งานพัฒนาจิต

พ่อแม่ดีสอนลูกมาได้ดี หาเงินหาทองให้ลูก มันก็ไม่ยั่งยืนอะไร เอาสัมมาทิฏฐิให้ลูกได้นั้น ก็ประเสริฐที่สุดแล้ว คนบอกว่าอยากนิพพานๆ แต่จริงๆ แล้วมีไม่มากที่อยากนิพพานจริงๆ ส่วนใหญ่ก็อยากเวียนว่ายตายเกิดไปอย่างมีความสุข น้อยคนที่ไม่อยากเกิดอีก เราพูดถึงนิพพานๆ ไม่รู้มันคืออะไร รู้แต่ว่ามันดี

นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นความอยาก สิ้นตัณหา สิ้นความอยาก ถ้าใจมีความอยากขึ้นเมื่อไร ใจก็มีความดิ้นรนขึ้นเมื่อนั้น ใจมีความดิ้นรนเกิดขึ้น ใจก็มีความยึดถือ เข้าไปหยิบไปฉวยเอากายเอาใจนี้ มาเป็นตัวเราของเรา ก็ไม่พ้นทุกข์ ถ้าเมื่อไรใจเราสิ้นความอยาก ใจมันก็สิ้นความดิ้นรนปรุงแต่ง ใจมันก็สงบสุข นิพพานคืออะไร นิพพานมีลักษณะอย่างไร นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นความอยาก อย่าไปวาดภาพนิพพานพิลึกๆ

อย่างที่บอกคนส่วนใหญ่ มันต้องการเวียนว่ายตายเกิดไปอย่างดีๆ มีความสุข ฉะนั้นคิดถึงนิพพาน ก็คิดถึงนิพพานเป็นโลกของความสุข มีตัวเรา มีของเรา มีรูปธรรม มีนามธรรม ต้องมี เพราะว่ารักใคร่หวงแหนเหลือเกิน ที่จริงนิพพานคือความสงบ มีลักษณะสงบ เรียกว่ามีสันติลักษณะ ลักษณะของความสงบ แล้วความสงบนั้นมีความสุขอันมหาศาล ถ้าเราเข้าไปสัมผัสความสงบอันนั้น เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า “สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี”

ใจของเราไม่เคยสงบ มันดิ้นรนปรุงแต่งทั้งวันทั้งคืน กระทั่งคิดถึงนิพพานเราก็ปรุงแต่ง ให้มันมีรูปธรรม ให้มันมีนามธรรม มันจะสงบได้อย่างไร เมื่อมันมีรูปมันก็ยังไม่เที่ยง มีนามธรรมมันก็ยังไม่เที่ยง ยังมีความแปรปรวนอยู่ มันก็ไม่สงบหรอก อยากเห็นนิพพานก็ต้องฝึกจิตของเรา ให้มันมีคุณภาพที่จะเห็นนิพพาน บอกแล้วว่านิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นความอยาก ถ้าเราสามารถฝึกจิตของเราจนสิ้นความอยากได้ เราก็จะเห็นนิพพาน

 

บ่วงของมาร

นิพพานมีอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นมาใหม่ๆ แต่เราไม่เห็นเพราะเรามีแต่ความอยาก คนทั่วๆ ไปมันก็อยากอยู่กับโลก อยากได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่ดี อยากคิดนึกเรื่องราวที่สนุกสนานเพลิดเพลินพอใจ อันนี้มันอยาก อย่างนี้เรียกว่าอยากในกาม จิตใจเราก็ร่อนเร่ไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือไหลไปคิดในเรื่องของกาม ตัวรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย เป็นกามคุณอารมณ์ เป็นตัวยั่วให้ใจเราดิ้นรนแสวงหา ตัวรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งสัมผัสกาย เป็นบ่วงของมาร จะคล้องเอาพวกเราให้อยู่ในอำนาจ ไม่สามารถไปพระนิพพานได้

ฉะนั้นถ้าเรายังติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสอยู่ ส่วนใหญ่ก็ติดนั่นล่ะ คนที่พ้นจุดตรงนี้ได้ก็คือพระอนาคามี เพราะฉะนั้นพวกเราต้องระมัดระวัง เรายังตกอยู่ในบ่วงของมารอยู่ มารยังคล้ายๆ เอาเชือกผูกคอเราลากไปเรื่อยๆ เวียนว่ายตายเกิดไปไม่รู้จักจักจบจักสิ้น ถ้าอยากจะพ้นจากโลก เราก็ต้องเห็นกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรทั้งหลายทางร่างกายนี้ ไม่มีสาระแก่นสาร มันทำให้จิตใจของเราเสียอิสรภาพ

เราชอบในรูปที่สวยงาม จิตใจก็มีความอยากจะเห็นรูปนั้น พอเราเห็นรูปนั้น เราก็อยากให้รูปนั้นคงอยู่ เราไปเห็นรูปที่ไม่พอใจ เราก็อยากให้รูปนั้นสิ้นไป ความอยากมันก็เกิดขึ้น เวลาเราได้ยินเสียง เสียงนี้น่าพอใจ เราก็อยากให้มันอยู่นานๆ เสียงนี้หายไป เราก็อยากให้มันกลับมา เราได้ยินเสียงที่เราไม่พอใจ อยากให้มันสิ้นไป หมดไปสิ้นไป เสียงมันก็ล่อให้เรามีความอยากขึ้นมา รูปก็ล่อให้มีความอยากขึ้นมา กลิ่น รส สัมผัส ก็แบบเดียวกัน เวลาเราสัมผัสอารมณ์ที่พอใจ เราก็ติดอกติดใจอยากให้มันอยู่นานๆ อยากให้อยู่นานๆ ก็คือเรียกว่า ภวตัณหา การที่เราอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ติดอยู่ในภพอย่างนั้นถึงเรียกว่าภวตัณหา

ถ้าสัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ไม่พอใจ ก็อยากให้สิ้นไป ก็เป็นวิภวตัณหา ความอยากเกิดขึ้นเราก็จะไม่มีทางเห็นพระนิพพานหรอก เพราะความอยากเกิดขึ้นทีไร ความสงบก็ไม่มี ใจมันจะดิ้นๆๆ ไปเรื่อยๆ ตามอำนาจของความอยาก อยากได้มาใจก็ดิ้น ได้มาอยากให้มันคงอยู่ใจก็ดิ้น ได้มาแบบสิ่งที่ไม่พอใจ อยากให้มันหมดไปสิ้นไป พอใจมีความอยาก ใจก็ดิ้นรนขึ้นมา ใจไม่มีความสุขหรอก ไม่มีความสงบ

อันนี้พูดถึงโลกขั้นต่ำเรียกกามาวจร โลกที่ประณีตขึ้นไปรูปาวจร อรูปาวจร โลกของพรหม เป็นธรรมารมณ์ที่ละเอียด ที่ประณีต อันนี้พวกเรายังเรียนไม่ถึง เพราะเราไม่ได้ทรงฌาน ส่วนใหญ่น้อยคนที่ทรงฌานอยู่ ถ้าจิตเราเข้าสมาธิชำนิชำนาญ ตอนเข้าฌานทีแรกเรารู้สึก แหม มันมีความสุขจังเลย จิตเข้าปฐมฌานได้ มันตัดความรับรู้ ไม่สนใจเสียง ไม่สนใจรูปข้างนอก ไม่สนใจกลิ่นข้างนอก ตัดความสนใจในกาม กามคุณอารมณ์ออกไป มันเข้ามาสงบอยู่ที่จิตอันเดียว จิตก็มีปีติ มีความสุข มีวิตก มีวิจาร

วิตก คือจิตมันตรึกอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน วิจาร คือจิตมันเคล้าเคลียอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน เข้าปฐมฌานได้ โอ๊ย มีความสุขจัง ถ้ามีสติมีปัญญาเราก็จะเห็น การที่จิตยังต้องตรึกยังต้องตรอง มีวิตก มีวิจารอยู่ มันเป็นภาระ เป็นทุกข์ ถ้าจิตเห็นอย่างนี้ มันก็วางวิตก วิจาร มันมาอยู่ที่ปีติ รู้สึก แหม ดีจังเลย จิตมาอยู่กับปีติ อยู่กับความสุข อันนี้เข้าฌานที่ 2 ตรงนี้ถ้าเพลิดเพลินไป ก็หลงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในรูปพรหม ถ้าบุญบารมีพอ มันก็จะเห็นอีกว่า ปีติก็เป็นสิ่งเสียดแทงจิตใจ มันหวือหวา เช่นนั่งสมาธิแล้วตัวก็โยกไปโยกมา นึกว่าดี

หลวงพ่อไปเจอนั่งแล้วมันเกิดปีติชนิดโยก เอ๊ะ เข้าท่า พอเริ่มนั่งปุ๊บก็โยกเลย สมาธิหมุนหลวงพ่อทำมาตั้งแต่เล็กๆ เลย 7 – 8 ขวบ เสร็จแล้วเราก็เห็นอีก ปีติมันก็เป็นภาระของจิต บางทีมีปีติแล้วตัวใหญ่ รู้สึกตัวเรานี้โตๆๆๆ ขึ้นเป็นภูเขาเลย ทั้งใหญ่ ทั้งหนัก ทั้งแน่น รู้สึกว่าดี ดูไปๆ ก็เป็นภาระของจิตอีก พอสติปัญญามันแก่กล้า มันก็เห็นปีติก็เป็นส่วนเกิน จิตมันก็ทิ้งปีติไป นี้มันก็ทุกข์ ปฐมฌานก็ทุกข์ เพราะยังมีวิตก มีวิจาร มีการตรึก การตรองอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน

ฌานที่ 2 ก็ยังเป็นทุกข์อยู่ มีปีติอยู่ จิตใจไม่ได้สงบสุขจริง พอจิตมันวางปีติ มันเข้ามาที่ความสุข รู้สึก แหม ตรงนี้ดีจัง ฌานที่ 3 ดี มีความสุข พออินทรีย์เราแก่กล้าพอ เราก็จะเห็นอีกความสุขนั้นก็เป็นเครื่องเสียดแทงจิต ความสุขเป็นภาระของจิต ทำให้จิตไม่สงบ จิตมันก็วางความสุข เป็นอุเบกขาเข้าไปที่ฌานที่ 4 พอฌานที่ 4 ถัดจากนั้นก็ฌาน 5 6 7 8

5 6 7 8 เป็นอรูปฌานแล้ว มันทิ้งรูปไป รู้สึกรูปเป็นภาระ จิตก็เป็นอุเบกขาทรงอยู่อย่างนั้น นึกว่าดี แล้วภาวนาไปเรื่อยๆ อินทรีย์แก่กล้าจริงจะเห็น มีจิตอยู่ก็มีทุกข์ จิตจะไปอยู่ในภพในภูมิอะไร ในกามาวจร ในรูปาวจร ในอรูปาวจร มันก็ทุกข์ทั้งนั้น ถ้าเดินในแนวของฌานมันจะเป็นแบบนี้ จะเห็นจิตนั้นล่ะตัวทุกข์ มันก็วาง วางอะไร วางจิต มันเห็นอยู่แล้วว่าตัวกาม ตัวรูป ตัวอรูป หาสาระแก่นสารไม่ได้ กระตุ้นให้จิตทำงานดิ้นรนขึ้นมา ให้เกิดความอยาก เกิดความดิ้นรน

ความอยากเรียกว่าตัณหา ความดิ้นรนของจิตเรียกว่าภพ สิ่งที่ตามมา มีภพทีไรก็มีทุกข์ทุกที จะภพน้อยภพใหญ่ ภพใหญ่อย่างของเราขณะนี้ ภพใหญ่ของเราเป็นมนุษย์ ภพน้อยๆ ของเราเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เป็นภพในใจเราเรียกว่ากรรมภพ เดี๋ยวจิตเราก็ดี เดี๋ยวจิตเราก็ร้าย เดี๋ยวก็เป็นจิตโลภ เดี๋ยวเป็นจิตโกรธ เดี๋ยวเป็นจิตหลง เดี๋ยวเป็นจิตฟุ้งซ่าน เดี๋ยวเป็นจิตหดหู่ เดี๋ยวเป็นจิตดี มีภพทีไรก็มีทุกข์ทุกที ถ้าเห็นอย่างนี้จิตก็วางภพไป

อันนี้พูดถึงคนซึ่งภาวนาเต็มภูมิเต็มขั้นเลย ผ่านภพทั้ง 3 ไปเลย แต่สำหรับพวกเรานี้ เราไม่ได้ทรงฌาน ส่วนใหญ่ไม่ได้ทรงฌานหรอก ยุคนี้มีแต่ความฟุ้งซ่าน ของเล่นมันเยอะ หลอกลวงให้เราหลงวุ่นวายทั้งวันเลย เพราะอินเทอร์เน็ตนั่นล่ะตัวดีเลย ดึงดูดเราไป หลงอยู่ในโลกธรรมดานี้ยังไม่พอ ยังไปหลงอยู่ในโลกโซเชียล โลกข้างใน โลกเสมือนข้างในอีก คือแทนที่จะคลายออกจากโลก ก็สร้างโลกให้มากขึ้นไปอีก ประณีตซับซ้อนเข้าไปอีก ฉะนั้นโอกาสที่พวกเราจะพ้นจากโลกนี้ ไม่ใช่ง่ายเลย

 

แหวกวงล้อมของมารออกไปให้ได้

ฉะนั้นต้องอดทนมากเลย ในการที่จะต่อสู้แหวกวงล้อมของมารออกไปให้ได้ ทำอย่างไรเราจะผ่านตรงนี้ให้ได้ ขั้นแรกสุดต้องถือศีล 5 ถ้าเราไม่มีศีล 5 เราจะตกเป็นเหยื่อของมารอย่างรวดเร็วเลย อย่างเราไม่มีศีล 5 เราเห็นรูปสวยๆ เห็นผู้หญิงสวยๆ ใจเราก็ไปชอบ ลูกเขาเมียใครก็ไม่สนใจแล้ว ก็จะตกเป็นเหยื่อของมาร มารเอารูปที่สวยมาล่อเรา เราก็ยอมผิดศีลผิดธรรม จะตกนรกหมกไหม้อะไรก็ไม่กลัวแล้ว เอาเสียงเพราะๆ เสียงหวานๆ มาให้เราฟัง เราก็หลงเพลินๆ ไป ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้

เพราะฉะนั้นเรายังสู้มารไม่ได้ มารมีเครื่องมือตั้งมากมายคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย นี้เครื่องมือของมารที่จะจับเราเอาไว้ เรายังไม่สามารถเอาชนะตรงนี้ได้ เราก็ต้องป้องกันตัวไว้ก่อน การป้องกันตัวไม่ให้ตกไปฮุบเหยื่อของมาร คือการรักษาศีล 5 เอาไว้ มีเครื่องป้องกันเราไม่ให้หลง เราอยากเห็นรูปสวยๆ เห็นผู้หญิงสวยๆ เรามีศีล 5 เราก็ไม่ทำผิด ไม่ใช่คู่ของเรา เราก็ไม่ยุ่งด้วย อย่างนี้เป็นเครื่องกีดกันตัวเอง ไม่ให้โดดตะครุบเหยื่อของมาร มันเหมือนมารมันตกปลา เบ็ดของมารมันเอามาเกี่ยวเหยื่อ เหยื่อที่มารใช้มาตกพวกเราเอาไว้ก็คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั่นล่ะ เรียกว่าเป็นบ่วง เป็นเหยื่อที่มารเอามาล่อเราให้ติดอยู่ในโลก

ฉะนั้นถึงมันจะล่อเอา เรายังชอบมันอยู่ อยู่ๆ จะไม่ให้ชอบ ไม่ได้ คนที่ไม่ติดเหยื่อตรงนี้คือพระอนาคามี เราไม่ใช่ ส่วนใหญ่พวกเรายังเป็นปุถุชน พร้อมที่จะติดอยู่ เพราะฉะนั้นเราต้องมีศีล 5 ไว้ก่อน เราไม่มีศีล 5 เราจะตกเป็นเครื่องมือของมารทันที เป็นบริวารของมาร โดนเขาเอาเหยื่อมาล่อก็เป็นปลาที่ไปกินเบ็ด ถูกเขาจับเอาไว้ เอาไปฆ่าทิ้ง เราถูกมารจับเอาไว้ฆ่าครั้งแล้วครั้งเล่า นับภพนับชาติไม่ถ้วน ที่เราต้องตายแล้วตายอีก ก็เพราะว่าเราถูกจับเอาไว้ เป็นเหยื่อของมาร

เพราะฉะนั้นอย่างต่ำที่สุด เราจะต้องถือศีล 5 เอาไว้ให้ได้ ถ้าเราถือศีล 5 ไว้ เราก็จะไม่ไปกินเหยื่อพร่ำเพรื่อ กินเหยื่อบางอย่างเท่านั้น ยังติดเหยื่อไหม ยังติดอยู่ แต่ไม่ใช่เที่ยวฮุบอุตลุดไปเลย วุ่นวาย ทุกวันนี้ดูมีแต่วุ่นวาย แย่งอันโน้นแย่งอันนี้กัน วุ่นวายกันใหญ่ เพราะฉะนั้นเรารักษาศีล 5 เอาไว้ งานต่อไปก็คือพอเรามีศีล 5 แล้วก็เป็นงานพัฒนาจิต งานพัฒนาจิตมี 2 ขั้นตอน คือขั้นของสมถกรรมฐาน ฝึกจิตให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้มีกำลัง ไม่ใช่สงบอย่างเดียว สงบอย่างเดียวไม่ใช่สมาธิของพระพุทธเจ้า หรือมีกำลังอย่างเดียว สงบแล้วมีกำลังยังไม่ใช่สมาธิของพระพุทธเจ้า สมาธิของพระพุทธเจ้านั้นต้องตั้งมั่น

เราลองไปดูพจนานุกรมของท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ท่านสมเด็จประยุทธ์ฯ ท่านบอกไว้ชัดเจน สมาธิคือความตั้งมั่น ไม่ใช่เรื่องสงบ เพราะฉะนั้นเราสามารถตั้งมั่นอยู่ได้ ท่ามกลางความวุ่นวาย โลกนี้วุ่นวายแต่จิตตั้งมั่นได้ นั่นล่ะคือมีสมาธิแบบพุทธ การที่เราจะฝึกจนเรามีสมาธิที่ตั้งมั่น มีความสงบ มีความสุขอยู่ในตัวเองได้ งานอันนั้นเรียกว่าการเจริญสมถกรรมฐาน ทำไปเพื่ออะไร เพื่อเราจะได้เตรียมความพร้อมของจิต ให้จิตมีความพร้อมที่จะเจริญปัญญา จิตที่จะเจริญปัญญาได้ เป็นจิตที่เป็นกุศล มีลักษณะเบา อ่อนโยน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว ควรแก่การงาน ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ รู้โดยไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่มีอกุศลครอบงำ คือถ้ามีสติที่ถูกต้องขึ้นมาเมื่อไร อกุศลมันไม่มีอยู่แล้ว

 

พัฒนาจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา

เราต้องพยายามมาฝึกพัฒนาจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา หลวงพ่อสอนมาเยอะแยะแล้ว วิธีฝึกจิตให้ตั้งมั่น ถ้าฝึกเต็มรูปแบบคือเข้าฌาน พอถึงฌานที่ 2 เราจะได้เอโกทิภาวะ พระไตรปิฎกใช้คำว่าเอโกทิภาวะ คือภาวะแห่งความเป็นหนึ่งขึ้นมา นักปริยัติเขาก็แปลเอโกทิภาวะว่าสมาธิ เอ้า แล้วทำไมสมาธิต้องไปอยู่ในฌานที่ 2 ฌานที่ 1 ไม่มีสมาธิหรือ ก็บอกว่ามี ก็เป็นอัปปนาสมาธิอยู่แล้วในฌานที่ 1 อุปจารสมาธิยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิก็เป็นสมาธิ ขณิกสมาธิก็เป็นสมาธิ แล้วทำไมมันไปอยู่ในฌานที่ 2 เอโกทิภาวะ เพราะฉะนั้นเอโกทิภาวะไม่ควรจะไปแปลว่าสมาธิ

ถ้าเราภาวนา เราจะรู้เลยพอจิตเราวางวิตกวิจาร เรารู้ว่าจิตเราไหลไปอยู่ที่อารมณ์กรรมฐานของเรา อย่างตัวปฏิภาคนิมิต สว่าง จิตไปเคล้าเคลียอยู่ รู้ว่าจิตมันไหลออกไป ตรงที่รู้ทันว่าจิตไหลเข้าไปหาดวงนิมิตทั้งหลาย จิตมันจะวางแสงสว่าง วางนิมิต ทวนกระแสเข้ามา แล้วก็เกิดจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา เพราะฉะนั้นเอโกทิภาวะคือความตั้งมั่น ไม่ได้สมาธิทั่วๆ ไปหรอก ในฌานที่ 1 ยังไม่ได้เป็นเอโกทิภาวะจริง เพราะว่าจิตมันยังไหลไป เช่นเราไหลไปอยู่กับแสงสว่าง ยังไม่ได้เอโกทิภาวะ เราต้องฝึก

ถ้าฝึกเต็มรูปแบบจะได้เอโกทิภาวะตั้งแต่ฌานที่ 2 ขึ้นไป 2 3 4 5 6 7 8 ถ้าไม่มีเอโกทิภาวะเกิดขึ้น เราได้ฌานที่ 2 3 4 5 6 7 8 แต่จะได้แบบฌานของฤษี เอาไว้ทำความสงบเฉยๆ จะไปเดินปัญญาต่อไม่ได้ ตัวที่จะทำให้เราเดินปัญญาต่อได้ คือตัวเอโกทิภาวะ คือภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง ก็คือจิตซึ่งมันทำหน้าที่รู้ มันเป็นสมาธิที่ทำให้จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งอยู่ เป็นหนึ่งนั้นไม่ใช่ว่ามีดวงเดียว เป็นหนึ่งก็คือทำหน้าที่เดียว คือทำหน้าที่รู้ ทำหน้าที่เห็น สภาวะรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป เราค่อยๆ อย่างนี้ถ้าเข้าฌานก็จะได้เอโกทิภาวะขึ้นมา

แต่ว่าถ้าเราทำฌานไม่ได้ ทำอย่างไรเราจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา มีวิธีที่ง่ายๆ ใช้สติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น เบื้องต้นเราก็ทำกรรมฐานไว้สักอย่าง เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรือยืนอยู่ก็รู้ เดินอยู่ก็รู้ คอยรู้สึกๆ ไป มีสติรู้สึกไปเรื่อย แล้วเราจะเห็น อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ อยู่ดีๆ แป๊บเดียวหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว เรามีสติรู้ว่าจิตหลงไปคิดแล้ว ทันทีที่สติรู้ว่าจิตหลงไปคิด จิตที่หลงก็จะดับ จิตที่รู้ก็จะเกิดขึ้นแทนที่อัตโนมัติ เพราะฉะนั้นอย่างที่ครูบาอาจารย์สอนส่วนใหญ่ ท่านบอกให้รู้ทันจิตที่คิด อย่างสายหลวงพ่อเทียน ท่านขยับมือไป แล้วพอจิตหนีไปคิดแล้วรู้ทัน ก็จะได้จิตรู้ขึ้นมา

อย่างทางวัดป่าท่านหายใจ ถ้าสมัยก่อนท่านก็หายใจจนเข้าอัปปนาสมาธิ ได้ฌานที่ 2 ได้จิตรู้ขึ้นมาแล้ว ถ้าเราไม่ได้เข้าฌาน เราก็ทำลดระดับลงมา เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แต่ไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นลืมพุทโธแล้ว รู้ทัน ตรงที่สติเรารู้ทันจิตที่หลง จิตที่หลงจะดับ จิตที่รู้จะเกิดโดยอัตโนมัติ เราก็จะได้จิตที่มีเอโกทิภาวะขึ้นมาแล้ว จิตผู้รู้ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ทีแรกยังไม่เด่นดวงหรอก หลงแล้วรู้แวบหนึ่งขึ้นมาแล้วก็หลงอีก หลงอีกรู้อีก ก็ตื่นขึ้นแวบหนึ่ง แล้วก็หลงอีก พอรู้อีกก็ตื่นขึ้นอีกแวบหนึ่ง พอเราฝึกแบบนี้ซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งจิตมันจะมีพลังขึ้นมา มันจะเริ่มตั้งมั่นเด่นดวง

เราจะรู้ด้วยตัวเองเลย จิตของเราแต่ก่อนล้มเหลว เหลวๆ ไหลๆ ไปเรื่อย มันเหลวแล้วมันไหลจริงๆ มันไม่แข็งแรง มันก็เลยดูเหลวๆ แล้วมันก็ไหลไปทางโน้น ไหลไปทางนี้ แต่พอเราฝึกหลงแล้วรู้ๆๆ ไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตมันจะมีกำลัง ค่อยๆ ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา อย่างนี้เราพร้อมที่จะเจริญปัญญา พร้อมแล้ว ถ้าจิตยังเหลวๆ ไหลๆ ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรงอยู่ ยังไม่พร้อมที่จะเจริญปัญญาหรอก เพราะฉะนั้นเบื้องต้นอันแรกบอกไว้แล้ว ต้องถือศีล 5 อันที่ 2 ฝึกสมาธิ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วอาศัยสติคอยรู้ทัน เวลาจิตมันหลงไปจากอารมณ์กรรมฐานอันนั้น หรือบางทีจิตมันหลงลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานอันนั้น ให้รู้ทัน เช่นเราหายใจอยู่ จิตมันไหลลงไปเพ่งที่ตัวอารมณ์ เราก็รู้ทัน คือรู้ทันจิตของตัวเองไป มีสติรู้ทันจิต

ทำกรรมฐานแล้วมีสติรู้ทันจิต นี่ล่ะคือจิตตสิกขา สิ่งที่เราจะได้ก็คือ เราจะได้สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ค่อยๆ สะสมทุกวันๆ ฝึกทุกวัน แล้วไม่ใช่ฝึกวันละรอบ มีเวลาเมื่อไรฝึกเมื่อนั้น อย่างเราทำงานสมมติเราขายของอยู่หน้าร้าน ลูกค้ามาเราก็ไปต้อนรับ ตอนลูกค้าไม่มาเราอยู่ว่างๆ เราก็ทำกรรมฐานของเราไป หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ทำไป หรือจะเห็นร่างกายหายใจ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายเคลื่อนไหว เห็นร่างกายหยุดนิ่ง ก็ทำไปเถอะ ทำกรรมฐานไป แล้วเวลาจิตมันหลงไปจากอารมณ์กรรมฐาน ให้เรารู้ทัน เวลาจิตมันถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ให้เรารู้ทัน

 

ฝึกจิตให้เกิดปัญญา

คอยรู้ทันจิตใจตัวเองไปด้วย ทำกรรมฐานแล้วรู้ทันจิตตนเองไป แล้วเราจะได้สมาธิที่แข็งแรงขึ้นมา จะค่อยๆ เติบโตขึ้น งานฝึกจิตอันที่สอง คือฝึกจิตให้เกิดปัญญา การที่เราฝึกจิตให้มีสมาธิ ให้จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว เพื่อเป็นเครื่องมือในการเจริญปัญญา เมื่อกี้บอกแล้วให้เราทำกรรมฐานอันหนึ่ง แล้วมีสติรู้ทันจิตที่มันไหลไป ไหลไปคิดรู้ทัน ไหลไปเพ่งกรรมฐานรู้ทัน แล้วจิตเราจะมีสมาธิตั้งมั่นขึ้นมา แล้วการที่เราคอยรู้ทันๆๆ นั่นล่ะคือการฝึกสติ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจิตตั้งมั่น ไม่ใช่ตั้งส่งเดชอยู่อย่างนั้น เป็นจิตที่มีสติด้วย ถ้ามีสมาธิอย่างเดียวแต่ไม่มีสติ มันเป็นมิจฉาสมาธิ สงบอย่างเดียวแต่โง่ๆ อยู่อย่างนั้น

เพราะฉะนั้นสมาธิที่ดี ต้องมีทั้งสติ มีทั้งความตั้งมั่น ถ้าไม่มีสติมันก็จะไม่ตั้งมั่น มันจะไปตั้งแช่อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ฉะนั้นการที่เราทำจิตตสิกขา คือการทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป แล้วเราจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา จิตที่ตั้งมั่นมีทั้งสมาธิที่ถูกต้อง มีทั้งสติที่ถูกต้อง จิตดวงนี้พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว บางคนพอมีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว ไม่ไปต่อก็ตั้งอยู่อย่างนั้นล่ะ อันนี้ก็น่าเสียดาย เหมือนเราชาร์จแบตเตอรี่เอาไว้เต็มแล้วเราก็ไม่ได้ใช้ วางทิ้งไว้ให้แบตเตอรี่เสื่อม เพราะฉะนั้นเราทำสมาธิเสร็จแล้ว เราก็ต้องมาเดินปัญญาต่อ นี่คืองานที่สอง งานฝึกจิตให้เกิดปัญญา

ปัญญาคืออะไร ปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูก ว่ารูปนาม ขันธ์ 5 นี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั่นล่ะเรียกว่าปัญญา ปัญญานั้นถ้าเราสะสมให้มากพอ จิตก็จะเกิดวิมุตติขึ้นมา จิตก็เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมา พระพุทธเจ้าบอกว่า “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” แต่ปัญญานี้อาศัยสติ อาศัยสมาธิ ทำให้เกิดขึ้น มีศีลเป็นพื้นฐาน แล้วมาฝึกจิตด้วยสติ ด้วยสมาธิ ให้มาก จนกระทั่งมีกำลังตั้งมั่น แล้วก็ระลึกรู้ลงไป สติระลึกรู้กายก็เห็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้เวทนาคือความสุขทุกข์ ก็เห็นไตรลักษณ์ของเวทนา สติระลึกรู้สังขาร ความปรุงดี ความปรุงชั่ว ก็เห็นไตรลักษณ์ของสังขาร สติระลึกรู้จิตที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เห็นไตรลักษณ์ของจิต นี้คือการเจริญปัญญา

ถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์ยังเป็นปัญญาเบื้องต้น ยังไม่ใช่วิปัสสนา ต้องเห็นไตรลักษณ์ถึงจะขึ้นวิปัสสนา อย่างบางคนไปนั่งคิดเรื่องร่างกาย ร่างกายเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ ไม่น่ารัก ไม่น่าหวงแหน คิดๆๆ ไปใจสลดสังเวช ยังไม่มีทางเกิดมรรคผลหรอก ยังเจือการคิดอยู่ แต่ถ้าจิตเราตั้งมั่น มันเปลี่ยนจากผู้คิดมาเป็นผู้เห็น มันก็จะเห็นร่างกายทำงานไป จิตเป็นแค่คนเห็น เห็นแบบไม่มีส่วนได้เสีย เห็นด้วยความเป็นกลาง สติระลึกรู้กาย จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็นอยู่ ปัญญาก็จะเห็นว่า กายนี้มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย แต่จิตไม่ตั้งมั่นพอ ปัญญาไม่เกิด ปัญญาไม่ได้เกิดจากสติ จำไว้ให้ดี ปัญญาไม่ได้เกิดจากสติ เพราะฉะนั้นเรามีสติขับรถไม่ตกถนน ไม่มีปัญญาในทางระดับวิปัสสนาปัญญาหรอก ปัญญามีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด สัมมาสมาธิคือภาวะแห่งความตั้งมั่นนั่นล่ะ เพราะฉะนั้นถ้าจิตเรายังไม่ตั้งมั่น แล้วบอกเจริญปัญญาๆ ทำไม่ได้จริงหรอก อย่างหลายที่ทำคอร์สวิปัสสนา หลวงพ่อสังเกตไม่ใช่วิปัสสนาหรอก ยังขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ จิตยังไม่ได้มีสมาธิที่ถูกต้องเลย ไม่ได้ฝึกสมาธิเลย นั่งฝึกกำหนดเพ่งไปเรื่อยๆ เครียดไปเรื่อยๆ แล้วบอกว่าจิตมีสมาธิ ไม่ถูก ไม่ถูกหรอก

 

จิตตสิกขา เรียนเรื่องจิตตัวเองแล้วจะได้สมาธิ

เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกจิต ให้เรามีสมาธิที่ถูกต้องก่อน แล้วตรงที่เราฝึกจิตจนมีสมาธิ ตรงนั้นเราจะได้สติด้วย ฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเอง เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วจิตมันหนีไปคิด รู้ทัน จิตมันไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน ดูท้องพองยุบก็ได้ ดูท้องพองยุบไปแล้วจิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไปเพ่งท้อง รู้ทัน ขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียนก็ได้ ขยับไปจิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไปเพ่งมือ รู้ทัน ฉะนั้นกรรมฐานอะไรก็เหมือนกันหมด จับหลักให้ได้ ไม่มีอะไรดีกว่าอะไรหรอก เสมอกันทั้งนั้น แล้วแต่ถนัด ทางใครทางมัน เพียงแต่ทำให้มันถูกหลัก ถูกหลักก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตนเองไว้ อันนี้ถึงจะเป็นจิตตสิกขา

ถ้าไม่สนใจจิตตัวเอง ไม่ใช่จิตตสิกขา จะไม่ได้สมาธิที่ถูกต้องหรอก อย่างนั่งหายใจเข้าพุท ออกโธไปเรื่อยๆ สงบไปเรื่อย ร้อยคนพันคน ถึงจะได้จิตที่มีผู้รู้ขึ้นมาจริงๆ สักคนหนึ่ง คนฝึกกรรมฐานมีตั้งเยอะตั้งแยะเลย แต่จิตมันไม่ได้เป็นผู้รู้ขึ้นมา อันนี้เป็นตั้งแต่สมัยเมื่อ 30 – 40 ปีก่อนแล้ว ที่หลวงพ่อเห็น ร่วม 40 ปีมาแล้วที่เห็น สมัยนั้นเข้าไปตามวัดครูบาอาจารย์ กลางค่ำกลางคืนคนนั่งสมาธิเต็มโบสถ์ ในโบสถ์ไม่พอนั่ง นั่งอยู่รอบๆ โบสถ์ บางพวกก็เดินจงกรม มุ่งไปที่ความสงบกัน ไม่ได้มุ่งที่ฝึกจิตให้ตั้งมั่นขึ้นมา บางพวกก็นั่งแล้วก็เคลิ้มไป บางพวกก็นั่งแล้วก็เห็นโน้นเห็นนี้ไป ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความตั้งมั่นเลย

ตอนนั้นหลวงพ่อไป หลวงพ่อเดินไปดู คนเป็นร้อยไม่เห็นมีใครฝึก ไม่เห็นมีใครปฏิบัติธรรมจริงเลย ใจมันรู้สึก ใจมันโง่มันไปปรามาสเขาเข้า เอ๊ะ ที่นี่ไม่เห็นมีใครภาวนา ไม่เห็นมีใครปฏิบัติสักคนเลย ตื่นเช้าขึ้นมาเข้าไปกราบครูบาอาจารย์ หลวงปู่เทสก์ พอท่านเห็นหน้าเรา ท่านยิ้มๆ แล้วท่านก็พูด พูดประโยคที่เราคิดในใจว่า “ที่นี่ไม่เห็นมีใครปฏิบัติสักคนเลย” ท่านพูดเองเลย ท่านยิ้มหวานๆ บอก “ที่นี่ไม่มีใครเขาปฏิบัติกันแล้ว” โอ้ เราฟัง เราหน้าชาเลย เรารู้แล้วท่านสอนเรา ว่าขณะที่เราไปเดินดูคนเป็นร้อย คนนี้ไม่ได้ปฏิบัติๆ เราเองขณะนั้นไม่ได้ปฏิบัติเหมือนกัน เรามัวแต่ดูคนอื่น ไม่ได้ดูตัวเอง นี่ความโง่ ประจานความโง่ของตัวเองเลย ไม่ได้เรื่อง

ฉะนั้นเราต้องคอยรู้เท่าทันจิตของตัวเองไว้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้เท่าทันจิตตัวเองไว้ จิตหลงไปจากกรรมฐาน รู้ จิตถลำไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ ตัวสำคัญสติเป็นตัวรู้ทัน พอสติรู้ทันสภาวะแล้ว สมาธิจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ หลวงพ่อไปเจอหลวงพ่อคำเขียน ตอนนั้นท่านเป็นมะเร็ง นอนลุกไม่ขึ้น เข้าไปกราบท่าน ท่านเห็นหน้าหลวงพ่อปุ๊บ ท่านก็บอกว่า “ไปได้แล้วๆ พระศาสนาไปได้แล้ว” ท่านบอกอย่างนี้ มีคนสืบทอดการเจริญสติแล้ว ท่านบอกท่านสบายใจแล้ว มีผู้สืบทอดแล้ว แล้วท่านก็เล่าให้ฟังว่า ท่านเรียนกับหลวงพ่อเทียน รุ่นแรกๆ เลย เป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงพ่อเทียน

ท่านบอกยุคแรกๆ หลวงพ่อเทียนไม่ได้สอนขยับมือ ท่านสอนให้มีสติไว้ แล้วก็ตอนหลังๆ ท่านเห็นว่าคนไม่สามารถมีสติได้ ท่านก็เลยไปสร้างเรื่อง 14 จังหวะขึ้นมา ให้ขยับ ขยับแล้วก็ถ้าจิตหลงไปก็รู้ จิตไปเพ่งมือก็รู้ ตัวสำคัญ หลวงพ่อคำเขียนท่านบอก ตัวสำคัญที่ท่านสอนคือสติ ไม่ใช่การขยับมือ แล้วท่านบอกว่า “ถ้ามีสติก็มีศีล ถ้ามีสติก็มีสมาธิ ถ้ามีสติก็มีปัญญา” ฉะนั้นเราอาศัยสติรู้ทันจิตตัวเอง แล้วเราจะได้สมาธิ ทำไมต้องรู้ทันจิตตนเอง เพราะการทำสมาธินั้น เราเรียกว่าจิตตสิกขา เรียนเรื่องจิตตัวเองแล้วจะได้สมาธิ เมื่อจิตมีสมาธิแล้วก็ถึงขั้นเจริญปัญญา อย่ามีสมาธิแล้วก็เฉยๆ อยู่แค่นั้น

การเจริญปัญญาก็มีสติระลึกรู้ลงไป สติระลึกเห็นร่างกายขยับ จิตตั้งมั่นอยู่ จิตจะไม่มีน้ำหนักขึ้นมา ถ้าเราตั้งจิตแล้วมีน้ำหนักขึ้นมา ไม่ใช่จิตรู้ แต่เป็นจิตที่เราเค้นให้เกิด จิตผู้รู้ต้องเป็นอสังขาริกัง คือไม่ได้จงใจทำให้เกิด ไม่ได้น้อมให้เกิด ต้องเกิดเองเรียก อสังขาริกกัง แต่ถ้าเป็นจิตผู้รู้ที่เราจงใจทำให้เกิด มันจะไม่ใช่จิตผู้รู้ที่มีคุณภาพ เอาไปเดินปัญญาไม่ได้จริงหรอก อ่อนแอ แต่ถ้าเราไม่ได้เจตนาจะรู้สึกตัว มันรู้สึกตัวขึ้นมาได้ อย่างนี้เราจะมีจิตที่แข็งแรง พอเรามีสติ รู้สึกร่างกายมันเคลื่อนไหว ไม่ต้องดูด้วยตาด้วยซ้ำไป อย่างเราหลับอย่างนี้ ร่างกายเคลื่อนไหวเราก็รู้

แล้วจิตเราตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวอยู่โดยไม่ได้บังคับ เราจะเห็นทันทีเลย ตัวที่เคลื่อนนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นวัตถุ เป็นรูปธรรมที่เคลื่อนไหวไป มันก็เริ่มล้างความเห็นผิด ว่ากายนี้คือตัวเรา มันเห็นเลยนี้ไม่ใช่เราหรอก จิตต้องตั้งมั่นถึงจะเห็น ไม่ใช่คิดด้วย ไม่ใช่คิดว่านี่ไม่ใช่เรา นี่ไม่ใช่เรา อันนั้นจิตไม่ได้มีพลังอะไรเลย เพราะฉะนั้นตรงที่ฝึกจิตให้ตั้งมั่น สำคัญมาก ถ้าไม่มีตัวนี้เดินวิปัสสนาไม่ได้จริงหรอก มันจะไปคิดเอา มันไม่ได้เห็นเอา หรือไม่ก็ไปนั่งเพ่งซื่อบื้อไปอย่างนั้น เครียดๆ แข็งๆ แน่นๆ ไป ก็ใช้ไม่ได้

แต่ถ้าเรามีจิตตั้งมั่น สติระลึกรู้ร่างกายมันเห็นเลย ไม่ใช่เรา รูปมันเคลื่อนไหว ไม่ใช่เราเคลื่อนไหว รูปมันหายใจ ไม่ใช่เราหายใจ รูปมันยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน ความสุข ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในกาย ก็เป็นสักแต่ว่าความสุขความทุกข์ ไม่ใช่เรา ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ที่เกิดขึ้นในใจ ก็สักแต่ว่าเป็นเวทนา ไม่ใช่เรา กุศล อกุศลที่เกิดขึ้นกับจิต มันก็เป็นแค่สภาวธรรมอันหนึ่ง เป็นสังขาร อยู่ในสังขารขันธ์ ความปรุงดีปรุงชั่วทั้งหลายขึ้นมา ก็ไม่ใช่เรา เป็นแค่สภาวธรรมอันหนึ่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป บังคับไม่ได้

ดูลงไปเรื่อยๆ ต่อไปก็เห็นอีกกระทั่งตัวจิตเอง ก็เกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง 6 อย่างเราดูจิตๆ หลวงพ่อจะบอกให้ง่ายๆ เลย จะดูจิตๆ เบื้องต้นถ้ายังดูอะไรไม่เป็น คอยรู้ทัน จิตตอนนี้สุข หรือจิตตอนนี้ทุกข์ หรือจิตตอนนี้ไม่สุข ไม่ทุกข์ เฉยๆ รู้ทันอย่างนี้ก่อน อันนี้ง่ายที่สุด ต่อมามันจะเห็นได้ละเอียดขึ้น เห็นละเอียดขึ้นคือเห็นสังขารซึ่งไหลตามเวทนามา เวลาจิตใจมีความสุขมันก็มีความยินดีพอใจ คือราคะแทรก นี่คือตัวสังขารแล้ว ตัวราคะแทรกเข้ามา จิตมีความทุกข์ สัมผัสอารมณ์ที่ไม่พอใจ จิตก็หงุดหงิดมีโทสะแทรกเข้ามา

เราก็จะเห็นเลย จิตนี้เดี๋ยวก็ราคะมา เดี๋ยวก็โทสะมา แต่ทุกตัวเหมือนกันอย่างหนึ่ง มาแล้วก็ไป เราเห็นอย่างนี้ก็ดูจิตได้ละเอียดขึ้นแล้ว จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตไม่หลงก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ จิตมีสมาธิรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ก็รู้ จิตมีปัญญาอยู่ก็รู้ จะรู้อยู่ตลอดสาย รู้ อันนี้เรียกว่าการเจริญจิตตานุปัสสนา แล้วถัดจากนี้เราจะเห็น ทีแรกถ้าเราดูจิต ง่ายที่สุดคือดูจิตสุข หรือทุกข์ หรือเฉย ถ้าดูละเอียดยิ่งขึ้นก็คือจิตมีกุศล หรือจิตมีกิเลส กิเลส กิเลสตัวไหนที่กำลังมีกำลังเกิดอยู่ นี่มันละเอียดมากมาย แต่เวทนามี 3 ตัวเอง สุข ทุกข์ เฉยๆ

 

ท่านย้ำลงมาที่ความรู้สึกตัว

เพราะฉะนั้นถ้าจะดูจิตเบื้องต้น ดู 3 ตัวแรกนี้ให้ได้ก่อน ถัดจากนั้นพอเราถนัดในการดูจิตมากขึ้น มันก็จะเห็นเดี๋ยวจิตก็เป็นกุศล เดี๋ยวจิตก็เป็นอกุศล กุศลก็มีหลายแบบ อกุศลก็มีเยอะแยะเลย โลภ โกรธ หลง อะไรอย่างนี้ โกรธตัวเดียวก็มีตั้งหลายระดับ แบบเบื่อ เบื่อก็คือโกรธอย่างหนึ่งคือโทสะ เซ็งก็คือโทสะ อิจฉาก็คือโทสะ ตระหนี่ก็คือโทสะ เวลาเราเกิดความหวงแหนขึ้นมา จิตมันเศร้าหมอง มันเป็นโทสะ จิตไม่สบาย แต่ละตัวก็มีลูกมีหลานเยอะแยะเลย ราคะก็มีลูกมีหลาน โทสะก็มีลูกมีหลาน โมหะเป็นบรรพบุรุษของกิเลสเลย ราคะก็เป็นลูกของโมหะ โทสะก็เป็นลูกของโมหะ หัวโจกมันก็คือตัวโมหะ ตัวหลงนั่นล่ะ

เพราะฉะนั้นการที่เราฝึกสติ มันเป็นคู่ปรับกับตัวหลง ฝึกสติมีสมาธิปัญญาเกิด ปัญญากับโมหะเป็นศัตรูกัน เป็นสิ่งตรงข้ามคนละขั้วกัน ปัญญาเกิดจากอะไร เกิดจากสติกับสมาธิ เพราะฉะนั้นไปดูในองค์มรรค มรรคมีองค์ 8 ตอนท้ายมีสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ เพียรลดละกิเลส เพียรเจริญกุศล ลดละกิเลสด้วยการมีสติรู้ทัน กุศลเกิดด้วยความมีสติรู้ทัน พระพุทธเจ้าท่านพูดไว้ ท่านสอนอยู่ มีในพระไตรปิฎกแต่เล่มไหน พระสูตรราวๆ เล่มที่ 12 อังคุตตรนิกาย ท่านบอก “ภิกษุทั้งหลายเราไม่เห็นอะไรอย่างอื่นเลย ที่จะทำให้อกุศลที่มีอยู่ ดับไป ไม่เห็นอะไรอย่างอื่นเลย ที่จะทำให้กุศลเกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ นอกจากความรู้สึกตัว” ท่านย้ำลงมาที่ความรู้สึกตัว

ถ้าเรามีความรู้สึกตัวอยู่ อกุศลที่มีอยู่จะดับ อกุศลใหม่จะเกิดไม่ได้ในขณะรู้สึกตัว มันเกิดได้ตอนหลงเท่านั้น ถ้าเรารู้สึกตัวอยู่นั้น ขณะนั้นกุศลได้เกิดขึ้นแล้ว พอจิตมีสมาธิที่ถูกต้อง มีสติที่ถูกต้อง โดยเฉพาะตัวสติเกิดขึ้นมาจิตจะเป็นกุศลทันที แล้วกุศลก็จะเจริญขึ้นด้วย ฉะนั้นท่านบอก “ท่านไม่เห็นสิ่งอื่นจะสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว” อย่างหลวงพ่อบอกพวกเรา “รู้สึกตัว หลงแล้วๆ” บางคนหัวเราะหลวงพ่อ สอนอะไรไม่มีสาระ ทำไมไม่ไปสอนเข้าฌานสอนอะไร ก็พระพุทธเจ้าท่านยังบอกเลยว่า ท่านไม่เห็นสิ่งอื่น จะวิเศษเหมือนความรู้สึกตัวเลย ในการที่จะเจริญสัมมาวายามะ

เราเจริญสัมมาวายามะไปเรื่อยๆ กิเลสเกิดเรารู้ กุศลเกิดเรารู้ สติเราก็จะแหลมคมขึ้น ฉะนั้นสัมมาวายามะ เมื่อเจริญให้มาก ก็จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ สติเราระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจ รู้รูป รู้นามไปเรื่อย ก็จะทำให้สมาธิบริบูรณ์ ฉะนั้นในองค์มรรคสังเกตไหมไปจบลงที่ตัวสมาธิ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่ว่ามีสติคอยรู้ทันจิตตัวเองไป มันก็จะได้สัมมาวายามะ แล้วการที่รู้บ่อยๆ รู้เนืองๆ สติเราจะเข้มแข็งขึ้นมา ได้สัมมาสติ แล้วทุกคราวที่สติเกิด สมาธิที่ถูกต้องจะเกิด อย่างเราหายใจไปแล้วจิตหลงปุ๊บเรารู้ทัน สัมมาสมาธิจะเกิด

สัมมาสมาธิเกิดแล้ว มันก็จะเกิดสัมมาญาณะ การเห็นตามความเป็นจริงเกิดขึ้น สัมมาญาณะเกิดเต็มที่ ก็จะทำให้สัมมาวิมุตติ มรรคผลเกิดขึ้น นี่คือกระบวนการที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเดินกัน เพราะฉะนั้นพวกเราต้องฝึกไปตามลำดับ มีศีล 5 ทำในรูปแบบไป คือฝึกสมาธิไว้ให้ดี ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไว้ จิตหลงไปรู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งรู้ทัน ตอนหลวงพ่ออยู่สวนโพธิ์ฯ หลวงพ่อสอนอยู่ 2 คำ เผลอกับเพ่งๆ คนหัวเราะว่าสอนอะไรบ้าๆ นั่นมันหัวใจกรรมฐานเลย ถ้าไม่เผลอ ถ้าไม่เพ่ง มันก็ได้สมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา สมาธิที่นั่งหลับเคลิ้มๆ เห็นโน่นเห็นนี่ หลวงพ่อทำมาตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่เห็นจะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย แต่สมาธิที่จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา มันถึงจะเจริญปัญญา เห็นรูปธรรมนามธรรมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้

 

ต้นทุนในการภาวนา

เด็กบางคนก็มีของเก่าดีมา แล้วมีบุญเกิดในครอบครัวสัมมาทิฏฐิ บางคนเคยฝึกภาวนา มีบุพกรรมเกิดในครอบครัวมิจฉาทิฏฐิแบบนี้ก็มี ลำบากนิดหนึ่ง บางคนไม่มี กรรมฐานเดิมไม่เคยฝึก แต่เกิดในครอบครัวสัมมาทิฏฐิ ก็ได้เรียนรู้ในชาตินี้ ค่อยพัฒนาขึ้นมา บางคนไม่มีของเดิมเกิดในครอบครัวมิจฉาทิฏฐิ ยากที่สุดเลย เราบรรลุธรรม มันอาศัยต้นทุนของเก่าส่วนหนึ่งเป็นจุดตั้งต้น รวมเข้ากับความเพียรในปัจจุบันนี้อีกส่วนหนึ่ง เหมือนถ้าเราเคยฝึกกรรมฐานมาแล้ว มันก็เหมือนเราเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวยแล้ว เรามีทุนแล้ว สะสมมานาน ไปประกอบการอะไร ไม่ลำบากเท่าคนซึ่งไม่มีทุน

การที่เราภาวนา ถ้าอินทรีย์เราแก่กล้า เราก็ได้มรรคผลในชีวิตนี้ ไม่ยากเกินไป ขอให้รู้หลัก ทำให้ถูก เมื่อรู้หลักแล้ว ทำถูกแล้ว ทำให้มาก พหุลีกตา ทำเยอะๆ ทำบ่อยๆ เราก็ออกดอกออกผล ได้มรรคได้ผลในชีวิตนี้ หรือถ้ามันยังไม่พอ มันก็สะสมไว้ ชาติต่อๆ ไปมันก็ง่าย ชาติต่อไปมันก็จะง่าย ฉะนั้นบางคนเขาภาวนาง่ายๆ เราลำบาก คล้ายๆ เราเกิดมาจน จะทำมาหากินก็ลำบากหน่อย แต่ถึงเกิดมาจน มันก็ไม่จนตลอดไป บางคนเกิดมารวย มันก็ไม่รวยตลอดไป

เกิดมาจน อย่างเราไม่มีต้นทุนในการภาวนามาก่อน เราอดทน เราขยัน แบบพวกเจ้าสัวทั้งหลาย มาเมืองไทยเสื่อผืนหมอนใบ ตั้งตัวกันได้ ทุกคนที่มาเมืองไทยเสื่อผืนหมอนใบ ตั้งตัวได้ทุกคนไหม ก็ไม่ได้ มันอยู่ที่กรรมเก่าอันหนึ่ง กรรมใหม่อีกอันหนึ่ง กรรมเก่าที่สำคัญที่พวกเรามี แล้วหลวงพ่อเห็นว่าดี พวกเรามีกรรมเก่าที่ดีอยู่อย่างหนึ่ง คือเรามีขันธ์ เรามีขันธ์ 5 ที่แข็งแรง ที่โอเค ไม่ได้บ้าใบ้บอดหนวกมาแต่กำเนิด ขันธ์ 5 นั่นล่ะคือตัวกรรมเก่าของเรา

กรรมในอดีตทำให้เราได้ขันธ์ 5 อย่างนี้ เป็นวิบากจากอดีต เรามีต้นทุนไม่น้อยที่เราได้ขันธ์ 5 ของมนุษย์อย่างนี้ ขันธ์ 5 ของเดรัจฉานอย่างนี้ ก็อาภัพ ภาวนาไม่ได้ เมื่อจิตเต็มไปด้วยโมหะ ของเราได้เกิดเป็นมนุษย์ก็ถือว่าโอเค มีขันธ์ 5 ที่ดี มีต้นทุนที่ดีแล้ว ก็อยู่ที่ว่าเราจะเอาขันธ์ของเรา ไปต่อยอดให้มันดีขึ้นไป ได้มรรคได้ผล หรือจะเอาขันธ์ 5 ไปทำชั่ว มีต้นทุนแล้วมันก็เหมือนลูกเศรษฐี แทนที่จะขยันทำมาหากิน เอาไปเล่นการพนัน ติดยาเสพติด คบคนชั่ว สมบัติที่มีก็หายนะ

อย่างของเรา เราเอาขันธ์ 5 ของเรา เอากายเอาใจของเราไปทำชั่ว ผิดศีล ผิดธรรม เราก็หายนะทางธรรม แต่ถ้าเราอาศัยต้นทุนคือขันธ์ 5 ของเราตรงนี้ สร้างคุณงามความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เราก็จะดีขึ้นๆ ถ้ามันพอมันก็จะได้มรรคได้ผลในชีวิตนี้ ยังไม่พอมันก็เป็นต้นทุน ชาติต่อไปก็ภาวนาง่าย ในพระไตรปิฎกก็มีหลายท่านเลย เกิดมาลำบากยากจนแสนสาหัสเลย ทุกข์ยากมากมาย ข้าวไม่เคยกินได้อิ่มสักมื้อหนึ่งเลยทั้งชีวิต แล้วท่านก็เห็นทุกข์เห็นโทษของวัฏฏะ ท่านก็เป็นพระอรหันต์ได้ ต้นทุนน้อยแต่ว่าอดทน พากเพียร พวกต้นทุนเยอะแล้วก็เหลวไหลทำความชั่วได้เยอะ

อย่างคนรวย คนหล่อ คนสวย เอาไปทำชั่วก็ทำได้เยอะ พอเรามีต้นทุนที่ดี เรามีขันธ์ 5 ที่ไม่พิกลพิการ เรามีอริยทรัพย์ดั้งเดิม เรามีศรัทธาที่จะศึกษาปฏิบัติธรรม ยิ่งถ้าเรามีศีล เรียกเรามีต้นทุนในทางนามธรรมที่ดีเลย ทางรูปธรรมเรามีขันธ์ที่ดีแล้ว ฉะนั้นต้นทุนนามธรรมถ้ามีเยอะ ก็ขยันภาวนา มีน้อยก็อดทนภาวนาเอา ถ้าต้นทุนเราเยอะ เราไม่ต้องขยัน มันภาวนาอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนาภาวนา มันภาวนาทั้งวัน ไม่มีต้นทุนก็ต้องบังคับมัน ถึงเวลาต้องภาวนา อย่าทำผิดศีล บังคับมัน ไม่ทำ ก็ต้องฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วชีวิตเราถึงจะดีขึ้น

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
10 กันยายน 2565