนไปตั้งเยอะตั้งแยะ

อย่างหลวงพ่อตอนเป็นโยม ทำงาน สมัยนั้นรถมันติด มันไม่มีหรอกรถไฟฟ้าอะไร มีแต่รถเมล์กับรถส่วนตัว รถส่วนตัวคนก็ไม่ค่อยมีเท่าไรหรอก บ้านเมืองในยุคนั้นไม่ใช่คนร่ำรวยมากนัก มันเป็นยุคก่อร่างสร้างตัว สร้างบ้านสร้างเมือง บ้านเมืองก็ยังสงบอยู่ แต่ว่าตอนเช้าแย่งกันไปทำงาน รถเมล์ไม่ค่อยมี คนแน่น ใจมันก็กังวล ต้องไปต่อสู้ ต้องไปแย่งกันขึ้นรถอะไรอย่างนี้

ไปถึงที่ทำงาน ยังเหลือเวลา เดินเข้าไปทำงานเห็นต้นไม้ เห็นดอกไม้ เห็นนกอะไรอย่างนี้ ในกรุงเทพฯ ก็ยังมีนกมีอะไรเยอะ เข้าไปเห็นอย่างนี้ จิตใจที่เร่าร้อน กลัวจะทำงานไม่ทัน ก็ดับไปแล้ว กลายเป็นจิตที่มีความสุขผ่อนคลายอะไรอย่างนี้ พอคิดถึงงานๆ ใจเริ่มกังวลแล้ว จะทำงานนี้จะออกแนวไหนดี จะวิเคราะห์เรื่องนี้อย่างไรดี จะต้องหาข้อมูลอะไรเพิ่ม จะต้องติดต่ออะไรกับใคร ใจก็คิดอุตลุดเลย

 

ภพที่สำคัญคือภพย่อยๆ ภพที่เปลี่ยนแปลงอยู่ในใจเราตลอดเวลา

เราสังเกตไป แต่ละช่วงเวลา พอความคิดเราเปลี่ยน จิตเราก็เปลี่ยน ตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์ ใจกระทบอารมณ์ มันเกิดความจำได้ เกิดการตีค่าอารมณ์อันนั้น อารมณ์นี้ดี อารมณ์นี้ไม่ดี อารมณ์นี้น่าชอบใจ อารมณ์นี้ไม่น่าชอบใจ แล้วมันก็เลยปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วขึ้นมา อย่างอารมณ์นี้น่าชอบใจ ก็มีความสุขเกิดขึ้น อารมณ์นี้ไม่น่าชอบใจก็มีความทุกข์เกิดขึ้น

มันเกิดจากการที่เราพิจารณา จิตมันทำเอง จิตมันพิจารณาอารมณ์เองว่าอารมณ์นี้ เป็นการให้ค่า อารมณ์นี้ดีหรือไม่ดี เป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ชอบ อารมณ์ที่ไม่ชอบ พอเป็นอารมณ์ที่ชอบ ราคะก็แทรก มีความสุข พอมีความสุข ราคะก็แทรก พอกระทบอารมณ์นี้ ตีความแล้ว อารมณ์นี้ไม่ดี ก็ไม่มีความสุข โทสะก็แทรก นี่กระบวนการที่จิตมันทำงาน

พอมีราคะ พอมีโทสะขึ้นมา คราวนี้จิตก็ดิ้นรนไปตามอำนาจของกิเลสแล้ว พอมีราคะขึ้นมาก็ชอบ อย่างเราได้รับอารมณ์ที่ดี ถูกอกถูกใจ เราก็อยากให้อารมณ์นี้คงอยู่นานๆ พออารมณ์นี้หายไป เราก็อยากให้อารมณ์นี้กลับมา บางทีเราก็นึกถึงใช่ไหม ในอดีตที่ผ่านมามีความสุข อยากให้วันเวลาย้อนคืนมา อยากให้ได้อารมณ์อันนั้นมา

ความอยากให้ได้อารมณ์มา เรียกว่ากามตัณหา พอได้อารมณ์ที่พอใจมา อยากรักษาอารมณ์อันนั้นไว้ เรียกว่าภวตัณหา ภวคือภพ ภวตัณหา พอได้อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ก็อยากให้มันหมดไปสิ้นไป ก็เรียกว่าวิภวตัณหา พอตัณหาคือตัวความอยาก มันเกิดขึ้น มันดูไม่ยากหรอก อย่างอารมณ์ที่เราชอบใช่ไหม เราก็รักใคร่ผูกพันๆ เราก็มีความอยาก

อย่างเรารักลูกอย่างนี้ เราผูกพันอยู่กับลูกเรา มันก็มีความอยากเกิดขึ้น อยากให้ลูกอยู่ในสายตา อยากให้ลูกมีความสุข อยากให้ลูกสบาย มีความอยากเกิดขึ้นมากมาย แล้วถ้าตอนนี้ลูกเราก้าวหน้าดี เราก็อยากให้ได้รับตำแหน่งอันนี้ ไม่ถูกคนอื่นมาแย่ง ไม่มาแย่งตำแหน่ง ความอยากมันเกิด หรือบางทีลูกเราไปมีเขย มีสะใภ้ เราไม่ชอบ อยากให้สะใภ้นี้มันตายๆ ไป อยากให้ลูกเขยมันตายๆ ไป นี่คือความอยาก ย่อลงมาก็คืออยากได้อารมณ์อันนี้มา อยากรักษาอารมณ์นี้ไว้ อยากให้อารมณ์อันนี้หมดไปสิ้นไป

พอความอยากเกิดขึ้น จิตใจมันจะเริ่มดิ้นแล้ว เราสังเกตไหม เวลาความอยากเกิดขึ้น ใจเราจะดิ้นรน อยากมาฟังเทศน์ ใจเราดิ้นรนไหม นี่อยากที่เป็นกุศล อยากมาฟังธรรม รู้สึกไหม กังวล จะตื่นกี่โมงดี ตั้งนาฬิกาไว้ บางคนตั้งนาฬิกาไว้ก็ยังกลัวอีก กลัวหลับเพลิน ไม่ได้ยินเสียงนาฬิกา นี่ใจมีความอยาก

แค่อยากจะไปวัด ใจก็ยังมีความกังวลขึ้นมา ขับรถมา ไม่เคยมาวัดสวนสันติธรรม จะหลงทางหรือเปล่า กูเกิ้ลจะพาเราเข้าไปทางป่าช้าหรือเปล่า เมืองชล ฮวงซุ้ยเยอะ ไม่รู้มันจะพาเราไปทางไหน อาจจะหลอกเรา จีพีเอสมันจะหลอกเราเก่ง ไม่ใช่กูเกิ้ลหมายถึงจีพีเอส มันกังวลไปเรื่อยๆ บางทีจีพีเอสบอกให้ไปทางนี้ ตามมันไปแล้วเละเทะเลย กลายเป็นพาเข้าไปในทุ่งนาอะไรอย่างนี้ บางทีจีพีเอสบอกให้ไปทางนี้ ก็ไม่เชื่อมัน ไปทางอื่น อ้าว รถติดแทบตาย กระทั่งจีพีเอสบอกเรา เรายังกังวลเลยว่าจริงไม่จริง ไปแล้วจะดีหรือไม่ดี

ถ้าเรามีความอยากเกิดขึ้น ใจมันจะดิ้น ปรุงแต่งไม่เลิกเลย เพราะฉะนั้นเวลาความอยากเกิดขึ้น ความปรุงแต่งของจิตใจจะเกิดขึ้น จะแต่งสารพัด กระเพื่อมไหว ถ้าเราภาวนาเราจะเห็น ใจมันจะกระเพื่อมไหว อย่างโน้นอย่างนี้ ปรุงขึ้นมา แล้วตรงที่ใจมันดิ้นรนปรุงแต่ง นั่นล่ะเรียกว่าภพ เราเคยได้ยินคำว่าสิ้นชาติสิ้นภพใช่ไหม ภพไม่ต้องไปคิดถึงภพเทวดา ภพมนุษย์อะไร อันนั้นเป็นภพใหญ่ๆ ไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไรหรอก ภพที่สำคัญคือภพย่อยๆ ภพที่เปลี่ยนแปลงอยู่ในใจเราตลอดเวลา

พอมีความคิดเกิดขึ้น มีการตีค่าอารมณ์ แล้วก็เกิดความรู้สึกสุขทุกข์ เกิดความชอบไม่ชอบ มีกิเลสแทรก แล้วผลักดันให้เกิดความอยาก อารมณ์ดีก็อยากได้มา อยากรักษาไว้ อารมณ์ไม่ดีอยากให้หมดไปสิ้นไป ทันทีที่ความอยากเกิด ความดิ้นรนของจิตใจก็เกิด

อย่างเราจะจีบผู้หญิงสักคน ใจดิ้นรนไหม หรือเราอยากจีบหนุ่มสักคน ยุคนี้ผู้ชายไม่ค่อยจีบผู้หญิงแล้ว แต่ผู้หญิงจีบผู้ชายเยอะ เพราะว่าผู้ชายมันมีน้อย แค่อยากไปจีบเขา ความอยากเกิด ใจก็ดิ้นเลย ต้องวางแผนมากมาย เจอเขาเราจะแต่งตัวอย่างไร เขาจะประทับใจทรงผมแบบไหน เสื้อผ้าแบบไหน บางทีต้องซ้อมยิ้มหน้ากระจก ทำอย่างไร ไปเจอเขาแล้วยิ้มหวานๆ เขาจะได้ติดใจ นี่ปรุงแต่ง เราสร้างภพอะไรต่ออะไรขึ้นมามากมาย

 

บุคคลทั้งหลายแบกภาระไป ก็ไม่พ้นจากทุกข์

แล้วตรงที่จิตใจมันดิ้นรนปรุงแต่งนั่นล่ะ จิตใจมันมีภาระเกิดขึ้น ตรงเป็นภาระอันนั้น นั่นล่ะคือตัวทุกข์ การที่จิตใจมีภาระคือจิตใจมันมีตัวทุกข์เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าท่านสอน ขันธ์ทั้ง 5 เป็นภาระ บุคคลทั้งหลายแบกภาระไป ก็ไม่พ้นจากทุกข์ พระอริยเจ้าคือพระอรหันต์วางภาระลงแล้ว แล้วก็ไม่หยิบฉวยภาระอันใหม่ขึ้นมา ท่านก็เลยพ้นจากทุกข์ได้เด็ดขาด

พวกเราสังเกตไป การที่จิตเราปรุง จะปรุงดีมันก็เป็นภาระ จะปรุงชั่วมันก็เป็นภาระ ปรุงสุขมันก็เป็นภาระ ปรุงทุกข์มันก็เป็นภาระ ตรงปรุงชั่วมันเป็นภาระ อันนี้ดูง่าย ตรงที่มันปรุงดีแล้วเป็นภาระ ดูยากกว่า ตรงที่มันปรุงทุกข์แล้วเป็นภาระ ดูง่าย ตรงที่มันปรุงสุขแล้วเห็นว่าสุขเป็นภาระ นี่ดูยากกว่า ค่อยๆ หัดสังเกต หัดรู้หัดดูไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะเห็นความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีใด ความทุกข์เกิดขึ้นทีนั้น ความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไร ความทุกข์เกิดขึ้นทีนั้น

ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ แล้วเราจะรู้เลยว่าความทุกข์ในใจของเรา มันมาจากความปรุงแต่งของจิตทั้งนั้นเลย แล้วความปรุงแต่งของจิตไม่มีใครทำ เราทำขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้นความทุกข์ในจิตในใจเราเราสร้างขึ้นเอง ด้วยอำนาจของตัณหาผลักดันให้จิตใจดิ้นรนปรุงแต่ง เลยเกิดเป็นภาระทางจิตใจขึ้นมา ฉะนั้นความทุกข์หรือภาระทางจิตใจ ไม่มีใครมาทำให้เราได้ เราปรุงของเราขึ้นมาเอง ฉะนั้นเวลาเรามีความทุกข์ในใจ อย่าโทษคนอื่น โทษตัวเอง ก็เรามีความอยาก เรามีความดิ้นรนของจิต มันก็เลยมีภาระ มีความทุกข์เกิดขึ้น คนอื่นสร้างปัญหาให้เราได้ แต่เราสร้างความทุกข์ให้ตัวเอง ถ้าเราเข้าใจกระบวนการของจิต เราจะไม่ค่อยโกรธใคร

ในโลกมันสารพัดปัญหา เรื่องธรรมชาติธรรมดา สัตว์ทั้งหลายมันก็แย่งกัน แย่งกันอยู่ แย่งกันกิน แย่งกันสืบพันธุ์อะไรอย่างนี้ คนมันก็คือสัตว์นั่นล่ะ มันก็แย่งกันอยู่ แย่งกันกิน แย่งกันสืบพันธุ์เหมือนกัน มันเป็นธรรมชาติธรรมดาของสัตว์โลก แต่เราไม่ใช่สัตว์โลก เรามาฝึกจิตฝึกใจเราด้วยธรรมะ เราเลยแปรสภาพจากคนซึ่งเป็นสัตว์โลก มาเป็นมนุษย์คือผู้ที่มีจิตใจสูงขึ้นๆ มนุษย์ มนะ อุษยะ ผู้มีใจสูง เป็นผู้มีจิตใจสูง ฉะนั้นเราจะมีจิตใจสูงก็ด้วยธรรมะ ธรรมะที่เราใช้ก็คือมีสติ คอยรู้การทำงานของจิตของใจเราไปเรื่อยๆ

ฝึกเรื่อยๆ เราจะเห็นเลย พอมันกระทบอารมณ์ มันก็มีการตีค่าอารมณ์ ตีค่าออกมาว่าอารมณ์นี้ดี อารมณ์นี้ไม่ดี เป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าชอบ อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าชอบ พอมีการตีค่าอารมณ์ มันก็เกิดความรู้สึกขึ้นมา อารมณ์ที่น่าพอใจ ก็เกิดความสุข อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ก็เกิดความทุกข์ พอมีความสุข ราคะก็แทรก ยินดีพอใจ รักใคร่หวงแหน พอมีความทุกข์ โทสะก็แทรก อยากให้มันหมดไปสิ้นไป แล้วตรงที่มันปรุงสุขปรุงทุกข์ขึ้นมาแล้วเราไม่รู้ มันปรุงราคะ โทสะ เราก็ไม่รู้ นั่นล่ะตัวโมหะ ตัวไม่รู้

พอมันปรุงกิเลสแล้ว มันก็จะผลักดันให้เกิดความอยาก พอมีราคะก็อยากได้อารมณ์ที่ดีมา อยากรักษาอารมณ์ที่ดีไว้ พอได้กระทบอารมณ์ที่ไม่ถูกอกถูกใจ ไม่พอใจ มีโทสะ ก็อยากให้อารมณ์นั้นหมดไปสิ้นไป แล้วบางทีกังวลล่วงหน้ากังวลก็เป็นโทสะ กังวลล่วงหน้า ไม่อยากให้ปัญหา อารมณ์ที่ไม่ดีตัวนี้มันมาอีก รู้สึก พอจิตใจมันมีความอยากเกิดขึ้น อยากได้มา อยากรักษาไว้ อยากให้หมดไปสิ้นไป จิตก็เกิดความดิ้นรน มันจะทำงานหมุนจี๋ๆๆ ขึ้นมา แล้วมันจะมีภาระทางใจเกิดขึ้น ทุกครั้งที่จิตทำงานภาระทางใจก็เกิดขึ้น

ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ แล้วรู้เลยความทุกข์มันเกิดได้อย่างไร ความทุกข์มันเกิดขึ้นในจิตในใจเราไม่มีใครทำให้ เราปรุงแต่งขึ้นมาเอง พอเราเรียนรู้มากเข้าๆ จิตก็รู้ว่าความปรุงแต่งนำความทุกข์มาให้ ใจมันก็ค่อยคลายออกจากความปรุงแต่ง มันปรุงแต่งก็เพราะตัณหา เพราะความอยาก

 

รู้ความจริงของกาย รู้ความจริงของจิตใจ
แล้วจะหมดความอยาก

ตัณหาเกิดจากเราไม่ยอมรับสิ่งที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ อย่างตอนนี้ไม่มี นี่คือความจริง เราอยากให้มี ตัวนั้นก็คือกามตัณหา สิ่งที่มีอยู่ เรายอมรับความจริงไม่ได้ว่าวันหนึ่งมันต้องหมดไปสิ้นไป เราอยากให้มันอยู่ตลอดไป นั่นคือภวตัณหา สิ่งที่มีอยู่ที่เราไม่ชอบใจ เรายอมรับความจริงไม่ได้ว่าตอนนี้อกุศลให้ผล เราต้องกระทบอารมณ์ที่ไม่ดีที่เราไม่ชอบใจ เป็นวิบาก เรายอมรับไม่ได้ เราอยากให้อารมณ์ที่ไม่ดีหมดไปสิ้นไป

เพราะฉะนั้นตัวตัณหาจริงๆ มันเกิดจากการที่จิตยอมรับความจริงไม่ได้ มันยอมรับความจริงไม่ได้ แล้วทำอย่างไรจิตจะยอมรับความจริงได้ ก็พาจิตเรียนรู้ความจริง เรียนรู้ความจริงของกายของใจไปเรื่อยๆ ความอยากมันย่อๆ ลงมา มันอยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ก็แค่นั้นล่ะ พอเราเรียนรู้ความจริงของกายของใจไปเรื่อยๆ จิตใจมันยอมรับความจริง

อย่างถ้าเราเรียนรู้ความจริงของร่างกายเรื่อยๆ เราจะเห็นร่างกายไม่ใช่ของดีอะไร ร่างกายถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลาเลย นั่งนานๆ ก็ทุกข์ ยืนนานๆ ก็ทุกข์ เดินนานๆ ก็ทุกข์ นอนนานๆ ก็ทุกข์ กินมากไปก็ทุกข์ ไม่มีจะกินก็ทุกข์ ความหิวเป็นทุกข์อันยิ่งใหญ่ของสัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้นเราอยากทำบุญ เห็นคนหิว เห็นสัตว์หิว สงเคราะห์เขา เขาก็มีความสุข

เราค่อยเรียนค่อยรู้ ร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย พอเห็นอย่างนี้ ต่อไป ใจมันก็คลายความอยากที่จะให้กายมีแต่ความสุข อยากให้กายไม่ทุกข์อะไรอย่างนี้ ตัณหาไม่มี พอเห็นความเป็นจริง ตัณหาจะไม่เกิด ถ้าไม่เห็นความจริงของรูปนามกายใจ ตัณหามันจะเกิด อย่างเราเห็นคนสวยมา ถ้าเราเคยภาวนา รู้จิตรู้ใจของตัวเอง เราจะรู้เลยตอนที่เราเห็นผู้หญิงสวยๆ จิตเราเฉยๆ มันต้องมีการตีค่าก่อน ถึงจะเกิดชอบเกิดไม่ชอบขึ้นมาอะไรอย่างนี้ ถ้าสติปัญญาเราเร็ว เราเห็นผู้หญิงสวยๆ ก็สักแต่ว่ารูป ก็สิ่งที่ตามองเห็นเท่านั้น

รูปที่สวยๆ เอาเข้าจริงมันคืออะไร มันคือสีที่ตัดกันเป็นโครงสร้างแบบนี้ เป็นรูปร่างอย่างนี้ มันคือสี ฉะนั้นสีเขียว สีแดง สีมันตัดกัน สีอ่อน สีแก่ตัดกัน แล้วเราก็แปรความหมาย สีนี้คือผู้หญิงสวย สีนี้คือผู้ชายหล่อ สีนี้คือหมา ที่จริงแล้ว ลองมองที่หลวงพ่อสิ แล้วเห็นหลวงพ่อเป็นสีไหม เห็นสีที่ตัดกันไหม สีตรงนี้สีเหลืองน้ำตาล สีตรงนี้สีจีวรเป็นอีกแบบหนึ่ง ตัดกับภาพพื้นหลัง ข้างหลังก็สีไม่เหมือนกัน มันทำให้ตรงนี้ชัดขึ้นมา

ฉะนั้นสิ่งที่ตาเราเห็นจริงๆ มันก็แค่สีเท่านั้นล่ะ แล้วเราก็ไปแปลว่านี่คือผู้หญิง นี่คือผู้ชาย อันนั้นเกิดจากจิตไปแปล เกิดจากการแปลความทั้งหมดเลย แล้วก็ตีความให้ค่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี ก็เลยเกิดความสุขความทุกข์ เกิดกุศลอกุศลขึ้นมา ฉะนั้นสิ่งที่ตาเราเห็นก็แค่สีเท่านั้นล่ะที่มาตัดกันเป็นรูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วสัญญาเข้าไปหมายรู้ โอ้ นี่ผู้หญิง นี่ผู้ชาย ทั้งๆ ที่ความจริง มันคือสีที่ตาเราเห็น

เสียงที่เราได้ยิน เสียงนี้เพราะ เสียงนี้ไม่เพราะ นี่เสียงชม นี่เสียงด่า ที่จริงมันก็คือคลื่นเสียงผ่านอากาศมากระทบความรับรู้ทางหูแล้วสัญญาก็ไปแปลความหมาย นี่เขาชมเรา นี่เขาด่าเรา โทสะก็เกิดบ้าง ราคะก็เกิดบ้าง เราค่อยๆ เรียน ค่อยดูไป ตัวรูปนี้ไม่มีอะไร ตัวรูปนี้ก็ประกอบไปด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ทำไมเรารักตามาก เพราะว่าตานี้เอาไว้ดูรูป หู เรารักหู เพราะมันได้ยินเสียง เรารักจมูก เพราะมันได้กลิ่น เรารักลิ้น เพราะมันได้รส เรารักร่างกาย เพราะมันสัมผัสความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวอะไรพวกนี้ได้

ถ้าเราดูลึกลงไป ตาเราก็ไม่ยั่งยืน รูปที่ตาเห็นมันก็แค่สี จะไปหลงอะไรนักหนา หูมันก็ไม่ยั่งยืน เสียงที่มันได้ยินก็ไม่ยั่งยืน จะเอาอะไรนักหนา อยากได้เสียงชม เสียงชมมันเกิดแล้วมันก็หายไป เสียงด่ามันเกิดแล้วมันก็หายไป จะเอาอะไรนักหนา ค่อยๆ เรียน จะรู้เลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะคือสิ่งที่กระทบกาย ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไปทั้งหมดทั้งสิ้น ร่างกายเราในองค์รวมนี้ วันหนึ่งก็แตกสลายไป ตอนที่ยังไม่แตกสลาย ก็ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ทุกข์มากบ้าง ทุกข์น้อยบ้าง

พอเราเห็นอย่างนี้ เราจะรู้เลย ร่างกายนี้คือตัวทุกข์ พอเราเห็นทุกข์ เรียกว่าเราล้างอวิชชาได้ ร่างกายนี้คือตัวทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ นั่นล่ะคืออวิชชา พอเราเห็นร่างกายมันคือตัวทุกข์ มันก็ล้างอวิชชาไปบางส่วนแล้ว หายโง่ไปบางส่วน การดิ้นรนมีความอยากอะไรในกายมันก็ลดลงๆ หายไป แล้วเราก็เห็นความจริงของจิตใจ จิตใจเราที่ว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าดี ว่าชั่วอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับไปทั้งสิ้น มีแล้วก็หายไปทั้งสิ้น

ถ้าจิตใจมันเข้าใจตรงนี้ มันก็หมดความดิ้นรน พอมันเข้าใจความจริง หายโง่ เรียกว่ามันล้างอวิชชาได้ จิตใจมันก็หมดตัณหา หมดความดิ้นรน มันรู้เลยทุกอย่างมันผ่านมาแล้วมันก็ผ่านไป จะเอาอะไรกันนักหนา จิตใจก็ฉลาด ก็หมดความอยาก หมดความอยากที่ว่าจะต้องได้อารมณ์ดีๆ ทำไมไม่ได้อยากได้อารมณ์ที่ดีๆ เพราะรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว อารมณ์ไม่ว่าจะดีแค่ไหน เดี๋ยวมันก็ไป ได้อารมณ์ที่ดีๆ มาแล้ว ก็ไม่ได้อยากให้มันอยู่ตลอดไป เพราะรู้ว่าเดี๋ยวมันก็ไป

อย่างเราได้แฟนมาแต่งงานอยู่ด้วยกันอะไรอย่างนี้ อยากให้เขาอยู่นิรันดร อันนั้นพอเขาตายไป หรือเขาทิ้งเราไป จิตก็ทุกข์เยอะ แต่ถ้าเราเห็นความจริง มาอยู่ด้วยกัน เราได้อารมณ์ที่พอใจ มันก็ของชั่วคราว วันหนึ่งก็ต้องพลัดพรากอยู่ดี ไม่จากเป็นก็จากตาย ฉะนั้นมีอยู่ เราก็ไม่ได้มีความอยากว่าเขาจะต้องอยู่กับเราตลอดกาล เพราะความจริงก็คือไม่มีทางอยู่ด้วยกันตลอดกาล พอจิตใจยอมรับความจริงได้ จิตใจจะหมดอยาก ที่จิตใจมีความอยากเพราะจิตใจยอมรับความจริงไม่ได้

 

การที่เรารู้ความจริงเรียกว่าเรามีวิชชา ล้างอวิชชาไป

ค่อยๆ รู้ลงเรื่อยๆ เรียนรู้ตัวเองไปเรื่อยๆ เรารู้ความจริงของกาย รู้ความจริงของจิตใจ แล้วมันจะหมดความอยาก การที่เรารู้ความจริงเรียกว่าเรามีวิชชา ล้างอวิชชาไป กายนี้ก็ไม่เห็นจะดีตรงไหนเลย ก็คือก้อนทุกข์ก้อนหนึ่ง มีสภาวะ มีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตนี้ก็เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ มีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ความหิวโหย ความอยากทั้งหลาย มันก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะมันเห็นความจริงแล้ว

เห็นความจริงของกาย มันก็ไม่มีความอยากเกี่ยวกับกาย เห็นความจริงของจิต มันก็ไม่มีความอยากเกี่ยวกับจิตเกิดขึ้น เมื่อไม่มีความอยาก ความดิ้นรนของจิตก็ไม่มี เรียกว่าไม่มีภพ ไม่มีความดิ้นรนปรุงแต่ง เมื่อจิตไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง ความทุกข์ก็ไม่มี จิตมันก็ไม่ทุกข์ ฉะนั้นที่จิตมันทุกข์เพราะมันดิ้นรนปรุงแต่ง ที่มันดิ้นรนปรุงแต่งเพราะมันอยาก ที่มันอยากเพราะมันไม่รู้ความจริงของรูปนามกายใจ นี่คือกระบวนการที่จิตปรุงแต่งความทุกข์ขึ้นมา

ถ้าเราดับความไม่รู้ได้ ความปรุงแต่งมันก็ดับ พระพุทธเจ้าท่านสอน อวิชชา ยะเตววะ อะเสสะวิราคะนิโรธา สังขาระนิโรโธ ความดับไม่เหลือ ของอวิชชา ของความไม่รู้ ก็ทำให้สังขารดับ ความปรุงแต่ง สังขารก็คือตัวความปรุงแต่ง คือตัวภพ มันก็ดับ พอสังขารดับ วิญญาณ ตรงนี้ไม่ต้องเรียนมาก เดี๋ยวเยอะเกิน สังขารดับ ใจมันก็ไม่ทุกข์ สังขารทั้งหลายสงบเสียได้ เป็นสุข พระอรหันต์องค์หนึ่ง ท่านอุทานอันนี้ขึ้นมา สังขารทั้งหลายสงบเสียได้ เป็นสุข

พระอรหันต์องค์นี้ แต่เดิมท่านอยู่สมัยพุทธกาล ท่านไปนั่งภาวนาในป่าช้า คนเฝ้าป่าช้ามาเจอ ท่านมาทำอะไรตรงนี้ มันเป็นที่เขาเผาศพกัน มานั่งอะไรเกะกะตรงนี้ ท่านบอกว่าท่านจะมาพิจารณาร่างกาย พิจารณาซากศพอะไรนี่ พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐานอันนี้เหมือนกัน เขาบอกว่า เอาอย่างนี้ ถ้ามีการเผาศพ เขาจะไปบอกท่าน ให้ท่านมาดู แต่ตอนนี้ท่านไปอยู่ที่ของท่าน อย่ามาเกะกะอยู่ในป่าช้านี้ เดี๋ยวชาวบ้านเขาเห็นแล้วตกใจ ว่าพระหัวเหม่งๆ ไปนั่งตะคุ่มๆ อยู่ คนก็กลัว

ท่านก็เลยต้องออกมาจากป่าช้า แล้วพอถึงเวลาเขาจะเผาศพ มีผู้หญิงสวยงามตาย คนอินเดีย ตายแล้วก็เผาเลย ไม่มาเก็บไว้อย่างเราหรอก ไม่รู้เก็บไว้ทำไม เดี๋ยวนี้เก็บหนักขึ้นทุกที เก็บใส่ตู้กระจกไว้ น่าดู คนอินเดีย ตายแล้วก็เผาวันนั้น หมดเรื่องหมดราว พอจะเผาศพ เขาก็ไปเรียกท่านมาดู ท่านก็เห็น หูย ผู้หญิงคนนี้สวยจังเลย เนื้อหนังก็ยังเปล่งปลั่ง พอเริ่มถูกไฟเผา หนังเริ่มลอก ท่านก็รู้สึก หึย จากคนสวยๆ ตอนนี้ตัวด่างๆ แล้ว เพราะหนังมันลอก เหมือนวัว หนังมันลอก น่าเกลียด

ก็ดูไปเรื่อยๆ ถูกไฟเผาไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็เผาศพจนหมด ท่านก็บรรลุพระอรหันต์ในขณะนั้นเลย เพราะท่านเห็นว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สังขารทั้งหลาย สงบเสียได้ สงบระงับเสียได้ เป็นสุข สังขารอันนี้ ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ครอบคลุม ท่านเห็นอย่างนี้ ท่านก็บรรลุพระอรหันต์ เห็นไหม เพราะเห็นตามความเป็นจริง ก็หมดความอยาก ไม่มีความอยาก ก็ไม่มีความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต ไม่มีความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต ก็ไม่มีความทุกข์ของจิต นี่คือเส้นทางที่พวกเราจะต้องพากันเดิน เรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจไปจนรู้แจ้งเห็นจริงแล้วมันก็วาง ไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง

ทำอย่างไรจะเรียนรู้ความจริงของกายของใจ ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง นี่คือคีย์เวิร์ด มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ไม่ได้นั่งปรุงแต่งกาย ปรุงแต่งใจ อย่าไปนั่งปรุงแต่งจิตให้จิตดี จิตสุข จิตสงบ เราจะต้องภาวนาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นว่า ไม่ว่าจิตปรุงอะไร จิตก็ทุกข์ทั้งนั้นล่ะ ปรุงดีก็ทุกข์ ปรุงสุขก็ทุกข์ ปรุงสงบก็ทุกข์ ไม่ปรุงต่างหากที่ไม่ทุกข์ พอไม่ปรุง เข้าถึงความสงบอีกระดับหนึ่ง พระนิพพานเป็นสภาวะที่ไม่ปรุงแต่ง เป็นความสงบจากความปรุงแต่งทั้งปวง ตรงนั้นล่ะคือบรมสุข ส่วนความปรุงแต่งทั้งหลายเจือทุกข์อยู่ทั้งสิ้น

ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ค่อยๆ ปฏิบัติไป คอยเรียนรู้กายเรียนรู้ใจของตัวเองเรื่อยๆ ไป รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็นไป แต่ทุกวันต้องแบ่งเวลามาไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม มาทำความสงบให้จิตใจมีเรี่ยวมีแรง ถ้าไม่ทำในรูปแบบ จิตจะไม่มีกำลัง ไม่มีแรง พอจิตไม่มีกำลัง จิตก็ไม่ตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่น ขันธ์มันก็ไม่แยก มันก็เลยเห็นไม่ได้หรอกว่ากายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความสุข ความทุกข์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา กุศล อกุศลไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตเองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นจะเห็นไม่ได้

 

 

เพราะฉะนั้นเราต้องค่อยๆ ฝึกเอา เราก็ต้องทำ ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูป วันไหนจิตฟุ้งซ่าน น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง อย่าไปอยากสงบ อยากสงบ จะไม่สงบ น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์ที่เรามีความสุข อย่างหลวงพ่อจะมีความสุขอยู่กับลมหายใจ มีความสุข หรืออยู่กับแสงสว่าง อย่างนี้มีความสุข ถ้าน้อมไปอยู่อย่างนี้ จิตมันก็ได้พัก ไม่ดิ้นไปดิ้นมา

จิตของเราดิ้นตลอดเวลา เดี๋ยวดิ้นไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยิ่งจิตยิ่งดิ้น จิตก็ยิ่งทุกข์ จิตก็หมดแรง เราก็ให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียวสบายๆ จิตก็จะมีกำลังขึ้นมา อันนี้คือสมถะ พอจิตมีกำลังแล้ว อย่าเอาแต่ความสุขความสบาย ให้คอยสังเกตจิตไป จนกระทั่งจิตมันตั้งมั่นขึ้นมา มีผู้รู้ขึ้นมา แต่ที่จริงถ้าทำสมาธิเต็มรูปแบบ อย่างจิตเราสว่างว่างแล้วจิตเดินเข้าฌานไปอย่างนี้ มันจะมีตัวรู้ แต่ในขณะที่เข้าฌาน ต้องมีสติกำกับ ตัวรู้ถึงจะเกิด ถ้าเข้าสมาธิแล้วก็เคลิ้ม ลืมเนื้อลืมตัว ตัวรู้ไม่มีหรอก

พอเราได้ตัวรู้ วิธีได้ตัวรู้ง่ายๆ ทำกรรมฐานไปแล้วจิตไหลแล้วรู้ๆ อันนั้นตัวรู้จะเกิดง่ายๆ เลย จิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ นั่นล่ะสมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิด พอสมาธิตั้งมั่นมากพอ ขันธ์จะแยกเองเลย กายกับจิตคนละอัน เวทนากับจิตคนละอัน สังขารกับจิตก็คนละอัน จิตเองก็เกิดดับ จิตรู้กับจิตคิดก็คนละอันกัน สุดท้ายแล้วแต่ละอันๆ นั้น ล้วนตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ หาสาระแก่นสารไม่ได้ เหมือนฝันอยู่แท้ๆ เลย ชีวิตเหมือนความฝัน พอเข้าใจความเป็นจริงแล้ว ความอยากก็ไม่เกิด ความปรุงแต่งก็ไม่เกิด ความทุกข์ก็ไม่เกิด นี่คือเส้นทางที่เราจะปฏิบัติ ส่วนรายละเอียดนั้นเป็นชั้นเชิง เป็นลีลา เป็นความถนัดของแต่ละคน ทางใครทางมัน

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้พอ เมื่อวานเทศน์แบบง่ายๆ วันนี้เทศน์ละเอียดขึ้น เมื่อวานสาธุชนทั้งหลายฟุ้งซ่าน มาเทศน์ธรรมะละเอียดอย่างนี้ ฟังไม่เข้าใจหรอก ใจไม่พร้อม ฉะนั้นเวลาเราจะฟังธรรม อย่าให้มันฟุ้งซ่านไป ที่หลวงพ่อบอกพวกเรา เวลาฟังธรรม ปิดมือถือไป ไม่ตายหรอก หรือถ้ามีธุระจำเป็น พ่อแม่เราป่วยหนักอย่างนี้ เราก็เปิดระบบสั่น แล้วเราก็เลยฟุ้งซ่านคนเดียวออกไป เรามามือถือ โทรศัพท์ ถ่ายรูปอะไรอย่างนี้ คนอื่นเขาฟุ้งซ่านไปด้วย ฟังธรรมะไม่ได้ พอจิตพวกเราไม่พร้อมจะฟังธรรมะ ธรรมะก็ไม่มีให้ฟัง อย่างที่หลวงพ่อเทศน์แต่ละวันๆ ไม่มีพล็อต ไม่มีสคริปต์ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น มันอยู่ที่เราควรจะฟังธรรมได้แค่ไหน มันก็ได้แค่นั้น อยู่ที่คนฟัง ไม่ใช่คนแสดง

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
2 เมษายน 2566