ภาวนาเก็บเล็กเก็บน้อย

หลวงพ่อออกมาเร็วไปนิดหนึ่ง เวลามีเวลาว่าง 5 นาที 2 นาที 3 นาทีอะไรอย่างนี้ อย่าทิ้งเปล่าๆ อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ อยู่กับท้องพองยุบอะไรก็ได้ ให้มันมีเครื่องอยู่สักอย่างหนึ่ง อยู่ก็เหมือนอยู่บ้าน อยู่สบายๆ ไม่ได้อยู่คุก เวลาจิตต้องการไปรู้อารมณ์อื่นๆ มันจะไหลไป ส่วนใหญ่ก็ไหลไปคิด ให้เรามีสติรู้ทัน ฝึกอย่างนี้มากๆ มากที่สุดที่จะมากได้ มีนาทีหนึ่งก็ฝึกนาทีหนึ่ง มี 5 นาทีก็ฝึก 5 นาที 10 นาทีก็เอา เก็บเล็กเก็บน้อยทั้งวัน ถ้าทั้งวันจิตเราออกข้างนอก ไม่เคยกลับบ้าน คือทิ้งวิหารธรรมไป จิตหนีไปตลอด ตกเย็นจะไปนั่งภาวนา ไปเดินจงกรม ทำไม่ได้ มันฟุ้งซ่าน เพราะมันฟุ้งมาทั้งวันแล้ว จิตมันก็เหนื่อย พอจิตเหนื่อย พอไปนั่งสมาธิ ก็นั่งหลับ หรือบางคนมันฟุ้งแล้วมันยังฟุ้งได้ไม่ถึงใจ พอนั่งสมาธิมันก็ฟุ้งต่อ ฉะนั้นถ้าเรามีวินัยในตัวเอง เราไม่ทิ้งเวลาเปล่าๆ มี 5 นาที 10 นาทีอะไร เก็บให้หมดเลย

เมื่อก่อนหลวงพ่อเป็นโยม หลวงพ่อก็เอาอย่างนั้นล่ะ เก็บ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไร เครื่องอยู่ที่เราคุ้นเคย ไม่ใช่ทุกคนต้องเอาอย่างนี้ เอาที่เราคุ้นเคย ที่เราอยู่แล้วสบายใจ แล้วก็ไม่เผลอเพลิน หลวงพ่อภาวนาตั้งแต่ตื่น ตื่นนอนมา ร่างกายอยู่ในท่าไหน รู้ หายใจออกหรือหายใจเข้า รู้ ตั้งแต่ตื่น จิตใจเฉยๆ ขึ้นมาก่อน มันกระทบความคิด แล้วเกิดความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์อะไรขึ้นมาก็รู้ เกิดปรุงกุศล หรือปรุงโลภ โกรธ หลงขึ้นมาก็รู้ ฝึกตั้งแต่ตื่นนอน

อย่างเมื่อก่อนวันอาทิตย์ตื่นนอนมาแต่มืดเลย จะได้ไปฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ แต่ก่อนไปฟังหลายที่ บางทีก็ไปมูลนิธิอาจารย์มั่นฯ ไปวัดบรมนิวาสฯ วัดเบญจมบพิตรฯ ก็เคยไป ก็ศาลาลุงชินอะไรอย่างนี้ บางทีก็ตามบ้านคนที่เขาเปิด ส่วนใหญ่ก็จัดวันอาทิตย์ พอเช้าวันอาทิตย์ เช้ามืดตื่นมา นึกถึงวันนี้จะได้เจอครูบาอาจารย์ จิตใจมีปีติ มีความสุขขึ้นมาก็รู้เลย เก็บเล็กเก็บน้อย อ่านจิตอ่านใจตัวเองตลอดตั้งแต่ตื่น ถ้าเป็นวันธรรมดาต้องไปทำงาน โดยเฉพาะวันจันทร์ วันอังคารอย่างนี้ เป็นวันน่าเบื่อ วันจันทร์น่าเบื่อเพราะรถติดอะไรอย่างนี้ เบื่อมาก พอตื่นมาก็คิดว่าวันนี้วันจันทร์ จิตใจก็เบื่อหน่ายแล้ว นี่คือการปฏิบัติ ไม่ใช่เฉพาะนั่งสมาธิ เดินจงกรม รู้ลงไปเรื่อยๆ รู้อยู่กับวิหารธรรมของเรา

 

ดูกายได้ก็ดูกาย ดูจิตได้ก็ดูจิต

หลวงพ่อใช้จิตเป็นวิหารธรรมในการเจริญปัญญา แล้วใช้อานาปานสติเป็นเครื่องอยู่ เวลาทำสมถะ แต่พอชำนาญขึ้น เราใช้จิตทำสมถะก็ได้ ใช้จิตเป็นวิหารธรรม ได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา มันมีจิตอยู่ 2 ดวงที่ใช้ทำสมถะได้ง่าย คืออากาสานัญจายตนจิต ตัวนี้ตัวหนึ่ง คือจิตที่อยู่กับช่องว่าง อยู่กับความว่าง อย่างเราทำใจสบาย มองลงไป เราจะเห็นมันว่างๆ อยู่กับความว่างๆ ก็ไม่มีเกิด ไม่มีดับอะไร ตรงนั้นได้สมาธิ อีกตัวหนึ่งก็คืออยู่กับความไม่มีอะไร ไม่จับทั้งผู้รู้ ไม่จับทั้งสิ่งถูกรู้ ชื่ออากิญจัญญายตนะ อยู่ 2 ตัวนี้ สำหรับนักดูจิต ถ้าชำนิชำนาญในการดูจิตแล้ว ไปทำสมถะง่ายๆ เลย ไม่ต้องกลับไปพุทโธ หายใจอะไร แต่ต้องทำสมถะ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ต้องทำ

ถ้าเรายังทำด้วยอารมณ์ของอรูปไม่ได้ ก็ใช้อารมณ์ที่เราถนัด หัดแรกๆ หลวงพ่อก็ใช้อานาปานสติ เวลานั่งรถเมล์ไปทำงานอย่างนี้ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป ตามันเห็น เห็นผู้หญิงสวยๆ อยู่ข้างถนนอะไรอย่างนี้ ใจมันสนใจ แล้วหันขวับเลยอย่างนี้ ร่างกายขยับ รู้สึก ใจอยากดู รู้สึก ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของกายของใจไปเรื่อยๆ ไปถึงที่ทำงาน ถ้าเกิดบางวันรถไม่ติดมาก ไปถึงเร็ว ดีใจ เดินชมนกชมไม้ ก่อนทำงานอยู่ในทำเนียบรัฐบาลมีอะไรสวยๆ ให้ดูเยอะแยะ ดูนก ดูต้นไม้ ดูดอกไม้อะไรอย่างนี้ ใจมันมีความสุข ก็รู้ว่ามีความสุข ไม่ใช่ดูแล้วเพลินๆ เห็นดอกไม้แล้วก็อยากไปเด็ดอะไรอย่างนี้ อันนั้นดูตัวเองไม่ออกแล้ว ถ้าเห็นดอกไม้แล้วอยากเด็ด รู้ว่าอยากเด็ด อันนี้ถือว่าปฏิบัติอยู่

จะกินข้าว จะอาบน้ำ จะขับถ่าย ก็คอยรู้ทันกาย รู้ทันจิตไป ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเราเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก เก็บเล็กเก็บน้อยไปเรื่อยๆ เวลาทำงาน มีเวลานิดๆ หน่อยๆ สมมติไปนั่งรอการประชุม องค์ประชุมยังมาไม่ครบ ยังเปิดประชุมไม่ได้ นั่งรอ ไม่ได้นั่งรอกลุ้มใจเฉยๆ นั่งรอก็ภาวนาของเราไป พุทโธ หายใจไปอะไรอย่างนี้ ฝึกไปเรื่อยๆ หายใจไปๆ แล้วก็หงุดหงิด อีตาคนนี้ทำไมมาช้าเกิน มาประชุมทีไรไม่เคยทันเลย กระทรวงก็อยู่ใกล้ๆ ที่ทำงานเราอะไรอย่างนี้ ไม่มา ขี้เกียจเหลือเกินอะไรอย่างนี้ แล้วแถมมาก็ชอบพูดเรื่องที่ไม่ค่อยฉลาดอีก เสียเวลารอแล้วก็ไม่มีประโยชน์ในการเก็บข้อมูลหรือตัดสินใจอะไร ใจมันหงุดหงิดก็รู้ บางคนเราเห็นหน้า คนนี้มา เราดีใจ คนนี้มา เราจะได้ข้อมูลที่ดี เราจะได้แนวความคิดที่ดี แค่นี้ นี่คือการปฏิบัติ

ปฏิบัติอยู่ในห้องประชุม เวลาฟังเขาประชุมก็พูด เราเป็นเจ้าหน้าที่ เป็นฝ่ายเลขานุการ ไม่ได้พูดกับเขาเท่าไหร่หรอก มีเครื่องพรีเซนต์เอกสารอะไรอย่างนี้ เวลาฟังเขา บางคนพูดดี ใจเราสนใจฟัง เวลาสนใจฟัง ภาวนาไม่ได้ สติ สมาธิ ปัญญาไปอยู่กับงาน บางคนมันพูดอะไรที่โง่ๆ แล้วพูดยาว คล้ายๆ สส. พูดยาว พูดไปหลายวาเลย มีเนื้อหากระเบียดนิ้วเดียวอะไรอย่างนี้ พวกนี้แทนที่เราจะนั่งโมโห หลวงพ่อก็ภาวนาของหลวงพ่อไป เราก็ลืมตาฟัง ฟังไป ฟัง นานๆ พยักหน้าทีหนึ่ง แล้วก็ภาวนา แกพูดซัก 10 นาที เราได้ภาวนา 10 นาทีแล้ว นานๆ แกจะพูดอะไรซึ่งมีประโยชน์สักนิดหนึ่งอะไรอย่างนี้ จิตมันก็จะ alert ขึ้นมาฟัง

ภาวนาเก็บเล็กเก็บน้อย เก็บไปให้หมดเลย พระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนท่านเคยเล่าให้ครูบาอาจารย์ฟัง องค์ไหนหลวงพ่อจำไม่ได้แล้ว หลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ 30 – 40 องค์ จำไม่ได้ ท่านไปเล่าให้ครูบาอาจารย์ฟังว่า งานท่านเยอะ ท่านก็ใช้วิธีว่าทำงาน อย่างขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ขึ้นเรือบิน ท่านก็ทำงาน ของเราชมวิวไปเรื่อยๆ ท่านนั่งทำงาน ทำงานเสร็จแล้ว เหลือเวลา 5 นาทีอะไรอย่างนี้ ท่านก็ภาวนา ท่านบอกท่านแบ่งชีวิตท่านเป็นช่วงเล็กๆ ชีวิตช่วง 5 นาทีนี้ทำอย่างนี้ 10 นาทีอย่างนี้ เหลือช่องว่างเล็กๆ อยู่ไม่กี่นาที ท่านภาวนา เราต้องดูแบบอย่าง ในหลวงองค์ก่อนภาวนาเก่งมาก ครูบาอาจารย์ชมทุกองค์เลย ท่านทำอย่างนี้ ท่านก็ดี เราก็ต้องเอาอย่าง มีเวลา เล็กๆ น้อยๆ อย่าไปทิ้ง ส่วนใหญ่เอาไปทิ้งไม่สนใจ 5 นาทีขอพักผ่อน โหย มันพักอะไรนักหนา มันพักมาตลอดชีวิตแล้ว พักไม่เลิก

 

ถ้ามีเวลาหายใจ ก็มีเวลาปฏิบัติ

ถ้าเรารู้จักเก็บเล็กเก็บน้อย สมมติว่าชั่วโมงหนึ่ง เราเก็บได้ 5 นาที 12 ชั่วโมงได้ชั่วโมงหนึ่ง ได้เวลาเพิ่มมา 1 ชั่วโมงในการปฏิบัติแล้ว 5 คูณ 12 ได้ 60 ฉะนั้นที่ว่าไม่มีเวลาปฏิบัติอะไรอย่างนี้ คือไม่ปฏิบัติ หลวงปู่ดูลย์ท่านถึงพูดถึงขนาดว่า “ถ้ามีเวลาหายใจ ก็มีเวลาปฏิบัติ” ฉะนั้นถ้าเรายังมีลมหายใจอยู่ จะมาอ้างว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ เพราะเราไม่ปฏิบัติ พยายามรู้สึก อย่าทิ้งเวลา รู้สึกไป ดูไปๆ เรื่อยๆ ดูจิตได้ก็ดูจิต ดูจิตไม่ได้ก็ดูกาย ค่อยๆ ฝึกไป

อย่างพระอยู่กับหลวงพ่อ มาทำใจลอยเอ้อระเหยอะไรอย่างนี้ โดนดุ เช้าๆ หลวงพ่อเดินตรวจอยู่ ตอนพระตักอาหารอย่างนี้ ใจแวบลงไปในถาดอย่างนี้ โดนแล้วว่าเป็นเปรตไปแล้ว ใจชำเลือง หรือบางองค์นั่งเก๊กท่าตลอดเวลาเลย เก๊ก ทำเท่ สร้างภพของนักปฏิบัติตลอดเวลา พวกนี้มีเวลา 5 นาทีก็เก๊ก 5 นาที ไม่ได้ปฏิบัติ แต่วางฟอร์มอย่างนี้ บอกรู้ไหมว่ากำลังปรุงแต่งอยู่ สร้างสังขารปรุงแต่งอยู่ ปรุงแต่ง แอ็คอาร์ตเป็นนักปฏิบัติ บอกไม่เห็นหรอก มองไม่ออก เพราะว่าปรุงมาตั้งแต่เด็กแล้ว เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร ดูไม่ออกว่าจิตขณะนี้มันติดในภพของนักปฏิบัติ ปรุงอยู่อย่างนี้ ทื่อๆ อยู่ บอกมองไม่ออกหรือ มองจิตไม่ออกหรือว่าปรุงแต่ง ง่ายๆ ดูลงไปที่มือเลย ที่แขนนี่ สังเกตดูสิ แขนนี้มันไม่ปรุงแต่งหรอก มันเป็นแค่วัตถุ ไม่ปรุงอะไรหรอก บอกให้ดูลงไป รู้สึกไหม แขนนี้มันว่างๆ มันไม่มีอะไร ไม่ปรุงอะไร บอกเห็นไหม จิตกับแขนเราไม่เท่าเทียมกัน จิตมีน้ำหนัก แขนนี้ไม่มีน้ำหนัก พอดูอย่างนี้ปุ๊บ เห็นแล้ว เห็นส่วนเกินที่จิตสร้างขึ้นมา นี่คือความปรุงแต่ง ฉะนั้นตอนนั่งกินข้าว นั่งอะไร หลวงพ่อยังตรวจถึงขนาดนี้เลย ฉะนั้นมาบวชที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรอก

รู้สึกไหม ลองดูแขนตัวเองสิ รู้สึกไหม แขนเรามันเป็นวัตถุ มันปรุงแต่งไม่เป็น ปรุงดีก็ไม่เป็น ปรุงชั่วก็ไม่เป็น ปรุงเฉยๆ ก็ไม่เป็น ลองรู้สึก ลองสัมผัสดูก็ได้ สัมผัสแขนนี้ เราจะรู้สึกว่ามันเหมือนท่อนไม้อันหนึ่ง ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา พอดูลงไปแล้ว เห็นมันไม่ได้ปรุงอะไร เป็นวัตถุเฉยๆ ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ย้อนมาสังเกตที่จิต จิตมีน้ำหนัก แต่แขนไม่มีน้ำหนัก ครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อองค์หนึ่ง คือหลวงปู่ดูลย์ องค์นี้ฝากเป็นฝากตายกับท่าน ท่านเคยสอนว่า “ถ้าวันใดที่เราเห็นว่าจิตของเรา กับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน คือว่าง วันนั้นเราจะถึงที่สุดแห่งทุกข์” ท่านว่าอย่างนี้

ทีนี้เรายังดูทุกสิ่งทุกอย่างให้ว่างไม่ได้ ดูโลกข้างนอกให้ว่าง ที่จริงดูโลกข้างนอกให้ว่างยังง่าย ดูจนเห็นว่าจิตนี้ก็ว่างเสมอด้วยโลกข้างนอก อันนี้ยาก ต้องค่อยๆ ฝึก จิตมันจะว่างเสมอกับโลกข้างนอกได้ มันต้องไม่ปรุงแต่ง ถ้ามันปรุงแต่งขึ้นเมื่อไร มันก็จะแยกตัวออกจากโลกข้างนอก มันจะรู้สึกนี้เรา มีน้ำหนักแห่งความเป็นตัวเป็นตน มีน้ำหนักแห่งความทุกข์ แห่งความปรุงแต่งเกิดขึ้น แล้วจะรู้สึกอันนี้ส่วนหนึ่ง โลกข้างนอกอีกส่วนหนึ่ง มี 2 ส่วน พอมี 2 ส่วนก็มีการเคลื่อนได้ เคลื่อนที่ได้ มันก็เคลื่อนออกไปจับทางนี้ๆ มีความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง มีเวลา เกิดกาลเวลาเกิดขึ้น แล้วถ้าจิตทรงอยู่กับจิต ไม่มีเวลา เวลาไม่ปรากฏ

ฉะนั้นเวลาเรามีเวลาเล็กๆ น้อยๆ เราก็ภาวนาของเราไป ดูกายได้ก็ดู ดูจิตได้ก็ดู มันดูได้ตั้งแต่หยาบๆ จนถึงละเอียด อย่างดูร่างกายหยาบๆ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ดูละเอียดขึ้นมา ก็เห็นร่างกายหายใจออก หายใจเข้า ดูละเอียดขึ้นไปอีก ก็เห็นร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ดูไป จะดูจิตดูใจก็ดูไป เห็นเลยความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่วผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของจิตแล้วก็ผ่านออกไป ดูไปเรื่อย มีเวลาเมื่อไรดูเมื่อนั้น แล้วเราจะเห็นเลย จิตเรานี้ปรุงแต่งทั้งวัน

 

คอยเรียนคอยรู้ความปรุงแต่งของจิต

เวลาเราเป็นนักปฏิบัติ เราคิดถึงการปฏิบัติ เราก็ปรุงแต่ง วางฟอร์มเป็นนักปฏิบัติ ทำเป็นนิ่งๆ เงียบๆ ทำเป็นเรียบร้อย ทั้งๆ ที่ตัวจริงเป็นมหาโจร ทำเป็นเรียบร้อย ให้ดูดี เราไปสร้างภพของนักปฏิบัติ เวลาเรามีลูก เราจะคุยกับลูก เราก็วางฟอร์ม เป็นภพของพ่อภพของแม่ เวลาจะคุยกับเมีย เราก็วางฟอร์ม สร้างภพของสามีขึ้นมาอะไรอย่างนี้ วางฟอร์มตลอด จะคุยกับลูกน้องก็วางฟอร์มผู้จัดการ หรือวางฟอร์มหัวหน้ากอง มันวางฟอร์มตลอด

ถ้าเราคอยเรียนคอยรู้ จิตเราปรุงอะไรขึ้นมา เราคอยรู้ไป ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงภพต่างๆ ภพดีภพชั่วต่างๆ อย่างเวลาใจเราโลภอย่างนี้ เราปรุงภพ ภพเปรตขึ้นมาในใจ เวลาใจเรามีความทุกข์ เราปรุงภพของสัตว์นรกขึ้นมา ใจตกนรกตั้งแต่ตอนนี้แล้ว เวลาเราคิดถึงการทำบุญทำทานใส่บาตรอะไรนี่ ใจอิ่มเอิบเบิกบานขึ้นมา เราก็เป็นภพในสุคติ นี่ภพ ภพน้อยๆ หมุนอยู่ในใจเรานี้ทั้งวันเลย เดี๋ยวก็สร้างภพอย่างโน้น เดี๋ยวก็สร้างภพอย่างนี้ ก็คือเดี๋ยวก็ปรุงดี เดี๋ยวก็ปรุงชั่ว

ตัวภพก็คือตัวความปรุงแต่งของจิตนั่นล่ะ เรียกว่าภพ ภพชนิดนี้เรียกว่ากรรมภพ จิตมันทำกรรม กรรมของภพก็ตัวพฤติกรรม ภาษาสมัยนี้ก็คือพฤติกรรม จิตนี้มีพฤติกรรมตลอดเวลา มีพฤติกรรมที่ดีบ้าง พฤติกรรมที่เลวบ้าง ก็คือเดี๋ยวก็ปรุงดี เดี๋ยวก็ปรุงเลวอะไรอย่างนี้ อ่านมันไปเรื่อย ตามรู้มันไปเรื่อย มันมารยา รู้ว่ามันมารยา มันวางฟอร์มเป็นนักปฏิบัติ รู้ว่ามันวางฟอร์ม ดูไปเรื่อยๆ เก็บเล็กเก็บน้อย ดูมันไปเรื่อย ถึงวันหนึ่งก็แจ้งขึ้นมา ความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง มันเกิดจากตัณหาทั้งสิ้น ปรุงดีหรือปรุงชั่วก็เกิดจากตัณหา รากของมัน อวิชชามันไกลไป เรายังไม่เห็น เอาไว้ก่อน ไว้ได้อนาคามีแล้วเรียนเรื่องอวิชชาได้ ยังไม่ถึง เรียนไม่ได้ ไม่รู้เรื่องหรอก ได้แต่คิดเอา

เราดู เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีรูปธรรม มีนามธรรม มีการ กระทบอารมณ์ ตามองเห็นรูป หูได้ยินเสียง ใจกระทบความคิด มีผัสสะ มีอายตนะ แล้วก็มีผัสสะ พอกระทบอารมณ์ก็เกิดความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นมา พอมีความสุขเกิดขึ้นก็เริ่มปรุง ปรุงราคะ มีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ปรุง ปรุงโทสะ บางทีเฉยๆ จับไม่ได้ชัดเจนว่าสุขหรือทุกข์ ก็หลงๆ เผลอๆ เพลินๆ ไป ปรุงโมหะขึ้นมา ใจเราปรุงแต่งขึ้นมาเรื่อยๆ คอยรู้ทันความปรุงแต่งของใจไป พอมีราคะ เราก็สร้างภพของเปรตขึ้นมา มีโทสะมันก็สร้างภพของสัตว์นรกขึ้นมา มีโมหะเราก็สร้างภพของสัตว์เดรัจฉานขึ้นมา สัตว์เดรัจฉานมันเกิดด้วยโมหะ มันเซ่อๆ ซ่าๆ มันลืมเนื้อลืมตัวไป

ค่อยดูๆ ไป ใจเราจากความปรุงแต่งสกปรก มันจะปรุงแต่งสิ่งที่สะอาดขึ้นๆ ความปรุงแต่งที่ดีคืออะไร อะไรบ้าง ศีล สมาธิ ปัญญา คือความปรุงแต่งฝ่ายดี ฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญาเบื้องต้นเราก็ต้องอาศัยอยากปฏิบัติก่อน อยากดีก่อน แล้วก็ลงมือปฏิบัติไป ค่อยรู้ทันๆ ใจที่อยากทีหลัง แต่ว่าพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นไปเรื่อยๆ สะสมไป ถ้าเราไม่สะสมความปรุงแต่งฝ่ายดี ไม่ยอมสนใจที่จะปรุงดี จิตมันจะปรุงชั่วโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นระหว่างปรุงดีกับปรุงชั่ว ปรุงดีไว้ก่อน ถึงจะเป็นความจงใจ เป็นความปรุงแต่งก็ปรุงไปก่อน

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อภาวนาตอนเป็นโยม เคยภาวนาผิด ที่หลวงพ่อมาสอนพวกเราเหยงๆ สอนมาจากสิ่งที่ตัวเองทำผิดแทบทั้งนั้น ภาวนาไปเรื่อยๆ เห็นความปรุงนานาชนิด แล้วถึงวันหนึ่งปัญญามันล้ำหน้า สมาธิ หลวงพ่อมีจุดอ่อน คือหลวงพ่อทำสมาธิแต่เด็ก แล้วพอเจอหลวงปู่ดูลย์ มาเจริญปัญญา หลวงพ่อทิ้งสมาธิเลย ดูถูกสมาธิ พอมาเจริญปัญญา ปัญญามันล้ำหน้า สมาธิไม่พอ ไม่สมดุลกัน ก็เห็นเลยว่า เอ๊ะ ที่เราภาวนาอยู่ จิตเป็นผู้รู้อะไรขึ้นมา นี่มันความปรุงแต่งทั้งนั้น นี่ก็ปรุงก็ทิ้ง นี่ก็ปรุง ก็ทิ้งๆๆๆ สุดท้ายจิตหลุดออกจากการทำกรรมฐานเลย อ้าว หลุดออกมาอยู่ข้างนอกอย่างนี้ล่ะ ไม่ได้ปฏิบัติแล้ว นี่สำคัญผิด ปัญญามันล้ำ นี่ก็ไม่เอา นี่ก็ไม่ยึด นั่นก็ไม่เอา นี่ก็ไม่ยึดอะไรอย่างนี้

อย่างที่บางคนชอบ ชอบนั่นก็ไม่ยึด นี่ก็ไม่ยึดอะไรอย่างนี้ ต้องยึดไว้ก่อน ก่อนจะไม่ยึด ต้องยึดไว้ก่อน ศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์แล้ว มันไม่ยึดของมันเอง ไม่ใช่เราโน้มนำไปให้ไม่ยึด บางที่สอนไม่ให้ยึดอะไรสักอย่างหนึ่ง มันก็ยึดความคิดว่าจะไม่ยึดนั่นล่ะ ก็ปรุงความไม่ยึด ปรุงความว่างๆ ปรุงความว่างๆ เป็นความปรุงแต่งไหม เป็น เรียกว่าอเนญชาภิสังขาร ปุญญาภิสังขาร ปรุงดี อปุญญาภิสังขาร ปรุงไม่ดี อเนญชาภิสังขาร พยายามจะไม่ปรุง อยู่กับความว่างๆ ฉะนั้นที่บอกว่าจิตว่างๆ ไม่ยึดถืออะไรสักอย่าง มีชีวิต แหม มีความสุข ถ้าเราดูเป็นเราจะรู้เลย นี่มันภพๆ หนึ่ง เป็นภพอีกภพหนึ่ง ประกอบด้วยโมหะ ประกอบด้วยความหลงผิด คิดว่าตัวเองไม่ยึดโน่นไม่ยึดนี่ ถ้าอยู่ๆ คิดว่าไม่ยึด แล้วมันก็ไม่ยึด ทุกคนเป็นพระอรหันต์หมดแล้วล่ะ มันทำไม่ได้จริงหรอก

ทำอย่างไรถึงจะไม่ยึด เห็นทุกข์มันถึงจะไม่ยึด เราไม่ยึดกาย เพราะเราเห็นว่ากายนี้คือตัวทุกข์ เราไม่ยึดจิตเพราะเราเห็นว่าจิตคือตัวทุกข์ ฉะนั้นเราจะรู้ทุกข์ จนกระทั่งละสมุทัย ละความอยาก พอละความอยากได้ จิตก็หมดความปรุงแต่ง จิตก็หมดความดิ้นรน หมดความปรุงแต่ง ตรงที่ละความอยากได้ เขาเรียกว่าวิราคะ พ้นจากความอยาก พ้นจากราคะ ตรงที่มันหมดจากความปรุงแต่ง เขาเรียก วิสังขาร ตรงที่มันไม่ยึดถืออะไรด้วยสติปัญญาอย่างแท้จริง เป็นวิมุตติตัวที่สูง วิมุตติ เกิดอริยมรรค อริยผล หรือจิตสัมผัสพระนิพพานอยู่ มันเป็นผลจากการปฏิบัติที่เราทำมาอย่างหนักหนาสาหัสแล้ว ไม่ใช่อยู่ๆ ก็นึกว่าไม่ยึดๆ พูดแล้วโก้ดี

พวกชอบอ่านหนังสือเซนคิดว่ามันง่ายๆ มันไม่ได้หรอก ศีลก็ไม่มี สมาธิก็ไม่ฝึก มโนเอาอย่างเดียวว่านั่นก็ไม่ยึด นี่ก็ไม่ยึด เมื่อก่อนก็มีแอบมาสอนอยู่ในนี้ สอนสบายใจ ทำใจว่างๆ เพลินๆ นอกรีตนอกรอยจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ทิ้งการรู้ทุกข์ไม่ได้หรอก ฉะนั้นหลวงพ่อเคยพลาดมาแล้ว นี่ก็สร้างภพ นี่ก็ภพ นี่ก็ปรุงแต่งไม่เอาๆๆๆ สุดท้ายจิตหลุดออกมาอยู่กับโลกข้างนอก กรรมฐานแตกไปเลย ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่

ฉะนั้นเราสังเกตตัวเองไป มีเครื่องอยู่ๆ สังเกตจิตได้ สังเกตจิตไป เวลาเราอยู่กับเครื่องอยู่ จิตมันจะมีความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้น มีสุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลายเกิดขึ้น หรือจิตเกิดพฤติกรรมขึ้น มีพฤติกรรม เช่น จะไปสร้างภพอย่างนั้นภพอย่างนี้ จะไปดูรูป จะไปฟังเสียง จะไปดมกลิ่น จะไปลิ้มรส จะไปรู้สัมผัสทางกาย ส่งไปส่งมา ทางใจจิตก็สร้างภพตลอดเวลาเลย ภพน้อยๆ สร้างตลอด เดี๋ยวก็ภพเป็นเปรต เดี๋ยวก็เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นมนุษย์ ช่วงไหนที่จิตใจมีศีล 5 ก็เป็นมนุษย์ ช่วงไหนศีลของเราประณีตขึ้นไปอีก เรามีหิริโอตัปปะ เราก็เป็นเทพ ช่วงไหนจิตสงบ ไม่สนใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะภายนอก พึงพอใจในความสงบภายใน เราก็เป็นพรหม นี่ก็สร้างภพของพรหม

 

มีภพทีไร มีทุกข์ทุกที

เพราะฉะนั้นจิตเวียนสร้างภพน้อยภพใหญ่ด้วยความปรุงแต่งนานาชนิด คอยรู้ไปเรื่อยๆ ทีแรกรู้หยาบๆ ก็ได้ ตอนนี้เป็นเปรตแล้ว อยากโน้นอยากนี้แล้ว ตอนนี้เป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วหลงเอาๆ ฟุ้งซ่านเอาอะไรอย่างนี้ คอยรู้ไปอย่างนี้ ตอนนี้ตกนรกแล้ว กลุ้มใจ จมอยู่กับความทุกข์ รู้ไป ตอนนี้สบายใจ รู้ไป ตอนนี้สงบ รู้ไป อ่านภพที่เราสร้างในใจของเราไปเรื่อยๆ นี่ก็ปฏิบัติ ไม่ใช่ไม่ปฏิบัติ แค่นี้ก็ปฏิบัติแล้ว คอยรู้ทันความปรุงแต่งหรือตัวภพ ภพคือความปรุงแต่งของจิต ตัวสังขารของจิตที่มันปรุง ฉะนั้นจิตมันสร้างภพน้อยๆ ตลอดวันตลอดคืน ภพใหญ่ๆ ของเราตอนนี้เป็นมนุษย์ แต่ภพน้อยๆ เราเปลี่ยนตลอดเวลา เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว สารพัด ดูความเปลี่ยนแปลงไป แล้วต่อไปจะเห็น มีภพทีไรมีทุกข์ทุกทีเลย ทันทีที่เราสร้างภพขึ้นมา เราจะหยิบฉวย อายตนะขึ้นมา หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าภพนั้นเนื่องด้วยตา เห็นรูปอันนี้แล้วก็ยินดีพอใจ เป็นเปรต อยากได้รูปนี้ เราจะแอบไปยึดถือตา แต่ตรงนี้ดูยากๆ ตัวไหนดูยากอย่าเพิ่งไปดูมัน

ตรงที่มันสร้างภพขึ้นมาแล้ว มันจะเกิดชาติ คือการที่หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา พอมันหยิบฉวยขึ้นมาแล้ว ภาระมันติดขึ้นมาทันที เพราะตัวทุกข์ก็คือรูปนาม ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นล่ะ คือตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวอะไรเลย อยู่ดีๆ ก็ไปหยิบมันขึ้นมา คล้ายๆ เห็นถ่านไฟแดงๆ สวยดี ก็ไปหยิบขึ้นมา ก็ตัวเองทุกข์เอง เราภาวนา บางช่วงบางเวลา จิตมันวางหมดเลย มันไม่หยิบฉวยขึ้นมาเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่หยิบเลย กระทั่งตัวจิตเองก็วางจิตลงไป จิตวางจิตลงไป แต่ประเดี๋ยวหนึ่งสังขารปรุงต่อก็ไปหยิบเอาจิตคืนมาอีก สร้างภพขึ้นมาแล้วก็สร้างชาติขึ้นมา

การที่หยิบเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือหยิบรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขึ้นมา นั่นคือหยิบเอาตัวทุกข์ขึ้นมา จิตมันจะมีภาระทันทีเลย จิตมันจะทุกข์ทันทีที่มันหยิบฉวยขึ้นมา หยิบฉวยรูป มันก็ทุกข์เพราะรูป หยิบฉวยนามก็ทุกข์เพราะนาม หลวงพ่อเคยภาวนาตอนเป็นโยม มีอยู่ช่วงหนึ่งจิตมันวางจิตลงไป เรารู้เลยว่าถ้ามันวางอย่างนี้ แล้วไม่หยิบขึ้นมาอีก มันไม่มีอะไรจะไปต่อแล้ว แต่ว่าอวิชชาเรายังอยู่ มันวางไปประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวมันก็หยิบขึ้นมาอีก หยิบแล้วภาวนาไปอีกหลายๆ วันก็วางอีก วางแล้วก็หยิบๆ อยู่อย่างนี้ วางได้แป๊บหนึ่งก็หยิบๆ ก็สังเกตไปเรื่อยๆ เอ๊ะ ทำอย่างไรมันจะไม่หยิบ แล้วเวลาที่มันหยิบขึ้นมา หยิบจิตขึ้นมาแล้ว มันปล่อยยาก มันไม่ยอมปล่อย ทำอย่างไรก็ไม่ปล่อย

วันหนึ่งได้ข่าวว่าหลวงปู่สุวัจน์ ท่านมาจากอเมริกา มาพักอยู่ที่สวนทิพย์ในซอยวัดกู้ รีบชวนคุณแม่นุชขับรถไป จิตกำลังวางอยู่เชียว จะไปถามท่านว่าวางอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไรต่อ พอขึ้นรถเท่านั้น จิตก็หยิบฉวยจิตขึ้นมา แล้วคราวนี้ตั้งแต่บ้านที่เมืองนนท์เพื่อไปที่ปากเกร็ด ขับรถไป ไม่ยอมปล่อย ทำอย่างไรก็ไม่ยอมปล่อย จนกระทั่งรถเข้าซอยวัดกู้ จะถึงที่พักของท่านอยู่แล้ว จิตก็ถอนใจว่า เฮ้อ มันเป็นอนัตตา เราสั่งให้มันวาง มันก็ไม่วาง พอรู้สึกอย่างนี้ รู้สึกว่ามันเป็นอนัตตา สั่งให้วางมันก็ไม่วาง พอเห็นตรงนี้ปุ๊บมันวางทันทีเลย ก็ดีใจ วางทันที่เอาไปให้หลวงปู่ดู จะได้เรียนต่อ

พอเข้าไปถึงก็ไปนั่งรอท่าน ห้องนั้นเล็กนิดเดียว คนเยอะแยะเลย แต่เราก็แทรกๆๆ เข้าไป ไปก่อนชาวบ้านเขา ไปอยู่ข้างหน้า สักพักใหญ่ๆ พระก็เข็นรถเข็นหลวงปู่มา ท่านเป็นอัมพาต รถคว่ำเป็นอัมพาต เข็นออกมา ก็กราบ ท่านก็ยิ้มไปยิ้มมา มองหลวงพ่อแวบก็ยิ้ม แล้วบอกว่า “เราภาวนานะ บางทีจิตมันก็ปล่อยวางจิต มันวางลงไป แล้วมันก็กลับมาหยิบจิตขึ้นมาอีก พอมันหยิบขึ้นมาแล้ว ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่ยอมวาง พยายามอย่างไร มันก็ไม่วาง แต่พอเห็นว่ามันเป็นไตรลักษณ์ มันก็วาง” ท่านพูดอย่างนี้ เรายังไม่ได้พูดสักคำเลย แล้วท่านก็ยิ้มไปยิ้มมา

 

ถ้าเห็นกายเป็นทุกข์ก็วางกาย ถ้าเห็นจิตเป็นทุกข์ก็วางจิต

เราเข้าใจแล้ว ทางที่จะไปต่อคือดูความเป็นไตรลักษณ์ของมันไปเรื่อยๆ ดูจนกระทั่งมันเห็นแจ้งเห็นจริง เฝ้าดูก็จะไปเห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆๆๆ ก็วางได้แล้วก็หยิบ วางแล้วก็หยิบอยู่อย่างนี้ ตอนไหนเห็นไตรลักษณ์ก็วาง ตอนไหนไม่เห็นไตรลักษณ์ก็หยิบ กลับกลอกอยู่อย่างนั้น ก็ภาวนาไปเรื่อยๆ ล่ะ จนวันหนึ่งเข้าใจ ถ้าเราเข้าใจอริยสัจถึงจะวางจิต เข้าใจไตรลักษณ์ก็วางๆ หยิบๆ อยู่อย่างนี้ ถ้าเข้าใจอริยสัจจะวาง จิตนั้นคือตัวทุกข์ เมื่อกี้ก็บอกแล้ว ถ้าเห็นกายเป็นทุกข์ก็วางกาย ถ้าเห็นจิตเป็นทุกข์ก็วางจิต เราต้องเห็นเอาไม่ใช่คิดเอา ไม่ใช่มโนเอา อยากจะปล่อยวาง นั่นก็ไม่ยึด นี่ก็ไม่ยึด นั่นล่ะยึด ยึดอยู่แล้ว ยึดความเห็นว่าจะไม่ยึดอะไรทั้งทั้งสิ้น

การภาวนามันไม่ได้ยากเย็นอะไรนักหรอก ใส่ใจที่จะภาวนา ใส่ใจ มีเวลานิดๆ หน่อยๆ ก็ทำ มีเวลาเยอะๆ ก็ทำ ทำอะไร ตอนนี้ฟุ้งซ่านก็ทำสมถะ อยู่ในอารมณ์อันเดียวให้จิตได้พักผ่อน ตอนนี้จิตมีกำลังดีแล้ว ก็เดินปัญญา เห็นความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิต หรือเห็นพฤติกรรมต่างๆ ของจิต เห็นความปรุงแต่งทั้งหลายของจิต เรารู้ทันจิตไปเรื่อยๆ เราดูจิตไม่ออก ดูกายไป กายไม่ใช่ตัวเราเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ ไม่ได้มีอะไรสักหน่อย ร่างกายมันบอกไหมว่ามันเป็นตัวเรา มันไม่เคยบอกเลย

มีครั้งหนึ่งหลวงพ่อเรียนที่หลักสูตรสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง เขาให้ข้าราชการชั้นพิเศษไปเรียนได้ ที่ทำงานจะส่งไปเรียน พวกที่มาเรียนด้วยกัน เพื่อนร่วมรุ่นส่วนใหญ่ก็แก่ๆ ทั้งนั้น ผู้อำนวยการโน้นผู้อำนวยการนี้ หัวหน้าหน่วย ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าหน่วยหรือรองหัวหน้าหน่วย อย่างกฟผ. อย่างนี้ ผู้อำนวยการกฟผ. พวกรอง พวกใหญ่ๆ อีกพวกหนึ่งพวกใกล้เกษียณ ก็ไปเรียนด้วยกัน หลวงพ่อเป็นเด็กอันดับสองของรุ่น มีเด็กกว่าหลวงพ่ออยู่อีกคนหนึ่ง เขาเป็นเลขาฯ หน้าห้องของผู้อำนวยการขสมก. เราเด็ก นอกนั้นผู้ใหญ่กว่าเรา ใกล้เกษียณแล้ว ขึ้นไปที่เชียงใหม่ ไปดูงานๆ มีเวลาว่าง หลวงพ่อก็ชวนกัน พวกที่ชอบเข้าวัด ชวนขึ้นไปถ้ำผาปล่อง ไปกราบหลวงปู่สิม

ก็ขึ้นไปถ้ำผาปล่อง หลวงปู่ท่านก็ให้นั่งขัดสมาธิเพชร นั่งไขว้อย่างนี้ ไขว้ ไขว้ขา ไขว้ เจ็บ แล้วท่านก็เทศน์ไป ท่านเทศน์ๆๆ พวกที่นั่งฟังก็เจ็บ ก็เริ่มแอบเปลี่ยนไปนั่งพับเพียบกัน มีหลวงพ่อกับพี่อีกคนหนึ่ง อยู่ไฟฟ้า ไฟฟ้าภูมิภาค คนนี้แกก็เก่ง แกนั่งสมาธิบ่อย แกนั่งได้ตลอดชั่วโมงกว่า เสร็จแล้ว หลวงปู่ก็บอกวันนี้พอแล้ว สมาธิแตกหมดแล้ว แตกหมดรวมทั้งหลวงพ่อด้วย เราเมื่อยเต็มทีแล้ว จิตมันถอนแล้ว แล้วท่านก็ถามว่าเป็นอย่างไรนั่งขัดสมาธิเพชร เป็นอย่างไร พี่คนนั้นแกก็บอก พี่ที่อยู่ไฟฟ้าก็บอก “โหย ปวดมากเลยครับ ปวดขามากเลยครับ” หลวงปู่ถาม “ขามันบอกว่าปวดหรือ” แกฟังไม่เข้าใจ แกก็บอก “ปวดจริงๆ ครับ ผมไม่หลอกหลวงปู่หรอก” ที่จริงท่านสอนธรรมะอันหนึ่งแล้ว ขาหรือแขนเรามันไม่เคยบ่นเลย มันไม่เคยบ่น ที่บ่นคือจิตเราต่างหาก ที่หลวงปู่ถามว่าขามันบอกว่าปวดหรือ เป็นการบอกว่าที่ว่าปวด จิตมันบอก ขาไม่เคยบ่นเลย จิตมันเป็นคนบ่น นี่ท่านสอนธรรมะเรา

ฉะนั้นถ้าเราค่อยภาวนา จนเราเห็นร่างกายแค่วัตถุ ไม่มีความปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงว่างอะไรอย่างนี้ พวกนี้ไม่มีเลย ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขารเกิดที่จิตทั้งนั้น ที่แขนที่ขาไม่มี แต่ว่าถ้าตอนไหนเราดูความปรุงของจิตได้ เราก็ดูไป ตอนไหนเราดูไม่ได้ เรามาดูกายไป ลดระดับลงมาอยู่ที่กาย ก็เห็นอะไร เห็นว่ามันเป็นวัตถุ มันเป็นก้อนธาตุ มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันไม่เห็นบอกเลยว่ามันเป็นตัวเรา มันพูดไหมว่ามันเป็นเรา มันคิดไหมว่ามันเป็นเรา มันไม่เคยเลย จิตต่างหากไปขี้ตู่เอา

ดูลงไปแล้วจะเห็นเลย ในร่างกายนี้ไม่มีอะไร เป็นแค่วัตถุธาตุ มีความไม่เที่ยง มีทุกขเวทนาแทรกอยู่เป็นคราวๆ เดี๋ยวแทรกตรงโน้น เดี๋ยวแทรกตรงนี้ แล้วก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดูอย่างนี้ก็ได้ หรือถ้าใจมันฟุ้งมาก แล้วมันมีราคะแทรก อย่างพวกพระ ยังหนุ่มๆ อยู่ ราคะ แทรกไม่ใช่เรื่องเล็ก ฆราวาสจิตมีราคะเรื่องเล็ก ไปสนองมันได้ พระทำไม่ได้ อาบัติร้ายแรง ทรมาน ค่อยภาวนาดูลงไป ร่างกายนี้มันเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะอะไร อย่างถ้าจิตมันคิดถึงสาวสวยสักคนหนึ่ง เราดูลงไป เป็นดารา เป็นนักร้องอะไร ตกน้ำไปไม่กี่ชั่วโมงก็ไม่สวยแล้ว มันเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ ความจริงมันปรากฏแล้ว ใจมันก็สงบมีสมาธิขึ้นมา ลดระดับลงมาเรื่อยๆ

อย่างทีแรกเราเห็นความปรุงแต่งของจิต ถ้าดูไม่ออก ปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงว่างอะไร ดูไม่ออก มาดูกาย กายไม่ปรุง แต่กายก็เป็นวัตถุไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ถ้าดูตรงนี้ไม่ออก ดูลดระดับลงไปอีก กายนี้เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะอะไรอย่างนี้ ไม่สวยไม่งาม ถ้าดูอย่างนี้ความรุนแรงของราคะก็จะลดลง อย่างบ้าจะซื้อเครื่องสำอางตลอดเวลา บางคนชอบเครื่องสำอาง กระเป๋าหนึ่งไม่พอใส่ ใส่ตู้หนึ่งอะไรอย่างนี้ เพราะว่ารู้สึก แหม มันสวยมันงาม ทำแล้วมีความสุข ส่องกระจกแล้ว สวยอะไรอย่างนี้ พอเจริญอสุภะส่องกระจกปุ๊บ โอ้โห เห็นขี้ตาเข้าแล้ว นี่ก็ไม่สวย นั่นก็ไม่สวยอะไร อย่างนี้ ความรักความหวงแหนในกายมันจะลดลง ภาวนาง่ายขึ้นๆ

เราค่อยๆ ลดลงมา ดูจิตได้ดูไป ดูความปรุงแต่งของจิตไม่ออก ดูกายเป็นไตรลักษณ์หรือเป็นอสุภะ ทำไม่ได้ก็ทำสมถะอย่างอื่นไป การปฏิบัติมันมีแนวรุกแนวรับอย่างนี้ ถ้าทำมากๆ เราก็ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ที่ไปนั่งคิดเอาว่า นั่นก็จะไม่ยึด นี่ก็ไม่ยึด ทุกอย่างก็ว่าง นั่นก็ว่าง นี่ก็ว่าง เพ้อเจ้อ มันละไม่ได้หรอก เพราะมันไม่เห็นทุกข์ ใช้ไม่ได้.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
27 กุมภาพันธ์ 2565