เพื่อนร่วมทางที่ดี

ฟังธรรมะเท่าไรก็ไม่เข้าใจหรอก จนกว่าจะลงมือปฏิบัติไป แล้วก็ความเข้าใจก็จะเพิ่มขึ้น บางทีรู้สึกว่าเข้าใจ แต่พอผ่านไปอีกช่วงหนึ่ง เราพบว่า เอ๊ะ ที่เคยเข้าใจไว้เดิม มันยังไม่ใช่ มันจะรู้สึกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ความรู้ความเข้าใจ มันประณีตลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราต้องลงมือปฏิบัติ ฟังหลักของการปฏิบัติให้เข้าใจ แล้วก็ลงมือทำ มีปัญหาก็ค่อยปรับค่อยแก้ไป แล้วก็อย่าท้อถอย ปลุกเร้าตัวเองให้ก้าวเดินไปข้างหน้าทุกวันๆ

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนเรา มันก็อยู่ในเรื่องพวกนี้ ท่านสอนให้เราเข้าใจธรรมะแล้วก็หลักธรรม วิธีปฏิบัตินี้คือสิ่งที่ท่านสอน พอเรารู้วิธีปฏิบัติแล้ว ท่านก็ชวนเชิญ ชักชวนให้ลงมือปฏิบัติ พอลงมือปฏิบัติแล้วมีปัญหา ไปถามท่าน ท่านก็บอกวิธีแก้ปัญหาให้ แล้วท่านก็จะมีลักษณะ เวลาพวกเราภาวนาไป ท่านจะคอยให้กำลังใจ ให้ทำต่อไปไม่เลิก ลักษณะของธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านแสดง มีลักษณะ 4 อย่างนี้ คือสอนให้รู้หลัก รู้วิธีปฏิบัติ ชักชวนให้ปฏิบัติ มีปัญหาก็แก้ไข ไม่มีปัญหาอะไรก็กระตุ้นเร่งเร้า ไม่ให้เฉื่อย

 

เพื่อนร่วมทาง

พวกเราไม่มีพระพุทธเจ้ามาเร่งเร้าเราแล้ว ก็ต้องฝึกตัวเอง กระตุ้นตัวเอง คนที่อินทรีย์แก่กล้า มันกระตุ้นตัวเองได้ พวกอินทรีย์อ่อนๆ พอห่างครูบาอาจารย์ไปแล้วใจก็ฝ่อ ขี้เกียจปฏิบัติ ไปเพลินๆ อยู่กับโลก ฉะนั้นนักปฏิบัติจำนวนมาก ก็จะมีเพื่อน เป็นเพื่อนที่ปฏิบัติด้วยกัน เรียกโก้ๆ ว่ามีกัลยาณมิตร อย่างเวลาเราภาวนา เรามีเพื่อนไปหาครูบาอาจารย์ด้วยกัน ไปฟังด้วยกัน แล้วก็มาลงมือปฏิบัติ เวลาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งท้อแท้ใจ อีกฝ่ายหนึ่งก็กระตุ้นเร่งเร้า มันท้อได้ไม่นาน ถ้าเรามีเพื่อนร่วมทางที่ดี แต่ถ้าเพื่อนร่วมทางไม่ดี อย่ามีดีกว่า ไปคนเดียวดีกว่า

พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า ถ้าเราไม่มีเพื่อนร่วมทางที่ดีกว่าเรา หรือเสมอกับเรา ไปคนเดียวดีกว่า พวกไม่เอาไหนมันถ่วงเรา ทำให้เราขี้เกียจปฏิบัติ หรือท้อใจที่จะปฏิบัติ เวลาที่เราลงมือปฏิบัติ มันจะมีปัญหาตลอดเส้นทางของการปฏิบัติ เพราะมันเป็นเส้นทางที่เราไม่เคยเดินผ่าน อย่างครูบาอาจารย์ท่านเดินผ่านมาแล้ว ท่านมองปั๊บท่านรู้แล้ว โอ๊ย ง่าย ตัวนี้ง่าย แก้ง่ายๆ ของเรามันยากไปทุกตัว ตัวนี้ก็ยากๆ ไม่รู้จะทำอย่างไรเลย ก็ใช้ความสังเกตให้มาก ที่ทำอยู่นั้นกุศลเจริญขึ้น หรืออกุศลเจริญขึ้น หรือกุศลหยุดนิ่ง ไม่เจริญ อกุศลก็ยังอยู่ ใช้ความสังเกตเอา

ตอนหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อก็มีเพื่อนร่วมทางคนหนึ่ง เป็นรุ่นน้องในที่ทำงาน ไปหาครูบาอาจารย์ด้วยกัน แล้วก็ฟังมาด้วยกัน แต่ก่อนครูบาอาจารย์ไม่ให้อัดเทป อัดเทปก็ไม่ได้ นั่งจดก็ไม่ได้ ให้นั่งทำความสงบไป แล้วท่านก็พูดธรรมะให้ฟัง 2 คนฟังแล้วก็ออกมา แล้วก็มาแชร์กัน ว่าเข้าใจตรงกันไหม พอความเข้าใจเห็นว่าตรงกัน ต่างคนต่างก็ปฏิบัติ ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ตามจริตนิสัย อย่างหลวงพ่อจะเดินด้วยปัญญา น้องคนนั้นเขาเดินด้วยมีศรัทธาเยอะ มีความเพียรเยอะ หลวงพ่อจะเน้นอยู่ที่สติ สมาธิ ปัญญา ของเขาจะมีศรัทธา วิริยะ สติ จะมีสิ่งเหล่านี้

ฉะนั้นช่วงไหนศรัทธาหลวงพ่อตกลงไป ไปคุยกับเขา เขาพูดถึงครูบาอาจารย์องค์นั้นท่านต่อสู้อย่างนั้นอย่างนี้ เขาไม่ได้เจตนาที่จะบอกเรา แต่ใจเขาศรัทธาเยอะ ครูบาอาจารย์องค์นั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอเราฟังใจเราก็ฮึกเหิม มีศรัทธาขึ้นมาอีก เข้มแข็ง หรือเวลาเขาภาวนาแล้วจิตมันไปสงบเฉยๆ อยู่ หลวงพ่อก็พูดเรื่องการเจริญปัญญา เราไม่ได้เจตนาสอน แต่ว่าธรรมะมันถ่ายทอดออกมาอย่างนั้นเอง เขาได้ยินเรื่องปัญญา เขาก็ จิตมันก็เดินปัญญาขึ้นมาได้ คือสมาธิของเขาจะน้อยกว่าหลวงพ่อ ให้เขาไปนั่งสมาธิเอง จิตไม่รวม แต่ถ้าเขาเข้าใกล้หลวงพ่อ จิตรวม จิตรวมทันทีเลย จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาทันที

การมีเพื่อนร่วมทางที่ดี มันหนุน มันเสริมซึ่งกันและกัน เวลาคนหนึ่งขี้เกียจ อีกคนหนึ่งขยันอยู่ กระตุ้นกัน โอ๊ย เราจะขี้เกียจได้อย่างไร เพื่อนเราเขายังภาวนาเข้มแข็งอยู่เลย แล้วเราจะมาขี้เกียจอยู่ ไม่ได้เรื่อง การจะหาเพื่อนร่วมทาง ก็ต้องเลือกให้ดี หลักก็คือหาคนที่ดีกว่าเรา มีศีล มีธรรม หรือเสมอกันอย่างต่ำ ฉะนั้นเพื่อนสำคัญในชีวิตเรา คู่ชีวิตเรา แต่ละคนก็มี มีสามี มีภรรยา ถ้าเราได้สามี ได้ภรรยาที่เสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีทิฏฐิ ความคิดความเห็นเสมอกัน ดีด้วยกัน ก็พากันไป ก้าวหน้ากันไป อันนั้นเรียกว่าเรามีเพื่อนร่วมทางที่ดี

เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่มี ยังไม่ได้มีแฟน ยังไม่มีอะไร เลือกหน่อย อย่าไปเลือกที่สวยๆ บางคนก็เลือกเอาสวยไว้ก่อน ไม่ทันไรก็ตีกัน มันเข้ากันไม่ได้ คนหนึ่งจะไปวัด คนหนึ่งจะไปเที่ยวผับ ไปกันไม่ได้ แล้วถ้ามันมีไปแล้ว ทำอย่างไร มีไปแล้วก็ต้องพยายามชักชวน เชิญชวน ให้คู่ชีวิตของเรามาปฏิบัติธรรมด้วยกัน มารักษาศีลด้วยกัน มาสร้างคุณงามความดีด้วยกัน โน้มน้าวชักชวนเขา การชักชวนที่ดีที่สุด ไม่ใช่การพูด พูดไม่พอหรอก เราทำตัวให้เขาเห็น แล้วเรามีศีลมีธรรม แล้วชีวิตเราร่มเย็นเป็นสุข เขาเห็น คนใกล้ชิดกัน คนหนึ่งเปลี่ยนนิดหน่อยก็เห็นแล้ว ถ้าคนห่างๆ มองไม่ออกว่าเราเปลี่ยนไปหรือเปล่า ดูยากขึ้น ถ้าคนใกล้ๆ เราเปลี่ยนไม่มาก เขาก็เห็นแล้ว ถ้าเราเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นให้เขาเห็นได้ เขาก็จะค่อยเชื่อ อยากปฏิบัติบ้าง

บางคนอยากสอนลูก อยากสอนลูกให้ปฏิบัติ แต่ตัวเองศีลยังไม่มีเลย จะสอนได้อย่างไร หรือปากร้ายด่าโน่นด่านี่ทั้งวัน จะสอนลูกให้สำรวมวาจาอะไรอย่างนี้ ทำได้อย่างไร มันทำไม่ได้ ฉะนั้นถ้าจะสอนลูก ต้องทำตัวอย่างให้เห็น สอนสามีภรรยาของเรา เราไม่ต้องไปสอนเขามาก เราแสดงให้เขาเห็น ปฏิบัติให้เขาดู ถึงเวลาเราไหว้พระสวดมนต์อะไรต่ออะไรของเราไป ไม่ต้องไปเคี่ยวเข็ญเขามาก เคี่ยวเข็ญมากก็รำคาญ แล้วจิตเราก็เศร้าเอง เศร้าหมอง ถ้าเรามีคู่ที่มีศีลเสมอกัน มีทิฏฐิเสมอกัน ความคิดความเห็นไปในทางเดียวกัน ในบ้านจะร่มเย็น ถ้าคนหนึ่งจะเข้าวัด คนหนึ่งจะเข้าบาร์ ไม่ค่อยมีความสุข บางคนก็ผ่อนปรนด้วยการ เอ้า มาตกลงกัน ช่วงนี้ไปวัดด้วยกัน ช่วงนี้จะเข้าบาร์ด้วยกัน ก็พอไหวอยู่ ถ้าใจแข็ง

ถ้าเราหาเพื่อนร่วมทางที่ดีไม่ได้ เดินคนเดียว พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้เดินไปผู้เดียว การเดินคนเดียวไม่ใช่ว่า หย่ากับสามีภรรยา “เดินคนเดียว” หมายถึงว่า เขาจะอย่างไรแก้เขาไม่ได้แล้ว เราปรับตัวของเราเองให้ได้ ถึงเวลาต้องคุยกับเขา ต้องทำโน้นนี้ก็ทำไป แต่ใจเรามุ่งมั่นในการปฏิบัติ มีสติไปเรื่อยๆ ถึงเวลาเราก็ภาวนา ถ้านั่งสมาธิหลับตา หรือเดินจงกรม เขารำคาญ เราก็ทำสมาธิแบบลืมตานี่ล่ะ ลืมตาอยู่เราก็พุทโธๆ ไปในใจเรา ก็ทำได้ นั่งหายใจไป ไม่ต้องหลับตาหรอก เดินจงกรมเขารำคาญ เราก็ไม่ต้องไปทำให้เขารำคาญ เราก็ทำงานบ้าน เคลื่อนไหวไป รู้สึกไป เคลื่อนไหวไป รู้สึกไป นั่นก็คือการปฏิบัติ เราปฏิบัติคนเดียวแล้ว เขาไม่รู้หรอกว่าเราปฏิบัติ เดินคนเดียวก็ได้ เพราะมันเป็นเรื่องงาน

กรรมฐานเป็นงานของจิตใจ เราภาวนาอยู่ในจิตใจของเรา ใครมันจะมารู้ด้วย ฉะนั้นเราก็จะไม่มีความขัดแย้งในครอบครัว ผู้หญิงหลายคนมาปรึกษาคุณแม่ ผู้หญิงจะชอบมาเล่า ช่วงนี้จะเลิกยุ่งเกี่ยวกับสามีแล้ว เลิกนอนกับสามี คุณแม่ก็จะเตือนว่าต้องรู้จักหน้าที่ ไม่ได้ ตอนนี้ศรัทธาแรงกล้า ผู้ชายเป็นศัตรูของพรหมจรรย์ ไม่เอาแล้ว ไม่ต้องการเรื่องโลกๆ แล้ว จะไปนิพพานแล้ว ไม่นานสามีก็ไปมีเมียน้อย มีเมียมากนั่นล่ะ ไม่ใช่มีเมียน้อย คราวนี้คนที่อยากไปนิพพาน ไปไม่ได้แล้ว จะไปไล่ตีกับเมียน้อย ใจมันไม่รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร มีหน้าที่ดูแลครอบครัวก็ต้องดูแล แล้วมาทิ้งหน้าที่บอกว่าจะปฏิบัติ มักจะไปไม่รอดแล้ว

ตรงที่อยากปฏิบัตินั้น มันเป็นศรัทธาวูบวาบ เป็นความศรัทธาที่วูบๆ วาบๆ ประเดี๋ยวก็ศรัทธา ไม่นานก็เสื่อม ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติของปุถุชน ศรัทธากลับกลอก เดี๋ยวก็ศรัทธา เดี๋ยวก็ไม่ศรัทธา ฉะนั้นตอนศรัทธาขึ้นมา ก็มาตั้งเงื่อนไขกับตัวเอง ตั้งเงื่อนไขกับคนอื่น เช่น ห้ามมาคุยกับเรา ห้ามพูด นี่ห้ามคนอื่น ในบ้านแทนที่จะสงบร่มเย็น กลายเป็นบ้านที่ร้อน ไม่มีความสุข สุดท้ายอยู่ไม่ได้ พวกเราจำไว้อย่างหนึ่ง เราต้องสร้างบ้านเราให้เย็นให้ได้ ให้ร่มเย็น ข้างนอกร้อน มันเป็นเรื่องธรรมดา เราแก้ไม่ได้ แต่เข้าบ้านแล้วร่มเย็น เราจะอยู่ได้ ชีวิตเราจะอยู่ได้ ถ้าเข้าบ้านแล้วก็ร้อนอีก อยู่ไม่ไหว คล้ายๆ ไม่มีที่ให้หลบภัยเลย

 

รู้จักให้กำลังใจตัวเอง

ฉะนั้นเราเป็นฆราวาส เราก็ต้องรู้ อันแรกเรารู้วิธีปฏิบัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติไป มีปัญหาก็ค่อยแก้ไขไปด้วยสติ ด้วยปัญญา หรือเจอครูบาอาจารย์ก็ถาม แล้วก็รู้จักให้กำลังใจตัวเอง ถ้าเราไม่มีเพื่อนร่วมทางที่ดี ที่จะให้กำลังใจเรา เราก็ต้องรู้จักให้กำลังใจตัวเอง พระพุทธเจ้าท่านไม่อยู่ให้เรา มาให้กำลังใจเราแล้ว วิธีให้กำลังใจตัวเอง หลวงพ่อก็เคยทำหลายอย่าง บางช่วงการภาวนามันดูไม่มีพัฒนาการ ใจมันท้อแท้ มันเบื่อก็มี ไม่ใช่ไม่มี ไม่ใช่ผู้วิเศษอะไรมา ก็ปุถุชนเหมือนพวกเรา บางทีขยันภาวนา บางทีภาวนาไปช่วงหนึ่งแล้ว มันไม่มีผลอะไร ใจก็ท้อแท้

แต่หลวงพ่อมีวินัย ถึงจะท้อแท้อย่างไร ทุกวันต้องปฏิบัติ ไม่เลิก ตัวนี้เป็นวินัยในตัวเอง เป็นเรื่องสำคัญ แล้วถึงเวลาหลวงพ่อก็ออกไปกราบครูบาอาจารย์ ทุกเดือนจะขึ้นไปโคราช ใกล้หน่อย ไปกราบหลวงพ่อพุธ นั่งรถไป 3 ชั่วโมงไปกราบท่าน ก็นั่งรถ 3 ชั่วโมงกลับ วันเดียวได้ ครูบาอาจารย์ที่อยู่ไกลกว่านั้น ต้องมีเวลามากๆ หน่อยถึงจะไปได้ เดินทางไปทั้งคืน บางทีเข้าพบท่านไม่ทันเวลา ผู้เฒ่ามีเวลาให้เข้าพบจำกัด แล้วก็เรากำลังเหนื่อยมาก ๆ บางทีเข้าไปถึง ท่านก็ไม่สอน เราเหนื่อยเกินไป ไม่พร้อมที่จะเรียนธรรมะ ก็เลยต้องใช้เวลา พอเราจะไปหาครูบาอาจารย์ ใจที่กำลังเฉื่อย ใจที่กำลังท้อแท้ มันจะค่อยๆ ลุกขึ้นสู้ ใจมันจะลุกขึ้นสู้

อย่างพวกเราอยู่กับโลกนานๆ แล้วก็เฉื่อยๆ พอคิดจะมาวัด มาเห็นหน้าหลวงพ่อ เห็นหน้าหลวงพ่อยังไม่เท่าไร กลัวหลวงพ่อเห็นหน้านี่ล่ะ ใจมันจะเริ่มขยันขันแข็งในการภาวนา เมื่อก่อนหลวงพ่อก็ใช้อย่างนี้ ถึงเวลาก็ไปกราบครูบาอาจารย์ ช่วงไหนจิตใจเราดีมีการบ้านไปส่ง เราก็ส่ง ช่วงไหนจิตใจเราอ่อนแอท้อแท้ แค่คิดจะไปหา คิดจะไปกราบ ใจก็เริ่มมีกำลังขึ้นมาแล้ว นั่งรถไปบางทีนั่งรถไปทั้งคืน ใจยังไม่มีกำลังบางที พอไปถึงหน้าวัด ใจมีกำลังขึ้นมาแล้ว ยังไม่ทันเจอท่านเลยก็มี

บางทีไม่ได้มีปัญหาอะไร ไปนั่งดูท่าน ท่านฉันข้าวบ้าง ท่านสอนคนโน้นคนนี้บ้าง เราไปนั่งเฉยๆ นั่งดูอยู่ ทำไมท่านผ่องใสจัง ย้อนมาดูตัวเอง ทำไมสกปรกมอมแมมอย่างนี้ ใจมันก็ฮึกเหิม เส้นทางนี้ถ้าเดินต่อไป เราก็คงจะไปสู่ความสะอาดหมดจดแบบท่านได้ เพราะท่านก็พูดอยู่เรื่อยๆ ว่าท่านก็ต่อสู้มา ไม่ใช่สบายๆ มา แต่ละองค์ ที่ท่านดีๆ ท่านต่อสู้มาแล้วทั้งนั้น พอเราไปเห็น คล้ายๆ เราไปเห็นนักรบผู้เฒ่า เราเป็นนักรบหนุ่มสาว ไปเห็นนักรบผู้เฒ่า ผ่านศึกสงครามมามากแล้ว จิตใจมันอบอุ่น อันนี้เป็นเรื่องปกติ

อย่างตอนสมัยต้นกรุงฯ สงครามกับเพื่อนบ้านยังมีอยู่ตลอดเวลา ตอนกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทท่านตาย ท่านเป็นแม่ทัพใหญ่ แม่ทัพเอก ชาวบ้านก็หวั่นไหวไปรอบหนึ่งแล้ว นักรบผู้เฒ่าให้ท่านออกไปรบตอนนั้น ท่านก็รบไม่ไหวแล้ว แต่ลูกหลานได้เห็นร่องรอยของนักสู้ผู้เฒ่า ใจมันก็ยังฮึกเหิมอยู่ ตอนรัชกาลที่ 1 สวรรคต เหมือนโลกจะแตกแล้ว ไม่รู้บ้านเมืองจะไปอย่างไร อยู่ไม่ได้แล้วทีนี้ ใจมันหดหู่ท้อแท้ เวลาเราไปกราบครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ ที่เราฝากเป็นฝากตายกับท่าน แล้วท่านมรณภาพ ใจเราก็หวั่นไหว

อย่างตอนหลวงปู่ดูลย์มรณภาพ หลวงพ่อสะเทือนอย่างแรงเลย ตอนพ่อของหลวงพ่อตาย ใจหลวงพ่อเบิกบาน เพราะเห็นว่าชีวิตเป็นอย่างนี้ แต่พอสิ้นครูบาอาจารย์ มันสะเทือนอย่างแรงเลย มีความรู้สึกว่าตอนนี้เราเป็นลูกกำพร้าแล้ว เราต้องช่วยตัวเองแล้ว เราจะต้องเดินด้วยตัวเอง ไปในทิศทางที่ครูบาอาจารย์ทิ้งร่องรอยไว้ให้ ที่ท่านสอนไว้ให้ ใจมันก็ต้องสู้ เคยเข้าไปกราบครูบาอาจารย์หลายองค์ อย่างหลวงปู่เหรียญ ตอนนั้นท่านอาพาธหนักแล้ว ใกล้จะมรณภาพแล้ว หลวงพ่อบวชเพิ่งได้ 4 พรรษา ก็ทราบแล้วว่าหลวงปู่เหรียญจะมรณภาพ ก็คิดต้องขึ้นไปกราบท่านสักครั้งหนึ่งแล้ว อย่างน้อยก็เรียกว่าไปเห็นเป็นครั้งสุดท้าย ไปจำแบบอย่างของนักสู้ผู้เฒ่าเป็นครั้งสุดท้าย ขึ้นไปกราบ

ตอนไปนั่งรถตู้ไป ก็กำหนดจิตบอกท่าน “หลวงปู่ผมเพิ่งจะได้ 4 พรรษา ยังไม่พ้นนิสัย” พระบวชแล้ว 5 พรรษา อย่างน้อย 5 พรรษา ต้องอยู่กับครูบาอาจารย์ แต่หลวงพ่อบวชแล้ว อุปัชฌาย์ท่านเห็นหลวงพ่อภาวนามานานแล้ว ภาวนามาหลายสิบปี ท่านให้ไปอยู่ที่เมืองกาญจน์ฯ ที่สวนโพธิ์ฯ เป็นสำนักของหลวงพ่อสุจินต์ หลวงพ่อสุจินต์อยู่บ้างไม่อยู่บ้าง ช่วงท่านไม่อยู่หลวงพ่อต้องอยู่คนเดียว แต่เราก็รักษาพระวินัยเข้มแข็ง ไม่มีย่อหย่อนหรอก แต่ตอนขึ้นไปกราบหลวงปู่เหรียญ ไปคนเดียว เพราะตอนนั้นหลวงพ่อสุจินต์ไม่อยู่ ในใจก็นึก “หลวงปู่ อย่าถามพรรษานะ ให้หลวงปู่สอนธรรมะอะไรนี้ ก็สอนเลย”

พอไปถึงท่าน ท่านเห็นหน้า ท่านชี้หน้าเลย “กี่พรรษาแล้ว” เรานี้แทบมุดเลยบอก “4” ท่านบอก “ใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้ ยังไม่พ้นนิสสัย ยังอยู่ในปกครอง ต้องมีผู้ปกครอง มาตามลำพังอย่างนี้ ไม่ถูก” พอท่านดุเสร็จแล้วท่านก็ยิ้ม ท่านบอก “เราเป็นครูบาอาจารย์ เราต้องดุตามพระวินัย เอ้า มีกรรมฐานอะไรมาคุยกัน” ให้เล่า พอเล่าถวายท่าน ท่านก็มีปีติ ท่านก็เกิดปีติน้ำตาคลอเลย อันนั้นเป็นเรื่องของปีติ ไม่ใช่โศกะ พวกเรียนมากบอก โอ๊ย พระที่ภาวนาดี น้ำตาไหลไม่ได้ โถ ถ้าลองแมลงบินเข้าตาสิ น้ำตาจะไหลไหม มันก็ไหล มีสิ่งกระทบมันก็ไหล หรือเกิดปีติ มีธรรมปีติ น้ำตาก็ไหล ไม่ใช่มาห้ามน้ำตาไหล ท่านน้ำตาคลอเลย แล้วท่านก็ลูบจีวรท่าน ลูบท่านี้ (หลวงพ่อลูบผ้าเหลืองขึ้นลง)

แล้วท่านบอกว่า ท่านต่อสู้มาด้วยความยากลำบากมากเลย ในการปฏิบัติ ท่านต่อสู้มาอย่างอดทน จนกระทั่งเรามาถึงจุดนี้แล้ว เรา พูดอย่างไรดี คือท่านสบายแล้ว แล้วท่านก็บอกว่า “เราจะตายในผ้าเหลือง เราจะตายในผ้าเหลืองนี้ล่ะ งานของเราไม่มีแล้ว ต้องตายในผ้าเหลืองเหมือนเรานะ” ท่านว่าอย่างนี้ บอก “ครับ” ก็ไม่คิดจะสึกอยู่แล้ว การที่เราไปเห็น ใจเรามีกำลัง ทั้งๆ ที่ท่านแก่เฒ่า ไม่มีเรี่ยวมีแรง นอน ใกล้จะมรณภาพแล้ว แต่เราไปเห็นลวดลาย ลีลา ของอดีตนักรบที่แข็งแรง ที่เข้มแข็ง

 

การที่เราได้ไปเห็นครูบาอาจารย์ จิตใจเราจะมีกำลังขึ้นมา เป็นมงคลกับชีวิต

ฉะนั้นการที่เราได้ไปเห็นครูบาอาจารย์ จิตใจเราจะมีกำลังขึ้นมา เป็นมงคลกับชีวิตเรา การได้เห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง ท่านเหล่านี้ พอเราได้เข้าใกล้ จิตใจเราที่กำลังท้อแท้อะไรอย่างนี้ ก็เข้มแข็งขึ้นมาได้ ทุกวันนี้ยิ่งง่ายใหญ่ มันมียูทูป มีเฟซบุ๊กมีอะไร ช่วงไหนเราเฉื่อย เราก็ฟังธรรมะ ดูธรรมะ เห็นครูบาอาจารย์ หลวงพ่อก็เห็นครูบาอาจารย์ทีไรก็นึกว่า ดูประวัติท่าน หรือบางทีท่านก็เล่า แต่เดิมท่านก็เหมือนเรา ล้มลุกคลุกคลานมา มีกิเลสมาเหมือนกัน แต่ท่านไม่เลิก ท่านสู้ไม่ถอย ล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาเดินต่อ ลุกขึ้นมาไม่ไหว ก็คลานไปไม่อยู่นิ่ง

ครูบาอาจารย์ท่านสอนหลวงพ่อมาแบบนี้ บางองค์ท่านก็สอนให้ฟังตรงๆ อย่างหลวงพ่อพุธ ท่านเคยสอนให้ฟังว่า ท่านใช้วิธีเล่า เหมือนเล่านิทาน เราฟังเราก็รู้ว่าท่านสอน ท่านบอกว่ามีพระองค์หนึ่ง ท่านต้องทำข้อวัตรทุกวัน ข้อวัตรของพระ เช่น ปัดกวาดเสนาสนะ กวาดวัด ตักน้ำ ทำหน้าที่ของพระ ดูแลวัด ดูแลกุฏิ ศาลา แล้วก็ถึงเวลาแล้วก็มานั่งสมาธิ เดินจงกรม ทุกวันมีข้อวัตรต้องทำอย่างนี้ พอท่านอาพาธมาก ท่านลุกขึ้นเดินจงกรมไม่ได้แล้ว ท่านนอน นอน ถึงเวลาที่จะต้องกวาดวัด ท่านลุกไปกวาดไม่ได้แล้ว ในกุฏิเองก็ลุกขึ้นมากวาดไม่ไหวแล้ว ใกล้มรณภาพ บอกว่า ท่านใช้มือของท่านกวาดพื้นข้างๆ ที่นอนท่าน กวาด กำหนดจิตว่านี่กำลังทำข้อวัตร กวาดเสนาสนะอยู่ แต่มันมีกำลังกวาดอยู่ช่วงแขนเดียว ไม่เลิก บอกปฏิบัตินะ รักษาข้อวัตร รักษาข้อปฏิบัติ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ท่านบอกมีอีกองค์หนึ่ง ท่านเดินจงกรม ท่านภาวนาด้วยการเดินจงกรมทุกวันๆ มีเวลาเมื่อไรก็เดิน ไม่ใช่เดินวันละรอบหรอก มีเวลาเมื่อไรก็เดิน เดินๆ ไปเรื่อย ท่านเดินมาก เท้าท่านแตก เดินไม่ได้ พอเดินไม่ได้ท่านก็ลงคลาน คลาน คราวนี้หัวเข่าก็แตก มือก็แตก ก็อยู่กับที่แล้ว นอนหมดเรี่ยวหมดแรง ใกล้มรณภาพ ไปนอนก็พยายามนอนพลิกซ้ายที พลิกขวาที ขยับร่างกายแล้วรู้สึก ขยับร่างกายแล้วรู้สึก ท่านเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่างให้เราดู ว่าท่านปฏิบัติกันสู้ตาย สู้จนตายนั่นล่ะ จนนาทีสุดท้ายเลยของชีวิต บางองค์ตอนที่ยังแข็งแรงอยู่ ภาวนาเต็มที่เลย แล้วมันยังไม่ได้ผลอะไร แล้วตอนใกล้ๆ จะมรณภาพ ก็ไม่ได้เลิกปฏิบัติ แต่ใจมันรู้แล้วว่า ดิ้นรนเต็มที่แล้วมันไม่ได้อะไร แต่ไม่เป็นไร ไม่ได้มรรคได้ผลอะไรก็ช่างมันเถอะ แต่ถึงจะตายก็ขอปฏิบัติ ท่านก็ยังปฏิบัติ พลิกซ้าย พลิกขวา พลิกซ้าย พลิกขวาไปเรื่อยๆ ก็บรรลุพระอรหันต์ได้ แล้วก็นิพพานไปเลย

เราศึกษาร่องรอย แบบอย่างของนักรบรุ่นก่อน ในพระไตรปิฎก ในอรรถกถา ธรรมบทอะไรพวกนี้ จะมีเรื่องราว มีร่องรอยของท่านเหล่านี้เยอะแยะเลย ถ้าเราศึกษาแล้ว ใจเราที่กำลังห่อเหี่ยวท้อแท้ มันก็จะฮึกเหิม หรือเราได้เห็นครูบาอาจารย์ที่ดี ใจเราก็จะฮึกเหิมขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรู้จักปลุกเร้าตัวเอง เข้มงวดกับตัวเอง หมายถึงมีวินัยในการปฏิบัติ ไม่ใช่เข้มงวดแบบเคร่งเครียด อันนั้นไม่ใช่เข้มงวด อันนั้นโง่ เข้มงวดก็คือรักษาข้อวัตรปฏิบัติของเรา อย่างไรก็ไม่เลิกปฏิบัติ ต้องรักษาไว้ แล้วก็ภาวนาของเราทุกวันๆ ท้อใจขึ้นมาก็รู้จักวิธีปลุกเร้าตัวเอง แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้ ต้องผ่านสเต็ปที่หนึ่งก่อน เรียนให้รู้เรื่องก่อน รู้หลักของการปฏิบัติเสียก่อน

เราต้องรู้ว่าเราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร เราปฏิบัติธรรมไม่ใช่เพื่อความดีวิเศษวิโส เพื่อความสุข เพื่ออย่างโน้นอย่างนี้ เราปฏิบัติธรรมเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น นี่จุดหมายปลายทางเลย เพื่อนิพพาน เพื่ออนุปาทิเสส นิพพาน นิพพานที่ไม่มีเชื้อเหลือ ไม่มีรูปนามเหลือ นี่จุดหมายปลายทางตรงนี้ การปฏิบัติ สิ่งที่เราต้องปฏิบัติ ต้องเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง พระพุทธเจ้าท่านสอน ธรรมะที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ตัวมรรคนี้มี 2 อัน สมถกรรมฐาน กับวิปัสสนากรรมฐาน 2 ตัวนี้ต้องทำ เรารู้แล้วว่าเราจะต้องทำอะไร สมถะจะทำอย่างไร สมถะก็ไม่ยากถ้าอยากสงบ ก็น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมีสติ ถ้าขาดสติก็เป็นมิจฉาสมาธิ

ถ้าจะเจริญปัญญา ก็คือมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ถ้าเรารู้หลักอย่างนี้ เราก็ลงมือทำ ไม่มีใครชวนให้เราทำ เราก็ชวนตัวเองให้ทำ หลวงพ่อก็ชวนตัวเองให้ทำ โดยการดูผู้เฒ่าทั้งหลายที่ว่านี้ เมื่อก่อนท่านก็ทุกข์แบบเรา มีกิเลสเหมือนเรา ทำไมท่านบริสุทธิ์หมดจดขึ้นมาได้ มันมีความต้องการที่จะปฏิบัติ ต้องการเดินตามรอยเท้าของครูไป ไม่ได้เดินเหยียบรอยเท้า เดินตาม ไม่ใช่วัดรอยเท้า แล้วเวลามีปัญหา ข้อที่หนึ่ง ต้องเรียนหลักให้ได้ ข้อที่สอง ชักชวนให้ปฏิบัติ ไม่มีพระพุทธเจ้าชักชวน เราชักชวนตัวเองให้ปฏิบัติ แล้วเวลาเกิดปัญหา ถ้ามีพระพุทธเจ้าท่านก็บอก แก้ไขให้

ตอนนี้ไม่มีพระพุทธเจ้า เราใช้ความสังเกตเอา ที่เราทำอยู่นี้มันถูกหรือมันผิด อย่างถ้าเราปฏิบัติ แล้วกิเลสเราแรงขึ้น อันนี้ผิด หรือปฏิบัติแล้วเราก็ยังงมงาย นับถือผีสางเทวดาอะไรเป็นที่พึ่งอยู่ อันนี้ก็ยังไม่ถูก ก็ต้องปรับต้องแก้ สังเกตตัวเอง แล้วที่เราปฏิบัติอยู่นั้น กิเลสลดลงไหม กุศลเจริญขึ้นไหม สังเกตเอาอย่างนี้ บางทีภาวนาจิตสว่างว่างอยู่อย่างนั้นเป็นปีเลย นึกว่าดี ไม่เห็นกิเลส ดูไปดูมา เห็นแต่ โอ้ จิตนี้เที่ยง สงบนิ่งอยู่อย่างนี้ทั้งวันทั้งคืน จิตนี้เที่ยงเสียแล้ว จิตนี้มีแต่ความสุข จิตนี้เป็นของบังคับได้ พอรู้อย่างนี้ก็ผิดแล้ว ถ้ามันขัดกับหลักของไตรลักษณ์ แสดงว่าภาวนาผิดแล้ว ไปเห็นกายเห็นใจว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้ถึงจะเห็นถูก

 

ความสุข ความสงบ จนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

เราค่อยๆ สังเกตตัวเอง หรือภาวนาแล้วอกุศลไม่ลดเลย หรือภาวนาแล้วกุศลไม่เจริญเลย อันนี้ผิดแน่นอน ต้องค่อยๆ สังเกตเอา การที่เราสังเกตอย่างแยบคาย เรียกว่าโยนิโสมนสิการ แล้วเราก็จะผ่านปัญหาได้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ปัญหา 100 ข้อ สังเกตเอาสู้ได้ อย่างน้อย 90 ข้อสู้ได้ พวกเราก็ทำได้ถ้ารู้หลัก รู้หลักธรรม แล้วช่วงไหนเฉื่อย รู้จักกระตุ้นตัวเอง มีวินัยแล้วก็สู้ไป ถ้าเราเดินในเส้นทางที่หลวงพ่อบอกมานี้ วันหนึ่งเราก็จะสะอาดหมดจด เหมือนครูบาอาจารย์ของเรา แต่ละองค์ๆ งดงาม เราเห็นคนแก่ทั่วๆ ไป ดูน่าสงสาร แต่เราเห็นครูบาอาจารย์ของเราที่แก่ๆ ไม่ได้น่าสงสาร แต่น่าเลื่อมใส ไม่เหมือนกัน

คนที่ไม่ได้ภาวนา พอแก่ๆ ขึ้นมาช่วยตัวเองไม่ได้ ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรอก ช่วยตัวเองหมายถึง ช่วยตัวเองให้พ้นทุกข์ไม่ได้ ลูกหลานไม่มาเยี่ยมก็โมโห ลูกหลานมาเยี่ยมก็ด่ามันอีก โทษฐานที่ทำไมมาเยี่ยมน้อยนัก มีแต่หงุดหงิด คนอายุมากขึ้น อายุมากขึ้นแล้วมันภาวนาไม่เป็น จิตใจมักจะเต็มไปด้วยโทสะ จิตใจไม่ค่อยมีความสุข ไม่แช่มชื่น เพราะร่างกายเดี๋ยวก็เจ็บตรงโน้น เดี๋ยวก็ปวดตรงนี้ จะกินข้าวก็ไม่อร่อย จะขับถ่ายก็ลำบาก จะนอนก็ไม่ค่อยจะหลับ เวลาควรหลับก็ตื่น เวลาควรจะตื่นก็หลับ ชีวิตไม่มีความสุขเลย เคยมีความสุขกับการไปกิน ไปเที่ยว ร้องรำทำเพลง ก็ไปไม่ได้ นอนป่วยแซ่วอยู่อย่างนั้น อยู่กับบ้านไปไหนไม่ได้ ลูกหลานไปทำงานหมด คนแก่ๆ ก็อยู่บ้าน ใจเหี่ยว เศร้าๆ เยอะมาก

แต่ไปเห็นครูบาอาจารย์นอนป่วย ตาใสแจ๋วเลย สดชื่น ดูมีความสุข มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ตอนนั้นหลวงพ่อไปเยี่ยมอุปัชฌาย์ ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แล้วห้องข้างๆ มีครูบาอาจารย์ผู้เฒ่าองค์หนึ่งอายุ 90 กว่า ท่านมาอาพาธ ท่านมาอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น หลวงพ่อก็ขอหมอเข้าไปกราบท่านหน่อย ไปถึงท่านก็นอนพูดไม่ค่อยได้แล้ว พูดได้ไม่กี่คำท่านก็เหนื่อย บอกท่านไม่ต้องพูดแล้ว มากราบท่าน ก็ดูท่านไปเรื่อยๆ โอ้ จิตใจ ดูท่านเบิกบาน ร่างกายโทรม ทรุดโทรมเต็มที่แล้ว แต่ดูท่านมีความสุข ผ่องใส เบิกบาน คนที่ภาวนากับคนที่ไม่ภาวนา แตกต่างกันสิ้นเชิงเลย เราก็เลือกเอา อนาคตของเราเอง ก็อยู่ที่ปัจจุบันของเรานี้ล่ะ

ถ้าปัจจุบันของเราลงมือปฏิบัติธรรมไป อนาคตของเรามันต้องดี ถ้าทำตามหลักที่ว่า รู้หลักที่ถูกต้อง ก็ลงมือทำไป แล้วก็สังเกตไปที่ทำนี้ถูกหรือผิด ช่วงไหนมันท้อแท้ มันอ่อนแอ ก็ปลุกเร้าตัวเองขึ้นมาต่อสู้ ถ้ามีเพื่อนร่วมทางที่ดี มันก็ช่วยเรา กระตุ้นให้เราต่อสู้ร่วมกัน ไปด้วยกัน สู้ด้วยกัน อย่างนี้ดี ถ้าไม่มีก็สู้ด้วยตัวเอง รู้จักอุบายในการปลุกเร้าตัวเอง แล้วสิ่งที่เราจะได้ เราจะมีความสุขตั้งแต่ปัจจุบัน ตอนที่เราแก่ตอนที่เราเจ็บ เราพึ่งใครไม่ได้หรอก ลูกหลานทุกวันนี้ มันทำมาหากิน ไม่มานั่งเฝ้าเรา ไม่ได้เฝ้าอย่างนั้น อย่างดีที่สุดก็จ้างคนมาดูแล มันก็ดูแลอย่างดีเลยต่อหน้าเรา ลับหลังเรามันอาจจะดูไม่ดีก็ได้ เราจะฟ้องลูกหลานก็ฟ้องไม่ไหวแล้ว แต่ถ้าใจเราเคยฝึก

เคยปฏิบัติมา มันมีความสุข มีความสงบ จนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรม ให้ความสุขในปัจจุบัน ให้ความสุขในอนาคตตลอดชีวิตเลย แล้วก็ให้ความสุข จะตายก็ยังไปสุคติได้ ความสุขสูงสุดคือพระนิพพาน ถ้าเราลงมือปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ตั้งแต่วันนี้ จิตใจเราก็มีแนวโน้มที่จะก้าวไปสู่พระนิพพาน แต่ถ้าเราไม่ได้เดินอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง ไม่มีศีล ไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง ไม่เจริญปัญญาอย่างถูกต้อง แล้วก็ไม่ได้อยู่ในเส้นทาง เราก็จะสุดโต่งไป หลงโลกบ้าง เคร่งเครียดบ้าง แต่ถ้าเรารู้หลัก แล้วเราเดินไปในเส้นทางที่ถูกต้อง

ค่อยๆ สังเกตตัวเอง ตอนนี้เดินเอียงซ้ายมากไป ตอนนี้เดินเอียงขวามากไป สังเกตเอา ก็คือตอนนี้หลงโลกมากไปหน่อยแล้ว ตอนนี้ภาวนาเคร่งเครียดเกินไปแล้ว ไปมุ่งบังคับกายบังคับใจมากไปแล้ว จิตมันก็จะเดินเข้าในทางสายกลาง จิตที่อยู่ในทางสายกลางนั้น มีแนวโน้มไปสู่พระนิพพาน เหมือนท่อนไม้ที่ลอยในแม่น้ำ มีพระสูตรบอก เหมือนท่อนน้ำลอยในแม่น้ำคงคา ไม่ติดฝั่งซ้าย ไม่ติดฝั่งขวา ไม่จมลงไป ไม่เน่าใน ไม่ถูกใครเขามาเก็บไปก่อน มันก็มีแนวโน้มที่จะออกไปสู่ทะเล

จิตของเราถ้าเดินอยู่ในทางสายกลาง มีศีล มีสมาธิที่ถูกต้อง มีปัญญาที่ถูกต้อง ก็มีแนวโน้มไปสู่พระนิพพาน ถ้าเราไม่ท้อแท้ พยายามอดทนก้าวเดินไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งเราก็ไปนิพพาน แล้วค่อยไปเจอกันในนิพพานไหม เอาไหม ถ้าเอาละก็ไม่นิพพาน โดนหลอกแล้ว ถ้ายังเอาอยู่ ไม่มีทางหรอก มันต้องวาง ไม่ใช่เอา ถามเอานิพพานไหม เอา ไม่นิพพาน วางอะไรแล้วจะนิพพาน วางขันธ์ 5 วางความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 นี้ ในกายในใจนี้ ถึงจะนิพพาน จะวางได้ก็ต้องเห็นความจริงของกายของใจ ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นอย่างนี้แล้วมันก็วาง

เราจะเห็นกายเห็นใจไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาได้ จิตเราต้องตั้งมั่นเป็นผู้เห็น เห็นกายมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นจิตมันทำงานไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตตั้งมั่นเป็นผู้เห็น ต้องมีสมาธิ ไปฝึกเอา เส้นทางนี้เป็นเส้นทางของคนซึ่งไปคนเดียว ถึงจะมีเพื่อนสหธรรมิก มีเพื่อนคู่ชีวิตประคับประคองกัน มันก็ได้ให้กำลังใจกัน แต่เวลาจะแตกหักมันแตกหักคนเดียว ก็ต้องสู้เอา เหมือนเวลาจะตาย ถึงจะมีเพื่อนเยอะ มีลูกหลานเยอะ เวลาตาย ตายคนเดียว มันเป็นเรื่องเฉพาะตัว มรรคผลมันก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว

เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ คนชอบบอกหลวงพ่อเทศน์ยากไป วันนี้ปรับตัวเทศน์ให้ง่ายหน่อย เทศน์ยากก็ไม่ทำ เทศน์ง่ายก็ไม่ทำ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
1 เมษายน 2566