ดับทุกข์ที่ตัวเหตุ

ฝนตกใหญ่ตั้งแต่เมื่อวาน เมื่อวานพายุเข้ามาที่วัด ต้นไม้ล้มไปเยอะแยะเลย เมื่อเช้าก็ตกแรงมาก น้ำไหล ไหลในท่อไม่ทัน ไหล ถนน ทำทางเดิน น้ำท่วม แต่วัดอยู่บนเนิน ฝนมา น้ำมา แป๊บเดียวก็ไปหมดแล้ว ไม่เหมือนอย่างกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ มันเตี้ย ต่ำ กรุงเทพฯ ทำอย่างไรก็ต้องน้ำท่วมอยู่ดี เก่งอย่างไรก็น้ำท่วม พื้นที่มันเป็นอย่างนั้น แค่ลดระดับได้เร็วก็โอเคแล้ว จะหวังว่าน้ำไม่ท่วม เป็นไปไม่ได้

อย่างแค่ฝนตก เราเห็นว่าฝนมันเยอะเกิน เราไม่อยากให้ตก เราก็ทุกข์แล้ว กลุ้มใจ บางทีมันแล้งๆ เราก็อยากให้มันตก จุดธูป ขอให้ฝนตกอะไรอย่างนี้ บ้านหนึ่งอยากให้ฝนตก บ้านใกล้ๆ จะจัดงาน อยากให้ฝนไม่ตก ผลประโยชน์ขัดแย้ง โบราณเขาเชื่อเอาตะไคร้ไปปักดิน เอาหัวลง เอาโคนขึ้น แล้วฝนจะได้ไม่ตก เป็นความเชื่อในยุคที่วิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ เชื่ออย่างนั้น เวลาฝนแล้ง เราก็อยากให้ฝนตก เวลาฝนตกก็อยากให้ฝนหยุด มีแต่ความอยากก็เลยทุกข์ไปเรื่อยๆ มาสร้างบ้านอยู่ในที่ลุ่ม น้ำต้องท่วม อยากให้มันไม่ท่วม ก็ทุกข์ล่ะ อยู่บนที่ดอนที่สูง อยากได้น้ำเยอะๆ จะไปปลูกต้นไม้ ทำไร่ทำนา ไม่ค่อยจะมี กลุ้มอีก ทุกข์อีก

 

ชาวพุทธเอาชนะความอยากด้วยปัญญา

ดูลงไป รอบๆ ตัวเรา ทุกสิ่งทุกอย่าง ตัวที่ทำให้เราทุกข์คือตัวที่เราไม่ยินดี ไม่พอใจในสิ่งที่กำลังมี กำลังเป็นอยู่ ก็เกิดความอยาก มีอย่างนี้ก็อยากให้มีอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ก็อยากให้เป็นอย่างนั้น หรืออยากให้มันไม่มี อยากให้มันไม่เป็น อยากขึ้นมาทีไร ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทุกทีล่ะ มันเป็นกฎของธรรมชาติ มีความอยากขึ้นมาก็มีความทุกข์ แล้วถ้ามีความอยากแล้วสมอยาก ก็ดีใจ ดีใจประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวก็อยากอื่นๆ อีกล่ะ ก็ทุกข์อีก ถ้ามีความอยากแล้วไม่สมอยาก ยิ่งทุกข์ใหญ่

ทำอย่างไรเราจะสามารถพิชิตความอยากได้ คนตั้งแต่โบร่ำโบราณเขาก็คิด ทำอย่างไร จิตใจจะพ้นความอยาก เกิดลัทธิ เกิดอะไรขึ้นมากมาย อย่างบางศาสนาเขาก็มอบทุกอย่างให้พระเจ้า ไม่เอาความอยากของเราเป็นใหญ่ เอาความต้องการของพระเจ้าเป็นใหญ่ อะไรเกิดขึ้นในชีวิตเราก็ยอมรับๆ ถือว่าเป็นความประสงค์ของพระเจ้า นี่ก็เป็นวิธีแก้ทุกข์ของคนกลุ่มหนึ่ง ศาสนาหลายศาสนาที่เชื่อเรื่องนี้ พระเจ้า คือมอบความไว้วางใจไว้ที่พระเจ้า อะไรเกิดขึ้นในชีวิตก็ยอมรับ ถือว่าเป็นความต้องการของพระเจ้า นี่ก็เป็นภูมิปัญญาที่จะช่วยให้เราไม่ทุกข์มาก

คนไทยก็ชอบเชื่อเรื่องพรหมลิขิตสมัยก่อน ก็คือมอบทุกอย่างให้พระเจ้าไว้ ให้พระพรหม ฉะนั้นอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตเรา เรายอมรับได้ มันเป็นพรหมลิขิต นี่เป็นวิธีไม่เอาความอยากของตัวเองเป็นใหญ่ มันเป็นวิธีอย่างหนึ่ง ศาสนาต่างๆ จำนวนมากก็เป็นแบบนั้น บางศาสนาเขาก็เห็นความอยากมันทำให้เกิดทุกข์จริงๆ เขาก็แก้ความอยากด้วยวิธีที่รุนแรง อย่างด้วยการทรมานร่างกาย มันอยากสุข อยากสบาย อยากหนุ่มอยากสาว อยากโน้นอยากนี้ อยากให้ร่างกายมันดีๆ ทรมาน ทรมานไปเรื่อยๆ อดข้าวบ้าง นั่งตากแดด ตากฝน ตากลม แล้วแต่จะทำกัน ก็คิดว่าทรมานไปเรื่อยๆ มันจะได้หมดความรักในร่างกาย พอหมดความรักในร่างกาย มันก็ไม่ต้องอยากอะไรเกี่ยวกับร่างกายอีก มันไม่รักแล้ว มันก็ไม่ต้องมาหวังว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องมีอย่างนี้ นี่ก็เป็นภูมิปัญญาของคนอีกกลุ่มหนึ่ง เราไม่ว่าเขาหรอกว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี

แต่ชาวพุทธเราเอาชนะความอยากด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าท่านมองลงไปต่อว่าความอยากมันมาจากอะไร หลักของเราชาวพุทธ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะมองไปว่า ต้นตอ ต้นเหตุของปัญหาคืออะไร แล้วเราก็ไปแก้ที่ต้นเหตุ นี่เป็นวิธีการของชาวพุทธ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นมาเป็นผล มันก็ต้องมีเหตุ ทำไมมันเป็นอย่างนี้ อย่างทำไมดิน ฟ้า อากาศ มันแปรปรวนมาก มนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อมมากเกินไป ธรรมชาติก็ต้องพยายามปรับสมดุล ทิศทางของกระแสน้ำร้อน กระแสน้ำอุ่น กระแสน้ำเย็นอะไรไม่รู้ เปลี่ยน อากาศขั้วโลกมันเปลี่ยนอะไรอย่างนี้ ธรรมชาติก็พยายามปรับตัว เป็นไปตามเหตุที่พวกเราช่วยกันทำลาย

ชาวพุทธเราเวลามีปัญหา เราจะมองไปที่ต้นเหตุของปัญหา อะไรเป็นเหตุ แล้วไปแก้ที่เหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นก็ดับ นี่เป็นธรรมะสำคัญ พื้นฐานเลยของเราชาวพุทธ เหมือนที่พระอัสสชิสอนอุปติสสะ อุปติสสะเห็นพระอัสสชิไปบิณฑบาต ดูผ่องใสดูงดงาม ท่านก็คงมีทิพยจักษุมีอะไรอย่างนี้ เพราะพวกอภิญญา 5 นอกศาสนาพุทธเขาก็มีกัน นักบวชรุ่นโบราณเขาก็เก่งอยู่แล้ว พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรอะไร เขาก็มีฤทธิ์มาก่อนที่จะเจอพระพุทธเจ้า มีฤทธิ์มาหลายภพหลายชาติ

 

หลักธรรมเรื่องเหตุกับผล

อุปติสสะตอนนั้นเป็นนักบวชชนิดหนึ่ง พวกปริพาชก เห็นพระอัสสชิบิณฑบาต เห็นแล้วตื่นตาตื่นใจ งดงามเหลือเกิน ผ่องใส รู้เลยว่าคนอย่างนี้ไม่ธรรมดา อันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างพวกเราสังเกตดูครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนา ท่านจะผ่องใส ถึงท่านจะรูปชั่วตัวดำอย่างไร แต่ท่านภาวนาเป็นแล้ว ท่านผ่องใส สว่างไสวออกมาจากภายใน ดูร่มเย็น ดูงดงาม ดูสงบ อุปติสสะเห็นพระอัสสชิผ่องใส ก็อยากรู้ว่าพระอัสสชิเข้าใจธรรมะอะไรหนอ จึงผ่องใสได้ถึงปานนี้

สงสัยว่าท่านเข้าใจธรรมะอะไร ก็เลยเดินตาม มีมารยาท พระอัสสชิกำลังบิณฑบาต ท่านก็ไม่ทะเล่อทะล่าเข้าไปบอก อย่าเพิ่งไปบิณฑบาตเลย ขอถามก่อนอะไรอย่างนี้ ไม่มีมารยาท ไม่มีกาลเทศะ ท่านให้พระอัสสชิบิณฑบาต ฉันข้าวฉันอะไรเสร็จ ท่านก็เข้าไปถาม ถามว่าท่านเป็นลูกศิษย์ใคร ทำไมดูผ่องใสเหลือเกิน ท่านเข้าใจธรรมะอะไร พระอัสสชิท่านบอก ท่านเพิ่งบวชไม่นาน ความรู้ความเข้าใจของท่านไม่มาก นี่ความรู้ความเข้าใจไม่มาก แต่ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านยังบอกว่าท่านความรู้ไม่มากเลย พวกเราความรู้นิดเดียว บอกความรู้เยอะๆ พูดธรรมะได้เป็นฉากๆ แต่สู้กิเลสไม่ได้สักตัวหนึ่ง พระอัสสชิท่านล้างกิเลสหมดแล้ว

อุปติสสะมาถามท่านบอกท่านเพิ่งบวช เข้าใจธรรมะไม่มากหรอก อุปติสสะก็บอกว่า ท่านเข้าใจแค่ไหนก็บอกมาเถอะ ให้ท่านพูดเถอะ แล้วการทำความเข้าใจเป็นเรื่องของผม จะทำความเข้าใจเอาเอง ท่านก็สอนบอก ธรรมใดเกิดจากเหตุ พระตถาคตเจ้าแสดงเหตุแห่งธรรมนั้นและแสดงความดับไปแห่งธรรมนั้น พระตถาคตเจ้ามีปกติกล่าวอย่างนี้ นี่คือเรื่องเหตุกับผล ลัทธิ นิกาย ศาสนาต่างๆ ก่อนหน้านั้นเป็นเรื่องความเชื่อ อุปติสสะได้ยินหลักธรรมเรื่องเหตุกับผล ใจก็ตื่นตัวขึ้นมาได้เป็นพระโสดาบัน ของเราฟังอีกร้อยรอบก็ไม่เป็น เพราะอินทรีย์เราอ่อน เพราะฉะนั้นธรรมะที่ทำให้พระสารีบุตร เกิดพระสารีบุตรขึ้นมา คือธรรมะบทนี้ล่ะ สิ่งทั้งหลายที่มันเกิดจากเหตุ พระพุทธเจ้าสอนเหตุของมัน แล้วก็สอนความดับไปของมัน นี่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องเหล่านี้

อะไรที่เป็นธรรมะที่เกิดจากเหตุ เขาเรียกว่าสังขตธรรม ธรรมที่เป็นความปรุงแต่ง คือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายแหล่นี้ล่ะ เป็นธรรมที่เกิดจากเหตุ รูปมันก็เกิดจากเหตุ อย่างพวกเราเหตุก็พ่อแม่ผสมพันธุ์กัน เราได้อาหาร ได้น้ำ ได้อากาศหล่อเลี้ยง อยู่ในอุณหภูมิที่พอเหมาะ ไม่ร้อนไป ไม่เย็นไป มีอาหาร มีที่อยู่อาศัย ก็ค่อยๆ โตขึ้นมา ชาวพุทธเราจะมองสิ่งทั้งหลายที่มันมีอยู่ รูปธรรมทั้งหลายก็เกิดจากเหตุ นามธรรมทั้งหลายก็เกิดจากเหตุ ความสุขก็ต้องมีเหตุ

อย่างถ้าเรากระทบอารมณ์ที่ยินดีพอใจ มันก็มีความสุข กระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจ เราก็มีความทุกข์ น้ำจะท่วมแล้ว ไม่พอใจ เราก็ทุกข์ ถ้าฝนแล้ง แล้วเกิดฝนตก เราได้อารมณ์ที่พอใจ เราก็มีความสุข ฉะนั้นตัวความสุข ความทุกข์ไม่ได้เกิดลอยๆ โดยไม่มีเหตุ มันมีเหตุคือการที่เราได้กระทบอารมณ์ที่ดี ที่พอใจ เราก็มีความสุข กระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจก็ทุกข์ กระทบอารมณ์ที่ไม่แรง ไม่รุนแรงอะไรอย่างนี้ ก็เฉยๆ หรือโลภ โกรธ หลงอะไรอย่างนี้ กุศลทั้งหลายก็เป็นนามธรรมอีกแบบหนึ่ง เรียกว่าสังขารขันธ์ พวกนี้ก็มีเหตุทั้งสิ้น ราคะก็มีเหตุ โทสะมันก็มีเหตุ โมหะมันก็มีเหตุ

ถ้าโดยภาพรวมระหว่างกุศลกับอกุศล รากเหง้าของกุศลคือโยนิโสมนสิการ การมองทุกอย่างอย่างฉลาด อย่างแยบคาย อย่างมีเหตุมีผล ส่วนอกุศลทั้งหลาย รากเหง้าของมันคืออโยนิโสมนสิการ การมองสิ่งทั้งหลายแบบไม่ได้พิจารณา ไม่ได้ไตร่ตรอง ไม่มีเหตุมีผล ลึกๆ ลงไปคือสิ่งเหล่านี้ เสร็จแล้วพอเราสะสม กิเลสมันก็ค่อยๆ สะสม ซ่อนตัวอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา พอมีการกระทบอารมณ์ กิเลสมันก็ทำงานขึ้นมา อย่างพอตาเราเห็นรูปที่เรายินดีพอใจเกิดสุขเวทนา เกิดโสมนัสเวทนา มีความสุขในใจขึ้นมา ราคะจะแทรกตัวตามเข้ามา ฉะนั้นเวลาเรามีความสุข ระวังให้ดีเถอะ ราคะชอบแทรก เวลาเรามีความทุกข์ โทสะชอบแทรกตัวเข้ามา ทุกสิ่งทุกอย่าง มันล้วนแต่มีเหตุมีผล ไม่ได้เกิดลอยๆ หรอก

การที่จะดับผล เราดับที่ตัวผลไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็สอนอะไรเป็นเหตุของมัน แล้วก็สอนความดับ คือดับเหตุของมันนั่นล่ะ ถ้าเราดับเหตุของทุกข์ได้ ความทุกข์มันก็ดับ ฉะนั้นเราต้องดับที่ตัวเหตุ นี่คำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้แก้ทุกข์แก้ความอยากด้วยการมอบกายถวายชีวิตให้พระเป็นเจ้าทั้งหลาย แล้วแต่จะลิขิต แล้วแต่จะบัญชา ยอมหมดอย่างนี้ พอยอมใจมันก็ไม่ดิ้น ใจไม่ดิ้นก็สงบสุข หรือหักล้างกับมันรุนแรง มันอยากขึ้นมาก็ฝืนมันเลย ทรมานมันไปเรื่อยๆ ทรมานเก่งๆ ก็ อะไรมากระทบก็ไม่ค่อยเดือดร้อนอะไรเท่าไร เคยทุกข์แสนสาหัสมาแล้ว ต่อไปมีความทุกข์มาอีก ก็รู้สึกไม่เท่าไร เหมือนคนเคยอกหัก อกหักครั้งแรกจะเป็นจะตาย อกหักครั้งที่ยี่สิบ เฉยๆ มันชิน บางคนก็พยายามจะให้ชินกับความทุกข์ แล้วจะได้ไม่ทุกข์

พระพุทธเจ้าสอนให้เราละที่เหตุของความทุกข์ คือตัวตัณหา ตัวความอยาก ความอยาก เราสั่งมันได้ไหมว่าอย่าเกิด สั่งไม่ได้ ความอยากเองก็เป็นอนัตตา สั่งมันไม่ได้ ท่านก็สาวลึกลงไปอีก อะไรเป็นเหตุของความอยาก สาวลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดท่านก็พบว่าอวิชชา การที่เราไม่รู้ความจริงของรูปธรรมของนามธรรม มันทำให้เกิดความอยาก อย่างเราไม่รู้ความจริงของร่างกาย ไม่ยอมรับความจริงของร่างกายว่าเกิดแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เราก็เลยมีความอยากให้ร่างกายนี้ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ให้มันเป็นหนุ่มให้มันเป็นสาวตลอดกาล เพราะเราไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับความจริง ไม่เห็นๆ ว่าจริงๆ ร่างกายนี้มันเกิดขึ้นมาก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

 

ขันธ์ 5 คือภาระ

ร่างกายนี้มีความจริงอีกอันหนึ่งก็คือถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา หายใจเข้าก็ทุกข์ หายใจออกก็ทุกข์ ไม่หายใจก็ทุกข์ ลองหายใจเข้าไปเรื่อยๆ สิ ก็ทุกข์ ก็ต้องหายใจออกแก้ทุกข์ หายใจออกไปเรื่อยๆ ก็ทุกข์ ก็ต้องหายใจเข้าแก้ทุกข์ นั่งนานๆ ก็ทุกข์ ก็ต้องขยับตัว หรือต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เดินนานๆ ก็ทุกข์ ก็ต้องหาที่นั่ง นั่งนานไปอีก เมื่อย อยากนอน ก็เปลี่ยนอิริยาบถ ทำไมเราต้องหายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง ก็เพื่อหนีทุกข์ ทำไมเราต้องเปลี่ยนอิริยาบถเรื่อยๆ ก็เพื่อหนีทุกข์ ถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ความทุกข์บีบคั้นจนร่างกายแตกสลายเลย เหมือนอย่างคนเป็นโรคติดเตียง แล้วไม่มีลูกหลานดูแล นอนติดเตียงอยู่อย่างนั้น ไม่นานร่างกายก็เน่า เน่าเปื่อย ผุพังอยู่ไม่ได้ มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ แตกสลาย น้ำเลือด น้ำหนองไหลเลย นอนจมน้ำเลือด น้ำหนองอยู่อย่างนั้น

ความจริงของร่างกาย มันไม่เที่ยง มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา มันเป็นที่พึ่งที่อาศัยชั่วครั้งชั่วคราวหรอก เป็นสมบัติของโลก วันหนึ่งเราก็ต้องคืนกลับไปสู่โลก เราเอาไปไหนด้วยไม่ได้ ความจริงของร่างกายอย่างนี้ ถ้าเราไม่เห็น เราก็อยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย อยากไม่หนาว อยากไม่ร้อน อยากไม่กระหาย อยากไม่หิว ถ้าหิวมากก็อยากให้มันไม่อึดอัด ไม่อิ่มขนาดนี้ เดี๋ยวก็ปวดอึ เดี๋ยวก็ปวดฉี่อะไรนี่ ร่างกายเป็นภาระอันมหาศาลที่เราต้องปรนนิบัติ ต้องดูแลมากมายในแต่ละวัน

ตอนหลวงพ่อเป็นโยม หลวงพ่อก็ภาวนา เราเห็น โอ๊ย ร่างกายนี้เป็นภาระจริงๆ เหน็ดเหนื่อยแสนสาหัสเลยในการปรนนิบัติดูแลร่างกาย ตื่นนอนมาก็ต้องพามันไปอาบน้ำ อย่างเราเลี้ยงหมา เราก็หลายวันก็อาบน้ำทีหนึ่ง แต่ตัวนี้มันเหม็นกว่าหมาอีก เช้าก็อาบ เย็นก็อาบ บางทีร้อนๆ กลางวันยังอาบเลย ภาระเยอะ สระผม มีผมก็ต้องสระ สระแล้วก็ต้องเป่าให้แห้ง ต้องเช็ดให้แห้ง ต้องลงน้ำมันลงครีมสารพัด ผมงอกขึ้นมาก็ต้องไปตัด ผมหงอกขึ้นมาก็ต้องไปย้อมอะไรอย่างนี้ แค่ผมอันเดียว ภาระก็ตั้งเยอะแยะแล้ว

มีเล็บ ใครเคยรู้สึกเบื่อบ้างต้องตัดเล็บ เราจะรู้สึกเบื่อ ต้องตัดอีกแล้ว ทำไมมันไวนัก ต้องตัดอีกแล้ว ระหว่างเล็บมือกับเล็บเท้า อันไหนน่าเบื่อกว่ากันตอนตัด เคยวัดใจออกไหม ระหว่างเล็บมือกับเล็บเท้า เบื่อแต่ว่าก็เบื่อไม่เท่ากันอีก ส่วนใหญ่ก็เบื่อตัดเล็บเท้า น่าเบื่อ ไม่ค่อยอยากยุ่งกับมัน ก็เลยมีบริการตัดเล็บเท้า ล้างเท้า ขัดเล็บ ขัดโน้นขัดนี้ ก็เสียสตางค์อีกแล้ว ผมก็มีปัญหาเยอะ ขน เล็บ ฟัน หนัง โอ๊ย ปัญหาทั้งนั้นเลย ฉะนั้นดูในร่างกาย มีแต่ภาระ พระพุทธเจ้าถึงบอกขันธ์ 5 เป็นภาระ รูปอันเดียวก็ภาระสาหัสแล้ว

เวทนาล่ะ ความสุข ทุกข์เป็นภาระอย่างไร เราอยากได้ความสุขไหม เราก็อยากได้ความสุข เราก็ต้องดิ้นรนมากมายเพื่อจะให้ได้ความสุขมา เมื่อได้ความสุขมาแล้วก็ต้องดิ้นรนอีกมากมายเพื่อจะรักษาความสุขเอาไว้ แต่สุดท้ายความสุขมันก็ไป ดูแลมันเท่าไร สุดท้ายมันก็หักหลังเรา มันก็ไป เวลามีความทุกข์เกิดขึ้น ความทุกข์ในร่างกายเกิดขึ้น วุ่นวายต้องไปหาหมอ ต้องกายภาพ ต้องอย่างโน้นต้องอย่างนี้มากมาย มันมีทุกข์ในร่างกาย ก็เป็นทุกข์

เรามีสติมีปัญญาสอดส่องลงมาในร่างกาย จะเห็นมันเป็นภาระ ตัวเวทนา ก็เป็นทุกข์ เป็นภาระ ความสุขก็สร้างความทุกข์ให้เราในการแสวงหา ในการรักษา ความทุกข์ก็เป็นภาระให้เราในการต่อสู้เอาชนะมัน แก้ไขมัน ดัดแปลงมัน ตัวเวทนาก็เป็นภาระ ตัวสังขาร ความปรุงดีบ้าง ความปรุงชั่วบ้างก็เป็นภาระ

ตรงนี้ถ้าภาวนาละเอียดเข้าไป เราจะเห็นสังขารมันทำงาน มันจะไหวตัวอยู่กลางอกเรานี่ล่ะหมุนๆๆ อยู่ บางทีบางคนไม่เห็นหมุน เห็นไหวยิบยับๆ ขึ้นมา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ตัวนี้สะเทือน มันคือจิตหรือเปล่า ไม่ใช่ จิตคือคนที่รู้มัน อันนี้ตัวสังขารมันหมุนๆๆ ไป กระทบทีไรกระเทือนทุกที ค่อยๆ ดูไป สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ทั้งสิ้น สังขารอย่างละเอียดที่เรารู้สึกว่ามีความสุข นำความสุขมาให้ นำความดีมาให้ ก็เป็นทุกข์

ถามว่าคนดีทุกข์ไหม คนดีก็ทุกข์ โดยเฉพาะคนดีที่ไม่ฉลาดมาก แค่เห็นคนอื่นชั่วเราเป็นคนดี เห็นเขาชั่ว โมโหขึ้นแล้ว โกรธแล้ว นี่ความทุกข์ของคนดี หรือเห็นกิเลสของตัวเองแล้วโมโห พวกเราเคยไหม เห็นกิเลสเกิดแล้วโมโห โมโหตัวเอง ไม่ได้โกรธคนอื่นหรอก นี่มันเป็นภาระทางใจ สังขารไม่ว่าจะหยาบจะละเอียด พอปรุงขึ้นมาแล้ว เป็นภาระทางใจทั้งสิ้นเลย จิตก็เป็นภาระๆ ทำงานหนักทั้งวันทั้งคืน

อย่างร่างกาย เราไปทำมาหากิน วันหนึ่ง 8 ชั่วโมง 10 ชั่วโมง 12 ชั่วโมง เหนื่อยหนักหนาแล้ว แต่จิตทำงานตลอดเวลาเลย ทั้งวันทั้งคืน ทั้งตื่นทั้งหลับ หลับแล้วยังฝันได้อีก หาความสุข หาความสงบไม่ได้เลย มีแต่เรื่องกวนใจ มีแต่ภาระใช่ไหม เผลอนิดเดียวไปสร้างเรื่องราวอะไรมากมายแล้ว ไปคิดชั่วก็ผลักดันให้พูดชั่ว ผลักดันให้ทำชั่ว การจะดูแลรักษาจิตก็ยากแสนยาก จะต้องมีสติ จะต้องมีสัมมาสมาธิ แล้วถ้าดีเลิศเลยก็มีปัญญาเข้าใจมันไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นตัวขันธ์ 5 เป็นภาระที่แสนสาหัส เป็นภาระหนักมากเลย

ตัวสัญญาก็ร้าย ตัวสัญญา แต่ว่ามันเข้าใจยาก หลวงพ่อเลยเว้นๆ ไว้ก่อน พระพุทธเจ้าท่านก็สอนใช่ไหม กาย เวทนา จิต ท่านก็เว้นไว้ตัว จิตคือตัวสังขาร จิตตสังขาร ท่านเว้นตัวสัญญาไว้ ไปเรียนในธัมมานุปัสสนา ละเอียดขึ้นไปก่อน สัญญาเป็นความจำได้ บางทีก็จำได้ บางทีก็จำไม่ได้ ตอนเราเป็นนักเรียน ที่เราพยายามจำ ท่องหนังสือเป็นเล่มๆ ใหญ่ๆ ตั้งหลายเล่ม พยายามจำ เป็นภาระไหม พยายามจำก็เป็นภาระ ที่ยากกว่าพยายามจำก็คือพยายามลืม

เคยรู้สึกไหมบางที คนนี้หักอกเรา เราอยากลืม ทำอย่างไรมันก็ไม่ลืม มันเป็นภาระรบกวนใจเรามากเลย เดี๋ยวก็คิดถึงๆ ใจเราก็เดือดร้อนวุ่นวายไปเรื่อยเลย ฉะนั้นตัวสัญญาก็สร้างภาระมหาศาล ตัวความจำได้ของเรานี้สร้างความทุกข์ให้เราได้มากมายเหลือเกิน อยากจำมันก็เสือกลืม อยากลืมมันก็เสือกจำอะไรอย่างนี้ ต้องมีคำว่าเสือกเพราะอะไร แสดงความโมโหมัน อะไรวะ ท่องหนังสือ ท่องจะไปสอบ พอเจอข้อสอบ ตรงนี้ลืม ทำไมไม่ออกข้อสอบตรงที่เราจำได้ อาจารย์นี่ชั่วจริงๆ มองคนอื่นชั่ว เราไม่ชั่ว แค่สัญญา การที่พยายามจำก็เป็นภาระ พยายามลืมก็เป็นภาระ

ฉะนั้นขันธ์ 5 เป็นตัวภาระจริงๆ ท่านสอนให้เราดูลงมาในตัวขันธ์ 5 นี้ ถ้าเราเข้าใจความจริง รูปธรรมนี้ก็เป็นภาระ เป็นทุกข์ นามธรรมนี้ก็เป็นภาระ เป็นทุกข์ พอเราเข้าใจความเป็นจริง จิตมันจะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในรูปธรรมนามธรรม หมดความยึดมั่นถือมั่นในกาย หมดความยึดมั่นถือมั่นในจิต กายเรา ก็ดูแลมันไปตามหน้าที่ แต่ใจมันไม่เดือดร้อน ความทุกข์ ความลำบากเข้ามาถึงกาย แต่เข้ามาไม่ถึงใจอีกแล้ว เพราะยอมรับความจริงแล้ว กายมันต้องเป็นอย่างนี้ล่ะ พอยอมรับได้แล้วมันจะไม่ทุกข์ ยอมรับความจริงได้แล้วมันจะไม่ทุกข์ ที่มันทุกข์เพราะมันยอมรับความจริงไม่ได้

 

ยอมรับความจริงได้ก็ไม่เกิดความอยาก

อย่างถ้าเราดูกายของเราเนืองๆ เราก็จะเห็นเลยร่างกายที่หายใจออกก็ทุกข์ ร่างกายที่หายใจเข้าก็ทุกข์ ร่างกายที่ยืน ที่เดิน ที่นั่ง ที่นอนก็ทุกข์ ร่างกายมันมีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย หิวก็ทุกข์ อิ่มก็ทุกข์ หนาวก็ทุกข์ ร้อนก็ทุกข์ ปวดอึ ปวดฉี่ก็ทุกข์ อึไม่เลิก ถ่ายแล้วถ่ายอีกก็ทุกข์อีก หรือฉี่หรือกลั้นไม่อยู่ ฉี่ทั้งวันเลย ก็ทุกข์อีกแล้ว ถ้าเข้าใจความจริงในกาย ยอมรับความจริงได้ กายคือก้อนทุกข์ ใจเราจะไม่ทุกข์ ใจเราไม่ทุกข์เพราะอะไร เพราะเราไม่มีความอยากที่จะให้ร่างกายมันดี มันวิเศษตลอดกาล มันรู้แล้ว กายนี้อย่างไรก็ทุกข์ กายนี้อย่างไรก็เจ็บ อย่างไรก็แก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

พอมันยอมรับความจริงได้ มันก็ไม่เกิดความอยากที่จะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่ทุกข์ พอมันยอมรับได้ ใจไม่มีความอยาก เมื่อใจไม่มีความอยาก ใจก็ไม่มีความดิ้นรน เมื่อใจไม่มีความดิ้นรน ใจก็ไม่ทุกข์ ความอยากก็คือตัวตัณหา ความดิ้นรนของจิตใจก็คือตัวภพ ความทุกข์มันก็จะเกิดขึ้น ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ ตัณหานี่ล่ะผลักดันให้เกิดความดิ้นรนของจิต เราก็ทุกข์ไป ตัณหาอยากดี ก็สร้างความปรุงแต่ง คนดีต้องมีมาตรฐานอย่างนี้ๆๆ แล้วบังคับตัวเองมากมาย เครียด กระทั่งนักภาวนาก็ตั้งเงื่อนไขกับตัวเองมาก ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ตลอดเวลาเลย ทุกคราวที่ต้องๆๆ ขึ้นมา เครียดทุกที คือมันเป็นความดิ้นรน เป็นความปรุงของจิต นำความทุกข์มาให้

ฉะนั้นพอเราเห็นความจริงของร่างกาย เราก็ไม่มีความอยาก ไม่มีความอยากเกิดขึ้น ก็ไม่มีความดิ้นรนของจิต ก็ไม่มีความทุกข์ ถ้าเราเห็นความจริงของเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ในกายในใจอะไรอย่างนี้ เวทนามันก็ของชั่วคราว มาได้มันก็ไปได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับอะไรอย่างนี้ ยอมรับความจริงได้ เห็นความจริงเรื่อยๆ จนกระทั่งยอมรับความจริงได้ ยอมรับความจริงได้ก็ไม่เกิดความอยาก ไม่ดิ้นรนอยากมีความสุข ไม่ดิ้นรนที่จะหนีความทุกข์ ความสุขมาก็แค่รู้ ความทุกข์มาก็แค่รู้

เมื่อใจไม่มีความอยาก ใจจะไม่ดิ้นรน เมื่อใจไม่ดิ้นรน ใจจะไม่ทุกข์ สัญญา สังขารอะไรก็เหมือนกัน อย่างบางคนมาตรฐานสูง เป็นนักปฏิบัติจะต้องไม่โกรธ วันไหนเผลอโกรธ เสียใจมากเลย นอนไม่หลับเลย หรือโมโหตัวเอง เขกกระบาลตัวเอง ทำไมมันโกรธเก่งนัก นี่เป็นคนดี แล้วก็ไม่เข้าใจความจริงว่าสังขารเป็นอนัตตา มันจะปรุงดี หรือมันจะปรุงชั่ว เราสั่งมันไม่ได้หรอก เราก็คิดว่าเราจะสั่งได้ ใครจะไปสั่งว่าต่อไปนี้จงมีแต่ความปรุงดี ต่อไปนี้ห้ามปรุงชั่ว อันนี้ไม่เห็นความจริง

ถ้าเราคอยดูจิตดูใจเรื่อยๆ เราจะรู้เลย มันจะดีหรือมันจะชั่ว เราควบคุมบังคับมันไม่ได้หรอก แต่เรารู้มัน รู้มันจนกระทั่งเป็นกลางกับมัน ก็หมดความอยากนั่นล่ะ มันเป็นกลาง เป็นกลางได้ มันก็ไม่อยากต่อไปแล้ว ที่มันอยากก็เพราะว่ามันไม่เป็นกลาง มันชอบอันนี้ มันเกลียดอันนี้ ชอบสุข เกลียดทุกข์ อย่างนี้ไม่เป็นกลาง ชอบดี เกลียดชั่ว อย่างนี้ไม่เป็นกลาง ก็จึงมีความอยากขึ้นมา ความดิ้นรนของจิตใจก็เกิดขึ้น

อย่างเราเห็นกิเลสเกิด อยากให้มันดับ จิตใจก็ดิ้นเลย จิตใจก็ทุกข์ เราจะภาวนา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เมื่อไรมันจะสงบเสียที จิตมันฟุ้งซ่าน โมโหมัน อยากให้มันสงบ จิตมันปรุงแต่ความฟุ้งซ่าน ทำไมไม่ปรุงความสงบ มีความอยากเกิดขึ้น ดิ้นใหญ่เลย หาทางทำให้สงบ ยิ่งดิ้นยิ่งหาทางก็ยิ่งทุกข์หนักเข้าไปอีก แต่ถ้ารู้อย่างที่มันเป็น เข้าใจมันๆ ตัณหามันจะไม่เกิด พอตัณหามันไม่เกิด ความดิ้นรนของจิตก็ไม่เกิด คือสังขารทั้งหลาย ความปรุงแต่งทั้งหลาย มันไม่ปรุงขึ้นมา หรือปรุงขึ้นมาก็ย้อมจิตไม่ได้ อย่างพระอรหันต์มีสังขารขันธ์ไหม มี แต่สังขารขันธ์นั้นย้อมจิตไม่ได้ เข้ามาย้อมจิตไม่ได้ ของพวกเราถูกมันย้อมได้

 

รู้อย่างที่มันเป็นจนกระทั่งจิตเข้าใจความจริง
จิตยอมรับความจริง จิตไม่เกิดความอยาก

เราพยายามมารู้ความจริง วิถีของชาวพุทธเรา ดูเข้าไปที่ต้นเหตุ ต้นเหตุของความทุกข์ รากเหง้าของมันจริงๆ ก็คือเพราะเราไม่รู้ความจริง การที่ไม่รู้ความจริง คือไม่รู้อริยสัจนั่นเอง เป็นต้นตอของความทุกข์ การไม่รู้อริยสัจนั่นล่ะ เรียกว่าอวิชชา เพราะฉะนั้นการที่เราคอยมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางดูเนืองๆ ไป ต่อไปมันก็เข้าใจความเป็นจริงของร่างกาย โอ ร่างกายมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตก็วางกาย ไม่มีความอยาก มีความต้องการทางร่างกาย

อย่างพระอรหันต์ก็หิวข้าวเป็น กระหายน้ำเป็น ร้อนเป็น หนาวเป็น ไม่ใช่พระอรหันต์กลายเป็นก้อนหิน บางคนงี่เง่ามาก คิดว่าพระอรหันต์ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ซื่อบื้ออยู่ทั้งวัน ยิ้มก็ไม่ได้ ยิ้มก็บอกมีโลภะ หน้าบึ้งก็ไม่ได้ บอกมีโทสะ พระอรหันต์ของเธอนี่ยากมากเลย เพราะใส่หน้ากากไว้เลย ไม่รู้เรื่องเลย ที่จริงในทางร่างกายก็เหมือนคนธรรมดานั่นล่ะ แต่พวกเราเวลาร่างกายเราเดือดร้อน แปรปรวน เราอยากให้มันเป็นอย่างอื่น เราทุกข์ อย่างพระอรหันต์ ร่างกายเดือดร้อนแปรปรวน ก็เห็นธรรมดา ธรรมดามันเป็นอย่างนี้ล่ะ จิตใจก็ไม่มีความอยาก ไม่มีความดิ้นรน ก็ไม่มีความทุกข์

ดูลงไปในกาย ดูลงไปในใจ เข้าใจความจริง พอเข้าใจต้นเหตุแล้ว มันละ ละเหตุ เหตุของความทุกข์ก็คือตัวอวิชชา การไม่รู้ความจริงของรูป นาม กาย ใจนี้คือเป็นต้นตอ ฉะนั้นการที่เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็คือการมุ่งเข้าไปทำความเข้าใจความเป็นจริง พอเราเข้าใจความจริงเรียกว่าเรามีวิชชาแล้ว ล้างอวิชชาได้ ความอยากก็จะไม่เกิด ตัณหาจะเกิดไม่ได้ พอตัณหาไม่เกิด ภพมันก็ไม่เกิด ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตไม่มี เมื่อภพไม่มี จิตใจมันก็เป็นอิสระ ก็พ้นจากทุกข์สิ้นเชิง

วิถีของชาวพุทธเรา เข้าไปแก้ที่ต้นเหตุ แก้อย่างชาญฉลาด ไปรู้มันอย่างที่มันเป็นนั่นล่ะ จนกระทั่งจิตเข้าใจความจริง จิตยอมรับความจริง จิตไม่เกิดความอยาก เราไม่มีตัณหา จิตก็ไม่ดิ้นรน เมื่อจิตไม่ดิ้นรน จิตก็พ้นจากทุกข์ เราก็ไม่ว่าคนอื่นเขาก็แก้ทุกข์ด้วยวิธีของเขา อย่างเขาฝากทุกอย่างไว้กับพระเจ้า กับพระพรหมอะไรอย่างนี้ ก็ยอมรับ ก็คือการพยายามที่จะยอมรับสิ่งที่กำลังมีกำลังเป็น โดยมอบทุกอย่างให้เทวดา หรือมันมีความต้องการขึ้นมาก็ทำในทางตรงข้ามเลย ทรมานมันไปเรื่อยจนกระทั่งรู้สึกว่าอะไรก็ได้ อย่างพวกบางศาสนาเขาก็ทรมานตัวเอง จนกระทั่งเขารู้สึกเลยร่างกายนี้อย่างไรก็ได้แล้วต่อไปนี้ ไม่ทุกข์แล้ว เพราะมันเคยทุกข์ถึงขีดสุดมาแล้ว นี่วิธีของเขา

แต่ชาวพุทธเราดูที่ต้นเหตุ แล้วก็ละที่ต้นเหตุ ต้นเหตุที่ลึกลงไปสูงสุดเลยคือตัวอวิชชา ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ 4 ไม่รู้ทุกข์นี่ตัวแรกเลย ไม่รู้ความจริงของรูป นาม กาย ใจ ถ้ารู้ความจริงของรูป นาม กาย ใจ ก็เป็นอันละสมุทัยอัตโนมัติ คือหมดความอยาก พอหมดความอยากก็แจ้งนิโรธ จิตใจก็เข้าถึงสันติสุขได้ สงบ แล้วก็มีความสุข นั่นล่ะคืออริยมรรค เส้นทางที่เราจะต้องเดินกัน

เอาเล็กๆ น้อยๆ ไปทำเอา ชาตินี้ยังไม่ได้ก็ชาติหน้าเอา ชาติหน้ายังไม่ได้ ชาติต่อๆ ไปก็ทำเอา ทำไม่เลิก ทำไป ต่อไปสมมติว่าชาตินี้เราบุญวาสนาพอแล้ว อินทรีย์แก่กล้า เราก็ได้มรรคได้ผลไป หรือถึงที่สุดแห่งทุกข์ไป รองลงมาก็จะได้พระอนาคามี โสดาบัน สกิทาคามี โสดาบัน สกิทาคามี เราก็ปลอดภัยแล้ว ไม่ไปอบายแล้ว ชาติต่อไปมาเกิดเป็นคนอีก เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามีมา มาเกิดเป็นคน ใจมันคุ้นอยู่กับธรรมะๆ อย่างเด็ก 5 ขวบนั้นไม่ธรรมดา อยากพ้นทุกข์ โลกนี้ไม่มีอะไร โลกนี้มีแต่ทุกข์ พูดออกมาได้อย่างไร อันนั้นพวกที่อินทรีย์มันแก่กล้าๆ มันถึงพูดได้ หลวงพ่อเห็นคลิป หลวงพ่อดูอยู่ว่าเด็กนี้มันท่องมาหรือเปล่า ไม่ได้ท่องมา เด็กนี้มันพูดออกมาจากใจจริงๆ ใจมันไม่เหมือนเด็ก ใจมีวุฒิภาวะสูงมากเลย

ถ้าเราภาวนา แล้วเราไม่จบ เราได้อะไรมา ชาติต่อไปเราภาวนาง่าย จะง่ายนิดเดียวเลย สะกิดนิดหนึ่งก็ผ่านได้แล้ว แต่ถ้าเราไม่เคยทำ มันยาก ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้นถ้าไม่เคยทำก่อน มาเริ่มทำครั้งแรกยากทั้งนั้นล่ะ อย่างพวกเราจะเห็นบางคนก็ภาวนาง่าย บางคนก็ภาวนายาก พวกภาวนาง่าย เขาเคยทำมาแล้ว อินทรีย์เขาแก่กล้า พวกภาวนายาก เพราะอินทรีย์มันยังอ่อน บางคนเขาภาวนาสบายๆ บางคน โหย ลำบากยากเย็น ต้องอดนอนผ่อนอาหาร เดินจงกรม หามรุ่งหามค่ำ สู้กิเลส บางคนนั่งๆ นอนๆ อันนี้ห้ามเอาตัวอย่าง เพราะพวกเราไม่ได้เก่งขนาดนั้น

ถ้าพวกกิเลสเบาบาง ภาวนาสบายๆ นี่ล่ะ รู้สึกตัวๆ ไป จิตมันตัดกิเลสไปเฉยเลย อันนี้เขาเรียกว่าพวกสุขาปฏิปทา ถ้าพวกเรากิเลสแรง จะสู้เอาชนะกิเลส ต้องภาวนากันหนักเลย อันนี้พวกทุกขาปฏิปทา ส่วนจะรู้เร็ว รู้ช้า รู้เร็วเรียกขิปปาภิญญา รู้ช้าเรียกทันธาภิญญา อยู่ที่อินทรีย์ของเราแก่หรืออ่อน ถ้าอินทรีย์เราอ่อนก็ต้องนานหน่อย รู้ช้า อินทรีย์เราแก่กล้าก็รู้เร็ว สะกิดนิดเดียวก็รู้แล้ว ได้ฟังธรรมะคำ 2 คำก็รู้แล้ว

อย่างอุปติสสะฟังไม่กี่ประโยค “เย ธัมมา เหตุปัปพวา เตสัง เหตุง ตถาคโต เตสัญจะโย นิโรโธจะ เอวัง วาทีมหาสมโณติ” “ธรรมใดเกิดจากเหตุ พระตถาคตเจ้าแสดงเหตุแห่งธรรมนั้นและแสดงความดับไปแห่งธรรมนั้น พระตถาคตเจ้ามีปกติกล่าวอย่างนี้” ฟังแค่นี้ได้โสดาบันแล้ว หรือบางท่านอินทรีย์แก่กล้าสุกงอมเต็มที่ อย่างพาหิยะฟังพระพุทธเจ้าพูดไม่กี่ประโยคอยู่ในกลุ่มที่ตรัสรู้เร็วที่สุดในศาสนาพระโคดม พระพาหิยะ สอนง่ายๆ ดูก่อนพาหิยะ ในการใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มี ถ้าท่านไม่มีในปัจจุบัน ไม่มีในอดีต ไม่มีในอนาคต ท่านก็ไม่ทุกข์แล้ว ฟังแค่นี้บรรลุพระอรหันต์แล้ว

เราฟังอีกร้อยรอบก็ไม่บรรลุ เพราะอะไร อินทรีย์เราไม่ได้แก่กล้าอย่างนั้น พระพาหิยะสร้างบารมีมาเพื่อจะมาสู่จุดนี้ แสนมหากัป ใช้เวลามาก ถึงเป็นเอตทัคคะ คือพวกเราอินทรีย์ไม่แก่กล้า เราก็อดทนเอา อดทน ชาตินี้ยังไม่แก่กล้า ต้องทำ ชาติหน้ามันก็แก่กล้า ให้มันดีขึ้นๆ ให้มันดีปุบปับตามใจชอบไม่ได้ บอกแล้วว่าไม่ได้ตามใจกิเลสได้หรอก ยิ่งเราอยาก  บรรลุเร็ว มีความอยากเกิดดิ้นรน ทำอย่างไรจะบรรลุๆ ยิ่งช้าหนักเข้าไปใหญ่ ทุกข์เปล่าๆ

 

วันนี้รู้สึกทำไมเทศน์ดุเดือดจัง จิตหลงส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่ในห้อง จิตมันหลงไป ไม่มีอะไรทำก็นั่งหายใจไป อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ เราหายใจอยู่แล้วก็เพิ่มสติลงไป หายใจเข้า รู้สึก หายใจออก รู้สึกไป เห็นร่างกายหายใจเข้า เห็นร่างกายหายใจออก แค่นี้เราก็ได้กำไรแล้ว เราได้ทำประโยชน์จากลมหายใจของเราแล้ว ถ้าหายใจแล้วไม่มีสติก็ขาดทุน เราใกล้ความตายไปทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว หายใจเข้า รู้สึก หายใจออก รู้สึก เราได้ประโยชน์ เราใกล้พระนิพพานเข้าไปเป็นลำดับ ฉะนั้นอย่าทิ้ง อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ หายใจไว้ หายใจแล้วก็ใจลอย จิตปรุงโน้นปรุงนี้ไป ขาดทุน เพราะทุกลมหายใจชีวิตเราหมดไปสิ้นไป หายใจด้วยความมีสติ ทุกลมหายใจเราใกล้พระนิพพานเป็นลำดับๆ ไป

ฉะนั้นรู้จักทำประโยชน์จากสิ่งที่เรามี เรามีต้นทุนอันดี เรามีร่างกายนี้ เรามีจิตใจที่เป็นมนุษย์สมประกอบนี้ เรามีบุญ เรามีโอกาสได้ฟังธรรม คนในโลกตั้งหลายพันล้าน คนได้ฟังธรรมมีไม่มาก อย่างชาวพุทธเราเห็นไหม ลองดูแต่ละที่ๆ ส่วนใหญ่ก็เรื่องทำบุญ ส่วนใหญ่ไปจบอยู่ตรงนั้นทั้งนั้น ทำบุญ ทำทาน ถามว่าดีไหม ดี แต่มันยังไม่ดีเลิศหรอก ถ้าเจริญสติเป็น บุญทานเราก็ทำ มีโอกาสเราก็ทำ ไม่ใช่ไม่ทำ ทำไม่ใช่เพื่อหวังผลอะไร ทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่น ของสัตว์อื่น ประโยชน์ของพระศาสนาอะไรนี่ ไม่ได้ทำหวังว่าทำบุญทำทานแล้ว เราจะสวย รวย เก่งอะไรอย่างนี้ สวยมันจะสวยนานแค่ไหน รวยมันจะยั่งยืนสักแค่ไหน เก่งมันจะเก่งตลอดกาลเลยหรือ มันจะไม่แพ้เลยหรือ มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นความดีอะไรก็ทำไปเถอะ แต่เรามีโอกาสฟังธรรมภาคปฏิบัติแล้ว อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ อย่าตายเปล่าๆ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
4 กันยายน 2565