อารมณ์บัญญัติ – อารมณ์ปรมัตถ์

เมื่อวานหลวงพ่อไปเทศน์ให้คนจีนฟัง มีคอร์สจีน 300 กว่าคน คราวนี้เป็นกลุ่มค่อนข้างใหม่ แต่ไม่ใช่ใหม่แบบไม่เคยเรียนเลย เขาให้ฟังการจัดคอร์สจีนที่ผ่านมา เขาอัดวิดีโอไว้ก็ให้ฟังพวกนี้ก็เรียนพื้นฐานก่อน ดูเขาก็สนใจกันดี เขาเรียนลำบากกว่าเรา อย่างหลวงพ่อเทศน์ก็ต้องมีคนแปล สงสารคนแปล หลวงพ่อไม่ได้พูดช้าๆ ทีละประโยค พูดปกติ เขาเก่งนะเขาแปลได้ ได้กี่เปอร์เซ็นต์เราก็ไม่รู้หรอก เพราะเราฟังไม่ออก

ฉะนั้นกว่าคนต่างชาติเขาจะเรียนธรรมะได้ ยาก ไม่เหมือนพวกเราพูดภาษาเดียวกัน อยู่ในสภาพแวดล้อมอันเดียวกัน มันเข้าใจกันง่าย ฉะนั้นเวลาจะยกตัวอย่างเวลาอะไร มันเป็นตัวอย่างที่พวกเรารู้จัก เห็นก็ง่ายกว่ากัน วัฒนธรรมแตกต่างกันสื่อความหมายกันยาก คนจีนยังมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับเรายังไม่ยากมาก อย่างฝรั่งเรียนธรรมะยากมากจริงๆ ให้เรียนเรื่องทุกข์เขาบอกเขาไม่ทุกข์ ไม่เห็นจะทุกข์ตรงไหนเลย ที่เขามาเรียนเขาอยากมีสมาธิ เพื่อไปแก้ปัญหาชีวิต

 

ธรรมะเห็นด้วยใจ

สมาธิมันแค่บทเรียนเบื้องต้นของศาสนาพุทธเท่านั้นเอง บทเรียนที่สูงกว่าสมาธิก็คือการเจริญปัญญา ฝรั่งเขาบอกเขามีปัญญาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียน พอใจมันไม่เอา มันไม่มีทางที่จะเรียนธรรมะได้ จิตใจที่เปิดถึงจะเรียนธรรมะได้ จิตใจที่บล็อกตัวเองรู้แล้วๆ เรียนไม่ได้หรอก ฉะนั้นอย่างพวกเราหลายคน กระทั่งคนไทยไปเรียนตำรับตำรามาก ใจมันบล็อกเหมือนกัน ฟังธรรมะมันไม่เก็ตนี่ก็รู้แล้ว นี่ก็รู้แล้ว ที่จริงไม่รู้สักอย่าง มันรู้แต่ความจำแต่ความจริงไม่เคยเห็น รู้จำมันไม่เหมือนรู้จัก รู้จักยังไม่เหมือนรู้แจ้ง ภาษาอย่างนี้คนต่างชาติฟังไม่เข้าใจ เรียนธรรมะ เรียนเบื้องต้นก็อ่านบ้างฟังบ้าง แล้วก็คิดเอา แล้วก็เชื่อเอา แล้วก็จำเอาไว้ ธรรมะเป็นอย่างนี้ๆ

อย่างมีโยมมาบอกหลวงพ่อเรื่อยๆ ไปเรียนที่นั่นที่นี่สอนเหมือนหลวงพ่อเปี๊ยบเลย ก็ใช้ตำราเล่มเดียวกัน ใช้พระไตรปิฎกเหมือนกัน มันก็พูดเหมือนกันหมด แต่ว่าเวลาเรียนจริงเห็นสภาวะไหม เห็นสภาวะหรือไปเพ่งเอา หรือไปคิดเอา ระหว่างการเห็น การเพ่ง การคิด ไม่ได้เหมือนกันเลย คนละเรื่องเลย การเพ่งคืออัตตกิลมถานุโยค ทำไปแล้วก็เป็นคนดี เพ่งเก่งๆ ก็ไปเป็นพระพรหม คิดเอาๆ ก็คิดดีบ้าง คิดร้ายบ้างก็วนเวียนอยู่ในภูมิธรรมดาๆ หรือลงอบายภูมิไป คิดแล้วเซลฟ์จัด หรือเรียนมากก็เซลฟ์จัด นั่นก็รู้ นี่ก็รู้ รู้หมดเลย อย่างจิตมีกี่ชนิดมีกี่ดวงรู้หมด หรือสภาวะอันนี้ มีปัจจัยกี่อย่างประกอบกันขึ้นมา รู้หมด แต่ถ้าไม่เห็นของจริงมันใช้อะไร ไม่ได้

วิปัสสนาไม่ได้คิดเอา วิปัสสนาไม่ได้จำเอา วิปัสสนาต้องเห็นเอา วิ กับ ปัสสนะ ปัสสนะแปลว่าการเห็น วิแปลว่าเห็นแจ้ง เห็นแจ่มแจ้งคือเห็นไตรลักษณ์นั่นเอง ฉะนั้นถ้าเราไม่เห็นยังไม่ใช่การเจริญปัญญาชั้นสูงจริงๆ ไม่ได้เป็นวิปัสสนา คิดเอาๆ อ่านเอา ฟังเอา จำเอา ก็ได้มานะอัตตาไป กูเก่ง แล้วเอาไปสอบ สอบเสร็จแล้วก็ลืม มันไม่เหมือนธรรมะที่เราภาวนา เราเห็นสภาวะมันถึงจิตถึงใจ ครูบาอาจารย์ท่านเคยเล่า หลวงพ่อเคยได้ยิน ท่านบอกเรื่องโลกๆ ท่านลืมหมดแล้ว เรื่องธรรมดา เรื่องโลกๆ เรื่องเด็กๆ สมัยโน้นสมัยนี้ท่านไม่จำเลย ลืมหมด พอแก่แล้วจำไม่ได้แล้ว แต่ธรรมะที่มันเห็นด้วยใจ มันจำได้โดยที่ไม่ได้จงใจเลย ไม่ลืม อย่างลีลาการปฏิบัตินั้น ได้พบได้เห็นสภาวะอย่างนั้นอย่างนี้ มีประสบการณ์ ท่านบอกมันไม่ลืมหรอก เพราะมันฝังใจมันเห็นด้วยใจจริงๆ แล้วธรรมะถ้าไม่ได้เห็นด้วยใจจริงๆ มันล้างกิเลสไม่ได้ เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจเรา เราไม่เห็นถึงจิตถึงใจตัวเองจะไปล้างกิเลสที่ไหน กิเลสไม่ได้อยู่ในสมอง กิเลสอยู่ในจิตใจของเรานี่เอง

 

สภาวธรรม

ฉะนั้นเราต้องหัดเห็นสภาวะให้ได้ ถ้าเราไม่เห็นสภาวะเราเจริญปัญญาไม่ได้จริง เครื่องมือที่จะทำให้เราเห็นสภาวะก็คือสติ อันแรกเข้าใจคำว่าสภาวะก่อน สิ่งทั้งหลายที่เรารู้เราเห็นเรียกว่าอารมณ์ อารมณ์มี 2 ส่วน อารมณ์หนึ่งเป็นสภาวธรรม อีกส่วนหนึ่งไม่ใช่สภาวธรรม เป็นเรื่องสมมติบัญญัติ ไม่มีสภาวะรองรับ อย่างเรื่องราวที่เราคิดอาศัยความจำ อาศัยความคิด คิดทั้งวัน คิดทั้งคืน ก็คิดไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีจุดที่สุดมันไปเรื่อยๆ ไม่เห็นว่าจะมีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่ไหนเลย ถึงคิดเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็แค่ความคิด

ฉะนั้นเรื่องราวที่คิดขึ้นมาท่านเรียกอารมณ์บัญญัติ อารมณ์บัญญัติไม่จัดว่าเป็นสภาวธรรม อารมณ์ที่เป็นสภาวธรรมมันมี 3 อย่างคือรูปธรรม รูปที่จิตไปรู้เข้าเป็นอารมณ์ เรียกอารมณ์ปรมัตถ์ เป็นอารมณ์จริงๆ เป็นของมีจริง มีไตรลักษณ์ อย่างร่างกาย ร่างกายต้องนึกไหม ร่างกายเราไม่ต้องนึกมันก็ยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหนก็มีอยู่ ความรู้สึกในใจเราต้องนึกไหม มันก็มีอยู่ทั้งวัน เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย มีอยู่ทั้งวัน แต่อารมณ์บัญญัติ เรื่องที่คิด เมื่อไรเลิกคิดมันก็หายไปหมดแล้ว เมื่อไรจิตคิดขึ้นมามันก็มีขึ้นมา อย่างเราคิดว่าตัวเรามี ตรงที่คิดว่าตัวเรามีจริงๆ เป็นเรื่องที่บัญญัติขึ้นมา คิดขึ้นมา เพ้อฝันขึ้นมา มันเหมือนความฝันเท่านั้น อารมณ์บัญญัติ จับต้องอะไรไม่ได้

ฉะนั้นเวลาดูที่จะเจริญปัญญา ต้องเห็นสภาวธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม มีรูปธรรมบ้าง นามธรรมบ้าง อย่างนามธรรม เช่น ความสุข ความทุกข์ โลภ โกรธ หลง เป็นนามธรรม จิตก็เป็นนามธรรม จิตคือสภาพรู้อารมณ์ สภาวะที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าจิตวิญญาณ จิตหรือวิญญาณอันเดียวกัน คำว่าจิต คำว่าวิญญาณ คำว่าใจ 3 ตัวนี้ เรียกจิต มโน วิญญาณ มโนแปลว่าใจ คนเดี๋ยวนี้เอาคำว่ามโนมาใช้ในความหมายเพี้ยนๆ ไป ปรมัตถธรรมอีกอันหนึ่ง นอกจากรูปธรรมนามธรรมก็คือพระนิพพาน นิพพานเอามาทำวิปัสสนาไม่ได้ นิพพานมันเที่ยง นิพพานมันสุขไม่มีความเสียดแทง ที่สำคัญเราไม่เห็น นึกถึงนิพพานคืออะไรก็ไม่รู้ที่จับต้องไม่ได้ แล้วก็มโนเอามโนสมัยใหม่นะ มโนเอาว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันไม่ใช่ ความคิดของมนุษย์นั้นไปไม่ถึงพระนิพพาน ภาษาของมนุษย์มันไปไม่ถึงพระนิพพาน ไม่สามารถจะสื่อได้

ฉะนั้นเวลาพระพุทธเจ้าจะบรรยายถึงพระนิพพาน ท่านจะพูดในเชิง Negative นิพพานไม่มีอย่างนี้ นิพพานไม่มีอันนี้ๆ สภาวะที่เราจะใช้เจริญวิปัสสนาก็มี 2 อันเท่านั้น รูปธรรม นามธรรม นี่ต้องรู้จัก นี้รูปจะรู้ได้อย่างไร รูปบางอย่างรู้ด้วยตา สีที่เรามองเห็น แสงสีทั้งหลายที่เรามองเห็น อันนี้เป็นรูปชนิดหนึ่งรู้ด้วยตา รูปบางอย่าง คลื่นเสียงรู้ด้วยหู รูปบางอย่างคือกลิ่น รู้ด้วยจมูก รูปบางอย่างคือรส รู้ด้วยลิ้น รูปสองสามอย่าง รูป สามอย่างรู้ด้วยร่างกาย ใช้ร่างกายรู้สึกเอา อย่างความเย็น อากาศเย็นรู้ด้วยใจได้ไหม รู้ด้วยใจไม่ได้ ความเย็น ความร้อนเป็นเรื่องของธาตุไฟ รู้ด้วยร่างกาย ถ้าเราไม่มีร่างกายมนุษย์เราไม่มีร้อนมีเย็น นี้ร่างกายเป็นตัวรับสัมผัส ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความไหว ความตึงกับหย่อน จริงๆ ก็คือรู้ธาตุ

ร่างกายนี้เป็นตัวรับสัมผัสธาตุ ธาตุไฟ ความเย็น ความร้อน ธาตุลมเป็นความตึงความไหว ทำไมธาตุลมเป็นตึงได้ด้วย ถ้าในท้องเรามีลมเยอะๆ ท้องมันตึงไหม ท้องมันก็ตึงขึ้นมา เป็นตัวทำให้ตึง ทำให้ไหว เคลื่อนที่ ความอ่อนความแข็งรู้ด้วยร่างกาย จิตเราไม่ได้ไปรู้ความอ่อนความแข็ง ความอ่อนความแข็งเป็นตัวธาตุดิน ฉะนั้นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นธาตุไฟ ธาตุดิน ธาตุลม รู้ด้วยร่างกาย ธาตุน้ำรู้ด้วยใจ ธาตุน้ำไม่ใช่น้ำอย่างที่เราเห็นนี้ คำว่าธาตุน้ำ มันคือแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลดึงดูดรูปเล็กๆ ให้ประสานเข้าด้วยกัน รวมเข้าด้วยกัน

อันนี้เราไม่ต้องไปเรียนเยอะ ขนาดที่หลวงพ่อบอกนี้หรอก ถ้าเรียนรูปแท้ๆ อย่างนี้ยากมาก ถ้าไม่ทรงฌานจริงๆ ไม่รู้ไม่เห็นหรอก เราเรียนรูปที่ง่ายกว่านั้นได้ เรียนรูปที่ง่ายขึ้นมา อันนี้ในตำราเขาก็ถือยังไม่เป็นรูปแท้ๆ แต่อาศัยรูปแท้ๆ คือดิน น้ำ ไฟ ลม ก่อเกิดขึ้นมา อย่างรูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน ตัวที่ยืน ร่างกายที่ยืนมันประกอบด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม แต่มันแสดงอาการยืนออกมา หรือมันนั่ง ร่างกายที่นั่งก็ประกอบด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม แต่มันแสดงอาการนั่งออกมา การแยกธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อย่างที่หลวงพ่อเล่าเมื่อกี้ มันแยกในเชิงอภิธรรม อยู่ในพระอภิธรรม แต่การแยกร่างกาย ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน แยกโดยนัยยะแห่งพระสูตร อย่างธาตุดิน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก จัดเป็นธาตุดิน ถ้ามองในมุมของอภิธรรม แค่ผมเส้นเดียวมีดิน น้ำ ไฟ ลมครบเลย ฉะนั้นเรียนเพื่อความสนุกสนานแตกฉาน แต่ถ้าจะเรียนเอามรรคผลนิพพานจริงๆ เรียนพระสูตร พระสูตร พระพุทธเจ้ากับพระสาวกท่านสอนไว้ แล้วคนที่ฟังบรรลุมรรคผลกันเยอะแยะแล้ว

ฉะนั้นอย่างเราจะเรียนรู้รูป สภาวะของรูปไม่ต้องไปเรียนถึงดิน น้ำ ไฟ ลมหรอก เราเห็นว่าร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่ตัวเรา แค่รู้สึกแค่นี้ ก็จะรู้ว่าร่างกายทั้งหมดไม่ใช่ตัวเราแล้ว ถ้าเราเห็นสภาวะคือรูปยืน เดิน นั่ง นอน ตำราเรียกวิญญัตติรูป รูปที่เคลื่อนไหว เห็นรูปยืน เดิน นั่ง นอนไปแล้วเราเห็น รูปที่ยืนไม่ใช่เรา รูปที่เดินไม่ใช่เรา รูปที่นั่งที่นอนไม่ใช่เรา รูปทั้งหมดก็ไม่เป็นเราแล้ว เรียนอย่างนี้นะที่เขาบรรลุมรรคผลนิพพานกัน เรียนง่ายๆ อย่างนี้ ไม่ได้เรียนตำราท่องกันหัวโต มันก็ภาวนาไม่เป็นหรอก กิเลสมานะอะไรก็เพิ่มพูนไป รู้เยอะ รู้มากยากนาน เราไม่ต้องรู้เยอะหรอก แค่เห็นร่างกายที่หายใจออก ร่างกายที่หายใจเข้าไม่เที่ยง ดูไปเรื่อยๆ แค่นี้ก็ยังได้ ร่างกายที่หายใจออก มันหายใจออกเพื่อหนีทุกข์ของการหายใจเข้า ร่างกายที่หายใจเข้า มันหนีทุกข์ของการหายใจออก ร่างกายที่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถก็เพื่อหนีทุกข์ เห็นซ้ำๆ อยู่แค่นี้ก็ยังพอเลย ก็จะทำมรรคผลให้แจ้งได้

ร่างกายทั้งหมดนั่นล่ะ ไม่ว่าร่างกายชนิดไหน ก็ถูกความทุกข์บีบคั้นนั่นคือทุกขตา มันถูกบีบคั้นให้ทนอยู่ในสภาวะอันเดิมไม่ได้ หายใจเข้าอย่างนี้ทนอยู่ไม่ได้หรอก เดี๋ยวก็ต้องหายใจออก เพราะมันถูกบีบคั้น อันนี้เรียกว่าเราดูกายแล้วเราเห็นทุกข์ ทุกขตา ทุกขลักษณะ หรือเราเห็นร่างกาย ร่างกายเป็นวัตถุธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกตลอดเวลา หายใจเข้าแล้วก็หายใจออกมีธาตุลมเข้าไป แล้วธาตุลมก็ไหลออกมา มีธาตุดินกินอาหารเข้าไปมีธาตุน้ำดื่มน้ำเข้าไปอะไรอย่างนี้ แล้วก็ขับถ่ายออกมา ร่างกายเป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ เป็นสมบัติของโลกไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นี่เห็นอนัตตา

 

เราภาวนาจะเอามรรคผลนิพพาน ดูสภาวะแล้วก็เห็นไตรลักษณ์ของสภาวะ

ฉะนั้นเวลาเราภาวนาจะเอามรรคผลนิพพาน ดูสภาวะแล้วก็เห็นไตรลักษณ์ของสภาวะ สภาวะก็เอาของที่เราเห็นจริงๆ ไม่ต้องใช้มโนเอา คิดเอาๆ ไม่ได้ หรือเรียนเยอะแล้วก็ท่องมา กิเลสไม่กลัวตำรา กิเลสมันกลัวการเห็น ถ้าเราเห็นกิเลส กิเลสดับทันที ถ้ากิเลสเกิดใจฟุ้งซ่านแล้วก็พลิกตำรา ฟุ้งซ่านมาจากอันนี้ ทำอาการอย่างนี้ เกิดจากอันนี้ ก็ยังฟุ้งยิ่งกว่าเก่าอีก ฉะนั้นดูของจริงๆ ต้องเห็นเอา ฉะนั้นเราเห็นกายรู้สึก ทีแรกก็ต้องรู้สึกในกายก่อน ถึงจะเห็นกายได้ ถ้าเราใจลอยเราก็ไม่เห็นกาย ถ้าเรานั่งเพ่งกายอยู่ กายก็ไม่แสดงไตรลักษณ์ให้ดู ฉะนั้นถ้าเมื่อไรเราเผลอเราจะไม่เห็นสภาวะ ถ้าเมื่อไรเราเพ่งเห็นสภาวะแต่จะไม่เห็นไตรลักษณ์

ฉะนั้นเผลอกับเพ่งก็จะทำงานอย่างนี้ ถ้าเผลอลืมสภาวะไป อย่างเวลาเราใจลอยเราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนอะไรเราไม่รู้แล้ว ขณะที่เราใจลอยเราหายใจออกหายใจเข้าเราไม่รู้แล้ว เพราะฉะนั้นเวลาเราใจลอยเราจะลืมสภาวะไปเลย ทิ้งมันไป แล้วไป ไปอยู่ในโลกของความคิด ส่วนใหญ่ไปอยู่กับอารมณ์บัญญัติ อย่างเวลาตาเราเห็นรูป ถ้าเราภาวนาอยู่เราก็เห็นว่าแค่วัตถุธาตุที่จิตไปเห็น แล้วถ้ารู้ไม่ทัน นี่ผู้หญิงสวยจังเลย ลืมไปแล้วว่าจริงๆ ที่เห็นแค่สีเท่านั้นเอง สีที่มาตัดกันเป็นรูปร่างอย่างนี้

ฉะนั้นเมื่อไรที่เราขาดสติ เราหลง เราจะไม่เห็นตัวสภาวะ จะเห็นแต่บัญญัติ แต่เมื่อไรเราเพ่งอยู่ เพ่งสภาวะอยู่ เราเห็นสภาวะแต่เราจะไม่เห็นไตรลักษณ์ ฉะนั้นอย่างเรานั่งเพ่งจิตเรารวมลงไปอยู่กับลมหายใจ สิ่งที่ได้คือความสงบ จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว คือแนบลงไปในลมหายใจ จะเห็นไตรลักษณ์ไหม จะไม่เห็น หรือเราดูท้องพองยุบ จิตเราไหลลงไปจมอยู่ที่ท้อง เราเพ่งท้องได้ความสงบแต่จะไม่เห็นไตรลักษณ์ ถ้าจะเห็นไตรลักษณ์ได้ จิตต้องไม่เผลอ จิตต้องไม่เพ่ง ถ้าเผลอไม่เห็นสภาวะเลย ถ้าเพ่งไม่เห็นไตรลักษณ์ ถ้าไม่เผลอ ถ้าไม่เพ่ง จะเห็นสภาวะทั้งหลายแสดงไตรลักษณ์ ฉะนั้นสภาวะจิตที่มันไม่เผลอ สภาวะจิตที่มันไม่เพ่ง ตัวนี้สำคัญ

พวกที่เรียนกับหลวงพ่อแรกๆ หลวงพ่อจะสอน 2 อันนี้ เรื่องเผลอกับเพ่ง เพราะว่าผิดตลอด แล้วมันผิดตลอดสายของการปฏิบัติด้วย ไม่เผลอก็เพ่งมีเท่านี้ล่ะ จนถึงได้พระอนาคามี ก็ยังมีเรื่องเผลอเรื่องเพ่ง ไม่พ้นหรอก การเผลอ จิตมันมีพฤติกรรมมันหลงไป หรือมันฟุ้งซ่าน การเพ่งก็จิตมีพฤติกรรมจดจ้องลงไป ตราบใดที่จิตยังมีพฤติกรรมอยู่ เบื้องหลังก็มีตัณหาซ่อนอยู่ หัดรู้ หัดรู้สภาวะไปด้วยจิตที่ไม่เผลอไป ไม่เพ่งไป จิตที่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ทำอย่างไรจะมีจิตที่รู้เนื้อรู้ตัว ก็ต้องฝึก ทำอย่างไรจะมีสติรู้สภาวะได้ ก็ต้องฝึก วิธีฝึกหลวงพ่อก็สอนอยู่แทบทุกวัน สติเกิดจากถิรสัญญา การที่จิตจำสภาวะได้แม่น ทีแรกจำไม่แม่นหรอก เห็นสภาวะไปเรื่อยๆ ทีแรกอย่างเราหายใจเข้าพุทหายใจออกโธอยู่อย่างนี้ อยู่ๆ จิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่น จิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่นก็เผลอไปยาวมากเลย เป็นชั่วโมงเลยเพิ่งนึกได้ อ้าวลืมหายใจเข้าพุท หายใจออกโธเสียแล้ว เผลอไปชั่วโมงหนึ่งถึงจำได้ ระลึกได้ เอาใหม่ๆ หายใจเข้าพุทหายใจออกโธใหม่ คราวนี้พัฒนาขึ้นเผลอไป 50 นาทีแล้วรู้ ถือว่าเก่งขึ้นแล้ว อย่างหลายคนส่งการบ้าน แล้วหลวงพ่อบอก เออ ดีๆ ดีคือเคยเผลอ 60 นาทีตอนนี้เผลอ 58 นาที ดีไหม ก็ดี ดีขึ้น ดีจริงไหม ยังต้องฝึกอีกเยอะเลย

ฉะนั้นหลวงพ่อชมว่าดีๆ อย่าย่ามใจ ยังมีเรื่องที่ต้องเรียนอีกเยอะเลย ถ้าหลวงพ่อบอกนี่ก็ผิดๆ ท้อแท้ใจเลิกปฏิบัติ ทริกอันนี้หลวงปู่เทสก์ท่านสอน มีวันหนึ่งนั่งอยู่กับท่าน มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาส่งการบ้าน ท่านก็ฟังท่านเป็นนักฟังที่ดี ใครพูดอะไรท่านก็ตั้งใจฟัง ฟังก็พยักหน้าไปยิ้มไป ท่านเมตตาสูง ดีๆ นี้ก็ดีๆ เราดู ดีตรงไหนมันหลงจะตายไป หลวงปู่ว่ามันดี๊ดี ก็ดีๆ อยู่อย่างนี้นานเลยจนเขาไป ท่านก็แนะให้ทำอย่างนี้อีกๆ แนะให้นิดหน่อย พอเขาไปแล้วหลวงปู่ก็หันมาบอก “เขาภาวนา เขาดีขึ้นนิดหนึ่งเราก็บอกว่าดี เขาจะได้มีกำลังใจ” หลวงพ่อก็ใช้หลักนี้ เพราะฉะนั้นถ้าส่งการบ้านแล้วหลวงพ่อว่าดี อย่านึกว่าดีจริง ดีนิดหน่อย ดีกว่าเก่าอะไรอย่างนี้

 

ไม่เผลอ-ไม่เพ่ง

มาหัดหัดรู้สภาวะแล้วต่อไปก็เห็นสภาวะ จะรู้สภาวะได้ต้องไม่เผลอ ต้องไม่เพ่งเอาไว้ ถ้าเผลอจะไม่เห็นสภาวะ ถ้าเพ่งจะไม่เห็นไตรลักษณ์ 2 ตัวนี้ ฉะนั้นที่หลวงพ่อเคี่ยวเข็ญพวกเรามากมาย ว่าต้องไม่เผลอ ต้องไม่เพ่ง ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่ใช่พูดส่งเดช หาสินค้าตัวใหม่มาพูด ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าท่านไม่เห็นเคยสอนเลย ท่านสอนแต่ว่าพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ 10 ปีแล้วก็ค่อยเข้าใจว่าท่านสอนอะไร จริงๆ ให้พุทโธ พุทโธไปหรือหายใจไป พอจิตมันเผลอแล้วรู้ จิตมันเผลอแล้วรู้ พอรู้บ่อยๆ เข้าต่อไปมันจะรู้ได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งเผลอปุ๊บรู้ปั๊บ เผลอปุ๊บรู้ปั๊บเลยจิตขยับตัวนิดเดียวเห็นแล้ว สติมันเร็ว ฉะนั้นก่อนสติจะเร็ว สติมันก็ช้ามาก่อนแล้ว ไม่มีใครวิเศษมาแต่ไหนแต่ไรหรอก เริ่มต้นก็ล้มลุกคลุกคลานเหมือนๆ กันล่ะ

เพราะฉะนั้นเราหัดทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ต้องมีเครื่องอยู่ของจิต เครื่องระลึกของสติ เช่น อยู่กับลมหายใจเข้าออกอะไรอย่างนี้ อยู่กับพุทโธ อยู่กับร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ให้มันอยู่กับอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วอ่านจิตตัวเองให้ออก จิตเผลอทอดทิ้งอารมณ์กรรมฐานไปแล้ว ทิ้งบ้านไปแล้ว ทิ้งวิหารธรรมไปแล้ว รู้ทันว่าเผลอ เผลอแล้วรู้ เผลอแล้วรู้ไป ต่อไปจิตจำสภาวะการเผลอได้ อ๋อ เผลอมันเป็นอย่างนี้เองจิตมันไหลไป พอมันจำได้แล้ว ต่อไปพอมันเริ่มเคลื่อนนิดเดียว เริ่มไหลนิดเดียวมันเห็นแล้ว ฉะนั้นสติจะเกิดอัตโนมัติ สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น อย่างเราจำสภาวะที่ไหลไปเผลอไปได้แม่น พอเผลอปุ๊บสติจะเกิดเองเลย เพราะฉะนั้นต้องทำกรรมฐานต้องมีวิหารธรรม

วิหารธรรมมันเหมือนเป็นที่สังเกต พอจิตมันอยู่กับวิหารธรรมอยู่เรารู้ เคลื่อนไปจากวิหารธรรมเราก็จะเห็น แต่ถ้าไม่มีวิหารธรรมเลยเหมือนเคลื่อนอยู่ในอวกาศเลย ถ้าไม่มีฉากหลังเป็นดาวต่างๆ เราจะไม่รู้ว่ามีความเคลื่อนไป ที่เราเห็นเครื่องบินมันบินในท้องฟ้า มันเคลื่อนไป มันมีฉากหลังเราถึงเห็นอย่างนั้น ฉากหลังมันเปลี่ยน เช่น เมฆก้อนนี้เคยอยู่ตรงนี้ เครื่องบินมันทะลุอยู่ในเมฆแล้ว หรือกลางคืนเครื่องบินบินมาเห็นมันเลื่อนเคลื่อนที่ เพราะมันผ่านดาวแต่ละดวง มันมีที่สังเกต ถ้ามันอยู่ในอวกาศที่ว่างเปล่า เราจะไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนเลย จะไม่รู้หรอก เพราะฉะนั้นจิตถ้าไปอยู่ในอวกาศจะไม่เห็นการเคลื่อน อวกาศของจิตอยู่ตรงไหน ในอากาสานัญจายตนะ อยู่ในช่องว่าง จิตไปอยู่ในความว่าง จะไม่เห็นหรอกว่ามันเคลื่อน แล้วทรงสบายอยู่อย่างนั้นเป็นปีก็อยู่ได้ แต่ถ้าเรามีเครื่องอยู่จิตตั้งไว้อย่างนี้ พอมันเคลื่อนจะเห็นแล้วมีการเคลื่อน มีระยะทางขึ้นมา มีเวลาเกิดขึ้น ทำไมมีระยะทางมีเวลาเกิดขึ้น มีสเปซ มีไทม์เกิดขึ้น เพราะมันมี 2 จุดที่แตกต่างกัน

ฉะนั้นเราต้องมีเครื่องอยู่ มีวิหารธรรม พอจิตทิ้งวิหารธรรมนั่นคือจิตขาดสติไปแล้ว เรารู้ทันพอรู้ทันปุ๊บ จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาใหม่ ตั้งขึ้นใหม่ หนีไปอีก รู้ รู้แล้วก็ตั้งใหม่ ต่อไปนี้มันจะหลงสั้นลงๆ จนกระทั่งแค่มันไหวตัวเพื่อจะหลุดออกไป ไหวตัวนิดเดียวก็เห็นแล้ว สติเร็วไม่เผลอแล้ว พอมันตั้งอยู่อย่างนี้ไม่เผลอแล้ว มันจะเพ่ง เพ่งก็คือจ้องไว้กลัวจะเผลอ ก็จ้องเอาไว้ไม่ให้คลาดสายตาเลย จ้องไว้มันก็ไม่หนีไปไหนเลยนิ่งๆ อยู่ ไม่มีไตรลักษณ์ให้ดู ไม่มีเกิดดับอะไรให้ดูหรอก เพราะฉะนั้นเผลอกับเพ่งมันขวางการเจริญปัญญาของเราอยู่ เผลอก็คือไม่เห็นสภาวะ ลืมสภาวะไป เพ่งก็ไม่เห็นไตรลักษณ์มันนิ่งๆ

หัดรู้ ไม่ว่าจะเป็นการรู้รูปธรรม หรือการรู้นามธรรมก็ใช้หลักอันนี้ล่ะ อย่างถ้าเราดูจิตดูใจเรา บางคนดูจิต บอกว่าดูจิตๆ แล้วว่างอยู่กับสุญญตา ไม่ใช่สุญญตา ว่างอันนั้นยังไกลจากสุญญตามากเลย แล้วก็ไม่เกี่ยวกับสุญญตาตัวจริงเลย ว่างๆ นั้นเป็นช่องว่างเท่านั้นเอง สเปซเฉยๆ เป็นแค่ช่องว่างเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นสุญญตา คนละเรื่องเลย ถ้าจิตหลงอยู่ในช่องว่าง รู้ จิตที่จะอยู่ในช่องว่างนี้มันมีการเคลื่อนไปแล้ว มันเคลื่อนเข้าไปอยู่ในช่องว่าง ฉะนั้นถ้าจิตที่หลวงพ่อพูดเรื่อยๆ จิตถึงฐาน เราต้องฝึก จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ ต่อไปพอจิตมันจะเคลื่อนเข้าไปในช่องว่างเราจะเห็น พอเห็นปุ๊บการเคลื่อนจะดับ ความตั้งมั่นก็จะเกิดขึ้นอีก เพราะฉะนั้นเวลารู้รูป ถ้าจิตจมลงไปในรูปมันคือเพ่ง รู้นามอย่างความว่างเป็นนามธรรม เป็นอากาศเรียกอากาสานัญจายตนะ

ถ้าจิตมันถลำลงไปเพ่งช่องว่าง เพ่งความว่างอันนั้นเรารู้ นี่จิตส่งออกนอกแล้ว จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นจิตก็จมลงไปในอารมณ์โน้นอารมณ์นี้ ถ้าไปแช่อยู่ในอารมณ์เดียวก็ได้สมถะ เพ่งเอาไว้เฉยๆ ถ้าจับอารมณ์นี้กระโดดไปอารมณ์นั้น ไปอารมณ์นี้ก็ฟุ้งซ่าน ก็ไม่เห็นอะไรหรอกมันลืมสภาวะไป ลืมรูปธรรม ลืมนามธรรม กระโดดไปกระโดดมา ถ้ามีสติอยู่รู้ทันจิตที่กระโดดปุ๊บ การกระโดดนั้นดับทันที การไหลนั้นดับทันที จิตก็รู้อยู่ที่ตัวสภาวะ ฉะนั้นเบื้องต้นเราก็อยู่กับสภาวะของเรา รูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ อย่างเรารู้ร่างกายหายใจออก รู้ร่างกายหายใจเข้า พอมันลืม มันลืมร่างกาย เรารู้นี่หลงไปแล้ว หรือรู้ร่างกายหายใจออกหายใจเข้า แล้วจิตมันหลงใหลเข้าไปเพ่งลมหายใจ รู้ว่าจิตมันไหลลงไปจมอยู่ในลมหายใจ จิตก็จะเลิกเพ่ง ถอนตัวออกมาเป็นแค่คนดู ใช้หลักอย่างนี้

แล้วสุดท้ายไม่เผลอไม่เพ่ง จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็ใช้จิตนี้ไปเจริญปัญญา เจริญอย่างไร ถ้าจิตมันเป็นผู้รู้แล้ว ทุกสิ่งที่ถูกรู้จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม ล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์ให้ดูได้ทั้งนั้น เราบอกจิตเป็นผู้รู้แล้วไปรู้บัญญัติได้ไหม รู้บัญญัติไม่มีไตรลักษณ์ เรื่องที่คิด เพราะฉะนั้นกรรมฐานอย่าไปคิดเอา ถ้าคิดเอาไม่มีทางเข้าใจธรรมะ ความคิดไม่ใช่รูปธรรม ความคิดไม่ใช่นามธรรม ความคิดมันภาพลวงตาหลอกๆ ไม่มีของจริงหรอก ค่อยๆ ฝึกเอา ฉะนั้นขั้นต้นก็หัดเห็นสภาวะ รู้สึกอยู่ในรูปธรรมนามธรรมนี้ ไม่เผลอไป ไม่เพ่งไป ต่อมารูปธรรม นามธรรมมันจะแสดงไตรลักษณ์ให้ดู อย่างร่างกายนี้เรารู้สึกอยู่ในร่างกาย เดี๋ยวก็เห็นร่างกายไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวหายใจเข้า เดี๋ยวขยับซ้ายขยับขวา เปลี่ยนแปลงตลอด เดี๋ยวยืน เดิน นั่ง นอน เปลี่ยนแปลงตลอด ไม่เที่ยงเลย หรือร่างกายมันเป็นทุกข์ หายใจออกก็ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์ ยืนนานก็ทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ เดินนานก็ทุกข์ นอนนานก็ทุกข์ ร่างกายมีแต่ทุกข์ไม่เห็นจะดีตรงไหนเลย หรือร่างกายเป็นแค่วัตถุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก เป็นแค่วัตถุธาตุของโลก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นี่เห็นอนัตตา

ถ้าดูจิตดูใจเราก็เห็น จิตใจเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง ดีก็ดีชั่วคราว ชั่วก็ชั่วชั่วคราว โกรธก็ชั่วคราว โลภก็ชั่วคราว หลงก็ชั่วคราว มีแต่ของชั่วคราวทั้งหมดเลย สุขก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว นี่จิตใจ ไปดูรูปก็ดูชั่วคราว ไปฟังเสียงก็ชั่วคราว ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกายก็ชั่วคราว ไปคิดก็คิดชั่วคราว ไปเพ่งก็เพ่งชั่วคราว ดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็เห็นมีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของไม่เที่ยง จิตสุขก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตดีจิตชั่วก็ไม่เที่ยง จิตดูรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย รู้ธรรมารมณ์ทางใจก็ไม่เที่ยง สุดท้ายก็เข้าใจขึ้นมา รู้แจ้งขึ้นมาว่ามันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตนอะไรที่แท้จริง เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้หรอก

ฉะนั้นความสุข ความดี ความสงบ เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ มันเป็นของไม่เที่ยง หรือดูจิตดูใจก็เห็น มันสุขเราก็ไม่ได้เจตนา มันทุกข์เราก็ไม่ได้เจตนา มันจะดีหรือมันจะโลภ โกรธ หลง เราไม่ได้เจตนาให้มันเป็น มันทำงานของมันได้เอง ตรงนี้เราเห็นอนัตตา จิตจะไปดูรูป หรือจิตจะไปฟังเสียง หรือจิตจะไปดมกลิ่น หรือจะไปลิ้มรส หรือจะไปคิดทางใจ เราก็เลือกไม่ได้จิตมันทำของมันเอง ฉะนั้นเราใช้กรรมฐานเราก็รู้จัก เห็น ดูไปเรื่อยๆ ก็จะสังเกต ในที่สุดเราจะเห็นสภาวะได้ชัดเจน ทำกรรมฐานไปจิตเคลื่อนแล้วรู้ เคลื่อนแล้วรู้ ทรงตัวขึ้นมาแล้วก็ค่อยเห็นไตรลักษณ์ของมัน ไม่ยากหรอกอยู่ที่อดทนพากเพียรทำเอา แล้วถ้าทำเก่งๆ แล้ว ดูให้เห็นพฤติกรรม พฤติกรรมของจิต สังเกตพฤติกรรม มันละเอียด มันละเอียดกว่าการดูกาย ละเอียดกว่าการดูเวทนา จะเห็นพฤติกรรมของมัน เดี๋ยวก็ปรุงดี เดี๋ยวก็ปรุงชั่ว เดี๋ยวก็พยายามจะไม่ปรุงอะไรอย่างนี้ เห็นไป พฤติกรรมของจิตมีตัณหาอุปาทานผลักดัน ตัณหาอุปาทานมีอวิชชาซ่อนอยู่เบื้องหลัง

 

อุปสรรคของนักปฏิบัติที่ทำให้ไปไม่ถึงพระนิพพาน

ค่อยๆ ดูเดี๋ยววันหนึ่งก็รู้แจ้ง คือถ้าเราเคยภาวนาจนเห็นความจริงแล้วว่าตัวเราไม่มี จิตมันมีแนวโน้มไปสู่พระนิพพาน อย่างพวกเราก็เหมือนกันถ้าจิตเดินอยู่ในทางสายกลางแล้ว ไม่เผลอ ไม่เพ่ง จิตจะมีแนวโน้มไปสู่พระนิพพาน พอจิตเราไม่เผลอไม่เพ่ง ฝึกของเราดีแล้วก็ระวังอุปสรรคระหว่างทาง พระพุทธเจ้าท่านเทียบจิตที่เดินอยู่ในทางสายกลาง เหมือนท่อนไม้ลอยในแม่น้ำคงคา ท่านพูดให้คนอินเดียฟัง แม่น้ำคงคามันใหญ่คนอินเดียรู้จัก ถ้าเราก็บอกเหมือนท่อนไม้ลอยในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่แม่น้ำเจ้าพระยาใช้ไม่ได้ เพราะว่ามันมีน้ำขึ้นน้ำลง เดี๋ยวพอน้ำไหลไปใกล้ปากน้ำเอ้าน้ำขึ้น ย้อนกลับมาปากน้ำโพอีกแล้ว เพราะฉะนั้นเปรียบแม่น้ำคงคา น้ำมันแรงพัดออกทะเล “บอกเหมือนท่อนไม้ที่ลอยอยู่ในน้ำ มีแนวโน้มที่จะไปสู่ทะเล จิตที่เดินในทางสายกลางมีแนวโน้มไปสู่พระนิพพาน แต่มันมีอุปสรรค บางทีก็ติดฝั่งซ้าย บางทีก็ติดฝั่งขวา บางทีก็เกยตื้น บางทีก็ถูกเกลียวน้ำวนดูดไว้ บางทีก็จมลงไปเน่าใน จมลงไป ผุพังไปไม่ถึงทะเล บางทีก็ถูกมนุษย์จับไว้ บางทีถูกอมนุษย์จับไว้”

สิ่งที่ท่านเปรียบเทียบก็คืออุปสรรคของนักปฏิบัติ สิ่งที่จะทำให้เราไปไม่ถึงพระนิพพาน ถ้าเราฝึกจิตให้มันเดินอยู่ในทางสายกลาง เราก็ระวังพวกนี้ล่ะ “ติดฝั่งซ้าย ติดฝั่งขวา” ติดในสภาวะที่เป็นคู่ ในธรรมะที่เป็นคู่ๆ ติดดี ติดชั่ว ติดกามสุขัลลิกานุโยค ติดอัตตกิลมถานุโยค อย่างนั่งเพ่งไว้ทั้งวัน อย่าไปเลยแม่น้ำคงคา ไม่มีทางพาไปทะเลได้หรอก มันก็ติดอยู่เกยอยู่ที่ฝั่งข้างใดข้างหนึ่งนั่นล่ะ ถ้านั่งเพ่งไว้ทั้งวัน ไม่ถึงพระนิพพาน ถ้าไปติดในทางกามสุขัลลิกานุโยค ย่อหย่อนเพลินทั้งวันเลย ดูเฟซบุ๊ก ดูไลน์ทั้งวันเลย ไม่มีทางออกทะเลหรอก ไม่มีทางไปถึงพระนิพพานหรอก เพราะมันหลงในกามสุขัลลิกานุโยค นี่ติดฝั่งซ้าย ติดฝั่งขวา

“เกยตื้น” เคยไหมภาวนาแล้วเกยตื้น เจอสภาวะอันนี้แล้วรู้สึกพอใจ แล้วยินดีพอใจอยู่มันตรงนี้ล่ะ คราวหนึ่งหลวงพ่อภาวนาแล้วจิตมันทรงสมาธิอยู่ มันสงบอยู่ ไปเจอหลวงปู่คำพันธ์ วัดธาตุมหาชัย ลูกศิษย์หลวงปู่เสาร์ คนไม่ค่อยรู้ว่าท่านภาวนา รู้แต่ว่าเป็นพระเกจิมีวัตถุมงคลขลังมาก หลวงพ่อไปกราบท่าน คนเขาเอาวัตถุมงคลไปให้ท่านเสกเยอะแยะเลย ก็ซื้อมาจากวัดท่านแล้วก็เอาไปให้ท่านเป่าให้อีกทีหนึ่ง เราก็ไปนั่งรอ เราก็นั่งดูท่านไปเรื่อยๆ พอคนหยุดไม่มีคนให้ท่านเสกแล้ว ท่านหันมาหาหลวงพ่อก็ยิ้มๆ ท่านบอกว่า “คนเราเวลาจะเดินทางไกล เราจะข้ามทะเลทราย ทางไกล หรือข้ามแผ่นดินที่ร้อนๆ แห้งแล้ง ท่านใช้ข้ามทุ่งกุลา คล้ายๆ อยากข้ามทุ่งกุลาร้องไห้ พอเดินไปได้ช่วงหนึ่ง ไปเจอต้นไม้ใหญ่ โอ๊ย ตรงนี้เย็นดีก็นอนอยู่ที่ต้นไม้นั่นล่ะ มันก็ข้ามทุ่งกุลาร้องไห้ไม่ได้” ท่านพูดลอยๆ อย่างนี้ หลวงพ่อก็ลงกราบท่านได้ธรรมะแล้ว เราภาวนาจิตมันไปติดในความสุขของสมาธิอยู่ ก็ไปไม่ได้ นี่เราไปเกยตื้นแล้ว

“ถูกเกลียวน้ำวน” คือติดในกาม วันๆ หาแต่ความสุขด้วยการดูรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส หาสัมผัสทางกาย ติดในกามก็ไปไม่รอดไม่ถึงฝั่ง ไม่ถึงพระนิพพาน ออกทะเลไม่ได้ เกลียวน้ำวนเป็นกาม “ถูกมนุษย์จับไว้” ห่วงพรรคห่วงพวก ห่วงลูก ห่วงเมีย ห่วงคนโน้น ห่วงคนนี้ ก็ไปไม่ได้ อย่างพวกที่เดินแนวพระโพธิสัตว์ นี่ห่วงมนุษย์ ห่วงอมนุษย์ ห่วงกระทั่งเทวดา อยากจะพาเขาไปพ้นทุกข์ด้วย พวกนี้ถูกจับไว้ไม่ถึงพระนิพพาน “อมนุษย์” ก็มีเยอะ อย่างชื่อเสียงเกียรติยศ จะภาวนาเอามรรคผลนิพพาน แต่ติดเรื่องชื่อเสียงเกียรติยศเรื่องอะไร พวกนี้อมนุษย์ก็ไปไม่รอด

ฉะนั้นเราสำรวจตัวเอง ถ้าจิตเราเข้าทางสายกลางแล้วไม่เผลอ ไม่เพ่งแล้ว เราก็เห็นสภาวะทั้งหลายแสดงไตรลักษณ์ไปแล้ว คอยรู้คอยดูเรื่อยๆ แล้วถ้ามันมีอุปสรรคอย่างที่ว่ามา สำรวจตัวเอง แก้ไขตัวเองออกมาให้พ้น ไม่อย่างนั้นไปไม่รอดหรอก จะให้ใครมาช่วย จะให้ครูบาอาจารย์ตามบอกตลอดมันทำไม่ได้ อย่างหลวงพ่อเจอครูบาอาจารย์บางทีท่านก็บอกให้ เรากำลังติดขัดอะไรอย่างนี้ท่านก็บอกให้ ถ้าไม่เจอทำอย่างไร ถ้าไม่เจอสังเกตเอาเอง ถ้าไม่มีกัลยาณมิตร สิ่งที่สำคัญที่สุด โยนิโสมนสิการ ธรรมะ 2 ประการนี้คือกัลยาณมิตรกับโยนิโสมนสิการ เป็นสัญญาณแรกของอริยมรรค ถ้าเรามีคู่นี้อันใดอันหนึ่ง ถ้ามีทั้ง 2 อันยิ่งดี โอกาสที่จะเกิดมรรคผลในชีวิตนี้ มันก็มี

ฉะนั้นต้องมีโยนิโสมนสิการ กัลยาณมิตรอย่าไปหวังมากเลย เราเชื่อใครไม่ได้หรอกว่าใครเป็นกัลยาณมิตรจริง กระทั่งพระยังเชื่อไม่ได้หรอก มาเชื่อหลวงพ่อก็โง่อีก ต้องภาวนา ขนาดหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อยังไม่เชื่อเลย ท่านถามเชื่อไหม ไม่บอกท่านว่าไม่เชื่อ เสียมารยาท หลวงพ่อก็บอก “ผมยังไม่เห็น” ท่านก็ยิ้ม ดูไปเรื่อย เห็นของจริงคราวนี้ก็พ้นไป เอ้าส่งการบ้าน.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 กุมภาพันธ์ 2565